วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

๓.๒. การจัดประเภทของรูปขันธ์

คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...

.๒. การจัดประเภทของรูปขันธ์

.๒.๑ การจัดรูป ๒๘ เป็น ๑๑ ประเภท

ในจำนวนรูป ๒๘ ตามที่กล่าวมาแล้วนั้น อาจจัดรวมเป็นประเภทหรือกลุ่มของรูปโดยจัดตามคุณสมบัติและหน้าที่ของแต่ละรูป โดยแบ่งได้เป็น ๓ ลักษณะดังนี้คือ

ก. การจัดรูป ๒๘ เป็น ๑๑ ประเภท

ข.. การจัดรูป ๒๘ เป็นคู่

ค.. การจัดรูป ๒๘ เป็นรูปกลาปะ

คือการจัดรูปในแบบนี้เป็นการจัดรวมรูปขันธ์ที่มีคุณสมบัติอย่างเดียวกันเข้าไว้ในกลุ่มเดียวกัน ดังนี้คือ

(๑) มหาภูตรูป ๔ รูป คือรูปที่ ๑–๔

(๒) ปสาทรูป ๕ รูป คือรูปที่ ๕-๙

(๓) วิสัยรูป ๔ รูป คือรูปที่ ๑๐–๑๓

(๔) ภาวรูป ๒ รูป คือรูปที ๑๔–๑๕

(๕) หทัยรูป ๑ รูป คือรูปที่ ๑๖

(๖) ชีวิตรูป ๑ รูป คือรูปที่ ๑๗

(๗) อาหารรูป ๑ รูป คือรูปที่ ๑๘

(๘) ปริเฉทรูป ๑ รูป คือรูปที่ ๑๙

(๙) วิญญัติรูป ๒ รูป คือรูปที่ ๒๐–๒๑

(๑๐) วิการรูป ๓ รูป คือรูปที่ ๒๒–๒๔

(๑๑) ลักขณะรูป ๔ รูป คือรูปที่ ๒๕–๒๘

การจัดรูปเป็น ๑๑ ประเภทมีนัยโดยสังเขป ดังนี้

๑) มหาภูตรูป ๔ รูปที่ ๑-๔ ได้ชื่อว่ามหาภูตรูป เพราะเป็นรูปใหญ่ ปรากฏชัดเจน โดยลักษณะของตนและเป็นที่อิงอาศัยของรูปอื่นๆทั้งหมด กล่าวคือรูปที่ ๕–๒๘ รวม ๒๔ รูป เป็นรูปที่อิงอาศัยมหาภูตรูป ๔ ดังนั้นจึงมีชื่อว่าอุปาทายรูป ในอภิธัมมัตถสังคหบาลี๒๑ ท่านได้แสดงเหตุที่รูปทั้ง ๔ นี้ได้ชื่อว่ามหาภูตรูปไว้เป็น ๓ ประการด้วยกันคือ (๑) เพราะปรากฏเป็นสภาพใหญ่ทั้งในสันดานของสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต (๒) เพราะเป็นเหมือนกันเล่นกล คือแสดงสิ่งที่ไม่เป็นจริงให้เป็นเหมือนของจริง เช่น ตนเองเป็นสภาพมิใช่เขียวหรือแดงเป็นต้น แต่แสดงอุปาทายรูปมีสีเขียวหรือแดงเป็นต้น ตนเองมิใช่คนหรือมิใช่นก ก็แสดงให้เป็นคนบ้าง เป็นนกบางเป็นต้น (๓) เพราะหลอกลวงด้วยสิ่งที่ไม่เป็นจริงต่างๆ ด้วยการปิดบังลักษณะตาที่เป็นจริงของตนไว้ เช่น โดยการแสดงรูปสตรีหรือบุรุษที่น่าชอบใจ โดยการแสดงสีสรร สัณฐานหรือทรวดทรงแห่งอวัยวะน้อยใหญ่ที่น่าของใจท้งๆที่ลักษระตามสภาวะของนตนเป็นของหยาบ

ในอรรถกถาอรรถสาลินี๒๒ ท่านได้แสดงเหตุของคำว่ามหาภูตรูปไว้ถึง ๖ ประการคือ (๑) ปรากฏเป็นของใหญ่ (๒) เป็นเหมือนนักเล่นกล (๓) เป็นเหมือนยักษ์ผู้ชายและผู้หญิง (๔) ต้องบำรุงรักษามาก (๕) มีความเปลี่ยนแปลงมากและ (๖) เป็นสิ่งใหญ่ที่มีอยู่

๒) ปสาทรูป ๕ คือรูปที่มีความในละเอียดปราณีตพิเศษจนสามารถรับอารมณ์จากภายนอกได้ รูปที่มีความในจนสามารถรับอารมณ์ภายนอกได้นี้มีอยู่ ๕ รูป แต่ละรูปรับอารมณ์ภายนอกได้ต่างชนิดกันคือ จักษุปสาทรูป รับรูปารมณ์ โสตปสาทรูป รับสัททารมณ์ ฆานปสาทรูป รับคันธารมณ์ ชิวหาปสาทรูปรับรสารมณ์ และกายปสาทรูป รับโผฏฐัพพารมณ์ ดังนั้น ปสาทรูปทั้ง ๕ คือรูปที่ ๕-๙ เป็นรูปฝ่ายรับ

๓) วิสัยรูป ๔ หมายถึงรูปที่เป็นอารมณ์ของจิตและเจตสิก มีอยู่ ๔ รูป คือ รูปที่ ๑๐–๑๓ และมีความแตกต่างกันดังนี้ คือวัณณรูปเป็นอารมณ์ของจิตทางตา สัททรูปเป็นอารมณ์ของจิตทางหู คันธารมณ์เป็นอารมณ์ของจิตทางจมูก รสรูปเป็นอารมณ์ของจิตทางลิ้น วิสัยรูปดังกล่าวแล้ว ไม่นับโผฏฐัพพรูปที่เป็นอารมณ์ของจิตทางกาย เพราะถือว่า ตัวที่ทำให้เกิดโผฏฐัพพรูปจริงๆ ก็คือมหาภูตรูป ๓ คือ ปฐวีธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุนั้นเอง ดังนั้นวิสัยรูปนี้ถ้านับโผฏฐัพพะที่เกิดทางกายก็จะเป็นวิสัยรูป ๕ แต่ถ้าแบ่งโผฏฐัพพรูปเป็น ๓ ตามมหาภูตรูป ๓ ก็จะเป็นวิสัยรูป ๗ คือ (๑) วัณณรูป (๒) สัททรูป (๓) คันธรูป (๔) รสรูป (๕) ปฐวีโผฏฐัพพรูป (๖) เตโชโผฏฐัพพรูป (๗) วาโยโผฏฐัพพรูป วิสัยรูปเหล่านี้จัดเป็นรูปฝ่ายเร้าเพราะเป็นเหตุให้เกิดอารมณ์แก่จิตและเจตสิกคู่กับปสาทรูป ๕ ซึ่งเป็นรูปฝ่ายรับ

๔) ภาวรูป ๒ หมายถึงรูปที่แสดงถึงเพศ เครื่องหมาย ความประพฤติอันเป็นนิสัยใจคอและกิริยาอาการแห่งความเป็นชายหรือหญิง เป็นรูปที่มีแผ่ซ่านอยู่ทั่วไปตามร่างกาย เป็นรูปธรรมที่รู้ได้ด้วยใจ มิใช่รู้ได้ด้วยตาหรือด้วยหู เพราะตานั้นเพียงแต่เห็นสีต่างๆ หรือรูปต่างๆ และหูก็ทำหน้าที่เพียงได้ยิน หาทำหน้าที่ต่อไปจนถึงชั้นรู้ว่าเป็นหญิงหรือชาย เป็นเสียงหญิงหรือชาย แต่สิ่งที่ทำหน้าที่รู้ต่อจากการเห็นหรือการได้ยินก็คือใจ ภาวรูปนี้มี ๒ รูป คือ (๑) อิตถีภาวรูป คือรูปที่แสดงความเป็นหญิง และ (๒) ปุริสภาวรูป คือรูปที่แสดงความเป็นชาย พุทธปรัชญาได้แสดงถึงถึงเหตุหรือข้อกำหนดที่เป็นเครื่องหมายให้รู้ภาวรูปทั้ง ๒ นี้ไว้ถึง ๔ ประการ คือ

๑ ) ลิงคะ คือรูปร่าง อวัยวะต่างๆ เช่น แขน ขา หน้าตา และอวัยวะเพศเป็นต้นถ้าเป็นเพศหญิง คือ (อิตถีลิงคะ) จะมีอวัยวะต่างๆ เช่นมือและเท้าเป็นต้น ไม่กระด้าง กลมกลึงแตกต่างไปจากเพศชาย(ปุริสลิงคะ)

๒ ) นิมิตตะ หมายถึงเครื่องหมายที่แสดงออกในโอกาสต่อมา เช่น หนวด เครา หน้าอก และการแต่งตัวเป็นต้น นิมิตแห่งหญิง(อิตถีนิมิต) นั้น จะแตกต่างไปจากนิมิตแห่งชาย(ปุริสนิมิต) เช่น เนื้อถันนิ่ม เสียงอ่อนหวาน การไม่มีหนวดเครา การถักผม และการห่มผ้าอันมิดชิดเป็นต้น

๓ ) กุตตะ หมายถึงความประพฤติ อุปนิสัยใจคอ และความโน้มเอียงที่เห็นได้จากความประพฤติตั้งแต่เด็กๆ เช่น เด็กหญิง ชอบเล่นเย็บปักถักร้อย ชอบเครื่องเล่นเกี่ยวกับการทำการทำอาหารและตุ๊กตาหรือสีผ้าสวยๆ และชอบการแต่งตัวเป็นต้น ส่วนเด็กชาย ชอบเล่นซุกซน ชกต่อย ห้อยโหนเป็นต้น ลักษณะที่ปรากฏแก่หญิงดังกล่าวเรียกว่าอิตถีกุตตะ ส่วนที่ปรากฏในผู้ชายเรียกว่าปุริสกุตตะ

๔ ) อากัปปะ หมายถึงกิริยาอาการต่างๆ เช่น ยืน เดิน นั่ง กิน ดื่ม ทำ และการพูดเป็นต้น กิริยาแห่งหญิง(อิตถีกับปะ) เป็นกิริยาเรียบร้อย อ่อนซ้อย นุ่มนวล เอียงอาย หรือกระมิดกระเมี้ยนไม่สง่าผ่าเผเหมือนเพศชาย กิริยาอาการแห่งชาย(ปุริสกับปะ) เป็นกิริยาท่างาทกล้าหาญ เข็มแข็งว่องไว และสง่าผ่าเผยเป็นต้น ตามทรรศนะในพุทธปรัชญาถือว่าเครื่องหมายทั้ง ๔ ประการนี้เกิดขึ้นเพราะอิงอาศัยอิตถีภาวรูปและปุริสภาวรูปเป็นใหญ่ จึงทำให้เครื่องหมายดังกล่าวนี้แตกต่างกันจนทำให้รู้ได้ว่าเป็นหญิงหรือเป็นชาย

๕ ) หทัยวัตถุรูป หทัยรูป*๒๓ เป็นรูปที่เป็นที่ตั้งแห่งจิต มีลักษณะเหมือนบ่อโตขนาดเมล็ดในบุนนาค มีโลหิตประมาณกึ่งของมือขังล่อเลี้ยงอยู่ ตั้งอยู่ภายในช่องเนื้อหัวใจ(หทยะ) เป็นที่อาศัยเกิดของมโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุ** การกระทำทุกชนิดจะเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมก็ตามต้องอาศัยหทัยรูปนี้เองเกิด ถ้าไม่มีหทัยรูปแล้ว คนย่อมทำงานหรือนึกคิดเรื่องต่างๆไม่ได้เช่นเดียวกับหุ่น

๖) ชีวิตรูป หมายถึงกำลังที่ทำให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ กำลังที่ทำให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ดังกล่าวนี้จัดเป็นรูปชนิดหนึ่ง เรียกว่าชีวิตรูป ชีวิตรูปนี้มีหน้าที่รักษาสหชาตรูปให้คงอยู่ และเป็นไปได้ตลอดอายุของรูปนั้นๆ ดุจน้ำรักษาไม้ทั้งหลายที่เกิดในน้ำ เช่นบัวเป็นต้นให้อยู่ต่อไปได้

๗) อาหารรูป คือกวฬิงการาหาร๒๔ แต่ตัวอาหารจริงๆหมายถึงโอชาที่อยู่ในอาหารต่างๆ ดังนั้น อาหารรูปจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า โอชารูปอาหารรูปนี้เป็นเครื่องยังชีวิตให้เจริญเติบโตหรือยังรูปให้เกิดขึ้นติดต่อกันไปดุจพี่เลี้ยง

๘) ปริเฉทรูป นี้มีชื่ออีกอย่างว่า อากาสรูป คือรูปที่ไม่มีสภาวะของตนเองโดยเฉพาะ แต่เป้นรูปช่องว่างที่เกิดขึ้นในระหว่างช่องที่ตัดตอนของรูปกลาปะต่อรูปกลาปะ ตามทรรศนะพุทธปรัชญาไม่ถือว่าสิ่งที่ประกอบขึ้นเป็นสิ่งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิตนั้น ประกอบขึ้นติดต่อกันเป็นเนื้อเดียวกันหมด แต่ถือว่ามีช่องว่างเรียกว่าปริเฉทรูป คันอยู่ในระหว่างรูปกลาปะทั้งหลายซึ่งมีอย่นับไม่ถ้วนรูปกลาปะเหล่านี้ไม่ได้ติดต่อกันอยู่เป็นเนื้อเดียวแต่ประกอบรวมกันอยู่โดยมีช่องว่างกั้นอยู่ระหว่างทุกๆรูปกลาปะ เพราะเหตุที่มีช่องว่างตัดตอนนี้เอง จึงทำให้เรารู้ถึงรูปพรรณสัณฐานและจำนวนของรูป และทำให้กำหนดทิศทางของรูปได้ว่า แต่นี้ไปรูปนี้เป็นส่วนบน เป็นส่วนล่างหรือส่วนขวางเป็นต้น

๙) วิญญัติรูป ๒ หมายถึงรูปที่แสดงอาการหรือแสดงพฤติกรรมทำให้รู้ความประสงค์ของกันและกันได้ หรือทำให้รู้ถึงจิตใจของคนอื่นๆ วิญญัติรูปนี้ เกิดจากการเคลื่อนไหวกาย และการพูดจา มี ๒ รูปคือ (๑) การวิญญัติรูป คือรูปที่เคลื่อนไหวและ (๒) วจีวิญญัติรูป คือรูปที่แสดงการเคลื่อนไหวทางวาจา

๑๐) วิการรูป ๓ คือรูปที่แสดงภาวะพิเศษเฉพาะตัวมี ๓ รูป คือ (๑) ลหุตารูปได้แก่ความเบาความไม่หนัก หรือความรวดเร็วแห่งรูป (๒) มุทุตารูป ได้แก่ความอ่อน ความไม่แข็งหรือความไม่กระก้างแห่งรูป (๓) กัมมัญญตารูป ได้แก่ความพอดี หรือภาวะที่ควรแก่การงานแห่งรูป วิการรูปทั้ง ๓ นี้มีอยู่ในสิ่งที่มีชีวิตเท่านั้น และตั้งอยู่ในความเป็นเสมอภาคกัน เป็นไปร่วมกันไม่อาจจจะละจากกันและกันได้

๑๑) ลักขณะรูป หมายถึงรูปที่แสดงลักษณะ ซึ่งเป็นอาการปรากฏแก่รูป ลักษณะดังกล่าวมีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกับกาลเวลา มีอยู่ ๔ รูป คือ (๑) อุปัจยรูป ได้แก่รูปของการเกิด (๒) สันตติรูป ได้แก่รูปการสืบต่อ (๓) ชรตารูป ได้แก่รูปของความทรุดโทรมและ (๔) อนิจจตารูป ได้แก่รูปของความเสื่อมสิ้นไป ทั้ง ๔ รูปนี้มีความสัมพันธ์กันกับกาลเวลา เรื่องของกาลเวลาที่มาสัมพันธ์กับลักขณะรูปทั้ง ๔ ในช่วงสั้นๆเพียงชั่วขณะจิตหนึ่งในขณะจิตหนึ่งลักขณะรูปทั้ง ๔ ก็เกิดขึ้นพร้อมแล้ว การเกิดขึ้นของลักขณรูปทั้ง ๔ ในช่วงสั้นๆเช่นนี้ไม่สามารถมองเห็นได้ และรู้ได้ยากตามนัยแห่งพระอภิธรรมได้กล่าวถึงช่วงเวลาที่สัมพันธ์กับลักขณรูปทั้ง ๔ ไว้ว่า รูปแต่ละรูปมีอายุ ๕๑ ขณะจิตเล็ก จากขณะที่ ๑ ไปยังขณะที่ ๒ ที่ ๓ และช่วงขณะต่อๆไป เป็นความสืบต่อด้วยสันตติจะได้ใช้เวลาเพียงน้อยนิดก็ตามแต่ก็ยังมีช่วงของมัน จากขณะที่ ๑ จะมีขณะที่ ๒ หรือที่ ๓ เป็นต้นไม่ได้ ถ้าไม่มีความสืบต่อ ดังนั้นความสืบต่อจะมีไม่ได้

ความสืบต่อหรือความต่อเนื่องดังกล่าวนี้เองเป็นลักษณะของสันตติของรูป การตั้งอยู่ของรูปนั้นในแง่ของปรมัตถธรรมไม่ใช่การตั้งอยู่ในรูปของการเจริญเติบโตอย่างที่เขาในกันอยู่ แต่เป็นการตั้งอยู่ในรูปของการที่ดำเนินไปสู่จุดแตกสลายหรือจุดดับ ดังนั้นจากช่วงเกิดจนถึงช่วงดับ จึงเป็นช่วงแห่งความเสื่อมหรือชรา และช่วงนี้เองเรียกว่าชรตารูป ส่วนขณะเล็กที่ ๕๑ นั้นเป็นจุดแห่งการแตกดับทำลาย เป็นจุดสุดท้ายและช่วงนี้เองเรียกว่าอนิจจตารูป ถ้ากล่าวในด้านปรมัตถธรรมแล้วจะเห็นได้ว่า แม้เพียงในช่วงวันเดียว ก็มีลักขณะรูปทั้ง ๔ เกิดดับนับครั้งไม่ถ้วน ส่วนในด้านสมมติบัญญัตินั้นเป็นการมองในด้านของขณะรูปทั้ง ๔ ในชื่อของชาติ ชรา มรณะ คืออุปัจจยรูปกับสันตติรูปมีความหมายเท่ากับชาติ๒๕ชรตารูปมีความหมายเท่ากับชรา และอนิจจตารูปมีความหมายเท่ากับมาณะ และจุดมุ่งหมายก็ไม่ได้ให้เข้าใจชาติ ชรา และมรณะในช่วงของกาลเวลาสั้นๆ หรือเพียงแค่ขณะของจิตหนึ่งอย่างที่แสดงเอาไว้ในพระอภิธรรม แต่เป็นการแสดงถึงลักขณรูปในช่วงยาว เช่น ชาติคือความเกิด ก็หมายถึงสัตว์ถือปฏิสนธิในครรภ์ของมารดาจนคลอดออกมาเป็นทารกโดยใช้ช่วงเวลายาวถึง ๑๐ เดือน แต่ชราคือความแก่หรือความทรุดโทรมของร่างกายในระหว่างเกิดกับตายซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปรไปตามวัย เป็นหนุ่มสาวแล้วก็แก่เฒ่าเป็นต้น และมรณะคือความตายก็หมายถึงการสิ้นชีวิตหรือตายไปช่วงหนึ่ง หรือชาติหนึ่ง จะเห็นได้ว่าลักขณรูป ๔ มีความสัมพันธ์กับกาลเวลาในแง่เพียงสมมติเท่านั้น ซึ่งเป็นการเห็นได้ง่ายและรู้ได้ง่ายแต่ลักขณรูปดังกล่าวนี้ไม่ว่าจะเป็นในด้านปรมัตถธรรมหรือสมมติบัญญัติต่างก็มีลักษณะที่สำคัญเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ ลักษณะของการสืบต่อชาติภพ (สังสารวัฏ) ต่อๆกันไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จนกว่าจะดับขันธ์เข้าสู่พระนิพพานจึงจะดับชาติภพได้


๒๑ คณะกรรมการแผนกตำรามหามกุฏราชวิทยาลัย, อภิธัมมัตถสังคหบาลีและอภิธัมมัตถวิภาวินีฏีกา, ฉบับแปลเป็นไทย,พิมพ์ครั้งที่ ๓ ,(กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย,๒๕๒๐),หน้า ๒๙๗

๒๒ สมาคมศูนย์ค้นคว้าทางพระพุทธศาสนาวัดสระเกศ, อรรถกถาอัฏฐสาลีนี ตอนที่ ๓ , (พระนคร : โรงพิมพ์ชวนพิมพ์, ๒๕๐๙) หน้า, ๑๔๒

* หทัยรูปมี ๒ อย่าง คือ (๑) มังสหทัยรูป คือรูปที่เป็นเนื้อหัวใจ มีสีแดง มีสัณฐานดังดอกบัวตูม ข้างนอกเกลี้ยงข้างในเป็นรังเช่นดังภายในผลบวบชม (๒) วัตถุหทัยรูป หรือหทัยวัตถุ หมายถึงรูปชนิดหนึ่งที่เกิดอยู่ภายในมังสหทัยรูป ดังนั้น หทัยรูปในที่นี้จึงหมายถึงวัตถุหทัยรูป ไม่ใช่มังสหทัยรูป มังสหทัยรูปซึ่งมีสัณฐานคล้ายดอกบัวนั้น ถ้าเป็นของคนมีปัญญาจะมีลักษณะแย้มหน่อยหนึ่ง ของคนที่มีปัญญาอ่อนคงตูมอยู่ ส่วนโลหิตภายในหัวใจนั้น ถ้าเป็นของคนราคะจริต จะเป็นสีแดง ของคนโทสจริตมีสีดำ ของคนโมหจริตมีสีดังน้ำล้างเนื้อ ของคนวิตกจริตสีดังเยื้อถั่วพู ของคนศรัทธาจริตมีสีดังดอกกรรณิการ์ ของคนปัญญาจริตมีสีผ่องใสขาวบริสุทธิ์ไม่มัวหม่อง ดังนั้นโลหิตจึงมิใช่เป็นสิ่งที่มีสีแดงเพียงอย่างเดียว( วิสุทธิ,ภาค๓ ,ตอน๑ หน้า๖๓

๒๓ บุญมี เมธางกูร และวรรณสิทธิ์ ไวทยเสวี, (คู่มือการศึกษาพระอภิธรรมมัตถสังคหะ ปริเฉทที่ ๖, หน้า ๓๑

** มโนธาตุ และมโนวิญญาณธาตุ ต่างกันดังนี้ มโนธาตุหมายถึงจิต 3ดวงคือ ปัญจทวาราวัชชนจิต 1 ดวง และสัมปฎิจฉนจิต 2 ดวง ส่วนมโนวิณณาณธาตุ หมายถึงจิต 76 ดวง เว้นทวิปัญจวิณณาณ ๑ ดวง

๒๔ ที. ปาฏิ. ๑๑ / ๒๔๔ / ๒๑๗ ม. มู. ๑๒ / ๑๑๓ / ๗๔

๒๕ วิสุทธิมรรคแปล , ภาค ๓ ตอน ๑ ,อ้างแล้ว , หน้า ๓๔

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons