วันจันทร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ธรรมปฏิบัติตอน 2 by มนสิการ

สมถะ วิปัสสนา ในแนวทางที่ตำราไม่กล่าวถึง ภาค 2

DSC00147มีคำถามเข้ามาว่า........
มีข้อสงสัยเรื่องการปฏิบัติขอรบกวนสอบถามค่ะ คือ การฝึกโดยการเคลื่อนไหวที่คุณนมสิการชี้แนะให้นี้สามารถทำควบคู่กับการฝึกสมถะได้หรือไม่คะ หรือว่าควรจะทำแค่อย่างใดอย่างนึง คือปัจจุบันนี้ดิฉันอยู่ในช่วงเริ่มต้นและยังจับแนวทางไม่ถูกค่ะ
**********************
มาอ่านความเห็นของผมดังนี้
ผมได้เคยเขียนเรื่อง สมถะ วิปัสสนา ในแนวทางที่ตำราไม่กล่าวถึง
ไว้ที่ ในตอนนี้ผมจะเพิ่มเติมเข้าไปจากบทความก่อน
++++ สมถภาวนา
จุดมุ่งหมายของสมถภาวนาจะมี 3 อย่าง อยู่ที่ใครต้องการแบบใดใน 3 อย่างนี้ มาดูกันครับ
***จุดมุ่งหมายที่ 1 .... ทำสมถภาวนาเพื่อต้องการให้จิตสงบจากนิวรณ์
( หมายเหตุ นิวรณ์ คือ อาการที่จิตกำลังดิ้นรน กระสับกระส่าย ไม่สงบด้วยอาการในจิต )
ผมจะยกตัวอย่างให้เห็นกันเพื่อให้เข้าใจ
ตัวอย่างที่ 1 ...สมมุติว่า ท่านเป็นคนกลัวผีมาก และ เผอิญต้องไปพักคนเดียวในโรงแรมเก่า ๆ ในต่างจังหวัด ซึ่งไม่มีทางเลือกที่พักอื่น โรงแรมนี้สภาพก็เก่า แถมอยู่ห่างไกลเมืองและอยู่ใกล้กับวัดอีกด้วย แอร์ก็ไม่มี ต้องเปิดหน้าต่างนอน พอตกกลางคืน ก็มีเสียงสุนัขหอนขี้นมา ทำให้เกิดอาการกลัวผีมาก ไม่รู้จะทำอย่างไรดี ก็เลยทำสมถภาวนาเพื่อไม่ให้กลัวผี เช่น บริกรรม พุทโธ ตลอดเวลา เพื่อให้จิตไปจับยึดที่พุทโธ จะได้ไม่กลัวผี
ตัวอยางที่ 2 ... สมมุติว่าท่านเป็นชาย มีภรรยาแล้ว พอดีได้เลขาสาวสวยเข้ามาใหม่ เธอหน้าตาดี แถมแต่งตัวเปรี้ยวมาก ท่านเห็นเธอแล้วใจก็เกิดอาการไม่เป็นสุขทันที ท่านก็กลัวใจว่าจะห้ามไม่ไหว ก็เลยไปนึกถึงภาพคนตายที่กำลังขึ้นอืด น่ากลัวแทน เพื่อที่จะบังคับใจที่กำลังหวั่นไหวนั้นให้สงบลงไป
คงพอมองภาพออกนะครับว่า สมภภาวนาแบบนี้เป็นอย่างไร ใช้อย่างไร
***จุดมุ่งหมายที่ 2 ....สมถภาวนาโดยการบังคับจิตให้นิ่งสงบ เช่นฤาษีเขาทำกันในสมัยพุทธกาล การภาวนาแบบนี้ จิตใจของผู้ภาวนาไม่ดิ้นรนอย่างจุดมุ่งหมายที่ 1 แต่การทำเพื่อต้องการทำบังคับจิตนิ่งโดยการให้จิตไปจับยึดสิ่ง ๆ เดียว ไม่ยอมให้จิตหลุดไปไหนเลย
ที่นิยมกันตอนนี้ ก็จะมีการเพ่งกสิณ การภาวนาลมหายใจโดยจับลมที่ปลายจมูก หรือ บริกรรมเร็ว ๆ เพื่อให้จิตจับอยู่กับคำบริกรรมอย่างเดียว สมถภาวนาแบบนี้ ได้ผลคือจิตนิ่ง ตัวแข็งเป็นหิน ถ้าถึงฌาน จะมีความสุขมาก ( สุขมากจริง ๆ ใครที่ภาวนาถึงได้จะเข้าใจดีว่าสุขแบบหาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว )
สมถภาวนาแบบนี้ เจ้าชายสิทธัตถะ ได้ทรงเรียนมาก่อนกับดาบส 2 ตน แต่พระองค์ก็ทรงทราบว่า นี่ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์
ภาวนาแบบนี้ คนที่ได้ฌานมักจะติดสุข และ มักจะเป็นคนโทสะร้ายได้ง่าย ๆ เวลาที่ไม่ได้ภาวนาอยู่
**** จุดมุ่งหมายที่ 3 ... สมถภาวนาเพื่อการพัฒนากำลังจิต เพื่อเป็นฐานสำหรับวิปัสสนาต่อไป เพราะว่า วิปัสสนาจะเกิดไม่ได้เลย ถ้าจิตไม่มีกำลังพอ ที่ว่า จิตมีกำลัง หมายความว่า จิตตั้งมั่นอยู่ที่ฐาน ไม่ซัดซ่ายไปไหน และ จิตมีกำลังทีจะต่อสู้กับอาการจิตปรุงแต่งที่เกิดขึ้นมาได้ ( อ่านเรื่อง ชักกะเย่อ ที่ สำหรับเรื่องใน blog ของผมเช่นเรื่อง ตัวอย่างการฝึกเพื่อการรู้กาย
ก็เพื่อจุดมุ่งหมายที่ 3 นี้
--------------------------------
+++ วิปัสสนาภาวนา
จุดมุ่งหมาย เพื่อให้เห็นแจ้งความจริงในขันธ์ทั้ง 5 ว่า ขันธ์ 5 นั้นมันเป็น ไตรลักษณ์ มันไม่เที่ยง มันไม่ใช่ตัวตนของเรา มันเป็นอนัตตา
การที่จะเห็นความจริงแบบนี้ได้นั้น จิตของผู้ปฏิบัติต้องมีกำลังมากและตั้งมั่นอยู่ ซึ่งจิตจะตั้งมั่นอยู่ได้และมีกำลัง ต้องมาจากการฝึกฝน
สมถภาวนาแบบจุดมุ่งหมายที่ 3 มาแล้วเป็นอย่างดี
ถ้าจิตไม่ตั้งมั่น ไม่มีกำลัง ไม่มีทางเจริญวิปัสสนาได้เลย เพราะจะไม่เห็นอาการของขันธ์ 5 เป็นไตรลักษณ์ เป็นอนัตตา เมื่อไม่เห็นอาการขันธ์ 5 เป็นไตรลักษณ์ เป็นอนัตตา มันก็ไม่เกิดการปล่อยวางขันธ์ 5
เรื่องนี้เขียนมากไม่ได้ เดียวผมจะมีเรื่องราวกับสำนักภาวนาหลายสำนัก
-----------------------------------------
บทความนี้ ผมหวังว่า ท่านที่ถามมาคงมองภาพออกนะครับว่า การเจริญวิปัสสนานั้น ต้องใช้ฐานรากจากสมถภาวนาแบบที่ 3 มาก่อนเพื่อให้จิตตั้งมั่น จิตมีกำลัง
เมื่อจิตตั้งมั่น มีกำลังแล้ว จิตรู้ จะแยกตัวออกมาได้จากสิ่งที่ถูกรู้ ในที่นี้คือ ขันธ์ 5 แล้ว จิตรู้ เขาจะพิจารณาขันธ์ 5 เองอันเป็นอาการของวิปัสสนา ที่ต้องเกิดเอง เห็นเองด้วยจิตรู้ ไม่สามารถทำให้เกิดโดยการตั้งใจได้ จึงจะเป็นวิปัสสนา และได้ผลในการปล่อยวางขันธ์ 5 เพื่อเข้าสู่มรรคผลนิพพานต่อไป
-------
ทีนี้มาถึงคำถามที่ถามมา ท่านที่ถามคงเข้าใจว่า สิ่งที่ผมเขียนใน blog จะไม่ใช่สมถภาวนา ตอนนี้คงเข้าใจแล้วนะครับว่า มันคือสมถภาวนาตามจุดมุ่งหมายที่ 3 ซึ่งนักภาวนาจะฝึกฝนสมถภาวนาในจุดมุ่งหมายที่ 3 นี้อย่างไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเหมือนกับใน blog ที่ผมเขียน หรือ จะฝึกหลาย ๆ อย่างสลับไป สลับมา ก็ได้เช่นกัน
แต่ที่ผมเขียนแนะนำใน blog ก็เพื่อจะได้เป็นแนวทางที่คนใหม่ ๆ จะได้อาศัยเป็นแบบฝึก เพื่อจะได้ฝึกได้ครับ
แต่ถ้าใครไม่มีเวลาฝึกตามแบบฝึก จะใช้วิธีการฝึกในชิวิตประจำวันก็ได้เช่นกัน เพราะเพียงเข้าใจหลักการ ฝึกที่ไหนก็ได้ ฝึกอย่างไรก็ได้ ใช้ได้ทั้งนั้น แต่ถ้าไม่เข้าใจหลักการ ถึงแม้ฝึกตามรูปแบบ ก็จะไม่ตรงกับสมถภาวนาจุดมุ่งหมายที่ 3 ครับ แต่จะเป็นสมถภาวนาแบบอื่นไปเสีย
สิ่งที่ผมเขียนไว้ จะเรียกว่า การเจริญสติ ก็ได้เช่นกัน แล้วแต่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons