วันพฤหัสบดีที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2562

ความหมายของการสวดมนต์

คำว่า "มนต์" โดยทั่วไปหมายถึงถ้อยคำที่ขลัง หรือศักดิ์สิทธิ์ สามารถทำให้เกิดผลที่มุ่งหมายบางอย่างด้วยอนุภาพของมนต์นั้น

          แต่ในพระพุทธศาสนา ซึ่งเน้นในเรื่องการใช้ปัญญาพิจารณาเหตุผล คำว่า มนต์ หมายถึงหลักธรรม บทสอนใจมากกว่าถ้อยคำที่ขลังหรือศักดิ์สทธิ์ แต่ถ้าจะตีความไปถึงถ้อยคำที่ขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ให้จงได้ ก็จะต้องอธิบายว่าขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ได้เมื่อนำไปสอนใจ นำไปเป็นข้อปฏิบัติให้เกิดผลที่ปรารถนาได้อย่างน่าอัศจรรย์ นอกจากนั้นการทำจิตให้สงบในบทสวดก็มีคุณค่าเป็นอย่างมาก

          ขอยกตัวอย่าง มนต์บทหนึ่งว่า อุ อา กะ สะ ซึ่งเรียกกันว่า หัวใจเศรษฐี แม้จะสวดกันสักกี่พันจบ ก็คงจะเป็นเศรษฐีขึ้นมาได้ยาก แต่ถ้าศึกษาให้รู้ความหมายและนำไปปฏิบัติ ก็จะเป็นเศรษฐีได้ กล่าวคือ คำว่า

          อุ  ย่อมาจาก อุฏฐานสัมปทา สมบูรณ์ด้วยความหมั่นขยัน

          อา ย่อมาจาก อารักขสัมปทา สมบูรณ์ด้วยการรู้จักรักษาความรู้หรือทรัพย์ที่หามาได้นั้น

          กะ ย่อมาจากคำว่า กัลยาณมิตตตา คบเพื่อนที่ดีงาม ไม่ชวนกันไปในทางเสียหาย และ

          สะ ย่อมาจากคำว่า สมชีวิตา ครองชีวิตโดยเหมาะสม ไม่ฟุ่มเฟือยหรือฝืดเคืองเกินไป ใครปฏิบัติได้ ก็สามารถตั้งตัวได้ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม

          มนต์อีกบทหนึ่งว่า ทา ปิ อัต สะ เป็นมนต์ผูกมิตร สร้างไมตรีจิตทั่วไป ถ้าสวดโดยไม่รู้ความหมาย ก็คงจะผูกมิตรได้ยาก ต่อเมื่อถอดความว่า

          ทา ย่อมาจากคำว่า ทาน หมายถึงการเอื้อเฟื้อให้ปัน

          ปิ ย่อมาจากคำว่า ปิยวาจา พูดไพเราะอ่อนหวาน

          อัต  ย่อมาจากคำว่า อัตถจริยา บำเพ็ญประโยชน์ต่อกัน และ

          สะ ย่อมาจากคำว่า สมานัตตตา หมายถึง การวางตนให้เหมาะสมกับผู้ที่ตนเกี่ยวข้องไม่ยกตนข่มผู้อื่น ก็จะผูกมิตรไมตรีได้เป็นอย่างดี

         ในบางกรณี ท่านใช้คำว่า “พุทธมนต์” ซึ่งแปลว่า มนต์ของพระพุทธเจ้า ซึ่งฟังดูแล้ว คล้ายจะเป็นเรื่องขลังหรือศักดิ์สิทธิ์อะไรสักอย่าง แต่ในความหมายของท่านพระสารีบุตรเถระ ท่านมุ่งแสดงหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ซึ่งสอนว่าที่เรียกว่าหนึ่ง คือ สิ่งมีชีวิตทั้งปวงเป็นอยู่ได้ด้วยอาหาร และหลักธรรมอื่นอีก เช่นที่เรียกว่าสอง คือนาม (จิตใจ) และรูป (วัตถุ) เป็นต้น

          ในกรณีที่จะให้บทสวดขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ ความจริงก็มีความเป็นไปได้บางประการ ซึ่งประกอบด้วยเหตุผล ไม่ใช่ขลังหรือศักดิ์สิทธิ์อย่างลอย ๆ ก็คือ ผู้สวดมนต์ทำจิตของตน ให้สงบเป็นสมาธิ และด้วยอำนาจจิตสงบนี้เอง ก็สามารถทำให้เกิดสิ่งที่ไม่น่าเชื่อต่าง ๆ ขึ้นได้

          อำนาจจิตเป็นอำนาจที่มองไม่เห็น ถ้าจัดทำให้ถูกส่วน ก็มิใช่แต่พุทธศาสนิกชนเท่านั้นที่ใช้อำนาจจิตได้ เพียงแต่ว่าในพระพุทธศาสนามีกรอบให้ใช้อำนาจจิตเฉพาะในทางที่ดีงาม เป็นไปเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน หรือเบียดเบียนผู้อื่น

          รวมความว่าแม้สามารถใช้อำนาจจิตได้ ก็จะต้องควบคุมมิให้ตกอยู่ใต้อำนาจฝ่ายต่ำที่ชักจูงให้เอียงไปในทางชั่วช้าทุจริต

          ความหมายของคำว่า ปริตต์

          บทสวดมนต์ที่ว่า ปริตต์ หรือ พระปริตต์ นั้น หมายความว่า บทสวดปกป้องคุ้มครอง ส่วนคำว่า ราชปริตต์ แปลว่า บทสวดปกป้องคุ้มครองพระราชาก็ได้ แปลว่า บทสวดปกป้องคุ้มครองที่สำคัญก็ได้

          ในความหมายแรกแสดงว่าในสมัยโบราณพระมหากษัตริย์ทรงนิมนต์พระสงฆ์ไปสวดในพระบรมมหาราชวังเสมอ ต่อมาจึงอำมาตย์ราชบริพารและประชาชน ทั่วไปนิมนต์พระสงฆ์ไปสวดที่บ้านของตนบ้าง

          บทสวดมนต์ เจ็ดตำนาน จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า จุลราชปริตต์ และบทสวด สิบสองตำนาน เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มหาราชปริตต์ ซึ่งหมายถึงราชปริตต์ชุดเล็ก กับราชปริตต์ชุดใหญ่

          คำว่า ปริตต์ เป็นคำเต็มในภาษาบาลี ซึ่งอาจตัดให้สั้นเหลือเพียง ปริต ก็ใช้ได้ ส่วนคำว่า ปริตร มีรูปมาจากภาษาสันสกฤต ที่ว่า ปริตฺราณ หมายถึงป้องกัน, ปกป้อง, คุ้มครอง เช่นกัน

          เพียงแต่แยกศัพท์ ปริ = โดยรอบทั่วไป + ตฺราณ = ปกป้อง, ต้านทาน รวมแปลว่า ปกป้องหรือคุ้มครองรอบด้าน

          ความหมายของคำว่า ตำนาน

          บทสวดมนต์ที่เรียกว่า เจ็ดตำนานบ้าง สิบสองตำนานบ้าง อาจแปลได้ว่า เรื่องเล่าขาน เป็นตำนานสืบมาเจ็ดเรื่อง หรือสิบสองเรื่องแล้ว แต่กรณี แต่ที่น่าคิด คือ ท่านผู้แต่งหนังสืออธิบายบทสวดมนต์ ที่ชื่อว่า “สารัตถสมุจจัย” เป็นภาษาบาลี อธิบายบทสวดในภาณวาร ๒๒ เรื่อง

          ท่านพระอโนมทัสสี พระสังฆราชแห่งประเทศศรีลังกาได้นิพนธ์ไว้ ใช้คำบาลีในบทกวีต้นเรื่อง ตอนหนึ่ง เมื่อประมาณ ๘๐๐ ปีมาแล้วว่า

         
ภาสิตานิ ปริตฺตานิ  ยานิ สุตฺตานิ สตฺถุนา
          สพฺพูปทฺทวโต สตฺต       ตาณาเยว ปุราตนา...


          “พระศาสดาตรัสแสดงพระสูตรเหล่าใด ซึ่งเป็นพระปริตต์ (เครื่องปกป้องคุ้มครอง) เป็นตาณะ (เครื่องต้านทาน) จากอันตรายทั้งปวงรวม ๗ บท ซึ่งเป็นของเก่า”

          คำว่า ปริตต์ คำว่า ตาณะ หรือตำนาน อันเป็นที่มาแห่งตำนาน จึงใช้กันว่า เจ็ดตำนาน ซึ่งนำมาใช้กันแพร่หลาย แต่เมื่อเขียนว่า ตำนาน จึงอาจแปลได้ว่า เรื่องที่เล่าขานสืบกันมาทั้งที่ดัดแปลงจากคำเดิมว่า ตาณะ อันแปลว่าเครื่องต้านทาน หรือปกป้องคุ้มครอง

          ความหมายของคำว่า ภาณวาร

         ในสมัยที่นิยมใช้บทสวดมนต์หลาย ๆ เรื่อง หลาย ๆ บท และมีงานสวดติดต่อกันหลาย ๆ วัน ก็จะต้องเพิ่มบทสวดให้มากขึ้น ข้อกำหนดในการสวดจึงเกิดขึ้น เรียกว่า ภาณวาร แปลว่า “วาระแห่งการสวด” ซึ่งมี ๔ ภาณวาร คือ สวดแต่ละวาระประมาณ ๒ ชั่วโมงจบ

          เมื่อพักพอสมควรแล้ว จึงเริ่มสวดชุดที่ ๒ พักแล้วสวดชุดที่ ๓ พักแล้วสวดชุดที่ ๔ เป็นจบจตุภาณวาร หรือครบ ๔ ชุด ถ้าสวดคืนเดียวอาจต้องใช้เวลาตลอดถึงจนรุ่งสว่าง แต่ถ้าแบ่งงานเป็นหลายวัน ก็อาจแบ่งสวดวันละชุด

          ข้อกำหนดว่าในแต่ละภาณวาร มีอะไรบ้าง และรวม ๔ ภาณวารมี ๒๒ บทหรือรายการนั้น มีบอกไว้ชัดแล้วในหนังสือสวดมนต์ฉบับหลวง ซึ่งมีข้อความตรงกับคำชี้แจงในหนังสือสารัตถสมุจจัย ภาษาบาลี ดังต่อไปนี้

          ภาณวาร หรือชุดสวดที่ ๑ มี ๑๖ รายการ คือ

          ๑. ติสรณคมนปาฐะ บทถึงรัตนตรัยเป็นสรณะ

          ๒. ทสสิกขาบท หรือ ศีล ๑๐ ของสามเณร

          ๓. สามเณรปัญหปาฐะ บทถามปัญหาให้สามเณรตอบรวม ๑๐ ข้อ

          ๔. ทวัตติงสาการปาฐะ บทว่าด้วยอาการ ๓๒ ของร่างกาย

          ๕. ตังขณิกปัจจเวกขณปาฐะ บทว่าด้วยการพิจารณาปัจจัย ๔ ในขณะที่บริโภคใช้สอย

          ๖. ทสธัมมสุตตปาฐะ บทว่าด้วยธรรม ๑๐ ประการ ที่ผู้บวชควรพิจารณาเนือง ๆ

          ๗. มังคลสุตตปาฐะ บทว่าด้วยมงคลสูตร (ซึ่งเป็นบทแรกของเจ็ดตำนาน)

          ๘. รตนสุตตปาฐะ บทว่าด้วยรัตนสูตร

          ๙. กรณียเมตตสุตตปาฐะ บทว่าด้วยกรณียเมตตสูตร

          ๑๐. อหิราชสุตตปาฐะ บทว่าด้วยพระสูตรที่กล่าวถึง พญางูทั้ง ๔ สกุล หรือ เรียกย่อว่า ขันธปริตต์เพียงแต่ว่า ขันธปริตต์ สวดเฉพาะบทกวีท้ายอหิราชสูตร

          ๑๑. เมตตานิสังสสุตตปาฐะ บทว่าด้วยพระสูตรกล่าวถึงอานิสงส์หรือผลดี ๑๑ ประการของเมตตา

          ๑๒. เมตตานิสังสคาถาปาฐะ บทว่าด้วยบทกวีแสดงอานิสงส์ของเมตตาหรือไมตรีจิต ในชุดนี้เน้นการไม่ประทุษร้ายมิตร

          ๑๓. โมรปริตตปาฐะ บทว่าด้วย โมรปริตต์ บทสวดป้องกันภัยของพระโพธิสัตว์ เมื่อเสวยพระชาติเป็นนกยูง

          ๑๔. จันทปริตตาปาฐะ บทว่าด้วยเครื่องป้องกันของพระจันทร์

          ๑๕. สุริยปริตตปาฐะ  บทว่าด้วยเครื่องป้องกันของพระอาทิตย์

          ๑๖. ธชัคคสุตตปาฐะ บทว่าด้วยธชัคคสูตร คือ พระสูตรกล่าวถึงชายธงของพระอินทร์ เป็นต้น ทำให้เกิดความมั่นใจฉันใด การระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็ทำให้เกิดความมั่นใจหายกลัวฉันนั้น

ภาณวาร หรือชุดสวดที่ ๒ มี ๓ พระสูตร หรือ ๓ รายการ คือเรื่องของโพชฌงค์ ๗ แต่แบ่งตามรายชื่อพระเถระที่เกี่ยวข้อง คือ

          ๑. มหากัสสปโพชฌังคสุตตปาฐะ บทว่าด้วยโพชฌงคสูตรเกี่ยวกับพระมหากัสสปะ

          ๒. มหาโมคคัลลานโพชฌังคสุตตปาฐะ บทว่าด้วยโพชฌงคสูตรเกี่ยวกับพระมหาโมคคัลลานะ

           ๓. มหาจุนทโพชฌังคสุตตปาฐะ บทว่าด้วยโพชฌงคสูตรเกี่ยวกับพระมหาจุนทะ

          ภาณวาร หรือชุดสวดที่ ๓  มี ๒ พระสูตร หรือ ๒ รายการ คือ

          ๑. คิริมานันทสุตตปาฐะ บทว่าด้วยพระสูตรที่กล่าวถึงพระคิริมานนท์

          ๒. อิสิคิลิสุตตปาฐะ บทว่าด้วยพระสูตร ซึ่งกล่าวถึงภูเขาที่พระปัจเจกพุทธเจ้าจำนวนมากอาศัยอยู่

          ภาณวาร หรือ บทสวดชุดที่ ๔  มี ๑ พระสูตร คือ อาฏานาฏิยปาฐะ บทว่าด้วยอาฏานาฏิยสูตร ซึ่งกล่าวถึงเรื่องที่ท้าวเวสวัณมหาราช กราบทูลพระพุทธเจ้า ถวายบทสวดอันเป็นเครื่องรักษาคุ้มครองพุทธบริษัทจากพวกยักษ์ที่ไม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา โดยเหตุที่พระสูตรนี้ยาวมาก จึงต้องแบ่งเป็น ๒ ตอน

          เมื่อรวบรวมบทสวดใน ๔ ภาณวาร คือ ๑๖+๓+๒+๑ = ๒๒  เป็น ๒๒ บทสวด ตรงกันทั้งในหนังสือสวดมนต์ฉบับหลวง ทั้งในคำบรรยายตอนต้นของหนังสือสารัตถสมุจจัย

          การเพิ่มจำนวนบทสวดในภาณวาร

          จำนวนบทสวด ๒๒ บทที่กล่าวมาแล้ว ถือเป็นมาตรฐานดั้งเดิม แต่ในภายหลังมีการเพิ่มพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร พระมหาสมยสูตร อาจจะเป็นด้วยคิดว่าโพชฌังคสูตร มิได้แบ่งเป็น ๓ พระสูตร จึงคิดหาพระสูตรอื่นมาเพิ่มอีก ๒ ส่วน หนังสือสวดมนต์ ฉบับหลวงของศรีลังกา (มหาปิริตโปตะ) จัดภาณวาร ที่ ๓ ใหม่ โดยเพิ่มขึ้นอีกถึง ๗ รายการ คือ

          
๑. ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
          ๒. มหาสมยสูตร
          ๓. อาฬวกสูตร
          ๔. กสิภารทวาชสูตร
          ๕. ปราภวสูตร
          ๖. วสลสูตร
          ๗. สัจจวิภังคสูตร


          แต่ก็ต้องถือว่าหนังสือสารัตถสมุจจัย ซึ่งแต่งขึ้นในศรีลังกาเอง เมื่อประมาณ ๘๐๐ ปีมาแล้ว เป็นหลักฐานเก่าแก่ที่ตรงกับสวดมนต์ฉบับหลวงของไทย

          ในทางวิทยาศาสตร์เราสามารถยกของหนัก เช่นข้าวสาร ๑๐ กระสอบให้ลอยขึ้นไปในอากาศได้ ด้วยการใช้ความรู้ทางกลศาสตร์ เช่น ใช้เชือกผ่านลูกกรอกหลายตัว ผูกมัดไว้กับข้าวสาร ๑๐ กระสอบ แล้วค่อย ๆ ดึงปลายเชือกให้ยกขึ้นได้ หรือใช้ความรู้ทางวิชาไฟฟ้ายกของหนักมาก ๆ ให้สูงขึ้น และนำไปวางไว้ในที่ที่ต้องการได้

          เพราะฉะนั้น ความขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ จึงมิใช่เป็นสิ่งเหลือวิสัย เพียงแต่ทำให้ถูกเรื่องทำให้เป็น และประกอบด้วยคุณธรรม ก็อาจทำสิ่งที่ไม่น่าเชื่อได้อย่างมีเหตุผล รวมความว่าทางพระพุทธศาสนาไม่ปฏิเสธความขลัง หรือศักดิ์สิทธิ์ อันเกิดจากวิชาการ จากอำนาจจิต อำนาจคุณงามความดี แต่จะสอนให้ควบคุมให้ใช้อำนาจนั้น ๆ ในทางที่ถูกที่ควรเท่านั้น ไม่ส่งเสริมให้ใช้ไปในทางชั่วช้าทุจริตอย่างเด็ดขาด

          ย้อนมากล่าวถึงมนต์หรือบทสวดมนต์ ก็พอสรุปได้ว่า เป็นบทแสดงหลักธรรมคำสั่งสอนหรืออุดมคติต่าง ๆ เพื่อให้สามารถทบทวนจดจำหรือเป็นคติเตือนใจสอนใจ สามารถดูแลตัวเอง ให้เป็นไปในทางที่ถูกที่ควร แต่ถ้าใครจะมุ่งไปในทางให้ขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ เพราะเหตุที่ทำให้จิตเป็นสมาธิในขณะที่สวดเองหรือฟังสวด ก็ไม่ห้ามคิดเช่นนั้น

          เพราะมีความเป็นไปได้ที่อำนาจของจิตสงบ อาจทำให้เกิดผลดีต่าง ๆ อย่างน่าอัศจรรย์ เพียงแต่ล้อมกรอบไว้มิให้ใช้อำนาจจิตไปในทางไม่ชอบ ไม่ควรเป็นเด็ดขาด การล้อมกรอบเช่นนั้นก็มีเหตุผล เพราะเป็นการช่วยป้องกันมิให้ผู้ใช้อำนาจจิตไปในทางผิดนั้น ต้องประสบผลร้าย เพราะความผิดพลาดของตนเอง
มีอีกประการหนึ่ง ที่ควรกล่าวถึงก็คือ ความนิยมที่ว่าบทสวดนั้นก็ดี พระสงฆ์ซึ่งได้รับนิมต์ไปสวดที่บ้าน หรือสถานที่ประกอบพิธีก็ดี การบำเพ็ญกุศลถวายอาหาร เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้นแด่พระสงฆ์ก็ดี ร่วมกันอวยพรสวัสดิมงคล และความสุขความเจริญแก่เจ้าภาพและผู้ร่วมงาน รวมทั้งผู้ที่ได้รับส่วนกุศลได้

          เรื่องนี้เป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน จนกลายเป็นวัฒนธรรมสำคัญอย่างหนึ่งของชาวพุทธในประเทศไทย ถ้ากล่าวโดยหลักการวิเคราะห์ทางเหตุผล จะมีทางอธิบายหรือชี้แจงอย่างไร ?

          คำตอบมีว่า ทางพระพุทธศาสนาสอนว่า การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ให้ปันอาหารและเครื่องนุ่งห่มหรือสิ่งจำเป็นอื่น ๆ นั้น เป็นการแสดงออกซึ่งน้ำใจอันดีงาม ไม่ว่าจะเอื้อเฟื้อแก่สัตว์หรือมนุษย์ ก็เป็นการดีทั้งสิ้น แต่ที่นิยมถวายแด่พระสงฆ์ก็เพราะโดยทั่วไปพระสงฆ์เป็นผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ เว้นความชั่วช้าต่าง ๆ

          การถวายทานแก่ท่านจึงเป็นการส่งเสริมความดีงาม และบุคคลผู้ประพฤติดีงาม และเป็นการสืบต่อพระพุทธศาสนาด้วย บทสวดมนต์ซึ่งเป็นคำสรรเสริญพระรัตนตรัย สรรเสริญความดีงาม แนะนำหลักธรรมและข้อปฏิบัติอันเป็นประโยชน์แก่ชีวิต ซึ่งผู้ปฏิบัติดีงามนำมาสวดเพื่ออำนวยสวัสดิมงคล จึงนอกจากมีความสมบูรณ์ทุกฝ่ายแล้ว ยังมีพลังที่มองไม่เห็นในทางที่จะส่งผลดีแก่ผู้เกี่ยวข้องได้อย่างน่าอัศจรรย์

          อำนาจอันน่าอัศจรรย์แห่งคุณความดีนั้น อาจเห็นได้จากการมองอย่างกว้าง ๆ เช่น คนที่มิได้ประกอบกรรมทำชั่วทำทุจริต ย่อมมีอิสระที่จะไปไหนมาไหนได้ แต่คนที่ทำในทางผิดศีลธรรมมักจะต้องถูกจำกัดเสรีภาพให้ไปถูกคุมขัง  ถูกทรมานในคุกตะราง

          คนที่ประกอบคุณงามความดีย่อมไม่ต้องหวาดผวา หรือเกรงถูกจับคุมขัง หรือถูกกล่าวโทษฟ้องร้อง ไม่ต้องเที่ยวหลบซ่อนระแวงภัย เหตุผลโดยทั่วไปของฝ่ายดีฝ่ายชั่ว เป็นที่ประจักษ์อยู่เช่นนี้ จึงน่าจะเห็นได้ถึงอำนาจอันน่าอัศจรรย์ของคุณงามความดี

          ยิ่งถ้าได้นำมาประพฤติปฏิบัติให้เป็นพื้นฐานของชีวิตด้วย เช่น ความไม่มัวเมาประมาท การบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่สกุลวงศ์ แก่สังคม และแก่ประเทศชาติ การประพฤติธรรมตามคำสอนในบทสวดมนต์นั้น ผลดีที่เกิดขึ้นก็จะเกิดอย่างมีเหตุผล จะว่าเกิดจากความขลังหรือความศักดิ์สิทธิ์ก็อาจกล่าวได้ แต่ก็อธิบายได้ หาเหตุผลได้ว่าความขลังหรือความศักดิ์สิทธิ์นั้น มีคุณธรรมเป็นพื้นฐานโดยแท้

          การสวดมนต์ด้วยปากกับการสวดมนต์ด้วยใจ

          การสวดมนต์นั้น บางท่านสวดได้คล่องมาก ถึงขนาดที่ปากสวดจบแล้ว ก็มิได้ส่งใจไปตามบทสวดนั้นเลย ต้องกลับสวดใหม่ เอาใจกำกับไปด้วย

          ถ้าจะให้ได้ผลดี แม้สวดด้วยปาก ก็ควรให้ติดตามและรู้ความบ้างกำกับอยู่เสมอ มิใช่ปล่อยให้ปากสวดไปฝ่ายเดียว ทั้งนี้เพื่อให้จิตเป็นสมาธิและใช้สติกำกับตลอดเวลา

          ในกรณีที่การสวดมนต์นั้น เป็นการช่วยกันทรงจำหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา ซึ่งในขั้นแรกยังไม่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร การท่องจำและสวดทบทวนก็เป็นวิธีการหนึ่ง ซึ่งพระสงฆ์ได้แบ่งหน้าที่กันให้กลุ่มนั้นกลุ่มนี้ท่องจำ และสวดส่วนนั้นส่วนนี้ของพระไตรปิฎก

          ก็เป็นการช่วยกันธำรงรักษาพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนสืบมา จนถึงกับได้รวบรวมจารึกลงในคัมภีร์ใบลาน และเมื่อมีการพิมพ์เกิดขึ้น ก็ได้จัดพิมพ์เป็นเล่มพระไตรปิฎกดั่งที่กระทำอยู่ในปัจจุบัน

          การท่องจำที่มีความรู้ความเข้าใจกำกับก็ช่วยให้รักษาถ้อยคำสำนวนดั้งเดิมไว้ได้ดี อันแสดงว่าการสวดมนต์ท่องด้วยปากและด้วยใจ ยังมีคุณค่าอยู่เสมอแม้ในปัจจุบัน

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons