ขาดสิ่งหนึ่งไปจะทำให้มีมนุษย์ไม่ได้ ส่วนกลุ่มพหุนิยม ตอบว่ามนุษย์ก็คือจิต สสาร และปัจจัยอื่นๆ มารวมกันทั้งสสารและจิตและสิ่งอื่นๆ รวมกันเข้าเป็นองค์ประกอบของมนุษย์
แต่นักปรัชญาฮินดูถือว่ามนุษย์โดยสภาพเดิมแท้ของเขาแล้วเป็นสัตว์ที่เกี่ยวพันทางวิญญาณ ในทรรศนะนี้นักปรัชญาฮินดูถือว่า มนุษย์ประกอบด้วยส่วนต่างๆ คือ ร่างกาย จิตใจ และความรู้และชีวาตมัน ส่วนร่างกายผูกพันอยู่กับโลกภายนอก มีความหิวกระหาย มีการกินอาหารและการขับถ่ายเป็นต้น เพื่อดำรงชีวิตของตนเอง จิตใจต้องการความรู้เพื่อพัฒนาตนเอง อัตตาหรือตัวชีวะต้องการประสบการณ์ทางศาสนาเพื่อความสมบูรณ์ของตนเอง ในปรัชญาฮินดูกล่าวว่า ชีวาตมันหรือวิญญาณส่วนบุคคลนั้น ไม่ตกอยู่ในอำนาจของกิเลส ไม่ตกอยู่ในอำนาจของร่างกายและไม่ตกอยู่ในอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น เป็นสภาพที่บริสุทธิ์ผุดผ่องเป็นสิ่งเดียวกับ พรหมัน ชีวาตมันถือว่าเป็นสภาวะเดิมแท้ของมนุษย์
โมกษะ จึงเป็นเป้าหมายสูงสุดของชาวฮินดูเป็นสภาวะที่อาตมัน คือ ตัวตนที่แท้จริง หลุดพ้นจากเครื่องร้อยรัดทั้งปวงแล้วผสานเป็นหนึ่งเดียวกับพรหมมัน ประดุจแม่น้ำที่ไหลไปสู่มหาสมุทร แล้วผสานเป็นหนึ่งเดียวกับมหาสมุทรเมื่อบรรลุโมกษะแล้ว ถือว่าเราได้บรรลุความปรารถนาทั้งหมด และเข้าถึงภาวะความสมบูรณ์ของวิญญาณ ความสุขในภาวะเช่นนี้เป็นบรมสุขที่อยู่เหนือความเข้าใจและจินตนาการทั้งหมด ไม่สามารถจะอธิบายเปรียบเทียบได้กับความสุขใด ๆ ที่มนุษย์คุ้นเคยอยู่ ความหมายของโมกษะในฐานะเป็นเป้าหมายของชีวิต สามารถอรรถาธิบายได้ในหลายแนวทาง ถ้ามองชีวิตในความหมายของมายาที่หลงติดยึดอยู่กับสิ่งต่าง ๆ เพราะความไม่รู้ (อวิทยา) การบรรลุโมกษะ หมายถึงการรู้แจ้งในตนเอง (อาตมวิทยา) และรู้แจ้งโลก (พรหม-วิทยา) การบรรลุโมกษะ จึงหมายถึงการออกจากความมืด (ความไม่รู้) ไปสู่ความสว่าง (ความรู้) ดังข้อความในพฤหทารัณยกะ อุปนิษัท ที่ว่า จงนำข้าฯ จากความมืดไปสู่ความสว่าง
นักปรัชญาฮินดูมองชีวิตในความหมายของการเวียนว่าย ตาย - เกิด ในสังสารวัฎ โมกษะ มีความหมายถึงการหลุดพ้นจากเวียนว่ายตาย - เกิด ไปสู่ความอมตนิรันดร์ ถ้ามองชีวิตในความหมายของการแสวงหาความเป็นจริง การบรรลุโมกษะ ย่อมหมายถึงการประจักษ์แจ้งในความเป็นจริงที่เป็นอัตวิสัย (อาตมสัตย์) อันเป็นหนึ่งเดียวกับความเป็นจริงที่เป็นภาววิสัย (พรหมสัตย์) กล่าวคือ การประจักษ์แจ้งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวระหว่าง อาตมันกับพรหมัน ไม่ว่าจะกล่าวในความหมายเช่นไร โมกษะย่อมมีความหมายเป็นหนึ่งหนึ่งเดียวสำหรับชาวฮินดู คือเป้าหมายที่ทุกคนต้องไปให้ถึง เพราะทุกชีวิตมีอยู่และเป็นไปเพื่อโมกษะเท่านั้น แต่คำว่า “มนุษย์” ในทรรศนะพุทธปรัชญา แตกต่างจากฮินดูโดยแท้ คือไม่มีชีวาตมันหรืออัตตาที่เที่ยงแท้