(คัดย่อมาเฉพาะที่เห็นว่า เป็นประโยชน์ และพอจะแสดงความเห็นได้)
การถึงพระนิพพาน คือการพ้นทุกข์
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุคคลทั้งหลายถึงที่สุดโลก ออกจากโลกได้แล้ว จึงชื่อว่า ถึงพระนิพพาน แลรู้ตน ว่าเป็นผู้พ้นทุกข์แล้ว แลอยู่สุขสำราญบานใจทุกเมื่อ หาความเร่าร้อนโศกเศร้าเสียใจมิได้ บุคคลทั้งหลาย เป็นผู้ต้องการพระนิพพาน แต่หารู้ไม่ว่า พระนิพพานนั้นเป็นอย่างไร อยู่ที่ไหน แม้ทาน ศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นทางจะไป สู่พระนิพพานก็ไม่เข้าใจ เมื่อไม่รู้ ไม่เห็น ไม่เข้าใจแล้ว จักไปสู่พระนิพพานนั้น ก็เป็นการลำบากยิ่งนักหนา ผู้ศึกษาพึงเข้าใจว่า พระนิพพานอยู่ที่สุดของโลก ศีล สมาธิ ปัญญาเป็นทางไปพระนิพพาน แม้เมื่อรู้แล้วอย่างนั้น ก็จำต้องพากเพียร พยายามอย่างเต็มที่ จึงจะถึง (อันนี้ใครก็ทราบว่า พระนิพพาน คือการพ้นทุกข์ แต่พระสูตรนี้เน้นให้เห็นว่า พระนิพพานคือสภาวะ ที่หาความทุกข์ไม่ได้ สุขสำราญอยู่ทุกเมื่อ สภาวะนั้นเป็นอย่างไร จะได้แจงต่อไป)
ผู้ปรารถนาพระนิพพาน ต้องศึกษาให้รู้แจ้ง
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุคคลทั้งหลาย ผู้ปรารถนาพระนิพพาน ควรศึกษาให้รู้แจ้ง ครั้นรู้แจ้งแล้วจักถึงก็ตาม ไม่ถึงก็ตาม ก็ไม่เป็นทุกข์แก่ใจ ถ้าไม่รู้แต่อยากได้ ย่อมเป็นทุกข์มากนัก จะถือเสียว่าไม่รู้ก็ช่างเถอะ เราปรารถนาเอาคงจะได้ คิดอย่างนั้นก็ผิดไป ใช้ไม่ได้ แม้แต่ผู้รู้แล้ว ตั้งหน้าบากบั่น ขวนขวายจะให้ได้ให้ถึง ก็ยังเป็นการยากลำบากอย่างยิ่ง บุคคลผู้ไม่รู้ ไม่เห็นพระนิพพาน แล้วจะถึงพระนิพพาน จักมีมาแต่ที่ไหน อย่าว่าแต่พระนิพพานเลย แม้จะกระทำการสิ่งใดก็ดี เป็นต้นว่า ช่างเงิน ช่างทอง ช่างเหล็ก ช่างไม้ ช่างวาดเขียนต่างๆ เป็นต้น ต้องรู้ด้วยใจ หรือเห็นด้วยตาเสียก่อน จึงจะทำสิ่งนั้น ให้สำเร็จได้ ผู้ปรารถนาพระนิพพาน ก็ต้องศึกษา ให้รู้จักพระนิพพานไว้ก่อน จึงจะได้ จะมาตั้งหน้าปรารถนาเอา โดยความไม่รู้นั่น จะมีทางได้มาแต่ที่ไหน
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุคคลทั้งหลาย ควรจะศึกษาให้รู้แจ้ง คลองแห่งพระนิพพาน ไว้ให้ชัดเจนแล้วไม่ควรประมาท แม้ปรารถนาจะไปก็ไป แม้ไม่ปรารถนาจะไป ก็อย่าไป ครั้นเห็นดีแล้ว จิตประสงค์แล้ว ก็ให้ปฏิบัติในคลองแห่งพระนิพพาน ด้วยจิตอันเลื่อมใส ก็อาจจักสำเร็จ ไม่สำเร็จก็จักเป็น อุปนิสัยปัจจัยต่อไป ผู้ที่ไม่รู้ แม้ปรารถนาจะไปหรือไม่ไป อยู่ใกล้ที่นั้นบ่อยๆ ก็ไม่อาจถึง เพราะเข้าใจผิด คิดว่าอยู่ที่นั้นที่นี้ ก็เลยผิดไปจากจิตที่คิด หลงไปหลงมาอยู่ในวัฏสงสาร ไม่มีวันที่จะถึงพระนิพพานได้ (บทนี้แนะให้ทำความเข้าใจ กับพระนิพพานเสียแต่วันนี้ จะถึงหรือไม่ถึงไม่สำคัญ ถ้าทำความเห็นให้ถูก ให้ตรงเสียแล้ว อย่างไรต้องถึง สักวันหนึ่ง ถ้าไม่รู้หรือเห็นผิดเสียแล้ว จะต้องหลงอยู่ในสังสารวัฏ หาที่สุดมิได้)
ผู้ไม่รู้แจ้งในพระนิพพาน ไม่ควรสั่งสอนพระนิพพานแก่ผู้อื่น
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุคคลผู้ไม่รู้ ไม่แจ้ง ไม่เข้าใจในพระนิพพาน ไม่ควรจะ สั่งสอนพระนิพพาน แก่ท่านผู้อื่น ถ้าขืนสั่งสอน ก็จะพาท่านหลงหนทาง จักเป็นบาป เป็นกรรมแก่ตน (บทนี้แนะว่า ไม่รู้จริงอย่าไปสอนคนอื่น ผู้ที่ไม่รู้จริงเที่ยวสั่งสอนคนอื่น ถ้าพาให้คนอื่นไปหลง อยู่ในวัฏสงสารมากขึ้น โทษถึงขั้น โลกันตมหานรกเทียว อาตมาก็เคยสงสัยว่า พระที่มีมิจฉาทิฏฐินิดเดียว ไปเที่ยวสอนคนอื่น ทั้งที่ตัวเองไม่รู้จริง ทำไมโทษหนัก ถึงขั้นโลกันตมหานรก ทั้งที่ตัวท่านเอง ก็ปฏิบัติดี อยู่ในศีลในธรรม ดูไม่ค่อยยุติธรรม มาเข้าใจจากพระสูตรนี้เองว่า โทษมันเกิดเพราะ ไปทำให้ผู้อื่นหลงผิด ห่างไกลมรรคผลมากขึ้น โทษมันเลยหนัก ลำพังแค่ธรรมดาคน ก็มีแนวโน้มลงที่ต่ำอยู่แล้ว นี่ยิ่งไปทำให้เขาเห็นผิด ไปจากทำนองคลองธรรม มรรคผลนิพพานที่ว่ายากอยู่แล้ว ยิ่งยากขึ้นไปอีก และไม่ใช่ว่าจบชาติเดียว ถ้าคนนั้นแบกมิจฉาทิฏฐิต่อไป ก็จะข้ามภพข้ามชาติ เพิ่มพูนนิสัยมิรู้จบ ยิ่งทำเป็นหนังสือออกมา มีคนอ่านมาก แค่ทำให้คนคนเดียวหลงทางก็มีโทษมากแล้ว นี่ทำคนเป็นหมู่ เป็นคณะหลงผิด บรื๊อส์...จินตนาการไม่ออกเลย)
ผู้ปรารถนาพระนิพพาน ต้องแสวงหาครูที่ดี ที่รู้แจ้งพระนิพพานจริง
พระนิพพานไม่เหมือนของสิ่งอื่น อันของสิ่งอื่นนั้น เมื่อผิดไปแล้วก็มีทางแก้ตัวได้ หรือไม่สู้เป็นอะไรนัก เพราะไม่ละเอียดสุขุมมาก ส่วนพระนิพพานนี้ ละเอียดสุขุมที่สุด ถ้าผิดแล้ว ก็เป็นเหตุให้ได้รับทุกข์ เป็นหนักหนา ทำให้หลงโลก หลงทาง ห่างจากความสุข ทำให้เสียประโยชน์ เพราะอาจารย์ ถ้าได้อาจารย์ที่ถูกที่ดี ก็จะได้รับผลที่ถูกที่ดี ถ้าได้อาจารย์ที่ ไม่รู้ไม่ดีไม่ถูกต้อง ก็จักได้รับผลที่ผิด เป็นทุกข์ พาให้หลงโลกหลงทาง พาให้เวียนว่ายตายเกิด อยู่ในวัฏสงสารสิ้นกาลนาน
ผู้คบครูอาจารย์ที่ไม่รู้ดี และได้ผลที่ไม่ดี มีในโลกมิใช่น้อย เหมือนดังพระองคุลิมาลเถระ ไปเรียนวิชาในสำนักครู ผู้มีทิฏฐิอันผิด ได้รับผลที่ผิด คือเป็นมหาโจร ฆ่าคนล้มตายเสียนับด้วยพัน ถ้าไม่ได้พระตถาคตแล้ว พระองคุลิมาลก็จักได้เสวยทุกข์ อยู่ในวัฏสงสารสิ้นชาติเป็นอันมาก (บทนี้น่าจะนำกาลามสูตรมาใช้ครับว่า อย่าเชื่ออะไรง่าย ๆ ต้องพิสูจน์ให้เห็นผลเอง แล้วจึงเชื่อ ผู้ที่ไม่สามารถพิสูจน์ผลเองได้ ก็ต้องเฟ้นหาครูบาอาจารย์ ที่เชื่อถือได้จริง ๆ หวังร้ายต่อใครไม่เป็น เช่น พระอริยเจ้า เป็นต้น ทีนี้ก็ต้องศึกษาจริยา พระอริยเจ้ากันหน่อย เพราะท่านไม่ได้มีป้ายแขวนไว้ว่า ฉันเป็นพระอริยเจ้านะ ซ้ำยังมักเป็นที่ปิดบัง อีกต่างหาก)
ผู้รู้กับไม่รู้ ได้รับทุกข์เหมือนกัน หากทำบาป ส่วนผู้จะได้สุขในนิพพานต้องรู้เท่านั้น
อันทุกข์ในนรกนั้นจะรู้ก็ตาม ไม่รู้ก็ตาม ถ้าทำกรรมที่เป็นบาปแล้ว ผู้ที่รู้หรือผู้ที่ไม่รู้ ก็ตกนรกเหมือนกัน ผู้ที่ไม่รู้จักนรก ก็ยิ่งไม่มีเวลาพ้นจากนรกได้ ครั้นได้เข้าถึงนรกแล้ว เมื่อได้รู้ทางออกจากนรกได้แล้ว ปรารถนาจักพ้นจากนรก ก็พ้นได้ เมื่อไม่อยากพ้นก็ไม่อาจพ้นได้ ต้องรู้จักแจ้งชัดว่า นรกอยู่ในที่นั้นๆ มีลักษณะอาการอย่างนั้นๆ แลควรรู้จัก ทางออกจากนรกให้แจ้งชัด ทางออกจากนรกนั้นคือ ศีล ๕ ศีล ๑๐ ศีลปาติโมกข์ นั่นเอง ส่วนความสุขในมนุษย์ สวรรค์ และพระนิพพานนั้น ต้องรู้จักจึงจะได้
การรู้จักนรก สวรรค์ แลพระนิพพาน ควรรู้ในเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ เมื่ออยากรู้จักนรก สวรรค์ แลพระนิพพาน ก็ควรให้รู้เสียในเวลาก่อน ที่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่ออยากพ้นทุกข์ในนรก ก็รีบออกให้พ้นเสีย แต่เมื่อยังไม่ตาย อย่าเข้าใจว่าเมื่อมีชีวิตอยู่ สุขอย่างหนึ่ง เมื่อตายไปแล้ว มีสุขอีกอย่างหนึ่ง เช่นนี้เป็นความที่เข้าใจผิดโดยแท้ เพราะจิตมีดวงเดียว เมื่อมีชีวิตอยู่ก็จิตดวงนี้ เมื่อตายไปแล้วก็จิตดวงนี้ เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ได้รับทุกข์ฉันใด แม้เมื่อตายไปแล้ว ก็ได้รับทุกข์ฉันนั้น เมื่อยังมีชีวิตอยู่มีความสุขฉันใด แม้เมื่อตายไปแล้ว ก็ได้รับความสุขฉันนั้น (เรื่องราวของคนที่ตายแล้วฟื้น จะพูดเหมือนๆ กันว่า ไม่รู้ตัวว่าตัวเอง ตายไปแล้ว ความรู้สึกมันก็เหมือนกับ ตอนมีชีวิตอยู่ ฉะนั้นจะไปจินตนาการว่า ความสุขในสวรรค์นั้น เป็นแดนเกษม แตกต่างจากชีวิตมนุษย์ โดยสิ้นเชิงนั้น เป็นความเข้าใจผิด สุขมันสุขเพราะ ไม่มีร่างกายเท่านั้น ไม่มีร้อน ไม่มีหนาว ไม่มีเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่มีแก่ชรา ไม่มีหิว และความเป็นทิพย์ แต่ตัวความสุขแท้ๆนั้น แทบไม่ต่างกัน ลองสังเกตุดู เวลาที่เราได้ทำบุญอะไร ที่ถูกใจมากๆ เช่นบางคนชอบเด็ก ได้ไปเลี้ยงอาหารเด็กกำพร้า แล้วเกิดปีติ ลองดูใจของเรา ที่เป็นสุขในเวลานั้น ตายไปแล้ว ความสุขก็เป็นทำนองนั้น เหมือนกัน ฉะนั้นแล้วใครที่จมอยู่ในกองบาป ละเมิดศีลอยู่เป็นนิจ เมื่อตื่นนอนตอนเช้า ยังไม่ได้ทำการงานอะไรเลย ลองสังเกตุใจตัวเองดู ตื่นมาก็เศร้าหมองหดหู่เอง โดยไม่ต้องมีอะไรกระทบ นี่ก็อาจอนุมานได้ว่า คนคนนั้นจมอยู่ในนรก ตั้งแต่ยังมีชีวิต ครั้นเมื่อไปทำบุญ ทำทานรักษาศีลเหลาะๆ แหละๆ แค่ไม่กี่วัน นั่งสมาธิไม่กี่ชั่วโมง ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง ก็เหมาว่าการปฏิบัติไม่มีผล ยังทุกข์อยู่เหมือนเดิม ก็แสดงว่าเขา ยังไม่สามารถหลุดขึ้นมา จากนรกได้ หรือมีแนวโน้มจะตกนรกสูงนั่นเอง)
บุคคลที่ปรารถนาพ้นทุกข์ ได้สุขหรือพระนิพพาน ควรให้ได้เมื่อยังมีชีวิตอยู่
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุคคลทั้งหลายปรารถนาอยากพ้นทุกข์ หรือปรารถนาอยากได้สุขประเภทใด ก็ควรให้ได้ถึงเสียแต่ในชาตินี้ ถ้าถือเอาภายหน้าเป็นประมาณแล้ว ชื่อว่าเป็นคนหลงทั้งสิ้น แม้ความสุขอย่างสูง คือพระนิพพาน ผู้ปรารถนา ก็พึงรีบขวนขวายให้ได้ให้ถึงเสีย แต่เมื่อเป็นคนมีชีวิตอยู่นี้ อานันทะ ดูก่อนอานนท์ อันว่าความสุขในพระนิพพานนั้นมี ๒ ประเภท คือ ดิบ ๑ สุก ๑ ได้ความว่า เมื่อยังเป็นคนมีชีวิตอยู่ ได้เสวยสุขในพระนิพพานนั้น ได้ชื่อว่าพระนิพพานดิบ เมื่อตายไปแล้ว ได้เสวยสุขในพระนิพพานนั้น ได้ชื่อว่าพระนิพพานสุก พระนิพพานมี ๒ ประการเท่านี้ นิพพานโลกีย์ นิพพานพรหม เป็นนิพพานหลง ไม่นับเข้าไปในที่นี้ พระนิพพานดิบนั้น เป็นของสำคัญ ควรให้รู้ ให้เห็น ให้ได้ ให้ถึง เสียก่อนตาย ถ้าไม่ได้พระนิพพานดิบนี้แล้ว ตายไปจักได้พระนิพพานสุกนั้น ไม่มีเลย ยิ่งไม่รู้ไม่เข้าใจก็ยิ่งไม่มีทางได้ แต่รู้แล้ว เห็นแล้ว พยายามจะให้ได้ ให้ถึงก็แสนยาก แสนลำบากยิ่งนักหนา ผู้ใดเห็นว่าพระนิพพาน มีอย่างเดียว ตายแล้วจึงจะได้ ผู้นั้นชื่อว่าคนหลง
ทำตัวเราให้เหมือนแผ่นดิน หรือปล่อยวาง จึงได้ชื่อว่าถึงพระนิพพานดิบ
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ อันว่าพระนิพพานนั้น พึงให้ดูอย่างแผ่นดินพระธรณี มีลักษณะอาการฉันใด ก็ให้ตัวเรามีลักษณะอาการฉันนั้น ถ้าทำได้เช่นนั้น ก็ได้ชื่อว่าถึงพระนิพพานดิบ ถ้าทำไม่ได้ แต่พูดว่าอยากได้ จะพูดมากมายเท่าไร ๆ ก็ตาม ก็ไม่อาจที่จะได้จะถึงเลย ถ้าปรารถนาจักถึงพระนิพพานแล้ว ต้องทำจิตใจของตน ให้เหมือนแผ่นดินเสียก่อน ไม่ใช่เป็นของทำได้ด้วยง่าย ต้องพากเพียร ลำบากยากยิ่งนักจึงจักได้ จะเข้าใจว่า ปรารถนาเอาด้วยปากก็คงจักได้ อย่างนี้เป็นคนหลงไป ใช้ไม่ได้ ต้องทำตัวทำใจ ให้เป็นเหมือนแผ่นดินให้จงได้ ลักษณะของแผ่นดินนั้น คนแลสัตว์ทั้งหลาย จะทำร้ายทำดี กล่าวร้ายกล่าวดีประการใด มหาปฐพีนั้นก็มิได้รู้โกรธ รู้เคือง (เป็นการเริ่มอารัมภบท นิยามของพระนิพพาน ลักษณะอารมณ์ใจ ของผู้ถึงพระนิพพาน และการปฏิบัติ เพื่อให้เข้าถึงพระนิพพาน)
การปล่อยวางจิต คือ ให้ละโลภ โกรธ หลง
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ คำที่ว่าให้ปล่อยวางจิตใจนั้น คือว่าให้ละความโลภ ความโกรธ ความหลง ปลงเสีย ซึ่งการร้ายและ การดีที่บุคคลนำมากล่าว มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ อย่ายินดียินร้าย แม้ปัจจัยเครื่องบริโภค เป็นต้นว่า อาหารการกิน ผ้าผ่อนท่อนสไบ ที่อยู่ที่นอน แลเภสัชสำหรับแก้โรค ก็ให้ละความโลภความหลง ในปัจจัยเหล่านั้นเสีย ให้มีความมักน้อยในปัจจัย แต่มิใช่ว่าจะห้ามเสียว่า ไม่ให้กิน ไม่ให้นุ่งห่ม ไม่ให้อาศัยในสถานที่ ไม่ให้กินหยูกยา เช่นนั้นก็หามิได้ คือให้ละความโลเล ในปัจจัยเท่านั้น คือ เมื่อได้อย่างดี อย่างประณีต ก็ให้บริโภคอย่างดี อย่างประณีต ได้อย่างเลวอย่างหยาบ ก็ให้บริโภคอย่างเลว อย่างหยาบ ตามมีตามได้ ไม่ให้ใจขุ่นมัวด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง อย่างนี้แล ชื่อว่าปล่อยวางใจเสียได้ (อันนี้ใครก็ทราบว่าให้ละโลภ โกรธ หลง แต่ใครจะทราบว่าละอย่างไร พระพุทธองค์ทรงบัญญัติ ศีล ๕ ศีล ๑๐ ศีลปาติโมกข์ ขึ้นก็เพื่อ ให้มีความมักน้อยในปัจจัย ๔ เป็นสำคัญ เมื่อโลภ โกรธ หลง ทำอะไรเราไม่ได้แล้ว ใจของเราก็จะ เหมือนกับปฐพี คนที่ไม่ทราบ เป้าหมายสำคัญอันนี้ ก็จะถือศีลด้วยความงมงาย บ้างก็เคร่งเกินไป บ้างก็หละหลวมเกินไป หาปัญญามิได้)
การวางใจ ปลงใจนั้นคือ วางสุข วางทุกข์ วางบาปบุญคุณโทษ วางโลภ โกรธ หลง วางลาภ ยศ นินทา สรรเสริญทั้งหมดทั้งสิ้น เหมือนดังไม่มีหัวใจ จึงชื่อว่าทำให้ใจให้เหมือนแผ่นดิน ถ้ายังทำไม่ได้ อย่าหวังว่า จักได้โลกุตรนิพพานเลย (แนวการปฏิบัติทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น ทาน ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีลปาติโมกข์ สมาธิ สมาบัติ ๘ ปัญญา โลกธรรม ๘ บารมี ๓๐ ทัศ กรรมฐาน ๔๐ มหาสติปัฏฐาน ๔ การดูเพ่งอายตนะ ๖ อริยสัจ ๔ สามัญญลักษณะ ๓ การพิจารณาขันธ์ ๕ วิปัสสนาญาณ ๙ สังโยชน์ ๑๐ ฯลฯ ล้วนแล้วแต่มีปลายทางเพื่อการนี้โดยเฉพาะ)
ผู้ปฏิบัติอริยมรรคให้เต็มที่ จึงจะวางใจให้เหมือนแผ่นดินได้
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ ผู้มิได้กระทำอริยมรรคปฏิปทาให้เต็มที่ ยังเป็นปุถุชน คนหนาแน่นไปด้วยกิเลส หาปัญญามิได้ แลจักวางใจทำตัวให้เป็นเหมือนแผ่นดินนั้น ไม่อาจทำได้เลย ผู้ที่วางใจ ทำตัวให้เป็นเหมือนแผ่นดินได้นั้น มีแต่บุคคลผู้เป็นนักปราชญ์ และเป็นสัตบุรุษ จำพวกเดียวเท่านั้น เพราะท่านไม่ถือตนถือตัว ท่านวางใจให้เป็นเหมือนแผ่นดินได้ ท่านจึงได้ถึงพระนิพพาน ส่วนคนโง่เขลานั้น ถือตนถือตัว ถือว่าร่างกาย เป็นอัตตาตัวตน จึงปล่อยวางมิได้
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ อันว่าบุคคลที่ถือตัวถือตนอยู่นั้น ย่อมเป็นคนมักโลภ มักโกรธ มักหลง บุคคลจำพวกใด ที่ตกอยู่ในอำนาจแห่งความโลภ ความโกรธ ความหลงนั้น จะเป็นนักบวชก็ตาม เป็นคฤหัสถ์ก็ตาม ก็หาความสุขมิได้ เบื้องหน้าแต่ตายไป ก็หาความสุขในมนุษย์ แลสวรรค์มิได้เลย
ผู้จะถือเอาความสุขในนิพพาน ต้องวางความสุขในโลกีย์ให้หมด
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ ผู้ที่จะนำตนไป ให้เป็นสุขในพระนิพพาน ต้องวางเสียซึ่งความสุขในโลกีย์ ถ้าวางไม่ได้ ก็ไม่ได้ความสุขในพระนิพพานเลย ถ้าวางสุขในโลกีย์มิได้ ก็ไม่พ้นทุกข์ ด้วยความสุขในโลกีย์ เป็นความสุขที่เจืออยู่ด้วยทุกข์ ครั้นเมื่อถือเอาสุข ก็คือถือเอาทุกข์นั้นเอง ครั้นไม่วางสุข ก็คือไม่วางทุกข์นั้นเอง จะเข้าใจว่าเราจะถือเอาแต่สุข ทุกข์ไม่ต้องการดังนี้ไม่ได้เลย เพราะสุขทุกข์ เป็นของเนื่องอยู่ด้วยกัน ถ้าไม่วางสุขเสีย ก็เป็นอันไม่พ้นทุกข์
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุคคลทั้งหลาย ผู้ที่จะรู้ว่าสุขทุกข์ ติดกันอยู่นั้น หายากยิ่งนัก บุคคลทั้งหลายที่ ยังเป็นปุถุชนคนโง่เขลานั้น ทำความเข้าใจว่า สุขก็มีอยู่ต่างหาก ทุกข์ก็มีอยู่ต่างหาก ครั้นเราถือเอาสุข เราก็ได้สุข เราไม่ถือเอาทุกข์ ทุกข์ก็ไม่มี ดังนี้ เพราะเหตุที่เขาไม่รู้ว่า สุขกับทุกข์ติดกันอยู่ เขาจึงไม่พ้นทุกข์ ใครเล่าจะมีความสามารถ พรากสุขทุกข์ออกจากกันได้ แต่เราตถาคตก็ไม่มีวิเศษ ที่จะพรากจากกันได้ ถ้าหากเราตถาคต พรากสุขแลทุกข์ออกจากกันได้ เราจะปรารถนา เข้าสู่พระนิพพานทำไม เราจะถือเอา แต่สุขอย่างเดียว เสวยแต่ความสุข อยู่ในโลกเท่านั้น ก็เป็นอันสุขสบาย พออยู่แล้ว นี่ไม่เป็นเช่นนั้น เราแสวงหาความสุขโดยส่วนเดียว ไม่มีทางที่จะพึงได้ เราจึงวางสุขเสีย ครั้นวางสุขแล้ว ทุกข์ไม่ต้องวาง ก็หายไปเอง อยู่กับเราไม่ได้ เราจึงสำเร็จพระนิพพาน พ้นจากกองทุกข์ ด้วยประการดังนี้ (โลกียสุขนั้น หมายรวมตั้งแต่ สุขขั้นหยาบๆ ในกามคุณ ๕ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ละเอียดขึ้นไป จนถึงความสุข ที่เกิดจากการให้ทาน ทำบุญ รักษาศีล สมาธิสุข ฌานสุข สุขจากการฟังธรรม เป็นสิ่งที่ต้องละทั้งสิ้น ตรงนี้อ่านแล้วอาจจะรู้สึกงงๆ เพราะคุ้นเคยกับคำสั่งสอน มาตลอดว่า ให้ทำบุญทำทาน รักษาศีล เจริญพระกรรมฐาน ไม่ใช่ว่าสิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งไม่ดี พระพุทธองค์สอนว่า เป็นสิ่งที่ดี ต้องทำให้มาก สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ให้เปรียบก็เหมือนขั้นบันได ขึ้นไปสู่พระนิพพาน เมื่อบำเพ็ญบารมี จนครบบริบูรณ์ถึงที่สุดแล้ว เมื่อจะเข้าสู่พระนิพพาน ก็ต้องละขั้นบันไดเสีย จะแบกบันได เข้าพระนิพพานไปด้วยไม่ได้ ผู้ปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่ เมื่อจิตใฝ่กุศลแล้ว ก็จะไปติดสุข ติดกุศลธรรม ติดบุญ เลยทำให้การพัฒนาจิต ไม่ก้าวหน้าต่อไป สุดท้ายก็ถึงแค่สวรรค์ แค่พรหม ไม่ถึงพระนิพพาน ส่วนนี้จะเป็นธรรมขั้นสูง เป็นสังโยชน์ข้อที่ ๙ ความฟุ้งซ่าน ของพระอนาคามี การติดกุศล จะทำให้ฟุ้งซ่าน)
ผู้จะถึงพระนิพพาน ต้องพ้นจากกุศลธรรม และอกุศลธรรม
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ กุศลธรรมและอกุศลธรรมนั้น ได้แก่กองกิเลส ๑,๕๐๐ นั้นเอง อัพยากฤตธรรมนั้น คือ องค์พระนิพพาน ครั้นพ้นจากกองกุศลธรรม และอกุศลธรรมนั้นแล้ว จึงเป็นองค์แห่งพระอรหํ และพระนิพพานโดยแท้ เมื่อบุคคล ต้องการพระนิพพาน ก็ให้วางเสียซึ่งความสุขนั้นก่อน ความสุขในโลกีย์นั้นเอง ชื่อว่ากุศล จึงจักถึง ซึ่งพระนิพพาน ถ้าหากว่า ไม่มีความสามารถ คือไม่อาจทำพระนิพพาน ให้แจ้งได้ ก็ให้ยึดเอากุศลนั้นไว้ก่อน พอให้ได้ความสุข ในมนุษย์แลสวรรค์ แต่จะให้พ้นทุกข์นั้นไม่ได้ เมื่อรู้อยู่ว่าตนจักพ้นทุกข์ไม่ได้ ก็ให้ยึดเอากุศลนั้นไว้ เป็นสะพาน สำหรับไต่ ไปสู่ความสุข ถ้ารู้ว่าตนยังไม่พ้นทุกข์ ซ้ำมาวางกุศลเสียก็ยิ่งซ้ำร้าย เพราะเมื่อวางกุศลเสียแล้ว ตนก็จักเข้าไปกองอกุศล คือกองบาปเท่านั้น ซึ่งจะมีอบายภูมิ ๔ เป็นที่ไป (เห็นไหม อารมณ์พระนิพพาน เข้าใจง่ายจะตาย แต่ปฏิบัติให้ถึงยากบรม ตรงนี้ถ้าใครเคยฟัง พระสวดศพจะเคยได้ยินว่า “กุสลาธัมมา อกุสลาธัมมา อัพยากตาธัมมา...” นั่นคือสวดมาติกา ในอภิธรรม ๗ บท บทสวดจะเป็นการย่อไว้เฉพาะหัวข้อธรรม บทนี้เป็นการอธิบายความ ในอภิธรรมเรื่อง กุศลธรรม อกุศลธรรม และอัพยากฤตธรรม การที่บอกให้ละทั้งกุศล และอกุศลนั้น ไม่ใช่ไปคิดว่า ถ้าเช่นนั้นต่อไปนี้ ก็ไม่ต้องทำบุญแล้ว บาปฉันก็ไม่ทำ ฉันละแล้วทั้ง ๒ อย่าง อันนี้อันตรายมาก อ่านให้ดีๆนะ ท่านว่าต้องบำเพ็ญอริยมรรค ให้ถึงที่สุด แล้วจึงวางได้ ไม่ใช่จู่ ๆ นึกอยากจะวางก็วางได้ ถ้ายังทำไม่ถึง ให้เกาะกุศลไปก่อน เชื่อไหมว่า ในคำสอนของหลวงปู่มั่น มีตอนหนึ่งว่า “ติดดี นี่แก้ยากกว่าติดชั่วอีก” พระอรหันต์นี่ สอนอะไรไม่ธรรมดาอยู่แล้ว ต้องขบคิดให้ลึกซึ้ง ครั้นลองใช้ปัญญา ที่มีอยู่น้อยนิดพิจารณาแล้ว ก็ได้ความว่า ติดชั่วนี่มันแก้ง่ายเพราะมันเป็นโทษ ชี้ให้เห็นโทษชัดๆ ตามความเป็นจริง ผู้ที่ไม่ดื้อรั้นเกินไป ไม่มีมิจฉาทิฏฐิเกินไป มีปัญญาเล็กน้อย ก็จะละชั่วได้ แต่การติดดีนี่ โทษของมัน มองเห็นได้ยาก เพราะมันเป็นสุข หรืออาจเปรียบระหว่าง ที่เย็นกับที่ร้อน ถ้าคนอยู่ในที่ร้อน เมื่อมาสัมผัสที่เย็น ก็จะรู้ได้ไม่ยากว่ามันสบายกว่า แต่จะถอยออกจากที่เย็น ไปสู่ที่ที่พอดี นั้นยากกว่ามาก)
ผู้มีความรู้ความฉลาด สักปานใด ไม่ควรถือตัวว่าเป็นผู้ยิ่งกว่าผู้มีศีล
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุคคลผู้ไม่มีศีล ปราศจากการรักษาศีล ไม่ควรกล่าว ซึ่งคำประมาท แก่ท่านผู้มีศีล ตัวตั้งอยู่ภายนอกศีล แล้วมาเข้าใจว่า ตัวเป็นผู้ดีกว่าท่านผู้มีศีล แล้วกล่าวคำสบประมาท ดูหมิ่นในท่านผู้มีศีล บุคคลจำพวกนั้นชื่อว่า เป็นเจ้ามิจฉาทิฏฐิใหญ่ ชื่อว่าเป็นคนหลงทาง เป็นผู้ห่างจากความสุข ในมนุษย์ แลสวรรค์ อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุคคลผู้ตั้งอยู่ภายนอกศีลนั้น ได้ชื่อว่า เป็นผู้ตั้งอยู่ ในระหว่างแห่งกิเลส ยังเป็นผู้หนาแน่น อยู่ด้วยกิเลส แม้จะเป็นผู้มีความรู้ ความฉลาดมากมาย สักปานใดก็ตาม ก็ไม่ควรจะถือตัวว่า เป็นผู้ยิ่งกว่าผู้มีศีล เหตุว่าผู้ที่ไม่มีศีลนั้น ยังห่างจากพระนิพพานมาก อานันทะ ดูก่อนอานนท์ จะถือเอาความรู้แลความไม่รู้ เป็นประมาณทีเดียวไม่ได้ ต้องถือเอาการละกิเลสได้ เป็นประมาณ เพราะว่าผู้จะถึงพระนิพพาน ต้องอาศัยการละกิเลสโดยส่วนเดียว เมื่อละกิเลสได้แล้ว แม้ไม่มีความรู้มาก รู้แต่เพียงการละกิเลสได้เท่านั้น ก็อาจถึงพระนิพพานได้ (ตรงนี้มักจะมีคนที่ศีล ๕ ยังไม่ครบดี เที่ยวไปตำหนิพระ เช่น เรื่องพระสูบบุหรี่ เป็นต้น ไปพูดค่อนแคะว่า เป็นพระแล้ว ไปคาบบุหรี่มวนโต นั่งยอง ๆ คุย พูดจากูมึง คนก็ไปนับถือมากมาย ระวังเถิด เรื่องใดถ้าพระวินัยไม่ห้าม ก็อย่าไปตำหนิท่านเลย จะเป็นโทษเสียเปล่า ๆ พระท่านรู้ของท่าน)
ผู้ต้องการพระนิพพานแล้ว ไม่ควรจะถือว่าตัวรู้ตัวดี
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ ธรรมดาบุคคล ผู้ที่เป็นนักปราชญ์มีปรีชาทั้งหลาย ย่อมไม่ถือเนื้อถือตัวว่า เรารู้เราดีอย่างนั้นอย่างนี้ ท่านจะมีความรู้มากมายเท่าไร ก็มิได้ถือเนื้อถือตัว เหมือนอย่างพาลปุถุชน พวกพาลปุถุชน ที่เขาห่างไกลจากพระนิพพาน ก็เพราะเหตุที่เขาถือเนื้อถือตัว การถือเนื้อถือตัว มีมากเท่าใด ก็ยิ่งทำให้ห่างไกล จากพระนิพพานมากเท่านั้น เหตุว่าประตูเมืองพระนิพพานนั้น คับแคบนักหนา ผมเส้นเดียวผ่าออกเป็น ๓ เสี้ยว เอาแต่เสี้ยวเดียว ไปแยงเข้าที่ประตูพระนิพพาน ก็ยังคับแคบเข้าไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อท่านต้องการพระนิพพานแล้ว ไม่ควรจะถือว่าตัวรู้ตัวดี เป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้สูงศักดิ์กว่า ท่านยิ่งถือตนถือตัวขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งให้คับประตูพระนิพพาน เข้าเท่านั้น จึงว่าพาลปุถุชนทั้งหลาย เป็นผู้ห่างไกลจากพระนิพพาน ด้วยเหตุที่เขา มัวถือเนื้อถือตัวว่าตัวรู้ตัวดีอยู่ (บทนี้กล่าวถึงสักกายทิฏฐิ ความมานะถือตัว เป็นคุณสมบัติที่ ทำให้ห่างไกลพระนิพพาน มีผู้มาปรารภกับอาตมา ถึงหลักวิชาควอนตัมฟิสิกส์ ที่เป็นการต่อยอด จากทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ ว่าเขาสามารถพิสูจน์ได้แล้วว่า ส่วนเล็กที่สุดของอะตอม แท้จริงแล้ว เป็นเพียงคลื่น เป็นการสั่นสะเทือน ซึ่งตรงกับหลักอนัตตา ของพระพุทธศาสนา ดังนั้นควอนตั้มฟิสิกส์ ระดับที่ละเอียดซับซ้อนขนาดนั้น ถ้าศึกษาวิจัยไปเรื่อยๆ ก็จะเข้าถึงความรู้แจ้งเห็นจริง อาตมาเห็นว่าการศึกษาวิทยาศาสตร์นั้น มันก็ดี แต่พระพุทธเจ้า ก็ไม่เคยเรียนวิชาฟิสิกส์ ทำไมทราบอะไรต่าง ๆ มากมายยิ่งกว่า นักวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน เพราะท่านค้นพบว่า การละกิเลสต่างหาก ถึงจะพาให้เข้าถึง ความจริงแท้ของสรรพสิ่ง การที่มีความรู้ ทางวิทยาศาสตร์มากๆ หรือการตีความศาสนาพุทธ เป็นปรัชญายากๆ หาได้ช่วยให้เขาใกล้ พระนิพพานขึ้นเลย ถ้ามันไปสร้างความถือตัว ถือตนว่า เขาเป็นผู้มีความรู้ดีกว่าคนอื่น เก่งกว่าคนอื่น นี่เป็นทางการเพิ่มกิเลสต่างหาก มิใช่ทางละกิเลส ยิ่งรู้มาก ตัวโมหะมันก็จะมากตาม ความหลงตัวเอง คิดว่าเราเป็นผู้เลิศกว่าผู้อื่น อันเป็นตัวเป็นตน เป็นอัตตาที่ละได้ยากที่สุด มีคนเป็นจำนวนมากเข้าใจผิด คิดว่าการที่เขามีความสามารถ ทางสมองเหนือคนอื่น เข้าใจในสิ่งที่ผู้อื่นไม่เข้าใจ หรือเข้าใจได้ยาก จดจำสิ่งต่างๆ ได้มากมาย และสามารถเรียนรู้ในวิชาการยาก ๆ หรือธรรมะยากๆ เหล่านั้น จะเป็นการเข้าใกล้พระนิพพาน เข้าไปเรื่อยๆ ไม่จริงเลย ปัญญาในทางพุทธนี่เขาแปลว่า ความรอบรู้ในกองสังขาร รู้ต้องรู้อย่างเป็นจริงว่า มันเป็นทุกข์ มันไม่เที่ยง มันไม่ใช่ตัวตน อุปมาการถอดถอนตัวตน นี่เหมือนการถอนต้นไม้ ยิ่งความสามารถมากรู้มาก ก็ประดุจต้นไม้ที่มีรากแก้วหยั่งลึก มีรากฝอยยุ่บยั่บ จะรื้อถอนก็ต้องใช้กำลังมาก ยากลำบากมาก ไม่เหมือนผู้ที่มีความสามารถน้อย รู้น้อย ก็ประหนึ่งหญ้า หรือต้นไม้เล็กๆ รากแก้วก็ไม่ลึก รากฝอยก็น้อย ปฏิบัติเพียงเล็กน้อย ก็ถอดถอนตัวตนได้เกลี้ยง กระทั่งพระที่บวชเข้ามา ท่านก็แนะไม่ควรคิดว่า ตนบรรลุธรรมขั้นไหน เป็นโสดา สกทาคา อนาคา หรือ อรหันต์ ให้ถ่อมตัวเตี้ยติดดินอยู่เสมอ ให้คิดว่าเก่งแค่ไหน ดีแค่ไหน เลิศแค่ไหน ก็ตายหมด ไม่มีใครชนะความตาย สักคนเดียว คิดไว้เสมอ ๆ ผู้ที่คิดว่าตนดี ตนเก่ง พระบรมโลกเชษฐ์ท่านเรียกว่า พาลปุถุชน)
ดับกิเลสตัณหาได้มากเท่าไร ก็เป็นบุญเป็นกุศลมากเท่านั้น
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ การที่เราตถาคตต้องการให้บวชนั้น ก็เพื่อจะให้ได้บุญและกุศล อะไรชื่อว่าเป็นตัวบุญตัวกุศล ตัวบุญตัวกุศลนั้น ไม่ใช่สิ่งอื่นคือความดับเสีย ซึ่งกิเลส การรักษากิจวัตร แลพระวินัยอย่างไรก็ตาม ถ้าดับกิเลสได้มากก็เป็นบุญมาก ถ้าดับกิเลสได้น้อยก็เป็นบุญน้อย ถ้าดับกิเลสไม่ได้ก็ไม่เป็นบุญเลย บาปอกุศลนั้นก็ไม่ใช่อื่น คือตัวกิเลสนั้นเอง กิเลสก็คือตัวตัณหานั้นเอง ดับกิเลสตัณหาได้เท่าใด ก็เป็นบุญเท่านั้น ถ้าดับกิเลสตัณหาไม่ได้ ก็เป็นอันไม่ได้บุญไม่ได้กุศล
ผู้ที่ไม่รู้จักบุญ และบาปนั้น มาทำความเข้าใจว่า บวชรักษาข้อวัตร รักษาศีลเอาบุญ บุญนั้นมีอยู่นอกตนนอกตัว มีอยู่ที่ดินฟ้าอากาศ เมื่อบวชได้รักษากิจวัตรแล้ว บุญนั้นจักเลื่อนลอยมา จากสถานที่ต่างๆ มีนภาลัย เวหากาศ เป็นต้น มานำเอาตัวขึ้นไปสู่สวรรค์ แลพระนิพพาน เห็นไปโดยผิดทางเช่นนี้ ล้วนแต่เป็นคนหลงทั้งสิ้น
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ ผู้ที่ไม่รู้จักบาป เข้าใจว่าบาปนั้นอยู่นอกตนนอกตัว เมื่อทำบาปแล้ว บาปนั้นก็จะลุกมา แต่นรกใต้พื้นดิน มาจับกุมคุมเอาตัวลงไปสู่นรก การทำความเข้าใจอย่างนี้ ย่อมเป็นคนหลงทั้งนั้น
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ สุขก็ดีทุกข์ก็ดี บาปบุญคุณโทษก็ดี ย่อมอยู่ที่เรา จะเข้าใจว่า บาปบุญอยู่ภายนอกตัว ทำบุญแล้วคอยท่านบุญ จักมานำเอาตัวไปสู่สุคติ คิดอย่างนี้ ตั้งร้อยชาติแสนชาติ ก็ไม่อาจได้ อันว่าบุญบาป สุขทุกข์ย่อมไม่มี ณ ภายนอกตัว บุญกุศลแลความสุขนั้น ก็คือดวงจิต ส่วนบาปกรรม ทุกข์โทษนั้น คือหมู่แห่งตัณหา ตัณหานั้นจักมี ณ ที่อื่นนอกจากตัวตนของเราแล้ว ไม่มี ตัวบุญแลตัวบาป ก็อยู่ที่ใจของเรา เมื่อตัวไม่ชอบทุกข์ อยากได้ความสุข ก็จงพยายาม แก้ใจของเรานั้นเถิด ถ้าเราไม่เป็นผู้แสวงหาความสุข และให้พ้นจากทุกข์แล้ว ใครเขามาช่วยตัวเรา ให้พ้นจากทุกข์ ให้ได้รับความสุขได้เล่า เพราะสุขทุกข์ อยู่ที่ตัวของเรา เมื่อเราหามิได้แล้ว ใครคนอื่นที่ไหน เขาจะมาหาให้เราได้ (บทนี้บอกถึง หน้าตาของบุญและบาป ที่แท้จริง ผู้นับถือศาสนาพุทธบางคน รวมถึงผู้ที่นับถือศาสนาอื่น ยังมีความเข้าใจ เรื่องบุญบาปสวรรค์นรก คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง อาตมาเอง ก็มีความเข้าใจไม่ชัดเจน มีแต่ใช้สัญญา (ความจำ) มาตลอด ก็ถ่ายทอดไปทั้งดุ้น ตามที่ได้ฟังมา ก็ยังโชคดี ที่ถ่ายทอดไปไม่ผิด มาถึงบางอ้อจาก พระสูตรนี้เอง ที่ว่าบุญ เกิดตั้งแต่คิดจะทำ ก็คือขณะที่คิดนั้น กิเลสโลภะ - ความโลภมันลด จริงไหม ที่ว่าทำบุญเมื่อไหร่ ได้บุญเมื่อนั้น ก็ทำบุญเมื่อไหร่ ความโลภมันน้อยลง เมื่อนั้นใช่หรือไม่ ที่ว่าเขาจะเอา ปัจจัยไทยทานของเรา ไปทำอะไร ตรงกับวัตถุประสงค์ของเรา หรือไม่ ไม่สำคัญ เพราะบุญเกิดไปแล้ว ก็ถูกอีก เพราะเขาเอาไปทำอะไร ก็ไม่มีผลอะไร กับกิเลสของเรา มีผลก็แต่ กำลังใจของเราเท่านั้น คือถ้างานมันสำเร็จสมหวัง มันก็บังเกิดปีติ ชื่นใจ มีกำลังใจทำบุญ ทำกุศลต่อไป ตรงข้าม ถ้าเกิดเหตุการณ์ อย่างสมเด็จเหนือหัว คนทำบุญก็ทดท้อ ไม่อยากทำบุญอีก เป็นต้น แต่ถ้าทำกำลังใจ ถูกต้องแต่แรก ก็ได้บุญไปเรียบร้อย ถ้าไปคิดว่าที่เขาเอาเงินเราไป ไปทำอะไรก็ไม่รู้ วัตถุมงคล ก็ไม่รู้พิธีกรรมถูกต้องหรือเปล่า เจ็บใจเหลือเกินที่ถูกหลอก นี่ก็ขาดทุน ๒ ต่อเลย เสียทั้งเงินและไม่ได้บุญ ตามคำบอกของคน ที่ได้ทิพยจักขุญาณ ท่านแสดงไว้ว่า สมมติว่าทำวิหารทาน เพื่อจะได้มีวิมานในสวรรค์ ทำปุ๊บวิมานเกิดเลย ไม่ใช่ว่าสิ่งก่อสร้าง ที่เราไปช่วยเขาสร้าง สำเร็จแล้ววิมานถึงจะเกิด ทานที่ทำไปแล้วนั้น เมื่อคิดถึงอีกเมื่อไหร่ ก็ได้บุญอีกเมื่อนั้น ก็จริงอีก เพราะขณะที่คิดถึงการให้ ความโลภในใจ มันก็ไม่มีที่อยู่ เห็นไหม ทีนี้หากว่าทำทาน เพราะอยากได้บุญ (แล้วไม่รู้ว่าบุญหน้าตาเป็นอย่างไร) อยากได้วัตถุมงคล (ถ้าอยากมากๆ มันกลายเป็นซื้อของไป เหมือนซื้อของในเซเว่นหน่ะ ได้บุญไหมเอ่ย แต่วัตถุมงคลนี่ วินิจฉัยยาก เพราะเอาไปทำกรรมฐานได้ มันจะไปได้บุญ ตอนไปทำเป็นกรรมฐาน) ทำทานเพราะหวังจะถูกหวย ทำทานเพราะอยากได้หน้า ก็ต้องพิจารณาดูกำลังใจว่า ความโลภในใจ มันลดลงหรือไม่ ถ้าลดน้อยก็ได้บุญน้อย ถ้าไม่ลดเลยหรือมากขึ้น ก็ไม่ได้บุญเลย หรือซ้ำกลายเป็นบาปแทน แล้วไฉนการโมทนาบุญ หรือที่เขาเรียกว่า มุทิตาธรรม เห็นคนทำดี แล้วยินดีชื่นใจไปกับเขา ถึงได้บุญ ก็มันไปลดความริษยา ซึ่งเป็นตัวเดียวกับ โทสะ - ความโกรธ ทำไมอภัยทาน ถึงเป็นทานอันยิ่ง กว่าอามิสทาน (ทานที่เป็นวัตถุ) ก็เพราะอภัยทาน มันไปลดกิเลสโทสะ กิเลสตัวสำคัญ ก็แล้วการฟังธรรม ทำไมถึงได้บุญ ไปนั่งหลังขดหลังแข็ง พนมมือ เมื่อยก็เมื่อย ไม่เห็นน่าจะได้บุญตรงไหน สู้ทำทานไม่ได้ สบายกายสบายใจกว่าอีก ที่ได้บุญก็เพราะ การฟังธรรม มันคือการทำความเห็นให้ตรง มันไปลดโมหะ - ความหลง กิเลสตัวเก่งอีกตัว ฉะนั้น การฟังธรรม ไม่จำเป็นแต่ต้องไปฟังในโบสถ์ ฟังที่ไหนก็ได้ ในรถ ในเรือ ในสวนสาธารณะ ที่ไหนท่าไหนก็ได้ ยิ่งละโมหะ อวิชชาได้มากเท่าไหร่ ก็ได้บุญมากเท่านั้น ธรรมทานก็สงเคราะห์เข้าหลักเดียวกัน อีกเรื่องคือเรื่องอานิสงส์ ตามความเข้าใจเดิมนั้น เข้าใจว่า บุญกับอานิสงส์ เป็นคนละตัวกัน สมมติว่าบริจาคทาน สร้างโรงพยาบาล บุญเกิดเมื่อคิดและให้ทาน อานิสงส์เกิดภายหลัง จากที่โรงพยาบาลสร้างเสร็จ มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา เป็นส่วนควบของบุญ แท้จริงแล้ว ตามความในพระสูตรนี้ หาใช่เช่นนั้น อานิสงส์แปลว่า “ผล” อะไรที่เป็นผล ก็เป็นอานิสงส์หมด สิ่งที่เป็นคนละตัวกันคือ บุญกับกุศลกรรมต่างหาก สมมติว่าบริจาคทาน สร้างโรงพยาบาล ด้วยความที่อยากได้หน้า นี่แสดงว่าทำบุญด้วยความโลภ ตรงนี้ไม่ได้บุญ แต่กุศลกรรม ที่ได้สร้างโรงพยาบาล ได้บรรเทาทุกข์ของผู้ที่ป่วยนั้น มีผลอยู่ จะได้เสวยผลเมื่อไหร่นั้นไม่แน่ แต่ได้เสวยผลแน่นอน ตรงนี้จะว่า ไม่มีอานิสงส์ก็ไม่ใช่ ต้องเรียกว่ามีอานิสงส์ แต่น้อยไปหน่อย)
บุญกุศล สวรรค์ และนิพพาน เกิดจากตัวเราเองไม่มีผู้ใดนำมาให้
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุคคลผู้ที่เข้าใจว่าบุญกุศล สวรรค์ แลพระนิพพาน มีผู้นำมาให้ บาปกรรมทุกข์โทษ นรกและสัตว์เดรัจฉาน มีผู้พาไปทั้งสิ้น บุคคลผู้ที่เข้าใจอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้หลงโลก หลงทาง หลงสงสาร บุคคลจำพวกนั้น แม้จะทำบุญ ให้ทานสร้างกุศลใดๆ ที่สุดจนออกบวช ในพระพุทธศาสนา ก็หาความสุขมิได้ จะได้เสวยแต่ความทุกข์ โดยถ่ายเดียว อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุญกับสุข หากเป็นอันเดียวกัน เมื่อมีบุญก็ชื่อว่ามีความสุข บาปกับทุกข์ก็เป็นอันเดียวกัน เมื่อมีบาป ก็ได้ชื่อว่ามีทุกข์ ถ้าไม่รู้บาปก็ละบาปไม่ได้ ถ้าไม่รู้จักบุญก็หาบุญไม่ได้ เปรียบเหมือน เราอยากได้ทองคำ แต่เราหารู้ไม่ว่า ทองคำนั้นมีรูปพรรณสัณฐานอย่างไร ถึงทองคำนั้นมีอยู่ แลเห็นอยู่เต็มตา ก็ไม่อาจถือเอาได้ โดยเหตุที่ไม่รู้จัก แม้บุญก็เหมือนกัน ถ้าไม่รู้จักบุญก็หาบุญไม่ได้ อย่าว่าแต่บุญซึ่งเป็นของไม่มีรูปร่างเลย แม้แต่สิ่งของอื่น ๆ ที่มีรูปร่าง ถ้าหากว่าเรา ไม่รู้จักก็ถือเอาไม่ได้
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุคคลที่ไม่รู้จักบุญแลไม่รู้จักสุข ทำบุญจะไม่ได้บุญ ไม่ได้สุขเสียเลย ตถาคตก็หาได้กล่าวเช่นนั้นไม่ ทำบุญก็คงได้บุญแล ได้สุขอยู่นั้นแล บุญแลความสุข ก็บังเกิดอยู่ที่ตัวเรานั้นเอง แต่ทว่าตัวหากไม่รู้ไม่เข้าใจ จึงเป็นอันมีบุญแลสุขไว้เปล่าๆ อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุคคลจำพวกที่ไม่รู้จักบุญ คือความสุข เมื่อทำบุญแล้ว ปรารถนาเอาความสุข น่าสมเพชเวทนานักหนา ตัวทำบุญก็ได้บุญในทันใดนั้นเอง มิใช่ว่าเมื่อทำแล้วนานๆ จึงจักได้ ทำเวลาใดก็ได้เวลานั้น แต่ตัวไม่รู้ นั่งทับนอนทับบุญอยู่เปล่าๆ ตัวก็ไม่ได้รับบุญ คือความสุข เพราะตัวไม่รู้ จึงว่าเสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุคคลที่เข้าใจว่าทำบุญไว้มากๆแล้ว จะรู้แลไม่รู้ ก็ไม่เป็นไร บุญหากจักพาไปให้ ได้รับความสุขเองเช่นนี้ ชื่อว่าเป็นคนหลงโดยแท้ เพราะเหตุไร บุญจึงจักพาตัวไปให้ ได้รับความสุข เพราะบุญกับสุขเป็นอันเดียวกัน เมื่อไม่รู้สุขก็คือไม่รู้บุญ เมื่อเรารู้สุข เห็นสุข ก็คือเรารู้บุญ เห็นบุญนั้นเอง จะให้ใครพาไปหาใครที่ไหน (พระสูตรนี้ มีผู้นำไปตีความว่า นรกสวรรค์ไม่มีจริง นายนิรยบาลผู้พาไปนรกไม่มีจริง จริงแล้วสวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจต่างหาก ก็จริงอยู่ แต่จริงโดยส่วนเดียว ส่วนอื่นยังมีอีก กรรมมีอยู่ กุศลกรรมก็มี อกุศลกรรมก็มี บุญบาปมิได้พาไปเกิด แต่กรรมพาไปเกิดได้ จะหาศาสนาใดในโลก แจกแจงได้ แจ่มแจ้งชัดเจนขนาดนี้ เหมือนหงายของที่คว่ำ เหมือนเปิดของที่ปิด เหมือนให้แสงสว่าง แก่ที่มืด เหมือนชำระนัยน์ตาอันพร่ามัว ด้วยน้ำอมฤต ส่วนใหญ่ กระทั่งคนในศาสนาพุทธเอง เขาจะรู้จักในแง่ บุญคือทาน ทำสะสมไว้เรื่อย บุญก็จะพาขึ้นสวรรค์ไปเอง หรือเมื่อตายแล้ว พระศาสดาจะมารับไปอยู่ด้วย เสวยสุขชั่วนิจนิรันดร์ รู้จักสวรรค์แค่ชั้นเดียว รู้ชาติหน้าแค่ชาติเดียว สอนให้ทำความดี ให้ขึ้นสวรรค์ ให้ไปพระนิพพาน พระนิพพานหรือ ก็คงคล้ายๆ สวรรค์ชั้นหนึ่งกระมัง เขาว่ากันว่ามีความสุขมาก แต่ชาตินี้คงยังไม่ถึงหรอก ตั้งความหวังเอาไว้ ว่าคงจะถึงสักวันหนึ่ง แต่ไม่เคยศึกษาสนใจว่า พระนิพพานเป็นอย่างไร ต้องปฏิบัติอย่างไร ถึงจะถึงพระนิพพาน เฉี่ยวไปเฉี่ยวมา ไม่เข้าเป้าเสียที และส่วนใหญ่ จะสอนไม่ให้คนคิด ไม่ให้สงสัย ไม่ให้ใคร่ครวญ สอนให้ไปติดสุข ติดกุศล ทำบุญทำทานมากๆ ซีแล้วจะได้ไปพระนิพพาน แท้จริงแล้ว ถ้ายังไม่ประกอบด้วยปัญญา ยังห่างไกลพระนิพพานอยู่มาก)
จะไปสวรรค์ พระนิพพาน ต้องไปด้วยตนเอง จะพาเอาคนอื่นไปด้วยไม่ได้
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ จะไปนรกหรือจะไปสวรรค์ และพระนิพพานต้องไปด้วยตนเอง จะพาเอาคนอื่น ไปด้วยไม่ได้เป็นอันขาด อานันทะ ดูก่อนอานนท์ สวรรค์ดิบในชาตินี้ กับสวรรค์สุกในชาติหน้า อย่าสงสัยว่าจะต่างกัน ถึงจะต่างกันบ้างก็เพียงเล็กน้อย เมื่อต้องการความสุขเพียงใด ก็จงพากเพียรให้ได้ แต่เมื่อยังมีชีวิตอยู่ในเมืองคนนี้ จะนั่งจะนอนคอย ให้สุขมาหานั้นไม่ได้ ไม่เหมือนพระนิพพาน ความสุขในพระนิพพานนั้น ไม่ต้องขวนขวาย เมื่อจับถูกที่แล้ว นั่งสุขนอนสุขได้ทีเดียว ความสุขในพระนิพพาน จะว่ายากก็เหมือนง่าย จะว่าง่ายก็เหมือนยาก ที่ว่ายากนั้นเพราะ ไม่รู้ไม่เห็น พาลปุถุชนคนตามืดทั้งหลาย รู้ไม่ถูกที่ เห็นไม่ถูกที่ จับไม่ถูกที่ จึงต้องพากเพียรพยายาม หลายอย่างหลายประการ และเป็นการเปล่าจากประโยชน์ด้วย ส่วนท่านที่มีปัญญา พิจารณาถูกที่จับถูกที่แล้ว ไม่ต้องทำอะไรให้ยาก หลายสิ่งหลายอย่าง นั่งๆ นอนๆ อยู่เปล่าๆ เท่านั้น ความสุขในพระนิพพาน ก็มาบังเกิดขึ้นแก่ท่านได้เสมอ เพราะเหตุฉะนั้นจึงว่า ความสุขในพระนิพพาน ไม่เป็นสุขที่เจือปนไปด้วยทุกข์ (ทางไปสวรรค์ นิพพาน เป็นทางแคบ เป็นทางของคนคนเดียว เวลาเกิด เราก็เกิดมาคนเดียว พ่อแม่ญาติพี่น้อง ก็เพียงแสดงความยินดี เมื่อเราเกิดมา เวลาแก่ ไม่มีใครมาช่วยแก่ เวลาเจ็บ ไม่มีใครแบ่งความเจ็บไปได้ เวลาตาย ก็มีเพียงเราผู้เดียวที่ตาย พ่อแม่ญาติพี่น้องทั้งหลาย ไม่สามารถตาย ร่วมไปกับเราได้ หรือช่วยเรา จากความตายได้ คงมีแต่การ แสดงความโศกาอาดูร เอาใจช่วยเท่านั้น เช่นนี้สมเด็จพระภควันต์ จึงแสดงให้เห็นว่า เราไม่สามารถพาผู้อื่น ไปด้วยได้ ต้องปฏิบัติเอง เห็นเอง รู้เอง ถึงเอง)
อยากรู้ว่าได้รับความสุขหรือทุกข์ ให้สังเกตที่ใจของเราในเวลา ที่ยังไม่ตาย
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ เมื่ออยากรู้ว่า เราจะได้รับความสุขในสวรรค์ หรือจะได้รับความทุกข์ในนรก ก็จงสังเกตดูใจของเรา ในเวลาที่ยังไม่ตายนี้ เมื่อยังเป็นคนอยู่ มีสุขหรือมีทุกข์มากเท่าใด แม้เมื่อตายไป ก็คงมีสุขและมีทุกข์มากเท่านั้น ไม่มีพิเศษกว่ากัน บุคคลผู้ปรารถนาความสุขในภพนี้ และภพหน้าแล้ว จงรักษาใจ ให้ได้รับความสุข ส่วนตัวตนร่างกายข้างนอกนั้น ไม่สำคัญ จักได้รับความสุข ความทุกข์ประการใด ก็ช่างเถิด เมื่อตายแล้ว ก็ทิ้งอยู่เหนือแผ่นดินหาประโยชน์มิได้ ส่วนใจนั้นเป็นของติดตามตน ไปในอนาคตเบื้องหน้าได้ เพราะจิตใจเป็นของไม่ตาย ที่ว่าตายนั้น ตายแต่รูปร่างกาย ธาตุแตก ขันธ์ดับเท่านั้น ถ้าจิตใจตายแล้ว ก็ไม่ต้องเกิด ไม่ต้องตายต่อไปอีก กล่าวคือถึงพระนิพพาน
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ ในอดีตชาติ เราตถาคตก็ได้หลงท่องเที่ยว อยู่ในสังสารวัฏนี้ช้านาน นับด้วยร้อยด้วยพันแห่งชาติ เป็นอันมาก ทำบุญทำกุศล ก็ปรารถนาแต่จักให้พ้นทุกข์ ให้เสวยสุขในเบื้องหน้า เข้าใจว่าตายแล้ว จึงจะพ้นจากทุกข์ ครั้นเมื่อตายจริง ก็ตายแต่ธาตุแต่ขันธ์เท่านั้น ส่วนใจนั้นไม่ตาย จึงต้องไปเกิดอีก เมื่อไปเกิดอีก ก็ต้องตายอีก เป็นเช่นนี้จะพ้นทุกข์ได้อย่างไร ที่นิยมกันว่าตาย ก็คือตายเน่าตายเหม็น กันอยู่อย่างทุกวันนี้ ชื่อว่าตายเล่นตายไม่แล้ว ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตาย หาต้นหาปลายมิได้ ที่ตายแท้ ตายจริง คือตายทั่งรูปแตกขันธ์ดับ ตายทั้งจิตทั้งใจ มีแต่พระพุทธเจ้า กับเหล่าพระอรหันต์ ขีณาสพเท่านั้น ท่านเหล่านี้ ไม่ต้องกลับมาเกิดอีก
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ ในอดีตชาติเมื่อเรายังไม่รู้ เข้าใจว่าตายแล้ว จึงจะพ้นทุกข์ ทำบุญทำกุศล ก็มุ่งเอาแต่ความสุขในเบื้องหน้า ครั้นตายไปก็หาได้พ้นจากทุกข์ ตามความประสงค์ไม่ มาในปัจฉิมชาตินี้ เราจึงรู้ว่าสวรรค์แลพระนิพพานนี้ มีอยู่ที่ตัวนี้เอง เราจึงได้รีบเร่งปฏิบัติ ให้ได้ถึงแต่เมื่อยังเป็นคนอยู่ จึงพ้นจากทุกข์และได้เสวยสุข อันปราศจากอามิส เป็นพระบรมครู สั่งสอนเวไนยสัตว์อยู่ทุกวันนี้ (ความจริงตรงนี้ น่าสนใจเป็นพิเศษ ธรรมดาผู้ไม่ได้ศึกษาธรรมะ มักจะคิดว่า สวรรค์เป็นอะไรที่สุขมาก แตกต่างจากชีวิตมนุษย์ อย่างสิ้นเชิง นรกเป็นอะไรที่ทุกข์มาก แตกต่างจาก ตอนเป็นมนุษย์อย่างสิ้นเชิง ความจริงแล้วก็แตกต่างกัน เพียงไม่มีร่างกายเท่านั้น คนจะขึ้นสวรรค์ มันมีความสุขตั้งแต่มีชีวิตแล้ว ส่วนผู้ที่จะตกนรก ก็มีแต่ความเร่าร้อน ตั้งแต่ยังเป็นคนอยู่เทียว ส่วนการที่ไม่ให้สนใจร่างกาย ก็คือการพิจารณาขันธ์ ๕ ละอุปาทาน คิดว่า เป็นเรา เป็นของเรา เสียนั่นเอง)
สวรรค์ นิพพาน ต้องทำเองด้วยการ ดับกิเลสตัณหา พระพุทธเจ้าบอกให้รู้แต่ทางไปเท่านั้น
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ ความทุกข์ในนรก และความสุขในสวรรค์ พระนิพพาน นั้นใครจะช่วยใครไม่ได้ เมื่อใครชอบอย่างใดก็ทำอย่างนั้น แม้เราตถาคตก็ช่วยใครให้พ้นทุกข์ และช่วยใครให้ได้สวรรค์ และพระนิพพานไม่ได้ ได้แต่เพียงสั่งสอน ชี้แจงให้รู้สุขรู้ทุกข์ ให้รู้สวรรค์ให้รู้พระนิพพาน ด้วยวาจาเท่านั้น อันกองทุกข์ โทษ บาปกรรมทั้งปวงนั้น ก็คือตัวกิเลสตัณหา ครั้นดับกิเลสตัณหาได้แล้ว ก็ไม่ต้องตกนรก ถ้าดับกิเลสตัณหาได้มาก ก็ขึ้นไปเสวยสุขอยู่ในสวรรค์ ถ้าดับกิเลสตัณหาได้สิ้นเชิง หาเศษมิได้แล้ว ก็ได้เสวยสุข ในพระนิพพานทีเดียว เราตถาคตบอกให้รู้แต่ทางไปเท่านั้น ถ้าผู้รู้ทางแห่งความสุข แล้วประพฤติตามปฏิบัติตาม ก็ได้ประสบสุขสมประสงค์ (อักขาตาโร ตถาคตา - ตถาคตเป็นเพียงผู้บอก ชัดเจน)
สุข ทุกข์ อยู่ที่ใจ
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ สุขทุกข์นั้นให้หมายที่จิต จิตสุขเป็นสวรรค์ จิตทุกข์เป็นนรก จะเข้าใจว่า นรกแลสวรรค์ มีอยู่นอกจิตนอกใจเช่นนั้น ได้ชื่อว่าเป็นคนหลง นรกแลสวรรค์ บาปบุญคุณโทษ ย่อมมีอยู่ในอกในใจทั้งสิ้น อยากพ้นทุกข์ก็ให้รักษาจิตใจ จากสิ่งที่เป็นบาปเป็นทุกข์เสีย ถ้าต้องการสวรรค์ ก็ทำการงานที่หาโทษมิได้ แลถ้าอยากได้สุขในพระนิพพาน ก็ให้วางเสียซึ่งสุขและทุกข์ คือวางจิตใจ อย่าถือว่าเป็นของๆ ตน (การที่ดูจิตแล้วพบว่า อารมณ์เศร้าหมอง หรืออารมณ์เบิกบาน ไม่ใช่หลักประกันยืนยันว่า เมื่อตายแล้วจะไปสวรรค์ หรือนรก ขึ้นกับจิตสุดท้าย ตอนตายเป็นที่สุด ดังมีตัวอย่างมาในธรรมบท เรื่องมัฏฐกุลฑลีเทพบุตร ที่พลิกโผ ทำบาปชั่วมาทั้งชีวิต ตอนตายคิดถึงพระพุทธเจ้าหน่อยเดียว ก็ไปเสวยความสุขในสวรรค์ก่อน ส่วนพระนางมัลลิกาเทวี ทำดีมาตลอดชีวิต ถึงขั้นถวายอสทิสทาน ตอนตายจิตจับอกุศลนิดเดียว ที่เคยสะดุดเท้าพระสวามี เอาเท้าไปแช่ในนรกเสีย ๗ วัน แต่จะถือเป็นหลัก ในการดำเนินชีวิตโดยประมาทว่า เดี๋ยวไปทำดีตอนตายนิดเดียว ก็ได้ไปสวรรค์ เช่นนั้นมันก็ไม่ถูก ส่วนใหญ่กรรมชั่ว มันจะดึงลงต่ำ กรรมดีมันจะดึงขึ้นสูง ๒,๕๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา มีใครเป็นอย่างท่านทั้ง ๒ บ้าง ก็น้อยกว่าน้อย พระไตรปิฎกนั้น ยกขึ้นให้เป็นตัวอย่างเท่านั้น ว่าเหตุการณ์เช่นนี้มีนะ ไม่ใช่ไม่มี อัปปมาเทนะ สัมปาเทถะ - ท่านทั้งหลาย จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม อัปปมาโท อมตัง ปทัง - ความไม่ประมาท เป็นทางของความเป็นอมตะ ปมาโท มัจจุโน ปทัง - ความประมาท เป็นทางแห่งความตาย ส่วนใหญ่ผู้ที่จิต เป็นสุขสม่ำเสมอ ก็มีแนวโน้มจะขึ้นสวรรค์ เสียเป็นส่วนใหญ่ ส่วนผู้ที่มีจิตเศร้าหมอง เป็นส่วนมาก ก็มีแนวโน้มจะไปอบายภูมิ)
หากดับกิเลสทั้งห้าได้ขาด คือ โลภะ โทสะ โมหะ มานะ และทิฏฐิ ก็เข้าถึงพระนิพพาน
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ ผู้ที่ปรารถนาความสุขในพระนิพพาน จงทำตัวให้เหมือนแผ่นดิน หรือเหมือนดังคนตายแล้ว คือให้ปล่อยความสุข แลความทุกข์เสีย ข้อสำคัญก็คือ ให้ดับกิเลส ๑,๕๐๐ นั้นเสีย
กิเลส ๑,๕๐๐ นั้น เมื่อย่นลงให้สั้นแล้วก็เหลืออยู่ ๕ เท่านั้น คือ โลภะ ๑ โทสะ ๑ โมหะ ๑ มานะ ๑ ทิฏฐิ ๑
โลภะนั้น คือความทะเยอทะยาน มุ่งหวังอยากได้กิเลสกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ๑, อยากได้วัตถุกาม คือ สมบัติข้าวของ ซึ่งมีวิญญาณแลหาวิญญาณมิได้ ๑ เหล่านี้ชื่อว่า โลภะ
โทสะนั้น ได้แก่ความเคืองแค้น ประทุษร้าย เบียดเบียนท่านผู้อื่น ชื่อว่าโทสะ
โมหะนั้น คือความหลง มีหลงรัก หลงชัง หลงลาภ หลงยศ เป็นต้น ชื่อว่าโมหะ
มานะนั้น คือ ความถือตัว ถือตน ดูถูก ดูหมิ่น ท่านผู้อื่น ชื่อว่ามานะ
ทิฏฐินั้น คือความถือมั่น ในลัทธิอันผิด เห็นเป็นอุจเฉททิฏฐิ แลสัสสตทิฏฐิไป ปล่อยวางความเห็นผิดไม่ได้ ชื่อว่าทิฏฐิ
ถ้าดับกิเลสทั้ง ๕ นี้ได้แล้ว ก็ชื่อว่าดับกิเลสได้สิ้นทั้ง ๑,๕๐๐ ถ้าดับกิเลสทั้ง ๕ นี้ไม่ได้ ก็ชื่อว่าดับกิเลสไม่ได้เลย
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ แท้ที่จริงพระนิพพานนั้น ไม่มีอยู่ในที่อื่นไกลเลย หากมีอยู่ที่จิตใจนั้นเอง ครั้นดับ โลภะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ ได้ขาดแล้ว ก็ถึงพระนิพพานเท่านั้น ถ้าไม่รู้แลดับกิเลสตัณหายังไม่ได้ เป็นแต่ปรารถนาว่าขอให้ได้พระนิพพานดังนี้ แม้สิ้นหมื่นชาติแสนชาติ ก็ไม่ได้พบปะเลย เพราะกิเลสตัณหาทั้งหลาย ย่อมมีอยู่ที่ตัวตนของเราทั้งสิ้น (หากสนใจจะศึกษา วิธีดับกิเลส ก็ต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไปอีก ในที่นี้ย่นย่อมาให้เพียงสังเขป) ฯ