วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

1.การศึกษาเชิงวิเคราะห์ขันธ์ ๕ ในพุทธปรัชญา

คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...

การศึกษาเชิงวิเคราะห์ขันธ์ ๕ ในพุทธปรัชญา

An Analytical Study of the concept of The Five Aggregates [Khandha]

in Buddhist Philosophy

 
บทที่ ๒

มนุษย์ตามทรรศนะในพุทธปรัชญา
ก. ทรรศนะทั่วไป

จากกรณีเช่นนี้ทำให้เกิดทฤษฎีทางความคิดขึ้นมาใหม่ โดยกล่าวว่า “มนุษย์” หรือคน ซึ่งประกอบขึ้นมาจากกายกับจิตหรือรูปกับนาม เป็นสิ่งที่สัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดกัน “มนุษย์” ตามความเข้าใจโดยทั่วไปแล้วอาจกล่าวได้ว่า มนุษย์เป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากสัตว์ทั้งหลายอื่นๆในโลก ซึ่งไม่มีใครรู้ชัดว่ามนุษย์คนแรกเกิดขึ้นในโลกเมื่อใด เพียงแต่สันนิษฐานกันตามความคิดของแต่ละกลุ่มในทางปรัชญาจึงได้ตั้งประเด็นกันว่า มนุษย์คือใคร มาจากไหน ซึ่งเป็นประเด็นในการโต้เถียงกันในเชิงอภิปรัชญามาหลายยุคหลายสมัยและยังแสวงหาคำตอบกันในเรื่องนี้

ชีวิตคืออะไร? ยากที่จะตอบได้ว่าชีวิตคืออะไร คำตอบที่จะได้รับจากแต่ละคนย่อมแตกต่างกันออกไป บางคนอาจตอบว่า ชีวิตคือการเดินทาง บางคนอาจตอบว่าชีวิตคือการต่อสู้ หรือบางคนอาจตอบว่าชีวิตคือความทุกข์ เป็นต้น คำตอบที่ได้รับซึ่งแตกต่างกันเช่นนี้ก็เพราะว่าโดยธรรมชาติชีวิตนั้นเป็นของแต่ละคน ต่างคนก็ต่างได้รับประสบการณ์ และการเผชิญกับปัญหาต่างๆ ในชีวิตมาแตกต่างกันนั้นเอง แต่คำตอบต่างๆ นั้นก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งหรือบางส่วนของชีวิตทั้งหมด เกี่ยวกับชีวิตมีนักชีวะวิทยาศึกษาเรื่องสิ่งมีชีวิตว่า มีลักษณะอย่างไร ต่างจากสิ่งไม่มีชีวิตอย่างไร แต่ชีวิตคืออะไรนั้น นักชีวะวิทยาก็ตอบไม่ได้

นักปรัชญากรีกโบราณท่านหนึ่งคือ ทาเลส[Thales] ได้ตั้งปัญหาขึ้นว่า มนุษย์ โลก หรือสิ่งต่างๆที่อยู่รอบๆตัวเราจะรู้ได้อย่างไร โดยไม่ต้องอาศัยอำนาจของเทพเจ้าเหมือนนักปรัชญาในอดีตที่ใช้วิธีการนี่สั่งสอนกันมา และได้คำตอบว่า มนุษย์ และโลกตลอดถึงสรรพสิ่งต่างๆเกิดขึ้นและดำเนินไปด้วยกโบราณแห่งธรรมชาติ เพื่อหาความจริงอันแท้จริงกลุ่มนักปรัชญากรีกได้พยายามทอนย่อยกฎทางธรรมชาติให้เป็นหน่วยย่อยๆนี้ว่า “ปฐมธาตุ” และทาเลสก็ได้ตั้งเป็นทฤษฎีว่า ความแท้จริงอันสุดท้ายนั้นคือ ปฐมธาตุ ทุกสิ่งเกิดจากปฐมธาตุนี้เอง และยังให้ทรรศนะว่ามนุษย์ก็เกิดขึ้นมาโดยการลอกเลียนแบบมานั้นเอง ท่านโสเครติสกล่าวว่า มนุษย์คือสัตว์ที่มีเหตุผล มีมันสมองเปรื่องปราด ส่วนท่านพลาโต้นักปรัชญากรีกผู้เรืองนามได้กล่าวว่า มนุษย์คือสัตว์สังคมหรือสัตว์หมู่ เขาเกิดในสังคมอยู่ในสังคมและตายในสังคม” และท่านอาริสโตเติ้นกล่าวว่า “มนุษย์คือสัตว์ที่มีความเกี่ยวพันกันทางการเมือง

แต่ว่านักปรัชญากรีกในยุคต่อๆมาแม้ว่าจะยอมรับหลักการรวมกันว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีความจริงที่เป็นปฐมกำเนิดแรกร่วมกันก็ตาม แต่ต่างก็ยังถกเถียงกันในเรื่องเนื้อหาว่าความแทัจริงที่เป็นต้นกำเนิดหรือปฐมธาตุ นั้นมาจากไหน ซึ่งยังไม่อาจสรุปรวมกันได้เป็นแนวคิดเดียว ดังนั้นจึงแตกออกเป็นกลุ่มย่อยๆไปตามวิถีทรรศน์ของกลุ่มต่างๆซึ่งแบ่งได้เป็น ๓ กลุ่มใหญ่ได้ดังนี้

- กลุ่มเอกนิยม ถือว่าความแท้จริงมีอย่างเดียว ในกลุ่มนี้บางคนยังชื่อว่า ความแท้จริงคือสสารนอกจากสสารแล้วไม่มีอะไรจริง บางคนเชื่อว่า ความจริงเป็นจิตอย่างเดียว สสารไม่มีจริง

- กลุ่มทวินิยม เชื่อว่าความแท้จริงมีสองอย่าง คือสสารก็มีอยู่จริงและจิตก็มีอยู่จริง

- กลุ่มพหุนิยม เชื่อว่าความแท้จริงมีหลายอย่าง ความแท้จริงเป็นทั้งจิต สสาร และสิ่งอื่นๆรวมกันด้วย ดังนั้นสำหรับปัญหาที่ว่า “มนุษย์คือใคร” นั้น กลุ่มเอกนิยมจะแยกตอบเป็น ๒ อย่างคือ

) กลุ่มสสารนิยม ตอบว่า “มนุษย์คือสสาร ซึ่งเกิดจากการรวมตัวเข้าของสสารในอัตราส่วนที่พอเหมาะ ส่วนการเปลี่ยนแปลงในรูปต่างๆ ของมนุษย์ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงตัวของสสารต่างๆเท่านั้น การเกิดการตายของคนเป็นเพียงการแยกตัวออกของสสารเท่านั้น ส่วนสสารนั้นยังคงเดิมคือไม่เพิ่มหรือลด ไม่มีการเกิดใหม่และไม่สูญหายไปจากโลก

) กลุ่มจิตนิยม เชื่อว่ามนุษย์ก็คือจิต จิตเท่านั้นเป็นสิ่งที่เป็นจริงและมีอยู่จริงนอกนั้นไม่มีสิ่งใดเป็นจริง ส่วนสสารนั้นเป็นเพียงมายาหรือการแสดงตัวออกของจิตเท่านั้น

) กลุ่มทวินิยม ตอบปัญหานี้ว่า มนุษย์ก็คือส่วนที่เป็นทั้งจิตและสสารมารวมกันเข้า การเกิดของมนุษย์นี้ก็ด้วยอาศัยการรวมกันของสองสิ่งนี้เอง ความเป็นตัวคนจึงจะมีได้แต่ว่าถ้าขาดสิ่งหนึ่งไปจะทำให้มีมนุษย์ไม่ได้ ส่วนกลุ่มพหุนิยม ตอบว่ามนุษย์ก็คือจิต สสาร และปัจจัยอื่นๆมารวมกันทั้งสสารและจิตและสิ่งอื่นๆรวมกันเข้าเป็นองค์ประกอบของมนุษย์

แต่นักปรัชญาฮินดูถือว่า มนุษย์โดยสภาพเดิมแท้ของเขาแล้ว เป็นสัตว์ที่เกียวพันทางวิญญาณ” ในทรรศนะนี้นักปรัชญาฮินดูถือว่า มนุษย์ประกอบด้วยส่วนต่างๆ คือ ร่างกาย จิตใจ และความรู้และชีวาตมัน ส่วนร่างกายผูกพันอยู่กับโลกภายนอก มีความหิวกระหาย มีการกินอาหารและการขับถ่ายเป็นต้น เพื่อดำรงชีวิตของตนเอง จิตใจต้องการความรู้เพื่อพัฒนาตนเอง อัตตาหรือตัวชีวะต้องการประสบการณ์ทางศาสนาเพื่อความสมบูรณ์ของตนเอง ในปรัชญาฮินดูกล่าวว่า ชีวาตมันหรือวิญญาณส่วนบุคคลนั้น ไม่ตกอยู่ในอำนาจของกิเลส ไม่ตกอยู่ในอำนาจของร่างกายและไม่ตกอยู่ในอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น เป็นสภาพที่บริสุทธิ์ผุดผ่องเป็นสิ่งกับพรหมัน ชีวาตมันถือว่าเป็นสภาวะเดิมแท้ของมนุษย์

โมกษะ จึงเป็นเป้าหมายสูงสุดของชาวฮินดูเป็นสภาวะที่อาตมัน คือ ตัวตนที่แท้จริง หลุดพ้นจากเครื่องร้อยรัดทั้งปวง แล้วผสานเป็นหนึ่งเดียวกับพรหมัน ประดุจแม่น้ำที่ไหลไปสู่มหาสมุทร แล้วผสานเป็นหนึ่งเดียวกับมหาสมุทรเมื่อบรรลุโมกษะแล้ว ถือว่าเราได้บรรลุความปรารถนาทั้งหมด และเข้าถึงภาวะความสมบูรณ์ของวิญญาณ ความสุขในภาวะเช่นนี้เป็นบรมสุขที่อยู่เหนือความเข้าใจและจินตนาการทั้งหมด ไม่สามารถจะอธิบายเปรียบเทียบได้กับความสุขใด ๆ ที่มนุษย์คุ้นเคยอยู่ ความหมายของโมกษะในฐานะเป็นเป้าหมายของชีวิต สามารถอรรถาธิบายได้ในหลายแนวทาง ถ้ามองชีวิตในความหมายของมายาที่หลงติดยึดอยู่กับสิ่งต่าง ๆ เพราะความไม่รู้ (อวิทยา) การบรรลุโมกษะ หมายถึงการรู้แจ้งในตนเอง (อาตมวิทยา) และรู้แจ้งโลก (พรหมวิทยา) การบรรลุโมกษะ จึงหมายถึงการออกจากความมืด (ความไม่รู้) ไปสู่ความสว่าง (ความรู้) ดังข้อความในพฤหทารัณยกะ อุปนิษัท ที่ว่า “จงนำข้าฯ จากความมือไปสู่ความสว่าง”

นักปรัชญาฮินดูมองชีวิตในความหมายของการเวียนว่ายตาย-เกิด ในสังสารวัฎ โมกษะ มีความหมายถึงการหลุดพ้นจากเวียนว่ายตาย-เกิด ไปสู่ความอมตนิรันดร์ ถ้ามองชีวิตในความหมายของการแสวงหาความเป็นจริง การบรรลุโมกษะ ย่อมหมายถึงการประจักษ์แจ้งในความเป็นจริงที่เป็นอัตวิสัย (อาตมสัตย์) อันเป็นหนึ่งเดียวกับความเป็นจริงที่เป็นภาววิสัย (พรหมสัตย์) กล่าวคือ การประจักษ์แจ้งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวระหว่าง อาตมันกับพรหมัน ไม่ว่าจะกล่าวในความหมายเช่นไร โมกษะยอมมีความหมายเป็นหนึ่งหนึ่งเดียวสำหรับชาวฮินดู คือเป้าหมายที่ทุกคนต้องไปให้ถึง เพราะทุกชีวิตมีอยู่และเป็นไปเพื่อโมกษะเท่านั้น

แต่คำว่า “ มนุษย์” ในทรรศนะพุทธปรัชญา แตกต่างจากฮินดูโดยแท้ คือไม่มีชีวาตมันหรืออัตตาที่เที่ยงแท้ถาวรในตัวมนุษย์ พุทธศาสนาถือว่า “มนุษย์” แต่ละคนนั้นประกอบด้วย”รูปและนาม” หรือการรวมกันเข้าของรูปกับนาม จึงมีชื่อเรียกว่ามนุษย์ สภาพที่แท้จริงของมนุษย์คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา

ทรรศนะของปรัชญาปัจจุบันกล่าวว่า ชีวิตนับว่าเป็นเรื่องสำคัญที่พึ่งศึกษาเพราะหากรู้เรื่องอื่นๆมากมายแต่ไม่รู้เรื่องชีวิตของตนเองแล้วก็นับว่ายังไม่สมบูรณ์ เพราะจะมีอะไรเล่าจะสำคัญเท่ากับชีวิต ในทางวิทยาศาสตร์ถือว่า มนุษย์เกิดมาจากการตั้งครรภ์ของมารดา ซึ่งเกิดจากการผสมกันระหว่างอสุจิและไข่ จากนั้นก็จะวิวัฒนาการไปตามลำดับจนกลายเป็นตัวทารก ซึ่งทรรศนะทางวิทยาศาสตร์ก็เห็นตามที่ได้ทดลองมา ซึ่งเชื่อว่าอสุจิเป็นเซลล์สืบพันธ์ของบุรุษที่เกิดมีขึ้นในต่อมเพศ เมื่อมีการร่วมเพศกันอสุจิจะถูกฉีดเข้าไปในช่องคลอดของเพศหญิงครั้งหนึ่งๆประมาณ ๒๐๐–๔๐๐ ล้านตัว แต่มีอสุจิเพียงตัวเดียวเท่านั้น จะมีโอกาสผสมกับไข่ อสุจิมีขนาดเล็กมากโดยมีขนาดประมาณ ๐.๐๐๓ มิลลิเมตรเท่านั้นไข่ ซึ่งเป็นเซลล์สืบพันธ์ของผู้หญิงเป็นเซลล์ๆเดียวและมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๐.๑๕ มิลลิเมตร ใหญ่กว่าเซลล์ของเพศชาย ประมาณ ๑๙๕,๐๐๐ เท่า

การปฏิสนธิเกิดขึ้นโดยส่วนหัวของอสุจิเจาะผ่านเยื่อหุ้มรังไข่เข้าไปผสมกับไข่แล้วก็จะรวมกับนิวเคลียสเดียว ไข่ก็จะเกิดเป็นเซลล์ใหม่ เซลล์ใหม่จะเจริญเติบโตขึ้นแล้วแบ่งตัวออกแบบทวีคูณคือจาก ๑ เป็น ๒ จาก ๒ เป็น ๔ จาก ๔ เป็น ๘ จาก ๘ เป็น ๑๖ ...ไปเรื่อยๆ หลังจากตั้งครรภ์ได้ ๒-๓ วัน เซลล์กำเนิดจะเจริญเติบโต แล้วแบ่งตัวออกจนกลายเป็นกลุ่มเซลล์เล็กๆที่เชื่อมโยงกันอย่างหลวมๆ กลุ่มเซลล์จะค่อยๆ เคลื่อนลงไปทางหลอดมดลูกของมารดา และฝังตัวอยู่ในผนังมดลูกแล้วเยื่อบางๆหรือรกก็จะเกิดขึ้น ต่อจากนั้นก็จะกลายเป็นตัวอ่อนในครรภ์และได้รับอาหารจากมารดา โดยผ่านทางรกเข้าไปทางสายสะดือ เมื่อตัวอ่อนเจริญเติบโตนานพอสมควร ปกตินานประมาณ ๙ เดือน ก็จะคลอดออกมาเป็นทารกแล้วเจริญเติบโตเป็นเด็ก และเป็นผู้ใหญ่ต่อไป

.๑ มนุษย์ตามทรรศนะพุทธปรัชญา

พุทธปรัชญาถือว่ามนุษย์มีกรรมเป็นของตนเอง ซึ่งเป็นสมุฏฐานให้มนุษย์ทั้งหลายต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะสังสารอยู่ไม่ขาดระยะ ดังนั้นคำว่า " กรรม " เป็นคำกลางๆ จะมุ่งไปทางดีก็ได้ ทางชั่วก็ได้ การกระทำดี เรียกว่า " กุศลกรรม " ส่วนการกระทำชั่ว เรียกว่า " อกุศลกรรม " ถ้าเรากระทำอะไรลงไปด้วยกายเรียกว่า " กายกรรม " ทำด้วยวาจา เรียกว่า " วจีกรรม " นึกคิดด้วยใจ เรียกว่า " มโนกรรม" การศึกษาให้รูแจ้งในเรื่องกรรม และการเวียนว่ายตายเกิด จึงเป็นกุญแจดอกสำคัญ ที่นำไปสู่การดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง มีผลเป็นความสุข สงบแก่ผู้ศึกษา มีประโยชน์ในการพัฒนาชีวิตให้สูงขึ้น และทำให้เห็นว่าการเกิดของเรามีความหมาย ไม่ใช่เกิดมาโดยความบังเอิญ มีชีวิตอยู่อย่างเลื่อนลอย และตายไปอย่างน่าสมเพชเวทนา เรื่องกรรมและการเวียนว่ายตายเกิด ทำให้คนหาย งมงาย และตื่นเต้นต่อความเปลี่ยนแปลงในชีวิต ช่วยคลี่คลายความข้องใจในความสับสนของชีวิต เป็นเรื่องที่พุทธศาสนิกชน ควรเรียนรู้และทำความเข้าใจ ให้แจ่มแจ้ง เพื่อชีวิตของตนเองจะได้ดีขึ้น

" ความเชื่อในกรรม ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นของประเสริฐยิ่ง ควรเพาะให้มีขึ้นในใจของทุกคน และถ้าคนทั้งโลกเชื่อมั่นในเรื่องกรรมแล้ว มนุษย์ในโลก จะได้รับความสุขใจขึ้นมาก เป็นสิ่งที่ทำให้คนขวานขวายทำแต่กรรมดี โดยหวังผล

ที่ดี เรื่อวัฏสงสารและกรรมนี้ เป็นของต้องมีความเชื่อ เพราะเป็นของที่น่าเชื่อ

กว่าความเชื่ออีกหลายอย่าง "

หลักกรรมเป็นคำสอนที่สำคัญในพุทธปรัชญา มีปรากฏอยู่ในพระสูตรหลายๆ แห่ง หลักกรรม เป็นเรื่องหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ ดังที่ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายความว่า :-

" ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ตถาคตย่อมเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติกำลังอุบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยากด้วยจักษุญาณอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เป็นไปตามกรรมว่าสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วย กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฎฐิเมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาตนรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฎฐิ ยึดถือการ กระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฎฐิเมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ ”

กรรมเป็นต้นเหตุของความเป็นไปต่างๆในชีวิต ผลของกายกรรม วจีกรรม และ มโนกรรม จะบังเกิดขึ้นด้วยความจงใจในการกระทำ สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่จัดให้ไปเกิดใหม่เท่านั้น แต่ยังจัดสรร ให้ไปเกิดในขอบเขตของกรรมอีกด้วย ภพและสภาวะที่จะไปเกิดนั้น ขึ้นอยู่กับการกระทำของผู้นั้นในภพก่อน ๆ

" ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว พระยายมได้มีความดำริอย่างนี้ว่า พ่อเจ้า ประคุณเอ๋ย เป็นอันว่า เหล่าสัตว์ที่ทำกรรมอันลามกไว้ในโลก ย่อมถูกนายนิรย บาล ลงกรรมกรณ์ต่างชนิดเห็นปานนี้ โอหนอ ขอเราพึงได้ความเป็นมนุษย์ ขอ พระตถาคต อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พึงเสด็จอุบัติในโลก เราพึงได้นั่งใกล้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ขอพระผู้มีพระพระภาคพระองค์นั้น พึงแสดง ธรรมแก่เรา และขอเราพึงรู้ทั่วถึงธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเถิด "

หลักกรรมในพุทธศาสนา เน้นเรื่องของปัจจุบัน ให้พิจารณาความดีความชั่วของตนเพื่อชี้สิ่งที่จะต้องกระทำ หรือการกระทำในปัจจุบัน ไม่ให้หวนกลับไปถึงเรื่องอดีตที่ผ่านมา และเพ้อฝันถึงเรื่องในอนาคต พุทธปรัชญา ชี้ให้ใช้ปัญญาพิจารณาดู ที่ปัจจุบันกรรม ว่าเป็นเครื่องกำหนด บุคคลประเภทต่างๆ บุคคลจะเป็นอย่างไร ก็ด้วยการกระทำในปัจจุบัน ชาติกำเนิดไม่อาจจะทำบุคคลให้ดี หรือชั่ว ดังพุทธดำรัสที่ปรากฏใน วาเสฏฐสูตร ว่า :-

" อันชื่อ คือนามและโคตร ที่กำหนดตั้งไว้นี้ เป็นแต่สักว่าโวหารในโลกเพราะเกิดขึ้นมาตามชื่อ ที่กำหนดตั้งกันไว้ในกาลนั้นๆ ทิฎฐิอันนอนเนื่องอยู่ในหทัยสิ้นกาลนาน ของสัตว์ทั้งหลายผู้ไม่รู้เมื่อสัตว์ทั้งหลายไม่รู้ ก็พร่ำกล่าวว่าเป็นพราหมณ์เพราะชาติ บุคคลจะชื่อว่าเป็นคนชั่ว เพราะชาติก็หาไม่ที่แท้ชื่อว่าเป็นคนชั่วเพราะกรรม ชื่อว่า เป็นพราหมณ์เพราะกรรม เป็นชาวนาเพราะกรรม เป็นศิลปินเพราะกรรม เป็นพ่อค้าเพราะกรรม โจรก็เพราะกรรมเป็นทหารก็เพราะกรรม เป็นปุโรหิตเพราะกรรมแม้เป็นพระราชาก็เพราะกรรม บัณฑิตทั้งหลายมีปกติเห็นปฏิจจสมุปบาท ฉลาดในกรรมและวิบาก ย่อมเห็นกรรมนั้นแจ้งชัด ตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า โลกย่อมเป็นไปเพราะกรรมหมู่สัตว์ย่อมเป็นไปเพราะกรรม สัตว์ทั้งหลายถูกผูกไว้ในกรรม เหมือนลิ่มสลัก ของรถที่กำลังแล่นไป ฉะนั้นบุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์ ด้วยกรรมอันประเสริฐ นี้ คือตบะ พรหมจรรย์ สัญญมะ และทมะ กรรมสี่อย่างนี้ เป็นกรรมอันสูงสุด ของพรหมทั้งหลาย ทำให้ผู้ประพฤติถึงพร้อมด้วยวิชชา ๓ ระงับกิเลสได้ สิ้นภพแล้ว "

ที่บุคคลแตกต่างกัน ก็เพราะแต่ละคนมีความปรารถนามีการสั่งสมกรรมไม่เหมือนกัน กรรมที่บุคคลสั่งสมไว้นั้นเอง เป็นตัวจำแนกบุคคลให้เป็นต่างๆ ตามชนิดแห่งกรรมที่บุคคลนั้นๆ ได้กระทำลงไป ดังพุทธดำรัสที่ตรัสตอบปัญหาของ สุภมาณพ โตเทยบุตรว่า :-" ดูกรมาณพ สัตว์ทั้งหลาย มีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลว และประณีตได้ "

แต่ผลของกรรมก็มีขอบเขตสิ้นสุด มีกำหนดระยะเวลาของกรรมแต่ละอย่าง พุทธปรัชญาเน้นให้บุคคลคำนึงถึงสิ่งที่กระทำอยู่ในปัจจุบัน หลักกรรมในพุทธปรัชญาเชื่อว่ามนุษย์จะเกิดเป็นเทวดาเป็นพรหม หรือกลับมาเป็นสัตว์เดียรฉานชนิดต่างๆ ก็ได้ ในทางกลับกันสัตว์เดียรฉาน ก็สามารถกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทวดาหรือเป็นพรหมได้เช่นกันทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการกระทำในปัจจุบัน

.๒ ชีวิตมนุษย์ตามนัยแห่งกรรม กิเลส วิปาก

การเวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆนั้นพระพุทธองค์ตรัสไว้ใน สมชีวสูตร ซึ่งเป็นเสมือนหนึ่งว่าชีวิตนี้มีการเชื่อมโยงติดต่อกันไปเรื่อยๆ หรือบางภพชาติที่บุคคลต่างๆจะมีความปรารถนาจะได้พบกันซึ่งมีปรากฏเป็นหลักฐานที่ทำให้ภรรยาและสามีได้พบกันในภพนี้และภพหน้าสามารถอยู่ร่วมกัน ดังความว่า :-

ภรรยาและสามีทั้งสอง เป็นผู้มีศรัทธา รู้ความประสงค์ของผู้ขอมีความสำรวม เป็นอยู่โดยธรรม เจรจาคำที่น่ารักแก่กันและกันย่อมมีความเจริญรุ่งเรืองมาก มีความผาสุก ทั้งสองฝ่ายมีศีลเสมอกัน รักใคร่กันมาก ไม่มีใจร้ายต่อกัน ประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว ทั้งสอง เป็นผู้มีศีลและวัตรเสมอกันย่อมเป็นผู้เสวยกามารมณ์เพลิดเพลินบันเทิงใจในเทวโลก "

พุทธปรัชญาเถรวาทมีทรรศนะว่า สัตว์โลกทั้งหลายที่ยังมีกิเลสอยู่ ย่อมอยู่ในกระแสของการเวียนว่ายตายเกิด ชีวิตเป็นประดุจสายโซ่ยืดยาว ตามเหตุผลของปฏิจจสมุปบาท ความอาศัยซึ่งกันและกันเกิดขึ้นเป็นสายติดต่อกันไป เป็นเรื่องของปัจจุบัน ที่เกี่ยวโยงปัจจุบันไปถึงชาติอดีต และ ชาติหน้า คนเราเกิดตายมาแล้วนับชาติไม่ถ้วน ตราบใดที่กิเลสยังไม่หมดไปจากขันธสันดาน ก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดไม่มีที่สิ้นสุด ดังพุทธดำรัสแก่ภิกษุความ ว่า :-

" ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้ กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ ” ๑๐

มนุษย์ตามนัยสังสารวัฏพุทธปรัชญาเถรวาทมองว่า มนุษย์ทุกคนได้เคยเกิดเคยตายมาแล้วทั้งนั้นไม่สามารถจะกำหนดนับได้ ถ้าหากจะเอากระดูกของคนเพียงคนเดียวที่เคยตายมาแล้วในอดีตชาติ มารวมกองไว้ กระดูกของคนนั้นจะกองโตกว่าภูเขาเสียอีก การเวียนว่ายตายเกิด อาศัยปัจจัยเป็นเหตุผลติดต่อกันเป็นสายเรื่อยไปไม่สิ้นสุด แต่ละชีวิตเป็นผลของ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม และทุกคนจะปัดภาระในการรับผลของกรรมในอดีต และปัจจุบันกรรมไม่ได้ จนกว่าจะสามารถทำลายกิเลสให้หมดสิ้นไปจากจิตใจได้ ตัวการที่เป็นสาเหตุสำคัญของการติดข้องอยู่ในสงสารนี้คือ ตัณหา ความทะยานอยาก ตราบใดที่ยังตกอยู่ภายใต้อำนาจของตัณหา ชีวิตก็ยังจะต้องเวียนว่ายตายเกิดโดยไม่มีที่สิ้นสุด ตัณหาเกิดจากอวิชชา คือความไม่รู้แจ้งสภาวะธรรมตามเป็นจริง หลงยึดมั่นสิ่งต่างๆ ว่าเป็นเรา เป็นของเรา ด้วยอำนาจของอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น กล่าวโดยสรุป หลักการเวียนว่ายตายเกิดในพุทธศาสนา มีเหตุปัจจัยดังนี้.

๑. กิเลส กล่าวคือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน เป็นเหตุให้กระทำกรรม

. กรรม เมื่อกระทำแล้วย่อมเกิดผลหรือวิบาก

. ผลหรือวิบาก คือ นามรูปที่ยังประกอบด้วย อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ซึ่งเป็นกิเลส เป็นเหตุให้กระทำกรรม เมื่อกระทำกรรมก็ย่อมเกิดผล เป็นนามรูปใหม่ ติดต่อกันไปไม่รู้จักสิ้นสุด จึงได้ชื่อว่าสังสารวัฏ

" พุทธศาสนาเถรวาท เชื่อในเรื่องสังสารวัฏ และการสืบต่อระหว่างคนเราเคยเกิดมาแล้วทั้งสิ้น นับ ชาติไม่ถ้วน เกิดในภพภูมิที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ตามกฎแห่งกรรมที่ได้กระทำไว้ทั้งดี และชั่ว ถ้ายังมีกิเลสอยู่ เปรียบเหมือนยางเหนียวในพืชมีอยู่ตราบใด ก็ต้องเวียนว่าย ตายเกิดอยู่ตราบนั้น จิตที่ได้รับการอบรมแล้ว ถ้ายังไม่สิ้นกิเลส ก็ย่อมนำไปเกิด ในภพภูมิที่ประณีต มีความสุขประเสริฐ และสูงขึ้น แต่ถ้าจิตไม่ได้รับการฝึกอบรม ปล่อยไว้ตามสภาพที่มันเป็น ปล่อยให้สกปรกเศร้าหมอง เพราะถูกกิเลสจับ นอกจากจะก่อความทุกข์ ความเดือดร้อนให้แก่ตนเอง และสังคมในชาตินี้แล้ว ยังจะให้ภพชาติต่ำทรามลงไป ต้องประสบกับความทุกข์ ความเดือด ร้อนมากในชาติต่อๆ ไปอีกด้วย “

พุทธศาสนาเถรวาทสอนว่า การตายไม่ใช่ความสิ้นสุดแห่งชีวิต หากเป็นเพียงการสลายนามรูปอย่างหนึ่ง วิบากของกรรมที่ยังเหลืออยู่ ก็จะก่อให้เกิดนามรูปขึ้นใหม่อีก นามรูปที่เกิดขึ้นมาใหม่นั้น ย่อมรับเศษแห่งวิบากที่ยังเหลืออยู่ติดมาด้วย และยังได้สั่งสมกรรมใหม่ขึ้นอีกเรื่อยๆ ซึ่งผลของการกระทำนั้นๆ ก็จะปรากฏในชีวิตปัจจุบัน และอนาคตต่อไปอีกด้วย เกิดเป็นนามรูปใหม่เรื่อยๆ ไม่ขาดสาย จนกว่าจะตัดกระแสแห่งวิบากกรรมคือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน เสียได้ ก็จะบรรลุอมตธรรม กล่าวคือพระนิพาน เป็นที่สิ้นสุดแห่งทุกข์เบียน ให้ปฏิบัติในสิ่งที่จะเอื้อประโยชน์ต่อทุกสรรพชีวิต เสมือนหนึ่งเป็นญาติกัน ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสกับภิกษุทั้งหลาย ในสังยุตตนิกาย นิทานวรรค ทุติยวรรคที่ ๒ ว่า :-

" ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่า

สัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ สัตว์ที่ไม่เคยเป็นมารดา...ไม่เคยเป็นบิดา...ไม่เคย เป็นพี่น้องชาย...ไม่เคยเป็นพี่น้องสาว...ไม่เคยเป็นบุตร...ไม่เคยเป็นธิดาโดยกาลนานนี้ มิใช่หาได้ง่ายเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้นมีตัณหา เป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ที่สุดเบื้องย่อมไม่ปรากฏภิกษุทั้งหลายพวกเธอได้เสวยทุกข์ ความเผ็ดร้อน ความพินาศได้เพิ่มพูนปฐพี ที่เป็นป่าช้า ตลอดกาลนาน ภิกษุทั้งหลาย ก็เหตุเพียงเท่านี้พอทีเดียวเพื่อจะเบื่อหน่าย ในสังขารทั้งปวงพอเพื่อจะคลายกำหนัด พอเพื่อจะหลุดพ้น"๑๒

การวิวัฒนาการของมนุษย์ที่ถือกำเนิดตามภพภูมิไปสู่ภพภูมิต่างๆนั้นมีมากหมายที่พระพุทธศาสนายืนยันว่า อบายนั้นมีอยู่จริง และคนที่ทำชั่วย่อมไปเกิดในอบายจริง ดังที่พระพุทธตรัสไว้ในอิติวุตตกะ ติกนิบาต แห่งคัมภีร์ขุททกนิกายว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไฟ ๓ กองนี้ คือ ไฟคือราคะ ๑ ไฟคือโทสะ ๑ ไฟคือโมหะ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไฟ ๓ กองนี้แล (ย่อมเผาผลาญสัตว์ทั้งลายไฟคือราคะ ย่อมเผาสัตว์ทั้งหลาย ผู้กำหนัดแล้ว ผู้หมกมุ่นอยู่แล้วในกามทั้งหลาย แต่ไฟคือโทสะ ย่อมเผาผลาญนรชนทั้งหลาย ผู้พยาบาท ซึ่งชอบฆ่าสัตว์ ส่วนไฟคือโมหะ ย่อมเผานรชนทั้งหลาย ผู้หลงงมงาย ซึ่งไม่ฉลาดในอริยธรรม ไฟทั้ง ๓ กองนี้ ย่อมเผาหมู่สัตว์ผู้ไม่รู้สึกว่าเป็นไฟ ผู้ยินดียิ่งในกายของตน สัตว์เหล่านั้นพอกพูนนรก กำเนิดสัตว์เดรัจฉาน อสุรกาย และเปตรติวิสัยอยู่(ทำผู้ที่เกิดในอบายทั้งสี่ให้มีปริมาณมากขึ้น)จึงไม้พ้นจากบ่วงแห่งมารปได้๑๓

ส่วนการกำเนิดในปรโลกนั้นผู้ที่ไม่เชื่อเรื่องบาป บุญ เรื่องนรก สวรรค์ และไม่เชื่อเรื่องโอปปาติกะกำเนิด เป็นต้น พระพุทธเจ้าทรงถึอว่าเป็นคนมิจฉาทิฏฐิดังข้อความที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในอปัณณกสูตร คัมภีร์มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ว่า

“ดูก่อนคหบดีทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์บางพวกซึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า (๑) การให้ทานไม่มีผล (๒) การบูชาไม่มีผล (๓) การเคารพบูชาไม่มีผล (๔) ผลของกรรมดีกรรมชั่วไม่มี (๕) โลกนี้ไม่มี (คือสัตว์จากโลกอื่นที่จะมาเกิดในโลกนี้ไม่มี) (๖) โลกอื่นไม่มี (คือสัตว์จากโลกนี้ที่จะไปเกิดโลกอื่นไม่มี) (๗) คุณมารดาไม่มี (๘) คุณบิดาไม่มี (๙) สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะไม่มี (๑๐) สมณพราหมณ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ทราบชัดถึงโลกนี้และโลกอื่นด้วยปัญญาได้เอง และสามารถทำให้ผู้อื่นรู้ได้ด้วยไม่มี (รวมเป็นมิจฉาทิฏฐิ ๑๐ ประการพระพุทธองค์ตรัสต่อไปอีกว่า“สมณพราหมณ์ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ จะต้องเบื่อหน่ายในการประพฤติกุศลธรรม ๓ ประการ คือกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริตแต่กลับไปยึดมั่นในการประพฤติอกุศลธรรม ๓ ประการ คือ กายทุจริตวจีทุจริต มโนทุจริต เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมไม่เห็นโทษของอกุศลธรรม และไม่เห็นอานิสงส์ของกุศลธรรมปรโลก (โลกหน้า) มีอยู่แท้ๆ( สนฺตํเยว โข ปน ปรํ โลกํ ) เขากลับเห็นว่าไม่มี ความเห็นของเขาจึงเป็นมิจฉาทิฏฐิ ปรโลกมีอยู่แท้ ๆ แต่เขากลับเห็นว่าไม่มี ความคิดของเขาจึงเป็นมิจฉาสังกัปปะ ปรโลกมีอยู่แท้ ๆ แต่เขากลับพูดว่าไม่มี คำพูดของเขาจึงเป็นมิจฉาวาจา ปรโลกมีอยู่แท้ ๆ เขากล่าวว่าไม่มี คนเช่นนี้เชื่อว่าคัดค้านต่อพระอรหันต์ทั้งหลายผู้กล่าวยืนยันว่าปรโลกมีอยู่”๑๔

ก่อนที่จะตอบว่า ตายแล้วไปไหน จะขอพูดเรื่องนรกสวรรค์ว่ามันอยู่ตรงไหน เพราะเมื่อตายไปแล้ว บางคนไปตกนรก บางคนไปเกิดในสวรรค์ เรื่องนรกสวรรค์อยู่ที่ไหนนี้ เป็นปัญหาทางปรัชญาที่ขบคิดกันมานานตั่งแต่โบราณจนถึงปัจจุบันเช่นกันแต่ทางพระพุทธศาสนานั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ยุติแล้ว ใครจะเชื่อไม่เชื่อก็แล้วแต่เขาเรื่องนี้พระพุทธเจ้าทรงค้นพบแล้ว วางลงไปอย่างแน่นอนว่า คนเมื่อตายแล้วถ้ามีกิเลสก็ต้องเกิดใหม่อีก สำหรับผู้ที่หมดกิเลสนั้น หมดปัญหาไปแล้ว ส่วนผู้ที่ยังกิเลส ที่ตายแล้วต้องไปเกิดอีกนั้น จะไปเกิดที่ไหน ข้อนี้เป็นประเด็นหนึ่งที่ต้องชี้แจ้งให้เข้าใจตามหลักพระพุทธศาสนานั้น ภพภูมิที่สัตว์โลกไปเกิดมี ๓๑ ภูมิคือ

๑. สวรรค์ชั้นกามาพจร ๖ ชั้น เป็นสวรรค์ที่มีเพศหญิงเพศชายยังเสวยกามคุณอยู่ อันได้แก่ ชั้นจาตุมหาราช, ชั้นดาวดึงส์, ชั้นมายา , ชั้นดุสิต, ชั้นนิมมารรดี และชั้นปรนิมมิตวสวัดดี

๒. สวรรค์ชั้นรูปพรหม (พรหมที่มีรูป) ๑๖ ชั้น

๓. สวรรค์ชั้นอรูปพรหม (พรหมที่ไม่มีรูป) ๔ ชั้น

๔. อบายภูมิ ๔ คือ กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน, ภูมิของเปรต, อสุรกาย (ผี) และนรก

๕. มนุษยโลก โลกมนุษย์

ในอบายภูมิทั้ง ๔ นั้น สัตว์ดิรัจฉาน เปรตและอสุรกายเกิดอยู่ในมนุษยโลกนี้เอง ส่วนนรกและสวรรค์อยู่ที่ไหน เรื่องนี่เป็นปัญหาที่ต้องทำความเข้าใจให้ชัด.กายเกิดมาจากเหตุปัจจัยซึ่งเป็นในเชิงของสังสารวัฎ ในวัฏฏะ ๓ นี้ ซึ่งเป็นกระบวนการแห่งผลของกันและกัน ซึ่งกิเลสวัฏฏ์และกัมมวัฏฏ์เป็นเป็นกระบวนฝ่ายที่เป็นเหตุ ส่วนวิปากวัฏฏ์เป็นธรรมฝ่ายที่เป็นผล ซึ่งพุทธศาสนามองถึงสิ่งทั้งหลายเป็นเหตุผลซึ่งกันและกันทั้งสิ้น

.๑.๓ บ่อเกิดของชีวิตมนุษย์

ในอรรถกถาสารัตถัปปกาสินี ท่านอธิบายถึงการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์มารดาตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระสูตรข้าต้นนั้นโดยท่านกล่าวขยายความคาถาจากพระสูตรข้างต้นนั้นไว้ว่า

“ในสัปดาห์แรกแห่งการปฏิสนธินั้น เกิดเป็นกลลรูปคือเป็นหยาดน้ำใสเหมือนน้ำมันงาในสัปดาห์ที่ ๒ หลังกลลรูปได้เกิดเป็นอัพพุทรูปขึ้น มีลักษณะเป็นฟอง สีเหมือนน้ำล้างเลือดในสัปดาห์ที่ ๓ หลังจากอัพพุทรูป ก็ได้เกิดเป็นเปสิรูปซึ่งมีลักษณะเหมือนชิ้นเนื้อที่เหลว ๆ สีแดง ในสัปดาห์ที่๔ หลังจากเปสิรูปก็ได้เกิดเป็นฆนรุปขึ้น ซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนมีสัณฐานเหมือนไข่ไก่ ในสัปดาห์ ๕ หลังจากฆนรูป จึงได้เกิดปัญจสาขาคือ รูปนั้นงอกออกเป็น ๕ ปุ่ม คือ เป็นศีรษะ ๑ มือ ๒ เท้า ๒ ต่อจากนั้นคือ ในสัปดาห์ที่ ๑๒ ถึงสัปดาห์ที่ ๔๒ ผม ขน เล็บ ก็ปรากฏขึ้น”๑๕

การที่พระพุทธเจ้าทรงทราบถึงพัฒนาการของทารกที่อยู่ในครรภ์อย่างละเอียด เริ่มตั่งแต่เป็น Germ Cell เป็นต้นมา จึงเป็นตัวทารกอย่างสมบูรณ์ นี้ก่อให้เกิดความทึงและความประหลาดใจให้แก่วงการแพทย์ใปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อสมัยเมื่อ๒๕๐๐กว่าปีมาแล้วนั้นไม่มีเครื่องมือทันสมัย เช่น กล้องจุลทัศน์ หรือเอ็กซเรย์อันใดเลย แต่พระพุทธองค์ก็ทรงหยั่งทราบได้ชัดเจน เหมือนกับมีเครื่องมือเหล่านี้ และยังทรงรู้ซึ่งไปกว่านี้อีกมาก ข้อนี้เกิดจากพระปัญญาตรัสรู้ของพระองค์โดยแท้ อันไม่ใช่วิสัยที่ใครอื่นจะพึงรู้ได้ด้วยตนเอง

สำหรับปัญหาที่ว่ามนุษย์เกิดขึ้นได้อย่างไร หรือ อะไรเป็นเหตุปัจจัยให้กายเกิดขึ้นนั้น จะพบว่าในพุทธศาสนาเถรวาทได้กล่าวไว้ถึงจุดกำเนิดของมนุษย์ไว้หลายแห่ง ที่เป็นปัจจัยที่ทำให้มนุษย์มีร่างกายเกิดขึ้นดังมีกล่าวไว้ในเสลาสูตร ได้กล่าวแสดงถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้มนุษย์เกิดขึ้นมาได้อย่างกว้างๆว่า “ กายนี้ไม่มีใครสร้างไม่มีใครก่อขึ้นมา แต่กายนี้ก็เป็นสิ่งที่มีใช่ไม่มีเหตุ มีเกิดขึ้นเพราะเหตุมี และดับไปเพราะมีเหตุดับ เหตุของมันนั้นมิใช่เป็นสิ่งที่เป็นปัจจัยภายนอก๑๖

ในมหาตัณหาสังขยสูตร พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงการที่มนุษย์ได้ก่อกำเนิดขึ้นในครรภ์ของมารดาว่า ต้องมีองค์ประกอบ ๓ ประการสมบูรณ์ คือ๑๗

๑. มาตา อุตุนี โหติ มารดามีระดู

๒. มาตาปิตโร สนฺนิปติตา โหนฺติ มารดาบิดาอยู่ร่วมกัน

๓. คนฺธพฺโพ ปจฺจุปฏฺฐิโต โหติ มีสัตว์มาเกิด

ลักษณะของวิญญาณที่มาถือปฏิสนธิในครรภ์จะเกิดขึ้นโดย คันธัพพะ คือวิญญาณที่มีความพร้อมที่มาเกิดจะรอโอกาสที่จะเข้าถือปฏิสนธิในครรภ์ซึ่งจะเป็นไปโดยอัตโนมัติ ตามอำนาจแห่งกรรมของตนดังพุทธภาษิตว่า “ กมฺมํ สตฺเต วิภชฺชติ ยทิทํ หีนปฺปณีตตาย” กรรมจำแนกสัตว์ในเลวและประณีต ว่าจะเกิดกับใคร ที่ไหน เมื่อไร เมื่อได้โอกาสก็จะเข้าถือปฏิสนธิทันที แต่ถ้าหากขาดองค์ประกอบในข้อใดข้อหนึ่ง ชีวิตหรือสัตว์ในครรภ์ก็จะไม่ปฏิสนธิ จึงเป็นที่น่าอัศจรรย์ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงอธิบายเรื่องกำเนิดชีวิตเมื่อสองพันกว่าปีเศษมาแล้ว มิได้ขัดแย้งกับกำเนิดชีวิตตามแนววิทยาศาสตร์แต่อย่างใด การเกิดตามแนวทางวิทยาศาสตร์อธิบายได้เพียงเฉพาะขอบเขตแห่งประสาทสัมผัส พ้นประสาทสัมผัสไปแล้ววิทยาศาสตร์ก็รู้ไม่ได้ ภูมิที่สัตว์ถือเกิดตามหลักของพระพุทธศาสนาได้กล่าวว่า การเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์มีอยู่จริง ซึ่งมีหลักฐานอยู่ในคัมภีร์พระพุทธศาสนามากมาย เช่น ใน คัมภีร์ชาดก เปตวัตถุ วิมานวัตถุ และพระสูตรอื่นๆอีก ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในปาปวรรค แห่งคัมภีร์ธรรมบท ความว่า“สัตว์บางพวกเกิดในครรภ์ สัตว์บางพวกที่ทำกรรมชั่วไว้ไปเกิดในนรก สัตว์บางพวกที่ทำกรรมดีไว้ไปเกิดในสวรรค์ ส่วนท่านที่หมดกิเลสแล้วทั้งหลายย่อมนิพพาน

จากพุทธพจน์นี้แสดงให้เห็นชีวิตมนุษย์นั้นยืดยาวออกไปอีกตามอำนาจแห่งกรรมที่ตนเองทำเอาไว้ เว้นไว้แต่พระอรหันต์ผู้ที่หมดกิเลสแล้วย่อมไม่เกิดอีก ส่วนสัตว์ผู้ยังมีกิเลสอยู่ย่อมมีเหตุนำไปสู่การเกิดอีก ซึ่งจะวนเวียนกันอยู่ในภูมิ ๓๑ ภูมิ ดังที่กล่าวแล้วนั้น และในการถือกำเนิดก็ย่อมเกิดในกำเนิด ๔ คือ

๑. ชลาพุชะ เกิดในครรภ์ ได้แก่กำเนิดของมนุษย์และสัตว์ที่คลอดออกมาเป็นตัว

๒. อัณฑชะ เกิดในไข่ ได้แก่กำเนิดสัตว์เดรัจฉานแล้วมีการฟักออกมาเป็นตัว

๓. สังเสทชะ เกิดในเถ้าไคล ได้แก่สัตว์จำพวกที่เกิดในสิ่งปฏิกูลเช่นหนอนต่างๆ

๔. โอปปาติกะ เกิดผุดขึ้น ได้แก่กำเนิดเทวดาและสัตว์นรก๑๘

ในพุทธศาสนาเถรวาทย่อมรับว่าสัตว์ทั้งหลายจะต้องมีการถือกำเนิดอย่างใดอย่างหนึ่งในสี่อย่างนี้ ซึ่งเป็นมาจากเหตุปัจจัยในส่วนอดีตก็มี ซึ่งเป็นผลมาจากกรรมเป็นสมุฏฐาน กำเนิดของสัตว์บางจำพวกเช่นมนุษย์จะถือกำเนิดก่อตัวขึ้นมาได้ก็ต้องอาศัยเหุตถึงสามประการคือ บิดามารดามีระดู และมีวิญญาณจึงจะถือกำเนิดเป็นตัวตนได้ ซึ่งต้องอาศัยครรภ์มารดาเป็นปัจจัยในการถือกำเนิด ดังนั้นพุทธปรัชญาถือว่าสัตว์ทั้งปวงมีพันธนาการมาจากตัณหาซึ่งเปรียบเสมือนเป็นสลักที่ไม่ยอมให้สัตว์หนีรอดพ้นได้ง่ายๆ ดังพุทธพจน์ความว่า

" หมู่สัตว์ถูกตัณหา อันทำความสะดุ้งห้อมล้อมแล้ว ย่อมกระสับกระส่าย

ดุจกระต่ายติดแร้ว กระสับกระส่ายอยู่ ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้ข้องแล้ว

ด้วยสังโยชน์ และธรรมเป็นเครื่องข้อง ย่อมเข้าถึงทุกข์บ่อยๆ สิ้นกาลนาน " ๑๙

ก็เพราะเหตุว่า สัตว์ทั้งหลายตกอยู่ภายใต้อำนาจของความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย และแล้วกลับเกิดอีก วกเวียนกันไป หาที่สุดมิได้ แม้ความพอใจความเบิกบานสำราญใจตลอดถึงความสุขแบบโลกๆ นั่นเอง จะนำบุคคลให้ไปพบกับความทุกข์ เพราะว่า สิ่งเหล่านั้นเป็นของที่เกิดขึ้นมีอยู่ เพียงชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น และการพลัดพราก หรือสูญเสียความสนุกสนาน และความสุขนั้น ทำให้คนได้รับความทุกข์หนัก ร้ายยิ่งกว่าการไม่เคยได้รับความสุขมาก่อนเสียอีก

ตามนัยของพระอภิธรรมนั้น กล่าวว่ามนุษย์ซึ่งประกอบขึ้นมาด้วยรูปต่างๆถึง ๒๘รูป ในรูป ๒๘ ประการนั้นบางรูปเกิดจากสมุฏฐานทั้ง ๔ อย่าง รูปบางอย่างเกิดด้วยเหตุเพียง ๓ สมุฏฐาน และบางรูปก็เกิดด้วยสมุฏฐาน ๒ อย่าง หรือรูปบางอย่างเกิดจากสมุฏฐานเดียว ในพระอภิธรรมท่านได้กล่าวว่าการวิวัฒนาการของรูปมนุษย์เป็นไปด้วยเหตุถึง ๓ กาล คือ

) ปฏิสนธิกาล คือรูปที่เกิดครั้งแรก ปฏิสนธิกาลคือรูปที่เกิดครั้งแรกนั้น กัมมชรูปหรือรูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานมีจำนวน ๑๘ รูป และลักขณะรูป ๒ รูป คืออุปัจจยรูปและสันตติรูป รวมเป็น ๒๐ รูป เป็นรูปที่เกิดที่แรกที่สุด คือเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต ส่วนรูปอีก ๘ รูปนอกนั้น เป็นรูปที่เกิดจากจิตตสมุฏฐานบ้าง อุตุสมุฏฐานบ้างและอาหารสมุฏฐานบ้างซึ่งเป็นรูปที่เกิดในภายหลัง

) ปวัตติกาล คือรูปที่เกิดในกาลต่อมาหลังจากปฏิสนธิการจนถึงจุติกาล คือรูปที่เกิดหลังจากปฏิสนธิจิตแล้วก็เกิดเรื่อยๆไปตลอดชั่วอายุของมนุษย์ โดยมีกำหนดตามสมุฏฐานดังนี้ คือ

- กัมมชรูป คือกรรมอันส่งผลมาพร้อมกับปฏิสนธิจิตแล้ว ยังเกิดขึ้นในทุกขณะจิตเรื่อยไปนับแต่ปฐมภวังค์จนถึงจุติกาล

- จิตตชรูป คือรูปทีเกิดจากจิตเป็นสมุฏฐานนั้น เกิดขึ้นตั้งแต่ปฐมภวังค์ คือหลังจากปฏิสนธิจิตดับลงแล้วเกิดเรื่อยไปทุกขณะจิตจนสิ้นจุติกาล

- อุตุชรูป คือรูที่เกิดแต่อุตุเป็นสมุฏฐานนั้นแยกได้ ๒ อย่าง คือ (๑) รูปที่เกิดจากอัชฌัตตอุตุ จะเกิดตั้งแต่ฐีติขณะของปฏิสนธิจิตอันเป็นจิตดวงแรก (๒) ส่วนรูปที่เกิดจากพหิทธอุตุนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อกายตั้งอย่างเรียบเร้อยแล้ว อุตุชรูปดังกล่าวงนี้จะตั้งอยู่เรื่อยไปทุกขณะจิตไม่ขาดสายจนกว่าจะสิ้นชีวิต

- อาหารชรูป คือรูปที่เกิดแต่โอชาเป้นสมุฆฐานั้น กำหนดได้เป็น ๒ อย่างเช่นกัน คือ (๑) รูปที่เกิดแต่อัชฌัตตโอชาหรือกัมมโอชา เกิดขึ้นตั้งแต่ปฏิสนธิจิต (๒) รูปที่เกิดจากพหิทธโอชาหรืออุตุโอชาเกิดขึ้น สัปดาห์ที่สองจะเริ่มแต่กายแล้ววิวัฒนาการเป็นอัพพุทะ ในช่วนี้อาหารที่มารดาบริโภคเรื่อแผ่ซืมซาบเข้าไป ในช่วง ๗ วันแรกตอนที่ยังเป็นกัลละ อาหารยังแผ่ซืมซาบเข้าไปไม่ได้

) จุติกาล คือรูปที่เกิดขึ้นในเวลาจุติ(ตาย) คือจิตตชรูป อุตุชรูป และอาหารรูป เว้นกัมมชรูป และจิตตชรูปเฉพาะจุตจิตของพระอรหันต์ จิตตชรูปในอุปาทขณะแห่งจุติจิตของสัตว์ในปัญจโวการภูมินั้น ยังคงตั้งอยุ่จนครบอายุจึงดับ อาหารชรูปนั้นเกิดขึ้นได้ทุกขณะของจิตแม้ในภังคะขณะของจุติจิต อาหารชรูปก็ยังเกิดขึ้นเป็นครั้งสุดท้าย และตั้งอยุ่ได้อีกประมาณเท่าอายุของจิต ๑๗ ดวงหรือ ๕๐ อนุขณะของจิต ส่วนอุตุชรูปนั้น เกิดได้เรื่อยไปแม้หลังจากกัมมชรูป จิตตชรูป และอาหารชรูปดับไปแล้วคือแม้ในขณะที่เป็นซากศพแล้ว อุตุชรูป ก็เกิได้เรื่อยไปอยู่การวิวัฒนาการของชีวิตตามนัยของพระสูตรนั้น ดังที่มีกล่าวไว้ในคัมภีร์พุทธศาสนานั้นได้กล่าวถึงกำเนิดของชีวิตไว้เช่นเดียวกันกับทรรศนะทางวิทยาศาสตร์ซึ่งคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งพระองค์ทรงเอาไว้นับได้ ๒๕๔๒ ปีมาแล้วยังตรงกัน ซึ่งมีกล่าวไว้ในยักขสังยุตต์สถาถวรรค สังยุตตนิกาย ซึ่งมีข้อความดังนี้

ในสมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ในพระวิหารเชตวัน ซึ่งเป็นอารามของท่านอาถบิณฑิกเศรษฐี ครั้งนั้นยักษ์ตนหนึ่ง( คำว่ายักษ์ หมายถึงเทวดาชั้นจาตุมมหาราชิกา) ชื่ออินทกะ ได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วทูลถามด้วยคาถาว่า

รูปํ น ชีวนฺติ วทนฺติ พุทธา กถํ นวยํ วินฺทติมํ สรีรํ

กตสฺส อฏฺฐียก ปิณฺฑเมติ กถํ นวยํ สชฺชติ คพฺภสฺมึ

“ พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมตรัสรู้ รูปมิใช่ชีวะ สัตว์(ในโลก) ได้สรีระ (ร่างกายนี้มาอย่างไรเล่ากระดูกและเลือดเนื้อของสัตว์มาจากไหน สัตว์นี้เกิดขึ้นในครรภ์ได้อย่างไร” พระพุทธเจ้าทรงตรัสตอบแก่อินทกะยักษ์ความว่า

ปฐมํ กลลํ โหติ กลลา โหติ อพฺพุทํ

อพฺพุทา ชายเต เปสิ เปสิ นิพฺพตฺตตี ฆโน

ฆนา ปสาขา ชายนฺติ เกสา โลมา นขาปิ จ

ยญฺจสฺส ภุญฺชติ มาตา อนฺนํ ปานญฺจ โภชนํ

เตนโส ตตฺถ ยาเปติ มาตุกุจฺฉิโต นโร

ความว่า “ รูปนี้เป็นกลละก่อน จากกลละเป็นอัพพุทะ จากอัพพุทะเกิดเป็นเปสิ จากเปสิเกิดเป็นฆนะ จากฆนะเกิดเป็น ๕ ปุ่ม (ปัญจสาขา) เกิดขึ้น มารดาของทารกในครรภ์นั้นบริโภคข้าวน้ำ โภชนาหารอันใดเข้าไปทารกที่ในครรภ์แม่นั้น ก็ดำรงชีวิตอยู่ในครรภ์แม่ด้วยโภชนะนั้น๒๐

คัมภีร์อรรถกถาสารัตถปกาสินี ภาค ๑ หน้า ๓๕๑–๓๕๒ ได้อธิบายความหมายไว้ว่ายักษ์ชื่ออินทกะ ยังไม่หายสังสัยว่า ถ้ารูปมิใช่ชีวะแล้ว กระดูกและเนื้อที่ประกอบขึ้นเป็นสรีระร่างกายของสัตว์มาจากไหน ยักษ์อินทกะเข้าใจว่าสัตว์ที่เกิดในท้องมารดานั้น เกิดขึ้นครบครันทุกส่วนพร้อมกันทุกอย่างในคราวเดียวกัน พระพุทธเจ้าทรงตรัสชี้แจงให้อินทกะยักษ์เข้าใจว่า มิได้เกิดขึ้นในครั้นเดียวกันตามที่เข้าใจ แต่หากมีการเจริญเติบโตเป็นไปตามลำดับๆ คือมีเมือกเกิดขึ้นมาก่อน ต่อมาอีก ๗ วัน เมือกนั้นก็กลายเป็นหยดน้ำใสๆ มีขนาดเท่าหยดน้ำบนปลายเส้นด้ายที่ทำด้วยขนแกะแรกเกิด ๓ เส้น (ขวั่นกัน) มีสีแดงเรื่อๆ (เหมือนน้ำล้างเนื้อ) ต่อมาอีก ๗ วันก็กลายเป็นเปสิคือชิ้นเนื้อและอีก ๗ วัน ก็กลายเป็นฆนะ และอีก ๗ วันต่อมาจะกลายเป็นปุ่ม เรียกว่าปัญจสาขาคือ ขา ๒ แขน ๒ และศรีษะ ๑ ดังแผนผังการวิวัฒนาการของชีวิตมนุษย์ดังนี้

- กลละ ๗ วัน

- อัพพุทะ ๗ วัน

- เปสิ ๗ วัน

- ฆนะ ๗ วัน

- ปัญจสาขา ๗ วัน

- เมื่อครบ ๔๒ สัปดาห์แล้วจะมีผม ขน เล็บและมีสายสะดือ

ต่อจากนั้นพระพุทธองค์ทรงตรัสถึงสภาวะที่สัตว์อยู่ในครรภ์ว่า มารดารับประทานอาหารเข้าไปสัตว์ที่อยู่ในครรภ์ก็จะได้รับอาหารนั้นด้วย โดยทางสายสะดือของตนซึ่งติดอยู่กับสายสะดือของมารดามีรูเหมือนก้านบัว รสอาหารจะไหลไปตามรูนั้น หล่อเลี้ยงทารกให้เกิดรูปร่างกาย และสัตว์นั้นอยู่ในครรภ์ก็นานประมาณ ๑๐ เดือน จึงจะคลอดออกมาจากครรภ์มารดาและยังมีปัญหาที่มีการอภิปรายกันโดยทั่วไปก็คือ วิญญาณเข้าไปอยู่ในครรภ์มารดาได้อย่างไร ซึ่งในเรื่องนี้พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ในมหาตัณหาสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสภ์ พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงการเกิดในครรภ์ของสัตว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันสัตว์ที่จะเกิดในครรภ์ย่อมเกิดด้วยเหตุ ๓ ประการประกอบกันและ คือถึงแม้มารดาบิดาจะร่วมรสกันแต่หากมารดาไม่มีระดู คันธัพพุ( วิญญาณที่จะมาเกิด) ในครรภ์ก็จะไม่ตั้งขึ้นสัตว์ในครรภ์ก็จะไม่ตั้งขึ้นอีกเหมือนกัน”

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดแลมารดาบิดาร่วมรสกันด้วย มารดามีระดูด้วยและคันธัพพะก็ตั้งขึ้นด้วยสัตว์ในครรภ์ย่อมเกิดขึ้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย มารดาย่อมบริหารครรภ์นั้นด้วยท้อง อันเป็นภาระหนักด้วยความห่วงใยมาโดยตลอด ๙ เดือนบ้าง ๑๐ เดือนบ้าง ครั้นครบ ๙ เดือนหรือ ๑๐ เดือนแล้ว มารดาย่อมคลอดสัตว์เกิดในครรภ์นี้นั้นและมารดาเลี้ยงดูลูกนั้นผู้เกิดมาแล้วด้วยโลหิตของตนเอง ดูกรภิกษุทั้งหลายอันโลหิตนี้ในธรรมวินัยของพระอริยเจ้าก็คือน้ำนมมารดา”

มนุษย์ตามทรรศนะของพุทธศาสนานั้นอาจตอบได้ทั้งในแงของความจริงขั้นสมมุติหรือสมมติสัจจะและทั้งในขั้นปรมัตถ์หรือปรมัตถ์สัจจะในแง่ความจริงขั้นสมมตินั้น อาจกล่าวได้ว่ามนุษย์เป็นเป็นหลายๆอย่าง ซึ่งจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง เป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ สูง ต่ำ ดำหรือขาว นั้นเป็นเพียงขั้นที่สมมติบัญญัติเรียกกันเท่านั้นเพื่อง่ายในการเข้าใจกันในภาษามนุษย์ ส่วนในขั้นปรมัตถ์นั้นพุทธศาสนา กล่าวว่าเป็นเพียงกระบวนการแห่งธรรมล้วนๆ ซึ่งเกิดขึ้นมาได้ด้วยอาศัยเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ไม่มีใครสร้างขึ้นหรือเกิดขึ้นเพราะการดลบรรดาลบองผู้ใดทั้งสิ้น ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตนเราหรือเขาแต่อย่างใด ดังนั้นพระพุทธศาสนาเถรวาทได้กล่าวถึงมนุษย์ตามที่เป็นอยู่จริงในแง่ของปรมัตถ์ พร้องทั้งชี้ให้เห็นขั้นตอนสมมติสัจจะว่า มันถูกเปิดบังด้วยอวิชชา ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าไม่ควรติดอยู่กับหลักการว่ามนุษย์ขั้นสมมติหรือขั้นปรมัตถ์


๑ ดร. พระมหาสม สุมโน, การศึกษาเปรียบเทียบทรรศนะคุณค่าชีวิตของมนุษย์ในลัทธิฮินดูและในพุทธศาสนา, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์นีลนาราการพิมพ์, ๒๕๓๗ ), หน้า ๑๑๗–๑๑๙

๒ วิทย์ วิศเวทย์ , ปรัชญาชั่วไป , พิมพ์ครั้งที่ ๓ , (กรุงเทพฯ; โรงพิมพ์อักษรเจริญทัศน์, ๒๕๒๒) หน้า ๒๐–๒๒

๓ กีรติ บุญเจือ , ปรัชญาสำหรับผู้เริ่มเรียน , พิมพ์ครั้งที่ ๓ (กรุงเทพฯ; โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๒๓) หน้า ๓๒

๔ วศิน อินทสระ, พุทธปรัชญาเถรวาท, ( โรงพิมพ์เจริญกิจ ; กรุงเทพมหานคร ), ๒๕๑๙, หน้า ๓๗๙.

๕องฺ. ทสก. ๒๔ / ๒๑ / ๓๔.

๖ ม. อุป. ๑๔ / ๕๒๔ / ๒๖๓.

๗ ม. ม. ๑๓ / ๗๐๗ / ๔๘๙.

ม. อุป. ๑๔ / ๕๘๑ / ๒๘๗.

องฺ. จตุกฺก. ๒๑ / ๕๖ / ๖๑.

๑๐ สํ. นิ. ๑๖ / ๔๒๑ / ๑๗๗.

๑๒ สํ. นิ. ๑๖ / ๔๕๐ - ๔๕๕ / ๑๘๗ - ๑๘๙.

๑๓ อิติ. ขุ. ๒๕ / ๒๗๔/ ๓๐๑

๑๔ ม ม. ๑๓ / ๑๐๕–๑๐๖ /๑๐๑–๑๐๒

๑๕ คณะกรรมการ แผนกตำรามหามกุฎราชวิทยาลัย, สารัตถปกาสินี, ภาค ๑, กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์ไท,

๓), หน้า ๓๕๑–๓๕๒)

๑๖ สัง. ส. ๑๕ / ๕๕๑ / ๑๘๙

๑๗ ม. มู. ๑๒ / ๔๕๒ /๔๘๗

๑๘ ม. ม. ๑๒ / ๑๖๙ / ๑๔๗

๑๙ ขู. ธ. ๒๕ / ๓๔ / ๔๒.

๒๐ สํ. ส. ๑๕ / ๘๐๓ /๓๐๓

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons