ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นเอก
สอบในสนามหลวง
วันศุกร์ ที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๙
๑. อุทเทสแห่งนิพพิทา ดังต่อไปนี้ มีความหมายว่าอย่างไร ?
ก. คนเขลา
ข. ผู้รู้
ค. หมกอยู่
ง. หาข้องอยู่ไม่
จ. โลกนี้
๑. ก. คนผู้ไร้วิจารณญาณ
ข. ผู้รู้โลกตามความเป็นจริง
ค. เพลิดเพลินหลงติดอยู่ในสิ่งอันมีโทษ
ง. ไม่พัวพันในสิ่งล่อใจ
จ. โดยตรง ได้แก่แผ่นดินเป็นที่อยู่อาศัย โดยอ้อม ได้แก่หมู่สัตว์
ผู้อาศัย ฯ
๒. อุทเทสว่า “เย จิตฺตํ สญฺเมสฺสนฺติ โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา” นั้น
การสำรวมจิตทำอย่างไร ?
๒. การสำรวมจิตมี ๓ วิธี คือ
๑. สำรวมอินทรีย์มิให้ความยินดีครอบงำ ในเมื่อเห็นรูป ฟังเสียง
ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ อันน่าปรารถนา
๒. มนสิการกัมมัฏฐานอันเป็นปฏิปักษ์ต่อกามฉันท์ คือ อสุภะ
กายคตาสติ และมรณสติ
๓. เจริญวิปัสสนา พิจารณาสังขารให้เห็นเป็น อนิจจัง ทุกขัง
อนัตตา ฯ
๓. สังขารในไตรลักษณ์กับในขันธ์ ๕ ต่างกันอย่างไร ?
๓. สังขารในไตรลักษณ์ หมายเอารูปธรรมและนามธรรมทั้งหมดที่ปัจจัย
ปรุงแต่งขึ้น ส่วนสังขารในขันธ์ ๕ หมายเอาเจตสิกธรรมที่ปรุงแต่งจิต
ให้มีอาการต่างๆ เว้นเวทนาและสัญญา ฯ
๔. ปกิณกทุกข์ คืออะไร ? จะบรรเทาได้ด้วยวิธีอย่างไร ?
๔. คือ ทุกข์จร เช่น ความเศร้าโศกเสียใจ ความร่ำไรบ่นเพ้อรำพัน ความ
ไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ความประสบสิ่งที่
ไม่พึง ปรารถนา ความพลัดพรากจากของรัก ความผิดหวังเป็นต้น ฯ
จะบรรเทาได้ด้วยการมีสติ ใช้ปัญญาพิจารณา รู้จักปลงรู้จักปล่อยวาง
ไม่ยึดมั่นถือมั่น ฯ
๕. อาหารปริเยฏฐิทุกข์ คืออะไร ? จะบรรเทาได้ด้วยวิธีอย่างไร ?
๕. คือ ทุกข์ในการหาเลี้ยงชีพ เช่น ต้องแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน เมื่อผลประโยชน์
ขัดกัน ก็ทะเลาะกัน และเมื่อยิ่งแสวงหามากก็เป็นเหตุให้เกิดทุกข์มาก ฯ
จะบรรเทาได้ด้วยการขยันประหยัดอดทนและ อดออม เป็นอยู่ด้วยปัจจัย
เครื่องเลี้ยงชีพเท่าที่จำเป็น ตัดสิ่งฟุ้งเฟ้อที่ไม่จำเป็นออกไป ยินดีเท่าที่ตน
มีอยู่โดยยึดทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักในการดำรงชีวิต ฯ
๖. พระบาลีว่า “ภิกษุ เธอจงวิดเรือนี้ เรือที่เธอวิดแล้ว จักพลันถึง”
จงให้ความหมายคำต่อไปนี้ ให้ถูกต้องตามพระบาลีนั้น ?
ก. เรือนี้
ข. จงวิด (วิดอะไร)
ค. เรือที่วิดแล้ว
ง. จักพลันถึง (ถึงอะไร)
จ. เรือจักไม่จมใน........
๖. ก. อัตภาพร่างกาย
ข. วิดน้ำ คือมิจฉาวิตก
ค. อัตภาพที่บรรเทากิเลสให้เบาบางลง
ง. ถึงท่า คือพระนิพพาน
จ. ในสังสารวัฏ ฯ
๗. คนสัทธาจริตและคนวิตกจริต มีลักษณะอย่างไร ? ควรเจริญกัมมัฏฐาน
อะไร ?
๗. คนสัทธาจริต มีลักษณะเชื่อง่ายขาดเหตุผล คนวิตกจริต มีลักษณะ
คิดมาก ฟุ้งซ่าน ฯ
คนสัทธาจริตควรเจริญอนุสสติ ๖ ข้างต้น คนวิตกจริตควรเจริญอานาปานสติ ฯ
๘. กายคตาสติกัมมัฏฐานกับอสุภกัมมัฏฐาน ต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไร ?
จงอธิบาย
๘. ต่างกันที่อารมณ์ คือ กายคตาสติ พิจารณาอาการภายในของตนเป็น
อารมณ์อสุภ พิจารณาซากศพเป็นอารมณ์ ฯ
เหมือนกันตรงที่พิจารณาให้เห็นเป็นปฏิกูล ไม่งามเหมือนกันและเป็น
ปฏิปักษ์ต่อกามฉันทะ อีกทั้งเป็นเครื่องกำจัดวิปลาส ข้อที่เห็นว่า
สวยงามในสิ่งที่ไม่สวยงามได้เหมือนกัน ฯ
๙. จงแสดงวิธีเจริญมุทิตา พร้อมทั้งอานิสงส์แห่งการเจริญ พอเป็นตัวอย่าง ?
๙. วิธีเจริญมุทิตานั้นดังนี้ เมื่อได้เห็นหรือได้ยินมนุษย์หรือสัตว์ เป็นอยู่
สุขสบาย เจริญรุ่งเรืองด้วยสุขสมบัติ พึงทำจิตใจให้ชื่นชมยินดี แล้ว
แผ่มุทิตาจิตไปว่า สัตว์ผู้นี้หนอบริบูรณ์ยิ่งนัก มีสุขสมบัติมาก จงเจริญ
ยั่งยืนด้วยสุขสมบัติยิ่งๆ เถิด เมื่อเจริญอยู่เนืองๆ ย่อมได้รับอานิสงส์
คือ จะละความริษยาในสมบัติของผู้อื่นได้ ฯ
๑๐. การทำวัตรสวดมนต์ เป็นกิจวัตรของพระภิกษุสามเณรและเป็นภาวนากุศล
จงแสดงวิธีเจริญสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน ในบททำวัตรเช้า
มาดูพอเป็นตัวอย่าง ?
๑๐. การสวดนมัสการพระรัตนตรัยก็ดี สวดสรรเสริญคุณพระรัตนตรัยก็ดี
เป็นการน้อมจิตระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ชื่อว่า
เจริญพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ จัดเป็นสมถกัมมัฏฐาน ฯ
สวดสังเวคปริกิตตนปาฐะว่า ชาติปิ ทุกฺขา ชราปิ ทุกฺขา มรณมฺปิ
ทุกฺขํ... รูปํ อนิจฺจํ เวทนา อนิจฺจา... รูปํ อนตฺตา เวทนา อนตฺตา...
เป็นอาทิ ตั้งสติมีความเพียร ใช้ปัญญาพิจารณาเบญจขันธ์ ยกขึ้นสู่
สามัญลักษณะ จัดเป็นวิปัสสนากัมมัฏฐาน ฯ
ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นเอก
สอบในสนามหลวง
วันอังคาร ที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๐
๑. สหคตทุกข์ คือทุกข์เช่นไร ? มียศชื่อว่าเป็นทุกข์นั้น มีอธิบายอย่างไร ?
๑. คือ ทุกข์ไปด้วยกัน หรือทุกข์กำกับกัน ได้แก่ทุกข์มีเนื่องมาจาก วิบุลผล ฯ
มียศคือได้รับตั้งเป็นใหญ่กว่าคนสามัญเป็นชั้น ๆ ต้องเป็นอยู่เติบกว่าคนสามัญ จำต้องมีทรัพย์มากเป็นกำลัง มักหาได้ไม่พอใช้ ต้องมีภาระมาก เวลาไม่เป็นของตน เป็นที่เกาะของผู้อื่นจนนุงนัง ต้องพลอยสุขทุกข์ด้วยเขา ฯ
๒. ไวพจน์แห่งวิราคะ ได้แก่อะไรบ้าง ?
๒. ได้แก่
มทนิมฺมทโน แปลว่า ธรรมยังความเมาให้สร่าง
ปิปาสวินโย แปลว่า ความนำเสียซึ่งความระหาย
อาลยสมุคฺฆาโต แปลว่า ความถอนขึ้นด้วยดีซึ่งอาลัย
วฏฺฏูปจฺเฉโท แปลว่า ความเข้าไปตัดเสียซึ่งวัฏฏะ
ตณฺหกฺขโย แปลว่า ความสิ้นแห่งตัณหา
นิโรโธ แปลว่า ความดับ
นิพฺพานํ แปลว่า ธรรมชาติหาเครื่องเสียบแทงมิได้ ฯ
๓. วิมุตติ เป็นโลกิยธรรมหรือโลกุตตรธรรม ? เป็นสาสวะหรืออนาสวะ ?
๓. ถ้าเพ่งถึงวิมุตติที่สืบเนื่องมาจากนิพพิทาและวิราคะแล้ว ก็เป็นโลกุตตระและอนาสวะอย่างเดียว ถ้าเพ่งถึงวิมุตติ ๕ วิมุตติเป็นโลกิยะก็มี เป็นสาสวะก็มี คือตทังควิมุตติและวิกขัมภนวิมุตติเป็นโลกิยะและเป็นสาสวะ วิมุตติอีก ๓ ที่เหลือ เป็นโลกุตตระและเป็นอนาสวะ ฯ
๔. ในบรรดาสังขตธรรมนั้น อะไรเป็นยอด ? เพราะเหตุไร ?
๔. อัฏฐังคิกมรรคเป็นยอด ฯ
เพราะองค์ ๘ แต่ละองค์ ๆ ของอัฎฐังคิกมรรคก็เป็นธรรมดี ๆ รวมกันเข้าทั้ง ๘ ย่อมเป็นธรรมดียิ่งนัก และเป็นทางเดียวนำไปถึงความดับทุกข์หรือถึงความหมดจดแห่งทัสสนะ ฯ
๕. บาลีแสดงปฏิปทาแห่งสันติว่า ผู้เพ่งความสงบพึงละอามิสในโลกเสีย
ความสงบ ได้แก่อะไร ? อามิส ได้แก่อะไร ? เพราะเหตุไรจึงเรียกว่าอามิส ?
๕. ได้แก่ ความเรียบร้อยทางกายทางวาจาและทางใจ ฯ
ได้แก่ ปัญจพิธกามคุณ คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่าปรารถนาน่าใคร่น่าชอบใจ ฯ
เพราะเป็นเครื่องล่อใจให้ติดในโลก ฯ
๖. เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงชักนำให้บำเพ็ญสมาธิ ? หัวใจสมถกัมมัฏฐานมีอะไรบ้าง ?
๖. เพราะใจที่อบรมดีแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อันใหญ่ เป็นกำลังสำคัญในอันจะให้คิดเห็นอรรถธรรมและเหตุผลอันสุขุมลุ่มลึก พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ในพระบาลีว่า สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ ผู้มีใจตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ตามเป็นจริง ฯ
มี กายคตาสติ เมตตา พุทธานุสสติ กสิณ จตุธาตุววัตถานะ ฯ
๗. จงจัด นวหรคุณ แต่ละอย่างลงในพระปัญญาคุณและพระกรุณาคุณ ?
๗. บท อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน สุคโต โลกวิทู
เป็นพระปัญญาคุณ
บท อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ สตฺถา เทวมนุสฺสานํ เป็นพระกรุณาคุณ
บท พุทฺโธ ภควา เป็นพระปัญญาคุณและพระกรุณาคุณทั้งสอง
(สุคโต ในที่บางแห่ง จัดเป็นทั้งพระปัญญาคุณทั้งพระกรุณาคุณ) ฯ
๘. อะไรเป็นลักษณะ เป็นกิจ และเป็นผลของวิปัสสนา ?
๘. สภาพความเป็นเองของสังขาร คือเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จริงอย่างไร ความรู้ความเห็นว่าสังขารเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แจ้งชัดจริงอย่างนั้น เป็นลักษณะของวิปัสสนา
การกำจัดโมหะความมืดเสียให้สิ้นเชิง ไม่หลงในสังขารว่าเป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวเป็นตน เป็นของงาม เป็นกิจของวิปัสสนา
ความรู้แจ้งเห็นจริงในสังขารทั้งหลายว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อันสืบเนื่องมาจากการกำจัดโมหะความมืดเสียได้สิ้นเชิง ไม่มีความรู้ผิดความเห็นผิด เป็นผลของวิปัสสนา ฯ
๙. ในอรกสูตร ทรงแสดงอุปมาชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายไว้อย่างไรบ้าง จงบอกมา ๓ ข้อ ? ที่ทรงแสดงไว้เช่นนั้นเพื่ออะไร ?
๙. ทรงแสดงไว้ดังนี้ คือ (ให้ตอบเพียง ๓ ข้อ) ๑. เหมือนหยาดน้ำค้าง ๒. เหมือนต่อมน้ำ ๓. เหมือนรอยไม้ขีดลงในน้ำ ๔. เหมือนลำธารอันไหลมาจากภูเขา ๕. เหมือนก้อนเขฬะ ๖. เหมือนชิ้นเนื้อนาบไฟ ๗. เหมือนโคที่เขาจะฆ่า ฯ
ทรงแสดงไว้เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้เร่งรีบทำความดีให้ทันกับเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ ฯ
๑๐. ตามมหาสติปัฏฐานสูตร ผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๗ วันถึงตลอด ๗ ปี พึงหวังผลอะไรได้บ้าง ?
๑๐. พึงหวังผล ๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ พระอรหัตผลในปัจจุบันชาตินี้ ๑ หรือเมื่อวิบากขันธ์ที่กิเลสมีตัณหาเป็นต้นเข้ายึดไว้ยังเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี ๑ ฯ
***********