วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

๒๑ ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย

T030511_07C

ขยิบตา๒๑ ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย

ความไม่ประมาท ได้แก่ความไม่อยู่ปราศจากสติ คือ มีสติคุ้มครอง ไม่ขาดสติ ไม่มัวเมาไม่เลินเล่อ ไม่เผลอ ไม่ดูหมิ่นและนอกจากที่กล่าวมานี้แล้ว ความไม่ประมาทยังหมายถึงการทำโดยความเคารพควรทำติดต่อ ไม่ทำๆ หยุดๆ ความประพฤติไม่ย่อหย่อน มีความพอใจ ไม่ทอดธุระ มีจิตตั้งมั่นแน่วแน่ การประกอบเนืองๆ การเสพ การเจริญ การทำให้มากในการบำเพ็ญกุศลธรรม ความไม่ประมาทเป็นปัจจัยให้ความดีเกิดขึ้น และให้ความชั่วเสื่อมสิ้นไป เป็นธรรมที่มีอุปการะมากในชีวิตประจำวัน เป็นเหตุให้บรรลุกุศลธรรมมีประการต่างๆ ตลอดถึงอมตธรรมคือพระนิพพาน

เด็กชาย๒๒ ความเคารพ

ความเคารพ ได้แก่ความนับถือ ความมีใจหนักแน่นจดจ่อ ความเชื่อถือยึดมั่น ความเชื่อฟัง ความเคารพเป็นเหตุให้บรรลุอิฐผล มีสุคติเป็นต้นเป็นปฎิปทาอันเป็นไปเพื่อตระกูลสูงและเป็นเหตุให้ไม่เสื่อมจากคุณธรรมต่างๆ ทั้งเป็นเหตุให้ใกล้พระนิพพาน ตามนัยแห่งอังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต บุคคลต่างๆที่ควรเคารพมี ดังนี้

๑ ) เคารพในพระพุทธเจ้า

๒ ) เคารพในพระธรรม

๓ ) เคารพในพระสงฆ์

๔ ) เคารพในการศึกษา

๕ ) เคารพในสมาธิ

๖ ) เคารพในความไม่ประมาท

๗ ) เคารพในปฏิสันถาร

เด็กหญิง๒๓ การถ่อมตน

ความเป็นผู้มีใจอ่อนน้อม ความเป็นผู้ประพฤติถ่อมตนเรียกเป็นศัพท์ว่า นิวาตะ แปลว่ามีลมออกแล้ว คือ ไม่เบ่ง ไม่เย่อหยิ่ง หมายถึงไม่มีทิฎฐิมานะ ไม่ถือตัว ไม่กระด้างเพราะอำนาจเพราะชาติตระกูล หรือเพราะทรัพย์ ผู้ที่ขจัดความถือตัวได้ วางตนเช่นกับผ้าเช็ดเท้า ประพฤติตนเหมือนโคแก่ที่เขาหักหรือเหมือนงูพิษที่ถูกถอนเขี้ยวแล้ว มีวาจาอ่อนหวาน มีวาจาน่าปลื้มใจ มีมารยาทนิ่มนวลอ่อนโยน ชื่อว่าเป็นคนมีความอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความดีต่างๆ มียศเป็นต้น

กุหลาบแดง๒๔ ความสันโดษ

คำว่า สันโดษ แปลว่ามีความยินดีของ ของตน ยินดีในสิ่งที่มีอยู่ คือพอใจในเครื่องอุปโภคบริโภคของตนตามที่ตนมีอยู่ และตามกำลังที่ตนเองหามาได้ สิ่งของตนมีอยู่อย่างใดก็พอใจยินอย่างนั้น ไม่ยินดีในส่วนของผู้อื่น ตลอดถึงความพอเพียงตามฐานะของตนเอง ไม่ฉ้อโกงของบุคคลอื่นทุกกรณี สันโดษตามนัยแห่งพุทธปรัชญาแบ่งออกเป็น ๓ อย่างคือ

            ถ้วยกาแฟ๑ ) ยถาลาภสันโดษ คือ ยินดีตามที่ได้กล่าวคือได้มาอย่างใดก็ยินดีอย่างนั้น ไม่แสดงอาการทุรนทุรายจนเกิดขอบเขตซึ่งจะช่วยป้องกันความทุกข์อันจะติดตามมาเพราะความไม่ยินดีของตน

           ถ้วยกาแฟ๒ ) ยถาพลสันโดษ คือ ยินดีตามกำลังสติปัญญาของตนเอง ที่สามารถหามาได้ ถ้าหากว่าเราทำสุดความพยายามแล้วได้มาอย่างไรก็พอใจเท่านั้น ไม่ต้องการสิ่งที่ได้มาเกินกำลังปัญญาของตน

          ถ้วยกาแฟ๓ ) ยถาสารุปปสันโดษ หมายถึงความยินดีตามสมควร คือยินดีตามความเหมาะสมได้แก่ ตำแหน่งหน้าที่ของตนทำได้เท่านี้ก็ยินดีเท่านี้ ยศตนเองมีเท่านี้ยินดีอย่างที่เป็นอยู่ ฐานะของตนเป็นได้เท่านี้ ก็ยินดี

สันโดษตามที่กล่าวมานี้ เป็นคุณธรรมสำหรับสร้างตน สร้างฐานะของตนให้เจริญก้าวหน้าตามความเหมาะสม และอยู่อย่างพอมีพอกินตลอดถึงครองตนให้อยู่ในกรอบของกฎหมายและศีลธรรม ประคับประคองใจไม่ให้ดิ้นรนกระวนกระวานเกินฐานะของตน อันจะเป็นเหตุให้เกิดความทุจริต ทำผิดกฎหมายและศีลธรรม

เกาะที่มีต้นปาล์ม๒๕ ความเป็นคนกตัญญู

กตัญญู แปลว่า ผู้รู้อุปการะที่คนอื่นกระทำให้แก่ตน หมายถึงคนที่รู้คุณคนหรือรู้คุณท่าน ซาบซึ้งในพระคุณของท่าน และจดจำพระคุณของท่านไว้ได้โดยไม่ลืมเลือน ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นพระคุณของท่าน พยายามหาโอกาสประกาศพระคุณของท่านให้ปรากฏหรือตอบแทนสนองพระคุณของท่านอยู่ตลอดเวลา เพราะคนที่มีความกตัญญูเป็นบุคคลที่มีจิตใจสูงส่ง ไม่ต่ำทรามเรียกว่าเป็นคนดีเข้าหลักสุภาษิตที่ว่า

รู้คุณแห่งท่านผู้ มีคุณ

น้อยมากหากการุณ ค่าล้น

เพียงนิดคิดอุดหนุน สนองมาก

เป็นมนุษย์เอกอุตม์พ้น เพราะพร้อมกตัญญู

ความเป็นคนกตัญญู เป็นเครื่องหมายของคนดี เป็นเหตุให้เกิดความรักใคร่เอ็นดูและเป็นเหตุให้ได้รับคุณวิเศษต่างๆ มีความสรรเสริญ เจริญด้วยโภคทรัพย์เป็นต้น

กุหลาบแดง๒๖ การฟังธรรมตามกาล

คำว่า ตามกาล หมายถึง เวลาที่เหมาะที่ควร คือโอกาสที่มีมาถึง เช่นฟังธรรมในวันธรรมสวนะ คือ วันขึ้นหรือแรม ๘ , ๑๔,๑๕ ค่ำ จะไปฟังที่วัดหรือทางวิทยุกระจายเสียงก็ตาม ชื่อว่าฟังธรรมตามกาลหรือในโอกาสอื่น เพื่อเป็นเหตุนำมาซึ่งความรู้ยิ่ง และนำมาซึ่งคุณธรรมวิเศษมีประการต่างๆ เช่น ละนิวรณ์ ๕ ได้ และถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะ การฟังธรรมนี้ยังนำมาซึ่งประโยชน์อีก ๕ ประการ คือ

๑ ) ได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยฟัง

๒ ) สิ่งที่เคยฟังแล้วยังไม่เข้าใจชัดย่อมเข้าใจชัดเจนมากขึ้น

๓ ) บรรเทาความสงสัยได้

๔ ) ทำความเห็นให้ถูก

๕ ) จิตของผู้ฟังย่อมผ่องใส

กุหลาบแดง๒๗ ความอดทน

ขันติ แปลว่า ความอดทน หมายถึงกำลังทนทานแห่งใจ ทนต่อทุกข์ต่างๆ เช่นเหลือบยุง ริ้น และสัตว์เลื้อยคลานต่างๆ ทนต่อความร้อนและหนาว คือทนตรากตรำ ส่วนความอดทนต่อทุกขเวทนา อันเกิดเพราะความเจ็บไข้มีประการต่างๆ อย่างแรงกล้าไม่แสดงอาการทุรนทุราย ชื่อว่า ทนต่อความลำบาก ทนต่อความดูหมิ่นประมาทที่ผู้อื่นกระทำต่อตน ทนต่อคำพูดเสียดสี โดยไม่แสดงอาการวิปริตแปรผัน มีจิตใจหนักแน่นมั่นคงไม่หวั่นไหวเพราะอนิฎฐารมณ์ต่างๆ ชื่อว่าทนต่อการเจ็บใจ ความอดทนตามนัยแห่งพุทธปรัชญาต่างก็ส่งผลดีต่างๆกันคือ อดทนตรากตรำย่อมเป็นปัจจัยให้การงานสำเร็จได้ทรัพย์สมบัติตลอดถึงยศศักดิ์ ชื่อเสียงต่างๆอันเป็นผลมาจากความอดทน ความอดทนเหล่านี้ย่อมส่งผลให้บุคคลและหมู่คณะตลอดจนประเทศชาติเจริญรุ่งเรือง

ทนลำบากย่อมเป็นปัจจัยให้มีสติสัมปชัญญะ ซึ่งเป็นคุณธรรมควรอันเลิศ ส่วนอดทนเจ็บต่อความเจ็บใจ ย่อมเป็นปัจจัยไม่ให้ประพฤติผิดพลั้งไปด้วยอำนาจแห่งโทสะ สกัดกั้นกายวาจาใจมิให้แสดงอาการที่ไม่ดีไม่งาม อันจะนำมาซึ่งความเสียหายได้ ขันติ คือความอดทนส่งผลทุกๆอย่าง

กุหลาบแดง๒๘ ความเป็นคนว่าง่ายสอนง่าย

คนว่าง่ายสอนง่าย ได้แก่ผู้ที่ถูกเขาสั่งสอนในทางที่ถูกที่ควร ไม่พูดกลบเกลื่อนหรือทำเฉย ไม่ดื้อรั้นด้วยทิฎฐิมานะ ไม่พูดคัดคอผู้แนะนำสั่งสอน คิดถึงคุณโทษและเหตุผลมีความอดทนแสดงอาการเอื้อเฟื้อ เคารพและความถ่อมตนต่อผู้กล่าวสอน ไม่ทำเป็นว่าง่ายสอนง่ายเพราะเห็นแก่ลาภ ยินดีรับคำสอนด้วยความตั้งใจจริง เป็นผู้หนักแน่น ในระเบียบแบบแผนและความถูกกาล นี้คือลักษณะของคนว่าง่ายสอนง่าย

ความเป็นคนว่าง่ายสอนง่าย เป็นเหตุให้ได้รับโอวาทานุสาสนีจากผู้ใหญ่ และผู้หวังดีทั้งหลายเป็นเหตุให้บรรลุคุณ คือละความไม่ดีไม่งามต่างๆ ได้เป็นหลักธรรมที่สร้างที่พึ่งให้แก่ตน และเป็นเหตุให้พระศาสนาไม่เสื่อมสูญ เป็นไปเพื่อความดำรงมั่นแห่งพระสัทธรรม

เกาะที่มีต้นปาล์ม๒๙ การเห็นสมณะ

สมณะ แปลว่า คือมีกายสงบ มีวาจาสงบ มีใจสงบ มีกายวาจาใจได้รับการฝึกหัดอบรมอย่างสูง มีความยินดีในความสงบและปฏิบัติทุกอย่างมุ่งความสงบ สมณะหรือผู้สงบ หมายถึงพรรพชิต แปลว่า ผู้เว้นความชั่วทุกอย่าง มุ่งทำแต่ความดี มีความสำรวม ระวังในเรื่องความชั่ว การเห็นท่านเหล่านี้ย่อมได้รับประสบการณ์ที่ดีงามจากท่านตลอดถึงได้รับคุณความดีต่างๆ คือได้รับการสงเคราะห์จากท่าน ๖ อย่าง คือ (๑ ) ห้ามทำชั่ว (๒ ) ให้ตั้งอยู่ในความดี (๓) อนุเคราะห์ด้วยน้ำใจอันงาม (๔) ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง (๕) ทำสิ่งที่ฟังแล้วให้แจ่มชัด (๖ ) บอกทางสวรรค์ให้

๓๐ การสนทนาธรรมตามกาล

หมายถึงการสนทนากันเกี่ยวกับความดี ความชอบ ความถูก ความควร ความจริง กุศลธรรม และความประพฤติ ตามเวลาที่เหมาะสม หรือโอกาสที่สมควร เพื่อเป้าหมายที่มีคุณต่อตนเองและผู้อื่น ไม่ต้องการความแพ้หรือชนะกัน แต่ต้องการเหตุและผล เพราะการสนทนาธรรมกันย่อมแก้จิตที่หดหู่ หรือฟุ้งซ่าน วิจิกิจฉา ให้กลับเป็นจิตที่สดชื่นแจ่มใสเบิกบานและเข็มแข็งมีความฉลาดต่อวิทยาการต่างๆ

กุหลาบแดง๓๑ การบำเพ็ญตบะ

คำว่า ตบะ แปลว่า ความเพียรเครื่องยังกิเลสให้เร่าร้อนคือเพียรเผากิเลสที่มีอยู่ในสันดานให้ลดน้อยเบาบาง หรือหมดสิ้นไป ได้แก่ความพยายามละความไม่ดีต่างๆที่เรียกว่าความชั่วนั่นเอง ตบะ มีความหมายหลายนัย เช่นหมายถึงความสำรวมระวังรักษาอินทรีย์ ความประพฤติรักษาพรหมจรรย์ คือ เว้นเมถุนสังวาส ด้วยอำนาจความกำหนัด ความอดใจไม่โกรธไม่ ผูกโกรธ การรักษาศีล ๕ การรักษาอุโบสถศีลตลอดจนการศึกษาธรรมวินัย ซึ่งเป็นคำสอนในพระพุทธศาสนาก็จัดเป็นตบะ ตบะ ตามที่กล่าวมานี้เป็นเหตุให้พ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนได้รับความสุขความร่มเย็น มีแต่ความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป

๓๒ การประพฤติพรหมจรรย์

พรหมจรรย์ ตามนัยนี้หมายถึงความประพฤติอันประเสริฐ หรือความประพฤติความดีสูงสุด มี ๑๐ อย่างคือ

๑) ทาน การให้

๒) เวยยาวัจจะ การขวนขวายช่วยเหลือผู้อื่น

๓) เบญจศีล

๔) พรหมวิหาร คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

๕) เมถุนวิรัติ

๖) สทารสันโดษ ยินดีเฉพาะคู่ครองของตน

๗) วิริยะ เพียรละความชั่ว

๘) อุโบสถศีล

๙) อริยมรรค ทางอันประเสริฐ คือ เห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ ทำการงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ และตั้งใจชอบ

๓๓ การเห็นอริยสัจ

อริยสัจ แปลว่าของจริงอันประเสริฐ ของจริงของคนที่ประเสริฐ ของจริงที่ทำคนให้เป็นคนประเสริฐ มี ๔ อย่าง คือ

๑) ทุกข์ ความไม่สบายกายสบายใจ

๒) สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ ได้แก่ตัณหา

๓) นิโรธ ความดับทุกข์คือดับตัณหาได้เด็ดขาด

๔) มรรค ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

การเห็นอริยสัจด้วยอำนาจญาณเคื่องแทงตลอด คือเห็นว่าทุกข์เป็นของมีจริง ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ได้จริง เมื่อดับตัณหาได้เด็ดขาดทุกข์ก็หมดได้จริง มรรค ๘ เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ได้จริง และเห็นว่าทุกข์ ต้องกำหนดรู้ สมุทัยต้องละ นิโรธต้องทำให้แจ้ง มรรคมีองค์๘ต้องทำให้เกิดเห็นอย่างนี้ เรียกว่าเห็นอริยสัจจ

บันนี่๓๔ การทำให้แจ้งพระนิพพาน

ความหมายของนิพพาน วิมุตติเป็นคำไวพจน์ของนิพพาน หรือวิมุตติก็หมายถึงนิพพานนั้นเอง๒๕ นิพพานชื่อว่าเป็นวิมุตติเพราะความหลุดพ้นจากสังขตธรรมทั้งปวง* คำว่านิพพานนั้น มีความหมายตามรูปศัพท์ ๒ ประการ คือ๒๖ (๑) นิพพาน (นิ + วา + ย) ธรรมที่หาของเสียบแทงไม่ได้ (๒) นิพพาน ธรรมชาติที่ดับสนิท

สิ่งเสียบแทงคือลูกศร ลูกศรที่เป็นเครื่องเสียบแทงในความหมายของพุทธปรัชญานั้น ได้แก่ราคะ โทสะ และโมหะ สัตว์ทั้งหลายถูกราคะ โทสะ และโมหะเสียบแทงให้เกิดความเร้าร้อนหวั่นไหว เจ็บปวด และเป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา ส่วนคำว่าดับนั้น คือดับร้อนทำให้เกิดความสงบเยือกเย็น ร้อนในที่นี้หมายถึงความร้อนที่เกิดจากไฟคือราคะ (ราคัคคิ) ไฟคือโทสะ (โทคัคคิ) และไฟคือโมหะ (โมหัคคิ)๒๗ ไฟคือราคะได้แก่ความกำหนัดย้อมใจ ย่อมเผาสัตว์ผู้กำหนัดหมกมุ่นในกาม ไฟคือโทสะ ได้แก่ความคิดประทุษร้ายคนอื่น ย่อมเผาผลาญสัตว์ที่มีความอาฆาตพยาบาท ไฟคือโมหะ ได้แก่ความหลงไม่รู้ความจริง ย่อมเผาสัตว์ที่ลุ่มหลงไม่ฉลาดในอริยธรรม อนึ่ง คำว่าดับ (นิพพาน) ตามนัยพุทธปรัชญานั้น อาจขยายเป็นได้ ๒ ลักษณะคือ (๑) ดับกิเลส เพราะดับกิเลสได้ ทำให้เกิดญาณทัสสนะอันสูงสุด หยั่งรู้สัจจธรรมได้ สามารถทำให้กำจัดความชั่วและกุศลธรรมต่าง ๆ ภายในจิตได้หมด ทำให้หมดปัจจัยที่เป็นเชื้อให้เกิดความเดือดร้อนวุ่นวายได้ และ (๒) ดับทุกข์ เพราะดับทุกข์ได้หมด ทำให้บรรลุถึงบรมสุข ในพระอภิธรรม ได้แสดงลักษณะของนิพพานไว้ ๕ ลักษณะ๒๘ ดังนี้

เกาะที่มีต้นปาล์ม๑.) ปทะ เป็นธรรมที่เป็นทาง คือนิพพานแม้ว่าจะเป็นปรมัตถธรรม เป็นธรรมที่สุขุม ละเอียด ลึกซึ้ง ไม่เกี่ยวข้องกับโลกิยธรรม อันคนที่ยังมีอวิชชา ตัณหา อุปาทานเห็นได้อยาก เข้าใจได้ยากก็ตาม แต่ก็เป็นธรรมที่รู้เห็นได้ เข้าถึงได้ ลักษณะของนิพพานตามนัยของพระอภิธรรมประการแรกนี้อาจเทียบกับที่กล่าวรับรองไว้ในพระสูตรดังนี้

“นิพพาน อันบุคคลผู้บรรลุเห็นได้เอง ไม่ขึ้นกับกาล เรียกให้มาดูได้ ควรน้อมนำเข้าไว้ในตน อันวิญญูชนถึงรู้ได้เฉพาะตน”๒๙

“เราย่อมกล่าวดังนี้ว่า บุรุษผู้เป็นวิญญูชน ไม่มีมารยา เป็นคนตรง จงมาเถิด เราจะสั่งสอน เราจะแสดงธรรม เมื่อเขาปฏิบัติตามคำสั่งสอน ก็จะประจักษ์แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยมที่กุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือนเป็นอนาคาริกโดยชอบต้องการอันเป็นจุดหมายของพรหมจรรย์ เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน (โดยใช้เวลา) ๗ ปีบ้าง ๖ ปีบ้าง ๕ ปีบ้าง..๔ ปีบ้าง ฯลฯ กึ่งเดือนบ้าง ๗ วันบ้าง๓๐

เกาะที่มีต้นปาล์ม๒.) อัจจุตะ เป็นธรรมที่ไม่ตาย คือนิพพานเป็นธรรมที่ไม่เกิด ไม่ตาย ไม่มีการแตกดับลักษณะข้อที่ ๒ นี้ เทียบได้กับที่แสดงไว้ในพระสูตรดังนี้

“ความหวั่นไหวย่อมมีแก่บุคคลผู้อันตัณหาและทิฎฐิอาศัย ย่อมไม่มีแก่ผู้อันตัณหาและทิฎฐิไม่อาศัย เมื่อความหวั่นไหวไม่มี ก็ย่อมมีความสงบ เมื่อมีความสงบ ก็ย่อมไม่มีความยินดีเมื่อไม่มีความยินดี ก็ย่อมไม่มีการมาและการไป เมื่อไม่มีการมาการไป ก็ไม่มีการเกิด (อุปัตติ) และการตาย (จุติ) เมื่อไม่มีการเกิดและการตาย ก็ไม่มีโลกนี้และโลกหน้า ไม่มีในระหว่างโลกทั้งสอง นี้เองเป็นที่สุดแห่งทุกข์”๓๑

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว มีอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าธรรมชาติไม่เกิดแล้วไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว ปรุงแต่งไม่ไหวแล้ว จักไม่ได้มีแล้วไซร้ การสลัดออกซึ่งธรรมชาติที่เกิดแล้ว เป็นแล้วอันปัจจัยกระทำแล้ว ปรุงแต่งแล้ว จักไม่พึงปรากฏในโลกนี้เลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะธรรมชา เป็นอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยทำไม่ได้แล้ว ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว มีอยู่ฉะนั้น การสลัดออกซึ่งธรรมชาติที่เกิดแล้ว เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำแล้ว ปรุงแต่งแล้ว จึงปรากฏ”๓๒

เกาะที่มีต้นปาล์ม๓.) อัจจันตะ เป็นธรรมชาติที่ก้าวล่วงขันธ์ ๕ (ขันวิมุตติ) และก้าวล่วงกาลนั้น ๓ คือ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต (กาลวิมุตติ) ลักษณะที่ ๓ นี้เทียบได้กับที่แสดงไว้ในพระสูตร ดังนี้

“ภิกษุทั้งหลาย อายตนะนั้นอยู่ ที่ดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่มีเลย อากาสานัญจายะตนะวิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะก็มิใช่ โลกนี้ก็มิใช่ โลกอื่นก็มิใช่ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ทั้งสองก็มิใช่ เราไม่กล่าวอายตนะนั้นว่า เป็นการมา เป็นการไปเป็นการตั้งอยู่ เป็นการจุติ อายตนะนั้นหาที่ตั้งอาศัยมิได้ มิได้เป็นไป หาอารมณ์มิได้ นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์”๓๓

๔.) อสังขตะ เป็นธรรมที่มิได้ถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัยใด ๆ คือนิพพานไม่มีจิต เพราะวิชชาเกิดขึ้น เธอย่อมไม่ปรุงแต่งปุญญาภิสังขาร ไม่ปรุงแต่งปุญญาภิสังขาร ไม่ปรุงแต่ง อเนญชาภิสังขาร เมื่อไม่คิดปรุงแต่ง ย่อมไม่กระวนกระวาย เมื่อไม่มีกระวนกระวาย ย่อมปรินิพพาน ประจักษ์ด้วยตนเอง เธอย่อมรู้ชัดว่า ชาตินี้สิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่แล้ว กรณียะได้ทำแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างไม่มีอีก”๓๔

เกาะที่มีต้นปาล์ม๕). อนุตตระ เป็นอนุตรธรรม คือธรรมอันประเสริฐ ยอดเยี่ยม อนุตรธรรมก็คือโลกุตรธรรม เป็นธรรมที่พ้นจากโลก ได้แก่โบกุตตรจิต ๘ และเจตสิก ๓๖ (อัญญสมานาเจตสิก ๑๓ และ โสภณเจตสิก ๒๓ เว้นอัปปมัญญาเจตสิก ๒ ) ลักษณะที่ ๔ นี้ เทียบได้กับที่แสดงในพระสูตร ดังนี้

“ …ถึงมีชีวิตอยู่ก็ไม่เดือดร้อน ถึงจะตายก็ไม่เศร้าโศก ถ้าเป็นปราชญ์ก็มองเห็นที่หมายแล้ว ถึงอยู่ท่ามกลางความเศร้าโศกก็หาโศกเศร้าไม่ ผู้มีภวตัณหาขาดแล้ว มีจิตสงบมีธรรมชาติสงสารสิ้นแล้ว ย่อมไม่มีภพใหม่”๓๕

“ผู้ดับกิเลสแล้ว อยู่สบายทุกเมื่อ ผู้ใดไม่ติดอยู่ในกาม ผู้นั้นเป็นผู้เยือกเย็น หมดอุปธิ ตัดธรรมชาติเครื่องข้องทุกอย่าง ปราศจากความกระวนกระวายในหทัย เข้าไปสงบแล้ว ถึงความสงบใจ อยู่สบาย”๓๖

“บุคคลนั้น ไม่มีความขวนขวาย ไม่กำหนัดยินดี ไม่มีความหวั่นไหว เป็นผู้เสมอในอารมณ์ทั้งปวง ธรรมชาติเครื่องปรุงแต่งไร ๆ ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่หวั่นไหว ผู้รู้แจ้ง ผู้นั้น เว้นจากความปรารถนามีปุญญาภิสังขารเป็นต้น ย่อมเห็นความปลอดโปร่งที่ทุกสถาน…”๓๗

ในปรมัตถทีปนีฎีกา๓๘ กล่าวว่า นิพพานนั้นเป็นที่ดับความเร่าร้อนที่เกิดจากวัฎฎทุกข์ทั้งหมดความเร่าร้อนเศร้าหมองอันเกิดจากวัฎฎทุกข์นั้น คือความเศร้าหมองเร่าร้อนที่เกิดจากกิเลส ได้แก่อวิชชา ตัณหา และอุปาทาน (กิเลสวัฎฎทุกขสันตาปะ) ความเศร้าหมองเร่าร้อนที่เกิดจากกรรม (กัมมวัฎฎทุกขสันตาปะ) และความเศร้าหมองงเร่าร้อนที่เกิดจากวิบาก (วิบากวัฎฎทุกขสันตาปะ)

ถ้าพิจารณาจากพระสัทธรรม ๓ ประการ คือ ปริยัติธรรม ปฏิบัติธรรม และปฏิเวธธรรมแล้ว ปริยัติธรรมคือพระไตรปิฎกพร้อมทั้งอรรรถกถาและฎีกาเป็นต้น ปฏิบัติธรรมคือศีล สมาธิ และปัญญา ส่วนปฏิเวธธรรมคือ มรรค ๔ ผล ๔ และนิพพาน ๑ ดังนั้น นิพพานจึงไม่เป็นปริยัติธรรมและไม่เป็นปริยัติธรรม แต่เป็นปฏิเวธธรรม นอกจากนี้แล้ว มีสูตรที่แสดงถึงนิพพานอยู่ดาดดื่นอยู่ในพุทธปรัชญา เช่น

“ภิกษุ เธอจงวิดเรือนี้ เรืออันเธอวิดแล้ว จักพลันถึง เธอตัดราคะ โทสะ และโมหะ ได้แล้ว แต่นั้น จักถึงนิพพาน”๓๙

“ทางนั้น ชื่อว่าทางสายตรง ทิศนั้นชื่อว่าทิศไม่มีภัย รถนั้นชื่อว่ารถไร้เสียง ประกอบด้วยล้อคือธรรม มีหิริเป็นฝา มีสติเป็นเกราะกั้น ธรรมรถกั้นมีสัมมาทิฎฐินำหน้าเป็นสารถี บุคคลใดมียานเช่นนี้ จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เขาย่อมใช้ยานนั้นขับไปถึงสำนักแห่งนิพพานได้”๔๐

“เรากล่าวทวีปนั้น มิใช่ทวีปอื่น ซึ่งไม่มีกิเลสเป็นเครื่องห่วงกังวล ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องยึดถือ เป็นที่สิ้นรอยแห่งชราและมัจจุว่านิพพาน”๔๑

“เพราะตัณหาสิ้นไปโดยประการทั้งปวง จึงนิโรธด้วยคลายออกได้ไม่มีเหลือนั้นแหละคือนิพพาน เพราะไม่ถือมั่น ภพใหม่จึงไม่มีแก่ผู้เข้าถึงนิพพาน”๔๒

“ภิกษุเข้าไปตั้งกายาคตาสติแล้ว สังวรในบ่อเกิดแห่งผัสสะ ๖ แล้ว มีจิตมั่นคงติดต่อแล้ว พึงรู้นิพพานแห่งตนได้”๔๓

“ดูกรเหมกะ ผู้รู้ทั่วถึงบทคือนิพพานอันไม่ผันแปรเป็นที่บรรเทาฉันทราคะในรูปที่ได้เห็น ในเสียงที่ได้ยิน และในสิ่งที่ได้ทราบอันน่ารัก เป็นผู้มีสติ มีธรรมอันเป็นแล้ว ดับกิเลสได้แล้ว มีสติ ข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ ในโลกได้แล้ว”๔๔

“คนที่ถูกราคะ โทสะ โมหะครอบงำ ย่อมติดในทางที่จะทำตนให้ลำบากเดือดร้อน ทำให้คนอื่นลำบากเดือดร้อน ทั้งทำตนเองและคนอื่นให้ลำบากเดือดร้อน ย่อมเสวยทุกข์โทมนัสทางใจ ครั้นเขาละราคะ โทสะ โมหะได้แล้ว เขาก็ไม่คิดในทางที่จะทำให้ตนเองและคนอื่นลำบากเดือดร้อน หรือไม่คิดทำให้ทั้งสองฝ่ายลำบากเดือดร้อน ไม่ต้องเสวยทุกข์โทมนัสทางใจ อย่างนี้แลเป็นสันทิฎฐิกนิพพาน เมื่อใดบุคคลนี้เสวยภาวะอันปลอดราคะโดยสิ้นเชิงภาวะปลอดโทสะอย่างสิ้นเชิงภาวะปลอดโมหะอย่างสิ้นเชิงอย่างนี้แลคือนิพพานผู้บรรลุเห็นได้เองไม่ขึ้นกับกาล ๔๕“ นิพพาน ว่างอย่างยิ่ง”๔๖ “นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง”๔๗


๒๕ ที. สี. ๓ / ๒๒๔

๒๖ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, ธรรมวิจารณ์ , พิมพ์ครั้งที่ ๒๓, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย , ๒๕๒๐ ) หน้า ๕๓

๒๗ ที. ปาฏิ. ๑๑ / ๒๒๘ / ๑๙๙

๒๘ บุญมี เมธางกูรและวรรณสิทธิ์ ไวทยเสวี, คู่มือพระอภิธรรมมัตถสังคหะ ปริเฉทที่ ๖ นิพพานปรมัตถ์,(กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์สุทธิสารการพิมพ์,๒๕๒๔) หน้า๑๐๑

๒๙ อง.ฺ ติกฺก. ๒๐ / ๔๙๕ / ๑๙๐

๓๐ ที. ปา. ๑๑ / ๓๑ / ๔๗

๓๑ ขุ. อุ. ๒๕ / ๑๖๑ / ๑๗๗

๓๒ ขุ.. อุ. ๒๕ / ๑๕๙ / ๑๗๖

๓๓ ขุ. อุ. ๒๕ / ๑๕๘ / ๑๗๕

๓๔ สํ. นิ. ๑๖ / ๑๙๒ / ๙๙

๓๕ ขุ. อุ. ๒๕ / ๑๐๘ / ๑๒๒

๓๖ องฺ. ติกฺก. ๒๐ / ๔๗๔ / ๑๖๔

๓๗ ขุ. สุ. ๒๕ / ๔๒๒ / ๔๖๔

๓๘ วิชิต มณโฑวงศ์ , พระอภิธัมมัตถสังคหทีปนี จิตปรมัตถ์, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์บริษัท ส. พยุงพงศ์,๒๕๐๑ ) หน้า ๑๔–๑๕

๓๙ ขุ. ธ. ๒๕ / ๒๕ / ๕๔

๔๐ สํ. ส. ๑๕ / ๑๔๔ / ๔๓

๔๑ ขุ. สุ. ๒๕ / ๔๓๔ / ๔๘๗

๔๒ ขุ. อุ. ๒๕ / ๘๔ / ๑๐๖–๑๐๗

๔๓ ขุ. อุ. ๒๕ / ๗๗ / ๙๙

๔๔ ขุ. อุ. ๒๕ / ๔๓๒ / ๔๘๖

๔๕ องฺ. ติก. ๒๐ / ๔๙๕ / ๑๙๐

๔๖ ขุ. ปาฏิ. ๓๑ / ๗๓๕ / ๔๕๖

๔๗ ม. ม. ๑๓ / ๒๘๗ / ๒๔๓

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons