วิธีปฏิบัติธรรมเพื่อการพ้นทุกข์ จะเริ่มต้นอย่างไรดี - มุมมือใหม่
มีผู้ขอให้ผมแนะนำวิธีการปฏิบัติธรรมเพื่อการพ้นทุกข์ ตั้งแต่เริ่มต้นเลยว่า จะให้ปฏิบัติอย่างไร
สิ่งที่ผมจะเขียนต่อไปนี้ มาจากประสบการณ์ส่วนตัวล้วน ๆ ที่ผมจะฝากไว้ท่านมือใหม่ ที่ล้มเหลวอยู่เสมอในการปฏิบัติธรรมไว้พิจารณา
ผมอยากจะบอกท่านที่เข้ามาอ่านก่อนว่า
ถ้าท่านยังติดหนึบเนียวแน่นดังกาละแมติดฟันในตำราละก็ อย่าอ่านต่อเลยครับ เพราะจะทำให้ท่านมีอคติกับผมไปเปล่า ๆ เมื่อท่านมีอคติอย่างเดียวก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าท่านปรามาสต่อผมต่อ นี่ซิครับ ผมไม่ต้องการให้บทความต่าง ๆ ที่ผมเขียนเพื่อให้ท่านดับทุกข์ กลับนำท่านลงสู่ทุกข์เสียเอง สิ่งใดมีคุณอนันต์ ก็จะมีโทษมหันต์เช่นกัน ถ้าใช้ไม่เป็น
เชิญเข้าเรื่องได้ครับ สำหรับสาธุชนมีใจเป็นกลางที่อยากทราบประสบการณ์ของผม
****************************
1. วิปัสสนาจะไม่ได้ผลอะไรเลย ถ้าไม่มี .จิตรู้. ที่แยกตัวออกมาจากขันธ์ 5 เป็นผู้สังเกตการณ์ความไม่เที่ยงในขันธ์ 5
>> นี่คือกุญแจหลักสำหรับการเริ่มต้นการปฏิบัติเพื่อการพ้นทุกข์ครับ
สิ่งแรกสุดที่ท่านต้องกระทำ คือ ศีกษาให้เข้าใจก่อน ว่าวิธีการที่จะฝึกฝนเพื่อให้ .จิตรู้. แยกตัวออกจากขันธ์ 5 นั้นมีวิธีการปฏิบัติฝึกฝนอย่างไร ไม่ใช่ว่า ท่านเห็นเขา นั่งสมาธิ กำหนดลมหายใจ เดินจงกรม บริกรรมพุทโธ แล้วก็ปฏิบัติลงไปเลยโดยที่ท่านไม่เข้าใจเลยว่า การปฏิบัติที่ท่านเห็นเขาทำกันนั้น อย่างไรจึงได้ผล
ผมไม่อยากนำคำว่า สมถะ วิปัสสนา มาพูดให้ท่านสับสนในการฝึกฝนการปฏิบัติว่าอย่างไรคือสมถะ อย่างไรคือวิปัสสนา แต่ผมขอนำคำว่า การปฏิบัติคือการฝึกฝน สัมมาสติ ให้ตั้งมั่นจนเป็นสัมมาสมาธิ เมื่อตั้งมั่นได้แล้ว จิตรู้ เขาจะแยกตัวออกมาสังเกตขันธ์ 5 ของเขาเองโดยที่ท่านไม่มีสิทธิไปบงการอะไรในตัว .จิตรู้. ได้เลย เมื่อ .จิตรู้.ออกมาสังเกตอาการของขันธ์ 5 เอง นี่แหละครับ วิปัสสนา ได้เริ่มต้นแล้ว
2. แล้วจะปฏิบัติอย่างไรให้ .จิตรู้.แยกตัวออกมาจากขันธ์ 5 ได้
>> ท่านต้องฝึกฝนครับ ฝึกฝนสิ่งที่ผมเรียกว่า สัมมาสติ นั้นเอง
หลักการฝึกฝนสัมมาสติ ก็คือ
2.1 การที่รู้สึกตัว ที่สบาย ๆ ไม่เครียด ไม่เกร็ง เป็นธรรมชาติ
เวลาฝึกอย่าให้มีความรู้สึกว่าต้องทำ แต่ให้ฝึกด้วยความรู้สึกว่า กำลังลองทำเล่น ๆ
2.2 ไม่ต้องการอยากรู้อะไร
ท่านอ่านถึงข้อ 2.2 ก็จะเกิดแอบงงได้ เพราะสำนักต่าง ๆ ที่มีสอนการปฏิบัติธรรมทั่วไปในประเทศไทย บอกว่า ต้องรู้ ต้องกำหนด แต่ผมกลับบอกว่า ไม่ต้องการอยากรู้อะไร ผมเขียนผิดหรือเปล่า
ผมขอเรียนท่านว่า ไม่ผิดหรอกครับ แต่ขอให้ท่านอ่านต่อไปและทำความเข้าใจตรงนี้ให้ดีมาก ๆ สักหน่อย อ่านซ้ำหลาย ๆ รอบก็ยิ่งดีครับ
ในข้อ 2.1 ผมบอกว่า ท่านต้องรู้สึกตัว ที่สบาย ๆ ไม่เครียด ไม่เกร็ง เมื่อท่านรู้สึกตัวอยู่ สิ่งที่ท่านจะพบต่อมาก็คือ ตาท่านจะมองเห็นอยู่ หูก็จะได้ยินอยู่ ร่างกายก็รู้สัมผัสได้อยู่ และอื่น ๆ ในระบบปราสาทในร่างกายของท่านทำงาน ทั้งหมดนี้ ต้องเป็นการรู้ที่เป็นไปเอง (ย้ำชัด ๆ นะครับ ว่า ต้องเป็นการรู้ที่เป็นไปเอง ) ทีเป็นดังนี้เพราะท่านรู้สึกตัวอยู่นั้นเอง ผมจะใช้คำว่า การรู้ที่เป็น multitasking ก็ได้ (เหมือนเครื่องคอมพิวเตอร์ปัจจุบันที่ทำงานพร้อมกันได้หลาย ๆ อย่างในขณะเดียวกัน ) (แต่ถ้าท่านยึดตำรา ตำราว่า การรู้จะรู้ได้ทีละอย่าง นั้นคือตำรา ที่ผมบอกแล้วว่า ถ้าท่านยึดติดตำรา อย่าเข้ามาอ่านเลย )
ผมขอให้ท่านทดลองด้วยตัวเองก็ได้ในตอนนี้
ขอให้ท่านรู้สึกตัวอยู่อย่างสบาย ๆ ตาท่านมองเห็นใช่ใหม่
หูท่านก็ได้ยินใช่ใหม ถ้ามีลมพัดมา หรือ ท่านเปิดแอร์หรือพัดลม แล้วลมพัดมาโดนกาย ท่านก็รู้สึกได้ใช่ใหม ท่านจะเห็นว่า การรู้ที่เกิดขึ้นนั้น ท่านไม่ได้ทำอะไรเลย เพียงแต่รู้สึกตัวธรรมดา ๆ เท่านั้นเอง และรู้ได้พร้อมกันหลาย ๆ อย่างในคราวเดียวกัน
ผมขอให้ท่านสังเกตต่อไปว่า การรู้ที่มาจากการรู้สึกตัวนี้ จะเป็นการรู้ที่เบา ๆ และก็บางทีก็รู้ บางทีก็จะไม่รู้ แสดงว่าการรู้ของท่านยังไม่ต่อเนื่อง นี่เพราะท่านยังเป็นมือใหม่ที่มีกำลังสัมมาสติอ่อนนั้นเอง แต่ถ้าท่านฝึกฝนต่อไป จนสัมมาสมาติมีกำลัง การรู้ของท่านจะต่อเนื่องได้มากขึ้น
ปัญหาของมือใหม่ที่เกิดเสมอ ๆ เพราะได้รับคำสอนว่า การรู้ต้องรู้ชัด
มือใหม่ก็จะใช้วิธีการจ้องไปยังจุดที่ต้องการจะรู้ชัด เช่น ผู้ที่ฝึกลมหายใจ ก็ได้รับคำสอนว่า ให้ไปจ้องที่ปลายจมูกเพื่อจะรู้ลมให้ชัด ผู้ที่เดินจงกรมก็จะจ้องที่เท้าเพื่อที่จะรู้การกระทบที่เท้าให้ชัด นี่เป็นการขัดแย้งกับข้อ 2.2 ที่ผมเขียนไว้อย่างจัง เพราะการอยากรู้โดยการจ้องที่ปลายจมูก หรือ ที่เท้า ล้วนเป็นกระทำด้วยความอยาก อันเป็นตัณหา ในอริยสัจจ์ 4 ข้อ 2 พระพุทธองค์ก็สอนไว้ชัดว่า ตัณหา คือต้นเหตุแห่งทุกข์ ต้องละ มัน แต่นี่ท่านที่ไปจ้องปลาย จ้องเท้า การจ้องเป็นการไม่ได้เดินตามคำสอนนี้เลย
เมื่อท่านเป็นมือใหม่ ที่เริ่มต้นด้วยการฝึกรู้ลมหายใจ จะเป็นสิ่งทียากลำบากมากที่จะรู้ลมหายใจ โดยการไม่จ้องลม
ส่วนมากคนใหม่ ๆ ที่ผมแนะนำการปฏิบัติ ผมจะให้เขาฝึกด้วยกายานุปัสสนาที่ไม่ใช้ลมหายใจ เพราะการรู้ลมหายใจโดยไม่จ้องลม เป็นสิ่งที่รู้ได้ยากกว่าวิธีอื่น ผมมีเขียนเรื่องการฝึกกายานุปัสสนาไว้ที่เรื่อง
ตัวอย่างการฝึกเพือการรู้กาย
เมื่อท่านมือใหม่ ฝึกกรรมฐานอื่นที่ไม่ใช่ลมหายใจไปมาก ๆ เช่นสัก 1 ปี กำลังสัมมาสติของท่านจะแข็งแรงขึ้น และสามารถรู้ลมหายใจได้เองโดยไม่ต้องจ้องลมหายใจเลย ท่านก็สามารถฝึกลมหายใจได้เองต่อไป
3. ทำไม ผมจึงให้เริ่มที่กายานุปัสสนา ไม่ใช่การดูจิต อย่างทีตอนนี้กำลังนิยมกัน
>> อย่างที่ผมได้เขียนไว้ข้างต้นแล้ว การปฏิบัติจะได้ผล ก็ต่อเมื่อ .จิตรู้. เขาแยกตัวออกมาจากขันธ์ 5 แล้วเท่านั้น ถ้าท่านเป็นมือใหม่ที่จิตรู้ยังไม่แยกตัวออกมาจากขันธ์ 5 แล้วท่านไปดูจิต มันจะไม่ได้ผลครับ
เพราะท่านจะไม่เห็นอาการของจิต เพราะการเห็นอาการของจิตนั้น จะต้องเป็นการเห็นด้วย .จิตรู้. จึงจะได้ผลแห่งวิปัสสนา
ถ้าการรู้อาการของจิตที่ไม่ใช่ จิตรู้ จะเป็นการนึกคิดเอา อันเป็นสัญญาและสังขาร
การฝึกกายานุปัสสนาที่ถูกต้องตามหลักการที่ผมให้ไว้ในข้อ 2 เมื่อฝึกไปบ่อย ๆ ฝึกมาก ๆ ก็จะมีขบวนการภายในที่เกิดขึ้นอย่างเงียบ ๆ ที่ท่านมองไม่เห็น นั้นคือ สัมมาสติมีการพัฒนากำลังมากขึ้น และ จิตรู้ ก็พร้อมจะมารู้เห็นการทำงานของขันธ์ 5 ได้ตามความเป็นจริง อันเป็นการเจริญวิปัสสนาด้วย จิตรู้
แนะนำอ่านเรื่อง
ทำไมผมสอนแต่กายานุปัสสนา ไม่สอนการดูเวทนา ไม่สอนการดูจิต ไม่สอนการดูธรรม แล้วจะครบสูตรได้อย่างไร
ถ้า "จิตรู้" ยังไม่เกิด จะไม่เห็นไตรลักษณ์ที่แท้จริง
กายานุปัสสนา ทิ้งไม่ได้เลย ถ้าฐานไม่มั่นคง
4. จะวัดผลแห่งการปฏิบัติได้อย่างไรว่าได้ผลแล้ว
>> เมื่อ จิตรู้ แยกตัวออกมาจากขันธ์ 5 แล้ว จิตรู้ เขาจะทำงานของเขาเอง ใหม่ๆ จิตรู้ ยังไม่มีพลังมากพอ การรับรู้ขันธ์ 5 ของจิตรู้ก็อาจดีบ้าง ไม่ดีบ้าง อันเป็นธรรมดา ขอให้ท่านฝึกฝนต่อไป แบบเดิม ที่ผมเขียนข้อ 2 เพื่อให้จิตรู้มีกำลังมากขึ้นไปอีก ยิ่งฝึกมากแบบข้อ 2 จิตรู้ ยิ่งตั้งมั่น ยิ่งมีกำลังมากขึ้น เมื่อจิตรู้ยิ่งมีกำลัง การที่จิตรู้พิจารณาขันธ์ 5 เองยิ่งถี่มากขึ้น ( ผมขอให้ท่านเข้าใจว่า คำว่า พิจารณาขันธ์ 5 นี้ ต้องเป็นการพิจารณาเองด้วยจิตรู้เท่านั้น จึงจะได้ผล การทีท่านไปคิดเอาเองว่า นี่เป็นไตรลักษณ์ ด้วยการใช้ความคิด ไม่ใช่การพิจารณาธรรมอันเป็นขบวนการแห่งวิปัสสนา )
เมื่อ จิตรู้ พิจารณาขันธ์ 5 เองบ่อย ๆ จิตรู้ ก็จะมีความรู้มากขึ้นเอง
แต่ท่านจะรู้ด้วยตัวเองว่า ทุกข์ท่านได้ลดลงไปจากเดิม
ซึ่งผมขอแนะนำให้ท่านวัดผลการปฏิบัติด้วยวิธีที่ผมเขียนไว้คือ
การกลับมาเป็นปรกติของใจได้เร็ว คือ การวัดผลการปฏิบัติ - มุมมือใหม่
การวัดผลอีกอย่างหนึ่ง ที่ท่านจะรู้ได้ด้วยตนเองก็คือ
การที่ท่านเผลอสติที่ลดลงไปกว่าเดิม ยิ่งท่านฝึกยิ่งมาก
การเผลอสติก็ยิ่งลดลง จนประหนึ่งว่า ท่านมีสติตลอดเวลา
ในขณะที่ท่านตื่นอยู่ ท่านทำอะไร ก็มีสติอยู่เสมอ นั้นเอง
ยิ่งท่านมีสติต่อเนื่องมากเท่าใด ทุกข์ยิ่งลดลงไปเรื่อยๆ
นี่เป็นผลจากปัญญาที่เกิดขึ้นในจิตใจของท่าน
ที่ลดละ ตัณหา อย่างเป็นอัตโนมัตินั้นเอง
5. บทสรุป
ผมหวังว่า สิ่งที่ผมเขียนนี้ จะทำให้เท่ามองภาพออกถึงการปฏิบัติ
ว่าท่านจะดำเนินตัวเองอย่างไร เพื่อให้เข้าสู่ทางแห่งการพ้นทุกข์
ผมได้เขียนเรื่องการปฏิบัติที่เป็นพืนฐานไว้มากมาย หลายเรื่อง
ใน Group Blog ธรรมปฏิบัติ 1 ขอให้ท่านทยอยอ่าน และ
ยิ่งเมื่อท่านได้ฝึกฝนไปเป็นระยะและมาอ่านทวนเป็นระยะ จะทำให้ท่านเข้าใจการปฏิบัติได้มากขึ้น
ผมขอเน้นย้ำแก่ท่านมือใหม่ว่า การปฏิบัติในข้อ 2 นั้น ท่านไม่ต้องไปเปลี่ยนแปลง
อะไรทั้งสิ้่น ท่านฝึกสัมมาสติไปได้แก่กล้าแค่ไหนก็ตาม ท่านก็ยังคงใช้การฝึกแบบข้อ 2 อยู่ดี
อนึ่ง เมื่อท่านฝึกไปเรื่อย ๆ จะมีสภาวะธรรมบางอย่างปรากฏขึ้นแก่ท่่านให้รู้ได้เป็นระยะ ๆ
สภาวะธรรมเหล่านี้ ถ้าท่านเกิดหลงไปว่า ฉันได้ก้าวหน้าแล้ว การปฏิบัีติต้องไปปรัีบเปลี่ยนวิธีการในข้อ 2 และจะก้าวหน้าต่อไป ถ้าท่านคิดอย่างนี้แล้วละก็
ผมขอบอกท่านว่า ท่านหลงทางครับ เพราะนั้นจะเป็น วิปัสสนูกิเลส ที่เกิดขึ้นแก่ท่าน
ท่านเกิดหลงมันว่ามันเป็นจริง
ธรรมแห่งองค์พระศาสดาได้ตรัสสอนไว้ว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา
นี่คือความจริงแท้ว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ท่านจะยิ่งเข้าใจคำนี้มากขึ้น
ทุกขณะจิต ยิ่งท่านมีกำลังสัมมาสติยิ่งแข็งแกร่งขึ้นไปทุกที ทุกที
ธรรมปฏิบัิติ ไม่เหมือนเลี้ยงเด็กอ่อน ที่ต้องเปลี่ยนชนิดของนมผง ชนิดอาหาร ตามอายุเด็ก
ธรรมปฏิบัตินั้น ความเป็นปรกติธรรมดาของจิตใจ ที่ไร้กิเลส ตัณหา แต่อุดมด้วยสัมมาสติ
ของแท้มีอย่างเดียว ไม่ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการอย่างไรทั้งสิ้นในการฝึกฝน
ฝึกเพื่อให้เป็นปรกติของจิตใจ
บทความที่คล้ายกันที่แนะนำท่านเข้าไปอ่าน
เมื่อเดินตามวิถีแห่ง.มรรค. .ผล.ก็จะเกิดตามมาเอง - มุมมือใหม่
6. ผมจะเปิดบทความนี้ให้ท่านมือใหม่ เขียนถามได้ถ้าไม่เข้าใจในจุดใด
เป็นเวลา 7 วัน แล้วจะปิดการเขียน
แต่ผมขอร้องผู้ที่คิดจะเข้ามาป่วน blog ผม หรือ นำเอาตำรามาแปะไว้เพื่อโต้แย้งในบทความนี้ ท่านอย่าได้ทำเลย ผมบอกแล้วนี้ นี่มาจากประสบการณ์ส่วนตัว จะผิดถูกอย่างไร ก็เป็นประสบการณ์ส่วนตัว ถ้าท่านจะเขียนของท่าน ท่านสมควรเขียนใน blog ของท่านเอง และผมก็บอกไว้ก่อนแล้วว่า ผมไม่แนะนำให้ท่านที่ติดตำราเข้ามาอ่านด้วยครับ