มีคนขอคำแนะนำในการฝึกสมาธิ เพื่อนำไปใช้พัฒนาการเรียน ก็อย่างเคยแหละครับ เอาธรรมะหลวงพ่อมาทั้งดุ้น ไม่ได้คิดเอง แลเห็นว่า น่าจะเป็นประโยชน์แก่คนทั่วไป เลยเอามาตั้งเอ็นทรี่ใหม่ซะเลย
การฝึกสมาธิ และสติสัมปชัญญะนั้น เอาไปใช้ได้กับทุกเรื่องครับ ไม่ใช่แค่เรื่องเรียน ดังนี้
เมื่อกล่าวถึง "การปฏิบัติธรรม" คนส่วนใหญ่จะนึกไปถึง การเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม ๗ วัน ๑๕ วัน ต้องลางาน ต้องลาเรียน ไปเข้าคอร์สฝึกอบรม บ้างก็นึกถึงภาพการสมาทานกรรมฐานในโบสถ์ นุ่งขาว ห่มขาว รักษาศีล ๘ บ้างนึกถึงการนั่งสมาธินาน ๆ ครึ่งชั่วโมงบ้าง หนึ่งชั่วโมงบ้าง หลาย ๆ ชั่วโมงบ้าง บ้างนึกถึงการเดินจงกรม ๑ บัลลังก์บ้าง ๒ บัลลังก์บ้าง หลายสิบบัลลังก์บ้าง ภาวนาว่า ซ้ายย่างหนอ ขวาย่างหนอบ้าง หรือละเอียดกว่านั้นบ้าง บ้างนึกถึงการจับลมหายใจภาวนา ยุบหนอ พองหนอ บ้าง พุทโธบ้าง สัมมาอรหังบ้าง บ้างนึกถึงการทำสมาธิจับภาพพระพุทธรูปบ้าง จับภาพลูกแก้วบ้าง แม้ว่าคนจะคิดกันไปต่าง ๆ นานาเมื่อพูดถึง คำว่า "ปฏิบัติธรรม" แต่มากกว่าร้อยละเก้าสิบจะอ้างคำคำเดียวกันนั่นคือ "ไม่มีเวลา"
หลังจากศีกษาพระกรรมฐานมาราว ๒ ปี ข้าพเจ้ากลับพบว่า กรรมฐาน หรือ การปฏิบัติธรรมนั้น แทบแยกกันไม่ออกจากชีวิตประจำวัน หรืออีกนัยหนึ่ง ปฏิบัติ ก็เหมือนไม่ปฏิบัติ ไม่ปฏิบัติ ก็เหมือนปฏิบัติ ถ้าพูดถึงการปฏิบัติแล้ว ฆราวาส ต่างจาก พระ เพียงเล็กน้อยเท่านั้น และถ้าฆราวาสตั้งใจปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจัง มักได้มรรคได้ผลเร็วกว่า พระ เนื่องจากฆราวาสมีศีลที่ต้องรักษาเพียง ๕ ข้อ และต้องเจอผัสสะที่รุนแรง จากสิ่งแวดล้อม เพื่อน เจ้านาย พ่อแม่ ญาติทั้งหลาย แฟน คนรู้จัก ส่วนพระนั้นงานการอะไรก็ไม่ใคร่มีให้ทำ ผู้คนที่เข้ามาพบ ส่วนใหญ่ก็พินอบพิเทา ประเภทกวนบาทาเขาไม่ค่อยเข้าวัดกัน พระเลยสบายไป มีคู่ต่อสู้คนเดียวเลย คือ ตัวเอง ผู้ที่มีบททดสอบน้อยย่อมบรรลุช้า เป็นธรรมดา
มีผู้จำแนกวิธีบรรลุธรรมไว้ ๔ แนว
๑.ปฏิบัติยาก บรรลุเร็ว
๒.ปฏิบัติยาก บรรลุช้า
๓.ปฏิบัติง่าย บรรลุเร็ว
๔.ปฏิบัติง่าย บรรลุช้า
ทีนี้ชอบแนวไหนก็ไปเลือกกันเอา
อ้าว...แล้วจะทราบได้อย่างไรเล่าว่า แนวไหนหน้าตาเป็นอย่างไร
ขออ้างพระพุทธพจน์ก่อน ท่านตรัสไว้ว่า
มโนปุพพังคมา ธัมมา มโนเสฏฐา มโนมยา
ซึ่งแปลเป็นใจความได้ว่า
ธรรมใด ๆ ล้วนมีใจเป็นใหญ่ มีใจประเสริฐสุด และสำเร็จที่ใจ
ฉะนั้น ถ้าแนวปฏิบัติไหน ไปเน้นที่การปฏิบัติทางกาย ต้องฝึกเข้มข้นอย่างงั้นอย่างงี้ มีรูปแบบแน่นอนตายตัว ก็พอจะอนุมานได้ว่า เป็นทางอ้อม บรรลุช้าหรือเร็ว ขึ้นกับสติปัญญาของผู้ปฏิบัติ บางทีทางอ้อมก็มีข้อดี คือ พื้นฐานแน่น
ส่วนที่ว่า ปฏิบัติง่าย ปฏิบัติยาก มันขึ้นกับ "ตบะ" ของแต่ละคน บางคนให้นอนบนเตียงตะปู เขาก็รู้สึกเฉย ๆ นั่นก็แสดงว่า มันง่ายสำหรับเขา แต่บางคนแค่ให้อดข้าวเย็น ก็แทบเป็นแทบตาย นั่นก็แสดงว่า มันยากสำหรับเขา
แนวปฏิบัติใด ที่เน้นไปที่ใจเป็นหลัก ไม่มีรูปแบบตายตัว ก็พอจะอนุมานได้ว่า เป็นทางลัด บรรลุเร็วหรือช้า ก็ขึ้นกับสติปัญญาของผู้ปฏิบัติเหมือนกัน บางคนไปทางลัด แต่ไปเจอตอเข้า ก็จอดแช่เสียเป็นปี ๆ ก็มี
การปฏิบัติ เป็นเรื่อง ปัจจัตตัง รู้ได้เฉพาะตน ไม่สามารถประเมินชี้ขาดลงไปได้ว่า อย่างไหนบรรลุช้า อย่างไหนบรรลุเร็ว ขึ้นนกับจริตของผู้ปฏิบัติว่า กรรมฐานกองนั้น ๆ ตรงกับจริตผู้ปฏิบัติหรือเปล่า
สำหรับผู้ที่อ้างว่า "ไม่มีเวลา" ข้าพเจ้าขอแนะนำกรรมฐานกองหนึ่ง ซึ่งมีคนบัญญัติชื่อนี้ไว้ก่อนแล้ว แต่ใช้ในความหมายอื่น เป็นคำแนะนำวิธีปฏิบัติที่มีมาจริง ๆ ของครูบาอาจารย์นั่นคือ "นิทราสมาบัติ"
วิธีปฏิบัติ คือ ช่วงก่อนนอนนี่สำคัญมาก ให้ภาวนา พุทโธ สัก ๓ ครั้ง หายใจเข้า ภาวนา "พุท" หายใจออก ภาวนา "โธ" แล้วค่อยนอน หรือ ภาวนาให้หลับไปเลยก็ได้ ทำน้อยแต่ได้อานิสงส์มาก การหลับนี่ ถ้าไม่ถึง ฌาน มันไม่หลับหรอก ฉะนั้นถ้าภาวนาจนหลับไป ก็ถือว่า หลับในฌาน หรือหลับในสมาธิ
ช่วงตื่นนอนก็เหมือนกัน ตื่นปุ๊บอย่าเพิ่งลุกขึ้นมาดูนาฬิกา สำหรับผู้ที่ไปทำงาน หรือไปเรียน สายเป็นประจำ ก็ให้คิดเสียว่า ลุกไปตอนนี้ก็เร็วขึ้นอีกไม่กี่นาที จากนั้นให้ปฏิบัติเหมือนก่อนนอน ภาวนาไปเรื่อย ๆ พอใจสบาย แล้วค่อยลุก
ก่อนออกจากบ้าน ให้ตั้งจิตระลึกถึงพระพุทธเจ้า ภาวนา "พุทโธ" ๓ ครั้ง แล้วกลืนน้ำลาย ๑ เอื๊อก
แค่นี้ยากไปไหมล่ะครับ
สำหรับผู้ที่มีกำลังใจเข้มแข็งขึ้นมาหน่อย แต่ก็ยังอ้างว่า "ไม่มีเวลา" อีกนั่นแหละ ลองปฏิบัติอย่างนี้ครับ ลอง "รู้" ลมหายใจดู หายใจเข้า รู้อยู่ว่า หายใจเข้า หายใจออก รู้อยู่ว่า หายใจออก (แต่อย่าไปกำหนดหายใจเข้าออก ยาวหรือสั้น นะครับ นั่นเป็นการเพ่ง ปฏิบัติเท่าไหร่ก็ไม่มีผล) พยายามรู้ให้เป็นธรรมชาติที่สุด หายใจธรรมชาติที่สุด รู้ก็เหมือนไม่รู้ ไม่รู้ก็เหมือนรู้ อย่าตั้งใจ ตั้งท่า มากเกินไป ทำแบบทีเล่นทีจริง นึกได้ก็ทำ นึกไม่ได้ก็ไม่ต้องทำ ไม่มีอะไรเครียด ไม่มีอะไรซีเรียส ทำเช่นนี้ไปทั้งวันเลยครับ นั่งอยู่ก็รู้ว่า กำลังหายใจ ยืนอยู่ก็รู้ว่า กำลังหายใจ เดินอยู่ก็รู้ว่า กำลังหายใจ นอนอยู่ก็รู้ว่า กำลังหายใจ เรียนอยู่ก็รู้ว่า กำลังหายใจ คิดถึงแฟนอยู่ก็รู้ว่า กำลังหายใจ เตะบอลอยู่ก็รู้ว่า กำลังหายใจ รอผู้ปกครองมารับอยู่ก็รู้ว่า กำลังหายใจ กินข้าวอยู่ ก็รู้ว่า กำลังหายใจ ทำงานอยู่ ก็รู้ว่า กำลังหายใจ รู้มันให้ครบทุกอิริยาบถ ภาวนาไปด้วยก็ได้ ไม่ภาวนาก็ได้ ถ้าไม่ภาวนาแล้ว ใจมันฟุ้งซ่าน ก็ให้ภาวนาไปด้วย
การปฏิบัติทั้งหลาย พยายามอย่าฝืนใจตัวเองครับ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ให้ผู้ที่เคยปฏิบัติอยู่ในแบบ เลิกทำเสียนะครับ ถ้าทำในแบบอยู่แล้ว ดีแล้วครับ ทำไปเรื่อย ๆ และสำคัญที่พยายามทรงอารมณ์ให้ได้ ตลอดวัน แม้จะเลิกทำสมาธิแล้ว และไม่ใช่แนะให้ขี้เกียจนะครับ การปฏิบัติ ต้องอาศัยความเพียร แม้จะทำเล็กทำน้อย แต่ต้องเพียรทำชนิดกัดไม่ปล่อย อย่างคำแนะนำข้างต้น แม้จะดูง่าย ๆ แต่ต้องทำทุกวันนะครับ พยายามทำให้ได้ทุกวัน ทำ ๆ หยุด ๆ นี่ คงไปไม่ถึงไหน อุปมาเหมือนเราพายเรือทวนน้ำครับ ถ้าวันทั้งวัน เราไหลไปกับกิเลส ก่อนนอนมาพายสักนิดหนึ่ง ก็ยังดีกว่า ไม่พายเลย ปฏิบัติแรก ๆ พายเราจะอันเล็กครับ พายไม่ค่อยไป แต่เดี๋ยวพอปฏิบัติไป ๆ พายเราจะใหญ่ขึ้น ๆ ครับ เมื่อนั้นจะขว้างพายทิ้ง เอาเครื่องสี่สูบ 2JZ-GTE ลง ก็ไม่มีใครว่าครับ ขอให้ตอนนี้เริ่มจากพายอันเล็ก ๆ เสียก่อน
เทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ เวลาจะทำสมาธิแบบเข้มข้น ท่านแนะว่า ให้หายใจเข้าลึก ๆ จนสุดปอด แล้วหายใจออก จนสุดลมหายใจเหมือนกัน สัก ๓ ครั้ง แล้วค่อยเริ่มปฏิบัติครับ
และเวลาที่จิตฟุ้งซ่านมาก ๆ ห้ามอย่างไรก็ห้ามไม่อยู่ จะเอากรรมฐานกองไหนเข้าสู้ ก็ต้านไม่ได้ ให้ปล่อยไปเลยครับ ท่านเปรียบไว้ว่า จิตคนเรามันเหมือนม้าพยศ เมื่อมันจะพยศขึ้นมา เราก็ปล่อยมัน แต่กุมบังเหียนไว้ พอมันวิ่งจนสุดแรงแล้ว อ่อนแรงแล้ว จับมับ อยู่หมัดเลยครับ รอจนจิตมันฟุ้งจนเหนื่อยแล้ว พอมันเผลอปุ๊บ จับลมหายใจปั๊บเลย จะได้ผลดีกว่า ไปฝืนมัน หรือถ้ายังเอาไม่อยู่อีก ก็เลิกไปเลยครับ ไปทำอย่างอื่นเสียเลย ไว้วันหลังค่อยมาทำใหม่
อาจจะสงสัยว่า นี่มาขอคำแนะนำ ในการสร้างสมาธิเพื่อพัฒนาการเรียน ไฉนข้าพเจ้าแนะไปไกลถึงมรรคผล ความจริงแล้ว การฝึกสมาธิ สติสัมปชัญญะ พวกนี้ ทำให้เราเรียนดีขึ้น ทำงานดีขึ้น โดยไม่รู้ตัวครับ
เจริญยิ่งในธรรมครับ ฯ