ธรรมปฎิบัติ..ตามแนวทาง หลวงพ่อ สรวง ปริสุทโธ
รูปฌาน ๔
เกศา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ
ตะโจ ทันตา นะขา โลมา เกศา
อิทธิบาท ๔
ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา
พละ ๕
ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา
โพชฌงค์ ๗
สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปีติ
ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา
มรรค ๘
สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา
สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม
สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
อเนญชธรรม
หรืออเนญชาภิสังขาร หมายถึงสภาพที่ปรุงแต่งภพ อันมั่นคง ไม่หวั่นไหว ได้แต่ภาวจิตมั่นคงแน่วแน่ ด้วยสมาธิแต่จตุตถฌาน
(ฌาน ๔)
โคตรภู
หมายถึงผู้ที่ตั้งอยู่ในฌานซึ่งเป็นลำดับที่จะถึง
อริยมรรคหรือผู้อยู่ในหัวต่อระหว่างความเป็น
ปุถุชนกับความเป็นอริยบุคคล(พระอริยบุคคล มี ๔ ขั้น คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี
พระอนาคามี และพระอรหันต์)
เพียร ๔
หรือสัมมาวายาโม ได้แก่ปรารภความเพียรประคองจิตไว้เพื่อ
๑. ยังอกุศลธรรมอันเป็นบาปที่ยังไม่เกิดไม่ให้
เกิดขึ้น
๒. ละอกุศลธรรมอันเป็นบาปที่เกิดขึ้นแล้ว
๓. ยังกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น
๔. พัฒนากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้งอกงาม
ยิ่งขึ้น
รูปฌาน ๔
เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ
ตโจ ทันตา นขา โลมา เกศา
อิทธิบาท ๔
ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา
พละ ๕
ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา
โพชฌงค์ ๗
สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปีติ
ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา
มรรค ๘
สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา
สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม
สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
อเนญชธรรม
หรืออเนญชาภิสังขาร หมายถึงสภาพที่ปรุงแต่งภพอันมั่นคง ไม่หวั่นไหว ได้แก่ภาวะจิตมั่นคงแน่วแน่ ด้วยสมาธิแห่งจตุตถฌาน (ฌาน ๔)
โคตรภู
หมายถึงผู้ที่ตั้งอยู่ในฌานซึ่งเป็นลำดับที่จะถึงอริยมรรคหรือผู้อยู่ในหัวต่อระหว่างความเป็นปุถุชนกับความเป็นอริยบุคคล (พระอริยบุคคลมี ๔ ขั้น คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์)
เพียร ๔ (สัมมัปธาน ๔)
หรือสัมมาวายาโม ได้แก่ปรารภความเพียรประคองจิตไว้เพื่อ
๑. ยังอกุศลธรรมอันเป็นบาปที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น (สังวรปธาน)
๒. ละอกุศลธรรมอันเป็นบาปที่เกิดขึ้นแล้ว (ปหานปธาน)
๓. ยังกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น (ภาวนาปธาน)
๔. พัฒนากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้งอกงามไพบูลย์ยิ่งขึ้น (อนุรักขนาปธาน)
สติปัฏฐาน ๔
หรือสัมมาสติ ได้แก่ ความระลึกชอบ โดยเป็นผู้
- พิจารณาเห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ (กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน) (มีสติกำกับดูรู้เท่าทันกายและเรื่องของกาย)
- พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่เป็นประจำ (เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน) (มีสติกำกับดูรู้เท่าทันเวทนา)
- พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ (จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน) (มีสติกำกับดูรู้เท่าทันจิตหรือสภาพและอาการของจิต)
- พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่เป็นประจำ (ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน) (มีสติกำกับดูรู้เท่าทันธรรม) องค์ธรรมทั้ง ๔ หมวดนี้เรียกสติปัฏฐาน ๔ มี กาย เวทนา จิต ธรรม
ปิติ ๕
๑. ขุททกาปีติ มีลักษณะ คือ
๑. เกิดอาการคล้ายหนังหัวพองและขนลุก เป็นดังอาบน้ำในเวลาหนาว
๒. เกิดปรากฏเป็นดังเส้นผมตำแลคายเพียงเล็กน้อย
๓. เกิดในหทัยวัตถุให้สั่นระรัวเป็นดั่งปั่นผลหมาก
๔. เกิดในกายให้เนื้อตัวหนักมึนตึงและเวียนอยู่
๒. ขณิกาปีติ มีลักษณะ คือ
๑. ให้ปรากฏในจักขุทวารเป็นดังฟ้าแลบและเป็นประกายดังตีเหล็กไฟ
๒. เกิดในกายทวารเป็นดังปลาซิวตอดในเวลาอาบน้ำ
๓. เกิดเนื้อเต้นและเอ็นกระตุก
๔. เกิดในกายให้ตัวร้อนทั่วไป
๕. เกิดแสบทั่วกาย ให้กายแข็งอยู่
๖. เกิดเป็นดังแมลงเม่าไต่ตอมตามตัว
๗. เกิดในอกให้หัวใจและท้องร้อน
๘. เกิดในใจสั่นหวั่นไหว
๙. เกิดในกายให้เห็นเป็นสีเหลือง สีขาว เป็นไฟไหม้น้ำมันยางลามไปในน้ำ
๓. โอกกันติกาปีติ มีลักษณะ คือ
๑. กายไหวดังคลื่นกระทบฝั่ง
๒. เป็นดั่งน้ำกระเพื่อมเกิดเป็นฟองน้ำ
๓. เกิดเป็นดังขี่เรือข้ามน้ำมีระลอก
๔. กายและใจเป็นดังไม้ปักไว้กลางสายน้ำไหล สั่นระรัวอยู่
๕. เป็นดังน้ำวน
๖. เป็นดังหัว อก ไหล่ และท้องน้อยหนักผัดผันอยู่
๗. เกิดวาบขึ้นเป็นดังไฟลุก
๘ .เกิดเป็นดังลมพัดขึ้นทั่วกาย
๔. อุพเพงคาปีติ มีลักษณะ ๘ คือ
๑. เกิดพองกายเนื้อตัวทั้งมวลหวั่นไหวอยู่
๒. เกิดเต้นเหยงๆ ขึ้น และลุกแล่นไป
๓. เกิดร้อนทั่วตัวและทั่วสันหลัง ศีรษะ สะเอว และท้องน้อย
๔. เกิดแสบร้อนเป็นไอขึ้นทั้งตัว เป็นดังไอข้าวสุกร้อน
๕. เกิดปวดท้อง และปวดน่องเป็นดังลงท้องเป็นบิด
๖. กายและเนื้อตัวเบาและสูงขึ้น
๗. หนักแข้งขา บั้นเอว ศีรษะ เป็นดังไข้จับ
๘. เกิดเป็นสมาธิหนัก และเย็นอยู่
๕. ผรณาปีติ มีลักษณะ ๘ คือ
๑. เกิดในจักขุทวาร ดูกายเนื้อตัวนั้นแผ่ไป ดูใหญ่ และสูงขึ้น
๒. เกิดแผ่ไปทั่วกาย ให้ตัวเย็นเป็นดังลงแช่น้ำ
๓. กายยิบๆ แยบๆ เป็นดังไรไต่
๔. เป็นดังประกายไฟพุ่งออกจากกระบอก
๕. กายเบาเป็นดังนั่งและนอนอยู่เหนือสำลี
๖. กายหนาวสั่นตัวงอ และหนักหางตาเป็นดังอาบน้ำในฤดูหนาว
๗. กายอุ่น และเป็นไอขึ้น
๘. กายเย็นซาบซ่านทั่วตัว
รูปฌาณ ๔
ในการปฏิบัติธรรมตามแบบสมถวิปัสสนานั้น ขอให้ศิษย์ทุก ๆ คนพึงทำความเห็นและทำความเข้าใจให้ถูกต้องเสียก่อน คือ ก่อนที่ปฎิบัติกรรมฐาน จำเป็นจะต้องรักษาศีลห้าให้ได้ เมื่อมีศีลห้าแล้วก็เริ่มปฏิบัติได้ ในการปฏิบัติเบื้องต้นจะต้องฝึกหัดทำฌาน (ชาน) ซึ่งเป็นการทำสมาธิแบบหนึ่ง และมีขั้นตอนวิธีการปฏิบัติเป็นขั้นๆ ไป
ฌาน นั้นมี ๘ องค์ แบ่งเป็น รูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔ ในที่นี้เราทำแค่รูปฌาน ๔ ก็นับว่าเพียงพอแล้ว รูปฌาน ๔ มี ๔ องค์ ได้แก่
ฌานที่ ๑. วิตก วิจาร
ฌานที่ ๒. ปิติ
ฌานที่ ๓. สุข
ฌานที่ ๔. เอกัคคตา อุเบกขา
ทำไมเราจึงต้องทำฌาน ทั้งนี้ก็เพราะเหตุว่าตามที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ว่าการที่เรามุ่งหวังไปพระนิพพานนั้น ต้องปฏิบัติตามมรรค มีองค์ ๘ ได้แก่
มรรคองค์ที่ ๑ คือ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ
มรรคองค์ที่ ๒ คือ สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ
มรรคองค์ที่ ๓ คือ สัมมาวาจา เจรจาชอบ
มรรคองค์ที่ ๔ คือ สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ
มรรคองค์ที่ ๕ คือ สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ
มรรคองค์ที่ ๖ คือ สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ
มรรคองค์ที่ ๗ คือ สัมมาสติ ระลึกชอบ
มรรคองค์ที่ ๘ คือ สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ
มรรคองค์ที่ ๑ สัมมาทิฏฐิหรือความเห็นชอบนั้นจะต้องเห็นชอบในอริยสัจ ๔ อันมี ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค ส่วนมรรคองค์ที่ ๘ สัมมาสมาธิ ท่านกล่าวว่าให้มีรูปฌาน ๔ ถ้าเราไม่รู้จักรูปฌาน ๔ เราก็ทำสัมมาสมาธิไม่ครบองค์และก็ทำวิปัสสนาไม่ได้ผล ฌานจึงมีความจำเป็นมาก การทำฌานเป็นการทำสมาธิในระดับลึก ซึ่งสมาธิมีอยู่ ๓ ระดับ คือสมาธิขั้นต้นเรียกว่าขณิกสมาธิ สมาธิขั้นกลางเรียกว่าอุปจารสมาธิ และสมาธิขั้นสูงเรียกว่าอัปปนาสมาธิ สมาธิทั้ง ๓ ขั้นนี้ ยากที่เราจะรู้จักได้ เพราะแต่ละขั้นของสมาธินับตั้งแต่ขณิกสมาธิไปถึงอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธินั้น จิตจะละเอียดมากขึ้นเป็นลำดับ จนถึงอัปปนาสมาธิ จิตก็จะยิ่งละเอียดเป็นที่สุด ดังนั้นเมื่อมาทำเป็นฌานแล้วจึงกำหนดเป็นขั้นตอน ๔ ขั้น มีฌาน ๑ ฌาน ๒ ฌาน ๓ และฌาน ๔
ความจริงฌานนั้นมีอยู่ ๕ ตามแบบบัญญัติตามแผน ๕ เรียก ปัญจฌาน แต่ที่นิยมในตำราในพระสูตรกล่าวไว้ว่ามี ๕ ในพระอภิธรรมที่บัญญัติไว้ในธรรมวิภาค รูปฌาน ๔ เรียก ฌาน ๔ ไม่ได้เรียกฌาน ๕ คือ รูปฌานที่ ๑ นั้นแยกวิตกเป็นฌานหนึ่ง วิจารเป็นฌานหนึ่ง “วิตกคือความนึกคิดนั่นเอง วิจารคือการหยุดความนึกคิดได้” เมื่อเราหยุดความนึกคิดได้ ฌาน ๑ ก็เกิดแก่จิตเรา
ในการนั่งกรรมฐาน ก่อนที่เราจะนั่งต้องกราบ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สามครั้ง กราบด้วยศรัทธา เชื่อมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นของมีจริง เป็นที่เคารพศรัทธาอย่างสูง ไม่มีสิ่งใดที่จะเคารพยิ่งกว่าพระรัตนตรัย แล้วกราบบิดามารดาอีกครั้งหนึ่ง กราบครูบาอาจารย์ผู้ที่สั่งสอนธรรมเราอีกครั้งหนึ่ง รวมแล้ว ๕ ครั้ง เรียกว่า ปัญจเคารพ เมื่อเราออกจากนั่งสมาธิก็กราบอีก ๕ ครั้ง เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ก็เพื่อให้เรามีศรัทธาและมีความเคารพใน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บิดามารดา ครูบาอาจารย์ บิดามารดาของเราก็เป็นพระอรหันต์ของลูก พระพุทธองค์ตรัสไว้อย่างนั้นเป็นความจริงเราจึงจำเป็นที่จะต้องกราบไหว้บูชาเป็นการระลึกถึงพระคุณของท่านครูบาอาจารย์ก็เช่นเดียวกัน การที่เรามีความรู้ในปัจจุบันนี้ได้ ต้องอาศัยครูบาอาจารย์ทั้งสิ้น แม้จะทางโลกก็ตาม ยิ่งทางธรรมด้วยแล้ว ยิ่งสำคัญมาก เพราะการที่ครูบาอาจารย์ไม่รู้หรือรู้ผิดๆ แล้วมาสอนเราผู้เป็นศิษย์ เราก็ต้องรู้ผิดตามไปด้วย ต้องหลงผิดตามไปด้วย เมื่อครูบาอาจารย์ยังไม่รู้แจ้งเห็นจริง จะไปสอนศิษย์ให้รู้แจ้งเห็นจริงได้อย่างไร นี่ให้ทำความเห็นอย่างนี้ให้ถูกต้อง ฉะนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องระลึกถึงพระคุณของครูบาอาจารย์ด้วย เหมือนกับตัวอาจารย์นี้ ไม่เคยคิดว่าให้พวกศิษย์หรือใครๆ กราบไหว้อาจารย์นักหนา เพราะในความคิดความนึกในใจของอาจารย์ ไม่มีสิ่งเหล่านี้เพราะไม่ได้ยึดถือโลกธรรม ๘ อันมี ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ไม่ต้องการอะไรทั้งสิ้น เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา และทุกข์ก็เช่นเดียวกัน อาจารย์ก็ไม่เดือดร้อนอะไรทั้งสิ้น เพราะเป็นโลกธรรม ๘ ซึ่งมีฝ่ายที่ดี ๔ และฝ่ายไม่ดี ๔ ฝ่าย ในการสั่งสอนของอาจารย์ ก็เพื่อเป็นแบบแผนให้ศิษย์มีปัญญา ถ้าศิษย์ไม่เคารพ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บิดามารดา และครูบาอาจารย์แล้วจะไปเคารพอะไร เมื่อมีศรัทธาในการเคารพกราบไหว้บูชาอันเป็นการแสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวทีรู้คุณแล้วก็จะช่วยให้จิตใจของเราผ่องใสเป็นสิริมงคล ก่อนที่เราจะปฏิบัติกรรมฐานต่อไป
การนั่งก็เช่นเดียวกัน เวลานั่งกรรมฐานถ้าเป็นฝ่ายอุบาสิกาจะนั่งพับเพียบก็ได้ จะนั่งขัดสมาธิก็ได้ ฝ่ายอุบาสกหรือผู้ชายก็นิยมนั่งขัดสมาธิ คือนั่งเอาเท้าขวาทับเท้าซ้าย มือขวาวางทับมือซ้ายบนตักของเรา และตั้งตัวให้ตรงอย่าให้ตัวงอหน้าตรงอย่าก้ม ถ้าหลังงอแล้วนั่งได้ไม่ทน มันจะปวดเอวปวดหลัง ทำให้เรานั่งนานเป็นชั่วโมงหรือ ๔๐,๕๐ นาทีไม่ได้ ฉะนั้นกายให้นั่งตัวตรง เมื่อเสร็จแล้วก็เริ่มบริกรรมภาวนา คือใช้ เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ เรียงกันไปเรียกว่าเป็นอนุโลม เมื่อครบแล้วก็ท่องถอยหลังว่า ตโจ ทันตา นขา โลมา เกศา เรียกว่าปฏิโลม ระหว่างที่ภาวนาอยู่นั้นหากมีความคิดใดๆขึ้นมาที่จิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตามก็ให้พยายามมีสติรู้ว่ากำลังคิดเรื่องนั้นๆ แล้วละความคิดนั้นเสีย หันมาภาวนา เกศา โลมา...ใหม่ โดยมากจิตเรานั้นชอบนึกชอบคิดเสมอ ดังนั้นพระพุทธองค์จึงมีอุบายให้ภาวนา เพื่อให้จิตไปยึดกรรมฐาน ๕ (เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ) นอกจากกรรมฐาน ๕ แล้วยังมีกรรมฐานอื่นๆ อีกทั้งหมด ตั้ง ๔๐ อย่าง แต่จะไม่สอนเพราะถือว่ากรรมฐาน ๕ เป็นสิ่งสำคัญ ที่ว่าเป็นสิ่งสำคัญก็เพราะว่าตามบัญญัติเรียกว่า เป็นโกฏฐาส คือเป็นสิ่งของที่หยาบมีอยู่ในตัวเราทั้งสิ้น สามารถเห็นด้วยตาเนื้อได้
เมื่อว่าไปๆ แล้วจิตก็ยึดกรรมฐานได้ การที่จิตยึดกรรมฐานได้ก็ด้วยไม่หลง ถ้าหลงอย่าไปเที่ยวค้นหา เช่นว่า เกศา โลมา แล้ว มันก็ลืมเสียไม่รู้ อะไรจำไม่ได้ อย่าเที่ยวนึก ถ้านึกแล้วเดี๋ยวสังขารขันธ์หรือการปรุงแต่งของจิตของเรา มันจะเอาตัวอื่นมาใส่ให้ ซึ่งจะทำให้จิตคิดไปถึงเรื่องอื่น ฉะนั้นอย่าให้นึกขึ้น ให้ตั้งต้นว่า เกศา โลมา ใหม่ไม่นึกอะไร ถ้ามันนึกคิดอะไรก็ละเสีย เพราะธรรมชาติของจิตมันชอบนึกคิดอยู่นิ่งไม่ได้ เมื่อเราภาวนาไปจนจิตตั้งมั่นไว้ได้ดีแล้วฌาน ๑ ก็จะเกิดขึ้น ไม่มีความนึกคิดอื่นมาปะปน เมื่อจิตยึดกรรมฐานได้มั่นคงแล้ว ก็จะเกิดปีติขึ้นมาโดยมีความรู้สึกต่างๆ เช่น รู้สึกว่าขนลุกขนพองหรือซาบซ่านที่ผิวกาย ขนลุกซู่ๆ ซ่าๆ อะไรอย่างนี้ บางทีก็รู้สึกตัวพองออกไป หรือตัวยาวขึ้น บางทีก็รู้สึกว่าตัวเตี้ยลง แล้วมาตัวเล็กตัวเบา บางทีก็มีการกระตุกที่มือ อาการเหล่านี้แสดงว่า ฌาน ๒ เริ่มเกิดขึ้น
ขณะที่จิตเข้าสู่ ฌาน ๒ อาจจะมีอาการกระตุกเกิดขึ้นก็อย่ากักอย่ากดไว้ คืออย่าเกร็งข้อมือไว้ปล่อยให้มันเกิดขึ้น ถึงตอนนี้กายอาจจะโยกคลอน หรือสั่นอย่างแรงดังสนั่นหวั่นไหว ก็อย่าไปตกใจ นั่นแหละเป็นปีติของฌาน ๒ ชื่อของปีติอันนี้ชื่อว่า "อุพเพงคาปีติ" ส่วนที่รู้สึกซาบซ่านตามผิวกาย เรียกว่า ผรณาปีติ ผู้ปฏิบัติจะต้องพยายามทำให้มีอุพเพงคาปีติจึงจะสมบูรณ์ เพราะเหตุว่าฌาน ๒ นี้ อุพเพงคาปีติ นี้เป็นฤทธิ์เป็นกำลัง
ที่เราต้องทำฌานก็เนื่องจากว่าเมื่อได้ฌาน ๔ แล้วมันก็สู้กับทุกขเวทนาได้ คือความรู้สึกเจ็บปวดต่างๆ หรือง่วงเหงาหาวนอนจะหายไป แต่ถ้าไม่มีฌานแล้วมันสู้ไม่ได้ นอกจากนี้เมื่อปฏิบัติสูงแล้วการเหาะเหินเดินอากาศด้วยกายภายในกายของเรา หรือเรียกว่า กายทิพย์ ก็อาศัยฌานนี้แหละเหาะเหินเดินอากาศได้ การรู้การเห็นต่างๆ การได้ยินเสียง การได้กลิ่น การได้รสโผฏฐัพพะกระทบกายต่างๆ ก็รู้ด้วยฌานทั้งสิ้น หูทิพย์ ตาทิพย์ หยั่งรู้ใจคน มีอิทธิฤทธิ์ ระลึกชาติได้ แล้วก็มีฤทธิ์ทางใจที่เรียกว่า ‘มโนมยิทธิ’ ส่วนการทำกิเลสให้หมดไปจากจิต โดยการฟอกจิตใจให้สะอาด ก็อาศัยฌานนี้แหละเป็นพื้นฐาน จึงจำเป็นที่จะต้องทำฌาน ถ้าขาดฌานเสียมรรคองค์ที่ ๘ ก็ไม่สมบูรณ์ ฉะนั้นใครจะไปพระนิพพานกับมรรค ๗, ๖ หรือ ๕ องค์ หรือมรรคองค์เดียวไม่ได้ทั้งสิ้น มรรคต้องครบทั้ง ๘ องค์ จึงจะไปพระนิพพานได้
ส่วนการเข้าฌานที่ ๓ นั้น จะเข้าได้ต่อเมื่อฌาน ๒ เกิดขึ้นแล้ว คือเมื่อมีอุพเพงคาปีติขึ้นโครมๆ ดีแล้ว หรือกายสั่นท่าต่างๆ หรือโยกหน้าโยกหลังแล้ว ซึ่งอาการของปีติเหล่านี้จะต้องมีสติเข้ากำกับอย่าให้ล้มหงายไป เมื่อมีสติอยู่รักษาจิตมันก็มีสัมปชัญญะสำหรับคุมกายไว้เอง เพราะสัมปชัญญะคู่สติ สตินี้เป็นสิ่งสำคัญคอยคุมจิต สัมปชัญญะคอยคุมกาย ธรรม ๒ ประการนี้เป็นธรรมที่มีอุปการะมาก คือส่งให้เราไปถึงพระนิพพานได้ทีเดียว เมื่อเราเข้าได้ฌาน ๒ ดีแล้ว เราก็กระตุกกายขึ้นไปให้ลำตัวตั้งตรง และให้คิดว่าฌาน ๓ อย่านึกถึงฌาน ๒ อีก ถ้านึกถึง จิตจะถอยลงมาตัวก็จะสั่นเพราะปีติ ดังนั้นเมื่อไปถึงฌาน ๓ แล้ว จิตของเราก็จะเข้าไปสู่ความสงบ บางครั้งก็พบกับความสุข นั่นคือรู้ว่าสุขกาย สุขใจ ฌานที่ ๓ จึงได้ชื่อว่า ฌานสุข
เมื่อเราไปอยู่ในฌาน ๓ พอสมควรแล้ว เราก็มีสติกำหนดที่จิตว่า ๔ กระตุกตัวขึ้นไปอีกให้กายตั้งตรง อย่าลดตัวลงมาให้อยู่นิ่งเฉย แล้วก็ผ่อนลมหายใจให้อ่อนลง ภาวนากรรมฐานโดยท่องเกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ ไปเรื่อยๆ จิตก็จะแนบขึ้นๆ แนบเข้าๆ เมื่อจิตสงบมากขึ้นแล้วบางคนก็พบว่า เท้าจะเริ่มชามือจะเริ่มชาขึ้นมา คือชาทั้งปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า แม้ที่ก้นของเราก็เริ่มชาขึ้นมา (ไม่ใช่เหน็บชา) ริมฝีปากก็ชา หากฌาน ๔ จับดีจะชาเข้าไปถึงลิ้นแม้ข้อมือ ตลอดถึงลำแขนและหัวไหล่ก็ชา ตัวจะเกร็ง เสียงที่มากระทบหูได้ยินแต่ก็วางเฉย แม้แต่ฟ้าผ่าลงมาดังเปรี้ยงก็ไม่สะดุ้งเลย เพราะจิตเป็นเอกัคคตา-อุเบกขา คือวางเฉย
ตรงนี้ที่ฝ่ายที่ปฏิบัติทางวิปัสสนา เขาตำหนิติเตียนว่าทำทางสมถะคือทำฌานนั้นไปพระนิพพานไม่ได้เพราะว่าไปติดฌานเสียนั่น การที่กล่าวเช่นนี้นั้นเป็นความหลงหรือเป็นโมหะของผู้กล่าว เพราะผู้กล่าวไม่รู้ถึงวิธีของการทำฌาน นอกจากนี้ยังไม่รู้ว่าเมื่อทำฌานแล้วจะไม่ให้ติดฌานได้อย่างไร โดยมากส่วนใหญ่ที่เห็นพวกปฏิบัติทางวิปัสสนานั้น เมื่อนั่งสมาธิแล้วถึงเวลาออกก็ลืมตาออกมาเฉยๆ ซึ่งถ้าขณะปฏิบัติอยู่ในสมาธิระดับลึก เช่น อุปจารสมาธิ หรือฌาน ๒, ๓, ๔ เวลาออกถ้าลืมตาเฉยๆ สมาธิก็จะค้างอยู่ ทางที่ถูกแล้วจะต้องถอยสมาธิออกมาเป็นขั้นๆเช่น จากฌาน ๔ ลงมา ๓, ๒, ๑ แล้วสลัดกายพร้อมกับสติที่คิดในใจคิดว่าออก ฌานก็จะไม่ค้าง พระพุทธองค์สอนไว้ดีแล้วสมบูรณ์ทุกอย่าง ทรงให้เข้าฌานออกฌานให้ชำนิชำนาญเป็นวสี
การเข้าฌานนั้นเราเข้าไปตั้งแต่ฌาน ๑ ขึ้นฌาน ๒ จากฌาน ๒ ขึ้นฌาน ๓ จากฌาน ๓ ขึ้นฌาน ๔ เรียกว่า ‘เข้าฌาน’ เวลาออกก็จะต้องรู้จักวิธีออกฌานด้วย การออกฌานนั้นให้กำหนดที่จิตว่าถอย ๓ โดยถอยจากฌาน ๔ ลงมาฌาน ๓ คือ ลดตัวลงมาหน่อยฌานก็จะถอยแล้ว เมื่อจิตคิดถอย ฌานมันก็จะลอยลงมา อุเบกขาจะค่อยหมดไป มาอยู่ที่ฌาน ๓ ซึ่งเป็นฌานสุข แล้วก็ถอยจากฌาน ๓ มาฌาน ๒ พอถอยมาถึงฌาน ๒ อุพเพงคาปิติ ก็ขึ้นโครมๆ กายโยกกายสั่นอีก ตรงนี้พวกที่ได้ฌานใหม่ๆ ติดมาก ที่มันติดเพราะมันสนุกชวนให้เพลินมาก รู้สึกมีกำลังวังชาด้วย แล้วก็รู้สึกกายมันเบาอยากกระโดดโลดเต้นไปด้วยซ้ำ ซึ่งถ้าจะกระโดดโลดเต้นก็จะออกอึกทึกไป เอาเพียงให้มันสั่น กายโยกกายสั่น กายคลอน บางทีหมุนติ้ว บางทีก็เอาแขนสองแขนตีปีกดังเหมือนไก่ก็มี บางทีก็ตบมือสองมือเลย มีลักษณะต่างๆ ปีติทั้งหมดมี ๕ ชนิดแต่ละชนิดมี ๘, ๙ อย่าง อาการของปีติทั้งหมดมีถึง ๓๘-๓๙ อย่าง เมื่อออกจากฌาน ๒ แล้วก็ให้ถอยมาฌาน ๑ แล้วออกจากฌาน ๑ โดยการสลัดหัวพร้อมกับคิดว่า “ออก” จากนั้นก็ลืมตาขึ้นเป็นการออกจากฌาน
การเข้าฌานตามขั้นเหมือนกับเราขึ้นบันไดเรือนขั้น ๑ ขั้น ๒ ขั้น ๓ ขั้น ๔ เวลาออกฌานก็เหมือนกับถอยหลังเดินลงมาจากขั้น ๔ มาขั้น ๓, ๒ และ ๑ และก็ลงถึงพื้นเป็นแบบนี้ ถ้าใครอวดดีไม่ลงตามขั้นฌาน คือไม่ถอยลงมาจะไปติดฌาน ๔ มันถอยไม่ออก จิตยังติดอยู่ในสมาธิระดับลึก เที่ยวเดินซึมอยู่นั่นแหละ เป็นคนไม่พูด แม้บางครั้งเขาถามอะไรก็ไม่ได้ยิน บางทีพูดอะไรคำหนึ่ง แล้วก็ไม่พูดต่อ มันหยุดเสียเพราะฌานยังค้างอยู่
ผู้ได้ฌานแล้วตั้งแต่ ฌาน ๒, ๓, ๔ อาจมีฤทธิ์มีอำนาจ วาจาสิทธิ์ได้ เพราะวาจามีสัจจะ เราจะว่าใครให้ฉิบหายเข้า ให้ป่นปี้อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ ถ้าว่าไปแล้วอาจเป็นจริงๆ ขึ้นมา เพราะตอนที่เรามีฌานอยู่ทุกวันนั้นจิตเราเป็นพรหม แม้กายเรายังเป็นมนุษย์อยู่ก็จริง แต่จิตเป็นพรหมจึงมีวาจาศักดิ์สิทธิ์ได้ อย่าได้พูดปรักปรำใคร อย่าได้กล่าวตำหนิใครในทางที่เสีย เขาอาจเสียจริงๆ ได้ เช่น สมมติว่าเห็นคนขึ้นต้นไม้ เราพูดเชิงเล่นว่า ‘เออ...ระวังนะ..มันจะตกลงมา’ อย่าพูดเข้า ถ้าพูดมันจะตกลงมาจริงๆ นี่สำคัญมาก ฉะนั้นเราต้องระวังความคิดระวังวาจา การทำฌานมีอานิสงส์มากมาย เช่น นอนก็หลับสบายไม่ฝันเลอะเทอะ ตื่นขึ้นมาก็สบาย จิตใจผ่องใส ไม่เศร้าหมองหน้าตามีสง่าราศีอิ่มเอิบด้วยเลือดฝาด ศาสตราวุธไม่กินกาย ไฟก็ไม่ไหม้บ้าน แม้ยาพิษก็ทำอันตรายไม่ได้ เป็นที่รักใคร่ของมนุษย์และอมนุษย์ทั้งหลาย เทวดาคุ้มครองรักษา เป็นผู้ที่มีโชคลาภ โรคภัยไม่ค่อยเบียดเบียน ถ้าใครเกิดตายลงขณะที่มีฌานก็จะไม่เกิดในอบายภูมิ (อันมี นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดียรัจฉาน) แต่จะไปเกิดในพรหมโลก ซึ่งมีอยู่ ๒๐ ชั้น เป็นชั้นของรูปพรหม ๑๖ ชั้น และอรูปพรหม ๔ ชั้น แล้วแต่กำลังที่เรามีฌานอยู่ ถ้าอยู่ในฌานที่ ๔ เต็มที่ ต้องไปเกิดในพรหมโลก ในชั้นที่ไม่เกิน ๑๑ คือวิสัญญีภพมีอายุยืนถึง ๕๐๐ กัป (๑ กัปเท่ากับ ๖,๔๒๐ ล้านปี)
ทุกสิ่งทุกอย่างที่อาจารย์แสดงธรรมในเรื่องการปฏิบัติฌานที่ว่า ตาทิพย์ หูทิพย์ อาจารย์ได้รู้ได้พบ ได้เห็นมาแล้วทั้งสิ้น เป็นของมีจริงเป็นจริง จึงยืนยันให้ศิษย์ทุกๆ คนจงเชื่อมั่นในคำสั่งสอนที่ให้ไว้นี้ ขอให้ตั้งใจปฏิบัติ เมื่อเราได้ฌานแล้ว เราก็จะรู้ทันทีว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นของมีจริง ทำให้เราศรัทธาอันแรงกล้าขึ้นทีเดียว แล้วที่เมื่อก่อนเคยดูหมิ่นว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่มีจริงอะไรเหล่านี้ เมื่อเราทำฌานได้เราจะรู้คุณค่าของพระธรรม ว่าพระธรรมเป็นของมีจริง เมื่อมีพระธรรมก็ต้องมีพระพุทธเจ้าจริง พระสงฆ์ก็อาศัยพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติตามจนหมาอาสวะ (กิเลสที่ละเอียด) ตามเยี่ยงอย่างพระพุทธเจ้า
ผู้ปฏิบัติมั่นคงอยู่ในศีลในธรรมทำฌานให้ได้ เมื่อทำฌาน ๔ ได้แล้ว จึงจะเริ่มวิปัสสนา การขึ้นวิปัสสนาคือการขึ้นไปหาธรรมปัญญา ปัญญารู้จักละกิเลส ขอเตือนสติไว้อย่างหนึ่งว่าในขณะที่เรานั่งฌานจิตอย่าคิดอยากได้ หากมีตัณหาคือมีความอยากมันก็มีกิเลส เมื่อมีกิเลสมันก็ก้าวหน้าไปไม่ได้ เราต้องรู้จักทำใจของเราเฉยๆ อย่าไปคิดอยากได้นั่นอยากได้นี่ ถึงจะนานแสนนานที่นั่งอยู่ก็ต้องอดทน ขั้นต้นต้องมีความอดทน มันจะเจ็บปวดอะไรก็ตามอย่าคิดอย่าเกา เช่นสมมติมันคันขณะนั่งก็อย่าไปเกา ถึงแม้ยุงกัดหรืออะไรก็ตามก็ต้องมีความอดทน ถ้าจิตคิดให้มือไปเกา หรือเคลื่อนไหวกายอะไรเข้าแล้ว จิตมันจะถอยทันทีเพราะจิตต้องไปสั่งงานให้กายเคลื่อนไหว จิตก็เริ่มถอย ไม่ยึดกรรมฐานเสียแล้ว นี่เป็นสิ่งสำคัญ ฉะนั้นทุกๆ คนเมื่อมีความมุ่งหมายต้องการที่จะไปพระนิพพาน หรือรู้จักพระนิพพาน เราต้องปฏิบัติตามคำสั่งสอนนี้อย่างเคร่งครัด
พระเครื่องรางต่างๆ ที่มีความศักดิ์สิทธิ์นั้นอาศัยฌานนี้ทั้งสิ้นในการปลุกเสก ไม่ใช่อาศัยอื่น ตัวคาถาที่เขียนเป็นอักษรขอมไว้นั้น มันไม่ได้เป็นอะไรขึ้นมาหรอกมันตัวหนังสือ ถ้าขลังจริงที่ตัวหนังสือก็ไม่จำเป็นต้องเอามานั่งนั่งเสกนั่งปรกตามที่เขาทำๆกัน แต่อาจารย์นี้ไม่สอนตามนั้น พระพุทธเจ้าห้ามไว้ การเล่นเครื่องรางของขลังเล่นไสยศาสตร์ต่างๆ ผิดศีล ผิดวินัยพระ เป็นอาบัติทีเดียวแหละ ผู้ที่มีความมุ่งหมายที่จะไปพระนิพพาน หรือพบพระนิพพาน จงเลิกสิ่งเหล่านั้นเสีย อย่าไปเล่น อย่าริเล่น เราตั้งใจให้มันรู้ให้มันเห็นแล้วก็ละกิเลส รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มันเกิดขึ้นที่ตัวเราขณะที่เรานั่งฌานนั่นแหละทุกอย่าง ไม่ใช่ไปเพ่งหาจากข้างนอก มันเกิดขึ้นให้เราพบให้เราเห็นให้เรารู้ เมื่อเราได้ยินเสียงเราก็ทำการละมันเสีย มีสิ่งใดที่เกิดขึ้นกับกายกับจิต ก็ให้รู้แล้วละมันเรื่อยไป จึงเรียกว่าทำวิปัสสนา ส่วนของวิปัสสนานั้นได้สอนไว้ ได้แสดงธรรมไว้ในเรื่องอิทธิบาท ๔ กับพละ ๕ ซึ่งต่อจากรูปฌาน ๔ นี้ไว้แล้ว
ที่แสดงมานี่เราทุกคนจงปลูกศรัทธาให้มั่นคง มีความอดทนเป็นสิ่งสำคัญ มีสัจจะคือความจริงใจในการที่จะกระทำที่จะปฏิบัติ อย่าเป็นคนเหลวไหลหละหลวม ผัดวันประกันพรุ่ง อย่าเป็นคนเกียจคร้านและรักษาศีลให้ดีให้เรียบร้อย คือขัดเกลากิเลสหยาบ ธรรมะคือสมาธิขัดเกลากิเลสอย่างกลาง เมื่อเรารักษาศีลดีเราก็จะนั่งสมาธิได้เร็ว คือ ศีลวิสุทธิ จิตก็จะวิสุทธิไปด้วย จิตคือสมาธินั่นเอง เมื่อจิตเราวิสุทธิ ทิฏฐิก็วิสุทธิ ทิฏฐิก็คือปัญหานั่นเอง กล่าวโดยสรุป ศีล สมาธิ กับ ปัญญา เป็นองค์ของมรรค ๘ ซึ่งย่อลงมา ถ้าเราปฏิบัติตรงแล้วทุกอย่าง เช่น รักษาศีลไว้ให้มั่นแล้ว มีสมาธิฌานเกิดขึ้นแล้ว ก็จะเกิดปัญญานำไปสู่การละกิเลส จึงขอเน้นว่าจงทำตามที่สั่งสอนนี้ขึ้นไปตามขั้นตอน ทำให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ตรงตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่อาจารย์ปฏิบัติอยู่นี้รู้แน่ชัด ขอยืนยันไว้กับศิษย์ทุกคนว่าไม่มีคำสั่งสอนใดที่อาจารย์คิดขึ้นเอง อาจารย์ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ครบถ้วนทั้งสิ้น จึงสามารถสอนพวกเราได้ ถ้าไม่รู้จริงอาจารย์ไม่กล้าสอนพวกเรา เพราะนรกเป็นของมีจริง การสอนให้ศิษย์ทำผิด ครูบาอาจารย์เป็นผู้ลงนรก ศิษย์ไม่เท่าไหร่หรอก นี่เป็นหลักสำคัญ จะอวดดีอวดเก่งไม่ได้ในการที่ปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ก่อนที่จะสอนศิษย์ของพระองค์ พระองค์ก็ได้ตรัสรู้แล้วเป็นพระอรหันต์แล้ว และพระอรหันต์ต่างๆ เช่น พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระกัสสปะเถระ ล้วนเป็นพระอรหันต์ระดับอัครสาวก มีอภิญญา ๖* ปฏิสัมภิทาญาณ ๔* ทั้งสิ้น การเขียนตำราใดๆ ขึ้นใหม่โดยอัตโนมัติเพื่อสั่งสอนผู้อื่นที่คิดว่าดี วิเศษยิ่งกว่าคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ที่มีอยู่ในอภิธรรมนั้น เป็นสิ่งที่ไม่สมควรกระทำ รู้ที่ใจไม่ใช่จากการพูด
*อภิญญา ๖ เป็นความรู้ชั้นสูงอันเกิดจากการปฏิบัติสมถวิปัสสนา ประกอบด้วย
๑. อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ได้
๒. ทิพโสต มีหูทิพย์
๓. เจโตปริยญาณ สามารถทายใจคนอื่นได้
๔. ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ระลึกชาติได้
๕. ทิพจักขุ (จุตูปปาตญาณ) มีตาทิพย์
๖. อาสวักขยญาณ คือทำให้อาสวะกิเลส (กิเลสละเอียด) หมดสิ้นไป
๕ อย่างแรก เป็นโลกียอภิญญา เสื่อมได้ยังไม่ถึงพระนิพพาน อย่างที่ ๖ คือ อาสวักขยญาณ เป็นโลกุตตรอภิญญา ทำให้กิเลสหมดสิ้น บรรลุถึงมรรคผลนิพพานได้
*ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ คือปัญญาแตกฉานมี ๔ อย่างด้วยกันคือ
๑. อัตถปฏิสัมภิทา แตกฉานในทางอรรถ
๒. ธัมมปฏิสัมภิทา แตกฉานในทางธรรม
๓. นิรุตติปฏิสัมภิทา แตกฉานในทางนิรุกติหรือภาษา
๔. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา แตกฉานในทางปฏิภาณ
อิทธิบาท ๔
เมื่อทำฌาน ๔ ผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่ก็อยากรู้ว่าอาการของฌาน ๔ เป็นอย่างไร เพื่อจะตรวจสอบดูว่าการปฏิบัติของตนถึงฌาน ๔ แล้วหรือยัง ลักษณะของฌาน ๔ นั้น จิตจะตั้งมั่นเป็นเอกัคคตา อุเบกขา คืออยู่ในอารมณ์ของความสงบระงับจากนิวรณ์ทั้ง ๕ ไม่ฟุ้ง ในเรื่องใดมีอารมณ์ที่เป็นกลางไม่สุขไม่ทุกข์ไม่ชอบไม่ชัง ไม่ปรุงแต่งต่อสิ่งที่มากระทบ มีสติสมบูรณ์รับรู้สิ่งต่างๆ ที่มาสัมผัสได้ แม้จะ มีเสียงดัง ให้ได้ยินไม่ว่าจะเป็นเสียงใด ก็สักแต่ว่ารู้ในเสียงนั้น โดยไม่เข้าไปปรุงแต่งให้จิตกระเพื่อมไหว หรือหากมีเวทนาเกิดขึ้นกับกาย กับจิตไม่ว่า จะเป็นสุขเวทนาหรือทุกขเวทนา โดยไม่ปรุงแต่งเป็นความยินดียินร้ายต่อเวทนานั้น จิตยังคงตั้งมั่นในอุเบกขาคืออารมณ์ที่ เป็นกลางเช่นนี้ จึงจะเข้าเรียกว่าเข้าถึงฌาน ๔
เมื่อเข้าถึงฌาน ๔ อย่างแนบแน่น ก็จะมีอาการทางกายตามมา เช่นชาที่ปลายนิ้วมือนิ้วเท้ามา อาการชาอาจจะปรากฏบนใบหน้า ริมฝีปาก หรือแม้กระทั่งลิ้น บางคนอาจจะชาที่ใบหน้าก่อน อาการชาจะมารวมที่ปาก จนบางทีปากยื่นออกไป บางครั้งหากไม่ชาก็จะมี อาการ เกร็งแข็งไปทั้งตัวเหมือนถูกตรึงไว้ ขยับเขยื้อนไม่ได้ ต้องคลายจากสมาธิหรือใช้กำลังอย่างแรงจึงจะขยับได้ เหล่านี้ล้วนเป็นอาการ ของฌาน ๔ ทั้งสิ้น
หากผู้ปฏิบัติทำฌาน ๔ ได้สมบูรณ์ดีแล้วจึงจะสมควรขึ้นวิปัสสนา การด่วนทำวิปัสสนาโดยยังไม่ได้ฌาน ๔ นั้น กำลังของ สมาธิ ไม่เพียงพอ แม้ว่าในช่วงทำวิปัสสนาเราไม่ได้ใช้สมาธิระดับฌาน๔ คือระดับอัปนาสมาธิ แต่เราใช้สมาธิระดับกลางคืออุปจารสมาธิ ิหรือ สมาธิในระดับฌาน ๓ แก่ๆ ก็ตามแต่ถ้าพื้นฐานของสมาธิไม่แข็งแรงดีแล้ว ก็ยากที่จะก้าวหน้าไปถึงระดับมรรคผลได้ นอกจากนี้ ยังถูกนิวรณ์ ๕ กวน และต้องเผชิญกับทุกขเวทนาจากการนั่งนาน ๆ จนทนกันแทบไม่ไหว ยิ่งไปกว่านั้นยังถูกโทสะกิเลสและกามราคะ ตีขึ้นมาอย่าง แรงด้วย ดังนั้นการได้สมาธิถึงฌาน ๔ จึงเป็นกำลังสำคัญของการทำวิปัสสนาเพื่อให้ผู้ปฏิบัติผ่านอุปสรรคดังกล่าวได้ และนำไปสู่มรรคผล ได้ง่ายกว่าการไม่ได้ฌาน ๔
ในการทำวิปัสสนานั้นผู้ปฏิบัติที่เข้าถึงฌาน ๔ ก็ต้องถอยสมาธิจากฌาน ๔ ลงมาเล็กน้อย เพราะสมาธิในฌาน ๔ จิตจะนิ่งสงบ อยู่ท่าเดียวไม่ยอมคิดถึงเรื่องอะไร จึงต้องผ่อนสมาธิลงมาให้อยู่ในระหว่างฌาน ๔ กับฌาน ๓ ที่ต้องถอยมาอยู่ระดับนี้แม้ในตำราหรือใน พระปริยัติธรรมจะไม่ได้บัญญัติไว้ แต่จากคำสอนของครูบาอาจารย์และจากการทดลองปฏิบัติด้วยตนเอง เห็นว่าได้ผลดีจึงถือว่า ใช้ในทางปฏิบัติได้เพราะการปฏิบัติเป็นสิ่งละเอียดอ่อน ผู้มีประสบการณ์แล้วจึงจะรู้ว่าใช้ได้หรือไม่ได้ เมื่อเห็นว่าใช้ได้โดยวัดผลจาก การปฏิบัติก็ถือว่าเป็นหลักในการปฏิบัติได้
การถอยจากสมาธิจากฌาน ๔ ลงมาอยู่ระหว่างฌาน ๓ ครึ่ง ไม่ได้มีเครื่องมือไปวัด แต่กะเอาประมาณเอา เพราะเรื่องของจิต เป็นนามธรรมเอาอะไรไปวัดไม่ได้ เมื่อถอยแล้วก็เลี้ยวไปทางซ้าย คือให้โยกตัวไปทางซ้ายเล็กน้อยจากนั้นด้วยกำลังของสมาธิก็จะทำให้ ตัวโยก กลับไปทางขวาแล้วโยกซ้ายขวาไปมา การที่ต้องโยกตัวไปมาเช่นนี้ก็ไม่มีบอกไว้ในพระปริยัติธรรมหรืออภิธรรมเช่นกัน แต่เป็นผล ที่ได้จาก ประสบการในการปฏิบัติ ซึ่งปฏิบัติแล้วได้ผลดี การที่พระอภิธรรมไม่ได้บัญญัติให้ทำเช่นนี้ ก็อาจจะทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดความลังเล สงสัยว่า เป็นวิธีปฏิบัติที่ถูกทางหรือไม่ ปฏิบัติแล้วจะนำไปสู่มรรคผลหรือไม่
เรื่องนี้ก็ขอให้พิเคราะห์ดูว่าในขณะปฏิบัติวิปัสสนานั้น สมาธิของผู้ปฏิบัติจะอยู่ระหว่างฌาน ๒กับฌาน ๔ สมาธิของฌาน ๒ มีปิติหล่อเลี้ยง ซึ่งเราได้ทำอุปเพงคาปีติมาแล้ว จนเกิดกายโยกไปมาหรือเกิดผรณาปีติรู้สึกขนลุกซูซ่า มีอาการซาบซ่านไปตามตัว หรือเกิดโอกกันติกาปีติ สมาธิของฌาน ๒ จะดึงลงมาให้ตัวสั่นตัวโคลง ขณะเดียวกันสมาธิของฌาน ๔ ก็จะดึงขึ้นไปให้อยู่ในอุเบกขา การดึงกันระหว่างกำลังสมาธิในฌาน ๔ และฌาน ๒ บางครั้งก็ทำให้ผู้ปฏิบัติตัวโยกเองโดยไม่ต้องสั่งให้โยกเมื่อทำวิปัสสนา
ผู้ปฏิบัติเป็นจำนวนมากมักจะสงสัยว่าทำวิปัสสนาโดยตัวไม่ต้องโยกได้หรือไม่นั่งอยู่เฉยๆคอยรู้ในกาย เวทนา จิต ธรรม ได้หรือไม่ รู้แล้วละในสิ่งที่รู้ เท่านี้ก็ทำวิปัสสนาได้ เรื่องนี้ขอให้พิจารณาดูว่าขณะที่เราขึ้นไปถึงฌาน ๔ นั้น กำลังของสมาธิจะมีมาก เมื่อลดลงมา อยู่ระหว่างฌาน ๓ กับฌาน ๔ ถ้านั่งเฉยๆ ไม่ช้าสมาธิก็จะแนบแน่นขึ้น เข้าไปอยู่ในฌาน ๔ อีก จิตก็จะนิ่งอยู่ในอุเบกขา ไม่สนใจในเรื่องอื่นใด เอาแต่จะอยู่ในความสงบท่าเดียว ซึ่งสมาธิเช่นนี้นำมาทำวิปัสสนาไม่ได้ การทำวิปัสสนานั้นสติและจิตจะต้อง คล่องแคล่ว ตื่นตัว ไวต่อ ความรู้สึกที่มากระทบ เหมือนนักเทนนิสที่พร้อมจะวิ่งเข้าไปรับลูกทุกทิศทางที่ฝ่ายตรงข้ามตีมา ด้วยเหตุนี้ การโยกตัวไปมาทางซ้ายขวาจึงช่วยให้สติและจิตตื่นตัวไม่เผลอเข้าไปอยู่ในฌาน ๔ และไม่ตกอยู่ในฌาน ๒ ที่รุนแรง เพราะถ้าตัวโยก ตัวสั่นแรงเกินไปก็ทำให้วิปัสสนาไม่ได้
เมื่อออกจากฌาน ๔ ลงมาอยู่ฌาน ๓ ครึ่ง และโยกตัวไปมาแล้วก็เจริญโพธิปักขิยธรรม ๓๗ อันเป็นธรรมที่นำไปสู่มรรคผล นิพพาน โพธิปักขิยธรรม ๓๗ มีดังนี้
๑. สติปัฏฐาน ๔
๒. สัมมัปปธาน ๔ หรือเพียร ๔
๓. อิทธิบาท ๔
๔. พละ ๕ ซึ่งถ้าแก่กล้าเป็นอินทรีย์ ๕
๕.โพชฌงค์ ๗
๖. มรรค ๘
หมายเหตุ สติปัฏฐาน ๔ และสัมมัปปธาน ๔ หรือเพียร ๔ ใช้ตลอดเวลาที่นั่งและไม่นั่งกรรมฐาน
สติปัฏฐาน ๔ คือการมีสติรู้ในฐานทั้ง ๔ อันมี
ฐานกาย ( กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน)
ฐานเวทนา ( เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน)
ฐานจิต ( จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน)
ฐานธรรม (ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน)
โดยรู้ว่าสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับกาย เวทนา จิต และธรรมนั้น มีธรรมชาติเป็นของไม่เที่ยง เกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป ไม่ใช่เป็นของสัตว์ บุคคลตัวตน เรา เขา เป็นเพียงเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติมิควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่น หากมีปรากฏการณ์ใด ๆ เกิดขึ้นกับกายกับจิต ก็ให้มีสติ รู้แล้วก็ละเสีย
สัมมัปปธาน ๔ คือความเพียรเพื่อ
๑. ปิดกั้นมิให้อกุศลธรรมที่ยังไม่ไห้เกิดขึ้นในจิต (สังวรปธาน)
๒. ขจัดอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นในจิตแล้วให้หมดไป ( ปหานปธาน )
๓. ทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นให้เกิดขึ้นในจิต ( ภาวนาปธาน )
๔. รักษาและพัฒนากุศลธรรมที่มีอยู่แล้วในจิตให้เจริญงอกงามไพบูลย์ยิ่งขึ้นไป( อนุรักขนาปธาน )
ธรรมหมวดสติปัฏฐาน ๔และสัมมัปปธาน ๔ นี้ ผู้ปฏิบัติเจริญแล้วขณะที่ทำฌาน๔และเมื่อทำวิปัสสนาไม่ต้องเจริญธรรมทั้งสองหมวดนี้ เพราะใช้ตลอดเวลา
สำหรับหมวดธรรมที่เหลือจะเจริญอย่างไร
เมื่อขึ้นวิปัสสนาให้เริ่มเจริญ อิทธิบาท ๔ ขณะที่กายโยกไปมาทางซ้ายขวานั้น ก็ให้ภาวนาอิทธิบาท ๔ ตามไปด้วย คือท่องในใจว่า ฉันทะ : ความพอใจในผลของการปฏิบัติ วิริยะ : ความเพียรในธรรมที่ปฏิบัติอยู่ จิตตะ : ความเอาใจใส่ในธรรมที่ปฏิบัติอยู่ วิมังสา : การใช้จิตตรึกตรองในธรรมที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดละออ ท่องไปช้า ๆ ๔ เที่ยว การท่องนอกจากจะเป็นการภาวนา หรือบริกรรมในธรรมหมวดนี้แล้ว ยังเป็นการตรวจสอบดูว่าธรรมในหมวดนี้เจริญขึ้นในจิตของเราแล้วหรือยัง กล่าวคือเมื่อภาวนาไปสัก ๒ เที่ยวแล้วก็สำรวจว่าฉันทะหรือความพอใจ เรามีความพอใจต่อการปฏิบัติหรือไม่วิริยะหรือความเพียร ได้เพียรปฏิบัติมากน้อยเพียงใด จิตตะหรือใจที่จดจ่อ เราจดจ่อต่อการปฏิบัติแค่ไหนวิมังสาหรือใคร่ครวญประมวลผล เราได้ไตร่ตรองใครครวญในธรรมและผลของการปฏิบัติหรือไม่ การตรวจสอบธรรมเหล่านี้ไม่ต้องใช้เวลาตรวจสอบมาก เดี๋ยวจิตจะฟุ้งไปในความคิด
ในขณะที่เราภาวนาอยู่กับองค์ธรรมของอิทธิบาท ๔ คือท่องฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา อยู่นั้นสติจะต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา แม้จะหลับตาแต่ก็เหมือนกับว่าสายตาของเราทอดไปในระยะปลายนิ้วของแขนที่เหยียดออกคือคะเนว่าถ้าเหยียดแขนไปตรง ๆ ปลายนิ้วสุดตรงใดก็ให้สายตาของเราพักอยู่ตรงหน้า ณ จุดนั้น ที่ต้องกำหนดจุดพักสายตาไว้ตรงนั้นก็เพราะว่าขณะที่ภาวนาอยู่นั้นอาจจะมีนิมิตเป็นภาพเกิดขึ้นที่ตรงนั้น ภาพนิมิตที่เกิดขี้นอย่าไปนึกอยากให้มันเกิด แต่ถ้ามันเกิดก็ปล่อยให้ให้เกิดตามเหตุปัจจัยของมันและมันจะเป็นภาพอะไรก็แล้วแต่ขอให้เรามีหน้าที่เพียงรู้ว่ามีสิ่งใด แล้วก็ละเสีย อย่าไปชอบอย่าไปชังเพราะถ้าชอบก็เป็นกิเลสฝ่าย ราคะ (ความรักความใคร่พอใจ) หรือ โลภะ ( ความโลภอยากได้ของเขา ) ถ้าไปชังก็เป็นกิเลสฝ่าย โทสะ ( ความโกรธ ) ถ้าเราไปหลงยึดติดก็จะเป็นกิเลสฝ่าย โมหะ ( ความหลงไม่รู้ ) นอกจากนี้การหลงยึดติดในนิมิต ก็ยังเป็น วิปัสสนูปกิเลส อีกด้วย
นิมิตเกิดขึ้นได้ทางทวารต่าง ๆ เช่น ตาจากการนั่งเห็นรูปหรือแสงสี บางทีก็เห็นเป็นแสงจุดเล็ก ๆแล้วสว่างจ้า บางทีก็เห็นเป็นพระพุทธรูป บางทีก็เห็นเป็นภาพสวรรค์ หรือภาพต่าง ๆ นา ๆ การเห็นนิมิตทางตาแม้จะหลับตาก็ตาม จะเป็นทางนำไปสู่ทิพจักขุ ( ตาทิพย์ ) หรือจักขุญาณ (เห็นด้วยตาใน ) นอกจากนี้ก็อาจจะมีนิมิตทางเสียง โดยหูของเราอาจได้ยินเสียงสวดมนต์แว่วมาทั้ง ๆ ที่ไม่มีวัดหรือมีใครสวดมนต์อยู่แถวนั้น นิมิตที่ปรากฏทางเสียงจะนำไปสู่ ทิพยโสต ( หูภายในได้ยิน)หรือโสตญาณ ที่เรียกว่าหูทิพย์ ซึ่งทั้งหูทิพย์และตาทิพย์นี้ เป็นที่ยอมรับกันในพุทธศาสนาว่ามีจริงเป็นจริงจะปฏิเสธว่าไม่มีไม่ได้ ผู้ปฏิบัติบางคนอาจได้กลิ่นหอมหรือกลิ่นประหลาดเข้ามากระทบจมูกชั่ววูบของลมหายใจ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีต้นเหตุของกลิ่นนันให้สัมผัสนี่ก็เป็นนิมิตทางกลิ่นเหมือนกัน หรือบางคนอาจจะได้นิมิตทางลิ้น คือรู้สึกว่ารสใด รสหนึ่งเกิดขึ้นทั้ง ๆที่ไม่ได้รับประทานอะไรในขณะนั้น หรือบางคนอาจจะได้นิมิตทางโผฏฐัพพะ คือเหมือนกับมีอะไรมาถูกต้องกาย เช่น เหมือนมีตัวไรมาไต่บนใบหน้าทำให้รู้สึกคันยุกยิก แต่พอลืมตาหรือเอามือมาลูบดูกลับไม่เห็นมีอะไร
ไม่ว่านิมิตจะเป็นอะไรเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป อย่าไปหลงไหล อย่าไปยึดติด อย่าไปชอบ อย่าไปชังขอเพียงมีสติ รู้ แล้ว ละ เสีย
ผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่มักจะเอานิสัยทางโลกเข้ามาปนกับการปฏิบัติทางธรรม นิสัยทางโลกนั้นหากประสบกับสิ่งที่ตนพอใจก็ชอบ อยากพบ อยากเห็น อยากสัมผัส อยากสัมพันธ์ อยากครอบครอง แต่ถ้าพบในสิ่งที่ตนไม่ปรารถนาก็ชัง ไม่อยากพบ ไม่อยากเห็น ดังนั้นเมื่อเจอนิมิตที่ตนพอใจก็อยากเจออีกหรืออยากให้อยู่นาน ๆ เป็น กามตัณหา เพราะมี ราคะกิเลส แต่ถ้าเป็นนิมิตที่ตนไม่พอใจก็อยากผลักใสไม่อยากให้ดำรงอยู่ เป็น วิภวตัณหา ( ความอยากในสิ่งที่ไม่อยาก) เพราะมี โทสะกิเลส (ความโกรธ) ซึ่งความชอบความชังดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มพูนกิเลสเข้าไปในจิตใจ แทนที่จะเอากิเลสออกจากจิต ดังนั้นจึงต้องมีสติคอยกำกับจิตและมีปัญญาเท่าทัน อย่าไปหลงไหลอย่าไปชอบ อย่าไปชัง เพียงรู้ รู้แล็วก็ ละ ( คือว่าที่ใจ หรือให้ใจว่า ละ นี่คือวิปัสสนา )
ความจริงถ้าเรามีอิทธิบาท ๔ ที่แก่กล้า เราก็จะไม่หลงในนิมิต กล่าวคือ ถ้ามีฉันทะหรือความพอใจต่อการปฏิบัติ รักที่จะปฏิบัติ มีวิริยะพากเพียรต่อการปฏิบัติโดยไม่เกรงกลัวต่อความเหนื่อยยาก มีจิตตะหรือมีใจจดจ่อต่อการปฏิบัติ แม้จะมีสิ่งใดเกิดขึ้นกับกายกับจิต ก็ระลึกรู้ทันท่วงทีด้วยการมีสติคอยกำกับเช่น รู้ว่ามีนิมิตเกิดขึ้นแล้วและมีวิมังสา คือใคร่ครวญไตร่ตรองในธรรมหรือในนิมิตที่เกิดขึ้นว่าเป็นของไม่เที่ยง ผ่านมาก็ผ่านไป ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ไม่ปรุงแต่งไปในทางที่ชอบที่ชัง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ ละ หรือ ปล่อยวาง ในนิมิตได้ หากทำได้เช่นนี้ตัววิมังสาก็จะเป็นตัวปัญญา
นอกจากนิมิตแล้วขณะที่เราภาวนอิทธิบาท ๔ คือท่องคำว่า ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา อาจจะมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งนอกเหนือไปจากนิมิตเกิดขึ้นกับกายกับจิตของเรา เช่น รู้สึก ปวด เมื่อย คัน ตัวหนัก ตัวเบา ตัวร้อน ตัวเย็น หรือมีอารมณ์จรไปเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็ให้รู้แล้วละเสีย ตัวรู้คือสติ ตัวละตัวปัญญา (สติ : ระลึกได้มีปัญญารู้ติดตามมา )
การเจริญอิทธิบาท ๔ จะเพิ่มพลังของสติและปัญญา อิทธิบาท ๔ หมายถึงการเดินไปด้วยฤทธิ์หรือก้าวไปด้วยฤทธิ์ แต่จะมีฤทธิ์ใดนั้นก็จะต้องมีกำลังหรือพละควบคู่กันไปด้วย เพราะถ้ามีฤทธิ์แต่ไม่มีกำลัง ฤทธิ์นั้นก็จะไปไม่รอด หรือมีกำลังแต่ไม่มีฤทธิ์ กำลังนั้นก็ไปได้ไม่ไกลเช่นกัน ดังนั้นธรรมะทั้งสองหมวดนี้จึงเกื้อกูลกัน ด้วยเหตุนี้เมื่อเราเจริญอิทธิบาท ๔ แล้ว เราต้องเจริญพละ ๕
พละ ๕
พละ ๕ คือธรรมที่เป็นกำลัง ถ้ามีขึ้นบริบูรณ์แล้วก็จะเป็นอินทรีย์ ๕ หรือธรรมที่เป็นใหญ่อันจะทำไปสู้ความสำเร็จ ประกอบด้วย ศรัทธา (ความเชื่อ ) วิริยะ ( ความเพียร) สติ ( ความระลึกได้ ) สมาธิ ( ความตั้งใจมั่น ) และปัญญา ( ความรู้ ) สติ อยู่กลาง คือสติทันกาล ผัสสะที่เกิดกับกายกับจิตรู้ทันทีแล้ว ละ
ในการเจริญพละ ๕ ก็คล้ายกับอิทธิบาท ๔ คือตัวยังคงโยกซ้ายโยกขวา พร้อมกับภาวนาคำว่า ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ว่าไปอย่างนี้ ๕ เที่ยว ว่าช้า ๆ ไม่ต้องย้อนหลัง เมื่อว่าไปสัก ๓ เที่ยว แล้วก็ลองตรวจสอบดูว่า ธรรมทั้ง ๕ หมวดนี้มีขึ้นในจิต เจริญขึ้นในจิตของเราแล้วหรือยัง ความหมายขององค์ธรรมทั้ง ๕ หมวดนี้มีขึ้นในจิตเจริญขึ้นในจิตของเราแล้วหรือยัง ความหมายขององค์ธรรมทั้ง ๕ มีดังนี้
ศรัทธา: คือความเชื่อถือ เราเชื่อในกฎแห่งกรรมที่ว่าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วหรือไม่ เชื่อในพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือไม่กล่าวคือการเชื่อในพระพุทธเจ้าว่ามี พระปัญญาธิคุณ ( ปรีชาญาณหยั่งรู้ ) ตรัสรู้ธรรมด้วยพระองค์เองหรือไม่ เชื่อในพระบริสุทธิคุณ ( ความหมดกิเลส) ว่าทรงมีจิตบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองหรือไม่ และเชื่อในพระกรุณาธิคุณ (ช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ถึงนิพพานด้วยการสั่งสอนธรรม) ว่าทรงเสียสละพระองค์สั่งสอนเวไนยสัตว์ ตลอดพระชนม์ชีพหลังจากทรงตรัสรู้แล้วหรือไม่ สำหรับการเชื่อในพระธรรมนั้น ไแก่เชื่อว่าธรรมของพระองค์ปฏิบัติแล้วนำไปสู่ความพ้นทุกข์ได้หรือไม่ ส่วนการเชื่อในพระสงฆ์นั้น ได้แก่ เชื่อว่าเป็นผู้สืบศาสนาให้ยืนยาวเป็นเนื้อนาบุญอันประเสริฐตวรแก่การสักการบูชาหรือไม่ หากเรามีความเชื่อในสิ่งนี้แล้วจึงจะเรียกได้ว่ามีศรัทธาในพระรัตนตรัย และถ้ามีศรัทธาเกิดขึ้นจะนำสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง ทุ่มเทแรงกายแรงใจเพราะเชื่อว่าการปฏิบัติเท่านั้นที่จะนำเราพ้นทุกข์ได้ แต่ถ้าเราขาดศรัทธา หรือมีศรัทธาไม่ลึกซึ้ง ก็ยังมีความลังเลสงสัย ไม่ทุ่มเทการปฏิบัติ มีความเกียจคร้าน ไม่เชื่อว่าปฏิบัติแล้วจะได้ผลจริง เมื่อเป็นเช่นนี้การปฏิบัติก็ไม่ได้ผล
วิริยะ: คือความเพียร หรือสัมมัปปธาน ๔ หรือเพียร ๔ นั่นเอง ซึ่งจะต้องเพียรหนักยิ่งขึ้นที่จะปฏิบัติเพื่อให้ไปถึงจุดหมายปลายทาง ความเพียรนี้ก็เหมือนกับความเพียรในอิทธิบาท ๔ แต่ความเพียรในพละ ๕ จะมีกำลังสูงยิ่งขึ้นไปอีก เพราะสมาธิมีกำลังดีขึ้น จิตละเอียดขึ้นศรัทธาแนบแน่นขึ้นจากการเพียรปฏิบัติก็จะได้พบปรากฎการณ์ต่าง ๆ ที่มากระทบ ทางสัมผัสทั้ง ๖ ไม่ว่าจะเป็นรูป (ตา) เสียง (หู) กลิ่น ( จมูก) รส(ลิ้น) โผฏฐัพพะ (กาย ) ธรรมารมณ์ ( ใจ) สิ่งที่กระทบนั้นจะละเอียดยิ่งขึ้นไป นิมิตที่ปรากฏก็จะละเอียดขึ้นไป ตามกำลังของสมาธิและตามความละเอียดของจิต
สติ: ความระลึกรู้สึกหรือรู้ตัวจะมีกำลังสูงขึ้น รู้ตัวเร็วขึ้นในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับกายกับจิตสติจะคล่องแคล่วว่องไวรับรู้ผัสสะที่มากระทบ ไม่ว่าจะเป็นทวารใดทวารหนึ่ง เช่น ตากระทบรูป หูกระทบเสียง จมูกกระทบกลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบโผฏฐัพพะหรือสิ่งที่สัมผัสกาย ใจกระทบธรรมารมณ์หรืออารมณ์ที่จิตคิด สติก็จะรู้ได้รวดเร็ว กำลังของสติจะคอยอุปการะจิต ให้จิตมีความแหลมคมและมีกำลังที่จะรู้และละ ต่อสิ่งนั้น (ซึ่งคือตัววิปัสสนาปัญญา ) โดยไม่ปรุงแต่งไปในทางที่ชอบที่ชัง จิตจะคลายจากกามคุณ ๕ อันมีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เท่ากับว่าจิตจะละจากอุปาทานในกามคุณ ๕ นั่นเอง เมื่อสติมีกำลังเช่นนี้ปัญญาก็เกิดตามมา เป็นปัญญาที่จะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ คือมรรคผลนิพพาน
สมาธิ: ได้แก่ความตั้งมั่นของจิต ขณะทำวิปัสสนาต้องควรตรวจดูว่า สมาธิของเราหนักไปอยู่ในฌาน ๔ หรือน้อยไปอยู่ในฌาน๒วิธีตรวจสอบก็โดยการสังเกตนิมิต โดยดูว่านิมิตที่เราเห็นเอียงไปทางซ้าย หรือทางขวา หรืออยู่ตรงกลาง ถ้าเอียงไปทางขวา แสดงว่าสมาธิหนักไปใกล้ฌาน ๔ ถ้าเอียงไปทางซ้าย แสดงว่าสมาธิอ่อนไปอยู่ใกล้ฌาน ๒ แต่ถ้าอยู่ตรงกลางหน้าก็แสดงว่าเราใช้สมาธิกำลังพอเหมาะการปรับสมาธิให้อยู่ในภาวะสมดุลทำได้โดยการปรับแต่งการโยกของกาย ถ้าสมาธิมากไปเฉียดอยู่ในฌาน ๔ กายจะโยกช้าหรือโยกเบาแทบจะหยุด ก็ให้โยกแรงขึ้นสักหน่อย แต่ถ้าสมาธิอ่อนไปเฉียดฌาน ๒ กายจะโยกเร็วแรง ก็ให้โยกช้าเบาลง สมาธิก็จะอยู่ในภาวะที่เหมาะสม ดังนั้นวิธีโยกกายจึงเป็นประโยชน์ในการปรับระดับของสมาธิอีกทางหนึ่งด้วย การปรับระดับของสมาธิดังกล่าวไม่มีอยู่ในพระอภิธรรม ที่รู้ได้ก็จากประสบการณในการปฏิบัติ ซึ่งกว่าจะพบอาจารย์ก็เสียเวลาไป ๔ - ๕ วัน เพราะไม่มีใครบอกใครสอนมาก่อน
ปัญญา: ได้แก่ความรู้ในธรรมที่เรากำลังปฏิบัติอยู่ ภาวนาอยู่ โดยตรวจสอบดูว่าธรรมในหมวดใดองค์ใดที่เราภาวนามาแล้วยังบกพร่องอยู่ก็ให้รีบแก้ไขเสีย การรู้ดังกล่าวคือตัวปัญญาแต่ถ้ารู้แล้วยังแก้ไม่ได้แสดงว่าปัญญาในพละ ๕ ของเรายังไม่ดีพอ เมื่อยังไม่ดีพอพละ ๕ ก็ยังไม่สมบูรณ์ และกำลังไม่สมบูรณ์ก็เป็นอินทรีย์๕ ไปไม่ได้ พละ ๕ สมบูรณ์มีกำลังเมื่อใดก็จะเป็นอินทรีย์ ๕ เมื่อนั้น ( คือมีสติรู้เท่าทันต่อผัสสะที่มากระทบ ทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รู้ละทันหมด)
อินทรีย์ ๕ : คือธรรมที่เป็นใหญ่นำไปสู่ความสำเร็จ ประกอบด้วยองค์ธรรมเช่นเดียวกับพละ ๕ คือมีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ต่างกันที่องค์ธรรมแต่ละองค์ในอินทรีย์ ๕ มีความสมบูรณ์หรือมีกำลังสูงกว่าพละ ๕ เช่น เมื่อถึงอินทรีย์๕ ตัวสติจะว่องไวและมีกำลังยิ่งขึ้น รู้ตัวเท่าทันต่อผัสสะที่มากระทบทุกอย่าง หากมีทุกขเวทนาเกิดขึ้น เช่น เจ็บปวดจากการนั่ง สมาธิในพละ ๕ ก็สามารถสู้กับเวทนาได้แต่ถ้าพละ ๕ ไม่แข็งก็อาจจะสู้เวทนาไม่ได้ ต้องเปลี่ยนท่านั่งหรือออกจากสมาธิเสียก่อนเป็นการอ่อนแอต่อการปฏิบัติธรรม
การปฏิบัติให้ถึงมรรคผลต้องสู้กับทุกขเวทนาอย่างไม่ยอมแพ้มัน จากประสบการณที่ผ่านมาอาจารย์เคยเจ็บจนไม่รู้จะทำอย่างไร เอาผ้ารองตั้ง ๒-๓ชั้น ก็แก้ความเจ็บปวดไม่ได้ เจ็บปวดเหมือนมีหนามมีเข็มมาทิ่มแทงที่ก้น แม้เจ็บจนเหงื่อไหลน้ำตาร่วงก็เคยแต่ว่าใจมันคล้ายเสือ มันสู้ไม่ยอมแพ้ ถ้าไม่หายปวดก็จะไม่ยอมออก นั่งเป็นชั่วโมงสองชั่วโมงสามชั่วโมงนี่คือการต่อสู้กับกิเลสมารโดยมีตัวกำลังเป็นตัวฮึดขึ้นมาในใจ นั่งสู้กับมันจนดึกดื่นค่อนคืนไม่ยอมแพ้
พละ ๕: นี้สติอยู่กลาง คือมีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา เมื่อเจริญวิปัสสนาแก่กล้าแล้ว สติของเราก็จะทันต่อผัสสะ เมื่อทันหมดทุกด้านเราก็ละมันทัน มันเกิดเมื่อไรก็ละทันเมื่อนั้นทั้งกายทั้งจิตจิตของเราก็ว่าง แต่อย่าลืมว่าผัสสะที่เกิดขึ้นนั้น จะมีอะไรก็ตามที่มากระทบกายเราเพียงแผ่วเบา เช่นคล้ายกับไรไต่ก็ละเพราะการปฏิบัติธรรมในส่วนวิปัสสนานี้ การที่ผัสสะใด ๆ ก็ตามที่เราได้รับไม่ว่ากระทบกายหรือกระทบจิต ย่อมประกอบไปด้วย ตัณหา (ความอยาก) ทั้งนั้น เช่นเรานั่งกรรมฐานอยู่และลมพัดโชยมาเรารู้สึกว่าเย็นสบาย เราเกิดมีความพอใจ ก็เป็นสุขเวทนา คือเป็น กามตัณหา (ความพอใจในกาม) หรือพวก ราคะ (ความใคร่หรือชอบในสิ่งใด ๆ ) แต่เมื่อเกิดอากาศร้อนอบอ้าวเพราะไม่มีพัดลม เราเกิดความหงุดหงิดไม่พอใจ เป็นพวก วิภวตัณหา จัดเป็นฝ่ายโทสะ ถ้าเราไม่รู้ว่าผัสสะที่เกิดขึ้นนั้นว่าเป็นตัณหาตัวไหน จิตของเราก็เป็น โมหะ การปฏิบัติธรรมเพื่อละกิเลส หรือราคะ โทสะ โมหะ และการที่เรารู้จักการตัดวัฏสงสารใด ก็ต้องตัดที่ตัวตัณหาให้สิ้นไป ธรรมตัวตัณหานี้ก็อยู่ในอริยสัจ ๔ คือตัว สมุทัย ซึ่งเป็นเหตุที่ให้เกิดทุกข์ ตัณหาพาให้เกิดทุกข์ เมื่อเราดับทุกข์เสียได้ทุกข์มันก็เกิดไม่ได้ การปฏิบัติ เพื่อหวังพระนิพพานเราจะต้องมุ่งอยู่ที่ตัวอริยสัจ พระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้ธรรมด้วยธรรมตัวนี้ และพระอรหันต์ทั้งหลายก็ตรัสรู้เช่นเดียวกับพระพุทธองค์ เคยพบบางหมู่เหล่า มุ่งสติปัฏฐาน ๔ เพื่อให้ถึงพระนิพพาน จะเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อธรรมสติปัฏฐานเป็นเพียงธรรมองค์หนึ่งของมรรคองค์ที่ ๗ เท่านั้น จะถึงพระนิพพานได้อย่างไร มรรคจะต้องสมบูรณ์ทั้ง ๘ องค์และยังจะต้องใช้ธรรมอีก ๖หมวดมาประกอบอีก รวมเป็นโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ การนำโพธิปักขิยธรรม ๓๗ มาปฏิบัตินั้น จะบริกรรมจากอิทธิบาท ๔ พละ ๕ (หรืออินทร์ ๕) โพชฌงค์ ๗ และมรรค ๘ ไปตามลำดับ ส่วนเพียร ๔ หรือสัมมัปปธาน ๔ ( มรรคองค์ที่ ๖ ) และสติปัฏฐาน ๔ ( มรรคองค์ที่ ๗ ) นั้น นำมาใช้ตอนเจริญวิปัสสนาทั้งเวลานั่งสมาธิและนอกเวลานั่งสมาธิ
การปฏิบัติวิปัสสนาต่อจากสมถะนั้นจักขุญาณมีจำนวนมาก เพราะมีปรากฏตามปฐมเทศนาคือธรรมจักษุ ที่พระพุทธองค์แสดงแก่พระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ เพราะจักขุญาณนี้เป็นวิชชาหนึ่งใน ๘ ที่จะทำให้เกิดผลในวิชชาบุพเพนิวาสานุสติญาณ เจโตปริยญาณ และจุตูปปาตญาณ ได้ด้วย ถ้าไม่มีจักขุญาณก็เท่ากับคนตาบอด วิชชาทั้ง ๘ ในพระพุทธศาสนานั้นเกี่ยวกับญาณทั้งสิ้น การจะเข้าถึงพระนิพพานได้ก็ต้องมีวิชชาอาสวักขยญาณ มีรู้เห็นนิมิต ตามพระไตรปิฏกกล่าวไว้ว่า " พระนิพพานนั้นไม่สำเร็จด้วยความนึกคิด แต่สำเร็จด้วยความเพียรติดต่อกันไม่ขาดสาย " ปีหนึ่งนั่งกรรมฐานเพียง ๓ เดือน เฉพาะในพรรษา และนั่งเพียงครั้งละ ๑๐-๒๐ นาทีนั้นอย่าหวังเลยจะพบสัจธรรม อาจารย์เพียรมาต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพัน คือตั้งสัจจะไว้ว่าถ้าไม่รู้ก็สู้แค่ตาย พระบรมครูของเรานั่นแหละเป็นแบบที่เราสมควรจะดำเนินตามกัน
ปัจจุบันมรธรรมปฏิรูปเกิดขึ้นหลายแห่งในประเทศไทย เราพึงระมัดระวังตัวให้จงหนักถ้าหากถลำตัวเข้าไปแล้วถอนตัวได้ยากนัก ทิฏฐิ มานะ อุทัจจะ เป็นกิเลสที่สำคัญ ผู้ที่จะพ้นสามตัวนี้ได้ก็มีแต่พระอรหันต์ อย่างไรเสียก็อย่าพึ่งไปคิดว่าฉันหมดสมมุติก่อนวิมุตเป็นอันขาด เพระพระนิพพานนั้นถึงด้วยใจ ที่รู้ว่าวิมุตตินั้นเป็นอย่างไร ลักษณะไหน วิมุตติด้วยวาจาคารมนั้นเป็น " นิพพานดิบ " ( นิพพานยังมีขันธ์ ๕ ) แต่วาจาไปด้วยคารมคมคายจนบางแห่งเคยพบคำสอนเป็นธรรมซึ่งพระอรหันต์ท่านดำรงอยู่มาสอนให้ปุถุชนทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ ธรรมสำหรับพระอรหันต์ซึ่งหลุดพ้นแล้ว แต่ท่านยังครองตนเป็นมนุษย์อยู่ ที่เรียกว่า " สอุปาทิเสสนิพพาน* " มาสอนให้ปุถุชนปฏิบัติกัน ถ้าใครทำตามได้รับผลเลย ก็คงไปนิพานกันหมดแล้ว จะเป็นไปได้หรือช่วยกันคิดดูเถิด….จบเพียงเท่านี้
* สอุปาทิเสสนิพพาน : หมายถึงนิพพานที่ยังมีอุปาทิเหลืออยู่ , ดับกิเลสแต่ยังมีขันธ์ ๕ เหลืออยู่ คือนิพพานของพระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่
วันก่อนได้สอนธรรมวิธีปฏิบัติขึ้นถึง พละ ๕ ไว้สำหรับผู้ที่ถึงพละ ๕ วันนี้จะแสดงธรรมแนวปฏิบัติตามแผนผังที่วางไว้ขอให้ทำความคิดความเห็นตามไป เพราะธรรมขั้นโพชฌงค์นี้เป็นธรรมที่ละเอียดมาก ถ้าทำถูกต้องสามารถทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าถึงพระนิพพานได้ เพราะธรรมในโพชฌงค์นี้มี สติ อยู่หน้า องค์ประกอบของธรรมแห่งสัมโพชฌงค์มีอยู่ ๗ ได้แก่
สติ คือ ความระลึกได้
ธัมมวิจยะ คือ ความสอดส่องในธรรม หรือ ความกลั่นกรองในธรรม
วิริยะ คือ ความเพียรหรือเพียร ๔ ที่เราเพียรภาวนานั่นแหละ
ปีติ คือ ความอิ่มเอิบกายใจ อาจมีอาการขนลุกขนพอง กายสั่น
ปัสสัทธิ คือ ความข่มกายข่มจิตไว้ให้สงบ
สมาธิ คือ ความมีจิตที่ตั้งมั่นเป็นหนึ่ง
อุเบกขา คือ ความวางเฉย ไม่ปรุงแต่งต่อผัสสะ ถ้าถึงดี กายจะหยุดจากโยกสว่างจ้าสบายมาก
ในการขึ้นโพชฌงค์ ๗ ก็คงขึ้นเหมือนอิทธิบาท ๔ พละ ๕ คือโยกตัวไปมาซ้ายขวาแล้วบริกรรมองค์ธรรมไปช้า ๆ เที่ยวเดียว เริ่มจากสติไปจนถึงอุเบกขา เมื่อภาวนาองค์ธรรมใดก็ให้ตรวจสอบดูว่าองค์ธรรมนั้นมีขึ้นในจิตของเราแล้วหรือยัง บกพร่องหรือบริบูรณ์ ถ้ายังไม่มีก็ทำให้มี ถ้าบกพร่องก็แก้ไขเราต้องภาวนาด้วยความสุขุม ละเอียด เพราะเป็นองค์ธรรมที่มีความสำคัญมาก
สติ : ตัวสติสัมโพชฌงค์ จะเป็นสติที่มีกำลังยิ่งกว่าสติใน พละ ๕ และอินทรีย์ ๕ เพระเป็นสติที่เข้มแข็งแคล่วคล่องว่องไว เป็นทัพหน้าที่จะต้องป้องกันมิให้ข้าศึกศัตรูอันได้แก่กิเลสเข้ามาย่ำยีจิตใจของเราได้ดังนั้นผัสสะทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับกายกับจิต สติจะรู้ทันเมื่อมีการกระทบ และคอยอุปการะจิตให้ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว คือไม่ปรุงแต่งไปในทางที่ชอบ ที่ชัง แต่ให้รู้แล้วละเสีย กิเลสก็จะเข้ามาย่ำยีจิตไม่ได้
ธัมมวิจยะ : คือความสอดส่องในธรรม อะไรเกิดขึ้นก็รู้ไม่ว่าจะเป็น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ก็ให้เราทำการ ละ ทันที โดยวิปัสสนานั่นแหละ สิ่งใด ละ ยังไม่ดับก็ใหับังสุกุลเสียโดยว่าอนิจจา วะตะสังขารา ทำไปอย่างนั้น เมื่อเรามีสติเข้มแข็งดีแล้ว ปัญญาก็มี เพราะปัญญาอยู่คู่กับสติ นี่ให้เราเข้าใจให้ถูกต้อง เมื่อสติเราแก่กล้าพอดีแล้ว เรารู้ก่อนคือรู้ล่วงหน้าสิ่งที่จะเกิดซึ่งมันเกิดขึ้นจริง ๆ การที่สติระลึกรู้อะไรได้ก่อนนั้นปัญญามันก็รู้ตามติดมาว่าเป็นอะไร คือ สิ่งที่เห็นนั้นเป็นรูปอะไรหมายความว่าอย่างไร ตัวรู้ ทันที นั้นเป็นตัวปัญญา…ธัมมวิจยะเป็นองค์ธรรมที่ช่วยให้เราสอดส่องในธรรมที่เกิดขึ้นกับกายกับจิต ซึ่งจะมีปรากฏการณ์เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลากับกายกับจิตของเรา เช่น มีสิ่งมาสัมผัสกายบ้าง สัมผัสจิตบ้าง หรือบางทีก็มีความรู้สึกเกิดขึ้นกับกาย เช่น บางทีปวด บางทีคัน บางทีเมื่อยและบางทีร้อน อาการต่าง ๆ เหล่านี้เรารู้แล้วก็ละทั้งสิ้น
วิริยะ : คือความเพียร เราเพียรปฏิบัติโดยโยกกายอยู่เรื่อย ส่วนจิตนั้นก็นึกคิดอะไรมีอารมณ์อย่างไร รู้แล้วก็ละเสีย เพื่อให้มีสัมปชัญญะและทำให้ไม่ง่วงเหงาหาวนอน เพราะมีความรู้สึกตัวอยู่เสมอ เราก็รู้ว่าเรากำลังนั่งภาวนาอยู่มีความพากเพียรอยู่ แม้จะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าเพียงใดก็อดทนไม่ท้อถอย.
ปีติ : พอขึ้นตัวปีติแล้ว มันจะรู้สึกวูบขึ้นมา นั่นปีติโสมนัสโพชฌงค์เริ่มจับแล้วเริ่มวูบ ๆ หรือซาบซ่านขึ้นมาตามผิวกาย หรือบนศรีษะ หรือบางทีก็มีตัวคล้าย ๆ กับผึ้งหรือตัวอะไรโตเท่าขนาดนิ้วก้อยมันวนอยู่รอบ ๆ บนหัวของเรา แล้วมันก็ลงมาเจาะที่บนกระหม่อมเรา หรือบางทีก็จะไต่เข้าไปในรูหูและบางทีก็มีตัวอื่น ๆ คล้ายแมงมุมก้าวยาว ๆ ไปตามใบหน้าของเรา ก้าวไปบนหัว นี่เป็นเรื่องของปีติทั้งนั้น มาก่อกวนและไอ้ตัวที่สำคัญคือที่คล้าย ๆ ตัวไรมันไต่จะเข้าจมูกเรา เข้าที่ขอบตา หรือเข้าในรูหูเรา บางครั้งเรา " ละ " มันแล้วแต่มันก็ยังจับมาก ๆ เข้าที่ริมฝีปากบนข้างรูจมูก ถึงเรา " ละ " บังสุกุลแล้วก็เหมือนกับเป็นก้อนตกลงมา ครั้นเราเผลอสติไปลืมตาดูก็ไม่พบอะไร นี่เป็นเรื่องของธรรมดาทั้งสิ้น มันเข้ามาทดสอบเพื่อจะทำให้เรารำคาญ เมื่อเรารำคาญแล้ว เราก็โกรธ เมื่อเราโกรธก็เป็นอันว่าเสียสมาธิหมดเป็นกิเลส รัก โกรธ เกลียด กลัว พอไปถึงตัว " ปีติ"อันนี้แหละมันทำเรื่องถ้าปล่อยไว้ให้" ปีติ"ซาบซ่านขึ้นมากแล้ว เดี๋ยวอุพเพงคาปีติกายสั่น กายคลอนก็เกิดขึ้นสั่นโครม ๆ กระโดดโลดเต้นเหมือนฌาน ๒ นั่นแหละ ซึ่งจะทำให้จิตหยาบจิตไม่ละเอียดเพราะฌานที่ ๒ นี้เป็นฤทธิ์ เราต้องปัสสัทธิ คือทำจิตให้สงบ ให้ปีติมันลง
ปัสสัทธิ : คือความสงบระงับด้วยการข่มไว้ กายนั้นให้โยกอยู่ แต่ปีติปัสสัทธิให้ลง สำหรับตรงนี้อาจารย์หลงอยู่ตั้ง ๕-๖ คืน คืนหนึ่ง ๕-๖ รอบ คือพอถึงปีติแล้วมันก็ขึ้นโครม ๆ ๆ เราก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ถามครูอาจารย์ท่านบอกว่าเมื่อจะถึงพระนิพพาน แล้วปีติใหญ่มันจะเกิดขึ้นเหมือนกับฌาน๒ นั่นแหละ แล้วทำไมเมื่อเกิดขึ้นแล้วเราไม่ถึงพระนิพพาน สักที เกิดโครม ๆ แล้วเดี๋ยวมันก็ผ่อนลงจนเหลือแต่ปลายนิ้วมือ และปลายนิ้วเท้าเท่านั้นที่ยังสั่นอยู่ เดี๋ยวก็เกิดขึ้นอีก วนเวียนอยู่อย่างนั้นเท่านั้นแล้วมันก็กลับมาตั้งต้นใหม่อีก กลับมาตั้งต้นที่สติโดยที่เราไม่รู้ ธรรมมันกลับมาเอง เพราะมันไปไม่รอดไปติดอยู่ตัวที่ ๔ คือที่ตัว " ปีติ" นี่ให้พึงระวังถ้าปฏิบัติไปแล้วเจอเข้าอย่างนั้นแล้วให้ระวังแล้วธรรมตรงนี้ จะมีนิมิตเกิดขึ้นมาก อย่างอาจารย์นี้มีนิมิตมาก่อนเห็นนิมิตเลข ๗ เห็นเป็นตัวเลขอารบิก เป็นตัวสีทองจึงได้รู้ว่าอ้อ…นี่มันโพชฌงค์ ๗ แน่เพราะจำได้ว่าโพชฌงค์ ๗ แต่ก็จำบัญญัติไม่ได้ว่ามีชื่ออะไรบ้างในตอนนั้น เมื่ออกจากกรรมฐานแล้วจึงมาเปิดดูที่ธรรมวิภาค ปริเฉทที่ ๑ พออ่านดูก็รู้ว่าอ้อ…มี สติ ธัมมะวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา พออ่านจบเราก็รู้ทันทีว่าเราบกพร่อง ตัว ธัมมวิจยะ คือความสอดสิ่งในธรรมไม่เพียงพอ คือสอดส่องว่าที่มันเกิดขึ้นนี้มันมันเป็นอะไรอย่างนี้ คือปีติ มันเป็นปีติอะไร ปีติในโพชฌงค์นี้จะต้องเป็นเพียง ผรณาปีติ คือรู้สึกซาบซ่านขนลุกซู่ ๆ หรือรู้สึกวูบ ๆ ขึ้นมาตั้งแต่ปลายเท้าขึ้นไปถึงศรีษะและเราปัสสัทธิ มันก็ลงเท่านั้นเอง ถ้าปล่อยให้เกิดเป็นอุปเพงคาปีติขึ้นโครม ๆ เหมือนฌาน ๒ นั้นแล้วก็จะปัสสัทธิไม่ลง นอกจากจะออกฌานเท่านั้นเอง เมื่อปัสสัทธิไม่ลงจิตมันก็หยาบ เมือ่จิตหยาบแล้วตกลงว่าที่จะไปลงอุเบกขาสัมโพชฌงค์มันก็ลงไม่ได้ เพราะจิตมันเป็นสมาธิที่ตั้งมั่นเป็นอุปจารสมาธิอย่างแก่ไม่ได้ แล้วนิมิตที่ตรงนี้บางทีก็เห็นเป็นบันได ๗ ขั้น แต่เวลาลงเราไม่ลงตามขั้นบันได กลับไปลงทางราวบันไดเสีย ก็มีนิมิตที่เห็นพระรูปหนึ่งท่านเดินลงมาตามขั้นบันไดให้เห็น เราก็รู้ทันทีว่า อ้อ…ท่านสอนเราให้ลงตามขั้นบันได คือขึ้นตามขั้นของมันด้วยบริกรรมภาวนา แล้วเวลาเมื่อเราจะลงก็ถอยลงลงมาตามขั้นของมัน เป็นอย่างนี้แล้วก็มีนิมิตอื่น ๆ อีก ตรงที่โพชฌงค์นี้
สมาธิ : คือการมีจิตตั้งมั่นซึ่งเมื่อเราปัสสัทธิลงได้แล้ว เราพยายามหายใจให้อ่อนลงให้มาก เมื่อผ่อนลมหายใจกายก็โยกอยู่มันก็จะโยกน้อยลงเรื่อย ๆ ตอนแรกนั้นโยกค่อนข้างหยาบแล้วมันก็จะโยกเบาลง ๆ พอถึงตัวสมาธิ อันนี้แหละจิตเกือบแนบ มีลักษณะคล้าย ๆ กับฌานที่ ๔ นั่นแหละเป็นอุปจารสมาธิอย่างแก่ จิตจะรู้สึกแนบแล้วเราจะรู้สึกว่าศรีษะนี้เย็นเหมือนกับว่าเอาน้ำแข็งมาตั้งไว้ สำคัญมาก จิตใจเยือกเย็น พอสมาธิแนบแน่นเต็มที่แล้ว ก็ลงอุเบกขา
อุเบกขา : เมื่อปฏิบัติ มาถึงอุเบกขาสัมโพชฌงค์นั้น กายที่โยกอยู่ก็จะหยุดกึก พอหยุดนิ่งแล้วก็จะเกิดมีความสว่างขึ้นข้างหน้า จ้า มีสีเขียว สีเหลือง สีแดง สีน้ำเงิน สีขาวคล้าย ๆ อย่างนั้นที่เรียกว่า ฉัพพรรณรังสี แจ้ง จ้า แล้วกายนั้นหยุดนิ่ง ถึงเราจะโยกอีกแต่โยกได้ทีเดียวแล้วมันก็หยุด เพราะถึงที่แล้วถึงสถานีแล้ว กายนี้เหมือนกับว่าลอยขึ้นไปบนอากาศ แล้วรู้สึกว่ามีความสุขมากกว่าตรงอุเบกขาฌานที่ ๔ เพราะตอนนี้ธรรมสัมปยุตมาแล้วด้วยอิทธิบาท ๔ พละ ๕ เมื่อพละ๕ แก่กล้ากลายเป็นอินทรีย์ ๕ ธรรมจะสัมปยุตกันไปเรื่อยคือรวมใหญ่ เพราะศีล,สมาธิ,ปัญญา พร้อม เราขึ้นโพชฌงค์ถ้าสัมปยุตลงดีแล้ว มันก็หยุดกึก แนบแน่น สว่างจ้า ไม่มีอะไร หมดสิ้นทั้งรูปทั้งเสียง กลิ่น รส ต่าง ๆ ไม่มี จะรู้สึกว่าสบายที่สุด นี่เป็นหลักธรรม ส่วนนิมิตต่าง ๆ ในขั้นธรรมโพชฌงค์นี้มีมากกว่านี้แต่ที่แสดงให้ฟังเพียงย่อ ๆ เพียง ๒-๓ อย่างเท่านั้น
ที่สำคัญที่สุดที่ธรรมโพชฌงค์ คือเมื่อถึงตรงที่สมาธิหรือใกล้จะถึงตัวสมาธิ เราสามารถดับขันธ์ ๕ ได้คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ดับไป โดยขณะที่เราโยกกายอยู่น้อย ๆ นั้นเราหลับตาดูอยู่เราจะเห็นรูปของเรากายของเรานี้นั่งขัดสมาธิอยู่ แล้วรูปกายของเรานี้ค่อย ๆ จางลง จางลงจนที่สุดแล้วจะใสเหมือนกับกระดาษพลาสติกหรือกระดาษแก้ว แล้วหายวับไปเราดูเท่าไร ๆ รูปของเราก็ไม่มี รูปไม่มีนี่เรียกว่ารูปดับ
พอรูปดับ เราก็เริ่มสังเกตเวทนา คือสุขเวทนา ทุกขเวทนา มีไหม หมายถึงว่ามันดับไปด้วย ทีนี้เราตรวจดูสัญญาหรือความจำ ดูว่าสัญญาต่าง ๆ ที่เราจำอะไรไว้ได้บ้าง เช่น นโม ตัสสะ…นี้เราก็จำได้ทุกคนเราจะนึกว่า ออกมามันก็นึกไม่ออก จะเอาเรื่องอไรมันนึกไม่ออก รู้สึกว่าจิตมันแนบจนนึกอะไรไม่ออก เราก็รู้ได้ทันทีว่านี่สัญญาดับ
ทีนี้ตัวสังขารคือความนึกคิดต่าง ๆ ทีจะคิดปรุงแต่งเรื่องอะไรมันก็ไม่มี…รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มันดับไปหมดสิ้น สังขารมันก็เกิดขึ้นมา ปรุงแต่งไม่ได้
แล้ววิญญาณคือตัวรับรู้ซึ่งปกติเมื่อมีผัสสะหรือมีอะไรมากระทบก็รับรู้ เช่น ตาเห็นรูปก็รู้ว่าเห็นรูปหูได้ยินเสียงก็รู้ว่าได้ยินเสียง แต่เมื่อตัวรูปดับประสาทสัมผัสต่าง ๆ ก็ดับไปด้วย ดังนั้นตัววิญญาณที่จะทำหน้าที่รับรู้สิ่งที่มากระทบจากปากประสาทสัมผัสก็พลอยดับไปด้วย
เมื่อขันธ์๕ ดับแล้วขณะที่เราอยู่ในสมาธิสัมโพชฌงค์ก็ให้เรานั่งอยู่เฉย ๆ เท่านั้น นั่งเฉย ๆ นิ่ง ๆ ไม่น้อมจิตไปข้างหน้าหรือข้างหลังทั้งสิ้น ตามตำราเกือบทุกเล่มนั้นสอนไว้ว่า เมื่อดับขันธ์๕ได้แล้วให้ น้อมจิตไปสู่พระนิพพาน การน้อมจิตเข้าสู่พระนิพพาน นั่นแหละคือตัวกิเลส เพราะตัว น้อม นั้นคือตัว ภวตัณหา คือ อยากมี อยากเป็น อยากพบ อยากเห็น อยากรู้ อยากได้ เมื่อมีตัณหาคือความอยากมันก็มีกิเลส ฉะนั้น อย่านึกน้อมจิตเป็นอันขาด อย่าน้อมไปข้างหน้าและอย่านึกไปข้างหลัง การคิดไปข้างหน้านั้นเป็นอนาคตเป็นเป็น สังขาร คือคิดปรุงแต่งในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ส่วนการไปข้างหลังนั้นเป็นอดีตเป็น สัญญา คือจำในเรื่องที่ผ่านมาแล้วดังนั้นจึงต้องไม่ให้นึกคิดทั้งเรื่องในอนาคตและเรื่องในอดีต นั่งอยู่เฉย ๆ อย่างนั้นแหละ แล้วจะเกิดธรรมสัมปยุตขึ้นมาเองจึงจะเป็นทางไปถึงพระนิพพานได้.
ธรรมสัมปยุตนี้ยังจะไม่สอนเพียงแต่จะกล่าวให้ฟังย่อ ๆ เมื่ออาจารย์ปฏิบัติอยู่ตรงโพชฌงค์นี้คืนหนึ่งนั่ง ๕ รอบ ได้ทั้ง ๕ รอบ ตั้ง ๗ คืน อยู่กับโพชฌงค์ก็ไม่รู้จะไปอย่างไร อาจารย์ท่านก็สอนให้น้อมจิตเขาสู่พระนิพพาน เราก็น้อม พอน้อมแล้วมันก็หงายไปข้างหลังทุกที เหมือนกับว่าหัวไผฟาดพื้น มันหงายไปคล้าย ๆ กับถูกถีบออกมานั่นแหละเป็นเพราะเรามันอยากเข้าพระนิพพานก็เลยถูกถีบออกมานั่นแหละ ถ้าเราจะเข้าได้ก็เข้าได้เอง ไม่ต้องไปน้อมอะไรมัน เพราะการน้อมนั้นเป็นตัณหา ให้เข้าใจอย่างนี้
ฉะนั้นผู้ปฏิบัติที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นธรรมโพชฌงค์ได้แล้วก็จงขึ้นไป อย่ามัวเล่นอยู่ที่พละ ๕ เพราะเวลามันฟุ้งซ่านขึ้นมาแล้วจะเอาไม่อยู่ เพราะขาดธัมมวิจยะ คือขาดปัญญานั่นเองธัมมวิจยะนั่นเป็นตัวปัญญา จำไว้ แล้วฌาณ ๒ ของเราเข้าไม่แข็งเมื่อถึงธรรมโพชฌงค์แล้วจะหนักมาก มันหนักมากเหลือเกินเวลาเราออกจากสมาธิแล้วจะรู้สึกว่ามึนงงไปหมด บางทีก็ง่วงเหงาหาวนอน เพลียต้อวงนอนเลย ให้รู้ไว้เถอะว่านั่นเป็นเพราะว่ากำลังยังไม่พอ คือพละ ๕ ยังไม่พอ และฌานยังไม่พอ ฉะนั้นเราจะต้องปรับปรุงสมาธิเรื่องอุเบกขาฌานเสียให้ดี ปรับปรุงขณะที่อยู่โพชฌงค์นี่แหละ โดยโยกกายให้น้อยลง หายใจให้อ่อนให้เบาผ่อนลมหายใจให้อ่อนแล้ว " ละ " ตัวอารมณ์ที่นึกคิดต่าง รูปต่าง ๆ " ละ " ให้หมด อะไรเกิดขึ้น " ละ " ให้หมด อะไรเกิดขึ้นก็ " ละ " ละทุกอย่างนั่นแหละจงจำไว้
ธรรมต้องปฏิบัติไปตามขั้นของธรรม เช่น ผู้ที่ได้ฌาน ๔ แล้วจะขึ้นไปทีเดียวตั้งแต่อิทธิบาท ๔ พละ ๕ อินทรีย์ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรค ๘ จนถึงอเนนชธรรม ก็ได้ แต่อาจจะขึ้นได้สัก ๑-๒ ครั้งแล้วภายหลังก็ขึ้นไม่ได้ เพราะกิเลสมันมากนักข้างบนนั่น ละเอียดด้วย มันตีถอยหลังหมดเราก็ไม่เคยรู้เคยพบศิษย์บางคนที่ทะนงตัว ขึ้นไปได้ถึงอเนนชธรรมแล้วเข้าใจว่าเก่ง ไม่ทำฌานให้ดีเลยถอยตกลงมาจนกระทั่งฌาน ๔ ก็เข้าไม่ได้ นี่เป็นอย่างนี้ เพราะประมาทในเรื่องการทำฌาน ให้รู้ว่าฌาน ๔ นี่เป็นบาทวิถีหรือทางที่เราจะก้าวเดินขึ้นไป ถ้าไม่มีฌานแล้วเราจะสู้กับทุกขเวทนาไม่ได้เลย ทุกขเวทนาอย่างร้ายแรงที่ตรงนี้แหละ ตรงโพชฌงค์นี่แหละ
ที่อิทธิบาท ๔ และโพชฌงค์นี้ อาจารย์เคยพบ๒ ครั้ง ทุกขเวทนาแรงมากถูกมดขี้หมาขึ้นมากัดครั้งแรกสู้ได้ ๔๕ นาที ทนไม่ไหว มันกัดทั่วไปหมดทั้งร่างกาย อีกคืนหนึ่งย้ายที่นั่งไปนั่งอีกที่หนึ่ง แล้วก็เอาจีวรห่มคลุมทั้งหมด ทั้งที่นั่งและที่รองนั่งด้วย เอาเหน็บไว้แน่นหมด ไม่ให้อะไรเข้ามาได้ พอนั่งได้ราวประมาณ ๑๐ นาที ก็รู้สึกว่าทีเวทนาเกิดขึ้นที่สีข้าง มันเหมือนมีตัวอะไรมากัด เหมือนมดกัดไม่เอา ละมันไปหรือดับมันไป ดับได้บ้าง ไม่ได้บ้าง คอยรักษาจิตให้เพ่งไปข้างหน้าอย่างเดียว ให้จิตตั้งมั่นอย่างเดียวจน รู้สึกว่ามันขึ้นมาที่สีข้างซ้ายและข้างขวาที่คอ ที่ต้นคอ แต่ข้างล่างไม่ลงไป ขึ้นตั้งแต่บั้นเอวขึ้นไป ขึ้นไปจนถึงหู จนถึงบนหัว ทีนี้การปฏิบัติของอาจารย์กำลังเคร่งครัด ไม่ท้อถอย ไม่ยอมถอย สู้ตั้งแต่สองทุ่มจนเที่ยงคืนกว่ารวดเดียว ๔ ชั่วโมงกว่าก็รู้ทันทีว่าระหว่างทุกขเวทนานี้ ถ้าเราขาดสติควบคุมจิตให้ดีก็จะแพ้มัน แต่ถ้ามีสติคุมจิตให้ตั้งมั่นได้แล้วจะเหมือนกับเส้นด้ายขึงตึงอยู่ข้างหน้า รู้ว่าจิตแยกออกจากกายได้เด็ดขาดและเมื่อพ้นไฟก็คิดว่าจะออกไปถามอาจารย์สักทีหนึ่งว่าทำอย่างไรทุกขเวทนามันถึงจะดับได้หนา คือคิดว่าเป็นเวทนาที่มันเกิดขึ้นมาจากภายในไม่ได้รู้ว่าเป็นเวทนาภายนอก การที่มดกัดเรานี้เป็นเวทนาภายนอก แต่ถ้าเกิดปวดเมื่อยขึ้นมาข้างในนั้นเป็นเวทนาภายใน
เวทนานอก - เวทนาใน จิตนอก -จิตใน เป็นสิ่งที่ต้องรู้ จิตนอกคือวิญญาณหรือตัวรู้อันเกิดจากสิ่งที่มากระทบทางประสาทสัมผัสนั่นเอง จิตในคือจิตแท้เป็นตัวรู้ที่เกิดจากภายใน สัมผัสนอก - สัมผัสใน สัมผัสนอกคือเสียงต่าง ๆ ที่มาจากภายนอก หรือรูปต่าง ๆที่มาจากภายนอกที่ตาเนื้อเรามองเห็นอยู่นี่เรียกว่าสัมผัสนอก สัมผัสในคือเมื่อเรานั่งหลับตาแล้วเกิดนิมิตขึ้นภายใน คือตาเราเห็นรูป จมูกได้กลิ่น นั่นเป็นสัมผัสใน และก็ให้รู้ถึงกลิ่นที่มาถ้าเผื่อว่ามีคนถือดอกไม้ผ่านมาจริง ๆ นั่นก็เป็นสัมผัสนอก แต่ชนิดที่ไม่มีวัตถุใด ๆ แล้วเราได้กลิ่นหอมขึ้นมาเอง นั่นเป็นสัมผัสใน นี่ให้รู้เวทนานอกเวทนาใน,จิตนอก, จิตใน แล้วกายนอก-กายใน กายนอกก็คือรูปของเรานี่แหละ นี่เป็นกายนอก ทีนี้เรานั่งหลับตาแล้วเห็นตั้เราเองออกไปนั่งอยู่ข้างหน้าหรือเดินไปก็ตาม นั่นเป็นกายในกายแล้ว
พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า ให้เรามองเข้าข้างใน ให้เห็นกายในกายอยูเนืองๆ ทีนี้ถ้าใครเห็นตัวเราเองออกไปข้างนอก ไปนั่งอยู่ข้างหน้าบ้างหรือเดินไปบ้าง นั่นแหละเป็นกายในกายของเรา ให้เห็นอย่างนี้ให้เห็นกายในกายอยู่บ่อย ๆ เห็นเป็นปกติ บางครั้งก็เห็นกายนี้เน่า เปื่อย พังลงไปหมดเหลือแต่โครงกระดูกจนกระทั่งกระดูกนั้นก็ละลายกลายเป็นขี้เถ้า ถ้าถึงตรงนี้แล้วเป็นธรรมสัมปยุตได้เลย
อย่ากลัวเป็นอันขาดที่ตัวเราเห็นว่าตัวเองเน่าเปื่อยผุพังเพราะรู้แล้วว่าทุกคนก็ต้องตายนั่นเป็นธรรมแสดงความตายให้เห็นว่าต้องเปื่อยต้องพังไป ทีนี้บางคนพอเห็นอย่างนั้นก็กลัวเสียแล้ว บอกว่าเป็นผีหลอกแล้วผีของเราเอง ตัวเราเองต้องกลัวด้วยหรือ อย่าหลง ถึงผีใดๆ ก็ตามขึ้นมายืนตรงหน้าเห็นเน่าเปื่อยผุพัง ก็ให้น้อมนึกว่าเราเองก็ต้องเป็นเช่นนั้น น้อมเข้ามาหาตัวเราว่าตัวเราก็เน่าเปื่อยพังไปเหมือนกัน ถ้าทำได้อย่างนี้ รูปมันก็ดับ ถ้ามันไม่ดับเราก็ " ละ " แล้วบังสุกุลเสีย มันก็ดับเอง นี่เป็นหลักสำคัญมาก
เมื่อขึ้นโพชฌงค์ได้ดี ลงอุเบกขาสัมโพชฌงค์ได้ทุกครั้ง โดยกายจะหยุดนิ่งตรงนี้ ถ้ากายังโยกอยู่มันไม่ลง แสดงว่าอุเบกขาสัมโพชฌงค์ของเรายังไม่สมบูรณ์ จำไว้ว่ากายมันหยุดของมันเอง จากนั้นเราก็ขึ้นมรรคได้เลย เมื่อขึ้นโพชฌงค์ได้ดีแล้ว พอเราขึ้นมรรค เราก็กระตุกกายขึ้นขึ้นไปโยกซ้ายขวาแล้วบริกรรมสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป … เหมือนกัน วันนี้จบเพียงธรรมสัมโพชฌงค์ไว้เพียงเท่านี้
ขอเตือนทุก ๆคนอย่าหวั่นไหวต่อความเป็นไปที่เราเห็น เรารู้ เราได้ยิน ไม่ต้องกลัวอะไรทั้งสิ้นอะไร ๆ เกิดขึ้นก็ละแล้วบังสุกุล นี่เป็นตัววิปัสสนา ถ้าละแล้วบังสุกุลยังไม่ดับ ก็ให้สวด อิติปิ โส ภควา ว่าหลาย ๆ จบ นี่เป็นวิธีแก้ อย่าลืมตาออกไป อย่าหนี อย่าหนีธรรม ให้สู้ธรรม ถ้าใครสู้ธรรมได้แล้วก็ชนะจะข้ามฝั่งได้ บางคนเห็นตัวเองเน่าพังก็กลัวผี กลัวผีตัวเอง ออกจากสมาธิเลย ไม่ต้องกลัวให้ปฏิบัติไปนั่นเป็นการถูกต้องแล้วที่เป็นเช่นนั้น ธรรมสัมปยุตแล้ว มันจะรวมแล้ว การที่จะเข้าไปให้ถึงพระนิพพานได้นั้นขันธ์ ๕ จะต้องดับการเข้าพระนิพพานดิบ ๆ คือยังมีขันธ์ ๕ อยู่ด้วยนั้นไม่มี พระพุทธองค์ไม่ได้สอนฉะนั้นบางคนที่ปฏิบัติธรรมทางวิปัสสนาที่เคยได้ยินว่าตนเองนั้นได้ธรรมพระโสดาแล้วนั้น พระโสดาดิบ โสดาที่ธรรมไม่สัมปยุต โสดาที่ขันธ์ ๕ ไม่ดับ
ขันธ์ ๕ ดับได้แล้วและละสังโยชน์ ๑๐ ได้แล้ว ก็เข้าถึงพระนิพพาน โดยที่เรายังมีชีวิตอยู่ ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้เป็นพุทธศาสนาสุภาษิตว่า นิ??พพานํ ปรมํ สุขํ คือนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ใครเข้าถึงพระนิพพานแล้วก็มีแต่ความสุขสงบอย่างเดียว เมื่อออกมาแล้วเราก็ยังครอง สังขาร ๓(๑) นี้ หรือวิบากนี้หรือขันธ์ ๕ นี้อยู่ เป็น วิสังขาร(๒) ถ้าเป็นสังขารเป็นขันธ์ ๕ ก็เรียกว่า วิสุทธิขันธ์ คือ ขันธ์ที่ไม่มีพิษไม่มีภัยแล้วไม่เป็นอันตราย เป็นขันธ์ที่หมดกิเลสแล้ว ขันธ์นี้สงบแล้วมีวิราคะธรรม มีอนาลโยแล้ว คือเรายอมตาย เราไม่กลัวตายนั่นแหละเรียกว่าไม่อาลัยในขันธ์ ๕
ทุก ๆ คนไม่ว่าหนุ่มสาว แก่เฒ่า มีสภาพ ความเป็นไปของชีวิตก็ต้องตายทั้งสิ้นอย่าได้เป็นผู้ประมาท อย่าเป็นผู้ผลัดวันประกันพรุ่ง จงรีบไขว่คว้าหาธรรม หาธรรมที่สูงสุดให้มีอยู่ในจิตเราให้ได้ แล้วเราก็จะพบแต่สันติสุขในอนาคต ในชาตินี้ สำหรับผู้ที่ยังอ่อนอายุนั้นให้เข้าใจว่า ผู้ที่ได้ธรรมพระโสดานั้น ก็ยังครองเรือนมีลูกมีผัวได้ทั้งนั้นไม่ใช่ห้าม แต่ถ้าพ้นจากพระโสดาไปแล้ว เช่นได้ธรรมพระสกทาคามี นั่นมีไม่ได้แล้วต้องโดดเดี่ยว ธรรมพระสกทาคามีและธรรมพระอนาคามีนี่ไม่มีแล้ว พดถึงธรรมขั้นพระอนาคามีนั้น ราคะ ตัดได้หมด เด็ดขาด และ โทสะ ก็ละได้หมดเด็ดขาดจึงไม่มีการที่จะมาครองเรือนมีผัวมีเมียกันอีก เพราะตัดเสียแล้วซึ่งความผูกพันที่จะทำให้เกิดมีการปฏิสนธิจิตแก่สัตว์โลก ธรรมโพชฌงค์นี้ก็แสดงมาประมาณ ๓๐ นาที คงจะพอดี…จบเพียงเท่านี้...
* สังขาร ๓ : หมายถึงสภาพที่ปรุงแต่ง อันมี
๑. กายสังขาร : สภาพที่ปรุงแต่งกายได้แก่ อัสสาสะ ปัสสาสะ คือลมหายใจเข้าออก
๒.วจีสังขาร : สภาพที่ปรุงแต่งวาจา ได้แก่ วิตก , วิจาร
๓.จิตตสังขาร : สภาพที่ปรุงแต่งใจ ได้แก่ สัญญา (ความจำ) และเวทนา ( ความรู้สึก )
สังขาร ๓ :ในที่นี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้เข้านิโรธสมาบัติ ซึ่งกายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร ดับไป ตามลำดับ
*วิสังขาร :หมายถึงธรรมที่ปราศจากปรุงแต่ง คือพระนิพพาน
มรรค ๘
คราวที่แล้วได้แสดงธรรมแนวปฏิบัติโพชฌงค์ ๗ สำหรับวันนี้จะแสดงธรรมต่อไปเรื่องมรรค ๘ ในการที่จะปฏิบัติธรรมขั้นมรรค ๘ นั้น ให้เข้าใจว่าธรรมที่จะปฏิบัตินี้เป็นธรรมที่สูงยิ่งขึ้น ละเอียดยิ่งขึ้น ละเอียดมาก ฉะนั้นเราจะต้องฝึกสติให้แข็งตั้งแต่โพชฌงค์ เมื่อจะขึ้นมรรค ๘ พอลงอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ตัวที่โยกซ้ายขวาก็จะหยุดนิ่งอย่างที่แสดงธรรมไว้แล้วนั่นแหละ
เมื่อจะขึ้นมรรค ๘ เราก็กระตุกกายขึ้นนิดหนึ่งเพื่อให้สติตื่นตัว พอกระตุกขึ้นแล้วก็โยกกายไปทางซ้ายขวาแล้วบริกรรมภาวนา…
๑. สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นชอบในอริยสัจ ๔
๒. สัมมาสังกัปโป คือ การดำริชอบ (ที่จะออกจากกาม)
๓. สัมมาวาจา คือ การเจรจาชอบ
๔. สัมมากัมมันโต คือ การทำงานชอบ
๕. สัมมาอาชีโว คือ เลี้ยงชีพชอบ
๖. สัมมาวายาโม คือ เพียรชอบ หรือเพียร ๔
๗. สัมมาสติ คือ การมีสติชอบ หรือสติปัฏฐาน ๔
๘. สัมมาสมาธิ คือ การมีใจตั้งมั่นชอบ หรือมีฌาน ๔
บริกรรมอย่างนี้ช้าๆ เมื่อบริกรรมอยู่เราก็จะต้องทำความเข้าใจในความหมายขององค์ธรรมแต่ละองค์ไปด้วย ในระยะแรกหรือเมื่อขึ้นมรรค ๘ รอบสองรอบแรก เราจะภาวนาเฉพาะหัวข้อขององค์มรรคไปก่อนก็ได้โดยยังไม่ต้องทำความเห็นในความหมายขององค์ธรรม ต่อไปจึงค่อยทำความเข้าใจความหมายขององค์ธรรม แต่ละองค์ให้ชัดเจน ถ้าจำไม่ได้ก็ต้องท่องให้เข้าใจก่อน ความหมายของธรรมแต่ละองค์มีดังนี้
สัมมาทิฏฐิ ...คือมีความเห็นชอบ โดยเห็นอริยสัจ ๔ ได้แก่ ทุกข์ คือความไม่สบายกายไม่สบายใจ ที่เกิดกับเรา ขณะที่นั่งกรรมฐานอยู่ เราต้องรู้แล้ว ละ มันเสีย ถ้า ละ แล้วไม่ดับก็บังสุกุล ไม่ว่าเจ็บที่กายหรือที่ใจของเรานึกคิดต่างๆ ก็ต้องละให้หมด เห็นสมุทัย คือเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ได้แก่ ตัณหา อันมีกามตัณหา ได้แก่ ความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ภวตัณหา ได้แก่ความอยากเป็นนั่นเป็นนี่ และวิภวตัณหา ได้แก่ ความอยากไม่เป็นนั่นเป็นนี่ เหล่านี้ล้วนนำมาซึ่งความทุกข์ เราต้องละมันเสียอย่าให้มีความอยาก นิโรธ คือ ความดับทุกข์เราต้องทำให้แจ้ง ส่วนมรรคมีองค์ ๘ เราต้องเจริญและเราก็กำลังเจริญอยู่
สัมมาสังกัปโป คือดำริชอบ อย่างไรที่เรียกว่าดำริชอบ คือดำริออกจากกาม กามมี ๒ อย่าง อย่างหนึ่งคือวัตถุกาม อย่างที่สองคือกิเลสกาม คือที่เรานั่งทำวิปัสสนาเพื่อละ โดย ละราคะ ละโทสะ ซึ่งเป็นกิเลสตัวสำคัญที่เกิดขึ้นกับจิตมีลูกหลานเยอะแยะ ตัวราคะก็คือตัวที่เราชอบ สิ่งใดที่เรารักเราชอบเราพอใจสิ่งนั้นจัดเป็นพวกราคะทั้งสิ้น สิ่งใดที่เราไม่ชอบ เราเกลียดไม่อยากจะดู ไม่อยากจะพูด ไม่อยากจะจับต้อง สิ่งนั้นจัดเป็นพวกฝ่ายโทสะ ถ้าเราไม่รู้ทั้งสองอย่างนี้ว่าอันไหนฝ่ายราคะอันไหนฝ่ายโทสะ เราก็มีโมหะหรือผู้หลง และก็อย่าได้ออกนอกลู่นอกทางที่สอนไว้ ถ้าใครปฏิบัติออกนอกลู่นอกทางที่แสดงธรรมไว้นี้ ก็จัดว่าเป็นโมหะอีกเหมือนกัน
ตัวสัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปโปนี้เป็นตัวปัญญา ขึ้นมรรคแล้วใช้ปัญญาอยู่หน้า เมื่อขึ้นโพชฌงค์มีสติขึ้นหน้า เพราะเราต้องทำสติให้แข็งจนมีสติรู้ก่อนกาลรู้ก่อนเกิด เมื่อขึ้นมามรรค ๘ แล้วหมายความว่าสติแก่กล้าดีแล้ว เราก็ใช้ปัญญาขึ้นหน้า ท่านเรียงไว้อย่างนั้นในหลักพระปริยัติธรรมนับว่าถูกต้องแล้ว เพราะใช้ปัญญาเป็นใหญ่จากการทำความเห็นชอบ
สัมมาวาจา คือเจรจาชอบหรือพูดชอบ ได้แก่ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ เราพิจารณาไปตามลำดับอย่างนี้เลย เมื่อเราพิจารณาไปอย่างนี้ถ้าวันนี้เราทำผิด เช่น พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อมันจะขึ้นมาที่จิตทันที รู้ทันที อ้อ…วันนี้เราพูดมากไปหรือวันนี้เราเกือบโกหกไป หรือโกหกเลยก็มี เรารู้ที่มรรคนี่เมื่อรู้แล้วก็จะเกิดความร้อนใจร้อนกายขึ้นมา แต่ถ้าเรากล่าวไปโดยไม่เจตนา เราพลั้งเผลอสติไป เราก็จัดแจงวิรัติเสียหรืองดเว้นเสีย ต่อไปก็ต้องระมัดระวังอย่าให้พลั้งเผลออีก และถ้าเป็นสามเณรเมื่อรู้ว่าศีลข้อนี้ขาดก็รีบต่อทันทีไม่ใช่ว่ารอไว้จนวันพรุ่งนี้
สัมมากัมมันโต คือการทำงานชอบ เราก็ไล่ดูทำความเห็นไปในตัว การงานชอบคือไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่ดื่มสุราเมรัย นี่เป็นการงานชอบ เราไล่ไปอย่างนี้ ถ้าเราทำอะไรผิดพลาดใน ๓-๔ ข้อนี้มันก็จะขึ้นมาทันที บางทีขึ้นทั้งรูปทั้งนิมิตและขึ้นทั้งความรู้ขึ้นมา บางทีขึ้นทั้งตัวรู้และขึ้นทั้งนิมิตขึ้นมาทุกๆ อย่างเลยทีเดียว
สัมมาอาชีโว คือการเลี้ยงชีพชอบ คือเราไม่ค้าของเถื่อน ไม่ขายสุราเมรัย ไม่ขายยาพิษ ไม่ขายศาตราวุธ ไม่ขายสัตว์เป็นให้เขาเอาไปฆ่าหรือค้าทาสค้ามนุษย์ ถ้าเป็นพระก็ต้องงดเว้นดิรัจฉานวิชา ต้องเลี้ยงชีพโดยบิณฑบาตนี่อยู่ในสัมมาอาชีโว
ธรรมทั้งสามข้อ คือสัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว เป็นศีลจัดเรียงอยู่ในลำดับกลางมีปัญญาอยู่ต้น
สัมมาวายาโม คือเพียรชอบ ได้แก่เพียร ๔ หรือสัมมัปปธาน ๔ นั่นเอง คือ สังวรปธาน เพียรระวังไม่ให้บาปอกุศลเกิดขึ้นในสันดานในจิตของเรา ถ้ามันเกิดขึ้นก็ใช้เพียรข้อที่ ๒ ปหานปธาน คือประหารมันเสียหรือละมัน ตัวละนั่นแหละเป็นตัวประหาร ข้อที่ ๓ ภาวนาปธาน คือเพียรภาวนาเพื่อให้บุญกุศลหรือสิ่งดีงาม ที่ยังไม่มีในจิตให้เกิดขึ้นในจิตของเรา ก็ที่เรานั่งบริกรรมภาวนาอยู่นี่แหละเป็นตัวภาวนาปธาน ข้อที่ ๔ อนุรักขนาปธาน คือเพียรรักษาจิต เราก็รู้ว่าเรารักษาจิตของเราดีหรือไม่ อนุรักขนาปธาน คือการรู้รักษาจิต รักษาจิตของตนไม่ให้เศร้าหมองหรือไม่ให้เป็นอกุศล การรักษาจิตเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเราทุกๆ คนผู้ปฏิบัติธรรมรู้จักรักษาจิตแล้วกิเลสมันจะยุ่งกับเราไม่ได้มากหรือบางทีอาจไม่มีเลย ในวันหนึ่งๆ มีแต่ความสงบเพราะเราทำอนุรักขนาปธานคือการรักษาจิตให้เป็น บางคนที่งุ่นง่านเดือดดาลรุ่มร้อนไม่รู้จักรักษาจิต ปล่อยให้จิตท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ ๑๘ ตำบล ๑๘ ตำบล คืออะไรบ้าง ก็คือตัณหา ๓ คูณด้วยประตูทั้ง ๖ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๓ คูณ ๖ ก็เท่ากับ ๑๘ นั่นแหละ ๑๘ ตำบล เป็นสถานที่จิตมันท่องเที่ยวไปแล้วก็ไปพาเอาบาปอกุศลมาสู่จิต ดังนั้นตัวสัมมาวายาโม หรือความเพียรชอบ จะเป็นตัวคอยรักษาจิตไม่ให้ท่องเที่ยวไปในแดนต่างๆ ที่เป็นอันตรายต่อจิต
สัมมาสติ ข้อที่ ๗ คือสติปัฏฐาน ๔ นั่นเองมี กาย เวทนา จิต ธรรม ให้ระลึกถึงสติปัฏฐาน ๔ ที่เรากำลังนั่งทำอยู่นั่งปฏิบัติอยู่นั้นเราต้องมีสติ เราต้องรู้ว่าอะไรสัมผัสกาย เช่น ร้อนหนาว เย็น แข็ง อ่อน หรือมันคัน มันเมื่อย มันปวด ที่เรา ละ มันนั่นแหละเรียกว่ากายหรือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน กายนี้มีเพียงธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ประกอบกันขึ้นมาเป็นกายนี้ องค์ที่ ๑ มีความตรึกตรองเพียงเท่านั้น ส่วน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ได้แก่ ความรู้สึกต่างๆ เช่น สุข ทุกข์ ไม่สุข ไม่ทุกข์ ที่เกิดขึ้นกับกายกับจิตก็ตาม เรารู้เราเห็นก็ทำการละทันทีเพราะตัวละเป็นตัววิปัสสนา จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ได้แก่ ความรู้ในอารมณ์ของจิตโดยรู้ว่าจิตเราเศร้าหมองหรือผ่องแผ้ว สงบหรือฟุ้งซ่านนี่คนฉลาดต้องรู้ตรงนี้ เพราะอยู่เฉยๆ จิตมันขึ้นกรุ่นๆ ยังไม่มีเรื่องอะไร เราต้องรู้แล้วจิตนั่นเศร้าหมอง เมื่อจิตเศร้าหมองเราก็ทำการ ละ ทันทีหรือบังสุกุลให้มันดับเสียจากความเศร้าหมอง เพราะเมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว เดี๋ยวก็หาเรื่องหาราวมาให้เรายุ่งแหละ เมื่อจิตผ่องแผ้วดีแล้วเราก็รักษาจิตที่ผ่องแผ้วไว้ด้วยอนุรักขนาปธานนั่นเอง ให้รู้จักอย่างนี้ส่วน ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ได้แก่ การรู้ในสิ่งที่จิตคิด อันได้แก่ นิวรณ์ ๕ เป็นต้น หากเรานั่งภาวนาอยู่แล้วมีความรู้สึกยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นั่นแสดงว่าเรามี กามฉันทะ หรือรู้สึกขัดเคืองโกรธ ใครคนใดคนหนึ่ง แสดงว่าเรามี พยาบาท หรือจิตมีความหดหู่ ซึมเซา ง่วงนอน แสดงว่ามี ถีนมิทธะ หรือจิตฟุ้งซ่านไปถึงเรื่องอดีต เรื่องอนาคต แสดงว่ามี อุทธัจจกุกกุจจะ หรือมีความลังเลสงสัยในการปฏิบัติตลอดจนในคำสอนแสดงว่ามี วิจิกิจฉา เมื่อรู้ว่าจิตมีอาการเหล่านี้ก็ให้ ละ เสีย
สัมมาสมาธิ คือความมีใจตั้งมั่นชอบ ในที่นี้หมายถึงฌาน ๔ นั่นเอง เราต้องสำรวจฌานของเรา ที่เราเข้าฌานมาก่อนที่จะเจริญมรรค ๘ นั่นฌานของเรา เวลานี้สมบูรณ์อยู่หรือไม่ต้องสำรวจให้รู้ ถ้ามีฌาน ๔ ก็มีอาการปลายเท้าปลายมือชาหรือริมฝีปากชา หากมีอาการอย่างนี้แล้วก็หมายความว่าเรามีฌาน ๔ อยู่ครบ ถ้าที่ปลายมือปลายเท้าหรือริมฝีปากไม่ชา เราก็ต้องปรับปรุงสมาธิ คือ โยกกายให้อ่อนหายใจให้อ่อน ปรับฌานเสียให้ถูกต้อง คือทำฌานให้มีฌาน ๔ ให้ได้ เพราะในมรรคตัวที่ ๘ นี้ท่านบัญญัติไว้ว่าให้มีรูปฌาน ๔ อยู่อย่างสมบูรณ์ เมื่อฌาน ๔ สมบูรณ์ เวลาเราโยกกายไปๆๆ มันจะหยุดเอง ไม่ใช่เราหยุดมัน ธรรมะมันหยุดเอง กายของเราที่โยกไปมานั้นหยุด ค่อยๆ โยกเบาลงๆ แล้วหยุดกึก จากนั้นก็จะจ้าคล้ายๆ เหมือนธรรมโพชฌงค์ แต่ธรรมตอนนี้มันสัมปยุตมาตั้งแต่ต้นจนถึงสัมปยุตด้วยมรรค ๘ แล้วความสุขความสบายของเราก็เบาเหมือนลอยอยู่ในอากาศ แล้วรู้สึกเหมือนกับไม่มีฌาน ตัวมันเบา มันคล่อง สบายมากกว่าอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ถ้าธรรมถูกต้องแล้วจะต้องรู้ชัดอุเบกขาฌาน อุเบกขาสัมโพชฌงค์ และสัมมาสมาธิมรรค ๓ แบบนี้มีลักษณะต่างๆ กัน ความสบายผิดกัน ธรรมยิ่งสูงยิ่งสบายมาก ถ้าใครถึงแล้วก็รู้เองชัดว่า อ้อ…นี่คือมรรค ๘ ที่สัมปยุตมาแล้วด้วยอิทธิบาท ๔ พละ ๕ อินทรีย์ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรค ๘
เมื่อเจริญมรรค ๘ ก่อนที่มรรคจะสมบูรณ์เราจะพบนิมิตหลายอย่างที่อาจารย์พบสำหรับตัวอาจารย์เอง ด้วยสมาธินิมิต เห็นจาน ๘ ใบตั้งอยู่บนโต๊ะ แล้วรู้ด้วยว่าที่เห็นจานขาวๆ นั้น จานกระเบื้องตั้งอยู่ ๘ ใบ จานขนาดเดียวกันทั้งหมด เราก็รู้ว่านี่คือมรรค ๘ และถ้าเราดูภายในจาน มีอาหารเต็มเปี่ยมทุกจานทั้ง ๘ ใบ นี่แสดงว่ามรรคของเราเต็มสมบูรณ์แล้ว มรรคทั้ง ๘ สมบูรณ์ คือถ้าย่อลงมา ศีล สมาธิ ปัญญา มีกำลังเท่าเทียมกันแล้ว แต่มีนิมิตขยายให้เห็นทั้ง ๘ เราก็รู้ได้ทันที เมื่อสมบูรณ์อย่างนี้แล้วก็สามารถที่จะสัมปยุตลงถึงพระนิพพานได้ เช่นเดียวกันที่โพชฌงค์ ๗ ก็ถึงพระนิพพานได้ ที่มรรค ๘ ก็ถึงพระนิพพานได้ ฉะนั้นเราพึงทำความเห็นในมรรค ๘ ให้ดี
แล้วในมรรค ๘ นี้ถ้าใครลุล่วงหมดกิเลสตัดสังโยชน์ ๑๐ ได้ ธรรมปฏิจจสมุปบาทจะเกิดขึ้น คือมีลักษณะเหมือนกับโซ่เส้นโตๆ มีห่วง ๑๐ กว่าห่วง โซ่ที่เกี่ยวโยงกันแล้วหมุนอยู่ตรงหน้าเราเห็นเป็นวงกลม ถ้าเราตัดโซ่นั้นขาดได้เราก็หมดกิเลสแน่ในชาตินี้ ที่อาจารย์พบเป็นความจริงเช่นนี้ โซ่เหล็กนั้นขาวไม่มีสนิม คือธรรมปฏิจจสมุปบาทเป็นธรรมขั้นสูง ตั้งแต่ อวิชชา นั่นแหละตัวไม่รู้ ทำให้มี สังขาร มีสังขารก็มี จุติวิญญาณ มีวิญญาณก็มี นาม-รูป มีนาม-รูปก็มี สฬายตนะ มีสฬายตนะก็มี ผัสสะ มีผัสสะก็มี เวทนา มีเวทนาก็มี ตัณหา มีตัณหาก็มี อุปาทาน มีอุปาทานก็มี ภพ มีภพก็มี ชาติ แล้วก็มี ชรา พยาธิ มรณะ ตามมา… เวลาทำธรรมปฏิจจสมุปบาทไล่ไป ไล่มาได้ สำคัญที่ตัดห่วงโซ่ที่ร้อยรัดสัตว์โลกให้เวียนว่ายตายเกิดนี้ ตัดตรงไหน ต้องตัดที่ตัณหา ไม่ทำกรรมดีกรรมชั่ว ทำแต่มหากุศลนี้เท่านั้น คือปฏิบัตินี่เท่านั้น เช่นบางคนทำกรรมชั่วก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีก ทำกุศลมากทำบุญทำทานรักษาศีลมาก ก็ไปเกิดในสวรรค์อีกเป็นอย่างนี้ ถ้าเราตัดเสียซึ่งกรรมคือไม่กระทำ สวรรค์เราก็ไม่ปรารถนา นรกเราก็ไม่ต้องการ เราก็ไม่เอาทั้งนั้น เราตัดหมดเรียกว่าตัดกรรมได้ นี่เป็นหลักที่สำคัญและตัวที่ตัดคือตัว ละ นั่นเอง เพราะฉะนั้นในการปฏิบัติธรรมหัวใจสำคัญก็คือรู้แล้วละ ละทั้งดีละทั้งชั่ว ละทั้งชอบละทั้งชัง ตัณหาก็จะไม่เกิดขึ้น การปรุงแต่งก็จะไม่เกิดขึ้น
นิมิต ๒ อย่างนี้ที่เคยพบมา ยังมีอื่นๆ อีกแต่ว่ายกตัวอย่างมาเพียง ๒ ตัวอย่างนี้ก็เห็นว่าพอจะเป็นที่เหมาะสมแก่เวลา
ฉะนั้นทุกๆ คน ที่ประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อให้ได้ฌาน ให้เกิดปัญญาเป็นเครื่องดับทุกข์ แต่ที่เรายังไม่ได้อะไร เราจะต้องฝึกฝนตัวของเราเองขึ้นมา ไม่ใช่ให้ใครมาช่วยเรา ไม่ใช่ให้ครูอาจารย์มาช่วยให้เราพ้นทุกข์ได้ ต้องเพียรเอาเอง แม้พระพุทธเจ้าเองก็ตรัสว่าพระองค์ชี้ทางให้เท่านั้น ส่วนเราที่จะปฏิบัติได้ รู้ธรรมได้ ก็อยู่ที่การประพฤติปฏิบัติของเรา หากเรามีความเพียรพยายาม มีความอดทน มีความเพียรให้มาก มันก็จะก้าวหน้าไปบนเส้นทางของอริยมรรค
ถ้าเราเพียรน้อยมัวแต่เกียจคร้านมัวแต่จะกินจะนอนมันก็ไม่ได้ เพราะปัญญาของเราทุกคนที่เกิดเป็นคนนี่เท่าเทียมกันทั้งนั้น ดังที่เคยแสดงไว้แล้ว แต่ที่เรามาโง่ฉลาดกันในปัจจุบันก็เพราะความหยาบช้าของกิเลสที่อยู่ในจิตของเรา ใครมากใครน้อยกว่ากัน จิตยิ่งสว่างดีคือมีปัญญา หากจิตถูกห่อหุ้มจนดำเป็นก้นหม้อแล้วอย่างนี้มันโง่ ถ้ามีกิเลสห่อหุ้มน้อยมันก็มีปัญญา เรียกว่ามีปัญญาตื่นขึ้นมา ถ้าห่อหุ้มบางมากก็มีปัญญารวดเร็ว ซึ่งจะช่วยให้ ละ กิเลสออกได้ไม่ยาก สำหรับบางคนที่เกิดมาในชาตินี้ทำกรรมชั่วมาตั้งแต่เกิด พอรู้เดียงสาก็รู้จักฆ่าสัตว์รังแกสัตว์ไม่มีอะไรก็จับแมลงปอหรือผีเสื้อเอาหญ้าเจ้าชู้เสียบก้นเล่นอย่างนี้ เห็นตัวอะไรไม่ได้เอาไม้ตีให้ตายหมดให้หมด อย่างนี้ทำบาปตั้งแต่เล็ก การสะสมบาปมาตั้งแต่เล็กจนโต ขึ้นมาจิตใจก็ไปในทางที่ต่ำ เห็นการประหารผู้อื่นเป็นของสนุก ไม่ได้นึกไม่ได้รู้ว่าเป็นบาป อย่างนี้จิตของเราก็หยาบ จะให้เกิดปัญญารวดเร็วนั้นเป็นไปได้ยาก ต้องใช้ความเพียรขัดเกลาจิตมากกว่าคนที่มีจิตสะอาดเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ถึงว่าบุญกุศลของคนเราไม่เท่ากัน การปฏิบัติธรรมเพื่อให้บรรลุมรรคผลจึงเป็นเรื่องของบุญของกุศล เป็นเรื่องของจิต ต่างกับการปฏิบัติงานทางโลก
ฉะนั้นเราต้องทำความเพียรให้สูง เพียรให้มาก คือนั่งให้มากนั่นแหละ อยู่โดดเดี่ยวอย่าเข้าไปหาหมู่คณะ ให้เป็นผู้สันโดษไว้ พยายามฝึกฝนตนเอง เตือนตนเอง อย่าให้ผู้อื่นต้องเดือดร้อน อย่าให้ผู้อื่นต้องเตือน
มีผู้ถามพระพุทธองค์ว่ามีพระภิกษุสงฆ์เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนามาก ปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์มาก ทำไมถึงได้สึกกลับบ้านไปเสีย หรือบางคนก็เพียรแล้วแต่ไม่เห็นหมดกิเลส พระองค์ตรัสตอบว่า “ตถาคตเป็นเพียงแต่ผู้ชี้ทางให้เขาเดินเท่านั้น ใช่ว่าตถาคตจะจูงมือไปพระนิพพานได้ ทุกคนต้องเดินไปเองก้าวไปเอง” เปรียบเหมือนว่าที่พระองค์ชี้บอกทางไปกรุงราชคฤห์ คือเมืองพระเจ้าพิมพิสารในสมัยนั้นว่า นี่คือทางเดินไปกรุงราชคฤห์ ถ้าผู้ที่เดินไม่เดินออกไปนอกเส้นทางเดินตามทางมันก็จะถึงได้ทั้งสิ้นโดยรวดเร็ว ทีนี้ไม่อย่างนั้นเขาแวะข้างทางเสียบ้าง เดินอ้อมเสียบ้าง เดินย้อนหลังกลับบ้าง ถนนที่บอกที่ชี้ไว้เขาไม่เดินไปตามทางนั้นมันจึงไม่ถึง กรุงราชคฤห์ นี่ก็เช่นเดียวกัน พวกเราที่ฟังธรรมอยู่นี้ที่ไม่ปฏิบัติธรรมก็เพราะว่าความที่เป็นผู้ที่เห็นแก่ตัวของเรามากเกินไป ไม่มีความอดทน ไม่มีความขยันหมั่นเพียร มัวแต่จะหาความสุขหรือคิดจะนอนให้ได้มาก คืออยู่เฉยๆ ไม่ได้ฝึกฝนอบรมตนเองอย่างเอาจริงเอาจัง จะไปถึงจุดหมายได้อย่างไร
เราต้องฝึกฝนอบรมตัวของเรานี้เองให้เป็นคนขยันในการปฏิบัติธรรม ที่สำคัญที่สุดกลางวันควรจะนั่งให้ได้อย่างน้อยสักหนึ่งชั่วโมง ทำให้ได้ นี่บางคนนอนทั้งวันทั้งๆ ที่มีเวลาก็ไม่ได้ทำอะไร หนังสือก็ไม่อ่านไม่เปิดค้นคว้า ที่ทำไปๆ ก็เพราะเกรงกลัวอาจารย์จะดุจึงจะมานั่งกัน หากมานั่งด้วยศรัทธาอันแท้จริงว่าเราต้องการ ละ กิเลส ถึงไม่หมดก็บางลงน้อยลง ถ้าคิดอย่างนี้ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ของยาก เพียรให้จริงก็คงได้
ธรรมที่พระองค์สอน เป็นธรรมสำหรับสอนมนุษย์และเทวดาไม่ได้สอนผู้อื่น ที่พระองค์มาประสูติในโลก พระองค์ก็เป็นมนุษย์เหมือนพวกเรานี่แหละ ถึงแม้ว่าจะประสูติในตระกูลกษัตริย์ก็ตาม ก็มีเนื้อหนังมังสาเช่นมนุษย์ทั้งหลาย แต่มีบุคลิกลักษณะที่พิเศษคือพระองค์เป็นผู้มีบุญวาสนาที่สร้างมาแต่อดีตมากจึงทำให้พระองค์สวยสดงดงามอิ่มเอิบผิวพรรณผ่องใสได้ลักษณะทุกประการ ใครเห็นใครก็เคารพรักใคร่พอใจเป็นอย่างนี้ และก็ได้วางหลักธรรมทั้งพระธรรมพระวินัยวางไว้ได้หมดครบถ้วน ๘ หมื่น ๔ พัน พระธรรมขันธ์ ทั้งหมดเป็นศีล ๒ หมื่น ๑ พัน เป็นพระสูตร ๒ หมื่น ๑ พัน พระปรมัตถธรรม ๔ หมื่น ๒ พัน รวม ๘ หมื่น ๔ พัน พระธรรมขันธ์ นี่คือคำสั่งสอนของพระองค์ คำสั่งคือศีล คำสอนคือธรรม พระสูตรคือเรื่องราวต่างๆ ที่พระองค์เคยตรัสเล่าให้พระสาวกของพระองค์ฟัง พระอานนท์จำไว้ แล้วเรียกว่าพระสุตตะคือการได้ยินนั่นเอง หากเราได้ยินได้ฟังมาก เราก็จะได้จดจำมาประพฤติปฏิบัติตามเยี่ยงอย่างที่พระองค์ได้เคยต่อสู้เคยผจญมา
เราทุกคนทั้งภิกษุสามเณรอุบาสกอุบาสิกา ต่างก็ถึงแล้ว ซึ่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกถึงได้ยินได้ฟังอยู่แล้ว ธรรมะที่แสดงนี้ของพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น ที่อาจารย์แสดงให้พวกเราฟังก็ดี เพื่ออบรมสั่งสอนให้เดินทางที่ลัดที่สุด คืออาจารย์ได้ผ่านทางนี้มาแล้ว ทั้งหมดอาจารย์ได้เดินมาแล้วรู้จักแล้วถึงที่สุดแล้ว จึงมอบธรรมอันนี้ให้แก่ศิษย์ ศิษย์ทุกๆ คน ควรภูมิใจในการได้ฟังธรรม ในการได้ปฏิบัติธรรมตามอาจารย์ที่แสดงมา พยายามบากบั่น อย่าเห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย อย่าเห็นแก่เรื่องอื่นใด ผู้ที่จะมีกุศลมีบุญวาสนาได้พบความจริงตรงๆ ที่สอนไม่ไขว้เขวนั้นยาก เป็นสิ่งที่ยากยิ่ง เท่าที่สังเกตดูไม่ใช่ว่าอาจารย์จะอวดดีขึ้นมาว่าอาจารย์นี้วิเศษกว่าอาจารย์ทั้งหลาย แต่ถ้าว่ายังมีอาจารย์อื่นที่วิเศษกว่าที่อาจารย์สอนนี้ อาจารย์ก็คอยสอดส่องดูแล ป่านนี้คงพบบ้างแล้ว แต่นี่อาจารย์ก็ไม่เคยพบพระอาจารย์ผู้ใดเลยที่จะสอนอย่างนี้
ฉะนั้นเราเป็นผู้มีบุญกุศลมีวาสนา ถ้าในชาตินี้เรายังไม่รู้จักที่จะนำของดีติดตัวไป อาจารย์ก็ไม่รู้ที่จะกล่าวว่าอะไรให้ดียิ่งไปกว่านี้ พระพุทธองค์ตรัสว่า “ใครเข้าถึงธรรม ผู้นั้นก็เข้าถึงตถาคต” อันนี้เป็นความจริงแท้ ถ้าเราปฏิบัติธรรมลุล่วงถึงที่สุดแล้ว เราจะสามารถเห็นพระพุทธองค์ได้จริงๆ อาจารย์ได้พบสิ่งนี้มาแล้ว ไม่ใช่นิพพานแล้วสูญ นิพพานอายตนะยังมีอยู่นะ พระอรหันต์เจ้าทั้งหลายตลอดถึงพระพุทธเจ้าเป็นวิสุทธิเทพนะ อย่าเข้าใจเป็นอย่างอื่น ในธรรมะของพระองค์ได้ตรัสไว้ว่า “ในพระนิพพาน อายตนะมีอยู่” ถ้าอายตนะมีอยู่มันก็ต้องมีอยู่ แต่ผู้ที่มีตาทิพย์เห็นเช่นนั้นต้องเป็นตาชั้นเดียวกันคือตาของวิสุทธิเทพด้วยกัน ผู้ที่หมดกิเลสเรียกว่า “วิสุทธิเทพ” อย่าง อุปปัตติเทพ สถิตอยู่ในสวรรค์ ๖ ชั้น พรหม ๑๖ ชั้น อรูปพรหม ๔ ชั้น ก็ตามนี่ยังไม่หมดกิเลส ยังไม่เป็นวิสุทธิเทพเป็นแต่อุปปัตติเทพเท่านั้น หรือพวกสมมุติเทพคือพวกท้าวพระยามหากษัตริย์ที่ยังเป็นมนุษย์นี้เป็นสมมุติเทพเกิดจากครรภ์ของมารดา
สำหรับธรรมมรรค ๘ ก็เห็นสมควรแก่เวลาว่าจบเพียงเท่านี้ เป็นเวลา ๓๐ นาทีพอดี จบเพียงเท่านี้
อเนญชธรรม
ตามแผนผังการปฏิบัติที่เขียนไว้ เมื่อเจริญธรรมในการปฏิบัติทางสมถะนี้จนถึงมรรค ๘ แล้ว ตรงนี้เป็นจุดสำคัญ เคยเน้นไว้ในมรรค ๘ ว่า เป็นสถานีหนึ่งที่ผู้ปฏิบัติธรรมจะพึงรู้ คือเมื่อธรรมของเราพร้อมเพรียงดีแล้ว การสัมปยุตธรรมที่มีมาตั้งแต่อิทธิบาท ๔ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ ธรรมทั้งหลายเหล่านี้สัมปยุตอยู่ด้วยฌาน ๔ แล้วและเมื่อเราเจริญมรรคทั้ง ๘ สัมปยุตเข้าไปอีก ธรรมทั้งหลายในองค์โพธิปักขิยธรรม ทั้ง ๓๗ ประการนั้น ก็เข้ารวมกันที่เรียกว่าสัมปยุต
เมื่อเราภาวนามรรค ๘ เริ่มจากสัมมาทิฏฐิ...เรื่อยมาจนถึงสัมมาสมาธินั้น พอมาถึงสัมมาสมาธิที่โยกซ้ายขวาจะหยุดลงเอง ไม่ใช่เราบังคับให้หยุด หรือเราคิดจะหยุด ธรรมะหยุดให้เอง แต่ก่อนที่จะถึงสัมมาสมาธิ ตอนนี้การโยกของกายก็จะเบาลงๆ การหายใจก็จะอ่อนลงที่สุด จนบางครั้งสงสัยตนเองว่ามีลมหายใจหรือเปล่า คือลมหายใจละเอียดมาก จนถึงกับตกใจคิดว่าหมดลมหายใจ ถึงตอนนี้ตัวเราเองมัวแต่ค้นคว้าหาลมหายใจว่ามันยังหายใจเข้าหายใจออกอยู่หรือเปล่าก็มี แต่เมื่อเราหมดห่วงความกังวลในเรื่องลมหายใจแล้ว จิตจะละเอียดที่สุดกายที่โยกอยู่ก็จะหยุดลงเอง เมื่อหยุดแล้วเราจะรู้สึกว่าตัวของเราเหมือนกับลอยอยู่ในอากาศ คือเบามาก จิตก็เบา กายก็เบา แล้วก็คล้ายๆ กับว่าไม่มีฌาน ๔ อยู่คือไม่เกร็งเหมือนเมื่อทำฌานเฉย ๆ มีอาการที่ตัวนี้อ่อนไหวได้ไม่เกร็ง แต่จิตตั้งเอกัคคตา คือจิตตั้งเป็นหนึ่ง หรือเป็นอัปปนาสมาธิอันเป็นสมาธิขั้นสูง
ทีนี้ปัญหาที่เราจะขึ้นไปอเนญชธรรม ซึ่งหมายถึงการขึ้นไปสู่สภาวะจิตที่มีความมั่นคงแน่วแน่ไม่หวั่นไหวด้วยกำลังของสมาธิในฌาน ๔ หรือจตุตถฌาน การปฏิบัติขั้นตอนนี้ไม่มีในตำราไหนที่เขียนไว้เป็นไปตามที่อาจารย์เคยปฏิบัติมา อาจารย์ได้นำธรรมที่ปฏิบัติได้ผลมานั้นมาสอนพวกเรา ถ้าเราจะขึ้นไปอเนญชธรรม หลังจากที่เจริญมรรค ๘ โดยขึ้นไปข้างหน้า หรือโยกตัวไปข้างหน้าแล้วโยกมาข้างหลัง ก็จะพบว่าโยกกายไปอีกทีหนึ่ง สองทีมันก็หยุดกึกไปต่อไม่ได้ ที่มันหยุดเพราะธรรมมันเป็นอัปปนาสมาธิ คือ มีอุเบกขาฌานเต็มที่ เพราะมรรคองค์ที่ ๘ สัมมาสมาธิท่านว่าให้มีรูปฌาน ๔ อยู่ ทีนี้ถ้าจะเอาให้ละเอียด เราจะขึ้นไปตรงหน้าอีก โดยโยกตัวไปข้างหน้าก็เหมือนกับที่เก่านั่นแหละ เหมือนกับตรงที่ฌานที่ ๔ ขึ้นไปอรูปฌานโน่น หรือถ้าไม่ไปถึงอรูปฌานมันก็จะถอยเข้าไปหยุดอยู่ตรงอุเบกขาเฉยๆ อุเบกขาตรงนี้เท่าที่ได้ฟังครูบาอาจารย์เคยพูดให้ฟังว่าไปอยู่ชั้นสุทธาวาสคือพรหมชั้นที่ ๑๒-๑๓-๑๔-๑๕-๑๖ ใน ๕ ชั้นนั่นแหละ แล้วแต่ว่าอำนาจของฌานจะแก่กล้าขนาดไหน มันขึ้นไปอยู่สุขเวทนาเสียหรือบางทีก็หลงเข้าไปถึงอรูปฌานได้ด้วยถ้าจิตละเอียดมาก โดยเราไม่รู้ ตกลงว่าเราไม่ได้ทำวิปัสสนา
ในที่นี้จะยังไม่สอนอรูปฌาน แต่จะบอกไว้ขั้นต้นสักอย่างหนึ่งว่า ถ้าใครจะเข้าไปในอรูปฌานนั้นจะต้องอัดลมหายใจให้แน่นแล้วพุ่งไปข้างหน้า แล้วก็จะพบนิมิตในที่นั้นเป็นอากาศว่างเหมือนท้องฟ้า สว่างทั่วไปหมด ตรงกับคำที่ว่า อากาสานัญจายตนะ อันเป็นอรูปฌาน ๑ นั่นเอง
ที่นี้ถ้าเข้าไปแล้วลำบากมากคือว่าบางทีออกไม่ถูก ถอยออกมามันออกไม่ได้ติดอยู่ที่ตรงนี้ สภาวธรรมตรงนี้หลวงพ่อจะแสดงไว้เป็นพิเศษ คือจากอุเบกขาฌานขึ้นไปแล้ว ถ้าเรากำหนดไปเข้าอรูปฌานต้องอัดลมหายใจคือกลั้นลมหายใจให้เต็มที่ จิตก็บังคับให้ตั้งมั่นเป็นเอกัคคตาจิต มันก็จะพุ่งพรวดขึ้นไปข้างหน้าแล้วก็จะพบแสงสว่างจ้าทั่วไปหมด เป็นท้องฟ้าเป็นอากาศอย่างนั้น นั่นเป็นอรูปฌานที่ ๑ แล้วถ้าเราขึ้นไปต่ออีกจะขึ้นไปอรูปฌานที่ ๒ ก็อัดลมหายใจเข้าไปอีกนั่นแหละ อรูปฌานที่ ๒ ชื่อว่า วิญญาณัญจายตนะ คือวิญญาณไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อขึ้นไปถึงอรูปฌานที่ ๒ นี่จะมีนิมิตเห็นคล้ายๆ กับดวงดาว หรือแสงหิ่งห้อยระยิบระยับเต็มไปหมด คือเป็นสมมติเหมือนกับว่าดวงวิญญาณมีแสงสว่าง ที่แสดงไว้นี้ก็เพื่อจะได้รู้ ถ้าเผื่อใครหลงขึ้นไป ส่วนอรูปฌานที่ ๓ ก็อัดลมหายใจขึ้นไปอีกนั่นแหละ อัดลมหายใจขึ้นไปอีก เมื่อขึ้นไปถึงอรูปฌานที่ ๓ มีชื่อว่า อากิญจัญญายตนะ คือไม่มีอะไร ว่างนิดหน่อยแคบเข้ามา มีสมมุติให้เห็นเท่านั้นไม่สว่างไม่แจ้งเหมือนเห็นท้องฟ้า มันแจ้งเหมือนกันแต่แจ้งนิดหน่อย ทีนี้ถ้าจะขึ้นอรูปฌานที่ ๔ ก็อัดลมหายใจเข้าไปอีกนั่นแหละ ตอนนี้ละเอียดที่สุด จนกว่ารูปของเรานี้ดับหมดสิ้นไม่มีเหลือ ไม่มีตัวเราแล้ว จึงจะถึงขั้นอรูปฌานที่ ๔ ชื่อ เนวสัญญานาสัญญายตนะ คือ เข้าหายไปเลย สติก็ไม่มี แล้วก็ถอยกลับออกมาก็มีสัญญาจำได้ แล้วเข้าหายไปดับสัญญาหมด เวทนาต่างๆ ทุกข์ สุข อะไรไม่มีทั้งสิ้น ดับหมด เหมือนกับว่ามันหายไปเสียเลย จะไปอยู่ไหนนั้นรู้ไม่ได้ แต่อย่าขึ้นไปนะ...ขอเตือนไว้ทุกๆ คนอย่าลอง ลองแล้วออกไม่ถูกจะตกใจกลัว
อาจารย์เคยติดแค่อรูปฌานที่ ๓ ไม่ขึ้นไปอรูปฌานที่ ๔ ขึ้นถึงอรูปฌานที่ ๓ แล้วก็รู้สึกว่าเหมือนกับเราเข้าไปในที่ที่ลึกมาก ไกลมาก ไม่มีอะไร มีแต่ความว่าง วังเวงไปหมด รู้สึกหวาดเสียวเยือกเย็น ถ้าเราถอยกลับถอยจากอรูปฌานที่ ๓ มาอรูปฌานที่ ๒ มาได้ ถอยจากอรูปฌานที่ ๒ มาอรูปฌานที่ ๑ คืออากาสานัญจายตนะมาได้ แต่พอจะถอยจากอรูปฌานที่ ๑ มาเข้ารูปฌานที่ ๔ ถอยไม่ได้ ถอยแล้วเหมือนกับหลังติดกำแพง ถอยแล้วมันก็ติดกึก ถอยมันก็ติดกึก ทีนี้เป็นทุกข์ว่านี่เราจะทำอย่างไร? ออกไม่ได้ ก็พอดีนั่งอยู่ประมาณเกือบ ๑๐ นาที ธรรมในธรรมเกิดขึ้นบอกให้ว่า “เราเข้ามาอย่างไรก็ออกไปอย่างนั่นแหละ” คือเมื่อเราเข้ามาเราอัดลมหายใจแล้วพุ่งเข้าไป ฉะนั้นเมื่อออกมาเราก็ต้องอัดลมหายใจกระแทกกลับหลัง มันเหมือนกับพุ่งออกมาจากช่องประตูหรือหน้าต่างออกมาถึงรูปฌาน ๔ แล้วก็ถอยเรื่อยออกมาจนถึงรูปฌานที่ ๑ แล้วก็ออก น้ำตาร่วง เสียใจว่าประมาทไปเรียนไม่รู้จริงแล้วเข้าไป นี่คือว่าถ้าขึ้นไปอรูปฌานเป็นเช่นนี้ ฉะนั้นผู้ที่กำลังฝึกหัดอยู่ อย่าเพิ่งขึ้นไปอรูปฌาน อรูปฌานนั้นเกี่ยวกับฤทธิ์อภินิหาร ไม่ใช่ทางหลุดพ้น ผู้ได้อรูปฌาน ๔ อีกเป็นฌาน ๘ เข้าก็ยังไม่หลุดพ้นยังไม่หมดกิเลสเพราะไปติดสุขเวทนา ตายไปก็ไปอยู่พรหมโลก ไม่มีรูปขันธ์มีแต่นามขันธ์ ๔ คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งไม่ใช่ทางหลุดพ้น ฉะนั้นทางที่จะไปถึงพระนิพพานคือ...
เมื่อไปถึงสัมมาสมาธิมรรคแล้ว ก็เลี้ยวซ้ายไปอย่างเดียวไม่ต้องถอย คือโยกตัวไปทางซ้ายขวาทำเหมือนตอนขึ้นวิปัสสนา เลี้ยวซ้ายแล้วก็เจริญกรรมฐาน ๕ อันมี เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ เจริญกรรมฐาน ๕ ไปพร้อมกับกายโยกไปเรื่อยๆ เมื่อเข้าทางแล้ว โดยเราว่ากรรมฐาน ๕ สัก ๔-๕ จบที่นี้เราเริ่มทำธาตุ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ตอนนี้ให้ภาวนาในใจว่า... แค่นแข็งธาตุดิน ชุ่มชื้นธาตุน้ำ อบอุ่นธาตุไฟ เคลื่อนไหวธาตุลม แล้วทีนี้ให้ภาวนาถอยกลับหรือย้อนกลับเพื่อเป็นการรื้อรูปทำลายรูป หรือทำลายธาตุโดยให้ภาวนาว่า ลมดับ ไฟดับ น้ำเน่า ดินพัง เมื่อทำอย่างนี้ เราจะเห็นนิมิตตัวของเรานี้เน่าเปื่อยผุพังไปจนแตกสลายไปหมด มีนิมิตเกิดขึ้นให้เห็นได้ จิตของเราก็จะสลดช่วยให้เราคลายจากความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนของเราลงได้
ตอนที่ว่าเที่ยวไป แค่นแข็งธาตุดิน ชุ่มชื้นธาตุน้ำ อบอุ่นธาตุไฟ เคลื่อนไหวธาตุลม ตอนถอยหลังที่ว่า ลมดับ...เรานึกให้เห็นว่าลมในกายของเรา คือนึกว่าลมหายใจดับนั้นเป็นอย่างไร นึกถึงคนตายก็จะเห็นรูปว่า อ้อ...คนตายเป็นอย่างนั้นๆ ไฟดับ...นี่คนตายเป็นอย่างไร เมื่อไฟดับแล้วร่างกายจะเย็นชืดแข็งทื่อ ทีนี้ตอนนี้เป็นอย่างไร เมื่อไฟดับแล้วร่างกายจะเย็นชืดแข็งทื่อ ทีนี้ตอน น้ำเน่า...เราก็นึกถึงคนที่ตายแล้วมันเน่าเปื่อยผุพัง พองขึ้นมาน้ำเหลืองน้ำหนองเน่าไหลเหม็นฟุ้ง นึกให้เห็น แล้ว ดินพัง...นึกให้เห็นว่าเนื้อที่หลุดไปหมดจนเหลือแต่โครงกระดูก แล้วโครงกระดูกนี้ก็หลุดเป็นข้อๆ ไป จนกลายเป็นขี้เถ้า ถูกเผาเป็นขี้เถ้า เรานึกให้เห็นภาพเหล่านั้น แล้วภาพเหล่านี้ก็ปรากฏขึ้นมาให้เราเห็นเอง ธรรมทั้งหลายทำให้มีให้เป็นขึ้นแล้วธรรมในธรรมจะเกิดขึ้นมาเอง
ตรงทางไปอเนญชธรรมนี้ ทุกขเวทนามีมากเหลือเกิน ทั้งทุกข์กายทุกข์จิต ที่กายนี้เจ็บปวดอย่างแสนสาหัส บางครั้งก้นปวดแทบนั่งไม่ติดพื้นเอาทีเดียว แล้วก็ร้อนขึ้นมาทั้งตัวจนเหงื่อตก มันก็อึดอัดไปหมด บางทีก็อ่อนเพลีย ในสมองรู้สึกมึนงงไปหมด เมื่อขึ้นไปๆ เรารู้ว่ากำลังไม่พอก็ให้เราถอยลงมาที่ฌาน ๔ เพื่อพักเอากำลัง เมื่อจิตมีกำลังดีแล้วก็โยกกายตรงขึ้นไปข้างหน้าฌาน ๔ เข้าสู่สัมมาสมาธิมรรค โยกขึ้นไปๆ เดี๋ยวเดียวมันก็หยุดหยุดแล้วก็จะเห็นมัวๆ เรานั่งอยู่ที่นั่นแหละ ทุกขเวทนามันจะดับหมดอยู่ให้นานสักหน่อย แล้วก็ถอยกลับลงมาอีกมาหยุดอยู่ที่ฌาน ๔ เพื่อเอากำลังจากสุทธาวาสหรือพรหมโลกมาสู้ทุกขเวทนา แล้วก็เลี้ยวซ้ายหรือโยกไปทางซ้ายขวาไปที่สัมมาสมาธิมรรค จากนั้นก็เลี้ยวซ้ายเจริญภาวนากรรมฐาน ๕ ต่อ
ทำลายธาตุแล้ว...ทีนี้ทำลายรูป รูปที่เราว่า เกศา โลมา ...นั่นแหละโดยนึกว่าเอาผมออก เอาขนออก เอาเล็บออก เอาฟันออก เอาหนังออก เอาไว้เป็นกองๆ เราคิดเห็นอย่างนั้น เอาผมออกไปไว้กองหนึ่ง นึกให้มันเห็นว่าเอาผมกองอยู่ตรงนั้น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เอาออกทีละอย่างๆ จนเอาเนื้อออก เอาเอ็นออก เอากระดูกออก นี่เรียกว่าทำลายรูป แล้วตั้งรูปเอากระดูกตั้งเข้า เอาเอ็นใส่เข้า เอาเนื้อใส่เข้า เอาหนังหุ้มเข้า เอาฟันใส่เข้า เอาเล็บใส่เข้า เอาขนใส่เข้า เอาผมใส่เข้า เป็นรูปตามเดิม นี่เรียกว่าตั้งรูป–ทำลายรูป ตัวนี้เป็นตัววิปัสสนาที่สำคัญมาก เราทำอย่างนี้แล้วก็โยกกายไปๆๆ ถ้าถึงอเนญชธรรม กายที่โยกก็หยุดเองอีกนั่นแหละ
ในระหว่างทางที่ภาวนาอยู่นี้ ถ้าเกิดเห็นทาง ๓ ทางขึ้นมา ให้ตัดสินใจไปในสายกลางอย่าไปทางขวาและอย่าไปทางซ้าย ถ้าไปสองทางนั้นจะหลงทางได้ เมื่อเลือกไปทางกลางบางทีไปพบป่ารกขวางหน้าอยู่หรือทางขาด ก็ไปตรงทางหน้านั้นอย่าหลบ บางทีก็ไปพบตึกขวางหน้าอยู่ก็ทะลุไปทางตึกนั้น ไม่ต้องหลบหลีกไปไหน บางทีก็ไปพบเหวอยู่ข้างหน้าก็ข้ามเหวไปตรงหน้านั้น ไม่ต้องไปกลัวตกเหว มีอะไรต่างๆ ที่อยู่ตรงหน้าก็ไปให้ตรงไปทางนั้น อย่าเลี้ยว อย่าหลบ นี่เป็นหลักสำคัญ
ตรงนี้มีนิมิตต่างๆ มีความจริงมาก ๙๐% เห็นอะไรแล้วก็เป็นความจริง กายเราโยกไปๆๆ เวลาที่มันจะหยุดมันเหมือนกับว่าเรามุดเข้าไปตามช่องรั้วหรือว่ามันคล้ายทำตัวให้เล็กลงคล้ายๆ อย่างนั้น แล้วก็ไปโผล่ขึ้นอีกด้านหนึ่ง มันก็หยุดกึก คล้ายๆ กับว่าเราหนีอะไรมา ลักษณะเป็นเช่นนั้น พอไปถึงที่นั่นแล้วจะหยุดกึก ทีนี้ความสว่างเกิดที่ข้างหน้าจ้าทันที มีสีเขียว สีเหลือง สีขาว สีแดง สีเหล่านี้แหละเรียกว่าฉัพพรรณรังสี แล้วจิตใจรู้สึกสบายเบิกบานที่สุด เอาไปเทียบเคียงกันกับ อุเบกขาสัมโพชฌงค์และอุเบกขาฌาน ๔ แล้ว มันละเอียดผิดกันไปหมด ถึงอเนญชธรรมนี่แล้ววิเศษที่สุด จิตใจไม่เอาอะไรทั้งสิ้นไม่หวั่นไหวอะไรทั้งสิ้น อเนญชธรรมก็แปลว่าธรรมที่ไม่หวั่นไหว อะไรจะมากระทบกระทั่งก็ไม่หวั่นไหวทั้งนั้น มีอุเบกขาเฉยได้อิ่มเอิบใจ เมื่อออกจากฌานแล้วก็ยังรู้สึกอิ่มเอิบใจที่สุด มีสติรุ่งโรจน์ที่สุด กล่าวคือสติลุกโพลงแจ่มจ้า เวลานอนหลับตาก็เห็นแจ้งอยู่เสมอ ลืมตาก็เห็นในห้องนอนแจ้งทั่วไปหมด เวลานอนหลับ ก็เข้าใจว่าตนไม่หลับ เพราะสติมันตื่นอยู่ สติเป็นชาคระ ชาคระก็แปลว่าความลุกโพลงของสติ นี่สติกล้ามาก สตินี้แหละเป็นมหาสติที่จะทำให้เราถึงพระนิพพานได้ เป็นสติที่รุ่งโรจน์
เมื่อถึงอเนญชธรรมแล้วเราก็นั่งอยู่เฉยๆ ซึ่งจะรู้สึกปลอดโปร่งสบายที่สุด มีอุเบกขามั่น ธรรมตรงนี้สมาธิเป็นอัปปนาจิต เป็นอัปปนาสมาธิ ไม่ใช่เป็นอุปจารสมาธิ คือธรรมมันสัมปยุตมาหมด ฌาน ๔ สัมปยุตด้วยโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ รวมกันหมดแล้วจึงจะไปถึงอเนญชธรรมนี้ได้ ฉะนั้นเมื่อเดินถึงมรรค ๘ แล้วก็ขึ้นไปอเนญชธรรมได้ทุกคน แต่อย่าขึ้นเล่นๆ อย่าทำส่งๆ ต้องละเอียดลออ และที่บางคนว่าปฏิบัติธรรมแล้วไม่พบอะไร ไม่เห็นอะไร ไม่รู้อะไรนั้น ก็เพราะเหตุว่าเขาไม่มีศรัทธาพอที่จะฝึกฝนตนเองให้ได้สมาธิที่แน่ชัด เมื่อมีสมาธิแน่ชัดแล้วก็มีปัญญาที่จะทำวิปัสสนาให้บรรลุผลได้ดี เรามีศรัทธามั่นคงพอใจในธรรมตามอิทธิบาท ๔ ไม่ใช่เราเข้ามาบวชมาเรียนหรือเข้ามาปฏิบัติธรรม คิดว่าชั่วครู่ชั่วยามเพื่อเล่นๆ อย่าคิดเช่นนั้นเป็นการไร้ประโยชน์
เมื่อถึงอเนญชธรรมนี่แล้ว ยังอีกขั้นเดียวก็จะถึง โคตรภูญาณ คือ สุดโคตรของคนหรือสุดความสิ้นสุดของโลกียะ วิชชาที่จะรู้ของโลกียะก็มีแค่โคตรภู พอออกจากอเนญชธรรมก็โยกกายไปๆ ทำกรรมฐาน ๕ โยกขึ้นไปทางนั้นตรงหน้าไม่ต้องเลี้ยว โยกขึ้นไปตรงหน้า หายใจให้ละเอียดเข้าถ้าธรรมของเราพร้อมคือศีลก็ดีมาก สมาธิก็ดีมากและมีปัญญาก็ดีมาก เต็มเปี่ยมเป็นอริยมรรค ตัวของเราก็จะหยุดเอง แล้วก็จะเห็นนิมิตข้างหน้าเป็นแม่น้ำหรือมหาสมุทรทะเลขวางกั้นอยู่ฝั่งกระโน้น ที่เขียนรูปนิมิตไว้ในแผนผังว่าเป็นฝั่งของพระนิพพานนั้น คือพระนิพพานสมมุติ ส่วนฝั่งแม่น้ำฝั่งนี้เป็นฝั่งโลกียะ คนเราที่เกิดมาชาตินี้ใครปฏิบัติได้ถึงโคตรภูญาณก็เป็นวิเศษสุด แล้วแปลเป็นภาษาไทยก็คือว่าสุดโคตรคน ถึงที่สุดถ้าเรา ‘ละ’ กิเลส คือ ราคะ โทสะ โมหะ ได้ดีแล้ว
พระอาจารย์สรวง ปริสุทฺโธ วัดถ้ำขวัญเมือง ต.นาโพธิ์ อ.สวี จ.ชุมพร ๑๕ สิงหาคม ๒๕๑๘
โคตรภูญาณ
เมื่อถึงโคตรภูญาณการที่จะเข้าไปถึงพระนิพพานได้นั้นแม้จะมีแม่น้ำหรือมหาสมุทรขวางหน้าอยู่ก็ตาม ไม่มีปัญหาอันใด ไม่ต้องข้ามเรือข้ามแพหรอก ธรรมพาข้ามไปเอง นิมิตที่เห็นนั้นเป็นเพียงสมมติ มีนิมิตขึ้นให้เราเห็นเป็นห้วงมหรรณพหรือเป็นห้วงที่กั้นขวางเรา ถ้าเป็นคนไม่สะอาดคือยังมี ราคะ โทสะ โมหะ อยู่ ยังละไม่ได้หมดสิ้นแล้วมันก็เข้าไปนิพพานไม่ได้ จะถึงพระนิพานได้ต้องสะอาดที่สุด ตัวนิพพาน เป็นภาษามคธ มาจากภาษาสันสกฤตว่า ‘นิรวาณ’ ‘นิร’ แปลว่า นำออกให้สิ้นเชิง ‘วาณะ’ แปลว่า กิเลส คือนำกิเลสออกให้หมดจากจิตโดยสิ้นเชิงแล้วก็ถึงพระนิพพาน ถึงพระนิพพานแล้วก็มีแต่ความว่าง ไม่มีสุข...ไม่มีทุกข์...ไม่มีอะไรทั้งสิ้น
ธรรมที่จะไปถึงพระนิพพานนี้มีลักษณะคือเมื่อไปถึงโคตรภูแล้วกายจะหยุดนิ่ง ถ้ามรรคของเราเป็นอริยมรรคดังที่แสดงไว้แล้วว่า ศีลดีที่สุด สมาธิดีที่สุด มีปัญญาดีที่สุด คือ ศีล สมาธิและปัญญารวมตัวกันเป็นมรรคสมังคี คือทั้ง ๓ ฝ่าย สมดุลกันมีกำลังเท่าเทียมกันเป็นอริยมรรค เป็นทางที่จะนำไปสู่มรรคผลนิพพานได้ ที่เป็นไปไม่ได้ก็เนื่องจากว่าเป็นผู้มีศีลสกปรก ถ้าเป็นกิเลสหยาบภายนอก จะผิดศีลกายกับวาจา ถ้ามีกิเลสหยาบอย่างกลางยังมี ราคะ โทสะ โมหะ อิจฉา ริษยา อวดดี อวดรู้ อวดเก่ง มีมานะ หรือถือตัวถือตนอยู่ ถ้ายังมีกิเลสละเอียดเหลืออยู่ก็ยังไปไม่ได้ แม้จะสามารถปฏิบัติไปให้ถึงได้ แต่จะเข้าพระนิพพานไม่ได้ ถ้าจะเข้าได้แล้ว เรานั่งอยู่เฉยๆ อย่าน้อมจิตไปข้างหน้าและอย่านึกไปข้างหลัง ถ้าเรานึกเราว่าอยากจะเข้าพระนิพพานนั่นไม่สำเร็จ ตัวที่นึกว่าอยากจะเข้าอยากจะถึงพระนิพพานนั่นคือตัวภวตัณหาเป็นกิเลส ให้นั่งอยู่เฉยๆ นานสัก ๑๐ นาที ๒๐ นาที ๓๐ นาที หากเข้าได้มันจะเข้าไปเอง หากเข้าไม่ได้คือไม่มีอะไรก็ถอยออกมา เราต้องสำรวจว่าเรา บกพร่องอันใด โดยมากจะเป็นเรื่องศีล ไม่ใช่เรื่องอื่น ถ้าศีลของเราดีแล้ว จะไม่มีปัญหาอะไร ก็กิเลสอย่างกลางที่อยู่ที่จิตคือ ราคะ ได้แก่ ความรัก ความใคร่ ความชอบ ในสิ่งต่างๆ ยังติดค้างจิตเราอยู่ หรือไม่ก็ โทสะ คือยังเป็นผู้ที่ฉุนเฉียววู่วาม ชอบทำอะไรตามแต่อำเภอใจ ไม่ยอมฟังไม่ยอมปฏิบัติตามครูอาจารย์ เช่นดูหมิ่นครูบาอาจารย์ ดูหมิ่น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือพูดล้อเล่นพระธรรม โดยพอใจธรรมะอันใดก็เอามากล่าวด้วยความคะนอง ให้แผลงไปจากความหมายบัญญัติไว้ อย่างนี้ก็เป็นผู้ไม่เคารพในพระธรรม การที่ไม่เคารพในครูบาอาจารย์ผู้สอนธรรมก็เช่นเดียวกัน ต่อหน้าว่าเคารพลับหลังพูดนินทาครูบาอาจารย์ตำหนินั่นตำหนินี่ เพราะกิเลสมันสอนให้ว่า ไม่รู้จักกิเลส อย่างนี้แล้วความไม่สะอาดแห่งจิตมีอยู่ เมื่อความไม่สะอาดแห่งจิตมีอยู่ยังข้องอยู่ด้วยสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือยังต้องการสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว ธรรมที่จะสัมปยุตตรงนี้หรือธรรมที่จะรวมก็ไม่รวมให้ ถ้าหมดกิเลสแล้วธรรมก็จะรวมให้
ตามลักษณะของการรวมคือ จะมีปีติเกิดขึ้นเรียกว่าผรณาปีติ คือซาบซ่านตั้งแต่เท้าขึ้นมาทั้งตัวขึ้นมาสู่หัว วูบๆ แล้วรู้สึกซ่าๆ ผิวกายขึ้นมาถึงศีรษะของเรา แล้วรู้สึกว่าหนักบนหัวของเราเหมือนกับทูนอะไรไว้ตอนนี้มันขึ้นทีหนึ่ง เดี๋ยวขึ้นอีกครั้งหนึ่งอีก ครั้งที่สองยิ่งหนักมากขึ้นไปอีก หนักเหลือเกินจนในหัวของเรานี่กะโหลกศีรษะรู้สึกดังเหมือนกับกร็อบแกร็บๆๆ แทบทนไม่ไหว ขึ้นวูบที่สามอีก แล้วก็ที่จิตมันบอกว่า ตาย อ้อ...คนตายอย่างนี้เอง รู้อย่างนี้...
ที่แสดงมายังบกพร่องอีกนิดหนึ่ง คือก่อนที่จะถึงโคตรภูนี้ ขันธ์ ๕ ของเรามันเริ่มดับแล้ว รูปดับ เวทนาดับ สัญญาดับ สังขารดับ วิญญาณดับ ดับหมด ดับให้เห็น...เมื่อขึ้นวูบๆๆ ให้เรายอมว่าตาย คือไม่กลัวตาย ให้เข้าใจไว้อย่างนี้ ถ้ากลัวตายข้ามไม่ได้ เพราะไปดิบๆ ไม่ได้พระนิพพานต้องตายไปถึงจะไปได้ คือขันธ์ ๕ ดับ เมื่อเรายอมว่าเราตายเท่านั้น ไอ้ที่มันหนักอยู่เหมือนกับทูนก้อนหินใหญ่ๆ ไว้บนหัวนั่นจะเลื่อนลงมาทางต้นคอสองข้าง ลงมาหนักอยู่ที่ก้นข้างบนโปร่งสบายแล้วก็จ้าแจ้งสว่างทั่วไปหมด เราก็รู้เองว่านี่พระนิพพาน แล้วก็การที่จะเป็นพระอรหันต์ได้นี่ต้องละสังโยชน์ได้ สังโยชน์มี ๑๐ แต่ก่อนที่จะละสังโยชน์จะต้องตรวจขันธ์ ๕ ก่อนว่าดับหรือยัง เมื่อตรวจขันธ์ ๕ ว่าดับแล้ว จึงตรวจอริยสัจ ๔ หลายๆ เที่ยว
การตรวจอริยสัจ ๔ ให้ตรวจไปตามลำดับ คือ ทุกข์ -ความไม่สบายกายไม่สบายใจที่นั่งอยู่นี่มีหรือเปล่า ไม่มี กายสบาย ไม่มีทุกข์อะไร แล้วในตอนนี้ ใจก็สบายรู้สึกปลอดโปร่ง...สมุทัย-เหตุให้ทุกข์เกิด คือ ตัณหา ๓ ได้แก่ กามตัณหา, ภวตัณหา, วิภวตัณหา, เรามีหรือไม่ เมื่อไม่มีแล้วที่ดับนี้คืออะไร ก็เพราะเราละมันดับหมด ที่เราทำวิปัสสนาละมันดับหมด ทุกข์กายทุกข์ใจละดับหมดแล้ว ที่เราพบจ้านี้คืออะไร คือ นิโรธ คือดับได้หมดแล้ว ดับทุกข์หรือดับกิเลสได้หมดแล้วก็เป็นนิโรธ ที่เราเข้าถึงนิโรธก็คือเข้าถึงนิพพานนั่นเอง นั่นมาจากอะไร มาจากเราเจริญ มรรค จึงทำให้เรารักษาศีลได้ดี เราทำสมาธิทำฌานได้ดี แล้วเรามีปัญญาละกิเลสได้ทั้งหมด เมื่อตรวจอริยสัจ ๔ แล้วเช่นนี้ ก็ตรวจสังโยชน์ ๑๐ ดูว่าเราละอะไรได้อีก
๑. ละสักกายทิฏฐิ...คือไม่ติดในตัวในตนแล้ว ไม่เสียดายแล้ว ซึ่งตัวตน ไม่เอาแล้ว
๒. ละวิจิกิจฉา...ไม่มีความสงสัยในศีลในธรรมใดๆ ทั้งสิ้น
๓. ละสีลัพพตปรามาส...เราก็ไม่ได้เล่นลูบคลำอยู่กับศีลแล้ว ไม่ใช่วันหนึ่งต่อศีล ๒ หน วันหนึ่งแสดงอาบัติ ๓ หน
ไม่ใช่อย่างนั้น ไม่มีแล้ว ไม่เป็นสีลัพพตะเมื่อนับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้วสิ่งอื่นเลิกไหว้กัน เลิกนับถือ
๔. ละราคะ...ละได้ไหม ราคะละได้หมด ไม่มีความรักความใคร่ใดๆ ทั้งสิ้น
๕. ละโทสะ...ตัวที่ ๕ ละได้ไหม ถ้าละได้ ๓ ตัวต้นคือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ได้ พระโสดา
ถ้าละได้ ๓ ตัวต้นนี้แล้วละราคะ ละโทสะได้อีกครึ่งหนึ่งก็ได้ พระสกทาคามี ถ้าละได้ ๕ ตัว คือ ละ ๓ ตัวต้น
และละราคะ ละโทสะ ได้เด็ดขาดก็ได้ พระอนาคามี ทีนี้ละสังโยชน์เบื้องปลายได้อีก ๕ ตัว ได้ไหม? ซึ่งมี
๖. ละรูปราคะ...คือรูปต่างๆ ที่สวยงามหรือไม่สวยตลอดถึงรูปฌานก็ต้องละได้ด้วย
๗. ละอรูปราคะ...คือสิ่งที่ไม่มีรูป เช่น กลิ่นนี่ไม่มีรูป เสียงนี่ไม่มีรูปเราละได้ไหม เสียงดีเสียงชั่วก็ละได้ทั้งสิ้น
กลิ่นดีกลิ่นชั่วละได้ทั้งสิ้น แล้วก็ละอรูปฌานได้ด้วย...ผู้ที่ทำอรูปฌานเป็น
๘. ละมานะ...มานะคือความถือตัวถือตน ถือชาติว่าเราเกิดในตระกูลผู้ดีไม่ใช่ตระกูลต่ำ เราไม่ถือว่าตระกูลไหน
เป็นมนุษย์เหมือนกันหมด นี่เป็นตัวมานะ ถือความรู้ว่ามีความรู้มาก มีความรู้สูงกว่าผู้อื่นนี่ก็เหมือนกัน
ถือชั้นวรรณะว่าเป็นกษัตริย์ ว่าเป็นแพศย์ ว่าเป็นศูทร อะไรก็ตามนี่ก็เหมือนกัน ถ้าไม่มียึดถืออะไรแล้วก็หมดตัวมานะ
๙. ละอุทธัจจะ...คือความฟุ้งซ่าน ตัวที่ ๙ มักฟุ้งซ่าน การฟุ้งซาน เช่น อยากพูด อยากสอน อยากทำอะไร
ไม่หยุดไม่นิ่ง เป็นคนหยุดนิ่งไม่ได้ พบใครก็อยากสอน ชอบตั้งตนเป็นศาสดา
เมื่อละได้ ๙ ตัวนี้ ตัวที่ ๑๐ คือ อวิชชา เป็นตัวไม่รู้ เมื่อละได้ ๙ ตัวมันรู้หมด ตัวอวิชชาไม่ต้องละอะไร มันดับตัวเอง
สังโยชน์มันจะขึ้นทั้ง ๑๐ ตัว เมื่อขึ้นทั้ง ๑๐ ตัวนี้แล้ว ความเป็นพระอรหันต์ก็ได้กับผู้นั้น แต่จะเป็นสมุจเฉทหรือไม่ ต้องใช้เวลารักษาธรรมนั้นอยู่ให้ได้ ๔๙ วัน คือจิตไม่กลับไปกลับมา จิตผ่องใสสะอาดอยู่เช่นนั้นตลอด ๔๙ วัน เช่นเดียวกับองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้วเป็นพระอรหันต์แล้ว พระองค์ได้เสวยวิมุตติสุขคือเสวยความหลุดพ้นของพระองค์ที่โคนต้นโพธิ์ ๗ วัน ที่โคนหว้า โคนไทร โคนจิก และอื่นๆ อีก พักอยู่ที่ละ ๗ วัน รวม ๗ แห่ง ๔๙ วัน จิตไม่คืนคลายแล้ว ละสังโยชน์นั้นคงอยู่ตามเดิม ข้างนอกละได้เข้าไปข้างในก็ยังละได้ เพราะสัจธรรมเป็นของจริง นี่คือความหมดกิเลสอันสิ้นเชิง ผู้ใดถึงธรรมละสังโยชน์ ๑๐ ได้แล้ว การมาเวียนว่ายตายเกิดไม่มีอีก ถ้าเราได้ในชาตินี้ชาติต่อไปเราก็ไม่มีอีก เรียกว่าถึงพระนิพพาน
ก็มีเพียงเท่านี้ธรรมะ แต่นั่นแหละการที่แสดงธรรมเพียงชั่วโมงหนึ่งจะให้ละเอียดถี่ถ้วนทุกอย่างนั้นมันไม่พอกับเวลา ธรรมทั้งหมดมีความละเอียดมีความซับซ้อนมาก ในขณะที่ปฏิบัติอยู่มีนิมิตต่างๆ ที่ไม่ได้แสดงไว้ในนี้มาก นิมิตที่บอกให้ก็มี...นิมิตเปรียบเทียบก็มี เป็นปริศนาก็มี ต้องตีให้แตก
ที่อาจารย์เคยพบมา เมื่ออยู่ระหว่างสัมมาสมาธิมรรคกับอเนญชธรรมว่า...ได้ขึ้นหัวรถจักรไอน้ำ แล้วก็ขับรถจักรนั้นไป ไม่มีใคร ตัวคนเดียว แล้วก็ไอ้รถจักรไอน้ำก็ไม่เคยขับ แต่ก็ขับไปได้ รู้วิธีเปิดไอว่าอย่างไร อย่างไรมันก็มีฟืนมีไฟของมันอยู่พร้อมแล้ว ขับพอขยับคันโยกรถก็เคลื่อนที่ เราโยกให้มากเข้าคันโยกตรงนั้นก็ต่ำเข้า รถไฟก็วิ่งเต็มที่ พอวิ่งเต็มที่ก็เห็นที่สะพานช่องน้ำขาดอยู่ เมื่อขาดอยู่จิตก็นึกว่าขับให้เร็วเข้ามันก็กระโจนข้ามพ้นไปได้ รถไฟก็ข้ามพ้นไปจริงๆ ไปพบทางเหมือนกับทางตันพบภูเขาขวางอยู่ข้างหน้า แต่เห็นรางรถไฟมันตรงภูเขาเข้าไป ภูเขาก็ภูเขาขับตรงไปที่ภูเขานั่นแหละ ตอนสุดท้ายรถไฟมันก็ผ่านทะลุภูเขาออกไปฝั่งโน้น หมดสิ้นทาง
ภูเขาคือฝั่งกั้นพระนิพพานนั่นเอง นี่นิมิตที่เห็น แล้วเมื่อได้ธรรมขั้นนี้ นิมิตอีกอย่างหนึ่งคือ...เห็นเทียนไข ๔ เล่ม ตั้งอยู่ที่ชั้นตามลำดับขึ้นไป ตั้งแต่ชั้นต่ำขึ้นไป ๔ ชั้น เล่มที่ ๔ อยู่ชั้นสูง เห็นเทียนเล่มที่ ๑ ลุกรุ่งโรจน์อยู่แล้วก็ดับไปเหลือแต่ก้น เล่มที่ ๒ ก็ดับไป เล่มที่ ๓ ก็ดับไป เล่มที่ ๔ ยังเหลืออยู่ครึ่งเล่ม พอดูๆไปก็ดับไป ดับหมดทั้ง ๔ เล่ม เมื่อเทียนดับหมดทั้ง ๔ เล่ม เราก็ผ่านธรรมทั้ง ๔ ขั้นได้ เมื่อผ่านได้แล้วก่อนที่เราจะออกจากนั่งกรรมฐานก็จะเห็นเทียนชัย เทียนชัยนี้จะเกิดขึ้นเมื่อเราละสังโยชน์ได้แล้ว ๗ วัน เห็นเทียนชัยเล่มโตมากเกือบเท่าแขนตั้งอยู่ตรงหน้า ยาวประมาณแขนหนึ่ง เห็นมีไส้แต่ยังไม่จุด พอเราเพ่งไปถึงไส้ประเดี๋ยวก็เกิดไฟจุดขึ้นเองที่ไส้เทียน แล้วก็ลุกจ้า แจ้งโร่ แล้วก็ดับพรึบลงเดี๋ยวนั้น ตัวรู้เราก็รู้ทันทีว่าที่เทียนชัยลุกโพลงขึ้นแล้วดับไปนี้...การปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ย่อมเป็นการจบสิ้นไปแค่นี้เอง แล้วก็เมื่อถอยออกมาก็ได้ยินเสียงดังก้องกังวานทีเดียวว่า “ธรรมทั้งหมดนี้ไม่มีใครเข้าได้เข้าถึงทั้งนั้นแหละ” เป็นอย่างนี้เสียงนั้นคือใคร ไม่ใช่เทวดา เป็นเสียงภายในของธรรมนั่นเอง เสียงของเรานั่นเอง เสียงของความรู้สึกของเรานั่นเอง ที่เรียกว่า ‘ปัจจัตตัง’ ก็คือตัวเรารู้ด้วยตนเอง เราปฏิบัติธรรมอะไรได้เราก็รู้ด้วยตนเอง ไม่ใช่ไปถามผู้อื่นแล้วเขาถามว่าอย่างนั้นๆ แล้วก็เรียกว่าเรารู้...อย่างนั้น เรียกว่ายังไม่รู้ ใช่ว่าผู้ที่ถามเขารู้ธรรมดี นอกจากจะถามพระอรหันต์ ท่านต้องตอบได้แน่ ถ้ายังต้องถามเขาอยู่ก็หมายความว่ายังไม่รู้
ให้เราทุกๆ คนบรรดาศิษย์ทั้งหลาย ทั้งเป็นภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา พึงตั้งจิต ตั้งใจในการปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยความจริงใจ อย่าคิดประทุษร้ายพระศาสนาด้วยเหตุหนึ่งเหตุใด การทำความยุ่งยากใดๆ ให้กับหมู่คณะหรือกับใครๆ ก็ตามย่อมเป็นการทำลายซึ่งพระศาสนาทั้งสิ้น ยิ่งมาทำความกระทบกระเทือนใจให้กับครูบาอาจารย์ด้วยแล้วยิ่งหนักมาก เพราะเจตนาของครูบาอาจารย์ที่สอนพวกเรานี้สอนเพื่อความหลุดพ้นไม่ได้สอนครึ่งๆ กลางๆ ด้วยจิตใจที่มีศรัทธาแท้จึงมุ่งหวังที่จะสอนศิษย์ทุกคนให้เป็นผู้หลุดพ้นให้เป็นผู้หมดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย ไม่ใช่สอนครึ่งๆ กลางๆ หรือ งูๆ ปลาๆ แต่ว่าศิษย์บางคนที่ยังมีพยศอยู่ ยังมีทิฏฐิมานะอยู่ พึงทำลายทิฏฐิมานะของตนเสียให้สิ้น อย่าคิดหาเรื่องที่เป็นอัปมงคล อย่าคิดสร้างเรื่องที่เป็นความเดือดร้อนแก่ผู้หนึ่งผู้ใดและตนเอง อย่าทำความกระทบกระเทือนให้แก่ผู้ใด ให้เราเป็นผู้ที่มีความสันโดษมักน้อยมีความพอใจในสิ่งที่มีอยู่ที่ได้อยู่ อย่าทะเยอทะยานในสิ่งที่ไม่มีไม่ได้ แล้วก็อย่าคลุกคลีกันด้วยหมู่คณะ ต่างองค์ต่างคนต่างอยู่ต่างปฏิบัติตามกิจของตนที่เคยปฏิบัติอย่าเป็นผู้เกียจคร้านเห็นแก่หลับแก่นอน ตรงกับธรรมะที่ว่า ‘โภชเนมัตตัญญญุตา’ รู้จักกินอาหารแต่พอสมควรไม่มากไม่น้อยจนเกินไป ‘ชาคริยานุโยค’ หมั่นประกอบความเพียร ไม่เห็นแก่หลับแก่นอนมากนัก นี่คือทางที่ไปพระนิพพาน นี่เป็นจรณะ ๑๕ อยู่ในจรณะ ๑๕
โดยมากพอเจ้าเกลอกิเลสขึ้นมาแล้วก็ตามหลังเจ้ากิเลสต้อยๆ ทีเดียว ขาดสติ ขาดความสำนึก มันจึงทำให้ความยุ่งยากในหมู่คณะเกิดขึ้น ทำให้ความแตกร้าวในหมู่คณะมีจุดรอยร้าวขึ้น เป็นผู้ที่ไม่รักสำนัก ไม่รักธรรมะ ไม่เคารพพระรัตนตรัย เป็นการทำลายพระศาสนาทั้งสิ้น ฉะนั้นในการบวชการเรียนจะมาบวชสักเท่าใดก็ตาม ให้มุ่งกอบโกยเอาบุญนำติดตนกลับไปบ้าน อย่าได้โกยเอาบาปไปเป็นอันขาด เพื่อพี่น้องพ่อแม่จะได้มีความภูมิใจในความเรียบร้อยของเรา การเข้ามาอยู่ที่วัดมาบวชเรียน ก็คือการเข้ามหาวิทยาลัยเพื่อขัดเกลาความหยาบช้าเลวทรามของเรา ไม่ใช่เข้ามาเพื่อสะสมเอาความเลวกลับไปให้มากขึ้น ถึงอุบาสกอุบาสิกาก็เช่นกัน การเข้ามารับธรรมปฏิบัติธรรมแล้ว อย่าได้ไปกระทำความเดือดเนื้อร้อนใจให้กับผู้หนึ่งผู้ใด จงรู้จักรักหมู่รักคณะให้สมานสามัคคีมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในกิจการต่างๆ ที่สามารถจะช่วยได้ อย่าไปข่มเหงให้เขาเชื่อบังคับให้เขาเชื่อ แล้วอีกอย่างหนึ่งธรรมะหรือตัวอาจารย์เองก็เช่นเดียวกัน ขอให้ศิษย์ทุกคนอย่านำไปยกย่องให้มันเลยเถิด ให้พูดแต่ตามความเป็นจริงที่พบที่เห็นที่รู้ เคยได้ยินเข้าหูบ่อยๆ ว่าบางคนเอาไปพูดเลอเลิศเกินไป ให้เราพูดตามความเป็นจริง หากใครไม่เชื่อในธรรมะก็อย่าไปบังคับเขา คนเราสร้างบุญสร้างบาปมาไม่เหมือนกัน หรือที่เรียกว่ามีบุญวาสนาไม่เท่ากัน คนที่มีวาสนาก็ฟังธรรมได้เข้าใจ เกรงกลัวบาปละอายต่อบาป คนที่มีกุศลน้อย บุญน้อยก็คิดจะลองดีต่อบาปคิดจะทำบาป และก็ลงมือทำบาป นี่เป็นเช่นนี้ ถ้ามิฉะนั้นกฎแห่งการเวียนว่ายตายเกิดก็ไม่มีแก่เขา การที่เขากระทำเช่นนั้นก็เพื่อจะต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารไม่มีจบสิ้น โดยที่ไม่รู้จักธรรมที่ตัดกระแส
ผู้ที่ประมาทโดยมากมักมีความคิดเห็นว่า นรกไม่มีจริงสวรรค์ไม่มีจริง เป็นเช่นนี้เพราะอะไรเพราะความมืดมัวของตนมีโมหะอวิชชาเข้าครอบงำ ดวงตาแห่งจิตไม่สว่าง แล้วเมื่อมาพบธรรมที่ถูกต้องแท้จริง ก็ยังไม่พยายามที่จะฝึกฝนอบรมเตือนตนให้จิตใจสว่างขึ้นอีก จึงเป็นบุรุษผู้อาภัพหรือเป็นบุรุษที่มืดบอด เกิดมามืดแล้วก็ยังจะพามืดไปอีก ไม่เป็นมนุษย์ที่แท้จริง มนุษย์ที่แท้จริงนั้นต้องมีปัญญา ให้เราคิดว่าเราทุกคนที่เกิดมานี้โดยมากมืดมา ถ้าไม่มืดมาไม่อยู่ที่ยากจนที่ลำบากหรอก ฉะนั้นได้มาพบพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ได้มาพบพระสงฆ์ผู้ทำการสั่งสอนธรรมอันแท้จริงแล้ว เราควรจะพาความสว่างไป ควรจะทรมานทิฏฐิมานะของตนเสีย ให้ดับให้หมดให้สิ้น อย่าเพาะอย่าเลี้ยงเอาไว้ทำลายตัวเรา อย่าให้ชักนำเราลงไปลงนรก ลงไปสู่อบายภูมิในภูมิต่างๆ เช่น สัตว์เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย สัตว์นรก ซึ่งมีอยู่ ๔ ภูมิ ถ้าเราไม่กลัวเกรงต่อบาปกรรมแล้ว อาจารย์ก็คิดว่าไม่จำเป็นจะต้องสอนอะไรอีก เมื่อใครอยากจะลงก็ลงไปเถอะนรก แต่อย่ามาทำความเดือดร้อนให้กับวัดวาอารามในหมู่คณะของเราก็แล้วกัน
อาจารย์ขออนุโมทนาสาธุต่อทุกๆ คนที่มีเจตนาดี รักษาตัวดี ในการที่จะกระทำความดี อาจารย์ไม่พึงประสงค์ผู้ที่คิดชั่วและกระทำความชั่วอยู่เป็นเนืองนิตย์โดยไม่ยอมละนิสัย รู้สึกสลดใจเศร้าใจแทนเพราะบอกแล้วว่านรกนั้นประตูมันไม่มีเวลาลง แต่เวลาจะขึ้นจากนรกมันมีประตูล้อมรอบด้วยเหล็ก ออกไม่ได้ แล้วนรกนี้ไม่มีหลังคา จำไว้ไม่มีหลังคา มีแต่กำแพงล้อมรอบ มีแต่ไฟ ข้างในขุมนรกอะไรๆ ก็เป็นไฟทั้งสิ้น ใครอยากจะลงไปก็ลงไป บอกให้อย่างนี้เพราะเห็นมาอย่างนี้ นี่เป็นสัจธรรม
ฉะนั้น เมื่อใครจะลุแก่อำนาจจิตใจอะไรๆ ลงไปแล้ว พึงนึกถึงคำสั่งสอนของอาจารย์ว่า วันนั้นคืนนั้นอาจารย์ได้ว่าพร่ำสอนเรื่องนรก...เรื่องนิพพาน...เรื่องสวรรค์ นี่พึงจำเอาไว้ อะไรเป็นความดีจงทำสิ่งนั้น อะไรเป็นความชั่วจงละสิ่งนั้น อะไรพูดชั่วจงละสิ่งนั้น สิ่งที่พูดดีจงพูดสิ่งนั้น อย่าเอาดิรัจฉานกถา คือคำพูดที่ไม่เป็นเรื่องราวมาพูดมาคุยกัน ไม่เป็นสาระไม่เป็นประโยชน์ ทำให้เกิดความคึกคะนองขึ้นมา จิตคะนอง ปากคะนอง กายคะนอง เดี๋ยวก็ทำผิดอย่างนั้นอย่างนี้คือศีลนั่นเอง เราพึงสำรวมระมัดระวังมีปาติโมกข์สังวรคือรักษาศีล ๒๒๗ ให้ดี มีอินทรีย์สังวรด้วยคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พึงสังวรให้มาก แล้วเราก็จะเป็นผู้สงบได้เอง ผู้ใดไม่สังวรไม่คอยระมัดระวัง ไม่ละ ปล่อยใจปล่อยกายให้เลยเถิดไปตามอำนาจของกิเลส กิเลสมันก็เพาะมากขึ้นเรื่อย มันก็ชั่วขึ้นเรื่อย มันก็กระด้างขึ้นเรื่อย มันอยากลองดีเรื่อย ให้คิดว่าครั้งสมัยสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระเทวทัตเป็นถึงบุตรกษัตริย์ เป็นพี่ชายของพระชายาพิมพาของพระสิทธัตถะ แต่ทำไมยังลงนรก? ก็เพราะความเย่อหยิ่ง ความอวดดี ความมีทิฏฐิมานะนั่นเอง...
พระอาจารย์สรวง ปริสุทฺโธ วัดถ้ำขวัญเมือง ต.นาโพธิ์ อ.สวี จ.ชุมพร ๑๕ สิงหาคม ๒๕๑๘
จากเว็บ http://www.pathongko.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538977383&Ntype=3