วันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ธรรมที่ทำให้เป็นผู้ใหญ่

_39_127_thumb[2]นั่งมอไซด์ไปฉันเพลวัดใกล้เคียงกัน ระหว่างนั่งไปก็คิดใคร่ครวญถึงความเป็นเด็ก ความเป็นผู้ใหญ่ ธรรมใดหนอ แยกแยะผู้ใหญ่ออกจากเด็ก คงมิใช่เพียงอายุ เพราะเช้านี้ก็เพิ่งเจอคนอายุสามสิบกว่า ทำตัวเหมือนเด็กเล็ก ๆ จึงเป็นที่มาแห่งเอ็นทรี่นี้

ไปเปิดตำราปรึกษามหาโอ๊ต ท่านว่า ธรรมที่ทำให้คนเป็นผู้ใหญ่ คือพึงมี พรหมวิหาร ๔ กับพึงเว้น อคติ ๔ พิจารณาแล้วเห็นแต่ความสุขุมลุ่มลึกอีกแนวหนึ่งของคำว่า "ผู้ใหญ่" หรือนักบริหาร แต่สิ่งที่ข้าพเจ้าประสบมาใกล้เคียงกับสัปปุริสธรรม ๗ ธรรมของสัตบุรุษมากกว่า เลยนำมาสังเคราะห์ให้เข้ากันเล่น ๆ มิได้เอาอรรถเอาธรรมกระไรดอก (อย่าไปถือเป็นจริงเป็นจังนะ)

๑. รู้จักยับยั้งชั่งใจ ทำไมผู้ใหญ่เล่นเกม ไม่เห็นมีใครว่า ทำไมเด็กเล่นเกม ถูกหาว่าไร้สาระ น่าจักไปทำอย่างอื่นที่มีประโยชน์ดีกว่า ทำไมผู้ใหญ่ดูหนังโป๊ รูปโป๊ สูบบุหรี่กินเหล้าสังสรรค์กับเพื่อนฝูงได้ เด็ก ๆ ห้ามดู ห้ามกิน ห้ามสูบ ห้ามดื่ม ห้ามสังสรรค์ นอนดึกก็ไม่ได้ ตื่นสายก็ไม่ได้ ทำไม (ดูเหมือน) ผู้ใหญ่ทำได้ทุกอย่าง เด็ก (ดูเหมือน) ทำไม่ได้สักอย่าง ข้าพเจ้าคิดว่า ก็อยู่ที่ความรู้จักยับยั้งชั่งใจไม่ตามใจกิเลสตนเองมากเกินไปนี่แล รู้ว่าอะไรควร อะไรไม่สมควร อะไรพอดี อะไรไม่พอดี อย่างคนที่นิสัยเหมือนเด็ก ลงได้เล่นกระไรที่ชอบใจ ก็จักเล่นอยู่นั่นแหละ เล่นไม่เลิก เล่นไม่รู้กาละเทศะ เล่นไปเสียทุกเรื่อง (รวมถึงการเมืองด้วยป่าวฟระ?) เข้าขั้นหมกมุ่น ความเป็นผู้ใหญ่จึงวัดกันที่นี่แหละ สมมุติว่า เด็กติดเกม แต่รู้ว่า ตัวเองต้องทำการบ้าน จึงเล่นแต่พอประมาณ สักชั่วโมง สองชั่วโมง แล้วหยุดเล่น (อีตอนหยุดเล่นนี่แล วัดความเป็นเด็ก ความเป็นผู้ใหญ่ เพราะยากเหลือเกิน) รู้จักจัดการกับความอยากของตัวเอง หากหยุดเล่นได้ สามารถทำงานที่ตัวเองต้องรับผิดชอบได้เสร็จสมบูรณ์ เช่นนั้นข้าพเจ้าไม่เห็นว่า ต้องมีอายุมาก ๆ ตัวโต ๆ เด็กคนนั้นก็เป็นผู้ใหญ่แล้ว ในภาษาบาลีน่าจักตรงกับคำว่า มตฺตญฺญุตาความเป็นผู้รู้จักประมาณ 

๒. รู้จักเกรงใจ มนุษย์เป็นสัตว์สังคมครับ ต้องอยู่รวมกันเป็นหมู่เป็นคณะ คนเป็นเด็กจักไม่ค่อยสนใจสิ่งแวดล้อม คนรอบข้าง สนใจแต่ความสนุกสนาน ความพอใจของตัวเองเป็นหลัก ไม่มีใครใดในโลกเกิดมาเข้ากันได้สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซนต์ กระทั่งคนในครอบครัวเดียวกัน เมื่ออยู่เป็นหมู่คณะตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป เราจึงต้องมีความเกรงใจกันและกันบ้าง

อาศัยเด็กมักถูกตามใจถูกโอ๋มากกว่าผู้ใหญ่ เลยมีความเกรงใจน้อยไปด้วย ตราบใดที่ท่านยังไม่รู้จักเกรงใจผู้อื่นที่อยู่ร่วมกัน ท่านก็ยังเป็นเด็กอยู่วันยังค่ำ แม้จักแก่จนหัวหงอกแล้วก็ตาม ข้อนี้อาจตรงกับบาลีว่า ปริสญฺญุตา ความเป็นผู้รู้จักบริษัท รู้จักชุมชนที่เข้าไปอยู่ด้วย

๓. รู้จักยอมรับผิด รู้จักขอโทษ เด็กทำผิดแล้วจักวิ่งหนีไปครับ รวมถึงผู้ที่ไม่ได้วิ่งหนีไป แต่ทำเฉย ๆ เหมือนไม่มีกระไรเกิดขึ้น และผู้ที่ไม่ยอมรับผิดด้วย พยายามเอาสีข้างเข้าแถ แก้ตัวให้รอดไปวัน ๆ ส่วนผู้ที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว ผิดจักยอมรับผิด รู้จักสารภาพผิด มิใช่ต้องรอให้เรื่องแดงขึ้นมา หรือถูกจับได้เสียก่อน และรู้จักกล่าวคำขอโทษอย่างจริงใจ เมื่อตนทำผิด

๔. รู้จักฟังความคิดเห็นผู้อื่น คนนิสัยเป็นเด็ก จักมีโลกส่วนตัวสูง จนบางครั้งไม่สามารถออกมาจากโลกส่วนตัวได้ จึงเอาโลกส่วนตัวของตัวเอง ไปยัดเยียดให้คนอื่น ทุกคนต้องคิดตามเขาให้ทัน ต้องทำอย่างที่เขาต้องการ โลกต้องหมุนรอบตัวเขา  เขาเป็น the centre of universe

๕. รู้จักแยกแยะโลกแห่งความฝัน กับโลกแห่งความจริง ชีวิตในวัยเด็กทุกคนก็ย่อมมีความฝัน มีโลกแห่งความฝันกันทุกคน แต่ความเป็นจริงมิได้เป็นอย่างนั้น โลกในความฝัน เราอยากคิด อยากฝัน จักเพ้อเจ้อแค่ไหน ให้เป็นอย่างไร ก็เป็นไปได้ แต่ในโลกแห่งความจริง มิได้เป็นเช่นนั้น โลกของความเป็นจริง ทุกสิ่งก็เกิดจากเหตุ มีเหตุแล้วก็ย่อมมีผล ต้องพิจารณาให้เห็นเหตุและผล อยากได้ผล ก็ต้องทำเหตุให้มาก ผลมิได้มาจากความอยาก เช่น อยากได้ของเล่น ก็ต้องหมั่นเก็บเงินอดออมเงินค่าขนมไว้ซื้อ มิใช่อยากได้ของเล่น แล้วเลยลงไปกองดิ้นกับพื้นร้องกรี๊ด ๆ อยากได้ของเล่นกับผู้ปกครองกลางห้าง อันนี้มิใช่ทำตามหลักเหตุผล แต่ทำตามตัณหา หรือความอยาก ตรงนี้ถ้าผู้ปกครองไม่รู้จักสอนหลักเหตุผลให้เด็ก ก็จักกลายเป็นเหตุอันใหม่คือเด็กจักจำไว้ว่า ลงไปดิ้นกับพื้นแล้วได้ของเล่น พอโตขึ้นก็จักเอาแต่ใจตัวเอง ทำตามความอยากไปเรื่อย ๆ โดยไม่คำนึงถึงหลักเหตุผล ซึ่งที่สุดก็จักแยกแยะไม่ออกระหว่างโลกแห่งความฝัน กับโลกแห่งความจริง โลกแห่งความจริงมีเพียงพ่อแม่กับญาติเราไม่กี่คนเท่านั้นที่จักตามใจเราเช่นนั้น ผู้ใหญ่ที่ไม่รู้จักยอมรับโลกแห่งความจริง ก็เหมือนเฒ่าทารกดี ๆ นี่เอง อันนี้ก็อาจสงเคราะห์เข้า ธมฺมญฺญุตา ความเป็นผู้รู้จักเหตุ และอตฺถญฺญุตา ความเป็นผู้รู้จักผล

๖. รู้จักอดทน อดกลั้น รู้จักข่มความโกรธ ไม่แสดงออก ในแง่หนึ่งเด็กจักมีความใสซื่อ โกรธก็โกรธออกมาเลย อาละวาดออกมาเลย มีความสุขก็ยิ้มเลย หัวเราะเลย ไม่พอใจก็บอกออกมาตรง ๆ ไม่มีมายา ทำนองเดียวกันเด็กก็จักปล่อยอารมณ์ทั้งหลายออกมาตรง ๆ ทุกเมื่อทุกกาลโดยมิได้คำนึงถึงความเหมาะสม คนเป็นผู้ใหญ่มิใช่ว่า เก็บเก่ง อดทนเก่ง เลยเป็นผู้ใหญ่ แต่รู้ว่า เวลาใดควรอดทน เวลาใดควรปลดปล่อย รู้จักจัดการกับอารมณ์ของตน อย่างนี้เป็นต้น ข้อนี้น่าจักสงเคราะห์เข้า กาลัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักกาล

๗. รู้ว่าตนมิใช่คนที่เก่งที่สุดในโลก ไม่ว่าในเรื่องใดใด คนเป็นผู้ใหญ่ กรำโลกมาเยอะ มักถ่อมตัวอย่างที่สุด เพราะแม้ในเรื่องที่เขาคิดว่า เขาเก่งที่สุด ก็มักมีคนที่เก่งกว่าเขา มาทำให้เสียเซ้ว ทำนองเหนือฟ้ายังมีฟ้า เหนือมาม่ามีไวไว (เหนือจังไรมีนักเลือกตั้ง 5555+) แต่พวกนักเลงกระดูกอ่อน นักเลงหน้าจอและแป้นพิมพ์ ไม่เคยชะโงกออกจากกะลาไปดูโลกภายนอก จึงคิดผยองว่า ตนเก่งที่สุดในโลก ไม่มีใครเก่งเกิน ฉะนั้นเวลาฟังใครคุยโวอวดโม้เรื่องใดก็ตาม จักให้ความรู้สึกเหมือนคุยกับเด็กเมื่อวานซืน ข้อนี้อาจคล้ายกับคำว่า อตฺตญฺญุตาความเป็นผู้รู้จักตนเอง

๘. รู้จักบุคคล อันนี้นำสุดยอดของทุกข้อมาไว้รวมกัน เพราะการรู้จักบุคคล ก็จักรู้ว่า ใครน่าคบ ใครไม่น่าคบ เราควรทำตัวเช่นไรกับเขา ควรเรียกร้องกระไร กับใคร ได้แค่ไหน หรือควรให้กระไรใครบ้าง หากทำได้อย่างพอเหมาะพอสม ก็ย่อมได้รับความเคารพจากคนทั่วไป ข้อนี้มีภาษาบาลีว่า ปุคคลปโรปรัญญุตา

เอ็นทรี่นี้จักไม่เกิดขึ้นเลย หากเขาเพียงรู้จักว่า่ ข้าพเจ้าเป็นคนเช่นไร โต ๆ กันแล้ว ก็ไม่อยากพูดให้เจ็บช้ำน้ำใจ เพราะข้าพเจ้านั้นลงได้พูดแล้ว เป็นประเภทปากน้องหมา กรรไกรตัดผ้าเรียกพี่เสียด้วย เลยเอามาบ่นบนบล็อกแทนนี่แล ย้อนมองตัวเอง บางทีบางเวลาเราก็ยังเป็นเด็กอยู่เลยนะเนี่ยะ...KissKissKiss

อนึ่งคนเป็นเด็กก็มีข้อดีที่ผู้ใหญ่ไม่ค่อยสามารถทำได้เช่นกัน คือความเป็นคนมองโลกในแง่ดี ช่วยเหลือ จริงใจ ตรง ๆ ไม่อ้อมค้อม ครูบาอาจารย์สอนให้ข้าพเจ้ามองหาส่วนดีของแต่ละคนให้เจอ นั่นละ มีค่าที่สุดแล้ว

ขอทุกท่านจงมีความเป็นผู้ใหญ่ ทุกกาลทุกเมื่อ เทอญ ฯ

edit @ 27 Jun 2011 21:32:48 by Dhammasarokikku

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons