บันทึกลับ ภิกษุนิรนาม
๑. ทุกอย่างสำเร็จด้วยจิต
ท้องฟ้าสีคราม ประดับด้วยปุยเมฆสีขาวลอยฟ่องอยู่เป็นกลุ่มเล็กกลุ่มใหญ่ ภายใต้แผ่นนภาอันกว้างไกล แสดงถึงความแจ่มใสของโลกที่พ้นฤดูฝนมาแล้ว
ท้องฟ้าสีคราม ปุยเมฆสีขาว เป็นสิ่งที่มีมานานแล้วตั้งแต่โลกเกิดและจะมีอยู่ต่อไปเป็นนิรันดร เช่นเดียวกับดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ที่ใครและผู้ใดไม่อาจจะลบเลือนได้ มันเป็นสภาวธรรม หรือธรรมชาติแห่งความเป็นจริง
แต่แม้กระนั้น ก็ใช่ว่าจะหนีกฎแห่งอนิจจังไปได้ มนุษย์พากันวิตกว่า โลกอาจถูกทำลายให้พินาศเป็นจุณไปสักวันหนึ่ง และผู้ที่จะทำลายโลกก็คือ มนุษย์ เอง
แต่ความวิตกนั้นมันเป็นอนาคตที่เราคาดคิดกันไปอย่างลมๆแล้งๆชีวิตแต่ละชีวิตอาจไม่คงอยู่จนถึงเวลานั้น ทำไม?เราจะต้องไปวิตกถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ปัจจุบันต่างหากที่เราควรมองดูว่าเรากำลังทำอะไรกันอยู่
เรามองเห็นว่า ปัจจุบันมนุษย์กำลังใช้นามธรรม ประดิษฐ์คิดค้นสิ่งที่เป็นรูปธรรมขึ้นมา รูปธรรมที่ค้นคิดขึ้นมานั้น มีทั้งสิ่งที่เป็นประโยชน์และสิ่งที่จะทำลายโลกให้พินาศ
ระหว่าง ๒ สิ่งนี้ สิ่งที่เป็นประโยชน์ย่อมมีพลังอำนาจน้อยกว่าสิ่งทำลายมากมายนัก ซึ่งเรามองเห็นได้ชัดว่า ประโยชน์จะมีสักเท่าใดเมื่อถูกทำลายเสียแล้วประโยชน์ก็จะหมดไปด้วย มนุษย์ก็จะไม่ได้อะไรเลย แม้แต่ชีวิตของตนเองก็จะต้องหมดไป โลกจะเหลือแต่น้ำกับฟ้าอย่างเดิม
แสดงว่าในปัจจุบันนี้ มนุษย์กำลังใช้นามธรรมอย่างผิดทางเราสร้างสิ่งที่สมมติขึ้น จนเกินความต้องการของชีวิต และบัดนี้เราไม่รู้ว่าชีวิตมนุษย์เราต้องการอะไรกันแน่… มันไม่มีสิ้นสุด… มันไม่มีจุดหมายปลายทาง…
สิ่งที่เป็นนามธรรม แม้จะไม่มีรูปร่างตัวตนให้มองเห็นได้ แต่มันก็มีความสำคัญยิ่งใหญ่เหนือกว่ารูปธรรมเป็นอันมาก
รูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นวัตถุสิ่งของ เครื่องประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์ หรือแม้แต่สังขารร่างกายของคนและสัตว์ ล้วนเกิดขึ้นมีขึ้นโดยนามธรรมเป็นผู้บันดาลอยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น ถ้านามธรรมไม่บันดาลสมบัติปรุงแต่งขึ้นมา มันก็จะไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นเป็นรูปร่างที่เรียกว่า รูปธรรม เลย
พระพุทธเจ้าบรมศาสดาเอกในโลก จึงทรงตรัสว่า ทุกอย่างสำเร็จด้วยจิต จิตก็คือนามธรรมอันซ่อนเร้นแอบแฝงอย่างลับๆอยู่กับร่างกายของคนและสัตว์ทั้งหลาย
ผู้มีปัญญารู้ความจริงว่า จิตหรือนามธรรมมีความสำคัญยิ่งใหญ่ย่อมจะปรับปรุงจิตของตน บำรุงรักษาจิตของตน ทำความสะอาดบริสุทธิ์ให้แก่จิตของตน ยิ่งกว่าสังขารทั้งหลาย และถือว่าการงานของจิตเป็นสิ่งควรทำอย่างยิ่ง
แต่ผู้โง่งมงาย ไม่รู้ความสำคัญของจิต จะพากันปรนเปรอบำรุงรักษาสังขารร่างกายตามใจกิเลส อันมีความโลภ โกรธ หลง อย่างไม่ว่างเว้น และเต็มกำลังความสามารถ
และดูเหมือนว่า มันเป็นธรรมชาติที่จะต้องดำเนินไปเช่นนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า หมุนเวียนอยู่ไม่มีวันจบสิ้น จนกลายเป็นความยึดมั่นถือมั่นตัวเราเป็นของเรา ยากที่จะแก้ไขปรับปรุงได้ มนุษย์เกิดมาเป็นวัวตามฝูง สุดแต่หัวหน้าฝูง คือ ความโลภ โกรธ หลง จะนำไป ช่างน่าสงสารเหลือเกิน
เส้นทางของชีวิต ไม่ว่ามนุษย์หรือสรรพสัตว์ เป็นระยะทางอันไกล เลยขอบฟ้าที่เห็นอยู่ลิบๆโน้น มันข้ามภพข้ามชาติ หมุนเวียนเกิดดับอย่างไม่มีวันสิ้นสุด
อะไรเล่าคือความหมายของคำว่า "ยุติ" อะไรเล่าคือความหมายของคำว่า "หลุดพ้น" ไปจากการเกิดการดับ ถ้าเราสามารถจะหยั่งรู้ไปถึงกาลในอดีตได้ ก็คงจะเหน็ดเหนื่อย เบื่อหน่าย อ่อนระโหยโรยแรงไปกับการเกิดดับที่ซ้ำซากอยู่เช่นนั้น
ชีวิตในอดีตชาติ หลายภพหลายชาติ กระทั่งถึงชีวิตปัจจุบันเราผ่านความทุกข์มากมายเหลือเกิน ถ้าจะนำความทุกข์ที่เราได้รับมากองไว้ตรงหน้า ก็จะเห็นว่าทุกข์นั้นใหญ่เท่าภูเขาหลวง ทุกข์เกิดจากความโลภ ทุกข์เกิดจากความโกรธ ทุกข์เกิดจากความหลง เป็นกิเลสที่มีประจำ สิงสู่อยู่ในชีวิตของเรามันเหมือนดวงอาทิตย์ที่กระจายแสงไปทั่วจักรวาล ครอบคลุมเราและสรรพสัตว์ให้มืดหน้าตาฟางอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราไม่รู้จักคิดพิจารณา เราก็ไม่อาจรู้ว่าทุกข์นั้นเป็นฉันใด หนักหนาสาหัสสักเพียงไหน
เรามักปล่อยให้มันผ่านไป…ผ่านไปเหมือนความทุกข์นั้นเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต มันเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป มีทุกข์ใหม่เข้ามาแทนที่ไม่มีวันสิ้นไปหมดไป
บางทีเราก็ไปไขว่คว้าแสวงหาทุกข์มาใส่ตน เหยียบย่ำกองทุกข์นั้นให้จมไปกับการเวลา บางทีเราก็เดินเข้าไปเผชิญหน้า แม้จะรู้ว่าจะพบกับความตาย แต่บางครั้งก็ทนไม่ไหว เพราะอารมณ์กิเลสมันเร่งรัดผลักดันให้คะมำไปข้างหน้า ไปเจอกับความเศร้าโศกที่เกิดจากความพลัดพราก ไปเจอกับความเสียใจที่เกิดจากความผิดหวัง
ด้วยเหตุนี้กระมัง จึงมีผู้คนมากมายทำลายชีวิตตนเองด้วยวิธีการต่างๆ โดยไม่ยอมหยุดคิดสักนิดว่า ทุกข์นั้นเกิดจากสิ่งใด
นี่แหละอำนาจของอารมณ์กิเลส มันรุนแรง พัดกระหน่ำยิ่งกว่าลมมรสุมใดๆทั้งสิ้น
ทำอย่างไรเราจะมีโอกาสหยุดคิดสักนิดหนึ่ง ว่าเหตุแห่งทุกข์นั้นเกิดจากอะไร จึงเป็นผลให้เราทุกข์ถึงเพียงนี้…
มันเป็นกรรมของสัตว์โลกเราอย่างนั้นหรือ ที่ไม่สามารถจะหยุดคิดถึงเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์นั้นได้ และเป็นเช่นนี้มานับแต่โลกและสรรพสัตว์ได้เกิดขึ้น
เมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปีมานี้ นามธรรมได้ถูกพัฒนาขึ้นมาอีกขั้นหนึ่งโดยพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เกิดขึ้นในโลก พระองค์ได้ทรงค้นพบถึงวิธีที่จะหยุดคิด เพื่อให้ชาวโลกได้รู้เหตุให้เกิดทุกข์ และประทานวิธีหยุดคิดให้แก่มนุษย์ทั้งหลาย ตามที่พระองค์ประสบผลมาแล้วด้วยพระองค์เอง นับเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์ชาติทีเดียว
วิธีการของพระองค์ฟังดูง่ายๆ ใครได้รับฟังก็คิดว่าน่าจะทำได้ทำกายให้บริสุทธิ์ด้วยการรักษาศีล เพราะการรักษาศีล ทำให้ละเว้นความชั่วได้หลายอย่าง เช่น
ละเว้นจากการฆ่าสัตว์
ละเว้นจากการลักทรัพย์
ละเว้นจากการพูดเท็จ
ละเว้นจากการผิดลูกเมียผู้อื่น
ละเว้นจากการดื่มสุรายาเสพติด
ซึ่งเรียกว่า ศีล ๕ เมื่อเราละเว้นจากการทำชั่ว ๕ ประการนี้ได้นอกจากเป็นเบื้องต้นของการละเว้นแล้ว ในขั้นต่อไปที่เรียกว่า ศีล ๘ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ก็ทำให้กายของเราบริสุทธิ์ ครั้นกายบริสุทธิ์แล้วก็ทำให้จิตบริสุทธิ์ต่อไป
การทำให้จิตบริสุทธิ์นั้น คือ ทำจิตให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิเมื่อเราทำสมาธิมากๆ แล้ว ก็จะเกิดสติสัมปชัญญะตามมา
สติ ก็คือ การระลึกได้
สัมปชัญญะ ก็คือ การรู้ตัว
คนเราเมื่อระลึกได้ รู้ตัวได้เท่าทันกิเลสอารมณ์ที่มันเกิดขึ้น เข้ามาออกไปในจิตของเราอยู่ทุกเวลาและโอกาสจนแทบตั้งตัวไม่ติด มันก็จะถอยห่างออกไป เพราะอารมณ์กิเลสทั้งหลายนั้น มันมีความกลัวอยู่อย่างหนึ่งคือ กลัวการรู้ทัน เหมือนขโมยที่คิดจะเข้าไปขโมยของในบ้าน ถ้ามันรู้ว่าเจ้าของบ้านยังตื่นอยู่ ถือปืนคอยจ้องจะยิงมัน แน่นอน! มันย่อมไม่เข้าไป
เมื่อไม่มีขโมยเข้ามา จิตก็ว่าง มีเวลาหยุดคิดว่า เจ้าความทุกข์มันเกิดจากอะไร พอรู้สาเหตุที่มันเกิดทุกข์ เราก็จะมองเห็นว่า ทางแก้ทุกข์นั้นยังมีอยู่ ถ้าเรารู้เหตุก็ย่อมจะรู้ทางแก้ เช่น ตัดเหตุนั้นเสียผลที่ทำให้เกิดทุกข์ก็จะไม่เกิดขึ้น หรือถ้าทุกข์นั้นเกิดขึ้นแล้ว เราก็จะมองเห็นว่าควรจะแก้อย่างไร แล้วก็แก้ตามเหตุนั้น มันก็จะระงับดับทุกข์เสียได้ถึงความพ้นทุกข์ที่เกิดขึ้น
เมื่อพระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ คนในสมัยพุทธกาลที่พระพุทธองค์ยังทรงดำรงพระชนม์อยู่ ก็พากันทำตาม เพราะคนเหล่านั้นเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย มีใจอ่อนละเอียด รู้จักเหตุรู้จักผล มีคุณธรรมอันสร้างไว้ดี เป็นบารมีอันติดตามมาแต่อดีตชาติ ต่างพากันปฏิบัติตามอาศัยศีลบริสุทธิ์ จิตบริสุทธิ์ ทำให้เกิดปัญญา รู้แจ้งเห็นจริงถึงความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง เป็นจำนวนมากมายตามขั้นตอนแห่งบารมีของตน
ในรอบพันปี หลังจากพระพุทธองค์ทรงดับขันธปรินิพพานแล้วมหาชนชาวโลกที่พระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์แพร่ขยายไปถึงก็ยังประพฤติดี ปฏิบัติชอบตามคำสอนของพระองค์ โดยถือมั่นว่าคำสั่งสอนนั้นเป็นตัวแทนของพระตถาคตเจ้าอยู่
ผู้ประพฤติปฏิบัติตามด้วยความอดทน พากเพียรพยายามไม่ท้อถอยก็ยังได้ประสบความสำเร็จ ได้บรรลุถึงโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามีและอรหัตมรรคอรหัตผลอยู่เป็นจำนวนมาก ท่านเหล่านี้ได้ถึงความเป็นอริยบุคคล เป็นผู้ไม่ย้อนกลับมาสู่การเกิดดับ อันเป็นสมมติของชาวโลกอีกแล้ว
ส่วนท่านที่บุญบารมียังไม่เต็มเปี่ยม ต่างก็ได้ฌานตามกำลังของตน เช่น ฌาน ๑ ฌาน ๒ ฌาน ๓ จนถึง ฌาน ๔ หรือมิฉะนั้นก็ได้เป็นผู้ถือศีล ปฏิบัติสมาธิโดยเคร่งครัด เมื่อล่วงลับจากโลกมนุษย์นี้ไปแล้ว กุศลผลบุญก็ได้ส่งเสริมให้ไปบังเกิดเป็นเทวดา เป็นพรหมอยู่ในวิมานแดนสวรรค์ ส่วนจะยั่งยืนช้าเร็วเท่าใดนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับการกระทำของตนเอง เพราะกุศลอันน้อยนิดยังเป็นโลกียชนอยู่ ย่อมเสื่อมได้ไม่พ้นจากอำนาจของกิเลสมาร ซึ่งเป็นเสมือนบ่วงที่ร้อยรัดสรรพสัตว์ไว้
คำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ไม่ถือว่าใครเป็นพระเจ้าถึงจะมีพระเจ้าที่ชาวโลกยกย่องในภายหลัง พระเจ้านั้นๆก็ไม่สามารถจะให้บุญให้บาปแก่ใครได้ แม้พระองค์เองก็มิได้ยกย่องพระองค์ว่าเป็นพระเจ้าของใคร เพราะพระเจ้าที่แท้จริงก็คือ มนุษย์ เอง และขึ้นอยู่กับการกระทำ ที่เรียกว่า กรรม ของตนเองทั้งสิ้น
มนุษย์นับว่ามีวาสนายิ่งกว่าสัตว์ใดในโลก มีสิทธิอันสมบูรณ์ที่จะเลือกทำกรรมดี หรือกรรมชั่วของตนเอง ถือว่าเป็นสัตว์อันประเสริฐซึ่งพระพุทธเจ้าทรงรับสั่งว่า เกิดเป็นมนุษย์นั้น ประเสริฐกว่าเกิดเป็นเทพ เป็นพรหมเสียอีก เพราะเทพพรหมถึงอย่างไรก็เป็นนามธรรม ไม่มีสังขารร่างกายที่จะทำกรรมสิ่งใดให้เป็นไปตามความประสงค์ได้ แม้จะรวมกำลังแรงให้เห็นเป็นรูปร่างได้ในบางครั้งบางโอกาส ก็เป็นเพียงภาพเนรมิตเท่านั้น
พระองค์ยังทรงชี้ให้เห็นว่า กรรมเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญของมนุษย์และสรรพสัตว์ มนุษย์จะเกิดมาได้ก็เพราะกรรม เรียกว่ากรรมเป็นแดนเกิด มนุษย์จะสืบเชื้อสายเผ่าพันธุ์กันมาได้ ก็เพราะกรรมนั่นเอง
กรรมยังเป็นเครื่องจำแนกให้มนุษย์และสรรพสัตว์แตกต่างกันออกไป เกิดมารูปชั่วก็มี เกิดมารูปงามก็มี เกิดมารูปร่างสมบูรณ์ด้วยอาการ ๓๒ ก็มี เกิดมาพิกลพิการก็มี เกิดมาลำบากยากจนอดอยากก็มีเกิดมาร่ำรวยก็มี เกิดมาใจบาปหยาบช้าก็มี เกิดมาใจบุญกุศลก็มีและนี่แหละที่ถือว่าเป็นกฎเกณฑ์ประจำโลกมนุษย์เรา ท่านเรียกว่าเป็น กฎแห่งกรรม ที่ไม่มีใครจะเปลี่ยนแปลงได้ นอกจากมนุษย์เอง
กรรมนั้นเป็นเหตุ ถ้ามนุษย์เลือกทำกรรมดีเป็นกุศล ก็จะได้รับผลดีเป็นการตอบสนอง ถ้าทำกรรมชั่วเป็นอกุศล ก็จะได้รับผลชั่วไปด้วย เราสามารถจะมองเห็นผลของกรรมดีกรรมชั่วในโลกมนุษย์แห่งนี้ได้ง่ายๆ ถ้าเรารู้จักพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นมีขึ้นตามความเป็นจริง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่มนุษย์จะต้องต่อสู้อย่างหนักหน่วงยิ่งกว่าสงคราม ก็คือ ความดีและความชั่ว หรือ กุศล อกุศล ซึ่งขึ้นอยู่ในจิตใจของตนเอง และส่วนมากก็มักจะพ่ายแพ้แก่อกุศลกรรม ซึ่งเป็นฝ่ายกิเลสมารร้ายไปครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะความอ่อนแอในจิตใจของตนอีกเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้ สรรพสัตว์ทั้งหลายจึงคงเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า "วัฏสงสาร" ชาติแล้วชาติเล่า ภพแล้วภพเล่า โดยไม่มีใครคิดสงสารตัวเองแต่อย่างใด ผู้พ่ายแพ้ต่ออกุศลกรรมดังกล่าวนี้ได้กลายเป็นหมู่สัตว์ชนิดหนึ่งไป เขาจะต้องชดใช้กรรมชั่วของเขาตามที่เขากระทำขึ้น
อันนี้เป็นสัจธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ เป็นสัจธรรมที่มีประจำโลกจักรวาล อันไม่มีใครจะเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ว่ามนุษย์จะพัฒนาโลกให้เจริญก้าวหน้าไปสักเท่าใด ผลกรรม บุญบาปก็เป็นอยู่เช่นนั้น เช่นเดียวกับที่ทรงตรัสถึงความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทรงตรัสถึงไตรลักษณ์ คือ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาซึ่งไม่ว่ามนุษย์ สรรพสัตว์ วัตถุที่คิดปรุงแต่ง ประดิดประดอยกันขึ้นมา จะต้องตั้งอยู่ในสภาพเดียวกันทั้งสิ้น
แม้กระพันพระธรรมคำสอนที่ตรัสไว้มากมายถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พระองค์ก็ยังตรัสว่า เป็นเพียงใบไม้แห้งกำมือเดียวเท่านั้น พระธรรมคำสอนที่ยังมิได้ตรัสถึง ยังมีอีกมากเท่ากับใบไม้ในป่า
เพราะเหตุนี้กระมัง พระอริยเจ้าก็ดี ท่านผู้ใครถึงความเป็นพระอริยะก็ดี จึงยินดีชื่นชมที่จะเข้าไปค้นหาพระธรรมคำสอนในป่า อันเป็นที่สงัดวิเวก พระพุทธเจ้าเองก็ได้พบธรรมในป่า ทรงเกิดในป่าตรัสรู้ในป่า นิพพานในป่า พุทธสาวกในครั้งกระโน้น เมื่อบวชเรียนแล้ว พระองค์ก็ทรงชี้แนะให้ไปบำเพ็ญเพียรค้นหาธรรมในป่า
ธรรมในป่าที่พระองค์นำมาสอนชาวโลก ก็คือทางที่จะนำสัตว์ในพ้นจากวัฏสงสาร ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิด ไม่ต้องตกอยู่ในอำนาจของไตรลักษณ์ และทำให้สามารถจะต่อสู้กับกิเลส ตัณหาจนถึงความพ้นทุกข์ได้ในที่สุด
ซึ่งโดยสรุปโดยย่อแล้ว อาวุธที่ทรงประทานให้ต่อสู้นั้น ก็คือ ศีลสมาธิ ปัญญา ซึ่งมีอานุภาพปราบได้ทั้งไตรจักร และหักหาญเอากิเลส ตัณหา ที่สิงอยู่ในจิตวิญญาณของมนุษย์และสรรพสัตว์มารวมไว้ในกำมือเดียว
แต่ช่างน่าสงสารนัก ที่ชาวโลกเป็นส่วนน้อยจะสนใจไยดีในเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อชำระความประมาทมัวเมากับกิเลสตัณหา ความโลภ ความโกรธ ความหลง เพื่อลดความยึดมั่นถือมั่นในรูปนามขันธ์ ๕ ให้หมดไป จะได้ถึงความพ้นทุกข์กันเสียที เพราะความทุกข์นี้ ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ไม่มีพระเจ้าองค์ใดจะช่วยได้ นอกจากตัวของเราเอง
เอาล่ะ…จะอารัมภบทไปมากนัก ท่านผู้อ่านก็จะเบื่อหน่าย เพราะขึ้นชื่อว่าธรรมแล้ว นับเป็นสิ่งที่ชาวโลกเบื่อหน่ายมากที่สุด โดยเฉพาะธรรมะในพุทธศาสนานี้ มันสวนทางกับความนิยมพอใจของชาวโลกมาโดยตลอด
ชาวโลกเขานิยมชื่นชมกิเลส ตัณหา เขาพอใจความโลภ โกรธหลง เขาติดในรูป เวทนา สัญญา สังขาร ว่าเป็นของรักของชอบใจจนยึดมั่นว่าเป็นตัวเราของเรา ยึดมั่นได้เท่าไร สะสมมากเท่าไรก็จะพอใจยินดีผูกพันเหนียวแน่นไม่ยอมปล่อย แม้จะรู้ว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ก็รู้ไปตามสัญญาที่สืบต่อกันมา แต่ไม่ยอมรับ ไม่ยอมสนใจ นี่แหละที่ว่า โลกกับธรรมมันเดินสวนทางกันจึงอยากจะขอเล่าเรื่องสนุกๆให้ฟังกันบ้าง
ก่อนจะเล่า ก็ใคร่ขอเรียนให้ทราบโดยย่อ ถึงผลของการปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา เสียหน่อยว่า ผู้ปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญานั้น จะได้รับผลเป็นขั้นตอนแตกต่างกันไป บางท่านได้เคยสร้างบุญบารมีมาเต็มเปี่ยมแล้ว อย่างเคยเป็นผู้บริจาคทานมาเป็นอันมากในอดีตชาติ เคยรักษาศีลบริสุทธิ์บริบูรณ์มาในอดีตชาติ เคยปฏิบัติธรรมสมาธิมาเต็มขั้น หรือมีพื้นฐานมาก่อน ผู้นั้นก็สามารถจะบรรลุธรรมขั้นเสขบุคคลได้โดยง่าย
อย่างในพุทธกาลท่านกล่าวว่า เพียงได้ฟังพระธรรมของพระพุทธเจ้าจบลง ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม สำเร็จเป็นพระโสดาบัน เป็นอนาคามี สกิทาคามี หรือเป็นพระอรหันต์ไปเลย
บางท่านบุญบารมียังไม่เต็มเปี่ยม ก็ยังต้องปฏิบัติต่อไปอีก เร็วบ้าง ช้าบ้าง บางทีก็ต้องปฏิบัติข้ามชาติข้างภพ อย่างได้โสดาบันแล้ว ยังไม่สำเร็จพระอรหันต์ในชาตินั้น ก็จะต้องไปเกิดอีกอย่างมากเพียง ๗ ชาติ
นอกจากนี้ก็ยังมีขั้นตอนของความสำเร็จอีก เช่น ขั้นต้น จะได้ขั้นขณิกสมาธิ ขึ้นไปอุปจารสมาธิ จนถึงขึ้นอัปปนาสมาธิ หรือได้ฌานที่ ๑ คือ ปฐมฌาน ฌานที่ ๒ คือ ทุติยฌาน ฌานที่ ๓คือ ตติยฌาน ฌานที่ ๔ คือ จตุตถฌาน ผู้ที่ได้ฌาน ๔ นี้ยังถือเป็นโลกิยฌานอยู่ ยังไม่ถึงขั้นโสดาบัน ได้แล้วไม่ปฏิบัติสืบเนื่องให้เกิดวสี คือความคล่องแคล่วชำนาญ ก็อาจเสื่อมได้ เพราะกิเลสตัณหา ความโลภ โกรธ หลง เพียงสงบลง แต่มันยังไม่ตายเด็ดขาดเมื่อกระทบสิ่งยั่วยุเข้า ก็เกิดขึ้นมาอีก
ผู้ปรารถนาความหลุดพ้น ต้องบำเพ็ญเพียรข้ามโลกิยฌานไปให้ถึงโลกุตรฌานอันดับแรก คือโสดาบันให้ได้ แม้กระนั้นกิเลสตัณหา ความโลภ โกรธ หลง ก็ยังมีอยู่ แต่ถือว่าเป็นขั้นไม่ย้อนกลับไปสู่อำนาจของกิเลสตัณหาแล้ว คือจะต้องขึ้นไปถึงธรรมที่สูงขึ้นไปจนบรรลุถึงอรหัตผล จึงจะพ้นวัฏสงสาร ไม่เกิด ไม่ตายได้เด็ดขาด
เพียงขั้นโลกิยฌานนี้ ก็ทำให้มีฤทธิ์ได้ เช่น ได้ตาทิพย์ หูทิพย์ระลึกชาติได้ เป็นต้น แต่เป็นการได้ในวงแคบ เช่น เห็นได้ไม่ไกลได้ยินไม่ได้ไกล หรือระลึกชาติถอยหลังไปได้เพียง ๔-๕ ชาติ ไกลกว่านั้นไม่ได้ ถ้าไปถึงขั้นโลกุตระแล้ว ก็จะเห็นได้ไกล รู้ได้ไกลยิ่งขึ้น และเห็นชัดเจนถูกต้องมากกว่า เอาแค่นี้ก่อน