วันพฤหัสบดีที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2557

บันทึกลับ ภิกษุนิรนาม ๑๖. กลับสู่วัด… พบความเปลี่ยนแปลง

DSC00785

บันทึกลับ ภิกษุนิรนาม

๑๖. กลับสู่วัด… พบความเปลี่ยนแปลง

เมื่อใกล้เข้าพรรษา หลวงพ่ออาจารย์ก็ชวนอาตมาธุดงค์กลับวัด ระหว่างเดินทาง หลวงพ่ออาจารย์ยิ้มแล้วก็ถามว่า

"ดูมหาจำเริญบ้างหรือเปล่า ตอนนี้เป็นอย่างไร"

"มหาจำเริญตอนนี้หรือครับ ท่านเป็นไปตามที่หลวงพ่อตั้งความ หวังไว้ เข้าป่าช้าทุกวันเลยครับ ต่อไปก็คงจะช่วยเป็นกำลังสำคัญ ให้ชาวบ้านมาปฏิบัติกันได้มากๆ"

"หลวงพ่อก็คิดอย่างนั้น เห็นมหาจำเริญปฏิบัติเคร่งครัด สำรวม อินทรีย์ยิ่งกว่าแต่ก่อน เพราะเรื่องบาปบุญคุณโทษนี้ หากไม่ปฏิบัติ ด้วยตัวเอง ก็มองไม่เห็นว่าเป็นนาม ผิดศีลเล็กๆ น้อยๆ แต่มีผลใหญ่ ก็ไม่รู้สึกสนใจอะไรกัน ตอนนี้คงรู้แล้วนะ เพราะมีสติมากขึ้น หลวงพ่อ ก็ต้องอนุโมทนา"

"แต่หลวงพ่อครับ"

"อะไรหรือเณร"

"หลวงพ่อเห็นหรือยังว่า ตอนนี้เรายังจัดตั้งสำนักปฏิบัติไม่ได้ คงจะต้องใช้เวลา ๔-๕ ปีข้างหน้า"

"อือ…เห็น! อะไรมันยังไม่เกิด มันก็ไม่เกิด แต่เราก็ต้องเริ่มสร้าง คนให้รู้ทางเสียก่อน ชาวบ้านข้างวัดที่เห็นว่าพอมีวาสนาบารมีก็มีอยู่ หลายคน ชวนเขาให้มาปฏิบัติ ไม่ช้าเขาก็จะนำเอาคนอื่นมาด้วย"

"งั้นพรรษานี้หลวงพ่อก็ลงมือได้แล้ว"

"เณรก็ต้องช่วยหลวงพ่อเหมือนกันนะ"

"ก็ยังไม่ถึงเวลาอีกนะครับ หลวงพ่อ"

"อือ…ก็จริงของเณร ต้องอุปสมบทเสียก่อน เมื่ออุปสมบทแล้ว เณรก็ต้องออกธุดงค์ไปตามลำพังอีก อย่างน้อย ๕ พรรษา คงพอจะ กลับมาสร้างความเชื่อถือให้ชาวบ้านได้"

"ที่จริงผมควรไปธุดงค์กับหลวงพ่อ จะได้คอยดูแลปฏิบัติหลวงพ่อ ด้วย เพราะหลวงพ่ออายุมากแล้ว"

"หลวงพ่อจะหยุดออกธุดงค์แล้วนะ ตั้งแต่บวชมาก็ ๓๐ กว่าปี ไม่เคยขาดเลย ตอนนี้ออกธุดงค์หรือไม่ จิตก็เป็นอย่างเดียวกัน จึงคิด อยากจะอยู่ช่วยมหาจำเริญต่อไป จนกว่าจะละสังขาร"

"หลวงพ่อยังอยู่อีกนาน ยังไม่ละสังขารง่ายๆ หรอกครับ"

"ละไม่ละ ก็เท่ากันนะเณร เพราะหลวงพ่อไม่ได้ไปยึดถือ อยู่ กับความเกิด ความตาย แตกดับอะไรอีก แต่เณรเองก็เบาใจได้แล้วนี่"

"ครับ! ผมไม่มีความสงสัย ในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระ อริยสงฆ์อีกแล้ว แต่ยังไม่จบพรหมจรรย์ คงต้องประคับประคองจิต ไปอีกสักระยะหนึ่ง ถึงจะไม่ย้อนกลับก็ประมาทไม่ได้ ผมไม่อยากเสีย เวลาไปเป็นพรหม"

"ถูกแล้วเณร แต่ดูดีแล้วหรือว่า บุญบารมีจะพอในชาตินี้"

"ตอนนี้ยังไม่พอครับ แต่ก็คงจะสร้างสมได้ทัน อุปสมบทแล้ว พรรษานี้ พอออกพรรษาก็จะต้องไปสร้างบารมีอีกสักพัก คงจะแสวง วิเวกอย่างเดียวไม่ได้"

เมื่อกลับไปถึงวัด ปรากฏว่าที่ป่าช้ามีกุฏิมุงแฝกเพิ่มขึ้นอีก ๓ หลัง เพราะภิกษุในวัดเห็นการปฏิบัติของมหาจำเริญ ก็เกิดความเลื่อมใส ขอเข้าไปปฏิบัติด้วย

ตอนนี้มหาจำเริญมีอาการสำรวมมากกว่าแต่ก่อน ราศีก็ดูผ่องใส กว่าแต่ก่อน

นี่แหละแสดงว่ากายตามจิต เมื่อจิตละเอียดมากเข้า กายก็ละเอียด ประณีตตาม คือ มีความสำรวมระวังมากขึ้น แม้ปุถุชนคนทั่วไปก็ตาม เราก็จะเห็นความแตกต่างระหว่างคนที่จิตเป็นกุศล มีคุณธรรม หรือ อย่างน้อยเป็นผู้ที่มองโลกในด้านดี มักจะมีกิริยาทางกาย วาจา อ่อน โยน สุภาพ ราบเรียบ เป็นที่รักนิยมของผู้อื่น ส่วนคนที่มีจิตเป็นอกุศล ไร้คุณธรรม โหดเหี้ยมอำมหิต ซึ่งเป็นจิตหยาบกร้าน ก็มักมีกาย วาจา หยาบกระด้าง ใครเห็นก็ชิงชังไม่อยากเข้าใกล้

แต่ในทุกวันนี้ ชาวโลกเราปล่อยให้จิตตามกาย เป็นเบี้ยล่างของ กาย เป็นทาสของกาย มีความโลภ โกรธ หลง เป็น "พลัง" ส่งเสริม ให้เห็นผิดเป็นชอบ กายต้องการอะไร ต้องหามาปรนเปรอให้จงได้

กิเลส ตัณหา อุปาทาน ก็ประดังกันมา จนเกินความสามารถ ของจิต ที่จะปฏิบัติตามได้ เมื่อเกินความสามารถ ทำอะไรลงไปก็ประสบ ความพ่ายแพ้ ผิดหวัง เศร้าเสียใจ สุดแต่จะเป็นไป ถึงกับทำลาย ตนเอง ทรัพย์สินให้พินาศย่อยยับไปก็มี

ชาวโลกแบกตัวพ้นทุกข์ไว้ด้วย อวิชชา คือ ความรู้ไม่จริงของ ตนเอง แล้วก็ทำหน้าชื่นอกตรมไปตามประสาของคนที่ถูกอวิชชาครอบงำ

ธุรกิจการงานทั้งหลาย ที่มนุษย์ปฏิบัติกันอยู่ในสังคมนั้น ท่าน ว่าต้องมีหลักการ และดำเนินไปตามหลักการ จึงบรรลุความสำเร็จ ใครที่ละทิ้งหลักการ ทำไปตามอารมณ์ของตน ธุรกิจการงานนั้นก็จะ พังทลายได้โดยง่าย ชีวิตก็เช่นเดียวกัน

ทางพระพุทธศาสนาท่านถือว่า มนุษย์ก็ต้องอยู่ในหลักการเหมือน กัน คือ ต้องขึ้นอยู่กับการเวียนว่ายตายเกิด ขึ้นอยู่กับอสังขธาตุ มี ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ธาตุอากาศ วิญญาณธาตุ และต้อง ขึ้นอยู่กับกรรม

ใครจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม ว่าชีวิตมนุษย์เรา มีการเวียนว่ายตายเกิด มานับครั้งไม่ถ้วน ต้องเป็นความจริงอยู่เช่นนั้น การเวียนว่ายตายเกิด ก็ขึ้นอยู่กับธาตุที่กล่าวมาแล้ว เมื่อธาตุรวมตัวกันขึ้นก็เกิด เมื่อธาตุแยก ตัวกันออกก็ตาย การจะเกิดหรือตายก็ต้องอาศัยกรรมเป็นเครื่องจำแนก จะไปเกิดเป็นอะไร จะตายเมื่อไร ขึ้นอยู่กับกรรมที่ตนได้กระทำขึ้นทั้ง สิ้น ทำกุศลไปเกิดเป็นเทวดา พระอินทร์ พระพรหม หากทำอกุศลก็ ไปเกิดเป็นเปรต อสุรกาย สัตว์นรก จำแนกกันอย่างนี้ นี่เป็นหลักการ ดั้งเดิมในชีวิตของมนุษย์และสัตว์

ต่อมาเพราะมีการจำแนกการเกิด ก็มีอวิชชาเกิดขึ้น คือ ทำให้ มีความไม่รู้ เป็นเครื่องปิดบัง ให้ทำผิด คิดผิด ไปตามอารมณ์ชอบ

อันที่จริงอวิชชานี้ เป็นต้นเหตุให้เกิดการแสวงหาความรู้ เช่นเดียว กับกิเลส ถ้าเราไม่มีกิเลสก็ไม่ต้องหาทางดับกิเลส ถ้าไม่มีตัณหา ก็ ไม่ต้องหาทางดับตัณหา

ถ้าจะเปรียบอวิชชาเป็นภูเขาลูกใหญ่ ที่ขวางหน้าเราอยู่ ฟากเขา ด้านหลังเป็นวิชา ฟากเขาด้านหน้าเป็นอวิชชา เมื่อเราต้องการข้าม ไปหาวิชา เราก็ต้องข้ามอวิชชา คือ สันเขาขึ้นไป จนถึงด้านหลังเขา พอข้ามอวิชชาไปได้ เราก็ได้วิชา…

พระพุทธเจ้าจึงทรงให้ดับอวิชชา เมื่อดับอวิชชาได้เด็ดขาด ก็เป็น อันสิ้นทุกข์ ไม่เกิดไม่ตายอีกต่อไป แต่อวิชชาก็ไม่ใช่สิ่งที่จะดับได้โดย ง่าย เพราะเป็นตัวโลภ โกรธ หลง ต้องพากเพียรพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อชำระล้างตัวไม่รู้ ให้หมดสิ้นไป

อาตมากลับถึงวัดแล้ว ก็ได้ไปเยี่ยมท่านมหาจำเริญที่กุฏิมุงแฝก ในป่าช้า รู้สึกว่าท่านมีความยินดีมาก ที่ได้พบอาตมา คำถามแรกของ ท่านก็คือ

"ลำบากไหมเณร"

"ไม่ลำบากเลยครับ มีแต่ความสงบสบาย"

"ออกพรรษาหน้านี้แล้ว หลวงพี่คงได้ไปบ้าง"

"อย่าเพิ่งเลยครับหลวงพี่ ผมว่าปฏิบัติเอาที่ป่าช้านี่แหละ ให้พอ ตัวเสียก่อน จะดีกว่า อีกอย่างหลวงพ่ออุปัชฌาย์ท่านจะไม่ออกธุดงค์ อีกแล้ว ว่าจะอยู่ช่วยท่านมหาสร้างสำนักปฏิบัติ ตามที่คิดกันไว้"

"เณรว่าปฏิบัติให้พอตัวเสียก่อน หมายความว่าอย่างไร"

"หมายความว่า เมื่อออกธุดงค์อยู่ในป่า พบอันตรายต่างๆ ก็เอา ตัวรอดได้ แต่ตอนนี้การปฏิบัติของหลวงพี่ แม้จะดีขึ้นมาก แต่จิตก็ยัง ไม่ถึงขั้นอัปปนาสมาธิ หรือฌาน ๔ ได้แต่เพียงความปีติ ความสุข อิ่มเอิบอยู่เท่านั้น"

"เณรรู้ได้อย่างไร"

"ก็จริงไหมล่ะหลวงพี่ เชื่อผมเถอะ หลวงพี่ต้องเร่งความเพียร ทางสมถะอย่างเดียว ให้ได้เสียก่อน ถ้ายังไม่ได้ขั้นอัปปนา หรือได้ แล้วยังไม่ชำนาญพอ อย่าเพิ่งเอาวิปัสสนาเข้ามาแทรก เพราะจะไม่ได้ อะไรเลย จะได้แต่สัญญานอกๆที่จดจำมาจากหนังสือ หรือประสบ การณ์ ยังไม่เป็นธรรมที่เกิดรู้ขึ้นมาเอง

ที่ผมพูดนี้ ไม่ใช่มาสอนหลวงพี่นะ เพราะผมได้ปฏิบัติมาแล้ว ไม่อยากให้หลวงพี่หลงงมอยู่ อย่างที่ผมเคยหลงมาแล้ว"

"ก็เห็นจะต้องเชื่อเณร เพราะเณรปฏิบัติมาก่อนหลวงพี่ ว่าแต่ ไปธุดงค์คราวนี้ เณรคงได้อะไรเพิ่มเติมมาอีกมาก"

"สิ่งที่ผมได้เพิ่งเติมมานั้น แท้จริงก็ได้ความไม่มีอะไรนั่นเอง หรือ จะว่าความยึดถือตัวเราของเรา มันน้อยลง เบาบางลง

หลวงพ่ออุปัชฌาย์ท่านว่า การที่เรามาปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา กันนั้น จุดหมายก็คือความไม่มีอะไร ความเป็นอิสระ ความไม่เกิด ไม่ตาย"

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons