วันเสาร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

Ep 32 สติตั้งที่ใจละที่ใจ

หลักของพระพุทธศาสนา – วิธีดับทุกข์แบบของพระพุทธเจ้า 
“…เมื่อเรารู้จักเรื่องนามรูปแล้ว เราจะรู้จัก วัตถุ-ปรมัตถ์-อาการ
‘วัตถุ’ นี้ หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่าง
‘ปรมัตถ์’ ก็คือ กำลังเป็นอยู่-มีอยู่-เข้าใจอยู่-สัมผัสได้อยู่ในขณะนั้น
‘อาการ’ ก็หมายถึง ความเปลี่ยนแปลง
วัตถุทั้งหลายที่มองเห็นได้ด้วยตา จับถูกด้วยมือนั้น...มันก็เป็นอาการชนิดหนึ่ง เช่น บ้านเรือน...ก็มีการผุพังเปลี่ยนแปลงได้
บัดนี้ วัตถุอีกชนิดหนึ่งซึ่งมันมีจริง ๆ เห็นจริง ๆ เข้าใจจริง ๆ
วัตถุ...แปลว่า มีจริง วัตถุ...หมายถึง ของจริงที่มีอยู่ มันมีอยู่...มีอยู่หมดทุกคน อันนี้ชื่อว่า...‘การเขย่าธาตุรู้’ ของบุคคล มีอยู่แล้วทุก ๆ คน
แต่เมื่อเรายังไม่เห็น...นั้นแสดงว่า เรายังไม่เข้าใจ
แต่ตามความจริงมันมีอยู่แล้ว เมื่อเราดูอยู่นี้แหละ..เราเห็น
อ้อ วัตถุ...หมายถึง ตัวจริงของ ‘จิตใจ’ หรือว่า ‘ชีวิต’
ปรมัตถ์...ก็เรากำลังเห็นความเป็นอยู่ มีอยู่นี้แหละ
มันคิดขึ้นมา...อ้อ อาการเปลี่ยนแปลงของมันเป็นอย่างนั้น
ประเดี๋ยวมันคิดเรื่องนั้นขึ้นมา ประเดี๋ยวมันคิดเรื่องนี้ขึ้นมา
อันนี้เป็นอาการของความคิด เป็นวัตถุ-เป็นปรมัตถ์-เป็นอาการชนิดหนึ่ง
เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้แหละ...เรียกว่า เราเห็นธรรมอีกชนิดหนึ่ง
การเห็นธรรมชนิดนี้...เพื่อไปปราบ ความโลภ-ความโกรธ-ความหลง ให้หมดไป (เรียกว่า) เรารู้จักสมุฏฐานของความคิด
เมื่อเราไม่เห็นอันนี้แหละ ซึ่งก็คือ ความหลง
หลง...แปลว่า ไม่เห็น เมื่อไม่เห็น...ก็ไม่เข้าใจ
แล้วมันก็จะเป็นสมุฏฐานทำให้เกิดความโกรธ ทำให้เกิดความโลภขึ้นมา
‘มรรค’…ท่านว่า ‘เป็นข้อปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์’
ดังนั้น มรรค...ก็คือ เราเอาสติมาคอยดูความคิด
นี้เอง...คือ ข้อปฏิบัติ
และในขณะเดียวกันก็จะทำการทำงานอะไรก็ได้
ปฏิบัติที่ว่า (คือ) คอยดูอยู่นี้ ไม่ใช่เอามือปฏิบัติมรรคนะ
มือนี้ก็ต้องทำการทำงานไปตามหน้าที่ของเรา
ส่วนใจนั้น...เราต้องคอยดูตัวความคิด
จึงว่า มรรค...เป็นข้อปฏิบัติเพื่อถึงความดับทุกข์
เมื่อเราเห็นสมุฏฐานของมันแล้ว ก็เรียกว่า...
ซึ่งก็ต้องสมมติอีก เพราะคนที่ยังไม่เคยได้ยินได้ฟัง
ไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็น ไม่เคยปฏิบัติ...จะไม่รู้เลย
จึงจำเป็นต้องมาว่าเรื่องสมมติ หรืออุปมา หรือเปรียบเทียบให้ฟังอีก
สมมติคนที่ไม่เคยเห็นวิธีใช้ไฟฟ้า...ไปเปิดไฟฟ้า
เขาก็ไปจับเอาที่ตัวหลอดไฟ แล้วหมุนอยู่อย่างนั้น
หมุนจนตาย...หลอดไฟก็ไม่สว่าง
เพราะที่นั่นไม่ใช่สมุฏฐานที่ไฟฟ้าจะสว่างได้
เปรียบก็ว่า
คนลักษณะนั้นเป็นผู้ที่ยังไม่รู้สมุฏฐานต้นเหตุของความคิด
เขาจึงคิดว่า โทสะ-โมหะ-โลภะ มีอยู่เป็นประจำ...เขาจึงพูดกันไปอย่างนี้
ส่วนคนที่รู้จักสมุฏฐานของความคิดแล้ว
เขาก็จะรู้ตามความเป็นจริงว่า โทสะ-โมหะ-โลภะ ไม่มีเลย
ดังนี้ สองคนนี้...ความเห็นไม่ตรงกันแล้ว
ดังนั้น การสอนธรรมะนั้น...จึงไม่เหมือนกัน
ผมจึงพูดว่า ตัวสมุฏฐานของโทสะ-โมหะ-โลภะ
ไม่มีปรากฏเกิดขึ้นมาได้...เพราะว่าเราเห็น
ถึงเวลาแล้ว...ที่เราจะไปทำความสว่างให้ตัวชีวิตจิตใจของเราให้ถูกวิธี เหมือนกับการที่จะไปเปิดไฟฟ้า...ไปทำความสว่างให้กับหลอดไฟฟ้าอย่างนั้น เราไม่ต้องจับหลอดไฟ...ไปกดที่สวิตซ์ไฟ...แล้วมันก็ทำความสว่างที่หลอดโน้นเอง
อันนี้ก็เหมือนกัน...ความจริงแล้ว เราไม่ต้องไปว่ามัน
เจ้าตัว ความโกรธ-ความโลภ-ความหลง...เพราะว่ามันไม่มี
เพียงแต่ขอให้เรามีสติเท่านั้น
อันตัวสตินี้...มันมีอยู่แล้ว มันมีตรงกันข้ามอยู่กับความหลง
ซึ่งความจริงแล้ว...ความหลงไม่มี
เมื่อเรามีสติคอยระมัดระวัง ดูจิตดูใจอยู่…ความหลงก็ไม่มี
เมื่อความหลงไม่มี โทสะจะเกิดขึ้นได้อย่างไร...เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะมีสติคุมอยู่แล้ว
โลภะจะเกิดมาในรูปใด...มาไม่ได้ เพราะปัญญารอบรู้อยู่แล้ว
อันนี้แสดงว่า ‘เราเห็นสมุฏฐาน’…เราต้องปฏิบัติอย่างนี้
เมื่อปฏิบัติอยู่อย่างนี้ เราต้องคอยดู...ดูมันอยู่อย่างนี้แหละ
แล้วมันจะเกิดปัญญาแว้บขึ้นมา...มันจะเกิดความดีใจติดมาด้วย
ยังไม่ใช่ใจดีนะตอนนี้ ดีใจ...แล้วภูมิใจว่าตัวเองรู้ธรรม-เห็นธรรม-เข้าใจธรรม อย่างซาบซึ้ง ปราบความหลงผิดได้แล้ว...เป็นอย่างนั้น
เกิดปีติ...ปีติอันนี้ มันจะมาชักชวนให้เราลืมต้นเหตุสมุฏฐานของความคิด เมื่อไปติดปีติแล้ว...เราลืม อันนี้ชื่อว่า...ถูกน้อย เพราะเมื่อมันไปติดปีติ...ตัวความสุขนั้นแล้ว มันจะปราบความหลงไม่ได้
ตัวนี้จึงถือว่า...มันยังเป็นการเอาหินทับหญ้าอยู่…”
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons