วันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

พระเจ้าเท่านั้นที่ตัดสินได้by Dhammasarokikku

303455_3143910328043_24829363_n

วันนี้ขอกล่าวถึง "บุญ" ในอีกมิติหนึ่ง

เคยสงสัยกันบ้างไหมละครับว่า บุญบางอย่างดูไม่น่าจักได้บุญมาก แต่ทำไมท่านว่า ได้บุญเยอะเหลือเกิน เช่น ถ้าเทียบบุญจากการสร้างอภิมหาเจดีย์สูงสัก ๒๐๐ เมตร บนที่ดิน ๑,๐๐๐ ไร่ เทียบกับบุญที่เกิดจากการนั่งสมาธิอยู่ที่บ้าน ๑๐ นาที ถามพระรูปไหนท่านก็จักตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า นั่งสมาธิอยู่กับบ้านได้บุญมากกว่า (ยกเว้นว่าท่านมีเจตนาอย่างอื่นแอบแฝง)

ขัดความรู้สึกไหม?

สร้างอภิมหาบรมเจดีย์นั้นใช้เงินมหาศาล ต้องใช้กำลังใจสูงมาก เมื่อสร้างเสร็จก็น่าตื่นตาตื่นใจมาก คนมากมายบังเกิดศรัทธา บังเกิดธรรมปีติจากการได้ชมอัครสถานมหาเจดีย์ที่น่าอัศจรรย์นั้น แต่ไฉนจึงได้บุญไม่มากเท่าเรานั่งทำสมาธิอยู่กับบ้านไม่เสียตังค์สักบาทแค่ ๑๐ นาที

และในความเป็นจริง คนปริมาณมหาศาลวิ่งออกไปทอดผ้าป่า ทอดกฐิน สร้างศาสนสถาน ศาสนวัตถุที่ยิ่งใหญ่โอฬารตระการตา ด้วยความเหนื่อยยาก แต่ให้นั่งสมาธิสัก ๑๐ นาทีในห้องแอร์เย็น ๆ ที่บ้านตัวเอง กลับไม่ยอมทำ ด้วยอาจเข้าใจว่า บุญในบ้านนั้นเล็กเกินไป ต้องไปหาบุญใหญ่ ๆ เอานอกบ้าน

นี่ข้าพเจ้ามิได้ต่อต้านการสร้างศาสนสถาน ศาสนวัตถุนะ เพียงแต่จักชี้ให้เห็นความจริง และการสร้างศาสนสถาน ศาสนวัตถุ ทำด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็ได้บุญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการนั่งภาวนาอยู่กับบ้าน

ลำดับแห่งอานิสงส์ของบุญที่ทำ ท่านจำแนกไว้แล้วครับว่า "ทาน ศีล ภาวนา" เชื่อว่า ทุกคนคงเคยได้ยิน

ทำทานสักแสนโกฏิล้านบาทก็ไม่เท่ารักษาศีลแค่วันเดียว รักษาศีลบริสุทธิ์สักร้อยปี ก็ไม่สู้เจริญภาวนาแค่นาทีเดียว

แต่คนที่กำลังเมาบุญ บางทีก็ลืมลำดับทั้ง ๓ ขั้นนี้

ที่มันยากแก่การทำความเข้าใจ ข้าพเจ้าเห็นว่า เป็นเพราะ "หน่วยนับ" ของบุญ ไม่อยู่บนสเกลเดียวกันครับ

ถ้าเปรียบให้เห็นภาพ สมมุติให้การทำทานมีหน่วยบุญเป็นบาท ก็จักเทียบได้ง่าย ๆ ระหว่างการให้ทานด้วยกันว่า บุญไหนมากกว่าบุญไหน แต่พอขึ้นไปเป็นการรักษาศีล หน่วยวัดบุญกลับเปลี่ยนสกุลไปเป็นเหรียญยูโร แถมไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนที่แน่นอนระหว่างบาทกับเหรียญยูโรเสียด้วย ยิ่งขึ้นไปเป็นการเจริญภาวนา หน่วยบุญก็อาจกลายเป็นปอนด์สเตอริง หรือกลายเป็นแร่ธาตุที่มาจากต่างดาว ประเมินค่าเป็นบาท หรือเหรียญยูโรไม่ได้ไปเลย

ยิ่งกว่านั้น หน่วยวัดบุญที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมด ก็อาจใช้ไม่ได้เลย เพราะบุญนั้นเกิดที่ "ใจ" ไม่มีเครื่องมือใดในโลกสามารถเข้าไปวัดใจคนได้ "หน่วยบุญ" จึงดูเป็นสิ่งลึกลับ ยากแก่การเข้าใจให้ถ่องแท้

เมื่อเช้าเดินบิณฑบาตไป ก็ปิ๊งไอเดียของหน่วยบุญอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจนำ "ทาน ศีล ภาวนา" กลับมาอยู่บนสเกลเดียวกัน หน่วยนับที่ว่านี้ นับเป็นจำนวนชาติที่ต้องเกิด ครับ

"บุญ" มีหน่วยวัดเป็นจำนวนชาติที่ต้องเกิดน้อยลง อะฮ้า... เข้าท่าไหมล่ะ?

ยิ่งบุญมาก จำนวนชาติที่ต้องเกิดยิ่งน้อยลง พวกบาปก็ไม่ต้องพูดถึง ปริมาณจำนวนชาติที่ต้องเกิดนั้นเพิ่มขึ้นมากมายมหาศาล หลังจากเพิ่มชาติที่ต้องไปเกิดในนรกแล้ว ต้องตะเกียกตะกายเกิดกันไม่รู้กี่อสงไขยในอบายภูมิกว่าจักได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์

phoca_thumb_m_IMG_9262 มาดูเรื่องทานครับ การให้ทานมีอานิสงส์หลักเลยคือเป็นผู้มีโภคทรัพย์มาก ไปเกิดในภพภูมิที่ดี ยิ่งทำทานในเนื้อนาบุญที่ดี ส่งผลให้เกิดมาเป็นผู้มีทรัพย์เหลือกินเหลือใช้ไปทุกชาติ จำนวนชาติที่เกิดไม่ได้ลดลงโดยตรง แต่ลดลงโดยอ้อม กล่าวคือ เมื่อเป็นผู้กินดีอยู่ดีมีสุข ก็เอื้ออำนวยให้ปฏิบัติธรรมให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป แต่การให้ทานนั้น จำนวนชาติที่ต้องเกิด ยังแกว่งอยู่มาก ความไม่แน่นอนสูง เช่นถ้าเอาแต่ทำทาน ไม่รักษาศีล เวลาใกล้ตายระลึกถึงทานที่ทำได้ เกิดปีติ ก็ไปเกิดเป็นเทวดานางฟ้าอยู่บนสวรรค์ อยู่ไปจนหมดอานิสงส์แห่งบุญนั้น คราวนี้ไม่แน่แล้ว โชคดีอาจไปเกิดเป็นมนุษย์ หรือถ้ามีความประมาทอาจลงไปอยู่อบาย (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเช่นนั้น) เพราะทำอกุศลไว้ก็มาก

พอขึ้นมาดูเรื่องศีล ศีลเป็นประหนึ่งห่วงยางนิริภัยGOA หรือตาข่ายนิริภัย กันไม่ให้เราตกลงเบื้องล่าง ถ้าเรารักษาศีล ๕ ได้เป็นปกติ ขั้นต่ำคือเราจักกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ครับ ศีลจึงเป็นประหนึ่งเครื่องป้องกันไม่ให้จำนวนชาติที่ต้องเกิดเพิ่มขึ้น ซึ่งมีสมรรถภาพดีกว่า การให้ทาน

แต่ก็ยังไม่แน่ครับ การได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ไม่แน่เสมอไปว่า จำนวนชาติที่ต้องเกิดจักลดลงแน่ ๆ เพราะมนุษย์เป็นผู้มีอิสระสูงสุด อยากเลือกลงไปเกิดในทุคติภูมิก็ได้ ไปเกิดในสุคติภูมิก็ได้ ที่แน่ ๆ ในชาติที่รักษาศีล ๕ ได้เป็นปกติ จำนวนชาติที่ต้องไปเกิดในอบายภูมิลดลงฮวบฮาบแน่นอน ถ้ารักษาศีล ๕ ได้บริสุทธิ์จริง ๆ เป็นพระโสดาบัน จำนวนชาติที่จักไปเกิดในอบายกลายเป็นศูนย์เลยทีเดียว

พอถึงขั้นของการภาวนา อันนี้ชัดมาก การเจริญภาวนาไปลดจำนวนชาติที่ต้องเกิดโดยตรง จึงได้บุญมากที่สุดในสามขั้น ไม่ต้องสงสัย ซึ่งก็มีเทคนิคพิเศษครับ การทำทานสามารถควบไปกับการภาวนาได้ คือ ทำทานด้วยความรู้สึกว่า "นี่ไม่ใช่ของเรา" "ในโลกนี้ไม่มีอะไรเป็นของเรา" อย่างนี้เรียกทำทานควบเจริญภาวนา จำนวนชาติที่ต้องเกิดก็ลดลงมหาศาลเพราะไปละความเห็นผิดว่า "นี่คือเรา" "นี่คือของเรา"

ความเห็นว่า "นี่คือเรา" เรียกอีกอย่างว่า อัตตา ตัวตน หรือเป็นภาษาแขกว่า "สักกายทิฏฐิ" เป็นซุปเปอร์ฮีโร่ฝั่งที่พาให้เรามาเกิดตัวแม่เลยทีเดียว จัดเป็น "เครื่องร้อยรัดสัตว์ไว้ในสังสารวัฏ" หรือ สังโยชน์ ที่โดดเด่นที่สุดใน ๑๐ ประการ

ความเห็นเช่นนี้ เฉือนลงให้บางเท่าไหร่ จำนวนชาติที่ต้องกลับมาเกิดก็น้อยลงเท่านั้น แต่ปัจจุบันเห็นคนส่วนใหญ่เอาแต่พอกพูนจำนวนชาติที่ต้องเกิดให้ยิ่ง ๆ ขึ้น สวนทางกับคำสอนของสมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า

แค่อัตตา ตัวตน เป็นมนุษย์ธรรมดา ก็ละได้ยากอยู่แล้ว บางคนยังเพิ่มพอกพูนความเห็นผิด ด้วยการอุปโลกน์ตัวเองขึ้นเป็นพระเจ้ามีหน้าที่ตัดสินชะตากรรม ตัดสินชีวิตมนุษย์ กำหนดอายุขัยของผู้อื่น คนทำผิดเท่านี้สมควรตาย คนทำผิดเท่านั้นสมควรไปนรก

มนุษย์ทุกคน มีพระเจ้าอยู่ในตัวอยู่แล้วครับ ไม่จำต้องมีพระเจ้าองค์อื่นมาตัดสินชีวิตของเขาเพิ่มเติม

phoca_thumb_m_IMG_9291 พระเจ้าในตัวมนุษย์ หรือที่เขาเรียกมนุษย์ว่า เป็นวิหารของพระเจ้า ก็คือพระเจ้ากรรมนั่นแล ส่วนมนุษย์เป็นผู้เลือกว่า ตนจักเดินทางไหน ไปไหน จักทำกรรมเช่นไร ถึงเวลาพระเจ้ากรรมจักตัดสินอายุขัย และที่ไปของคนผู้นั้นอย่างยุติธรรมที่สุด ตามสิ่งที่เขาได้เลือกกระทำมา ไม่พึงต้องฟังคำตัดสินจากพระเจ้าภายนอก

ฉะนั้นคำตัดสินผู้อื่นของท่าน ย่อมเปล่าเปลืองไปโดยไร้ประโยชน์ ผลร้ายกลับเกิดแก่ท่านเอง เพราะไปอุปโลกน์ตัวเองเป็นพระเจ้าของผู้อื่น ทั้งยังถ่ายทอดคำตัดสินผู้อื่นอันกักขฬะนั้นไปให้สาวกได้อ่านได้เสพย์กันด้วย นอกจากจำนวนชาติที่ต้องเกิดจักเพิ่มขึ้นด้วยอัตตาตัวตนที่พอกพูนมากขึ้นแล้ว ยังแถมท้ายด้วยพระเจ้ากรรมของท่านเอง ก็ได้บันทึกอกุศลกรรมที่ท่านได้เผยแพร่ข้อความยั่วยุโทสะออกไปไว้เรียบร้อย รอวันจักตัดสินท่านเหมือนที่ท่านตัดสินผู้อื่น

ยกตัวอย่างเช่น (ขอยกตัวอย่างคนไกล ๆ ตัวหน่อย ป้องกันใครมาดราม่าแถวนี้) คนที่ใคร ๆ เขาเรียกว่า "พ่อปลาไหล" หรือ "ปลาไหลตัวพ่อ" หาเสียงด้วยแคมเปญ "สัจจนิยม" ซึ่งดูเหมือนตรงข้ามกับอุปนิสัยตัวเองทีเดียว หลายคนก็มองเห็นแต่จุดด้อยของเขา ทว่าลองขับรถเข้าไปในจังหวัดสุพรรณบุรีสักครั้งหนึ่งสิครับ แล้วท่านผู้อุปโลกน์ตัวเองเป็นพระเจ้า ลองตัดสินดูใหม่ว่า เขาควรไปสวรรค์ ควรไปนรก หรือควรมีอายุขัยเท่าไหร่

ผู้อุปโลกน์ตัวเองเป็นพระเจ้า ต้องไปรู้ไปเห็นทุกสิ่งที่เขาทำครับ (ขอเน้นอีกครั้งว่า "ทุกสิ่ง") ถึงจักตัดสินเขาได้อย่างยุติธรรม เขาทำความดีเท่าไหร่ สร้างถนนกี่เส้น สร้างวัดกี่วัด สร้างโรงเรียน สร้างโรงพยาบาล จำนวนเท่าไหร่ มาหักลบกับอกุศลกรรมที่เขาได้ทำ หลงจ๊งแล้วจึงตัดสิน จึงชื่อว่าพระเจ้าเปาบุ้นจิ้นผู้เที่ยงธรรม ไม่ใช่พระเจ้าลำเอียงตะแคงข้างตีกรรเชียงบกตัดสินผู้อื่นตามอคติของตน

เห็นคุณสมบัติของพระเจ้าที่สามารถตัดสินผู้อื่นได้ ข้าพเจ้าไม่เห็นว่า จักมีใครเหมาะสมจักเป็นพระเจ้าสำหรับเขา มากไปกว่าตัวเขาเอง กรรมดีกรรมชั่วที่เขาทำเองนั่นแล จักตัดสินเขา

ดังนั้นถ้าท่านยังไม่มีความรู้วิเศษ หรือญาณไปหยั่งรู้ว่า คนอื่นเขาทำความดีทำความชั่วกระไรไว้บ้าง ก็ไม่ควรไปตัดสินผู้อื่นครับ

เพราะเรื่องแบบนี้ พระเจ้ากรรมเท่านั้นแล ที่จักสามารถตัดสินได้!!!

เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ ฯ

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons