เหมือนฟ้าเป็นใจ ก่อนเข้าป่าห้วยขาแข้ง พระทั้งหลายเขาไปร่วมงานปริวาสกรรม เพื่อชำระศีลกันที่ วัดปากลำขาแข้ง อุโบสถวัดนี้แปลกดี หุ้มด้วยสแตนเลสทั้งหลัง ซึ่งเวลาออกปริวาส ก็มาบรรจบกับ เวลาการลาสมาทานธุดงค์ที่วัดท่าซุงพอดี ออกจากวัดท่าซุงแล้ว อาตมาจึงรีบไปสมทบ กับคณะพระเดินป่า จึงได้เดินรุกขมูลสมใจนึก ออกจากวัดท่าซุงวันที่ ๑๓ ธันวา โทรไปถามเขาว่า ออกปริวาสกันวันที่ ๑๕ ยังพอมีเวลา เลยแวะไปหาหลวงตาพวงก่อน ไปถึงอารามดีใจ ที่ไม่ได้เจอท่านเสียเกือบปี คุยกันนานสองนาน พอหมดเรื่องสารทุกข์สุกดิบ ก็เข้าเรื่องของการปฏิบัติ จากการเข้าปฏิบัติกรรมฐานที่วัดท่าซุง ก็เกิดความกังวลขึ้นว่า หลัง ๆ ไปชอบฟังธรรมะเสียเยอะ ฟังไม่เลือกสาย ไม่เลือกค่าย ถ้าเป็นธรรมะฟังได้หมด ฟังได้นาน ฟังไม่เบื่อ แต่พอให้นั่งสมาธินี่ ทำไมมันนั่งได้น้อยจัง นั่งแล้วทรมานด้วย นิ่งได้สัก ๑๐ นาที นานกว่านั้นมันฟุ้ง จนต้องเอาธรรมะขึ้นมาฟังต่อ อย่างนี้ฌานจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ทั้งที่สมัยบวชใหม่ ๆ นั่งสมาธิได้นานที่สุดถึง ๑ ชั่วโมง นี่ปฏิบัติไป มันถอยหลังลงคลองหรือเปล่า
ท่านก็แนะว่า ก็อารมณ์ใจ ที่ฟังธรรมะรู้เรื่องนั่นไม่ใช่สมาธิรึ สมาธิคือจิตตั้งมั่น ถ้าไม่มีสมาธิ มันฟังไม่รู้เรื่องหรอก ก็ยังสงสัยต่อไปอีกว่า ก็ในเมื่อยังฟังเสียงธรรมะรู้เรื่องนี่ อย่างเก่งมันก็ไปแค่ อุปจารฌาน หรือ ปฐมฌาน อย่างมากไม่เกิน ทุติยฌาน (ฌานที่สูงกว่านี้ มักจะฟังไม่รู้เรื่อง จะเอาแต่สงบท่าเดียว จนถึงขั้นหูไม่ได้ยินเสียงคือ จตุตถฌาน) ก็ในเมื่อ สังโยชน์ (สิ่งที่ต้องละ ๑๐ ประการเพื่อบรรลุเป็นพระอริยเจ้า) นั้นต้องละเสียซึ่ง รูปราคะอรูปราคะ - ความพอใจในอรูปฌาน (รูปฌานคือฌาน ๑-๔, อรูปฌานคือฌาน ๕-๘ รวมเรียกว่า สมาบัติ ๘) ซึ่งเป็นกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในใจ ถ้าไม่เคยได้ฌาน จะทราบได้อย่างไร ว่าไม่ติดฌาน ท่านก็วิสัชนาว่า ไอ้ฌานทั้งหลายนี่เวลาได้แล้ว เขาก็ต้องถอยออกมาที่ อุปจารสมาธิ มาพิจารณาจนเกิดปัญญา ไอ้ที่ว่าต้องได้ฌาน ๔ นี่ก็เพราะเวลาถอยออกมา จิตมีสภาวะ ปลอดกิเลส เนื่องมาจากกำลังของฌาน (ถอยออกจากฌานใหม่ ๆ กิเลสยังไม่ทันมีโอกาสแทรกได้) กิเลสมันถูกกดทับไว้หมด (อุปมาชีวิตประจำวันนี่ เหมือนการขับรถฝ่าฝน กิเลสเปรียบเหมือนฝน เหมือนโคลน ทำให้มองอะไรไม่เห็น การเจริญพระกรรมฐาน อย่างต่อเนื่อง เปรียบได้กับใช้ก้านปัดน้ำฝน แม้ไม่ใสปิ๊ง แต่ก็พอจะมองเห็นอะไรตามความเป็นจริง กำลังของฌาน ๔ เปรียบได้กับเอารถไปเข้าคาร์แคร์ ถอยออกจากคาร์แคร์มาใหม่ ๆ มันสดใสเห็นอะไร ๆ ชัดเจน แต่พอสักพัก ก็หมองเหมือนเดิม) ทีนี้อีตอนที่จิตมันว่างจากกิเลสนี่ ปัญญามันเกิดง่าย เขาเลยแนะนำให้ทำ แต่ตัวหลุดพ้นจริง เป็นตัวปัญญาที่เห็นความจริงในขันธ์ ๕ ว่ามันเป็น ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ที่เขาเรียกกันว่า วิปัสสนา ตรง วิปัสสนา นี่ไม่จำเป็นต้องทำให้ถึงฌาน ๔ และธรรมะของหลวงพ่อ แทบทั้งสิ้นก็จะลงท้ายด้วย วิปัสสนา เช่นนี้ถ้าเอาจริงเอาจัง ฟังไปเรื่อย ๆ แล้วคิดตาม ก็บรรลุได้เหมือนกัน ถ้าชอบปฏิบัติอย่างไหน ก็เอาอย่างนั้น ทำให้มาก ทำให้มันสุด ๆ ไปเลย - ความพอใจในรูปฌาน
โอ้โห.... เชื่อไหมว่าขนลุกวูบ ๆ หลายรอบ ไม่รู้ว่าใช่ ปีติ หรือเปล่า แต่ตอนนั้นมันบังเกิด ความมั่นใจในการปฏิบัติมาก สิ่งที่ท่านบอกมามันก็เหมือน ๆ กับที่ทราบมานั่นแหละ แต่พอท่านยืนยันแล้ว มันมั่นใจอย่างบอกไม่ถูก พอไปนั่งสมาธิ มันทำท่าจะเข้าฌานง่าย ๆ ซะงั้น มานั่งพิจารณาแล้วพบว่า นี่ละคือ ๑ ใน ๕ ทหารเสือ นิวรณธรรม (เครื่องกั้นจิตจากความดี) ที่ชื่อ “วิจิกิจฉา”หรือ “ความลังเล สงสัยในผล ของการปฏิบัติ” ฟังดูเผิน ๆ ก็นึกว่าเราไม่มี ก็ตอนนั่งสมาธิ มันสนใจอยู่แค่ลมหายใจ มันจะไปสงสัยอะไร ที่ไหนได้ไอ้ความสงสัยน ี่มันซ่อนอยู่ลึก ๆ ในใจ ทำให้ไม่มีความมั่นใจในการปฏิบัติ ผลก็ไม่เกิด พลางนึกถึงตอนที่พระพุทธเจ้า เสด็จไปโปรด เปสการีธิดา ในเมืองอาฬวี ในพระไตรปิฎกเขียนว่า พระองค์ทรงแผ่พระพุทธญาณไปในเวลาเช้า พบว่าเธอจะตายในบ่ายวันนี้ ถ้าตถาคตไม่ไปช่วย เธอจะมีคติไม่แน่นอน (อธิบายว่า คติไม่แน่นอนคือ มีที่ไปไม่แน่นอน) ถ้าตถาคตไปโปรด ตรัสถามปัญหาเธอ ๔ คำถาม สาธุการยืนยัน ๔ ครั้ง คติเธอถึงจะแน่นอน คือไปสวรรค์ ที่ว่าคติแน่นอน ก็คือความมั่นใจนี่เอง พระพุทธเจ้าสาธุการยืนยันว่า เธอคิดถูกแล้ว เธอคิดดีแล้ว จึงบังเกิดความมั่นใจ บรรลุ โสดาปัตติผล อีกประการหนึ่งก็คือ เราเรียนทฤษฎีมากไป พอปฏิบัติจริงไม่ได้อย่างในหนังสือ ก็เกิดความลังเลสงสัย ยิ่งมามั่นใจเพิ่มขึ้นอีก หลังจากได้ฟังเทป การฝึกอารมณ์ ให้เข้าถึงความเป็นพระอริยะแนว สุกขวิปัสสโก จากหลวงพ่อว่า แนว สุกขวิปัสสโก นั้นไม่เน้นฌาน ท่านจะอยู่กับอารมณ์คิดเสียเป็นส่วนใหญ่ คิดจนเกิดปัญญา หลุดพ้นด้วยปัญญาวิมุตติ ซึ่งตรงกับที่หลวงตาบอก ครั้นอยู่กับหลวงตาได้ ๒ วันก็ลาไปเข้าป่า
วันที่ ๑ หลังจากกบดาลอยู่ที่วัดปากลำขาแข้งอยู่หลายวัน เนื่องเพราะมีผู้ส่งข่าวมาว่า ทางเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เขาไม่อนุญาตให้พระเดินเข้าไปในป่า หากเขาไปพบเขาจะเชิญออกจากป่าแน่นอน คณะเดินป่าราว ๒๐ รูป จึงได้แต่นั่ง ๆ นอน ๆ ดูละครไปวัน ๆ อยู่ที่วัดปากลำฯ รอจนเจ้าหน้าที่ ป่าไม้ตายใจ จะได้ย่อง ๆ เข้าป่าไป พอเขาเผลอพวกเราคณะ ๘ (มี ๘ รูป) ก็ใช้วิชาตัวเบา เข้าป่าอย่างเงียบเชียบ ก่อนจะเข้าป่า คณะของอาตมาที่มาด้วยกัน ๔ รูป ได้ทราบกำลังใจของอีก ๔ รูปที่เพิ่งมาเจอกันที่วัดปากลำฯว่า เขาจะสมาทานธุดงค์กันอย่างเข้มข้น ไม่มีการแพ็คอาหารแห้งเข้าป่า (พระธุดงค์เขาไม่พกอาหารไปกัน) พวกเราเลยอาสา แบกอาหารแห้งไปเผื่อ (เลยหนักเป็น ๒ เท่า) เพื่อใส่บาตร ให้เขาได้อานิสงส์สมาทานธุดงค์ กันแบบเต็ม ๆ พวกเราจะยอมต้องอาบัติสะสมอาหารกันเอง การเดินในวันแรกก็เหน็ดเหนื่อยกันพอควร ด้วยสภาวะร่างกาย ยังไม่ปรับตัวเต็มที่ ให้รับกับการแบกสัมภาระ ซึ่งก็หนักพอดู อาตมาโชคดีที่ฝึกตน ด้วยการเดินบิณฑบาตตอนเช้าวันละ ๖-๗ กม.ทุกวัน ย่ามบิณฑบาต ก็หนักพอ ๆ กับสัมภาระนั่นแหละ เลยไม่ค่อยเหนื่อยเท่าไหร่ เมื่อการเดินกะแรก มาสิ้นสุดที่น้ำตกแห่งหนึ่ง (น้ำตกสูงประมาณ ๒.๕ เมตร มีน้ำไหลกระปริดกระปรอย) ก็ลงหลักปักฐานที่มั่น ก่อกองไฟเพื่อต้มน้ำสำหรับฉัน และหุงข้าวในวันรุ่งขึ้น ราวห้าโมงก็ ร่วมกันทำวัตรเย็น เป็นการเริ่มต้นที่งดงาม ชื่นใจเป็นที่สุด พอทำวัตรเสร็จ ก็มานั่งเสวนาธรรมกัน รอบกองไฟ
หนึ่งในสี่รูปที่จะสมาทานธุดงค์ก็เปิดประเด็นด้วยคำถามที่ว่า เราเข้ามาธุดงค์กันทำไม ไม่ได้มาเดินเอาเท่ เอาลาภ เอายศ เอาสรรเสริญ เรามาเดินธุดงค์กันเพื่อละ สักกายทิฏฐิ (สังโยชน์ตัวแรก) หรือความรู้สึกว่า เป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นของเรา เรามาตั้งใจปฏิบัติเพื่อความดีกัน ตามแนวที่พระพุทธองค์ ทรงสอนไว้ ว่าให้มีศีล สมาธิ ปัญญา เรามาปฏิบัติกันเพื่อมรรคผลนิพพาน และแนวการปฏิบัติเพื่อให้ บรรลุมรรคผล นั้นก็คือมรรคมีองค์ ๘ การที่พวกท่านแบกข้าวสารอาหารแห้งเข้ามาเดินธุดงค์นี่ท่านหวังอะไรกัน มรรคมีองค์ ๘ ข้อหนึ่งคือ สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพชอบ อาหารที่พกเข้ามาค้างคืนแล้วก็ขาดประเคน ฉันเข้าไป ก็ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกคำกลืน มันเป็นการเลี้ยงชีพชอบตรงไหน เมื่อมรรคไม่มี ผลมันจะเกิดได้อย่างไร อาหารที่ว่าพวกท่านจะใส่บาตรผมตอนเช้าหน่ะ ผมไม่เปิดบาตรรับนะ โดนหมัดชุดเข้าอย่างนี้ก็มึนไปเลย ด้วยวิสัยการแสดงธรรม ที่คล่องแคล่วแตกฉาน แสดงได้ตรงจุด ตรงประเด็นเช่นนี้ ก็ทราบได้เลยว่าพระรูปนี้ มิใช่ธรรมดา ซึ่งก็เปิดเผยให้ทราบ ในเพลาต่อมาว่า ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดถ้ำหมีนอน อ.แกลง จ.ระยอง ด้วยวัย ๓๐ กว่าๆ บวชมา ๑๐ กว่าพรรษาเท่านั้น การแสดงธรรมของท่าน ได้เร้าให้คณะเรา ๒ รูป ปลงใจสมาทานธุดงค์ กับเขาด้วย พรุ่งนี้เขาจะไป บิณฑบาตกับต้นไม้กัน (การสมาทานธุดงค์มีข้อหนึ่งคือ ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร) การสนทนายังดำเนินไปอย่างเผ็ดร้อน เร้าการปฏิบัติอย่างยิ่งว่า คนเราอดข้าว ๗ วันไม่ตายหรอก นี่เราเดินกันไม่เกิน ๗ วันก็ทะลุป่าแล้ว เจอฆราวาสให้เขาประเคน แค่นี้ศีลก็บริสุทธิ์แล้ว จะมามัวห่วงใยขันธ์ ๕ เกินไปทำไม ต้องทำให้เห็นว่า มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ถ้ายังยอมละเมิดศีล เพื่อรักษาชีวิตเช่นนี้ เมื่อไหร่ จะได้มรรคได้ผลเล่า มันต้องยอมตายดีกว่าศีลขาดซี จึงจะตรงตามที่ ครูบาอาจารย์สั่งสอนมา ท่านพูดจน อาตมาเคลิ้มคิดว่า ถ้าพรุ่งนี้เขาบิณฑบาตกับต้นไม้กันหมด อาตมาก็จะเอากับเขาด้วย
อย่างไรก็ตามหลวงพี่เอ (สหธรรมมิกของอาตมาเมื่อปีกลาย) ผู้คล้ายเป็นผู้นำในการเดินป่าครั้งนี้ เพราะเคยมาเดินแล้ว กลับแสดงความเด็ดเดี่ยวออกมาว่า อย่างไรก็จะฉันแม้จะต้องอาบัติ ไว้เมื่อท่านออกเดินรูปเดียวแล้ว ถึงจะสมาทาน ปฏิบัติตามที่พระอาจารย์แนะนำ ซึ่งอาตมาทราบมาว่าหลวงพี่เอนี้ ก็ฝึกสมถะมาอย่างโหดเหมือนกัน เรื่องการอดข้าว ๗ วัน นี่เป็นเรื่องเด็ก ๆ เบเบ๋สำหรับท่าน ก็ไม่ทราบด้วยเหตุผลกลใด ท่านถึงไม่ร่วมการปฏิบัติอันเข้มข้นนี้ จะเป็นด้วยท่านตั้งใจจะบริโภค เพื่อฉลองศรัทธาญาติโยม ที่เขาถวายข้าวสารอาหารแห้งมา หรือจะเป็นด้วยท่านเห็นถึง ความยากลำบากของหนทางข้างหน้า ก็สุดจะทราบ ทราบแต่ว่าอาตมาก็จะฉันเป็นเพื่อนท่าน เพราะแต่แรกก็ตั้งใจมาดูลาดเลาเท่านั้น หลวงพี่เอจะได้ไม่ต้องอาบัติอย่างเหงาหงอยเพียงรูปเดียว (เฮ้อ... ข้ออ้างฟังเข้าท่าไหม จริง ๆ แล้วก็เลวอยู่ดี จงใจต้องอาบัตินี่หลวงพ่อเรียกว่า ใจด้าน เลวกว่าหน้าด้านอีก)
ขณะกำลังเสวนากันเรื่องจิตตานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน (การฝึกสติโดยการรู้จิต เป็นอารมณ์) พลันก็มีเสียงแมวใหญ่ร้องอยู่ใกล้ ๆ แว่วมาในความมืด พร้อมกับมีบางคนสังเกตเห็นมีอะไรบางอย่าง วิ่งไปมาใกล้กับสถานที่ที่เรานั่งคุยกัน ไม่มีใครกล้าทักว่านั่นเสียงอะไร อาตมารีบเช็คใจตนเอง (เพราะตรงกับเรื่องที่กำลังคุยกัน) ปรากฏว่ามันแสดงอาการกลัวอย่างเห็นได้ชัด นี่แหละน้าคนเรา เวลาไม่เจอของจริง ก็ปากกล้าว่าข้านี้ไม่กลัวตาย พอเจอของจริงก็ขี้หดขึ้นไปอยู่บนสมอง เวลาเดินออกจากกลุ่ม ไปชิ้งฉ่อง ก็ต้องสาดไฟฉายออกไปอย่างหวาด ๆ ปลดทุกข์อย่างรีบ ๆ ร้อน ๆ การเสวนาธรรมดำเนินไปจนถึงตี ๑ มีเรื่องราวต่าง ๆ น่าสนใจมากมาย จะนำมาบันทึกไว้ที่นี่ ก็สงสัยจะหลายหน้า จะละไว้ก่อนมีเรื่องที่อาตมา เก็บเอามาอเมซซิ่งส่วนตัว ก็คือ พระอาจารย์ที่ดังตฤณไปกราบ ในหนังสือ ๗ เดือนบรรลุธรรมนั้น แท้จริงคือ พระอาจารย์ ปราโมทย์ ปราโมชฺ โช แห่งสวนป่าสันติธรรม อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี นี่เอง อุบาสกนิรนาม สันตินันทอุบาสก อ.ปราโมทย์ คือคนคนเดียวกัน ได้ทราบถึงระดับมรรคผลที่ท่านได้ และประวัติการปฏิบัติ ของท่านอีกเล็กน้อย คือก่อนหลวงปู่ดูลย์ละสังขาร ท่านแนะว่าพยายามทำให้จบเสียแต่ในชาตินี้เลย ถ้าท่านมรณภาพไปแล้ว ให้ไปหา อ.มนตรี และเรียนรู้จริยาพระป่า จากหลวงตามหาบัว และใกล้ ๆ สำนักท่านยังมี หลวงพ่อธีอีกรูปหนึ่ง ที่น่าไปกราบ(ได้ยินว่าสอนเกี่ยวกับหลักอนัตตา) เคยได้ยินหลวงพ่อปรารภว่า การทำสังฆทาน หรือทอดกฐิน มีอานิสงส์มาก แม้อำนาจพระพุทธญาณ ยังไม่อาจเห็นที่สุดของผลบุญ ส่วนใหญ่ไม่ทันได้รับผลานิสงส์ครบถ้วน ก็เข้าพระนิพพานไปก่อน มาคราวนี้ได้ยินอีกด้านของเหรียญนั่นคือ “มิจฉาทิฏฐิ” (ความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม) เป็นภัยร้ายแรงที่สุดในสังสารวัฏ แม้อำนาจพระพุทธญาณ ก็ยังไม่อาจเห็นเวลาสิ้นสุดที่เขาจะพ้นทุกข์ ประการสุดท้ายคือการประทุษร้ายผู้ไม่คิดประทุษร้ายตอบมีโทษมาก เช่น การประทุษร้ายพระอริยเจ้า บิดามารดา หรือผู้มีพระคุณ เป็นต้น
อีกไม่กี่ชั่วโมงก็จะเช้าแล้ว พระอาจารย์ก็จุดประกายการถือธุดงควัตรข้อ เนสัชชิฯ (ถือการนั่งเป็นวัตร) ขึ้นมาคุย เห็นว่าอีกไม่กี่ชั่วโมงก็เช้าแล้วอาตมาเลยนั่งเติมไฟสมาทานกับเขาคืนหนึ่ง