แนวข้อสอบสนามหลวงวิชาอนุพุทธประวัติ
๑. สัมมาสัมพุทธะ พระปัจเจกพุทธะ และอนุพุทธะ ต่างกันอย่างไร การเรียนอนุพุทธประวัติ สำเร็จประโยชน์อย่างไร ให้ประโยชน์อย่างไรต่อเจ้าของประวัติ และผู้ศึกษา
ตอบ สัมมาสัมพุทธะ ตรัสรู้เองโดยชอบ และสอนผู้อื่นให้รู้ตาม ปัจเจกพุทธะ ตรัสรู้เฉพาะตน มิได้สอนให้ผู้อื่นรู้ตาม อนุพุทธะ ตรัสรู้ตามสัมมาสัมพุทธะ และสามารถสอนผู้อื่นให้กระทำตามด้วย ฯเพื่อจะได้ทราบความเป็นไป และปฏิปทาของท่าน ที่ได้ช่วยประกาศพระศาสนาในที่นั้น ๆ จนเป็นเหตุเจริญแพร่หลาย และมั่นคง แล้วจักได้ถือเป็นทิฏฐานุคติ บำเพ็ญประโยชน์ตน และประโยชน์ท่าน โดยควรแก่ฐานะของตน ทั้งให้สำเร็จ เป็นสังฆานุสสติมั่นคงอีกด้วย ฯเป็นการประกาศเกียรติคุณพระสาวก ผู้เป็นอุปการะแก่พระศาสนา ได้เชิดชูพระคุณท่าน นำเพื่อนร่วมศาสนาให้เกิดปสาทะ และนับถือ ความดีของพระสาวกปรากฏแล้ว จักเชิดชูพระเกียรติคุณของพระศาสดายิ่งขึ้น ฯให้คุณค่าในด้านกำหนด และจำวัตรปฏิบัติอันงดงามของท่าน มาเป็นปฏิปทา เครื่องดำเนินชีวิตของตน ฯ
๒. อนุพุทธบุคคล คือใคร ท่านเหล่านั้น มีความสำคัญต่อพระศาสดาอย่างไร เป็นได้เฉพาะบรรพชิต หรือเฉพาะคฤหัสถ์ เมื่อครั้งที่พระอรหันต์ ๖๑ องค์ เกิดขึ้นในโลก มีใครบ้าง
ตอบ คือ สาวกผู้ตรัสรู้ตามพระบรมสุคตเจ้า ฯมีความสำคัญอย่างนี้ แม้พระศาสดาได้ตรัสรู้ และทรงแสดงธรรม หากไม่มีผู้รู้ธรรมและนำไปปฏิบัติ ความตรัสรู้ของพระองค์ย่อมไม่สำเร็จประโยชน์ ฯเป็นได้ทั้งบรรพชิต และคฤหัสถ์ ฯได้แก่ พระพุทธองค์ ๑, พระปัญจวัคคีย์ ๕, พระยสะและสหาย ๕๕ ฯ
๓. พระสังฆรัตนะ อุบัติขึ้นในโลกเมื่อไร
ตอบ พระสังฆรัตนะ อุบัติขึ้นในโลกเมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาทรงยังธรรมจักรให้เป็นไปแล้ว ฯ
๔. พระบรมศาสดาทรงยังความเป็นพระสัมมาสัมพุทธะให้สำเร็จบริบูรณ์ได้อย่างไร
ตอบ ด้วยทรงเทศนาโปรดให้ผู้อื่นรู้ตามเป็นอนุพุทธบุคคล พยานความตรัสรู้ของ
พระองค์ และรับพระธรรมไว้เป็นข้อปฏิบัติ ฯ
๕. เมื่อจะน้อมถึงพระคุณของพระอนุพุทธะ ควรเปล่งวาจาว่าอย่างไร
ตอบ ควรเปล่งวาจาว่า “สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ, สงฺฆํ นมามิ” ฯ
๖. ภิกษุสามเณรมีหน้าที่บริหารพระพุทธศาสนาโดยตรง แต่จะปฏิบัติอย่างไรพระพุทธศาสนาจึงจะเจริญ
ตอบ ในเบื้องต้นต้องศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย แล้วปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัยนั้น และสั่งสอนชุมชนต่อไป ตามกำลังความสามารถ และหน้าที่ที่จะพึงกระทำ ฯ
๗. อนุพุทธองค์แรก สำเร็จเป็นพระภิกษุ ด้วยพระพุทธดำรัสว่าอย่างไร
ตอบ ด้วยพระพุทธดำรัสว่า “ท่านจงมาเป็นภิกษุเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด ฯ
๘. เอตทัคคะในทางรัตตัญญู เป็นคุณสมบัติดีอย่างไร
ตอบ รัตตัญญู ผู้รู้ราตรีนาน คือผู้บวชมาก่อน ย่อมพบเห็น และได้ยินได้ฟังมามาก มีประสบการณ์มาก รู้อะไรควร อะไรไม่ควร ย่อมทรงจำธรรมเนียมปฏิบัติ และความรู้แขนงต่าง ๆ ไว้ได้มาก ย่อมรอบคอบ และมองการณ์ไกล จึงเป็นคุณสมบัติอย่างดี ฯ
๙. คำที่มีอยู่ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรต่อไปนี้ ได้แก่อะไร ก) ส่วนสุด ๒ อย่าง ข) มัชฌิมาปฏิปทา
ตอบ ก) ได้แก่ กามสุขัลลิกานุโยค ความหมกมุ่นอยู่ในกาม หรือการปฏิบัติที่ย่อหย่อนเกินไป ๑, อัตตกิลมถานุโยค ความทำตนให้ลำบาก หรือการปฏิบัติที่เคร่งครัดเกินไป ๑
ข) ได้แก่ ข้อปฏิบัติสายกลาง คือ มรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง ฯ
๑๐. พระอัญญาโกณฑัญญะ ใคร่ครวญดูตามประวัติ ความเชื่อถือของท่าน หนักไปทางไหน ในตำราทายลักษณะ หรือในอัตตกิลมถานุโยคปฏิบัติ ขอฟังเหตุผล
ตอบ หนักไปในอัตตกิลมถานุโยคปฏิบัติ เพราะเมื่อแรก เชื่อตำราทายลักษณะ จึงออกบวชตาม และเฝ้าอุปัฏฐาก ครั้นเห็นทรงเลิกการบำเพ็ญทุกรกิริยา ก็สิ้นหวังเพราะเชื่อมั่นว่า อัตตกิลมถานุโยคปฏิบัติ จะเป็นทางที่ทำให้หลุดพ้น ครั้งเมื่อพระพุทธองค์ตรัสว่า ตถาคตได้บรรลุธรรมแล้ว ก็คัดค้าน ไม่เชื่อถือ และแสดงความไม่เคารพ โดยเรียกพระองค์ว่า อาวุโส เป็นเครื่องยืนยันความเห็นดังกล่าว ฯ
๑๑. พระอัญญาโกณฑัญญะ ชื่อเดิมว่าอะไร เกิดที่ไหน เรียนจบอะไร ทำไมจึงได้ชื่อว่า อัญญาโกณฑัญญะ ได้เกิดความรู้เห็นอย่างไรก่อน จึงนับว่าเป็นปฐมอริยสาวก ได้เป็นพระโสดาบัน และได้เป็นพระอรหันต์ เพราะได้ฟังพระธรรมเทศนาอะไร พระธรรมเทศนานั้นโดยย่อ ว่าด้วยเรื่องอะไร ตอบ พระอัญญาโกณฑัญญะ ชื่อเดิมว่า โกณฑัญญพราหมณ์ ฯเกิดที่บ้านโทณวัตถุ ไม่ไกลจากกรุงกบิลพัสดุ์ ฯเรียนจบไตรเภท และตำราวิธีทำนายลักษณะคน ฯได้ชื่อว่า อัญญาโกณฑัญญะ เพราะอาศัยพระอุทานของพระผู้มีพระภาค เมื่อโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมว่า “อัญญา สิ” ที่แปลว่า ได้รู้แล้ว ฯได้เกิดความรู้เห็นว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นย่อมมีความดับเป็นธรรมดา คือ ได้ดวงตาเห็นธรรม (ธรรมจักษุ) แล้วทูลขอบวชกับพระพุทธองค์ จึงนับได้ว่า เป็นปฐมอริยสาวกในพระศาสนา ฯได้เป็นพระโสดาบัน ด้วยได้ฟังธัมมจักกัปปวัตตนสูตร และได้เป็นพระอรหันต์ ด้วยได้ฟังอนัตตลักขณสูตร ฯว่าด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ฯ
๑๒. พระวาจาว่า ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด ดังนี้ คำว่า ที่สุดทุกข์ คืออะไรผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ก่อนกว่าผู้อื่น คือใคร ด้วยพระธรรมเทศนาอะไร
ตอบ ที่สุดทุกข์ คือ อรหัตตผล ฯผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ก่อนกว่าผู้อื่น คือ ภิกษุปัญจวัคคีย์ ด้วยธรรมเทศนา อนัตตลักขณสูตร ฯ
๑๓. พระยสะ มีมารดาบิดาตั้งภูมิลำเนา อยู่ที่ไหน ออกบวชเพราะเหตุไร
ตอบ มีภูมิลำเนาอยู่ในเมืองพาราณสี ใกล้ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ฯเพราะมีความเบื่อหน่ายในการครองเพศฆราวาส ด้วยเห็นอาการวิปริตของชนบริวารจึงเดินออกจากเรือน ไปพบพระพุทธเจ้า ได้ฟังพระธรรมเทศนา จนบรรลุเป็นพระอรหันต์ จึงได้ออกบวช ฯ
๑๔. อนุปุพพิกถา คืออะไร ทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระพุทธประสงค์อย่างไร
ตอบ คือ เทศนาที่กล่าวไปโดยลำดับ เพื่อฟอกจิตของสัตว์ ทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระพุทธประสงค์ในการฟอกจิตของผู้ฟังธรรมให้ห่างไกลจากความยินดีในกาม พร้อมแก่การรับธรรมะขั้นสูงขึ้นไป คือ อริยสัจ ๔ ประดุจผ้าที่ปราศจากมลทิน ควรรับน้ำย้อมได้ ฉะนั้น ฯ
๑๕. พระพุทธเจ้า ทรงทำอิทธาภิสังขาร แก่ใครเป็นครั้งแรก ทรงทำเช่นนั้น ด้วยพระพุทธประสงค์อย่างไร
ตอบ ทรงแสดงแก่ ยสกุลบุตร และบิดาของยสกุลบุตร เป็นครั้งแรก ด้วยการทำให้ไม่เห็นกัน แม้จักนั่งอยู่ใกล้กันก็ตาม เพื่อให้จิตไม่มีความกังวลทั้งสองฝ่าย ฯด้วยพระพุทธประสงค์ให้ยสกุลบุตร พิจารณาภูมิธรรม อันตนได้เห็นแล้ว จนถึงได้บรรลุพระอรหัตตผล และให้บิดาได้ฟังธรรมแล้วบรรลุพระโสดาปัตติผล ฯ
๑๖. เศรษฐี บิดาของพระยสะ ออกติดตามหาพระยสะ ให้กลับบ้าน แต่เหตุไฉนเมื่อพบแล้ว จึงมิได้นำกลับไป ตามความประสงค์เดิม
ตอบ เพราะพระยสะ ได้บรรลุธรรม เป็นพระอรหันต์ขีณาสพแล้ว ไม่ควรจะให้อยู่ครองเรือนต่อไป ควรบวชเป็นภิกษุ ฯ
๑๗. พระพุทธองค์ทรงส่งสาวกออกไปประกาศพระศาสนา เพราะทรงเห็นประโยชน์อะไร
ตอบ ทรงเห็นประโยชน์เกื้อกูลแก่มหาชน เพื่อให้เห็นธรรม และตั้งอยู่ในสัมมาปฏิบัติ
อันเป็นปัจจัยแห่งความสุข ความสงบ ฯ
๑๘. บุคคลประเภทที่ว่า ธัมมัปปมาณิกา ผู้ถือธรรมเป็นประมาณ มีอธิบายอย่างไร ในข้อนี้ มีตัวอย่างแสดงไว้อย่างไร
ตอบ มีอธิบายว่า บุคคลประเภทนี้ ถือธรรมเป็นสำคัญ ชอบใจเฉพาะข้อปฏิบัติ เห็นผู้ที่ตั้งอยู่ในสังวร มีมารยาทเรียบร้อย และได้ฟังธรรมอันท่านแสดงมุ่งกล่าวเฉพาะข้อปฏิบัติ ย่อมเลื่อมใส ฯตัวอย่างเช่น อุปติสสปริพาชก ได้เห็นพระอัสสชิ และได้ฟังธรรมของท่านแล้ว จึงเกิดความเลื่อมใส ฯ
๑๙. ความเป็นผู้สำรวมกิริยาอาการให้เรียบร้อย ดีงาม สมความเป็นสมณะ เป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้ทางหนึ่ง ในข้อนี้มีปฏิปทาของพระสาวกองค์ใด เป็นตัวอย่าง จงเล่าประวัติโดยสังเขปมาประกอบ
ตอบ พระอรหันตสาวกทุกรูป ล้วนเป็นผู้สำรวมกิริยาอาการเรียบร้อย ดีงาม ทั้งสิ้น ที่ได้รับยกย่องเป็นพิเศษ คือ พระอัสสชิเถระ หนึ่งในภิกษุปัญจวัคคีย์ มีจริยาสงบเสงี่ยมน่าเลื่อมใส จนเป็นเหตุให้อุปติสสะปริพาชกเห็นแล้วเกิดศรัทธา เข้าไปขอฟังธรรม จนดวงตาเห็นธรรม ภายหลังบวชแล้วได้ชื่อว่า พระสารีบุตร เป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง และมั่นคง ฯ
๒๐. พระอัสสชิได้แสดงธรรมแก่อุปติสสปริพาชก มีใจความย่อว่าอย่างไร
ตอบ มีใจความย่อว่า “ธรรมใด เกิดแต่เหตุ ตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมนั้น และความดับไปแห่งธรรมนั้น พระมหาสมณะ มีปกติตรัสอย่างนี้” ฯ
๒๑. ในคราวที่เสด็จไปโปรด พระเจ้าพิมพิสาร ณ ลัฏฐิวัน มีพระสาวกตามเสด็จไปเป็นจำนวนมาก ผู้ที่เป็นหัวหน้าของพระสาวกเหล่านั้น คือใคร และท่านมีส่วนสำคัญในการประกาศพระศาสนา ในครั้งนั้นอย่างไร
ตอบ มีพระอุรุเวลกัสสปะ เป็นหัวหน้า ฯท่านช่วยประกาศความมีแก่นสาร ของพระพุทธศาสนา และความไม่มีแก่นสารของลัทธิเดิมที่ท่านนับถือ ทำให้มหาชนทั่วไปที่นับถือท่านมานาน เกิดศรัทธา พระเจ้าพิมพิสาร พร้อมด้วยบริวาร น้อมจิตลงตั้งใจสดับพระธรรมเทศนาอนุปุพพิกถา และอริยสัจ ๔ จนพระเจ้าพิมพิสารพร้อมด้วยบริวาร ๑๑ ใน ๑๒ ส่วน ดวงตาเห็นธรรม ฯ
๒๒. พระอุรุเวลกัสสปะ บวชเป็นพระภิกษุ ในพระพุทธศาสนา เพราะเหตุใด พระพุทธองค์ ทรงพาท่านไปกรุงราชคฤห์ด้วย เพราะทรงมีพุทธประสงค์อย่างไร
ตอบ เพราะพระพุทธเจ้าได้ทรงทรมานด้วยการแสดงปาฏิหาริย์หลายประการ จนอุรุเวลกัสสปะละมานะทิฏฐิของตน เห็นว่า ลัทธิความเชื่อเดิม ไม่มีแก่นสารอะไร มีความสลดใจ จึงทูลขออุปสมบท ฯพระพุทธองค์ทรงพาท่านไปกรุงราชคฤห์ด้วย เพราะทรงประสงค์ให้พระอุรุเวลกัสสปะซึ่งได้รับการนับถือจากมหาชนมาช้านาน ยืนยันแก่ประชาชนทั่วไปว่า ลัทธิเดิมของท่าน ไม่ได้มีสาระอะไร จักได้ประดิษฐาน พระพุทธศาสนาไว้ ในแผ่นดินมคธ อย่างมั่นคง ถาวร ฯ
๒๓. ความเป็นผู้มีบริวารมาก เป็นผลมาจากอะไร และดีอย่างไร พระสาวกองค์ใด
ได้รับการยกย่องว่า เลิศในทางนี้
ตอบ เป็นผลมาจาก ความรู้จักเอาใจบริษัท รู้จักการสงเคราะห์บริวาร ด้วยอามิสบ้างด้วยธรรมบ้าง ฯดีอย่างนี้คือ ภิกษุผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติเห็นปานนี้ ย่อมเป็นผู้อันบริษัทรักใคร่ นับถือ สามารถควบคุมบริษัทไว้อยู่ เป็นผู้อันจะพึงปรารถนาในสาวกมณฑล ฯพระอุรุเวลกัสสปะ
๒๔. ชฎิล ๓ พี่น้อง ชื่อว่าอะไรบ้าง ใครได้รับยกย่องว่า เป็นผู้มีบริวารมาก ท่านเหล่านั้นพร้อมบริวารได้บรรลุอรหัตตผล เพราะได้ฟังพระธรรมเทศนาอะไร ใจความย่อว่าอย่างไร ตอบ ชื่อว่า อุรุเวลกัสสปะ นทีกัสสปะ คยากัสสปะ ฯอุรุเวลกัสสปะ เป็นผู้มีบริวารมาก ฯบรรลุอรหัตตผล เพราะได้ฟังพระธรรมเทศนา อาทิตตปริยายสูตร ฯใจความโดยย่อ กล่าวถึง อายตนะภายใน อายตนะภายนอก วิญญาณ สัมผัส และเวทนา ที่เกิดแต่สัมผัส เป็นสิ่งที่ทำให้เร่าร้อน และไฟที่ทำให้เร่าร้อน คือ ราคัคคิ ไฟคือราคะ โทสัคคิ ไฟ คือโทสะ โมหัคคิ ไฟ คือโมหะ และเร่าร้อนเพราะความเกิดความแก่ ความตาย ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความคับแค้นใจ ดังนี้ ฯ
๒๕. คำถามว่า “ผู้มีอายุ อินทรีย์ของท่านหมดจดผ่องใส ท่านบวชจำเพาะใครใครเป็นศาสดาผู้สอนของท่าน ท่านชอบใจธรรมของใคร” เป็นคำถามของใคร ใครเป็นผู้ตอบ ตอบว่าอะไร
ตอบ อุปติสสปริพาชก ฯพระอัสสชิเป็นผู้ตอบ ฯตอบว่า “ผู้มีอายุ เราบวชจำเพาะพระมหาสมณะผู้เป็นโอรสศากยราช ออกจากศากยสกุล ท่านเป็นศาสดาของเรา เราชอบใจธรรมของท่าน” ฯ
๒๖. ธรรมเสนาบดี และนวกัมมาธิฏฐายี เป็นนามของพระสาวกองค์ใด เพราะ
เหตุไร จึงมีนามเช่นนั้น
ตอบ ธรรมเสนาบดี เป็นนามของพระสารีบุตรเถระ เพราะท่านเป็นกำลังสำคัญยิ่ง ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ฯนวกัมมธิฏฐายี เป็นนามของพระโมคคัลลานะ เพราะท่านเป็นผู้กำกับดูแลการก่อสร้างวัดบุพพาราม ของนางวิสาขามหาอุบาสิกา ฯ
๒๗. พระสารีบุตร ได้บรรลุอรหัตตผลช้ากว่าบริวาร เพราะเหตุไร
ตอบ เพราะเป็นผู้มีปัญญามาก ต้องใช้บริกรรมใหญ่ ซึ่งเปรียบด้วยการเสด็จไปข้างไหน ๆ แห่งพระราชา ต้องตระเตรียมสิ่งที่จำเป็น จึงช้ากว่า การไปของคนสามัญ ฯ
๒๘. เมื่อครั้งพระพุทธเจ้า ประทับอยู่ที่เมืองเทวทหะ รับสั่งกับพระภิกษุ ผู้เข้าเฝ้าเพื่อทูลลาไปปัจฉาภูมิชนบท ให้ไปลาพระเถระรูปใด และทรงยกย่องพระเถระรูปนั้นว่าอย่างไร เพราะเหตุใดจึงยกย่องอย่างนั้น
ตอบ รับสั่งให้ไปลาพระสารีบุตร ฯยกย่องว่า เป็นผู้มีปัญญา อนุเคราะห์เพื่อนบรรพชิต ฯ
๒๙. ทิฏฐิแสดงความเห็นว่า “สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่ชอบใจทั้งหมด” ใครพูดกับใคร ตามทิฏฐิแสดงความเห็นนั้น มีคำกล่าวตอบว่าอย่างไร
ตอบ ปริพาชกทีฆนขะ อัคคิเวสสนโคตร ทูลกับพระศาสดา ฯมีพระดำรัสตอบว่า “อัคคิเวสสนะ ถ้าอย่างนั้น ความเห็นอย่างนั้น ก็ต้องไม่ควรแก่ท่าน ท่านก็ต้องไม่ชอบความเห็นอย่างนั้น” ฯ
๓๐. เมื่อเอ่ยถึงพระสารีบุตร ทำให้นึกถึงพระสาวกอีกองค์หนึ่ง คือใคร ท่านได้บรรลุพระอรหันต์ และนิพพานที่ไหน ก่อนหรือหลังพระสารีบุตร ) อัฐิธาตุของท่าน บรรจุไว้ที่ไหน
ตอบ สาวกอีกองค์หนึ่ง คือ พระโมคคัลลานะ เป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย ฯท่านได้บรรลุอรหันต์ ที่บ้านกัลลวาลมุตตคาม แขวงมคธ ก่อนพระสารีบุตร ๘ วัน ฯนิพพานที่ ตำบลกาฬศิลา แขวงมคธ หลังพระสารีบุตร ๑๕ วัน ฯบรรจุไว้ที่เจดีย์ใกล้ซุ้มประตูแห่งเวฬุวนาราม ฯ
๓๑. พระศาสดาทรงยกย่องพระสารีบุตรคู่กับพระโมคคัลลานะ โดยอุปมาไว้อย่างไร ที่ตรัสอุปมาไว้อย่างนั้น เพราะเหตุไร
ตอบ ทรงตรัสอุปมาว่า พระสารีบุตรเปรียบเหมือนมารดาผู้ให้กำเนิดทารก พระโมคคัลลานะเปรียบเหมือนนางนม ผู้เลี้ยงทารกที่เกิดแล้วนั้น ฯที่ตรัสอุปมาไว้อย่างนั้น เพราะพระสารีบุตรย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล พระโมคคัลลานะย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในคุณธรรมเบื้องสูงกว่านั้น ฯ
๓๒. การพบกันของพระอัสสชิ และอุปติสสปริพาชก มีผลต่อพระพุทธศาสนาอย่างไร พระสารีบุตรมีปัญญาเลิศกว่าพระสาวกทั้งหลายนั้น มีอะไรเป็นเครื่องยืนยัน
ตอบ มีผลดังนี้ คือ อุปติสสปริพาชกได้เลื่อมใสในวัตรของพระอัสสชิ ๑, อุปติสสปริพาชกได้ฟังธรรมแล้ว ได้ดวงตาเห็นธรรม ๑, อุปติสสปริพาชกได้ชักชวนเพื่อนไปบวช ฟังธรรมแล้วบรรลุธรรม ๑, พระพุทธองค์ได้อัครสาวกเบื้องซ้ายเบื้องขวา ๑ ฯมีพระพุทธดำรัสตรัสยกย่องพระสารีบุตรว่า เป็นยอดแห่งพระสาวกผู้มีปัญญา และตรัสสรรเสริญว่า พระสารีบุตรสามารถแสดงธรรมจักร และจตุราริยสัจ ได้กว้างขวางพิสดาร แม้นกับพระองค์ ประกอบกับพระธรรมเทศนาที่ท่านได้แสดงไว้ในโอกาสนั้นๆ แสดงให้เห็นถึงอัจฉริยภาพอย่างแท้จริงของท่าน ในด้านนี้ ฯ
๓๓. พระศาสดาทรงยกย่องพระสาวกรูปใดว่า มีธรรมเครื่องอยู่เสมอด้วยพระองค์ พระองค์ทรงปฏิบัติต่อพระสาวกรูปนั้นโดยพระอาการอย่างไร
ตอบ พระมหากัสสปะ ฯทรงรับผ้าสังฆาฏิของท่านไปทรง และประทานผ้าสังฆาฏิของพระองค์ให้แก่ท่าน ฯ
๓๔. พระสาวกผู้ปรารภเหตุว่า “ผู้อยู่ครองเรือน ต้องคอยนั่งรับบาป เพราะการงานที่ผู้อื่นทำไม่ดี” แล้วมีใจเบื่อหน่าย สละทรัพย์สมบัติออกบวช คือใคร ท่านได้รับยกย่องจากพระศาสดาว่า เป็นผู้เลิศในทางไหน เพราะเหตุใด
ตอบ พระมหากัสสปะ ฯได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางถือธุดงควัตร เพราะเหตุถือธุดงค์ ๓ ประการ เป็น
ประจำ คือ ทรงผ้าบังสุกุลจีวรเป็นวัตร, บิณฑบาตเป็นวัตร และอยู่ป่าเป็นวัตร ฯ
๓๕. พระศาสดาทรงประทานพระโอวาท เป็นการให้อุปสมบท แก่พระมหากัสสปะ
ไว้กี่ข้อ เรียกว่าอะไร อะไรบ้าง
ตอบ ๓ ข้อ เรียกว่า โอวาทปฏิคฺคหนูอุปสัมปทา ได้แก่ เราจักเข้าไปตั้งความละอายและยำเกรงไว้อย่างแรงกล้า ในภิกษุทั้งที่เป็นพระเถระ มัชฌิมะ และนวกะ ๑, เราจักเงี่ยโสตสดับธรรม อันประกอบด้วยกุศล และพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมนั้น ๑,เราจักไม่ละสติไปจากกาย ๑ ฯ
๓๖. พระสาวก ผู้อธิบายภัทเทกรัตตสูตร ที่ทรงแสดงโดยย่อให้พิสดาร คือใครท่านได้รับสรรเสริญจากพระศาสดาว่าอย่างไร
ตอบ พระมหากัจจายนะ ฯทรงตั้งให้เป็นเอตทัคคะ ในการอธิบายธรรมโดยย่อให้พิสดาร ฯ
๓๗. พระมหากัจจายนะ นิพพานก่อน หรือหลังพระพุทธเจ้า มีอะไรเป็นข้ออ้าง
ตอบ นิพพานหลังพระพุทธปรินิพพาน เพราะเนื้อความในมธุรสูตรตอนหนึ่ง พระเจ้ามธุรราชตรัสถามว่า เดี๋ยวนี้ พระผู้มีพระภาคเสด็จอยู่ที่ใด พระมหากัจจายนะทูลว่าพระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว ฯ
๓๘. พระโมฆราช ทูลถามปัญหาพระพุทธองค์ เป็นคนที่เท่าไร เพราะเหตุไร
ตอบ เป็นคนที่ ๑๕ ฯเพราะครั้งแรก เห็นว่าท่านอชิตมาณพ เป็นผู้ใหญ่กว่า จึงยอมให้ถามก่อน แต่เมื่อ
ปรารภจะทูลถามเป็นคนที่ ๒ และคนที่ ๙ ถูกพระพุทธองค์ทรงห้ามไว้ ให้รอก่อน จึงได้โอกาสทูลถามเป็นคนที่ ๑๕ ฯ
๓๙. ธรรมุทเทศ มีอะไรบ้าง ใครแสดงแก่ใคร
ตอบ ธรรมุทเทศ คือ
๑. โลก คือหมู่สัตว์ อันชรานำเข้าไปใกล้ ไม่ยั่งยืน
๒. โลก คือหมู่สัตว์ ไม่มีผู้ป้องกัน ไม่เป็นใหญ่ จำเพาะตน
๓. โลก คือหมู่สัตว์ ไม่มีอะไรเป็นของตน จำต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงไป
๔. โลก คือหมู่สัตว์ พร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา ฯพระรัฐบาล แสดงถวายพระเจ้าโกรัพยะ ฯ
๔๐. พระสาวกผู้ได้รับการอุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจาเป็นองค์แรก คือใคร ได้รับยกย่องจากพระศาสดาว่า เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายอย่างไร
ตอบ พระราธะ ฯได้รับยกย่องว่า เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีปฏิภาณ ฯ
๔๑. พระราหุลราชกุมาร ได้บรรพชาเป็นสามเณรเพราะเหตุใด
ตอบ เพราะพระมารดาให้ไปขอราชสมบัติกับพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นพระราชบิดาพระองค์จึงทรงประทานทรัพย์อันเป็นโลกุตตระ โดยมอบหมายให้พระสารีบุตรเป็นพระอุปัชฌาย์ แต่ด้วยราหุลราชกุมาร อายุยังไม่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ จึงต้องให้บรรพชา ด้วยการรับสรณคมน์ เป็นสามเณรองค์แรกของพระพุทธศาสนา ฯ
๔๒. การศึกษา เป็นการพัฒนาชีวิต และสังคม ให้ก้าวหน้า และก้าวไกล จึงอยากทราบว่า พระเถระองค์ใด ได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้ใฝ่ใจในการศึกษา ท่านได้รับการยกย่องเช่นนั้น เพราะมีปฏิปทาอย่างไร
ตอบ พระราหุลเถระ ฯท่านได้กอบทรายขึ้นเต็มกำมือ และตั้งความปรารถนาว่า ขอให้ข้าพเจ้าได้รับโอวาทคำสั่งสอนแต่สำนักพระทศพล และพระอุปัชฌาย์อาจารย์เท่าเม็ดทรายในกำมือเถิดแล้วตั้งใจศึกษา ตั้งใจปฏิบัติอย่างจริงจัง จึงได้รับการยกย่อง ด้วยประการฉะนี้ ฯ
๔๓. ในอสีติมหาสาวก มีองค์ไหนบ้าง มีความสัมพันธ์เป็นลูกศิษย์ และอาจารย์กัน จงบอกมาสัก ๒ คู่
ตอบ พระอัสสชิ - พระสารีบุตร, พระสารีบุตร - พระราธะ และพระราหุล
๔๔. พระอนุรุทธเถระ เป็นโอรสของใคร เกี่ยวเนื่องกับพระบรมศาสดา อย่างไรออกบวชพร้อมกับใครบ้าง ได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาอย่างไร
ตอบ เป็นโอรสของพระเจ้าศากยะ พระนามว่า อมิโตทนะ พระมารดาไม่ปรากฏพระนาม ฯเป็นโอรสของพระเจ้าอา ของพระบรมศาสดา จึงนับเป็นพระอนุชา ของพระบรมศาสดา ฯออกบวชพร้อม พระอุบาลี ๑, พระภัททิยะ ๑, พระภคุ ๑, พระกิมพละ ๑, พระอานนทเถระ ๑ ฯได้รับยกย่องว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุอื่น ในทิพพจักขุญาณ ฯ
๔๕. พระอานนท์ ได้บรรลุโสดาปัตติผล เพราะได้ฟังโอวาทจากใคร และได้บรรลุอรหัตตผลเมื่อไร ท่านบรรลุอรหัตตผล และนิพพาน ต่างจากพระสาวกองค์อื่นอย่างไร
ตอบ ได้ฟังโอวาทจากพระปุณณมันตานีบุตร ฯบรรลุอรหัตตผล ก่อนวันทำปฐมสังคายนาพระไตรปิฎก หลังพระพุทธปรินิพพาน ๓เดือน ฯท่านบรรลุอรหัตตผลในระหว่างอิริยาบถทั้งสี่ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน ฯท่านเหาะขึ้นในอากาศ เหนือแม่น้ำโรหิณี แล้วนิพพานกลางอากาศ อธิษฐานให้พระธาตุ แบ่งออกเป็นสองส่วนเท่า ๆ กัน ตกลงทั้ง ๒ ฝั่งแม่น้ำ ฯ
๔๖. พรข้อว่า ถ้าจักไม่โปรดให้ข้าพระองค์ อยู่ในที่ประทับของพระองค์ และข้อว่าถ้าพระองค์จะเสด็จไปสู่ที่นิมนต์ ที่ข้าพระองค์รับไว้ พระอานนท์ทูลขอ เพื่อประโยชน์อะไร
ตอบ ข้อแรก ทูลขอเพื่อไม่ให้เป็นที่นินทาว่า พระอานนท์อุปัฏฐากพระพุทธเจ้า เพื่อลาภสักการะ ข้อหลัง ทูลขอเพื่อป้องกันไม่ให้คนกล่าวว่า จะอุปัฏฐากไปใย ในเมื่อพระองค์ไม่ทรงอนุเคราะห์ด้วยกิจเพียงแค่นี้ ฯ
๔๗. พระรัฐบาล และพระนันทะ ออกบวชเพราะเหตุใด พระโมฆราช และพระอุบาลี ได้รับการยกย่องว่า เลิศในทางไหน
ตอบ พระรัฐบาล ออกบวชเพราะศรัทธา พระนันทะ ออกบวชเพราะจำใจ ฯพระโมฆราช ได้รับยกย่องว่า เป็นผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง พระอุบาลี ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้ทรงพระวินัย ฯ
๔๘. พระศาสดาทรงทราบความขัดข้องจากพระสาวกรูปใด จึงได้ทรงพระอนุญาตให้สงฆ์ปัญจวรรค ทำการอุปสมบทในปัจจันตชนบทได้ ท่านได้รับยกย่องว่าเลิศทางไหน
ตอบ พระโสณกุฏิกัณณะ ฯเป็นผู้มีวาจาไพเราะ ฯ
๔๙. พระนางปชาบดีโคตมี ยินดีรับครุธรรม ๘ ข้อ มาปฏิบัติ อุปมาเหมือนอะไร
ตอบ เปรียบเหมือนหญิง หรือชายที่ยังรุ่น กำลังรักแต่งกาย อาบน้ำสระเกล้าแล้ว ได้พวงดอกอุบล พวงมะลิ หรือพวงลำดวน แล้วจะพึงรับด้วยมือทั้ง ๒ แล้วตั้งไว้บนศีรษะด้วยความยินดีฉันนั้น ฯ
๕๐. พระเถรีผู้มีชื่อต่อไปนี้ ได้รับเอตทัคคะในทางไหน
ก) กิสาโคตมีเถรี
ข) กุณฑลเกสีเถรี
ค) ภัททกาปิลานีเถรี
ง) ภัททากัจจานาเถรี
ฉ) โสณาเถรี
ตอบ ก) ในทางทรงไว้ซึ่งจีวรอันเศร้าหมอง
ข) ในทางขิปปาภิญญา หรือตรัสรู้เร็ว
ค) ในทางระลึกได้ซึ่งปุพเพนิวาส
ง) ในทางถึงซึ่งอภิญญาอันใหญ่แล้ว
จ) ในทางมีความเพียรปรารภแล้ว ฯ
ตัวอย่างข้อสอบวิชา ศาสนพิธี เล่ม ๒
๑. ศาสนพิธี คืออะไร การศึกษาศาสนพิธีให้เข้าใจ มีประโยชน์อย่างไร
ตอบ ศาสนพิธี คือ พิธีทางศาสนา ฯมีประโยชน์คือ ทำให้เข้าใจเรื่องของศาสนพิธีโดยถูกต้อง ๑, ให้เห็นเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ไร้สาระ ๑, ทำให้ปฏิบัติได้ถูกต้อง ไม่ผิดเพี้ยนจากขนบธรรมเนียมประเพณี ๑ ฯ
๒. กุศลพิธี และบุญพิธี คือพิธีเช่นไร
ตอบ กุศลพิธี คือ พิธีกรรมต่าง ๆ อันเกี่ยวด้วยการอบรมความดีงามทางพระพุทธศาสนาเฉพาะตัวบุคคล เช่น พิธีรักษาอุโบสถศีล เป็นต้น บุญพิธี คือพิธีทำบุญงานมงคล และงานอวมงคล ฯ
๓. การเข้าพรรษา และการออกพรรษา คือ อะไร
ตอบ การเข้าพรรษา หมายถึง การที่ภิกษุผูกใจว่า จะอยู่ประจำเสนาสนะในวัดใดวัดหนึ่ง ตลอดเวลา ๓ เดือน ในฤดูฝน ไม่ไปค้างแรมให้ล่วงราตรีในที่แห่งอื่น ระหว่างผูกใจนั้น เว้นแต่ไปด้วยสัตตาหกรณียะ ฯ
การออกพรรษา หมายถึง กาลที่สิ้นสุดกำหนดอยู่จำพรรษา ของภิกษุตามพระวินัยบัญญัติ มีพิธีเป็นสังฆกรรมพิเศษโดยเฉพาะ เรียกโดยภาษาพระวินัยว่า ปวารณากรรม คือการทำปวารณาของสงฆ์ ผู้อยู่ร่วมกันตลอดเวลา ๓ เดือน ฯ
๔. สามีจิกรรม หมายถึงอะไร มีเท่าไร อะไรบ้าง
ตอบ หมายถึง การขอขมาโทษกัน ให้อภัยกัน ทุกโอกาสไม่ว่าจะมีโทษขัดข้องหมองใจกันหรือไม่ก็ตาม ถึงโอกาสที่ควรทำสามีจิกรรมกันแล้ว ทุกรูปไม่พึงละโอกาสเสีย ฯมี ๒ แบบ แบบขอขมาโทษ ๑, แบบถวายสักการะ ๑ ฯ
๕. ในวันอุโบสถ พระธรรมกถึก ให้ศีล ๘ เป็นอุโบสถศีล แต่มีผู้ศรัทธาจะรักษาเพียง ศีล ๕ เท่านั้น พึงปฏิบัติอย่างไร
ตอบ ให้สมาทานเพียง ๕ ข้อ เมื่อพระธรรมกถึกให้ศีลมาจนถึงข้อ ๓ ซึ่งมีใจความว่า“อพฺรหฺมจริยา...” พึงรับสมาทานว่า กาเมสุมิจฺฉาจารา... และรับต่อไปจนครบ ๕ ข้อเมื่อครบแล้ว ก็กราบ ๓ ครั้ง ลดลงนั่งราบ ไม่ต้องรับต่อไป ฯ
๖. ผ้าวัสสิกสาฎก คือผ้าเช่นไรใครเป็นผู้ถวายคนแรก การถวายผ้าวัสสิกฎกนั้น มีมูลเหตุมาจากอะไร
ตอบ คือ ผ้าสำหรับภิกษุใช้นุ่งในเวลาอาบน้ำฝน หรืออาบน้ำทั่วไป เรียกกันว่า ผ้าอาบน้ำฝนบ้าง ผ้าอาบบ้าง ผ้านี้เกิดขึ้นเฉพาะฤดูกาลที่ทรงอนุญาตเป็นบริขารพิเศษชั่วคราว อธิษฐานไว้ใช้ได้ตลอด ๔ เดือนฤดูฝน พ้นจากเขตนั้นให้วิกัป ฯนางวิสาขามหาอุบาสิกา ฯมีมูลเหตุมาจาก เดิมยังไม่มีพระพุทธานุญาตให้ภิกษุมีผ้าอาบน้ำฝน ภิกษุทั้งหลายจึงเปลือยกายอาบน้ำ นางวิสาขามหาอุบาสิกา ทราบเรื่องนั้นแล้ว เห็นว่า ไม่ควรแก่เพศสมณะ จึงทูลขอพระพุทธานุญาต เพื่อถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่ภิกษุทั้งหลาย ฯ
๗. วันธรรมสวนะ คือวันอะไร ทรงอนุญาตให้มีในวันใดบ้าง
ตอบ คือวันพระ หรือวันประชุมฟังธรรม ฯทรงอนุญาตให้มีในวัน ๘ ค่ำ และวัน ๑๔ หรือ ๑๕ ค่ำของปักษ์ ทั้งข้างขึ้น และข้างแรม ฯ
๘. การทำวัตร คืออะไร ทำวัตรสวดมนต์ เพื่อความมุ่งหมายใด การทำวัตร กับการสวดมนต์ ต่างกันอย่างไร (๔๗) แบบทำวัตรเช้า - เย็น ที่ใช้กันในปัจจุบันนี้ มีมาแต่ครั้งไหน
ตอบ การทำวัตร คือการทำกิจวัตรประจำวันของภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ทำเป็นประจำจนเป็นวัตรปฏิบัติ เรียกสั้น ๆ ว่า ทำวัตร ฯเป็นอุบาย เพื่อให้จิตเป็นสมาธิ ระงับนิวรณ์ ๕ ประการ ได้ชั่วขณะที่ทำ เมื่อทำเป็นประจำเช้าเย็น ก็จักสงบจิตสงบใจได้มากขึ้น ตามลำดับ ฯการทำวัตร คือ การทำกิจวัตร เช่นการสวดมนต์ เป็นประจำ มีการสวดบูชาพระรัตนตรัย พิจารณาปัจจัยที่บริโภค ส่วนการสวดมนต์ คือ การสวดพระพุทธมนต์อื่น ๆนอกเหนือจากบทสวดทำวัตร ที่เป็นพระสูตรก็มี เป็นพระปริตรก็มี เป็นคาถาอื่น ๆ ที่นิยมกันก็มี ฯมีมาแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ รัชกาลที่ ๔ ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใช้ เมื่อครั้งยังทรงผนวช
๙. การเทศน์ในปัจจุบัน นิยมทำกันกี่ลักษณะ อะไรบ้าง
ตอบ นิยมทำกัน ๔ ลักษณะ ได้แก่ เทศน์ในงานทำบุญ ๑, เทศน์ตามกาลนิยม ๑เทศน์พิเศษ ๑, เทศน์มหาชาติ ๑ ฯ
๑๐. ศาสนพิธีเล่ม ๒ แสดงอุโบสถกรรมไว้กี่ประเภท อะไรบ้าง แต่ละประเภทต่างกันอย่างไร
ตอบ ๓ ประเภท ได้แก่ สังฆอุโบสถ สำหรับเมื่อมีภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ให้สวดปาติโมกข์ ๑, ปาริสุทธิอุโบสถ สำหรับเมื่อมีภิกษุ ๒-๓ รูป ให้บอกความบริสุทธิ์แก่กันละกัน ๑ และอธิษฐานอุโบสถ เมื่อภิกษุอยู่รูปเดียว ให้อธิษฐานความบริสุทธิ์ใจ ของตนเอง ๑ ฯ
๑๑. ผ้าจำนำพรรษา คือผ้าเช่นไร
ตอบ คือ ผ้าที่ทายกถวายแก่ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือน เว้นผ้ากฐิน ฯ
๑๒. ผ้าป่า คือผ้าอะไร คำพิจารณาผ้าป่าว่าอย่างไร การทอดผ้าป่ากำหนดกาลเวลาทอดไว้หรือไม่
ตอบ คือ ผ้าบังสุกุลจีวร ได้แก่ ผ้าเปื้อนฝุ่น ที่ไม่มีเจ้าของหวงแหน ทิ้งอยู่ตามป่าบ้างป่าช้าบ้าง กองขยะบ้าง พาดอยู่ตามกิ่งไม้บ้าง รวมถึงผ้าที่เขาอุทิศไว้แทบเท้า เรียกว่า“ผ้าป่า” ฯไม่มีกำหนดเวลา มีศรัทธาเมื่อไรก็ถวายได้ ฯคำพิจารณาผ้าป่าว่า อิมํ ปํสุกูลจีวรํ อสฺสามิกํ มยฺหํ ปาปุณาติ หรือว่า อิมํ วตฺถํ อสฺสามิกํ ปํสุกูลจีวรํ มยฺหํ ปาปุณาติ ฯ
๑๓. การเจริญพระพุทธมนต์ กับการสวดพระพุทธมนต์ ต่างกันอย่างไรอธิบาย
ตอบ การเจริญพระพุทธมนต์ หมายถึงการที่พระสงฆ์สาธยายในงานมงคล หรืองานที่ทำเพื่อสวัสดิมงคล การสวดพระพุทธมนต์ หมายถึงการที่พระสงฆ์สาธยายในงานอวมงคล หรือปรารภเหตุอันเป็นอวมงคล
๑๔. งานทำบุญต่อนาม คืองานทำบุญเช่นไร
ตอบ คืองานทำบุญที่คณะญาติของผู้กำลังป่วยหนักจัดขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยหายป่วย และเพื่อให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสบำเพ็ญกุศล ในบั้นปลายแห่งชีวิตตน ฯ
๑๕. วันเทโวโรหณะ คือวันอะไร เนื่องด้วยวันนั้น มีบุญพิธีอะไร ที่ทำกันมา จนถึงบัดนี้ ในบุญพิธี พระพุทธรูปที่จะประดิษฐานบนรถทรง หรือคานหาม นิยมพระพุทธรูปปางอะไร
ตอบ วันเทโวโรหณะ คือวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์จำพรรษาถ้วนไตรมาส เพื่อเทศนาโปรดพระพุทธมารดา โบราณเรียกอีกอย่างว่า วันพระเจ้าเปิดโลก ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ฯ
มีการทำบุญตักบาตร แด่พระพุทธเจ้า พร้อมทั้งพระสงฆ์ ในวันรุ่งขึ้น จนเป็นประเพณีทำบุญตักบาตร ที่เรียกว่า ตักบาตรเทโวโรหณะ มาจนถึงปัจจุบันนี้ ฯนิยมพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร ถ้าไม่มีจะเป็นพระพุทธรูปปางอะไรก็ได้ ฯ
๑๖. พิธีสวดพระอภิธรรมมีกี่อย่าง อะไรบ้าง การสวดมาติกา คือการสวดเรื่องอะไร
ตอบ มี ๒ อย่าง คือ ก. สวดประจำยามหน้าศพ ข. สวดหน้าไฟในขณะฌาปนกิจ ฯคือ การสวดบทมาติกาของพระอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์ หรือที่เรียกว่า “สัตตัปปกรณาภิธรรม” ซึ่งมีการบังสุกุล เป็นที่สุด เป็นประเพณีนิยมจัดให้พระสงฆ์สวดในงานทำบุญหน้าศพอย่างหนึ่ง เรียกโดยโวหารทางราชการในงานหลวงว่า “สดับปกรณ์” แต่ราษฎรสามัญทั่วไป เรียกว่า “สวดมาติกา” ฯ
๑๗. บังสุกุลเป็น คืออะไร คาถาที่ใช้บังสุกุลเป็น ว่าอย่างไร
ตอบ บังสุกุลเป็น คือ บุญกิริยา ที่เจ้าภาพประสงค์จะบริจาควัตถุ เนื่องด้วยกายของตน โดยเฉพาะผ้าอุทิศสงฆ์ ให้เป็นผ้าบังสุกุล ปกตินิยมทำเมื่อป่วยหนัก เป็นการกำหนดมรณานุสสติ วิธีหนึ่ง ฯว่า อจีรํ วตยํ กาโย ปฐวึ อธิเสสฺสติ ฉุฑฺโฑ อเปตวิญฺญาโณ นิรตฺถํว กลิงฺครํ ฯ
๑๘. พิธีทำสังฆอุโบสถ มีความหมาย และกำหนดกาลไว้อย่างไร
ตอบ หมายถึง พิธีที่พระสงฆ์ประชุมร้อมเพรียงกันในสีมา ประกอบพิธีทำอุโบสถสวดพระปาฏิโมกข์ กำหนดในวันอุโบสถทุกกึ่งเดือน หรือในวันสามัคคี ฯ
๑๙. จงให้ความหมายของคำต่อไปนี้
ก. ปาฏิปุคคลิกทาน
ข. เภสัชทาน
ค. สลากภัต
ง. ผ้าวัสสิกสาฎก
จ. ผ้าอัจเจกจีวร
ฉ. เทศน์มหาชาติ
ช. ทำบุญอัฐิ
ซ. สามัญอนุโมทนา
ฌ. วิเสสอนุโมทนา
ญ. สลากภัต
ตอบ ก. ทานที่ถวายโดยจำเพาะเจาะจง รูปนั้นรูปนี้
ข. การถวายเภสัช ๕ ได้แก่ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย
ค. ภัตตาหารที่ทายกทายิกา ถวายตามสลาก
ง. ผ้าอาบน้ำฝน
จ. ผ้าจำนำพรรษาที่ทายกรีบถวายก่อนกาล
ฉ. เทศนาเรื่องพระเวสสันดรชาดก
ช. ทำบุญหลังจากการปลงศพปรารภผู้ล่วงลับแล้ว
ซ. การอนุโมทนาที่นิยมใช้ปฏิบัติกันทั่วไป เป็นปกติ
ฌ. การอนุโมทนาด้วยบทสวด สำหรับอนุโมทนา เป็นพิเศษ เฉพาะทาน
เฉพาะกาล เฉพาะเรื่อง
ญ. ภัตตาหารที่ทายก ทายิกาถวายตามสลาก ฯ
๒๐. ประเพณีการเทศน์แจง และการสวดแจง อาศัยเค้ามูลมาจากเรื่องอะไรนิยมเทศน์ในงานอะไร
ตอบ อาศัยเค้ามูลมาจากเรื่องการทำปฐมสังคายนา ซึ่งเป็นการรวบรวมพระธรรมวินัย จัดไว้เป็นหมวดหมู่ เรียกว่า พระไตรปิฎก ดังนั้นการเทศน์แจง จึงเป็นการแสดงธรรมแจกแจงวัตถุ และหัวข้อในพระไตรปิฎก ในการทำปฐมสังคายนา มีการกสงฆ์จำนวน ๕๐๐ รูป การสวดแจง จึงนิยมนิมนต์พระสงฆ์ ๕๐๐ รูป ให้เท่าจำนวนการกสงฆ์ ในครั้งนั้น ฯนิยมเทศน์ในงานฌาปนกิจศพ ฯ