บันทึกลับ ภิกษุนิรนาม
๑๓. เล่นกสิณ
หลวงพ่ออาจารย์กับอาตมา ไม่ได้ออกจากป่าไปบิณฑบาต ตามหมู่บ้านมนุษย์เป็นเดือนๆ เพราะระยะทางห่างไกลมาก ก็ได้อาศัย ญาติโยมชาวบังบดลับแลนี้ เอาอาหารมาใส่บาตรให้
สังเกตอาหารที่เขาใส่ให้ เป็นข้าวสีเหลืองอ่อนๆ มีกลิ่นหอม อาหารก็มีถั่วงาเป็นพื้น ไม่มีเนื้อสัตว์เลย ฉันครั้งหนึ่งก็ชุ่มชื่นอิ่มเอิบ ไปได้หลายวัน
แต่ตามปกติ เมื่อจิตอยู่ในขั้นอุเบกขาแล้ว เรื่องอาหารไม่เคยได้ เอาใจใส่ จะฉันหรือไม่ฉัน มันก็อิ่มและวางเฉยอยู่ เป็นสิ่งประหลาด มากว่า จิตที่ฝึกดีแล้วสามารถดำรงกายอยู่ได้ โดยไม่เดือดร้อนกระวน กระวาย
การออกธุดงค์ครั้งแรกตอนเป็นสามเณรนี้ ทำให้การปฏิบัติธรรม เจริญรุดหน้าไปเป็นอันมาก
ครั้งหนึ่งหลวงพ่ออาจารย์ท่านพูดเปรยๆว่า
"จิตของเณรดีเข้าขั้นแล้ว นึกสนุกก็เอากสิณมาเพ่งดูบ้าง ถือ ว่าเป็นของเล่นของจิต"
อาตมาก็ทำตาม ได้ไปนั่งอยู่บนก้อนหิน ที่ริมลำห้วยใหญ่ อันมี น้ำใสไหลเย็น นั่งเพ่งน้ำในลำห้วยอยู่อย่างนั้น จนกระทั่งมองเห็น พื้นน้ำติดตา ลืมตาก็เห็น หลับตาก็เห็น
เมื่อชำนาญคล่องแคล่วแล้ว ก็นึกให้น้ำแห้งจนติดก้นลำห้วย น้ำก็ แห้งอย่างคิด นึกให้น้ำเต็มฝั่ง ก็ขึ้นมาเต็มฝั่ง แล้วนึกให้พื้นน้ำแข็ง เหมือนแผ่นดิน เดินไปมาได้ นึกให้น้ำไหลอย่างเก่าก็เป็น อันนี้เป็นสิ่ง ที่สำเร็จด้วยจิต ซึ่งได้จากการฝึกกสิณน้ำจนชำนาญ เพียงนึกก็เป็นดัง ประสงค์
ต่อไปเมื่อคิดจะเอากสิณอย่างอื่น ในกสิณทั้ง ๑๐ มาเพ่ง ไม่ต้อง เอาวัตถุใดมาเพ่ง เพียงแต่นึกถึงกสิณ ก็เกิดเป็นผลสำเร็จขึ้นมาทันที ทั้ง นี้ก็เพราะระดับจิต เป็นระดับเดียวกัน
เมื่อได้กสิณน้ำแล้ว อย่างอื่นก็ได้ด้วย เพียงแต่ทำให้คล่องแคล่ว ชำนาญเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ เมื่อนึกจะขึ้นไปเดินจงกรมในอากาศ กายก็ลอยขึ้นไป นึกจะเดินทะลุภูเขา มันก็ทะลุออกไปได้ นึกจะดำดินไปโผล่อีกแห่งหนึ่ง ก็ทำได้ นึกอยากจะไปถึงที่ไหน ก็ไปถึงได้ทันที นี่เป็นฤทธิ์อภิญญา ที่มีสอนไว้ในพระพุทธศาสนา ถ้าทำได้จริงก็จะไม่แพ้ฤทธิ์ของลัทธิใด เพราะเป็นฤทธิ์อภิญญาบริสุทธิ์ ไม่มีใครทำลายได้ ไสยศาสตร์มนต์ดำ หมดความหมายไปเลย
แต่เมื่อสำเร็จทางกสิณแล้ว หลวงพ่ออาจารย์ท่านก็เตือนว่า อย่า ไปติดนะ ไม่จำเป็นก็อย่าไปแสดงให้ใครเห็น ถือว่าเป็นเพียงของเล่นทาง ผ่านเท่านั้น ยังไม่ถึงขั้นหลุดพ้นได้ ต้องพากเพียรปฏิบัติต่อไป ซึ่งอาตมา เองก็คิดเช่นนั้น นอกจากทดลองอยู่แต่ในป่าในเขา เพื่อให้รู้ว่า สำเร็จ หรือยัง แล้วก็วางเสีย หันมาปฏิบัติธรรมสมาธิ
ต่อมาอาตมาก็ฝึกฝนอบรมจิตมาตามลำดับขั้นตอน จนกระทั่งจิต เข้าสู่อุเบกขาชำนาญ คือนึกจะวางเฉยเมื่อไรก็วางได้ เมื่อนั้น ไม่ต้อง มานั่งภาวนาพุทโธ หรือลมเข้าลมออกอะไรอีก เห็นว่าสมถะมั่นคงแล้ว มีสติสมบูรณ์แล้ว จึงเห็นว่าควรเข้าวิปัสสนา เพื่อความรู้แจ้งในธรรม เพื่อความพ้นทุกข์ต่อไป