วันจันทร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2555

57.บ่อเกิดของสุภาษิตอีสาน

บ่อเกิดของสุภาษิตอีสาน

การบันทึกคำสอ

๑) ตำนานการบันทึกคำสอนของชาวอีสานนั้นมีมาในเชตุพน คือการไปสืบศาสนาจากวัดพระเชตุพน กรุงสาวัตถี โดยมีขุนไท ขุนลี่ล้ำ ขุนพล และขุนพายกับไพร่พลชาย ๕๐๐ คนและหญิง ๑๐๐ คนไปนำเอาพระไตรปิฎกและพระธรรมเจ็ดคัมภีร์ดังข้อความดังนี้คือ

ขุนก็ลาจากเจ้าไปห้องแห่งสมณ์ เถิงสถานเจ้าราชครูบังคมหมอบ นบนอบนิ้ววอนให้เหนี่ยวขอ เอาธรรมเจ้าเจ็ดคัมภีร์เมือแผ่ ไว้สืบสร้างศีลส้อยศาสนา เมื่อนั้นมหาเถรเจ้าใจบุญบายยื่น ให้แก่หลานราชเจ้าเมื่อสร้างสืบสูตรเฮียนแท้แล้ว

๒) ได้นำเอานิทานชาดกซึ่งเป็นชีวประวัติของพระพุทธเจ้าในอดีตชาติ เช่น พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ พระเจ้า ๕๐ ชาติ พระเจ้า ๑๐ ชาติ และชาดกต่างๆเหล่านี้กลับมาด้วยแล้วนำมาแต่งเป็นกาพย์ กลอน ขึ้นแล้วจารึกไว้ในใบลานด้วยตัวอักษรธรรมรวมเป็นหนังสือผูกต่างๆมากมาย เช่น จุลชยปริต เป็นต้น

๓) ชาวอีสานได้รับเอาวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขงร่วมกับประชาชนในอาณาจักรล้านช้างมาตั้งแต่สมัยอดีต ฉะนั้นจึงมีลักษณะร่วมกันอยู่มากทางด้านวรรณคดีต่างๆ ตลอดถึงภาษาที่ใช้ก็มีสำเนียงเสียงที่คล้ายคลึงกัน ตลอดถึงคติความเชื่อต่างๆก็นับว่าคล้ายกันมาก

๔) อาณาจักรล้านช้าง(ลาว)ได้มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับอาณาจักรล้านนาในเชียงใหม่ในรัชสมัยราชวงศ์มังราย และได้เคยมีการสืบทอดวัฒนธรรมจากล้านนาไทย ตั้งขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๔๐๐ มีเมืองที่สำคัญๆ ๓ เมืองคือ เมืองหริญภุญไชย เมืองเงินยาง เมืองพะเยา ได้รับเอาพระพุทธศาสนาเข้ามาในอาณาจักรล้านนาไทย ๓ คณะคือ (๑.)คณะพื้นเมืองที่พระนางจามเทวีนำไปจากเมืองละโว้ สมัยอาณาจักรทวาราวดียังมีอำนาจอยู่และ (๒) คณะรามัญหรือคณะบุบผาวาสี เป็นพระพุทธศาสนาที่พระสุมนเถระไปอุปสมบทที่เมืองเมาะตะมะ ในประเทศพม่านำมาเผยแพร่ และ (๓) คณะลังกา ได้เข้ามาในช่วงหลังและได้รับความนิยมแพร่หลายในอาณาจักรล้านนาไทย ในสมัยต่อมา ดังที่กล่าวไว้ในหนังสือตำนานพระพุทธเจดีย์ว่า

ภิกษุสงฆ์ชาวล้านนาไปเล่าเรียนพระปริยัติธรรมรู้จนแตกฉานมาจากลังกาทวีป แล้วมาสั่งสอนกันที่ประเทศล้านนา จนมีผู้เชียวชาญแต่งหนังสือภาษามคธได้เช่นเรื่อง ชินกาลมาลินี และมงคลทีปนี ปัญญาสชาดก เป็นต้น และยังมีหนังสือที่ชาวล้านนาแต่งเป็นภาษามคธปรากฏอยู่จนทุกวันนี้มีมากกว่าสิบคัมภีร์

๕) คำสอนของชาวอีสานได้จารึกไว้ด้วยภาษาของท้องถิ่นคือตัวอักษรธรรม ใช้จารึกเรื่องราวที่เป็นจริยวัตรของพระพุทธเจ้าและสรรพวิชาการต่างๆ ตัวอักษรไทยน้อย ใช้ในราชการบ้านเมือง และจารึกวรรณกรรมที่ปราชญ์โบราณอีสานแต่งขึ้นเอง เพื่อสอนคนให้ประกอบแต่คุณงามความดี และตัวอักษรขอมใช้จารึกเรื่องราวที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าล้วนๆ เช่นพระไตรปิฏก

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้รวบรวมหัวเมืองชายแดนที่เป็นประเทศราช ทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เข้าเป็นประเทศสยามอันเดียวกัน และอิทธิพลของอักษรไทยแพร่เข้ามาในหัวเมืองอีสาน เริ่มแรกนั้นอักษรไทยก็ใช้เฉพาะในงานราชการเท่านั้น ส่วนชาวบ้านและชาววัดยังคงใช้อักษรพื้นเมืองอยู่ และเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบลงจึงทำให้อักษรโบราณอีสานได้ลดความนิยมลง

ประเภทของอีสานภาษิต

ชาวอีสานมีสำนวนโวหารในการพูดที่เป็นเอกลักษณะอยู่อย่างหนึ่งที่ทราบกันทั่วไปว่า “ผะหยา”หรือ “ผญา” มาจากคำว่า ปรัชญา หรือ ปัญญา เนื่องจากหน่วยเสียง ปร ในภาษาอีสานไม่มี จึงใช้หน่วยเสียง ผ แทน เช่น ปราสาท เป็น ผาสาท เป็นต้น ลักษณะสำนวนพูดแบบผญามีลักษณะเด่นๆอยู่ ๒ ประการคือ

๑) เป็นคำพูดที่หลักแหลม ได้สารัตถะ แสดงให้รู้ว่าเป็นคนมีสติปัญญาเฉียบแหลมของผู้พูด เช่น “เกลี้ยงแต่นอกทางในเป็นหมากเดื่อ หวานนอกเนื้อในส้มดั่งหมากหนาว” เรียกว่า หวานข้างนอกขมใจหรือตรงกับภาษิตว่า ปากหวานก้นเปรี้ยวนั้นเอง

๒) เป็นคำพูดที่ใช้ภาษาได้ไพเราะงดงามมีคุณค่าในด้านวรรณศิลป์ เป็นกลุ่มคำที่ไพเราะด้วยสัมผัสเสียง และยังมีคุณค่าในด้านการนำไปใช้ในเชิงอุปมาอุปไมยทำให้ผู้ฟังเกิดความคิดและมองเห็นภาพพจน์ ทำให้ได้ความหมายอย่างชัดเจนเมื่อนำมาเปรียบเทียบ เช่น

“ทุกข์เพิ่นบ่ว่าดี มีเพิ่นจั่งว่าพี่น้อง ลุงป้าเอิ้นว่าหลาน” หมายถึงว่าคนมีเงินมีทองรำรวย คนจึงยกย่องนำถือ แต่ถ้าคนจนๆแม้เครือญาติของตนเองก็ไม่อยากจะมาคบค้าสมาคมด้วย แต่ถ้าเขารำรวยเมื่อใดญาติๆก็จะหันมานับญาติกันอีก เป็นต้น17

ดังนั้นสุภาษิตอีสานจึงอาจนำมาจัดเป็นกลุ่มและประเภทได้ตามความหมายของกลุ่มคำและลักษณะที่นำไปใช้กับบุคคลอื่นๆแบ่งออกเป็น ๔ ชนิดใหญ่ๆคือ

           ๑. ผญาภาษิต

เป็นบทผญาที่สั้นๆบ้างยาวบ้าง เน้นไปในการสั่งสอนให้คนตั้งอยู่ในคุณธรรมของตนเอง เช่นบทผญาภาษิตเหล่านี้คือ

๑.๑) แนวนามเซื้อเสือจำศีลอย่าฟ่าวเซื่อ

บาดห่าเห็นต่อนเนื้อศีลสิม้างแตกกะเด็น

หมายความว่า อย่าได้วางใจคนอื่นในคราบของคนมีศีลธรรมหรือคนที่แต่งตัวดีแต่ซ่อนความชั่วไว้ภานใจเมื่อเขามีโอกาสอาจจะทำลายเราได้ คล้ายกับสำนวนที่ว่า “ฤาษีกินเฮีย” เป็นต้น

๑.๒) เฮือคาแก้งเกวียนเห็นให้เกวียนแก่

บาดห่าฮอดแม่น้ำเฮือสิได้แก่เกวียน

หมายถึงหลักความสามัคคีกันพึ่งพาอาศัยกันระหว่างเรือกับเกวียน หมายถึงการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันของคนเราจะอยู่คนเดียวไม่ได้ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมต้องมีสักครั้งหนึ่งที่จะต้องช่วยกันตามอัตภาพ(น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่านั้นเอง)

๑.๓) จันทร์ใสแจ้งดวงเดียวบ่มีค่อง

บ่มีดาวแวดล้อมจันทร์เจ้าก็บ่เฮือง

หมายความว่าการพึ่งกันของนายกับบ่าวหรือขุนกับไพร่ นั้นต้องไปด้วยกันช่วยเหลือกันจึงจะทำให้งานนั้นสำเร็จประโยชน์ได้ เพราะเจ้านายดีลูกน้องก็พลอยดีไปด้วยหรือนักปกครองมีคุณธรรมชาวบ้านก็มีศีลธรรมด้วยเรียกว่างามทั้งสองฝ่าย18

๑.๔) แนวหมากต้องบ่หล่นไกลกก

แนวผมดกบ่ห่อนมีหัวล้าน

หมายความว่าเชื่อเผ่าพันธ์เช่นใดก็ย่อมเป็นเช่นนั้น เหมือนปลูกพืชเช่นใดก็ย่อมได้ผลเช่นนั้น ไม่ยอมแตกแทวเป็นอย่างอื่นคนผมดกก็ย่อมมีลูกหลานที่ผมดกเช่นกับผู้เป็นพ่อแม่ แต่ยังมีความหมายแฝงอยู่คือลูกไม้ย่อมหล่นไม่ไกลต้น เปรียบด้วยบุคคลเช่นใดย่อมเป็นเหมือนพ่อแม่

        ๒. ผญาอวยพร

ก็คือคำอวยพรให้แก่บุคคลต่างๆอาจจะนำเอาผญาภาษิตมีเป็นบทอวยพรก็ได้เพื่อความเป็นศิริมงคลแก่บุคคลนั้นๆเช่น

๒.๑) ผญาอวยพรให้แก่คนทั่วๆไปเช่น

ขอให้หมู่เจ้าได้มีเงินคำแก้วไหลมาเฮืองเฮือ ให้มีเสื้อและผ้าไหลล้นหลั่งมา นอนหลับให้เจ้าได้เงินพัน นอนฝันให้เจ้าได้เงินหมื่น นอนตื่นให้เจ้าได้เงินแสน แปนมือไปให้เจ้าได้แก้วมณีโชติ ผิวะทุกเข่าของเงินทองหลั่งลงมาหาหมู่เจ้า มื้อละล้านโกฏิแสนโกฏิ โทษฮ้ายอย่ามาพาล มารฮ้ายอย่าได้มาเบียดเจ้าเด้อ

๒.๒) ผญาอวยพรแก่ทายกทายิก คือ

หากเจ้าเป็นพ่อบ้านทายกทายิกา ได้นำพาซวนเซิญป่าวเตินซาวบ้านให้มาทำงานสร้างรักษาศีลฟังเทศน์ เพื่อเป็นเหตุนำสูสู่ซั้นฟ้าคราวหน้าบัดห่าตาย นับว่าเจ้านี้ได้เป็นฑูตเมืองสวรรค์ เป็นผู้ดันดึงจูงหมู่ลุงอาว์ป้า สาธุเด้อ ด้วยอำนาจสตางค์ที่เจ้าบริจาคแล้ว จงเป็นแก้วหน่วยใส ค่อยซี้ออกบอกให้ดังใจนึกตรองตรึก เป็นแก้วสารพันนึก ระลึกใดให้ไหลล้น อย่าได้จนเงินใช้ปัจจัยทั้งสี่ ให้มีสุขสวัสดีมีเงินทองมื้อนี้ เป็นเศรษฐีมื้อหน้าดั่งพรข้าได้กล่าวอวยพร ยามเจ้ามุดมอดม้วยให้บุญซ่วยซูสนอง ให้ได้เนาวิมานทองอยู่สวรรค์เมืองฟ้า ยามเจ้าลาจากห้องวิมารทองลงมาเกิด ให้ประเสริฐด้วยเกียรติฝูงขี้เดียดจังไฮ เวรภัยหมู่นั้นให้ผันพ่ายหนีละเด้อนา

         ๓. ผญาคำพังเพย

คือเป็นกลุ่มผญาที่นำมาเป็นอุปมาอุปไมยเพื่อให้เกิดความสนใจก็มี หรือเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งโต้ตอบมาก็มี เช่น

๓.๑) ใช้น้ำมาเป็นอุปมาอุปไมยว่า

ใผว่าอีสานแล้งให้จูงแขนมันไปเบิ่ง

แม่น้ำโขงไหลอยู่จ่นๆมันสิแล้งได้จั่งใด

๓.๒) ใช้เมืองมาเป็นการเปรียบเทียบว่า

เห็นว่าเวียงจันทร์เศร้าสาวเอยอย่าฟ่าวว่า

มันสิโป้บาดหลาคือแตงซ้างหน่วยปลาย

๓.๓) ใช้หญิงมาเปรียบเทียบเช่น

เอาเมียสาวปานได้วัวซาวแม่

เอาเมียแก่ปานได้แม่ซาวคน

          ๔. ผญาเกี้ยว

ที่คนหนุ่มสาวนำมาใช้พูดจากันตามแต่จะมีโอกาส เช่นงานประเพณีต่างๆหรืองานสาธารณประโยชน์อื่นๆก็ได้ เพื่อเกี้ยวพาราสีกันนั้นเองเช่น

๔.๑) ใช้ถามเมื่อมีหนุ่มมาเยือน

สาว แม่นเจ้าเนาหนห้องสถานถิ่นเมืองใด อ้ายเอย

ใจประสงค์สังนอจังด่วนมาทางนี้

หนุ่ม อ้ายก็เนาหนห้องหนองคายก้ำบ้านอยู่

ใจประสงค์อยากได้ชู้ก็เลยล้ำล่วงมาน้องเอย

๔.๒) ใช้ถามถึงคนรักของอีกฝ่ายหนึ่งเช่น

หนุ่ม อ้ายอยากถามข่าวน้ำถามข่าวถึงปลา

อ้ายอยากถามข่าวนาถามหาทางข้าว

ถามข่าวเจ้าว่ามีคู่แม่นแล้วบ่

หรือว่ามีแต่ชู้ผัวสิซ้อนก็บ่มี

สาว อ้ายเอยน้องนี้ปลอดอ้อยสร้อยเสมอดังตองตัด

ผัดแต่เป็นหญิงมาก็บ่มีชายเกี้ยว

ผัดแต่เป็นไม้ขึ้นเครือสิเกี้ยวก็บ่มี

(พี่เอ๋ย น้องนี้เปรียบเสมือนใบตองตัด ตั้งแต่เป็นหญิงมาก็ยังไม่มีใครเกี้ยว ตั้งแต่เป็นต้นไม้ขึ้นมาก็ไม่มีเครือเถาวัลย์เกี่ยวพันเลย

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons