วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

4.ลักษณะของขันธ์ ๕ ตามทรรศนะในพุทธปรัชญา

คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...

บทที่ ๓

ลักษณะของขันธ์ ๕ ตามทรรศนะในพุทธปรัชญา

ก. ความหมายของขันธ์ ๕

คำว่า “ขันธ์” [The Five Aggregates] แปลว่า หมวด หมู่ ชนิด ประเภท ส่วน อย่าง หรือ กอง แต่นิยมเรียกว่า “กอง” ขันธ์ ๕ คือชีวิตอันประกอบด้วยผลรวมของสิ่งของ ๕ อย่างได้แก่ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าชีวิตมีส่วนอยู่ ๕ ประการ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ

๑. กองรูป เรียกว่า รูปขันธ์

๒. กองเวทนา เรียกว่า เวทนาขันธ์

๓. กองสัญญา เรียกว่าสัญญาขันธ์

๔. กองสังขาร เรียกว่า สังขารขันธ์

๕. กองวิญญาณ เรียกว่าวิญญาณขันธ์

ในแต่ละขันธ์ยังสามารถแยกย่อยออกไปได้อีก ซึ่งในขันธ์ทั้ง ๕ นี้ เมื่อรวมตัวกันเข้าเรียกว่า “ชีวิต” ซึ่งได้แก่ ชีวิตของคนและสัตว์ แต่ในที่นี้มุ่งกล่าวถึงชีวิตของมนุษย์ตามนัยของเบญจขันธ์เป็นหลัก เพื่อเข้าใจง่ายขึ้นจะได้กล่าวถึงชีวิตที่เกิดตามแนวของขันธ์ ๕ นี้เมื่อกล่าวโดยสรุปจัดได้เป็น ๒ ส่วนใหญ่ คือ กาย( รูปขันธ์) กับจิต( นามขันธ์) ดังนี้คือ

รูปขันธ์ กาย(รูป)

เวทนาขันธ์

สัญญาขันธ์ จิต(นามธรรม)

สังขารขันธ์

วิญญาณขันธ์

ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าขันธ์ ๕ เมื่อสรุปย่อได้เป็น ๒ อย่างคือนามกับรูป ดังนี้คือ

    มนุษย์ตามแนวขันธ์ ๕

 
   

รูป(กาย) นาม(จิต)

       
                          
     
 

                                                                                                                         มนุษย์

ปฐวี อาโป เตโช วาโย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

 
   

รูป นาม

       
  clip_image013   clip_image014

ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ รู้สึก(เวทนา) จำได้(สัญญา) คิด(สังขาร) รู้(วิญญาณ)

มนุษย์แต่ละคนเมื่อนำมาแยกส่วนประกอบออกมาแล้วจะมี ๒ ส่วนใหญ่ๆ คือ (๑) ส่วนที่เป็นรูป ได้แก่ ร่างกาย ซึ่งประกอบขึ้นมาจากอวัยวะต่างๆ เช่น แขน ขา ศรีษะ ซึ่งเป็นลักษณะทางกายภาพของร่างกาย (๒) นามรูป ได้แก่ส่วนที่เรียกว่าจิตซึ่งเป็นนามธรรม ซึ่งเป็นส่วนที่ไม่สามารถจับต้องได้ แต่สังเกตได้ด้วยการแสดงพฤติกรรม หรือรู้ได้โดยอาการที่เกิดขึ้นทางวิญญาณขันธ์

๓.๑. รูปขันธ์ [Coporeality]

ความหมายของ รูปขันธ์ ตามรูปวิเคราะห์ศัพท์ ดังนี้

“รุปปติ สีตาทีหิ วิการมาปชฺชติ รูปํ ยํ ธมฺมชาตํ ฯ อยนฺติ เอตฺถาติ อาโย เกสาทโย เอตฺถ สรีเร อยนฺติ ปวตฺตนฺติ ตสฺมา อิทํ สรีรํ อาโย ฯ กุจฺฉิตานํ เกสาทีนํ อุปตฺติเทโส กาโย รูปกาโย”

แปลว่า ธรรมชาติใดย่อมสลายไป คือย่อมถึงความแปรผันไปด้วยปัจจัยที่เป็นฆ่าศึกมีความเย็นเป็นต้น เหตุนั้นธรรมชาตินั้นชื่อว่ารูป อวัยวะทั้งหลายมีผมเป็นต้น ย่อมเป็นไปในรูปนั้น เหตุนั้นรูปนั้นชื่อว่าอายะ อวัยวะทั้งหลายมีผมเป็นต้น ย่อมเป็นไปในสรีระนี้ เหตุนั้นสรีระนี้ชื่อว่าอายะ ประเทศที่เป็นที่เกิดขึ้นแห่งอวัยวะทั้งหลายมีผมเป็นอันน่าเกลียด ชื่อว่ารูปกาย กายคือรูปนั่นเองชื่อว่ารูปกาย คำว่ารูปกายนี้ยังปรากฏในที่ต่างๆในพุทธปรัชญา พร้อมทั้งอธิบายความหมายในรูปของการใช้เป็นคำนิยาม ดังนี้

“มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวี อาโป เตโช และวาโย ชื่อว่ารูป(ร่างกาย) เพราะเป็นธรรมชาติสลายไปเพราะมีปัจจัยอันเป็นฆ่าศึกมีความร้อนเป็นต้น มีความแข็ง ความเหลว ความแตกสลายและความเคลื่อนไหวเป็นสภาพ” “รูป คือธรรมชาติที่แปรผันหรือแตกสลายไปด้วยอำนาจแห่งความร้อน เย็นเป็นต้น “ที่ชื่อว่าขันธ์เพราะเป็นที่เกิดขึ้นแห่งทุกข์…เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดเพลิดเพลิน เป็นที่ตั้งแห่งโรค เป็นที่ปรากฏแห่งชราและมรณะ

คือกองรูป ส่วนนี้เป็นรูปร่างกาย ตลอดถึงพฤติกรรมและคุณสมบัติต่างๆของส่วนที่เป็นร่างกาย ส่วนประกอบฝ่ายรูปธรรมทั้งหมดกล่าวโดยสรุปได้แก่ร่างกายและสิ่งที่เกิดจากร่างกาย (สิ่งที่เกิดจากร่างกาย เช่น เสียง กลิ่น รส พฤติกรรมต่างๆและรูปไปถึงเพศชายหรือหญิง รูปขันธ์นี้ยังสามารถแบ่งออกเป็น ๒ ส่วนได้แก่ มหาภูตรูป คือรูปใหญ่หรือรูปหลักอันเป็นที่อาศัยของรูปอื่นๆ และอุปาทายรูป คือรูปที่อยู่ในรูปใหญ่ รูปขันธ์หรือกายรูปนี้ตามรูปวิเคราะห์ศัพท์ทางนิรุกติศาสตร์ไว้ว่า “กุจฺฉิตานํ เกสาทีนํ อาโยติ กาโย แปลว่า รูปใดเป็นที่ประชุมลงแห่งส่วนต่างๆ มีผมเป็นต้นอันน่าเกลียด เหตุนั้น รูปนั้นได้ชื่อว่ากายรูป ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ตอนที่ว่าด้วยกายาคตาสติ ได้กล่าวถึงรูปกายว่า กายนี้เป็นที่รวมแห่งโกฏฐานต่างๆมีขน ผม เล็บ เป็นต้น และชื่อว่าน่าเกลียดเพราะกายนี้นับตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นไปจรดปลายผมลงมา มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ และทั้งเป็นที่เกิดของโรคนานาชนิด มีโรคหู โรคตา และโรคปากเป็นต้น อันน่าเกลียดเพราะเกิดมาแต่ของไม่สะอาด

ในอภิธัมมัตถวิภาวินิยาภาค ๒ ได้วิเคราะห์ถึงรูปไว้อีกอย่างว่า “ ธรรมชาติใดย่อมสลายไป คือย่อมถึงความแปรผันไปด้วยปัจจัยที่เป็นฆ่าศึกมีความเย็นเป็นต้น เหตุนั้นธรรมชาตินั้นชื่อว่ารูป อวัยวะทั้งหลายมีผมเป็นต้น ย่อมเป็นในรูปนั้น เหตุนั้นรูปนั้นชื่อว่าอายะอวัยวะทั้งหลายมีผมเป็นต้น ย่อมเป็นไปในสรีระนี้ เหตุนั้นสรีระนี้ชื่อว่าอายะ ประเทศ(ที่) เป็นที่เกิดขึ้นแห่งอวัยวะทั้งหลายมีผมเป็นอันน่าเกลียด ชื่อว่ากาย กายคือรูปนั้นเองชื่อว่ารูปกาย”

ความหมายของรูป “ธรรมชาติใดที่ชื่อว่ารูป เพราะเป็นที่เกิดขึ้นแห่งอวัยวะทั้งหลาย” และ คำว่า “มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวี อาโป เตโช และวาโย ชื่อว่ารูป(กาย) เพราะเป็นธรรมชาติที่สลายไปเพราะปัจจัยอันเป็นฆ่าศึกมีความร้อน ความแข็ง ความเหลว ความแตกแยก และความเคลื่อนไหวเป็นสภาพ”

“ อาการอันอาศัยกระดูก ๑ อาศัยเอ็น ๑ อาศัยเนื้อ ๑ อาศัยหนัง ๑ ห่อหุ้มตั้งอยู่ ชื่อว่ารูปกาย”“ รูปคือธรรมชาติที่แปรผันหรือแตากสลายไปด้วยอำนาจแห่งความร้อยเหย็นเป็นต้น”ที่ชื่อว่ารูปกายเพราะเป็นที่เกิดแห่งทุกข์…เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดเพลิดเพลิน เป็นที่ตั้งแห่งโรค เป็นที่ปรากฏแห่งชราและมรณะ” คำที่สัมพันธ์เกี่ยวของกับรูป ตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า มีคำอยู่หลายคำที่ถูกนำมาใช้เป็นคำที่สัมพันธ์กันกับรูปธรรมเพื่อแสดงถึงธรรมชาติของร่างกายมนุษย์ในประเด็นต่างๆ ซึ่งมีปรากฏเป็นคำไวพจน์ไว้ในขุททกนิกาย ได้กล่าวถึงคำที่สอดคล้องกันกับรูป ไว้ถึง ๑๒ คำ ดังนี้คือ๑) คูหา ถ้ำ ๒) เทโห กาย ๓) สันเทโห ร่างกาย ๔) นาวา เรือ ๕) รโถ รถ ๖) ธโช ธง ๗) วัมมิโก จอมปลวก ๘) นิทธัง รัง ๙) นครัง เมือง ๑๐) กุฏี กระท่อม ๑๑) คัณโฑ ฝี ๑๒) กุมโภ หม้อ คำว่ารูป ตามที่ปรากฏในพุทธศาสนาเถรวาทโดยทั่วๆไปหมายถึงรูปกายซึ่งมีนำมาใช้ใน ๔ ลักษณะคือ

๓.๑.๑ รูปปรมัตถ์

คือธรรมชาติที่ผันแปรแตกดับไปด้วยความเย็นและร้อยรูปธรรมมีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้ (๑) รุปฺปน ลกฺขณํ มีการสลายแปรปรวนไปเป็นลักษณะ (๒) วิกิรณ รสํ มีการแยกออกจากกันกับจิตได้เป็นกิจ (๓) อพฺยากต ปจฺจุปฏฺฐานํ มีความเป็นอพยากตธรรมเป็นอาการปรากฏ (๔) วิญฺญาณ ปทฏฺฐานํ มีวิญญาณเป็นเหตุใกล้ให้เกิด(หมายถึงปฏิสนธวิญญาณ) รูปสมุทเทส คือรูปธรรมมี ๑๑ ประเภท รวมมี ๒๘ รูป คือ

๑ มหาภูตรูป ๔ หมายถึงกายที่เป็นรูปธรรมทั้งหลายตามนัยแห่งพระอภิธรรมได้กล่าวถึงรูปขันธ์อันเป็นส่วนประกอบอันสำคัญของมนุษย์ไว้ถึง ๒๘ อันประกอบไปด้วยมหาภูตรูป ๔

๑. ปฐวีธาตุรูป ธรรมชาติที่ทรงภาวะความแข็ง

๒. อาโปธาตุรูป ธรรมชาติที่ทรงภาวะเกาะกุมหรือไหล

๓. เตโชธาตุรูป ธรรมชาติที่ทรงภาวะความร้อน

๔) วาโยธาตุรูป ธรรมชาติที่ทรงภาวะการเคร่งตึง

คำว่า “ธาตุ” หมายถึง สิ่งที่ทรงสภาวะของตนไว้ กล่าวคือมีอยู่โดยธรรมดาไม่มีผู้ใดสร้างหรือผู้บันดาล และมีรูปลักษณะกิจอาการเป็นแบบจำเพาะตัว อันพึงกำหนดได้เป็นอย่างๆดังนี้คือ มหาภูตรูป ๔ ซึ่งประกอบด้วย (๑) ปฐวีธาตุ ธาตุดิน (๒) อาโปธาตุ ธาตุน้ำ (๓) วาโยธาตุ ธาตุลม (๔) เตโชธาตุ ธาตุไฟ ธาตุแต่ละชนิดมีนัย ดังนี้

๑ ปฐวีธาตุ [The earth-element]

คือธาตุที่มีลักษณะแข้นแข็ง และจัดเป็นกลุ่มก้อนมี ๒๐ อย่าง ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื้อในกระดูก ม้าม หัวใจ ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า และมันสมอง ปฐวีธาตุ จัดเป็นรูปอย่างหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะแค่นแข็ง ลักษณะพิเศษของปฐวีธาตุนี้มีนัยอยู่ ๔ ประการคือ ได้กล่าวนิยามไว้ว่า

(๑) มีความแข็งเป็นลักษณะ

(๒) มีการทรงอยู่เป็นกิจ

(๓) มีการรับไว้เป็นผล และ

(๔) มีธาตุอื่นๆคือ ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เป็นเหตุใกล้

เมื่อกล่าวถึงลักษณะแล้ว ปฐวีธาตุมีลักษณะหยาบแข็ง เมื่อธาตุดินไปปรากฏอยู่ในที่ใดหรือส่วนใดมาก ที่นั้นจะมีลักษณะแข็งมาก เช่น หิน เหล็ก เป็นต้น แต่ถ้าสิ่งใดหรือส่วนใดมีธาตุดินน้อย สิ่งนั้นหรือส่วนนั้นจะมีลักษณะอ่อน หรือนุ่ม เช่น สำลี ในพระสูตรได้ทอนย่อยร่างกายของมนุษย์ออกเป็น ๔๒ ส่วน คือเป็นธาตุดิน ๒๐ ส่วน เป็นธาตุน้ำ ๑๒ ส่วน เป็นธาตุ ไฟอีก ๔ ส่วน และเป็นธาตุลมอีก ๖ ส่วน กล่าวคือ ธาตุดิน ๒๐ ส่วน คือ (๑) เกสา ผม (๒) โลมา ขน (๓) นขา เล็บ (๔) ทันตา ฟัน (๕) ตโจ หนัง (๖)มังสัง เนื้อ (๗) นหารู เอ็น (๘) อัฏฐิ กระดูก (๙) อัฏฐิมิญชัง เหยื่อในกระดูก (๑๐) วักกัง ม้าม (๑๑) หทยัง หัวใจ (๑๒) ยกนัง ตับ (๑๓) กิโลมกัง พังฝืด (๑๔) ปิทกัง ไต (๑๕) ปัพผาสัง ปอด (๑๖) อันตัง ใส้ใหญ่ (๑๗) อันตคุณัง ใส้น้อย (๑๘) อุทริยัง อาหารใหม่ (๑๙) กรีสัง อาหารเก่า (๒๐) มัตถลุงคัง มันสมอง

ส่วนต่างๆทั้ง ๒๐ ส่วนดังกล่าวมานี้ เป็นเพียงในความหมายที่ว่า เป็นส่วนที่มีปฐวีธาตุรวมกันอยู่ในปริมาณที่มากกว่าธาตุอื่นๆ จึงทำให้เห็นมีลักษณะที่แค่นแข็งมาก เช่น เล็บ กระดูก คือส่วนที่มีธาตุดินมาก ในวิสุทธิมรรค กล่าวว่า ร่างกายของมนุษย์ขนาดกลางนั้นประกอบขึ้นด้วยปรมาณูของปฐวีธาตุในปริมาณ ๑ ทะนาน และปรมาณูของปฐวีธาตุนั้น มีอาโปธาตุซึ่งมีประมาณกึ่งทะนานช่วยยึดให้ติดกันไว้ มีเตโชธาตุช่วยรักษาไว้ไม่ให้เน่าเสีย และมีวาโยธาตุช่วยพยุงไว้ไม่ให้กระจัดกระจ่ายหรือเกิดพังทะลายไป เพราะเหตุที่ธาตุทั้งหลายคุมกันอยู่ และยังแบ่งออกเป็นอีก ๔ อย่าง๑๐คือ

๑) ปรมัตถปฐวีหรือลักขณปฐวีมีลักษณะแข็งและอ่อน สามารถถูกต้องสัมผัสได้

๒) สสัมภารปฐวี คือปฐวีธาตุที่เป็นส่วนประกอบที่มีอยู่ใสสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ปฐวีธาตุนี้ยังแยกย่อยอีก ๒ อย่าง คือ

๑.๑ ) อัชฌัตติกปฐวี คือปฐวีธาตุที่เป็นองค์ประกอบภายร่างกายของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายมี ๒๐ อย่าง คือ ผม ขน เล็บ และฟัน เป็นต้น

๒.๒ ) พาหิรปฐวี คือปฐวีธาตุภายนอก มิได้มีอยู่ในร่างกายของมนุษย์และสัตว์มี ๖ อย่าง คือ อโย เหล็ก โลหะ ทองแดง รชตะ เงิน ชาตรูปะ ทอง ภูมิ ดิน และปาสาณะ หิน

๓ ) กสิณปฐวี คือดินที่ใช้ทำเป็นเครื่องหมายในการเจริญสมถกัมมัฏฐาน โดยการกำหนดหรือทำดินให้เป็นอารมณ์

๔) สมมติปฐวี คือดินที่สมมติเรียกว่าแผ่นดินที่ใช้ทำเกษตรกรรม

พุทธปรัชญาแม้จะทอนร่างกายมนุษย์จากธาตุดินลงเป็นปรมาณูก็ตามแต่ก็มีข้อที่น่าสังเกตมากอีกอย่างคือ พุทธปรัชญามิได้กล่าวว่าปรมาณูแต่ละปรมาณูนั้นเป็นเชิงเดี่ยวอย่างที่นักปรัชญาตะวันตกชื่อกันว่า ปรมาณูแต่ละปรมาณูมีลักษณะเชิงเดี่ยว เป็นเนื้อเดียวกันตลอด ปราศจากรส กลิ่น เย็น ร้อน อ่อน แข็งใดๆ ทั้งสิ้นมีแต่รูปร่างและน้ำหนักเท่านั้น๑๑ แต่พุทธปรัชญาถือว่าปรมาณูแต่ละปรมาณูไม่เป็นเชิงเดี่ยวทุกๆ ปรมาณูจะมีแต่ส่วนผสมของธาตุ ๔ ในพระอภิธรรม ท่านได้แสดงว่า หน่วยที่เล็กที่สุดนั้นมีชื่อว่า กลาปะ (ปรมาณู) หรือรูปกลาปะ ในกลาปะหนึ่งๆ ต้องประกอบด้วยส่วนประกอบอย่างน้อยที่สุด ๘ ชนิด คือ (๑) ปฐวี (๒) อาโป (๓) เตโช (๔) วาโย (๕) วัณณะ(๖) คันธะ (๗) รสะ และ (๘) โอชะ ทั้ง ๘ อย่างนี้เป็นธาตุมูลฐานประจำในกลาปะแต่ละกลาปะ ไม่อาจแยกออกจากกันได้ ท่านเรียกองค์ประกอบที่เป็นพื้นฐานแต่ละกลาปะนี้ว่า สุทธัฏฐกลาปะ

๒. อาโปธาตุ [The water –element]

คือธาตุที่มีลักษณะเอิบอาบ ซาบซ่าน เปียกชื้นมีทั้งหมด ๑๒ อย่างได้แก่ น้ำดี น้ำเสมหะ น้ำหนอง น้ำเลือด น้ำเหงื่อ น้ำมันข้น น้ำตา น้ำมันเหลว น้ำลาย น้ำมูก น้ำมันไขข้อ และน้ำมูตร อาโปธาตุรูป ซึ่งจัดเป็นรูปอย่างหนึ่งมีลักษณะเอิบอาบ ซึมซาบ ไหลไป และทำให้ชุ่มชื่นมีลักษณะพิเศษ ๔ ประการ๑๒คือ

(๑) มีการเกาะกุมหรือการไหลไปเป็นลักษณะ

(๒) มีการช่วยเพิ่มพูนธาตุอื่นเป็นกิจ

(๓) มีการยึดเอาธาตุอื่นรวมกันเข้าไว้เป็นผลและ

(๔) มีธาตุที่เหลือเป็นเหตุใกล้

อาโปธาตุนี้ เป็นธาตุที่มีลักษณะเอิบอาบ ซึาซาบเป็นธาตุที่มีมากอยู่ในสิ่งใด จะทำให้สิ่งนั้นเหลวและไหลไปได้ ถ้ามีอยู่น้อยจะทำให้สิ่งนั้นเกาะกุมกันเป็นกลุ่มก้อน การเกาะกุมกันของปรมาณูปฐวีธาตุขึ้นเป็นสัณฐานรูปต่างๆ นั้นเป็นอาโปธาตุเชื่อมประสานให้ติดต่อกัน สำหรับอาโปธาตุนี้ พุทธปรัชญาถือว่าเป็นธาตุที่สัมผัสด้วยกายหรือเห็นด้วยตาไม่ได้ แต่เป็นสิ่งที่จะรู้ได้ด้วยใจเท่านั้น พุทธปรัชญาได้กล่าวว่ามนุษย์มีธาตุน้ำอยู่ ๑๒ ส่วน คือ (๑) ปิตตัง ดี (๒) อัสสุ น้ำตา (๓) เสมหัง เสมหะ (๔) วสา มันเหลว (๕) ปุพโพ หนอง (๖) เขโฬ น้ำลาย (๗) โลหิตัง โลหิต (๘) สังฆาณิกา น้ำมูก (๙) เสโท น้ำเหงื่อ (๑๐) ลสิกา ไขข้อ (๑๑) เมโท มันข้น (๑๒) มุตตัง น้ำมูตร๑๓ อาโปธาตุ ยังจำแนกได้เป็น ๔ ประเภท๑๔คือ

๑) ปรมัตถอาโปหรือลักขณอาโป มีลักษณะไหลหรือเกาะกุม ไม่อาจเห็นได้ หรือรู้ได้ด้วยการสัมผัสแต่เป็นสิ่งที่รู้ได้ด้วยใจ

๒) สสัมภารอาโป คืออาโปธาตุที่เป็นส่วนประกอบอยู่ในส่วนต่างๆของร่างกายหรือพืชมีอีก ๒ชนิด

๒.๑) อัชฌัตติอาโป คืออาโปธาตุที่เป็นส่วนประกอบอยู่ในส่วนต่างๆของร่างกายคนและสัตว์ มี ๒ ย่าง เช่น ดี น้ำตา และเสมหะเป็นต้น

๒.๒) พาหิรอาโป คืออาโปธาตุภายนอก เป็นอาโปธาตุที่อยู่ในสิ่งต่างๆ นอกจากคนและสัตว์ มี ๖ อย่าง (๑) น้ำที่อยู่ในราก มูลรโส (๒) น้ำที่อยู่ในลำต้น ขันธรโส (๓) น้ำที่อยู่ในเปลือก ตจรโส (๔) น้ำที่อยู่ในใบ ปัตตรโส (๕) น้ำที่อยู่ในดอกปุบผรโส (๖)ในที่อยู่ในผล ผลรโส

๓) กสิณอาโป คือน้ำที่ใช้เป็นนิมิตในการเจริญสมถกัมัฏฐาน โดยกำหนดน้ำหรือทำน้ำให้เป็นอารมณ์

๔) สมมติอาโป คือน้ำที่สมมติเรียกกันตามปกติ เช่น น้ำฝน น้ำค้าง น้ำบ่อ และน้ำในแม่น้ำลำคลองเป็นต้น

๓ เตโชธาตุ [The fire-element]

คือธาตุที่มีลักษณะร้อน เผาไหม้ และอบอุ่น ได้แก่ ไฟที่ยังกายให้อบอุ่น ไฟที่ยังกายให้ทรุดโทรม ไฟที่ยังกายให้กระวนกระวายและไฟที่ยังอาหารให้ย่อย หรือความร้อนอื่นใดที่มีอยู่ในกาย เตโชธาตุรูป ซึ่งจัดว่าเป็นรูปอย่างหนึ่ง มีลักษณะร้อนหรือให้ความอบอุ่น มีคุณสมบัติพิเศษ ๔ ประการ๑๕ ดังนี้

(๑) มีความร้อนเป็นลักษณะ

(๒) มีการทำให้ย่อยเป็นกิจ

(๓) มีการช่วยทำให้มีความอ่อน(แก่ร่างกาย) ไว้เรื่อยไปเป็นผลและ

(๔) มีธาตุที่เหลือเป็นเหตุใกล้

เตโชธาตุยังจำแนกออกได้เป็น ๔ ลักษณะ๑๖ คือ

๑) ปรมัตถเตโช หรือลัขณเตโช มีลักษณะที่ร้อนและเย็นเป็นคุณสมบัติ

๒) สสัมภารเตโช คือเตโชธาตที่เป้ฯส่วนประกอบอยู่ในส่วนต่างๆของร่างกายมนุษย์และสัตว์ต่างๆ คือ

๒.๑) อัชฌัตติกเตโช ได้แก่เตโชธาตุที่เป็นส่วนประกอบอยู่ในส่วนต่างๆ ของร่างกายมนุษย์ มี ๔ ลักษณะ๑๗ คือ

๑) อุสมาเตโช เตโชธาตุที่ทำให้เกิดความอบอุ่นภายในร่างกาย

๒) ปาจกเตโช เตโชธาตุที่ทำหน้าที่ย่อยสลายอาหาร

๓) ชีรณเตโช เตโชธาตุที่ทำให้ร่างกายทรุดโทรมหรือเปลี่ยนแปลงไป

๔) สันตาปเตโช เตโชธาตุที่ทำให้ร่างกายกระสับกระส่าย

๒.๒) พาหิรเตโช ได้แก่ธาตุไฟภายนอก มีอยู่ในส่งต่างๆที่ไม่มีชีวิต เช่น กัฏฐัคคิ ไฟฟืน ถูสัคคิ ไฟแกลบ สัการัคคิ ไฟขยะ และตีณัคคิ ไฟหญ้าแห้ง

๓) กสิณเตโช ได้แก่ไฟที่ใช้เป้ฯนิมิตในการเจริญสมถกัมมัฏฐาน โดยกำหนดไฟหรือทำไฟให้เป็นอารมณ์

๔) สมมติเตโช ได้แก่ไฟตามปกติที่เราสมมติเรียกกันทั่วไป เช่นไฟหุงข้าว ไฟถ่าน และไฟฟ้าเป็นต้น

วาโยธาตุ [The air-element]

คือธาตุที่มีลักษณะกระพืดพัด เคลื่อนไหวไปมาอยู่เสมอ ได้แก่ลมพัดขึ้นเบื้องบนและลมพัดลงเบื้องล่าง ลมในท้อง ลมในลำไส้ ลมซ่านไปตามตัวและลมหายใจและรูปตามนัยของเบญจขันธ์ วาโยธาตุรูป ซึ่งจัดว่าเป็นรูปอย่างหนึ่ง เรียกว่าวาโยธาตุรูป มีลักษณะที่ยึดหยุ่น หรือมีการเคลื่อนไหวไปมา มีคุณสมบัติ ๔ ลักษณะ คือ

๑) มีความพยุงตัวไว้เป็นลักษณะ

๒) มีความเคลื่อนไหวเป็นกิจ

๓) มีความแสดงท่าทางต่างๆได้เป็นผลและ

๔) มีธาตุที่เหลือเป็นเหตุใกล้ วาโยธาตุ ยังจำแนกออกได้เป็น ๔ ลักษณะคือ

๑) ปรมัตถวาโยหรือลักขณวาโย มีสภาวะลักษณะที่แสดงอาการเคร่งตึง เคลื่อนไหวหรือให้เกิดการพยุงตัวไว้

๒) สสัมภารวาโย คือวาโยธาตุที่มีอยู่ในร่างกายของมนุษย์และสัตว์ซึ่งแบ่งออกได้ ๒ชนิดคือ

๒.๑) อัชฌัตติกวาโย ได้แก่วาโยธาตุที่เป้นส่วนประกอบอยู่ในส่วนต่างๆของร่างกายคนและมีสัตว์มี ๖ อย่างคือ

๑) อุทธัคมวาโย คือลมที่พัดขึ้นเบื้องบน

๒) อโธคมวาโย คือลมที่พัดลงเบื้องล่าง

๓) กุจฉฏฐวาโย คือลมที่อยู่ในท้อง

๔) โกฏฐาสวาโย คือลมที่อยู่ในลำไส้

๕) อังคมังคานุสาริวาโย คือลมที่พัดอยู่ทั่วร่างกายและ

๖) อัสาสปัสสาสวาโย คือลมหายใจเข้าออก๑๘

๒.๒) พาหิรวาโย ได้แก่ลมภายนอกคนและสัตว์ เช่น ลมเหนือลมใต้ฝุ่น ลมร้อนเป็นต้น

๓) กสิณวาโย ได้แก่ลมที่ใช้เป็นนิมิตในการเจริญสมถกัมมัฏฐาน โดยกำหนดลมหรือทำลมให้เป็นอารมณ์

๔) สมมติวาโย ได้แก่ลมที่พัดไปมาตามธรรมชาติ

ในทางพระพุทธศาสนาถือว่า ร่างกายของมนุษย์หรือสัตว์ทั้งปวงจะต้องมีธาตุ ๔ นี้เป็นองค์ประกอบหลัก จะขาตธาตุใดไม่ได้ ถ้าขาดธาตุหนึ่งแล้วร่างกายนี้ก็จะตั้งอยู่ไม่ได้ ซึ่งมีปฐวีธาตุเป็นธาตุมูลฐาน มีอาโปธาตุเป็นเครื่องเกาะกุมเอาไว้ และมีเตโชธาตุเป็นเครื่องทำความอบอุ่นไม่ทำให้ร่างกายนี้เน่าเสียไป และมีธาตุลมเป็นตัวพยุงเอาไว้และช่วยทำให้เกิดการเคลื่อนไหวไปมาได้ เพราะอาศัยธาตุทั้ง ๔ นี้เป็นที่เกิดขึ้นของรูปอื่นๆ จึงทำให้เกิดขบวนการชีวิตขึ้นมา ธาตุ ๔ นี้จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งในพุทธปรัชญาว่า มหาภูตรูป ส่วนรูปที่อิงอาศัยธาตุ ๔ หรือมหาภูตรูปนี้มีชื่อเรียกว่า อุปาทายรูป ซึ่งมีอยู่ ๒๘ รูป๑๙การสรุปร่างกายของมนุษย์ลงเป็นธาตุ ๔ นั้นเป็นการกล่าวถึงสิ่งที่สืบค้นไปถึงองค์ประกอบที่เป็นพื้นฐานอันแรกที่สุดของมนุษย์ทั้งหมดตามนัยแห่งพระอภิธรรม ส่วนในพระสูตรนั้น ยังมีพระสูตรอีกหลายสูตรที่กล่าวถึงองคประกอบของร่างกายไว้โดยนัยที่ต่างออกไป เช่น ในปายาสิราชัญญสูตร๒๐ ได้กล่าวว่าร่างกายนี้ ประกอบด้วยอายุ ไออุ่นและวิญญาณเมื่อใดร่างกายนี้ก้าวไป ถอยกลับ ยืน นั่ง นอน เห็น การได้ยินเสียง การดมกลิ่น การลิ้มรส การสัมผัสทางกาย และรู้ธรรมารมณ์ทางใจได้ ตามทรรศนะทางพุทธปรัชญามองว่ามนุษย์นอกจากจะประกอบตัวมาจากมหาภูตรูป ๔ แล้วยังมีส่วนย่อยๆเป็นอุปาทายรูป ๒๔ ชนิดมีรายละเอียดดังนี้


๑. อภิธัมมัตถวิภาวินิยา, ภาค ๒ , (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๑๘) ,หน้า ๔๑๑

๒ เรื่องเดียวกัน , หน้า , ๔๔๑

๓ พระธรรมปาลาจารย์, พระคัมภีร์สัจจสังเขป, (พระนคร: สำนักพิมพ์รัชดารมภ์การพิมพ์, ๒๕๐๗, หน้า ๓

วิสุทธิมรรคแปล,ภาค ๓ ตอน๑ ,อ้างแล้ว, หน้า ๒๐

๕ สํ. สฬา. ๑๘/๒๑/๑๔

๖ ม. มู. ๑๒/๓๔๖ / ๒๙๘

๗ ขุ. มหา. ๒๙ / ๓๑ / ๒๕

วิสุทธิมรรคแปล,ภาค ๒, ตอน ๒,อ้างแล้ว, หน้า๖๑

ม. มู. ๑๒ /๓๔๒ / ๒๙๘

๑๐ ขุนสรรพกิจโกศล, คู่มือการศึกษารูปสังคหวิภาค ปริเฉทที่ ๖,(พระนคร : โรงพิมพ์อำพลพิทยา, ๒๕๑๐,) หน้า , ๑๗

๑๑ กีรติ บุญเจือ , ปรัชญาสำหรับผู้เริ่มเรียน , พิมพ์ครั้งที่ ๓ ,(กรุงเทพฯ :โรงพิมพไทยวัฒนาพานิช, หน้า ๓๙–๔๑

๑๒วิสุทธิมรรคแปล, ภาค ๒ , ตอน ๒,อ้างแล้ว, หน้า๖๑

๑๓ ม. มู. ๑๒ / ๓๔๓ /๒๙๓

๑๔ คู่มือการศึกษารูปสังคหวิภาค,อ้างแล้ว, หน้า ๑๘

๑๕ วิสุทธิมรรคแปล, ภาค ๒ ,อ้างแล้ว, หน้า ๖๑

๑๖ คู่มือการศึกษารูปสังคหวิภาค ,อ้างแล้ว, หน้า ๒๐

๑๗ ม. มู ๑๒ / ๓๔๔ /๒๙๔

๑๘ ม. มู. ๑๒ / ๓๔๕ /๒๙๕

๑๙ ม. อุปริ. ๑๔ /๘๓ /๖๒

๒๐ ที. มหา. ๑๐ / ๓๑๕ /๓๐๙

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons