เกี่ยวกับ.จิตรู้. จากประสบการณ์ส่วนตัว - มุมมือใหม่
ในการภาวนาเพื่อการพ้นทุกข์นั้น สิ่งที่เป็นตัวนำให้เกิดการพ้นทุกข์ได้ ก็คือ จิตรู้ นั้นเอง จิตรู้ เองก็ช่างเล่นกลได้เก่งมาก ๆ จนอาจทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดอาการงุนงงได้ว่า สิ่งที่ตนเองปฏิบัติอยู่นี้เดินมาถูกทางหรือไม่
ผมจะนำเรื่องราวที่เกิดขึ้นของ จิตรู้ มาแสดงให้ท่านทราบ ซึ่งเป็นประสบการณ์ส่วนตัว ผิดถูกอย่างไร ก็ฝากไว้พิจารณาก็แล้วกัน
สำหรับท่านที่ชอบนำคำครูบาอาจารย์มาเขียนใน blog ผม กรุณาอย่าได้เข้ามาอ่านเลยครับ ถ้าท่านอ่าน blog ของผมแล้วเกิดขุ่นมัวในจิตใจแบบนี้ ขอท่านผ่านไปดีกว่าครับ ถ้าท่านศรัทธาครูบาอาจารย์ของท่าน ก็ขอให้ท่านฟังและอ่านแต่ครูบาอาจารย์ของท่านก็แล้วกัน
----------------------------------------
1. เมื่อปุถุชนผู้ยังไม่ได้ฝึกฝนในการปฏิบัติสติปัฏฐาน 4 จะไม่รู้จัก .จิตรู้.ครับ ที่เป็นอย่างนี้ เพราะความรู้สึกตัวของเขาไม่ต่อเนื่อง และส่วนมากจิตใจของเขาจะจมอยู่กับโมหะ หรือ บางท่านที่ปฏิบัติสมาธิแบบฤาษี ก็จะมีอาการแบบนี้เช่นกัน คนที่เป็นแบบนี้ ตายไปก็เสียชาติเกิดที่พบพุทธศาสนาแล้ว
คนที่เป็นแบบนี้ เมื่อเกิดได้รับฟัง ได้เห็น ได้รู้ อะไร ก็จะเข้าใจทันทีว่า ตัวเขาเองเป็นผู้ได้ฟัง เป็นผู้เห็น เป็นผู้ได้ยิน
เมื่อเขาเกิดอาการทางจิต เช่นดีใจ เสียใจ โกรธ หวุดหงิด เขาก็จะเข้าใจทันทีว่า เขานั้นดีใจ เขานั้นโกรธ เขานั้นเสียใจ เขานั้นหวุดหงิด
คนแบบนี้ เมื่อถึงวาระที่จะจากโลกนี้ไป สัญญาณอันตรายสีแดง เตือนดัง ตู๊ด ตู๊ด ทีเดียว
ยากที่จะคาดเดาได้ว่า วาระจิตสุดท้ายของเขา จะส่งผลอย่างไร ต่อตัวเขา
2. เมื่อปุถุขนได้ยินได้ฟังพระสัทธรรม เกิดศรัทธาเลื่อมใส มีจิตคิดจะพ้นทุกข์ตามหลักสติปัฏฐาน 4 ก็จะมุ่งเขาหาผู้รู้ เพื่อรับคำแนะนำ สั่งสอนในการปฏิบัติสติปัฏฐาน 4 ถ้าวาสนาดี ก็ไปพบผู้รู้ที่ดี มีความรู้จริง มีความจริงใจในการถ่ายทอด ไม่กั๊กวิชา (ประเภท กั๊กวิชา นี่มีจริงครับ ผมเคยพบคนประเภทนี้ด้วย ถึงแม้เขาจะรู้จริง แต่ก็กั๊กเอาไว้ )
เมื่อปุถุชนได้เรียนรู้ และเข้าใจหลักการปฏิบัติสติปัฐาน 4 แล้ว ถ้าเขามีความศรัทธาอย่างแรงกล้า เขาจะลงมือฝึกฝนสติปัฏฐาน 4 ทั้งในรูปแบบ เช่นการเดินจงกรม การนั่งสมาธิ การบริกรรม หรือ อะไรก็แล้วแต่ ได้ทั้งนั้น และ การฝึกฝนนอกรูปแบบ คือการฝึกความรู้สึกตัวในชีวิตประจำวัน
การฝึกฝนนี้ ใหม่ ๆ จะยากลำบากสำหรับคนใหม่ เพราะเหตุ 2 ประการก็คือ
A. การไม่แน่ใจในสิ่งทีตนเองกำลังฝึกอยู่ว่า ถูกหรือไม่
B. การคุ้นเคยกับสภาพปัจจุบันของปุถุชน ที่ส่วนใหญ๋จะอยู่กับการหลงในโมหะ
สำหรับท่านที่ฝึกใหม่นั้น ถ้าท่านฝึกฝนสติปัฏฐาน 4 ไม่ว่ารูปแบบใด ถ้าการฝึกของท่านนั้น ประกอบด้วย .ความรู้สึกตัว . ถือว่าใช้ได้ทั้งสิ้นครับ ท่านอย่าได้กังวลใจมากในการฝึก ใหม่ ๆ ท่านจะเกร็ง อาจจะเครียด แต่ถ้า ฝึกด้วย .ความรู้สึกตัว. อยู่บ่อย ๆ ต่อไป พอท่านเริ่มมีประสบการณ์ ท่านจะปรับตัวเองได้เองครับ เรื่องนี้ เปรียบเหมือน มือใหม่หัดขับรถยนต์ ถ้าท่านขับรถเป็น ถ้าท่านห็นมือใหม่ขับรถ ท่านจะรู้ทันทีว่า นีคือมือใหม่ เพราะอาการของเขาจะบอกให้ท่านทราบได้ การฝึกฝนก็เช่นกันครับ มันจะเก้ เก็ กัง ๆ ดูรุ่มร่าม ไม่ทะมัดทะแมง ดูมันเกร็ง ดูไม่ดีไปหมด แต่ขอท่านอย่าได้กังวลใจ ฝึกต่อไป ให้ถือว่า ถ้าท่านฝึกด้วยการมี .ความรู้สึกตัว.ละก็ ใช้ได้ทั้งหมดครับ
ผมขอย้ำเตือนให้ท่านทราบว่า เมื่อท่านรู้สึกตัวนั้น ตาท่านจะมองเห้นได้อยู่ หูท่านยังได้ยินได้อยู่ กายท่านก็ยังรู้สึกถึงการสัมผัสต่าง ๆ ได้อยู่
ขอให้ท่านหมั่นฝึกฝนในรูปแบบมาก ๆ แล้วท่านก็จะมีการพัฒนาการขึ้นมาเรื่อย ๆ ทีละนิด ทีละนิด
3.เมื่อท่านลงมือฝึกฝนด้วยการนำ .ความรู้สึกตัว. เป็นตัวนำแล้ว ผมคาดเดาว่า ถ้าท่านขยัน หมั่นเพียร ฝึกบ่อย ๆ ฝึกทุกวัน ทั้งในรูปแบบและนอกรูปแบบ ไม่น่าจะเกิน 6 เดือน จิตรู้ ของท่านจะเริ่มมีพลังและเริ่มแสดงตัวให้ท่านเห็นได้แล้ว บางท่านอาจเร็ว อาจช้า กว่านี้ก็ได้ครับ นี่เพียงแต่ผมคาดเดาเอาไว้เท่านั้น และขอท่านอย่าได้ท้อก่อนก็แล้วกัน
อาการที่ .จิตรู้. เริ่มมีพลังและแสดงตัว ก็คือ จิตรู้ จะแยกตัวออกจาก .สิ่งทีถูกรู้. ครับท่าน ตอนนี้ ท่านจะรู้สึกเหมือนว่า ท่านได้เห็นอาการของร่างกาย เช่น การเจ็บปวดที่เกิดขึ้น เห้นอาการของจิตใจ เช่นอารมณ์โกรธ เห็นความคิดได้ จิตรู้ ในระยะนี้ จะเกิดชัดหรือไม่ชัด ขึนกับอาการที่เกิดครับ
ถ้าอาการที่เกิดชัดมาก เช่น อารมณ์โกรธ อาการเจ็บปวดของร่างกาย จิตรู้ ก็จะเกิดอย่างเด่นชัด เช่นกัน ถ้าอาการไม่ชัด จิตรู้ ก็จะไม่เด่นชัด
แต่สิ่งที่ท่านจะเห็นได้ด้วย .จิตรู้. ก็คือ การเห็นอาการทางกาย อาการทางจิตใจ เป็นสิ่งหนึ่งที่แยกตัวออกมาจาก.จิตรู้ . ซึ่ง คนทั่ว ๆ ไปที่ไม่เคยฝึกจะไม่เห็นแบบนั้มาก่อน
ถ้าท่านเกิดอาการนี้ได้แล้ว ท่านกำลังเข้าสู่ทางเริ่มต้นของการพ้นทุกข์ตามหลักสติปัฏฐาน 4 ได้แล้ว เพราะว่า
สิ่งที่จิตรู้เห็น อาการทางกาย อาการทางใจได้ จิตรู้ ก็จะเห็นเองว่า อาการทางกาย อาการทางใจ นั้นมันไม่ใช่ตัวเรา มันเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นต่างหาก
นี่คือหนทางครับ มันจะเป็นแบบนี้ ผมจึงเขียนในหลาย ๆ บทความใน blog นี้ว่า ใหม่ ๆ อย่าไปทำให้จิตว่าง เพราะไปได้ยินคำครูบาอาจารย์บางท่านพูดถึงแต่จิตว่าง จิตประภัสสร ท่านพูดถูกของท่าน แต่มันยังไม่ใช่ตอนนี้สำหรัยท่านครับ ท่านต้องเห็น อาการของกาย อาการของจิตใจ ก่อนครับ
สำหรับที่ท่านฝึกดูจิต ตอนนี้ พอจิตรู้ มันเริ่มมีพลังแบบนี้ได้ ท่านจะดูจิตได้แล้วครับ แต่ถ้าจิตรู้ของท่านยังไม่มีพลังแบบนี้ ท่านต้องกลับไปข้อ 2 ใหม่ก่อน ฝึกในรูปแบบก่อนครับ ถ้าท่านชิงลงมาที่ข้อ 3 นี้เลย ท่านก็จะล้มเหลวในการดูจิตแบบไม่เป็นท่าครับ เพราะจิตเมื่อไม่มีพลัง ท่านยังเป็นข้อ 1 อยู่ ท่านดูอย่างไร จิตที่เกิดอาการก็ยังเป็นท่านอยู่ดี จึงไม่เกิดผลในทางปัญญาครับ ขอท่านเข้าใจตามนี้ด้วยครับ
ถ้าท่านที่ดูจิต ไม่เชื่อตามี่ผมเขียน ลงมือดูจิตทันที โดยจิตรู้ยังไม่แยกตัวออกมา ก็แล้วแต่ท่านแล้วกัน ทางใครทางมัน ผมบังคับท่านไม่ได้อยู่แล้ว
ใน blog ของผม ผมเคยเขียนเรื่อง จิตรู้เป็นดวง และ จิตรู้ ไม่เป็นดวง
ในระบะที่ 3 นี้ จิตรู้ ของท่านจะยังเป็นดวงอยู่นะครับ ถึงแม้เป็นดวง ก็ใช้ได้ครับ ไม่ต้องไปพยายามทำไม่ให้มันไม่เป็นดวง พอท่านฝึกต่อ ๆ ไป ชำนาญมากขึ้น อาการเป็นดวง มันก็จะพัฒนาต่อไปเป็นไม่เป็นดวงเองอีกทีหนึ่ง
4. เมื่อท่านพัฒนาจิตรู้ในข้อ 3 นี้เกิดแล้ว จนจิตรู้เห็นอาการของกาย อาการของจิตใจได้แล้ว ท่านยังต้องหมั่นฝึกฝนต่อไปอย่าได้หยุดยั้ง ท่านเพียงได้ผลในขั้นต้นเท่านั้นเองนะครับ อย่าใจร้อน ทีนี้พอท่านหมั่นฝึกฝนต่อไป จิตรู้ของท่าน มันก็จะเห็นอาการทางกาย อาการทางจิตใจ มากขึ้นไปเรื่อยๆ นี่คือสิ่งที่ดีสำหรับจิตรู้ เพราะมันคือปัญญาให้จิตรู้ครับ จิตรู้เห็นอาการทางกาย อาการทางจิตใจ มาก ๆ เข้า มันจะมีวันหนึ่ง ที่จิต โผล่งตัวอุทานธรรมออกมาให้ท่านรู้ได้ มันโผล่งตัวออกมาสั้น ๆ เพียวเสี้ยววินาที แต่ท่านก็รู้เรื่องราวได้ พอโผล่งตัวทีหนึ่ง ท่านก็เข้าใจในธรรมได้ดีขึ้น ยิ่งท่านหมั่นฝึกฝน จิตรู้ยิ่งเห็นอาการทางกาย อาการทางจิตใจ มากขึ้น ท่านก็ยิ่งรู้ธรรมมากขึ้น รู้เองโดยไม่ต้องไปถามใคร ถึงแม้ว่า อ่านหนังสือครูบาอาจารย์มา มันก็ไม่ชัดเหมือนเห็นเอง และตอนนี้ ท่านจะเริ่มรู้แล้ว ท่านที่สอน ๆ กันในปัจจุบัน สำนักไหน มั่วนิ่ม สำนักไหน สอนถูก ใครทีตอบคำถามปฏิบัติธรรมในอินเตอร์เนท ตอบมั่วนิ่ม ตอบถูก ถึงแม้ท่านจะรู้ได้ ผมก็แนะนำว่า ขอให้ท่านเก็บไว้ในใจ อย่าใจร้อน อย่าไปพูดมาก เขียนอะไรลงไปในทีสาธารณะ เดี๋ยวท่านอาจถูกบรรดาลูกสมุนเจ้าสำนักที่ท่านไปกล่าวถึง รุมกระทืบเอาได้ครับ เขาขึ้นหลังเสือแล้ว เขาลงไม่ได้หรอกครับ เงียบไว้ดีกว่าครับท่าน
5. เมื่อท่านพัฒนาการ จิตรู้ จนเห็นอาการทางกาย อาการทางใจ ได้ดีมากแล้ว ทีนี้ ท่านจะเห็น .ความว่าง.ได้ครับ ผมไม่สามารถบอกท่านได้ว่า ท่านจะต้องทำอย่างไร จึงจะเห็นความว่างได้ แต่ที่ตัวผม นั้น ผมเห็นเอง ในขณะที่กำลังเอื้อมมือไปปิดพัดลมครับ พอผมเห็นความว่าง ได้ครั้งแรก ผมก็เห็นความว่างได้เสมอ ๆ แต่บางครั้งก็มองไม่เห็นเช่นกัน แต่ก็เห็นได้บ่อยขึ้น มันเห็นเอง ไม่ได้ตั้งใจมองอะไรเลย ตอนนี้ ท่านเห็นความว่าง ท่านก็เห็นแต่ท่านไม่ยังเข้าใจว่า ความว่างที่ท่านเห็นคืออะไรครับ เหมือนไก่เห็นเพชร ก็ไม่รู้ว่า นี่คือเพชร อย่างไรอย่างนั้นเลย ถึงแม้ท่านเห็นความว่างได้ ท่านก็ยังเห็นอาการทางกาย อาการทางจิตอยู่นะครับ ซึ่งอาการทางกาย อาการทางจิต มันจะยังมาเรื่อย ๆ เห็นเรื่อย ๆ ยิ่งท่านฝึกมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ท่านก็ยิ่งเห็นอาการทางกาย อาการทางจิต ได้ถี่ขึ้นเรื่อย ๆ ครับ
เมื่อ จิตรู้ เห็นอาการทางจิตได้ดีมาก ๆ ขบวนการปล่อยวางก็ยิ่งมีมากขึ้น ใหม่ๆ ถึงแม้ว่า จิตรู้ จะเกิดแล้วดังข้อ 3 แต่ จิตรู้ ในข้อ 3 กำลังก็ยังอ่อนอยู่ และบ่อย ๆครั้ง ที่พ่ายแพ้แก่อาการทางจิตใจ ได้ แต่ถ้าท่านยิ่งฝึกมา ยิ่งชำนาญ จิตรู้ ของท่านยังมีกำลังแรง และอาการทางจิตใจ ก็เริ่มจะทำอะไรจิตรู้ ไม่ได้ครับ เมื่อท่านชำนาญ อาการทางจิตใจ พอเกิดขี้น จิตรู้เห็นอาการทางจิตใจแล้ว อาการทางจิตใจก็ดับลงไปทันทีอย่างรวดเร็ว
ท่านที่เดินมาถึงตรงนี้ได้ ท่านจะรู้สึกได้เลยว่า ความทุกข์ใจ มันมีอยู่ แต่ท่านเริ่มไม่ยึดถือมันแล้ว และมันเกิดเพียงสั้น ๆ แล้วก็หายไปเองอย่างรวดเร็ว
*****************
สรุป การปฏิบัติธรรมเพื่อการพ้นทุกข์นั้น คือขบวนการพัฒนา จิตรู้ ให้ตื่น ตั้งมั่น เพื่อให้จิตรู้ เห็นธรรมชาติของกาย เห็นธรรมชาติของใจ อันเป็นธรรมที่เป็นหนทางแห่งการพ้นทุกข์ การปฏิบัติใด ๆ ที่เป็นการพัฒนา จิตรู้ ถือว่าใช้ได้ทั้งสิ้น ทุกสำนักที่สอนการพัฒนา จิตรู้ ก็คือสอนสิ่งเดียวกัน เพียงแต่รูปแบบต่างกัน และคำอธิบายต่างกันเท่านั้นเอง ท่านสมควรจะหาสำนักที่สอนแล้วท่านเข้าใจในคำสอน และการปฏิบัติเพื่อพัฒนา จิตรู้
************************
สำหรับบทความนี้ ผมขอจบเพียงเท่านี้ครับ เพราะผมตั้งใจเขีบนขึ้นเพื่อเป็นแนวทางสำหรับมือใหม่ แต่ไม่ได้หมายความว่า มันจะจบเพียงนี้ มันยังมีต่ออีก แต่ถ้าท่านได้เดินเองถึงข้อ 5 ได้ ท่านก็สมควรเดินต่อเองครับ หรือ ไปหาครูอาจารย์สอนท่านต่อเอง เพราะต่อจากนี้ มันค่อนนี้เขียนยาก อธิบายก็ลำบาก และถ้าท่านยังฝึกฝนต่อ แต่ไร้ครูอาจารย์ ท่านก็ไปต่อเองได้แล้วครับ เพียงแต่ว่า เร็วหรือช้า เท่านั้นเอง
ถ้าท่านสร้างเหตุดังที่ผมเขียนไว้เป็นขั้น ๆ ท่านก็เข้าสู่แห่งการพ้นทุกข์ได้แล้วครับ สักวันหนึ่งในชาตินี้ หรือ ชาติหน้า ท่านก็จะสิ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง
สำหรับท่านที่เพิ่งเข้ามาอ่าน blog ผม อาจอ่านไม่รู้เรื่อง ผมแนะนำบทความ
ใน blog ของผมในกลุ่มชื่อ ธรรมปฏิบัติ 1 ในนั้นมีหลายบทความที่เป็นพื้นฐานการปฏิบัติธรรม ที่ผมเขียนสำหรับมือใหม่ครับ