มาพิสูจน์กันครับว่า พระไตรปิฎกน่าเบื่อหรือไม่
อนึ่ง การนำพระไตรปิฎกมาล้อเล่น เดี๋ยวข้าพเจ้าจะได้ไปนั่งแคะขี้มูกให้พระเทวทัต ข้างล่างนั่นก็แน่นเอียดแทบจะขี่คอกันอยู่แล้ว ต้องขอขมาพระรัตนตรัยไว้ก่อน
สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะเม ภันเต อุกาสะ ทวารัตตะเยนะ กะตัง สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะเม ภันเต อุกาสะ ขะมามิ ภันเต
ข้าพเจ้าไม่มีเจตนา จะปรามาสเรื่องราวใด ๆ ในพระไตรปิฎกเลยขอรับ เพียงแต่อยากนำมาเล่าสู่กันฟัง ในเวอร์ชั่นไม่ซีเรียสนัก ได้ข้อคิดนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ข้าพเจ้าขออนุญาต นำเรื่องในพระไตรปิฎกมาดัดแปลงชื่อตัวละครใหม่ แต่คงพล็อตเรื่องไว้ ใครใคร่เชื่อก็เชื่อครับ ใครใคร่อ่านเป็นนิทานก็ตามสบายครับ
กาลครั้งหนึ่งนานเน มเหสรรค์เหลือเกินแล้ว มีพระราชาอยู่ ๒ พระองค์ พระองค์หนึ่งอยู่ในแคว้นอัลลกัปปะ เรียกยาก ขอให้ชื่อว่า อัลปาก้า (เนื้อโลหะที่ใช้หล่อทำวัตถุมงคล) ละกัน อีกพระองค์หนึ่งอยู่ในแคว้นเวฏฐทีปกะ จำยาก ขอให้ชื่อว่า เวสลีย์ สไนป์ส (ดาราผิวสี คนหนึ่ง แสดงเรื่องเบลด) เป็นเพื่อนกัน เห็นผู้คนในแว่นแคว้น เกิด และตาย เป็นจำนวนมาก ก็ปรึกษากันว่า เอนี่...คนเรานี้หนอ...ตายแล้วก็เอาอะไรไปมิได้เลยสักอย่างเดียว เราจะครองทรัพย์ไปทำไมมากมาย ไปบวชกันดีกว่า ว่าแล้วทั้งสองก็สละพระราชสมบัติให้มเหสี ให้ราชบุตร ราชธิดา ออกบวชเป็นดาบส ตกลงกันว่า แม้บวชแล้ว ยังเสวนากัน ก็จะหาได้ความวิเวกไม่ เราแยกกันอยู่ที่ภูเขาคนละลูก ทุกกึ่งเดือนวันอุโบสถ ให้จุดไฟขึ้นในที่ของตน ก็จะทราบว่า อีกฝ่ายหนึ่งยังมีชีวิตอยู่หรือไม่
ครั้นบำเพ็ญสมณธรรมได้ชั่วเพลาหนึ่ง เวสลีย์ดาบส ก็มีอันต้องเท่งทึง ไปเกิดเป็นเทพ มีศักดาใหญ่ อัลปาก้าดาบสเล็งดูภูเขาที่สหายอยู่ เมื่อถึงกึ่งเดือน ไม่เห็นเปลวเพลิง ก็ทราบว่า เพื่อนเราคงซี้แหงแก๋ไปแล้ว ฝ่ายเทพเวสลีย์งง ๆ อยู่พักใหญ่ เอ๊ะ...เรามาเป็นเทพได้อย่างไรหนอ ครั้นกำหนดจิตดูแล้ว จึงทราบว่า อ้อ...เพราะเคยไปบำเพ็ญสมณธรรมกับเพื่อนเรานี่เอง เห็นจะต้องไปเยี่ยมอัลปาก้าดาบสเพื่อนเราสักหน่อย แล้วก็เนรมิตร่างเป็นชายหนุ่ม ทำเป็นหลงทาง แวะเข้าไปที่สำนักของอัลปาก้า เสวนากันจนได้ความว่า เพื่อนได้ไปเกิดเป็นเทพแล้ว เทพเวสลีย์ ก็ถามสารทุกข์สุกดิบ ดาบสเนื้ออัลปาก้า ก็แจ้งว่า พวกช้างมาทำให้เดือดร้อน พวกมันขี้เสร็จแล้ว ก็เอาเท้าคุ้ยฝุ่นขึ้นกลบ สร้างความลำบากแก่เราเป็นอันมาก ท่านเทพเทือกจึงให้พิณ ๓ สาย และมนต์ ๓ บทไว้ กล่าวว่า แม้ดีดพิณสายนี้ ร่ายมนต์บทนี้ เหล่าพญาช้างสารจะหนีไป ไม่แม้จะหันหลังมา เมื่อท่านดีดพิณสายนั้น ร่ายมนต์บทนั้น เหล่าช้างสารจะหันหน้ามา แต่ยังคงวิ่งหนีไป ส่วนสายพิณเส้นสุดท้าย และมนต์บทสุดท้าย ดีดแล้ว ร่ายแล้ว เหล่าพญาคชสารก็จะน้อมหลังเข้ามาอย่างว่าง่าย ท่านชอบใจอย่างไร พึงทำสิ่งนั้นเถิด ไหว้พระดาบสแล้ว ก็หลีกไป อัลปาก้าดาบสก็ดีดพิณ ร่ายมนต์ ให้ช้างหนีไป
ความเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้า *แม้ว่า ภาษา และเหตุการณ์ในคัมภีร์เก่าแก่ จะดูโบราณ ฟังดูเหมือนเทพนิยาย แต่ "เนื้อหา" หรือ "ธรรมะ" ในเรื่อง มักไม่ใช่สิ่งที่ล้าสมัย อย่างเรื่องคนตายแล้ว ไปเกิดเป็นเทพ ก็ยังคงสามารถนำมายืนยัน ความจริงของการเวียนว่ายตายเกิด ชาติก่อน ชาตินี้ ชาติหน้า ในวัฏสงสารได้ จริยาของเทพ หรือเทวดานั้น เมื่อแรกจะไม่ทราบว่า ตนมาเกิดเป็นเทพได้อย่างไร ต้องกำหนดจิตดู จึงจะทราบ ก็สามารถนำมาอ้างอิงได้ แม้พระที่ท่านได้ญาณวิเศษในยุคปัจจุบัน ถ้าต้องการทราบอะไรบางอย่าง บางทียังต้องกำหนดจิตดู อารมณ์ที่ "รู้" ขึ้นมานั้น จะคล้าย ๆ กับเวลาเราครุ่นคิดถึงเรื่องบางอย่างเป็นเวลานาน คิดเท่าไหร่ก็คิดไม่ออก จนจิตเป็นสมาธิ แล้วอยู่ ๆ ก็ปุ้งคำตอบขึ้นมาในสมองโดยไม่ต้องคิด หรือบางทีเกิดขึ้น เวลาจิตคลายออก จากการครุ่นคิดเรื่องนั้น ๆ เพียงแต่ของท่านผู้ได้ญาณวิเศษจะผุดขึ้นมาทันทีที่กำหนดจิต ซึ่งบางทีท่านก็ต้องทวนสอบ ถามเอาจากเทวดาซึ่งมีทิพยเนตร(ความสามารถปกติของเทวดา ที่สามารถรู้อะไรด้วยความเป็นทิพย์ ตามความเป็นจริง) เพื่อความไม่ประมาท เรื่องเหล่านี้มีมาในพระไตรปิฎก หลายต่อหลายตอน เช่น ตอนที่พระมหากัสสปะ ถูกพระอินทร์หลอก แปลงมาเป็นคนแก่ มาใส่บาตรท่าน ทั้งที่ท่านต้องการโปรดคนยากจน คนไม่ทราบความตรงนี้ จะงง ๆ ว่า ทำไมพระอรหันต์ที่ได้ปฏิสัมภิทาญาณ จึงถูกพระอินทร์หลอกได้ เป็นต้น คำตอบคือ ท่านไม่ได้กำหนดจิตดู จึงไม่ทราบว่า เป็นพระอินทร์แปลงกายมา และเป็นอีกเหตุผลหนึ่งว่า ทำไมพระพุทธเจ้าถึงตรัสสรุปรวบยอดคำสอนของพระองค์ ตลอด ๔๕ พรรษา ไว้ในประโยคเดียวว่า อัปปมาเทนะ สัมปาเทถะ ท่านทั้งหลาย จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม ท่านมิได้ยังประโยชน์ให้แก่สรรพสัตว์ทั้งหลายในอัตภาพที่มีกายเนื้อเท่านั้น แต่ยังประโยชน์ให้แก่สรรพสัตว์ที่ไม่มีกายเนื้อด้วย ทั้งนี้เป็นเพราะ แม้เมื่อคนเราตายลงแล้ว ไปเกิดเป็นเทวดา นางฟ้า แล้วมีความประมาท ไม่สืบทราบว่า ตนทำความดีอะไร ถึงได้มาเกิดเป็นเทวดา นางฟ้า และมีความชั่วอันใด ต้องชดใช้ เมื่อละอัตภาพนี้ไปแล้ว เฝ้าหลงระเริงไปกับความสุข สนุกสนานของความเป็นทิพย์ ครั้นหมดบุญก็จะร่วงแป้กลงมา ลงมาเป็นมนุษย์ก็ยังดี ส่วนใหญ่จะร่วงปุกลงนรกไปเลยนะซี ฉะนั้น คำว่า ไม่ประมาทนั้น มิใช่ไม่ประมาทแต่เพียงภพนี้เท่านั้น แม้ไปอยู่ภพอื่น ได้รับความสุขแล้ว ก็ยังคงต้องไม่ประมาทต่อไป ผู้ที่ไม่ต้องระวังแล้ว คือ พระอรหันต์ขีณาสพ เท่านั้น ส่วนผู้ที่ไม่เชื่อเรื่องราวเหล่านี้ เห็นเป็นเรื่องนิทาน ก็ขอให้มันเป็นนิทานต่อไป ไม่จำเป็นต้องมาใส่ใจกับความเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้า โดยส่วนตัวแล้ว ข้าพเจ้าเห็นว่า พระไตรปิฎก มีประวัติความเป็นมายาวนาน สมควรผิดเพี้ยนไปตามกาลเวลาก็จริง แต่ทุกสมัยแห่งการทำสังคายนา ชำระพระไตรปิฎกนั้น ก็กระทำด้วยจำนวนพระอริยสงฆ์มากมาย หากมีข้อผิดพลาดผิดเพี้ยนขึ้น ก็น่าจะถูกท้วงติงโดยพระอริยสงฆ์เหล่านั้น อีกทั้งพระไตรปิฎกก็มีเนื้อหามาก หากเนื้อความตอนหนึ่งผิด ก็จะไปขัดกับเนื้อความตอนอื่น โดยนัยนี้ พระไตรปิฎกจะตะกุกตะกัก อ่านแล้วลักลั่นกันเอง ไม่เรียบลื่นเช่นพระไตรปิฎกปัจจุบัน ฉะนั้นสำหรับข้าพเจ้า ตราบเท่าที่ความในพระไตรปิฎก ยังเรียบลื่นเสมอกัน ตลอด ๔๕ เล่ม ข้าพเจ้าก็จะยังนับถือ ให้ความเคารพว่า มีความถูกต้องเป็นส่วนใหญ่ หรือเกือบทั้งหมด*
สมัยนั้น ในกรุงโกสัมพี มีพระราชาชื่อ ปรันตปะ ออกเสียงยากอีกแล้ว ขอให้ชื่อว่า บาเครัตตะ (เสียงพูดของน้อง ผีน้อยคิวทาโร่ ที่พูดได้แค่ประโยคนี้ประโยคเดียว) วันหนึ่งพระเจ้าบาเครัตตะ หนุงหนิงอยู่กับ พระราชเทวีซึ่งตั้งครรภ์อยู่ นอกลานกว้าง เธอห่มผ้าคลุมไหล่ไฮโซด้วยผ้ากัมพลสีแดงจัด ยี่ห้อปราดา จีบปากจีบคอฉอเลาะคุยอยู่เพลิน ๆ ถอดเอาแหวนธำมรงค์ประดับฮาวาเอี่ยนบลูไดมอนด์ของพระสวามี ซึ่งได้มาตอนทำยอดขายสินค้าเอ็มแอลเอ็มยี่ห้อหนึ่งได้ทะลุเป้า มาใส่เล่นอยู่ นกหัสดีลิงค์*บินมาแต่หนใด ไม่มีใครทราบ เห็นอะไรแดง ๆ เบื้องล่าง นึกว่าเป็นชิ้นเนื้อ จึ่งร้อง "คว้าก ๆ" เตรียมโฉบลงตะครุบเหยื่อ พระเจ้าบาเครัตตะได้ยินเสียง "คว้าก ๆ" แล้วยังความตกใจกลัวตายเป็นล้นพ้น ลุกขึ้นเผ่นแผล่วเข้าพระราชนิเวศน์ไป พระราชเทวีตุ้ยนุ้ยมีพระครรภ์แก่ ก็ตาขาวเหมือนกัน รีบเสด็จตามพระราชสวามี แต่ด้วยความอุ้ยอ้ายเลยตามพระสวามีไม่ทัน นกยักษ์โฉบฉั๊วะ พาคุณนายกับผ้าแดงลอยละลิ่วไปในอากาศ กระนั้นพระนางก็ยังคงพระสติมั่น ไม่หวั่นแม้วันมามาก คิดว่า ถ้าขืนร้องโวยวายในตอนนี้ เจ้านกยักษ์นี่คงจะหวาดเสียงมนุษย์ เผลอคลายกรงเล็บออก เราคงได้เล่นเกม เทอร์มินอล เวโลซิตี้** ลงไปกระแทกพื้นเบื้องล่าง ถึงมรณภาพแน่ เพราะไม่มีสายร่มให้กระตุก เราพึงรอให้เจ้านกใหญ่นี่ไปพักที่ใดที่หนึ่ง ก่อนจับเรากิน แล้วค่อยโวยวายเว็บดีกว่า การณ์เป็นไปดังคาด เจ้านกตัวเขื่องบินได้พักหนึ่งก็ไปพักที่คาคบต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่ง วางเหยื่อลง แล้วหันมองทางที่ได้บินมา จังหวะนั้นเอง พระราชเทวีก็แผดเสียง ตะลึง ตะลึง ตะลึง ตึง ๆ ๆ ๆ นกโบราณพละกำลังขนาดช้าง ๕ เชือก ก็ต๊กกะใจโหมะเลย บินหนีไป
*นกหัสดีลิงค์ คงเป็นนกตัวหย่าญมั่ก ๆ น่าจะรูปร่างแบบนี้กระมัง
พราโนดอน บินหนีไปแล้ว พระนางก็พักผ่อนอิริยาบถอยู่ในคาคบต้นไทรนั้นเอง จะทำอย่างไรดีเล่าทีนี้ แม้จะปีนลง ก็กระทำไม่ได้ พอตกค่ำ ลมกัมมชวาตก็ปั่นป่วน (เจ็บท้องเตือน) เมฆฝนก็ตั้งเค้า คำรามอยู่ในทุกทิศ หลับมิลงแม้สักวินาที หาความสบายมิได้ จนรุ่งเช้า จึงคลอดบุตรเป็นชาย ให้นามว่า "อุเทน" โดยถือเอาฤดูเมฆ และฤดูอรุณของการประสูติ เป็นประมาณ
จบตอน ๑
by Dhammasarokikku