เรื่องราวของการหายจากโรคอย่างปาฎิหาริย์มักเกิดแก่ผู้ที่เป็น "สัทธาจริต" หรือ ผู้ที่เชื่อง่าย หรือมีศรัทธานำหน้า ซึ่งอาจเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศรวมถึงข้าพเจ้าด้วย ท่านแนะกรรมฐานที่เหมาะแก่จริตไว้ ๖ กอง ได้แก่ พุทธานุสสติ-ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า ธัมมานุสสติ-ระลึกถึงคุณพระธรรมเจ้า สังฆานุสสติ-ระลึกถึงคุณพระสงฆ์เจ้า สีลานุสสติ-ระลึกถึงศีลของตน จาคานุสสติ-ระลึกถึงการบริจาคทาน และเทวตานุสสติ-ระลึกถึงคุณธรรมของเทวดา เรามาพิเคราะห์ความกันเล่น ๆ ว่า เหตุใดกรรมฐานที่เหมาะแก่จริตจึงสามารถรักษาโรคได้
มีความคล้ายคลึงกันมากเหลือเกิน ระหว่างสำนักรักษาโรคแผนโบราณ ซึ่งบางทีก็มีเรื่องไสยเวทย์ พุทธคุณ หรือความเชื่อบางอย่าง เจืออยู่อย่างแยกไม่ออก กับสินค้า MLM นั่นคือสรรพคุณของยาวิเศษจักรักษาได้ทุกโรค แลโรคดังกล่าวจักต้องเป็นโรคที่เรื้อรังชนิดที่แพทย์แผนปัจจุบันรักษาไม่หาย เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคตับ โรคไต โรคมะเร็ง เป็นต้น
ชีวิตข้าพเจ้าได้พานพบกับสินค้าอาหารเสริมเอ็มแอลเอ็มมานับไม่ถ้วน นับแต่บีพอลเลนนมผึ้งสมัยพระเจ้าเหา ตราบเท่าจนจมูกข้าว หรือกาแฟลดความอ้วนในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ก็อวดอ้างว่า มีผลต่อร่างกายเช่นนั้นเช่นนี้ เล่าการทำงานของมันได้เป็นฉาก ๆ แต่ความเป็นจริง เจ้าอาหารเสริมทั้งนั้นจักเข้าไปทำปฏิกิริยากระไรในร่างกายบ้าง เหมือนที่เขาขึ้นจอโปรเจ็คเตอร์พรีเซ้นท์กันอย่างมืออาชีพ อาจไม่ใกล้เลยแม้กระผีก ที่สุดอาจทำปฏิกิริยาในร่างกายเหมือนวิตามินรวมดี ๆ สักเม็ดหนึ่งก็เป็นได้ ทว่าเขาก็อาศัยแรงโฆษณา เพิ่มแรงจูงใจด้วยผลตอบแทนเท่านั้นเท่านี้ คนทั้งหลายก็แห่แหนกันไปติดกับดักอมตะเอ็มแอลเอ็มที่รักซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ทำนองเดียวกันหันมาข้างสำนักยาวิเศษ ก็มีพลังภายในไม่แพ้กัน รักษาโรคได้ล้านแปดทำนองเดียวกัน ทั้งสองอย่างแตกต่างกันที่ตัวยาที่เรากลืนกินเข้าไป แต่เหมือนกันเหลือเกินเรื่อง "ความเชื่อ"
ผู้บริโภคอาหารเสริม MLM เชื่อเหลือเกินว่า อาหารเสริมที่บริโภคเข้าไป มีสรรพคุณดั่งที่เขาโฆษณาไว้ ผู้บริโภคยาวิเศษก็กลกัน เรียกได้ว่า กินกันเอาเป็นเอาตาย ไม่เพลี่ยงพลั้งมรณภาพไปไม่เลิกรา
สิ่งที่ข้าพเจ้าอยากวิเคราะห์ คือ "ความศรัทธา" นั้นมีพลังครับ บางทีมากพอที่จักรักษาโรคให้ใครต่อใครได้ ไม่เกี่ยงว่า สิ่งที่บริโภคเข้าไป จักเป็นอาหารเสริม หรือยาวิเศษ จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจ หากใครสักคนสองคน จักหายจากโรคร้าย ด้วยอาหารเสริมเอ็มแอลเอ็ม หรือยาวิเศษ แต่อีกกว่าห้าสิบคนที่บริโภคอาหารเสริมชนิดเดียวกัน ยาวิเศษตำหรับเดียวกัน กลับไม่หาย เพราะความศรัทธา ต้องอาศัยการวัดเชิงคุณภาพ มิใช่การวัดเชิงปริมาณเช่นที่ใช้กันในกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ หรือ Scientific method
เพียงมีคนหายจากโรคสัก ๒ คน จาก ๑๐๐ คน อาหารเสริมนั้น หรือยาวิเศษนั้น ก็ดังไม่รู้เรื่องแล้วครับ
เปรียบอาการแห่งคนถูกหวย เรามักได้ยินข่าวกันเป็นประจำว่า คนนั้น คนนี้ถูกหวย แต่เวลาถูกหวยแ-ก ไม่เห็นมีใครเอามาโพทนาฉันใด คนหายจากโรคด้วยวิธีพิสดารก็ฉันนั้น ที่มรณภาพลงไปมากกว่ามาก ไม่มีใครเอามาเปิดเผยหรอก เพราะมีแต่คนรอกระหน่ำซ้ำเติมประมาณ "กุบอกแล้วไม่เชื่อ" มากเหลือเกิน หรือเปิดเผยก็เพียงเป็นโรคนั้นโรคนี้ตาย ไม่ได้เผยหรอกว่า ไปกินอาหารเสริมยี่ห้อนั้นตาย ไปกินยาวิเศษสำนักนี้ตาย
ที่ข้าพเจ้าแสดงดั่งนี้ ก็ใช่จักปรามาสสำนักหมอยาแผนโบราณที่ทรงคุณวิเศษไปด้วย สำนักเหล่านี้ที่ดีก็มีอยู่ แลทรงคุณธรรมอันวิเศษสามารถรักษาโรคต่าง ๆ ได้จริงก็มีมาก ข้อแตกต่างที่ชัดเจนของสำนักที่ดีวิเศษสงเคราะห์คนไข้ด้อยโอกาส กับสำนักพื้น ๆ ที่เห็นกันดาษดื่น คือ เรื่องของผลประโยชน์ สำนักที่ดีมีคุณธรรม ยาเขาจักไม่แพงแบบบ้าเลือด บางทีก็แจกฟรี ส่วนสำนักยาวิเศษที่เห็นอยู่ทั่วไป จักเป็นตรงข้าม
ในสำนักที่ดีทั้งหลายก็มีหลายแบบอีก บ้างอ้างว่า เป็นสำนักของฤๅษีชีวกโกมารภัจจ์ หมอพระพุทธเจ้า บ้างอ้างเวทย์มนต์คาถา บ้างอ้างเอาอำนาจพระพุทธคุณโดยตรง สำนักเหล่านี้ล้วนเป็นทางเลือกให้แก่ผู้มีฐานะยากจน ข้าพเจ้ามิอาจวิพากษ์ผู้อุทิศตนช่วยเหลือสังคมเหล่านั้นได้ จักขอกล่าวถึงเฉพาะส่วนของพุทธานุภาพบำบัดโรคเท่านั้น
ในพระพุทธศาสนามีคำกล่าวว่า พุทโธ อัปปมาโณ ธัมโม อัปปมาโณ สังโฆ อัปปมาโณ ซึ่งหมายถึง คุณพระพุทธเจ้าไม่มีประมาณ คุณพระธรรมเจ้าไม่มีประมาณ คุณพระสงฆ์เจ้าไม่มีประมาณ ดังนั้นภายใต้คำว่า "พุทธคุณ" ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ จึงเป็นเรื่องเบสิคเหลือเกินที่โรคซึ่งโรงพยาบาลไม่รับแล้ว จักสามารถหายขาดได้ด้วยอำนาจพุทธคุณ กระนั้นก็ใช่ว่าผู้มีศรัทธาแล้วจักยังโรคทั้งหลายให้สูญสิ้นไปได้ทุกผู้ ซึ่งในส่วนนี้ข้าพเจ้าขออธิบายเป็น ๒ นัย
๑. อำนาจพุทธคุณนั้นดีจริงแล้ว ไม่มีประมาณจริงแล้ว แต่จิตของคนไข้นั้นไม่ดีจริง ไม่สามารถเข้าถึงพุทธคุณอันนั้น กล่าวคือ ศรัทธาอ่อนไปหน่อย หรือแม้กระทั่งทุกขเวทนาจากโรคภัย ก็พาให้คนไข้เสื่อมไปจากพุทธคุณได้
๒. อำนาจจิตของคนไข้เอง อาจแฝงมาในรูปของความศรัทธา ก็มีส่วนช่วยในการบำบัดโรค มีตัวอย่างให้เห็นชัด ๆ คือ สมาชิกคนหนึ่งในเอ็กซ์ทีนป่วยเป็นโรคลูคิเมีย แต่ยังร่าเริงเขียนการ์ตูนน่ารัก ๆ ออกมาให้ผู้อื่นยิ้มได้ อำนาจจิตแห่งความร่าเริงนั่นเอง มีส่วนช่วยในการบำบัดโรค หาคนทำเช่นนี้ได้ยากเหลือเกินครับ ในความเป็นจริง แค่ไปตรวจสุขภาพ หรือตรวจเลือด ก็กังวลกับผลการตรวจเสียแล้ว เรียกว่า กายยังไม่ทันป่วยเลย ใจป่วยไปก่อนแล้ว
ในส่วนของอำนาจพุทธคุณนั้น ข้าพเจ้าก็เชื่อเหลือเกินครับว่า สามารถบำบัดได้ทุกโรคจริงดังคำว่า พุทโธ อัปปมาโณ แต่จักมีสักกี่คนที่เข้าถึงพระพุทธเจ้า หรือ "พุทธะ" ที่แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อำนาจพุทธคุณนั้นหาประมาณมิได้ แม้รักษาโรคทางกายไม่ได้ ก็รักษาโรคทางใจได้แน่นอน ที่รักษาโรคทางกายไม่ได้ ถึงแม้จิตจักเข้าถึงความเป็นพุทธะแล้ว ไม่ได้หมายความว่า พุทธคุณไม่เจ๋งจริง เพียงแต่พระองค์ก็ตรัสข้อแม้ไว้แล้วว่า "ถ้าเป็นเรื่องของกฏแห่งกรรม แม้พระองค์เองก็ช่วยเหลือกระไรมิได้" กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ หากไม่เกินกฏแห่งกรรมพระองค์ช่วยได้หมด ขอให้ "ถึง" พระองค์เท่านั้น
พระพุทธเจ้า ก็ประหนึ่งหมอใหญ่ รักษาได้ทุกโรค มีคนไข้มาหามากมาย ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของคนไข้เอง ต้องขวนขวายไปหาพระพุทธเจ้า และต้องรู้วิธีไปหาพระพุทธองค์ที่ถูกต้องด้วย มิเช่นนั้นเสาะหาเท่าไหร่ก็หาไม่เจอ เดินเท่าไหร่ก็ไปไม่ถึง
วิธีไปหาพระพุทธเจ้ามีบันได ๓ ขั้น คือ ทาน ศีล ภาวนา ไม่มีทางอื่น
การรักษาโรคมีตั้งแต่โรคพื้น ๆ เช่น โรคขาดวิตามินเอ็ม หรือโรคทรัพย์จางก็หมั่นให้ทาน เจ็บป่วยเบา ๆ ก็หมั่นรักษาศีล โดยเฉพาะข้อปาณาติบาต และปล่อยนกปล่อยปลาที่จักถูกเขาฆ่าบ้าง ป่วยหนัก ๆ ก็ต้องใช้ทั้ง ๓ ขนาน ยาแรงที่สุดที่โรคภัยใดใดไม่อาจต้านทานได้คือ "สติปัฏฐานเภสัช"
แพทย์แผนตะวันตก มุ่งรักษาโรคภัยตามอาการ และสมุฏฐานของโรค เบื้องต้นโดยใช้ยาที่ได้รับการวิจัยอย่างดีแล้ว เบื้องปลายแม้รักษาด้วยยามิได้ ก็ต้องด้วยการผ่าตัด
แพทย์แผนตะวันออก เวลาพบอาการป่วย จักเริ่มต้นที่การปรับสภาพร่างกายให้สมดุลย์ แก้ธาตุ ๔ ให้พอดีกัน หยินหยางเสมอกัน แล้วค่อยเริ่มรักษาโรค
แพทย์แผนพุทธศาสตร์ เริ่มรักษาที่ใจก่อน พอใจหายป่วย ค่อยมารักษาอาการทางกายภาพ จักด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน หรือแผนโบราณ มิได้เกี่ยง ซึ่งบางทีก็หายด้วยอำนาจแห่ง "ใจ" ที่หายป่วยแล้วนั่นแล เภสัชทั้งหลายอาจเป็นแค่ส่วนเสริม หรือหากใจไม่ป่วย โรคจาก ๑๐ ส่วน หายไปแล้วกว่า ๗ ส่วน อีกน้อยกว่า ๓ ส่วนให้เป็นหน้าที่ของเภสัชศาสตร์
อาจมีบทความแนวนี้ถูกบรรยายมาก่อนหน้าข้าพเจ้าเขียนมากมายว่า พุทธคุณไม่มีประมาณ ทำไมข้าพเจ้าจึงนำมาเขียนซ้ำ? เหตุก็มาจากการไปนอนรอรับการรักษาโรคริดซี่นี่แล กลัวจักทนเบื่อที่ต้องนอนนิ่ง ๆ หลาย ๆ วันมิได้ ก็ไปหาเช่าหนังสือจากห้องสมุดประชาชน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี มาอ่านเพลิน ๆ นอกจากจะเด็ดตัวดีแล้ว ยังไปคว้าเรื่อง How we die ของนายแพทย์เชอร์วิน บี นูแลนด์ มาอ่านด้วย เห็นชื่อเรื่องแล้วน่าสนใจ คะเนว่า คงเป็นปรากฏการณ์หลังความตาย แต่อ่านแล้วกลับเป็นเรื่องที่ผู้เขียนพบประสบการณ์ตรงจากความตายของคนไข้มามากมาย จนนำมาสรุปเป็นข้อสังเกต
บทแรกของหนังสือกล่าวถึงโรคหัวใจ โรคฮ็อตฮิตของชาวเมือง ข้าพเจ้ามาสะดุดกับอาการของโรค ซึ่งจักมีการเจ็บเตือนผู้ป่วยก่อน อาการเจ็บหน้าอก หรือเขียนให้เข้าใจง่าย ๆ คือ ตะคริวกินกล้ามเนื้อหัวใจ หรือที่เรียกว่า angina pectoris
อาการเจ็บเตือนนี้จักคลายตัวไปเอง หากผู้ป่วยหยุดพฤติกรรมที่ทำให้เกิดอาการนั้น เช่น อาการโกรธใครสักคนมือไม้สั่น ซึ่งโดยปกติ ใครก็ตามที่จู่ ๆ เจ็บหน้าอกแปล็บขึ้นมา ก็ย่อมหายโกรธโดยพลัน เปลี่ยนเป็นกังวล หรือสงสัยแทนว่า เกิดอะไรขึ้น?
แต่ถ้าห้ามไม่อยู่หล่ะ? หรืออาการโกรธเปลี่ยนไปเป็นความกลัวตายหล่ะ? ความโกรธกับความกลัวเป็นกิเลสที่มีรากเหง้าอันเดียวกัน หากร่างกายแปลความหมายผิด หรือความกลัวทำให้เกิดอาการทางกายเช่นเดียวกับความโกรธ อาการตะคริวกินกล้ามเนื้อหัวใจก็ไม่คลายไป หัวใจหยุดเต้นเสียสองสามนาที ก็ไปพบลุงพระยายมราชแล้ว
ดังนี้จักเรียกว่ากระไรดี อาการป่วยทางกาย ไปเปิดอาการป่วยทางจิต (กลัวตาย) อาการป่วยทางจิต ไปซ้ำเติมอาการป่วยทางกาย ก็เลยเอวังมรณังด้วยประการฉะนี้ ใช่หรือไม่?
ถ้าเหตุการณ์เช่นนี้ไปเกิดกับผู้ที่เจริญ "สติปัฏฐานเภสัช" ยาขนานเอกของพระพุทธเจ้าอยู่เป็นนิตย์เล่า? หรือยาแรงน้อยลงไปหน่อยที่เรียกว่า "อนุสสติเภสัช" อย่างพุทธานุสสติ หรือมรณานุสสติ-ระลึกความตายเป็นอารมณ์ อยู่เป็นนิตย์บ้างเล่า? ผลจักเป็นเยี่ยงไร? แตกต่างกันเพียงไหน?
ผู้เจริญสติปัฏฐานอยู่เนืองนิตย์ ยามฉุกเฉินแห่งชีวิต ย่อมมีสติที่เกิดขึ้นเอง เห็นความกลัวตายของตนด้วยความเป็นกลาง ความกลัวก็ดับไป ผู้มีพุทธานุสสติในหัวใจ เกิดเหตุร้ายขึ้น ย่อมระลึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นสำคัญ มีใจห้าวหาญมิเกรงต่อมัจจุมาร ผู้เจริญมรณานุสสติย่อมไม่หวั่นไหวสะทกสะท้านต่อการมรณา มิหลงกลัวหลงโกรธไปในอารมณ์อกุศลต่าง ๆ ร่างกายก็กลับสู่สภาวะปกติ เช่นนี้แล "พระพุทธานุบำบัดขจัดโรค"
ข้าพเจ้าเชื่อว่า ยังมีอีกหลายโรค (พอดีอ่านไม่จบ) ที่แพทย์แผนปัจจุบันรักษาไม่หาย เช่น โรคมะเร็งอันมีมูลมาจากความเครียด ก็เนื่องด้วยการติดล็อคกันเองในลักษณะนี้ของกายกับใจ กายป่วย ๑ ใจคิดว่า กายป่วย ๒ กายเลยป่วย ๓ ใจคิดว่าแย่แล้ว โคม่าแล้ว ให้ความป่วยลิมิตเข้าสู่อินฟินิตี้ คือ รักษาไม่หายไปเลย ทีนี้ใจป่วยถึงขีดสุด รักษากายอย่างไรก็ไม่หาย เป็นต้น ครั้นมาเจริญกรรมฐานเนือง ๆ ความเครียดก็ลดลง โรคภัยก็หายไป
แลยังมีการสวดมนต์รักษาโรคอีก โดยให้กำลังความศรัทธาเป็นสำคัญ แท้จริงสมัยพุทธกาล โพชฌงคปริตร หรือคิริมานนทสูตรนั้น สาธยายมนต์แล้ว ผู้ฟังเกิดธรรมปีติดอก ถึงหายจากโรค ปีตินี่เป็นยาขนานเอกทีเดียวขจัดโรคภัยได้จริง แลโดยพลันด้วยมิใช่ค่อย ๆ หาย หาใช่ว่าสวดไปมาก ๆ สวดไปเยอะ ๆ แล้วจักเกิดอำนาจวิเศษหายโรคไปเองดอก ถ้าเชื่อเช่นนั้นก็ย้อนกลับมาเป็นอำนาจแห่งแรงศรัทธาอีก ซึ่งจักหายหรือไม่หาย ก็ย่อมขึ้นกับความเข้มข้นของกำลังศรัทธาเป็นที่สุด
การป่วยทางกายเป็นเรื่องควบคุมไม่ได้ แต่การป่วยทางใจ เรารักษาได้ด้วยพระพุทธโอสถ อมฤตธรรม "สติปัฏฐาน" นี้แล้วเป็นมั่นคง
พระพุทธานุบำบัดขจัดโรคที่บรรยายมา ก็เอวังด้วยประการฉะนี้ ฯ
edit @ 16 Feb 2010 20:50:08