เอาเข้าแล้วครับ นี่ถ้าเขามีการประกวดกัน คงได้เป็นภิกษุที่เป็นเลิศด้านไอเดียพิลึกกึกกือ วันนี้เราลองมาเอาเศษเสี้ยวนาโนของโนฮาว ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์มาวิจัยใช้ในชีวิตประจำวันกันดู
วันนี้ (ที่สมมุติให้เป็น) วันแห่งความรักก็ต้องเขียนเรื่องรัก ๆ มีไอเดียโลดแล่นอยู่ในหัวมากมายเลยแหละขณะออกบิณฑบาต ลองจิ๊กออกมาเขียนสักเรื่องหนึ่ง
มาดูกันครับว่า เราเอาอภิญญาสมาบัติมาประยุกต์ใช้กับความรักได้อย่างไร?
อธิษฐานเลยสิจ๊ะ
ช่วงหลายเดือนมานี่ ได้ศึกษาเรื่องอธิษฐานบารมีอยู่เนือง ๆ เนื่องจากพระเพื่อนรูปหนึ่ง ทำบุญแล้วไม่อธิษฐานอะไรเลย (ส่วนข้าพเจ้าอธิษฐานสั้น ๆ ง่าย ๆ ว่า "ขอให้ถึงนิพพาน") ดูมันจักไม่ค่อยเข้าแก็บเท่าไหร่ เพราะอธิษฐานบารมี ก็เป็น ๑ ใน ๑๐ บารมีที่ต้องมี ต้องเต็ม
ยังมีความสับสนเรื่องการอธิษฐานในศาสนาพุทธ กับการวิงวอนขอโน่นขอนี่จากผู้มีฤทธิ์ หรือพระเจ้าในศาสนาอื่นว่า เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร? การทำบุญแล้วยังหวังได้โน่นได้นี่ เป็นการทำบุญด้วยกิเลสหรือเปล่า? หรือการทำบุญที่แท้จริงคือต้องไม่หวังอะไรเลย?
เที่ยวไถ่ถามครูบาอาจารย์ และอ่านหนังสือหลายเล่ม ก็ได้คำตอบคล้าย ๆ กัน คือ อธิษฐานบารมีนี่ เหมือนหางเสือเรือ คอยบังคับทิศทางให้ผลบุญที่เราทำไป แสดงกลับมาในลักษณะไหน หากไม่อธิษฐาน ผลก็ได้รับเหมือนกัน แต่สะเปะสะปะไม่มีทิศทางที่แน่นอน บ้างก็เสียโอกาสการบรรลุมรรคผลนิพพาน ในพระไตรปิฎกมีเรื่องของอาฬวีเศรษฐีที่ขาดอธิษฐานบารมี พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ว่า ถ้าตถาคตแสดงธรรมแก่อาฬวีเศรษฐีสมัยที่ยังเป็นมหาเศรษฐี อาฬวีเศรษฐี จักได้อนาคามีผล สมัยที่เป็นอนุเศรษฐี จักได้โสดาบัน มาบัดนี้อาฬวีเศรษฐีรักษาทรัพย์ไว้ไม่ได้ กลายเป็นขอทานแสดงธรรมโปรดก็ไม่มีผล เพราะมัวแต่ไปกังวลเรื่องทำมาหากิน
นี่ถ้าอาฬวีเศรษฐีเคยอธิษฐานไว้ให้ตนได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ได้มีโอกาสอันเยี่ยม คือมาเกิดในสมัยพุทธกาล ป่านนี้ก็คงได้เป็นพระอริยบุคคลขั้นใดขั้นหนึ่งไปแล้ว
มาได้อ่านหนังสือ "บุญใหญ่พลิกชีวิต" ของณัฐพบธรรม ก็รู้สึกว่า ได้คำตอบที่ตรงใจมาก เข้าใจได้ง่าย ๆ เลย คือ สวดมนต์วิงวอนขอในศาสนาอื่น ไม่ได้ลงมือทำอะไรเลย หรือทำนิดหน่อย แล้วขอในสิ่งที่ตนปรารถนาจากผู้อื่น กับอธิษฐาน คือเราลงมือทำบางอย่าง เช่น สร้างบุญ แล้วตั้งจิตด้วยความแน่วแน่ว่า เราต้องการให้ผลบุญที่เราทำเอง ย้อนกลับมามีผลกับชีวิตเราในลักษณะไหน แสดงผลแบบไหน (คือเชื่อในกฏแห่งกรรม ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว เพียงแต่อธิษฐานจำกัดให้ได้ดีแบบไหน ได้ชั่วแบบไหน)
ทำบุญแล้วอธิษฐาน ก็ทำแล้วนี่หว่า!!! ทำไมไม่เห็นผล?
วะฮ่าฮ่า... ฟังเรื่องราวการอธิษฐานเหล่านี้มาไม่ต่ำกว่าสิบครั้ง ลองทำดูหมดแล้ว ไม่เห็นมีผลอะไรเลย ท่านยังศึกษาไม่ดีครับ ศึกษาให้ลึกเข้าไปในไส้ติ่งแล้วท่านจักพบว่า แม้ต้องการให้สิ่งที่อธิษฐานสำเร็จเห็นผลทันทีหลังจากอธิษฐานเสร็จ ก็เป็นไปได้
เรื่องความเร็วในการส่งผลนี่บ้างก็มาจากบุญบารมี (ทุนเดิม) ที่สะสมมาของผู้อธิษฐานเองครับ (เรียกว่า กรรมเก่าก็ได้ วาสนาก็ได้ เช่น บุคคลที่มีสัจจบารมีขั้นปรมัตถ์ ก็อาจมีวาจาสิทธิ์ พูดหรืออธิษฐานอะไรแล้วก็เป็นตามนั้น เป็นต้น วาสนา หรือกรรมเก่านี้เปลี่ยนไม่ได้เลยไม่ขอพูดถึง) บ้างก็มาจากกำลังจิต ท่านอธิษฐานด้วยกำลังจิตขนาดไหน นักวิทยาศาสตร์บอกว่า ความจริงแล้ว จิตของคนเรามีกำลังมหาศาล แต่เราดึงออกมาใช้ได้เพียงไม่เกิน ๓ เปอร์เซนต์ ส่วนผู้ที่ได้อภิญญา คือผู้ที่สามารถนำพลังจิตออกมาใช้ได้เกิน ๑๐ เปอร์เซนต์ ในเมื่อกำลังแห่งจิตจักเสกน้ำให้แข็งก็ทำได้ เสกหินให้อ่อนก็ทำได้ ทำไมแค่เสกให้ตัวเองสมหวังในความรักจิ๊บจ๊อยแค่นี้จักทำไม่ได้
ที่เรา ๆ ท่าน ๆ อธิษฐานแล้ว บางทีต้องรอไปถึงชาติหน้า ชาติโน้น กว่าแรงอธิษฐานจักเป็นผล ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเหตุปัจจัยยังไม่เหมาะสม อีกส่วนคือพลังจิตของเรายังไม่เพียงพอ เพราะจิตเรายังไม่ได้ฝึกฝน จิตมีนิวรณ์ ๕ (เครื่องกั้นจิตจากความดี) มีกิเลส (เครื่องเศร้าหมอง) ตลอดเวลา จิตไม่ผ่องใส แรงอธิษฐานก็มีกำลังต่ำ
วิถีแห่งอภิญญาสมาบัติ (คล้ายวิถีแห่งอัศวินเจไดเรยยย) เท่าที่ศึกษาวิธีปฏิบัติมา เวลาจักเสกหินให้อ่อน หรือเสกน้ำให้แข็ง เขาก็ใช้อธิษฐานบารมีนี่ละครับ แต่มีเคล็ดไม่ลับอยู่ตรงที่ เวลาอธิษฐานเสร็จแล้ว ก็เข้าสมาบัติ (สมาธิขั้นลึก) หรือเข้าฌาน ออกจากฌานมา ดินก็อ่อน หรือน้ำก็แข็งตัวตามที่อธิษฐานนั้น ซึ่งหมายถึงว่า เวลาอธิษฐานนี่จิตจักทำหน้าที่ของมันคือ "คิด" คำอธิษฐาน เวลาที่จิตคิดนี่ จิตไม่มีกำลัง จิตไม่เป็นสมาธิขั้นลึก หรืออัปปนาสมาธิ ครั้นอธิษฐานเสร็จท่านก็เข้าฌาน ตอนเข้าฌานนี่แหละที่จิตมีกำลังมากจนสามารถทำให้ดินอ่อน หรือน้ำแข็งตัวได้ตามต้องการ นี่สำหรับผู้ที่ได้อภิญญา ๕ ในอภิญญา ๖ ส่วนผู้ที่ได้อภิญญาหกนั้น แทบไม่ต้องอธิษฐานเลย เพราะทรงฌานอยู่ตลอดเวลา จิตมีกำลังอยู่ตลอดเวลา สั่งให้หินอ่อนตัว หินก็อ่อนทันที สั่งให้น้ำแข็งตัว น้ำก็แข็งตัวทันทีเช่นกัน
เอาอภิญญามาใช้กับความรัก
เข้าใจวิธีปฏิบัติแล้ว มันก็ไม่ยากครับ ก็แค่อธิษฐานว่า ขอให้สมหวังในความรัก แล้วก็เข้าอัปปนาสมาธิ มีปฐมฌาน (ฌานที่ ๑) เป็นต้น จตุตถฌาน (ฌานที่ ๔) เป็นที่สุด ออกจากฌานแล้ว ก็สมหวังในความรักดังต้องการ
พูดหน่ะมันง่าย ใครมั่งฟระ จักมีอภิญญา?
ในประชากรไทย ๖๐ ล้านคนจักหาผู้ที่สนใจศึกษาศาสนาพุทธและลงมือปฏิบัติอย่างแท้จริงสัก ๑๐ ล้านคนก็ยังว่ายาก ในผู้ที่ศึกษาพุทธศาสนาแล้วลงมือปฏิบัติ ๑๐ ล้านคน จักหาคนที่ปฏิบัติจนได้ฌานสมาบัติสักแสนคนก็ยังว่ายาก ในแสนคนนั้นจักหาผู้ที่ไ้ด้อภิญญาสมาบัติสักหมื่นคน ก็ยังว่ายากอีกเช่นกัน ฉะนั้นเรื่องอธิษฐานแล้วใ้ห้ผลทันตาเห็นนั่น จักหาข้อพิสูจน์ได้ที่ไหน ในเมื่อผู้ที่ได้อภิญญานั้น น้อยกว่าน้อย แถมคนที่ได้อภิญญาแล้ว เขาก็ไม่มาสนใจเรื่องความรักเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ดอก และแม้มีข้อพิสูจน์ เราเองก็ไม่ได้อภิญญาจักได้ประโยชน์กระไรจากบทความนี้
แม้เราไม่ได้มีอภิญญาอย่างที่ได้แสดงมา แต่เราเลียนแบบวิธีการได้ครับ ด้วยการอธิษฐานแล้ว ลงมือทำสมาธิ เข้าสมาธิได้น้อย มีผลน้อย เข้าสมาธิได้ลึก มีผลมาก มีผลไว ฝึกฝนไปเรื่อย ๆ ทำบ่อย ๆ ครับ ฟลุ๊ค ๆ ขึ้นมาวันใด จิตเข้าอัปปนาสมาธิได้ ผลแห่งแรงอธิษฐานด้วยจิตที่มีกำลังมหาศาลก็จักแสดงทันที ไม่ต้องรอถึงชาติหน้า
ทำมาหลายปีแล้ว อธิษฐานก็แล้ว ทำสมาธิก็แล้ว แต่เข้าสมาธิไม่ได้ ไม่มีผล ทำอย่างไรดี?
เราปุถุชนคนหนาแน่นไปด้วยกิเลสนี่ อย่าเพิ่งไปคุยถึงอภิญญาสมาบัติเลย แค่อัปปนาสมาธิ (สมาธิขั้นลึก) ก็ยังทำได้ยาก ครูบาอาจารย์ท่านแนะไว้ครับ ให้ทานเข้าไว้ ทานที่ทำได้ยาก ยิ่งมีกำลังมาก เช่น การตื่นเช้า ลุกขึ้นมาใส่บาตร ใช้กำลังใจมากกว่า หยอดกระปุกอยู่บ้าน เป็นต้น ทานบารมีนี่เป็นบาทฐานของบารมีอีก ๙ ตัวที่เหลือ และเป็นฐานแห่งสมาธิด้วย เช่น อยากได้กสิณแสงสว่าง ก็ให้ทำทานด้วยหลอดไฟฟ้า ไฟฉาย หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวกับแสงสว่าง เป็นต้น บางทีที่เราไม่สามารถเข้าสมาธิได้ เนื่องมาจากเราไม่มีทานเรื่องนั้น ๆ รองรับสมาธิก็เป็นได้
ทำไมต้องทำบุญหนัก ๆ แล้วการอธิษฐานถึงจักมีผล?
ไปดูตัวอย่างในพระไตรปิฎกกัน อย่างสุเมธดาบสอดีตชาติแห่งพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า สมัยนั้นทอดตัวลงเป็นสะพานให้พระพุทธเจ้า และพระสาวกข้ามลำธาร กลับมาแล้วยังถวายภัตต่อเนื่องถึง ๗ วัน แล้วก็อธิษฐานตั้งความปรารถนาขอเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล อย่างเรานี่อธิษฐานแค่เรื่องความรักจิ๊บ ๆ ไม่ต้องทำถึงขนาดนั้นดอก แค่ยกตัวอย่างให้ดูวิธีทำบุญ อธิษฐานแล้วให้มีผล และได้ผลอย่างรวดเร็ว (พอสุเมธดาบสตั้งความปรารถนาเสร็จ สมเด็จพระทีปังกรพุทธเจ้าก็พยากรณ์ความสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในอนาคตของสุเมธดาบสทันที)
ทุกอย่างมันขึ้นกับใจเป็นสำคัญนะ รูปธรรมภายนอก เป็นแค่ส่วนประกอบ การทำบุญ การอธิษฐาน ก็เช่นกัน สังเกตดูในพระไตรปิฎกหลาย ๆ ตอน บุญที่ท่านทำแต่ละอย่างแล้วอธิษฐานนี่ ต้องใช้กำลังใจมาก เช่น การเลี้ยงภิกษุทั้งวัดตลอดเจ็ดวัน ลองมาคิดคร่าว ๆ ในยุคปัจจุบัน สมมุติมีภิกษุสัก ๒๐ รูป ค่าอาหารวันละเท่าไหร่ ใส่ซองวันละเท่าไหร่ คูณเจ็ดเข้าไป ๓ หมื่นก็อาจไม่พอ การที่เราทำบุญได้ขนาดนั้น เราย่อมมีศรัทธาที่แก่กล้า มีกำลังใจในการให้ทานอย่างบริบูรณ์ หลังจากให้ทานที่เราตั้งใจมาก ๆ สำเร็จ จิตเราอาจเกิดปีติ ว่างจากนิวรณ์ ทำให้เข้าอัปปนาสมาธิได้ง่าย การอธิษฐานจิตหลังการทำบุญใหญ่ในขณะที่จิตกำลังเบิกบาน แช่มชื่น ปลอดกิเลสชั่วคราว จึงอาจให้ผลเหมือนอธิษฐานด้วยกำลังแห่งอภิญญาสมาบัติ
แล้วทำบุญน้อย ๆ ไม่มีผลเหรอ?
มีผลเหมือนกัน แต่อาจส่งผลช้า หรือให้ผลน้อย เพราะใช้กำลังใจน้อย แต่ก็ดีกว่าไม่ทำ ทำน้อย ๆ แล้วค่อยเพิ่มกำลังใจขึ้นไปทีละนิด วันหนึ่งก็มีกำลังมาก การอธิษฐานก็ให้ผลตามต้องการ
ดังนี้แล้ว ไม่มาลองเริ่มทำบุญแล้วอธิษฐานให้สมหวังในความรักกันดูบ้างหรือจ๊ะ? เช่น วันวาเลนไทน์แทนที่จักเอาช็อกโกแล็ตไปให้หนุ่มในฝัน (ซึ่งมักมีผู้คนพยายามจับจองมากมาย เรามักเป็นฝ่ายชอบเขาข้างเดียว) ลองพยายามตื่นเช้า ๆ เอาช็อคโกแล็ตไปใส่บาตรแทน แล้วตั้งจิตให้มั่นอธิษฐานเลย ให้สมหวังในรัก
นี่เป็นก้าวแรกแห่งอภิญญาเชียวนะเทอ...การประยุกต์ใช้อภิญญาสมาบัติในวันแห่งความรัก ก็เอวังด้วยประการฉะนี้ ฯby Dhammasarokikku