วันจันทร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2557

หลงสภาวะ

DSC00072หลงสภาวะ
หลงสภาวะเกิดได้อย่างไร ??
หลงสภาวะเกิดได้จาก นักภาวนาไปคิดเอาเองว่า สภาวะอย่างนี้ถูกแล้ว สภาวะอย่างนี้ดีแล้ว สภาวะอย่างนี้ทำแล้วก้าวหน้าได้เร็วกว่าในการบรรลุมรรคผล
เมื่อนักภาวนาเข้าใจไปอย่างนั้น ก็พยายามจะทำจิต บังคับจิต ดึงจิต ให้ไปตั้งอยู่ที่สภาวะน้้น ๆ
ก็เลยเกิดการหลงสภาวะขึ้นมา
เป็นธรรมชาติของจิตที่ยังมีอวิชชาปกคลุมอยู่ เมื่อมีการใช้จิต บังคับจิต ดึงจิต ผลที่ตามมา ก็คือ พลังงานที่คลุมจิตจะหนาแน่นขึ้น และ มโน จะขุ่นมัวมากขึ้น
ส่วนผลทีตามมานั้น เมื่อจิตไม่สดใส จิตถูกใจงาน จิตจะถูกปิดกั้นจากการโผล่งรู้ในธรรม
แต่ถ้าถามว่า ไม่ควรทำอย่างนี้ใช้ใหม ผมก็ตอบว่า ไม่ใช่อย่างนั้นครับ ต้องดูจังหวะและสถานการณ์ด้วย เพราะการทำอย่างนั้น อาจเป็นสมถะภาวนาได้ที่ทำจิตที่กำลังขุ่นมัวจนมืดมืดให้สงบระงับลงได้ แต่ถ้าจิตดีอยู่แล้ว ก็ไม่ควรจะกระทำ เพราะยิ่งกระทำ จิตที่ดีแล้วก็จะกลับมาขุ่นมัวขึ้นได้
ในการภาวนาน้้น เมื่อนักภาวนาได้ภาวนาไปและได้พบกับสภาวะธรรมต่าง ๆ มากขึ้น เมื่อรู้จักสภาวะธรรมใหม่ๆ เหล่านั้นแล้ว สิ่งหนึ่งทีนักภาวนาไทยมักจะเป็นกันก็คือ การเข้าใจว่า สภาวะธรรมถ้าตั้งอยู่อย่างนั้นได้ตลอด ได้นาน จะเป็นผลดี จึงพยายามใช้จิต บังคับจิต เคลื่อนจิต ให้ไปอยู่ในสภาวะธรรมแบบนั้นๆ ซึ่งเป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่่อนของตัวนักภาวนาเอง
ในการรู้แจ้งในธรรมนั้น จะเกิดได้จากตอนที่จิตอยู่ในสภาวะแห่งการไร้คิด ไร้การตั้งใจในการกระทำ แต่ยังถึงพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ จิตจะโผล่งธรรมแท้ออกมา ให้จิตเองมีการปฏิวัติตนเอง พร้อมกับแสงแห่งจิตที่เจิตจ้าออกมามากขึ้น (<<<--- จากข้อความนี้ ท่านจะเห็นว่า การใช้จิต บังคับจิต เคลื่อนจิตให้ไปอยู่ที่ที่นักภาวนาต้องการ ล้วนแต่ขัดขวางการเกิดแห่งการโผล่งในธรรมทั้งสิ้น )
นักภาวนาที่ฉลาด เมื่อเข้าใจกลไกแห่งการโผล่งในธรรมของจิต ก็จะฝึกฝนการภาวนาให้ใกล้เคียงธรรมชาติของจิตที่เป็นอิสระ ปลอดโปร่งใจ ซึ่งเทคนิคนี้ก็แล้วแต่ละบุคคลที่จะคิดค้นขึ้นมาเอง
ในกฏ 3 ข้อที่ผมเคยกล่าวไว้ ล้วนแล้วแต่เป็นประสบการณ์ที่ผมพบและนำมาคิดขึ้นเพื่อบอกเป็นแนวทางแก่นักภาวนาเพื่อให้เข้าถึงกลไกแห่งธรรมขาติของจิตเพื่อพร้อมในการโผล่งรู้ในธรรม
ผมเชื่อว่า ผมเขียนลอย ๆ อย่างนี้ นักภาวนาที่ยังไม่พบก้บการหลงสภาวะก็จะอ่านแบบลอย ๆ เช่นกัน มองประเด็นที่ผมเขียนไม่ออก แต่พอท่านหลงสภาวะเมื่อไร ภาวนาไปไม่ก้าวหน้าสักที ถ้าท่านเกิดมาอ่านในโอกาสหน้า ท่านก็จะเข้าใจในสิ่งที่ผมบอกท่านในบทความนี้
*****
หนักแน่นในสติสัมปชัญญะ
จิตหยุดคิดได้เมื่อไร ธรรมก็จะปรากฏให้จิตเห็นได้เอง

ดูบ่อย ๆ ดูนาน ๆ ก็จะพบสิ่งที่เห็นได้ยาก

DSC00032ดูบ่อย ๆ ดูนาน ๆ ก็จะพบสิ่งที่เห็นได้ยาก
เวลาที่เราซื้ออะไรใหม่ ๆ มาสักอย่าง เช่น กระเป๋าใบใหม่ รถยนต์คันใหม่ คอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ หรือ อะไรก็แล้วแต่ เรามักจะพบเสมอว่า พอเราเริ่มใช้สิ่งใหม่ๆ นั้น ไปสักระยะ เราจะเริ่มพบสิ่งที่ไม่ดี ไม่สมบูรณ์ ของเครื่องใช้ใหม่นั้นปรากฏออกมาให้เรารับรู้เสมอ
ที่เป็นอย่างนี้ เพราะว่า เราได้สัมผัสสิ่งนั้นบ่อย ๆ เข้า จากเรื่องที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนหน้า เราก็จะพบได้ในเวลาต่อมา
ในการภาวนานั้น สภาวะธรรมที่เห็นได้ยากยิ่งก็คือ ตัวจิต / ตัว มโน
ก่อนอื่น ต้องเข้าใจก่อนวา การเห็นตัวจิต/ ตัว มโน นั้น ไม่ใช่เป็นอย่างที่เขาพูด ๆ กันว่า
โกรธก็รู้ว่าโกรธ การรู้ว่าโกรธนี่ยังห่างไกลมากครับกับการเห็น ตัวจิต/ ตัว มโน
เพราะอาการโกรธ นี่เป็นเพียงสังขารขันธ์ อันเป็นจิตปรุงแต่ง ที่ไม่ใช่ ตัวจิต เลย
ถ้าท่านซื้อกระเป๋าใบใหม่มาใบหนึ่ง ยี่ห้อออกเป็นสำเนียงฝรั่ง แน่ละราคาย่อมแพงแสนแพงกว่ากระเป๋าทั่ว ๆ ไป เมื่ออยู่ในร้านค้า ท่านหยิบกระเป๋าใบนี้ขึ้นมามองดู มองทั่ว ๆ พลิกซ้าย พลิกขวา ดูบน ดูล่าง ดูอยู่นั่นแหละ ไม่ยอมมองสิ่งอื่นเลยนอกจากกระเป๋าใบนี้ ท่านอาจพบรอยตำหนิเล็กๆ ที่เห็นได้ยากบนกระเป๋าใบนี้ได้ แต่ท่านจะแปลกใจมากทีเดียววา พอท่านเห็นรอยตำหนิเล็ก ๆ นี้ได้แล้ว รอยเล็ก ๆ นี้กลับจะเป็นสิ่งที่เห็นได้ง่ายทันทีสำหรับท่าน ท่านไม่ต้องใช้ความพยายามใด ๆ เลยที่จะมอง ก็เห็นรอยตำหนินี้ได้แล้ว
การเห็น ตัวจิต/ ตัว มโน ก็เช่นกัน ท่านต้องใช้จิตมองเข้าไปที่ จิต/ มโน ท่านต้องมองบ่อย ๆ มองให้เป็นว่ามองอย่างไร มองไปเรื่อย ๆ ที่จิต / มโน สักวัน ท่านก็จะพบ ตัวจิต / มโน ได้อย่างแน่นอน คล้าย ๆ กับการเห็นรอยเล็ก ๆ บนกระเป๋าที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น ถ้าท่านมองไปแล้ว 1 อาทิตย์ ยังไม่เห็น ก็ไม่เป็นไรครับ มองต่อไป สักวัน ท่านก็เห็น ถ้าท่านรู้จักวิธีมอง
(วิธีการมอง การฝึก ผมได้พูดในกิจกรรมครั้งที่ 3 ไว้แล้ว ขอให้ท่านไปศึกษาได้จากที่นั่น )
การเห็นตัว จิต/ มโน ได้นั้น ท่านจะต้องผ่านการฝึกฝนสัมมาสติ สัมมาสมาธิมาก่อนอย่างโชกโชน ทีว่าโชกโขนก็คือ เกิดการแยกตัวของจิตออกจากขันธ์ได้ก่อน ถ้าจิตยังไม่แยกตัว ไม่มีทางเห็นได้ครับ
ถึงแม้ว่า นักภาวนาจะมีสัมมาสมาธิทีตั้งมั่นพอที่จะแยกจิตออกจากขันธ์ได้บ้างแล้ว แต่ในระยะใหม่ๆ ที่เพิ่งแยกตัวได้ การเห็น จิต/มโน ก็ยังไม่เห็นอยู่ดี ท่านยังต้องหมั่นฝึกฝนต่อไปเรื่อย ๆ ฝึกไปอย่าได้ท้อถอย อย่าได้หยุด
ตัวจิต นั้น จะเห็นได้ง่าย ถ้าอยู่สภาวะของจิตที่แยกตัวออกจากกายที่เป็นทุกขเวทนา เช่น ท่านนั่งสมาธิ จิตแยกตัวออกมาแล้ว เห็นขาที่ปวดแทบขาดใจอยู่ แต่จิตจะเฝ้่ามองอยู่อย่างไม่เจ็บปวดเลย นั่นแหละท่านจะรู้จักตัวจิต ก็ตรงนี้ในตอนแรก ๆ ได้
ส่วน มโน นั้น จะเห็นอย่างสักหน่อย ผมบอกใบ้ให้ ก็คือ มันอยู่ข้างหน้าของท่านนี่เอง มันอยู่ในตำแหน่งที่อารมณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เช่น ท่านเห็นอาการโกรธเกิดแล้ว ดับไป ที่นั้นแหละครับ ที่อาการโกรธเกิดแล้วดับไป นั่นคือ ที่ตั้งของ มโน
ใหม่ ๆ นักภาวนาจะเห็น มโน เป็นความว่างเปล่า ที่มันอยู่ซ้อนกับความว่างของอากาศ
ตรงนี้อธิบายได้ยากยิ่งให้เท่านเข้าใจ มันซ้อนกันอย่างไรหนอ
แต่ถ้าท่านหมั่นฝึกฝนไปเรื่อย ๆ สักวีน ท่านจะพบ มโน ได้เอง
ในสมาธิแบบฤาษี เขาใช้ความว่างของอากาศฝึกเป็นอรูปฌาน ฤาษี ไม่รู้จัก มโน จึงไม่อาจจะรู้ธรรมแท้ ๆ ของสุญญตาได้เลย แต่การเห็น มโน ของนักภาวนา นี่สำคัญนัก เพราะถ้าได้เห็นแล้ว ก็จะเริ่มต้นของการเข้าใจความเป็นสุญญตาขึ้นมาในภายภาคหน้าต่อไป
การรู้สภาวะธรรม มันจะมีจังหวะขั้นตอน ซึ่งล้วนที่ขึ้นกับกำลังของสัมมาสมาธิทีตั้งมั่น และการสร้างเหตุที่ตรง คือ การรู้จักวิธีฝึกโดยการมองเข้าไปใน มโน ให้เป็น ถึงแม้ยังไม่เห็น ก็รู้ไว้ก่อนว่า มันอยู่ที่นั่้นแหละ มองเข้าไปที่นั้น ก่อนเห็น มโน ท่านจะต้องเห็นอาการของกาย อาการของจิตที่มันเกิดดับแปรเปลี่ยนใน มโน ได้ก่อน นี่เป็นเครื่องบอกให้ท่านทราบว่า ท่านได้เข้าใกล้การรู้จัก มโน มาบ้างแล้ว ขอเพียงไม่ย่อท้อ ฝึกเข้าไป มองเข้าไปทีตรงนั้น ก็เท่านั้นเอง

ขอบคุณ กิเลส ที่โผล่มาให้เห็น -มุมปัญญา

DSC00021ขอบคุณ กิเลส ที่โผล่มาให้เห็น -มุมปัญญา
กิเลส คำ ๆ นี้นักปฏิบัติที่อ่านตำรา หรือ ได้ฟังคำสอนจากครูบาอาจารย์ จะรู้จักมันดี และ ชาวพุทธ ส่วนมากมักมีใจน้อมเชื่อไปว่า กิเลส เป็นสิ่งเลวร้าย ต้องปราบมัน ต้องไล่มันออกไปจากจิตใจ เมื่อกิเลสสิ้นไปแล้ว ทุกข์ใจก็จะจบสิ้นลง
ความเข้าใจข้างต้น ยังเป็นความเข้าใจที่ไม่ตรงนัก เพราะ ตราบใดที่ยังคงความมีตัวตนอยู่ว่า นี่เป็นเรา นี่เป็นของเรา เขาไม่สามารถจะหนีจากกิเลสไปได้เลย ยิ่งเขาคิดว่าต้องการหนีไปจากกิเลสให้ได้ ความคิดที่จะหนีจากกิเลส นั้นแหละ ก็คือ กิเลสตัวหนึ่งที่เขาไม่รู้จักมันได้เกิดขึ้นในจิตใจของเขาแล้ว
การปฏิบัติเพื่อการพ้นทุกข์นั้น แทนที่จะหนีกิเลส แต่กลับเป็นว่า เขาต้องกล้าประจัญหน้ากับกิเลส แต่การประจัญหน้ากับกิเลสนั้น เขาต้องถึงพร้อมดัวยสัมมาสติ สัมมาสมาธิเสียก่อน
เมื่อจิตใจที่มีกำลังแห่งสัมมาสติ สัมมาสมาธิที่ตั้งมั่นประจัญหน้าเข้ากับกิเลส กิเลสย่อมสลายลงไปทันทีที่เกิดขึ้นมา
ทุกครั้งมันจะเป็นอย่างนี้เสมอ กิเลส ไม่มีทางทำอะไรจิตใจที่มีกำลังแห่งสัมมาสติ สัมมาสมาธิได้เลย
การที่กิเลสเกิดแล้วสลาย เกิดแล้วสลาย ครั้งแล้วครั้งเล่า ล้วนเป็นปัญญาสะสมให้แก่นักปฏิบัติ เมื่อถึงวันดีคืนดี นักปฏิบัตินั้นจะเกิดปัญญารู้แจ้ง และเข้าใจได้ทันทีว่า กิเลสทั้งหลายล้วนเป็นมายา ไม่ใช่ของจริง และ จะเกิดปัญญาเข้าใจความเป็นธรรมชาติของการปรุงแต่งต่าง ๆ เมื่อเข้าใจแล้วด้วยปัญญา กิเลสก็ไม่ทางที่จะเข้ามาจับกลุมครอบงำจิตใจได้อีกเลย เมื่อถึงจุดนี้ ทุกข์ใจก็เกิดอีกไม่ได้ เพราะจิตนั้นเป็นอิสระจากกิเลสอย่างแท้จริง เมื่อถึงตรงนี้แล้ว นักปฏิบัติจะเห็นได้ว่า กิเลส นั้นยังคงมีอยู่ แต่จะเบาบางลง เกิดได้ยากขึ้น แต่การเกิดของกิเลส ก็จะเกิดชั่วครู่แล้วดับลง เหมือนดาวตกที่แสดงตัวให้เห็นได้เพียงเสี้ยววินาที แล้วก็หายไปจากสายตา แต่มันเป็นเพียงกิเลสหนึ่งที่เกิดขึ้นที่ไร้พิษที่ไม่สามารถทำร้ายจิตใจได้อีก
ท่านจะเห็นได้ว่า ถ้าไม่มีกิเลสเกิดในจิตใจ ท่านจะไม่มีทางเข้าใจในความเป็นมายาของกิเลส ท่านก็ยังคงหลงผิดกับความคิดเดิม ๆ ที่ฝังหัวว่า อย่าให้มีกิเลสเกิดในจิตใจ โดยการพยายามกดข่มจิตให้นิ่งเข้าไว้ เพื่อไม่ให้กิเลสโผล่ออกมาได้
นี่คือทางเดินแห่งปัญญาในอริยสัจจ์ ที่พระพุทธองค์ได้ทรงค้นพบและได้ประกาศออกมาให้ชาวโลกได้รับรู้ความจริงและวิธีทางแห่งการพ้นทุกข์
หนทางแห่งการพ้นทุกข์มีอยู่ เพียงแต่เข้าใจและเดินจังหวะให้ถูก ท่านก็หลุดจากกิเลสได้เช่นกัน เมื่อหลุดจากกิเลสได้แล้ว ท่านก็ถึงนิโรธ คือ ความสิ้นทุกข์
ผมจำไม่ได้ว่า พระอาจารย์องค์ใดกล่าวไว้ ในทำนองนี้ว่า
ให้อยู่กับกิเลส เหมือน งูพิษ ที่พิษงูไม่เคยทำร้ายตัวงูเองได้เลย
เมื่อท่านเข้าใจธรรมชาติแห่งมายาของกิเลส ท่านจะเข้าใจคำกล่าวนี้ได้ทันที
ก่อนจบ ต้องขอกล่าวว่า ขอบคุณครับ กิเลส ที่โผล่มาให้เห็นบ่อย ๆ

ธรรมะปฏิบัติ ตอน8 โดยมนสิการ

DSC00022ตัวอย่างการฝึกเพือการรู้กาย
ผมได้เน้นอยู่ในหลายบทความที่ผมเขียนไว้ blog นี้ว่า
จิตที่ตั้งมั่นเป็นสัมมาสมาธิและ.จิตรู้ เกิดแล้วเท่านั้น จึงจะเป็นเหตุเริ่มต้นให้ผู้ปฏิบัติสามารถเห็นไตรลักษณ์ของจิตปรุงแต่งได้อย่างแท้จริง อันเป็นจุดเริ่มต้นของการเจริญวิปัสสนาที่จะได้ผลต่อไปจนเกิดสภาวะการปล่อยวางการยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ 5 เพื่อการหลุดพ้นแห่งวงจรทุกข์ได้
มีผู้ถามว่า แล้วจะฝึกอย่างไรกันละ เพื่อให้ จิตมันตั้งมั่น ไม่เผลอนาน และ จิตรู้ เกิดได้ ซึ่งผมขอเฉลยว่า ต้องฝึกการรู้กาย ครับ
ผมมีเขียนบทความใน blog นี้เรื่อง กายานุปัสสนาทิ้งไม่ได้เลย ถ้าฐานไม่มั่นคง ลองอ่านเพิ่มเติมได้ครัย
การฝึกกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีหลายวิธีการในการฝึก เช่นการนั่งสมาธิดูลมหายใจ การเดินจงกรม เป็นต้น ซึ่งท่านผู้อ่านจะสามารถหาอ่านได้มากมายใน internet
สำหรับบทความนี้ ผมจะนำเสนอวิธีการฝึกเพื่อการรู้กาย อันเป็นวิธีการที่ผมเคยนำไปสอนผู้ปฏิบัติใหม่ เพราะเป็นวิธีการที่ง่าย ๆ สามารถปฏิบัติได้ทุกที่
ทุกเวลาที่มีโอกาส จะนั่งท่าไหนก็ได้ ขอให้นั่งให้สบาย จะฝึกตอนว่าง ตอนดู TV ตอนฟังวิทยุก็ยังได้ ตอนเข้าห้องน้ำกำลังถ่ายก็ฝึกได้ ตอนอาบน้ำก็ฝึกได้ ขอให้ฝึกให้มาก ๆ ครับ วิธีฝึกขอให้ดูจากรูปข้างล่างนี้
หลักสำคัญในการฝึกมีอยู่ 2 อย่างที่ละเลยไม่ได้เลย ก็คือ
1 ในขณะฝึก อย่าใจลอย อย่าพูดคุยกับใคร แต่ฟังเขาพูดได้
นั่นคือให้รู้สึกตัวอย่างเป็นธรรมชาติ และสบาย ๆ อย่าได้เกร็งส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย จำไว้นะครับ ต้องเป็นธรรมชาติและสบาย ๆ
2 ในขณะที่กำลังเคลือนมือไปมาเพื่อการฝึก
เมื่อฝึกใหม่ ๆ ท่านอาจจะไม่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของฝ่ามือได้ ท่านไม่ต้องไปกังวลใจในเรื่องนี้ แต่ผู้ฝึกไม่ว่าจะใหม่เพียงใด ต้องรู้สึกถึงการลูบของฝ่ามือกับแขนได้อย่างแน่นอน การรู้สึก ก็เพียงรู้สึกอย่างเป็นธรรมชาติเช่นกัน ขอให้ลองดูง่าย ๆ ดังนี้ ให้ลองเปิด TV ดูแล้วลูบแขนไปด้วยในขณะดู TV ถ้าท่านยังรู้สึกได้ถึงการลูบการสัมผัสนี้ที่เกิดขึ้น ก็ใช้ได้แล้ว
ขอเพียงให้รู้สึกก็พอ ไม่ต้องไปคิดว่า รู้สึกอย่างไร ถ้าท่านฝึกแล้วรู้สึกได้และรู้สึกด้วยว่าเป็นธรรมชาติ นั่นแหละใช้ได้แล้ว
การฝึกนี้สมควรฝึกบ่อย ๆ ฝึกทุกวัน ทุกโอกาสที่ทำได้ ถ้าท่านมีเวลาสั้น ๆ เข่น 5 - 10 นาที ก็ขอให้ฝึก แต่ขอให้ฝึกจำนวนครั้งให้มากเข้าไว้ ถ้ามีเวลาว่างมากเช่นกำลังดู TV ก็ควรฝึกไปด้วยได้นาน ๆ เพราะการฝึกนี้จะเป็นการสะสมกำลังความตั้งมั่นให้เป็นสัมมาสมาธิ และการเกิดขึ้นของ .จิตรู่. ได้
อย่าลืมนะครับ ว่า การฝึกตั้งสบาย ๆ เป็นธรรมชาติ รู้สึกตัว และรู้สึกถึงการลูบการสัมผัสได้ ง่ายไหมครับวิธีนี้
ตอนนี้ ถ้าท่านเป็นมือใหม่ในการฝึก อย่าเพิ่งไปดูจิตในตอนนี้ เอาเป็นรู้สึกถึงกายก่อน ให้ฝึกไปมาก ๆ เอาเป็นว่า สัก 3 เดือนขึ้นไป แล้วทีนี้ท่านจะฝึกควบคู่ไปด้วย ทั้งรู้กาย ทั้งรู้จิต ก็พอจะได้แล้วครับ
**** เวลาลูบ ให้ลูบอย่าง นุ่มนวล ทนุทถอมเหมือนกำลังลูบเด็กอ่อนอันเป็นที่รักของเรา ลูบเบา ๆ แต่ให้สบาย ๆ อย่าเกร็ง
อย่าสักแต่ว่าลูบแบบผ่าน ๆ ไปชนิดว่าขอไปที อย่างนี้จะไม่ได้ผลดีสำหรับคนฝึกใหม่ *****
ขออภัยด้วยครับ รูปไม่สวยเท่าใด ผมทำได้แค่นี้เอง
ท่านอาจจะสงสัยว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า ฝึกก้าวหน้าแล้ว
ขอให้ท่านสังเกตดูครับว่า เมื่อท่านฝึกไปเรื่อย ๆ ท่านจะเริ่มรู้อาการของกายก่อน เช่น เวลากระพริบตาก็จะรู้ได้ เวลาอ้าปากเคี้ยวอาหารก็จะรู้ได้ว่าปากมันขยับไปมา เป็นต้น นี่เป็นการบอกว่า ท่านกำลังฝึกได้ผลแล้วครับ
ขอให้ฝึกต่อไป ฝึกต่อไปนะครับ แล้วผลที่ได้จะยิ่งมากขึ้น มากขึ้น เพราะเป็นการสะสมของสัมมาสมาธิ นั้นเอง

