สีของจิต
สีของจิตนี้ บางแห่งก็เรียกว่า "น้ำเลี้ยงของจิต" ปรากฏเป็นสีออกมาโดยอาศัยอารมณ์ของจิตเป็นตัวเหตุ การที่จะรู้อารมณ์จิตนั้นต้องมี เจโตปริยญาณ ก่อนจึงจะรู้อารมณ์ของจิต สีนั้นบอกถึงจิตเป็นสุข เป็นทุกข์ อารมณ์ขัดข้องขุ่นมัวหรือผ่องใส ท่านกล่าวไว้ดังนี้
- จิตที่มีความยินดีด้วยการหวังผลอย่างใดอย่างหนึ่ง กระแสจิตมีสีแดง
- จิตที่มีอารมณ์โกรธ หรือมีความอาฆาตจองล้างจองผลาญ กระแสจิตมีสีดำ
- จิตที่มีความผูกพันด้วยความลุ่มหลง เสียดายห่วงใยในทรัพย์สิน และสิ่งมีชีวิต กระแสจิตมีสีคล้ายน้ำล้างเนื้อ
- จิตที่มีกังวล ตัดสินใจอะไรไม่ได้เด็ดขาด มีความวิตกกังวลอยู่เสมอ กระแสจิตมีสีเหมือนน้ำต้มตั่วหรือน้ำซาวข้าว
- จิตที่มีอารมณ์น้อมไปในความเชื่อง่าย เชื่อโดยไม่ใคร่ครวญทบทวนหาเหตุผล คนประเภทนี้ที่ถูกต้มตุ๋นอยู่เสมอ ๆ จิตของคนประเภทนี้กระแสมีสีเหมือนดอกกรรณิการ์ คือ สีขาว
- คนที่มีความเฉลียวฉลาด รู้เท่าทันเหตุการณ์เสมอ เข้าใจอะไรก็ง่าย เล่าเรียนก็เก่ง จดจำดี มีไหวพริบ คนประเภทนี้ กระแสจิตมีสีผ่องใสคล้ายแก้วประกายพรึก หรือคล้ายน้ำกลิ้งอยู่ในใบบัว คือมีสีใสคล้ายเพชร
สีของจิตโดยย่อ
เพื่อให้เห็นกันง่าย ๆ ยิ่งขึ้น โดยแบ่งสีของจิตออกเป็นสามอย่างคือ
- จิตมีความดีใจ เพราะผลอย่างใดอย่างหนึ่ง กระแสจิตมีสีแดง
- จิตมีทุกข์เพราะความปรารถนาไม่สมหวัง กระแสจิตมีสีดำ
- จิตบริสุทธิ์ผ่องใสไม่มีกังวล คือสุขไม่กวน ทุกข์ไม่เบียดเบียน จิตมีสีผ่องใส
กายในกาย สำหรับนักปฏิบัติขั้นต้น ถือเอาอวัยวะภายในเป็นกายในกาย ส่วนท่านที่ได้จุตูปปาตญาณแล้ว ก็ถือเอากายที่ซ้อนกายอยู่นี้เป็นกายในกาย กายในกายนั้น เป็นกายประเภทอทิสมานกาย คือดูด้วยตาเนื้อไม่เห็น ต้องดูด้วยญาณจึงเห็น ตามปกติกายในกาย หรือกายซ้อนกายนี้ปรากฏตัวให้เจ้าของกายรู้อยู่เสมอในเวลาหลับ ในขณะหลับนั้น ฝันว่าไปไหนทำอะไรที่อื่น จากสถานที่เรานอนอยู่ ตอนนั้นเราว่าเราไปและทำอะไรต่ออะไรอยู่ ความจริงเรานอนและเมื่อไปก็ไปจริง จำเรื่องราวที่ไปทำได้ กายนั้นแหละที่เป็นกายซ้อนกาย หรือกายในกาย ตามที่มีอยู่ในมหาสติปัฏฐาน กายในกายนี้แบ่งออกเป็น 5 ขั้น คือ
- กายอบายภูมิ มีรูปร่างลักษณะ คล้ายกับคนขอทานที่มีแต่กายเศร้าหมองอิดโรย หน้าตาซูบซีด ไม่ผ่องใส พวกนี้ตายแล้วไปอบายภูมิ
- กายมนุษย์ มีรูปร่างลักษณะค่อนข้างผ่องใส เป็นมนุษย์เต็มอัตรา จะต่างกันตรงที่ผิวพรรณ สัดส่วน ขาวดำ งดงามต่างกัน แต่ลักษณะบอกความเป็นมนุษย์ชัดเจน พวกนี้ตายแล้วไปเกิดเป็นมนุษย์อีก
- กายทิพย์ คือกายเทวดาชั้นกามาวจร มีลักษณะผ่องใส ละเอียดอ่อน ถ้าเป็นเทพชั้นอากาศเทวดา หรือรุกขเทวดาขึ้นไป ก็จะเห็นสวมมงกุฎแพรวพราว เครื่องประดับสวยสดงดงามมาก ท่านพวกนี้ตายแล้วไปเกิดเป็นเทวดาชั้นกามาวจรสวรรค์
- กายพรหม มีลักษณะคล้ายเทวดา แต่ผิวกายละเอียดกว่า ใสคล้ายแก้ว มีเครื่องประดับสีทองล้วน แลดูเหลืองแพรวพราวไปหมด ตลอดจนมงกุฎที่สวมใส่ ท่านพวกนี้ตายไปแล้ว ไปเกิดเป็นพรหม
- กายแก้ว หรือกายธรรม ที่เรียกว่าธรรมกายก็เรียก กายของท่านประเภทนี้ เป็นกายของพระอรหันต์ จะเห็นเป็นประกายพรึกทั้งองค์ ใสสะอาดยิ่งกว่ากายพรหม และเป็นประกายทั้งองค์ ท่านพวกนี้ตายแล้วไปนิพพาน การที่จะรู้กายพระอรหันต์ได้ ต้องเป็นพระอรหันต์เองด้วย มิฉะนั้นจะดูท่านไม่รู้เลย
ตั้งแต่ข้อหนึ่งถึงข้อสี่นั้น กล่าวว่า ท่านพวกนี้ตายแล้วไปเกิดที่นั้น ๆ หมายถึงว่า ท่านพวกนั้นไม่สร้างกรรมดีหรือกรรมชั่วที่มีกำลังแรงกว่าที่เห็น พวกที่ไปสร้างกรรมดีหรือกรรมชั่วที่แรงกว่า ก็ย่อมไปเสวยผลตามกรรมที่ให้ผลแรงกว่า
การรู้อารมณ์จิตนั้นมีประโยชน์มาก โดยเฉพาะการรู้อารมณ์จิตของตนเองสำคัญมาก คอยสกัดกั้นอารมณ์ชั่วร้ายที่เป็นกิเลสและอุปกิเลสไม่ให้มาพัวพันกับจิต ด้วยการคอยตรวจสอบกระแสจิตว่า ขณะนี้เราจะมีสีอะไร ควรรังเกียจสีทุกประเภท เพราะสีทุกอย่างที่ปรากฎนั้น เป็นอาการของกิเลสทั้งสิ้น สีที่ต้องการคือสีใสคล้ายแก้ว ต้องเป็นแก้วทั้งแท่ง อย่าให้มีแกนที่เป็นสีปนแม้แต่นิดหนึ่ง สีที่เป็นแก้วนี้ เป็นอาการของจิตที่ทรงฌาน 4
- ท่านผู้ทรงฌานหนึ่ง หรือที่เรียกว่า ปฐมฌาน จะมีกระแสจิตเหมือนเนื้อที่ถูกแก้วบาง ๆ เคลือบไว้ภายนอก
- ท่านที่ทรงฌานสอง หรือที่เรียกว่าทุติยฌานมีเสมือนแก้วเคลือบหนาลงไปครึ่งหนึ่ง
- ท่านที่ทรงฌานสาม หรือที่เรียกว่า ตติยฌาน มีภาพเหมือนแก้วเคลือบหนามาก เห็นแกนในสั้นไม่เต็มดวง และเป็นแกนนิดหน่อย
- ท่านที่ทรงฌานสี่ หรือที่เรียกว่า จตุตถฌาน กระแสจิตจะดูเป็นแก้วทั้งดวง เป็นเสมือนแก้วลอยอยู่ในอก
จิตของพระอริยะ
- ท่านที่มีอารมณ์วิปัสสนาญาณเล็กน้อย เรียกว่าได้เจริญวิปัสสนาญาณพอมีผลบ้าง จะเห็นจิตเริ่มมีประกายออกเล็กน้อย เป็นลักษณะบอกชัดว่า ท่านผู้นั้นเจริญวิปัสสนาญาณได้ผลบ้างแล้ว
- พระโสดาบัน กระแสจิตจะเกิดเป็นประกายคลุมจิตเข้ามา ประมาณหนึ่งในสี่
- พระสกิทาคามี กระแสจิตจะมีประกายออกประมาณครึ่งหนึ่ง
- พระอนาคามี กระแสจิตจะเป็นประกายเกือบหมดดวง จะเหลือส่วนที่ไม่เป็นประกายนิดหน่อย
- ท่านที่บรรลุอรหันต์ กระแสจิตจะเป็นประกายหมดทั้งดวง คล้ายดาวประกายพรึกลอยอยู่ในอก กระแสจิตที่เป็นประกายทั้งดวงนี้ ควรเป็นกระแสจิตที่นักปฏิบัติสนใจแสวงหาให้ได้ เอาชีวิตเข้าแลกประกายจิตไว้ เพราะถ้าได้จิตเป็นประกายก็จะหมดทุกข์สิ้นกรรมกันเสียที มีพระนิพพานเป็นที่ไป จะพบแต่สุขอย่างประเสริฐ