ก่อนกาลประสูติพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
เมื่อประมาณ ๓,๐๐๐ ปี ก่อนพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นในโลก หรือก่อนพระพุทธศักราช ๕๐๐ ปีเศษ ในประเทศอินเดีย ณ เมืองหนึ่งทางทิศเหนือ ใกล้แคว้นสักกะชนบท พระเจ้าอุกกากะราชเป็นกษัตริย์ปกครอง พระองค์มีพระโอรสพระธิดา ๙ พระองค์ คือ
๑. พระเชษฐภคินี ไม่ปรากฏพระนาม
๒. พระอุกกามุข
๓. พระกรกัณฑุ
๔. พระหัตถินีก
๕. พระสินิปุระ
๖-๗-๘-๙ พระกนิษฐภคินี ไม่ปรากฏพระนาม
ครั้นได้สร้างพระนครแล้ว จึงขนานนามพระนครนี้ว่า กบิลพัสดุ์ โดยอาศัยชื่อของกบิลดาบส เจ้าของถิ่นเดิมเป็นนิมิต และตั้งกษัตริย์วงศ์นี้ นามว่า ศากยวงศ์ ตามพระดำรัสของพระเจ้าอุกกากะราช
ในกาลนั้น พระบรมโพธิสัตว์เจ้าบังเกิดเป็นสันตุสิตเทวราช เสวยทิพยสมบัติอยู่ในรัตนวิมานสวรรค์ชั้นดุสิตเทวโลก ท้าวมหาพรหมและเทวราชในสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้นฟ้า จึงชวนกันไปเฝ้ากราบทูลอาราธนาพระบรมโพธิสัตว์เจ้า จุติลงไปบังเกิดเป็นมนุษย์ในมนุษยโลก เพื่อจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูสัมพุทธเจ้า ครั้นได้เวลาอันสมควรก็เสด็จจุติลงมาปฏิสนธิในครรภ์ของพระนางเจ้ามายาราชเทวี อัครมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ ณ พระนครกบิลพัสดุ์ ในวันเพ็ญ เดือน ๘ ปีระกา ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี
ในราตรีกาลวันอาสาฬหปุรณมีนั้น พระนางเจ้ามายาราชเทวีทรงอธิษฐานสมาทานอุโบสถศีล เสด็จบรรทมบนพระแท่นที่ ในเวลารุ่งสุริยรังษีปัจจุบันสมัย ทรงพระสุบินนิมิตว่า
‘ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ มายกพระองค์ไปพร้อมกับพระแท่นที่ผทม เอาไปวางไว้บนแผ่นมโนศิลา ภายใต้ต้นรังใหญ่ แล้วมีนางเทพธิดามาทูลเชิญให้เสด็จไปสรงน้ำในสระอโนดาษ ชำระล้างมลทินแห่งมนุษย์แล้ว ทรงผลัดด้วยผ้าทิพย์ ลูบไล้ด้วยเครื่องหอมอันเป็นทิพย์ ทั้งประดับด้วยทิพย์บุปผาชาติ ใกล้ภูเขาเงินภูเขาทอง แล้วเชิญเสด็จให้เข้าผทมในวิมานทอง บ่ายพระเศียรไปยังปราจีนทิศ (ตะวันออก) ขณะนั้นมีเศวตกุญชร ช้างเผือกเชือกหนึ่ง ชูงวงจับดอกปุณฑริกปทุมชาติ (บัวขาว) เพิ่งแย้มบาน กลิ่นหอมฟุ้งตระหลบ ลงจากภูเขาทองด้านอุตตรทิศ ร้องก้องโกญจนาทเดินเข้าไปในวิมาน ทำประทักษิณเวียนพระแท่นที่ผทมได้ ๓ รอบ แล้วปรากฏเสมือนเข้าไปสู่พระอุทรทางเบื้องขวาของพระราชเทวี’ ก็พอดีพระนางเจ้าเสด็จตื่นบรรทม ขณะนั้นก็พลันบังเกิดกัมปนาทแผ่นดินไหว มีรัศมีสว่างไปทั่วโลกธาตุ เป็นบุพพนิมิตโดยธรรมนิยม ในเวลาพระบรมโพธิสัตว์เจ้าเสด็จลงปฏิสนธิในพระครรภ์พระนางเจ้ามายาราชเทวี
เมื่อพระนางเจ้ามายาราชเทวีทรงพระครรภ์อยู่ถ้วนทศมาส ๑๐ เดือนบริบูรณ์ในวันวิสาขะปุณณมี คือวันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีจอ แล้วมีพระทัยปรารถนาจะเสด็จไปเมืองเทวทหะนคร แลเสด็จประพาสลุมพินีสถาน อันตั้งอยู่ในระหว่างพระนครทั้งสอง คือ พระนครกบิลพัสดุ์และพระนครเทวทหะ เมื่อเสด็จดำเนินไปถึงร่มไม้สาละพฤกษ์ ทรงยกพระหัตถ์เหนี่ยวกิ่งสาละซึ่งอ่อนน้อมค้อมลงมา ขณะนั้นก็ประจวบลมกัมมัชวาตหวั่นไหวประชวรพระครรภ์ ใกล้ประสูติ เทพยดาในหมื่นจักรวาลมาประชุมพร้อมกัน ณ ที่นั้น พระนางเจ้ามายาเทวี ทรงนุ่งโกสัยพัสตร์ขจิตด้วยทอง ทรงห่มทุกุลพัสตร์คลุมพระองค์ลงไปถึงหลังพระบาท ประทับยืนผันพระปฤษฏางค์พิงเข้ากับลำต้นมงคลสาละพฤกษ์ พระหัตถ์ขวาเหนี่ยวกิ่งสาละ ทอดพระเนตรไปยังปราจีนทิศ
ในกาลนั้น เป็นมหามงคลหุติฤกษ์ พระบรมโพธิสัตว์เจ้าประสูติจากมาตุคัพโภทร ท้าวสุธาวาสมหาพรหมทั้ง ๔ พระองค์ ก็ทรงถือข่ายทองรองรับพระกายไว้ ในที่เฉพาะพระพักตร์พระราชเทวีแล้วกล่าวว่า พระแม่เจ้าจงทรงโสมนัสเถิด พระราชโอรสที่ประสูตินี้ มีมเหศักดาอานุภาพยิ่งนัก ขณะนั้นท่ออุทกธาราทั้งสองก็ไหลหลั่งลงมาจากอากาศ ท่อธารหนึ่งเป็นน้ำร้อน ท่อธารหนึ่งเป็นน้ำเย็น ตกลงมาโสรจสรงพระกายพระกุมารกับพระราชมารดา
ลำดับนั้นท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ พระองค์ ก็ทรงรับพระราชกุมารไปจากพระหัตถ์ท้าวมหาพรหม โดยรองรับพระองค์ด้วยอชินจัมมาชาติ อันมีสุขสัมผัส ซึ่งสมมติว่าเป็นมงคลในโลก ต่อนั้น นางนมทั้งหลายจึงรองรับพระองค์ด้วยผ้าทุกุลพัสตร์จากพระหัตถ์ท้าวจตุโลกบาล
พระราชกุมารก็เสด็จอุฏฐาการลงจากมือนางนมทั้งหลาย เสด็จเหยียบยืนยังพื้นภูมิภาคด้วยพระบาททั้งสองเสมอเป็นอันดี ท้าวมหาพรหมก็ทรงเปรมปรีดิ์ ทรงทิพย์เศวตฉัตรกางกั้นกันละอองมิให้มาถูกต้องพระยุคลบาท ท้าวสยามเทวราช ทรงซึ่งทิพย์วาลวิชนีอันวิจิตร เทพบุตรที่มีมหิทธิฤทธิ์องค์หนึ่ง ถือพระขรรค์อันขจิตด้วยแก้ว ๗ ประการ เทพบุตรองค์หนึ่งยืนประดิษฐานถือฉลองพระบาทชาตรูปมัยทั้งคู่ เทพบุตรองค์หนึ่งยืนเชิดชูทิพยมหามงกุฎ ล้วนเป็นเกียรติแก่พระกุมาร ซึ่งเพียบพร้อมด้วยเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ทั้ง ๕ ปรากฏแก่นัยน์ตาของมวลมนุษย์ แต่เทพยดาทั้งหลายที่ถือนั้นมิได้เห็นปรากฏ
ครั้นพระกุมารทอดพระเนตรไปยังปราจีนทิศ เห็นเทพยดามนุษย์เป็นอันมาก มาสโมสรสันนิบาตในลานอันเดียวกัน และเทพยดาทั้งปวงนั้นทำสักการบูชาด้วยบุปผาชาติต่าง ๆ ตั้งไว้บนเศียรเกล้า ครั้นแล้วพระกุมารเจ้าก็บ่ายพระพักตร์ไปทางทิศอุตตรทิศ เสด็จย่างพระบาทไปบนพื้นแผ่นทอง อันท้าวจตุโลกบาลถือรองรับไว้ได้ ๗ ก้าว แล้วทรงหยุดประทับยืนบนทิพยปทุมบุปผาชาติ อันมีกลีบได้ ๑๐๐ กลีบ
ขณะนั้น โลกธาตุก็บังเกิดมหัศจรรย์หวั่นไหว รัศมีพระอาทิตย์ก็อ่อนมิได้ร้อนเย็นสบาย มหาเมฆก็ตั้งขึ้นในทิศทั้งหลาย ยังวัสโสทกให้ตกลงในที่นั้น ๆ โดยรอบ ทิศานุทิศทั้งหลายก็โอภาสสว่างยิ่งนัก ทั้งสรรพบุพพนิมิตปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ก็ปรากฏมี ดุจการเมื่อเสด็จลงปฏิสนธิในพระครรภ์นั้น
และในวันพระกุมารประสูตินั้น มีมนุษย์และสัตว์ กับสิ่งซึ่งเป็นสหชาติมงคลบังเกิดร่วมกันวันทันสมัยถึง ๗ คือ พระนางพิมพา ๑ พระอานนท์ ผู้เป็นราชโอรสพระเจ้าอมิโตทนะ พระเจ้าอา ๑ กัณฐกอัสวราช ม้าพระที่นั่ง ๑ ไม้มหาโพธิ์ ๑ กับขุมทอง ๔ ขุม คือ ขุมทองสังขนิธี ขุมทองเอลนิธี ขุมทองอุบลนิธี ขุมทองปุณฑริกนิธี
ครั้นกษัตริย์ศากยราชทั้งสองพระนครทรงทราบข่าวสาร พระกุมารประสูติก็ทรงปีติโสมนัสเป็นที่ยิ่ง จึงเสด็จมาอันเชิญพระราชกุมารพร้อมด้วยพระชนนี แวดล้อมด้วยมหันตราชบริวาร กึกก้องด้วยดุริยะประโคมขาน แห่เสด็จคืนเข้าพระนครกบิลพัสดุ์ พระเจ้าสุทโธทนะรับสั่งให้จัดพี่เลี้ยง นางนม พร้อมด้วยเครื่องสูงแบบกษัตริย์ บำรุงพระราชกุมาร กับจัดแพทย์หลวงถวายการบริหารพระราชเทวี พระราชชนนีของพระกุมารเป็นอย่างดี
อสีตดาบส เป็นมหาฤษีอยู่ ณ เชิงเขาหิมพานต์เป็นที่เคารพของราชสกุลเดินทางมาเยี่ยม และได้ทำนายว่า ถ้าพระกุมารอยู่ครองฆราวาสจะได้เป็นจักรพรรดิ ถ้าออกบวชจะได้เป็นศาสดาเอกของโลก
หลังประสูติเป็นเวลา ๕ วัน พระเจ้าสุทโธทนะพร้อมทั้งพระนางสิริหามายา พระประยูรญาติได้จัดพิธีขนานพระนามพระราชกุมารว่า สิทธัตถะ โดยเชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คนมาเลี้ยง แล้วได้คัดเลือกเอาพราหมณ์ชั้นยอด ๘ คนให้เป็นผู้ทำนายลักษณะพระกุมาร ซึ่งพราหมณ์โกณฑัญญะ ได้ทำนายว่าสิทธัตถะกุมาร จักออกบรรพชา ไม่ ครองราชสมบัติ และตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมกับถวายพระนามพระกุมาร ตามคุณพิเศษที่ปรากฏ ด้วยพระรัศมีโอภาสงามแผ่สร้านออกจากพระสรีระกายเป็นปกติ จึงถวายพระนามว่า อังคีรส และด้วยพระกุมารต้องพระประสงค์สิ่งอันใด สิ่งอันนั้นจะต้องพลันได้ดังพระประสงค์ จึงได้ถวายพระนามว่า สิทธัตถะ แต่มหาชนนิยมเรียกตามพระโคตรว่า โคตมะ ( โดยเฉพาะคนไทยเราแต่ก่อนนิยมเรียกว่า สิทธารถ อ่านว่า สิทธาด )
เมื่อประสูติได้ ๗ วัน พระนางสิริหามายาก็เสด็จทิวงคต ไปบังเกิดเป็นเทพธิดา สถิตในดุสิตเทวโลก ตามประเพณีพระพุทธมารดา พระเจ้าสุทโธทนะจึงได้มอบการบำรุงรักษาพระสิทธัตถะกุมาร ให้เป็นภาระแก่พระนาง ปชาบดี โคตมี ซึ่งเป็นพระขนิษฐาของพระนางสิริมหามายา และเป็นพระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ
เมื่อพระสิทธัตถะกุมารมีพระชนมายุ ๘ พรรษา พระราชบิดาจึงทรงพาไปมอบไว้ในสำนักครูวิศวามิตร พระกุมารทรงเรียนได้ว่องไว จนสิ้นความรู้ของอาจารย์สิ้นเชิง ต่อมาได้ทรงแสดงศิลปธนู ซึ่งถือว่าเป็นวิชาสำคัญสำหรับกษัตริย์ ในท่ามกลางขัตติยวงศ์ศากยราช และเสนามุขอำมาตย์ แสดงความแกล้วกล้าสามารถเป็นเยี่ยม ไม่มีผู้ใดเทียมถึง ให้ปรากฏเป็นอัศจรรย์
ครั้นพระกุมารมีพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา พระราชบิดาจึงตรัสสั่งให้สร้างปราสาท ๓ หลัง คือ วัมยปราสาท ๑ สุรัมยปราสาท ๑ สุภปราสาท ๑ เพื่อเป็นที่เสด็จประทับอยู่ของพระราชโอรสใน ๓ ฤดูกาล คือ ฤดูหนาว ฤดูร้อน ฤดูฝน ตกแต่งปราสาท ๓ หลังนั้นงดงามสมพระเกียรติ เป็นที่สบายในฤดูนั้น ๆ แล้วตรัสขอ พระนางยโสธรา แต่นิยมเรียกว่า พระนางพิมพา พระราชบุตรีของพระเจ้าสุปปพุทธะ ในเทวทหนคร อันประสูติแต่พระนางอมิตา พระกนิษฐภคินีของพระองค์ มาอภิเษกเป็นพระชายา
พระสิทธัตถะกุมารเสด็จอยู่บนปราสาททั้ง ๓ หลังนั้น ตามฤดูทั้ง ๓ บำเรอด้วยดนตรีล้วนแต่สตรีประโคมขับ ไม่มีบุรุษเจือปน เสวยสุขสมบัติทั้งกลางวันกลางคืน จนพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา มีพระโอรสประสูติแต่นาง ยโสธราพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า ราหุลกุมาร
พระสิทธัตถะกุมารทอดพระเนตรเทวทูต
วันหนึ่ง พระสิทธัตถะเสด็จประพาสพระราชอุทยาน โดยรถพระที่นั่ง ได้ทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง ๔ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ ซึ่งเทพยดานิรมิตให้ทอดพระเนตรในระยะทาง ทรงเบื่อหน่ายในกามสุข ตั้งต้นแต่ได้ทรงเห็นคนแก่ เป็นลำดับไป จึงทรงน้อมพระทัยเสด็จออกบรรพชา ทรงตื่นบรรทมในเวลาดึกสงัดแห่งราตรีนั้น ได้ทอดพระเนตรเห็นนางบำเรอฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรีเหล่านั้น นอนหลับอยู่เกลื่อนภายในปราสาท ดั่งซากศพ อันทิ้งอยู่ในป่าช้าผีดิบ ทรงเตรียมแต่งพระองค์ทรงพระขรรค์ รับสั่งเรียกนายฉันนะ อำมาตย์ ให้เตรียมผูกม้ากัณฐกะ เพื่อเสด็จออกในราตรีนั้น แล้วเสด็จไปยังปราสาทพระนางพิมพาเทวี เพื่อทอดพระเนตรราหุลกุมาร เผยพระทวารห้องบรรทมของพระนางพิมพาเทวี พระนางบรรทมหลับสนิท พระกรกอดโอรสอยู่ ทรงดำริจะอุ้มพระโอรสขึ้นชมเชยเป็นครั้งสุดท้าย ก็เกรงว่าพระนางพิมพาจะทรงตื่นบรรทม เป็นอุปสรรคขัดขวางการเสด็จออกบรรพชา จึงตัดพระทัยระงับความเสน่หาในพระโอรส แล้วเสด็จออกจากห้องเสด็จลงจากปราสาท ซึ่งเทพยดาบันดาลเปิดทวารพระนครไว้ให้เสด็จโดยสวัสดี ขณะนั้นพญามารวัสวดี เห็นพระสิทธัตถะสละราชสมบัติ เสด็จออกจากพระนครเพื่อบรรพชา ก็มาอาราธนาให้กลับคืนสู่พระนครเถิด แต่ไม่เป็นผล
ใกล้รุ่งปัจจุสมัย ถึงฝั่งแม่น้ำอโนมานที ทรงเสด็จลงจากหลังอัสวราช ประทับนั่งเหนือหาดทรายอันขาวสะอาด ทรงเปลื้องเครื่องประดับสำหรับขัตติยราชทั้งหมดมอบให้แก่นายฉันนะ ตั้งพระทัยปรารถนาจะทรงบรรพชา ทรงจับพระโมลีด้วยพระหัตถ์ซ้าย พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ ตัดพระโมลีให้ขาดออกเรียบร้อยด้วยพระองค์เอง แล้วทรงจับพระโมลีนั้นขว้างขึ้นไปบนอากาศ ทรงอธิษฐานว่า ถ้าได้ตรัสรู้สัมโพธิญาณโดยแท้แล้ว ขอจุฬาโมลีนี้ จงตั้งอยู่ในอากาศ ทว่าจะมิได้บรรลุสิ่งซึ่งต้องประสงค์ ก็จงตกลงมายังพื้นพสุธา ในทันใด จุฬาโมลีก็มิได้ตกลงมา สมเด็จพระอัมรินทราธิราชจึงรองรับไว้ด้วยผอบแก้ว แล้วนำไปบรรจุยังจุฬามณีเจดีย์สถาน ในเทวโลก ฆฏิการพรหมก็น้อมนำไตรจีวรและบาตรมาจากพรหมโลกเข้าไปถวาย พระสิทธัตถะทรงรับแล้วทรงอธิษฐานเพศเป็นบรรพชิต แล้วทรงมอบผ้าทรงเมื่อยังเป็นคฤหัสถ์เพศทั้งคู่ ให้แก่ฆฏิการพรหมไปบรรจุไว้ในทุสสเจดีย์ ในพรหมโลกสถาน
นายฉันนะเมื่อต้องเดินทางกลับพระนครกบิลพัสดุ์ ก็มิอาจจะกลั้นโศกาอาดูรได้ รู้สึกว่าเป็นโทษหนักที่ทอดทิ้งให้พระมหาบุรุษเจ้าอยู่แต่พระองค์เดียว แต่ก็ไม่อาจขัดพระกระแสรับสั่งได้ จึงเดินทางพร้อมกับม้ากัณฐกะสินธวชาติแต่เพียงชั่วสุดสายตา ม้ากัณฐกะก็ขาดใจตาย ด้วยความอาลัยในพระมหาบุรุษเจ้าสุดกำลัง ครั้นพระราชบิดา พระมาตุจฉา พระนาง พิมพา ตลอดจนขัตติยราช ได้สดับข่าวก็ค่อยคลายความโศกเศร้า และต่างก็คอยสดับข่าวตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณของพระมหาบุรุษสืบไป ตามคำพยากรณ์ที่อสิตดาบส และพราหมณ์ทั้งหลายทูลถวายไว้แต่ต้นนั้น
ลำดับนั้น ได้เสด็จจาริกไปสู่สำนักอาฬารดาบส กาลามโคตร เพื่อทรงศึกษาวิชาสมาบัติ ๗ คือ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๓ จนสิ้นความรู้ของอาฬารดาบส แล้วทรงอำลาไปสู่สำนักอุทกดาบส รามบุตร เพื่อทรงศึกษาอรูปฌาน ๔ ครบสมาบัติ ๘ จนสิ้นความรู้ของอุทกดาบส ทรงมุ่งพระทัยจะทำความเพียรโดยลำพังพระองค์เดียว จึงเสด็จจาริกไปยังมคธชนบท บรรลุถึงตำบลอุรุเวลา เสนานิคม และประทับอยู่ ณ ที่นั้น โดยมีปัญจวัคคีย์ปฏิบัติบำรุง
ทรงเริ่มบำเพ็ญทุกกรกิริยา ซึ่งเป็นปฏิปทาที่นิยมว่าเป็นทางให้ตรัสรู้ได้ในสมัยนั้น โดยทรมานพระวรกายให้ลำบาก ซึ่งเป็นกิจยากที่บุคคลจะกระทำได้ ด้วยการทรมานเป็น ๓ วาระ ดังนี้
วาระที่ ๑ ทรงกดพระทนต์ (ฟัน) ด้วยพระทนต์ กดพระตาลุ (เพดานปาก) ด้วยพระชิวหา (ลิ้น) ไว้แน่น จนพระเสโท (เหงื่อ) ไหลจากพระกัจฉะ (รักแร้)
วาระที่ ๒ ทรงผ่อนกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ (ลมหายใจเข้าออก) เมื่อลมไม่ได้ทางเดินสะดวก โดยช่องพระนาสิก (จมูก) และช่องพระโอฐ (ปาก) ก็เกิดเสียงดังอู้ทางช่องพระกรรณ (หู) ทั้งสอง ให้ปวดพระเศียร (หัว) ร้อนในพระกายเป็นกำลัง
วาระที่ ๓ ทรงอดพระกระยาหาร ผ่อนเสวยแต่วันละน้อยบ้าง เสวยอาหารละเอียดบ้าง จนพระกายเหี่ยวแห้ง พระฉวี (ผิว) เศร้าหมอง พระอัฏฐิ (กระดูก) ปรากฏทั่วพระกาย จนเส้นพระโลมา มีรากเน่าร่วงจากขุมพระโลมา
สมเด็จอมรินทราธราชทรงทราบข้อปริวิตกของพระมหาบุรุษดังนั้น จึงทรงซึ่งพิณทิพย์สามสายมาดีดถวาย เป็นเหตุแห่งพระสิทธัตถะทรงพิจารณาเห็นแจ้งถึง มัชฌิมาปฏิปทา
ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ แห่งวันเพ็ญวิสาขะปุรณมี ปีระกา นางสุชาดา ธิดาของคฤหบดีผู้มั่งคั่งในตำบลนั้น ได้หุงข้าวมธุปายาสมีภาชนะเป็นถาดทองไปถวาย ซึ่งขณะนั้น บาตรดินอัน เป็นทิพย์ซึ่งฆฏิการพรหมถวายแต่วันแรกทรงบรรพชา ได้อันตรธานหายไป พระองค์เสด็จลุกจากที่ประทับ เสด็จไปยังฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ประทับบ่ายพระพักตร์สู่บุรพาทิศแล้ว ทรงปั้นข้าวปายาสได้ ๔๙ ปั้น เสวยจนหมด แล้วทรงถือถาดลงสู่แม่น้ำอธิษฐานเสี่ยงพระบารมีว่า หากได้ตรัสแก่พระปรมาภิเสกสัมโพธิญาณแล้ว ขอให้ถาดนี้จงลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไป แล้วถาดทองนั้นก็ได้ลอยทวนกระแสน้ำเนรัญชราขึ้นไปประมาณ ๑ เส้น ก่อนจมลงตรงนาคภพพิมาน แห่งพญากาฬนาคราช
ทรงเสด็จดำเนินไปสู่ควงไม้อสัตถะโพธิพฤกษ์มณฑล ณ ด้านปราจีนทิศ ทรงรับหญ้าคา ๘ กำจาก โสตถิยะพราหมณ์ แล้วทรงอธิษฐานให้เป็นรัตนบัลลังก์แก้ว ทรงขัดสมาธิ ผินพระพักตร์ตรงไปยังปราจีนทิศ หันพระปฤษฎางค์ (หลัง) ไปทางลำต้นโพธิ์พฤกษ์ ก่อนที่จะเริ่มทำความเพียรโดยสมาธิจิต ได้ทรงตั้งสัตยาธิษฐานในพระทัยว่า ถ้ายังมิได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเพียงใด แม้พระโลหิตและพระมังสะจะเหือดแห้งไป จะเหลือแต่พระตจะ (หนัง) พระนหาลุ (เอ็น) และพระอัฏฐิ (กระดูก) ก็ตามที จะไม่เลิกละความเพียร โดยเสด็จลุกไปจากที่นี่
ครั้งนี้ ทรงผจญกับพญาวัสวดีมาราธิราช แต่ก็ทรงใช้บารมีธรรมทั้ง ๓๐ ประการ ปราบได้โดยสำเร็จ ไม่ช้าก็ทรงบรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตฌาน ซึ่งเป็นส่วนรูปสมาบัติ เป็นลำดับ จนถึงอรูปสมาบัติ ๔ บริบูรณ์ โดยในปฐมยาม ทรงบรรลุปุพเพนิวาสานุสติญาณ สามารถระลึกชาติที่พระองค์ทรงบังเกิดมาแล้วทั้งสิ้นได้ ในมัชฌิมยาม ทรงบรรลุจุตูปปาตญาณ บางแห่งเรียกว่า ทิพพจักษุ สามารถหยั่งรู้การเกิดการตาย ตลอดจนการเวียนว่ายของสัตว์ทั้งหลายอื่นได้หมด ในปัจฉิมยาม ทรงบรรลุอาสวักขยญาณ ทรงปรีชาสามารถทำอาสวะกิเลสทั้งหลายให้หมดสิ้นไปด้วยพระปัญญา พิจารณาในปัจจยาการแห่งปฏิจจสมุปบาท โดยอนุโลมและปฏิโลม และทรงบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเวลาปัจจุบันสมัย รุ่งอรุโณทัยแห่งวันวิสาขะปุรณมีนั่นเอง ขณะนั้น พระองค์มีพระชนมายุ ๓๕ พรรษา ธรรมที่พระพุทธองค์ตรัสรู้นั้นคือ อริยสัจ ๔ อันได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค
ขณะนั้น พื้นมหาปฐพีอันกว้างใหญ่ก็หวั่นไหว พฤกษาชาติทั้งหลายก็ผลิดอกออกช่องามตระการตา เทพเจ้าทุกชั้นฟ้าก็แซ่ซ้องสาธุการ โปรยปรายบุปผามาลัยทำการสักการบูชา เปล่งวาจาว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลก ด้วยปีติยินดี เป็นอัศจรรย์ที่ไม่เคยมีในกาลก่อน
ครั้นแล้ว ทรงประทับเสวยวิมุติสุขบนรัตนบัลลังก์ทั้งสิ้น ๗ วัน ประทับอยู่ในทิศอิสานแห่งไม้มหาโพธิ์อีก ๗ วัน สถานที่นั้นเรียกว่า "อนิมิสเจดีย์" เสด็จจงกรมในทิศอุดรแห่งไม้มหาโพธิ์อีก ๗ วัน เสด็จประทับนั่งยังรัตนฆระเจดีย์ เรือนแก้ว ในทิศปัจจิมแห่งไม้มหาโพธิ์ พิจารณาพระอภิธรรมปิฎกอีก ๗ วัน
ทรงเสด็จไปประทับยังร่มไทรของคนเลี้ยงแพะนามว่า อชปาลนิโครธ ซึ่งเป็นที่พบนางมารธิดาทั้ง ๓ คือ นางตัณหา นางราคา นางอรดี ด้วยอานุภาพของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บันดาลให้ร่างกายอันงดงามของมารธิดาทั้ง ๓ กลายเป็นหญิงชราน่าสังเวช จนพากันตกใจอันตรธานหายไปในที่สุด ต่อมามีพราหมณ์ผู้หนึ่ง มีนิสัยเป็นหุหุกชาติ ชอบตวาดข่มขี่ผู้อื่นด้วยวาจาว่า หึ หึ มาทูลถามถึงพราหมณ์และธรรมอันทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงแสดงสมณะว่าเป็นพราหมณ์ และธรรมอันทำบุคคลให้เป็นสมณะว่า เป็นธรรมอันทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์ในพระพุทธศาสนา โดยโวหารพราหมณ์
ครั้นล่วง ๗ วัน ทรงเสด็จไปประทับนั่งขัดสมาธิยังร่มไม้จิกนามว่า "มุจลินท์" ในทิศอาคเนย์แห่งไม้มหาโพธิ์ เสวยวิมุติสุขอยู่ ๗ วัน ในกาลนั้นฝนตกพรำตลอด พญานาคนามว่า "มุจลินท์นาคราช" มีความเลื่อมใส จึงเข้าไปใกล้แล้วขดเข้าซึ่งขนดกาย แวดวงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ๗ รอบ แผ่พังพานอันใหญ่ป้องปกพระเศียรจากลมและฝน จากนั้นเสด็จไปยังร่มไม้เกตุนามว่า "ราชายตนะ" ในทิศทักษิณแห่งต้นมหาโพธิ์อีก ๗ วัน เป็นอวสาน
ตลอดเวลา ๔๙ วัน พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ฉันพระกระยาหารใดๆ จึงทรงรับอาหารของพานิชสองพี่น้อง ชื่อ ตปุสสะ และภัลลิกะ ซึ่งเป็นนายก องเกวียน นำข้าวสัตตูก้อน สัตตูผงมาถวาย ทรงรับบาตรเสลมัย เป็นศิลาล้วน มีสีเขียวดังเมล็ดถั่วเขียว จากท้าวจาตุมหาราช ๔ พระองค์ ทรงอธิษฐานประสานบาตรเข้าเป็นลูกเดียว ในกาลนั้น พานิชสองพี่น้องกราบทูลแสดงตนเป็นอุบาสก ปฐมอุบาสกทั้งสองนี้จึงเป็นอุบาสกประเภท เทววาจิก คือ เปล่งวาจาขอถึงพระพุทธเจ้าและพระธรรมทั้งสอง เป็นที่พึ่งที่ระลึก พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานพระเกศาธาตุที่ติดพระหัตถ์เมื่อปรามาสพระเศียรแก่ปฐมอุบาสกทั้งสอง เพื่อเป็นที่ระลึกตามประสงค์
ครั้นแล้ว จึงเสด็จไปประทับยังร่มไม้อชปาลนิโครธ ทรงได้พิจารณาถึงพระธรรม ที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้ทั้งหมดนั้น เป็นคุณชาติละเอียดสุขุมคัมภีรภาพอย่างยิ่ง ยากที่มนุษย์ทั้งหลาย ผู้มีปัญญาน้อย มีความเพียรน้อย แม้จะได้สดับแล้ว จะตรัสรู้ตามได้ ทำให้พระองค์ทรงท้อพระทัยในอันจะแสดงธรรมโปรดประชากร ท้าวสหัมบดีพรหมทราบในพระพุทธปริวิตกเช่นนั้น จึงชวนเทพยดาเป็นอันมากไปเข้าเฝ้า อาราธนาให้ทรงประกาศธรรมโปรดมวลมนุษย์ ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหยั่งเห็นสันดานของประชาสัตว์สิ้นแล้ว ว่ามีอุปนิสัยต่าง ๆ กัน เป็น ๔ จำพวก ดังดอกบัว ๔ เหล่า นั้น คือ
๑. อุคฆติตัญญู ผู้สามารถจะตรัสรู้ตามพระธรรมเทศนาได้ฉับพลัน
๒. วิปจิตัญญู ผู้จะตรัสรู้ตามในกาลภายหลังที่สดับรับพระโอวาทแนะนำในกาลต่อไป
๓. เนยยะ ผู้มีสันดานเพียงเล่าเรียน ศึกษา ปฏิบัติตามโอวาท ซึ่งสามารถจะรู้ได้ในกาลภายหลัง
๔. ปทปรมะ ผู้ยากที่จะสั่งสอน แม้จะได้สดับธรรม ก็จะได้ผลเพียงเป็นอุปนิสัยปัจจัยในภพต่อไป
จึงทรงน้อมพระทัยไปในอันที่จะแสดงธรรมโปรดประชาสัตว์ ทรงรับอาราธนาของท้าวสหัมบดีพรหม ตั้งพระทัยจะประดิษฐานพระพุทธศาสนาด้วยดี ให้เกิดแก่พุทธบริษัททั้ง ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา แผ่ไพศาลก่อนที่จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานสืบไป
จากนั้น พระพุทธองค์ทรงพระดำริหาผู้ที่สามารถจะรู้ธรรมนี้ได้ ทรงปรารภถึงอาฬารดาบส และอุทกดาบส แต่ท่านทั้งสองได้สิ้นชีพเสียแล้วก่อนหน้า ๗ ราตรี ทรงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ว่า เป็นผู้มีอุปนิสัยในอันจะตรัสรู้ธรรม ทั้งมีอุปการะแก่พระองค์มาก ได้เป็นอุปัฏฐากของพระองค์เมื่อครั้งทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา ทรงประกาศพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ให้พระอัญญาโกณทัญญะได้บรรลุโสดาปัตติมรรค และเป็นพระสาวกองค์แรกในพระศาสนานี้ เป็นอันว่า พระรัตนตรัย คือ พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า และพระสงฆ์เจ้า ให้เกิดขึ้นบริบูรณ์ ในกาลแต่บัดนั้น ในกาลต่อมา ทรงแสดงธรรมสั่งสอนพระปัญจวัคคีย์ด้วย อนัตตลักขณะสูตร จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด
ทรงแสดงอนุปุพพิกถา และอริยสัจ ๔ ให้กับมารดาและภรรยาเก่าของพระยสะจนได้ธรรมจักษุ และเป็นอุบาสิกาคนแรกในพระพุทธศาสนา
ทรงประทานอุปสมบทให้กับเศรษฐีบุตรชาวเมืองพาราณสี ๔ คน คือ วิมละ สุพาหุ ปุณณชิ และควัมปติ ซึ่งเป็นสหายของพระยสะ และสหายชาวชนบท ๕๐ คน ทรงสั่งสอนให้บรรลุพระอรหัตผล
ทรงแสดง อนุปุพพิกถา และอริยสัจ ๔ ให้ภัททวัคคีย์มานพทั้ง ๓๐ ณ ไร่ฝ้าย และประทานอุปสมบทให้ จนในไม่ช้าก็บรรลุอริยผลเบื้องสูง
ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ทรมานอุรุเวลกัสสป และได้ทรงทำอิทธิปาฏิหาริย์ให้อุรุเวลกัสสปพร้อมชฎิลบริวารทั้ง ๕๐๐ อีกทั้งชฎิลผู้เป็นน้องทั้งสองคือ นทีกัสสปดาบส พร้อมด้วยดาบสทั้ง ๓๐๐ อันเป็นศิษย์ และคยากัสสปดาบสพร้อมด้วยดาบสทั้ง ๒๐๐ อันเป็นศิษย์ เห็นเป็นอัศจรรย์ใจ ทรงโปรดประทานอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา แล้วทรงพาเหล่าพระภิกษุสงฆ์ไปสู่คยาสีสะประเทศ ตรัสพระธรรมเทศนา อาทิตตปริยายสูตร โปรดภิกษุ ๑,๐๐๐ นั้น ให้บรรลุพระอรหันต์ด้วยกันทั้งสิ้น
ทรงแสดงจตุราริยสัจ โปรดพระเจ้าพิมพิสารและราชบริพาร ๑๑ หมื่น ให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล อีก ๑ หมื่น ให้ได้ความเลื่อมใสมั่นคงอยู่ในพระรัตนตรัย เป็นอุบาสกในพระศาสนา ทรงถวายมหาทานร่วมด้วยราชบริพาร คือถวายพระราชอุทยาน เวฬุวันเป็นสังฆาราม เป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนา
ทรงแสดงธรรมโดยควรแก่อุปนิสัยของปริพพาชก ๒๕๐ คน และสองสหาย อุปดิสสะและโกลิตะ จนปริพพาชก ๒๕๐ คนบรรลุอรหัตผล และทรงประทานเอหิภิกขุอุปสมบทแก่ทั้งหมด
โกลิตะ หลังอุปสมบทแล้วมีนามว่า พระโมคคัลลานะ ได้สดับโอวาทในธาตุกัมมัฏฐานแล้วปฏิบัติตาม ก็ได้บรรลุพระอรหันต์ในวันนั้น
อุปดิสสะ หลังอุปสมบทแล้วมีนามว่า พระสารีบุตร ได้สดับพระธรรมเทศนา เวทนาปริคคหสูตร ในวันเพ็ญวันมาฆปุรณมี เดือน ๓ ซึ่งพระบรมศาสดา ทรงแสดงแก่ปริพพาชกชื่อว่า ทีฆนขะ อัคคิเวสนโคตร ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล ส่วนทีฆนขะปริพพาชกได้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล
ในกาลนั้น พระบรมศาสดาได้ทรงตั้งพระเถระเจ้าทั้งสองไว้ในตำแหน่ง คู่แห่งอัครสาวก คือ พระสารีบุตรเถระ เป็นอัครสาวกเบื้องขวา พระโมคคัลลานะเถระ เป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย
และในวันมาฆปุรณมี พระบรมศาสดาเสด็จมาประทับที่เวฬุวัน พร้อมด้วยพระอรหันต์ขีณาสพเจ้า ๑,๒๕๐ องค์ ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ เพื่อเป็นหลักในการประกาศพระพุทธศาสนาสำหรับพระสาวกสืบไป
ครั้งเสด็จยังนครกบิลพัสดุ์ พร้อมด้วยพระสงฆ์สาวก ก็ปรากฏ"ฝนโบกขรพรรษ" เป็นมหัศจรรย์ ทรงมีพุทธบรรหารตรัสว่า
"ฝนโบกขรพรรษนี้ จะตกในที่ชุมนุมพระประยูรญาติในครั้งนี้เท่านั้นก็หาไม่ ในอดีตสมัย เมื่อตถาคตเสวยพระชาติเป็น พระเวสสันดร บรมโพธิสัตว์ ฝนโบกขรพรรษก็เคยได้ตกลงในที่ชุมนุมพระประยูรญาติเหมือนครั้งนี้"
แล้วทรงแสดงพระธรรมเทศนา เรื่องมหาเวสสันดรชาดก ยอยกพระมหาบารมีทาน แก่พระเจ้าสุทโธทนะมหาราช พร้อมพระประยูรญาติ ทรงตรัสพระธรรมเทศนาโปรดพระนางมหาปชาบดีจนได้บรรลุโสดาปัตติผล และพระเจ้าสุทโธทนะได้บรรลุสกิทาคามีผล และในวันที่สามที่ทรงรับภัตตาหารบิณฑบาตในพระราชนิเวศน์ ทรงเทศนามหาธรรมปาลชาดกโปรดพระเจ้าสุทโธทนะ ให้สำเร็จพระอนาคามีผล ส่วนพระนางพิมพาราชกัญญา เมื่อได้สดับพระธรรมที่พระศาสดาทรงประทาน ก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล ทรงประทานอุปสมบทให้พระนันทกุมาร และพระราหุลกุมารในกาลต่อมา
ทรงประทานอุปสมบทแก่อุบาลีอำมาตย์กับช่างกัลบก และกษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ คือ พระภัททิยะ พระอนุรุทธะ พระอานนท์ พระภัคคุ พระกิมพิละ และพระเทวทัต พระภัททิยะ สำเร็จพระอรหัตผลในพรรษานั้น พระอนุรุทธะ บรรลุทิพจักษุญาณก่อน เมื่อฟังพระธรรมเทศนา มหาปุริสวิตักสูตร จึงสำเร็จพระอรหัตผล พระอานนท์ ได้บรรลุอริยะผลเพียงพระโสดาบัน พระภัคคุและพระกิมพิละ เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้บรรลุพระอรหัตผล ส่วนพระเทวทัตนั้น ได้บรรลุปุถุชนฤทธิ์ อันเป็นของโลกิยะบุคคล
พระเทวทัตได้เกิดความโทมนัสน้อยใจ ตามวิสัยของปุถุชนจำพวกที่มากด้วยความอิจฉา ริษยา ผูกอาฆาตในพระบรมศาสดา เมื่อครั้งทูลขอเป็นภารธุระช่วยว่ากล่าวครอบครองภิกษุสงฆ์ทั้งปวง แต่พระศาสดาไม่ทรงอนุญาต จึงปรารถนาจะทำอันตรายแก่พระผู้มีพระภาค
คราหนึ่ง พระเทวทัตหลีกจากเมืองโกสัมพีสู่เมืองราชคฤห์ คบคิดกับพระเจ้าอชาติศัตรูให้ปลงพระชนม์ชีพพระราชบิดา จัดการสถาปนาพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ พระอชาตศัตรูราชกุมารยังเยาว์พระวัย หลงเชื่อถ้อยคำของพระเทวทัต จึงทำปิตุฆาต ปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์พระเจ้าพิมพิสาร พระชนกนาถ ให้อภิเษกพระองค์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์สำเร็จดังปรารถนา ต่อมา พระเทวทัตได้คบคิดกับพระเจ้าอชาติศัตรู ใช้ให้นายขมังธนูทั้งหลาย เข้าไปทำอันตรายยิงพระบรมศาสดา แต่นายขมังธนูกลับมีจิตศรัทธา สดับพระธรรมเทศนา ให้บรรลุโสดาปัตติผลด้วยกันสิ้น
ครั้งที่สอง พระเทวทัตลอบขึ้นไปบนภูเขาคิชฌกูฎ กลิ้งก้อนหินศิลาใหญ่ลงมาหวังจะให้ประหารพระบรมศาสดาขณะเสด็จขึ้น สะเก็ดศิลาได้กระทบพระบาทจนห้อพระโลหิต นับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียว ที่พระผู้มีพระภาคต้องประสบอันตรายถึงเสียพระโลหิตจากพระวรกาย เพราะพระเทวทัตกระทำอนันตริยกรรมพุทธโลหิตุบาท
ครั้งที่สาม พระเทวทัตให้ปล่อยช้างนาฬาคีรี ช้างพระที่นั่งกำลังซับมันดุร้าย เพื่อให้ทำอันตรายพระชนม์ชีพของพระบรมศาสดา แต่พระบรมศาสดาได้ทรงช้างนาฬาคีรีให้หมดพยศอันร้ายกาจ หมอบยอบกายเข้าไปถวายบังคมพระบรมศาสดา ฟังพระบรมศาสดาตรัสสอนแล้วเดินกลับเข้าสู่โรงช้าง ทั้งทรงตรัสอนุปุพพิกกถาอนุโมทนาที่พระอานนท์ได้สละชีวิตออกไปยืนกั้นช้างนาฬาคีรี ประทานพระธรรมเทศนามหังสชาดก และจุลลหังสชาดก ยกคุณของพระอานนท์เถระเจ้าที่ได้สละชีวิตถวายพระองค์แม้ในอดีตชาติ
ภายหลัง พระเทวทัตปรารถนาจะเลี้ยงชีพด้วยโกหัญญกรรม การหลอกลวงสืบไป จึงทูลขอวัตถุ ๕ ประการ เพื่อให้พระบรมศาสดาบัญญัติให้ภิกษุทั้งหลายปฏิบัติโดยเคร่งครัด คือ
๑. ให้อยู่ในเสนาสนะป่า เป็นวัตร
๒. ให้ถือบิณฑบาต เป็นวัตร
๓. ให้ทรงผ้าบังสุกุล เป็นวัตร
๔. ให้อยู่โคนไม้ เป็นวัตร
๔. ให้งดฉันมังสาหาร เป็นวัตร
แต่พระบรมศาสดาไม่ทรงอนุญาต ด้วยทรงเห็นว่า ยากแก่การปฏิบัติ เป็นการเกินพอดีไม่เป็นทางสายกลางสำหรับบุคคลทั่วไป พระเทวทัตโกรธแค้น ไม่สมประสงค์ กล่าวโทษพระบรมศาสดา ประกาศว่า คำสอนของตนประเสริฐกว่า ทำให้ภิกษุที่บวชใหม่ มีปัญญาน้อยหลงเชื่อ ยอมทำตนเข้าเป็นสาวก ครั้นพระเทวทัตได้ภิกษุยอมเข้าเป็นบริษัทของตนแล้ว ก็ประกาศทำสังฆเภท แยกจากพระบรมศาสดา พาภิกษุชาววัชชีบวชใหม่เหล่านั้น ไปยังตำบลคยาสีสะประเทศ
ครั้นพระบรมศาสดาทรงทราบเหตุ ทรงดำรัสให้พระสารีบุตรเถระและพระโมคคัลลานะเถระ ไปนำภิกษุพวกนั้นกลับ ด้วยอำนาจเทศนาปาฏิหาริย์และอิทธิปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ของอัครสาวกทั้งสอง บันดาลภิกษุเหล่านั้นได้บรรลุอมตธรรม แล้วพาภิกษุเหล่านั้นกลับมาเฝ้าพระบรมศาสดาในท้ายที่สุด
ครานั้น พระโกกาลิกะ ซึ่งเป็นศิษย์ผู้ใหญ่ของพระเทวทัต มีความโกรธ กล่าวโทษแก่พระเทวทัต ที่ไปคบค้าด้วยพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ ให้พระอัครสาวกทั้งสองพาภิกษุทั้งหลายกลับไปหมดสิ้น ได้ประหารพระเทวทัตที่ทรวงอกด้วยเท้าอย่างแรงด้วยกำลังโทสะ เป็นเหตุให้พระเทวทัตเจ็บปวดอย่างสาหัส ถึงอาเจียนเป็นโลหิต ได้รับทุกข์เวทนาแรงกล้า อันเตวสิกทั้งหลายช่วยกันหามพระเทวทัตมาถึงสระโบกขรณี นอกพระเชตวันวิหาร วางเตียงลงในที่ใกล้สระแล้วลงสรงน้ำ พระเทวทัตลุกขึ้นนั่ง ห้อยเท้าทั้งสองถึงพื้นดิน ประสงค์จะเหยียบยันกายขึ้นบนพื้นปฐพี ขณะนั้น พื้นปฐพีก็แยกออกเป็นช่อง สูบเอาเท้าทั้งสองของพระเทวทัตลงไปในแผ่นดินโดยลำดับ พระเทวทัตได้จมหายไปในภาคพื้นตราบเท่าถึงคอและกระดูกคาง จึงได้กล่าวคาถาสรรเสริญบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
“พระผู้มีพระภาค เป็นอัครบุรุษ ยอดแห่งมนุษย์และเทพยดาทั้งหลาย พระองค์เป็นสารถีฝึกบุรุษอันประเสริฐ พระองค์ทรงสมบูรณ์ด้วยบุญลักษณ์ถึงร้อย และบริบูรณ์ด้วยสมันตจักษุญาณ หาที่เปรียบมิได้ ข้าพระองค์ ขณะนี้ มีเพียงกระดูกคางและศีรษะ กับลมหายใจเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว ขอถึงพระพุทธเจ้า เป็นสรณะ"
พอสิ้นเสียงแห่งคำนี้เท่านั้น ร่างพระเทวทัตก็จมลงไปในปฐพีไปบังเกิดในอเวจีมหานรก
เมื่อถึงกาลพระเจ้าสุทโธทนะ ได้รับการบีบคั้นจากอาพาธกล้า เกิดทุกขเวทนายิ่งนัก พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนา โปรดให้พระพุทธบิดาบรรลุพระอรหัตผล แล้วเสด็จนิพพานด้วยอุปปาทิเสสนิพพาน
ทรงประทานบรรพชาอุปสมบทแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระนางพิมพาเทวี และศากยะขัตติยนารีเป็นภิกษุณี
ทรงทำปาฏิหาริย์และทรงแสดงธรรมโปรดพุทธบริษัทที่สันนิบาตประชุมกันอยู่บริเวณรอบต้นคัณฑามพฤกษ์ จนบรรลุอริยมรรคอริยผลกันเป็นอันมาก
ทรงเสด็จโปรดพระพุทธมารดา ณ ดาวดึงส์สุราลัยเทวโลก และทรงแสดงอภิธรรม ๗ พระคัมภีร์ โปรดตลอดไตรมาส ให้เทพยดาในโลกธาตุที่ประชุมฟังธรรมอยู่ในที่นั้น ได้บรรลุมรรคผลสุดที่จะประมาณ ในอวสานกาลเป็นที่จบคัมภีร์มหาปัฏฐาน ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่ ๗ พระมหามายาเทวี พระพุทธมารดา ก็ได้บรรลุพระโสดาปัตติผล และเสด็จลงสู่มนุษย์โลกในวันปุรณมี แห่งอัสสยุชมาส เพ็ญเดือน ๑๑ ท้าวโกสีย์จึงนิรมิตบันไดทิพย์ ๓ บันได ลงจากเทวโลก คือบันไดทองอยู่เบื้องขวา บันไดเงินอยู่เบื้องซ้าย บันใดแก้วอยู่ท่ามกลาง เชิงบันไดทั้ง ๓ ประดิษฐานอยู่ภาคพื้นปฐพีที่ใกล้ประตูเมืองสังกัสสะนคร ศีรษะบันไดเบื้องบนจดยอดภูเขาสิเนรุราช บันไดแก้วนั้นเป็นที่พระผู้มีพระภาคเสด็จลง บันไดทองเป็นที่เทวดาทั้งหลายตามลงมาส่งเสด็จ บันไดเงินเป็นที่พรหมทั้งหลายตามลงมาส่งเสด็จ ขณะนั้นเทพยดาและพรหมทั้งหลาย ได้มาประชุมพร้อมกันบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าเต็มทั่วจักรวาล ได้ทรงทำ "โลกวิวรณะปาฏิหาริย์" เปิดโลกโดยอาการทอดพระเนตรไปทิศต่าง ๆ รวมทั้งเบื้องบนและเบื้องล่างเป็น ๑๐ ทิศด้วยกัน พร้อมกับเปล่งฉัพพรรณรังษีรัศมี ๖ ประการ เป็นมหาอัศจรรย์ ทรงแสดงธรรมโปรดพุทธบริษัทจนบรรลุอริยมรรคอริยผล ตลอดจนพระอรหัตผลเป็นอันมาก
และในภายหลัง ทรงแสดงธรรมปรารภความชรา ซึ่งเบียดเบียนกายของพระองค์แก่พระอานนท์เถระ เหล่าเทพยดาที่มาสดับพระธรรมเทศนาในที่นั้น ได้บรรลุธรรมาภิสมัยเป็นอันมาก
จำเดิมแต่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้อนุตรภิเศกสัมโพธิญาณ คำนวณพระชนมพรรษาได้ ๓๕ พระวัสสาแล้ว ก็เริ่มบำเพ็ญปรหิตประโยชน์ โปรดเวไนยสัตว์
ในพรรษาที่ ๑ เสด็จจำพรรษา ณ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ทรงได้สาวกเป็นพระอรหันต์จำนวน ๖๐ องค์ เกิดภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เป็นพุทธบริษัท ๔ ขึ้น การประกาศศาสนาได้ดำเนินไปอย่างเข้มแข็ง โดยการจาริกไปยังหมู่บ้านชนบทน้อยใหญ่ในแคว้นต่างๆ ทั่วชมพูทวีปตลอดเวลาอีก ๔๔ พรรษา
ในพรรษาที่ ๒ เสด็จไปยังเสนานิคมในตำบลอุรุเวลา ในระหว่างทางได้สาวกกลุ่ม ภัททวัคคีย์ ๓๐ คน และที่ตำบลอุรุเวลาได้ ชฎิล ๓ พี่น้อง คือ อุรุเวลกัสสปะ นทีกัสสปะ และคยากัสสปะ กับศิษย์ ๑,๐๐๐ คน เทศนาอาทิตตปริยายสูตร ที่คยาสีสะ แล้วเสด็จไปยังราชคฤห์แห่งแคว้นมคธ กษัตริย์เสนิยะพิมพิสาร ทรงถวายสวนเวฬุวันแด่คณะสงฆ์ ทั้งได้พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นสาวก
อีก ๒ เดือนต่อมาทรงเสด็จไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงพำนักที่นิโครธาราม ได้สาวกมากมาย ได้แก่ พระนันทะ พระราหุล พระอานนท์ พระเทวทัต และพระญาติอื่น ๆ
อนาถปิณฑิกะเศรษฐี อาราธนาไปยังกรุงสาวัตถีแห่งแคว้นโกศล ถวายสวนเชตวันแต่คณะสงฆ์ ทรงจำพรรษาที่นี่
ในพรรษาที่ ๓ นางวิสาขาถวายบุพพาราม ณ กรุงสาวัตถี ทรงจำพรรษาที่นี่
ในพรรษาที่ ๔ ทรงจำพรรษาที่เวฬุวัน ณ กรุงราชคฤห์แห่งแคว้นมคธ
ในพรรษาที่ ๕ เสด็จจำพรรษาที่กุฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้พระนครไพศาลี โปรดพระราชบิดาจนได้บรรลุอรหัตผล ทรงไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างพระญาติฝ่ายสักกะกับพระญาติฝ่ายโกลิยะเกี่ยวกับการใช้น้ำในแม่น้ำโรหิณี ทรงบรรพชาอุปสมบทพระนางปชาบดีโคตมี และคณะเป็นภิกษุณี
ในพรรษาที่ ๖ เสด็จจำพรรษาบน มกุฏบรรพต ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ในกรุงสาวัตถีย์
ในพรรษาที่ ๗ ทรงเทศนาและจำพรรษาที่กรุงสาวัตถี ระหว่างจำพรรษาเสด็จขึ้นไปจำพรรษาที่บน ปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ภายใต้ร่มไม้ปาริชาติในดาวดึงส์เทวโลก แสดงอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา
ในพรรษาที่ ๘ เสด็จจำพรรษาที่เภสกลาวัน ป่าไม้สีเสียด ใกล้กรุงสุงสุมารคีรี ในภัคคราฐ และทรงแสดงธรรมเทศนาในแคว้นโกสัมพี
ในพรรษาที่ ๙ เสด็จจำพรรษาที่ปาลิไลยวันสถาน อาศัยกุญชรชาติ ชื่อว่า ปาลิไลยหัตถี ทำวัตรปฏิบัติ และทรงแสดงธรรมเทศนาในแคว้นโกสัมพี
ในพรรษาที่ ๑๐ เสด็จจำพรรษาที่บ้านนาลายพราหมณ์ คณะสงฆ์แห่งโกสัมพีแตกแยกกันอย่างรุนแรง ทรงตักเตือน ทรงเสด็จไปประทับและจำพรรษาในป่า ปาลิเลยยกะ มีช้างเชือกหนึ่งมาเฝ้าพิทักษ์และรับใช้ตลอดเวลา
ในพรรษาที่ ๑๑ เสด็จจำพรรษาที่ภายใต้ร่มไม้ปุจิมันทพฤกษ์ ไม้สะเดา อันเป็นรุกขพิมานของนาเฬรุยักษ์ ใกล้พระนครเวรัญชา ต่อมาเสด็จไปยังกรุงสาวัตถี คณะสงฆ์แห่งโกสัมพีปรองดองกันได้ ทรงจำพรรษาในหมู่บ้านพราหมณ์ชื่อ เอกนาลา
ในพรรษาที่ ๑๒ เสด็จจำพรรษาอยู่ในปาลิยบรรพต ทรงเทศนาและจำพรรษาที่เวรัญชา เกิดความอดอยากรุนแรง
ในพรรษาที่ ๑๓ เสด็จจำพรรษาที่พระเชตวันวิหาร ณ พระนครไพศาลี ทรงเทศนาและจำพรรษาบน ภูเขาจาลิกบรรพต
ในพรรษที่ ๑๔ เสด็จจำพรรษาที่นิโครธาราม มหาวิหาร ใกล้พระนครกบิลพัสดุ์ อนุเคราะห์ระงับการวิวาทระหว่างพระประยูรญาติทั้งหลาย ทั้งสองพระนคร ทรงเทศนาและจำพรรษาที่กรุงสาวัตถี ราหุลกุมารขอบรรพชาอุปสมบท
ในพรรษาที่ ๑๕ เสด็จจำพรรษาที่อัคคาฬวเจดีย์ ใกล้อาฬวีนคร หลังจากทรงทรมานอาฬวกยักษ์ ให้สิ้นพยศแล้ว แล้วเสด็จไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ สุปปพุทธะถูกแผ่นดินสูบเพราะขัดขวางทางโคจร
พรรษาที่ ๑๖ ทรงเทศนาและจำพรรษาที่ อาลวี
พรรษาที่ ๑๗ เสด็จไปยังกรุงสาวัตถี แล้วเสด็จกลับมายังอาลวี ทรงจำพรรษาที่กรุงราชคฤห์
พรรษาที่ ๑๘ เสด็จไปยัง อาลวี ทรงจำพรรษาบน ภูเขาจาลิกบรรพต
ในพรรษาที่ ๑๖, ๑๗ และ ๑๘ ทรงเสด็จกลับไปจำพรรษาที่เวฬุวันวิหาร ณ นครราชคฤห์ อีก รวม ๓ พรรษา
พรรษาที่ ๑๙ทรงเทศนาและจำพรรษาที่บน ภูเขาจาลิกบรรพต
พรรษาที่ ๒๐ โจรองคุลีมาลย์ กลับใจเป็นสาวก ทรงแต่งตั้งให้พระอานนท์รับใช้ใกล้ชิดตลอดกาล ทรงจำพรรษาที่กรุงราชคฤห์ ทรงเริ่มบัญญัติวินัย
พรรษาที่ ๒๑ - ๔๔ ทรงยึดเอาเชตวันและบุพพารามในกรุงราชคฤห์เป็นศูนย์กลางการเผยแพร่และเป็นที่ประทับจำพรรษา แล้วทรงเสด็จพร้อมสาวกออกเทศนาโปรดเวไนยสัตว์ตามแว่นแคว้นต่าง ๆ โดยรอบ
ในพรรษาที่ ๑๙ ถึงพรรษาที่ ๔๕ รวม ๒๕ พรรษานี้ ทรงจำพรรษาที่พระเชตวันวิหารและบุพพาราม สลับกัน คือประทับที่พระเชตวันวิหาร ของท่านอนาถบิณฑิกะเศรษฐีสร้างถวาย ๑๙ พรรษา ประทับที่บุพพาราม ของท่านมหาอุบาสิกา วิสาขา สร้างถวาย ๖ พรรษา
ครั้นในพรรษาที่ ๔๕ ซึ่งเป็นพรรษาสุดท้าย พระบรมศาสดา ทรงจำพรรษา ณ บ้านเวฬุคาม ใกล้พระนครไพศาลี พระเทวทัต คิดปลงพระชนม์ กลิ้งก้อนหินจนเป็นเหตุให้พระบาทห้อโลหิต ทรงได้รับการบำบัดจากหมอชีวก และภายในพรรษา ทรงพระประชวรอาพาธหนักครั้งหนึ่ง ทรงเยียวยาบำบัดพระโรคด้วยโอสถ คือ สมาบัติ ครั้นออกพรรษา ทรงทำปวารณากับด้วยพระสงฆ์สาวกทั้งปวง ได้รับสั่งแก่พระสารีบุตรเถระว่า "ไม่ช้าแล้วตถาคตก็จะปรินิพพาน ดูกรสารีบุตร ตถาคตจะไปพระนครสาวัตถี" พระสารีบุตรเถระรับพระบัญชาออกมารับสั่งพระสาวกให้เตรียมการตามเสด็จ จากนั้น พระบรมศาสดาพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวก เสด็จไปประทับ ณ พระเชตวันมหาวิหาร
ครั้นเสด็จถึงทิวาวิหาร ณ ปาวาลเจดีย์ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงตรัสนิมิตโอภาสแก่พระอานนทเถระแต่เพราะมารเข้าดลใจมิให้รู้ทัน จึงมิได้ทูลอาราธนาให้ดำรงพระชนมายุกัปหนึ่ง แม้พระบรมศาสดาจะทรงทำโอภาสนิมิตถึง ๓ ครั้ง พระอานนท์ได้ฟังแล้วก็นิ่งอยู่ พญาวัสวดีมาร จึงถือโอกาสเข้าไปทูลอาราธนาให้เสด็จปรินิพพาน พระพุทธองค์จึงทรงรับอาราธนา และเมื่อทรงกำหนดพระทัยปลงพระชนมายุสังขาร ณ ปาวาลเจดีย์ ในวันมาฆะปุรณมี เพ็ญเดือน ๓ ครั้งนั้น ก็บังเกิดมหัศจรรย์บันดาล พื้นแผ่นพสุธาธารโลกธาตุ ก็กัมปนาทหวั่นไหว ประหนึ่งว่า แสดงความทุกข์ใจ อาลัยในพระผู้มีพระภาคเจ้า จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานในกาลไม่นาน ต่อนี้ไปอีก ๓ เดือนเท่านั้น
ทรงแสดงธรรมโปรดพุทธบริษัท ณ บ้านภัณฑุคามนั้น ให้ตั้งอยู่ในอริยะธรรม คือ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติอันเป็นธรรมนำให้หลุดพ้นจากอาสวะทั้งมวล จากนั้นเสด็จไปสู่บ้านหัตถีคาม และอัมพคาม และชมพุคาม และเมืองโภคนคร โดยลำดับ ประทับอยู่ที่โภคนคร แสดงธรรมโปรดพุทธบริษัทชาวเมืองนั้น แล้วเสด็จไปยังเมืองปาวานคร เข้าอาศัยยังอัมพวัน สวนมะม่วงของนายจุนทะกัมมารบุตร คือบุตรของนายช่างทอง ซึ่งอยู่ใกล้เมืองนั้น นายจุนทะได้กราบทูลนิมนต์และถวาย “สุกรมัทวะ” ซึ่งเป็นเหตุให้พระพุทธองค์ทรงประชวรพระโรค “โลหิตปักขันทิกาพาธ” มีกำลังกล้า ลงพระโลหิต เสวยทุกขเวทนาอย่างหนัก ทรงแสดงบุพพกรรมที่ทรงทำไว้ในชาติก่อนแก่พระอานนท์
ทรงเสด็จไปเมืองกุสินารานคร ขณะที่เสด็จพระพุทธดำเนินตามทางนั้น ให้บังเกิดกระหายน้ำเป็นกำลัง จึงเสด็จแวะเข้าพักยังร่มไม้ริมทาง พลางตรัสเรียกพระอานนท์ ขอน้ำเสวย เป็นครั้งแรกและเป็นครั้งเดียว ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเรียกขอน้ำเสวยในขณะเดินทางยังไม่ถึงที่พัก เนื่องด้วยพระองค์ทรงประชวรมาก พระอานนท์ ได้กราบทูลว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่ม เพิ่งข้ามแม่น้ำนี้ไป แม่น้ำนี้เป็นแม่น้ำเล็ก น้ำในแม่น้ำก็น้อย เมื่อล้อเกวียนมากด้วยกัน บดไปตลอดทุกเล่ม น้ำขุ่นนัก ไม่ควรเป็นน้ำเสวย ถัดนี้ไปไม่ไกลนัก แม่น้ำกกุธานที มีน้ำจืด ใส เย็น ทั้งมีท่ารื่นรมย์ เชิญเสด็จพระผู้มีพระภาคไปยังแม่น้ำกกุธานทีโน้นเถิด ผิวะเสวยหรือจะสรงก็จะเย็นเป็นสุขสำราญ"
แล้วได้กราบทูลทัดทานถึง ๒ ครั้ง เมื่อได้สดับกระแสรับสั่งครั้งที่ ๓ พระเถระเจ้าก็อนุวัตรตามพระบัญชาทันที ด้วยได้สติรู้ทันในพระบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า "อันธรรมดาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย จะดำรงคงพระวาจามั่น ในสิ่งซึ่งหาเหตุมิได้ เป็นไม่มี" จึงรีบนำบาตรเดินตรงไปยังแม่น้ำนั้น ครั้นเข้าไปใกล้แม่น้ำนั้น ก็พลันได้ปีติโสมนัส ด้วยพุทธานุภาพของพระพุทธเจ้า หากมาบันดาลน้ำในแม่น้ำซึ่งขุ่นข้นได้กลับกลายเป็นน้ำใสสะอาดปราศมลทิน
ระหว่างนั้นปุกกุสะ บุตรแห่งมัลลกษัตริย์ ผู้เป็นสาวกของท่านอาฬารดาบสกาลามโคตร เดินทางจากเมืองกุสินารา เพื่อจะไปยังปาวานคร ได้ถวายผ้าสิงคิวรรณ ๒ ผืน อันมีเนื้อละเอียด มีสีดังทองสิงคี งาม ประณีตมีค่ามาก ปุกกุสะ ได้น้อมผ้าถวายเป็นพุทธบริโภคผืนหนึ่ง ถวายพระอานนท์เถระผืนหนึ่ง ตามพระพุทธบัญชา แล้วปุกกุสะได้อภิวาททูลลาไป พระบรมศาสดาได้ทรงแสดงธรรมมีกถาให้ปุกกุสะมัลลบุตร เบิกบาน รื่นเริงในกุศลจริยาตามสมควร เมื่อพระเถระเจ้านำเข้าถวายปกคลุมพระกาย พระฉวีวรรณก็งามบริสุทธิ์ผุดผ่องยิ่งนัก พระองค์ตรัสแก่พระอานนท์ว่า
"จริงดังอานนท์สรรเสริญ" พระผู้มีพระภาคทรงรับสั่ง "กายของตถาคตย่อมงามบริสุทธิ์ผุดผ่องยิ่งใน ๒ เวลา คือ เวลาราตรีที่จะตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ๑ และเวลาราตรีที่จะปรินิพพาน ๑ อานนท์ ๒ เวลานี้แล กายของตถาคตงามบริสุทธิ์ยิ่งนัก"
ทั้งทรงได้ตรัสสรรเสริญว่า "อันบิณฑบาตทานที่ถวายพระตถาคตใน ๒ ครั้ง คือ ครั้งที่พระตถาคตเจ้าเสวยแล้วได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ๑ ครั้ง ที่พระตถาคตเจ้าเสวยแล้ว เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ๑ ครั้ง เป็นทานมีผลมาก มีอานิสงส์มากกว่าบิณฑบาตทานทั้งหลาย เป็นกุศลกรรมทำให้เจริญ อายุ วรรณะ สุข ยศ และสวรรค์ ดังนี้เถิด"
เมื่อเสด็จดำเนินข้ามแม่น้ำหิรัญวดี ไปเมืองกุสินารานคร เข้าไปยังสาลวันอุทยานของมัลลกษัตริย์ ใกล้นครกุสินาราแล้ว ทรงโปรดให้พระอานนท์ปูลาดเตียงที่ประทม ณ ระหว่างไม้รังคู่ แล้วเสด็จขึ้นประทมสีหไสยา มีสติสัมปชัญญะ แต่มิได้มีอุฎฐานสัญญามนสิการ เพราะเหตุเป็นไสยาอวสาน ต้นรังทั้งคู่ เผล็ดดอกบานเต็มต้น ร่วงหล่นมายังพระพุทธสรีระ บูชาพระตถาคตเจ้า เป็นมหัศจรรย์ แม้ดอกมณฑาในเมืองสวรรค์ ตลอดทิพยสุคนธชาติก็ตกลงมาจากอากาศ บูชาพระตถาคตเจ้า ใช่แต่เท่านั้น ยังเทพเจ้าทั้งหลายก็ประโคมดนตรีทิพย์ บันลือลั่นเป็นมหานฤนาท บูชาพระตถาคตเจ้าในอวสานกาล
ทรงตรัสถึงสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล ควรที่พุทธบริษัท คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ผู้มีความเชื่อความเลื่อมใสในพระตถาคตเจ้า จะดูจะเห็น และควรจะให้เกิดความสังเวชทั่วกัน และตรัสถึงวิธีปฏิบัติในพระสรีระว่า
"ดูกรอานนท์ ชนทั้งหลายย่อมพันพระสรีระแห่งพระเจ้าจักรพรรดิ ด้วยผ้าขาวซับด้วยสำลี แล้วห่อด้วยผ้าขาว ๕๐๐ คู่ แล้วเชิญพระสรีระลงในหีบทองอันเต็มไปด้วยน้ำมันหอม เชิญขึ้นสู่จิตรกาธาร ซึ่งทำด้วยไม้หอม ถวายพระเพลิง แล้วเชิญพระอัฏฐิธาตุไปทำพระสถูปบรรจุไว้ ณ ที่ประชุมแห่งถนนใหญ่ทั้ง ๔ เพื่อเป็นที่ไหว้สักการบูชาแห่งมหาชนผู้สัญจรไปมาแต่ทิศทั้ง ๔ เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนเหล่านั้นสิ้นกาลนาน
"อานนท์ บุคคลผู้ควรแก่การประดิษฐานในสถูป เรียกว่า ถูปารหบุคคล มี ๔ ประเภท คือ
พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑
พระปัจเจกพุทธเจ้า ๑
พระสาวกอรหันต์ ๑
พระเจ้าจักรพรรดิ ๑
บุคคลพิเศษทั้ง ๔ นี้ ควรที่บรรจุอัฏฐิธาตุไว้ในสถูป เพื่อเป็นที่สักการบูชากราบไหว้ ด้วยความเลื่อมใส ด้วยสามารถเป็นพลวปัจจัย นำให้ผู้กราบไหว้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ตามกำลังศรัทธาเลื่อมใส"
ในกาลนี้ ปริพพาชก ชื่อ สุภัททะ ชาวเมืองกุสินารา มาขอโอกาสเข้าเฝ้าเพื่อทูลถามข้อสงสัยและเมื่อได้สดับพระธรรมเทศนาว่าด้วยอริยะมรรค ๘ ประการ ก็ทูลขอบรรพชาอุปสมบท โดยมีพระอานนท์เป็นธุระให้ และได้บรรลุพระอรหัตผลในราตรีวันนั้น ได้เป็นพระอรหันต์ปัจฉิมสาวกของพระผู้มีพระภาค ทันพระชนม์ชีพของพระบรมศาสดา
พระอานนท์เถระ ได้ทูลถามพระบรมศาสดาด้วยเหตุที่พระฉันนะถือตัวว่า เป็นผู้ว่ายาก ไม่รับโอวาทใคร และเกรงว่าเมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว จักเป็นผู้ว่ายากยิ่งขึ้น ด้วยหาผู้ยำเกรงมิได้ พระพุทธองค์จึงทรงตรัสให้ลง พรหมทัณฑ์ ว่าดังนี้
"อานนท์การลงพรหมทัณฑ์ นั้น คือ ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงว่ากล่าว ไม่พึงโอวาท ไม่พึงสั่งสอนเลย ไม่พึงเจรจาคำใด ๆ ด้วยทั้งสิ้น เว้นแต่คำอันเป็นกิจธุระโดยเฉพาะอานนท์ เมื่อฉันนะถูกสงฆ์พรหมทัณฑ์แล้ว จักสำนึกในความผิด และสำเหนียกในธรรมวินัย เป็นผู้ว่าง่าย ยอมรับโอวาท ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมแล”
พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ประทานโอวาทแก่ภิกษุทั้งหลายว่า “อานนท์ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว หากจะพึงมีภิกษุบางรูปดำริว่า พระศาสดาของเราปรินิพพานแล้ว บัดนี้ ศาสดาของเราไม่มี อานนท์ ท่านทั้งหลายไม่ควรดำริอย่างนั้น ไม่ควรเห็นอย่างนั้น แท้จริง วินัยที่เราได้บัญญัติแก่ท่านทั้งหลายก็ดี ธรรมที่เราได้แสดงแล้วแก่ท่านทั้งหลายก็ดี เมื่อเราล่วงไป ธรรมและวินัยนั้น ๆ แล จักเป็นศาสดาของท่านทั้งหลาย”
"ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนท่านทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความเสื่อม ความสิ้นไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลาย จงบำเพ็ญไตรสิกขา คือศีล สมาธิ ปัญญา ให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด"
เมื่อตรัสพระโอวาทประทานเป็นวาระสุดท้ายเพียงเท่านี้แล้ว ก็หยุด มิได้ตรัสอะไรอีก ทรงทำปรินิพพานบริกรรมด้วยอนุปุพพวิหารสมาบัติทั้ง ๙ โดยอนุโลมเป็นลำดับดังนี้ คือ
ทรงเข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌานแล้ว
ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานแล้ว
ทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้ว
ทรงเข้าจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌานแล้ว
ทรงเข้าอากาสานัญจายตนะ ออกจากอากาสานัญจายตนะแล้ว
ทรงเข้าวิญญาณัญจายตนะ ออกจากวิญญาณัญจายตนะแล้ว
ทรงเข้าอากิญจัญญายตนะ ออกจากอากิญจัญญายตนะแล้ว
ทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนะแล้ว
ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ
ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จอยู่ในสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ตามเวลาที่พระองค์ทรงกำหนดแล้วก็เสด็จ
ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ
ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนะ
ออกจากสมาบัตินั้นโดยปฏิโลมเป็นลำดับจนถึงปฐมฌาน
ออกจากปฐมฌานแล้ว ทรงเข้าทุติยฌาน อีกวาระหนึ่ง
ออกจากทุติยฌานแล้ว ทรงเข้าตติยฌาน
ออกจากตติยฌานแล้ว ทรงเข้าจตุตถฌาน
โดยมีพระอนุรุทธเป็นผู้เข้าฌานตามดู
เมื่อครั้นออกจากจตุตถฌานแล้ว
ก็เสด็จปรินิพพาน ณ ปัจฉิมยามแห่งราตรีวิสาขะปุรณมี เพ็ญเดือน ๖ มหามงคลสมัย
ครั้นบังเกิดมหัศจรรย์ แผ่นดินไหว กลองทิพย์ก็บันลือลั่น กึกก้องด้วยสัททสำเนียงเสียงสนั่นในนภากาศ เป็นมหาโกลาหล ในปัจฉิมกาล ท้าวสหัมบดีพรหม ท้าวโกสีย์สักกะเทวราช พระอนุรุทธเถระเจ้า และพระอานนท์เถระเจ้า ได้กล่าวคาถาสรรเสริญพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรรดาพุทธบริษัททั้งหลายทั้งปวง ที่ประชุมอยู่ในอุทยานสาลวันนั้น ต่างก็เศร้าโศก ร่ำไร รำพัน พระอนุรุทธเถระเจ้า และพระอานนท์เถระเจ้า ได้แสดงธรรมิกถาปลุกปลอบ บรรเทาจิตบริษัทให้เสื่อมสร่างจากความเศร้าโศก ตามควรแก่วิสัยและควรแก่เวลา ครั้นสว่างแล้ว พระอนุรุทธเถระเจ้าก็มีเถระบัญชาให้พระอานนท์รีบเข้าไปในเมืองกุสินารา แจ้งข่าวปรินิพพานของพระผู้มีพระภาคแก่มัลลกษัตริย์ทั้งหลาย
มัลลกษัตริย์ทั้งหลายได้อัญเชิญพระสรีระของพระผู้มีพระภาคไปโดยทิศทักษิณแห่งพระนคร เพื่อถวายพระเพลิงยังภายนอกพระนคร แต่ปรากฏพระสรีระศพไม่ขยับเขยื้อน จึงต้องทำการอัญเชิญพระสรีระศพเข้าพระนครโดยทางประตูทิศอุดร เชิญไปในท่ามกลางพระนคร แล้วออกจากพระนครโดยทางประตูทิศบูรพา แล้วอัญเชิญไปประดิษฐานถวายพระเพลิงที่มกุฎพันธนะเจดีย์ ด้านทิศตะวันออกแห่งเมืองกุสินารานคร ตามประสงค์ของเทวดา แล้วอัญเชิญพระพุทธสรีระศพขึ้นประดิษฐานบนเตียงมาลาอาสน์ ซึ่งตกแต่งด้วยอาภรณ์อันวิจิตร แล้วเคลื่อนขบวนอัญเชิญไปโดยทางอุตรทิศเข้าไปภายในแห่งพระนคร ประชาชนพากันมาสโมสรเข้าขบวนแห่ตามพระพุทธสรีระศพสุดประมาณ เสียงดุริยางค์ดนตรีแซ่ประสานกับเสียงมหาชน ดังสนั่นลั่นโกลาหลเป็นมหัศจรรย์ ทั้งดอกมณฑาอันเป็นของทิพย์ในสรวงสวรรค์ก็ร่วงหล่นลงมาสักการบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า ขบวนมหาชนอัญเชิญพระพุทธสรีระศพได้ผ่านไปในวิถีทางท่ามกลางพระนครกุสินารา ประชาชนทุกถ้วนหน้าพากันสักการบูชาทั่วทุกสถาน ตลอดทางที่พระพุทธสรีระศพจะแห่ผ่านไปตามลำดับ
ระหว่างทาง นางมัลลิกา ผู้เป็นภรรยาของท่านพันธุละเสนาบดี จึงได้มีโอกาสถวายเครื่องประดับอันมีชื่อว่า มหาลดาประสาธน์ อันงามวิจิตรมีค่ามากถึง ๙๐ ล้าน ประกอบด้วยรัตนะ ๗ ประการ ในสมัยนั้นมีอยู่เพียง ๓ เครื่อง คือ ของนางวิสาขา ของนาง มัลลิกา ภรรยาท่านพันธุละ และของเศรษฐีธิดาภรรยาท่านเทวปานิยสาระ เป็นอาภรณ์ประดับพระพุทธสรีระ ขณะนั้นพระพุทธสรีระศพก็งามโอภาส แล้วมหาชนก็อัญเชิญพระพุทธสรีระศพเคลื่อนจากที่นั้น ออกจากประตูเมืองด้านบูรพทิศ ไปสู่มกุฎพันธนะเจดีย์
ครั้นอัญเชิญหีบทองขึ้นประดิษฐานบนจิตรกาธาร ทำสักการบูชา กษัตริย์มัลลราชทั้ง ๘ องค์ ผู้เป็นประธานกษัตริย์ทั้งปวง ก็นำเอาเพลิงเข้าจุดเพื่อถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระศพ แต่เพลิงก็ไม่ติดตามประสงค์ เหตุเพราะคอยท่าพระมหากัสสปเถระเจ้า ซึ่งออกเดินทางจากเมืองปาวาไปยังเมืองกุสินารา พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป เพื่อเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่หยุดพักอยู่ยังร่มไม้ริมทาง ครั้นพบอาชีวกผู้หนึ่ง เดินถือดอกมณฑากั้นศีรษะมาตามทาง ก็นึกฉงนใจ ด้วยดอกมณฑานี้ หามีในมนุษย์โลกไม่ จึงได้ลุกขึ้นเดินเข้าไปถามอาชีวกผู้นั้น เมื่อได้ความถึงพระนิพพานเมื่อ ๗ วันก่อน จึงรีบพาพระสงฆ์บริวารเดินทางไปยังนครกุสินารา ตรงไปยังมกุฎพันธนะเจดีย์
เวลานั้น มีภิกษุรูปหนึ่ง บวชเมื่อภายแก่ ชื่อ สุภัททะ เป็นวุฑฒะบรรพชิตมีจิตดื้อด้าน ด้วยสันดานพาลชน เป็นอลัชชีมืดมนย่อหย่อนในธรรมวินัย กล่าวคำจ้วงจาบพระบรมศาสดา เป็นเหตุให้พระมหากัสสปเถระดำริที่จะทำสังคายนา ยกพระธรรมวินัยขึ้นไว้เป็นที่เคารพแทนองค์พระผู้มีพระภาคเจ้า
ครั้นถึงยังพระจิตรกาธาร ที่ประดิษฐานพระพุทธสรีระศพ พระบรมศาสดาแล้ว พระมหากัสสปเถระก็ทำจีวรเฉวียงบ่า ประคองอัญชลี กระทำประทักษิณเวียนพระจิตรกาธารสามรอบแล้ว เข้าสู่ทิศเบื้องพระยุคลบาท น้อมถวายอภิวาทแล้วตั้งอธิษฐานจิตว่า
"ขอให้พระบรมบาททั้งคู่ของสมเด็จพระบรมครู ผู้ทรงพระเมตตาเสด็จไปประทานอุปสมบทแก่ข้าพระพุทธเจ้าผู้มีนามว่ากัสสปะ ณ ร่มไม้พหุปุตตนิโครธ ทั้งยังทรงพระมหากรุณาโปรดประทานมหาบังสุกุลจีวรส่วนพระองค์ ให้ข้าพระองค์ได้ร่วมพระพุทธบริโภคโดยเฉพาะ จงออกจากหีบทอง รับอภิวาทแห่งข้าพระพุทธเจ้ากัสสปะ ซึ่งตั้งใจมาน้อมถวายคารวะ ณ กาลบัดนี้เถิด"
ขณะนั้น พระบรมบาททั้งคู่ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้แสดงอาการประหนึ่งว่า พระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ได้ทำลายคู่ผ้าทุกุลพัสตร์ที่ห่อหุ้มอยู่ทั้ง ๕๐๐ ชั้น กับทั้งพระหีบทองออกมาปรากฏในภายนอก ในลำดับแห่งคำอธิษฐานของพระมหากัสสปะเถระเจ้า ดุจดวงอาทิตย์ที่แลบออกจากกลีบเมฆ ฉะนั้น พุทธบริษัททั้งปวงเห็นเป็นอัศจรรย์พร้อมกัน
ครั้นพระมหากัสสปะ กับพระสงฆ์บริวาร ๕๐๐ และมหาชนทั้งหลายกราบนมัสการ พระบรมยุคลบาทโดยควรแล้ว พระบาททั้งสองก็ถอยถดหดหายจากหัตถ์พระมหากัสสปะ นิวัตตนาการคืนเข้าพระหีบทองดังเก่า ทุกสิ่งทุกอย่างได้ตั้งอยู่เป็นปกติ มิได้ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวจากที่แต่ประการใด เป็นมหัศจรรย์อันยิ่งใหญ่อีกวาระหนึ่ง ขณะนั้น เสียงโศกาปริเทวนาการของมวลเทพยดาและมนุษย์ ซึ่งได้หยุดสร่างสะอื้นแล้วแต่ต้นวัน ก็ได้พลันดังสนั่นขึ้นอีก เสมอด้วยวันเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน
ขณะนั้น เตโชธาตุ ก็บันดาลติดพระจิตรกาธารขึ้นเองด้วยอานุภาพเทพยดา เพลิงได้ลุกพวยพุ่งโชตนาเผาพระพุทธสรีระศพ พร้อมคู่ผ้า ๕๐๐ ชั้น กับหีบทองและจิตรกาธารหมดสิ้น เว้นแต่ สิ่งซึ่งเพลิงมิได้เผาให้ย่อยยับไป ด้วยอานุภาพพระพุทธอธิษฐาน ดังนี้
๑. ผ้าห่อหุ้มพระพุทธสรีระชั้นใน ๑ ผืน
๒. ผ้าห่อหุ้มภายนอก ผ้าห่อหุ้มพระพุทธสรีระ ๑ ผืน
๓. พระเขี้ยวแก้ว ทั้ง ๔
๔. พระรากขวัญ ทั้ง ๒
๕. พระอุณหิส ๑ รวมพระบรมธาตุ ๗ องค์นี้ ยังคงปกติอยู่ดีมิได้แตกกระจัดกระจาย
และ พระบรมสรีระธาตุ ทั้งหลายนอกนั้น แตกฉานกระจัดกระจายทั้งสิ้น มีสัณฐานต่างกันเป็น ๓ ขนาด คือ
๑. ขนาดโต มีประมาณเท่า เมล็ดถั่วแตก
๒. ขนาดกลาง มีขนาดเท่า เมล็ดข้าวสารหัก
๓. ขนาดเล็ก มีประมาณเท่า เมล็ดพันธุ์ผักกาด
ครั้นเสร็จการถวายพระเพลิงแล้ว ท่ออุทกธารแห่งน้ำทิพย์ก็ตกลงจากอากาศดับเพลิงให้อันตรธาน มัลลกษัตริย์ทั้งหลาย ก็มีความชื่นบาน ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุทั้งหลายใส่ไว้ในพระหีบทองน้อย ทำสักการบูชาด้วยธูปเทียนสุคนธ์มาลาบุปผาชาติ แล้วแห่เข้าสู่ภายในพระนคร อัญเชิญขึ้นประดิษฐาน ณ เบื้องบนรัตนบัลลังก์ ภายใต้เศวตฉัตร ณ พระโรงราชสัณฐาคารนั้น
มัลลกษัตริย์ทั้งหลาย พากันกริ่งเกรงว่า อริทรราชทั้งหลายจักยกแสนยากรมาช่วงชิงพระบรมสารีริกธาตุ จึงให้จัดตั้งจาตุรงคเสนาโยธาหาญ พร้อมสรรพด้วยศัตราวุธป้องกันรักษาพระบรมสารีริกธาตุ ทั้งภายในและภายนอกพระนครอย่างมั่นคง แล้วให้จัดการสมโภชบูชาพระบรมสารีริกธาตุ ด้วยเครื่องดุริยางค์ดนตรี ฟ้อนรำ ขับร้อง ทั้งกีฬานักษัตรนานาประการ เป็นมโหฬารยิ่งนัก ตลอดกาลถึง ๗ วัน
ครั้งนั้น พระเจ้าอชาตศัตรูราช ผู้ครองพระนครราชคฤห์ พระเจ้าลิจฉวี แห่งพระนครไพศาลี พระเจ้ามหานาม แห่งกบิลพัสดุ์นคร พระเจ้าฐุลิยะราช แห่งเมืองอัลลกัปปนคร พระเจ้าโกลิยราช แห่งเมืองรามคาม พระเจ้ามัลลราช แห่งเมืองปาวานคร และ มหาพราหมณ์ ผู้ครองเมืองเวฏฐทีปกะนคร รวม ๗ นครด้วยกัน ล้วนมีความเลื่อมใส และความเคารพนับถือมั่นในพระพุทธศาสนา ครั้นได้ทราบข่าวปรินิพพานของพระบรมศาสดา มีความเศร้าโศกอาลัยอาวรณ์ในพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นอันมาก จึงได้แต่งราชทูตส่งไปขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ณ เมืองกุสินารานคร เพื่อจะได้สร้างพระสถูปบรรจุไว้เป็นที่สักการบูชา เป็นสิริมงคลแก่พระนครของพระองค์สืบไป ครั้นส่งราชทูตไปแล้ว ก็ยังเกรงไปว่า กษัตริย์มัลลราช แห่งกุสินารานั้น จะขัดขืนไม่ยอมให้ดังปรารถนา จึงให้จัดโยธาแสนยากรเป็นกองทัพ พร้อมด้วยจาตุรงคเสนาโยธาหาญครบถ้วน ด้วยสรรพศัตราวุธเต็มกระบวนศึก เดินทัพติดตามราชทูตไป ด้วยทรงตั้งพระทัยว่า หากกษัตริย์มัลลราช แห่งนครกุสินาราขัดขืน ไม่ยอมให้ด้วยไมตรี ก็จะยกพลเข้าโหมหักบีบบังคับ เอาพระบรมธาตุด้วยกำลังทหาร
ในกาลนั้น โทณพราหมณ์ ผู้เป็นทิศาปาโมกข์อาจารย์ สอนไตรเภทแก่กษัตริย์ทั้งหลาย เป็นผู้ระงับเสียซึ่งความวิวาทของกษัตริย์ทั้งปวง และชี้ให้เห็นประโยชน์แห่งความสามัคคี เมื่อกษัตริย์ทั้งปวงได้สติ ดำริเห็นสอดคล้องและเลื่อมใสในถ้อยคำนั้น ก็ยินยอมพร้อมเพรียงให้เปิดประตูเมืองกุสินารา แล้วเข้าประชุมพร้อมกันยังพระโรงราชสัณฐาคาร ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ แล้วให้เปิดพระหีบทองน้อยที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมกันถวายอภิวาท สมตามมโนรถ
ขณะนั้น พระบรมสารีริกธาตุ อันทรงพรรณพิลาศงามโอภาสด้วยรัศมี ซึ่งปรากฏอยู่ในพระหีบทอง เฉพาะพระพักตร์ ได้เตือนพระทัยกษัตริย์ทั้งปวง ให้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระผู้มีพระภาค กษัตริย์ทั้งปวงจึงได้ทรงกรรแสงปริเทวนาการต่างๆ ครั้งนั้น โทณพราหมณ์เห็นกษัตริย์ทั้งหลายมัวแต่โศกศัลย์รันทดอยู่เช่นนั้น จึงได้หยิบพระทักษิณทาฐธาตุ คือ พระเขี้ยวแก้ว ข้างขวา เบื้องบน ขึ้นซ่อนไว้ในมวยผม แล้วจัดการตักตวงพระบรมสารีริกธาตุด้วยทะนานทอง ถวายกษัตริย์ทั้ง ๘ พระนคร ซึ่งประทับอยู่ ณ ที่นั้น ได้พระนครละ ๒ ทะนานเท่า ๆ กันพอดี รวมพระบรมธาตุเป็น ๑๖ ทะนานด้วยกัน
ท้าวสักกะอมรินทราธิราชทราบด้วยทิพย์จักษุว่า โทณพราหมณ์ลอบหยิบเอาพระทักษิณทาฐธาตุซ่อนไว้ในมวยผม จึงแฝงพระกายลงมาหยิบเอาพระทักษิณทาฐธาตุ เชิญลงสู่พระโกษทองน้อย ยกขึ้นทูลพระเศียรเกล้า อัญเชิญไปบรรจุไว้ที่พระจุฬามณีเจดีย์ ณ สุราลัยเทวสถาน
ในสมัยนั้น บรรดากษัตริย์ทั้งหลาย เมื่อได้รับส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุแล้ว ต่างองค์ต่างก็จัดขบวนอันมโหฬาร อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปยังพระนครของตนด้วยเกียรติยศอันสูง แล้วให้ก่อพระสถูปเจดีย์ขึ้น บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้เป็นที่สักการบูชาของมหาชน จึงปรากฏว่า มีพระสถูปเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ดังนี้
๑. พระธาตุเจดีย์ ที่เมืองราชคฤห์
๒. พระธาตุเจดีย์ ที่เมืองไพศาลี
๓. พระธาตุเจดีย์ ที่เมืองกบิลพัสดุ์
๔. พระธาตุเจดีย์ ที่เมืองอัลลกัปปะนคร
๕. พระธาตุเจดีย์ ที่เมืองรามนคร
๖. พระธาตุเจดีย์ ที่เมืองเวฏฐทีปกะนคร
๗. พระธาตุเจดีย์ ที่เมืองปาวานคร
๘. พระธาตุเจดีย์ ที่เมืองกุสินารานคร
๙. พระอังคารเจดีย์ ที่เมืองโมรีนคร
๑๐. พระตุมพเจดีย์ ที่เมืองกุสินารานคร
รวมเป็น ๑๐ เจดีย์ด้วยกัน ยังส่วนต่าง ๆ ที่เป็นส่วนพระบรมธาตุบ้าง ที่เป็นส่วนบริขารพุทธบริโภคบ้าง ก็ปรากฏว่าได้รับอัญเชิญไปสร้างพระสถูปเจดีย์บรรจุไว้ในเมืองต่าง ๆ ดังนี้
๑. พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนขวา กับพระรากขวัญเบื้องขวา ขึ้นไปประดิษฐานอยู่ในพระจุฬามณีเจดียสถาน ณ ดาวดึงสเทวโลก
๒. พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำขวา เดิมไปประดิษฐาน ณ เมืองกาลิงคราฐ แต่บัดนี้ไปสถิตอยู่ในลังกาทวีป
๓. พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้าย ไปประดิษฐานอยู่ ณ เมืองคันธารราฐ
๔. พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำซ้าย ไปประดิษฐานอยู่ในนาคพิภพ
๕. พระรากขวัญเบื้องซ้าย กับพระอุณหิส ขึ้นไปประดิษฐานอยู่ในทุสสเจดีย์ ณ พรหมโลก
ส่วนพระทนต์ทั้ง๓๖ และพระเกศา พระโลมา กับทั้งพระนขาทั้ง ๒๐ นั้น เทพยดาอัญเชิญไปองค์ละองค์ สู่จักรวาลต่างๆ
พระบริขารพุทธบริโภคทั้งหลายนั้น ก็ได้รับอัญเชิญไปบรรจุไว้ในสถูปตามนครต่างๆ ดังนี้
๑. พระกายพันธ์ สถิตอยู่ที่เมืองปาฏลีบุตร
๒. พระอุทกสาฎก สถิตอยู่ที่เมืองปัญจาลราฐ
๓. พระจัมมขันธ์ สถิตอยู่ที่เมืองโกสราฐ
๔. ไม้สีฟัน สถิตอยู่ที่เมืองมิถิลา
๕. พระธัมมกรก สถิตอยู่ที่เมืองวิเทหราฐ
๖. มีดกับกล่องเข็ม สถิตอยู่ที่เมืองอินทปัตถ์
๗. ฉลองพระบาท สถิตอยู่ที่บ้านอุสิรพราหมณคาม และถลกบาตร
๘. เครื่องลาด สถิตอยู่ที่เมืองมกุฏนคร
๙. ไตรจีวร สถิตอยู่ที่เมืองภัททราฐ
๑๐. บาตร เดิมสถิตอยู่ที่เมืองปาฏลีบุตร ภายหลังไปอยู่เมืองลังกาทวีป
๑๑. นิสีทนะสันถัด สถิตอยู่ที่เมืองกุรุราฐ
ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าตามความเชื่อของฝ่ายเถรวาท
ในพระไตรปิฎกกล่าวว่า ในอดีตจนถึงปัจจุบันมีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้ว ๒๕ พระองค์ พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันเป็นองค์ที่ ๒๕ และพระพุทธเจ้าองค์ถัดไปคือพระศรีอาริยเมตไตรย ในทรรศนะเถรวาทถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์ธรรมดา แต่ที่เหนือกว่าคนทั่วไปคือพระองค์พบทางดับทุกข์ได้ด้วยพระองค์เอง และเผยแพร่หนทางนั้นต่อสรรพสัตว์ ทรงเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ เมื่อทรงดับขันธ์ปรินิพพาน คือดับไปโดยไม่เหลือเชื้อใดๆ ผู้จะเป็นพระพุทธเจ้าต้องทำความดี (บารมี) มาในชาติก่อน ๆ นับชาติไม่ถ้วน (ก่อนที่จะเป็นพระพุทธเจ้า เรียกว่า พระโพธิสัตว์)
กำเนิดของพระพุทธเจ้า
พระโพธิสัตว์ผู้ที่จะจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตลงมาเสด็จอุบัติเป็นพระพุทธเจ้านั้น จะทรงเลือกปัจจัย ๕ ประการ คือ
1. กาล (อายุขัยของมนุษย์)
อายุขัยของมนุษย์ขึ้นอยู่กับกระแสสังขารและการทำความดี หากทำดีมากขึ้นอายุก็จะเพิ่มขึ้น หากทำดีน้อยอายุขัยก็จะลดลง อายุขัยของมนุษย์อยู่ระหว่าง ๑๐ ปีถึง ๑ อสงไขย (๑ ตามด้วยเลข ๐ ถึงหนึ่งร้อยสี่สิบตัว) แต่พระโพธิสัตว์ทรงเลือกอายุขัยมนุษย์ระหว่าง ๑๐๐-๑๐๐,๐๐๐ ปี ถ้าหากน้อยกว่า ๑๐๐ ปี มนุษย์จะมีจิตใจหยาบช้าเกิน ก็จะฟังธรรมให้แตกจนบรรลุพระนิพพานได้ ถ้าเกิน ๑๐๐,๐๐๐ ปี มนุษย์จะเริ่มประมาทความแก่ ความเจ็บ ความตาย เพราะอายุยืน ความตายมาถึงช้า จะไม่เห็นอริยสัจ ๔ หรือธรรมใดๆ
2. ทวีป (ทวีปที่จะลงมาประสูติ)
พระโพธิสัตว์เลือกชมพูทวีปเป็นทวีปที่จะจุติลงมาทุกครั้ง เพราะมนุษย์ในชมพูทวีปมีทั้งความสุขและความทุกข์ มีความเห็นทุกข์ เห็นสุข ได้ดีกว่ามนุษย์ในทวีปอื่นๆ
สาเหตุอีกอย่างที่เลือกมนุษย์ เพราะมนุษย์เห็นสุขทุกข์ได้ง่ายที่สุด สัตว์ในอบายภูมิ ๔ มีแต่ความทุกข์ไม่เห็นสุขกระจ่าง เทวดาพรหมก็เห็นสุขมากกว่าทุกข์จนยากที่จะทำให้เป็นพระอรหันต์ได้ อีกทั้งมนุษย์ทำบุญได้ จึงทรงเลือกมนุษย์
3. ประเทศ (ประเทศที่จะประสูติ)
พระโพธิสัตว์จะทรงเลือกประเทศที่มีความเจริญรุ่งเรือง เศรษฐกิจดี มีประชากรหนาแน่น มีนักปราชญ์ เจ้าสำนัก เป็นที่รวมของการศึกษาและศิลปวิทยามากมาย มีผู้มีคุณธรรมมากมาย จะสามารถเผยแพร่ธรรมให้รุ่งเรือง มีคนรู้มากได้
4. ตระกูล (ตระกูลที่จะประสูติ)
พระโพธิสัตว์ทรงเลือกได้ระหว่าง ตระกูลกษัตริย์ กับ ตระกูลพราหมณ์ ว่าในช่วงเวลานั้นตระกูลใดเจริญมากกว่ากัน ได้รับการยอมรับมากกว่ากัน ใน ๔ อสงไขยแสนมหากัปล่าสุดนี้ มีพระพุทธเจ้าจากตระกูลกษัตริย์มากกว่า แต่ในภัทรกัปนี้มีพระพุทธเจ้าจากตระกูลพราหมณ์มากกว่า (พระกกุสันธะ พระโกนาคมณ์ พระกัสสปะ และพระศรีอาริยเมตไตรยพุทธเจ้า) มีเพียงพระโคตมพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียวที่มาจากตระกูลกษัตริย์
พระโพธิสัตว์ผู้ได้มาจุติเป็นพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันนี้ ทรงเลือกตระกูลศากยโคตมวงศ์แห่งกรุงกบิลพัสดุ์นคร เพราะได้รับความนับถือมาก และบริสุทธิ์มา ๗ รุ่นแล้ว ถ้าไม่บริสุทธิ์แล้วจุติลงมาเป็นพระพุทธเจ้า ก็ยากที่จะได้รับการนับถือ สาเหตุที่เลือกตระกูลกษัตริย์เพราะในช่วงเวลานั้นมีการแบ่งชนชั้นวรรณะกัน และวรรณะกษัตริย์เป็นวรรณะที่มีคนนับถือมากที่สุด จึงทรงเลือกวรรณะกษัตริย์
5. มารดา (มารดาผู้ให้กำเนิดและกำหนดอายุของพระมารดาหลังประสูติ)
พระโพธิสัตว์จะทรงเลือกหญิงจากตระกูลกษัตริย์หรือพราหมณ์ที่รักษาศีล รักษาธรรมได้ดีที่สุด บริสุทธิ์ทางกาย วาจา ใจ ไม่ดื่มสุรา ไม่หลงในอบายมุข ไม่โลเลในบุรุษ และทรงกำหนดอายุของพระมารดาว่ามีประมาณเท่าใด เพราะพระครรภ์ที่ประทับแห่งพระโพธิสัตว์ผู้จะได้เสด็จอุบัติตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เปรียบประดุจพระคันธกุฎีแห่งพระบรมศาสดา ไม่สมควรแก่ผู้อื่น
พระบรมโพธิสัตว์ทรงเลือกพระมารดาที่บริสุทธิ์ไม่แปดเปื้อนมลทินโทษ มิฉะนั้นจะยากแก่การเผยแผ่ศาสนา เพราะจะถูกโจมตีว่ามารดาของพระศาสดาไม่บริสุทธิ์ พระนางสิริมหามายาได้อธิษฐานเป็นพระพุทธมารดามาแต่อดีตกาล เมื่อประสูติพระบรมโพธิสัตว์เจ้าได้ ๗ วันก็เสด็จทิวงคต ไปบังเกิดเป็นเทพบุตรสถิตในดุสิตเทวโลก ตามประเพณี พระพุทธมารดาไม่ได้เป็นหญิงอย่างเก่า ที่เกิดเป็นหญิงเพราะอธิษฐานขอเป็นมารดาพระพุทธเจ้า
บารมีของพระพุทธเจ้า
ในพระไตรปิฎกจำแนกพระพุทธเจ้าตามวิธีการสร้างบารมี ดังนี้
1. ปัญญาพุทธเจ้า คือพระพุทธเจ้าที่สร้างบารมีโดยใช้ปัญญาเป็นตัวนำ ใช้เวลาบำเพ็ญบารมี นับแต่ได้รับพยากรณ์ครั้งแรก ๔ อสงไขยกัป กับอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัป
2. ศรัทธาพุทธเจ้า คือพระพุทธเจ้าที่สร้างบารมีโดยใช้ศรัทธาเป็นตัวนำ ใช้เวลาบำเพ็ญบารมี นับแต่ได้รับพยากรณ์ครั้งแรก ๘ อสงไขยกัป กับอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัป
3. วิริยะพุทธเจ้า คือพระพุทธเจ้าที่สร้างบารมีโดยใช้ความเพียรเป็นตัวนำ ใช้เวลาบำเพ็ญบารมี นับแต่ได้รับพยากรณ์ครั้งแรก ๑๖ อสงไขยกัป กับอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัป
พระพุทธเจ้าในอนาคต
ในคัมภีร์อนาคตวงศ์นั้น ได้กล่าวถึงพระพุทธเจ้าในอนาคตได้ระบุว่าจะมีทั้งสิ้น ๑๐ พระองค์ ดังนี้
· พระศรีอาริยเมตไตรยสัมมาสัมพุทธเจ้า ในสมัยพุทธกาลคือ พระอชิตเถระ ตรัสรู้ที่ไม้กากะทิง พระชนม์ ๘ หมื่นพรรษา พระกายสูง ๘๐ ศอก
· พระรามสัมมาสัมพุทธเจ้า ในสมัยพุทธกาลคือ อุตมรามราช ตรัสรู้ที่ไม้แก่นจันทน์แดง พระชนม์ ๙ หมื่นพรรษา พระกายสูง ๘๐ ศอก
· พระธรรมราชสัมมาสัมพุทธเจ้าในสมัยพุทธกาลคือ พระเจ้าปเสนทิโกศล ตรัสรู้ที่ไม้กากะทิง พระชนม์ ๕ หมื่นพรรษา พระกายสูง ๑๖ ศอก
· พระธรรมสามีสัมมาสัมพุทธเจ้า ในสมัยพุทธกาลคือ อภิภูเทวราช ตรัสรู้ที่ไม้รังใหญ่ พระชนม์ ๑ แสนพรรษา พระกายสูง ๘๐ ศอก
· พระนารทสัมมาสัมพุทธเจ้า ในสมัยพุทธกาลคือ อสุรินทราหู ตรัสรู้ที่ไม้แก่นจันทน์แดง พระชนม์ ๑ หมื่นพรรษา พระกายสูง ๒๐ ศอก
· พระรังสีมุนีสัมมาสัมพุทธเจ้า ในสมัยพุทธกาลคือ จังกีพราหมณ์ ตรัสรู้ที่ไม้ดีปลีใหญ่หรือไม้เลียบ พระชนม์ ๕ พันพรรษา พระกายสูง ๖๐ ศอก
· พระเทวเทพสัมมาสัมพุทธเจ้า ในสมัยพุทธกาลคือ สุภพราหมณ์ ตรัสรู้ที่ไม้จำปา พระชนม์ ๘ หมื่นพรรษา พระกายสูง ๘๐ ศอก
· พระสีหสัมมาสัมพุทธเจ้า ในสมัยพุทธกาลคือ โตเทยยพราหมณ์ ตรัสรู้ที่ไม้แคฝอย พระชนม์ ๘๐ พรรษา พระกายสูง ๖๐ ศอก
· พระติสสสัมมาสัมพุทธเจ้า ในสมัยพุทธกาลคือ ช้างนาฬาคีรี ตรัสรู้ที่ไม้ไทร พระชนม์ ๘ หมื่นพรรษา พระกายสูง ๘๐ ศอก
· พระสุมังคลสัมมาสัมพุทธเจ้า ในสมัยพุทธกาลคือ ช้างปาลิไลยกะ ตรัสรู้ที่ไม้กากะทิง พระชนม์ ๑ แสนพรรษา พระกายสูง ๖๐ ศอก
ที่มา
http://www.larnbuddhism.com/puttaprawat/
http://www.onab.go.th/buddhism_buddha.htm
ภาพประกอบ