วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2554

สั่งสมประสบการณ์ (ตอน ๗ - คิริมานนทสูตร)

บางส่วนของคิริมานนทสูตร

(คัดย่อมาเฉพาะที่เห็นว่า เป็นประโยชน์ และพอจะแสดงความเห็นได้)

390202078การถึงพระนิพพาน คือการพ้นทุกข์

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุคคลทั้งหลายถึงที่สุดโลก ออกจากโลกได้แล้ว จึงชื่อว่า ถึงพระนิพพาน แลรู้ตน ว่าเป็นผู้พ้นทุกข์แล้ว แลอยู่สุขสำราญบานใจทุกเมื่อ หาความเร่าร้อนโศกเศร้าเสียใจมิได้ บุคคลทั้งหลาย เป็นผู้ต้องการพระนิพพาน แต่หารู้ไม่ว่า พระนิพพานนั้นเป็นอย่างไร อยู่ที่ไหน แม้ทาน ศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นทางจะไป สู่พระนิพพานก็ไม่เข้าใจ เมื่อไม่รู้ ไม่เห็น ไม่เข้าใจแล้ว จักไปสู่พระนิพพานนั้น ก็เป็นการลำบากยิ่งนักหนา ผู้ศึกษาพึงเข้าใจว่า พระนิพพานอยู่ที่สุดของโลก ศีล สมาธิ ปัญญาเป็นทางไปพระนิพพาน แม้เมื่อรู้แล้วอย่างนั้น ก็จำต้องพากเพียร พยายามอย่างเต็มที่ จึงจะถึง (อันนี้ใครก็ทราบว่า พระนิพพาน คือการพ้นทุกข์ แต่พระสูตรนี้เน้นให้เห็นว่า พระนิพพานคือสภาวะ ที่หาความทุกข์ไม่ได้ สุขสำราญอยู่ทุกเมื่อ สภาวะนั้นเป็นอย่างไร จะได้แจงต่อไป)

ผู้ปรารถนาพระนิพพาน ต้องศึกษาให้รู้แจ้ง

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุคคลทั้งหลาย ผู้ปรารถนาพระนิพพาน ควรศึกษาให้รู้แจ้ง ครั้นรู้แจ้งแล้วจักถึงก็ตาม ไม่ถึงก็ตาม ก็ไม่เป็นทุกข์แก่ใจ ถ้าไม่รู้แต่อยากได้ ย่อมเป็นทุกข์มากนัก จะถือเสียว่าไม่รู้ก็ช่างเถอะ เราปรารถนาเอาคงจะได้ คิดอย่างนั้นก็ผิดไป ใช้ไม่ได้ แม้แต่ผู้รู้แล้ว ตั้งหน้าบากบั่น ขวนขวายจะให้ได้ให้ถึง ก็ยังเป็นการยากลำบากอย่างยิ่ง บุคคลผู้ไม่รู้ ไม่เห็นพระนิพพาน แล้วจะถึงพระนิพพาน จักมีมาแต่ที่ไหน อย่าว่าแต่พระนิพพานเลย แม้จะกระทำการสิ่งใดก็ดี เป็นต้นว่า ช่างเงิน ช่างทอง ช่างเหล็ก ช่างไม้ ช่างวาดเขียนต่างๆ เป็นต้น ต้องรู้ด้วยใจ หรือเห็นด้วยตาเสียก่อน จึงจะทำสิ่งนั้น ให้สำเร็จได้ ผู้ปรารถนาพระนิพพาน ก็ต้องศึกษา ให้รู้จักพระนิพพานไว้ก่อน จึงจะได้ จะมาตั้งหน้าปรารถนาเอา โดยความไม่รู้นั่น จะมีทางได้มาแต่ที่ไหน

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุคคลทั้งหลาย ควรจะศึกษาให้รู้แจ้ง คลองแห่งพระนิพพาน ไว้ให้ชัดเจนแล้วไม่ควรประมาท แม้ปรารถนาจะไปก็ไป แม้ไม่ปรารถนาจะไป ก็อย่าไป ครั้นเห็นดีแล้ว จิตประสงค์แล้ว ก็ให้ปฏิบัติในคลองแห่งพระนิพพาน ด้วยจิตอันเลื่อมใส ก็อาจจักสำเร็จ ไม่สำเร็จก็จักเป็น อุปนิสัยปัจจัยต่อไป ผู้ที่ไม่รู้ แม้ปรารถนาจะไปหรือไม่ไป อยู่ใกล้ที่นั้นบ่อยๆ ก็ไม่อาจถึง เพราะเข้าใจผิด คิดว่าอยู่ที่นั้นที่นี้ ก็เลยผิดไปจากจิตที่คิด หลงไปหลงมาอยู่ในวัฏสงสาร ไม่มีวันที่จะถึงพระนิพพานได้ (บทนี้แนะให้ทำความเข้าใจ กับพระนิพพานเสียแต่วันนี้ จะถึงหรือไม่ถึงไม่สำคัญ ถ้าทำความเห็นให้ถูก ให้ตรงเสียแล้ว อย่างไรต้องถึง สักวันหนึ่ง ถ้าไม่รู้หรือเห็นผิดเสียแล้ว จะต้องหลงอยู่ในสังสารวัฏ หาที่สุดมิได้)

ผู้ไม่รู้แจ้งในพระนิพพาน ไม่ควรสั่งสอนพระนิพพานแก่ผู้อื่น

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุคคลผู้ไม่รู้ ไม่แจ้ง ไม่เข้าใจในพระนิพพาน ไม่ควรจะ สั่งสอนพระนิพพาน แก่ท่านผู้อื่น ถ้าขืนสั่งสอน ก็จะพาท่านหลงหนทาง จักเป็นบาป เป็นกรรมแก่ตน (บทนี้แนะว่า ไม่รู้จริงอย่าไปสอนคนอื่น ผู้ที่ไม่รู้จริงเที่ยวสั่งสอนคนอื่น ถ้าพาให้คนอื่นไปหลง อยู่ในวัฏสงสารมากขึ้น โทษถึงขั้น โลกันตมหานรกเทียว อาตมาก็เคยสงสัยว่า พระที่มีมิจฉาทิฏฐินิดเดียว ไปเที่ยวสอนคนอื่น ทั้งที่ตัวเองไม่รู้จริง ทำไมโทษหนัก ถึงขั้นโลกันตมหานรก ทั้งที่ตัวท่านเอง ก็ปฏิบัติดี อยู่ในศีลในธรรม ดูไม่ค่อยยุติธรรม มาเข้าใจจากพระสูตรนี้เองว่า โทษมันเกิดเพราะ ไปทำให้ผู้อื่นหลงผิด ห่างไกลมรรคผลมากขึ้น โทษมันเลยหนัก ลำพังแค่ธรรมดาคน ก็มีแนวโน้มลงที่ต่ำอยู่แล้ว นี่ยิ่งไปทำให้เขาเห็นผิด ไปจากทำนองคลองธรรม มรรคผลนิพพานที่ว่ายากอยู่แล้ว ยิ่งยากขึ้นไปอีก และไม่ใช่ว่าจบชาติเดียว ถ้าคนนั้นแบกมิจฉาทิฏฐิต่อไป ก็จะข้ามภพข้ามชาติ เพิ่มพูนนิสัยมิรู้จบ ยิ่งทำเป็นหนังสือออกมา มีคนอ่านมาก แค่ทำให้คนคนเดียวหลงทางก็มีโทษมากแล้ว นี่ทำคนเป็นหมู่ เป็นคณะหลงผิด บรื๊อส์...จินตนาการไม่ออกเลย)

ผู้ปรารถนาพระนิพพาน ต้องแสวงหาครูที่ดี ที่รู้แจ้งพระนิพพานจริง

พระนิพพานไม่เหมือนของสิ่งอื่น อันของสิ่งอื่นนั้น เมื่อผิดไปแล้วก็มีทางแก้ตัวได้ หรือไม่สู้เป็นอะไรนัก เพราะไม่ละเอียดสุขุมมาก ส่วนพระนิพพานนี้ ละเอียดสุขุมที่สุด ถ้าผิดแล้ว ก็เป็นเหตุให้ได้รับทุกข์ เป็นหนักหนา ทำให้หลงโลก หลงทาง ห่างจากความสุข ทำให้เสียประโยชน์ เพราะอาจารย์ ถ้าได้อาจารย์ที่ถูกที่ดี ก็จะได้รับผลที่ถูกที่ดี ถ้าได้อาจารย์ที่ ไม่รู้ไม่ดีไม่ถูกต้อง ก็จักได้รับผลที่ผิด เป็นทุกข์ พาให้หลงโลกหลงทาง พาให้เวียนว่ายตายเกิด อยู่ในวัฏสงสารสิ้นกาลนาน

ผู้คบครูอาจารย์ที่ไม่รู้ดี และได้ผลที่ไม่ดี มีในโลกมิใช่น้อย เหมือนดังพระองคุลิมาลเถระ ไปเรียนวิชาในสำนักครู ผู้มีทิฏฐิอันผิด ได้รับผลที่ผิด คือเป็นมหาโจร ฆ่าคนล้มตายเสียนับด้วยพัน ถ้าไม่ได้พระตถาคตแล้ว พระองคุลิมาลก็จักได้เสวยทุกข์ อยู่ในวัฏสงสารสิ้นชาติเป็นอันมาก (บทนี้น่าจะนำกาลามสูตรมาใช้ครับว่า อย่าเชื่ออะไรง่าย ๆ ต้องพิสูจน์ให้เห็นผลเอง แล้วจึงเชื่อ ผู้ที่ไม่สามารถพิสูจน์ผลเองได้ ก็ต้องเฟ้นหาครูบาอาจารย์ ที่เชื่อถือได้จริง ๆ หวังร้ายต่อใครไม่เป็น เช่น พระอริยเจ้า เป็นต้น ทีนี้ก็ต้องศึกษาจริยา พระอริยเจ้ากันหน่อย เพราะท่านไม่ได้มีป้ายแขวนไว้ว่า ฉันเป็นพระอริยเจ้านะ ซ้ำยังมักเป็นที่ปิดบัง อีกต่างหาก)

ผู้รู้กับไม่รู้ ได้รับทุกข์เหมือนกัน หากทำบาป ส่วนผู้จะได้สุขในนิพพานต้องรู้เท่านั้น

อันทุกข์ในนรกนั้นจะรู้ก็ตาม ไม่รู้ก็ตาม ถ้าทำกรรมที่เป็นบาปแล้ว ผู้ที่รู้หรือผู้ที่ไม่รู้ ก็ตกนรกเหมือนกัน ผู้ที่ไม่รู้จักนรก ก็ยิ่งไม่มีเวลาพ้นจากนรกได้ ครั้นได้เข้าถึงนรกแล้ว เมื่อได้รู้ทางออกจากนรกได้แล้ว ปรารถนาจักพ้นจากนรก ก็พ้นได้ เมื่อไม่อยากพ้นก็ไม่อาจพ้นได้ ต้องรู้จักแจ้งชัดว่า นรกอยู่ในที่นั้นๆ มีลักษณะอาการอย่างนั้นๆ แลควรรู้จัก ทางออกจากนรกให้แจ้งชัด ทางออกจากนรกนั้นคือ ศีล ๕ ศีล ๑๐ ศีลปาติโมกข์ นั่นเอง ส่วนความสุขในมนุษย์ สวรรค์ และพระนิพพานนั้น ต้องรู้จักจึงจะได้

1_display2การรู้จักนรก สวรรค์ แลพระนิพพาน ควรรู้ในเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ เมื่ออยากรู้จักนรก สวรรค์ แลพระนิพพาน ก็ควรให้รู้เสียในเวลาก่อน ที่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่ออยากพ้นทุกข์ในนรก ก็รีบออกให้พ้นเสีย แต่เมื่อยังไม่ตาย อย่าเข้าใจว่าเมื่อมีชีวิตอยู่ สุขอย่างหนึ่ง เมื่อตายไปแล้ว มีสุขอีกอย่างหนึ่ง เช่นนี้เป็นความที่เข้าใจผิดโดยแท้ เพราะจิตมีดวงเดียว เมื่อมีชีวิตอยู่ก็จิตดวงนี้ เมื่อตายไปแล้วก็จิตดวงนี้ เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ได้รับทุกข์ฉันใด แม้เมื่อตายไปแล้ว ก็ได้รับทุกข์ฉันนั้น เมื่อยังมีชีวิตอยู่มีความสุขฉันใด แม้เมื่อตายไปแล้ว ก็ได้รับความสุขฉันนั้น (เรื่องราวของคนที่ตายแล้วฟื้น จะพูดเหมือนๆ กันว่า ไม่รู้ตัวว่าตัวเอง ตายไปแล้ว ความรู้สึกมันก็เหมือนกับ ตอนมีชีวิตอยู่ ฉะนั้นจะไปจินตนาการว่า ความสุขในสวรรค์นั้น เป็นแดนเกษม แตกต่างจากชีวิตมนุษย์ โดยสิ้นเชิงนั้น เป็นความเข้าใจผิด สุขมันสุขเพราะ ไม่มีร่างกายเท่านั้น ไม่มีร้อน ไม่มีหนาว ไม่มีเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่มีแก่ชรา ไม่มีหิว และความเป็นทิพย์ แต่ตัวความสุขแท้ๆนั้น แทบไม่ต่างกัน ลองสังเกตุดู เวลาที่เราได้ทำบุญอะไร ที่ถูกใจมากๆ เช่นบางคนชอบเด็ก ได้ไปเลี้ยงอาหารเด็กกำพร้า แล้วเกิดปีติ ลองดูใจของเรา ที่เป็นสุขในเวลานั้น ตายไปแล้ว ความสุขก็เป็นทำนองนั้น เหมือนกัน ฉะนั้นแล้วใครที่จมอยู่ในกองบาป ละเมิดศีลอยู่เป็นนิจ เมื่อตื่นนอนตอนเช้า ยังไม่ได้ทำการงานอะไรเลย ลองสังเกตุใจตัวเองดู ตื่นมาก็เศร้าหมองหดหู่เอง โดยไม่ต้องมีอะไรกระทบ นี่ก็อาจอนุมานได้ว่า คนคนนั้นจมอยู่ในนรก ตั้งแต่ยังมีชีวิต ครั้นเมื่อไปทำบุญ ทำทานรักษาศีลเหลาะๆ แหละๆ แค่ไม่กี่วัน นั่งสมาธิไม่กี่ชั่วโมง ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง ก็เหมาว่าการปฏิบัติไม่มีผล ยังทุกข์อยู่เหมือนเดิม ก็แสดงว่าเขา ยังไม่สามารถหลุดขึ้นมา จากนรกได้ หรือมีแนวโน้มจะตกนรกสูงนั่นเอง)

บุคคลที่ปรารถนาพ้นทุกข์ ได้สุขหรือพระนิพพาน ควรให้ได้เมื่อยังมีชีวิตอยู่

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุคคลทั้งหลายปรารถนาอยากพ้นทุกข์ หรือปรารถนาอยากได้สุขประเภทใด ก็ควรให้ได้ถึงเสียแต่ในชาตินี้ ถ้าถือเอาภายหน้าเป็นประมาณแล้ว ชื่อว่าเป็นคนหลงทั้งสิ้น แม้ความสุขอย่างสูง คือพระนิพพาน ผู้ปรารถนา ก็พึงรีบขวนขวายให้ได้ให้ถึงเสีย แต่เมื่อเป็นคนมีชีวิตอยู่นี้ อานันทะ ดูก่อนอานนท์ อันว่าความสุขในพระนิพพานนั้นมี ๒ ประเภท คือ ดิบ ๑ สุก ๑ ได้ความว่า เมื่อยังเป็นคนมีชีวิตอยู่ ได้เสวยสุขในพระนิพพานนั้น ได้ชื่อว่าพระนิพพานดิบ เมื่อตายไปแล้ว ได้เสวยสุขในพระนิพพานนั้น ได้ชื่อว่าพระนิพพานสุก พระนิพพานมี ๒ ประการเท่านี้ นิพพานโลกีย์ นิพพานพรหม เป็นนิพพานหลง ไม่นับเข้าไปในที่นี้ พระนิพพานดิบนั้น เป็นของสำคัญ ควรให้รู้ ให้เห็น ให้ได้ ให้ถึง เสียก่อนตาย ถ้าไม่ได้พระนิพพานดิบนี้แล้ว ตายไปจักได้พระนิพพานสุกนั้น ไม่มีเลย ยิ่งไม่รู้ไม่เข้าใจก็ยิ่งไม่มีทางได้ แต่รู้แล้ว เห็นแล้ว พยายามจะให้ได้ ให้ถึงก็แสนยาก แสนลำบากยิ่งนักหนา ผู้ใดเห็นว่าพระนิพพาน มีอย่างเดียว ตายแล้วจึงจะได้ ผู้นั้นชื่อว่าคนหลง

ทำตัวเราให้เหมือนแผ่นดิน หรือปล่อยวาง จึงได้ชื่อว่าถึงพระนิพพานดิบ

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ อันว่าพระนิพพานนั้น พึงให้ดูอย่างแผ่นดินพระธรณี มีลักษณะอาการฉันใด ก็ให้ตัวเรามีลักษณะอาการฉันนั้น ถ้าทำได้เช่นนั้น ก็ได้ชื่อว่าถึงพระนิพพานดิบ ถ้าทำไม่ได้ แต่พูดว่าอยากได้ จะพูดมากมายเท่าไร ๆ ก็ตาม ก็ไม่อาจที่จะได้จะถึงเลย ถ้าปรารถนาจักถึงพระนิพพานแล้ว ต้องทำจิตใจของตน ให้เหมือนแผ่นดินเสียก่อน ไม่ใช่เป็นของทำได้ด้วยง่าย ต้องพากเพียร ลำบากยากยิ่งนักจึงจักได้ จะเข้าใจว่า ปรารถนาเอาด้วยปากก็คงจักได้ อย่างนี้เป็นคนหลงไป ใช้ไม่ได้ ต้องทำตัวทำใจ ให้เป็นเหมือนแผ่นดินให้จงได้ ลักษณะของแผ่นดินนั้น คนแลสัตว์ทั้งหลาย จะทำร้ายทำดี กล่าวร้ายกล่าวดีประการใด มหาปฐพีนั้นก็มิได้รู้โกรธ รู้เคือง (เป็นการเริ่มอารัมภบท นิยามของพระนิพพาน ลักษณะอารมณ์ใจ ของผู้ถึงพระนิพพาน และการปฏิบัติ เพื่อให้เข้าถึงพระนิพพาน)

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons