บันทึกลับ ภิกษุนิรนาม
๑๔. อบรมจิตตามแนวสติปัฏฐาน ๔
เมื่อจิตอยู่ในอุเบกขาพักหนึ่ง เป็นที่สบายแล้ว ก็ถอนจิตออกมา เป็นอุปจารสมาธิ ที่ยังมีเชื้อของความสงบเหลืออยู่ เริ่มพิจารณาตาม แนว "สติปัฏฐาน ๔" อันได้แก่ รูป เวทนา จิต ธรรม ไปตาม ลำดับ คำว่าตามลำดับนี้ ไม่ใช่ครั้งเดียวหนเดียว แต่พิจารณาไปตลอด เลย พิจารณาเป็นอย่างๆ
เริ่มต้นด้วย "รูป" อันรูปคนอื่นที่เป็นสิ่งนอกตัวนอกตนนั้นก็ช่าง เขา เอารูปกายยาววา หนาคืบ ที่ว่าเป็นเราของเรานี้ พิจารณาก่อน… เพราะเพียงคำว่ารูปที่เรียกว่า กายคตาสติ นี้ มีปลีกย่อยออกไปถึง ๓๒ และใน ๓๒ ประการนี้ ก็ยังแยกย่อยออกไปอีก เช่นคำว่า กระดูก ไม่ได้หมายเฉพาะกระดูกร่างกายร่างหนึ่งเท่านั้น แต่มันยังแยกออก ไปอีกถึง ๓๐๐ ท่อน…เส้นเอ็นก็นับไม่ถ้วน
นอกจากนี้ท่านก็ในแยกพิจารณา เช่น ผม ท่านก็เอามาคำนวณ ออกได้ถึงสามแสนเส้น
เล็บ ก็เอาเล็บมาพิจารณา จนเกิดเห็นขึ้นมาเองว่า เล็บเกิดอย่าง ไร เปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ ธาตุรู้ก็จะเห็นขึ้นมาเองว่า เล็บแปรปรวน ไป ไม่คงทน เห็นยาวก็ตัดออก ก็ขึ้นมาใหม่ หรือไม่ตัดปล่อยให้ยาว ก็จะหักเอง นี่มันไม่เที่ยง เกิดดับเห็นๆ อยู่
ลึกเข้าไปอีก เมื่อเราตาย คงจะหลุดหายไป การพิจารณาอย่างนี้ ยังเอาสัญญาเข้ามาพิจารณา เราเพียงเพ่งดูเล็บ จนกว่าธาตุรู้จะเห็น ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมาเองชัดเจน จึงจะใช้ได้
ต่อไปก็เอา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง มาเพ่งพิจารณาไปทีละอย่าง เมื่อธาตุรู้เห็นชัดแล้ว ก็เปลี่ยนใหม่จนครบอาการ ๓๒ นี่เป็นการพิจารณา กายคตาสติ อันประกอบด้วยอาการ ๓๒ หรือจะไปพิจารณาของจริง ทั้งกาย อันเรียกว่าอสุภะหรือศพ ตั้งแต่เพิ่งตาย ให้ติดตาติดใจจน หลับตาเห็นก็ได้
เมื่อเราพิจารณารูปกายผ่านไปแล้ว ย่อมเกิดความเบื่อหน่ายคลาย กำหนัด เมื่อเบื่อหนักเข้า ก็จะรู้ขึ้นมาว่า รูปกายนี้ไม่ใช่เราของเรา เป็น อนัตตา ไม่มีตัวตน มาเฝ้าเป็นบ้าเป็นหลัง มายึดถืออะไรอยู่ ก็จะ ปล่อยวางลงไปเอง
ที่นี้ ก็ให้เอา เวทนา มาเพ่งพิจารณา เวทนาที่ท่านเรียกกัน มีทั้งทุกข์ เรียกว่า ทุกขเวทนา มีทั้งสุข เรียกว่า สุขเวทนา แต่ตามความ เป็นจริงล้วนแต่สุข เพื่อจะทุกข์ต่อไปทั้งสิ้น สุขแท้ๆ ที่จีรังยั่งยืนไม่มี
ทุกขเวทนานั้น ที่มองเห็นก็เกิดที่กาย ที่จิตนี้เอง ตื่นเช้าขึ้นมาก็ ปวดท้องถ่าย จะกลั้นไว้ไม่ได้ ร่างกายก็สกปรก ต้องชำระร่างกาย ทำความสะอาดให้ เดี๋ยวมันหิวขึ้นมาแล้วต้องหาให้มันกิน ไม่กินก็ แสบท้องแสบไส้ ที่ขวนขวายดิ้นรน ต่อสู้แข่งขันแย่งชิง เอาดีเอาเด่น ได้ประโยชน์ เสียประโยชน์ ต้องรบราฆ่าฟันกันทุกวันนี้ ก็เพียงเรื่อง กินเท่านั้น
ความเกิด ก็เป็นทุกข์ เพราะผู้ให้กำเนิด พอรู้ว่าตั้งท้องก็เริ่มเดือด ร้อน ต้องเตรียมหาเงินค่ายา ค่าหมอ เตรียมเลี้ยงดูอุปถัมภ์ ตลอดจน เติบโตเล่าเรียน เวลาจะคลอด แม่นั้นทุกข์กว่าเพื่อน เจ็บปวดทรมาน กว่าเพื่อน กว่าจะคลอดออกมาได้
แต่ทุกข์เหล่านี้ เป็นทุกข์ของพ่อแม่ ตัวเรายังไม่ทุกข์หรอกตอนนั้น แต่ก็เป็นทุกข์ได้เหมือนกัน กับความร้อน ความหนาว ความเจ็บปวด ที่ยังบอกใครไม่ได้ พูดไม่เป็น
เกิดแล้วก็ต้องเจอกับ ความแก่ เจ้าความแก่นี่ก็เป็นทุกขเวทนา ทำให้วิตกกังวลไปต่างๆ กลัวจะหมดสวยหมดงาม ต้องหาวิธีดึงความ แก่เอาไว้ ไม่ให้แก่เร็ว
ความเจ็บ ก็เป็นเรื่องใหญ่ เจ็บปวดทรมานแสนสาหัส ยิ่งเป็นโรค ที่หมอรักษาหายยาก ก็เป็นทุกข์ร้อนกลัวจะตาย ตะลอนๆ เที่ยวหาที่ จะชุบชีวิตได้ เจ้าความกลัวตายนี้ จะว่าไปมันทุกข์ยิ่งกว่า ความตาย จริงๆ เสียอีก
ชีวิตคนเรา พระพุทธเจ้าท่านว่าเป็นทุกข์ เกิดมาไม่เหมือนกัน สุดแต่กรรมจะจำแนกแจกให้เป็นไป บางคนเกิดมาในกองเงินกองทอง พ่อแม่ร่ำรวย เป็นสุขสบายเมื่อยังเล็กอยู่ ครั้นเติบโตขึ้น กลับทำให้ พ่อแม่กลับยากจนลง ต้องเผชิญกับความทุกข์ยากลำบากก็มี ที่เกิดมา ยากจนก็ต้องทนอดมื้อกินมื้อ เหนื่อยยาก ต้องทำงานหนัก แต่ไม่พอกิน ล้วนเกิดทุกขเวทนาทั้งนั้น ชีวิตไม่มีอะไรแน่นอน การพรัดพรากจาก ของรักของชอบใจ ก็มีอยู่ทุกผู้ทุกคน
การเพ่งพิจารณาเวทนา ให้เห็นตามความเป็นจริง ตัวเราได้เผชิญ มาอย่างไรบ้าง เคยจากพรากทุกข์โศกมาบ้างหรือไม่ ถ้ายังมีการเกิด การตาย ทุกขเวทนาก็จะตามมาอยู่ด้วย ไม่ปล่อยปละละเว้น มันจะ ตามไปทุกภพทุกชาติ เมื่อพิจารณาอยู่อย่างนี้ ก็จะเกิดความเบื่อหน่ายคลาย กำหนัด
ได้กล่าวถึง กาย เวทนา แล้ว มาพูดถึงจิต บ้าง ถ้าเรา ได้ฝึกฝนทำสมาธิ เราจะมีเครื่องมืออย่างหนึ่ง ที่เรียกสติการระลึกรู้ เราก็จะรู้จักจิตของเราดีขึ้น จิตคิดไปได้ทุกอย่าง ฟุ้งซ่าน ปรุงแต่งไปได้ สารพัด รวดเร็วเหมือนสายฟ้าแลบ
ที่ท่านให้เฝ้าดูจิตด้วยสติ ก็เพื่อจะได้รู้ว่าจิตเป็นอย่างไร อารมณ์ กิเลสเข้ามาทางไหน มาดีหรือมาร้าย ถ้ามาไม่ดี คิดข้าง กิเลส ตัณหา อุปาทาน คิดไปในทาง โลภ โกรธ หลง เราก็ได้รู้เท่าทัน ยับยั้งมันเสีย ถ้าคิดไปในทางดี ก็อยู่ในขอบเขตของมรรค ๘ เราก็คอยดูว่าเป็นอย่างไร
จิตที่คิดอยู่ในขอบเขตของมรรค ๘ ย่อมเป็นต้นเหตุให้เกิด ธรรม เราท่านผู้ปรารถนาให้พ้นทุกข์ จงเฝ้าดูต่อไป จะเกิดธรรมให้รู้แจ้งแทง ตลอดในภายหลัง
การตาม สติปัฏฐาน ๔ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ที่กล่าว มาอย่างสั้นๆ นี้ ท่านให้ทบทวนกลับไปกลับมา เพื่อให้เข้าใจแจ่มแจ้ง ถึง ไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ว่าชีวิตไม่ว่าของเรา หรือใคร ก็จะเป็นเช่นเดียวกัน และความรู้นั้นต้องเป็นความรู้ที่เกิดขึ้น จากจิต อย่างที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้มาแล้ว อย่างที่เรียกว่า ธรรม เกิดขึ้นเอง จะเอาสัญญาความจำได้หมายรู้ ที่ได้มาจากปริยัติ ซึ่งเป็น ความรู้อย่างนอกๆ นั้นไม่ได้