***********
ถ้าลูบมือแล้วเมื่อย จะใช้.ลูบขา.ก็ได้เช่นกัน หรือจะลูบท้อง หรือ อะไรก็ได้
ที่สดวกและสบาย
**********************
ตัวอย่างที่ 2
ท่านอาจใช้การฝึกโดยวิธีกำมือ-แบบมือ ฝึกไปเรื่อย ๆ ช้า ๆ สบาย ๆ
แทนการลูบแขนก็ได้ วิธีนี้ สามารถใช้ในหลาย ๆ สถานที่ ที่คนเขาไม่สังเกตเห็นได้ เช่น ขณะนั่งรถเมล์ ในขณะเข้าประชุมในบริษัท ขณะรอคิวซื้อสิ้นค้า ในขณะที่กำลังนอนแต่ยังไม่หลับ
จำไว้นะครับ ต้องสบาย ๆ ค่อย ๆ ทำ และรู้สึกตัว และรู้ความรู้สึกเมื่อมีการกำมือ แบบมือ
******************
ตัวอย่างที่ 3 การเดินจงกรม
การเดินจงกรม ก็คือ การเดินกลับไปกลับมาและฝึกฝนการมีสัมมาสติ สัมมาสมาธิไปด้วยในขณะเดิน
วิธีเดิน ก็คือ เดินธรรมดาแบบที่ท่านกำลังเดินเป็นปรกติอยู่อย่างนั้นแหละ ไม่ต้องช้าเป็น slow motion
แต่ขอให้เดินแบบสบาย ๆ เหมือนท่านเดินสูดอากาศยามเช้าที่บริสุทธิ ท่านไม่ต้องรีบเร่งในการเดิน
เดินไปช้า ๆ สบาย ๆ ในขณะที่เดิน ตาท่านยังคงมองเห็นภาพดีอยู่ แต่ท่านไม่ต้องจ้องมองอะไรเป็นพิเศษ
หูคงได้ยินอยู่ ขอให้ท่านสังเกตว่า ในขณะที่ท่านกำลังเดินนั้น จะมีความรู้สึกสั่นไหวที่กล้ามเนื้อขาด้วย
ในขณะที่เดินจงกรมอยู่
ขอให้เดินแบบนี้กลับไปกลับมา บ่อย ๆ
ในการเดินจงกรมนั้น ท่านสามารถใช้ฝึกในชิวิตประจำวันได้ด้วย เช่น ขณะเดินไปทำงาน เดินในที่ทำงาน
เดินไปรับประทานอาหารกลางวัน หรือ เดินซื้อของกินของใช้
ทีนี้ ท่านอาจเคยฝึกสายวัดป่า ที่เดินจงกรมพร้อมบริกรรมพุทโธ ท่านจะบริกรรม หรือ ไม่บริกรรม มันไม่สำคัญครับ
แต่ที่สำคัญก็คือ ท่านต้องเดินอย่างมีความรู้สึกตัว พร้อมรู้ความรู่สึกจากการทำงานของระบบประสาทต่าง ๆ ของร่างกายของท่าน
ไม่ยากเลยใช่ใหมครับการเดินจงกรม
*********************
ตัวอย่างที 4
ใช้ปลายนิ่งโป้ง และ นิ้วชี้ สัมผัสแตะ - ปล่อย
แตะ-ปล่อย เบา ๆ เป็นจังหวะ ไป ขอให้ทำอย่างสบายๆ อย่าเครียด
อย่าเกร็ง เมื่อท่านแตะนิ่ว ก็จะรู้สึกถึงการสัมผัสที่เกิดขึ้นจากการแตะ
เมื่อนิ้วไม่แตะกัน ความรู้สึกนั้นก็หายไป
ท่านี้จะดี เพราะคนอื่นเขาจะไม่รู้ว่า เรากำลังทำอะไรอยู่ จึงไม่เป็นที่สังเกตของคนอื่น

*********************
ตัวอย่างที่ 6
ท่านไปหาซื้อพัดมา 1 อ้น ไม่ต้องแพง ราคาสัก 20 -30 บาท
ในขณะทีท่านกำลังนั่งรอพระเพื่อใส่บาตร หรือ นั่งดู TV ที่บ้าน ก็ใช้พัดที่ซื้อมานี้ครับ พัดไปมาเบาๆ เพื่อคลายร้อน หรือ เพื่อไล่ยุง
ในขณะที่พัดอยู่ ขอให้ท่านพัดอย่างสบาย ๆ
ในขณะที่ท่านพัดอยู่พร้อมดัวยความรู้สึกตัว ท่านจะรับรู้ลมทีมากระทบผิวหนังของท่านได้ ตาท่านก็ยังเห็นอยู่ หูท่านก็ยังได้ยิน เมื่อมื่อท่านส่ายไปมาในขณะที่พัด ท่านก็รู้สึกถึงการเคลื่อนการไหวของมือได้ด้วย
เมื่อท่านใช้พัด ท่านก็ลดการใช้พัดลมได้ เท่ากับประหยัดไฟฟ้าที่ใช้ แถมยังเป็นการฝีกฝนกายานุปัสสนาสติปัฏฐานไปในตัวทีเดียว
วิธีใช้พัดนี้ ดีมากสำหรับประเทศไทยทีมีอากาศร้อน เมื่อท่านฝึกใช้พัด มันจะเป็นธรรมชาติและคนที่เห็นท่านจะไม่รู้ว่าท่านกำลังฝึกอยู่
ดังนั้น ท่านใช้ในการฝึกยังสถานที่ต่าง ๆ ในทีชุมชนได้เป็นอย่างดี
***********************
ตัวอย่างที่ 7
ถ้าท่านมีเศษกระดาษที่ใช้เขียนแล้วไม่ใช้ หรือ ถุงอลูมิเนียมบาง ๆ ที่เขาใส่กาแฟ หรือใส่ครีมใส่กาแฟ ท่านเอามา 1 แผ่น แล้วขยำให้มันเป็นก้อนกลม ๆ ขนาดพอเหมาะ ให้ท่านลองกำลูกกลม ๆ นี่ในมือ
ขอให้กำได้สบาย ๆ ไม่ใหญ่ไป ไม่เล็กไป เนื่องจากกระดาษ หรือ ถุงอลูมิเนียมจะมีความแข็งเล็กน้อย เมื่อท่านขยำเป็นก้อนกลม มันจะไม่เรียบ ผิวของมันจะขรุขระ เมื่อท่านกำในมือจะรู้สึกได้ดี
ในการฝึกในชีวิตประจำวัน เช่น ขณะดูทีวี ก็กำลูกกลม ๆ นี้เล่นไปมา ตาก็ดูทีวีไปด้วย มือก็กำลูกกลมนี้เล่นไปด้วยอย่างสบาย ๆ
******************
ตัวอย่างที่ 8 ท่าฝึกของท่านเอง สำหรับที่ท่านการฝึกฝนมาแล้วอย่างมากและมีความขยันหมั่นเพียรในการฝึก เช่น ตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปแล้ว ในการฝึกในระดับนี้ ท่านสามารถประยุกต์ท่าฝึกต่าง ๆ ขึ้นมาได้เอง เพราะท่านจะเข้าใจว่า การฝึกที่ถูกต้องเป็นอย่างไร ขอให้ท่านหาท่าฝึกที่เหมาะกับท่าน แล้ว ให้ท่านฝึกท่าของท่านเอง
***********************
**หลักการและเหตุผล**

จากภาพ
ในขณะที่เราฝึกลูบหรือฝีกสัมผัสร่างกาย จะมีความรู้สึกเกิดขึ้นจากการสัมผัสหรือความรู้สึกที่เกิดจากการลูบ ซึ่งความรู้สึกนี้จะรู้ได้ด้วย.จิตรู้.
เมื่อท่านฝึกจะเป็นการกระตุ้น.จิตรู้.
เมื่อท่านฝึกไปมาก ๆ .จิตรู้.จะเกิดเด่นขึ้นและมีกำลังมากขึ้น จนสามารถแยกตัวออกมาได้เอง
สำหรับคนปรกติที่ไม่ได้ฝึกฝน เขาจะรู้แต่ด้านขวามือ อันเป็นการทำงานตามปรกติของปุถุชนทั่ว ๆ ไปนั้นเอง อันเป็นการทำงานในขันธ์ 5 ซึ่งสัญญาขันธ์ และ สังขารขันธ์ จะเป็นตัวทำให้คนปรกติรับรู้เรื่องราว รับรู้ความหมายในเรื่องที่รับเข้ามาได้

ธรรมะปฏิบัติ ตอน 7 โดยมนสิการ

สัมมาสติ คือ อย่างไร

  DSC00024บทความนี้เป็นความเข้าใจส่วนตัว จึงไม่จำเป็นต้องไปเหมือนคำสอนของอาจารย์ท่านใด หรือ จะต้องไปตรงกับข้อเขียนในหนังสือเล่มใด  ท่านทีอ่านแล้ว รู้สีกหงุดหงิดใจ ขอให้ท่านมีสติแล้วรู้อาการในจิตใจท่านว่า บัดนี้กิเลสได้เกิดขึ้นในใจท่านแล้ว ขอให้ท่านผ่านการอ่านไปเสีย อย่าได้อ่านต่อเลย กิเลสในใจท่านคงไม่ชอบใจแล้ว ขอบคุณครับ

*******************

ในทางสายกลาง หรือ อริยมรรคมีองค์ 8  สัมมาสติ เป็นข้อ 7  ซึ่งท่านสามารถอ่านเรื่องของสัมาสติได้ในพระไตรปิฏก

แต่สิ่งทีผมจะเขียนนี้ ไม่ใช่อธิบายสิ่งทีปรากฏในพระไตรปิฏก แต่เป็นความเข้าใจส่วนตัวจากประสบการณ์การภาวนาทีฝีกฝนมานาน

คนไทยนั้น มักพูดสั้น ๆ  ว่า ให้มีสติ  หรือ พอมีความรู้สีกตัวอยู่ ก็มักเข้าใจว่า ตอนนั้นมีสติแล้ว ซึ่งเป็นความเข้าใจของตนเองทีรับฟังมาหรือแปลความหมายเองจากการอ่าน การได้ฟังมา

ในตำรา   สติ เป็นเจตสิกฝ่ายดี  หรือ จิตปรุงแต่งฝ่ายดี  ถ้าการเพียงรู้สีกตัวว่ามีสติแล้ว เวลาคนอกหัก คนอกหักก็รู้แก่ใจว่า ทุกข์หนักหนา ซี่งตอนทุกข์ คนอกหักก็รู้สีกตัวอยู่ว่ากำลังเป็นทุกข์เพราะอกหัก  ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว การมีเพียงการรู้สีกตัวว่ามีสติอยู่ จะเป็นจิตผ่ายดีได้อย่างไรกัน จิตผ่ายดีเกิด ควรเป็นทุกข์อย่างนั้นหรือ ขอให้ท่านผู้อ่านคิดและพิจารณาเอาเองด้วยปัญญา

++++++ ความแตกต่างของ สติ และ สัมมาสติ เป็นอย่างไร

สติ นั้นเป็นกลไกการทำงานอย่างหนี่งของจิต ทีจิตเปล่งแสงสว่างว๊าบจ้า ทะลุ **โมหะ**ที่ปกคลุมจิตออกมาได้

ส่วน สัมมาสติ นั้นจะคล้ายกันกับสติ  แต่เป็นการเปล่งแสงสว่างว๊าบ ทีทะลุ **อวิชชา** ออกมา 

***กรุณาอ่านข้ำ ถ้าท่านหาความแตกต่างระหว่าง สติ และ สัมมาสติ ไม่พบ***

เมื่อจิตถูกโมหะครอบงำ  จิตจะดำมืดสูญเสียความรู้สีกตัว แล้ว กิเลสคือ โลภะ โทสะ ก็จะเข้าครอบงำจิตต่อไปได้อย่างง่ายดาย   นี่คือสาเหตุ ทีคนทั่ว ๆ ไปมักถูกกิเลส คือ โมหะ โลภะ โทสะ ครอบงำจิตใจได้อย่างง่าย ๆ  เพราะคนทั่วๆ ไปโดยมาก จิตไม่มีสติ

การทีจะให้จิตหลุดจากการครอบงำของโมหะ ก็คือ ต้องให้จิตเปล่งแสงทะลุโมหะทีครอบงำจิตออกมาได้  ซึ่งต้องใช้การฝีกฝน สติปัฏฐาน 4 เป็นวิธีทำ ซี่งนักภาวนาต้องฝีกฝน สติปัฏฐาน 4 เสมอ ๆ ฝีกบ่อยๆ  ฝีกให้มาก ๆ ฝีกให้ชำนาญ และทีสำคัญ ต้องฝีกให้ถูกต้องตามหลักการของ อาตาปี สัมปชาโน สติมา ด้วย

เมื่อนักภาวนาฝีกฝนสติปัฏฐาน 4 อย่างถูกต้องอยู่เสมอ ๆ  นักภาวนาจะพบด้วยตนเองว่า เมื่อมีการกระทบสัมผัสทีเกิดขึ้นทางกาย หรือ ทางเวทนา หรือ ทางจิต ขึ้น  จะเกิดการทำงานของสติขึ้น ซี่งนักภาวนาจะพบเองว่า จะเห็นคล้าย ๆ แสงจากกล้องถ่ายรูปแว๊บขึ้นมาแว๊บหนี่งแล้วดับไป  นั่นคือ แสงจิตจากการทำงานของสติ 

ผมไม่อาจบอกท่านนักภาวนาได้ว่า ท่านต้องฝีกสติปัฏฐาน 4 นานเท่าใด สติจึงจะทำงานอย่างนี้ได้

แต่ผมบอกท่านได้อย่างหนี่งว่า ถ้าท่านฝีกสติปัฏฐาน 4 ไม่ถูกต้องตามอาตาปี สัมปชาโน สติมา การเกิดของสติ ก็ยากจะเกิดขึ้นจนท่านเห็นแสงแว๊บได้เลย

การแว๊บของแสงจิต 1 ครั้ง มันเร็วและสั้นมาก จนท่านนักภาวนาไม่อาจจะเข้าใจอะไรในธรรมได้ นอกจากเห็นแสงว๊าบขึ้นสั้น ๆ แล้วดับไป  ต่อเมื่อท่านนักภาวนาฝีกสติปัฏฐานต่อไปอย่างต่อเนื่องอยู่เนือง ๆ  จนเกิดความชำนาญ  ท่านนักภาวนาจะพบเองว่า อาการแสงแว๊บนั้นจะเกิดขึ้นค่อนข้างบ่อย จนทำให้ท่านนักภาวนาเห็นอะไรได้บ้างทีเป็นสภาวะธรรม 

ความถี่ทีเกิดขึ้นของแสงจิตทีทะลุโมหะ จะทำให้เกิดเป็นแสงสว่างชึ้นในจิตของนักภาวนาเอง ทำให้เกิดจิตทีสว่างขึ้น โดยทีนักภาวนาจะเห็นความสว่างของจิตนี้ได้เอง และ ตราบใดทีนักภาวนาเห็นจิตทีสว่างได้ นักภาวนาจะพบเองว่า กิเลสใด ๆ ไม่อาจเกิดได้เลยในขณะที่ความสว่างของจิตยังปรากฏเห็นได้อยู่

สำหรับ สัมมาสติ นั้น เป็นแสงจิตทีส่องทะลุ อวิชชา ออกมา ซี่งจะคล้ายๆ กับแสงจิตทีเป็นสติทีส่องทะละโมหะออกมา   แต่เมื่อแสงจิตทะลุ อวิชชา ออกมาได้ นักภาวนาจะพบกับอาการของความว่างเปล่าของความไร้ตัวตน หรือ สุญญตาสภาวะได้  ซึ่งความเป็น **สัมมา** นีคือ ธรรมทีเป็นระดับของโลกุตระที่ไร้อวิชชาครอบงำนั่นเอง

การเกิดขึ้นของสัมมาสติ ก็จะมาจากการพัฒนา สติ ทีแสงจิตสว่างในจิตเอง ประกอบกับปัญญาญาณทีเกิดขึ้น ทำให้นักภาวนาเกิดปัญญารู้แจ้งและทำลาย อวิชชา ลงไปได้

ธรรมในการหลุดออกจากกองทุกข์ ก็จะมาจากแสงสว่างในจิต ทีมาจากสติ แล้วพัฒนาต่อเป็นสัมมาสติ  การฝีกฝนทีตรงทางในสติปัฏฐาน 4 เท่านั้น ทีกล่าวโดยย่อว่า อาตาปี สัมปชาโน สติมา จะเป็นเหตุในการสร้างขึ้นมาได้

ธรรมะปฏิบัติ ตอน 6 โดยมนสิการ

จิตเห็นจิตเป็นมรรค

DSC00034บรรดาคำสอนของครูบาอาจารย์ คำสอนของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล วัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์ เป็นคำสอนที่เรียบง่าย และ พุ่งเป้าเข้าสู่การพ้นทุกข์อย่างไม่อ้อมค้อมสำหรับผู้ภาวนาอย่างแท้จริง
อริยสัจจ์แห่งจิตของหลวงปู ท่อนที่ 4 มีว่า จิตเห็นจิตเป็นมรรค
ในการภาวนานั้น การฝึกรู้ด้วยจิตในสติปัฏฐาน 4 ก็เพื่อความตั้งมั่นแห่งสัมมาสมาธิ
เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสัมมาสมาธิได้มากพอ ผลที่ตามมาก็คือ เกิดการแยกตัวออกของจิต(ผู้รู้) และ อาการของขันธ์ (ซึ่งก็คือ สิ่งที่ถูกรู้) ซึ่งในสภาวะตอนนี้ ในวงการภาวนาจะเรียกว่า สภาวะแห่งการเป็นของคู่ คือ มีผู้รู้ และ สิ่งที่ถูกรู้
ในบรรดาสิ่งที่ถูกรู้นั้น คือ อาการต่าง ๆในขันธ์ 5 สิ่งถูกรู้เหล่านี้มิใช่จิต
นี่ยังเป็นการรู้ การละ ไม่ยึดติดด้วยกำลังของสัมมาสมาธิ
การทีนักภาวนาได้ลงทุนลงแรงฝึกฝนสติปัฏฐาน 4 จนเกิดสภาวะของคู่ขึ้นมาได้นั้น ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เป็นกันได้ง่าย ๆ ได้มาถึงนี่ ก็ดีมากแล้ว แต่ก็ยังต้องฝึกฝนต่อไปอีก
เมื่อสัมมาสมาธิแก่กล้ามาขึ้น เพราะตั้งมั่นมากขึ้น ลำดับต่อไป นักภาวนาจะเกิดสัมมาญาณ อันเป็น ญาณ ที่เห็นจิตได้ การเห็นจิตได้ด้วยญาณนี้ จึงจะเข้าสู่ขั้นต้นของสิ่งที่เรียกวา จิตเห็นจิต การเห็นจิตนี้ จึงเป็นการเริ่มต้นของการ ตกกระแส พระนิพพาน เพราะเมื่อนักภาวนาได้เห็นจิตได้แล้ว ก็จะรู้จักจิตและจะเห็นจิตได้มากขึ้น ได้บ่อยขึ้น (หมายเหตุ นักภาวนาที่เพิ่งเห็นจิตได้ ใหม่ ๆ จะเห็นจิตได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ยังเห็นได้ไม่ต่อเนื่องตลอดเวลา )
ในบล๊อกที่ผมเขียนนั้น ผมใช้คำอยู่ 2 คำที่จะต่างออกไปจากที่อื่น ก็คือ
จิตรู้ ซึ่งคำนี้ ก็คือ จิตผู้รู้ ที่สำนักต่างๆ เรียกกัน
มโน ซึ่งคำนี้ ก็คือ จิต ที่เป็น จิตที่ถูกจิตผู้รู้ไปเห็นเข้า
ผมเรียกให้ต่างออกมา ก็เพื่อให้สอดคล้องกับตำราและความเข้าใจในการภาวนา
ซึ่งสภาวะแห่งการ ตกกระแส ในสิ่งที่ผมกล่าว ก็คือ การที่ จิตรู้ ไปเห็น มโน เข้าได้แล้ว
ในตำรา ดูจะง่าย ๆ ที่ชาวพุทธสักคนจะเข้าสู่การตกกระแส เพราะเขียนไว้เพียงสังโยชน์ขาดขั้นต้น 3 อันดับคือ 1.สักกายทิฏฐิ 2.วิจิกิจฉา 3. สีลัพพตปรามาส
แต่ในความเป็นจริงในการภาวนา ถ้ากล่าว่า โสดาบัน คือ ผู้ตกกระแสพระนิพพานแล้ว และจะมีแต่ก้าวต่อไป ไม่กลับมาอีก ไม่เกิน 7 ชาติ ผู้ที่จะมีคุณสมบัติอย่างนี้ได้ ก็จะมีแต่นักภาวนาที่พบอาการ จิตเห็นจิต ได้แล้วเท่านั้น จึงจะเป็นปัญญาขั้นต้นในระดับญาณที่จะมีสิทธิทำลายกิเลสได้สิ้นจนถึงที่สุด และ การเสื่อมจากญาณก็จะไม่มี เพราะได้รู้แล้ว เห็นแล้ว รู้จักแล้ว เพียงแต่ยังไม่สมบูรณ์ต่อเนื่อง 100 เปอร์เซนต์เท่านั้นเอง
(หมายเหตุ การได้สภาวะของคู่ เพราะสัมมาสมาธิ โดยยังไม่เกิดญาณ สัมมาสมาธิสามารถเสื่อมถอยได้อยู่ )
การที่ จิตเห็นจิต จึงเป็นสิ่งที่ยากสุด ๆ สำหรับนักภาวนาที่ยังไม่เคยเห็นจิตของจริง
เพราะอธิบายให้ฟังก็ยากมาก ทั้ง ๆ ที่สิ่งนั้น มันปรากฏอยู่แล้วอยู่ข้างหน้า แต่นักภาวนาไม่เห็นเอง เพราะไม่รู้จัก
เมื่อนักภาวนาพบจิตได้แล้ว นักภาวนาเพียงหมั่นฝึกฝนต่อไปอีก ขอให้เชื่อตำราได้เลยว่า เมื่อนักภาวนาได้ตกกระแสแล้ว ก็จะมีแต่จะไม่หวนกลับ เพราะกำลังสัมมาสมาธิที่ยิ่งตั้งมั่น ก็จะเสริม สัมมาญาณให้มั่นคง แล้วการเกิด จิตเห็นจิต ก็จะยิ่งได้บ่อย เห็นได้นาน เห็นเหมือนจิตไม่หายไปไหนเลย
ในคำสอนของครูบาอาจารย์ และในพระไตรปิฏก ได้กล่าวเปรียบเทียบ จิตเหมือนฟองไข่
และในคำสอนก็บอกว่า ให้ทำลายจิตทิ้งเสีย เมื่อจิตถูกทำลายทิ้ง สภาวะของคู่ก็จะสลายไป กลายเป็นสภาวะใหม่ ที่เรียกว่า ความเป็นหนึ่ง ขึ้นมาแทน
ในความเป็นจริง ไม่มีใครทำลายจิตได้ แม้แต่ตัวนักภาวนาเอง แต่การที่จิตเกิดการแตกสลายออกไปนั้น เกิดจากที่จิตที่บ่มเพาะปัญญาที่จิตไปเห็น จิตที่แปรเปลี่ยนไปมาเพราะมีการสร้างขันธ์ขึ้นของจิต และเห็นสภาวะแห่งจิตที่หยุดสร้างขันธ์ ปัญญานี้แหละที่จะทำลายจิตให้เป็น จิตหนึ่ง
การที่จิตหยุดสร้างขันธ์ ในครูบาอาจารย์มักกล่าวว่า ให้จิตหยุดคิด หรือ ฮวงโปได้กล่าวว่า ให้หยุดปรุงแต่งเสีย
นี่เป็นสิ่งทียากยิ่งอีกอย่างของนักภาวนา จิตหยุดคิด เพราะนักภาวนาไม่รู้จัก จิตหยุดคิดเป็นอย่างไร ถ้านักภาวนาเพียงคิดว่า จะทำอย่างไรให้จิตหยุดคิด นั้นคือ เป็นการคิดแล้ว
ถ้านักภาวนาเพียงรู้ว่า นี่ลมหายใจเข้า นี่ลมหายใจออก นี่กินข้าวไปแล้วสิบคำ นี่ก็คือ การคิดแล้วเช่นกัน
จิตหยุดคิด ก็คือ จิตหยุดสร้างขันธ์ จิตที่ไม่สร้างขันธ์ ใน มโน จะใสกระจ่างแจ้ง
จิตที่กำลังสร้างขันธ์ ใน มโน จะขุ่นมัว ไม่สดใส
ในสภาวะแห่ง จิตหนึ่ง แสงแห่งจิต จะส่องสว่างขึ้นไม่มืดมัว เมื่อจิตส่องแสงสว่าง อันกิเลสต่าง ๆ ที่อาศัย โมหะ เป็นชนวนการเกิด ก็เกิดไม่ได้ เพราะ โมหะ ต้องกาศัยเกิดตอนจิตมืดมิด เมื่อ จิตส่องสว่าง ความมืดย่อมหายไป กิเลสจึงเกิดอีกไม่ได้เพราะเหตุนี้
นี่คือธรรมชาติของจิตที่ประภัสสร เปล่งกระกายออกมา แล้วกิเลสก็เกิดไม่ได้เอง
นี่คือวิถีแห่งมรรค
ขอกราบนมัสการหลวงปู่ดูลย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ธรรมะปฏิบัติตอน 5 โดย มนสิการ

DSC00094ผมเห็นมีเรื่องกาลามสูตรอยู่ เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ที่ผมอยากจะทิ้งมุมมองของผมในเรื่องพระสูตรนี้ให้ท่านพิจารณา ผมเชื่อว่า ท่านที่เป็นขาจร เมื่ออ่านบทนี้จบ จะมีหลายท่านที่อาจสบถออกมาก็ได้ว่า ช่างเป็นข้อเขียนที่ทำลายศาสนา
สำหรับท่านที่มีปัญญา บทความนี้อาจช่วยให้ท่านถึงฝั่งก็อาจเป็นได้
******************
ผมเชื่อว่า ไม่มีใครที่ชอบการถูกผู้อื่นหลอก ผู้ถูกหลอกนอกจากจะเสียรู้ให้แก่ผู้มาหลอกแล้ว ถ้าจะมองดี ๆ ก็จะได้ว่า ผู้ถูกหลอกช่างเป็นคนที่โง่เง่าเสียจริง ๆ จึงถูกหลอกได้สำเร็จ
ในโลกนี้ ไม่มีใครรู้ทุกสิ่ง ดังนั้น เรื่องการถูกหลอกจึงมีอยู่โดยทั่ว ๆ ไป
ในการหลอกนั้น คน ๆ หนึ่ง นอกจากจะถูกคนอื่นหลอกแล้ว ยังมีการหลอกอีกอย่างหนึ่ง ที่คนถูกหลอกมักไม่รู้ว่ากำลังถูกหลอกอยู่ และมีการถูกหลอกอยู่ทุกวัน วันละหลาย ๆ ครั้งเสียด้วย
ใครนะช่างเก่งจริง ที่เที่ยวหลอกคนอื่นได้ทุกวัน วันละหลาย ๆ ครั้ง
ไม่ใช่ใครที่ไหนครับ แต่มันคือ ความคิดของตัวเองที่หลอกตัวเองอยู่ร่ำไป
เมื่อคนรับการรับรู้ผ่านทางระบบประสาทเข้ามา ก็จะมีขบวนการทำงานของ สัญญาขันธ์ และ สังขารขันธ์ ขึ้น กลายเป็นความคิดออกมา
เมื่อความคิดออกมาแล้ว คนก็จะเชื่อทันทีว่า ความคิดนั้นมันเป็นของฉัน ฉันเป็นคนคิดมันเอง คนก็เลยเชื่อสนิทว่าความคิดนั้นมันเป็นเรื่องจริง เป็นอย่างนั้นจริง ๆ โดยไม่เอะใจเลยว่ากำลังถูกความคิดของตัวเองหลอกตัวเองอยู่
การถูกความคิดหลอกลวงนี้ นี่คือสิ่งที่พระพุทุธองค์ทรงค้นพบความจริงแล้วเรียกสิ่งนี้ว่า อวิชชา
เมื่อคนหลงไปในอวิชชาแบบไม่เอะใจ ก็หลงเข้าไปในกองทุกข์ที่ความคิดมันสร้างขึ้นมาอยู่ตลอดเวลา
พระพุทธองค์ได้ทรงประกาศอริยสัจจ์ 4 ซึ่งเมื่อใครได้ลงมือปฏิบัติตาม ก็จะพบกับความจริงของเรื่องการหลอกลวงเพราะความคิดของตนเองนี้ ซึ่งก็คือ วิชชา (สังเกต คำว่า .วิชชา. มี .ช-ช้าง. 2 ตัวสะกด)
วิชชา ทำให้ผู้ที่ปฎิบัติตามได้เห็นขบวนการทำงานของ.สังขารขันธ์.และการเป็นไตรลักษณ์ของความคิด ที่มันปรุงออกมา และเข้าใจในขบวนการของความคิด ทีมี.สัญญาขันธ์.เป็นตัวเสริม ทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจอาการหลอกลวงของความคิดนี้ได้ว่า อันว่าความคิดมันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา มันมีเหตุให้เกิด มันก็เกิด
ในทำนองเดียวกัน อวิชชา อันเนื่องด้วย สัญญาขันธ์ บวกกับการเรียนรู้และประสบการณ์ทางโลก ทำให้มีการแปลความหมายของความคิดออกมาเป็นเรื่องเป็นราว เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นเราเป็นเขา
วิชชา นี้ไม่อาจที่จะคิดออกมาได้เอง เพราะเมื่อลงมือ.คิด. ก็หลงเข้าไปในการหลอกลวงของอวิชชาทันที แต่ วิชชา นี้จะผุดออกมาจากการรู้ของ.จิต.ที่ไปเห็นความจริงเข้าเท่านั้น
ดังนั้น วิชชา จึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจสอนให้เข้าใจได้เลย นอกจากสอนวิธีการปฏิบัติให้ลงมือปฏิบัติเอง ให้ผู้ปฏิบัติได้เห็นเอง เข้าใจได้เองด้วยตนเอง อันเป็นปัจจัตตัง
วิชชา นี้พูดมากไม่ได้ เพราะพูดไป ก็จะมีแต่คนที่บอกว่า ไอ้พวกนอกคอก พวกทำลายศาสนา
เพราะพูดไป ก็ไม่มีใครเชื่อ เพราะคนที่ยึดมั่นในคำสอนโดยไม่.โยนิโสมนสิการ. ก็คือพวกหลงเข้าไปในกับดักของ.อวิชชา.เสียแล้ว
การหลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นใน.ความคิด. ก็เท่ากับการได้ทำลายเรือนแห่งอวิชชา แล้วผู้นั้น ก็จะหลุดออกจากการถูกอวิชชาหลอกลวง กลายเป็นผู้รู้แจ้งที่ไม่ทุกข์ในที่สุด
บทความนี้ จะเข้าใจยากสักหน่อยสำหรับคนทั่ว ๆ ไป แต่ถ้าใครที่เห็นความคิดได้แล้ว ก็พอจะเข้าใจได้บ้าง แต่ผู้ที่เข้าใจได้อย่างดี ก็คือคนที่เข้าใจในการหลอกลวงของความคิดได้แล้ว
*****
เรื่องท้ายบท
1...ในพระไตรปิฏก มีการกล่าวถึงเรื่องหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสเรื่องธรรมกับพระสารีบุตร
แล้วพระพุทธองค์ทรงตรัสถามพระสารีบุตรว่า เชื่อหรือไม่
พระสารีบุตร ตรัสตอบว่า ท่านยังไม่เชื่อในทันทีจนกว่าจะได้พิสูจน์ให้เห็นจริงก่อน
****
นี่เป็นเรื่องราวที่คนที่อ่านพระไตรปิฏกอาจงงว่า ทำไมพระสารีบุตรจึงไม่เชื่อในคำสอนของพระพุทธองค์ในทันที
แล้วท่านละ เมื่ออ่านเรื่องในพระไตรปิฏก ท่านเชื่อโดยสนิทใจทันทีเลยหรือไม่
2...กาลามสูตร การไม่เชื่อ 10 ประการ
ทำไมในพระไตรปิฏก จึงมีเรื่องนี้ ไม่ให้เชื่อ 10 ประการ (ท่านหาอ่านเองใน google โดยค้นคำว่า "กาลามสูตร" ครับ )
เมื่อท่านอ่านบทนี้แล้ว ท่านคงได้คำตอบเอง
3...หลวงพ่อเทียน ท่านสอนให้ดูความคิด เพราะการดูความคิด จะทำให้เห็นการหลอกลวงของความคิดได้ ก็จะทำให้หลุดออกจากห่วงโซ่แห่งอวิชชาได้ เพราะการเห็นความจริงของการหลอกลวงนี้
เส้นทางแห่งมรรคที่ทำลาย.อวิชชา.... << อาตาปี สัมปชาโน สติมา >>
4...มีการเขียนไว้ถึงการบรรลุธรรมของพระอรหันต์ไว้หลายประเภท แต่แบ่งออกใหญ่ ๆ ได้ 2 ประเภทคือ เจโตวิมุตติ และ ปัญญาวิมุตติ
ในความเห็นของผม ผู้ที่เข้าใจได้อย่างดีว่า .ความคิด. ว่าเป็นสิ่งหลอกลวง เป็นผลงานของอวิชชาด้วยปัญญา ผู้นั้นจะเป็นพระอรหันต์ประเภท ปัญญาวิมุตติ
ส่วนพระอรหันต์ประเภท เจโตวิมุตติ จะเข้าใจการหลอกลวงของอวิชชานี้ โดยการเห็นการทำงานของขันธ์ 5 ในส่วนของ.สังขารขันธ์.แล้วจึงเข้าใจได้ และเกิดการตัดขาดแรงยึดติดระหว่างจิตและสังขารขันธ์ให้ขาดออกจากกันเมื่อเข้าใจแล้ว อันเป็นขบวนการทาง.เจโตสมาธิ. ดังเช่นที่หลวงพ่อเทียนได้บอกไว้ถึงอาการเชือกขาดนั้นเองครับ

ธรรมะปฏิบัติ ตอน 4 โดย มนสิการ

0003สรุป การบรรยายของวันกิจกรรม 31 ตุลาคม 2553

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2553 มีกิจกรรมการบรรยายที่บ้านหนังสือชินเขต1 ในเรื่องวิธีการปฏิบัติสติปัฏฐาน 4 มีเนื้อหาโดยสรุปได้ดังนี้

1..ในการปฏิบัติสติปัฏฐาน 4 ในผู้ภาวนาต้องฝึกฝนการเจริญสัมมาสมาธิ เพื่อให้เกิดจิตที่ตั้งมั่นเสียก่อน เมื่อ จิตตั้งมั่นได้แล้ว จิตที่ตั้งมั่น นั้นจะเปรียบเหมือน ดวงตาปัญญา ที่ไปเห็นสภาวะธรรมตามความเป็นจริงของกายและใจได้
2..หลักการฝึกสัมมาสติ สัมมาสมาธิ เพื่อให้เกิดจิตตั้งมั่น
2.1 เพียงรู้สึกตัว อย่างสบาย ๆ อย่าได้มีความเครียด สายตามองตรงไปข้างหน้า อย่าได้จ้องมองสิ่งใด เพียงลืมตาขึ้นเฉย ๆ เท่านั้น การลืมตาขึ้นเฉย ๆ แบบนี้ นักภาวนาจะเห็นภาพที่ตามองเห็นเป็นมุมกว้าง ๆ แบบ panorama และ ภาพที่เห็นอาจจะไม่ชัดเจนนักก็ได้ หรือ ชัดเจนก็ได้ แต่ทั้งนี้จะไม่ต้องจ้องสิ่งใด
2.2 ให้ .จิต. ไปรับรู้ .เอง. ของอาการของกาย ที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงให้รับรู้ได้ เช่น
การรับรู้การสัมผัส คือ การรับรู้กายที่เป็น ดิน
การรับรู้การสั่นไหว สะเทือน คือ การรับรูุ้กายที่เป็น ลม
การรับรู้อุณหภูมิ คือ การรับรูุ้กายที่เป็น ไฟ
การรับรู้ การเปลี่ยนแปลงทางกายดังกล่าว เกิดขึ้นเอง เพราะกลไกทางธรรมชาติ โดยที่ผู้ภาวนาไม่ต้องอยากไปรับรู้เลย ถ้าเป็นการรับรู้ด้วยการจงใจ ต้องการไปรับรู้ เป็นการภาวนาที่ผิดทาง
3..ได้ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ให้รู้จักอาการของกายจริง ๆ โดยการ
3.1 เกาหลังมือ
3.2 ควงข้อมือแบบเชียรลีดเดอร์
3.3 ขยับขาแบบเตะลูกบอลล์ และ การกระทบพื้น
แนะนำอ่าน หลักการเบื้องต้นของกายานุปัสสนาสติปัฏฐานแบบชาวบ้าน
ประกอบ
4..บรรยายการทำงานของ จิตรู้ จิตลูกโป่ง อวิชชา ตัณหา กิเลส ของภาพข้างบน
5..สิ่งที่เน้นในการภาวนา
5.1 อย่าให้มีความเครียดในการภาวนา
5.2 อย่าให้มีความอยากในขณะภาวนา เพียงรู้สึกตัว จิตใจปรกติที่สบาย ๆ

ธรรมะปฏิบัติ ตอน 3

วัวแม่ลูกอ่อนเล็มหญ้า แล้วชำเลืองดูลูกน้อย (วิธีภาวนาทำอย่างไร)

DSC00145หลวงพ่อโพธินันทะ ได้กล่าวถีงพระไตรปิฏกเล่มที 12 การปฏิบัติตามอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา
โดยอุปมาถีง โคแม่ลูกอ่อนเล็มหญ้าแล้วชำเลืองดูลูกน้อย
ในบทนี้ ผมจะได้เขียนถีงวิธีการปฏิบัติ
1..คุณสมบัติของนักภาวนาทีจะปฏิบัติได้
พระสูตรนี้ ไม่ใช่สำหรับมือใหม่ในการภาวนา แต่ต้องเป็นมือเก่าทีมีความสามารถในการภาวนามาได้ในระดับหนี่งทีสามารถเห็น **ความคิด**ของตนเองได้แล้ว
2..ขบวนการทำงานของความคิด
ตัวจิตนั้น จะประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ส่วนทีเป็นสภาวะรู้ และ ส่วนทีเป็นตัวจิตทีจะแปรไปเป็นจิตปรุงแต่งได้เมื่อมีเหตุและปัจจัยเข้ามากระทบทีจิต
เมื่อมีเหตุและปัจจัยเข้ามกระทบทีตัวจิต ตัวจิตจะเกิดการไหวตัว ซี่งในการไหวตัวนี้จะออกมาเป็นพลังงานทีสั่นไหว ที่ผมจะเรียกว่า ความคิด
เมื่อนักภาวนาทีผ่านการภาวนามาได้ในระดับหนี่งมีจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิพอสมควร เมื่อจิตไหวตัวเป็นความคิด **สภาวะรู้ของจิตจะไปเห็นความคิด** นี้ได้
พอสภาวะรู้ไปเห็นความคิด ความคิดจะดับไปเอง เพราะนี่ธรรมชาติของความคิดทีมันเป็นไตรลักษณ์ จะเป็นแบบนี้
เมื่อนักภาวนาเห็นความคิดได้หลาย ๆ ครั้ง จะรู้เองว่า ตัวจิตทีเป็นส่วนทีจะแปรไปเป็นความคิด นั่นอยู่ทีใด แล้วจะไปดูความคิดด้วยสภาวะรู้ได้อย่างไร
3..วิธีการภาวนาแบบโคแม่ลูกอ่อนเล็มหญ้าแล้วชำเลืองดูลูกน้อย
เมื่อนักภาวนารู้ว่า จิตทีจะแปรเป็นความคิดได้อยู่ทีใด และ การดูความคิดด้วยสภาวะรู้ทำอย่างไร
วิธีการปฏิบัติก็คือ เมื่อนีกขึ้นมาได้ว่า ให้มองไปทีความคิด ก็มองไปทีความคิดทันทีแว๊บเดียวสั้น ๆ เพียงเสี้ยววินาที เมื่อมองไป นักภาวนาจะพบว่า จิตส่วนทีจะเป็นความคิดนั้นจะเป็นความว่างเปล่า ไม่มีความคิดอยู่
เมื่อหยุดมองความคิด นักภาวนาจะพบเองว่า สภาวะรู้ของจิตยังคงเห็นจิตส่วนทีจะแปรเป็นความคิดต่อไปได้เองโดยเห็นเป็นความว่างเปล่า โดยทีนักภาวนาไม่ได้ไปมองตรง ๆ เลย สภาวะนี้จะเรียกว่า คือ การชำเลืองมอง ซึ่งจะเป็นไปเองหลังจากทีมองตรง ๆ ไปแว๊บหนี่ง
แต่การชำเลืองมองนี้ จะค่อย ๆ สลายไปเอง แล้วจะมองไม่เห็นความว่างทีอยู่ตรงทีความคิดเคยเกิด พอนักภาวนานีกขึ้นมาได้อีกครั้งหนี่ง ก็ให้มองไปทีความคิดอีกแว๊บหนี่ง แล้วสภาวะแห่งการชำเลืองมองจะกลับมาอีก แล้วก็จางหายไปอีกเมือ่เวลาผ่านไปสักระยะหนี่ง
ให้นักภาวนาวนทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ กล่าวคือ พอนีกขึ้นมาได้ ก็มองไปทีความคิดแว๊บหนี่งก็พอแล้วปล่อยให้สภาวะของการชำเลืองมองทำงานต่อไปเอง
เมื่อฝีกอย่างนี้ไปเรื่อยๆ นักภาวนาจะพบเองว่า สภาวะแห่งการชำเลืองมองจะค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องได้เอง

ธรรมปฏิบัติตอน 2 by มนสิการ

สมถะ วิปัสสนา ในแนวทางที่ตำราไม่กล่าวถึง ภาค 2

DSC00147มีคำถามเข้ามาว่า........
มีข้อสงสัยเรื่องการปฏิบัติขอรบกวนสอบถามค่ะ คือ การฝึกโดยการเคลื่อนไหวที่คุณนมสิการชี้แนะให้นี้สามารถทำควบคู่กับการฝึกสมถะได้หรือไม่คะ หรือว่าควรจะทำแค่อย่างใดอย่างนึง คือปัจจุบันนี้ดิฉันอยู่ในช่วงเริ่มต้นและยังจับแนวทางไม่ถูกค่ะ
**********************
มาอ่านความเห็นของผมดังนี้
ผมได้เคยเขียนเรื่อง สมถะ วิปัสสนา ในแนวทางที่ตำราไม่กล่าวถึง
ไว้ที่ ในตอนนี้ผมจะเพิ่มเติมเข้าไปจากบทความก่อน
++++ สมถภาวนา
จุดมุ่งหมายของสมถภาวนาจะมี 3 อย่าง อยู่ที่ใครต้องการแบบใดใน 3 อย่างนี้ มาดูกันครับ
***จุดมุ่งหมายที่ 1 .... ทำสมถภาวนาเพื่อต้องการให้จิตสงบจากนิวรณ์
( หมายเหตุ นิวรณ์ คือ อาการที่จิตกำลังดิ้นรน กระสับกระส่าย ไม่สงบด้วยอาการในจิต )
ผมจะยกตัวอย่างให้เห็นกันเพื่อให้เข้าใจ
ตัวอย่างที่ 1 ...สมมุติว่า ท่านเป็นคนกลัวผีมาก และ เผอิญต้องไปพักคนเดียวในโรงแรมเก่า ๆ ในต่างจังหวัด ซึ่งไม่มีทางเลือกที่พักอื่น โรงแรมนี้สภาพก็เก่า แถมอยู่ห่างไกลเมืองและอยู่ใกล้กับวัดอีกด้วย แอร์ก็ไม่มี ต้องเปิดหน้าต่างนอน พอตกกลางคืน ก็มีเสียงสุนัขหอนขี้นมา ทำให้เกิดอาการกลัวผีมาก ไม่รู้จะทำอย่างไรดี ก็เลยทำสมถภาวนาเพื่อไม่ให้กลัวผี เช่น บริกรรม พุทโธ ตลอดเวลา เพื่อให้จิตไปจับยึดที่พุทโธ จะได้ไม่กลัวผี
ตัวอยางที่ 2 ... สมมุติว่าท่านเป็นชาย มีภรรยาแล้ว พอดีได้เลขาสาวสวยเข้ามาใหม่ เธอหน้าตาดี แถมแต่งตัวเปรี้ยวมาก ท่านเห็นเธอแล้วใจก็เกิดอาการไม่เป็นสุขทันที ท่านก็กลัวใจว่าจะห้ามไม่ไหว ก็เลยไปนึกถึงภาพคนตายที่กำลังขึ้นอืด น่ากลัวแทน เพื่อที่จะบังคับใจที่กำลังหวั่นไหวนั้นให้สงบลงไป
คงพอมองภาพออกนะครับว่า สมภภาวนาแบบนี้เป็นอย่างไร ใช้อย่างไร
***จุดมุ่งหมายที่ 2 ....สมถภาวนาโดยการบังคับจิตให้นิ่งสงบ เช่นฤาษีเขาทำกันในสมัยพุทธกาล การภาวนาแบบนี้ จิตใจของผู้ภาวนาไม่ดิ้นรนอย่างจุดมุ่งหมายที่ 1 แต่การทำเพื่อต้องการทำบังคับจิตนิ่งโดยการให้จิตไปจับยึดสิ่ง ๆ เดียว ไม่ยอมให้จิตหลุดไปไหนเลย
ที่นิยมกันตอนนี้ ก็จะมีการเพ่งกสิณ การภาวนาลมหายใจโดยจับลมที่ปลายจมูก หรือ บริกรรมเร็ว ๆ เพื่อให้จิตจับอยู่กับคำบริกรรมอย่างเดียว สมถภาวนาแบบนี้ ได้ผลคือจิตนิ่ง ตัวแข็งเป็นหิน ถ้าถึงฌาน จะมีความสุขมาก ( สุขมากจริง ๆ ใครที่ภาวนาถึงได้จะเข้าใจดีว่าสุขแบบหาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว )
สมถภาวนาแบบนี้ เจ้าชายสิทธัตถะ ได้ทรงเรียนมาก่อนกับดาบส 2 ตน แต่พระองค์ก็ทรงทราบว่า นี่ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์
ภาวนาแบบนี้ คนที่ได้ฌานมักจะติดสุข และ มักจะเป็นคนโทสะร้ายได้ง่าย ๆ เวลาที่ไม่ได้ภาวนาอยู่
**** จุดมุ่งหมายที่ 3 ... สมถภาวนาเพื่อการพัฒนากำลังจิต เพื่อเป็นฐานสำหรับวิปัสสนาต่อไป เพราะว่า วิปัสสนาจะเกิดไม่ได้เลย ถ้าจิตไม่มีกำลังพอ ที่ว่า จิตมีกำลัง หมายความว่า จิตตั้งมั่นอยู่ที่ฐาน ไม่ซัดซ่ายไปไหน และ จิตมีกำลังทีจะต่อสู้กับอาการจิตปรุงแต่งที่เกิดขึ้นมาได้ ( อ่านเรื่อง ชักกะเย่อ ที่ สำหรับเรื่องใน blog ของผมเช่นเรื่อง ตัวอย่างการฝึกเพื่อการรู้กาย
ก็เพื่อจุดมุ่งหมายที่ 3 นี้
--------------------------------
+++ วิปัสสนาภาวนา
จุดมุ่งหมาย เพื่อให้เห็นแจ้งความจริงในขันธ์ทั้ง 5 ว่า ขันธ์ 5 นั้นมันเป็น ไตรลักษณ์ มันไม่เที่ยง มันไม่ใช่ตัวตนของเรา มันเป็นอนัตตา
การที่จะเห็นความจริงแบบนี้ได้นั้น จิตของผู้ปฏิบัติต้องมีกำลังมากและตั้งมั่นอยู่ ซึ่งจิตจะตั้งมั่นอยู่ได้และมีกำลัง ต้องมาจากการฝึกฝน
สมถภาวนาแบบจุดมุ่งหมายที่ 3 มาแล้วเป็นอย่างดี
ถ้าจิตไม่ตั้งมั่น ไม่มีกำลัง ไม่มีทางเจริญวิปัสสนาได้เลย เพราะจะไม่เห็นอาการของขันธ์ 5 เป็นไตรลักษณ์ เป็นอนัตตา เมื่อไม่เห็นอาการขันธ์ 5 เป็นไตรลักษณ์ เป็นอนัตตา มันก็ไม่เกิดการปล่อยวางขันธ์ 5
เรื่องนี้เขียนมากไม่ได้ เดียวผมจะมีเรื่องราวกับสำนักภาวนาหลายสำนัก
-----------------------------------------
บทความนี้ ผมหวังว่า ท่านที่ถามมาคงมองภาพออกนะครับว่า การเจริญวิปัสสนานั้น ต้องใช้ฐานรากจากสมถภาวนาแบบที่ 3 มาก่อนเพื่อให้จิตตั้งมั่น จิตมีกำลัง
เมื่อจิตตั้งมั่น มีกำลังแล้ว จิตรู้ จะแยกตัวออกมาได้จากสิ่งที่ถูกรู้ ในที่นี้คือ ขันธ์ 5 แล้ว จิตรู้ เขาจะพิจารณาขันธ์ 5 เองอันเป็นอาการของวิปัสสนา ที่ต้องเกิดเอง เห็นเองด้วยจิตรู้ ไม่สามารถทำให้เกิดโดยการตั้งใจได้ จึงจะเป็นวิปัสสนา และได้ผลในการปล่อยวางขันธ์ 5 เพื่อเข้าสู่มรรคผลนิพพานต่อไป
-------
ทีนี้มาถึงคำถามที่ถามมา ท่านที่ถามคงเข้าใจว่า สิ่งที่ผมเขียนใน blog จะไม่ใช่สมถภาวนา ตอนนี้คงเข้าใจแล้วนะครับว่า มันคือสมถภาวนาตามจุดมุ่งหมายที่ 3 ซึ่งนักภาวนาจะฝึกฝนสมถภาวนาในจุดมุ่งหมายที่ 3 นี้อย่างไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเหมือนกับใน blog ที่ผมเขียน หรือ จะฝึกหลาย ๆ อย่างสลับไป สลับมา ก็ได้เช่นกัน
แต่ที่ผมเขียนแนะนำใน blog ก็เพื่อจะได้เป็นแนวทางที่คนใหม่ ๆ จะได้อาศัยเป็นแบบฝึก เพื่อจะได้ฝึกได้ครับ
แต่ถ้าใครไม่มีเวลาฝึกตามแบบฝึก จะใช้วิธีการฝึกในชิวิตประจำวันก็ได้เช่นกัน เพราะเพียงเข้าใจหลักการ ฝึกที่ไหนก็ได้ ฝึกอย่างไรก็ได้ ใช้ได้ทั้งนั้น แต่ถ้าไม่เข้าใจหลักการ ถึงแม้ฝึกตามรูปแบบ ก็จะไม่ตรงกับสมถภาวนาจุดมุ่งหมายที่ 3 ครับ แต่จะเป็นสมถภาวนาแบบอื่นไปเสีย
สิ่งที่ผมเขียนไว้ จะเรียกว่า การเจริญสติ ก็ได้เช่นกัน แล้วแต่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร

ธรรมปฏิบัติ ตอน 1

บทความนี้เป็นบทต่อเนื่องจากเรื่อง รู้ธรรมคือรู้อะไร
และเรื่อง มาดูดอกไม้ไฟกันเถอะ
DSC01680..................................
ผมได้เขียนเรื่องการฝึกฝน ตัวอย่างการฝึกเพื่อการรู้กาย
ข้อ 1) ในขณะที่ท่านฝึกฝนอยู่นั้น ท่านสังเกตไหมว่า จิตใจท่านจะราบเรียบไม่มีอะไร แต่เมื่อการลูบแขนเกิดขึ้น ท่านก็รู้สึกได้ถึงการลูบนั้นได้
ถ้าท่านยังไม่เคยฝึก ผมแนะนำให้ท่านฝีกการลูบแขนก่อนสัก 30 นาที แล้วจึงมาอ่านเรื่องราวใน blog ของผมต่อไป
ข้อ 2) ทีนี้ สมมุติ ผมขอให้ท่านสร้างจินตนาการขึ้นมาว่า ท่านอยู่กับคนรักที่ตอนนี้หัวใจท่านสีชมพู ท้องฟ้าก็สดใส และคนรักของท่านก็ลูบแขนของท่านเหมือนดังข้อ 1
เมื่อเกิดการลูบแขนขึ้น ท่านย่อมรู้สึกได้ถึงการลูบ มันจะเหมือนกับการลูบในข้อ 1 แต่ตอนนี้ จิตใจท่านจะไม่เหมือนข้อ 1 แล้ว เพราะ จิตใจท่านจะเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข อยากให้อยู่อยางนี้นาน ๆ
ข้อ3 ) ทีนี้ สมมุติ ใหม่ว่า ท่านเป็นหญิง และโดนพวกบ้ากามฉุดท่านไปในบ้านร้างแห่งหนึ่ง พวกมันมีมากหลายคน มันก็จะรุมจับตัวท่านไว้ ปิดปากไม่ให้ร้องได้ แล้วเจ้าตัวหัวหน้าที่ตัวสกปรก มีกลิ่นเหม็น ก็เอามือมาลูบแขนของท่านเหมือนอย่างข้อ 1 เช่นกัน ในการลูบนี้ ท่านก็ยังรู้สึกได้ถึงการลูบที่เหมือนกับข้อ 1 และ ข้อ 2 ได้เช่นกัน แต่จิตใจท่านนั้นกลับระทมทุกข์มาก อยากจะหนีเหตุการณ์นี้ไปให้ได้โดยเร็ว
...............................
เหตุการณ์ 3 อย่างนี้ ผมกำลังจะชี้ให้ท่านเห็นดังนี้
A) ความรู้สึกที่เกิดจากการลูบแขน ที่เหมือนกันทุกอย่างที่เกิดขึ้น ในข้อ 1.2.3 นั้น คือ ความรู้สึกจริง ที่เกิดจริงในขณะนั้น ๆ ไม่มีการปรุงแต่งใด ๆ นี่คือ ความรู้สึก ที่เกิดขึ้นทางกาย ที่ผมบอกท่านว่า คือ ธรรม
B) อาการของจิตใจ ในข้อ 1 เมือ่ท่านไม่มีการปรุงแต่งในจิตใจ มันก็คือ .ความรู้สึกที่เกิดขึ้นทางใจ ก็คือ ธรรม เช่นกัน
C) อาการของจิตใจ ในข้อ 2 . 3 ตอนนี้ จิตใจท่านมีการปรุงแต่งที่เจือด้วยกิเลส มีการรู้สึกชอบใจ อยากได้ อยากเป็น ( ข้อ 2 ) และ อาการที่ไม่อยากได้ ไม่อยากเป็น ไม่ต้องการ ( ข้อ 3 ) นี่คือ การปรุงแต่งมันก็เป็นธรรม เช่นกัน แต่เป็น ธรรม + มาร ที่เกิดในขณะเดียวกัน
ซึ่งท่านอาจไม่เข้าใจว่า ทำไมข้อ C จึงเป็น ธรรม ได้ มันน่าจะเป็น .มาร เป็นกิเลส มากกว่า ขอให้ท่านอ่านต่อไป
ในการเกิดจิตปรุงแต่งที่ปุถุชน เข้าใจว่าเป็น .มาร.นั้น ลักษณะทางกายภาพที่สัมผัสได้ ก็คือ เป็นพลังงาน ที่วูบขึ้นมาเหมือนกัน ( ถ้าท่านเป็นผู้ที่จิตรู้แยกตัวออกมาได้แล้ว ท่านจะเห็นพลังงานนี้ได้ และจะเข้าใจได้ง่าย ) พลังงานที่วูบขึ้นมาที่รู้สึกได้ นี่คือ ความรู้สึก ที่ผมเรียกว่า ธรรม
แต่ในพลังงานที่วูบขึ้นมานี้ มีส่วนที่เป็นเนื้อความในพลังงานนั้นด้วย คือ ความพอใจ (สำหรับข้อ 2 ) หรือ ความไม่พอใจ (สำหรับข้อ 3 )
การปรุงแต่งจิตใจของปุถุชน จะเห็นแต่อาการพอใจ หรือ ไม่พอใจ ที่เกิดขึ้น แต่ไม่เห็นพลังงานที่วูบขึ้นมา และเกิดหลงเข้าไปยึดถือในเนื้อความของพลังงานนี้ จึงเกิดหลงเดินตามความพอใจ หรือ ไม่พอใจ ที่เกิดขึ้นตามเนื้อความของพลังงานนั้นทันที ในส่วนนี้ ก็คือ มาร ที่มันจะมาพร้อมกับ ธรรม (ทีเป็นพลังงานวูบขึ้นมา ) เสมอ
..................
ถ้าท่านอ่านไม่เข้าใจในข้อ C เรื่องพลังงานทีวูบขึ้นมา และ เนื้อความในพลังงานที่วูบขึ้นมา ผมจะยกตัวอย่างทางโลกเปรียบเทียบให้ท่านเห็น เมื่อท่านอ่านเรื่องทางโลกที่เป็นข้อเปรียบเทียบแล้ว ขอให้ท่านกลับไปอ่านข้างบนใหม่ ก็จะทำให้ท่านเข้าใจได้ดีขึ้น
สมมุติว่า มีขันอยู่ 2 ใบ ขันทั้ง 2 ใบถูกใส่กล่องที่เปิดฝากไว้ ท่านมองไม่เห็นขันทั้ง 2 ใบนี้ ขันใบที่หนึ่งใส่ก้อนน้ำแข็งที่เย็นจัดไว้เต็ม
ขันอีกใบหนึ่งใส่น้ำร้อนที่ร้อนจัดไว้ ท่านอยู่หางจากขันประมาณ 30 เซ็นติเมตร ท่านไม่เห็นขันเพราะถูกใส่กล่องไว้ แต่ท่านจะเห็นไอ ทีออกจากขันทั้ง 2 ใบ ไอที่ลอยขึ้นมาจากความเย็น และ ไอที่ลอยขึ้นมาจากความร้อน ท่านจะเห็นได้ว่าเหมือนกัน ( นี่คือพลังงานที่เกิดขึ้น )
แต่ ไอออกมาต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะไอหนึ่งจะร้อน อีกไอหนึ่งจะเย็น
ท่านจะเห็นทั้งไอ และ สัมผัสได้ถึง ความร้อน หรือ ความเย็น ของไอ นี่คือส่วนที่เป็นเนื้อความของพลังงาน ( ถ้าผมจะใช้ภาษาอังกฤษ จะทำให้ท่านเข้าใจได้ดีขึ้น ในส่วนเนื้อความนี้ก็คือ property ของไอ นั้นเอง
..................................
อีกตัวอย่างหนึ่ง ดูภาพ

สีแดง คือ เนื้อความ ( property ) ของวงกลมและมีการแปลความหมายออกมาว่า คือ สีแดง
ความพอใจ คือ เนื้อความ ( property ) ของพลังงานปรุงแต่งที่เกิดขึ้น โดยมีการแปลความหมายของพลังงานนี้ออกมาว่า นี่คือพอใจ
ความไม่พอใจ คือ เนื้อความ ( property ) ของพลังงานปรุงแต่งที่เกิดขึ้น โดยมีการแปลความหมายของพลังงานนี้ออกมาว่า นี่คือไม่พอใจ
..........................................
ในวิถีทางเดินแห่งการพ้นทุกข์ เมื่อท่านฝึกฝนการเจริญสัมมาสติ สัมมาสมาธิ ได้ดีจน.จิตรู้.เกิดแล้ว ใหม่ ๆ ท่านจะเห็นพลีงงานที่เกิดขึ้นจากการปรุงแต่งได้ ( เปรียบเหมือนท่านเห็นไอที่ลอยอยู่ ) และ ท่านก็จะรู้สึกได้ถึงเนื้อความ ( property ) ในพลังงานที่เกิดนั้นได้ ( เปรียบเหมือน รู้ถึงว่า ไอนี่ร้อน หรือ ไอนี่เย็น )
นักปฏิบัติที่เข้าใจไม่ตรงทาง มักจะมีจิตใจที่น้อมเอียงไปในทางที่รังเกียจเนื้อความที่เกิดขึ้นในพลังงานที่ท่านเห็นมัน ยิ่งเป็นพลังงานทีแปลเนื้อความออกมาว่าเป็นความไม่พอใจ ความทุกข์ใจ ความหวุดหงิด ด้วยแล้ว ก็ยิ่งเพิ่มความรังเกียจมากขึ้นไปอีก <<< แต่นี้คือ การปรุงแต่งที่เกิดซ้อนขึ้นมาโดยที่นักปฏิบัติธรรมท่านนั้นยังมองแบบจิตใจไม่เป็นกลาง ยังหลงปรุงแต่งซ้อนขึ้นมาอีก
เมื่อท่านมีกำลังแห่งสัมมาสติ สัมมาสมาธิที่ตั้งมั่น มองพลังงานที่เกิดวูบขึ้นมาอย่างเป็นกลาง โดยไม่หลงยินดี ยินร้ายไปกับเนื้อความ ( property ) ของพลังงานที่เกิดวูบขึ้นมา ท่านจะเห็นไตรลักษณ์ของพลังงานวูบนี้ได้ และเข้าใจความเป็นอนัตตาของมันได้เมื่อท่านเห็นมันได้บ่อย ๆ
นี่คือ ท่านได้เห็นธรรม แล้ว
ขอให้ท่านลองสังเกต สภาวะแวดล้อมดูอีกครั้งว่า
ทุก ๆ ขณะ ท่านมีแต่การสัมผัสที่เป็นความรู้สึกที่รับรู้เข้ามาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางจิตใจ นี่คือความรู้สึกที่สัมผัสได้จริง ที่ผมได้บอกท่านว่า นี่คือธรรม
แต่ถ้าท่านหลงไปในเนื้อความแห่งการปรุงแต่งในด้านที่เกิดพอใจ ไม่พอใจ ขึ้น นี่คือการหลงเข้าไปใน .มาร. แล้ว
ท่านจะเห็นว่า ธรรม และ มาร มันมาพร้อมกัน เพียงแต่ว่า ท่านรู้ทัน.มาร. หรือ ไม่เท่านั้น ถ้าท่านรู้ทันมาร ท่านก็เป็นพุทธ ถ้าท่านไม่รู้ทัน.มาร. มาร ก็จะจิกหัวท่านให้ท่านเป็นทาสของมันต่อไป
ธรรม เป็นเรื่องไม่ซับซ้อนและอยู่ในชีวิตประจำวันของท่านนั้นเอง ไม่ต้องไปหาที่ไหน ขอให้ท่านอ่านสักหลาย ๆเทียว แล้วพิจารณาตามว่า เรื่องราวเป็นอย่างไร ท่านอาจเข้าใจ.ธรรม. และหลุดจากการเป็นทาสของมารได้ตลอดกาล
....................
นี่เป็นบทความที่เขียนยากมากสำหรับผม และผมก็ไม่ทราบว่า ท่านอ่านจะรู้เรื่องหรือไม่ เพราะมันเป็นเรื่องเกียวกับปัญญาทางพุทธูศาสนา ถ้าท่านอ่านเข้าใจ บทความนี้ก็มีประโยชน์แก่ท่าน ถ้าท่านอ่านไม่เข้าใจในตอนนี้ ก็ขอเก็บไว้ใน blog ผมก่อนก็แล้วกัน แล้วในอนาคต ท่านอาจย้อนมาอ่านใหม่อีกครั้ง แล้วเข้าใจก็ได้ครับ

วิธีปฏิบัติธรรมเพื่อการพ้นทุกข์ จะเริ่มต้นอย่างไรดี - มุมมือใหม่

0010วิธีปฏิบัติธรรมเพื่อการพ้นทุกข์ จะเริ่มต้นอย่างไรดี - มุมมือใหม่
มีผู้ขอให้ผมแนะนำวิธีการปฏิบัติธรรมเพื่อการพ้นทุกข์ ตั้งแต่เริ่มต้นเลยว่า จะให้ปฏิบัติอย่างไร
สิ่งที่ผมจะเขียนต่อไปนี้ มาจากประสบการณ์ส่วนตัวล้วน ๆ ที่ผมจะฝากไว้ท่านมือใหม่ ที่ล้มเหลวอยู่เสมอในการปฏิบัติธรรมไว้พิจารณา
ผมอยากจะบอกท่านที่เข้ามาอ่านก่อนว่า
ถ้าท่านยังติดหนึบเนียวแน่นดังกาละแมติดฟันในตำราละก็ อย่าอ่านต่อเลยครับ เพราะจะทำให้ท่านมีอคติกับผมไปเปล่า ๆ เมื่อท่านมีอคติอย่างเดียวก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าท่านปรามาสต่อผมต่อ นี่ซิครับ ผมไม่ต้องการให้บทความต่าง ๆ ที่ผมเขียนเพื่อให้ท่านดับทุกข์ กลับนำท่านลงสู่ทุกข์เสียเอง สิ่งใดมีคุณอนันต์ ก็จะมีโทษมหันต์เช่นกัน ถ้าใช้ไม่เป็น
เชิญเข้าเรื่องได้ครับ สำหรับสาธุชนมีใจเป็นกลางที่อยากทราบประสบการณ์ของผม
****************************
1. วิปัสสนาจะไม่ได้ผลอะไรเลย ถ้าไม่มี .จิตรู้. ที่แยกตัวออกมาจากขันธ์ 5 เป็นผู้สังเกตการณ์ความไม่เที่ยงในขันธ์ 5
>> นี่คือกุญแจหลักสำหรับการเริ่มต้นการปฏิบัติเพื่อการพ้นทุกข์ครับ
สิ่งแรกสุดที่ท่านต้องกระทำ คือ ศีกษาให้เข้าใจก่อน ว่าวิธีการที่จะฝึกฝนเพื่อให้ .จิตรู้. แยกตัวออกจากขันธ์ 5 นั้นมีวิธีการปฏิบัติฝึกฝนอย่างไร ไม่ใช่ว่า ท่านเห็นเขา นั่งสมาธิ กำหนดลมหายใจ เดินจงกรม บริกรรมพุทโธ แล้วก็ปฏิบัติลงไปเลยโดยที่ท่านไม่เข้าใจเลยว่า การปฏิบัติที่ท่านเห็นเขาทำกันนั้น อย่างไรจึงได้ผล
ผมไม่อยากนำคำว่า สมถะ วิปัสสนา มาพูดให้ท่านสับสนในการฝึกฝนการปฏิบัติว่าอย่างไรคือสมถะ อย่างไรคือวิปัสสนา แต่ผมขอนำคำว่า การปฏิบัติคือการฝึกฝน สัมมาสติ ให้ตั้งมั่นจนเป็นสัมมาสมาธิ เมื่อตั้งมั่นได้แล้ว จิตรู้ เขาจะแยกตัวออกมาสังเกตขันธ์ 5 ของเขาเองโดยที่ท่านไม่มีสิทธิไปบงการอะไรในตัว .จิตรู้. ได้เลย เมื่อ .จิตรู้.ออกมาสังเกตอาการของขันธ์ 5 เอง นี่แหละครับ วิปัสสนา ได้เริ่มต้นแล้ว
2. แล้วจะปฏิบัติอย่างไรให้ .จิตรู้.แยกตัวออกมาจากขันธ์ 5 ได้
>> ท่านต้องฝึกฝนครับ ฝึกฝนสิ่งที่ผมเรียกว่า สัมมาสติ นั้นเอง
หลักการฝึกฝนสัมมาสติ ก็คือ
2.1 การที่รู้สึกตัว ที่สบาย ๆ ไม่เครียด ไม่เกร็ง เป็นธรรมชาติ
เวลาฝึกอย่าให้มีความรู้สึกว่าต้องทำ แต่ให้ฝึกด้วยความรู้สึกว่า กำลังลองทำเล่น ๆ
2.2 ไม่ต้องการอยากรู้อะไร
ท่านอ่านถึงข้อ 2.2 ก็จะเกิดแอบงงได้ เพราะสำนักต่าง ๆ ที่มีสอนการปฏิบัติธรรมทั่วไปในประเทศไทย บอกว่า ต้องรู้ ต้องกำหนด แต่ผมกลับบอกว่า ไม่ต้องการอยากรู้อะไร ผมเขียนผิดหรือเปล่า
ผมขอเรียนท่านว่า ไม่ผิดหรอกครับ แต่ขอให้ท่านอ่านต่อไปและทำความเข้าใจตรงนี้ให้ดีมาก ๆ สักหน่อย อ่านซ้ำหลาย ๆ รอบก็ยิ่งดีครับ
ในข้อ 2.1 ผมบอกว่า ท่านต้องรู้สึกตัว ที่สบาย ๆ ไม่เครียด ไม่เกร็ง เมื่อท่านรู้สึกตัวอยู่ สิ่งที่ท่านจะพบต่อมาก็คือ ตาท่านจะมองเห็นอยู่ หูก็จะได้ยินอยู่ ร่างกายก็รู้สัมผัสได้อยู่ และอื่น ๆ ในระบบปราสาทในร่างกายของท่านทำงาน ทั้งหมดนี้ ต้องเป็นการรู้ที่เป็นไปเอง (ย้ำชัด ๆ นะครับ ว่า ต้องเป็นการรู้ที่เป็นไปเอง ) ทีเป็นดังนี้เพราะท่านรู้สึกตัวอยู่นั้นเอง ผมจะใช้คำว่า การรู้ที่เป็น multitasking ก็ได้ (เหมือนเครื่องคอมพิวเตอร์ปัจจุบันที่ทำงานพร้อมกันได้หลาย ๆ อย่างในขณะเดียวกัน ) (แต่ถ้าท่านยึดตำรา ตำราว่า การรู้จะรู้ได้ทีละอย่าง นั้นคือตำรา ที่ผมบอกแล้วว่า ถ้าท่านยึดติดตำรา อย่าเข้ามาอ่านเลย )
ผมขอให้ท่านทดลองด้วยตัวเองก็ได้ในตอนนี้
ขอให้ท่านรู้สึกตัวอยู่อย่างสบาย ๆ ตาท่านมองเห็นใช่ใหม่
หูท่านก็ได้ยินใช่ใหม ถ้ามีลมพัดมา หรือ ท่านเปิดแอร์หรือพัดลม แล้วลมพัดมาโดนกาย ท่านก็รู้สึกได้ใช่ใหม ท่านจะเห็นว่า การรู้ที่เกิดขึ้นนั้น ท่านไม่ได้ทำอะไรเลย เพียงแต่รู้สึกตัวธรรมดา ๆ เท่านั้นเอง และรู้ได้พร้อมกันหลาย ๆ อย่างในคราวเดียวกัน
ผมขอให้ท่านสังเกตต่อไปว่า การรู้ที่มาจากการรู้สึกตัวนี้ จะเป็นการรู้ที่เบา ๆ และก็บางทีก็รู้ บางทีก็จะไม่รู้ แสดงว่าการรู้ของท่านยังไม่ต่อเนื่อง นี่เพราะท่านยังเป็นมือใหม่ที่มีกำลังสัมมาสติอ่อนนั้นเอง แต่ถ้าท่านฝึกฝนต่อไป จนสัมมาสมาติมีกำลัง การรู้ของท่านจะต่อเนื่องได้มากขึ้น
ปัญหาของมือใหม่ที่เกิดเสมอ ๆ เพราะได้รับคำสอนว่า การรู้ต้องรู้ชัด
มือใหม่ก็จะใช้วิธีการจ้องไปยังจุดที่ต้องการจะรู้ชัด เช่น ผู้ที่ฝึกลมหายใจ ก็ได้รับคำสอนว่า ให้ไปจ้องที่ปลายจมูกเพื่อจะรู้ลมให้ชัด ผู้ที่เดินจงกรมก็จะจ้องที่เท้าเพื่อที่จะรู้การกระทบที่เท้าให้ชัด นี่เป็นการขัดแย้งกับข้อ 2.2 ที่ผมเขียนไว้อย่างจัง เพราะการอยากรู้โดยการจ้องที่ปลายจมูก หรือ ที่เท้า ล้วนเป็นกระทำด้วยความอยาก อันเป็นตัณหา ในอริยสัจจ์ 4 ข้อ 2 พระพุทธองค์ก็สอนไว้ชัดว่า ตัณหา คือต้นเหตุแห่งทุกข์ ต้องละ มัน แต่นี่ท่านที่ไปจ้องปลาย จ้องเท้า การจ้องเป็นการไม่ได้เดินตามคำสอนนี้เลย
เมื่อท่านเป็นมือใหม่ ที่เริ่มต้นด้วยการฝึกรู้ลมหายใจ จะเป็นสิ่งทียากลำบากมากที่จะรู้ลมหายใจ โดยการไม่จ้องลม
ส่วนมากคนใหม่ ๆ ที่ผมแนะนำการปฏิบัติ ผมจะให้เขาฝึกด้วยกายานุปัสสนาที่ไม่ใช้ลมหายใจ เพราะการรู้ลมหายใจโดยไม่จ้องลม เป็นสิ่งที่รู้ได้ยากกว่าวิธีอื่น ผมมีเขียนเรื่องการฝึกกายานุปัสสนาไว้ที่เรื่อง
ตัวอย่างการฝึกเพือการรู้กาย
เมื่อท่านมือใหม่ ฝึกกรรมฐานอื่นที่ไม่ใช่ลมหายใจไปมาก ๆ เช่นสัก 1 ปี กำลังสัมมาสติของท่านจะแข็งแรงขึ้น และสามารถรู้ลมหายใจได้เองโดยไม่ต้องจ้องลมหายใจเลย ท่านก็สามารถฝึกลมหายใจได้เองต่อไป

3. ทำไม ผมจึงให้เริ่มที่กายานุปัสสนา ไม่ใช่การดูจิต อย่างทีตอนนี้กำลังนิยมกัน
>> อย่างที่ผมได้เขียนไว้ข้างต้นแล้ว การปฏิบัติจะได้ผล ก็ต่อเมื่อ .จิตรู้. เขาแยกตัวออกมาจากขันธ์ 5 แล้วเท่านั้น ถ้าท่านเป็นมือใหม่ที่จิตรู้ยังไม่แยกตัวออกมาจากขันธ์ 5 แล้วท่านไปดูจิต มันจะไม่ได้ผลครับ
เพราะท่านจะไม่เห็นอาการของจิต เพราะการเห็นอาการของจิตนั้น จะต้องเป็นการเห็นด้วย .จิตรู้. จึงจะได้ผลแห่งวิปัสสนา
ถ้าการรู้อาการของจิตที่ไม่ใช่ จิตรู้ จะเป็นการนึกคิดเอา อันเป็นสัญญาและสังขาร
การฝึกกายานุปัสสนาที่ถูกต้องตามหลักการที่ผมให้ไว้ในข้อ 2 เมื่อฝึกไปบ่อย ๆ ฝึกมาก ๆ ก็จะมีขบวนการภายในที่เกิดขึ้นอย่างเงียบ ๆ ที่ท่านมองไม่เห็น นั้นคือ สัมมาสติมีการพัฒนากำลังมากขึ้น และ จิตรู้ ก็พร้อมจะมารู้เห็นการทำงานของขันธ์ 5 ได้ตามความเป็นจริง อันเป็นการเจริญวิปัสสนาด้วย จิตรู้
แนะนำอ่านเรื่อง
ทำไมผมสอนแต่กายานุปัสสนา ไม่สอนการดูเวทนา ไม่สอนการดูจิต ไม่สอนการดูธรรม แล้วจะครบสูตรได้อย่างไร
ถ้า "จิตรู้" ยังไม่เกิด จะไม่เห็นไตรลักษณ์ที่แท้จริง

กายานุปัสสนา ทิ้งไม่ได้เลย ถ้าฐานไม่มั่นคง

4. จะวัดผลแห่งการปฏิบัติได้อย่างไรว่าได้ผลแล้ว
>> เมื่อ จิตรู้ แยกตัวออกมาจากขันธ์ 5 แล้ว จิตรู้ เขาจะทำงานของเขาเอง ใหม่ๆ จิตรู้ ยังไม่มีพลังมากพอ การรับรู้ขันธ์ 5 ของจิตรู้ก็อาจดีบ้าง ไม่ดีบ้าง อันเป็นธรรมดา ขอให้ท่านฝึกฝนต่อไป แบบเดิม ที่ผมเขียนข้อ 2 เพื่อให้จิตรู้มีกำลังมากขึ้นไปอีก ยิ่งฝึกมากแบบข้อ 2 จิตรู้ ยิ่งตั้งมั่น ยิ่งมีกำลังมากขึ้น เมื่อจิตรู้ยิ่งมีกำลัง การที่จิตรู้พิจารณาขันธ์ 5 เองยิ่งถี่มากขึ้น ( ผมขอให้ท่านเข้าใจว่า คำว่า พิจารณาขันธ์ 5 นี้ ต้องเป็นการพิจารณาเองด้วยจิตรู้เท่านั้น จึงจะได้ผล การทีท่านไปคิดเอาเองว่า นี่เป็นไตรลักษณ์ ด้วยการใช้ความคิด ไม่ใช่การพิจารณาธรรมอันเป็นขบวนการแห่งวิปัสสนา )
เมื่อ จิตรู้ พิจารณาขันธ์ 5 เองบ่อย ๆ จิตรู้ ก็จะมีความรู้มากขึ้นเอง
แต่ท่านจะรู้ด้วยตัวเองว่า ทุกข์ท่านได้ลดลงไปจากเดิม
ซึ่งผมขอแนะนำให้ท่านวัดผลการปฏิบัติด้วยวิธีที่ผมเขียนไว้คือ
การกลับมาเป็นปรกติของใจได้เร็ว คือ การวัดผลการปฏิบัติ - มุมมือใหม่

การวัดผลอีกอย่างหนึ่ง ที่ท่านจะรู้ได้ด้วยตนเองก็คือ
การที่ท่านเผลอสติที่ลดลงไปกว่าเดิม ยิ่งท่านฝึกยิ่งมาก
การเผลอสติก็ยิ่งลดลง จนประหนึ่งว่า ท่านมีสติตลอดเวลา
ในขณะที่ท่านตื่นอยู่ ท่านทำอะไร ก็มีสติอยู่เสมอ นั้นเอง
ยิ่งท่านมีสติต่อเนื่องมากเท่าใด ทุกข์ยิ่งลดลงไปเรื่อยๆ
นี่เป็นผลจากปัญญาที่เกิดขึ้นในจิตใจของท่าน
ที่ลดละ ตัณหา อย่างเป็นอัตโนมัตินั้นเอง

5. บทสรุป
ผมหวังว่า สิ่งที่ผมเขียนนี้ จะทำให้เท่ามองภาพออกถึงการปฏิบัติ
ว่าท่านจะดำเนินตัวเองอย่างไร เพื่อให้เข้าสู่ทางแห่งการพ้นทุกข์
ผมได้เขียนเรื่องการปฏิบัติที่เป็นพืนฐานไว้มากมาย หลายเรื่อง
ใน Group Blog ธรรมปฏิบัติ 1 ขอให้ท่านทยอยอ่าน และ
ยิ่งเมื่อท่านได้ฝึกฝนไปเป็นระยะและมาอ่านทวนเป็นระยะ จะทำให้ท่านเข้าใจการปฏิบัติได้มากขึ้น
ผมขอเน้นย้ำแก่ท่านมือใหม่ว่า การปฏิบัติในข้อ 2 นั้น ท่านไม่ต้องไปเปลี่ยนแปลง
อะไรทั้งสิ้่น ท่านฝึกสัมมาสติไปได้แก่กล้าแค่ไหนก็ตาม ท่านก็ยังคงใช้การฝึกแบบข้อ 2 อยู่ดี
อนึ่ง เมื่อท่านฝึกไปเรื่อย ๆ จะมีสภาวะธรรมบางอย่างปรากฏขึ้นแก่ท่่านให้รู้ได้เป็นระยะ ๆ
สภาวะธรรมเหล่านี้ ถ้าท่านเกิดหลงไปว่า ฉันได้ก้าวหน้าแล้ว การปฏิบัีติต้องไปปรัีบเปลี่ยนวิธีการในข้อ 2 และจะก้าวหน้าต่อไป ถ้าท่านคิดอย่างนี้แล้วละก็
ผมขอบอกท่านว่า ท่านหลงทางครับ เพราะนั้นจะเป็น วิปัสสนูกิเลส ที่เกิดขึ้นแก่ท่าน
ท่านเกิดหลงมันว่ามันเป็นจริง
ธรรมแห่งองค์พระศาสดาได้ตรัสสอนไว้ว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา
นี่คือความจริงแท้ว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ท่านจะยิ่งเข้าใจคำนี้มากขึ้น
ทุกขณะจิต ยิ่งท่านมีกำลังสัมมาสติยิ่งแข็งแกร่งขึ้นไปทุกที ทุกที
ธรรมปฏิบัิติ ไม่เหมือนเลี้ยงเด็กอ่อน ที่ต้องเปลี่ยนชนิดของนมผง ชนิดอาหาร ตามอายุเด็ก
ธรรมปฏิบัตินั้น ความเป็นปรกติธรรมดาของจิตใจ ที่ไร้กิเลส ตัณหา แต่อุดมด้วยสัมมาสติ
ของแท้มีอย่างเดียว ไม่ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการอย่างไรทั้งสิ้นในการฝึกฝน
ฝึกเพื่อให้เป็นปรกติของจิตใจ
บทความที่คล้ายกันที่แนะนำท่านเข้าไปอ่าน
เมื่อเดินตามวิถีแห่ง.มรรค. .ผล.ก็จะเกิดตามมาเอง - มุมมือใหม่

6. ผมจะเปิดบทความนี้ให้ท่านมือใหม่ เขียนถามได้ถ้าไม่เข้าใจในจุดใด
เป็นเวลา 7 วัน แล้วจะปิดการเขียน
แต่ผมขอร้องผู้ที่คิดจะเข้ามาป่วน blog ผม หรือ นำเอาตำรามาแปะไว้เพื่อโต้แย้งในบทความนี้ ท่านอย่าได้ทำเลย ผมบอกแล้วนี้ นี่มาจากประสบการณ์ส่วนตัว จะผิดถูกอย่างไร ก็เป็นประสบการณ์ส่วนตัว ถ้าท่านจะเขียนของท่าน ท่านสมควรเขียนใน blog ของท่านเอง และผมก็บอกไว้ก่อนแล้วว่า ผมไม่แนะนำให้ท่านที่ติดตำราเข้ามาอ่านด้วยครับ

พระอาจารย์ทอง อาภากโร

พระอาจารย์ทอง อาภากโร

วัดสนามใน อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี

เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์

DSC00039

หลวงพ่อกับ พระอาจารย์ทอง อาภากโร, หลวงพ่อเพียร อตฺตปุญฺโญ, พระอาจารย์คำเขียน สุวณฺโณ และพระอาจารย์บุญธรรม อุตฺตมธมฺโม

อาตมาเป็นพระบ้านนอก พ่อแม่เป็นชาวไร่ชาวนา ก่อนบวชก็ได้ทำบุญให้ทาน เข้าวัดตามประเพณีที่พ่อแม่เคยทำมา การปฏิบัติก็ยังไม่ได้ทำอะไรในขณะนั้น อาตมาบวชเมื่ออายุ 22 ย่าง 23 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2504 อาตมาก็บวชเรียนอยู่วัดธรรมดา บวชมหานิกาย ที่จังหวัดอุดรธานี ได้ทำสมาธิกรรมฐานบ้าง แต่ก็ไม่เข้าใจ พอดีปีนั้น พ.ศ. 2510 อาตมาจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านพรม อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ออกพรรษาแล้วก็ไปเรียนเทศน์ แต่ก่อน การจะเป็นพระนักเทศน์ต้องเรียนจากครูบาอาจารย์

บังเอิญมีโยมคนหนึ่งมาจากเมืองเลย เขามาเยี่ยมญาติที่นี่ เขาไปได้ยินหลวงพ่อเทียนพูดธรรมะกับท่านมหาบัวทอง เพราะท่านมหาบัวทองเป็นลูกศิษย์รุ่นแรก ๆ ไปปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อเทียน เขานิมนต์มาแสดงธรรมะให้ญาติโยมฟัง แกก็คุยให้อาตมาฟัง คุยกันไปคุยกันมา อาตมาก็สะดุดใจว่าเป็นโยมก็พูดธรรมะได้ เราบวชมาตั้ง 7 ปียังไม่รู้ ไม่เข้าใจธรรมะ ก็ชักสงสัย คิดอาย ๆ เหมือนกัน เราเรียนคัมภีร์ เรียนตำรามาแล้วมันอยู่ที่ไหน พระมหาบัวทองได้มหาเปรียญแล้ว ก็ยังไปเรียนธรรมะไปปฏิบัติธรรม แล้วธรรมะมันอยู่ที่ไหน ถ้าเราอยู่เป็นพระบวชไปนาน ๆ เวลาไปแสดงธรรมะกับพระกรรมฐาน บางทีอาจจะติดเขาก็ไอ้ อาจจะเทศน์แล้วอายเขาก็ได้ ก็เลยคิดในใจว่า ปีนี้เราต้องไปปฏิบัติธรรม ต้องไปศึกษาธรรมะกับหลวงพ่อเทียน ให้มันรู้ ให้มันเข้าใจก่อน เรื่องเทศน์เรื่องอะไร ค่อยมาว่ากันทีหลัง

ตอนนั้นอาตมาคิดฝันไปว่า เมื่อไปปฏิบัติธรรมแล้วมันคงจะมีฤทธิ์มีเดช ดำดิน ล่องหน หายตัว อะไรอย่างนั้นได้ เพราะเรียนมาในตำราเขาว่า -ปฏิบัติธรรมะจะมีหูทิพย์ ตาทิพย์ เราก็นึกว่ามันจะเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็คงจะเข้าท่าดี ก็เลยตัดสินใจไปหาอาจารย์ มันมีอะไรอย่างหนึ่ง ตั้งความคิดไว้สูงมาก เป็นแรงผลักดันพาไป

อาตมาไปหาหลวงพ่อเทียนที่ป่าพุทธยาน จังหวัดเลย ไปถึงที่นั่นตอนเย็น ไปถามหาหลวงพ่อ ก็รู้ว่าท่านไปเปิดอบรมธรรมะให้ญาติโยมอยู่ที่บ้านบุฮม อาตมาก็จะตามไป ตอนนั้นอาตมามีศรัทธาแรงกล้ามาก อยากจะเห็นว่าหลวงพ่อเทียนหน้าตาเป็นอย่างไร แต่พระที่วัดให้นอนค้างคืนก่อน พรุ่งนี้เราจะพาไปส่ง อาตมาก็ตกลงค้างคืนหนึ่ง ก็ได้คุยกับท่านมหาบัวทองแต่ใจยังคิดอยู่อยากพบหลวงพ่อเทียน

พอรุ่งเช้าก็ออกเดินทางไปหาหลวงพ่อเทียนที่บ้านบุฮม ไปถึงที่นั่นประมาณ 4 โมงกว่า ๆ ยังไม่เพล ไปกราบท่าน

ท่านถามว่ามาจากไหน ?

ก็บอกท่านว่า ผมบวชที่จังหวัดอุดรธานีบ้านเกิดเมืองนอน พ่อแม่อยู่ที่อุดรฯ ผมบวชแล้วก็ไปเรื่อย ๆ ศึกษาตามหนังสือหนังหาไปเรื่อย ๆ ผมบวชมาก็ 7 ปีแล้ว มาจำพรรษาที่ชัยภูมิ ออกพรรษาแล้วก็ไปฝึกเทศน์ที่อำเภอหนองบัวแดง พอดีได้ยินโยมพูดคุยธรรมะ แล้วสงสัย ยังไม่เข้าใจ ผมก็เลยถามที่อยู่ของหลวงพ่อ เขาก็บอกแนะนำมา ผมก็เลยอยากจะมาศึกษาธรรมะกับหลวงพ่อ อยากจะปฏิบัติธรรมะกับหลวงพ่อ

ท่านก็ไม่ได้พูดอะไรมาก ท่านก็ถามว่า สนใจจริง ๆ หรือ

อาตมาก็บอกว่าสนใจจริง ๆ

ท่านถามว่าจะปฏิบัติจริงหรือ

ก็บอกท่านว่า จริง

ท่านว่าการปฏิบัติธรรมะนี่ทำง่ายไม่มีอะไรเป็นพิธีรีตอง

อาตมาก็ชอบอยู่แล้ว เพราะตั้งใจทีเดียวว่าถ้าให้ทำยุบหนอ-พองหนอจะไม่ทำ เพราะได้ยินเด็ก ๆ คนทั่ว ๆ ไปพูดหนอ ๆ นี่ อาย ๆ นะ พอดีท่านพูดให้ฟังว่า ทำง่าย ๆ ทำสบาย ๆ ทำวิธีเคลื่อนไหว ไม่ต้องหลับตาในขณะนั่ง นั่งยกมือขึ้น เอามือลง ทำวิธีเคลื่อนไหว เอ๊ะ ! ไม่เห็นจะมีอะไร ท่าจะทำง่าย

ท่านก็ทำให้เราดู เราก็ทำตาม พอทำเป็น ท่านก็ปล่อยให้เราทำคนเดียว ใหม่ ๆ ก็อายนะ อาตมาเป็นคนขี้อาย ท่านให้ไปอยู่กุฏิคนเดียว อาตมาปฏิบัติอยู่คนเดียว. ปฏิบัติอยู่ที่บ้านบุฮม วัดที่ท่านอยู่ นาน 15 วัน ก็ยังไม่เข้าใจ

ต่อมาก็ลงมาปฏิบัติที่วัดป่าพุทธยาน ปฎิบัติอยู่นานประมาณ 1 เดือน ระหว่างปฏิบัติ ท่านก็มาหาวันละ 2-3 ครั้ง ท่านก็ถามคำสองคำ เข้าใจหรือไม่ อาตมาก็ไม่เข้าใจ

วันหนึ่งต่อมา หลังจากทำวัตรเย็นเสร็จก็เลยนั่งคุยกันกับหลวงพ่อและมหาบัวทอง อาตมาก็บอกกับท่านว่า ถ้าผมปฏิบัติแบบนี้คงไม่เข้าใจคงไม่รู้ บวชมาก็ตั้ง 6-7 ปีแล้วยังไม่รู้ ยังไม่เข้าใจ ตำราก็เรียนมาแล้วท่านพูดอะไรให้ฟัง เข้าใจรูป เข้าใจนามแล้วหรือยัง เราก็ไม่รู้ไม่เข้าใจ อายุก็แก่แล้วทำไมยังไม่เข้าใจ

อาตมาก็เลยบอกกับท่านว่า ผมจะขอเก็บตัวสักระยะหนึ่ง ตอนนี้ผมจะไม่ออกมาทำวัตร บิณฑบาต จะขอเก็บตัวปฏิบัติคนเดียวอยู่ในห้อง หลวงพ่อจะอนุญาตหรือไม่

ท่านก็บอกว่า เอ...ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ท่านก็คิดพูดคุยกัน ตกลงกัน ให้ก็ให้ ก็ตัดสินใจเลยทีเดียว เรื่อข้าวเรื่องน้ำก็แล้วแต่หลวงพ่อจะจัดญาติโยมไปส่งให้

อาตมาไปอยู่ได้ประมาณหนึ่งอาทิตย์ ก็เข้าใจ แต่เข้าใจพื้น ๆ นะ เข้าใจแรก ๆ ไม่เห็นรูป ไม่เห็นนาม ต่อมาเมื่อมาเห็นรูป เห็นนาม มาเข้าใจรูป เข้าใจนาม รวมเวลาประมาณ 1 เดือน จึงรู้จักการบวช ทั้ง ๆ ที่เราบวชมา 7 ปีไม่รู้เลย เราเรียนหนังสือตามตำรา ตามหลักวิชาการก็เรียนมา ไม่รู้ว่าเราได้บวชได้เรียนอะไร คล้าย ๆ กับเราไม่มีอะไรเลย โกนหัวก็โกน ห่มผ้าเหลืองก็ห่ม แต่มันไม่เข้าใจในการบวช

ตอนที่เข้าใจ อาตมาก็นั่งสร้างจังหวะ นั่งยกมือ ทำความรู้สึกตัวมันรู้ขึ้นเลย รู้โดยไม่มีใครบอก รู้โดยไม่เคยได้ยินได้ฟัง รู้โดยไม่ได้อ่านตำรับตำรามาเลย มันรู้มันเข้าใจเอง มันเห็นรูป เห็นนาม เห็นรูปธรรม นามธรรม เห็นรูปโรค นามโรค เห็นสมมุติ เห็นอนิจจัง เห็นทุกขัง เห็นอนัตตา เห็นบาป เห็นบุญ เห็นศาสนา เห็นพุทธศาสนา จนจบเลย รู้แล้วมันรู้จนจบไปเลย รู้ในขณะเดียวเลย อันนี้เป็นอารมณ์เบื้องต้น

รู้เมื่อหลังจากเก็บตัวได้ 7 วัน แต่รวมทั้งหมดหนึ่งเดือนพอดี เราจึงรู้ รูป-นาม รู้อะไรหลาย ๆ อย่าง รู้สารพัดอย่าง มันเป็นความรู้ของ วิปัสสนู เป็นความรู้ของจินตญาณ แต่หลวงพ่อท่านก็มีวิธีสอนเรา แต่เราก็ไม่รู้หรอก แม้เมื่อเดินจงกรมมันก็ยังมีอะไร ๆ อยู่ อาตมานึกถึงพ่อ อาตมาเป็นทำพร้าตั้งแต่เด็ก ๆ อายุราว ๆ 5-6 ขวบ โยมแม่เลี้ยงมาตลอด ก็นึกถึงพ่อ โอ้..พ่อเราเกิดมาเป็นคนไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้ว่าตัวเองเกิดมาทำไม ไม่รู้ตัวเอง ไม่เห็นตัวเอง ถ้าเป็นสิ่งที่ปั้นได้เหมือนกับดิน เหมือนกับอิฐ เหมือนกับปูน จะไปเอามาปั้นแล้วก็เอามาทำใหม่ให้ดีเลย ตอนนั้นอาตมาคิด นึกถึงพ่อแต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้ ช่วยได้แต่เฉพาะตัวเราเท่านั้นเอง

ตามหลักจริง ๆ แล้วช่วยไม่ได้ เสียชีวิตไปแล้วมันก็แล้วกันไป แต่สิ่งที่เราทำมันก็ได้กับเรา การบวชให้พ่อให้แม่นี่เป็นประเพณี แต่พูดถึงการปฏิบัติธรรมแล้วมันไม่เกี่ยวกันเลย

เมื่ออาตมารู้อย่างนี้แล้ว พอได้อรุณรุ่ง หลวงพ่อก็ให้อาตมาออกมาเลย กลัวจะเป็นตัวอย่างกับคนอื่น บางทีคนอื่นมาขอแล้วท่านไม่ให้มันจะไม่ยุติธรรม ไม่ดี ท่านว่าอย่างนั้น เพราะยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน มีแต่ปฏิบัติไปเรื่อย ๆ อยู่กับท่านทำการทำงานไปเรื่อย ๆ ไม่มีการเก็บอารมณ์ ท่านให้ออกมาก็ออก แต่ใจจริงยังอยากปฏิบัติคนเดียว ท่านให้ออกก็ออก เพราะเราเคารพท่าน ท่านว่าอย่างไรก็ต้องทำตาม ท่านให้ออกมาทำการทำงาน ตอนปฏิบัติธรรมะใหม่ ๆ ท่านยังไม่ให้ดูความคิด หลังจากออกมาได้ 4-5 วัน ตอนนั้นกำลังพุ่ง กำลังแรง กำลังเป็นจินตญาณเป็นปีติ มันกล้า อยากจะอยู่คนเดียว เรื่องเทศน์ เรื่องอะไร ไม่ว่าใครจะจบอะไรมา จบกระไตรปิฎก หรือได้เปรียญ 9 ประโยคมา อาตมาไม่กลัวใคร อาตมารู้รูป-นามอย่างดี ไม่เคยได้ประสบการณ์อย่างนี้ในชีวิต มันเป็นอย่างนี้เอง พระพุทธเจ้าสอนเรื่องการบวช มันอยู่ที่นี่เอง ถึงจะได้บวชเรียนมานาน ถ้ายังไม่ได้ทำอันนี้ ยังไม่รู้ไม่เข้าใจ อันนี้ ถือว่าบวชนอกพุทธศาสนา เมื่อก่อนเราเรียนในตำรานึกว่ามีแต่ครั้งพุทธกาล มีแต่ในประเทศอินเดีย

หลวงพ่อได้ถามอาตมาว่า “ถ้าเป็นอย่างนี้กลับบ้านได้ไหม

บอกท่านว่า “กลับได้ กล้าพูดกับอาจารย์แล้ว”

อาจารย์ของอาตมาบวชมานาน 10 กว่าปีแล้ว แกไปเรียนบาลีมา ได้เป็นอุปัชฌาย์ เป็นเจ้าคณะตำบล มีความรู้ทางวิชาการ ปริยัติ หลวงพ่ออยากให้ไปสอน

อาตมารู้สึกคล้าย ๆ ว่าตอนนั้นมันยังไม่จบลง เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้นเอง ทำไมหลวงพ่อท่านพูดอย่างนั้น ท่านคงมีเหตุผล หลวงพ่อท่านอยากให้ไปพูดคุยกับโยมพ่อโยมแม่ และญาติ ๆ พูดอะไร ๆให้ฟัง อยากให้เอาประสบการณ์ อยากให้เอาธรรมะนี่ไปพูดให้คนฟัง สมัยก่อนเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวนี้ท่านก็เปลี่ยนอีกอย่างหนึ่ง

แต่อาตมาไม่เหมือนคนอื่น ถ้าคนอื่นหลวงพ่อยุไปเลย ตอนนั้นอาตมาบวชได้ 7 ปีพอดี ท่านมหาบัวทองนี้เป็นรุ่นแรก ๆ ต่อมาก็มีอาจารย์คำเขียน อาจารย์บุญธรรม อาจารย์สมหมาย รุ่นนี้ไล่ ๆ กัน

หลังจากนั้นหลวงพ่อท่านให้ดูความคิด ปฏิบัติธรรมใหม่ ๆ ถ้ารู้รูป-นาม เข้าใจรูปเข้าใจนามแล้ว เกือบทุกคนจะเป็นจินตญาณ บางคนมีปีติแรง บางคนไม่แรง ถ้าเป็นอย่างนั้น หลวงพ่อท่านไม่ให้ดูความคิด ท่านให้ทำการทำงาน บางคนให้อยู่เฉย ๆ แต่ความคิดท่านไม่ให้สนใจมัน ปล่อยมันไป มันคิดแต่สิ่งดี ๆ ทั้งนั้น คิดไปเรื่องอดีตบ้าง อนาคตบ้างอะไรต่ออะไรที่จะไปสอนนั่นแหละ มันคิดขึ้นมา แต่หลวงพ่อท่านไม่ให้คิด ท่านว่าให้มันค่อย ๆ เย็นลง ๆ ให้มันสงบ หลวงพ่อท่านก็มีจิตวิทยาในการสอนเหมือนกัน ท่านมีวิธีดูจิต ดูผู้คนที่จะมาปฏิบัติ เดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร จิตดีหรือไม่ คล้ายว่ามีอะไรหรือไม่ เหมือนเดิมหรือไม่ ถ้าจิตของเรามีสภาพแบบนั้น คล้าย ๆ ไม่มีอะไร เดี๋ยวนี้ไม่รู้เห็นอะไรทั้งนั้น ท่านจึงจะให้ดูความคิด

พระพุทธเจ้าตรัสรู้บำเพ็ญเพียรทางจิต เอาสติดูจิต ดูตรงนี้ ท่านก็มาแนะให้ดูตรงนี้ ท่านบอกว่า “คิดให้รู้ แล้วก็ปล่อยรู้”

ท่านก็ให้ยกมือสล้างจังหวะ เคลื่อนไหวให้รู้สึกตัว ให้ดูความคิด ให้เห็นความคิด เท่านั้น ท่านก็หนีไปเลย

ตอนนั้นอาตมาดูความคิดอยู่ 9 วัน ได้มาเห็นปรมัตถ์ เห็นวัตถุ เห็นอาการ ตอนเย็น มาเห็นตอนนี้ จิตใจมันเปลี่ยนแปลง ตอนเห็นรูป-นาม จิตใจก็เปลี่ยนแปลงอีกแบบ ตอนมาเห็นปรมัตถ์ จิตใจก็เปลี่ยนอีกแบบ ตอนนี้อาตมากล้าแล้ว เอ้อ ! เราเป็นพระได้แล้ว เป็นเทวดาได้ พระมันอยู่ตรงนี้เอง มันไม่ได้อยู่ตรงหัวโล้น ห่มผ้าเหลือง มันอย่างนี้เอง มันเห็น

หลวงพ่อท่านสอน ใครมาปฏิบัติธรรม ก็ให้ดูจิตดูใจ ดูความคิดต่าง ๆ ถ้าจิตใจเปลี่ยนแปลงแล้วต้องรู้ต้องเห็นทุกคน อันนี้เป็นวิธีสอนเป็นวิธีถามผู้ปฏิบัติที่รู้ ที่เห็น ที่เข้าใจ ท่านถามเรา เราเป็นผู้บอกท่านเองว่าเราเข้าใจปรมัตถ์ เข้าใจวัตถุ เข้าใจอะไรก็ตาม เห็นอะไรก็ตาม ก่อนนั้นเข้าใจว่า ใครเป็นพระก็ได้ โกนหัวนุ่งห่มผ้าเหลืองมาอยู่วัด พอดีตอนนี้อ้อ ! พระยังไงก็ได้ จะเป็นผู้หญิง ผู้ชายก็ได้ นุ่งผ้าสีอะไรก็ได้ เป็นคนชาติอะไรก็ได้ ภาษาไหนก็ได้ หรือถือศาสนาไหนก็ได้ ตอนได้รูป-นามยังไม่ชัด เข้าใจแต่ยังไม่ชัด พอดีมาเข้าใจปรมัตถ์ รู้สึกมันชัดขึ้น เห็นเข้าใจอะไรละเอียดดีขึ้น

อาตมาดูความคิด จนเข้าใจปรมัตถ์ เข้าใจวัตถุ เข้าใจอะไรต่าง ๆ พอเห็นแล้ว หลวงพ่อก็แนะให้ดูความคิด ให้ดูข้ามปรมัตถ์ วัตถุอะไรต่าง ๆ มันจะมีอารมณ์เปลี่ยนอีก มีอารมณ์รับรู้เปลี่ยนอีก เราจะเห็น เห็นโลภะ เห็นโทสะ เห็นโมหะ หลังจากนั้นมันเปลี่ยนไปเลย มันรู้ มันเห็น มันเข้าใจไปตามขั้นตอนของมัน เรื่องเจ็บ เรื่องตาย เรื่องนรก สวรรค์ เรื่องทำบุญ ทำดี ทำแล้วเป็นอะไร ทำบุญด้วยกาย ด้วยวาจา แต่อาตมาไม่ได้รู้ไปแบบหลวงพ่อท่านรู้ บางทีหลวงพ่อท่านรู้เป็นขั้นเป็นตอนไป แต่อาตมาเข้าใจอีกแบบ

ตอนจิตใจเปลี่ยนครั้งที่สามนี้ไม่นาน มันเปลี่ยนไปเลย พอเห็นปรมัตถ์ เห็นวัตถุ เห็นอาการ ในขณะนั้นเห็น โมหะ โลภะ โทสะ แล้วก็เห็นไปเรื่อย ๆ เห็นศีล เห็นพวกกาม เห็นไปเรื่อย ๆ จนรู้หมด จึงไปเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าท่านสอนอะไร อาตมาอยู่คนเดียว ทำอยู่คนเดียว ไม่พูด ไม่คุย

มีอยู่วันหนึ่ง หลวงพ่อท่านอบรม ท่านพูดไปตั้งแต่ต้น เรานั่งฟังเอ๊ะ ! ทำไมมันไปตรงกับที่เราเห็น เมื่ออบรมเสร็จ อาตมาก็เข้าไปคุยกับหลวงพ่อไม่กี่คำหรอก.

ตั้งแต่นั้น สำหรับอาตมาใครจะพูดอะไร จะว่าอะไร ใครจะสอนอะไร อาตมามั่นใจว่า วิธีการที่ทำกับหลวงพ่อ ที่หลวงพ่อสอน เป็นวิธีที่ลัด เป็นวิธีที่ตรง เป็นวิธีที่ไม่เกี่ยวข้องกับพิธีรีตองอะไร คนจะได้ในสิ่งที่เขาได้ มันไม่ได้เกี่ยวกัน มาปฏิบัติอย่างนี้ เรื่องมรรคผล นิพพานที่เรากำลังสงสัย ที่เรากำลังวิ่งวุ่นแสวงหา กำลังขวนขวายหากันอยู่นี่ มันไม่ได้เกี่ยวกับการเรียน เรียนก็ได้ ไม่เรียนก็ได้ อันนี้มันคนละอย่าง อาตมาก็เลยมั่นใจ

นับตั้งแต่แยกไปปฏิบัติคนเดียว รวมระยะเวลาแล้วประมาณ 1 เดือนกับ 20 วัน จากเปลือกถึงแก่น ในวันสุดท้ายนี้ อาตมากำลังนั่ง ส่วนใหญ่อาตมานั่ง เดินก็มีบ้าง นั่งสร้างจังหวะคล้าย ๆ กับตัวเรานี่มันหมด มันอะไรไป แต่สติเรายังดี เรายังมีความรู้สึกอยู่ อาตมาคิดคนเดียวนะ

เราบ้าหรือเปล่า

เออ ! คงไม่เป็นหรอกน่า ตาเราก็ยังดู หูเราก็ยังได้ยิน การไปการมาเราก็ยังรู้ เราไม่เป็นบ้าหรอกนะ ทำไมเป็นอย่างนี้นะ

ตอนนั้นมันยังไม่รู้ พอรู้แล้ว เอ้อ...อันนี้มันไม่ผิด พระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างนี้จริง ๆ

ก็ไปคุยกับหลวงพ่อ ท่านบอก เอ้อ...อย่างนั้น ๆ แล้วท่านก็บอกว่าชาติสิ้น ภพสิ้น พรหมจรรย์จบแล้ว

เมื่อก่อนหลวงพ่อเคยพูด พระพุทธเจ้าตัดผมครั้งเดียว พระพุทธเจ้าฆ่าคน แต่เราส่วนใหญ่ไม่เข้าใจบุคลาธิษฐาน รู้ว่าตัดอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ไม่รู้ว่าตัดอะไร แต่พอเรามีประสบการณ์ จึงว่า อ้อ...อันนี้มันเป็นอย่างนี้เอง อันนั้นมันเป็นอีกอย่าง คุยกับหลวงพ่อก็ไม่ได้คุยอะไรมาก พอรู้อย่างนี้ท่านก็ปล่อยเลย

ในช่วงสุดท้ายนี่อาตมาดูความคิด ดูความคิดดูจิตใจของเรามันจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ เป็นพัก เป็นพัก เป็นขั้นเป็นตอน แต่มันต้องมีอารมณ์รับรู้ ถ้าเรารู้โดยไม่มีอารมณ์รับรู้ รู้ลอย ๆ แสดงว่ามันไม่ถูกต้องยังผิด ต้องมีอารมณ์รับรู้ไปเรื่อย ๆ เห็นไปเรื่อย ๆ เรื่องศีลสิกขาอะไรนี่ มันรู้มันเข้าใจไปหมด อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา เรื่องทุกอย่างมันรู้ไปหมด แต่อาตมาพูดอย่างหลวงพ่อไม่เป็น หลวงพ่อท่านพูดต้องเป็นอย่างนั้น ๆ แต่อาตมาเห็นคล้าย ๆ ว่ามันหลุดไปเลย แต่หลวงพ่อท่านก็เป็นอีกแบบ เป็นตอน เป็นตอนไป อาตมาก็เป็นอีกแบบหนึ่ง ทั้งหมดจิตใจเปลี่ยน 5 ครั้ง มันเร็ว มันเห็น พอดีไปถึงสุดท้าย ไปรู้ อาการเกิด-ดับ ที่หลวงพ่อเคยพูด ที่เขาพูดว่า ตามันเห็นรูป มันเกิด มันดับ มันได้ยินเสียง มันเกิด มันดับ กายสัมผัสแล้วมันเกิด มันดับ อันนั้นมันในตำรา ใคร ๆ ก็พูดได้ อันนี้มันไม่เกี่ยว มันอีกแบบหนึ่ง

อาตมาจึงกล้ายืนยัน ถ้าหลวงพ่อเสียไป อาตมาก็กล้ายืนยันว่า หลักการของท่าน วิธีการของท่าน ถ้าเราทำจริง ๆ ปฏิบัติจริง ๆ จะเป็นใครก็ได้ บวชก็ได้ ไม่บวชก็ได้ ไม่เกี่ยวกับบารมี ไม่เกี่ยวกับวาสนา ไม่เกี่ยวกับอะไรทุกอย่างเลย มันคนละเรื่องกันเลย มันเป็นอย่างนี้เอง

a8a8a8a8a8a8a8a8a8a

การฝึกแบบอุกฤษฏ์ ให้รู้สึกตัวนี้เป็นเพียงคำพูด มันเป็นการเก็บตัว ไม่พูดไม่จา ไม่พูดคุยกับใคร อยู่คนเดียวในกุฏิ การทำความรู้สึกตัวจึงจะต่อเนื่อง อันนั้นเป็นการปฏิบัติภายนอกให้คนมองเห็น แต่ว่าความรู้สึกภายในจริง ๆ แล้ว ถ้ามันต่อเนื่อง ถึงจะไม่ได้อยู่คนเดียว มันก็เป็นอุกฤษฏ์เหมือนกันนะ แต่มันก็ยากเหมือนกันนะ ทำให้ติดต่อกันตลอดอย่างนี้มันอาจจะเป็นได้ยาก แต่ถ้ามันเป็นได้ มันก็เป็นอุกฤษฏ์เหมือนกัน แต่ผู้ที่ทำไม่ยาก มันก็เป็นไม่ยาก อยู่ไหนก็ได้ ใน 100 คน อาจจะมีสักคนหรือ 10 คนก็ได้ ตอนทำใหม่ ๆ นี่ลำบากเหมือนกัน ความรู้สึกนี้มันก็ยังจับไม่ได้ ความคิดมันมาก มันยังสู้ความคิดไม่ได้ ความรู้สึกนี้มันน้อย พอทำไปนาน ๆ แล้ว ความรู้สึกมันก็ค่อยมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ใหม่ ๆ บางทีมันถอยเลย ความรู้สึกตัวเกิดยาก

ตอนที่ฝึกกับหลวงพ่อตอนแรกนั้น ก็ออกมาเดินนอกกุฏิบ้างเหมือนกัน พอตอนช่วงท้าย ๆ ตอนมาเก็บอารมณ์คนเดียวนั้น ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในห้องกุฏิ ไม่ออกมา การฝึกก็ใช้อิริยาบถเดินมากกว่านั่ง วันหนึ่งในขณะที่นั่งทำความรู้สึก นั่งทำความเคลื่อนไหว นั่งกำหนดอยู่ ในขณะนั้นคล้าย ๆ ว่า มันเร็วมาก คล้าย ๆ มันเพียงแว่บเดียว มันไว เหมือนกับฟ้าแลบลงมา สมมติถ้าเอาคำพูดของหลวงพ่อมาพูด ก็เรียกว่า ธรรมะอึดใจเดียว

ในช่วงนั้นคล้าย ๆ เรามีอะไรหนัก ๆ อยู่นี่ แล้วเราถอดออกไป เราโยนทิ้งออกไป ตัวของเรามันเบา เรารู้ว่ามันเบา เพราะเราไม่เคยสัมผัสมาก่อน เราไม่เคยมีประสบการณ์อย่างนี้มาก่อน เรารู้สึกว่ามันแตกต่างกัน แต่สติมันมี ตัวสติมันอยู่ มันไม่ออกไป มันรู้เลยว่าเบาไป สติอันนี้ก็จะคงที่อยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งการหลับก็รู้

การเจริญสติ อันนี้ ถ้าสมบูรณ์ดีแล้ว ความฝันเวลาหลับก็จะน้อยลง ๆ หรือบางทีอาจจะไม่มีเลยก็ได้ ธรรมดาคนเราความคิดมันมาก แต่ถ้าเราเจริญสติไป ๆ ความคิดมันก็น้อยลง ๆ ในตำราเขาว่า พระอริยเจ้าหรือผู้รู้ผู้มีสติปัญญาแล้วไม่ฝัน เขาว่า อันนี้เราเอาตำรามาพูด เหมือนกับกลางวันฝันกลางคืนคิด ในฝันนั้นก็รู้ คือคล้าย ๆ กับความคิดนี่ เรารู้เราเห็น เราเข้าใจอันนี้เราจึงรู้ในขณะที่มันฝัน

การเจริญสติโดยการยกมือไปมานี้ ถ้าเราไม่สะดวกที่จะยกมือ เราก็จับการเคลื่อนไหวอย่างอื่น เช่นพริบตา หายใจ อะไรก็ได้ มันทำได้หลายวิธี มันเป็นสากล เอาไปประยุกต์ใช้กับหน้าที่การงานได้ แต่ที่สำคัญคือให้รู้ รู้ในขณะนั้น รู้ในตัวเรานี้เอง เราเคลื่อนไหว เราจะจับเอาที่ไหน จะจับอะไรให้รู้อย่างนั้น เราต้องเอาที่ใดที่หนึ่ง จุดใดจุดหนึ่ง ถ้าเราไม่มีจุดใดจุดหนึ่ง มันจับไม่ถูก ไอ้ตัวรู้นี้สำคัญที่สุด ถ้าจับที่ใดที่หนึ่งแล้ว ส่วนอื่นเคลื่อนไหวก็ต้องรู้อยู่ดี เพราะมันสัมพันธ์กัน หากเกิดภายใน ถ้าทำงานแล้วมันรู้ ถ้าเป็นไฟฟ้าเปิดแล้วมันก็พรึ่บไปเลย มันทำงานพร้อมกันไปเลย มันโยงกันนะ คล้าย ๆ เชือก ถ้าเราตัดอันนี้ มันกระตุกหมดเลย

เราควรฝึกจิตของเราให้อยู่กับความรู้สึก ดูความคิดของเรา มันจะคิดก็ช่างมัน ไม่ใช่ว่าไม่ให้คิด คิด แต่ก็ต้องให้ดูมันนะ เป็นผู้ดูอย่างเดียว ให้เราดูไปเรื่อย ๆ แล้วก็ปล่อย พยายามฝึกอย่างนี้ไป มันจะค่อย ๆ เลื่อนไป ๆ จนถึงจุดนั้น

อันธรรมทั้งหลายมีเหตุเป็นแดนเกิด จะเกิดก็เพราะเหตุ จะดับก็เพราะเหตุ พระเราก็สอนกัน แต่เราไม่รู้เหตุของมันเลย พระท่านสอนกัน “เหตุปจฺจโย อารมณปจฺจโย อธิปติปจฺจโย” มันหมดเหตุ หมดปัจจัย ไปไหนก็ไม่รู้ ไม่มีใครตามเห็นสักคน รู้ก็ตามไม่เห็น ไม่รู้ก็ตามไม่เห็น ตรงนี้ถ้าเราบอกว่าจบ อันนี้ไม่ได้นะ คนไม่รู้เลย อันนี้คล้าย ๆ กับเป็นการส่งเสริมให้คนทำชั่วมากขึ้น เป็นการทำความเข้าใจผิดให้กับบุคคลที่ยังไม่เข้าใจเพิ่มขึ้นอีก ฉะนั้นอุบายในการสอนนี้มันจึงแยบคาย อย่างที่เราคุยกัน

หลวงพ่อท่านพูดว่า ไม่มีการไป ไม่มีการมา ก็พูดได้แค่นี้แหละ เราจะบอกว่าตายแล้วไม่เกิด มันหมดเรื่องกันเท่านั้นเอง คนก็ไม่ทำอะไรเท่านั้นเอง เขาว่ามันเป็นมิจฉาทิฐิ คนทำดีไม่ได้ดี ทำบุญไม่ได้บุญ นรกไม่มี สวรรค์ไม่มี เป็นคำสอนผิด ไม่มีการไป ไม่มีการมา ให้คิดเอาเอง คิดได้ก็ได้ คิดไม่ได้ก็ไม่ได้ หรือศึกษาเอาเอง ให้รู้เองเป็นเอง หรือว่าให้รู้เอง เห็นเองจะดีกว่า คนอื่นเขาจะพูดอะไรก็ช่างเขา แต่ให้เรารู้เองเป็นเองดีกว่า สบายใจ

เรามีอย่างนี้ เป็นอย่างนี้ เราก็สบาย เขาอยากไปเกิดก็ให้เขาไปเกิดกัน เราไม่ไปไหนมาไหน เราอยู่ที่นี่ จริง ๆ แล้วคนเราถ้าเข้าใจเรื่องการจะหมดชีวิตจริง ๆ แล้วมันสบาย ทุกอย่างมันทำง่าย สบาย

แต่เดี๋ยวนี้คนเรานี้ ไม่เข้าใจ ก็ทำด้วยความไม่เข้าใจ ทำแบบไม่รู้ ถ้าทำแบบผู้รู้ก็ทำอีกแบบหนึ่ง ผู้รู้มันมี แต่ผู้ที่ไม่รู้ ถึงทำอยู่ก็ยังไม่รู้ ทำอยู่ก็ยังไม่แน่ใจ แล้วก็ไม่มั่นใจอีกด้วย แต่ผู้รู้แล้วยังไงก็มั่นใจ ทำก็มั่นใจ ไม่ทำก็มั่นใจ เพราะรู้แล้วนี่ ทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ มันง่าย ๆ

จริงแล้ว พระพุทธเจ้าสอนให้ทำง่าย ๆ ถ้าเราไปถึงจุดนั้นจริง ๆ พระพุทธเจ้าท่านสอนง่าย ๆ จนไม่มีอะไรที่จะพูดเลย หรือจนไม่มีอะไรที่จะสอนกันเลย จะให้เอาอะไร ไม่มีอะไรที่จะเอา พูดง่าย ๆ พระพุทธเจ้าท่านสอนให้หยุดใช่ไหม ท่านสอนคน สอนให้หยุดนี่ แต่คนเราไม่หยุด ไม่ยอมหยุด ถ้าหยุดแล้วมันก็หมด ไม่มีอะไร แต่ร่างกายก็ยังไปได้อยู่ ยังทานอาหาร ยังทำหน้าที่ปฏิบัติอะไรต่ออะไรได้อยู่ ร่างกายก็ยังเคลื่อนไหว แต่ภายในมันนิ่งอยู่ มันไม่เอาแล้วใช่ไหม มันเย็นแล้ว มันหยุดแล้ว มันพอแล้ว เราจะบอกว่ามรรคผลนิพพานก็ได้ อะไรก็ได้ ไม่มีการเกิด ไม่มีการตาย ไม่มีการแก่ ไม่มีการเจ็บ ไม่มีการไป ไม่มีการมา มันเป็นคำสมมุติคำพูดมันกว้างออก ขยายออกไป

ฉะนั้นขอให้พวกเราทั้งหลายจงฝึกให้เป็น เตรียมพร้อมไว้ก่อน พยายามทำสิ่งที่มันมีอยู่แล้วให้ปรากฏออกมาเสียก่อน เมื่อถึงเวลาที่มันจะหมดลมหายใจจริง ๆ มันก็จะง่ายจริง ๆ

วันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2557

วิ่งหาแก่นธรรม ตอน 2

20140223_083000เมื่อกาลออกพรรษามาถึง ก็ได้เวลาแพ็คย่ามบาตรขึ้นหลัง ออกเดินทางเสาะแสวงหาวิโมกขธรรม ครั้งนี้มิได้หวังไปสงเคราะห์ผู้อื่น หากแต่หวังไปสงเคราะห์ตนเอง หวังจะเป็นพระโดยบริบูรณ์กับเขาบ้าง ทราบมาว่าเขามีการเดินรุกขมูลเข้าไปในป่าห้วยขาแข้ง มีปลายทางหลายที่เช่น อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร อ.อุ้มผาง จ.ตาก หรือเลยไปถึงพม่าก็มี (ปกติมือใหม่นี่เขาจะไปแค่ อ.บ้านไร่กัน เพราะใกล้ที่สุด โหดน้อยที่สุด) ซึ่งจะมีพระรุ่นพี่ผู้มีประสบการณ์พาไปเป็นทีม ทีมละ ๕ รูปบ้าง ๑๐ รูปบ้างตามแต่อัธยาศัย และสไตล์ที่ชอบ มีทั้งแบบอึดมหาโหด เดินโลดตั้งแต่เช้าจรดเย็น หรือเดินแบบมิโหมหัก เหนื่อยนักก็พักก่อน โดยจะมีการแพ็คข้าวสาร อาหารแห้ง เข้าไปอย่างเพียงพอ สำหรับการอยู่ป่าหลาย ๆ วัน โอกาสเช่นนี้มิได้มีทั่วไป มิใช่เป็นพระแล้วอยากจะเข้าป่าเมื่อไหร่ก็เข้าได้

ปัจจุบันกรมป่าไม้เขาไม่ได้อนุญาตให้พระเดินดุ่ย ๆ เข้าป่า ด้วยพระรุ่นพี่ไปทำงามหน้าไว้ก็มาก เขาจึงจัดระเบียบไว้เข้มพอสมควร ในป่ามีอะไรหนอ ทำไมแต่สมัยพุทธกาลมาแล้ว เขามักไปได้ดีกันในป่า กระทั่งครูบาอาจารย์สายพระป่าอย่างหลวงปู่มั่น หลวงปู่เทศก์ หลวงปู่ชา ในยุครัตนโกสินทร์นี้ ก็ล้วนแล้วแต่ ได้ดีจากการธุดงค์เข้าไปในป่า

มิใช่ว่าอาตมาเห่ออยากจะเลียนแบบครูบาอาจารย์ แต่เปลือกรูปแบบ สักแต่ว่าเข้าป่าเท่านั้น ครั้งนี้ตั้งใจเพียงจะไปดูว่าเขาเดินกันอย่างไร ลำบากแค่ไหน ต้องรู้อะไรบ้าง เขาทำกำลังใจกันอย่างไร ทั้งนี้ก็เกรงอยู่ว่า ถ้าได้เดินธุดงค์เดี่ยวในอนาคต (ตามที่ฝันไว้) จะไปเดินสะดุด ต้นผักชีป่าตาย จะเสียชาติเกิดไปเปล่า ๆ ฟรี ๆ ให้เขาประณามได้ว่าขาด อิทธิบาท ๔ ข้อวิมังสา หาได้มีการใคร่ครวญ ในกิจการงานไม่ (อิทธิบาท ๔ = คุณธรรมที่ทำให้ถึงความสำเร็จ ได้แก่ ฉันทะ-ความพอใจ, วิริยะ-ความเพียร, จิตตะ-มีใจจดจ่อ, และวิมังสา-การใคร่ครวญพินิจพิจารณา) เหล่ารุกขเทวดาในป่าเขา จะพากันขำท้องคัดท้องแข็ง ว่าเจ้านี่มันโง่ระดับจักรวาล เห็นเขาธุดงค์กัน ก็จะเอาบ้าง เห็นช้างขี้ จะขี้ตามช้าง ไม่พึงสังวรในสังขารเจียมบอดี้กับเขาเลย เมื่อพิจารณาดีแล้วก็มาตรวจกำหนดการ ชะอุ๋ย... เขาเข้าป่ากันวันที่ ๕ ธันวาคม ตรงกับงานธุดงควัตรที่วัดท่าซุงเลย เลยต้องตัดใจไปอย่างน่าเสียดาย

ก่อนจะเข้าร่วมงานธุดงค์ที่วัดท่าซุง ทางหลวงพี่สมปองจัดขึ้นไปบวงสรวงที่พระธาตุดอยตุง และพระธาตุจอมกิตติ ที่ จ.เชียงราย ทีแรกก็ว่าจะไม่ไป เพราะโปรแกรมสุดทรหด นั่งรถกัน โรคริดซี่กำเริบเลย ออกเดินทางแต่ตี ๑ ไปถึงราว ๔ ทุ่ม เห็นเขาว่า พระธาตุทั้งสองนี่ ไปอธิษฐานขอพรเรื่องมรรคผล จะได้เร็วเป็นพิเศษ ฟังแล้วหูผึ่ง ไปครับไป(สัทธาจริตกำเริบ) สงสัยเทวดาที่ท่านรักษาอยู่ จะเป็นพระอริยเจ้า กระมัง ไปฝากฝังตัว เผื่อท่านจะมานิมิต สอนกรรมฐานให้มั่ง

พิธีบวงสรวงที่เจดีย์พระธาตุดอยตุงแต่ตี ๔

ภาพบายศรีบวงสรวงที่เจดีย์พระธาตุจอมกิตติตัวเจดีย์พระธาตุ (ข้างหลัง) กำลังบูรณะ

งานที่วัดท่าซุงก็ยิ่งใหญ่อลังการเช่นเคย มีพระเข้าร่วมงานธุดงค์เกือบห้าร้อยรูป โยมมางานนี้แค่ใส่บาตร ก็เหนื่อยแล้ว ระหว่างที่ร่วมงานก็มีโอกาสได้ฟัง “๗ เดือน บรรลุธรรม” ของดังตฤณ (จากเครื่องเอ็มพีสาม ที่เอาไปเอง) ซึ่งเร้าการปฏิบัติได้ดีมาก บังเกิดความวิริยะขึ้นมาว่า นี่ขนาดเขาเป็นฆราวาส มีภาระ หน้าที่ การงาน ต้องทำเป็นปกติ ยังสามารถบรรลุธรรมได้ขนาดนี้ เราเองอุตส่าห์สละบ้านเรือน ญาติพี่น้อง ผองเพื่อนทั้งหมด กลับยังเดินต้วมเตี้ยมอยู่ ซึ่งความจริงก็ทราบมาแต่พรรษาแรกแล้วว่า เรื่องการบรรลุมรรคผล นี่พยากรณ์กันไม่ได้ บุญบารมีเดิมทำมาไม่เสมอกัน ดูพระพาหิยะซี พระพุทธเจ้าตรัสเทศน์เพียงว่า เห็นรูปจงสักแต่ว่าเห็นรูป แค่นี้บรรลุ อรหัตตผล ส่วนพระอานนท์นั้นเล่า ติดตามอุปัฏฐากอย่างใกล้ชิดมาตลอด ๔๕ ปีก็ยังไม่ได้บรรลุ อรหัตตผล แต่อย่างใด ได้เพียงโสดาปัตติผล (พระอริยเจ้า=พระอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป นับเรียงตัวมี ๘ บุคคล ได้แก่ พระโสดาปัตติมรรค พระโสดาปัตติผล พระสกทาคามีมรรค พระสกทาคามีผล พระอนาคามีมรรค พระอนาคามีผล พระอรหัตตมรรค พระอรหัตตผล) แต่อ่านแล้วจิตใจมันฮึกเหิม (สมัยอ่านหนังสือหลวงพ่อ จิตใจมันก็ทแกล้วกล้าเหมือนกัน ครั้นนานไปก็พบว่า บารมีท่านมากมายเหลือเกิน จนไม่อาจเทียบกันได้ การปฏิบัติจริง มักจะไม่ง่ายเหมือนในหนังสือ ต้องใช้เวลาเป็นปี ๆ)

มาสะกิดใจ เอาตอนท้ายของหนังสือที่เอา มหาสติปัฏฐานสูตร มาอ่านให้ฟังว่า จิตเป็นฌาน ก็รู้ชัดว่าจิตเป็นฌาน โอ้หนอ... ฝึกฌานไปสุดท้ายก็ต้องมาจบท ี่มหาสติปัฏฐาน ๔ (ก่อนหน้านี้เข้าใจว่าแนวการปฏิบัติที่เป็นที่นิยมกัน ในปัจจุบัน จะมี ๒ แนวหลัก ๆ คือแนว วิสุทธิมรรค และแนว มหาสติปัฏฐาน แนว วิสุทธิมรรค คือแนวที่เน้นฌานสมาบัติ ทำให้สามารถแสดงฤทธิ์ได้ เป็นแนว เตวิชโช ขึ้นไป ส่วนแนว มหาสติปัฏฐาน คือแนวที่เน้นการฝึกสติ ให้เกิดปัญญา ไม่เน้นฌาน ทำให้ไม่สามารถแสดงฤทธิ์ได้ เป็นแนว สุกขวิปัสสโก (หลักสูตรในพุทธศาสนามี ๔ แนว สุกขวิปัสสโก ๑-ไม่มีฤทธิ์, เตวิชโช ๑-มีฤทธิ์ทางใจ, ฉฬภิญโญ ๑-แสดงฤทธิ์ได้ทุกอย่าง และ ปฏิสัมภิทัปปัตโต-แสดงฤทธิ์ได้ทุกอย่าง และมีความแตกฉานในธรรม เป็นกรณีพิเศษ)20140305_091012

แท้จริงแล้ว ขึ้นต้นเป็นมะลิซ้อน พอแตกใบอ่อนเป็นมะลิลา จะไปฝึกอะไรจะเริ่มจากตรงไหน สุดท้ายต้องมาจบที่ มหาสติปัฏฐาน) แล้วแนว มหาสติปัฏฐาน ก็หาใช่แนวที่ไม่มีฤทธิ์ไม่มีญาณ มีเสมอกัน ของอย่างนี้มันขึ้นกับ “ของเก่า” พระรูปหนึ่งท่านให้ข้อคิดว่า ดูพระโมคคัลลา พระสารีบุตร ซี ปฏิบัติ ๗ วัน ๑๕ วันสำเร็จ มีตอนใดบ้าง ที่พระพุทธเจ้าสอนเรื่องฌาน เรื่องฤทธิ์ ท่านสอนให้ตัดกิเลส ตัดขันธ์ ๕ ทั้งนั้น พอตัดได้ปุ๊บ ของเก่า มาตูมเลย ฉะนั้นไม่ต้องไปกังวลเวลาปฏิบัติถึงแล้ว ของเก่าจะได้คืนมาเอง แม้ในพระไตรปิฎก ก็มีเขียนไว้ว่าทิพยจักขุญาณ และญาณทั้งหลายจะเกิดขึ้นเอง เมื่อผู้นั้นมีธุลีในดวงตา (กิเลส) เบาบางลง นี่ยังไม่เกิดแสดงว่ายังเป็น พระกิเลสหนาอยู่

 edit @ 17 Oct 2008 15:10:53 by Dhammasarokikku

ตามหาแก่นธรรม 3

20131019_114543เหมือนฟ้าเป็นใจ ก่อนเข้าป่าห้วยขาแข้ง พระทั้งหลายเขาไปร่วมงานปริวาสกรรม เพื่อชำระศีลกันที่ วัดปากลำขาแข้ง อุโบสถวัดนี้แปลกดี หุ้มด้วยสแตนเลสทั้งหลัง ซึ่งเวลาออกปริวาส ก็มาบรรจบกับ เวลาการลาสมาทานธุดงค์ที่วัดท่าซุงพอดี ออกจากวัดท่าซุงแล้ว อาตมาจึงรีบไปสมทบ กับคณะพระเดินป่า จึงได้เดินรุกขมูลสมใจนึก ออกจากวัดท่าซุงวันที่ ๑๓ ธันวา โทรไปถามเขาว่า ออกปริวาสกันวันที่ ๑๕ ยังพอมีเวลา เลยแวะไปหาหลวงตาพวงก่อน ไปถึงอารามดีใจ ที่ไม่ได้เจอท่านเสียเกือบปี คุยกันนานสองนาน พอหมดเรื่องสารทุกข์สุกดิบ ก็เข้าเรื่องของการปฏิบัติ จากการเข้าปฏิบัติกรรมฐานที่วัดท่าซุง ก็เกิดความกังวลขึ้นว่า หลัง ๆ ไปชอบฟังธรรมะเสียเยอะ ฟังไม่เลือกสาย ไม่เลือกค่าย ถ้าเป็นธรรมะฟังได้หมด ฟังได้นาน ฟังไม่เบื่อ แต่พอให้นั่งสมาธินี่ ทำไมมันนั่งได้น้อยจัง นั่งแล้วทรมานด้วย นิ่งได้สัก ๑๐ นาที นานกว่านั้นมันฟุ้ง จนต้องเอาธรรมะขึ้นมาฟังต่อ อย่างนี้ฌานจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ทั้งที่สมัยบวชใหม่ ๆ นั่งสมาธิได้นานที่สุดถึง ๑ ชั่วโมง นี่ปฏิบัติไป มันถอยหลังลงคลองหรือเปล่า

ท่านก็แนะว่า ก็อารมณ์ใจ ที่ฟังธรรมะรู้เรื่องนั่นไม่ใช่สมาธิรึ สมาธิคือจิตตั้งมั่น ถ้าไม่มีสมาธิ มันฟังไม่รู้เรื่องหรอก ก็ยังสงสัยต่อไปอีกว่า ก็ในเมื่อยังฟังเสียงธรรมะรู้เรื่องนี่ อย่างเก่งมันก็ไปแค่อุปจารฌาน หรือ ปฐมฌาน อย่างมากไม่เกิน ทุติยฌาน (ฌานที่สูงกว่านี้ มักจะฟังไม่รู้เรื่อง จะเอาแต่สงบท่าเดียว จนถึงขั้นหูไม่ได้ยินเสียงคือ จตุตถฌาน) ก็ในเมื่อ สังโยชน์ (สิ่งที่ต้องละ ๑๐ ประการเพื่อบรรลุเป็นพระอริยเจ้า) นั้นต้องละเสียซึ่ง รูปราคะอรูปราคะ - ความพอใจในอรูปฌาน (รูปฌานคือฌาน ๑-๔, อรูปฌานคือฌาน ๕-๘ รวมเรียกว่า สมาบัติ ๘) ซึ่งเป็นกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในใจ ถ้าไม่เคยได้ฌาน จะทราบได้อย่างไร ว่าไม่ติดฌาน ท่านก็วิสัชนาว่า ไอ้ฌานทั้งหลายนี่เวลาได้แล้ว เขาก็ต้องถอยออกมาที่ อุปจารสมาธิ มาพิจารณาจนเกิดปัญญา ไอ้ที่ว่าต้องได้ฌาน ๔ นี่ก็เพราะเวลาถอยออกมา จิตมีสภาวะ ปลอดกิเลส เนื่องมาจากกำลังของฌาน (ถอยออกจากฌานใหม่ ๆ กิเลสยังไม่ทันมีโอกาสแทรกได้) กิเลสมันถูกกดทับไว้หมด (อุปมาชีวิตประจำวันนี่ เหมือนการขับรถฝ่าฝน กิเลสเปรียบเหมือนฝน เหมือนโคลน ทำให้มองอะไรไม่เห็น การเจริญพระกรรมฐาน อย่างต่อเนื่อง เปรียบได้กับใช้ก้านปัดน้ำฝน แม้ไม่ใสปิ๊ง แต่ก็พอจะมองเห็นอะไรตามความเป็นจริง กำลังของฌาน ๔ เปรียบได้กับเอารถไปเข้าคาร์แคร์ ถอยออกจากคาร์แคร์มาใหม่ ๆ มันสดใสเห็นอะไร ๆ ชัดเจน แต่พอสักพัก ก็หมองเหมือนเดิม) ทีนี้อีตอนที่จิตมันว่างจากกิเลสนี่ ปัญญามันเกิดง่าย เขาเลยแนะนำให้ทำ แต่ตัวหลุดพ้นจริง เป็นตัวปัญญาที่เห็นความจริงในขันธ์ ๕ ว่ามันเป็น ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ที่เขาเรียกกันว่าวิปัสสนา ตรง วิปัสสนา นี่ไม่จำเป็นต้องทำให้ถึงฌาน ๔ และธรรมะของหลวงพ่อ แทบทั้งสิ้นก็จะลงท้ายด้วย วิปัสสนา เช่นนี้ถ้าเอาจริงเอาจัง ฟังไปเรื่อย ๆ แล้วคิดตาม ก็บรรลุได้เหมือนกัน ถ้าชอบปฏิบัติอย่างไหน ก็เอาอย่างนั้น ทำให้มาก ทำให้มันสุด ๆ ไปเลย - ความพอใจในรูปฌาน

โอ้โห.... เชื่อไหมว่าขนลุกวูบ ๆ หลายรอบ ไม่รู้ว่าใช่ ปีติ หรือเปล่า แต่ตอนนั้นมันบังเกิด ความมั่นใจในการปฏิบัติมาก สิ่งที่ท่านบอกมามันก็เหมือน ๆ กับที่ทราบมานั่นแหละ แต่พอท่านยืนยันแล้ว มันมั่นใจอย่างบอกไม่ถูก พอไปนั่งสมาธิ มันทำท่าจะเข้าฌานง่าย ๆ ซะงั้น มานั่งพิจารณาแล้วพบว่า นี่ละคือ ๑ ใน ๕ ทหารเสือ นิวรณธรรม (เครื่องกั้นจิตจากความดี) ที่ชื่อ“วิจิกิจฉา”หรือ “ความลังเล สงสัยในผล ของการปฏิบัติ” ฟังดูเผิน ๆ ก็นึกว่าเราไม่มี ก็ตอนนั่งสมาธิ มันสนใจอยู่แค่ลมหายใจ มันจะไปสงสัยอะไร ที่ไหนได้ไอ้ความสงสัยน ี่มันซ่อนอยู่ลึก ๆ ในใจ ทำให้ไม่มีความมั่นใจในการปฏิบัติ ผลก็ไม่เกิด พลางนึกถึงตอนที่พระพุทธเจ้า เสด็จไปโปรด เปสการีธิดา ในเมืองอาฬวี ในพระไตรปิฎกเขียนว่า พระองค์ทรงแผ่พระพุทธญาณไปในเวลาเช้า พบว่าเธอจะตายในบ่ายวันนี้ ถ้าตถาคตไม่ไปช่วย เธอจะมีคติไม่แน่นอน (อธิบายว่า คติไม่แน่นอนคือ มีที่ไปไม่แน่นอน) ถ้าตถาคตไปโปรด ตรัสถามปัญหาเธอ ๔ คำถาม สาธุการยืนยัน ๔ ครั้ง คติเธอถึงจะแน่นอน คือไปสวรรค์ ที่ว่าคติแน่นอน ก็คือความมั่นใจนี่เอง พระพุทธเจ้าสาธุการยืนยันว่า เธอคิดถูกแล้ว เธอคิดดีแล้ว จึงบังเกิดความมั่นใจ บรรลุ โสดาปัตติผล อีกประการหนึ่งก็คือ เราเรียนทฤษฎีมากไป พอปฏิบัติจริงไม่ได้อย่างในหนังสือ ก็เกิดความลังเลสงสัย ยิ่งมามั่นใจเพิ่มขึ้นอีก หลังจากได้ฟังเทป การฝึกอารมณ์ ให้เข้าถึงความเป็นพระอริยะแนว สุกขวิปัสสโก จากหลวงพ่อว่า แนว สุกขวิปัสสโก นั้นไม่เน้นฌาน ท่านจะอยู่กับอารมณ์คิดเสียเป็นส่วนใหญ่ คิดจนเกิดปัญญา หลุดพ้นด้วยปัญญาวิมุตติ ซึ่งตรงกับที่หลวงตาบอก ครั้นอยู่กับหลวงตาได้ ๒ วันก็ลาไปเข้าป่า

20131109_080615วันที่ ๑ หลังจากกบดาลอยู่ที่วัดปากลำขาแข้งอยู่หลายวัน เนื่องเพราะมีผู้ส่งข่าวมาว่า ทางเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เขาไม่อนุญาตให้พระเดินเข้าไปในป่า หากเขาไปพบเขาจะเชิญออกจากป่าแน่นอน คณะเดินป่าราว ๒๐ รูป จึงได้แต่นั่ง ๆ นอน ๆ ดูละครไปวัน ๆ อยู่ที่วัดปากลำฯ รอจนเจ้าหน้าที่ ป่าไม้ตายใจ จะได้ย่อง ๆ เข้าป่าไป พอเขาเผลอพวกเราคณะ ๘ (มี ๘ รูป) ก็ใช้วิชาตัวเบา เข้าป่าอย่างเงียบเชียบ ก่อนจะเข้าป่า คณะของอาตมาที่มาด้วยกัน ๔ รูป ได้ทราบกำลังใจของอีก ๔ รูปที่เพิ่งมาเจอกันที่วัดปากลำฯว่า เขาจะสมาทานธุดงค์กันอย่างเข้มข้น ไม่มีการแพ็คอาหารแห้งเข้าป่า (พระธุดงค์เขาไม่พกอาหารไปกัน) พวกเราเลยอาสา แบกอาหารแห้งไปเผื่อ (เลยหนักเป็น ๒ เท่า) เพื่อใส่บาตร ให้เขาได้อานิสงส์สมาทานธุดงค์ กันแบบเต็ม ๆ พวกเราจะยอมต้องอาบัติสะสมอาหารกันเอง การเดินในวันแรกก็เหน็ดเหนื่อยกันพอควร ด้วยสภาวะร่างกาย ยังไม่ปรับตัวเต็มที่ ให้รับกับการแบกสัมภาระ ซึ่งก็หนักพอดู อาตมาโชคดีที่ฝึกตน ด้วยการเดินบิณฑบาตตอนเช้าวันละ ๖-๗ กม.ทุกวัน ย่ามบิณฑบาต ก็หนักพอ ๆ กับสัมภาระนั่นแหละ เลยไม่ค่อยเหนื่อยเท่าไหร่ เมื่อการเดินกะแรก มาสิ้นสุดที่น้ำตกแห่งหนึ่ง (น้ำตกสูงประมาณ ๒.๕ เมตร มีน้ำไหลกระปริดกระปรอย) ก็ลงหลักปักฐานที่มั่น ก่อกองไฟเพื่อต้มน้ำสำหรับฉัน และหุงข้าวในวันรุ่งขึ้น ราวห้าโมงก็ ร่วมกันทำวัตรเย็น เป็นการเริ่มต้นที่งดงาม ชื่นใจเป็นที่สุด พอทำวัตรเสร็จ ก็มานั่งเสวนาธรรมกัน รอบกองไฟ

หนึ่งในสี่รูปที่จะสมาทานธุดงค์ก็เปิดประเด็นด้วยคำถามที่ว่า เราเข้ามาธุดงค์กันทำไม ไม่ได้มาเดินเอาเท่ เอาลาภ เอายศ เอาสรรเสริญ เรามาเดินธุดงค์กันเพื่อละ สักกายทิฏฐิ (สังโยชน์ตัวแรก) หรือความรู้สึกว่า เป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นของเรา เรามาตั้งใจปฏิบัติเพื่อความดีกัน ตามแนวที่พระพุทธองค์ ทรงสอนไว้ ว่าให้มีศีล สมาธิ ปัญญา เรามาปฏิบัติกันเพื่อมรรคผลนิพพาน และแนวการปฏิบัติเพื่อให้ บรรลุมรรคผล นั้นก็คือมรรคมีองค์ ๘ การที่พวกท่านแบกข้าวสารอาหารแห้งเข้ามาเดินธุดงค์นี่ท่านหวังอะไรกัน มรรคมีองค์ ๘ ข้อหนึ่งคือ สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพชอบ อาหารที่พกเข้ามาค้างคืนแล้วก็ขาดประเคน ฉันเข้าไป ก็ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกคำกลืน มันเป็นการเลี้ยงชีพชอบตรงไหน เมื่อมรรคไม่มี ผลมันจะเกิดได้อย่างไร อาหารที่ว่าพวกท่านจะใส่บาตรผมตอนเช้าหน่ะ ผมไม่เปิดบาตรรับนะ โดนหมัดชุดเข้าอย่างนี้ก็มึนไปเลย ด้วยวิสัยการแสดงธรรม ที่คล่องแคล่วแตกฉาน แสดงได้ตรงจุด ตรงประเด็นเช่นนี้ ก็ทราบได้เลยว่าพระรูปนี้ มิใช่ธรรมดา ซึ่งก็เปิดเผยให้ทราบ ในเพลาต่อมาว่า ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดถ้ำหมีนอน อ.แกลง จ.ระยอง ด้วยวัย ๓๐ กว่าๆ บวชมา ๑๐ กว่าพรรษาเท่านั้น การแสดงธรรมของท่าน ได้เร้าให้คณะเรา ๒ รูป ปลงใจสมาทานธุดงค์ กับเขาด้วย พรุ่งนี้เขาจะไป บิณฑบาตกับต้นไม้กัน (การสมาทานธุดงค์มีข้อหนึ่งคือ ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร) การสนทนายังดำเนินไปอย่างเผ็ดร้อน เร้าการปฏิบัติอย่างยิ่งว่า คนเราอดข้าว ๗ วันไม่ตายหรอก นี่เราเดินกันไม่เกิน ๗ วันก็ทะลุป่าแล้ว เจอฆราวาสให้เขาประเคน แค่นี้ศีลก็บริสุทธิ์แล้ว จะมามัวห่วงใย ขันธ์ ๕ เกินไปทำไม ต้องทำให้เห็นว่า มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ถ้ายังยอมละเมิดศีล เพื่อรักษาชีวิตเช่นนี้ เมื่อไหร่ จะได้มรรคได้ผลเล่า มันต้องยอมตายดีกว่าศีลขาดซี จึงจะตรงตามที่ ครูบาอาจารย์สั่งสอนมา ท่านพูดจน อาตมาเคลิ้มคิดว่า ถ้าพรุ่งนี้เขาบิณฑบาตกับต้นไม้กันหมด อาตมาก็จะเอากับเขาด้วย

อย่างไรก็ตามหลวงพี่เอ (สหธรรมมิกของอาตมาเมื่อปีกลาย) ผู้คล้ายเป็นผู้นำในการเดินป่าครั้งนี้ เพราะเคยมาเดินแล้ว กลับแสดงความเด็ดเดี่ยวออกมาว่า อย่างไรก็จะฉันแม้จะต้องอาบัติ ไว้เมื่อท่านออกเดินรูปเดียวแล้ว ถึงจะสมาทาน ปฏิบัติตามที่พระอาจารย์แนะนำ ซึ่งอาตมาทราบมาว่าหลวงพี่เอนี้ ก็ฝึกสมถะมาอย่างโหดเหมือนกัน เรื่องการอดข้าว ๗ วัน นี่เป็นเรื่องเด็ก ๆ เบเบ๋สำหรับท่าน ก็ไม่ทราบด้วยเหตุผลกลใด ท่านถึงไม่ร่วมการปฏิบัติอันเข้มข้นนี้ จะเป็นด้วยท่านตั้งใจจะบริโภค เพื่อฉลองศรัทธาญาติโยม ที่เขาถวายข้าวสารอาหารแห้งมา หรือจะเป็นด้วยท่านเห็นถึง ความยากลำบากของหนทางข้างหน้า ก็สุดจะทราบ ทราบแต่ว่าอาตมาก็จะฉันเป็นเพื่อนท่าน เพราะแต่แรกก็ตั้งใจมาดูลาดเลาเท่านั้น หลวงพี่เอจะได้ไม่ต้องอาบัติอย่างเหงาหงอยเพียงรูปเดียว (เฮ้อ... ข้ออ้างฟังเข้าท่าไหม จริง ๆ แล้วก็เลวอยู่ดี จงใจต้องอาบัตินี่หลวงพ่อเรียกว่า ใจด้าน เลวกว่าหน้าด้านอีก)

ขณะกำลังเสวนากันเรื่องจิตตานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน (การฝึกสติโดยการรู้จิต เป็นอารมณ์)พลันก็มีเสียงแมวใหญ่ร้องอยู่ใกล้ ๆ แว่วมาในความมืด พร้อมกับมีบางคนสังเกตเห็นมีอะไรบางอย่าง วิ่งไปมาใกล้กับสถานที่ที่เรานั่งคุยกัน ไม่มีใครกล้าทักว่านั่นเสียงอะไร อาตมารีบเช็คใจตนเอง (เพราะตรงกับเรื่องที่กำลังคุยกัน) ปรากฏว่ามันแสดงอาการกลัวอย่างเห็นได้ชัด นี่แหละน้าคนเรา เวลาไม่เจอของจริง ก็ปากกล้าว่าข้านี้ไม่กลัวตาย พอเจอของจริงก็ขี้หดขึ้นไปอยู่บนสมอง เวลาเดินออกจากกลุ่ม ไปชิ้งฉ่อง ก็ต้องสาดไฟฉายออกไปอย่างหวาด ๆ ปลดทุกข์อย่างรีบ ๆ ร้อน ๆ การเสวนาธรรมดำเนินไปจนถึงตี ๑ มีเรื่องราวต่าง ๆ น่าสนใจมากมาย จะนำมาบันทึกไว้ที่นี่ ก็สงสัยจะหลายหน้า จะละไว้ก่อน มีเรื่องที่อาตมา เก็บเอามาอเมซซิ่งส่วนตัว ก็คือ พระอาจารย์ที่ดังตฤณไปกราบ ในหนังสือ ๗ เดือนบรรลุธรรมนั้น แท้จริงคือ พระอาจารย์ ปราโมทย์ ปราโมชฺ โช แห่งสวนป่าสันติธรรม อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี นี่เอง อุบาสกนิรนาม สันตินันทอุบาสก อ.ปราโมทย์ คือคนคนเดียวกัน ได้ทราบถึงระดับมรรคผลที่ท่านได้ และประวัติการปฏิบัติ ของท่านอีกเล็กน้อย คือก่อนหลวงปู่ดูลย์ละสังขาร ท่านแนะว่าพยายามทำให้จบเสียแต่ในชาตินี้เลย ถ้าท่านมรณภาพไปแล้ว ให้ไปหา อ.มนตรี และเรียนรู้จริยาพระป่า จากหลวงตามหาบัว และใกล้ ๆ สำนักท่านยังมี หลวงพ่อธีอีกรูปหนึ่ง ที่น่าไปกราบ(ได้ยินว่าสอนเกี่ยวกับหลักอนัตตา) เคยได้ยินหลวงพ่อปรารภว่า การทำสังฆทาน หรือทอดกฐิน มีอานิสงส์มาก แม้อำนาจพระพุทธญาณ ยังไม่อาจเห็นที่สุดของผลบุญ ส่วนใหญ่ไม่ทันได้รับผลานิสงส์ครบถ้วน ก็เข้าพระนิพพานไปก่อน มาคราวนี้ได้ยินอีกด้านของเหรียญนั่นคือ “มิจฉาทิฏฐิ” (ความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม) เป็นภัยร้ายแรงที่สุดในสังสารวัฏ แม้อำนาจพระพุทธญาณ ก็ยังไม่อาจเห็นเวลาสิ้นสุดที่เขาจะพ้นทุกข์ ประการสุดท้ายคือการประทุษร้ายผู้ไม่คิดประทุษร้ายตอบมีโทษมาก เช่น การประทุษร้ายพระอริยเจ้า บิดามารดา หรือผู้มีพระคุณ เป็นต้น

อีกไม่กี่ชั่วโมงก็จะเช้าแล้ว พระอาจารย์ก็จุดประกายการถือธุดงควัตรข้อ เนสัชชิ(ถือการนั่งเป็นวัตร) ขึ้นมาคุย เห็นว่าอีกไม่กี่ชั่วโมงก็เช้าแล้วอาตมาเลยนั่งเติมไฟสมาทานกับเขาคืนหนึ่ง

20131109_082752

edit @ 21 Jan 2009 16:37:27 by Dhammasarokikku

วิ่งหาแก่นธรรม ตอน 1

อาตมาไม่ใช่พระวิเศษวิโสอะไร ไม่มีคุณงามความดีอะไร ให้น่าสรรเสริญ บางคนคิดว่า เป็นพระแล้วต้อง มีฌาน มีญาณ มีคุณธรรมวิเศษ จึงจะน่านับถือ น่าตื่นตาตื่นใจ อย่างหนังสือธรรมะหลายเล่ม ที่อาตมาได้อ่าน พระบางรูป บวชเพียงพรรษาเดียว หรือ ๓ เดือน กลับได้อะไรมากมาย ฆราวาสบางคน ปฏิบัติธรรมแค่ ๗ เดือน ก็บรรลุธรรม ส่วนอาตมา ตั้งใจปฏิบัติมาปีเศษแล้ว ก็ยังไม่บรรลุคุณธรรมวิเศษใด ๆ ยังคงเป็นพระปุถุชน คนหนาแน่น ไปด้วยกิเลส หรืออาจเป็นผู้ที่ ยังประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ จึงหาความเจริญในธรรม ไม่ใคร่ได้ ต้องอาศัยการปฏิบัติ ขัดเกลาจิตใจให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป บันทึกนี้เป็นบันทึก ของผู้ที่บวชมาอย่างธรรมดา ๆ เป็นคนธรรมดาอย่างที่สุด กรรมฐานก็ ไม่เป็นโล้เป็นพาย อย่างมโนมยิทธินี่ ฆราวาสเขาฝึกกันแป๊บเดียว ครั้งเดียวได้มโนมยิทธิ แบบเต็มกำลัง ส่วนอาตมานั้น แม้ฝึกมาเป็นสิบ ๆ ครั้ง เพียงครึ่งกำลังก็ยังไม่ได้ นั่งสมาธิสัก ๒๐ นาทีก็เหลว เอาแค่ อุปจารสมาธิ ก็ยังบ๊อท่า ปีติ สักตัวเดียวก็ไม่เคยเกิด

(ระดับความสงบของสมาธิ แบ่งเป็น ขณิกสมาธิ ๑=สมาธิขั้นต้น สมาธิประเดี๋ยวประด๋าว สมาธิในการทำงาน เช่น ตั้งใจเลื่อยไม้ให้ตรง เป็นต้น, อุปจารสมาธิ ๑=สมาธิตั้งมั่น ระงับนิวรณ์ ๕ ประการได้ เป็นสมาธิขั้นกลาง ในขั้นนี้จะมีปีติเกิดขึ้น ๕ ตัว มีอาการขนลุก น้ำตาไหล ตัวพองตัวใหญ่ เป็นต้น นิมิตทั้งหลาย จะเกิดในช่วงนี้, อัปปนาสมาธิ ๑=สมาธิขั้นสงบลึกแบ่งเป็น ๘ ลำดับ เรียกว่า สมาบัติ ๘ มีปฐมฌาน=ฌานที่ ๑, ทุติยฌาน=ฌานที่ ๒ เป็นต้น)

20130919_121133จะมีก็แต่ความเพียร ในการดูลมหายใจ อย่างกัดไม่ปล่อยเท่านั้น (ทราบมาว่ากรรมฐานกองนี้ ใช้เวลาฝึก ๕-๑๐ ปี กว่าจะเป็นโล้เป็นพาย) ที่บันทึกไว้ก็ เผื่อจะเป็นกำลังใจ ให้ผู้ที่เพียรปฏิบัติอยู่ ว่าทำไมปฏิบัติมานานแล้ว ไม่ได้อะไรสักที ไม่เห็นเหมือนในหนังสือที่อ่านมา ให้เขารู้ว่ายังมีพระธรรมดา ๆ อย่างอาตมา ที่เพียรปฏิบัติเช่นเขา แล้วก็ยังไม่ได้อะไรเหมือนกัน จะได้เพียรกันต่อไป อ่านแล้วอย่านึกรังเกียจ ว่ายังเป็น พระกิเลสหนาเลย ก็พยายามอยู่ ลองศึกษาหลาย ๆ แนว ลองปฏิบัติไปเรื่อย ๆ ลองทุกอย่างที่เขาว่าดี ผิดบ้าง ถูกบ้าง ก็ขอให้เห็น เป็นเรื่องธรรมดาของพระตาดำๆ

การเดินทางปฏิบัติธรรมในครั้งนี้ ก็ได้ไปพบเอาแก่น ของพระพุทธศาสนา และนิยามอันน่าสนใจของ บุญ และบาป กล่าวไว้ใน คิริมานนทสูตร และปกิณกะธรรมหลายอย่าง ดังจะได้อ่านในรายละเอียด ซึ่งคัดเลือกมาบางส่วน และแสดงความเห็นส่วนตัว ไว้ตอนท้ายของบันทึกนี้ ผู้สนใจ สามารถศึกษา คิริมานนทสูตร นี้เพิ่มเติมได้จาก พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม ๑๖ ข้อ ๖๐ หน้า ๑๒๘-๑๓๓ มีเนื้อหาน่าสนใจโดยย่อดังนี้

บุญ คือ การละกิเลส ละกิเลสได้มาก เป็นบุญมาก บุญกับความสุข เป็นตัวเดียวกัน การทำทานไม่ใช่บุญ แต่การทำทาน ทำให้เกิดบุญ การทำทานคือการสละ ทำให้ละความโลภ ละความโลภได้มาก เป็นบุญมาก ไม่ใช่ทำทานมาก ได้บุญมาก จำนวนเงินไม่ใช่ตัววัด ตัววัดอยู่ที่ใจ

บาป คือ การพอกกิเลส เพิ่มกิเลสได้มาก เป็นบาปมาก บาปกับความทุกข์ เป็นตัวเดียวกัน แก่นของศาสนาพุทธ ไม่ใช่การทำความดี เข้าวัด ไหว้พระ ทำบุญ รักษาศีล ฟังเทศน์ เจริญพระกรรมฐาน บรรลุญาณหยั่งรู้ต่าง ๆ ใดใดทั้งสิ้น เหล่านี้ เป็นเพียง ใบ กิ่ง ก้าน เปลือก กระพี้ของพระศาสนา ล้วนเป็นเพียงคลอง ไปสู่พระนิพพาน

แก่นของพระพุทธศาสนาแท้จริงคือ การเข้าถึงพระนิพพาน การวางทั้งกุศลและอกุศล สุขและทุกข์ จนถึงความดับ ซึ่งกิเลสอย่างถาวร และเป็นสุขอย่างยิ่ง เหนือสวรรค์พรหมชั้นใดใดทั้งหมด ผู้ที่จะถึงพระนิพพาน ต้องปฏิบัติอริยมรรค ให้เต็มที่ ประกอบด้วยปัญญา ทำจิตตน ให้เป็นประหนึ่งแผ่นดิน คือไม่หวั่นไหวต่อสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็น ลาภ ยศ สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์ กระทั่งความตาย ที่สุดละเสียซึ่งบุญและบาป ในชั้นสุดท้าย จึงจะถึงพระนิพพาน ละกิเลส ๕ ประการ คือ โลภะ ๑ โทสะ ๑ โมหะ ๑ มานะ ๑และ ทิฏฐิ ๑ ได้เด็ดขาด ก็ถึงซึ่งพระนิพพาน

การละกิเลสใช้อาวุธสำคัญคือ สติสัมปชัญญะ (การระลึกได้, การรู้ตัว) หากไม่มีสติสัมปชัญญะ ก็จะไม่รู้ว่า กิเลสเกิดขึ้นตอนไหน จะดับมันอย่างไร โดยทั่วไป ระยะแรก ของการปฏิบัติ ควรยึดศีลไว้ให้มั่น ต่อเมื่อศีลได้เพิ่มกำลัง สติสัมปชัญญะ ให้มากขึ้นแล้ว ก็ควรถือเอาการใช้กรรมฐานคู่ปรับ เข้าห้ำหั่นกิเลส เช่น ราคจริต (อารมณ์พอใจในสิ่งสวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย) ใช้ อสุภกรรมฐาน (การพิจารณา ความไม่สวยไม่งาม ของร่างกาย) กับ กายคตานุสสติกรรมฐาน (การพิจารณาร่างกาย เป็นอาการ ๓๒ มี ขน ผม เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น เป็นอารมณ์) เข้าห้ำหั่น เป็นต้น ต่อเมื่อกิเลสเบาบางลงแล้ว ก็ใช้ มหาสติปัฏฐาน ๔ (การฝึกสติเอา กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นอารมณ์) เข้าช่วย โดยการดูเท่านั้น ตามรู้ไปเรื่อย ๆ จนถึงที่สุด ไม่ต้องใช้ปฏิภาคกรรมฐานเข้าสู้ หรืออาจจะดำเนิน ไปพร้อม ๆ กันเลยก็ได้ ซึ่งแนวการ ปฏิบัติเหล่านี้ จะแตกต่างกันไป ตามจริตบ้าง บารมีเดิมบ้าง ตามสภาพแวดล้อมบ้าง จะยึดเอาหลักใด เป็นหลักตายตัวมิได้เลย ต้องพิจารณา อย่างรอบคอบถ้วนถี่ว่า ปฏิบัติอย่างไรเหมาะกับตัว (อย่างอาตมา ก็ลองมาหลายอย่าง สุดท้ายก็พบว่า อานาปานุสสติ กับ เดินจงกรม เป็นกรรมฐาน ที่เหมาะกับจริตตัวเอง)

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons