วันเสาร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2555

อายุยืนคือผู้มีบุญหรือ?

หลังจากตอบปัญหาคาใจวัยสะรุ่นไปหนึ่งเอ็นทรี่ โยมคนหนึ่งนั้นก็ยังไม่หายสงสัย คราวนี้ถามหลังไมค์เข้ามาเป็นคำถามที่ลึกซึ้งกว่าเดิม เพื่อความสมบูรณ์ของเนื้อหาการถวายสังฆทาน ก็ขอขยายความอีกสักเอ็นทรี่หนึ่งครับ

โยมคนหนึ่ง : นมัสการครับหลวงพี่ ได้อ่านเอนทรี่ล่าสุดของหลวงพี่แล้ว ขอบคุณมากครับอ่านแล้วเกิดปัญญาขึ้นจริง ๆ วันนี้มีเรื่องที่ยังสงสัยสืบเนื่องจากคำตอบที่หลวงพี่บอกไว้ในบล็อก อยู่อีกสักหน่อย และคำถามที่ลืมถามไปในเมล์ครั้งก่อน จึงขอรบกวนหลวงพี่ช่วยชี้แนะให้ด้วยครับ เรื่องสังฆทาน หลวงพ่อท่านหนึ่งเคยบอกไว้ว่า การถวายสังฆทานที่ถูกต้อง ต้องถวายกับพระ 4 รูป ครบองค์สงฆ์ ถ้า 1-3 รูปจะเป็นคณะบุคคลไม่เป็นสงฆ์ แล้วทุกวันนี้ที่เอาไปถวายกับพระรูปเดียว จะเรียกว่าเป็นการถวายสังฆทานได้ไหมครับ (ถึงใจจะบริสุทธิ์ในการทำบุญ)

หลวงแกแล็คซี่ : จักถวายกับพระกี่รูปยังสำคัญน้อยกว่าใจของเราครับ ความตั้งใจของเราสำคัญที่สุดครับ บางทีแม้เรากล่าวคำถวายสังฆทานเป็นภาษาบาลีและภาษาไทย แต่ใจเราเล็งอยู่แต่พระรูปนี้ ต้องถวายพระรูปนี้เท่านั้น ถ้าพระรูปนี้ไม่อยู่ เป็นอันว่า ฉันไม่ถวาย บางทียังเป็นสังฆทานที่ไม่ค่อยสมบูรณ์นักเลย เพราะตั้งเจตนาไว้ผิด การตั้งใจถวายเฉพาะเจาะจงรูปนี้คนนี้เท่านั้น เป็นการให้ทานที่เรียกว่า ปาฏิปุคคลิกทาน หรือการให้ทานที่จำเพาะเจาะจงผู้รับ มีอานิสงส์น้อยกว่าสังฆทานมาก

แต่แม้ตั้งความปรารถนาไว้ไม่เป็นสังฆทาน หากภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป มาร่วมกันใช้ของที่เราถวาย หรือพระท่านนำของที่เราถวายไปเป็นของส่วนรวม เราก็ได้อานิสงส์แห่งสังฆทานโดยอัตโนมัติ สังฆทานมิใช่เรื่องยากครับ ข้าวหน่อย แกงถ้วย เอาไปถวายพระ โชคดีพระท่านตั้งวงฉันตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป นี่ก็ได้อานิสงส์สังฆทานเหมือนกัน สังฆทานนั้นอย่าไปยึดติดกับรูปแบบว่า ต้องเป็นถังเหลือง ๆ ความสำคัญของสังฆทานอยู่ที่ภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไปเป็นผู้รับ "หรือ" ผู้บริโภค (คำว่า "หรือ" หมายถึงอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้)

ทีนี้ที่พระท่านนั้นกล่าวเช่นนั้น ก็ถูกต้องของท่านครับ คำว่า "สงฆ์" หรือ "หมู่สงฆ์" นั้นเริ่มเป็น "สงฆ์" เมื่อมีภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ท่านมองไกลไปถึงโทษที่จักเกิดแก่พระบวชใหม่ไม่รู้พระวินัยด้วย คือการรับสังฆทานโดยพระรูปเดียวนั้น กระทำได้ ภิกษุผู้นั้นคือ "ตัวแทนสงฆ์" ผู้ถวายได้รับอานิสงส์เสมอกัน เปรียบให้เห็นภาพ เหมือนเราเสียภาษีเพื่อเข้าคลังหลวง เราไปเข้าคิวจ่ายภาษีที่ช่องจ่ายเงินช่องไหน เงินก็เข้าคลังหลวงเหมือนกัน พนักงานที่เราไปจ่ายด้วย เป็นเพียงตัวแทนของคลังหลวงเท่านั้นฉันใด ภิกษุตัวแทนรับสังฆทานก็มีหน้าที่แค่นั้นฉันนั้น ภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไปก็ประหนึ่งผู้มีอำนาจเบิกจ่ายคลังหลวงไปใช้นั่นเอง

เรื่องของผู้ถวายจบไป มาดูที่คนรับบ้าง อย่างที่แสดงไว้ในเอ็นทรี่ก่อนว่า สังฆทานนั้นเป็นของหมู่สงฆ์ มิใช่ของภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ทีนี้ถ้า "ตัวแทนสงฆ์" รับถวายสังฆทานแต่เพียงผู้เดียว แล้วเอาสังฆทานอันนั้นไปใช้ส่วนตัวแต่เพียงผู้เดียว ก็จบเห่เอวังเท่านั้นเอง นี่ก็อาจกลายเป็นหนี้สงฆ์ที่ต้องหาทางจัดการกันต่อไปอีก ทางวัดที่มีความเข้าใจในพระวินัยจักมีคลังสังฆทานรวมให้ภิกษุตัวแทนรับนำไปไว้รวมกัน เมื่อใดมีความต้องการใช้ก็ให้มาเบิกไปใช้ ส่วนฆราวาสเรามีวิธีช่วยป้องกันอย่างไรครับ ก็ทำอย่างที่พระท่านนั้นแนะนำนั่นแล คือต้องรับอย่างน้อย ๔ รูป เช่นนี้ก็จักไม่เป็นโทษกับพระภิกษุ ต่างคนต่างนำไปใช้เพราะมีมติร่วมกัน ๔ รูป ถือว่าครบองค์สงฆ์ เรียกว่า "จตุวรรค" สามารถทำสังฆกรรม มีการแจกทานที่ได้มา เป็นต้น ได้ (ตามแบบต้องว่า ยัคเฆ ภันเต... บลา ๆ ๆ กันทีเดียว แต่ถึงไม่ว่าตามแบบ ก็เข้าใจตรงกันอยู่แล้ว)

ถามว่า เรื่องนี้เกี่ยวกับโยมไหม ก็เกี่ยวนิดหน่อยตรงที่ช่วยทำให้พระนำของสงฆ์ไปใช้ได้อย่างสบายใจ เรื่องอานิสงส์แทบไม่มีผลแตกต่างกันเลย เพราะฉะนั้นถ้าเรามีเมตตาต่อภิกษุ ก็นิมนต์อย่างน้อย ๔ รูปรับสังฆทานครับ แต่ถ้าไม่สะดวกก็ไม่เป็นไรครับ หน้าที่ของเราแค่ถวายทาน ส่วนเรื่องจัดการทานที่เราถวายนั้นเป็นเรื่องของพระภิกษุ ให้ท่านไปจัดการกันเอง

เรื่องนี้ขอโยงไปสู่เรื่องการถวายของที่ไม่สมควรด้วย เช่น ถวายอาหารในเวลาที่เลยเพลไปแล้ว หรือถวายของที่จักทำให้เป็นอาบัติ เรื่องนี้ครูบาอาจารย์ของข้าพเจ้าลงความเห็นว่า เรื่องถวายเป็นเรื่องของโยม ส่วนเรื่องตัดสินใจบริโภคหรือไม่ เป็นเรื่องของพระ หากพระท่านไม่ศึกษาพระวินัยให้ดี ไปบริโภคของที่เป็นอาบัติเข้า ก็เป็นโทษแก่ตัวท่านเอง ฉะนั้นญาติโยมจึงถวายได้ทุกอย่าง ทุกเวลา ไม่มีโทษ เพียงแต่เราอย่าไปคาดคั้นให้ท่านบริโภคของที่เราถวาย หรือถ้าถวายแล้วท่านไม่บริโภคก็อย่าไปนึกเสียใจเท่านั้นเอง โทษนั้นมีแก่ภิกษุที่ไม่ศึกษาพระวินัยให้ดีเอง บางท่านไปห้ามการถวายทานของญาติโยม ให้เหตุผลว่า เป็นอาบัติ ญาติโยมไม่มีอาบัติอยู่แล้วครับ แต่ท่านไปห้ามนั้น อาจมีโทษที่ไปขัดขวางการถวายทานของผู้อื่น

ในสายพระป่านั้น จักมิให้ถวายของที่ไม่สมควรแก่ภิกษุ หรือของที่สมควรแก่ภิกษุ แต่ในเวลาที่ไม่สมควร อันนี้เป็นเรื่องนานาจิตตังครับ หากฆราวาสนักปฏิบัติมีแก่ใจศึกษาศีลาวัตรของภิกษุ ก็จักทำให้มีสติมากขึ้น ระมัดระวังมากขึ้น รู้พระธรรมวินัยมากขึ้น ทำกระไร ๆ ถูกจังหวะจะโคนมากขึ้น เป็นผลดีแก่การปฏิบัติของนักปฏิบัติเอง

แต่ในบางกรณีข้าพเจ้าก็ไม่เห็นด้วย บางทีก็สุดโต่งถึงขนาดญาติโยมที่มาทำบุญ ต้องไปศึกษาพระวินัยของภิกษุทุกข้อ เพื่อจักได้ทำให้ถูกต้อง อย่างนั้นก็เกินไปครับ ฆราวาสไม่ใช่พระ ไม่จำเป็นถึงขนาดต้องรู้พระวินัยทั้ง ๒๒๗ ข้อ จึงจักเข้าวัดทำบุญได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะฆราวาสผู้สูงอายุ จักไปให้นั่งร่ำเรียนพระวินัยตั้งมากมายของพระภิกษุ ก็เห็นว่า เกินกำลังเกินไป เอาแบบพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้แหละดีแล้ว "พอดี ๆ ไม่ตึง ไม่หย่อน จนเกินไป"

โยมคนหนึ่ง : การถวายสังฆทานต้องไม่เจาะจงพระรูปใดรูปหนึ่ง แต่เวลาไปถวายเราก็มักเลือกพระที่เราเห็นควร คือเราทราบว่าพระรูปไหนปฎิบัติดี แล้วอย่างนี้จะเป็นสังฆทานอยู่ไหม (แม้ใจจะบริสุทธิ์ในการทำ)

หลวงแกแล็คซี่ : อย่างที่ตอบไปแล้ว คือมันสำคัญตรงคำว่า "หรือ" เราตั้งใจถวายสังฆทาน ผู้รับเอาไปใช้ส่วนตัว ทานนั้นก็ยังเป็นสังฆทานอยู่ "หรือ" เราไม่ตั้งใจถวายสังฆทาน แต่ทานนั้นท่านเอาไปใช้เป็นของส่วนรวม ทานนั้นก็ได้อานิสงส์แห่งสังฆทานอยู่ดี

กระนั้นข้าพเจ้าก็เลือกนะ มันขึ้นกับกำลังใจคนถวายอีกนั่นแหละ คนกำลังใจยังไม่เข้าขั้นปรมัตถ์นี่ ก็ยังเล็งดูอยู่ว่า พระปฏิบัติดีไหม? พระปฏิบัติดีรูปนั้น เอาของของเราไปใช้หรือเปล่า? หรือเอาไปต้มยำทำแกงอย่างไร?

ส่วนคนที่เข้าขั้นปรมัตถ์แล้ว ให้ใครก็เหมือนกันหมด เพราะมันไม่มีอะไร เราก็ไม่มี เขาก็ไม่มี แล้วมันจักแตกต่างกระไร และให้แล้ว ก็ถือเป็นสิทธิ์ขาดของผู้รับ ผู้รับจักเอาทานของเขาไปต้มยำทำแกงอย่างไร ก็เป็นเรื่องของผู้รับ ให้แล้วถือว่าให้ขาดกัน ไม่มีคำว่า ทาน "ของเรา" ต่อไปอีก

เรา ๆ ท่าน ๆ นี่ยังไม่เข้าขั้นปรมัตถ์ ยังเป็นปุถุชนอยู่ ก็ต้องมีเลือกกันมั่งละครับ เพราะกระไร? เพราะความช้าเร็วแห่งอานิสงส์ที่สนองคืนมานั้นไม่เท่ากันครับ (อย่าลืมนะครับว่า ทานที่ให้ด้วยยังหวังสิ่งตอบแทน หวังอานิสงส์อย่างนั้นอย่างนี้ ยังเป็นกำลังใจให้ทานชั้นต้นอยู่) สังฆทานเหมือน ๆ กันนี่ละครับ ถวายให้พระปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ กับพระกเฬวราก อานิสงส์แห่งสังฆทานนั้นเสมอกันครับเพราะถวายเป็นของส่วนรวม อย่างที่เปรียบไปแล้วเสมือนคลังหลวง และอานิสงส์ของสังฆทานนั้นเป็นอินฟินิตี้ อินฟินิตี้มาก อินฟินิตี้น้อย แค่ไหนก็คงไม่ต่างกัน

แต่ความรวดเร็วในการส่งผลนั้นไม่เท่ากัน เรื่องนี้มีหลักฐานในพระไตรปิฎกด้วยหลายตอน เรื่องของการใส่บาตรพระที่เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ ผู้ที่ทำบุญกับท่านจักเป็นเศรษฐีในวันนั้นเลย ตามความเข้าใจของข้าพเจ้า มันเป็นเพราะ "ความบริสุทธิ์ของจิต" ของผู้รับนี่ละครับ

พระที่เข้านิโรธสมาบัติได้ ต้องมีคุณธรรมอย่างต่ำอนาคามีปฏิสัมภิทา การเข้านิโรธสมาบัติคือการเข้าสมาธิอย่างต่อเนื่อง ๗ - ๑๕ วัน ขณะออกจากนิโรธฯ ความบริสุทธิ์ของจิตจึงสูงมาก ๆ ผลจึงเกิดในวันนั้นเลย ส่วนถ้าผู้รับเป็นพระอริยะขั้นต่ำลงมา ไม่ได้ทรงฌานสมาบัติ ผลก็เกิดช้าลง เป็นภิกษุปุถุชนไม่มีฌานสมาบัติ แต่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ก็ช้าลงไปอีก (ศีลเป็นเรื่องของการฝึกใจ โดยการควบคุมกาย และวาจา การปฏิบัติให้อยู่ในศีลก็ถือเป็นการตั้งใจไว้ชอบแล้ว) จนคาดการณ์ไม่ได้ ดังนี้ละครับ เขาถึงเลือกพระที่รับสังฆทานกัน

โยมคนหนึ่ง : ส่วนเรื่องที่ลืมถามไป คือเรื่องอายุขัยของคนเรา มีความสงสัยอยู่ว่าคนที่อายุยืน อายุมากๆ กับคนที่อายุสั้นที่ไม่ได้หมายความถึง อายุสั้นเกินไปนะครับ อย่างไหนถึงเรียกว่ามีบุญมากกว่ากัน เรามักได้ยินคนพูดกันเสมอๆ "คนนั้นคนโน้นคนนี้ มีบุญจริงๆเลยอายุยืน" "แหมอายุยืนจริงๆแสดงว่ามีบุญ ทำบุญมาดี" โดยที่อายุยืนเป็นปกติสุข ไม่ได้เจ็บป่วยหรือทุกข์ทรมานใดๆ อะไรแถวๆนี้กัน แต่บางทีเห็นคนตายด้วยวัยหรือก่อนวัยสักหน่อย ตกลงนี่เขาหมดบุญแล้วเหรอ หรือว่าไปสบายแล้ว ทั้งที่ตอนมีชีวิตก็ทำแต่เรื่องดี ๆ ขอรบกวนเรียนถามหลวงพี่เพียงเท่านี้ก่อน กราบขอบพระคุณท่านมากครับ นมัสการครับ

หลวงแกแล็คซี่ : เรื่องนี้ไม่มีความรู้เหมือนกันแฮะ แต่เคยได้อ่านเรื่องของพระขทิรวนิยเรวตเถระเมื่ออายุได้ ๘ ขวบถูกจับให้แต่งงาน เพื่อป้องกันไม่ให้ออกบวชเหมือนพระสารีบุตรพี่ชาย เจ้าสาวก็หน้าตาจิ้มลิ้มดีอยู่หรอกครับ ครั้นในงานพิธีได้รับคำอวยพรว่า ขอให้ครองคู่ยาวนานเหมือนยายซึ่งอายุยืนถึง ๑๒๐ ปี เลยไปขอดูตัว เห็นสภาพยายที่ชรามาก ผิวกายยับยู่ยี่ ฟันหลุด ผมหงอก แล้วก็สงสัย ถามคนแถวนั้นว่า แล้วเจ้าสาวของผมอายุ ๑๒๐ ปีแล้วก็มีสภาพเช่นนี้หรือ? ได้รับคำตอบแล้วเกิดความเบื่อหน่าย หนีออกบวชในที่สุด ครั้งนั้นได้ยินว่า เขาก็ถือกันว่า ผู้มีอายุยืนคือผู้มีบุญ

เกณฑ์อายุขัยเฉลี่ยคนเรานั้นได้ยินว่า ทุก ๑๐๐ ปี จักลดลง ๑ ปี สมัยพุทธกาลอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ ๑๐๐ ปี สมัยปัจจุบันอยู่ที่ ๗๕ ปี กฎเกณฑ์นี้ "ได้ยินมา" อย่างนี้ครับ ไม่มีหลักฐานอ้างอิงใดใด มีแต่ครูบาอาจารย์นิยามไว้ว่า อายุขัย นี่หมายถึง ก่อนที่จะเกิด กฎของกรรมดีหรือกรรมชั่วกำหนดชีวิตให้มาเท่าไร อายุขัยนี่กำหนดมาเท่าไหร่ก็เท่านั้นครับ ทำให้ยาวขึ้นหรือสั้นลงไม่ได้

ที่มีหลักฐานพออ้างอิงได้คือเรื่องอุปฆาตกรรม หรือกรรมที่เข้ามาลิดรอนชีวิตก่อนถึงอายุขัย ซึ่งก็เป็นอกุศลกรรมประเภทปาณาติบาตในอดีตนั่นเอง ถ้ากรรมตัวนี้เข้ามาแทรก ก็จักเป็นอกาลมรณะ คือตายเมื่อยังไม่หมดอายุขัย หรือ "ตายโหง" นั่นแล ผู้ที่เจออุปฆาตกรรมนี้เข้าไป จบชีวิตแล้วกลายเป็นสัมภเวสี วิญญาณเร่ร่อน เพราะกรรมดีก็ยังไม่ส่งผล กรรมชั่วก็ยังไม่มาสนอง ต้องร่อนเร่ไปจนกว่าจักถึงอายุขัย กรรมตัวนี้สามารถหลีกเลี่ยงหรือผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ด้วยการทำบุญสะเดาะเคราะห์นั่นเอง มีการไถ่ชีวิตสัตว์ เป็นต้น

ส่วนตัวแล้ว เห็นว่าเรื่องอายุยืนเป็นคนมีบุญ เป็นสมมุตินิยมทางโลกมากกว่า (อีกนัยหนึ่งน่าจักเรียกว่า คนทำบาปมาน้อย หรือทำปาณาติบาตมาน้อยมากกว่า) และไม่เห็นว่า การที่มีอายุยืน เป็นคนมีบุญสักเท่าไหร่ มันขึ้นกับคุณภาพของการมีชีวิตมากกว่า เป็นคนแก่อายุยืน ๘๐-๙๐ ปี แต่ต้องนอนเตียง นั่งรถเข็น ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ กินกระไรก็ไม่ได้ ต้องให้อาหารทางสายยาง ป่วยกระเสาะกระแสะ เป็นโน่นเป็นนี่ไม่เว้นแต่ละวัน ลำบากลูกหลานญาติพี่น้อง ตอนตายก็เจ็บปวดทรมาน อย่างนั้นข้าพเจ้าก็ไม่เห็นว่าจะมีบุญสักเท่าไหร่

ที่ทราบมาแล้วรู้สึกว่า คนนี้อายุยืนและทำบุญมาดีจริง คือหลวงปู่ดุลย์ อตุโล วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์ ครับ ท่านมีอายุขัย ๙๐ กว่า ๆ พอถึงอายุขัยท่านก็ละสังขารไปเงียบ ๆ โดยที่ก่อนหน้านั้นมิได้เจ็บป่วยกระไรเลย ท่านว่า "เราไม่มีวิบากทางนี้" โอ้โห... บำเพ็ญมาอย่างไรหนอ นี่ท่านคงเว้นปาณาติบาตมาไม่รู้กี่ภพกี่ชาติแล้ว

ซ้ำเรื่องใครมีบุญมากกว่าใครจึงมีอายุยาวอายุสั้นนี้ ก็เป็นเรื่องไม่น่าสนใจด้วย เพราะอดีตผ่านไปแล้ว แก้ไขกระไรมิได้แล้ว แต่บุญในปัจจุบันนี่สิ สำคัญกว่า ความในภัทเทกรัตตสูตร อาจพึงกล่าวได้ว่า "ผู้ประกอบความเพียร ไม่ประมาท มีสติอยู่กับปัจจุบันขณะเช่นนี้ แม้มีชีวิตอยู่เพียงราตรีเดียว ก็เจริญกว่าผู้ที่มีชีวิตหลงคิดไปในอดีตและอนาคตตลอด ๑๐๐ ปี"

มาเจริญสติรู้กายรู้ใจของตัวเองในปัจจุบันขณะตั้งแต่บัดนี้ เป็นผู้มีบุญกว่าผู้มีอายุยืนกว่าร้อยปีแบบไม่มีสติเป็นไหน ๆ ครับ

เจริญธรรม ฯ

edit by Dhammasarokikku

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons