วันจันทร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ธรรมะปฏิบัติ ตอน 6 โดยมนสิการ

จิตเห็นจิตเป็นมรรค

DSC00034บรรดาคำสอนของครูบาอาจารย์ คำสอนของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล วัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์ เป็นคำสอนที่เรียบง่าย และ พุ่งเป้าเข้าสู่การพ้นทุกข์อย่างไม่อ้อมค้อมสำหรับผู้ภาวนาอย่างแท้จริง
อริยสัจจ์แห่งจิตของหลวงปู ท่อนที่ 4 มีว่า จิตเห็นจิตเป็นมรรค
ในการภาวนานั้น การฝึกรู้ด้วยจิตในสติปัฏฐาน 4 ก็เพื่อความตั้งมั่นแห่งสัมมาสมาธิ
เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสัมมาสมาธิได้มากพอ ผลที่ตามมาก็คือ เกิดการแยกตัวออกของจิต(ผู้รู้) และ อาการของขันธ์ (ซึ่งก็คือ สิ่งที่ถูกรู้) ซึ่งในสภาวะตอนนี้ ในวงการภาวนาจะเรียกว่า สภาวะแห่งการเป็นของคู่ คือ มีผู้รู้ และ สิ่งที่ถูกรู้
ในบรรดาสิ่งที่ถูกรู้นั้น คือ อาการต่าง ๆในขันธ์ 5 สิ่งถูกรู้เหล่านี้มิใช่จิต
นี่ยังเป็นการรู้ การละ ไม่ยึดติดด้วยกำลังของสัมมาสมาธิ
การทีนักภาวนาได้ลงทุนลงแรงฝึกฝนสติปัฏฐาน 4 จนเกิดสภาวะของคู่ขึ้นมาได้นั้น ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เป็นกันได้ง่าย ๆ ได้มาถึงนี่ ก็ดีมากแล้ว แต่ก็ยังต้องฝึกฝนต่อไปอีก
เมื่อสัมมาสมาธิแก่กล้ามาขึ้น เพราะตั้งมั่นมากขึ้น ลำดับต่อไป นักภาวนาจะเกิดสัมมาญาณ อันเป็น ญาณ ที่เห็นจิตได้ การเห็นจิตได้ด้วยญาณนี้ จึงจะเข้าสู่ขั้นต้นของสิ่งที่เรียกวา จิตเห็นจิต การเห็นจิตนี้ จึงเป็นการเริ่มต้นของการ ตกกระแส พระนิพพาน เพราะเมื่อนักภาวนาได้เห็นจิตได้แล้ว ก็จะรู้จักจิตและจะเห็นจิตได้มากขึ้น ได้บ่อยขึ้น (หมายเหตุ นักภาวนาที่เพิ่งเห็นจิตได้ ใหม่ ๆ จะเห็นจิตได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ยังเห็นได้ไม่ต่อเนื่องตลอดเวลา )
ในบล๊อกที่ผมเขียนนั้น ผมใช้คำอยู่ 2 คำที่จะต่างออกไปจากที่อื่น ก็คือ
จิตรู้ ซึ่งคำนี้ ก็คือ จิตผู้รู้ ที่สำนักต่างๆ เรียกกัน
มโน ซึ่งคำนี้ ก็คือ จิต ที่เป็น จิตที่ถูกจิตผู้รู้ไปเห็นเข้า
ผมเรียกให้ต่างออกมา ก็เพื่อให้สอดคล้องกับตำราและความเข้าใจในการภาวนา
ซึ่งสภาวะแห่งการ ตกกระแส ในสิ่งที่ผมกล่าว ก็คือ การที่ จิตรู้ ไปเห็น มโน เข้าได้แล้ว
ในตำรา ดูจะง่าย ๆ ที่ชาวพุทธสักคนจะเข้าสู่การตกกระแส เพราะเขียนไว้เพียงสังโยชน์ขาดขั้นต้น 3 อันดับคือ 1.สักกายทิฏฐิ 2.วิจิกิจฉา 3. สีลัพพตปรามาส
แต่ในความเป็นจริงในการภาวนา ถ้ากล่าว่า โสดาบัน คือ ผู้ตกกระแสพระนิพพานแล้ว และจะมีแต่ก้าวต่อไป ไม่กลับมาอีก ไม่เกิน 7 ชาติ ผู้ที่จะมีคุณสมบัติอย่างนี้ได้ ก็จะมีแต่นักภาวนาที่พบอาการ จิตเห็นจิต ได้แล้วเท่านั้น จึงจะเป็นปัญญาขั้นต้นในระดับญาณที่จะมีสิทธิทำลายกิเลสได้สิ้นจนถึงที่สุด และ การเสื่อมจากญาณก็จะไม่มี เพราะได้รู้แล้ว เห็นแล้ว รู้จักแล้ว เพียงแต่ยังไม่สมบูรณ์ต่อเนื่อง 100 เปอร์เซนต์เท่านั้นเอง
(หมายเหตุ การได้สภาวะของคู่ เพราะสัมมาสมาธิ โดยยังไม่เกิดญาณ สัมมาสมาธิสามารถเสื่อมถอยได้อยู่ )
การที่ จิตเห็นจิต จึงเป็นสิ่งที่ยากสุด ๆ สำหรับนักภาวนาที่ยังไม่เคยเห็นจิตของจริง
เพราะอธิบายให้ฟังก็ยากมาก ทั้ง ๆ ที่สิ่งนั้น มันปรากฏอยู่แล้วอยู่ข้างหน้า แต่นักภาวนาไม่เห็นเอง เพราะไม่รู้จัก
เมื่อนักภาวนาพบจิตได้แล้ว นักภาวนาเพียงหมั่นฝึกฝนต่อไปอีก ขอให้เชื่อตำราได้เลยว่า เมื่อนักภาวนาได้ตกกระแสแล้ว ก็จะมีแต่จะไม่หวนกลับ เพราะกำลังสัมมาสมาธิที่ยิ่งตั้งมั่น ก็จะเสริม สัมมาญาณให้มั่นคง แล้วการเกิด จิตเห็นจิต ก็จะยิ่งได้บ่อย เห็นได้นาน เห็นเหมือนจิตไม่หายไปไหนเลย
ในคำสอนของครูบาอาจารย์ และในพระไตรปิฏก ได้กล่าวเปรียบเทียบ จิตเหมือนฟองไข่
และในคำสอนก็บอกว่า ให้ทำลายจิตทิ้งเสีย เมื่อจิตถูกทำลายทิ้ง สภาวะของคู่ก็จะสลายไป กลายเป็นสภาวะใหม่ ที่เรียกว่า ความเป็นหนึ่ง ขึ้นมาแทน
ในความเป็นจริง ไม่มีใครทำลายจิตได้ แม้แต่ตัวนักภาวนาเอง แต่การที่จิตเกิดการแตกสลายออกไปนั้น เกิดจากที่จิตที่บ่มเพาะปัญญาที่จิตไปเห็น จิตที่แปรเปลี่ยนไปมาเพราะมีการสร้างขันธ์ขึ้นของจิต และเห็นสภาวะแห่งจิตที่หยุดสร้างขันธ์ ปัญญานี้แหละที่จะทำลายจิตให้เป็น จิตหนึ่ง
การที่จิตหยุดสร้างขันธ์ ในครูบาอาจารย์มักกล่าวว่า ให้จิตหยุดคิด หรือ ฮวงโปได้กล่าวว่า ให้หยุดปรุงแต่งเสีย
นี่เป็นสิ่งทียากยิ่งอีกอย่างของนักภาวนา จิตหยุดคิด เพราะนักภาวนาไม่รู้จัก จิตหยุดคิดเป็นอย่างไร ถ้านักภาวนาเพียงคิดว่า จะทำอย่างไรให้จิตหยุดคิด นั้นคือ เป็นการคิดแล้ว
ถ้านักภาวนาเพียงรู้ว่า นี่ลมหายใจเข้า นี่ลมหายใจออก นี่กินข้าวไปแล้วสิบคำ นี่ก็คือ การคิดแล้วเช่นกัน
จิตหยุดคิด ก็คือ จิตหยุดสร้างขันธ์ จิตที่ไม่สร้างขันธ์ ใน มโน จะใสกระจ่างแจ้ง
จิตที่กำลังสร้างขันธ์ ใน มโน จะขุ่นมัว ไม่สดใส
ในสภาวะแห่ง จิตหนึ่ง แสงแห่งจิต จะส่องสว่างขึ้นไม่มืดมัว เมื่อจิตส่องแสงสว่าง อันกิเลสต่าง ๆ ที่อาศัย โมหะ เป็นชนวนการเกิด ก็เกิดไม่ได้ เพราะ โมหะ ต้องกาศัยเกิดตอนจิตมืดมิด เมื่อ จิตส่องสว่าง ความมืดย่อมหายไป กิเลสจึงเกิดอีกไม่ได้เพราะเหตุนี้
นี่คือธรรมชาติของจิตที่ประภัสสร เปล่งกระกายออกมา แล้วกิเลสก็เกิดไม่ได้เอง
นี่คือวิถีแห่งมรรค
ขอกราบนมัสการหลวงปู่ดูลย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons