วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ธรรมฉันทะกับโลภเจตนาby Dhammasarokikku

62590_229792647120470_1737599690_n

น่าเสียดายที่วันสิ้นเดือนที่แล้ว ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของกิจกรรม June write กลับมาจากดอย ม่อยกระรอกหลับสนิทตั้งแต่หัวถึงหมอน ครับ หลังจากการเดินทางเกือบจักต่อเนื่องตลอดสองวัน ว่าจักอัพเอ็นทรี่ให้ครบทั้งสัปดาห์ ก็เลยแห้วไป วันนี้มาอัพสั้น ๆ ก่อนจักเล่านิทานการเดินทางตามล่าพระกาฬกันต่อไป

ได้ยินหลักคำสอนขัดแย้งกันแบบแปลก ๆ มานานแล้ว ครับ สายพระป่าสอนว่า "แค่อยากปฏิบัติ ก็ผิดแล้ว" ส่วนสายพระบ้านสอนว่า "มันต้องอยากปฏิบัติสิ ไม่งั้นจักมีใครหอบสังขารออกจากบ้านมานั่งสมาธิที่นี่ นอนเกาพุงอยู่ที่บ้านสบายกว่า"

สายพระป่าสอนว่า การอยากปฏิบัติ ประกอบด้วย "โลภเจตนา" เป็นกิเลส จิตมีอกุศลครอบงำ ทำให้ไม่สามารถขึ้นสู่วิปัสสนาได้

สายพระเมืองสอนว่า การปฏิบัติธรรม มันต้องมีฉันทะ (ความพอใจ : เป็นคุณธรรมแรกของอิทธิบาท ๔) ในการปฏิบัติ มิฉะนั้นจักเอาชนะความเกียจคร้านไม่ได้ เรียกว่า "ธรรมฉันทะ"

สองคำสอนนี้ดูขัดแย้ง อย่างใกล้เคียงกันมาก จนข้าพเจ้าสรุปกับตัวเองว่า คำว่า "ฉันทะ" เป็นคำที่ใช้สำหรับสิ่งที่เป็นกุศล "โลภะ" ใช้กับสิ่งที่เป็นอกุศล เช่น มีฉันทะในการฟังธรรม กับมีโลภะอยากบรรลุธรรมไวไว

มาเมื่อเช้า ขณะนั่งฉันภัตตาหาร พร้อมกับฟังธรรมะไปด้วย เสียงธรรมะมิได้เกี่ยวกับสองเรื่องนี้สักนิด แต่จู่ ๆ มันก็ปิ๊งขึ้นมาถึงความแตกต่างของสองคำนี้ว่า ฉันทะ นั้น จิตดิ้นรนน้อย ส่วนโลภะนั้น จิตดิ้นรนมาก

เวลาคนเรามีฉันทะ ความพอใจในการทำกระไร เราก็จักทำไปเรื่อย ๆ อย่างมีความสุข เช่น มีความพอใจในการถักโครเช ก็จักถักไปเรื่อย ๆ ทั้งวัน มิได้เร่งร้อนให้มันเสร็จวันนี้วันพรุ่ง ว่างก็ทำ ไม่ว่างก็ไม่ทำ จิตมีการดิ้นรนน้อย (จิตที่ไม่ดิ้นรนเลย เป็นจิตของพระอรหันต์) และมีสมาธิในการทำ

แต่เมื่อไหร่เรามีโลภเจตนา ก็คือ มีความอยากนำหน้า เช่น ชีวิตประสบกับความทุกข์ อยากจักพ้นทุกข์ไวไว ก็เลยตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติ หามรุ่งหามค่ำ จักให้บรรลุธรรมให้เร็วที่สุด พ้นทุกข์เร็วที่สุด อย่างนี้จิตมีการดิ้นรนมาก ทำให้การปฏิบัติธรรมไม่ก้าวหน้า ไม่ว่าจักพยายามสักเท่าไหร่ก็ตาม

lo6 และสังเกตดู รู้สึกว่า การปฏิบัติด้วยโลภเจตนา จักประกอบด้วยทุกข์นิด ๆ หวังผลตอบแทนหน่อย ๆ เช่น ทำบุญก็หวังถูกหวย ปฏิบัติธรรม ก็หวังจักเป็นคนดีในสายตาคนอื่น หรือรู้สึกว่า ตัวเองเป็นคนดี หรือหวังให้ตัวเองบรรลุธรรมซะที มิได้ดังหวังก็ขัดใจ ไม่พอใจ (อกุศลจิตเกิดอีกแล้ว)

ฉะนั้นการปฏิบัติธรรม เราจึงควรปฏิบัติเรื่อย ๆ ทำน้อย ๆ แต่ทำไม่หยุด ทำไปเหนื่อยนักก็พักก่อน แล้วค่อยกลับมาสู้ต่อ แต่มิใช่ขี้เกียจขี้คร้าน ปล่อยตัวปล่อยใจไปกับกิเลสของโลก และมิใช่โหมหัก ปฏิบัติเข้มข้นไม่กินไม่นอน หรือไปเข้าคอร์สปฏิบัติอย่างอุกฤต เจ็ดวันสิบห้าวัน กลับมาแล้วปล่อยเนื้อปล่อยตัว ไหลไปกับโลกเช่นเดิม อย่างนี้ดูเหมือนปฏิบัติไป ก็เปล่าประโยชน์ หรือกลับมาคุยโอ่ว่า กรูเก่ง กรูทำได้ คอร์สนี้คนจักอยู่จนจบมีไม่ถึงสิบคน เห็นมะ ๆ อย่างนี้ปฏิบัติไป ยิ่งแย่หนัก กลายเป็นเพิ่มอัตตา ตัวตนไปครับว่า กรูเจ๋ง กรูแน่

หรืออาจกล่าวได้ว่า ความอยากปฏิบัติมาก ๆ เป็นโลภเจตนา ปฏิบัติไปเรื่อย ๆ จักกลายเป็น ธรรมฉันทะ และจุดสุดท้าย คือ "มัชฌิมาปฏิปทา" นั่นเอง

เจริญธรรม ฯ by Dhammasarokikku

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons