วันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2555

ประเพณีการเทศน์มหาชาติ

1024

พระพุทธศาสนาเป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชนทุกคนให้ทำความดีละเวันความชั่ว เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ในสังคมอย่างมีความสุข และด้วยเหตุแห่งความนับถือศรัทธาและเชื่อมั่นในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนานี้ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้กวีสร้างสรรค์ผลงานทางด้านพระพุทธศาสนาขึ้น เพื่อใช้สั่งสอนและสืบทอดคุณธรรมทางพระพุทธศาสนา

                ผลงานทางด้านพระพุทธศาสนาดังกล่าว มักนำไปใช้ในการเทศนาเพื่อโน้มน้าวจิตใจพุทธศาสนิกชนให้เกิดเลื่อมใสศรัทธา  ถ้อยคำที่ใช้จึงเรียบเรียงและร้อยกรองแล้วอย่างยิ่ง  โดยประสงค์จะยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น และเกิดความเชื่อมั่นในพระพุทธศาสนาดังเช่นงานประพันธ์เรื่องใหาชาติฉะนั้น

หนังสือมหาชาติที่เก่าที่สุดที่ได้พบในเวลานี้ คือมหาชาติคำหลวงซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ  มีรับสั่งให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตในกรุงศรีอยุธยาแปลและแต่งเมื่อพ.ศ. ๒๐๒๕  -๒๑๗๐วิธีแต่งก็คือเอาภาษามคธเดิมตั้งบาทหนึ่ง แล้วแปลแต่งเป็นคำประพันธ์ภาษาไทยวรรคหนึ่งสลับกันไป  ตัวอย่างในกัณฑ์มัทรี  เช่น

                                “ครั้นเช้าก็หิ้วเข้า                                  ชายป่าเต้าไปตามชาย

                ลูกไม้บทันงาน                                                    จำงายราชอดยืน

                                เป็นใดจึ่งมาค่ำ                                     อยู่จรหล่ำต่อกลางคืน

                เห็นกูนี้โหดหืน                                                     มาดูแคลนนี้เพื่อใด”

ทานกัณฑ์  เช่น

                                “ปางนั้นเจ้าพระยาแพศยัน                      ดรได้จอมขวัญ

                ชาลีพิลาศลักษณา                               

                                มัทรีมัทรราชธิดา                                 ได้แก้วกัณหา

                สององค์อุ้มองค์สองอร”

กัณฑ์จุลพน  เช่น

                                “ดอกไม้หลายแสงโสด                        บานช่วงโชติทั้งไพรพน

                พยงพื้นในนราดล                                               ดำกลดาษด้วยดวงดาว

                หนังสือมหาชาติคำหลวงไม่ได้แต่งสำหรับเทศน์  แต่แต่งสำหรับสวดให้อุบาสกอุบาสิกาฟังในเวลาไปอยู่บำเพ็ญกุศล

ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม  โดยสวดมหาชาติคำหลวงทำนองเก่าถวายขณะเสด็จพระราชดำเนินไปบำเพ็ญพระราชกุศล

                พ.ศ. ๒๑๗๐  ในแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม มีการประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตแต่งกาพย์มหาชาติขึ้น ลักษณะกาพย์มหาชาตินั้นจะมีศัพท์ภาษามคธน้อย  แต่งเป็นร่ายยาวภาษาไทยมากเรียกว่ากาพย์มหาชาติ  แต่แต่งเป็นคำประพันธ์ร่ายยาว สันนิษฐานว่าแต่งไว้สำหรับพระเทศน์และการที่พระเทศน์เป็นทำนองต่างๆ  นั้นก็อาจจะมาจากการเทศน์อนุโลมตามลักษณะการสวดมหาชาติคำหลวงก็ได้

                ส่วนมหาชาติกลอนเทศน์  หรือร่ายยาวมหาชาตินั้น จะยกคาถาภาษามคธมาตอนหนึ่งแล้วนำความมาแปลเป็นภาษาไทย  แต่งเป็นร่ายยาว  แต่รวบรัดเรื่องให้สั้นเข้าสำหรับพระเทศน์ให้จบ๑๓ กัณฑ์ได้ในวันเดียว  เพื่อให้เป็นสวัสดิมงคลแก่การพิธี

                เทศน์มหาชาติมีประโยชน์นานับประการ  ได้แก่ทำให้เป็นผู้รู้จักสามัคคี มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันอันที่จะประกอบกุศลกิจร่วมกัน  ทำให้เป็นผู้รู้จักเสียสละ  คือ เสียสละทั้งกำลังกาย  กำลังใจ  และกำลังทรัพย์  ลดความตระหนี่เหนียวแน่นในอุปนิสัยอันเป็นธรรมชาติของบุคคลเสียได้ทำให้เป็นผู้มีสติปัญญาซึ่งจะเกิดจากการฟังสิ่งที่ประเสริฐและดีงาม เป็นการปฏิบัติธรรมตามมงคลอันสำคัญในพระไตรปิฎก  คือเป็นผู้ฟังธรรมตามกาล  เหล่านี้เป็นต้น

                ประเพณีการเทศน์มหาชาติหรือมหาเวสสันดรชาดกมีมากแต่โบราณกาล  เหตุที่นับถือกันว่าเรื่องมหาเวสสันดรชาดกสำคัญกว่าชาดกเรื่องอื่นๆ ก็เพราะบารมีทั้งสิบอย่างของพระโพธิสัตว์จะปรากฏบริบูรณ์ในชาตินี้  จึงเรียกกันว่า  “มหาชาติ”  และถือกันว่าหากผู้ใดฟังเทศน์มหาชาติครบ๑๓ กัณฑ์ หนึ่งพันพระคาถาจบภายในหนึ่งวันแล้วจะได้ผลานิสงส์มาก  และนิยมกันว่าเป็น ศิริมงคล แม้น้ำที่ตั้งไว้ในมณฑลพิธีก็ถือกันว่าเป็นน้ำมนต์  อาจจะบำบัดเสนียดจัญไรได้  จึงเกิดประเพณีประชุมฟังเทศน์มหาชาติทุกๆ ปีทำเป็นการพิธีอย่างหนึ่งด้วย

                เทศน์มหาชาตินั้น  ยากที่จะกำหนดอายุแน่นอนว่ามีมาแต่เมื่อใด  แต่น่าจะก่อนสมัยอยุธยา  หรืออย่างน้อยก็ในสมัยอยุธยา เพราะในสมัยนั้นยังมีหลักฐานปรากฏให้เชื่อได้ว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตแต่งมหาชาติคำหลวงขึ้นไว้ และยังใช้สวดในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามตราบจนทุกวันนี้

                ความนิยมในการจัดเทศน์มหาชาติ  เกิดขึ้นเพราะความเชื่อในกุศลทานบารมีอันบุคคลจะได้รับจากการฟังเทศน์มหาชาติ  ซึ่งมีความเชื่อมาแต่โบราณกาล ๓ ประการ  พอประมวลความได้ว่า

                ประการแรก  เชื่อกันว่าคัมภีร์มหาชาติ เป็นพระพุทธวัจนะซึ่งสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสประทานเทศนาแก่พระภิกษุสงฆ์พุทธบริษัท  ณ นิโครธาราม  กรุงกบิลพัสดุ์ หากผู้ใดได้สดับย่อมเกิดสิริสวัสดิ์พิพัฒน์มงคลเป็นกุศลบุญราศีสืบไป

                อีกประการหนึ่งเชื่อกันว่า  พระศรีอาริยเมตไตรยเทพบุตร ซึ่งจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคต  ได้มีเทวโองการสั่งพระมาลัยมหาเถระ  ให้มาบอกแต่มนุษย์ทั้งหมายในโลกว่า

ถ้าผู้ใดปรารถนาประสบกับศาสนาของพระองค์ก็ให้ผู้นั้นฟังเวสสันดรชาดกอันประดับด้วยพระคาถาหนึ่งพันพระคาถาให้จบภายในวันเดียว  ให้บูชาด้วยประทีป  ธูป เทียน  ธง  ฉัตร สารพันดอกไม้  ดอกบัว  ดอกอุบล จงกลนี  ราชพฤกษ์  ให้ครบจำนวนสิ่งละพัน  ผลานิสงส์จะทำให้ได้พบศาสนาของพระศรีอาริย์

                ประการสุดท้ายการฟังเทศน์มหาชาตินี้ องค์พระธรรมกถึกผู้แสดงธรรมจะใช้กระแสเสียงเป็นทำนองอันไพเราะต่างๆ  เป็นที่ครึกครื้นรื่นเริง  ทำให้ผู้ฟังเกิดศรัทธาเกิดความปีติซาบซึ้งใจแก่ผู้สลัดเป็นอย่างยิ่ง  ผู้สดับจะได้ทั้งความรู้และความรื่นรมย์  จึงมักจะเกิดทานบริจาคเป็นอันมากและผู้บริจาคทานนั้นก็จะได้รับเสียงแซ่ซ้องสาธุการ  เกิดความปีติอิ่มเอิบใจ เหมือนมีผลทานเกิดขึ้นทันตาเห็นจึงเป็นที่ชื่นชม  ชื่นชอบ ของผู้ฟังโดยทั่วไป

                ความในพระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวถึงการพระราชกุศลเทศนามหาชาติในสมัยรัตนโกสินทร์ว่า  การพระราชกุศลเทศนามหาชาตินี้  ถือว่าเป็นเทศนาสำหรับแผ่นดิน แต่เดิมนั้นมีการกำหนดเครื่องกัณฑ์คล้ายบริขารกฐิน  คือมีผ้าไตรแพร, เงิน ๑๐ ตำลึง  และขนมต่างๆ

                สถานที่สำหรับเทศน์มหาชาติหลวงในสมัยต้นรัตนโกสินทร์นั้น เทศน์บนพระที่นั่งเศวตฉัตรในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยแห่งเดียว เว้นแต่มีพระบรมศพอยู่บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท  จึงจะยกไปเทศนาบนพระแท่นมุกพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในแผ่นดินพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยยกไปเทศน์ที่พระที่นั่งอนันตสามาคม  แต่ฝ่ายในพังไม่ได้ยินจึงได้ย้ายไปที่พระที่นั่งทรงธรรมข้างใน  ข้าราชการที่เข้าไปในการเทศนานั้น  เฉพาะแต่เจ้านาย  เจ้าพนักงานกรมพระตำรวจและมหาดเล็ก  บนพระที่นั่งทรงธรรมจึงเป็นฝ่ายในทั้งสิ้น

                ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้ย้ายกลับมาเทศน์ที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยและพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทตามลำดับ

                การตกแต่งเครื่องบูชาเทศน์มหาชาติหลวงเช่นที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย  หลังพระที่นั่งเศวตฉัตรผูกกิ่งไม้ มีดอกไม้ร้อยห้อยย้อยเป็นพวงพู่ผูกตามกิ่งไม้ทั่วไปบนพระแท่นถม  ตั้งพานพุ่มดอกไม้  พานทองสองชั้นขนาดใหญ่ขนาดเล็กเรียงสองแถว  ตะบะถมตั้งหญ้าแพรก  ข้าวตอก ดอกมะลิ  ถั่ว  งา และมีพานเครื่องทองน้อยแก้วห้าสารับ ตั้งตะเกียงแก้วแทรกตามระหว่างเครื่องทองน้อย  ตรงหน้าพระที่นั่งเศวตฉัตรออกไปตั้งหมากพรม  พานทองมหากฐินสองพาน  หมากพนมใหญ่ พานแว่นฟ้าสองพาน  แล้วพานนี้เปลี่ยนเป็นโคมเวียน มีต้นไม้เงินทองตั้งรายสองแถวกระถางต้นไม้ดัดลายคราม  โคมพโอมแก้วรายตลอดทั้งสองข้าง  หน้าแถวมีกรงนกคีรีบูนซึ่งติดกับหม้อแก้วเลี้ยงปลาทองตั้งปิดช่องกลาง  ปลายแถวตั้งขันเทียนคาถาพัน  ตามตะเกียงกิ่งที่เสาแขวนฉากเทศน์ทั้ง ๑๓ กัณฑ์  หน้าท้องพระโรงมีซุ้มตะเกียง ๔ ซุ้ม  มีราชวัตรฉัตรธงผูกต้นกล้วยต้นอ้อยตามธรรมเนียม

                เล่ากันว่าเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเป็นเวลาเล่นเครื่องแก้วเครื่องแก้วกำลังมีตาคามาก ในห้องฉากซึ่งเป็นที่ประทับในพระเฉลียงพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยนี้ตั้งเครื่องแก้วเป็นเครื่องมนัสการโต๊ะหมู่  และมีเครื่องประดับต่างๆ  งดงามยิ่งนัก เจ้านายข้าราชการฝ่ายในก็มีตะบะเครื่องบูชาเป็นเครื่องแก้ว  เครื่องทอง เครื่องถม ประกวดประขันกันเป็นการสนุกสนานมาก แต่ในชั้นหลักมาในพระฉากมีแต่เครื่องมนัสการแก้ว  โต๊ะประดับกระจกสำรับเดียวเท่านั้น  แต่เจ้านายข้าราชการฝ่ายใน  ยังมีเครื่องบูชา  ถ้าผู้ที่อายุมากๆ  ก็จะใช้ตะบะอย่างเก่าๆ  ถ้าสาวๆ อายุน้อยๆ  ก็เป็นโต๊ะพานย่อๆ  ลงไป เล่นแต่สีดอกไม้ดอกไหล้ ไม่จัดทำแข็งแรงเหมือนอย่างแต่ก่อนแต่ถ้าเทศน์ที่พระที่นั่งทรงธรรม  จะจัดม้าหมู่ตรงหน้าธรรมาสน์มีเครื่องแก้วต่างๆ  ฝรั่งบ้าง จีนบ้างมากกว่าเทศน์ที่ท้องพระโรง แต่ไม่มีต้นไม้เงินทอง  แต่ไม่มีต้นไม้เงินทอง  มีแต่ต้นไม้สดตั้งรายยออกไปจนถึงที่ตั้งเครื่องกัณฑ์

เทศน์มหาชาติหลวงที่จัดเป็นการพิเศษในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีการเกณฑ์พระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการทำกระจาดใหญ่บูชากัณฑ์เทศนาซึ่งเชื่อกันว่าในสมัยรัชกาลที่ ๑ นี้น่าจะเห็นการพิเศษจริงๆ จะเห็นได้จากหลักฐานในประชุมจารึกวัดพระเชตุพน ในพระวิหารทิศพระโลกนาถมุขหลัวว่าด้วยเรื่องทรงสร้างวัดพระเชตุพนครั้งรัชกาลที่๑ ซึ่งกล่าวถึงการพระราชกุศลที่สร้างอันเกี่ยวข้องกับสัตตสดกมหาทานในพระเวสสันดรชาดกความว่า”…เปนพระราชทรัพย์ทิ้งทานต้นกรรมพฤกษ์ฉลากพิกัดค่าพระราชบุตรบุตรีพระภาคีไนยราชแลนางพระสนมราชกุญชร อุศดรนาวาฉลากละห้าชั่งสี่ชั่งสองชั่งเป็นเงินสามร้อยสามสิบแปดชั่งเงินใส่ผลมะนาวร้อยหกสิบแปดชั่วเข้ากันทิ้งทานห้าร้อยหกชั่งคิดทังเงินค่าผ้าทรงพระดอกไม้สดบูชา เลี้ยงพระสงฆ์กระจาดและโรงฉ้อทานเครื่องไทยทาน

                จะเห็นได้ว่าการพระราชกุศลที่จัดทำขึ้นเป็นการพิเศษในสมัยรัชกาลที่๑ นั้น ยึดแนวทางสัตตสดกมหาทานในมหาเวสสันดรชาดกเป็นแบบอย่างของทานบริจาคด้วยความเชื่อถือและศรัทธายิ่ง

                ในหนังสือวชิรญาณวิเศษเล่ม ๓ หน้า ๑๙๔ ได้กล่าวถึงการเทศน์มหาชาติว่า

                “ครั้นปีพ.ศ.๒๓๕๐ พระเทพมุนีวัดสังข์กระจายได้เข้าถวายเทศน์กัณฑ์ชูชกในรัชกาลที่๑ เจ้าจอมฝ่ายในรับกัณฑ์ชูชกของพระเทพมุนี วัดสังข์กระจาย การจัดเทศน์มหาชาติครั้งนี้ยิ่งใหญ่นัก”

                นอกจากนี้ในพระราชพงศาวดารฉบับพรราชหัตถเลขายังมีบันทึกว่ามีการเทศน์มหาชาติแผ่พระราชกุศลถึงพระเจ้าต่างกรมและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน เจ้าจอมพระสนมเอกมีกำลังพอได้ทำกระจาดใหญ่บูชากัณฑ์เทศน์มหาชาติ ๑๓ กระจาด ตั้งกระจาดหน้ากำแพงมหาปราสาทรายมาถึงหน้าโรงทองนาฬิกาและข้างชานชาลาด้วย ประกวดประขันกันนักกระจาดคุณแว่นพระสนมเอก แต่งเด็กมีเครื่องแต่งหมดจด ถวายเป็นสิทธิขาดทีเดียวตามหลักฐานที่ได้พบว่ามีการเทศน์มหาชาติใหญ่ ๒ ครั้ง

                ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯผนวชเป็นเณรนั้น ทรงจำได้ว่าคราวเป็นเณรนั้นทรงจำได้ว่าคราวเป็นเณรได้ถวายเทศน์ ยังมีกระจาดใหญ่เป็นรูปเรือสำเภาซึ่งทำขึ้นที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสรรย์เป็นกัณฑ์เทศน์เฉพาะพระองค์ด้วย

                ในประเพณีการเทศน์มหาชาติพระนิพนธ์กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ กล่าวถึงเครื่องกัณฑ์เทศน์ไว้ว่า “เครื่องกัณฑ์นั้นมักมีเครื่องสรรพอาหารผลไม้กับวัตถุปัจจัยคือเงินตราเราดีๆๆนี่และผ้าไตร อันนี้เป็นธรรมเนียมไม่ใคร่ขาดที่มีเครื่องบริขารอื่นต่างๆเพิ่มเติมอีกด้วยก็มีมากบริขารสำหรับมหาชาติที่ถือว่าถูกแบบแผนนั้น มักจัดเป็นจตุปัจจัย เสื่อสาด อาสนะและไม้กวาด เลื่อย สิ่ว ขวาน อนุโลมในเสนาสนะปัจจัย ยา และเครื่องยาต่างๆน้ำผึ้งน้ำตาล อนุโลมในคิลานะปัจจัยบริขาร”

                มีวรรณคดีสำคัญของคนไทยเรื่องหนึ่งกล่าวถึงประเพณีการเทศน์มหาชาติไว้อย่างชัดเจนที่สุดได้แก่วรรณคดีเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ซึ่งถือเป็นการบันทึกหลักฐานอันสำคัญยิ่งทางด้านวัฒนธรรมและประเพณีไทยเป็นการบันทึกความเป็นไปแบบชาวบ้านใช้ภาษาชาวบ้านซึ่งเข้าใจง่ายและมีความไพเราะด้วยรูปแบบของคำประพันธ์ที่ใช้เริ่มตั้งแต่บันทึกเกี่ยวกับช่าวเวลาในการจัดเทศน์มหาชาติ และวิธีการดำเนินการ คือ

                                “อยู่มาปีระกาสัปตศก                        ทายกในเมืองสุพรรณนั่น

                ถึงเดือนสิบจวนสารทยังขาดวัน                           คิดกันจะมีเทศน์ด้วยศรัทธา

                พระมหาชาติทั้งสิบสามกัณฑ์                              วัดป่าเลไลยนั้นวันพระหน้า

                ตาปะขาวเฒ่าแก่แซ่กันมา                                  พร้อมกันนั่งปรึกษาที่วัดนั้น”

                การปรึกษาหารือคงเริ่มตั้งแต่กำหนดวันจัดงานการจัดเตรียมสถานที่ การจัดหาเจ้าภาพ เพื่อเป็นเจ้าของกัณฑ์แต่ละกัณฑ์และการจัดเตรียมเครื่องกัณฑ์ไปร่วมกันเจ้าภาพคนอื่นๆเป็นต้น ดังคำประพันธ์ต่อไปนี้

                                บ้างก็รับทศพรหิมพานต์                   บ้างก็รับเอาทานกัณฑ์นั่น

                ที่ลูกดกรับชูชกกัณฑ์กลางวัน                            ให้ยายศรีประจันกัณฑ์มัทรี

มหาราชพันชาติกัณฑ์กลางคืน                           ฟังพระหัวเราะครึกครื้นกันอึงมี่

ฉ้อกษัตริย์สงัดเงีบยเชียบดี                               ตาหมื่นศรีคนแก่แกรับไป

                นางวันรับกัณฑ์จุลพน เณรอ้นดีถนัดหัดขึ้นใหม่

                เทศน์กัณฑ์มหาพนชีต้นใจ                                ตาไทก็รับไปทันที

วนประเวศน์นั้นท่านวัดแค                                 เป็นกัณฑ์ของตาแพกับยายคลี่

                เออ!กัณฑ์หนี่งใหญ่ให้ใครดี                                ยากที่สัปปุรุษจะรับไป

                ออเออ!จริงแล้วกัณฑ์กุมาร                                ให้เจ้าขรัวหัวล้านบ้านรั้วใหญ่

                นายบุญคุ้นกันไปไวไว                                       ถึงขุนช้างยื่นให้ใบฎีกา

                จะมีพระมหาชาติสิบสามกัณฑ์                            วัดป่าเลไลยนั้นวันพระหน้า

                ตามแต่ใจหม่อมจะศรัทธา                                 พ่อขาทำบุญบ้างเป็นไร

                นางพิมศรีประจันกัณฑ์มัทรี                               กุมารยังหามีใครรับไม่

                ขุนช้างหัวร่ออ่อชอบใจ                                    ที่กัณฑ์ใหญ่ใหญ่เรายินดี

                จะคิดอะไรกับสิ้นยัง                                         ถึงสิ้นสักห้าชั่งเราเต็มใจ

                เกิดชาติใหม่ก็จะได้ไปมั่งมี                                ทำบุญอย่างนี้เราเต็มใจ

                 นายบุญยินดีรี่กลับมา                                      เผดียงพระเอาฏีกาไปส่งให้

                ครบทั้งสิบสามกัณฑ์เป็นหลั่นไป                          ชาวบ้านน้อยใหญ่ก็เตรยมการฯ

                เมื่อคณะกรรมการวัดได้บอกบุญแก่เจ้าภาพครบทั้งสิบสามกัณฑ์แล้วพอใกล้ถึงวันงานก็จัดเตรียมสถานที่ ประดับต้นกล้วย ต้นอ้อย ราชวัตร ฉัตร ธงฯลฯ เจ้าภาพที่รับกัณฑ์เทศน์แต่ละกัณฑ์ก็จะตระเตรียมเครื่องกัณฑ์ของตนด้วยความตั้งใจบางครั้งอาจดูวุ่นวายแต่ก็เต็มไปด้วยความสุขในการทำบุญ ดังเนื้อความต่อไปนี้

                           ครานั้นเจ้าจอมหม่อมขุนช้าง                      น้ำใจกว้างขวางให้ฟุ้งซ่าน

                  เด็กเอ๋ยหาไม้อย่าได้นาน                                   จักสานกระจาดนั้นเตรียมไว้

                  เอาเงินตราไปหาซื้อสังเค็ด                                 บริขารเบ็ดเสร็จทั้งน้อยใหญ่

                  หาผ้าเนื้อดีมาทำไตร                                         ที่ผู้หญิงนั้นไปหาเครื่องกัณฑ์         

                  ข้าวแป้งระแนงตำทำเป็นผง                                มุกกลมขนมกงเร่งจัดสรร

                  สิ่งหนึ่งอย่าให้น้อยตั้งร้อยอัน                              อย่ากลัวเปลืองน้ำมันไปซื้อหา

                  ส้มสูกลูกไม้ใส่ของสวน                                     ให้ถี่ถ้วนถูกแพงก็ไม่ว่า

                  อย่าทำใจทมิฬเขานินทา                                     เขานับหน้าว่ากูเป็นผู้ดีฯ

                  คราวนั้นฝ่ายนางศรีประจัน                                   เรียกข้าด่าลั่นอยู่อึงมี่

                  แม่พิมพ์ช่วยแม่บ้านมาข้างนี้                                เข้ามานี่ช่วยกันทันเวลา

                 บ่าวไพร่ทำขนมประสมปั้น                                    ชุบแป้นทอดน้ำมันอยู่ฉ่าฉ่า

                 เฮ้ย!ไฟร้อนนักชักฟืนรา                                       อีคงควักตักมาว่าเกรียมดี

                 วางไว้ตามชะมดและกงเกียน                                 ฟั่นเทียนเรียงไว้อย่าให้บี้

                ขนมกรุบขนมกรอบเห็นทีชอบที                               คลุกน้ำตาลพริบพรีใส่ทีไว้

                 ข้าวเม่ากวนแป้งนวลชุบทอด                                  เอาไม้แยงหลอดใส่ยอดไข่

                มะพร้าวน้ำตาลหวานไส้ใน                                      สุกแทงขึ้นไว้อ้ายลูกโคก

                บ้างควักแป้งแบ่งปันช่วยกันหวา                                ฝูงเข้าอึงมี่ดังมีโขน

                ศรีประจันเร่งรัดร้องตะโกน                                      ค่อยส่งมาอย่าโยนจะยับไปฯ

       การเทศน์มหาชาตินั้นจะเริ่มกันตั้งแต่เวลาเช้าในกัณฑ์ทศพรนั้นมักจะนิมนต์สมภารเจ้าอาวาสเป็นผู้เทศน์เอาฤกษ์เสียก่อนจะว่าเป็นการเทศน์ต้อนรับญาติโยมที่มีศรัทธามาทำบุญที่วัดก็เป็นได้และมักจะลงท้ายด้วยนครกัณฑ์เพื่อส่งญาติโยมอีกเช่นกันเจ้าภาพกัณฑ์ทศพรจึงต้องตระเตรียมเครื่องกัณฑ์ขนมาที่วัดตั้งแต่เช้ามืด

                                ครานั้นเจ้ากัณฑ์ทศพร                                       ลุกขึ้นตื่นนอนแต่ก่อนไก่

                ขนของเครื่องกัณฑ์สนั่นไป                                                 ถึงวัดป่าเลไลยได้อรุณ

                เครื่องกัณฑ์ตั้งพานในการเปรียญ                                        จุดธูปเทียนไหว้พระอยู่กรุ่นกรุ่น

                ชีต้นให้ศีลบอกส่วนบุญ                                                     แล้วว่าจุณณียบทบาลีไป

ทศพร หิมพานต์ทานกัณฑ์                                             จบพลันกัณฑ์หลังขึ้นตั้งใหม่

                ถึงกัณฑ์มหาพนชีต้นใจ                                                     จบแล้วเธอก็ไปกุฏีพลันฯ

        เมื่อพระขึ้นธรรมมาสน์เทศน์หรือเมื่อเทศน์จบลงจากธรรมาสน์ ก็จะมีปี่พาทย์รับ ต้องใช้วงปี่พาทย์ เพราะเพลงบรรเลงล้วนเป็นเพลงหน้าพาทย์ทั้งนั้นจำเป็นต้องใช้ตะโพน กลอง เป็นเครื่องเคาะจังหวะ

           เพลงหน้าพาทย์เป็นเพลงที่ใช้บรรเลงประกอบอากัปกิริยาของตัวโขนละคร เช่นเวลาจะไปไหนมาไหนก็มีเพลงเชิด จะร้องไห้เศร้าโศกก็มีเพลงโอด จะแปลงตัวก็มีเพลงตระนิมิตจะนอนก็มีเพลงตระนอน ตัวละครสำคัญจะเดินทางใกล้ก็เสมอ เช่น เสมอมาร เสมอตีนนกเสมอเถร ถ้าพระขึ้นธรรมาสน์เทศน์ต้องใช้เพลงสาธุการ เพื่อบบูชาพระรัตนตรัยและอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ลงมายังโรงพิธีเพื่อฟังพรธรรมเทศนาและเมื่อเทศน์จบต้องบรรเลงเพลงประจำกัณฑ์ตามจุดเด่นแห่งท้องเรื่องของกัณฑ์นั้นๆซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ทรงประทานไว้ครบ ๑๓ กัณฑ์ คือ

๑. กัณฑ์ทศพร (๑๙  พระคาถา) เพลงสาธุการพระนางผสุดีพระมเหสีพระอินทร์ขอพร ๑๐ ประการ

๒. กัณฑ์หิมพานต์ (๑๓๔  พระคาถา) เพลงตวงพระธาตุโทณพราหมณ์เอาทะนานตวงพระธาตุแจกจ่ายกษัตริย์ เป็นเพลงฉิ่ง บรรเลงโดยใช้ตะโพน กลองประกอบจังหวะ จุดเด่นของกัณฑ์อยู่ที่การประทานช้างปัจจัยนาเคนทร์

๓. ทานกัณฑ์ (๒๐๙  พระคาถา) เพลงพยาโศกพระนางผสุดีเข้าไปกราบทูลขอพระราชทานอภัยโทษก็ไม่โปรดให้ พระนางและพระสนมคร่ำครวญ

๔. กัณฑ์วนประเวศน์ (๕๗ พระคาถา) เพลงพญาเดิน สี่กษัตริย์เสร็จดำเนินไปเขาวงกต

๕. กัณฑ์ชูชก (๗๙ พระคาถา)เพลงเซ่นเหล้า ใช้ประกอบอากัปกิริยากินเลี้ยงและมีการดื่มสุราเมามายหรืออาการเดินโซเซของภูตผีปีศาจจำพวกเปรต บางทีใช้ค้างคาวกินกล้วย

๖. กัณฑ์จุลพน (๓๕ พระคาถา)เพลงรัวสามลา หรือคุกพาทย์ ใช้ประกอบการแผลงฤทธิ์หรือการพิลึกพิลั่นต่างๆ

๗. กัณฑ์มหาพน (๘๐ พระคาถา)เพลงเชิดกลอง พระอัจจุตฤาษีชี้ทางให้ชูชกเดินทาง

๙. กัณฑ์มัทรี (๙๐ พระคาถา)เพลงทยอยโอด พระนางมัทรีตามหาสองกุมารจนสลบลง

๑๐. กัณฑ์สักกบรรพ (๔๓พระคาถา) เพลงกลม ประกอบการเหาะของพระอินทร์

๑๑. กัณฑ์มหาราช (๖๙พระคาถา) เพลงกราวนอก การยกทัพของฝ่ายมนุษย์

๑๒. กัณฑ์ฉกษัตริย์ (๓๖ พระคาถา) เพลงตระนอนหกษัตริย์พบกันทรงพระกันแสงจนสลบไปทั้งหมด

๑๓. นครกัณฑ์  (๔๘ พระคาถา) เพลงทะแยกลองโยน ใช้เปิงมารประกอบจังหวะเป็นเสียง เปิง – พรวด

      เมื่อสิ้นสุดงาน หากไม่มีวานอื่นๆอีก ปี่พาทย์จะบรรเลงเพลงกราวกรำต่อเป็นการอนุโมทนาบุญแก่ผู้ที่มาร่วมในการกุศลพระภิกษุสวดยถาสัพพีแล้วเป็นอันเสร็จสิ้นงาน

        จะเห็นได้ว่าพิธีกรรมพิธีการงานมหาชาตินั้นมีเป็นขั้นตอนเช่นต้องจัดสถานที่ ต้องมีคนไปนิมนต์พระ ต้องหาปี่พาทย์ ไม่เหมือนงานเทศน์ทั่วไปงานเทศน์ทั่วไปมีธรรมาสน์เทศน์ก็เทศน์ได้แล้วแต่เทศน์มหาชาติต้องมีธรรมเนียมปฏิบัติมากมายดังในเรื่องขุนช้างขุนแผนที่ยกมาเป็นตัวอย่างข้างต้นพระที่จะเทศน์แต่โบราณ ทายกผู้นิมนต์ก็ต้องคัดสรรมาตามความถนัดของท่านว่าท่านถนัดหรือมีความชำนาญในกัณฑ์ไหน สมัยก่อนกว่าจะหาพระเทศน์ได้ครบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ผู้นิมนต์ก็ต้องใช้เวลากันนานพอสมควรเพราะทำนองเทศน์ของแต่ละกัณฑ์นั้นว่าไม่เหมือนกันคนฟังก็ต้องตั้งข้อสังเกตดูว่าเสียงที่ร้อง ทำนองที่ให้ ภาษาที่ใช้ถูกต้องหรือเปล่าทำนองมหาชาติแต่ละกัณฑ์มีความแตกต่างกันเช่นเดียวกับความแตกต่างของเพลงหน้าพาทย์ทั้ง๑๓ เพลงในแต่ละกัณฑ์ ให้ลองตั้งข้อสังเกตกันดู ในแหล่ประวัติมหาชาติที่ว่าเกี่ยวกับทำนองของแต่ละกัณฑ์มีดังนี้

                     “ทั้งสิบสามกัณฑ์ สืบสานทำนอง                               สำเนียงเสียงร้อง ให้เดินสามสาย

              อักษรสามหมู่ควบคู่กันไป                                               แต่ทำนองใน นั้นว่าต่างกัน

              เสียงเล็กเสียงใหญ่จัดไว้เป็นหมู่                                        กลอนคี่กลอนคู่ อุโฆษขาน

               ฟังแล้วสำเริงเกิดความสำราญ                                         เสียงอ่อนเสียงหวาน ร้องไห้มีฮา”

                เมื่อฟังเสียงร้องทำนองที่ให้ ภาษาที่ใช้ว่าถูกต้องดีแล้วก็หันมาคิดถึงสารธรรมที่จะได้เทศน์มหาชาติมีธรรมะสาระมากมาย  มีศีล มีทาน  การบูชาและหน้าที่  คนไทยฟังกันแล้วก็เก็บเอาตัวอย่างในทางที่ดีนำไปประพฤติและปฏิบัติกัน  เช่น

                                “อันที่จริง  เรื่องเวสสันดร                                 ทุกวรรคทุกตอน  ในเนื้อหา

                มีศีลมีทาน  การบูชา                                                       ฟังแล้วก็น่า  ระทึกใจ

                มีทั้งพ่อแท้  แม่ที่ถูก                                                       หน้าที่ของลูก  จะเป็นไฉน

                มีทั้งผัวดี  มิดีอย่างไร                                                      ภรรยาเขาจึงได้  ปฏิบัติบูชา

                แต่ว่าเมียดี  เขาคงมีอะไร                                                ผัวจึงมอบให้  สมบัติห้า

                ฟ้าแล้วจะเห็นเรื่องเป็นมา                                                ในเรื่องพระยา  เวสสันดร”

                ครั้นฟังมาถึงตอนท้าย  นอกจากจะรู้ว่ามหาชาติ  มีทำนอง มีธรรมะแล้ว  ก็จะได้เห็นประเพณี  เรียกว่าถ้าฟังเทศน์มหาชาติจนครบ ๑๓ กัณฑ์หนึ่งพันพระคาถาแล้ว สิ่งที่เรารู้ก็คือมหาชาติ มีทำนอง  มีธรรมะ  และมีประเพณี ดังตัวอย่างของแหล่ตอนท้ายที่ว่า

                                “เท่าที่ทายก  และท่านสมภาร                          ได้จัดงาน  ให้มีเทศน์นี้

                ก็เพื่อฟื้นฟู  ประเพณี                                                      ให้คงที่  เหมือนอย่างเดิม

                คุณโยมที่ไป  นิมนต์ฉันไซร้                                             ช่างมีใจ  ช่วยส่งช่วยเสริม

                หลายคนหลายแรง  ช่วยริเริ่ม                                           ช่วยส่งเสริม  ประเพณี

                คุณโยมที่เป็น  เจ้าของกัณฑ์                                             มาร่วมงาน  สามัคคี

                นิมนต์หลวงน้า  หลวงอาหลวงพี่                                        มาเทศน์วันนี้  ด้วยจิตศรัทธา

“เทศน์มหาชาติจะอยู่ได้ต้องอาศัยเราทุกคนช่วยกันรักษา”

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons