วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2554

ตั้งเป้าหมายชีวิตให้ีดี แล้วจักมีแต่ความสุขby Dhammasarokikku

 

images4

มันก็เป็นแค่ a matter of time ดังสนั่นเหมือนลมตด ที่มาพร้อมกลิ่น แล้วก็หายไปในชั่วพริบตา ทิ้งไว้แต่ความหัวเสียว่า เอ็งไปกินหมาเน่ามาหรือไง กลิ่นถึงได้อัสโตโลหะขนาดนี้ (แน่นอนครับว่า คนโดนทำร้าย คงไม่รู้สึกว่า มันเป็นแค่เรื่องเล็กน้อย แต่จักชี้ให้เห็นครับว่า เราควรทำอย่างไรแล้วกิเลสย้อมใจไม่ได้)

คนเรามีปกติรู้เรื่องที่โกรธ ครับ แต่ไม่รู้ว่า "จิตกำลังโกรธ"

เพราะคนเรามักลืมกายลืมใจตัวเอง ไม่รู้สึกตัวว่า กำลังเลือดลมฉีดพล่าน หน้าแดง มือสั่น ไม่รู้ใจตัวเองว่า กำลังมีโทสะ อยากจักทำอะไรสักอย่างแก้แค้น ได้แต่พุ่งความสนใจไปยัง "เรื่องที่โกรธ" หรือ "คนที่เราโกรธ"

น่าอนาถใจไหม ครับ คนเรารักตัวเอง รักตัวตน รักร่างกายของเราที่สุด อย่างกรณีนี้ ก็เจ็บใจเพราะถูกลบหลู่ โกรธเพราะร่างกายเราเป็นแผล ถูกทำร้าย แต่เรากลับลืมกาย ลืมใจของตัวเองที่เรารักมากที่สุด

การระลึกได้ว่า จิตกำลังโกรธ เรียกว่า "สติ" ครับ การรู้ตัวว่า กำลังกำหมัดแน่น หน้าแดงก่ำ เรียกว่า "สัมปชัญญะ" คนเราเวลาโกรธ ก็หายหมดทั้งสติ และสัมปชัญญะ

ในคำตัดพ้อลงบล็อกนั้น ยังมีอารมณ์น้อยใจแฝงด้วยว่า เราไม่ได้รวยเหมือนเขา การปฏิบัติหน้าที่ของทางราชการ จึงมีการเลือกปฏิบัติ เหลื่อมล้ำกัน รู้ไปหมดว่า คนอื่นทำอย่างนี้ไม่แฟร์ ไม่ยุติธรรม คิดอย่างนี้ ใช้ไม่ได้ แต่ไม่รู้ใจตัวเองว่า "กำลังน้อยใจ"

นี่ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เป็นเรื่องธรรมดาของคนที่ไม่รู้ เพราะเรา "ไม่รู้" เราจึิงต้องเกิดมา เมื่อไหร่ "รู้" เราถึงจักไม่ต้องเกิด

ความ "ไม่รู้" เทคนิคอลเทอม เรียกว่า "อวิชชา"

วิธีแก้อวิชชา คือ การเจริญสติ เจริญปัญญา เจริญวิปัสสนา

การเจริญสติ คือ การฝึกรู้ตัวในชีวิตประจำวัน อย่าไปหาสติเอาตอนกำหมัดแน่น เตรียมปล่อยฮุคขวา แล้วตามด้วยอัปเปอร์คัทซ้ายเลย ครับ เวลานั้นหาอะไรไม่เจอแล้ว เลือดมันเข้าตา จักเอาเทคนิเคิลน็อคเอ้าท์กันท่าเดียว จักฝึกต้องฝึกตั้งแต่มันยังไม่โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ ขั้นแรก ต้องหาว่า เราเป็นคนอย่างไร หาอารมณ์ที่เกิดบ่อยในแต่ละวัน เช่น ถ้าเป็นคนขี้โกรธ เราก็คอยสังเกตอารมณ์หงุดหงิด ไม่พอใจ ของเรา อย่างข้าพเจ้าเอง ก็เป็นคนมักโกรธ เวลาที่ตัวเองหงุดหงิดที่สุด คือ เวลานั่งรถที่คนอื่นขับ ความไม่พอใจจักผุดขึ้นมาทุกวินาที เฮ้ย... คันหน้าแตะเบรคแล้ว ไมเอ็งยังไม่เบรค เฮ้ย... กฏหมายเขาห้ามคุยโทรศัพท์เวลาขับรถ ไมเอ็งยังทำอยู่ จักคุยนิดคุยหน่อยไม่ว่าหรอก แต่ก็น่าจักรู้ตัวบ้างว่า ตัวเองขับรถห่วยอยู่แล้ว ขับไปคุยไปยิ่งขับรถห่วยลงกว่าเดิมอีก เพราะแยกประสาทไม่ได้ เฮ้ย... ไมเอ็งต้องเร่งเครื่องแรง ๆ เบรคแรง ๆ ด้วย ฉะนั้นเวลานั่งรถที่คนอื่นขับ จักเป็นเวลาที่ข้าพเจ้าภาวนาได้ดีที่สุด เห็นข้างนอกเงียบ ๆ แต่ในใจความหงุดหงิดผุดขึ้นยุบยิบเลย ยิ่งเกิดถี่เท่าไหร่ จิตก็จำสภาวะได้เร็วขึ้นเท่านั้น

แต่อย่าไปเพ่งนะ ครับ เพ่งแล้วจักไม่เห็นอะไรเลย กลายเป็นนิ่ง ๆ ไปตลอด ต้องดูเล่น ๆ เผลอ ๆ บ้าง รู้ตัวบ้าง ไม่จำต้องรู้ชัด ไม่จำต้องรู้ทั้งหมด รู้เท่าที่รู้ได้ รู้แบบสบาย ๆ รู้แบบเป็นธรรมชาติ ไม่เคร่งเครียด ถ้ารู้สึกว่า เคร่งเครียด ทำผิดแล้ว ครับ

หรือเป็นคนอารมณ์ดี ยิ้มเก่ง ยิ้มได้ทุกเรื่อง บางทีก็อาจจักดูกายไป เมื่อไหร่ยิ้ม รู้สึกขึ้นมาเลยว่า ตอนนั้นกำลังอารมณ์ดี การฝึกเจริญสติ ไม่จำเป็นต้องรู้ทุกอารมณ์ รู้แค่คู่ใดคู่หนึ่งก็เพียงพอ เช่่น โลภ กับไม่โลภ, โกรธ กับไม่โกรธ, หลง กับไม่หลง, เผลอคิด กับมีสติ เป็นต้น

พอจิตจำสภาวะได้ เดี๋ยวมันเห็นอย่างอื่นเอง ครับ อย่างข้าพเจ้า ดูความโกรธอย่างเดียว แต่เดียวนี้ ยิ้มปุ๊บ ก็รู้ว่า กำลังพอใจทันที

เรื่องการเจริญสติ ก็เป็นเรื่องหนึ่ง หากอินทรีย์เรายังไม่แก่กล้า ใจเรายังไม่เข้มแข็ง สติไม่ว่องไวพอ ส่วนใหญ่เจอกระไรหนัก ๆ เข้า ก็เอาไม่อยู่ ครับ เช่นกรณีที่โดนคนขับรถเลว ๆ นิสัยเสียชนเอา เป็นต้น

แต่หากเป็นข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็มีวิธีรับมือกับความโกรธได้สาสมกัน นั่นคือ การตั้งเป้าหมายของชีวิต ครับ

หากข้าพเจ้า ตั้งเป้าหมายของชีวิตว่า ข้าพเจ้าจักต้องมีกระไร ๆ ที่เขามีกันในโลกนี้ ทุกคนต้องปฏิบัติกับข้าพเจ้า เช่นเดียวกับที่ข้าพเจ้าปฏิบัติกับคนอื่น (คนเรามักเอาตัวเองเป็นเกณฑ์ว่า ใครดี ใครเลว ถ้าเขาปฏิบัติตนดีกว่าเรา หรือเสมอเรา เราก็ให้ค่าว่า เขาเป็นคนดี ถ้าปฏิบัติตัวแย่กว่าเรา เราก็ให้ค่าว่า เขาเป็นคนเลว เป็นต้น) ถ้าไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ผิดไปจากความคาดหวัง เราก็เสียใจ เราก็โกรธ เช่น กรณีญาติของหมูแดงนี่ เราก็คาดหวังว่า เขาจักต้องเอ่ยคำขอโทษ เพราะถ้าเป็นเรา เราคงขอโทษไปแล้ว เป็นต้น

แต่หากเราตั้งเป้าหมายของชีวิตว่า ชีวิตนี้ไม่ขออะไรมาก ขออย่างเดียว "ขออย่าได้กลับมาเกิดอีก" ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต จักกลายเป็นข้อสอบวัดว่า เราควรค่าแก่การไม่เกิดหรือยัง?

การกวนตรีนของญาติน้องหมูแดง แทนที่จักเป็นเรื่องที่ทำให้หัวเสีย หงุดหงิดไปหลายวัน ก็กลายเป็นบททดสอบว่า เราละความโกรธได้มากน้อยแค่ไหน เรายังมีพยาบาทอยู่หรือไม่ เพราะการพยาบาท เป็นการจองเวร "อย่าให้ถึงทีกรูบ้างนะ" หรือ "อย่าให้กรูเกิดเป็นคนรวยมั่งก็แล้วไป" อย่างนี้มันก็คือ การอธิษฐาน "ขอให้กรูกลับมาเกิดอีก" โดยอ้อมนั่นเอง อย่างนี้ถือว่า สอบตกวิชา "ทำไงให้ไม่เกิด"

"เอาเหอะ... มรึงทำกรูได้ชาตินี้ชาติสุดท้ายแล้วแหละ ชาติหน้ากรูไม่ขอเกิดอีกแล้ว มรึงอยากเกิด ก็ตามใจมรึง กรูไ่ม่โกรธแล้ว เพราะถ้ากรูโกรธ กรูก็ต้องมาเกิดอีก กรรมชั่วที่มรึงทำกับกรู กรูไม่คิดอะไรมาก อโหสิกันไป หากกรูยังต้องเกิดอีกเพียงไร ขออย่าได้เจอกับมรึงอีก" อย่างนี้ ครับ การอธิษฐานให้ไม่เกิด

แต่คนเราก็มีปกติ อธิษฐานให้ตัวเองเกิดอีกตลอดเวลา ไปทำบุญ ก็ขอให้ชาติหน้ารวย ๆ สวย ๆ มีแฟนหล่อ ๆ มีรถเก๋งคันงาม มีบ้านหลังใหญ่ มีโน่นมีนี่เต็มไปหมด ปากก็พร่ำ ๆ ขอให้ข้าพเจ้าได้ถึงนิพพานในชาติปัจจุบัน แต่การกระทำ มันอธิษฐานให้กลับมาเกิดชัด ๆ ถ้าคนไม่อยากเกิดแล้ว จักอธิษฐานอย่างเดียวว่า ขอให้ข้าพเจ้ามีปัญญา จนสามารถตัดกิเลส เป็นสมุทเฉทปหาน (แปลว่าไรฟระ?... แปลว่า ตัดแบบถอนรากถอนโคน ตัดแล้วไม่กลับกำเริบอีก) ในชาติปัจจุบัน แค่นี้พอ ครับ

บางคนหนักกว่านั้นอีก ไปขอให้ตัวเองมีปัญญาเหมือนพระสารีบุตร มีฤทธิ์เหมือนพระโมคคัลลานะ มีลาภเหมือนพระสีวลี มี ๆ ๆ .... เหมือน ๆ ๆ .... บลา ๆ ๆ โหย...ถ้าได้ตามที่ขอนี่ ต้องเกิดอีกไม่รู้กี่ชาติเลย ศาสนาพุทธไม่มีการขอกระไรจากพระเจ้า ไม่ใช่อ้อนวอนแล้วจักได้มาด้วยอิทธิฤทธิ์ของใคร ไม่มีคำว่า ฟลุ๊ค ไม่มีเรื่องบังเอิญ การขอโน่นขอนี่ มันคือ อธิษฐานบารมี ของตัวเราเอง ครับ แรงอธิษฐาน หรือตั้งใจมั่น จักพาเราไปเกิดในที่ที่อำนวยต่อการตั้งจิตอย่างนั้น

เช่น การขอให้มีฤทธิ์เหมือนพระโมคคัลลานะ อาจพาให้เราไปเกิดในดินแดนที่เขาเล่นฤทธิ์กัน อาจไปเกิดในดงฤๅษี บำเพ็ญตบะไปเรื่อย โดยไม่รู้เลยว่า ทำไมตัวเองถึงมาเกิดในดงฤๅษีชีไพร ได้แต่ฝึกเล่นฤทธิ์ไปเรื่อย ๆ จนวันหนึ่ง มีฤทธิ์เหมือนพระโมคคัลลานะแล้ว แรงอธิษฐานก็หมดกำลัง ซึ่งต้องบำเพ็ญบารมีไปประมาณ ๑ อสงไขย บ้าไปเลย

ถ้าแถมขอให้มีปัญญาเหมือนพระสารีบุตรด้วย โอ้ย... หนักขึ้นไปอีก บำเพ็ญทางฤทธิ์ไม่พอ ต้องบำเพ็ญทางปัญญาด้วย ก็ลองผิดลองถูกกันไปไม่จบสิ้น สรุปบางทีอธิษฐานแบบนั้น ก็เลยได้ไปเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล ซึ่งถ้ายังไม่ได้รับการพยากรณ์นี่ นับเวลาไม่ได้เลยนะ ที่พระสมณโคดมพุทธเจ้าของเรา บำเพ็ญบารมีมา ๔ อสงไขย กับแสนมหากัปป์นี่ นับเฉพาะหลังจากได้รับการพยากรณ์แล้ว เท่านั้นนะ ก่อนหน้านั้นนับเวลาไม่ได้

ฉะนั้นแล้ว การอธิษฐาน จึงสำคัญอย่างยิ่งยวด จักหั่นชาติให้สั้นลง หรือจักต่อการเวียนเกิดให้ยาวขึ้น ก็ขึ้นกับตัวท่านเอง ถ้าตั้งเป้าหมายชีวิตให้สูงเสียแล้ว ประหนึ่งขึ้นต้นไม้ ก็เล็งไปที่ยอดไม้เลย ไม่ถึงก็ตกแปะลงมาที่กิ่งไม้ กิ่งใดกิ่งหนึ่ง แต่หากท่านหวังต่ำ ร่วงแป้กลงมา ถึงพื้นเลย เผลอ ๆ ก็หลุดลงอบาย ต่ำกว่าพื้นไปเสียอีก เช่น ชาตินี้ขอเอาแค่สวรรค์ ก็เอาแต่หมั่นทำบุญทำทาน รักษาศีลกระพร่องกระแพร่ง ไม่ปฏิบัติภาวนา ปากเอาแต่อธิษฐานว่า ขอให้ได้เข้านิพพานในชาติปัจจุบัน แต่ไม่ได้ใส่ใจศึกษา ปฏิบัติ อย่างนี้ก็หวังต่ำเกินไป อาจลงอบายได้ง่าย ๆ

ตั้งเป้าหมายไปที่ "ขอให้ไม่เกิด" กันเลย ครับ แล้วเรื่องกวนอารมณ์ทั้งหลาย ก็กลายเป็นแค่เรื่องสิว ๆ คนที่ตั้งความปรารถนาไปสู่พระนิพพาน จักไม่ยี่หระกับความเลวของผู้อื่น ครับ ความโกรธ มันก็มีอยู่เฉพาะในโลก พ้นโลกไป ความโกรธก็ไม่มี คนถูกโกรธก็ไม่มี ถ้าวันใดมันทนแทบไม่ไหว ก็ด่าตัวเองเข้าไป ครับ แค่นี้ยังทำไม่ได้ ละไม่ได้ นี่หรือ? จักเอานิพพาน แค่นี่หรือ? คนที่ไม่อยากมาเกิดอีก ไม่เห็นหรือว่า ทั้งหลายทั้งสิ้น มันเกิดแล้วก็ดับ โกด ๆ ๆ แล้วก็หายโกด เป็นอย่างนี้ทุกเรื่อง ถ้าที่สุด ทำอย่างไรก็เอาไม่อยู่ ก็คิดเสียว่า ก็เราเองนั่นแล เจือกโง่เกิดมาเอง ถ้าเลิกเกิดเสีย ก็ไม่ต้องมาเจอเรื่องกวนอวัยวะเบื้องต่ำทั้งหลายนี้ ฉะนั้นอย่าไปเกิดมันอีกเลยวะ

ถูกเขายั่วให้โกรธ ถูกเขาทำร้าย เราโกรธ เราเจ็บใจ ไปแก้แค้น ไปทำร้ายเขาคืน ก็ชื่อว่า เราขาดทุนชีวิต เพราะนั่นหมายถึงการต้องกลับมาเกิด เพิ่มขึ้นอีกหลายภพหลายชาติ (ดีไม่ดีอาจไปเกิดในนรก) ถ้าทำใจได้ ก็ชื่อว่า เท่าทุน แต่ถ้าถูกทำร้ายแล้ว เราเกิดปัญญา เห็นว่า ความโกรธไม่เห็นมีประโยชน์กระไรกับจิตใจ การให้อภัยนั่นแล เป็นสุขกว่า อย่างนี้ก็ใกล้นิพพานเข้าไปอีกนิด เรียกว่า ได้กำไรชีวิต เพราะจำนวนชาติที่ต้องเกิดลดลง การเวียนว่ายในสังสารวัฏหดสั้นเข้าไปทุกที

เขาทำร้ายได้แต่กายเนื้อของเรา ครับ เขาทำร้ายจิตใจของเราไม่ได้ เพราะคนที่ทำร้ายจิตใจ ก็คือตัวเราเอง ไปโกรธเอง ไปแค้นเอง ใครทั้งหลายในโลกที่มาข้องแวะยียวนกวนบาทาเรา ก็เหมือนคนขายตั๋วรถไฟ ครับ เขามายั่วให้เราโกรธ ถ้าเราหลงไปโกรธตาม เราก็เท่ากับซื้อตั๋วไปทัวร์นรก เขามายั่วให้โลภ เราไปโลภตาม ก็เหมือนซื้อตีตั๋วรถไฟไปเป็นเปรต เขามาชวนให้หลง เราไปหลงตาม ก็เฉกเช่นจองตั๋วไปเป็นสัตว์เดรัจฉาน แต่ถ้าเขามาเสนอขายตั๋วกิเลส แล้วเราไม่เอาสักอย่าง คืนคนขายไป เราก็ตีตั๋วไปนิพพาน ครับ ส่วนคนยั่วกิเลส เขาก็ต้องรับตั๋วที่เขาชี้ชวนผู้อื่นไว้ ไปนรก ไปเป็นเปรต ไปเป็นสัตว์เดรัจฉาน ตามที่เขายั่วไว้เอง

อย่าไปรับตั๋วยั่วยวนกันเลย ครับ

และแล้ว ความเลวร้ายของชีวิต ไม่ว่าจักหนักหนาสาหัสแค่ไหน ก็กลายเป็นแค่อีกบททดสอบอารมณ์ที่จักผ่านมา แล้วก็ผ่านไป

ตั้งเป้าหมายชีวิตให้ดี แล้วมาหัวร่อกับทุกวันของชีวิต ครับ ฮ่า ๆ ๆ แค่นี้เองเรอะ หนักกว่านี้มีอีกแมะ?... ฯ

ปล. คำอธิษฐานให้เป็นเหมือนอสีติสาวก เท่าที่ศึกษามา ดูแล้วเข้าท่า มีแต่พระอนุรุทธเท่านั้น พระอนุรุทธเกิดมา ไม่รู้จักคำว่า "ไม่มี" ครับ คราวหนึ่ง ขอขนมแม่ แล้วแม่ไม่มีให้ จึงบอกอนุรุทธกุมารว่า ขนมไม่มี อนุรุทธกุมาร ไม่เคยได้ยินคำว่า "ไม่มี" มาก่อน ก็บอกแม่ว่า เอา "ขนมไม่มี" มาก็ได้ แม่ก็รู้ทันทีว่า อนุรุทธกุมารไม่รู้จักคำว่า ไม่มี จักสอนลูกชายถึงคำว่า "ไม่มี" จึงส่งถาดขนมเปล่า ๆ ไปให้ ร้อนถึงเทวดา เพราะในอดีตอนุรุทธกุมารเคยอธิษฐานไว้ว่า ขอความไม่มี จงอย่ามีแก่ข้าพเจ้า หากเทวดาปล่อยให้อนุรุทธพบคำว่า "ไม่มี" ศรีษะเทวดาจักแตกเป็น ๗ เสี่ยง เลยต้องมาเนรมิตขนมใส่ถาดเปล่า อนุรุทธกุมารกินขนมแล้วชอบอกชอบใจ (ก็ขนมเทวดานี่) กลับไปต่อว่า หม่ามี๊ ทำไมไม่ทำมาตั้งนานแล้ว ไอ้ขนมไม่มีหน่ะ อร่อยอ่อก หม่อมแม่ก็งงเป็นไก่ตาเหล่
เพราะฉะนั้น เราก็อธิษฐานว่า หากแม้ยังไม่ถึงนิืพพานเพียงไร ขอความไม่มี จงอย่ามีแก่ข้าพเจ้า ถ้าเราพลาดไม่ถึงนิพพานในชาตินี้ ชาติต่อ ๆ ไปเราก็จักเป็นอย่างพระอนุรุทธ ดังนี้ ฯ

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons