วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

๓.๒.๒ การจัดรูป ๒๘ แบบเป็นคู่ๆ

คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...

๓.๒.๒ การจัดรูป ๒๘ แบบเป็นคู่ๆ

ตามนัยของพระอภิธรรมนั้น นอกจากจะจัดรูปทั้ง ๒๘ เป็น ๑๑ ประเภทตามที่กล่าวมาแล้วยังสามารถจัดรูปลงมาคู่ๆ ได้ดังนี้คือ

ลักษณะที่ ๑ มหาภูตรูป กับ อุปาทายรูป

ลักษณะที่ ๒ นิปผันนรูป กับ อนิปผันนรูป

ลักษณะที่ ๓ อัชฌัตติกรูป กับ พาหิรรูป

ลักษณะที ๔ วัตถุรูป กับ อวัตถุรูป

ลักษณะที่ ๕ ทวารรูป กับ อทวารรูป

ลักษณะที่ ๖ อินทรียรูป กับ อนินทรียรูป

ลักษณะที่ ๗ โอฬาริกรูป กับ สุขุมรูป

ลักษณะที่ ๘ สันติเกรูป กับ ทูเรรูป

ลักษณะที่ ๙ สัปปฏิฆรูป กับ อัปปฏิฆรูป

ลักษณะที่ ๑๐ อุปาทินนรูป กับ อนุปาทินนรูป

ลักษณะที่ ๑๑ สนิทัสนรูป กับ อนิทัสนรูป

ลักษณะที่ ๑๒ โคจรัคคาหกรูป กับ อโคจรัคคาหกรูป

ลักษณะที่ ๑๓ อวินิพโภครูป กับ วินิพโภครูป

ในแต่ละลักษณะมีนัยอธิบายโดยสังเขป ดังนี้ คือ

ลักษณะที่ ๑ มหาภูตรูป มี ๔ รูป คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ รูปทั้ง ๔ นี้ได้ชื่อว่ามหาภูตรูป เพราะเป็นรูปใหญ่ หยาบ และปรากฏชัดเจนโดยลักษณะของตนและเป็นที่อิงอาศัยของรูปอื่นๆทั้งหมด ส่วนอุปาทายรูป คือรูปที่อาศัยมหาภูตรูปมี ๒๔ รูปไม่อาจเกิดตามลำพังของตนเองได้ แต่ต้องอาศัยมหาภูตรูป ๔ เป็นแดนเกิด ดังนั้น ท่านจึงเรียกว่ารูปเหล่านี้ว่าอุปาทายรูป

ลักษณะที่ ๒ คือนิปผันนรูป คือรูปที่ทรงสภาวะของตนไว้เป็นประจำ ไม่แปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น มี ๑๘ รูป คือ มหาภูตรูป ๔ ปสาทรูป ๕ วิสัยรูป ๔ ภาวรูป ๒ หทัยรูป ๑ ชีวิตรูป ๑ และอาหารรูป๑ รวมเป็นรูป ๑๘ เหล่านี้ ชื่อว่าเป็นรูปปรมัตถ์แท้ เพราะมีคุณสมบัติเหล่านี้ คือ (๑) มีสภาวะลักษณะประจำตนโดยแน่นอน (๒) เกิดจากสมุฏฐานทั้ง ๔ คือ กรรม อุตุ จิต และอาหาร (๓) มีสามัญญลักษณะได้ คือนิจจลักษณะ ทุกขลักษณะ และอนัตตลักษณะ (๔) มีการแตกดับหรือเสื่อมไปด้วยอำนาจความร้อนเย็นเป็นต้น (๕) เป็นรูปที่ใช้พิจารณา อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตาได้

ส่วนอนิปผันนรูป ก็คือรูปที่ไม่มีสภาวะลักษณะประจำตัวของตน แต่เป็นรูปที่อาศัยเกี่ยวเนื่องกับนิปผันนรูป ๑๘ ข้างต้นจึงเกิดได้มี ๑๐ รูป คือ ปริเฉทรูป ๑ วิญญัติรูป ๒ วิการรูป ๓ และลักขณะรูป ๔ รูป ๑๐ รูปเหล่านี้ไม่เป็นรูปปรมัตถ์แท้ เพราะไม่มีคุณสมบัติ ๕ ประการเหมือนนิปผันนรูปที่ดังที่กล่าวมาแล้ว

ลักษณะที่ ๓ อัชฌัติตรูป คือรูปภายใน มี ๕ รูป ได้แก่ปสาทรูป ๕ ที่ได้ชื่อว่าอัชฌัตติกรูปหรือรูปภายในนั้น ก็เพราะเป็นรูปที่เกี่ยวข้องกับโลกภายนอกมาก ถ้าไม่มีปสาทรูป ๕ ทำหน้าที่แล้ว คนเราไม่อาจทำอะไรในชีวิตได้ ถ้าแม้จะทำได้ก็เป็นได้เพียงแค่หุ่นยนต์ที่ทำหน้าตามคำสั่งซึ่งมีมนุษย์คอยกำหนดหรือบงการอยู่เบื้องหลัง ด้วยเหตุนี้เองอัชฌัตติรูปคือปสาทรูป ๕ เป็นรูปภายในเพราะเป็นเหมือนคนในบ้าน ซึ่งทำประโยชน์ได้มากกว่าคนนอกบ้าน ส่วนพาหิรรูป คือรูปภายนอก ซึ่งมีอยู่ ๒๓ รูป ได้แก่รูปที่เหลือนอกนี้ รูปเหล่านี้เป็นรูปช่วยเหลือ หรือทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับโลกภายนอกได้น้อย เปรียบเหมือนคนภายนอกบ้าน ดังนั้น รูปนี้จึงชื่อว่าพาหิรรูป

ลักษณะที่ ๔ วัตถุรูป คือรูปที่เป็นที่อาศัยของจิตและเจตสิก มี ๖ รูป คือ ปสาทรูป ๕ และหทัยรูป ๑ ปสาทรูป ๕ เป็นรูปที่อาศัยเกิดของทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ (คือจิตที่อาศัยปสาทรูป ๕ เกิดขึ้น คือ จักขุวิญญาณจิต โสตวิญญาณจิต ฆานวิญญาณจิต ชิวหาวิญญาณจิต และกายวิญญาณจิต ) และเจตสิก ๗ หทัยรูปเป็นที่อาศัยเกิดของจิต ๗๕ และเจตสิก ๕๒ ส่วนอวัตถุรูป คือรูปที่มิได้เป็นที่อาศัยของจิตและเจตสิก มี ๒๒ รูป ได้แก่รูปที่เหลือจากรูปที่เป็นวัตถุรูป

ลักษณะที่ ๕ ทวารรูป คือรูปที่เป็นทางให้อารมณ์ทั้ง ๕ เกิดขึ้น และเป็นเหตุให้เกิดกายกรรมและวจีกรรม มี ๗ รูป คือ ปสาทรูป ๕ และวิญญัตรูป ๒ ปสาทรูป ๕ ชื่อว่าเป็นอุปัตติทวารเพราะเป็นเหตุหรือเป็นทางเกิด ส่วนวิญญัติรูป ๒ ชื่อว่ากัมมทวาร เพราะเป็นเหตุหรือเป็นทางให้กระทำกายกรรมและวจีกรรม ส่วนอทวารรูปนั้น ได้แก่รูปที่ไม่ได้เป็นทางเกิดแห่งอารมณ์ทั้ง ๕ และไม่เป็นที่ตั้งแห่งกายกรรมและวจีกรรม มีจำนวน ๒๑ รุป ได้แก่รูปที่เหลือนอกนี้

ลักษณะที่ ๖ อินทรียรูป คือรูปที่เป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน ได้แก่สามารถทำหน้าที่ได้เฉพาะ เช่น จักขุปสาทรูป เป็นใหญ่ในการเห็น ทำหน้าที่ได้ดีเป็นพิเศษในการเห็น แต่ไม่อาจทำหน้าฟังหรือดมกลิ่นได้เป็นต้น โสตปสาทรูปเป็นใหญ่ในการได้ยิน… ฆานปสาทรูป เป็นใหญ่ในการรู้รสเป็นต้น อินทรียรูปนี้มี ๘ รูป คือ ปสาทรูป ๕ ภาวรูป ๒ และชีวิตรู)ป๑ ส่วนอนินทรียรูป คือรูปที่ไม่ได้เป็นใหญ่ในการทำหน้าที่ มี ๒๐ รูป ได้แก่รูปที่เหลือจากอินทรียรูป รูป ๒๐ รูปเหล่านี้ไม่สามารถทำหน้าที่ได้โดยเฉพาะตัวเองได้

ลักษณะที่ ๗ โอฬาริกรูป คือรูปหยาบหรือรูปที่ปรากฏชัด มี ๑๒ รูป คือ มหาภูตรูป ๓ เว้นอาโปธาตุรูป ปสาทรูป ๕ และวิสัยรูป ๔ โอฬาริกรูปทั้ง ๑๒ รูปนี้รู้ได้ง่ายเพราะปรากฏชัดเจน ส่วนสุขุมรูป ได้แก่รูปที่ละเอียดไม่ปรากฏชัด มี ๑๖ รูป ได้แก่ ๑๖ ที่เหลือ สุขุมรูปทั้ง ๑๖ รูปนี้เป็นรูปละเอียดไม่ปรากฏชัดเจน ถึงแม้จะพิจารณาด้วยปัญญาก็ยังรู้ได้ยาก

ลักษณะที่ ๘ สันติเกรูป หมายถึงรูปใกล้ หรือรูปที่รู้ได้ง่าย มี ๑๒ รูป ได้แก่ มหาภูตรูป ๓ เว้นอาโปธาตุรรูป ปสาทรูป ๕ และวิสัยรูป ๔ รูปเหล่านี้ชื่อว่าเป็นรูปใกล้ เพราะเกิดขึ้นเสมอมิได้ขาด เหมือนคนที่อยู่ใกล้ชิด ย่อมเรียกหาหรือเรียกใช้ได้ง่าย ส่วนทูเรรูป ได้แก่รูปไกล เพราะไม่เกิดขึ้นบ่อยๆ มี ๑๖ รูป คือ ๑๖ รูปที่เหลือ

ลักษณะที่ ๙ สัปปฏิฆรูป คือรูปที่กระทบได้ตามสภาวะ เช่น จักขุปสาทรูปกระทบกับรูปารมณ์ หรือโสตปสาทรูปกระทบกับสัททารมณ์เป็นต้น สัปปฏิฆรูปนี้มี ๑๒ รูป ได้แก่ มหาภูตรูป ๓ ปสาทรูป ๕ และวิสัยรูป ๔ ส่วน อัปปฏิฆรูป คือรูปที่กระทบกันไม่ได้ตามสภาวะ มีอยู่ ๑๖ เช่นกัน ได้แก่รูปที่เหลือนอกนี้

ลักษณะที่ ๑๐ อุปาทินนรูป ได้แก่รูปที่เกิดจากกรรม ทั้งที่เป้นอกุศลกรรมและโลกิยกุศลกรรม(คือกัมมชรูปนั่นเอง) มี ๑๘ รูป ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ ปสาทรูป ๕ วิสัยรูป ๓ (เว้นสัททรูป)อาหารรูป ๑ ภาวรูป ๒ หทัยรูป ๑ ชีวิตรูป ๑ และปริเฉทรูป ๑ ส่วนอนุปาทินนรูป ได้แก่รูปที่เกิดจากจิต อุตุ และอาหาร ซึ่งไม่ได้เกิดจากผลของกุศลกรรมและโลกียกุศลกรรม แต่เป็นผลที่เกิดจากจิต อุตุ และอาหาร

ลักษณะที่ ๑๑ สนิทัสนรูป ได้แก่รูปที่เห็นได้ มี ๑ รูป คือวัณณรูป ส่วนอนิทัสสรูป ได้แก่รูปที่เห็นไม่ได้ มี ๒๗ รูป ได้แก่รูป ๒๗ รูปนอกจากวัณณรูป

ลักษณะที่ ๑๒ โคจรัคคาหกรูป ได้แก่รูปที่สามารถรับอารมณ์ได้ มี ๕ รูป คือ ปสาทรูป ๕ ส่วนอโคจรัคคาหกรูป ได้แก่รูปที่ไม่สามารถรับอารมณ์ได้ มี ๒๓ รูป ได้แก่รูปที่เหลือจากปสาทรูป ๕

ลักษณะที่ ๑๓ อวินิพโภครูป ได้แก่รูปที่แยกจากกันไม่ได้ มี ๘ รูปกล่าวคือ มหาภูตรูป ๔ วัณณรูป๑ คันธรูป ๑ รสรูป ๑ และอาหารรูป ๑ รูปทั้ง ๘ รูปเหล่านี้เกิดร่วมกันเสมอไม่ว่าจะเกิดจากสมุฏฐานใดและไม่ว่ารูปนั้นจะทอนย่อยลงไปขนาดเล็กเพียงใดก็ตาม รูปนั้นอย่างน้อยที่สุดต้องประกอบด้วยอวินิพโภครูป ๘ นี้จะแยกไปจากกันไม่ได้เลย ส่วนวินิพโภครูป ได้แก่รูปที่แยกกันได้ มี ๒๐ รูป คือ ปสาทรูป ๕ สัททรูป ๑ ภาวรูป ๒ หทัยรูป ๑ ชิวิตรูป ๑ ปริเฉทรูป ๑ วิญญัติรูป ๒ วิการรูป ๓ และลักขณะรูป ๔ อนึ่ง วินิพโภครูป ๒๐รูปเหล่านี้ แม้จะแยกกันเกิดขึ้นก็จริง แต่เมื่อเกิด ก็ต้องเกิดร่วมกันกับวินิพโภครูป ๘ เสมอจะเกิดตามลำพังตนเองไม่ได้

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons