วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2554

วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2554

สามาวดีตอนที่ 6

samaมาพิสูจน์กันครับว่า พระไตรปิฎกน่าเบื่อหรือไม่ ก่อนอื่นขอขมาพระรัตนตรัยกันไว้ก่อน

สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะเม ภันเต อุกาสะ ทวารัตตะเยนะ กะตัง ฯสัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะเม ภันเต อุกาสะ ขะมามิ ภันเต ฯ

ความตอนที่แล้ว มาถึงตอนที่สุนัขแสนรู้ หัวใจสลายตายแล้ว ไปจุติบนสวรรค์ชื่อว่า "โฆสกเทพบุตร" เสวยทิพยวิมานอยู่ได้ไม่นานก็เคลื่อน ด้วยความสิ้นอาหาร เพราะมัวแต่บริโภคกามคุณอยู่

ในเทวโลกนั้น ก็มีการตายอยู่เช่นกัน แต่เขาไม่เรียกว่า ตาย เขาเรียกว่า เคลื่อน หรือ จุติ ก็เหตุแห่งการเคลื่อนจากเทวโลกนั้น มี ๔ ประการ ดังนี้

๑. ด้วยความสิ้นอายุ คือ เทพบุตรองค์ใดทำบุญไว้มาก ครั้นเสวยผลบุญอย่างหนึ่งสิ้นแล้ว ก็ไปจุติในเทวโลกชั้นสูง ๆ ขึ้นไป เช่นนี้เรียกว่า เคลื่อนด้วยความสิ้นอายุ

๒. ด้วยความสิ้นบุญ คือ เทพบุตรองค์ใด ทำบุญไว้น้อย ครั้นเสวยผลบุญที่ได้ทำไว้จนสิ้นแล้ว ก็ต้องลงมาเสวยผลกรรมอื่นที่เคยทำไว้ จุติเป็นมนุษย์บ้าง สัตว์ในอบายภูมิบ้าง

๓. ด้วยความสิ้นอาหาร คือ เทพบุตรองค์ใด มักมากในกามคุณ จนลืมกินอาหาร ไม่มีสติ มีกายอ่อนล้า ที่สุดก็เคลื่อน เพราะความสิ้นอาหาร

๔. ด้วยความโกรธ คือ เทพบุตรองค์ใด ไม่ตั้งอยู่ในคุณธรรม หิริ โอตตัปปะ ขึ้งโกรธ อิจฉา ริษยา เทพบุตรอื่น ที่มีเทวสมบัติยิ่งกว่าตน เทพบุตรนั้นก็เคลื่อนแล้วด้วยความโกรธ

ความเห็นส่วนตัว *นี่เองสิ่งอัศจรรย์ของศาสนาพุทธ ท่านแจงไว้ว่า แม้ตายจากความเป็นมนุษย์ไปแล้ว กิจของเราก็ยังไม่จบ ยังต้องสั่งสมบุญกุศล ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ส่วนศาสนาอื่น มักเชื่อว่า จบจากภูมิมนุษย์แล้ว ก็ถือว่า จบกิจแล้ว ไปเสวยสุขกับพระเจ้าชั่วนิรันดร์ ถ้าทำความดี หรือ เสวยทุกข์ในนรกชั่วนิรันดร์ ถ้าทำความชั่ว ความเชื่ออย่างมิจฉาทิฏฐิเช่นนี้ เมื่อตายไป เขาก็พบสิ่งที่เขาเชื่อนั่นแหละ คือขึ้นสวรรค์ ไปอยู่กับพระเจ้า หรือศาสดาของเขา (บนสมมุติฐานว่า คนที่เชื่อเรื่องนรกสวรรค์ ย่อมไม่ทำความชั่ว ให้เกินความดี) แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือ "ความไม่ประมาท" พอเขาพบความสุข ที่ยิ่งกว่าความสุขบนโลกมนุษย์ ชนิดเทียบกันไม่ได้เลย ก็หลงระเริงอยู่กับความเป็นทิพย์ ไม่มีใครมาบอกว่า ความเป็นทิพย์นี้ไม่ได้มีอยู่ชั่วกาลปาวสานหรอกนะ เขาไม่ทราบ ก็ไม่สนใจฟังธรรม ก็ไม่สนใจสร้างบุญสร้างกุศลให้ยิ่ง ๆ ขึ้น นั่นเองคือ "ความประมาท" ปมาโท มัจจุโน ปทัง ความประมาทเป็นหนทางแห่งความตาย เช่นนี้ ก็อาจกล่าวได้อีกนัยว่า ความประมาทเป็นหนทางแห่งความเคลื่อนจากเทวโลก บางคนเชื่อว่า เป็นเทวดา ทำบุญไม่ได้ ต้องลงมาทำบุญที่โลกมนุษย์เท่านั้น ซึ่งความจริง เขาจะมีการแสดงธรรมกันทุกวันพระ ที่เทวสภา บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ก็การฟังธรรมนั้นเอง เป็นบุญ เป็นกุศล หรืออย่างในพระไตรปิฎก ก็มีตัวอย่างอยู่หลายตอน เช่น ตอนพระอินทร์ปลอมลงเป็นคนแก่ยากจนเข็ญใจ มาใส่บาตร พระมหากัสสัปปะ ที่เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ เป็นต้น ที่เขาว่า โลกมนุษย์น่าอิจฉานั้น เป็นเพราะ ภูมิมนุษย์นั้น ทำบุญน้อย แต่ได้บุญมาก ส่วนภูมิอื่น ๆ นั้น ไม่ได้บุญมากเท่าในภูมิมนุษย์ แต่หาใช่ว่า เป็นเทวดาแล้ว จะทำบุญไม่ได้เลย แม้โมทนาบุญที่เหล่ามนุษย์ได้กระทำ ก็ได้บุญเช่นกัน กรณีของโฆสกเทพบุตรนี้ เคลื่อนเพราะความมักมากในกามคุณ มัวแต่เสพกาม ลืมกินอาหาร (ทั้งที่ในเทวโลก แค่นึกว่าจะกิน ก็อิ่มแล้ว ด้วยความเป็นทิพย์) นั่นแสดงถึงหลักฐานอีกอันหนึ่ง ซึ่งพระพุทธเจ้าเคยตรัสตอบไว้ สมัยที่เหล่าสาวกมาทูลถาม เรื่องจริยาอันไม่เรียบร้อยของพระสารีบุตร ซึ่งเป็นอัครสาวกเบื้องขวา เมื่อเดินมาเจอลำรางเล็ก ๆ แทนที่จะถกสบงขึ้นพองาม แล้วเดินข้ามไป กลับขัดเขมรโดดข้ามไปเลย ปกติสาวกของพระพุทธเจ้าเป็นผู้สำรวมในอินทรีย์ เหตุไฉนพระอัครสาวกจึงมีพฤติกรรมเยี่ยงนี้ พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า พระสารีบุตรนี้ เคยเกิดเป็นลิงอยู่หลายชาติ จึงติดนิสสัยในอดีตชาติมา มีเพียงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ที่ละนิสสัยได้ และอีกตอนหนึ่ง ได้ทรงตอบข้อสงสัยของเหล่าภิกษุ ที่ไม่พอใจพระปิลินทวัจฉะ ผู้เป็นเอตทัคคะ ด้านเป็นที่รักใคร่ของเทพยดา ว่าเหตุใดท่านจึงชอบเรียกผู้อื่นว่า วสละ ซึ่งแปลว่า คนถ่อย พระพุทธเจ้าทรงวิสัชชนาว่า พระปิลินทวัจฉะนี้ เคยเกิดเป็นพราหมณ์สูงชาติอยู่ ๕๐๐ ชาติ จึงติดนิสสัยเรียกคนอื่นด้วยอาการดูถูกเช่นนั้น เจตนาท่านไม่มี โฆสกเทพบุตรนี้ เมื่อสมัยเป็นคน ก็กินข้าวมูมมามตะกละตะกราม จนเป็นเหตุให้ท้องอืดตาย ครั้นมาจุติเป็นเทพบุตรแล้ว ก็ยังไม่ละนิสสัยนั้น เฝ้าเสพกามจนลืมกินอาหาร จนต้องเคลื่อน ดังนี้เอง*

ครั้นจุติจากเทวโลกแล้ว โฆสกเทพบุตรก็ไปปฏิสนธิในท้องแห่งหญิงงามเมือง(ปัจจุบัน คือ โสเภณีนั่นละ) ในมาบุญครองซิตี้(กรุงโกสัมพี) เป็นธรรมดาที่ตระกูลหญิงงามเมืองนั้น จะไม่เลี้ยงลูกชาย เพราะหาประโยชน์อะไรมิได้ แม่ของเธอจึงสั่งให้หญิงรับใช้ เอาเธอไปทิ้งข้างทาง ให้นก กา สุนัข จิกกินเสีย สัตว์ทั้งหลายยืนรุมดูเธออยู่ เดชะบุญของเด็กชายโฆสก อำนาจแห่งบุญที่เคยเห่าพระปัจเจกพุทธเจ้าด้วยความรัก บัดนี้ทำให้สัตว์ทั้งหลายไม่สามารถทำอันตรายแก่เธอได้ ชายผู้หนึ่งเห็นนกกาสุนัขจับกลุ่มรุมดูอะไรอยู่ เลยเข้าไปดู พอเห็นเด็ก ก็เกิดความหลงรักขึ้นทันที เก็บเด็กไปเลี้ยง อุทานว่า "เราได้ลูกชายแล้ว"

1_displayความเห็นส่วนตัว *เด็กชายโฆสกมาจุติในท้องของหญิงงามเมือง (หญิงงามเมืองสมัยก่อน เป็นอาชีพที่ได้รับการนับหน้าถือตามาก ไม่เหมือนสมัยนี้ ร่ำรวยมาก ต้องรับแขกบ้านแขกเมือง บางทีค่าตัวสูงถึง ๑,๐๐๐ กหาปนะ หรือ ๑,๐๐๐ ตำลึง) และถูกแม่เอาไปทิ้งอย่างไร้เยื่อใย ก็ผลจากที่เธอเคยทิ้งลูกไว้ในอดีตชาติ โชคยังดี ที่ชาติถัดมา เธอไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน (ถ้าตายแบบปกตินี่ ไปนรกก่อนชัวร์) ได้ทำกุศลกรรมใหญ่ (คือการเห่าพระปัจเจกพุทธเจ้าด้วยความรัก) กุศลกรรมนั้นได้ติดตามช่วยเหลือไปทุกชาติ นี่ละ ที่เขาว่ากันว่า ให้ทำบุญละลายบาป ความจริงแล้ว อกุศลกรรมที่ทำแล้ว ไม่สามารถลบล้างได้ ทำกรรมชั่ว ก็ต้องได้รับกรรมชั่วตอบแทน จะทำกรรมดีมาชดใช้ หักล้างกัน ย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าทำบุญไว้เรื่อย ๆ เวลาผลกรรมชั่วมาสนอง ก็จะทุเลาลง ดังจะได้สาธยายต่อไป*

ครั้งนั้นเศรษฐีในมาบุญครองนคร เดินอาด ๆ จะเข้าไปในวังอย่างพ่วงพี พบปุโรหิต หรือหมอดูฟันธง ประจำสำนักพระราชวัง เห็นได้โอกาสไม่ต้องกด ๑๙๐๐ ให้เสียตังค์ฟังเทพธิดาพยากรณ์ นาทีนึงตั้ง ๙ บาท เลยโบกไม้โบกมือเซย์ฮัลโหล แล้วแกล้งถามว่า "ท่านอาจารย์ วันนี้ท่านได้ตรวจดูดวงดาวนักษัตรดีแล้วหรือ"

หมอดูมือเก๋าฟังแล้วก็ทราบได้ทันทีว่า นี่คงจะมาหลอกดูดวงฟรีละสิท่า หลิ่วตานิดนึง แล้วตอบไปว่า "ดูเรียบร้อยแล้วท่าน วันนี้ไม่มีอะไร นอกจากเด็กที่เกิดวันนี้ ภายภาคหน้า จะได้เป็นเศรษฐีผู้ประเสริฐในเมืองนี้ ท่านมีอะไรจะปรึกษาก็..." หมอดูว่าดังนี้แล้ว เตรียมจะเสนอราคาค่าดูดวง

ฝ่ายเศรษฐีได้ยินดังนั้นก็หูผึ่ง ตาโต ไม่สนใจใยดีในหมอดูแม่น ๆ ที่กำลังควักไพ่ยิบซีขึ้นมา จะเสนอราคา หมุนตัวกลับหลังหัน ร้อยแปดสิบองศา เดินจ้ำอ้าวกลับบ้านทันที ครั้นถึงเรือนแล้ว ก็ให้คนใช้รีบไปดูภรรยาซึ่งครรภ์แก่ "เธอคลอดหรือยัง" เศรษฐีสั่ง เมื่อได้ความว่ายังไม่คลอด สมองกลอิเล็คทรอนิกส์ควบคุมด้วยไมโครโปรเซสเซอร์อัจฉริยะของเศรษฐี ก็ทำงานต่อทันที "ไม่ได้การ" แล้วเรียกหาคนใช้ชื่อกาลีมา แล้วให้เงินไป ๑,๐๐๐ กหาปนะ สั่งว่า "เจ้าจงไป ตรวจดูว่า มีเด็กคนใดเกิดวันนี้ แล้วซื้อเด็กนั่นมาด้วยเงิน ๑,๐๐๐ นี่" นางกาลีออกสืบทราบไป ก็ไปพบบ้านเด็กชายโฆสก ด้วยวิสัยคนรับใช้ผู้ซื่อสัตย์ ไม่อยากให้เจ้านายเสียตังค์เยอะ จึงเข้าขอซื้อเด็กด้วยราคา ๑ กหาปนะ (เทียบกับปัจจุบันคงราว ๆ ๔-๕พันบาท) ชายหนุ่มหลงรักเด็กทารกเสียแล้ว ด้วยเงินเพียงแค่นี้จะพรากเด็กน้อยไป ก็ปฏิเสธ นางกาลีจึงเพิ่มเงินให้เป็น ๑๐ กหาปนะ ๑๐๐ กหาปนะ และสุดท้าย ๑,๐๐๐ กหาปนะ ชายหนุ่มก็สบถว่า "money talk" (ใช่ซี้...เงินซื้ออะไรก็ได้นี่) แล้วก็ยื่นเด็กน้อยให้นางกาลีไปแล้วรับเงินมาอย่างเสียไม่ได้

เศรษฐีรับเด็กน้อยมาเลี้ยงในเรือนแล้ว คิดว่า "ถ้าลูกของเรา เกิดมาเป็นหญิง เราก็จะจับคู่ตุนาหงันเสีย เรือล่มในหนอง เงินทองนั้นจะไปไหน หากมาดแม้นลูกเราเกิดเป็นชาย เราจะส่งเด็กเวลล์นี่ไปเป็นอาหารจระเข้ซะ" ต่อมาภรรยาเศรษฐีก็คลอดบุตรออกมาเป็นชาย ผ่านไป ๒-๓ วัน เมื่องานรับขวัญลูกเสร็จสิ้น ก็มาคิดว่า "ถ้าไม่มีไอ้เด็กเวลล์นี่ ตำแหน่งเศรษฐีต้องตกเป็นของลูกเราอย่างไม่ต้องสงสัย" (สมัยก่อน ตำแหน่งเศรษฐี จะต้องได้รับการแต่งตั้งจากพระราชา) ครั้นแล้วก็เรียกนางกาลีเข้ามาสั่งว่า "เจ้าจงเอาเด็กนี่ไปวางไว้หน้าคอกวัวเวลาเช้า ให้แม่วัวเหยียบมันเสียให้ตาย เจ้าจงดูให้แน่ใจว่ามันตายแน่ แล้วกลับมารายงาน" นางกาลีไปจัดการตามที่สั่ง พอนายโคบาลเปิดประตูคอก โคอุสภะ จ่าฝูงซึ่งปกติจะออกทีหลังเขา เดินนำหน้าออกมาก่อน ยืนคร่อมทารกไว้ โคทั้งหลายก็เบียดเสียดออกไปทางด้านข้างของโคอุสภะนั้น นายโคบาลเห็นแล้วก็คิดสงสัยอยู่ ก็เดินไปดูเห็นเด็กนอนอยู่ใต้ท้องโค เก็บขึ้นมาดู บังเกิดความรักขึ้นอย่างจับใจ นำกลับเรือนไป อุทานว่า "เราได้ลูกชายแล้ว" นางกาลีนำเหตุการณ์กลับไปรายงาน เศรษฐีให้เงินมาอีกพันหนึ่ง ให้ไปซื้อเด็กนั่นกลับมา นางกาลีก็ทำตามคำสั่ง

จบตอน ๖

ใครว่า พระไตรปิฎกน่าเบื่อ - นิทานอิงธรรมบท เรื่องพระนางสามาวดี ตอนที่ ๕

images10มาพิสูจน์กันครับว่า พระไตรปิฎกน่าเบื่อหรือไม่

ก่อนอื่นขอขมาพระรัตนตรัยกันไว้ก่อน

สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะเม ภันเต อุกาสะ ทวารัตตะเยนะ กะตัง ฯสัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะเม ภันเต อุกาสะ ขะมามิ ภันเต ฯ

ความตอนที่แล้ว มาถึงตอนที่ยอดชายนายโกเด้งถึงมรณาเพราะเจี้ยะเจ๊ง ท้องอืดตาย แล้วก็เข้าไปเกิดในท้องแม่สุนัข

ครั้น ๖ - ๗ เดือนให้หลังแม่สุนัขคลอดลูกออกมาตัวหนึ่ง นายโคบาลก็เอานมของแม่โค ให้ลูกสุนัขกิน พอโตขึ้นหน่อย พระปัจเจกพุทธเจ้าเวลาฉันข้าว จะโยนข้าวก้อนหนึ่งให้ลูกหมานั้น เพราะอาศัยก้อนข้าว ลูกสุนัขก็รักพระปัจเจกพุทธเจ้ายิ่งนัก พอโตขึ้น ก็เป็นสุนัขที่แสนรู้เป็นอันมาก (เพราะรู้ภาษาคน) โดยปกติแล้ว นายโคบาลจะไปหาพระปัจเจกพุทธเจ้า วันละ ๒ เวลาเช้าเย็น เมื่อไปถึงบริเวณพุ่มไม้ที่มีสัตว์ร้าย ก็เอาไม้ตี ร้อง "ชิ่ว ๆ" ๓ ครั้ง สัตว์ร้ายก็หนีไป อยู่มาวันหนึ่ง ก็กล่าวกับพระปัจเจกพุทธเจ้าว่า "หากวันใด กระผมไม่ว่างมานิมนต์ด้วยตนเอง ขอประทานอนุญาต ส่งสุนัขตัวนี้มา เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการนิมนต์นะขอรับ" พระปัจเจกพุทธเจ้าก็อนุญาตตามประสงค์ แต่นั้นมา คราใดที่นายโคบาลไม่ว่าง ก็จะส่งสุนัขไปแทน ด้วยคำสั่งเดียว สุนัขนั้นก็จะไปจัดการตามต้องการ เมื่อไปถึงพุ่มไม้ที่มีสัตว์ร้าย ก็เห่าขึ้น ๓ ครั้ง สัตว์ร้ายก็หนีไป พอไปถึงที่พำนักของพระปัจเจกพุทธเจ้า ก็เห่าขึ้น ๓ ครั้ง ให้ท่านทราบว่า ตนมาแล้ว จากนั้นไปหมอบ กระดิกหาง อยู่ข้างหนึ่ง ครั้นพอพระปัจเจกพุทธเจ้าเตรียมตัวเสร็จแล้ว ก็ออกนำหน้า นำทางแด่พระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ท่านอยากจะลองความแสนรู้ของเจ้าหมาน้อย เลยลองเดินออกนอกเส้นทาง คุณน้องหมาก็รีบวิ่งไปขวาง ยืนเห่าอยู่ จึงได้ชื่นชมความแสนรู้ของมัน ครั้นต่อมาในกาลอื่น อยากทดสอบอีก ก็ลองเดินออกนอกเส้นทางอีก ครั้งนี้แม้คุณน้องหมา ไปยืนขวางเห่าอยู่ก็ไม่สน เดินต่อไปอีก คราวนี้คุณน้องหมาเลยคาบ "ผ้านุ่ง" ลากให้กลับมาในทางเลย (พระปัจเจกฯ จำต้องยอมตาม ไม่งั้นก็โป๊ซิจ๊ะ งับจีวรนี่ยังพอทำเนา งับผ้านุ่งนี่หมดสิทธิ์ขัดขืนเลย) พระปัจเจกฯ ได้สรรเสริญความแสนรู้ของสุนัข กับนายโคบาลเจ้าของแล้ว ยังความระริกระรี้ หูตก หางกระดิก ให้แก่หมาน้อยเป็นอันมาก

ต่อมา ผ้าจีวรของพระปัจเจกฯ เก่าเต็มที นายโคบาลจึงถวายผ้าสำหรับทำจีวร พระปัจเจกฯจึงกล่าวแก่นายโคบาลว่า "ดูก่อน ผู้มีอายุ การทำจีวรนั้น ต้องทำกันหลายคน อาตมาขอลาไปสู่ที่สมควร แล้วจึงทำ"

นายโคบาลจึงนิมนต์ให้อยู่ทำ ณ ที่นั้น แต่เป็นที่ไม่สะดวก สุดวิสัยจริง ๆ นายโคบาลจึงกล่าวว่า "ท่านอย่าไปนานนัก" ครั้นนายโคบาลคล้อยหลังแล้ว พระปัจเจกฯก็เหาะขึ้นในอากาศ บ่ายหน้าสู่ภูเขาคันธมาทน์ (ภูเขาลูกนี้ พระปัจเจกฯเยอะจริง ๆ) หมาน้อยนั่งปั้นจิ้มปั้นเจ๋อฟังเขาคุยกันอยู่ เห็นพระปัจเจกฯเหาะขึ้น ก็วิ่งพลาง เห่าพลาง วิ่งตามสุดชีวิต จนพระปัจเจกฯลับสายตา หมาน้อยก็หัวใจสลายตาย ชาก แหง็ก ๆ ๆ ๆ (คาดว่า หัวใจวายเพราะวิ่งไปเห่าไป หายใจไม่ทัน)

ภาพหมาน้อยตอนแหงนมองพระปัจเจกพุทธเจ้า

ครั้นหมาน้อยเสวยดนตรีร็อค เมกก้าเดธ เรียบร้อยแล้ว พลันไปจุติเป็นเทพบุตรบนสวรรค์ชั้นดาวดึงสเทวโลก มีนางอัปสร ๑,๐๐๐ เป็นบริวาร เทพบุตรนี้กระซิบที่หูใคร ก็ดังไกลไป ๑๖ โยชน์ (๑ โยชน์ = ๑๖ กิโลเมตร) หัวเราะทีก็ดังสนั่นไปทั้งดาวดึงส์ ไกลประมาณหมื่นโยชน์ จึงได้ชื่อว่า "โฆสกเทพบุตร" (น่าจะเป็นที่มาของคำว่า "โฆษก" หรือ พิธีกร ในปัจจุบัน) ด้วยอำนาจแห่งบุญที่ได้เห่าพระปัจเจกฯด้วยความรัก จนขาดใจตาย

ความเห็นส่วนตัว *มีคนเป็นจำนวนไม่น้อย คิดว่า สัตว์เดรัจฉานเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต่ำกว่ามนุษย์ คิดไม่ได้เหมือนมนุษย์ เพราะมีศักยภาพสมองที่ต่ำกว่า บ้างก็คิดว่า สัตว์ทั้งหลายเกิดมาเพื่อเป็นอาหารให้มนุษย์ ฉะนั้น การฆ่าสัตว์เพื่อเป็นอาหารไม่บาป เช่นนั้นเป็นความคิดที่ฟั่นเฝือเกินไป หากสัตว์ทั้งหลายเกิดมาเพื่อเป็นอาหารของมนุษย์จริง เวลาเราจะไปฆ่ามัน มันย่อมดีอกชกใจ รี่เข้ามาหาปังตอ รีบสับคอฉันสิ ๆ แต่ความจริงก็หาเป็นเช่นนั้นไม่ สัตว์ทั้งหลาย แม้กระทั่งมด เวลาเราจะบี้มัน มันยังวิ่งหนีหัวซุกหัวซุน ทุกชีวิตล้วนรักชีวิตของตน ไม่อยากให้ใครมาทำลาย และที่ว่าสัตว์ทั้งหลายต่ำกว่ามนุษย์นั้น ก็จริงโดยส่วนเดียว คุณธรรมของสัตว์บางประเภท ดีกว่ามนุษย์เสียอีก เช่น ไม่ฆ่าสัตว์อื่น ไม่ขโมยของใคร ผัวเดียวเมียเดียว ไม่โกหกใคร ไม่กินเหล้า และของมึนเมาอื่น ๆ สัตว์ทั้งหลาย ไม่สามารถเข้าใจศีล ก็จริงอยู่ เพราะสัตว์ทั้งหลายยังจัดอยู่ในอบายภูมิ แต่สัตว์บางชนิดที่เกิดมาแล้ว ได้รับความเอ็นดูจากมนุษย์ อยู่ใกล้มนุษย์ นั่นเขาก็ใกล้จะพ้นอบายภูมิแล้ว ซึ่งก็ได้แก่ สุนัข แมว และสัตว์เลี้ยง น่ารัก ๆ อื่น ๆ บางทีเขาเหล่านั้นจบชาตินี้แล้ว ขึ้นไปเป็นเทพบุตร เทพธิดา ก็มี เช่น โฆสกเทพบุตร เป็นต้น อีกประการหนึ่ง ธรรมดาของการเปลี่ยนภพชาติ ถ้าระหว่างภพชาติไม่ยาวนานเกินไปนัก ก็จะจำความในชาติก่อนได้ เช่น จากคน เกิดเป็นคน ก็จะระลึกชาติได้ ๑ ชาติ เป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องน่าอัศจรรย์ หรือ จากคนเป็นหมา ก็จะเข้าใจภาษาคน เป็นต้น แต่ถ้าในระหว่าง ไปเกิดในภพภูมิที่อายุแสนนานมาก ๆ หลุดขึ้นมาได้ จะลืมเรื่องราวเดิมไปหมดสิ้น เช่น เกิดเป็นคน แล้วตกนรก (อายุนรกอย่างต่ำ ๆ ก็ ๙ ล้านปี) ขึ้นจากนรกได้ต้องมาเป็นเปรต จากเปรตเป็นอสุรกาย จากอสุรกายจึงจะเป็นสัตว์เดรัจฉาน เวลายาวนานขนาดนั้น ขึ้นมาก็ลืมหมด จึงไม่แปลกใจที่สัตว์ทั้งหลายจะไม่สามารถเข้าใจภาษามนุษย์ได้ จบจากภูมิของสัตว์เดรัจฉานจึงจะมาเกิดเป็นคน จึงไม่แปลกใจอีกเหมือนกัน ที่คนบางคนนิสัยเหมือนสัตว์ ก็เป็นเพราะเขาได้ใช้โทษกรรมในอบายภูมิของเขาจนสิ้นแล้ว หรือบังเอิญไปเกิดเป็นสัตว์ที่รักษาศีล ๕ ได้เป็นปกติ จึงได้มาเกิดเป็นคน เข้าใจหรือยังว่า การได้เกิดเป็นคน ทำไมเขาถึงว่า มันยากหนักหนา ตัวอย่างในพระไตรปิฎกก็มี ตอนเมียคนที่ ๔ ของพระอินทร์ ชื่อนางสุชาดา ไปเกิดเป็นนกยาง ต้องจับปลากิน นี่คือโดยภูมิเขา ต้องทำปาณาติบาตเป็นปกติ สิ้นชาติเป็นอันมากกว่าจะพ้นจากจุดนั้น คือจบจากชาติที่เป็นนกยาง ก็ต้องไปเกิดเป็นปลา เพื่อใช้โทษกรรม เช่นนี้ไปเรื่อย จนไปเป็นสัตว์ที่มีศีล ๕ เป็นปกติ พระอินทร์อดรนทนรอไม่ไหว เลยไปบอกนกยาง ให้รักษาศีล ๕ เสีย โชคดีที่นกยางเชื่อฟังผัวเก่า หาแต่ปลาตายกิน ครั้นหาไม่ได้ก็อดมื้อกินมื้อ ที่สุดก็เป็นโรคมาเรีย ฟรานซ์ตาย(ผอมตาย) จบจากชาตินั้นก็ไปเกิดเป็นลูกสาวของนายช่างหม้อ นี่ละอานิสงส์แห่งศีล*

จบตอน ๕

by Dhammasarokikku

ใครว่า พระไตรปิฎกน่าเบื่อ - นิทานอิงธรรมบท เรื่องพระนางสามาวดี ตอนที่ ๔

imagesCAW5ODTBมาพิสูจน์กันครับว่า พระไตรปิฎกน่าเบื่อหรือไม่

อนึ่ง การนำพระไตรปิฎกมาล้อเล่น เดี๋ยวข้าพเจ้าจะได้ไปนั่งแคะขี้มูกให้พระเทวทัต ข้างล่างนั่นก็แน่นเอียดแทบจะขี่คอกันอยู่แล้ว ต้องขอขมาพระรัตนตรัยไว้ก่อน

สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะเม ภันเต อุกาสะ ทวารัตตะเยนะ กะตัง สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะเม ภันเต อุกาสะ ขะมามิ ภันเต

ข้าพเจ้าไม่มีเจตนา จะปรามาสเรื่องราวใด ๆ ในพระไตรปิฎกเลยขอรับ เพียงแต่อยากนำมาเล่าสู่กันฟัง ในเวอร์ชั่นไม่ซีเรียสนัก ได้ข้อคิดนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ข้าพเจ้าขออนุญาต นำเรื่องในพระไตรปิฎกมาดัดแปลงชื่อตัวละครใหม่ แต่คงพล็อตเรื่องไว้ ใครใคร่เชื่อก็เชื่อครับ ใครใคร่อ่านเป็นนิทานก็ตามสบายครับ

ความตอนที่แล้ว จบอยู่ที่เด็กชายอุเทน ได้เถลิงถวัลย์กษัตริยสมบัติเรียบร้อยแล้ว ตอนนี้จะเป็นอารัมภบทแนะนำตัวละครต่อไป คือ สองผัวเมีย

ครั้นนั้นเกิดม็อบขึ้นในแคว้นอัลปาก้า(อัลลกัปปะ) ยังมีหนุ่มน้อยผู้หนึ่ง (เหลือความเป็นหนุ่มน้อย) ชื่อว่า โกตุหลิก (โก-ตุ-หะ-ลิ-กะ) เรียกย่อ ๆ ว่า โกเด้ง ละกัน ขายพระเครื่องอยู่แถวห้างพันธุ์ทิพย์ ในแคว้นนั้น เห็นความเป็นไปแล้ว ดูท่าจะแย่ เพราะม็อบพากันมาประท้วงจนรถติดกันระนาว และมาพร้อมโรคระบาดชื่อ "อหิวาต์" จึงพาเมียพร้อมด้วยบุตรอ่อน ๆ แพ็คเสบียงขึ้นหลัง ออกเดินทางไปหากินยัง มาบุญครองนคร(โกสัมพี) ระหว่างทางเสบียงได้หมดลง จึงปรึกษากับภรรยาว่า "แม้เรามีชีวิตรอดไปถึงมาบุญครองนคร จะปั๊มลูกอีกสักโหล ก็ย่อมกระทำได้ เพลานี้ เสบียงก็หมด แลใกล้สิ้นกำลัง ขอเธอจงทิ้งลูกไว้เสียที่นี่เถิด"

"ท่านพี่... อย่าทำร้ายแก้วตาดวงใจของฉันเลย" ธรรมดาความเป็นแม่ ย่อมรักลูกปานดวงใจ ภรรยาจึงห้ามไว้ เดิน ๆ ไป พ่อโกเด้งก็เวียนขอร้องอีกหลายครา นางก็ปฏิเสธเสียทุกครั้ง คราวหนึ่ง เปลี่ยนกันอุ้มลูกตามวาระ หนุ่มโกเด้งเลยออกอุบาย ให้ภรรยาเดินนำขึ้นไปก่อน เขาจะแวะชิ้งฉ่องเสียหน่อย ภรรยาพาซื่อผัวว่าไงว่าตามกัน ก็เดินไปเรื่อย ฝ่ายผัวเห็นลูกนอนหลับอยู่ จึงวางไว้ใต้โคนไม้ แล้วแกล้งทำเป็นเดินช้า ๆ กว่าจะตามภรรยาทันก็ไกลโข ฝ่ายภรรยาหันมา ไม่เห็นลูกก็ตกใจใหญ่ พิร่ำรำพันขอให้ผู้สามี กลับไปนำลูกคืนมา กระทาชายนายโกเด้งค้านอย่างไรก็ไม่เป็นผล สุดท้ายต้องจำใจเดินกลับมาที่โคนต้นไม้ เด็กก็ตายเสียแล้ว

วันนั้นนายโคบาลมีงานบุญเลี้ยงอาหารทำขวัญแม่โคอยู่ นายโคบาลนิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้ามาฉันที่เรือนอยู่เป็นนิตย์ พระคุณเจ้าฉันแล้ว ก็เลี้ยงข้าวมธุปายาสแก่คนทั่วไปอยู่เป็นอันมาก นายโคบาลเห็นผัวเมีย กระเซอะกระเซิงมาอย่างหิวโหย จึงสอบถามที่มาที่ไป ได้ความแล้ว จึงเชิญให้ร่วมรับประทานอาหารกัน

นายโกเด้งได้รับชามข้าวแล้ว โซ้ยอย่างตะกรุมตะกราม เนื่องจากอดมาหลายวัน และข้าวปายาสนั้นก็โอชะเหลือประมาณ ไม่เคยได้ลิ้มรสมาก่อน จนเมียเห็นแล้วสงสาร แบ่งส่วนของนางไว้กินเองหน่อยหนึ่ง แล้วยกส่วนที่เหลือของนางให้ ไม่นานข้าวปายาสทั้งสองชาม ก็ลงไปนอนกองในท้องคุณชายโกเด้ง ฝ่ายนายโคบาล ให้สำรับข้าวแก่คนทั้งสองแล้ว ตัวเองจึงเริ่มกิน นางสุนัขตัวหนึ่งนอนอยู่ใต้โต๊ะ นายโคบาลก็ปั้นข้าวปายาสโยนให้มันกิน นายโกเด้งนั่งมองนายโคบาล กับนางสุนัข แล้วคิดในใจว่า นางสุนัขนี้ช่างมีบุญนักหนา ได้กินข้าวปายาสอยู่เป็นประจำ แม้เราเองเป็นคน ยังเพิ่งมีโอกาสได้กินเมื่อคราวนี้เอง

ตกดึก ด้วยความที่อดข้าวมา ๗-๘ วัน แล้วกินเข้าไปไม่บันยะบันยัง ข้าวปายาสก็ย่อยยากเสียด้วย ยังนายโกเด้งให้ถึงแก่มรณะไปในคืนนั้น ละอัตภาพนั้นแล้ว ก็ไปเกิดในท้องของนางสุนัขตัวนั้น ฝ่ายภรรยาเมื่อเผาศพสามีตนเรียบร้อยแล้ว ก็อยู่รับจ้างทำงานในเรือนนั้นเอง ได้ข้าวมาทะนานหนึ่ง ก็หุงแล้ว นำมาใส่บาตรพระปัจเจกพุทธเจ้า ยินดีในทานนั้น ก็ขอเป็นลูกจ้างประจำ มิได้หวังค่าตอบแทน หวังแต่จะได้ใส่บาตรพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นประจำนั่นเอง

ความเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้า *อย่างที่กล่าวไว้ในตอนที่ ๑ ว่า "ธรรม" ในพระไตรปิฎกมักไม่ใช่เรื่องโบราณ อย่างการตายจากความเป็นคน ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็มีมาในพระไตรปิฎกหลายตอน อย่างพระติสสะ ตอนตายจิตจับอยู่กับจีวรผ้าแพรผืนใหม่ ตายแล้วไปเกิดเป็นเล็นเฝ้าจีวรอยู่ ๗ วัน ก็เพราะอาศัยจิตสุดท้ายเป็นสำคัญ ดังที่มีมาในพระธรรมบท ขุททกนิกายว่า จิตเต อสังกิลิฏเฐ สุคติ ปาฏิกังขา กับ จิตเต สังกิลิฏเฐ ทุคติ ปาฏิกังขา ซึ่งแปลเป็นใจความได้ว่า ตอนตายหากจิตจับกุศล หรือไม่เศร้าหมอง ก็ไปสุคติ หากจิตจับอกุศล หรือเศร้าหมอง ก็ไปทุคติ ทีนี้ตอนตายของนายโกเด้ง จิตจับแม่หมา คิดอยู่ว่า เกิดเป็นหมานี่มันช่างดีหนอ ได้กินข้าวมธุปายาสเป็นประจำ พอตายปุ๊บ แฟร๊ป...เด้งเข้าท้องหมาไปเลย อันนี้มักเป็นกรณีพิเศษ เพราะจิตจับอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นกรณีปกติ นอนพะงาบ ๆ อยู่บนเตียง บ้างจะนึกถึงกุศลที่ตนเคยได้ทำมา บ้างจะนึกถึงอกุศลที่ตนเคยได้ทำมา บ้างอกุศลกรรมเข้ามาสนอง เช่น เคยฆ่าไก่ไว้ วินาทีที่จะตาย ได้ยินเสียงไก่มาร้อง กระต๊าก ที่ประตู ตกใจปื๊บ ลงไปอยู่สำนักพยายมเลย เป็นต้น ท่านจึงแนะนำไว้ว่า ถ้าเรามีโอกาสไปอยู่ดูแลคนใกล้ตาย แนะให้นำพระพุทธรูป มาวางไว้ใกล้ ๆ ให้คนใกล้ตายมองเห็น แนะให้คนใกล้ตายนั้น จับภาพพระพุทธรูปไว้ หรือภาวนา พุทโธ จับลมหายใจไป หรือให้เขานึกถึงความดีที่เคยทำมา ทำทุกอย่าง อะไรก็ได้เพื่อให้จิตจับกุศล ก็จะได้ไปสู่สุคติ และอย่าลืม ให้เขาเอาเงินเท่าไหร่ก็ได้ อธิษฐานชำระหนี้สงฆ์เสียก่อนด้วย*

จบตอน ๔

by Dhammasarokikku

ใครว่า พระไตรปิฎกน่าเบื่อ - นิทานอิงธรรมบท เรื่องพระนางสามาวดี ตอนที่ ๓

images5มาพิสูจน์กันครับว่า พระไตรปิฎกน่าเบื่อหรือไม่

อนึ่ง การนำพระไตรปิฎกมาล้อเล่น เดี๋ยวข้าพเจ้าจะได้ไปนั่งแคะขี้มูกให้พระเทวทัต ข้างล่างนั่นก็แน่นเอียดแทบจะขี่คอกันอยู่แล้ว ต้องขอขมาพระรัตนตรัยไว้ก่อน

สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะเม ภันเต อุกาสะ ทวารัตตะเยนะ กะตัง สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะเม ภันเต อุกาสะ ขะมามิ ภันเต

ข้าพเจ้าไม่มีเจตนา จะปรามาสเรื่องราวใด ๆ ในพระไตรปิฎกเลยขอรับ เพียงแต่อยากนำมาเล่าสู่กันฟัง ในเวอร์ชั่นไม่ซีเรียสนัก ได้ข้อคิดนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ข้าพเจ้าขออนุญาต นำเรื่องในพระไตรปิฎกมาดัดแปลงชื่อตัวละครใหม่ แต่คงพล็อตเรื่องไว้ ใครใคร่เชื่อก็เชื่อครับ ใครใคร่อ่านเป็นนิทานก็ตามสบายครับ

ความตอนที่แล้ว มาถึงตอนที่พระเจ้าบาเครัตตะสวรรคต และพระเทวีอยากให้ราชบุตรของนาง ขึ้นครองราชย์ต่อ แทนพระราชบิดา ครั้งนั้น พระเจ้าอัลปาก้าก็รับปากเป็นมั่นเหมาะว่า จะทำให้ราชบุตรของพระนาง ขึ้นเสวยราชย์ให้จงได้

วันรุ่งขึ้น พระเจ้าอัลปาก้า ก็เรียกเด็กชายอุเทนถวายมา รับสั่งว่า เจ้าจงเรียนมนต์สามบทนี้ และนำพิณนี้ไป ฝึกเรียกช้าง ไล่ช้าง ให้ช่ำชอง สิ้นวันที่ ๒ เด็กชายอุเทนถวายก็เรียนรู้มนต์จนหมดสิ้น พระเจ้าอัลปาก้าก็บอกพระเทวี บุตรของเจ้า สำเร็จวิชา ฟ่งหวิ๋น ขี่พายุทะลุฟ้า เรียบร้อยแล้ว จงให้เขาไปจากที่นี่ แล้วเขาจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน

"โอ้ลูกรัก พระบิดาของเจ้า เป็นกษัตริย์ครองอาณาจักรแห่งหนึ่งชื่อมาบุญครอง(โกสัมพี) อาณาจักรนี้เป็นอาณาจักรแห่งโทรศัพท์มือถือ และอื่น ๆ อีกจิปาถะ บัดนี้พระบิดาของเจ้า ได้สวรรคตเสียแล้ว ชาวนครช่างกลปทุมวัน คงคิดเหิมเกริม ตั้งตัวเป็นขบถเป็นแน่ เจ้าจงไป บอกแก่ชาวเมือง แลขุนนางว่า เจ้าเป็นราชบุตรของกษัตริย์แห่งมาบุญครองนคร หากแม้เขาเหล่านั้นไม่เชื่อ เจ้าจงจำ แลบอกชื่อเสนาบดี แลขุนนางคนอื่น ๆ แลผู้บริหารห้าง ให้แม่นยำ แม้เขายังไม่เชื่ออีก ให้เอาผ้ากัมพลสีแดง ยี่ห้อ ปราดา แหวนธำมรงค์ประดับเพชรฮาวาเอี้ยนบลูไดมอนด์ ของพระบิดาเจ้า และโทรศัพท์โนเกียรุ่นล่าสุด เอ็นเป็นกล้าม แสดงให้พวกเขาดู" พระเทวีบอกลูกรักด้วยน้ำเสียงแสนสิเหน่หา

เด็กชายอุเทนถวายได้แต่อึ้ง ๆ อยู่ ก็นี่เราเพิ่งอายุไม่กี่ขวบ จะทำการใหญ่ ชิงราชสมบัติได้อย่างไร ไพร่พลก็ไม่มี วิชาความรู้ก็มีแต่เพียงวิชาดีดพิณ ไฉนเลยท่านแม่ถึงเสือกไสไล่ส่งเราเช่นนี้ กระนั้น ก็มิคิดย่อท้อ กราบเท้าเรียนถามพระเจ้าอัลปาก้า พระบิดาใหม่ว่า "จะให้หม่อมฉันทำเช่นไร"

พระเจ้าอัลปาก้าสั่งว่า "เจ้าจงนั่งหลังช้างนายฝูงไป จงไปยึดเอาราชสมบัติ"

เด็กชายอุเทนอึ้งกิมกี่นึกในใจ "แค่เนี้ยะ... จะไปยึดราชสมบัติได้อย่างไร" ด้วยความที่มีเลือดขัตติยะกษัตริย์ แม้ท่านสั่งแล้ว ก็ต้องทำตาม จึงถวายบังคมพระราชบิดา พระราชมารดาแล้ว ทรงทำตามนั้น ขึ้นนั่งบนหลังช้างจ่าฝูง กระซิบที่หูช้างว่า "ท่านพญาช้างผู้เจริญ ข้าพเจ้าเป็นบุตรของพระเจ้าบาเครัตตะแห่งมาบุญครองนคร ขอท่านโปรดช่วยยึดเอาราชสมบัติอันเป็นของบิดาให้แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด นายของข้า" พญาช้างไม่เคยได้ยินคำขอร้องอย่างอ่อนโยนจากมนุษย์ใดมาก่อน มีแต่มนุษย์มาสั่งให้ทำโน่นทำนี่ ไม่ทำก็เอาขอเหล็กจิกเนื้อ ได้ฟังมธุรสวาจา ก็ฮึกเหิมเต็มใจช่วยขัตติยกุมารให้ได้เศวตฉัตรมาครอง บัดนั้นก็ประกาศก้องเป็นภาษาช้างว่า "ช้างทั้งหลาย จงมารวมกัน" ช้างหลายพันก็มารวมตัวกันอย่างไม่เคยมีมาก่อน สร้างความตะลึงพรึงเพริดแก่เด็กชายอุเทนเป็นอันมาก แล้วสั่งว่า "ช้างแก่ ๆ จงถอยไป" ช้างแก่ ๆ ถอยไปแล้ว ก็สั่งอีกว่า "ช้างตัวเล็ก ๆ จงกลับไป" ครั้งนั้นจึงเหลือแต่ช้างนักรบหลายพันเชือก สร้างความฮึกเหิมแก่เด็กชายอุเทนเป็นกำลัง ครั้นแล้วจึงเดินทัพไปสู่ปลายแดน ประกาศก้องว่า "เราเป็นลูกพระเจ้าแผ่นดิน ผู้ที่ปรารถนาสมบัติ จงมากับเรา" ผู้คนได้เห็นแสนยานุภาพแล้ว ต่างพากันเลื่อมใส ออกติดตามกองทัพทุกผู้ ตั้งทัพล้อมนครไว้

"หวังเฉา หม่าฮั่น" อุเทนถวายราชกุมารสั่งสมุนซ้ายขวา "จงนำสาส์นของเราไป แจ้งแก่ชาวมาบุญครองนครว่า จะรบ หรือ จะให้ราชสมบัติ"

ชาวมาบุญครองนครได้รับสาส์นแล้วประกาศก้อง "เราจักไม่ให้ทั้ง ๒ อย่าง จริงแล้ว แม้พระเจ้าบาเครัตตะจะสวรรคตไปแล้ว ท่านยังมีรัชทายาทสืบสันตติวงศ์ คือพระราชบุตรในพระครรภ์ของพระราชเทวี เพลานี้พระราชเทวีซึ่งทรงพระครรภ์แก่ ถูกนกไพราโนดอนจับไป เป็นตายร้ายดีมิอาจทราบ ตราบเท่าที่เรายังไม่ทราบความเป็นไปของพระราชเทวี ตราบนั้น เราจะไม่ให้ทั้งการรบ และราชสมบัติ" (โห...ชาวเมืองเขาสัตย์ซื่อดีนะ ไม่มีใครคิดสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นกษัตริย์เลย)

"ฉันเป็นบุตรของพระนาง" อุเทนถวายราชบุตรประกาศมั่ง แล้วอ้างชื่อเสนาบดี ขุนนางทั้งหลาย

"โธ่ท่าน อันชื่อเสนาบดี หรือขุนนาง ใครก็รู้ได้ หากมีหลักฐานเพียงเท่านี้ก็ครองแผ่นดินได้ คงมีกษัตริย์เต็มเมืองเป็นแน่แท้" ชาวเมืองตอบ

"แล้วสิ่งนี้เล่า" เด็กชายอุเทนสะบัดผ้ากัมพลยี่ห้อปราดา หนึ่งเดียวในนคร และพระธำมรงค์ประดับเพชรฮาวาเอี้ยนบลูไดมอนด์ ซึ่งผู้ครอบครองเพชรเม็ดนี้ ต้องเป็นผู้ที่ทำยอดขายนูสกินได้เกินสิบล้าน เท่านั้น นั่นคือ พระเจ้าบาเครัตตะพระองค์เดียว กระนั้นชาวนครก็ยังลังเลอยู่ เหตุเพราะผู้ที่จะมีบุญบารมีครองนครได้ ต้องเป็นผู้ที่ได้รับโองการจากสวรรค์เท่านั้น บัดนั้นเด็กชายอุเทนเห็นชาวเมืองลังเลอยู่จึงควักโองการจากสวรรค์ โทรศัพท์โนเกียรุ่นล่าสุด เอ็นเป็นกล้าม ขึ้นโชว์ เรียกเสียงฮือฮาแก่ชาวนครเป็นอันมาก เพราะยังไม่มีวางจำหน่ายที่ใด ต้องเป็นผู้ที่มีบุญญาธิการเท่านั้น

ชาวนครหมอบคารวะลงพร้อมกัน "พระอาญามิพ้นเกล้า ข้าน้อยมีตา หามีแววไม่ ข้าน้อยสมควรตาย"

"ลุกขึ้นเถิด" เด็กชายอุเทนกล่าวด้วยน้ำเสียงมีเมตตา

ชาวเมืองก็โห่ร้อง เปิดประตูเมือง รับเอาอุเทนถวายราชกุมาร ขึ้นเถลิงราชสมบัติ อภิเษกราชบุตรไว้ใต้ร่มเศวตฉัตร แต่นั้นมา

จบตอน ๓ (ตอน ๓ แล้ว นางเอกยังไม่โผล่เลย)

อุทาหรณ์สอนใจให้รู้ว่า อันอ้อยตาลหวานลิ้น แล้วสิ้นซาก แต่ลมปากหวานหู มิรู้หาย แม้ช้างเป็นสัตว์เดรัจฉาน ยังพอใจฟังคำมธุรส ฉะนั้นเวลาเราต้องการใช้ใคร สมควรใช้วาจาที่นิ่มนวล ไพเราะ อย่าลุแก่อำนาจ คิดว่า เขาเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของเรา ต้องเชื่อฟังเรา การงานบางอย่าง ก็ไม่สามารถสำเร็จได้ ถ้าไม่ใช้ "ใจ" ทำ ปิยวาจา เป็นสิ่งที่ไม่ต้องลงทุนสักบาท แต่ให้ผลอเนกอนันต์ แม้คนถูกใช้ ก็ทำด้วยความเต็มใจ คนเรายิ่งสูงก็ต้องยิ่งทำตัวเสมือนเป็นผู้รับใช้ จึงจะได้รับการยกย่อง และชนะใจคน

by Dhammasarokikku

ใครว่า พระไตรปิฎกน่าเบื่อ - นิทานอิงธรรมบท เรื่องพระนางสามาวดี ตอนที่ ๒ by Dhammasarokikku

samaมาพิสูจน์กันครับว่า พระไตรปิฎกน่าเบื่อหรือไม่

อนึ่ง การนำพระไตรปิฎกมาล้อเล่น เดี๋ยวข้าพเจ้าจะได้ไปนั่งแคะขี้มูกให้พระเทวทัต ข้างล่างนั่นก็แน่นเอียดแทบจะขี่คอกันอยู่แล้ว ต้องขอขมาพระรัตนตรัยไว้ก่อน

สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะเม ภันเต อุกาสะ ทวารัตตะเยนะ กะตัง

สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะเม ภันเต อุกาสะ ขะมามิ ภันเต

ข้าพเจ้าไม่มีเจตนา จะปรามาสเรื่องราวใด ๆ ในพระไตรปิฎกเลยขอรับ เพียงแต่อยากนำมาเล่าสู่กันฟัง ในเวอร์ชั่นไม่ซีเรียสนัก ได้ข้อคิดนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ข้าพเจ้าขออนุญาต นำเรื่องในพระไตรปิฎกมาดัดแปลงชื่อตัวละครใหม่ แต่คงพล็อตเรื่องไว้ ใครใคร่เชื่อก็เชื่อครับ ใครใคร่อ่านเป็นนิทานก็ตามสบายครับ

เนื้อความตอนที่แล้วมาถึงตอนที่ พระราชเทวี คลอดบุตรเมื่อรุ่งเช้า จึงตั้งชื่อให้พระราชบุตรว่า "อุเทน"

ฝ่ายอัลปาก้าดาบสมีที่พำนักอยู่แถวนั้น ปกติถ้าฝนตก จะไม่เข้าไปหาอาหารในป่า เพราะอากาศในป่าจะเย็นจัด จึงเวียนมาหาเศษกระดูกที่นกไพราโนดอนกินเนื้อแล้วเหลือทิ้งไว้ เก็บไปต้มก็จะได้ซุปโอชารสยิ่งกว่า ต้มด้วยซุปก้อนคนอร์ ได้ยินเสียงทารกร้องอยู่ แหงนหน้ามอง เลยเห็นพระราชเทวียิ้มเผล่อยู่ จึงถามว่า "ท่านเป็นใคร" พระนางกล่าวว่า "ข้าพเจ้า เป็นหญิงมนุษย์"

อัลปาก้าดาบสนึกในใจ "เออ...รู้แล้วโว้ย ตาไม่ได้บอด" ทำเสียงเป็นปกติ (เดี๋ยวจะเสียเชิงสมณะ) แล้วถามต่อ "แล้วเจ้ามาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร"

"นกหัสดีลิงค์นำข้าพเจ้ามา" พระเทวีตอบ

ดาบสบอก "งั้นท่านจงลงมา"

พระเทวีกรีดเสียงปากแหลม "โอ้ว...ม่าย...ไม่ได้หรอก ทำเช่นนั้นได้อย่างไร อันเราเป็นสาวเป็นแส้ ทั้งยังตระกูลสูงศักดิ์ ท่านมาเรียกเราลงไปเยี่ยงนี้ได้อย่างไร ข้าพเจ้ามิอาจทำให้ชาติกำเนิดของข้าพเจ้าแปดเปื้อนได้" (ดูสิ...จะอดตายอยู่แล้ว ยังถือเนื้อถือตัว ขัตติยมานะนี่ แม้ตายก็ไม่ยอมเสียเกียรติ)

ดาบสทำหน้าเซ็ง ๆ แล้วถาม "แล้วท่านเป็นใคร"

พระเทวีเชิ่ดหน้าใส่แล้วว่า "อันเรานั้น เป็นหน่อเนื้อกษัตริย์"

ดาบสกระแอมเล็กน้อยเก็กเสียงหล่อแล้วว่า "แม้เราก็เป็นกษัตริย์"

พระเทวีคิดในใจ "ชิชะเชอะ หน้าตาอย่างท่านหรือ เป็นกษัตริย์" แล้วกล่าวว่า "เช่นนั้น ท่านจงแสดงหลักฐาน"

ดาบส เอาตราตั้งหยกเขียว "ฟ่งหวิ๋น" ขึ้นแสดง

พระเทวีตกใจก้มลงคารวะ "พระอาญามิพ้นเกล้า... ข้าน้อยบังอาจล่วงเกินท่าน ข้าน้อยสมควรตาย"

ดาบส "มิเป็นไร ๆ ลุกขึ้นเถิด เจ้าไม่รู้ ย่อมไม่มีความผิด"

พระเทวี "ขอท่านจงขึ้นมานำทารกลงไปเถิดเพคะ แม้ข้าน้อยมิอาจลงไปเองได้เพคะ"

อัลปาก้าดาบส ก็เอาไม้พาดทำเป็นบันได ปีนขึ้นไปรับลูกของนาง "อย่าถูกต้องตัวข้า" พระเทวีประกาศ (ดูซี ยังถือตัวไม่ลดราวาศอก) ดาบสก็ระวังไม่ถูกต้องตัวนางเลย พระนางก็ตามดาบสลงมา แล้วตามดาบสไปสู่อาศรม

ครั้นถึงอาศรมแล้ว พ่อดาบสก็บำรุงพระนางอย่างดี นำน้ำผึ้งอย่างดีมาให้ นำข้าวสาลีมาให้ บำรุงเลี้ยงดู ราวกับเป็นโรงแรมสปากลางป่า อยู่มาได้ระยะหนึ่ง พระนางก็ฉลาดใช่ธรรมดาเสียที่ไหน ดูอย่างตอนถูกนกไพราโนดอนจับมาซี ยังมีสติคิดเอาตัวรอดได้ ก็มาเพลานี้ พิจารณาแล้ว ดู ๆ ไป พ่อดาบสก็หล่อดี น้ำใจก็งาม ตระกูลก็เป็นกษัตริย์เสมอกัน ถ้าเราขืนยังเล่นบทพ่อแง่แม่งอนอย่างละครช่อง ๗ เช่นนี้ต่อไป นานเข้า พ่อดาบสเบื่อแหนงหน่ายขึ้นมา มิพากันตายทั้งแม่ลูกฤๅ จำเราจะต้องผูกมัดดาบสไว้ให้แน่นหนา คิดได้แล้ว จึงเงยหน้า ทำปากเผยอ มองดาบสด้วยหางตา ทำสายตากรุ้มกริ่ม ดาบสคิด เฮ้ย...วันนี้จะมาไม้ไหนวะนี่ วันก่อนแค่ต้องตัวยังไม่ยอม วันนี้กลับมาทำตาเยิ้มกระริ้มกระเหรี่ย พระนางเห็นท่าดาบสแคลงใจ เฮ้ย...มุกนางแบบสุดเอ็กซ์ไม่เวิร์ค จึงแกล้งทำผ้าผ่อนหลุดแบบนางร้าย จ้องจะจับพระเอกในละครช่อง ๓ ศีลของดาบสก็ถึงกาลพินาศไปในคราวนั้น

a245-200อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้าอัลปาก้า(ตอนนี้มิใช่ดาบสเสียแล้ว) เล็งดูนักษัตรบนท้องฟ้า เห็นดาวประจำตัวของ พระเจ้าบาเครัตตะหม่นหมองอยู่ จึงตรัสแก่ภรรเมียใหม่ว่า "ดูท่า พระเจ้าบาเครัตตะจะถึงกาลสวรรคตเสียแล้ว"

"พระผู้เป็นเจ้าของหม่อมฉัน เหตุไฉนจึงพูดไม่เป็นมงคลเช่นนั้นเล่า ท่านโกรธแค้นเคืองโกรธโทษฉันใด พระเจ้าบาเครัตตะทำ อะไรให้เธอ เคืองขุ่น" พระนางกล่าวอย่างใจคอไม่ดี

"หามิได้ น้องยาใจวัยหวาน อันพี่นี้ตรวจดูดวงดาวบนท้องฟ้าแล้ว เห็นดาวประจำตัวของพระเจ้าบาเครัตตะ หม่นหมองอยู่ จึงกล่าวเช่นนั้น" พระเจ้าอัลปาก้ากล่าวด้วยสีหน้าปกติ

ไม่พูดพร่ำทำเพลง พระนางก็ปล่อยโฮใหญ่ ยังความมึนงงให้แก่ พระเจ้าอัลปาก้าเป็นอันมาก เอ๊ะ...นี่เราพูดอะไรผิดไปรึ แล้วถามน้องยาว่า "เหตุไรน้องน้อยของพี่ ถึงร่ำไห้ปิ่มจะขาดใจเล่า"

"ฮั่ก ๆ... ฮือ ๆ.... ก็พระเจ้าบาเครัตตะนั่น ฮั่ก ๆ... เป็นผัวเก่า เอ้ย...พระสวามีเก่าของหม่อมฉันเพคะ ตอนนี้แม้จะมีสถานะเป็นเพียงกิ๊กเก่า แต่หม่อมฉันก็ยังอาลัยรักอยู่" พระนางพูดพลางสะอื้นพลาง

"โถ ๆ ๆ มานี่สิจ๊ะ น้องจ๋า มาพี่จะเช็ดน้ำตา(แบบอีตาแบ็งค์วงแคลช)ให้ อย่าเสียใจไปเลย คนเราเกิดแล้ว ก็ย่อมตายเป็นธรรมดา" พระเจ้าอัลปาก้าปลอบ

"ข้อนั้นหม่อมฉันทราบเพคะ ที่หม่อมฉันโศกยิ่งกว่าเศร้า ก็เพราะลูกน้อยเบบี๋ "อุเทนถวาย" ของหม่อมฉันสิเพคะ หากมาดแม้นเขาอยู่ที่เมืองนั้น เขาย่อมยกเศวตฉัตรขึ้นเป็นกษัตริย์มาบุญครองเป็นแน่แท้ นี่พวกช่างกลปทุมวันคงจะยิ้มเยาะกันให้ครื้นเครงเทียว" พระนางรำพัน

"โห...น้องคิดไปถึงนั่น (คิดเยอะไปป่าว) อย่ามัวเศร้าโศกไปเลย พี่ไม่เคยบอกน้องหรือว่า มีเพียงดาวกับเดือนเท่านั้น ที่พี่หามาให้น้องไม่ได้ มา...ถ้าน้องต้องการเช่นนั้น พี่จะทำให้น้องสมปรารถนา" พระเจ้าอัลปาก้าตรัสแล้ว ก็พาพระเทวีไปพักผ่อน

จบตอน ๒

by Dhammasarokikku

ใครว่า พระไตรปิฎกน่าเบื่อ - นิทานอิงธรรมบท เรื่องพระนางสามาวดี ตอนที่ ๑ by Dhammasarokikku

samaมาพิสูจน์กันครับว่า พระไตรปิฎกน่าเบื่อหรือไม่

อนึ่ง การนำพระไตรปิฎกมาล้อเล่น เดี๋ยวข้าพเจ้าจะได้ไปนั่งแคะขี้มูกให้พระเทวทัต ข้างล่างนั่นก็แน่นเอียดแทบจะขี่คอกันอยู่แล้ว ต้องขอขมาพระรัตนตรัยไว้ก่อน

สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะเม ภันเต อุกาสะ ทวารัตตะเยนะ กะตัง สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะเม ภันเต อุกาสะ ขะมามิ ภันเต

ข้าพเจ้าไม่มีเจตนา จะปรามาสเรื่องราวใด ๆ ในพระไตรปิฎกเลยขอรับ เพียงแต่อยากนำมาเล่าสู่กันฟัง ในเวอร์ชั่นไม่ซีเรียสนัก ได้ข้อคิดนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ข้าพเจ้าขออนุญาต นำเรื่องในพระไตรปิฎกมาดัดแปลงชื่อตัวละครใหม่ แต่คงพล็อตเรื่องไว้ ใครใคร่เชื่อก็เชื่อครับ ใครใคร่อ่านเป็นนิทานก็ตามสบายครับ

กาลครั้งหนึ่งนานเน มเหสรรค์เหลือเกินแล้ว มีพระราชาอยู่ ๒ พระองค์ พระองค์หนึ่งอยู่ในแคว้นอัลลกัปปะ เรียกยาก ขอให้ชื่อว่า อัลปาก้า (เนื้อโลหะที่ใช้หล่อทำวัตถุมงคล) ละกัน อีกพระองค์หนึ่งอยู่ในแคว้นเวฏฐทีปกะ จำยาก ขอให้ชื่อว่า เวสลีย์ สไนป์ส (ดาราผิวสี คนหนึ่ง แสดงเรื่องเบลด) เป็นเพื่อนกัน เห็นผู้คนในแว่นแคว้น เกิด และตาย เป็นจำนวนมาก ก็ปรึกษากันว่า เอนี่...คนเรานี้หนอ...ตายแล้วก็เอาอะไรไปมิได้เลยสักอย่างเดียว เราจะครองทรัพย์ไปทำไมมากมาย ไปบวชกันดีกว่า ว่าแล้วทั้งสองก็สละพระราชสมบัติให้มเหสี ให้ราชบุตร ราชธิดา ออกบวชเป็นดาบส ตกลงกันว่า แม้บวชแล้ว ยังเสวนากัน ก็จะหาได้ความวิเวกไม่ เราแยกกันอยู่ที่ภูเขาคนละลูก ทุกกึ่งเดือนวันอุโบสถ ให้จุดไฟขึ้นในที่ของตน ก็จะทราบว่า อีกฝ่ายหนึ่งยังมีชีวิตอยู่หรือไม่

ครั้นบำเพ็ญสมณธรรมได้ชั่วเพลาหนึ่ง เวสลีย์ดาบส ก็มีอันต้องเท่งทึง ไปเกิดเป็นเทพ มีศักดาใหญ่ อัลปาก้าดาบสเล็งดูภูเขาที่สหายอยู่ เมื่อถึงกึ่งเดือน ไม่เห็นเปลวเพลิง ก็ทราบว่า เพื่อนเราคงซี้แหงแก๋ไปแล้ว ฝ่ายเทพเวสลีย์งง ๆ อยู่พักใหญ่ เอ๊ะ...เรามาเป็นเทพได้อย่างไรหนอ ครั้นกำหนดจิตดูแล้ว จึงทราบว่า อ้อ...เพราะเคยไปบำเพ็ญสมณธรรมกับเพื่อนเรานี่เอง เห็นจะต้องไปเยี่ยมอัลปาก้าดาบสเพื่อนเราสักหน่อย แล้วก็เนรมิตร่างเป็นชายหนุ่ม ทำเป็นหลงทาง แวะเข้าไปที่สำนักของอัลปาก้า เสวนากันจนได้ความว่า เพื่อนได้ไปเกิดเป็นเทพแล้ว เทพเวสลีย์ ก็ถามสารทุกข์สุกดิบ ดาบสเนื้ออัลปาก้า ก็แจ้งว่า พวกช้างมาทำให้เดือดร้อน พวกมันขี้เสร็จแล้ว ก็เอาเท้าคุ้ยฝุ่นขึ้นกลบ สร้างความลำบากแก่เราเป็นอันมาก ท่านเทพเทือกจึงให้พิณ ๓ สาย และมนต์ ๓ บทไว้ กล่าวว่า แม้ดีดพิณสายนี้ ร่ายมนต์บทนี้ เหล่าพญาช้างสารจะหนีไป ไม่แม้จะหันหลังมา เมื่อท่านดีดพิณสายนั้น ร่ายมนต์บทนั้น เหล่าช้างสารจะหันหน้ามา แต่ยังคงวิ่งหนีไป ส่วนสายพิณเส้นสุดท้าย และมนต์บทสุดท้าย ดีดแล้ว ร่ายแล้ว เหล่าพญาคชสารก็จะน้อมหลังเข้ามาอย่างว่าง่าย ท่านชอบใจอย่างไร พึงทำสิ่งนั้นเถิด ไหว้พระดาบสแล้ว ก็หลีกไป อัลปาก้าดาบสก็ดีดพิณ ร่ายมนต์ ให้ช้างหนีไป

ความเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้า *แม้ว่า ภาษา และเหตุการณ์ในคัมภีร์เก่าแก่ จะดูโบราณ ฟังดูเหมือนเทพนิยาย แต่ "เนื้อหา" หรือ "ธรรมะ" ในเรื่อง มักไม่ใช่สิ่งที่ล้าสมัย อย่างเรื่องคนตายแล้ว ไปเกิดเป็นเทพ ก็ยังคงสามารถนำมายืนยัน ความจริงของการเวียนว่ายตายเกิด ชาติก่อน ชาตินี้ ชาติหน้า ในวัฏสงสารได้ จริยาของเทพ หรือเทวดานั้น เมื่อแรกจะไม่ทราบว่า ตนมาเกิดเป็นเทพได้อย่างไร ต้องกำหนดจิตดู จึงจะทราบ ก็สามารถนำมาอ้างอิงได้ แม้พระที่ท่านได้ญาณวิเศษในยุคปัจจุบัน ถ้าต้องการทราบอะไรบางอย่าง บางทียังต้องกำหนดจิตดู อารมณ์ที่ "รู้" ขึ้นมานั้น จะคล้าย ๆ กับเวลาเราครุ่นคิดถึงเรื่องบางอย่างเป็นเวลานาน คิดเท่าไหร่ก็คิดไม่ออก จนจิตเป็นสมาธิ แล้วอยู่ ๆ ก็ปุ้งคำตอบขึ้นมาในสมองโดยไม่ต้องคิด หรือบางทีเกิดขึ้น เวลาจิตคลายออก จากการครุ่นคิดเรื่องนั้น ๆ เพียงแต่ของท่านผู้ได้ญาณวิเศษจะผุดขึ้นมาทันทีที่กำหนดจิต ซึ่งบางทีท่านก็ต้องทวนสอบ ถามเอาจากเทวดาซึ่งมีทิพยเนตร(ความสามารถปกติของเทวดา ที่สามารถรู้อะไรด้วยความเป็นทิพย์ ตามความเป็นจริง) เพื่อความไม่ประมาท เรื่องเหล่านี้มีมาในพระไตรปิฎก หลายต่อหลายตอน เช่น ตอนที่พระมหากัสสปะ ถูกพระอินทร์หลอก แปลงมาเป็นคนแก่ มาใส่บาตรท่าน ทั้งที่ท่านต้องการโปรดคนยากจน คนไม่ทราบความตรงนี้ จะงง ๆ ว่า ทำไมพระอรหันต์ที่ได้ปฏิสัมภิทาญาณ จึงถูกพระอินทร์หลอกได้ เป็นต้น คำตอบคือ ท่านไม่ได้กำหนดจิตดู จึงไม่ทราบว่า เป็นพระอินทร์แปลงกายมา และเป็นอีกเหตุผลหนึ่งว่า ทำไมพระพุทธเจ้าถึงตรัสสรุปรวบยอดคำสอนของพระองค์ ตลอด ๔๕ พรรษา ไว้ในประโยคเดียวว่า อัปปมาเทนะ สัมปาเทถะ ท่านทั้งหลาย จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม ท่านมิได้ยังประโยชน์ให้แก่สรรพสัตว์ทั้งหลายในอัตภาพที่มีกายเนื้อเท่านั้น แต่ยังประโยชน์ให้แก่สรรพสัตว์ที่ไม่มีกายเนื้อด้วย ทั้งนี้เป็นเพราะ แม้เมื่อคนเราตายลงแล้ว ไปเกิดเป็นเทวดา นางฟ้า แล้วมีความประมาท ไม่สืบทราบว่า ตนทำความดีอะไร ถึงได้มาเกิดเป็นเทวดา นางฟ้า และมีความชั่วอันใด ต้องชดใช้ เมื่อละอัตภาพนี้ไปแล้ว เฝ้าหลงระเริงไปกับความสุข สนุกสนานของความเป็นทิพย์ ครั้นหมดบุญก็จะร่วงแป้กลงมา ลงมาเป็นมนุษย์ก็ยังดี ส่วนใหญ่จะร่วงปุกลงนรกไปเลยนะซี ฉะนั้น คำว่า ไม่ประมาทนั้น มิใช่ไม่ประมาทแต่เพียงภพนี้เท่านั้น แม้ไปอยู่ภพอื่น ได้รับความสุขแล้ว ก็ยังคงต้องไม่ประมาทต่อไป ผู้ที่ไม่ต้องระวังแล้ว คือ พระอรหันต์ขีณาสพ เท่านั้น ส่วนผู้ที่ไม่เชื่อเรื่องราวเหล่านี้ เห็นเป็นเรื่องนิทาน ก็ขอให้มันเป็นนิทานต่อไป ไม่จำเป็นต้องมาใส่ใจกับความเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้า โดยส่วนตัวแล้ว ข้าพเจ้าเห็นว่า พระไตรปิฎก มีประวัติความเป็นมายาวนาน สมควรผิดเพี้ยนไปตามกาลเวลาก็จริง แต่ทุกสมัยแห่งการทำสังคายนา ชำระพระไตรปิฎกนั้น ก็กระทำด้วยจำนวนพระอริยสงฆ์มากมาย หากมีข้อผิดพลาดผิดเพี้ยนขึ้น ก็น่าจะถูกท้วงติงโดยพระอริยสงฆ์เหล่านั้น อีกทั้งพระไตรปิฎกก็มีเนื้อหามาก หากเนื้อความตอนหนึ่งผิด ก็จะไปขัดกับเนื้อความตอนอื่น โดยนัยนี้ พระไตรปิฎกจะตะกุกตะกัก อ่านแล้วลักลั่นกันเอง ไม่เรียบลื่นเช่นพระไตรปิฎกปัจจุบัน ฉะนั้นสำหรับข้าพเจ้า ตราบเท่าที่ความในพระไตรปิฎก ยังเรียบลื่นเสมอกัน ตลอด ๔๕ เล่ม ข้าพเจ้าก็จะยังนับถือ ให้ความเคารพว่า มีความถูกต้องเป็นส่วนใหญ่ หรือเกือบทั้งหมด*

สมัยนั้น ในกรุงโกสัมพี มีพระราชาชื่อ ปรันตปะ ออกเสียงยากอีกแล้ว ขอให้ชื่อว่า บาเครัตตะ (เสียงพูดของน้อง ผีน้อยคิวทาโร่ ที่พูดได้แค่ประโยคนี้ประโยคเดียว) วันหนึ่งพระเจ้าบาเครัตตะ หนุงหนิงอยู่กับ พระราชเทวีซึ่งตั้งครรภ์อยู่ นอกลานกว้าง เธอห่มผ้าคลุมไหล่ไฮโซด้วยผ้ากัมพลสีแดงจัด ยี่ห้อปราดา จีบปากจีบคอฉอเลาะคุยอยู่เพลิน ๆ ถอดเอาแหวนธำมรงค์ประดับฮาวาเอี่ยนบลูไดมอนด์ของพระสวามี ซึ่งได้มาตอนทำยอดขายสินค้าเอ็มแอลเอ็มยี่ห้อหนึ่งได้ทะลุเป้า มาใส่เล่นอยู่ นกหัสดีลิงค์*บินมาแต่หนใด ไม่มีใครทราบ เห็นอะไรแดง ๆ เบื้องล่าง นึกว่าเป็นชิ้นเนื้อ จึ่งร้อง "คว้าก ๆ" เตรียมโฉบลงตะครุบเหยื่อ พระเจ้าบาเครัตตะได้ยินเสียง "คว้าก ๆ" แล้วยังความตกใจกลัวตายเป็นล้นพ้น ลุกขึ้นเผ่นแผล่วเข้าพระราชนิเวศน์ไป พระราชเทวีตุ้ยนุ้ยมีพระครรภ์แก่ ก็ตาขาวเหมือนกัน รีบเสด็จตามพระราชสวามี แต่ด้วยความอุ้ยอ้ายเลยตามพระสวามีไม่ทัน นกยักษ์โฉบฉั๊วะ พาคุณนายกับผ้าแดงลอยละลิ่วไปในอากาศ กระนั้นพระนางก็ยังคงพระสติมั่น ไม่หวั่นแม้วันมามาก คิดว่า ถ้าขืนร้องโวยวายในตอนนี้ เจ้านกยักษ์นี่คงจะหวาดเสียงมนุษย์ เผลอคลายกรงเล็บออก เราคงได้เล่นเกม เทอร์มินอล เวโลซิตี้** ลงไปกระแทกพื้นเบื้องล่าง ถึงมรณภาพแน่ เพราะไม่มีสายร่มให้กระตุก เราพึงรอให้เจ้านกใหญ่นี่ไปพักที่ใดที่หนึ่ง ก่อนจับเรากิน แล้วค่อยโวยวายเว็บดีกว่า การณ์เป็นไปดังคาด เจ้านกตัวเขื่องบินได้พักหนึ่งก็ไปพักที่คาคบต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่ง วางเหยื่อลง แล้วหันมองทางที่ได้บินมา จังหวะนั้นเอง พระราชเทวีก็แผดเสียง ตะลึง ตะลึง ตะลึง ตึง ๆ ๆ ๆ นกโบราณพละกำลังขนาดช้าง ๕ เชือก ก็ต๊กกะใจโหมะเลย บินหนีไป

*นกหัสดีลิงค์ คงเป็นนกตัวหย่าญมั่ก ๆ น่าจะรูปร่างแบบนี้กระมัง

พราโนดอน บินหนีไปแล้ว พระนางก็พักผ่อนอิริยาบถอยู่ในคาคบต้นไทรนั้นเอง จะทำอย่างไรดีเล่าทีนี้ แม้จะปีนลง ก็กระทำไม่ได้ พอตกค่ำ ลมกัมมชวาตก็ปั่นป่วน (เจ็บท้องเตือน) เมฆฝนก็ตั้งเค้า คำรามอยู่ในทุกทิศ หลับมิลงแม้สักวินาที หาความสบายมิได้ จนรุ่งเช้า จึงคลอดบุตรเป็นชาย ให้นามว่า "อุเทน" โดยถือเอาฤดูเมฆ และฤดูอรุณของการประสูติ เป็นประมาณ

จบตอน ๑

by Dhammasarokikku

วันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2554

วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2554

สั่งสมประสบการณ์ (ตอน ๗ - คิริมานนทสูตร)ตอนที่ 3by Dhammasarokikku

IMG_2507ดับกิเลสตัณหาได้มากเท่าไร ก็เป็นบุญเป็นกุศลมากเท่านั้น

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ การที่เราตถาคตต้องการให้บวชนั้น ก็เพื่อจะให้ได้บุญและกุศล อะไรชื่อว่าเป็นตัวบุญตัวกุศล ตัวบุญตัวกุศลนั้น ไม่ใช่สิ่งอื่นคือความดับเสีย ซึ่งกิเลส การรักษากิจวัตร แลพระวินัยอย่างไรก็ตาม ถ้าดับกิเลสได้มากก็เป็นบุญมาก ถ้าดับกิเลสได้น้อยก็เป็นบุญน้อย ถ้าดับกิเลสไม่ได้ก็ไม่เป็นบุญเลย บาปอกุศลนั้นก็ไม่ใช่อื่น คือตัวกิเลสนั้นเอง กิเลสก็คือตัวตัณหานั้นเอง ดับกิเลสตัณหาได้เท่าใด ก็เป็นบุญเท่านั้น ถ้าดับกิเลสตัณหาไม่ได้ ก็เป็นอันไม่ได้บุญไม่ได้กุศล

ผู้ที่ไม่รู้จักบุญ และบาปนั้น มาทำความเข้าใจว่า บวชรักษาข้อวัตร รักษาศีลเอาบุญ บุญนั้นมีอยู่นอกตนนอกตัว มีอยู่ที่ดินฟ้าอากาศ เมื่อบวชได้รักษากิจวัตรแล้ว บุญนั้นจักเลื่อนลอยมา จากสถานที่ต่างๆ มีนภาลัย เวหากาศ เป็นต้น มานำเอาตัวขึ้นไปสู่สวรรค์ แลพระนิพพาน เห็นไปโดยผิดทางเช่นนี้ ล้วนแต่เป็นคนหลงทั้งสิ้น

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ ผู้ที่ไม่รู้จักบาป เข้าใจว่าบาปนั้นอยู่นอกตนนอกตัว เมื่อทำบาปแล้ว บาปนั้นก็จะลุกมา แต่นรกใต้พื้นดิน มาจับกุมคุมเอาตัวลงไปสู่นรก การทำความเข้าใจอย่างนี้ ย่อมเป็นคนหลงทั้งนั้น

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ สุขก็ดีทุกข์ก็ดี บาปบุญคุณโทษก็ดี ย่อมอยู่ที่เรา จะเข้าใจว่า บาปบุญอยู่ภายนอกตัว ทำบุญแล้วคอยท่านบุญ จักมานำเอาตัวไปสู่สุคติ คิดอย่างนี้ ตั้งร้อยชาติแสนชาติ ก็ไม่อาจได้ อันว่าบุญบาป สุขทุกข์ย่อมไม่มี ณ ภายนอกตัว บุญกุศลแลความสุขนั้น ก็คือดวงจิต ส่วนบาปกรรม ทุกข์โทษนั้น คือหมู่แห่งตัณหา ตัณหานั้นจักมี ณ ที่อื่นนอกจากตัวตนของเราแล้ว ไม่มี ตัวบุญแลตัวบาป ก็อยู่ที่ใจของเรา เมื่อตัวไม่ชอบทุกข์ อยากได้ความสุข ก็จงพยายาม แก้ใจของเรานั้นเถิด ถ้าเราไม่เป็นผู้แสวงหาความสุข และให้พ้นจากทุกข์แล้ว ใครเขามาช่วยตัวเรา ให้พ้นจากทุกข์ ให้ได้รับความสุขได้เล่า เพราะสุขทุกข์ อยู่ที่ตัวของเรา เมื่อเราหามิได้แล้ว ใครคนอื่นที่ไหน เขาจะมาหาให้เราได้ (บทนี้บอกถึง หน้าตาของบุญและบาป ที่แท้จริง ผู้นับถือศาสนาพุทธบางคน รวมถึงผู้ที่นับถือศาสนาอื่น ยังมีความเข้าใจ เรื่องบุญบาปสวรรค์นรก คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง อาตมาเอง ก็มีความเข้าใจไม่ชัดเจน มีแต่ใช้สัญญา (ความจำ) มาตลอด ก็ถ่ายทอดไปทั้งดุ้น ตามที่ได้ฟังมา ก็ยังโชคดี ที่ถ่ายทอดไปไม่ผิด มาถึงบางอ้อจาก พระสูตรนี้เอง ที่ว่าบุญ เกิดตั้งแต่คิดจะทำ ก็คือขณะที่คิดนั้น กิเลสโลภะ - ความโลภมันลด จริงไหม ที่ว่าทำบุญเมื่อไหร่ ได้บุญเมื่อนั้น ก็ทำบุญเมื่อไหร่ ความโลภมันน้อยลง เมื่อนั้นใช่หรือไม่ ที่ว่าเขาจะเอา ปัจจัยไทยทานของเรา ไปทำอะไร ตรงกับวัตถุประสงค์ของเรา หรือไม่ ไม่สำคัญ เพราะบุญเกิดไปแล้ว ก็ถูกอีก เพราะเขาเอาไปทำอะไร ก็ไม่มีผลอะไร กับกิเลสของเรา มีผลก็แต่ กำลังใจของเราเท่านั้น คือถ้างานมันสำเร็จสมหวัง มันก็บังเกิดปีติ ชื่นใจ มีกำลังใจทำบุญ ทำกุศลต่อไป ตรงข้าม ถ้าเกิดเหตุการณ์ อย่างสมเด็จเหนือหัว คนทำบุญก็ทดท้อ ไม่อยากทำบุญอีก เป็นต้น แต่ถ้าทำกำลังใจ ถูกต้องแต่แรก ก็ได้บุญไปเรียบร้อย ถ้าไปคิดว่าที่เขาเอาเงินเราไป ไปทำอะไรก็ไม่รู้ วัตถุมงคล ก็ไม่รู้พิธีกรรมถูกต้องหรือเปล่า เจ็บใจเหลือเกินที่ถูกหลอก นี่ก็ขาดทุน ๒ ต่อเลย เสียทั้งเงินและไม่ได้บุญ ตามคำบอกของคน ที่ได้ทิพยจักขุญาณ ท่านแสดงไว้ว่า สมมติว่าทำวิหารทาน เพื่อจะได้มีวิมานในสวรรค์ ทำปุ๊บวิมานเกิดเลย ไม่ใช่ว่าสิ่งก่อสร้าง ที่เราไปช่วยเขาสร้าง สำเร็จแล้ววิมานถึงจะเกิด ทานที่ทำไปแล้วนั้น เมื่อคิดถึงอีกเมื่อไหร่ ก็ได้บุญอีกเมื่อนั้น ก็จริงอีก เพราะขณะที่คิดถึงการให้ ความโลภในใจ มันก็ไม่มีที่อยู่ เห็นไหม ทีนี้หากว่าทำทาน เพราะอยากได้บุญ (แล้วไม่รู้ว่าบุญหน้าตาเป็นอย่างไร) อยากได้วัตถุมงคล (ถ้าอยากมากๆ มันกลายเป็นซื้อของไป เหมือนซื้อของในเซเว่นหน่ะ ได้บุญไหมเอ่ย แต่วัตถุมงคลนี่ วินิจฉัยยาก เพราะเอาไปทำกรรมฐานได้ มันจะไปได้บุญ ตอนไปทำเป็นกรรมฐาน) ทำทานเพราะหวังจะถูกหวย ทำทานเพราะอยากได้หน้า ก็ต้องพิจารณาดูกำลังใจว่า ความโลภในใจ มันลดลงหรือไม่ ถ้าลดน้อยก็ได้บุญน้อย ถ้าไม่ลดเลยหรือมากขึ้น ก็ไม่ได้บุญเลย หรือซ้ำกลายเป็นบาปแทน แล้วไฉนการโมทนาบุญ หรือที่เขาเรียกว่า มุทิตาธรรม เห็นคนทำดี แล้วยินดีชื่นใจไปกับเขา ถึงได้บุญ ก็มันไปลดความริษยา ซึ่งเป็นตัวเดียวกับ โทสะ - ความโกรธ ทำไมอภัยทาน ถึงเป็นทานอันยิ่ง กว่าอามิสทาน (ทานที่เป็นวัตถุ) ก็เพราะอภัยทาน มันไปลดกิเลสโทสะ กิเลสตัวสำคัญ ก็แล้วการฟังธรรม ทำไมถึงได้บุญ ไปนั่งหลังขดหลังแข็ง พนมมือ เมื่อยก็เมื่อย ไม่เห็นน่าจะได้บุญตรงไหน สู้ทำทานไม่ได้ สบายกายสบายใจกว่าอีก ที่ได้บุญก็เพราะ การฟังธรรม มันคือการทำความเห็นให้ตรง มันไปลดโมหะ - ความหลง กิเลสตัวเก่งอีกตัว ฉะนั้น การฟังธรรม ไม่จำเป็นแต่ต้องไปฟังในโบสถ์ ฟังที่ไหนก็ได้ ในรถ ในเรือ ในสวนสาธารณะ ที่ไหนท่าไหนก็ได้ ยิ่งละโมหะ อวิชชาได้มากเท่าไหร่ ก็ได้บุญมากเท่านั้น ธรรมทานก็สงเคราะห์เข้าหลักเดียวกัน อีกเรื่องคือเรื่องอานิสงส์ ตามความเข้าใจเดิมนั้น เข้าใจว่า บุญกับอานิสงส์ เป็นคนละตัวกัน สมมติว่าบริจาคทาน สร้างโรงพยาบาล บุญเกิดเมื่อคิดและให้ทาน อานิสงส์เกิดภายหลัง จากที่โรงพยาบาลสร้างเสร็จ มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา เป็นส่วนควบของบุญ แท้จริงแล้ว ตามความในพระสูตรนี้ หาใช่เช่นนั้น อานิสงส์แปลว่า “ผล” อะไรที่เป็นผล ก็เป็นอานิสงส์หมด สิ่งที่เป็นคนละตัวกันคือ บุญกับกุศลกรรมต่างหาก สมมติว่าบริจาคทาน สร้างโรงพยาบาล ด้วยความที่อยากได้หน้า นี่แสดงว่าทำบุญด้วยความโลภ ตรงนี้ไม่ได้บุญ แต่กุศลกรรม ที่ได้สร้างโรงพยาบาล ได้บรรเทาทุกข์ของผู้ที่ป่วยนั้น มีผลอยู่ จะได้เสวยผลเมื่อไหร่นั้นไม่แน่ แต่ได้เสวยผลแน่นอน ตรงนี้จะว่า ไม่มีอานิสงส์ก็ไม่ใช่ ต้องเรียกว่ามีอานิสงส์ แต่น้อยไปหน่อย)

บุญกุศล สวรรค์ และนิพพาน เกิดจากตัวเราเองไม่มีผู้ใดนำมาให้

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุคคลผู้ที่เข้าใจว่าบุญกุศล สวรรค์ แลพระนิพพาน มีผู้นำมาให้ บาปกรรมทุกข์โทษ นรกและสัตว์เดรัจฉาน มีผู้พาไปทั้งสิ้น บุคคลผู้ที่เข้าใจอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้หลงโลก หลงทาง หลงสงสาร บุคคลจำพวกนั้น แม้จะทำบุญ ให้ทานสร้างกุศลใดๆ ที่สุดจนออกบวช ในพระพุทธศาสนา ก็หาความสุขมิได้ จะได้เสวยแต่ความทุกข์ โดยถ่ายเดียว อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุญกับสุข หากเป็นอันเดียวกัน เมื่อมีบุญก็ชื่อว่ามีความสุข บาปกับทุกข์ก็เป็นอันเดียวกัน เมื่อมีบาป ก็ได้ชื่อว่ามีทุกข์ ถ้าไม่รู้บาปก็ละบาปไม่ได้ ถ้าไม่รู้จักบุญก็หาบุญไม่ได้ เปรียบเหมือน เราอยากได้ทองคำ แต่เราหารู้ไม่ว่า ทองคำนั้นมีรูปพรรณสัณฐานอย่างไร ถึงทองคำนั้นมีอยู่ แลเห็นอยู่เต็มตา ก็ไม่อาจถือเอาได้ โดยเหตุที่ไม่รู้จัก แม้บุญก็เหมือนกัน ถ้าไม่รู้จักบุญก็หาบุญไม่ได้ อย่าว่าแต่บุญซึ่งเป็นของไม่มีรูปร่างเลย แม้แต่สิ่งของอื่น ๆ ที่มีรูปร่าง ถ้าหากว่าเรา ไม่รู้จักก็ถือเอาไม่ได้

1_displayอานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุคคลที่ไม่รู้จักบุญแลไม่รู้จักสุข ทำบุญจะไม่ได้บุญ ไม่ได้สุขเสียเลย ตถาคตก็หาได้กล่าวเช่นนั้นไม่ ทำบุญก็คงได้บุญแล ได้สุขอยู่นั้นแล บุญแลความสุข ก็บังเกิดอยู่ที่ตัวเรานั้นเอง แต่ทว่าตัวหากไม่รู้ไม่เข้าใจ จึงเป็นอันมีบุญแลสุขไว้เปล่าๆ อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุคคลจำพวกที่ไม่รู้จักบุญ คือความสุข เมื่อทำบุญแล้ว ปรารถนาเอาความสุข น่าสมเพชเวทนานักหนา ตัวทำบุญก็ได้บุญในทันใดนั้นเอง มิใช่ว่าเมื่อทำแล้วนานๆ จึงจักได้ ทำเวลาใดก็ได้เวลานั้น แต่ตัวไม่รู้ นั่งทับนอนทับบุญอยู่เปล่าๆ ตัวก็ไม่ได้รับบุญ คือความสุข เพราะตัวไม่รู้ จึงว่าเสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุคคลที่เข้าใจว่าทำบุญไว้มากๆแล้ว จะรู้แลไม่รู้ ก็ไม่เป็นไร บุญหากจักพาไปให้ ได้รับความสุขเองเช่นนี้ ชื่อว่าเป็นคนหลงโดยแท้ เพราะเหตุไร บุญจึงจักพาตัวไปให้ ได้รับความสุข เพราะบุญกับสุขเป็นอันเดียวกัน เมื่อไม่รู้สุขก็คือไม่รู้บุญ เมื่อเรารู้สุข เห็นสุข ก็คือเรารู้บุญ เห็นบุญนั้นเอง จะให้ใครพาไปหาใครที่ไหน (พระสูตรนี้ มีผู้นำไปตีความว่า นรกสวรรค์ไม่มีจริง นายนิรยบาลผู้พาไปนรกไม่มีจริง จริงแล้วสวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจต่างหาก ก็จริงอยู่ แต่จริงโดยส่วนเดียว ส่วนอื่นยังมีอีก กรรมมีอยู่ กุศลกรรมก็มี อกุศลกรรมก็มี บุญบาปมิได้พาไปเกิด แต่กรรมพาไปเกิดได้ จะหาศาสนาใดในโลก แจกแจงได้ แจ่มแจ้งชัดเจนขนาดนี้ เหมือนหงายของที่คว่ำ เหมือนเปิดของที่ปิด เหมือนให้แสงสว่าง แก่ที่มืด เหมือนชำระนัยน์ตาอันพร่ามัว ด้วยน้ำอมฤต ส่วนใหญ่ กระทั่งคนในศาสนาพุทธเอง เขาจะรู้จักในแง่ บุญคือทาน ทำสะสมไว้เรื่อย บุญก็จะพาขึ้นสวรรค์ไปเอง หรือเมื่อตายแล้ว พระศาสดาจะมารับไปอยู่ด้วย เสวยสุขชั่วนิจนิรันดร์ รู้จักสวรรค์แค่ชั้นเดียว รู้ชาติหน้าแค่ชาติเดียว สอนให้ทำความดี ให้ขึ้นสวรรค์ ให้ไปพระนิพพาน พระนิพพานหรือ ก็คงคล้ายๆ สวรรค์ชั้นหนึ่งกระมัง เขาว่ากันว่ามีความสุขมาก แต่ชาตินี้คงยังไม่ถึงหรอก ตั้งความหวังเอาไว้ ว่าคงจะถึงสักวันหนึ่ง แต่ไม่เคยศึกษาสนใจว่า พระนิพพานเป็นอย่างไร ต้องปฏิบัติอย่างไร ถึงจะถึงพระนิพพาน เฉี่ยวไปเฉี่ยวมา ไม่เข้าเป้าเสียที และส่วนใหญ่ จะสอนไม่ให้คนคิด ไม่ให้สงสัย ไม่ให้ใคร่ครวญ สอนให้ไปติดสุข ติดกุศล ทำบุญทำทานมากๆ ซีแล้วจะได้ไปพระนิพพาน แท้จริงแล้ว ถ้ายังไม่ประกอบด้วยปัญญา ยังห่างไกลพระนิพพานอยู่มาก)

จะไปสวรรค์ พระนิพพาน ต้องไปด้วยตนเอง จะพาเอาคนอื่นไปด้วยไม่ได้

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ จะไปนรกหรือจะไปสวรรค์ และพระนิพพานต้องไปด้วยตนเอง จะพาเอาคนอื่น ไปด้วยไม่ได้เป็นอันขาด อานันทะ ดูก่อนอานนท์ สวรรค์ดิบในชาตินี้ กับสวรรค์สุกในชาติหน้า อย่าสงสัยว่าจะต่างกัน ถึงจะต่างกันบ้างก็เพียงเล็กน้อย เมื่อต้องการความสุขเพียงใด ก็จงพากเพียรให้ได้ แต่เมื่อยังมีชีวิตอยู่ในเมืองคนนี้ จะนั่งจะนอนคอย ให้สุขมาหานั้นไม่ได้ ไม่เหมือนพระนิพพาน ความสุขในพระนิพพานนั้น ไม่ต้องขวนขวาย เมื่อจับถูกที่แล้ว นั่งสุขนอนสุขได้ทีเดียว ความสุขในพระนิพพาน จะว่ายากก็เหมือนง่าย จะว่าง่ายก็เหมือนยาก ที่ว่ายากนั้นเพราะ ไม่รู้ไม่เห็น พาลปุถุชนคนตามืดทั้งหลาย รู้ไม่ถูกที่ เห็นไม่ถูกที่ จับไม่ถูกที่ จึงต้องพากเพียรพยายาม หลายอย่างหลายประการ และเป็นการเปล่าจากประโยชน์ด้วย ส่วนท่านที่มีปัญญา พิจารณาถูกที่จับถูกที่แล้ว ไม่ต้องทำอะไรให้ยาก หลายสิ่งหลายอย่าง นั่งๆ นอนๆ อยู่เปล่าๆ เท่านั้น ความสุขในพระนิพพาน ก็มาบังเกิดขึ้นแก่ท่านได้เสมอ เพราะเหตุฉะนั้นจึงว่า ความสุขในพระนิพพาน ไม่เป็นสุขที่เจือปนไปด้วยทุกข์ (ทางไปสวรรค์ นิพพาน เป็นทางแคบ เป็นทางของคนคนเดียว เวลาเกิด เราก็เกิดมาคนเดียว พ่อแม่ญาติพี่น้อง ก็เพียงแสดงความยินดี เมื่อเราเกิดมา เวลาแก่ ไม่มีใครมาช่วยแก่ เวลาเจ็บ ไม่มีใครแบ่งความเจ็บไปได้ เวลาตาย ก็มีเพียงเราผู้เดียวที่ตาย พ่อแม่ญาติพี่น้องทั้งหลาย ไม่สามารถตาย ร่วมไปกับเราได้ หรือช่วยเรา จากความตายได้ คงมีแต่การ แสดงความโศกาอาดูร เอาใจช่วยเท่านั้น เช่นนี้สมเด็จพระภควันต์ จึงแสดงให้เห็นว่า เราไม่สามารถพาผู้อื่น ไปด้วยได้ ต้องปฏิบัติเอง เห็นเอง รู้เอง ถึงเอง)

อยากรู้ว่าได้รับความสุขหรือทุกข์ ให้สังเกตที่ใจของเราในเวลา ที่ยังไม่ตาย

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ เมื่ออยากรู้ว่า เราจะได้รับความสุขในสวรรค์ หรือจะได้รับความทุกข์ในนรก ก็จงสังเกตดูใจของเรา ในเวลาที่ยังไม่ตายนี้ เมื่อยังเป็นคนอยู่ มีสุขหรือมีทุกข์มากเท่าใด แม้เมื่อตายไป ก็คงมีสุขและมีทุกข์มากเท่านั้น ไม่มีพิเศษกว่ากัน บุคคลผู้ปรารถนาความสุขในภพนี้ และภพหน้าแล้ว จงรักษาใจ ให้ได้รับความสุข ส่วนตัวตนร่างกายข้างนอกนั้น ไม่สำคัญ จักได้รับความสุข ความทุกข์ประการใด ก็ช่างเถิด เมื่อตายแล้ว ก็ทิ้งอยู่เหนือแผ่นดินหาประโยชน์มิได้ ส่วนใจนั้นเป็นของติดตามตน ไปในอนาคตเบื้องหน้าได้ เพราะจิตใจเป็นของไม่ตาย ที่ว่าตายนั้น ตายแต่รูปร่างกาย ธาตุแตก ขันธ์ดับเท่านั้น ถ้าจิตใจตายแล้ว ก็ไม่ต้องเกิด ไม่ต้องตายต่อไปอีก กล่าวคือถึงพระนิพพาน

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ ในอดีตชาติ เราตถาคตก็ได้หลงท่องเที่ยว อยู่ในสังสารวัฏนี้ช้านาน นับด้วยร้อยด้วยพันแห่งชาติ เป็นอันมาก ทำบุญทำกุศล ก็ปรารถนาแต่จักให้พ้นทุกข์ ให้เสวยสุขในเบื้องหน้า เข้าใจว่าตายแล้ว จึงจะพ้นจากทุกข์ ครั้นเมื่อตายจริง ก็ตายแต่ธาตุแต่ขันธ์เท่านั้น ส่วนใจนั้นไม่ตาย จึงต้องไปเกิดอีก เมื่อไปเกิดอีก ก็ต้องตายอีก เป็นเช่นนี้จะพ้นทุกข์ได้อย่างไร ที่นิยมกันว่าตาย ก็คือตายเน่าตายเหม็น กันอยู่อย่างทุกวันนี้ ชื่อว่าตายเล่นตายไม่แล้ว ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตาย หาต้นหาปลายมิได้ ที่ตายแท้ ตายจริง คือตายทั่งรูปแตกขันธ์ดับ ตายทั้งจิตทั้งใจ มีแต่พระพุทธเจ้า กับเหล่าพระอรหันต์ ขีณาสพเท่านั้น ท่านเหล่านี้ ไม่ต้องกลับมาเกิดอีก

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ ในอดีตชาติเมื่อเรายังไม่รู้ เข้าใจว่าตายแล้ว จึงจะพ้นทุกข์ ทำบุญทำกุศล ก็มุ่งเอาแต่ความสุขในเบื้องหน้า ครั้นตายไปก็หาได้พ้นจากทุกข์ ตามความประสงค์ไม่ มาในปัจฉิมชาตินี้ เราจึงรู้ว่าสวรรค์แลพระนิพพานนี้ มีอยู่ที่ตัวนี้เอง เราจึงได้รีบเร่งปฏิบัติ ให้ได้ถึงแต่เมื่อยังเป็นคนอยู่ จึงพ้นจากทุกข์และได้เสวยสุข อันปราศจากอามิส เป็นพระบรมครู สั่งสอนเวไนยสัตว์อยู่ทุกวันนี้ (ความจริงตรงนี้ น่าสนใจเป็นพิเศษ ธรรมดาผู้ไม่ได้ศึกษาธรรมะ มักจะคิดว่า สวรรค์เป็นอะไรที่สุขมาก แตกต่างจากชีวิตมนุษย์ อย่างสิ้นเชิง นรกเป็นอะไรที่ทุกข์มาก แตกต่างจาก ตอนเป็นมนุษย์อย่างสิ้นเชิง ความจริงแล้วก็แตกต่างกัน เพียงไม่มีร่างกายเท่านั้น คนจะขึ้นสวรรค์ มันมีความสุขตั้งแต่มีชีวิตแล้ว ส่วนผู้ที่จะตกนรก ก็มีแต่ความเร่าร้อน ตั้งแต่ยังเป็นคนอยู่เทียว ส่วนการที่ไม่ให้สนใจร่างกาย ก็คือการพิจารณาขันธ์ ๕ ละอุปาทาน คิดว่า เป็นเรา เป็นของเรา เสียนั่นเอง)

สวรรค์ นิพพาน ต้องทำเองด้วยการ ดับกิเลสตัณหา พระพุทธเจ้าบอกให้รู้แต่ทางไปเท่านั้น

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ ความทุกข์ในนรก และความสุขในสวรรค์ พระนิพพาน นั้นใครจะช่วยใครไม่ได้ เมื่อใครชอบอย่างใดก็ทำอย่างนั้น แม้เราตถาคตก็ช่วยใครให้พ้นทุกข์ และช่วยใครให้ได้สวรรค์ และพระนิพพานไม่ได้ ได้แต่เพียงสั่งสอน ชี้แจงให้รู้สุขรู้ทุกข์ ให้รู้สวรรค์ให้รู้พระนิพพาน ด้วยวาจาเท่านั้น อันกองทุกข์ โทษ บาปกรรมทั้งปวงนั้น ก็คือตัวกิเลสตัณหา ครั้นดับกิเลสตัณหาได้แล้ว ก็ไม่ต้องตกนรก ถ้าดับกิเลสตัณหาได้มาก ก็ขึ้นไปเสวยสุขอยู่ในสวรรค์ ถ้าดับกิเลสตัณหาได้สิ้นเชิง หาเศษมิได้แล้ว ก็ได้เสวยสุข ในพระนิพพานทีเดียว เราตถาคตบอกให้รู้แต่ทางไปเท่านั้น ถ้าผู้รู้ทางแห่งความสุข แล้วประพฤติตามปฏิบัติตาม ก็ได้ประสบสุขสมประสงค์ (อักขาตาโร ตถาคตา - ตถาคตเป็นเพียงผู้บอก ชัดเจน)

สุข ทุกข์ อยู่ที่ใจ

DSCN0161อานันทะ ดูก่อนอานนท์ สุขทุกข์นั้นให้หมายที่จิต จิตสุขเป็นสวรรค์ จิตทุกข์เป็นนรก จะเข้าใจว่า นรกแลสวรรค์ มีอยู่นอกจิตนอกใจเช่นนั้น ได้ชื่อว่าเป็นคนหลง นรกแลสวรรค์ บาปบุญคุณโทษ ย่อมมีอยู่ในอกในใจทั้งสิ้น อยากพ้นทุกข์ก็ให้รักษาจิตใจ จากสิ่งที่เป็นบาปเป็นทุกข์เสีย ถ้าต้องการสวรรค์ ก็ทำการงานที่หาโทษมิได้ แลถ้าอยากได้สุขในพระนิพพาน ก็ให้วางเสียซึ่งสุขและทุกข์ คือวางจิตใจ อย่าถือว่าเป็นของๆ ตน (การที่ดูจิตแล้วพบว่า อารมณ์เศร้าหมอง หรืออารมณ์เบิกบาน ไม่ใช่หลักประกันยืนยันว่า เมื่อตายแล้วจะไปสวรรค์ หรือนรก ขึ้นกับจิตสุดท้าย ตอนตายเป็นที่สุด ดังมีตัวอย่างมาในธรรมบท เรื่องมัฏฐกุลฑลีเทพบุตร ที่พลิกโผ ทำบาปชั่วมาทั้งชีวิต ตอนตายคิดถึงพระพุทธเจ้าหน่อยเดียว ก็ไปเสวยความสุขในสวรรค์ก่อน ส่วนพระนางมัลลิกาเทวี ทำดีมาตลอดชีวิต ถึงขั้นถวายอสทิสทาน ตอนตายจิตจับอกุศลนิดเดียว ที่เคยสะดุดเท้าพระสวามี เอาเท้าไปแช่ในนรกเสีย ๗ วัน แต่จะถือเป็นหลัก ในการดำเนินชีวิตโดยประมาทว่า เดี๋ยวไปทำดีตอนตายนิดเดียว ก็ได้ไปสวรรค์ เช่นนั้นมันก็ไม่ถูก ส่วนใหญ่กรรมชั่ว มันจะดึงลงต่ำ กรรมดีมันจะดึงขึ้นสูง ๒,๕๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา มีใครเป็นอย่างท่านทั้ง ๒ บ้าง ก็น้อยกว่าน้อย พระไตรปิฎกนั้น ยกขึ้นให้เป็นตัวอย่างเท่านั้น ว่าเหตุการณ์เช่นนี้มีนะ ไม่ใช่ไม่มี อัปปมาเทนะ สัมปาเทถะ - ท่านทั้งหลาย จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม อัปปมาโท อมตัง ปทัง - ความไม่ประมาท เป็นทางของความเป็นอมตะ ปมาโท มัจจุโน ปทัง - ความประมาท เป็นทางแห่งความตาย ส่วนใหญ่ผู้ที่จิต เป็นสุขสม่ำเสมอ ก็มีแนวโน้มจะขึ้นสวรรค์ เสียเป็นส่วนใหญ่ ส่วนผู้ที่มีจิตเศร้าหมอง เป็นส่วนมาก ก็มีแนวโน้มจะไปอบายภูมิ)

หากดับกิเลสทั้งห้าได้ขาด คือ โลภะ โทสะ โมหะ มานะ และทิฏฐิ ก็เข้าถึงพระนิพพาน

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ ผู้ที่ปรารถนาความสุขในพระนิพพาน จงทำตัวให้เหมือนแผ่นดิน หรือเหมือนดังคนตายแล้ว คือให้ปล่อยความสุข แลความทุกข์เสีย ข้อสำคัญก็คือ ให้ดับกิเลส ๑,๕๐๐ นั้นเสีย

กิเลส ๑,๕๐๐ นั้น เมื่อย่นลงให้สั้นแล้วก็เหลืออยู่ ๕ เท่านั้น คือ โลภะ ๑ โทสะ ๑ โมหะ ๑ มานะ ๑ ทิฏฐิ ๑

โลภะนั้น คือความทะเยอทะยาน มุ่งหวังอยากได้กิเลสกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ๑, อยากได้วัตถุกาม คือ สมบัติข้าวของ ซึ่งมีวิญญาณแลหาวิญญาณมิได้ ๑ เหล่านี้ชื่อว่า โลภะ

โทสะนั้น ได้แก่ความเคืองแค้น ประทุษร้าย เบียดเบียนท่านผู้อื่น ชื่อว่าโทสะ

โมหะนั้น คือความหลง มีหลงรัก หลงชัง หลงลาภ หลงยศ เป็นต้น ชื่อว่าโมหะ

มานะนั้น คือ ความถือตัว ถือตน ดูถูก ดูหมิ่น ท่านผู้อื่น ชื่อว่ามานะ

ทิฏฐินั้น คือความถือมั่น ในลัทธิอันผิด เห็นเป็นอุจเฉททิฏฐิ แลสัสสตทิฏฐิไป ปล่อยวางความเห็นผิดไม่ได้ ชื่อว่าทิฏฐิ

ถ้าดับกิเลสทั้ง ๕ นี้ได้แล้ว ก็ชื่อว่าดับกิเลสได้สิ้นทั้ง ๑,๕๐๐ ถ้าดับกิเลสทั้ง ๕ นี้ไม่ได้ ก็ชื่อว่าดับกิเลสไม่ได้เลย

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ แท้ที่จริงพระนิพพานนั้น ไม่มีอยู่ในที่อื่นไกลเลย หากมีอยู่ที่จิตใจนั้นเอง ครั้นดับ โลภะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ ได้ขาดแล้ว ก็ถึงพระนิพพานเท่านั้น ถ้าไม่รู้แลดับกิเลสตัณหายังไม่ได้ เป็นแต่ปรารถนาว่าขอให้ได้พระนิพพานดังนี้ แม้สิ้นหมื่นชาติแสนชาติ ก็ไม่ได้พบปะเลย เพราะกิเลสตัณหาทั้งหลาย ย่อมมีอยู่ที่ตัวตนของเราทั้งสิ้น (หากสนใจจะศึกษา วิธีดับกิเลส ก็ต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไปอีก ในที่นี้ย่นย่อมาให้เพียงสังเขป) ฯ

--------------------------------------------------------------------------------------------------

ที่วัดหลวงตาพวงนี่ท่านกำลังจะสร้างศาลาครอบองค์พระขนาด ๘ ศอกที่สร้างไว้ตากแดดตากฝนอยู่ ไหนๆ จะสร้างแล้วก็เลยจะสร้างเป็น ศาลาปฏิบัติธรรมไปเลย พระพุทธรูปองค์นี้สมัยที่เทปูนองค์พระ โยมที่อุปัฏฐากหลวงตามากว่า ๔ ปีเล่าให้ฟังว่า ไม่ทราบว่าคน แห่แหนมาจากไหน เป็นร้อยคนมาช่วยงาน ทั้งที่วัดหลวงตาก็อยู่ในป่าในดง (ขนาดไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึงคิดดูละกัน ห่างจากกรุงเทพฯ แค่สองร้อยกว่ากิโล แต่ไม่มีไฟฟ้าใช้) ชาวบ้านในพื้นที่แถวนั้นก็ไม่เกิน ๓๐-๔๐ คน ไม่รู้ว่าเขาทราบข่าว การสร้างพระได้อย่างไร ขนาดเจ้าคณะตำบลยังไม่ทราบเลย ในจำนวนคนที่มาช่วยเทพระนี่โยมเขาเล่าว่า บางคนก็ไม่กระพริบตา แล้วทราบมาอีกว่า ท่านไม่เคยพิมพ์ซองผ้าป่าแจกเลย ทีแรกนึกว่าวัดท่านเป็นที่พักสงฆ์ ออกซองเรี่ยไรไม่ได้ จริงๆ แล้วออกได้ แต่ที่ท่านไม่ออกซอง เพราะกลัวจะกลายเป็นการทำบุญ เพราะเกรงใจ มันจะไม่ได้บุญเท่าที่ควร นี่แสดงให้เห็นว่า ท่านเห็นญาติโยม สำคัญกว่าตัวท่านเอง เป็นการสืบสาน มโนปณิธานของหลวงพ่อ ไว้อย่างเยี่ยมยอด กล่าวคือ หลวงพ่อท่าน สร้างสิ่งปลูกสร้างทั้งหลาย มิใช่เพื่อตนเอง แต่ทนตรากตรำเหน็ดเหนื่อย ก็เพื่อช่วยให้พุทธศาสนิกชน ได้มีโอกาสทำสังฆทาน ทำวิหารทาน อันจะส่งผล ให้ไปมีวิมานอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อาตมาเห็นท่านสร้างแล้ว รู้สึกอยากช่วยงานของท่าน เพราะท่านเป็นพระ มีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติธรรม เป็นอย่างสูง ชนิดเอาชีวิตเข้าแลก เข้าป่าไปปฏิบัติในถ้ำ ด้วยตนเองมากว่า ๒๐ ปี อาหารไม่มี ก็ฉันปลากระป๋อง กับหน่อไม้มาเป็นปีๆ สมัยก่อนน้ำไม่มี ภาชนะเก็บน้ำไม่มี ก็ต้องไปแบกมาจากที่ไกล ผ่านความยากลำบาก นานัปการ ท่านก็ต่อสู้ฝ่าฟันมา จนปัจจุบัน วัดเป็นรูปเป็นร่าง มีน้ำบาดาล มีไฟปั่น มีศาลา มีกุฏิ ทว่าสังขารท่านเสื่อมโทรมไปมาก ฟันก็หลุดหมดเพราะขาดสารอาหาร (หมดเกลี้ยงเลย ไม่เหลือสักซี่) ตาข้างหนึ่งบอดไปแล้ว อีกข้างหนึ่งก็เห็นมัว ๆ ด้วยต้อหิน ไม่มีทางรักษา มีแต่จะบอดช้า หรือบอดเร็วเท่านั้น กระนั้นท่านก็ยังมีจิตเมตตา คิดจะสร้างสถานที่ แห่งนี้ไว้ เพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนาสืบไป ท่านว่ามีก็ทำ ไม่มีก็ไม่ทำ ขนาดไม่เคยเรี่ยไร ตอนนี้ยังมีคนถวายปัจจัยให้ท่านสร้าง ร่วมห้าหมื่นแล้ว อาตมาไปดูความมัธยัสถ์ของท่านแล้ว คิดว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ คงจะได้ใช้อย่างคุ้มค่า ดูเอาเถิดอย่างงานถมดิน เกลี่ยพื้นที่ให้เสมอกัน ก่อนจะขึ้นศาลา ท่านว่าประมาณ ๕,๐๐๐ บาทเท่านั้น งบประมาณ ในการสร้างศาลา ท่านว่าจะขึ้นเสาสัก ๑๒ ต้น งบประมาณอยู่ราวๆ แสนกว่าบาท ใครสนใจทำวิหารทาน อันเป็นอามิสทาน ที่มีอานิสงส์สูงสุดในพระพุทธศาสนา ก็ขอเชิญร่วมทำบุญได้ บาทเดียวก็ได้อานิสงส์เสมอกัน เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ฯ

 
 

สั่งสมประสบการณ์ (ตอน ๗ - คิริมานนทสูตร)ตอนที่ 2

การปล่อยวางจิต คือ ให้ละโลภ โกรธ หลง

DSCN0166อานันทะ ดูก่อนอานนท์ คำที่ว่าให้ปล่อยวางจิตใจนั้น คือว่าให้ละความโลภ ความโกรธ ความหลง ปลงเสีย ซึ่งการร้ายและ การดีที่บุคคลนำมากล่าว มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ อย่ายินดียินร้าย แม้ปัจจัยเครื่องบริโภค เป็นต้นว่า อาหารการกิน ผ้าผ่อนท่อนสไบ ที่อยู่ที่นอน แลเภสัชสำหรับแก้โรค ก็ให้ละความโลภความหลง ในปัจจัยเหล่านั้นเสีย ให้มีความมักน้อยในปัจจัย แต่มิใช่ว่าจะห้ามเสียว่า ไม่ให้กิน ไม่ให้นุ่งห่ม ไม่ให้อาศัยในสถานที่ ไม่ให้กินหยูกยา เช่นนั้นก็หามิได้ คือให้ละความโลเล ในปัจจัยเท่านั้น คือ เมื่อได้อย่างดี อย่างประณีต ก็ให้บริโภคอย่างดี อย่างประณีต ได้อย่างเลวอย่างหยาบ ก็ให้บริโภคอย่างเลว อย่างหยาบ ตามมีตามได้ ไม่ให้ใจขุ่นมัวด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง อย่างนี้แล ชื่อว่าปล่อยวางใจเสียได้ (อันนี้ใครก็ทราบว่าให้ละโลภ โกรธ หลง แต่ใครจะทราบว่าละอย่างไร พระพุทธองค์ทรงบัญญัติ ศีล ๕ ศีล ๑๐ ศีลปาติโมกข์ ขึ้นก็เพื่อ ให้มีความมักน้อยในปัจจัย ๔ เป็นสำคัญ เมื่อโลภ โกรธ หลง ทำอะไรเราไม่ได้แล้ว ใจของเราก็จะ เหมือนกับปฐพี คนที่ไม่ทราบ เป้าหมายสำคัญอันนี้ ก็จะถือศีลด้วยความงมงาย บ้างก็เคร่งเกินไป บ้างก็หละหลวมเกินไป หาปัญญามิได้)

การวางใจ ปลงใจนั้นคือ วางสุข วางทุกข์ วางบาปบุญคุณโทษ วางโลภ โกรธ หลง วางลาภ ยศ นินทา สรรเสริญทั้งหมดทั้งสิ้น เหมือนดังไม่มีหัวใจ จึงชื่อว่าทำให้ใจให้เหมือนแผ่นดิน ถ้ายังทำไม่ได้ อย่าหวังว่า จักได้โลกุตรนิพพานเลย (แนวการปฏิบัติทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น ทาน ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีลปาติโมกข์ สมาธิ สมาบัติ ๘ ปัญญา โลกธรรม ๘ บารมี ๓๐ ทัศ กรรมฐาน ๔๐ มหาสติปัฏฐาน ๔ การดูเพ่งอายตนะ ๖ อริยสัจ ๔ สามัญญลักษณะ ๓ การพิจารณาขันธ์ ๕ วิปัสสนาญาณ ๙ สังโยชน์ ๑๐ ฯลฯ ล้วนแล้วแต่มีปลายทางเพื่อการนี้โดยเฉพาะ)

ผู้ปฏิบัติอริยมรรคให้เต็มที่ จึงจะวางใจให้เหมือนแผ่นดินได้

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ ผู้มิได้กระทำอริยมรรคปฏิปทาให้เต็มที่ ยังเป็นปุถุชน คนหนาแน่นไปด้วยกิเลส หาปัญญามิได้ แลจักวางใจทำตัวให้เป็นเหมือนแผ่นดินนั้น ไม่อาจทำได้เลย ผู้ที่วางใจ ทำตัวให้เป็นเหมือนแผ่นดินได้นั้น มีแต่บุคคลผู้เป็นนักปราชญ์ และเป็นสัตบุรุษ จำพวกเดียวเท่านั้น เพราะท่านไม่ถือตนถือตัว ท่านวางใจให้เป็นเหมือนแผ่นดินได้ ท่านจึงได้ถึงพระนิพพาน ส่วนคนโง่เขลานั้น ถือตนถือตัว ถือว่าร่างกาย เป็นอัตตาตัวตน จึงปล่อยวางมิได้

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ อันว่าบุคคลที่ถือตัวถือตนอยู่นั้น ย่อมเป็นคนมักโลภ มักโกรธ มักหลง บุคคลจำพวกใด ที่ตกอยู่ในอำนาจแห่งความโลภ ความโกรธ ความหลงนั้น จะเป็นนักบวชก็ตาม เป็นคฤหัสถ์ก็ตาม ก็หาความสุขมิได้ เบื้องหน้าแต่ตายไป ก็หาความสุขในมนุษย์ แลสวรรค์มิได้เลย

ผู้จะถือเอาความสุขในนิพพาน ต้องวางความสุขในโลกีย์ให้หมด

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ ผู้ที่จะนำตนไป ให้เป็นสุขในพระนิพพาน ต้องวางเสียซึ่งความสุขในโลกีย์ ถ้าวางไม่ได้ ก็ไม่ได้ความสุขในพระนิพพานเลย ถ้าวางสุขในโลกีย์มิได้ ก็ไม่พ้นทุกข์ ด้วยความสุขในโลกีย์ เป็นความสุขที่เจืออยู่ด้วยทุกข์ ครั้นเมื่อถือเอาสุข ก็คือถือเอาทุกข์นั้นเอง ครั้นไม่วางสุข ก็คือไม่วางทุกข์นั้นเอง จะเข้าใจว่าเราจะถือเอาแต่สุข ทุกข์ไม่ต้องการดังนี้ไม่ได้เลย เพราะสุขทุกข์ เป็นของเนื่องอยู่ด้วยกัน ถ้าไม่วางสุขเสีย ก็เป็นอันไม่พ้นทุกข์

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุคคลทั้งหลาย ผู้ที่จะรู้ว่าสุขทุกข์ ติดกันอยู่นั้น หายากยิ่งนัก บุคคลทั้งหลายที่ ยังเป็นปุถุชนคนโง่เขลานั้น ทำความเข้าใจว่า สุขก็มีอยู่ต่างหาก ทุกข์ก็มีอยู่ต่างหาก ครั้นเราถือเอาสุข เราก็ได้สุข เราไม่ถือเอาทุกข์ ทุกข์ก็ไม่มี ดังนี้ เพราะเหตุที่เขาไม่รู้ว่า สุขกับทุกข์ติดกันอยู่ เขาจึงไม่พ้นทุกข์ ใครเล่าจะมีความสามารถ พรากสุขทุกข์ออกจากกันได้ แต่เราตถาคตก็ไม่มีวิเศษ ที่จะพรากจากกันได้ ถ้าหากเราตถาคต พรากสุขแลทุกข์ออกจากกันได้ เราจะปรารถนา เข้าสู่พระนิพพานทำไม เราจะถือเอา แต่สุขอย่างเดียว เสวยแต่ความสุข อยู่ในโลกเท่านั้น ก็เป็นอันสุขสบาย พออยู่แล้ว นี่ไม่เป็นเช่นนั้น เราแสวงหาความสุขโดยส่วนเดียว ไม่มีทางที่จะพึงได้ เราจึงวางสุขเสีย ครั้นวางสุขแล้ว ทุกข์ไม่ต้องวาง ก็หายไปเอง อยู่กับเราไม่ได้ เราจึงสำเร็จพระนิพพาน พ้นจากกองทุกข์ ด้วยประการดังนี้ (โลกียสุขนั้น หมายรวมตั้งแต่ สุขขั้นหยาบๆ ในกามคุณ ๕ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ละเอียดขึ้นไป จนถึงความสุข ที่เกิดจากการให้ทาน ทำบุญ รักษาศีล สมาธิสุข ฌานสุข สุขจากการฟังธรรม เป็นสิ่งที่ต้องละทั้งสิ้น ตรงนี้อ่านแล้วอาจจะรู้สึกงงๆ เพราะคุ้นเคยกับคำสั่งสอน มาตลอดว่า ให้ทำบุญทำทาน รักษาศีล เจริญพระกรรมฐาน ไม่ใช่ว่าสิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งไม่ดี พระพุทธองค์สอนว่า เป็นสิ่งที่ดี ต้องทำให้มาก สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ให้เปรียบก็เหมือนขั้นบันได ขึ้นไปสู่พระนิพพาน เมื่อบำเพ็ญบารมี จนครบบริบูรณ์ถึงที่สุดแล้ว เมื่อจะเข้าสู่พระนิพพาน ก็ต้องละขั้นบันไดเสีย จะแบกบันได เข้าพระนิพพานไปด้วยไม่ได้ ผู้ปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่ เมื่อจิตใฝ่กุศลแล้ว ก็จะไปติดสุข ติดกุศลธรรม ติดบุญ เลยทำให้การพัฒนาจิต ไม่ก้าวหน้าต่อไป สุดท้ายก็ถึงแค่สวรรค์ แค่พรหม ไม่ถึงพระนิพพาน ส่วนนี้จะเป็นธรรมขั้นสูง เป็นสังโยชน์ข้อที่ ๙ ความฟุ้งซ่าน ของพระอนาคามี การติดกุศล จะทำให้ฟุ้งซ่าน)

ผู้จะถึงพระนิพพาน ต้องพ้นจากกุศลธรรม และอกุศลธรรม

DSCN0164อานันทะ ดูก่อนอานนท์ กุศลธรรมและอกุศลธรรมนั้น ได้แก่กองกิเลส ๑,๕๐๐ นั้นเอง อัพยากฤตธรรมนั้น คือ องค์พระนิพพาน ครั้นพ้นจากกองกุศลธรรม และอกุศลธรรมนั้นแล้ว จึงเป็นองค์แห่งพระอรหํ และพระนิพพานโดยแท้ เมื่อบุคคล ต้องการพระนิพพาน ก็ให้วางเสียซึ่งความสุขนั้นก่อน ความสุขในโลกีย์นั้นเอง ชื่อว่ากุศล จึงจักถึง ซึ่งพระนิพพาน ถ้าหากว่า ไม่มีความสามารถ คือไม่อาจทำพระนิพพาน ให้แจ้งได้ ก็ให้ยึดเอากุศลนั้นไว้ก่อน พอให้ได้ความสุข ในมนุษย์แลสวรรค์ แต่จะให้พ้นทุกข์นั้นไม่ได้ เมื่อรู้อยู่ว่าตนจักพ้นทุกข์ไม่ได้ ก็ให้ยึดเอากุศลนั้นไว้ เป็นสะพาน สำหรับไต่ ไปสู่ความสุข ถ้ารู้ว่าตนยังไม่พ้นทุกข์ ซ้ำมาวางกุศลเสียก็ยิ่งซ้ำร้าย เพราะเมื่อวางกุศลเสียแล้ว ตนก็จักเข้าไปกองอกุศล คือกองบาปเท่านั้น ซึ่งจะมีอบายภูมิ ๔ เป็นที่ไป (เห็นไหม อารมณ์พระนิพพาน เข้าใจง่ายจะตาย แต่ปฏิบัติให้ถึงยากบรม ตรงนี้ถ้าใครเคยฟัง พระสวดศพจะเคยได้ยินว่า “กุสลาธัมมา อกุสลาธัมมา อัพยากตาธัมมา...” นั่นคือสวดมาติกา ในอภิธรรม ๗ บท บทสวดจะเป็นการย่อไว้เฉพาะหัวข้อธรรม บทนี้เป็นการอธิบายความ ในอภิธรรมเรื่อง กุศลธรรม อกุศลธรรม และอัพยากฤตธรรม การที่บอกให้ละทั้งกุศล และอกุศลนั้น ไม่ใช่ไปคิดว่า ถ้าเช่นนั้นต่อไปนี้ ก็ไม่ต้องทำบุญแล้ว บาปฉันก็ไม่ทำ ฉันละแล้วทั้ง ๒ อย่าง อันนี้อันตรายมาก อ่านให้ดีๆนะ ท่านว่าต้องบำเพ็ญอริยมรรค ให้ถึงที่สุด แล้วจึงวางได้ ไม่ใช่จู่ ๆ นึกอยากจะวางก็วางได้ ถ้ายังทำไม่ถึง ให้เกาะกุศลไปก่อน เชื่อไหมว่า ในคำสอนของหลวงปู่มั่น มีตอนหนึ่งว่า “ติดดี นี่แก้ยากกว่าติดชั่วอีก” พระอรหันต์นี่ สอนอะไรไม่ธรรมดาอยู่แล้ว ต้องขบคิดให้ลึกซึ้ง ครั้นลองใช้ปัญญา ที่มีอยู่น้อยนิดพิจารณาแล้ว ก็ได้ความว่า ติดชั่วนี่มันแก้ง่ายเพราะมันเป็นโทษ ชี้ให้เห็นโทษชัดๆ ตามความเป็นจริง ผู้ที่ไม่ดื้อรั้นเกินไป ไม่มีมิจฉาทิฏฐิเกินไป มีปัญญาเล็กน้อย ก็จะละชั่วได้ แต่การติดดีนี่ โทษของมัน มองเห็นได้ยาก เพราะมันเป็นสุข หรืออาจเปรียบระหว่าง ที่เย็นกับที่ร้อน ถ้าคนอยู่ในที่ร้อน เมื่อมาสัมผัสที่เย็น ก็จะรู้ได้ไม่ยากว่ามันสบายกว่า แต่จะถอยออกจากที่เย็น ไปสู่ที่ที่พอดี นั้นยากกว่ามาก)

ผู้มีความรู้ความฉลาด สักปานใด ไม่ควรถือตัวว่าเป็นผู้ยิ่งกว่าผู้มีศีล

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุคคลผู้ไม่มีศีล ปราศจากการรักษาศีล ไม่ควรกล่าว ซึ่งคำประมาท แก่ท่านผู้มีศีล ตัวตั้งอยู่ภายนอกศีล แล้วมาเข้าใจว่า ตัวเป็นผู้ดีกว่าท่านผู้มีศีล แล้วกล่าวคำสบประมาท ดูหมิ่นในท่านผู้มีศีล บุคคลจำพวกนั้นชื่อว่า เป็นเจ้ามิจฉาทิฏฐิใหญ่ ชื่อว่าเป็นคนหลงทาง เป็นผู้ห่างจากความสุข ในมนุษย์ แลสวรรค์ อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุคคลผู้ตั้งอยู่ภายนอกศีลนั้น ได้ชื่อว่า เป็นผู้ตั้งอยู่ ในระหว่างแห่งกิเลส ยังเป็นผู้หนาแน่น อยู่ด้วยกิเลส แม้จะเป็นผู้มีความรู้ ความฉลาดมากมาย สักปานใดก็ตาม ก็ไม่ควรจะถือตัวว่า เป็นผู้ยิ่งกว่าผู้มีศีล เหตุว่าผู้ที่ไม่มีศีลนั้น ยังห่างจากพระนิพพานมาก อานันทะ ดูก่อนอานนท์ จะถือเอาความรู้แลความไม่รู้ เป็นประมาณทีเดียวไม่ได้ ต้องถือเอาการละกิเลสได้ เป็นประมาณ เพราะว่าผู้จะถึงพระนิพพาน ต้องอาศัยการละกิเลสโดยส่วนเดียว เมื่อละกิเลสได้แล้ว แม้ไม่มีความรู้มาก รู้แต่เพียงการละกิเลสได้เท่านั้น ก็อาจถึงพระนิพพานได้ (ตรงนี้มักจะมีคนที่ศีล ๕ ยังไม่ครบดี เที่ยวไปตำหนิพระ เช่น เรื่องพระสูบบุหรี่ เป็นต้น ไปพูดค่อนแคะว่า เป็นพระแล้ว ไปคาบบุหรี่มวนโต นั่งยอง ๆ คุย พูดจากูมึง คนก็ไปนับถือมากมาย ระวังเถิด เรื่องใดถ้าพระวินัยไม่ห้าม ก็อย่าไปตำหนิท่านเลย จะเป็นโทษเสียเปล่า ๆ พระท่านรู้ของท่าน)

ผู้ต้องการพระนิพพานแล้ว ไม่ควรจะถือว่าตัวรู้ตัวดี

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ ธรรมดาบุคคล ผู้ที่เป็นนักปราชญ์มีปรีชาทั้งหลาย ย่อมไม่ถือเนื้อถือตัวว่า เรารู้เราดีอย่างนั้นอย่างนี้ ท่านจะมีความรู้มากมายเท่าไร ก็มิได้ถือเนื้อถือตัว เหมือนอย่างพาลปุถุชน พวกพาลปุถุชน ที่เขาห่างไกลจากพระนิพพาน ก็เพราะเหตุที่เขาถือเนื้อถือตัว การถือเนื้อถือตัว มีมากเท่าใด ก็ยิ่งทำให้ห่างไกล จากพระนิพพานมากเท่านั้น เหตุว่าประตูเมืองพระนิพพานนั้น คับแคบนักหนา ผมเส้นเดียวผ่าออกเป็น ๓ เสี้ยว เอาแต่เสี้ยวเดียว ไปแยงเข้าที่ประตูพระนิพพาน ก็ยังคับแคบเข้าไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อท่านต้องการพระนิพพานแล้ว ไม่ควรจะถือว่าตัวรู้ตัวดี เป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้สูงศักดิ์กว่า ท่านยิ่งถือตนถือตัวขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งให้คับประตูพระนิพพาน เข้าเท่านั้น จึงว่าพาลปุถุชนทั้งหลาย เป็นผู้ห่างไกลจากพระนิพพาน ด้วยเหตุที่เขา มัวถือเนื้อถือตัวว่าตัวรู้ตัวดีอยู่ (บทนี้กล่าวถึงสักกายทิฏฐิ ความมานะถือตัว เป็นคุณสมบัติที่ ทำให้ห่างไกลพระนิพพาน มีผู้มาปรารภกับอาตมา ถึงหลักวิชาควอนตัมฟิสิกส์ ที่เป็นการต่อยอด จากทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ ว่าเขาสามารถพิสูจน์ได้แล้วว่า ส่วนเล็กที่สุดของอะตอม แท้จริงแล้ว เป็นเพียงคลื่น เป็นการสั่นสะเทือน ซึ่งตรงกับหลักอนัตตา ของพระพุทธศาสนา ดังนั้นควอนตั้มฟิสิกส์ ระดับที่ละเอียดซับซ้อนขนาดนั้น ถ้าศึกษาวิจัยไปเรื่อยๆ ก็จะเข้าถึงความรู้แจ้งเห็นจริง อาตมาเห็นว่าการศึกษาวิทยาศาสตร์นั้น มันก็ดี แต่พระพุทธเจ้า ก็ไม่เคยเรียนวิชาฟิสิกส์ ทำไมทราบอะไรต่าง ๆ มากมายยิ่งกว่า นักวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน เพราะท่านค้นพบว่า การละกิเลสต่างหาก ถึงจะพาให้เข้าถึง ความจริงแท้ของสรรพสิ่ง การที่มีความรู้ ทางวิทยาศาสตร์มากๆ หรือการตีความศาสนาพุทธ เป็นปรัชญายากๆ หาได้ช่วยให้เขาใกล้ พระนิพพานขึ้นเลย ถ้ามันไปสร้างความถือตัว ถือตนว่า เขาเป็นผู้มีความรู้ดีกว่าคนอื่น เก่งกว่าคนอื่น นี่เป็นทางการเพิ่มกิเลสต่างหาก มิใช่ทางละกิเลส ยิ่งรู้มาก ตัวโมหะมันก็จะมากตาม ความหลงตัวเอง คิดว่าเราเป็นผู้เลิศกว่าผู้อื่น อันเป็นตัวเป็นตน เป็นอัตตาที่ละได้ยากที่สุด มีคนเป็นจำนวนมากเข้าใจผิด คิดว่าการที่เขามีความสามารถ ทางสมองเหนือคนอื่น เข้าใจในสิ่งที่ผู้อื่นไม่เข้าใจ หรือเข้าใจได้ยาก จดจำสิ่งต่างๆ ได้มากมาย และสามารถเรียนรู้ในวิชาการยาก ๆ หรือธรรมะยากๆ เหล่านั้น จะเป็นการเข้าใกล้พระนิพพาน เข้าไปเรื่อยๆ ไม่จริงเลย ปัญญาในทางพุทธนี่เขาแปลว่า ความรอบรู้ในกองสังขาร รู้ต้องรู้อย่างเป็นจริงว่า มันเป็นทุกข์ มันไม่เที่ยง มันไม่ใช่ตัวตน อุปมาการถอดถอนตัวตน นี่เหมือนการถอนต้นไม้ ยิ่งความสามารถมากรู้มาก ก็ประดุจต้นไม้ที่มีรากแก้วหยั่งลึก มีรากฝอยยุ่บยั่บ จะรื้อถอนก็ต้องใช้กำลังมาก ยากลำบากมาก ไม่เหมือนผู้ที่มีความสามารถน้อย รู้น้อย ก็ประหนึ่งหญ้า หรือต้นไม้เล็กๆ รากแก้วก็ไม่ลึก รากฝอยก็น้อย ปฏิบัติเพียงเล็กน้อย ก็ถอดถอนตัวตนได้เกลี้ยง กระทั่งพระที่บวชเข้ามา ท่านก็แนะไม่ควรคิดว่า ตนบรรลุธรรมขั้นไหน เป็นโสดา สกทาคา อนาคา หรือ อรหันต์ ให้ถ่อมตัวเตี้ยติดดินอยู่เสมอ ให้คิดว่าเก่งแค่ไหน ดีแค่ไหน เลิศแค่ไหน ก็ตายหมด ไม่มีใครชนะความตาย สักคนเดียว คิดไว้เสมอ ๆ ผู้ที่คิดว่าตนดี ตนเก่ง พระบรมโลกเชษฐ์ท่านเรียกว่า พาลปุถุชน)

ดับกิเลสตัณหาได้มากเท่าไร ก็เป็นบุญเป็นกุศลมากเท่านั้น

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ การที่เราตถาคตต้องการให้บวชนั้น ก็เพื่อจะให้ได้บุญและกุศล อะไรชื่อว่าเป็นตัวบุญตัวกุศล ตัวบุญตัวกุศลนั้น ไม่ใช่สิ่งอื่นคือความดับเสีย ซึ่งกิเลส การรักษากิจวัตร แลพระวินัยอย่างไรก็ตาม ถ้าดับกิเลสได้มากก็เป็นบุญมาก ถ้าดับกิเลสได้น้อยก็เป็นบุญน้อย ถ้าดับกิเลสไม่ได้ก็ไม่เป็นบุญเลย บาปอกุศลนั้นก็ไม่ใช่อื่น คือตัวกิเลสนั้นเอง กิเลสก็คือตัวตัณหานั้นเอง ดับกิเลสตัณหาได้เท่าใด ก็เป็นบุญเท่านั้น ถ้าดับกิเลสตัณหาไม่ได้ ก็เป็นอันไม่ได้บุญไม่ได้กุศล

 
 
 

สั่งสมประสบการณ์ (ตอน ๗ - คิริมานนทสูตร)

บางส่วนของคิริมานนทสูตร

(คัดย่อมาเฉพาะที่เห็นว่า เป็นประโยชน์ และพอจะแสดงความเห็นได้)

390202078การถึงพระนิพพาน คือการพ้นทุกข์

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุคคลทั้งหลายถึงที่สุดโลก ออกจากโลกได้แล้ว จึงชื่อว่า ถึงพระนิพพาน แลรู้ตน ว่าเป็นผู้พ้นทุกข์แล้ว แลอยู่สุขสำราญบานใจทุกเมื่อ หาความเร่าร้อนโศกเศร้าเสียใจมิได้ บุคคลทั้งหลาย เป็นผู้ต้องการพระนิพพาน แต่หารู้ไม่ว่า พระนิพพานนั้นเป็นอย่างไร อยู่ที่ไหน แม้ทาน ศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นทางจะไป สู่พระนิพพานก็ไม่เข้าใจ เมื่อไม่รู้ ไม่เห็น ไม่เข้าใจแล้ว จักไปสู่พระนิพพานนั้น ก็เป็นการลำบากยิ่งนักหนา ผู้ศึกษาพึงเข้าใจว่า พระนิพพานอยู่ที่สุดของโลก ศีล สมาธิ ปัญญาเป็นทางไปพระนิพพาน แม้เมื่อรู้แล้วอย่างนั้น ก็จำต้องพากเพียร พยายามอย่างเต็มที่ จึงจะถึง (อันนี้ใครก็ทราบว่า พระนิพพาน คือการพ้นทุกข์ แต่พระสูตรนี้เน้นให้เห็นว่า พระนิพพานคือสภาวะ ที่หาความทุกข์ไม่ได้ สุขสำราญอยู่ทุกเมื่อ สภาวะนั้นเป็นอย่างไร จะได้แจงต่อไป)

ผู้ปรารถนาพระนิพพาน ต้องศึกษาให้รู้แจ้ง

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุคคลทั้งหลาย ผู้ปรารถนาพระนิพพาน ควรศึกษาให้รู้แจ้ง ครั้นรู้แจ้งแล้วจักถึงก็ตาม ไม่ถึงก็ตาม ก็ไม่เป็นทุกข์แก่ใจ ถ้าไม่รู้แต่อยากได้ ย่อมเป็นทุกข์มากนัก จะถือเสียว่าไม่รู้ก็ช่างเถอะ เราปรารถนาเอาคงจะได้ คิดอย่างนั้นก็ผิดไป ใช้ไม่ได้ แม้แต่ผู้รู้แล้ว ตั้งหน้าบากบั่น ขวนขวายจะให้ได้ให้ถึง ก็ยังเป็นการยากลำบากอย่างยิ่ง บุคคลผู้ไม่รู้ ไม่เห็นพระนิพพาน แล้วจะถึงพระนิพพาน จักมีมาแต่ที่ไหน อย่าว่าแต่พระนิพพานเลย แม้จะกระทำการสิ่งใดก็ดี เป็นต้นว่า ช่างเงิน ช่างทอง ช่างเหล็ก ช่างไม้ ช่างวาดเขียนต่างๆ เป็นต้น ต้องรู้ด้วยใจ หรือเห็นด้วยตาเสียก่อน จึงจะทำสิ่งนั้น ให้สำเร็จได้ ผู้ปรารถนาพระนิพพาน ก็ต้องศึกษา ให้รู้จักพระนิพพานไว้ก่อน จึงจะได้ จะมาตั้งหน้าปรารถนาเอา โดยความไม่รู้นั่น จะมีทางได้มาแต่ที่ไหน

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุคคลทั้งหลาย ควรจะศึกษาให้รู้แจ้ง คลองแห่งพระนิพพาน ไว้ให้ชัดเจนแล้วไม่ควรประมาท แม้ปรารถนาจะไปก็ไป แม้ไม่ปรารถนาจะไป ก็อย่าไป ครั้นเห็นดีแล้ว จิตประสงค์แล้ว ก็ให้ปฏิบัติในคลองแห่งพระนิพพาน ด้วยจิตอันเลื่อมใส ก็อาจจักสำเร็จ ไม่สำเร็จก็จักเป็น อุปนิสัยปัจจัยต่อไป ผู้ที่ไม่รู้ แม้ปรารถนาจะไปหรือไม่ไป อยู่ใกล้ที่นั้นบ่อยๆ ก็ไม่อาจถึง เพราะเข้าใจผิด คิดว่าอยู่ที่นั้นที่นี้ ก็เลยผิดไปจากจิตที่คิด หลงไปหลงมาอยู่ในวัฏสงสาร ไม่มีวันที่จะถึงพระนิพพานได้ (บทนี้แนะให้ทำความเข้าใจ กับพระนิพพานเสียแต่วันนี้ จะถึงหรือไม่ถึงไม่สำคัญ ถ้าทำความเห็นให้ถูก ให้ตรงเสียแล้ว อย่างไรต้องถึง สักวันหนึ่ง ถ้าไม่รู้หรือเห็นผิดเสียแล้ว จะต้องหลงอยู่ในสังสารวัฏ หาที่สุดมิได้)

ผู้ไม่รู้แจ้งในพระนิพพาน ไม่ควรสั่งสอนพระนิพพานแก่ผู้อื่น

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุคคลผู้ไม่รู้ ไม่แจ้ง ไม่เข้าใจในพระนิพพาน ไม่ควรจะ สั่งสอนพระนิพพาน แก่ท่านผู้อื่น ถ้าขืนสั่งสอน ก็จะพาท่านหลงหนทาง จักเป็นบาป เป็นกรรมแก่ตน (บทนี้แนะว่า ไม่รู้จริงอย่าไปสอนคนอื่น ผู้ที่ไม่รู้จริงเที่ยวสั่งสอนคนอื่น ถ้าพาให้คนอื่นไปหลง อยู่ในวัฏสงสารมากขึ้น โทษถึงขั้น โลกันตมหานรกเทียว อาตมาก็เคยสงสัยว่า พระที่มีมิจฉาทิฏฐินิดเดียว ไปเที่ยวสอนคนอื่น ทั้งที่ตัวเองไม่รู้จริง ทำไมโทษหนัก ถึงขั้นโลกันตมหานรก ทั้งที่ตัวท่านเอง ก็ปฏิบัติดี อยู่ในศีลในธรรม ดูไม่ค่อยยุติธรรม มาเข้าใจจากพระสูตรนี้เองว่า โทษมันเกิดเพราะ ไปทำให้ผู้อื่นหลงผิด ห่างไกลมรรคผลมากขึ้น โทษมันเลยหนัก ลำพังแค่ธรรมดาคน ก็มีแนวโน้มลงที่ต่ำอยู่แล้ว นี่ยิ่งไปทำให้เขาเห็นผิด ไปจากทำนองคลองธรรม มรรคผลนิพพานที่ว่ายากอยู่แล้ว ยิ่งยากขึ้นไปอีก และไม่ใช่ว่าจบชาติเดียว ถ้าคนนั้นแบกมิจฉาทิฏฐิต่อไป ก็จะข้ามภพข้ามชาติ เพิ่มพูนนิสัยมิรู้จบ ยิ่งทำเป็นหนังสือออกมา มีคนอ่านมาก แค่ทำให้คนคนเดียวหลงทางก็มีโทษมากแล้ว นี่ทำคนเป็นหมู่ เป็นคณะหลงผิด บรื๊อส์...จินตนาการไม่ออกเลย)

ผู้ปรารถนาพระนิพพาน ต้องแสวงหาครูที่ดี ที่รู้แจ้งพระนิพพานจริง

พระนิพพานไม่เหมือนของสิ่งอื่น อันของสิ่งอื่นนั้น เมื่อผิดไปแล้วก็มีทางแก้ตัวได้ หรือไม่สู้เป็นอะไรนัก เพราะไม่ละเอียดสุขุมมาก ส่วนพระนิพพานนี้ ละเอียดสุขุมที่สุด ถ้าผิดแล้ว ก็เป็นเหตุให้ได้รับทุกข์ เป็นหนักหนา ทำให้หลงโลก หลงทาง ห่างจากความสุข ทำให้เสียประโยชน์ เพราะอาจารย์ ถ้าได้อาจารย์ที่ถูกที่ดี ก็จะได้รับผลที่ถูกที่ดี ถ้าได้อาจารย์ที่ ไม่รู้ไม่ดีไม่ถูกต้อง ก็จักได้รับผลที่ผิด เป็นทุกข์ พาให้หลงโลกหลงทาง พาให้เวียนว่ายตายเกิด อยู่ในวัฏสงสารสิ้นกาลนาน

ผู้คบครูอาจารย์ที่ไม่รู้ดี และได้ผลที่ไม่ดี มีในโลกมิใช่น้อย เหมือนดังพระองคุลิมาลเถระ ไปเรียนวิชาในสำนักครู ผู้มีทิฏฐิอันผิด ได้รับผลที่ผิด คือเป็นมหาโจร ฆ่าคนล้มตายเสียนับด้วยพัน ถ้าไม่ได้พระตถาคตแล้ว พระองคุลิมาลก็จักได้เสวยทุกข์ อยู่ในวัฏสงสารสิ้นชาติเป็นอันมาก (บทนี้น่าจะนำกาลามสูตรมาใช้ครับว่า อย่าเชื่ออะไรง่าย ๆ ต้องพิสูจน์ให้เห็นผลเอง แล้วจึงเชื่อ ผู้ที่ไม่สามารถพิสูจน์ผลเองได้ ก็ต้องเฟ้นหาครูบาอาจารย์ ที่เชื่อถือได้จริง ๆ หวังร้ายต่อใครไม่เป็น เช่น พระอริยเจ้า เป็นต้น ทีนี้ก็ต้องศึกษาจริยา พระอริยเจ้ากันหน่อย เพราะท่านไม่ได้มีป้ายแขวนไว้ว่า ฉันเป็นพระอริยเจ้านะ ซ้ำยังมักเป็นที่ปิดบัง อีกต่างหาก)

ผู้รู้กับไม่รู้ ได้รับทุกข์เหมือนกัน หากทำบาป ส่วนผู้จะได้สุขในนิพพานต้องรู้เท่านั้น

อันทุกข์ในนรกนั้นจะรู้ก็ตาม ไม่รู้ก็ตาม ถ้าทำกรรมที่เป็นบาปแล้ว ผู้ที่รู้หรือผู้ที่ไม่รู้ ก็ตกนรกเหมือนกัน ผู้ที่ไม่รู้จักนรก ก็ยิ่งไม่มีเวลาพ้นจากนรกได้ ครั้นได้เข้าถึงนรกแล้ว เมื่อได้รู้ทางออกจากนรกได้แล้ว ปรารถนาจักพ้นจากนรก ก็พ้นได้ เมื่อไม่อยากพ้นก็ไม่อาจพ้นได้ ต้องรู้จักแจ้งชัดว่า นรกอยู่ในที่นั้นๆ มีลักษณะอาการอย่างนั้นๆ แลควรรู้จัก ทางออกจากนรกให้แจ้งชัด ทางออกจากนรกนั้นคือ ศีล ๕ ศีล ๑๐ ศีลปาติโมกข์ นั่นเอง ส่วนความสุขในมนุษย์ สวรรค์ และพระนิพพานนั้น ต้องรู้จักจึงจะได้

1_display2การรู้จักนรก สวรรค์ แลพระนิพพาน ควรรู้ในเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ เมื่ออยากรู้จักนรก สวรรค์ แลพระนิพพาน ก็ควรให้รู้เสียในเวลาก่อน ที่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่ออยากพ้นทุกข์ในนรก ก็รีบออกให้พ้นเสีย แต่เมื่อยังไม่ตาย อย่าเข้าใจว่าเมื่อมีชีวิตอยู่ สุขอย่างหนึ่ง เมื่อตายไปแล้ว มีสุขอีกอย่างหนึ่ง เช่นนี้เป็นความที่เข้าใจผิดโดยแท้ เพราะจิตมีดวงเดียว เมื่อมีชีวิตอยู่ก็จิตดวงนี้ เมื่อตายไปแล้วก็จิตดวงนี้ เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ได้รับทุกข์ฉันใด แม้เมื่อตายไปแล้ว ก็ได้รับทุกข์ฉันนั้น เมื่อยังมีชีวิตอยู่มีความสุขฉันใด แม้เมื่อตายไปแล้ว ก็ได้รับความสุขฉันนั้น (เรื่องราวของคนที่ตายแล้วฟื้น จะพูดเหมือนๆ กันว่า ไม่รู้ตัวว่าตัวเอง ตายไปแล้ว ความรู้สึกมันก็เหมือนกับ ตอนมีชีวิตอยู่ ฉะนั้นจะไปจินตนาการว่า ความสุขในสวรรค์นั้น เป็นแดนเกษม แตกต่างจากชีวิตมนุษย์ โดยสิ้นเชิงนั้น เป็นความเข้าใจผิด สุขมันสุขเพราะ ไม่มีร่างกายเท่านั้น ไม่มีร้อน ไม่มีหนาว ไม่มีเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่มีแก่ชรา ไม่มีหิว และความเป็นทิพย์ แต่ตัวความสุขแท้ๆนั้น แทบไม่ต่างกัน ลองสังเกตุดู เวลาที่เราได้ทำบุญอะไร ที่ถูกใจมากๆ เช่นบางคนชอบเด็ก ได้ไปเลี้ยงอาหารเด็กกำพร้า แล้วเกิดปีติ ลองดูใจของเรา ที่เป็นสุขในเวลานั้น ตายไปแล้ว ความสุขก็เป็นทำนองนั้น เหมือนกัน ฉะนั้นแล้วใครที่จมอยู่ในกองบาป ละเมิดศีลอยู่เป็นนิจ เมื่อตื่นนอนตอนเช้า ยังไม่ได้ทำการงานอะไรเลย ลองสังเกตุใจตัวเองดู ตื่นมาก็เศร้าหมองหดหู่เอง โดยไม่ต้องมีอะไรกระทบ นี่ก็อาจอนุมานได้ว่า คนคนนั้นจมอยู่ในนรก ตั้งแต่ยังมีชีวิต ครั้นเมื่อไปทำบุญ ทำทานรักษาศีลเหลาะๆ แหละๆ แค่ไม่กี่วัน นั่งสมาธิไม่กี่ชั่วโมง ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง ก็เหมาว่าการปฏิบัติไม่มีผล ยังทุกข์อยู่เหมือนเดิม ก็แสดงว่าเขา ยังไม่สามารถหลุดขึ้นมา จากนรกได้ หรือมีแนวโน้มจะตกนรกสูงนั่นเอง)

บุคคลที่ปรารถนาพ้นทุกข์ ได้สุขหรือพระนิพพาน ควรให้ได้เมื่อยังมีชีวิตอยู่

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุคคลทั้งหลายปรารถนาอยากพ้นทุกข์ หรือปรารถนาอยากได้สุขประเภทใด ก็ควรให้ได้ถึงเสียแต่ในชาตินี้ ถ้าถือเอาภายหน้าเป็นประมาณแล้ว ชื่อว่าเป็นคนหลงทั้งสิ้น แม้ความสุขอย่างสูง คือพระนิพพาน ผู้ปรารถนา ก็พึงรีบขวนขวายให้ได้ให้ถึงเสีย แต่เมื่อเป็นคนมีชีวิตอยู่นี้ อานันทะ ดูก่อนอานนท์ อันว่าความสุขในพระนิพพานนั้นมี ๒ ประเภท คือ ดิบ ๑ สุก ๑ ได้ความว่า เมื่อยังเป็นคนมีชีวิตอยู่ ได้เสวยสุขในพระนิพพานนั้น ได้ชื่อว่าพระนิพพานดิบ เมื่อตายไปแล้ว ได้เสวยสุขในพระนิพพานนั้น ได้ชื่อว่าพระนิพพานสุก พระนิพพานมี ๒ ประการเท่านี้ นิพพานโลกีย์ นิพพานพรหม เป็นนิพพานหลง ไม่นับเข้าไปในที่นี้ พระนิพพานดิบนั้น เป็นของสำคัญ ควรให้รู้ ให้เห็น ให้ได้ ให้ถึง เสียก่อนตาย ถ้าไม่ได้พระนิพพานดิบนี้แล้ว ตายไปจักได้พระนิพพานสุกนั้น ไม่มีเลย ยิ่งไม่รู้ไม่เข้าใจก็ยิ่งไม่มีทางได้ แต่รู้แล้ว เห็นแล้ว พยายามจะให้ได้ ให้ถึงก็แสนยาก แสนลำบากยิ่งนักหนา ผู้ใดเห็นว่าพระนิพพาน มีอย่างเดียว ตายแล้วจึงจะได้ ผู้นั้นชื่อว่าคนหลง

ทำตัวเราให้เหมือนแผ่นดิน หรือปล่อยวาง จึงได้ชื่อว่าถึงพระนิพพานดิบ

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ อันว่าพระนิพพานนั้น พึงให้ดูอย่างแผ่นดินพระธรณี มีลักษณะอาการฉันใด ก็ให้ตัวเรามีลักษณะอาการฉันนั้น ถ้าทำได้เช่นนั้น ก็ได้ชื่อว่าถึงพระนิพพานดิบ ถ้าทำไม่ได้ แต่พูดว่าอยากได้ จะพูดมากมายเท่าไร ๆ ก็ตาม ก็ไม่อาจที่จะได้จะถึงเลย ถ้าปรารถนาจักถึงพระนิพพานแล้ว ต้องทำจิตใจของตน ให้เหมือนแผ่นดินเสียก่อน ไม่ใช่เป็นของทำได้ด้วยง่าย ต้องพากเพียร ลำบากยากยิ่งนักจึงจักได้ จะเข้าใจว่า ปรารถนาเอาด้วยปากก็คงจักได้ อย่างนี้เป็นคนหลงไป ใช้ไม่ได้ ต้องทำตัวทำใจ ให้เป็นเหมือนแผ่นดินให้จงได้ ลักษณะของแผ่นดินนั้น คนแลสัตว์ทั้งหลาย จะทำร้ายทำดี กล่าวร้ายกล่าวดีประการใด มหาปฐพีนั้นก็มิได้รู้โกรธ รู้เคือง (เป็นการเริ่มอารัมภบท นิยามของพระนิพพาน ลักษณะอารมณ์ใจ ของผู้ถึงพระนิพพาน และการปฏิบัติ เพื่อให้เข้าถึงพระนิพพาน)

วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2554

สั่งสมประสบการณ์ (ตอน ๓)by Dhammasarokikku

imagesCAH271JAวันที่ ๒ เขาออกไปบิณฑบาตกันหมด มีอาตมากับหลวงพี่เอหุงข้าวในบาตรกันอยู่ ๒ รูปตั้งแต่ตี ๔ ก็ได้ซุปข้าวข้น กึ่งข้าวสวยกึ่งข้าวต้มมาฉันกัน การบิณฑบาตก็เป็นไปดังคาด ไม่มีใครได้อะไรกลับมากันเลย (ตำราเขาว่าไว้ว่า บิณฑบาตกับต้นไม้นี่มี ๒ แบบ อย่างแรกคือให้เจริญ อัปปมัญญาสมาบัติ (การแผ่เมตตาไปโดยทั่วจักรวาล ไม่เจาะจงผู้รับ) ให้อารมณ์ทรงตัวตลอด ๓ วัน อย่างหลังคือให้ไปแขวนบาตร ไว้ที่ต้นไม้ แล้วเจาะจงแผ่เมตตา ให้รุกขเทวดาที่อยู่กับต้นไม้ต้นนี้ พอได้ยินเสียงคล้ายฝาบาตรหล่น เป็นอันใช้ได้ อาตมาไม่เอากับเขาด้วยเพราะ บารมี ยังไม่ถึง(บารมีกำลังใจ) และเห็นว่าเรามากันคณะใหญ่ เกิดเดี้ยงขึ้นมา จะเป็นภาระของคนอื่น คนเราย่อมรู้ศักยภาพตัวเองจริงไหม) อีก ๒ รูปที่มาด้วยกันฮึด อดข้าวตามพระอาจารย์ ส่วนอีก ๒ รูปที่มากับพระอาจารย์ กลับเปิดบาตรรับบิณฑบาตแฮะ รวมมีพระอดข้าวทั้งหมด ๔ รูป

การเดินป่าในวันนี้ก็ไปเรื่อย ๆ สำหรับผู้ที่ไม่ได้ฉันเช้า ก็มีช็อคโกแล็ตดำ กับน้ำตาลทรายแดง ฉันประทังชีวิต (๒ อย่างนี้ประเคนแล้วฉันได้ ๗ วัน) เดินไปสักพักก็ลุถึงทางถนน ซึ่งคงไม่มีรถวิ่งมานานแล้ว มีไม้ไผ่ป่า ถูกโน้มหักลงมาตลอดเส้นทาง หนามเพียบ เกี่ยวกันเลือดสาด ได้แผลกันถ้วนหน้า เดินไปก็พบขี้ไปตลอดทาง ยิ่งเดินความสดก็ยิ่งเพิ่มขึ้น จากขี้แห้ง ๆ ก็เริ่มเปียกขึ้นเปียกขึ้น จะตัวอะไรเล่า ก็ไอ้ตัวที่มันโน้มไม้ไผ่ ลงมากินนั่นแหละ ดูจากปริมาณขี้แล้ว มันคงมากันเป็นโขลง ถ้ามาตัวเดียวมันคงเป็นช้างท้องเสีย เพราะขี้บ่อยเหลือเกิน รอยเท้าสัตว์ที่พบตามทาง ก็ใหญ่โตโอฬาร ชวนให้นึกฝันไปไกลว่า น่ากลัวพวกสัตว์ เขาเดินมาทะเลาะกันแถวนี้ รอยเท้าถึงยุ่บไปหมด เดินไปจนหอบฮั่กแล้วก็มายุติที่ชายน้ำแห่งหนึ่ง โลเกชั่นกิ๊บเก๋มาก เป็นลานป่าไผ่ริมแม่น้ำ อาตมาเพลียจากการไม่ได้นอนเมื่อคืน พอปูผ้าพลาสติก ได้เอนหลังปุ๊บ ก็เข้างีบสมาบัติปั๊บ (มีความคล่องแคล่ว ในสมาบัติชนิดนี้เป็นกรณีพิเศษ) พอตื่นมาสรงน้ำ แล้วก็กางกลด เมื่อคืนแทบไม่ได้นอนกัน หลวงพี่เอจึงไม่ทราบว่า เปลนอนของท่านถูกลืมไว้ที่วัดปากลำฯ เขาขยับจะเสวนาธรรมกันต่อ แต่อาตมาปลีกวิเวก ไปเข้านอนแต่หัวค่ำเลย

วันที่ ๓ ตื่นมาตี ๔ ชะโงกหัวออกไปข้างนอกกลด น้ำตาแทบไหล เห็นหลวงพี่เอนั่งเติมไฟ ตากน้ำค้าง อยู่รูปเดียวข้างนอก พลางนึกถึงความที่ในหลวง ทรงเคยถามหลวงพ่อว่า จาคะ (การสละ, บริจาค) ตัวเดียวถึงพระนิพพานไหม แล้วหลวงพ่อวินิจฉัยว่า ถ้าทำทานจนเป็น สังขารุเปกขาญาณ ทานตัวเดียว ก็ถึงพระนิพพานได้ นี่กระมังสังขารุเปกขาญาณที่หลวงพ่อว่า (สังขารุเปกขาญาณ = ความวางเฉย ในกองสังขาร) ก็นี่หลวงพี่ท่านเสียสละแทนทั้งคณะ นอนตากน้ำค้างเติมไฟ กันสัตว์ป่าอยู่รูปเดียว โดยไม่สนใจว่าร่างกายท่าน จะลำบากเช่นไร คิดแล้วก็พบว่าเรายังเลวอยู่มากนะนี่ ความเห็นแก่ตัว ยังมีอยู่บานเลย พอเหนื่อยเข้าหน่อย ก็ไม่สนใจคนรอบข้าง พอได้ที่นอนก็ล้มแหมะหลับเลย ครั้นแล้ว ก็ไปหุงข้าวเช่นเคย คราวนี้อาตมาก็ลงมือบรรเลงทำข้าวต้ม ใส่เครื่องเคราที่มีลงไปทั้งหมด มีน้ำพริกแมงดา ปลาทูน่ากระป๋อง กากหมู เป็นต้นแล้วก็ กวน ๆ คน ๆ ไปเรื่อย ๆ ไม่ให้ติดก้นบาตร ออกมาเป็นข้าวต้มเครื่อง ที่ดูคล้าย ๆ อ้วก นึกไม่ถึงเลยว่ารูปอื่นเขาจะฉันไม่ได้กัน ก็เช่นเคย เขาบิณฑบาตไม่ได้อะไรกันเหมือนเดิม พระที่มาด้วยกันเปิดบาตรรับเพิ่มอีก ๑ รูป เหลือพระที่ยังไม่ได้ฉันอะไรเลยตั้งแต่เมื่อวาน ๓ รูป วันนี้ก็ยังคง เดินทั้งวันเช่นเคย

ไปตามทางถนน สังเกตดูเอ๊ะ...ทำไมพระที่มากับพระอาจารย์รูปหนึ่ง ถือย่ามบาตร ๒ ใบ ถามดูจึงทราบว่า พระอาจารย์ท่านแบกต่อไม่ไหว เพราะไม่ได้ฉันอะไรทั้งวัน ท่านเลยอาสาแบกให้ (ท่านก็ไม่ได้ฉันอะไรเหมือนกัน แต่แข็งแรงมาก เป็นทหารเก่า) แม้จะเป็นการเดินไปตามทาง ไม่ใช่บุกป่าฝ่าดง แต่ก็สร้างความเหน็ดเหนื่อย ให้ไม่น้อย อากาศตอนกลางคืนถึงเช้า จะเย็นจนหนาว พอแดดออกก็จะร้อน หลวงพี่เอออกนำหน้า พบกวางตัวใหญ่มั่ก ๆ ๒ ตัว พวกเดินตามไม่ได้เจออะไรหรอก ทีมที่ฉันข้าวมีแรง ก็ล่วงหน้าขึ้นไปก่อน ที่แล้วมาก็ไม่เคยขึ้นหน้า เลยไม่รู้สึกว่าต้องกลัวอะไร พอมาเดินนำเขา มันไม่ใช่เดินนำแบบเห็นกันลิบๆ นะ นำโด่งชนิดเหมือนกับ เดินอยู่รูปเดียวเลย ใจมันประหวัดคิดว่า นี่ถ้าเผอิญจ๊ะเอ๋กับแมวเหมียว เมี๊ยว ๆ หง่าวกำลังเดินข้ามถนน แล้วมันตกใจโจนเข้าใส่ จะทำอย่างไร นั่นแหละถึงได้เข้าใจ มรณานุสสติ (การพิจารณาความตายเป็นอารมณ์) เพลานั้นคิดอยู่ว่า เราจะยอมตายเพื่อรักษาความดี จะยอมให้มันกัด ขย้ำแต่โดยดี ไม่ต่อสู้ (เพราะรู้ว่าสู้ก็สู้มันไม่ได้ แพ้ดีกว่าเป็นพระ ชนะไม่ดีเป็นมาร) และเมื่อตาย จะขอไปนิพพานแห่งเดียว ทุกข์โทษภัยอาบัติทั้งหลาย ที่เคยละเมิดมา (เช่น สะสมอาหารมาฉันในป่า เป็นต้น) จะไม่นึกถึงเลย จะนึกอยู่แต่ว่าขณะนี้มาเดินป่าเพื่อหาทางหลุดพ้น แม้ตายขณะนี้ ก็ถือว่าตายในขณะทำความดี ขอไปสู่สุคติ ถ้าพลาดจากพระนิพพาน ก็ขอไปเป็นพรหม ถ้าพลาดจากพรหม ก็ขอไปสวรรค์ ถ้าพลาดจากสวรรค์ ก็จะขอเป็นมนุษย์ดังเดิม จะไม่ขอลงอบายภูมิเด็ดขาด

ก็คิดวนไปวนมาอยู่อย่างนั้น อารมณ์แบบนี้กระมัง ที่พระพุทธเจ้า เคยตรัสกับพระอานนท์ว่า แม้ตถาคต ยังคิดถึงความตาย อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ข้อความเหล่านี้ หลวงพ่อบอกเป็นประจำ เวลาเจริญพระกรรมฐาน แต่พอมาเจอสถานการณ์จริงนี่ มันคนละเรื่องเดียวกันเลย (ตรงนี้ขอแนะนำ ใครที่มีทุกข์ทางโลกรุมเร้ามาก จนคิดจะปลิดชีพตนเอง เข้ามาตายในป่ากันดีกว่า ปฏิบัติให้มันตายกันไปเลย จะได้ไม่เสียที ที่มีโอกาส เกิดเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา ยิงตัวตาย แขวนคอตาย โดดน้ำตาย โดดตึกตาย กรีดเส้นเลือดใหญ่ตาย ให้รถชนตาย กินยานอนหลับตาย เมาตาย มันตาย อย่างคนขี้ขลาด มีอบายภูมิเป็นที่ไป สู้มาปฏิบัติจนตายนี่ อาจหาญกว่าเยอะ เพราะได้ก้าวลงสู่ความตาย อย่างมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ใจเด็ดมาก ๆ ส่วนใหญ่ผู้ที่ฆ่าตัวตาย ประชดชีวิต ประชดรัก ประชดสังคม หนีหนี้ หนีปัญหา ฯลฯ มักจะทำอะไรบางอย่าง ให้สติสัมปชัญญะมันแย่ลง ให้มันเบลอ ๆ มึน ๆ ย้อมใจเสียก่อน ไม่แมนเลย)

เดินไปจนราวบ่ายสองกว่า ๆ ก็ถึงสถานีป่าไม้มดน้อย หรือมดแดงน้อย อะไรนี่แหละจำชื่อไม่ชัด หลวงพี่เอเคยบอก ให้กำลังใจว่า ที่สถานีนี้น่าจะมีโยมเจ้าหน้าที่อยู่ ๔-๕ คน พระที่อดข้าวจะได้มีคนประเคน ไม่ต้องอดต่อ แต่ภาพที่ปรากฏ ตรงหน้าคือ สถานีร้าง หญ้าขึ้นสูงเท่าสะเอว เหมือนไม่มีคนอยู่มาหลายเดือนแล้ว เข้าไปสำรวจ มีข้าวของเครื่องใช้ครบครัน ขาดอย่างเดียวคือไม่มีคนประเคน ประการแรกเมื่อถึงที่พักก็ต้องต้มน้ำ เพราะน้ำในป่า มีเชื้อมาลาเรียแทบทั้งนั้น สำรองไว้สำหรับหุงข้าว และเอาไว้ฉันพรุ่งนี้ เพราะพรุ่งนี้ บางทีอาจจะต้องไปค้างระหว่างทาง ไม่มีแหล่งน้ำ และทางข้างหน้าจะต้องขึ้นเขา หลวงพี่เอส่งสัญญาณบอกว่า พรุ่งนี้เป็นของจริง ด้วยการประกาศสละสัมภาระ ที่เป็นอาหารทั้งหมดไว้ที่สถานีนี้ ซึ่งเมื่อตรวจดู สิ่งที่ท่านแบกมา ก็ต้องร้องโอ้โฮ แบกเข้าไปได้อย่างไรนี่ ข้าวกว่า ๕ กิโล ปลาทูน่ากระป๋อง ๒๔ กระป๋อง น้ำตาลอีก ๑ กิโล โอวัลติน กาแฟ และสัมภาระส่วนตัว อีกต่างหาก หลังสถานีเป็นลำธารใหญ่ มีรอยช้างนอนด้วย น้ำที่ต้มแล้วมีรสแปลก ๆ แสบ ๆ คอชอบกล พวกเราร่วมกันหุง “ข้าวสวย” (น่ากลัวจะเข็ดข้าวต้มอ้วก ที่อาตมาทำให้ฉัน) เช็ดน้ำแล้วก็ได้ข้าวสวยจริง ๆ เสียด้วย หลังสถานีมีต้นมะละกออยู่ เลยขอบิณฑบาตเสีย ๒ ลูก เอามาปอกหั่นแล้วต้มสำหรับพรุ่งนี้เช้า

 

หน้าตาลำธารที่อยู่หลังที่อยู่หลังสถานี ฝั่งตรงข้ามเป็นหาดทราย รอยเท้าสัตว์เพียบ

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons