วันพฤหัสบดีที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2557

บันทึกลับ ภิกษุนิรนาม ๑๘. แสวงวิเวกตามลำพัง

20121110_092401

บันทึกลับ ภิกษุนิรนาม

๑๘. แสวงวิเวกตามลำพัง

ครั้นออกพรรษาแล้ว อาตมาได้อยู่ช่วยจนภิกษุสามเณร เข้าสอบ ธรรมที่สนามหลวงจนเสร็จ จึงได้กราบลาหลวงพ่ออาจารย์ ออกธุดงค์ แสวงวิเวกไปตามลำพังต่อไป

ตอนแรก ท่านมหาจำเริญ และภิกษุ ๓ รูป ที่ไปปฏิบัติอยู่ในป่าช้า จะขอตามไปด้วย แต่หลวงพ่ออาจารย์ทักว่า

“ปฏิบัติอยู่ที่วัดไปก่อนเถอะ ยังไม่ถึงเวลาจะไป การออกธุดงค์ ต้องมีจิตที่แก่กล้ากว่านี้”

ท่านมหาจำเริญบอกว่า

“ไปกับท่าน…คงจะช่วยคุ้มครองให้ได้”

หลวงพ่ออุปัชฌาย์บอกว่า

“ได้นะได้หรอก แต่จะไปเป็นกังวลเปล่าๆ ที่ว่ายังไม่ถึงเวลา ก็ เพราะบารมียังไม่พอ อาจจะเกิดอันตรายได้ จึงไม่อยากให้ไป หากอยู่ก็ จะได้ช่วยกันทางนี้”

เมื่อครูอาจารย์ทักท้วง ก็ไม่มีใครกล้าขัดขืน เพราะต่างก็รู้ คุณพิเศษของท่านเป็นอย่างดี

ออกธุดงค์แต่ลำพังคราวนี้ ไม่ได้ย้อนกลับวัดตอนใกล้เข้าพรรษา และไม่ได้ไปขอจำพรรษาที่วัดไหนเลย

พอเข้าพรรษาก็อธิษฐานเข้าพรรษาอยู่ในถ้ำใดถ้ำหนึ่งจนครบ ๓ เดือน แล้วออกธุดงค์ต่อไป โดยมากก็วนเวียนอยู่แถบจังหวัดเลย และ จังหวัดเพชรบูรณ์ เข้าไปอยู่ในป่าลึกๆ ไกลผู้คน เวลาต้องการอาหาร ซึ่งหลายๆ วันสักครั้ง อยากจะโปรดหมู่บ้านไหน ก็ไปด้วยการอธิษฐาน ชั่วขณะหนึ่งก็ไปถึงชายป่าใกล้หมู่บ้าน แล้วจึงเดินเข้าไป นับว่าไปมา สะดวกรวดเร็ว ไม่ลำบากอะไร

ชาวบ้านบางคนก็ถามว่า ท่านพักอยู่ที่ไหน ก็ได้แต่ตอบว่า อยู่ ไกล โยมเดินทางวันหนึ่ง ไม่ถึงหรอก ซึ่งชาวบ้านก็ได้แต่แปลกใจ

ส่วนมากการเดินธุดงค์นั้น อาตมาแสวงวิเวกเรื่อยไป จากภาคกลาง ขึ้นภาคอีสาน ตัดขึ้นภาคเหนือ แล้วลงไปภาคใต้

เมื่อบำเพ็ญสมาธิภาวนากล้าแข็งขึ้น ตาทิพย์และหูทิพย์ที่ได้มาแต่ เด็กๆ ก็เห็นได้กว้างไกลยิ่งขึ้น อยากเห็นที่ไหน นั่งอยู่กับที่ก็ได้เห็นทะลุ ปรุโปร่งแจ่มแจ้ง เป็นการรู้เห็นแบบปัจจัตตังเฉพาะตัว ซึ่งไม่สามารถ จะอธิบายให้ผู้อื่นเห็นตามได้ นอกจากเขาจะได้ปฏิบัติด้วยตนเอง

คำว่า “พุทโธ” ซึ่งเป็นบทภาวนาเบื้องต้น เป็นของดีอันประเสริฐ เป็นทางให้ไปสู่ความเป็นผู้รู้ คือรู้แจ้งในธรรมทั้งปวง เป็นทางให้ไปสู่ ความเป็นผู้ตื่น คือ ตื่นจากกิเลสตัณหาที่ห่อหุ้มชีวิตอยู่ปราศจากนิวรณ์ ทั้ง ๕ ตื่นตัวตื่นใจอยู่ทุกขณะ เป็นทางให้ไปสู่ความเป็นผู้เบิกบาน เพราะปราศจากความยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวเราของเรา ดังที่อาตมาได้สัมผัสอยู่

แต่ชาวโลกนั้นเกิดมามีกรรมมีเวร มีอวิชชาครอบงำอยู่ ใครจะมา แนะนำชักจูงว่า ลองทำสมาธิเสียบ้างซิ เขาก็จะหลีกเลี่ยง อ้างว่าไม่มี เวลาบ้าง ใจไม่สงบบ้าง มีเรื่องยุ่งยากกับการงานครอบครัวบาง ซึ่งล้วน แต่เป็นข้ออ้างของกิเลสตัณหา โลภ โกรธ หลง ยึดนั่น ติดนี่ ซึ่งเป็น อวิชชาทั้งสิ้น

นับว่าชาวโลกส่วนมากเป็นผู้น่าสงสาร แต่ใครจะไปฉุดรั้งผลักดัน เขาได้อย่างไร เมื่อเขาไม่เคยนึกสงสารตนเองเลย

สงครามในซีกโลกต่างๆ ทำให้ต้องฆ่ากัน ทำลายล้างกัน โดย ไม่มีสาเหตุจำเป็นเลย ก็เพราะอวิชชานี้ ทำให้ไม่รู้บุญรู้บาป รู้ผิดรู้ถูก ไป เที่ยวยึดถือเอาสิ่งภายนอกเข้ามาทำลายตน

นี่ก็พูดไปตามเนื้อผ้าหยาบๆ ของชาวโลก อาตมาไม่วุ่นวายเดือดร้อน ด้วย เพราะได้ละวางแล้ว จิตที่อยู่เหนือทุกขเวทนา สุขเวทนา มันเห็น แต่ว่า สิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นย่อมดับไป จะเกิดหรือดับ ก็เป็นไปตามสมมติ เป็นไปตามธรรมดา จะต้องเป็นไปเช่นนั้น ไม่มีใครจะไปเปลี่ยนแปลงได้ เว้นแต่ยังไม่สิ้นกรรม สิ้นวาระ ก็แก้ไขปัดเป่ากันไป

อาตมาเบิกบานด้วยสุขวิหารธรรม อยู่ตามป่าตามถ้ำ เป็นเวลา ถึง ๕ ปี หรือ ๕ พรรษา เพลิดเพลินการเสวนาธรรมกับครูบาอาจารย์ ที่ธุดงค์อยู่ในป่า ทั้งที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ และจิตวิญญาณที่เป็นอมตะ ซึ่งมีอยู่มากมาย

ธรรมเหล่าใดที่ยังข้องใจสงสัยอยู่ ท่านเหล่านั้น ก็ให้อรรถาธิบาย ให้กระจ่างขึ้น ตามภูมิปัญญาของท่าน

ผู้ที่ไม่เชื่อว่าในโลกนี้ยังมีพระอรหันต์ เพราะเขาไม่เห็น แต่ความ จริงแล้ว พระอรหันต์มีอยู่นับไม่ถ้วน บางท่านก็เป็นพระอรหันต์ แบบสุขวิปัสสโก ยินดีพอใจซุ่มซ่อนอยู่เงียบๆ ท่ามกลางป่าดงพงลึก บางท่านก็เป็นพระปัจเจกพุทธ บางท่านก็ทรงฤทธิ์อภิญญา แสดง ปาฏิหาริย์ต่างๆเล่นแก้รำคาญ เป็นที่เบิกบานใจของท่าน ปาฏิหาริย์ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่สำเร็จด้วยจิต คิดจะให้เป็นอย่างไร ก็เป็นขึ้นมาอย่างนั้น ไม่ต้องอาศัยเวทมนตร์คาถา แบบไสยศาสตร์ ท่านเหล่านี้ท่านแสดงธรรม ได้ สอนได้ แต่ท่านไม่ทำ เพราะไม่ได้บำเพ็ญบารมีมาทางนี้

ยังมีอีกเป็นจำนวนมาก ที่สมัยเป็นมนุษย์ปฏิบัติธรรมอยู่ แล้ว กายทิพย์ถอดจากร่างไปโดยไม่รู้ตัว เมื่อกายทิพย์ออกไปแล้ว ก็เพลิด เพลินท่องเที่ยวไปในแดนสวรรค์ชั้นต่างๆ เมื่อสติไม่กล้าแข็งพอ ไปหลง ติดอยู่กับวิมานนางฟ้า ทำให้ลืมเวลาอันสั้นของเมืองมนุษย์ ครั้นคิดกลับ เข้าร่าง ร่างก็เน่าเปื่อยหรือเขาทำการเผาไปแล้ว จึงต้องท่องเที่ยวเร่ร่อน ไป จะไปเกิดก็เกิดไม่ได้ เป็นพวกนอกบัญชีที่ยังไม่ถึงอายุขัย

การที่กายทิพย์จะออกไปนั้น เป็นการออกแบบไม่รู้ตัว สติไม่ แก่กล้าพอที่จะตามรู้การไปของกายทิพย์ ฉะนั้นผู้ปฏิบัติสมาธิ จึงควรทำ สมาธิของตนให้แก่กล้า เพื่อจะได้มีสติรู้เท่าทันอย่างสมบูรณ์ จะได้ ไม่หลงเพลิดเพลิน จนลืมการกลับสู่ร่างเดิม และจะไม่กลายเป็นกายทิพย์ เร่ร่อน สัญจรไปมาอยู่มากมายในขณะนี้

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons