วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2554

สั่งสมประสบการณ์ (ตอน ๑)by Dhammasarokikku

imagesCAQ5QP0Mบินเดี่ยว Episode IV - สั่งสมประสบการณ์

เมื่อกาลออกพรรษามาถึง ก็ได้เวลาแพ็คย่ามบาตรขึ้นหลัง ออกเดินทางเสาะแสวงหาวิโมกขธรรม ครั้งนี้มิได้หวังไปสงเคราะห์ผู้อื่น หากแต่หวังไปสงเคราะห์ตนเอง หวังจะเป็นพระโดยบริบูรณ์กับเขาบ้าง ทราบมาว่าเขามีการเดินรุกขมูลเข้าไปในป่าห้วยขาแข้ง มีปลายทางหลายที่เช่น อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร อ.อุ้มผาง จ.ตาก หรือเลยไปถึงพม่าก็มี (ปกติมือใหม่นี่เขาจะไปแค่ อ.บ้านไร่กัน เพราะใกล้ที่สุด โหดน้อยที่สุด) ซึ่งจะมีพระรุ่นพี่ผู้มีประสบการณ์พาไปเป็นทีม ทีมละ ๕ รูปบ้าง ๑๐ รูปบ้างตามแต่อัธยาศัย และสไตล์ที่ชอบ มีทั้งแบบอึดมหาโหด เดินโลดตั้งแต่เช้าจรดเย็น หรือเดินแบบมิโหมหัก เหนื่อยนักก็พักก่อน โดยจะมีการแพ็คข้าวสาร อาหารแห้ง เข้าไปอย่างเพียงพอ สำหรับการอยู่ป่าหลาย ๆ วัน โอกาสเช่นนี้มิได้มีทั่วไป มิใช่เป็นพระแล้วอยากจะเข้าป่าเมื่อไหร่ก็เข้าได้

ปัจจุบันกรมป่าไม้เขาไม่ได้อนุญาตให้พระเดินดุ่ย ๆ เข้าป่า ด้วยพระรุ่นพี่ไปทำงามหน้าไว้ก็มาก เขาจึงจัดระเบียบไว้เข้มพอสมควร ในป่ามีอะไรหนอ ทำไมแต่สมัยพุทธกาลมาแล้ว เขามักไปได้ดีกันในป่า กระทั่งครูบาอาจารย์สายพระป่าอย่างหลวงปู่มั่น หลวงปู่เทศก์ หลวงปู่ชา ในยุครัตนโกสินทร์นี้ ก็ล้วนแล้วแต่ ได้ดีจากการธุดงค์เข้าไปในป่า

มิใช่ว่าอาตมาเห่ออยากจะเลียนแบบครูบาอาจารย์ แต่เปลือกรูปแบบ สักแต่ว่าเข้าป่าเท่านั้น ครั้งนี้ตั้งใจเพียงจะไปดูว่าเขาเดินกันอย่างไร ลำบากแค่ไหน ต้องรู้อะไรบ้าง เขาทำกำลังใจกันอย่างไร ทั้งนี้ก็เกรงอยู่ว่า ถ้าได้เดินธุดงค์เดี่ยวในอนาคต (ตามที่ฝันไว้) จะไปเดินสะดุด ต้นผักชีป่าตาย จะเสียชาติเกิดไปเปล่า ๆ ฟรี ๆ ให้เขาประณามได้ว่าขาด อิทธิบาท ๔ ข้อวิมังสา หาได้มีการใคร่ครวญ ในกิจการงานไม่ (อิทธิบาท ๔ = คุณธรรมที่ทำให้ถึงความสำเร็จ ได้แก่ ฉันทะ-ความพอใจ, วิริยะ-ความเพียร, จิตตะ-มีใจจดจ่อ, และวิมังสา-การใคร่ครวญพินิจพิจารณา) เหล่ารุกขเทวดาในป่าเขา จะพากันขำท้องคัดท้องแข็ง ว่าเจ้านี่มันโง่ระดับจักรวาล เห็นเขาธุดงค์กัน ก็จะเอาบ้าง เห็นช้างขี้ จะขี้ตามช้าง ไม่พึงสังวรในสังขารเจียมบอดี้กับเขาเลย เมื่อพิจารณาดีแล้วก็มาตรวจกำหนดการ ชะอุ๋ย... เขาเข้าป่ากันวันที่ ๕ ธันวาคม ตรงกับงานธุดงควัตรที่วัดท่าซุงเลย เลยต้องตัดใจไปอย่างน่าเสียดาย

ก่อนจะเข้าร่วมงานธุดงค์ที่วัดท่าซุง ทางหลวงพี่สมปองจัดขึ้นไปบวงสรวงที่พระธาตุดอยตุง และพระธาตุจอมกิตติ ที่ จ.เชียงราย ทีแรกก็ว่าจะไม่ไป เพราะโปรแกรมสุดทรหด นั่งรถกัน โรคริดซี่กำเริบเลย ออกเดินทางแต่ตี ๑ ไปถึงราว ๔ ทุ่ม เห็นเขาว่า พระธาตุทั้งสองนี่ ไปอธิษฐานขอพรเรื่องมรรคผล จะได้เร็วเป็นพิเศษ ฟังแล้วหูผึ่ง ไปครับไป(สัทธาจริตกำเริบ) สงสัยเทวดาที่ท่านรักษาอยู่ จะเป็นพระอริยเจ้า กระมัง ไปฝากฝังตัว เผื่อท่านจะมานิมิต สอนกรรมฐานให้มั่ง

พิธีบวงสรวงที่เจดีย์พระธาตุดอยตุงแต่ตี ๔

ภาพบายศรีบวงสรวงที่เจดีย์พระธาตุจอมกิตติตัวเจดีย์พระธาตุ (ข้างหลัง) กำลังบูรณะ

งานที่วัดท่าซุงก็ยิ่งใหญ่อลังการเช่นเคย มีพระเข้าร่วมงานธุดงค์เกือบห้าร้อยรูป โยมมางานนี้แค่ใส่บาตร ก็เหนื่อยแล้ว ระหว่างที่ร่วมงานก็มีโอกาสได้ฟัง “๗ เดือน บรรลุธรรม” ของดังตฤณ (จากเครื่องเอ็มพีสาม ที่เอาไปเอง) ซึ่งเร้าการปฏิบัติได้ดีมาก บังเกิดความวิริยะขึ้นมาว่า นี่ขนาดเขาเป็นฆราวาส มีภาระ หน้าที่ การงาน ต้องทำเป็นปกติ ยังสามารถบรรลุธรรมได้ขนาดนี้ เราเองอุตส่าห์สละบ้านเรือน ญาติพี่น้อง ผองเพื่อนทั้งหมด กลับยังเดินต้วมเตี้ยมอยู่ ซึ่งความจริงก็ทราบมาแต่พรรษาแรกแล้วว่า เรื่องการบรรลุมรรคผล นี่พยากรณ์กันไม่ได้ บุญบารมีเดิมทำมาไม่เสมอกัน ดูพระพาหิยะซี พระพุทธเจ้าตรัสเทศน์เพียงว่า เห็นรูปจงสักแต่ว่าเห็นรูป แค่นี้บรรลุ อรหัตตผล ส่วนพระอานนท์นั้นเล่า ติดตามอุปัฏฐากอย่างใกล้ชิดมาตลอด ๔๕ ปีก็ยังไม่ได้บรรลุ อรหัตตผล แต่อย่างใด ได้เพียงโสดาปัตติผล (พระอริยเจ้า=พระอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป นับเรียงตัวมี ๘ บุคคล ได้แก่ พระโสดาปัตติมรรค พระโสดาปัตติผล พระสกทาคามีมรรค พระสกทาคามีผล พระอนาคามีมรรค พระอนาคามีผล พระอรหัตตมรรค พระอรหัตตผล) แต่อ่านแล้วจิตใจมันฮึกเหิม (สมัยอ่านหนังสือหลวงพ่อ จิตใจมันก็ทแกล้วกล้าเหมือนกัน ครั้นนานไปก็พบว่า บารมีท่านมากมายเหลือเกิน จนไม่อาจเทียบกันได้ การปฏิบัติจริง มักจะไม่ง่ายเหมือนในหนังสือ ต้องใช้เวลาเป็นปี ๆ)

มาสะกิดใจ เอาตอนท้ายของหนังสือที่เอา มหาสติปัฏฐานสูตร มาอ่านให้ฟังว่า จิตเป็นฌาน ก็รู้ชัดว่าจิตเป็นฌาน โอ้หนอ... ฝึกฌานไปสุดท้ายก็ต้องมาจบท ี่มหาสติปัฏฐาน ๔ (ก่อนหน้านี้เข้าใจว่าแนวการปฏิบัติที่เป็นที่นิยมกัน ในปัจจุบัน จะมี ๒ แนวหลัก ๆ คือแนว วิสุทธิมรรค และแนว มหาสติปัฏฐาน แนว วิสุทธิมรรค คือแนวที่เน้นฌานสมาบัติ ทำให้สามารถแสดงฤทธิ์ได้ เป็นแนว เตวิชโช ขึ้นไป ส่วนแนว มหาสติปัฏฐาน คือแนวที่เน้นการฝึกสติ ให้เกิดปัญญา ไม่เน้นฌาน ทำให้ไม่สามารถแสดงฤทธิ์ได้ เป็นแนว สุกขวิปัสสโก (หลักสูตรในพุทธศาสนามี ๔ แนว สุกขวิปัสสโก ๑-ไม่มีฤทธิ์, เตวิชโช ๑-มีฤทธิ์ทางใจ, ฉฬภิญโญ ๑-แสดงฤทธิ์ได้ทุกอย่าง และ ปฏิสัมภิทัปปัตโต-แสดงฤทธิ์ได้ทุกอย่าง และมีความแตกฉานในธรรม เป็นกรณีพิเศษ)

แท้จริงแล้ว ขึ้นต้นเป็นมะลิซ้อน พอแตกใบอ่อนเป็นมะลิลา จะไปฝึกอะไรจะเริ่มจากตรงไหน สุดท้ายต้องมาจบที่ มหาสติปัฏฐาน)แล้วแนว มหาสติปัฏฐาน ก็หาใช่แนวที่ไม่มีฤทธิ์ไม่มีญาณ มีเสมอกัน ของอย่างนี้มันขึ้นกับ “ของเก่า” พระรูปหนึ่งท่านให้ข้อคิดว่า ดูพระโมคคัลลา พระสารีบุตร ซี ปฏิบัติ ๗ วัน ๑๕ วันสำเร็จ มีตอนใดบ้าง ที่พระพุทธเจ้าสอนเรื่องฌาน เรื่องฤทธิ์ ท่านสอนให้ตัดกิเลส ตัดขันธ์ ๕ ทั้งนั้น พอตัดได้ปุ๊บ ของเก่า มาตูมเลย ฉะนั้นไม่ต้องไปกังวลเวลาปฏิบัติถึงแล้ว ของเก่าจะได้คืนมาเอง แม้ในพระไตรปิฎก ก็มีเขียนไว้ว่าทิพยจักขุญาณ และญาณทั้งหลายจะเกิดขึ้นเอง เมื่อผู้นั้นมีธุลีในดวงตา (กิเลส) เบาบางลง นี่ยังไม่เกิดแสดงว่ายังเป็น พระกิเลสหนาอยู่

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons