วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

นิพพานคืออะไรกันแน่?

6

ปกติก็แชร์ธรรมะอยู่บนเฟสบุ๊คเรื่อย ๆ วันนี้แปลกไปเพราะมีคนมาเม้นท์ธรรมะของหลวงพ่อชา สุภทฺโท ที่แชร์เอาไว้ว่า

คนส่วนมากไม่อยากไปพระนิพพานเพราะกลัว เพราะเห็นไม่มีอะไร พอบอกว่าพระนิพพานคือความว่าง ถอยหลังเลยไม่ไป กลัว กลัวจะไม่ได้เห็นลูก กลัวจะไม่ได้เห็นหลาน กลัวจะไม่ได้เห็นอะไรทั้งนั้น อย่างที่เวลาพระท่านให้พรญาติโยมว่า อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง โยมก็ดีใจสาธุ เพราะชอบ มันจะได้อายุหลายๆ วรรณะผ่องใส มีความสุขมากๆ มีพลังหลายๆ คนชอบใจ ถ้าจะพูดว่าไม่มีอะไรแล้ว เลิกเลย ไม่ต้องเอาแล้ว

คนมันติดอยู่ในภพอย่างนั้น บอกไปตรงนั้น ไม่ไป ไม่มีที่อยู่แล้ว อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง เออดีแล้ว อายุให้ยืนยาว วัณโณให้มีวรรณะ ผิวพรรรณสวยงาม ให้มีความสุขมากๆ ให้มีอายุยืนๆ คนอายุยืน ๆ มีผิวพรรณดีมีไหม เคยมีไหม? คนอายุหลาย ๆ มีพลังมาก ๆ มีไหม? คนอายุมาก ๆ มีความสุขมาก ๆ มีไหม? พอให้พรว่า อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง ดีใจ สาธุกันทั้งนั้นทั้งศาลาเลย นี่แหละมันติดอยู่ในภพนี้

ฉะนั้นผู้ปฏิบัติทั้งหลาย ควรเข้าไปใกล้พระให้มาก ดูการปฏิบัติของท่าน การเข้าไปใกล้พระ ก็คือใกล้พระพุทธเจ้า คือใกล้ธรรมะของท่านนั้นแหละ พระพุทธเจ้าตรัสว่า "อานนท์ ให้ท่านทำให้มาก ให้ท่านเจริญให้มาก ใครเห็นเรา คนนั้นเห็นธรรม ใครเห็นธรรมคนนั้นเห็นเรา"

หลวงปู่ชา สุภัทโท
วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี

แล้วก็มีคนมาเม้นท์ไว้ว่า :

ตอนไปปฏิบัติธรรม พระอาจารย์ท่านให้ตั้งอธิษฐานจิตว่า ขอให้ได้ไปนิพพานในชาตินี้ เพื่อกำหนดทิศทางในการปฏิบัติให้ชัดเจน ก็ยังแอบสงสัยว่า นิพพานเป็นอย่างไร ถ้าไปนิพพานแล้วเกิดไม่ชอบล่ะ จะทำอย่างไร จะขอกลับมาเกิดอีกได้ไหม
(ยังมีอีกตั้งหลายที่ในโลกนี้ ยังไม่ได้ไปเที่ยวเลย เดี๋ยวอดกินขนมอร่อยกับบุปเฟต์สุดคุ้มด้วยนะ ...มารมาสะกิด)

แต่พอกลับบ้านมา ได้หลับลึกหลับยาวและไม่ฝันติด ๆ กันหลายคืน ก็รู้สึกดีมาก พอพิจารณาดู (คิดเอาเอง ไม่รู้ถูกต้องไหมนะคะ) ถ้าต้องนอนหลับยาวมาก ๆ ๆ ๆ แล้วให้เลือกระหว่าง

A ฝันตลอดเวลาที่หลับยาวนานนั้นเลย มีทั้งฝันดีและร้าย (สุขและทุกข์) ปน ๆ กันไป บังคับอะไรไม่ได้ ตามบุญตามกรรม ฝันร้ายแค่ไหน ก็ตกใจตื่นไม่ได้ ฝันดีแค่ไหน เดี๋ยวก็แว๊บหาย

B ไม่ฝันอะไรเลย ว่างเปล่า หลับลึก หลับยาว หลับสนิท ไม่รับไม่รู้อะไรเลย บรมสุขแท้

B ดีกว่า A แน่ๆ ^_^

ปล. แต่ยังคิดถึง บุปเฟต์ กับ เที่ยว เนี่ย นิพพานคงยังอีกแสนนนน...ไกล

เห็นว่า อาจจะเข้าใจความหมายของพระนิพพานผิดไป จึงอธิบายเสียยาวเหยียดดังนี้ :

ความจริงนิพพานแล้ว ก็ยังไปกินบุฟเฟ่ต์ ไปเที่ยวได้นะ เขาไม่ได้ห้ามจั๊กหน่อย คนเรามักคิดว่า พระอรหันต์นี่มีจริยาเรียบร้อย สงบเสงี่ยม เหมือนผู้ดีกุลบุตรกุลสตรีสมัยก่อน ความจริงแล้วจริยาพระอรหันต์นั้นท่านปล่อยตามธรรมชาติของท่าน ไม่ต้องระแวดระวังอะไรแล้ว ท่านมีศีลอัตโนมัติ บางท่านเคยเกิดเป็นลิงหลายชาติ จริยาก็จะซุกซนคล้ายลิง แต่ไม่ประกอบด้วยเจตนา

ที่ว่า นิพพานว่างอย่างยิ่ง หรือ นิพพานัง ปรมัง สุญญัง คือนิพพานว่างจากกิเลสอย่างยิ่ง มิใช่อยู่ว่าง ๆ ปราศจากทุกสิ่งทุกอย่าง ลองนึกดูว่า ถ้าชีวิตเราวันหนึ่ง ๆ ไม่มีสิ่งใดมาทำให้จิตเศร้าหมองได้ เบิกบานทั้งวัน เราจะสุขแค่ไหน ไปกินบุฟเฟ่ต์ หรือไปเที่ยว สังเกตให้ดี ยังเจือด้วยความขุ่นข้องหมองใจไปตลอดนะ เช่น กินบุฟเฟ่ต์ไปถึงจุดหนึ่งก็อิ่ม ทั้งที่ขนมอย่างนั้นอย่างนี้ยังไม่ได้กินเลย อยากกินแต่กินไม่ไหว อยากแล้วไม่สมอยาก แค่นี้จิตก็เศร้าหมองแล้ว หรือกินอิ่มเกินไป อึดอัด นี่ก็เศร้าหมอง กินเสร็จแล้ว ตายละ น้ำหนักขึ้น ต้องไปเล่นฟิตเนสทั้งที่ขี้เกียจจะแย่ นี่ก็เศร้าหมอง กิน ๆ ไปโรงแรมนี้เป็นที่นิยมมาก ขึ้นราคาซะงั้น กินไม่คุ้มละ เศร้าหมองอีก สิ้นเดือนตายแล้ว นี่กินบุฟเฟ่ต์เกินโควต้า เงินไม่พอจ่ายค่าบัตรเครดิต เดือนหน้าต้องงดบุฟเฟ่ต์ ก็เศร้าหมองอีก หรือไปเที่ยว ก็มีขัดใจกับผู้ร่วมทางบ้าง ไม่พอใจสถานที่บริกรบ้าง นั่งนานเมื่อยขบบ้าง ทะเลเคยสวยกว่านี้ นักท่องเที่ยวมากขึ้น ขยะเยอะขึ้นไม่สวยอย่างเมื่อก่อนบ้าง สมมุติว่าทุกอย่างเพอร์เฟ็ค ก็ไม่พ้น อยากมาเที่ยวอีก ความอยากนี่ละ ต้นเหตุแห่งความเศร้าหมองเลย ฉะนั้นสุขทางโลก ยังเป็นสุขที่เจือด้วยทุกข์ ไม่มีสุขแบบเพียว ๆ สักกะอย่าง ทุกข์อยู่ติดกับสุขเหมือนเงา ยิ่งสุขมาก ทุกข์ก็ยิ่งมากตาม

ทีนี้มาดูนิพพานบ้าง ท่านว่า นิพพานัง ปรมัง สุขัง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง มันสุขยังไง? ข้าพเจ้ามิอาจบรรยายให้ถูกต้องแม่นยำได้ เพราะข้าพเจ้าก็ยังไม่ถึงนิพพาน ได้แต่วิเคราะห์ตามคำของครูบาอาจารย์ที่ท่านถึงแล้ว อาจลองเทียบเคียงกับเวลาที่เรามีความสุขมาก ๆ เช่น วันรับปริญญาบัตร วันที่ประสบความสำเร็จในชีวิต วันนั้นความสุขมันล้นเอ่อจนไหลออกมาเป็นน้ำตาใช่ไหม? นั่นเทียบได้เพียงปีติสุข สุขขั้นต้น ๆ ของการปฏิบัติเท่านั้นเอง

สังเกตเวลาแห่งความสุข มันแค่แป๊บ ๆ เท่านั้นเอง ไม่มีใครรับปริญญาแล้วน้ำตาเอ่อทั้งวัน มันก็มีเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น แล้วก็จางไป ถูกกระตุ้นใหม่ก็อาจมีน้ำตาอีก แล้วก็จางไป ความสุขเหล่านั้นบางทีต้องแลกมาด้วยความขยันหมั่นเพียรเรียนหนังสือตลอด ๑๖-๑๗ ปี ครั้นได้มาแล้ว ก็ยังขวนขวายหาสุขอย่างเดิม มาเติมเต็มชีวิตที่เติมไม่มีวันเต็ม ด้วยการต่อโท ต่อเอก ต่อโพสต์ด็อกเตอร์ ค้นหาแค่ปีติสุขเล็กน้อยไปตลอดชีวิต

ทำไมคนไปฝึกนั่งสมาธิ พอได้ปีติแล้ว คราวนี้นั่งไม่ยอมเลิก ก็ทำนองเดียวกับปีติสุขที่เกิดจากวันรับปริญญานั่นแหละ เพียงแต่ปีติที่เกิดในวันรับปริญญา เป็นปีติที่เกิดจากคนอื่น สิ่งอื่น นอกกายนอกใจเรา กระตุ้นให้เกิดปีติ แต่ปีติสุขที่เกิดจากสมาธินั่น เป็นปีติที่เกิดจากภายใน ไม่ต้องไปดูคอนเสิร์ตดี ๆ แพง ๆ ไม่ต้องไปกินบุฟเฟ่ต์อร่อย ๆ ไม่ต้องซื้อรถใหม่ พ่อแม่พี่น้องญาติเพื่อนแฟนไม่ต้องมาแสดงความยินดีกับเราในโอกาสวันเกิด วันรับปริญญา วันแต่งงาน วันขึ้นบ้านใหม่ หรือวันใด ๆ เลย แค่นั่งดูลมหายใจเฉย ๆ อยู่กับบ้านก็เกิดปีติได้ มีความสุขได้ ทุก ๆ วัน

เทียบความสุขที่เกิดจากการกระตุ้นภายนอก กับปีติอันเกิดจากสมาธิภายในนั่น ความสุขภายนอกกลายเป็นความสุขแบบเด็ก ๆ ไปเลย อย่าเพิ่งพูดเรื่องของคุณภาพ พูดแค่เรื่องปริมาณก่อน คนที่ได้ปีติจากสมาธินั้น ปีตินั้นคงอยู่นานทีเดียว นานกว่าปีติจากการรับปริญญามาก บางคนเกิดปีติตลอดการนั่งสมาธิก็มี บางคนพอนั่งสมาธิได้ปีติแล้ว กลายเป็นเสพติดสมาธิก็มี โดยไม่ย้อนกลับไปแสวงหาปีติภายนอกกระจอกงอกง่อยอย่างการรับปริญญาอีก

ปีติทั้งสองที่กล่าวมานี้ยังเป็นแค่โลกียสุข ยังเทียบไม่ได้กับอารมณ์ของพระนิพพานอันเป็นเอกันตบรมสุข สุขอย่างยิ่ง เป็นโลกุตตรสุข สุขอันอยู่เหนือโลก ถ้าให้เทียบเคียง ก็อาจเทียบเคียงเอาจากปีติสุขที่ยาวนานต่อเนื่อง ไม่ใช่ขึ้น ๆ ลง ๆ ตามเหตุปัจจัยภายนอก หรือสมาธิ ครูบาอาจารย์ที่ท่านได้แล้ว เล่าให้ฟังว่า มันสุขเสียจนธาตุขันธ์แทบรองรับไม่ไหว บางท่านเสวยสุขอยู่ ๑ ปีเต็ม ๆ สุขจากสมาธินี่ ขี้ ๆ ไปเลย สุขจากการเที่ยว การกินบุฟเฟ่ต์นี่หลุดจากสเกลไปเลย ไม่อาจเทียบกันได้

ลองนึกดูสิ สุขทางโลกนั้น เป็นสุขที่มีเงื่อนไขทั้งนั้น ถ้าได้กินบุฟเฟ่ต์ ฉันถึงจะสุข ถ้าได้ไปเที่ยวที่สวย ๆ อาหารอร่อย ๆ มีแหล่งช็อปดี ๆ ถูก ๆ ไกด์บริการดี มุกตลกเยอะ ๆ ฉันถึงจะสุข ต้องมีสมาธิ มีปีติ ฉันถึงจะสุข แต่สุขจากพระนิพพานนี่ไม่มีเงื่อนไข สุขตลอดเวลา ทำอะไรก็มีแต่ความสุข ยืน เดิน นั่ง นอน สุขตลอด ครูบาอาจารย์ที่ท่านถึงแล้วจึงรักเคารพพระพุทธเจ้าสุดจิตสุดใจอย่างที่ปรากฏในบทสวดมนต์ว่า ข้าพเจ้าขอเป็นทาสพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระอริยสงฆ์เจ้า นั่นออกมาจากใจเลยนะ ไม่ใช่ท่องบ่นเป็นนกแก้วนกขุนทอง เพราะมีเพียงพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่ชี้ทางมาถึงแดนบรมสุขนี้ได้

ฉะนั้นนิพพานมิใช่แดนว่าง ๆ ไม่มีอะไรเลย ไม่มีอะไรให้สนุกสนาน เป็นแดนอับเฉามืดสนิท อย่างที่ใครหลายคนเข้าใจ หากแต่เป็นแดนที่มีความสุขโดยไม่ต้องอาศัยการปรุงแต่งใดใด ไม่ต้องอาศัยเหตุปัจจัยภายนอก ไม่ต้องฝืนใจทำอะไร ทำอะไรก็มีแต่ความสุข และเป็นสุขสุดยอดที่สุขใด ๆ ในโลกก็มิอาจเทียม บุฟเฟ่ต์ ดื่มกิน เที่ยวเล่นอย่างโลก ๆ ละหรือ? ผู้ที่ถึงแล้ว จะเห็นว่า กามสุข (สุขทางกามคุณ ๕ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส) เป็นสุขที่จืดสนิท ไม่มีรส ไม่มีชาติอะไรกับเขาเลย

เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ ฯ

edit by Dhammasarokikku

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons