วันจันทร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2555

๒.๒ การดำเนินชีวิตตามนัยแห่งผญาคำสอนอีสาน

๒.๒ การดำเนินชีวิตตามนัยแห่งผญาคำสอนอีสาน

               คำสอนทุกประเภทก็ย่อมมีจุดหมายเพื่อสั่งสอนให้คนประพฤติดีละเว้นการกระทำชั่ว คำสอนที่ปรากฏมากที่สุดในคำผญาอีสานมีลักษณะเป็นการสั่งสอนศีลธรรมและนั่นเอง ต่างแต่ว่าในนักปราชญ์นั้นมีกุศโลบายอย่างใดที่จะทำให้คนไม่รู้ว่าตนเองถูกสั่งสอน โดยธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนย่อมไม่ยอมรับว่าตนเองประพฤติไม่ดีกันทั้งนั้น ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆเหล่านี้เองนักปราชญ์ชาวอีสานจึงได้นำคำสอนในเชิงศีลธรรมในทางศาสนานำมาปรับให้เข้ากับอุปนิสัยของคนจึงเกิดเป็นคำร้อยกรอง เพื่อให้กะทัดรัด สะดวกต่อการจดจำหรือผูกเป็นเรื่องๆนิทานธรรมไป วรรณกรรมคำสอนเหล่านี้บ้างครั้งพระสงฆ์ก็นำมาเทศน์สอนประชาชนในงานชุมนุมต่างๆโดยนำเอาคำผญาภาษิตเป็นคติพจน์แก่ชาวบ้านเป็นต้น

            คำสอนที่เป็นผญาภาษิต มีลักษณะเหมือนกับโคลงโลกนิติ สุภาษิตสอนหญิงของภาคกลาง จำนวนภาษิตของวรรณกรรมคำสอนเหล่านี้จะอยู่ในความทรงจำของชาวอีสานเสมอมายิ่งผู้สูงอายุเกือบทุกคนจะทราบว่าวรรณกรรมคำสอนมาจากนิทานธรรมเรื่องใด วรรณกรรมคำสอนเหล่านี้นั้นมีอิทธิพลต่อแนวความเชื่อของคนอีสานตั้งแต่อดีตและปัจจุบัน บางครั้งก็ยังนิยมนำมาสอนลูกหลานอยู่เสมอมา ดังนั้นผญาคำสอนนี้เป็นดังแสงประทีปที่ส่องแสงสว่างให้ชาวอีสานตลอดมา ผญาคำสอนนี้ในภาคอีสานอิทธิพลอย่างมากและไม่น้อยไปกว่าวรรณกรรมทางพุทธศาสนาและชาวบ้านจะเชื่อฟังคำสอนในวรรณกรรมเหล่านี้เป็นประดุจดังกฏหมายของบ้านเมืองก็มีไม่น้อย ในบางท้องถิ่นจึงยังปรากฏว่าสภาพสังคมในชนบทของอีสานนั้นอยู่กันอย่างสันติสุขแบบพึงพากันเองช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีธุระสิ่งใดที่จะต้องช่วยกันก็จะขอแรงกันมาช่วยเหล่านี้เป็นกิจนิสัยของชาวชนบทอีสานอย่างแท้จริง

                ผญาภาษิต หมายถึงคำสอนที่แฝงคติธรรม ซึ่งเป็นถ้อยคำมีนัยเชิงเปรียบเป็นอุปมาอุปไมย เพื่อให้ผู้ฟังหรืออ่านตีความหมายเองเองเช่นเดียวกับคำสุภาษิตภาคกลาง ซึ่งผู้ที่ได้ยินได้ฟังสามารถนำไปประพฤติในทางดีงามหรือที่ถูกที่ควรได้ ดังตัวอย่างนี้ “ ทุกข์ยากไฮ้ขอขอดแลงงาย อย่าสุลืมคำสัตย์เที่ยงจริงคำมั่น” ( ทุกข์ยากไร้เพียงใดก็อย่าลืมคำสัตย์ คำจริง คำมั่นสัญญา) การช่วยเหลือกันในยามทุกข์ยากนั้นย่อมมีคุณค่ามากกว่าช่วยเหลือกันในยามร่ำรวยมิตรที่ดีก็มารู้ในคราวที่มิตรลำบากนี้เอง คนดีหรือไม่ดีก็ดูได้ในเวลามีภัยนี้เอง ซึ่งเป็นคุณธรรมสูงสุดที่ช่วยคำจุนโลกมนุษย์ให้มีความผาสุขร่มเย็นได้ ทั้งยังเป็นเครื่องวัดได้ว่าคนเมื่อมีธรรมประจำใจย่อมประเสริฐกว่ามีทรัพย์ภายนอกตั้งมากหมาย ส่วนความลำบากที่เกิดเพราะความขาดแคลนอาหารนั้นยังพอทนได้ สุภาษิตนี้เน้นให้เห็นถึงความชื่อสัตย์สุจริตยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดเป็นหลักการและวิธีการต่างๆที่ช่วยให้คนมีคุณธรรมและจริยธรรมเพิ่มมากขึ้น ตลอดถึงให้เลิกละความเป็นทาสภายในใจตนเองนั้นคือ ความเห็นแก่ตัว ให้มองเห็นความดีของคนอื่นในสังคม ความรัก ความสามัคคีกัน การไม่เบียดเบียน การเสียสละมีเมตตาต่อกัน ส่งเสริมระบบสังคมสงเคราะห์ให้คนอยู่ด้วยกันด้วยความเอื้อเฟื้อเผื้อแผ่ไม่เอาเปรียบกัน การพึ่งพาอาศัยกันไม่ว่าชายหรือหญิง ไพร่ผู้ดีมีหรือจนต่างต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน คนรวยก็ช่วยเหลือคนจนด้วยการแบ่งปัน ผู้ใหญ่ก็ช่วยเหลือเด็กด้วยการคุ้มครองป้องกัน ท่านอุปมาไว้เหมือนดังน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า

                ดังคำผญาคำสอนอีสานว่า มวงพี่น้อง ต้องเพิ่งพากัน คราวเป็นตาย ช่วยกันปองป้าน ยามมีให้ ปุนปันแจกแบ่ง คราวทุกข์ใฮ้ ปุนป้องช่วยปอง เทียมดังดงป่าไม้ ได้เพิ่งยังเสือ คนบ่ไปฟังตัด คอบเสือเขาย้าน เสือก็อาศัยไม้ ในดงคอนป่า ฝูงหมู่คนบ่ฆ่า เสือได้คอบดง๙ เนื้อหาแห่งคำสุภาษิตอีสานที่มุ่งจะสอนให้ชาวอีสานนั้นเข้าใจชีวิตว่ามีการเปลี่ยนแปลงไม่อยู่ในอำนาจของบุคคลใด คือมนุษย์มีความเกิดแก่เจ็บตาย เป็นกฎแห่งธรรมดา พร้อมทั้งสอนให้รู้จักทำช่วยเหลือตนเองเป็นหลักสำคัญ ความขยันหมั่นเพียรไม่เกียจคร้านในการทำงานและให้รู้จักอดอ้อมทรัพย์ไว้ใช้ในคราวจำเป็น เพราะการครองเรือนที่มีความสุขได้ต้องมีทรัพย์เป็นเครื่องค้ำจุน ให้รู้จักการผูกมิตรไมตรีต่อกันจะได้เป็นเกาะป้องกันความเสื่อมด้วยและจะได้ช่วยกันในยามทุกข์ สั่งสอนให้รู้จักทำงานอย่ารอคอยโชควาสนา ความมั่งมีหรือยากจนนั้น ความรวยหรือจนนั้นเป็นของกลางๆไม่เป็นของใครโดยตรงอยู่ที่ว่าใครจะนำเอาโอกาสนั้นๆมาเป็นประโยชน์ให้แก่ตนเอง ซึ่งมีคำผญาสอนว่า อันหนึ่งครั้นอยู่บ้าน หรือถิ่นแดนใด ครั้นเฮาทำความดี โชคชัยมีหั้น ครั้นเฮาหนีจากบ้าน ไปเนาในอื่น ครั้นเฮาฮีบก่อสร้าง ชัยนั้นแล่นเถิง ส่วนว่าคนขี้คร้าน แม้นอยู่ในใด เถิงจักนอนกองเงิน ช่างตามคำแล้ว มื้อหนึ่งเขาจักต้อง หากินดอมไก่ แลเล่านอนสาดเหี้ยน เม็นน้อยไต่ตอม

           ๑๐ ความอดทนต่อสู้กับความลำบากต่างๆเพื่อเอาชนะอุปสรรคทั้งหลายนั้นเป็นที่รู้กันดีในสายเลือดชาวอีสานเพราะอิทธิพลของคำสอนเหล่านี้เองเป็นแก่นสารที่ช่วยให้ชาวอีสานไม่เป็นคนอ่อนแอ และขณะเดียวเมื่อมีความสุขก็อย่าได้หลง ให้ตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท ชีวิตจึงจะพบกับความสุข ดังนั้นสุภาษิตอีสานก็ยังพยายามให้คนรู้จักรักษากายวาจาและใจของตนให้เป็นปกติ หลักการปกครองในระดับท้องถิ่นหรือในระดับประเทศควรมีคุณธรรม กล่าวคือให้รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น อย่ามีอคติต่อกัน เจ้านายก็ให้รู้จักใช้บ่าว ตลอดถึงการรู้จักเลือกคบกับมิตรที่ดี เว้นบาปมิตร เว้นพาลชน เพื่อความก้าวหน้าแห่งตน และสอนให้รู้จักแบ่งปันกันเพื่อความผาสุขแห่งสังคมและอย่าได้ก่อศัตรูขึ้นมาโดยถือว่ามนุษย์ทุกคนไม่มีดีที่สมบูรณ์ แต่ให้มองหาความดีของผู้อื่น และสอนให้รู้เท่าทันกับโลกธรรม เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงจะได้ไม่เป็นทุกข์ และต้องประโยชน์สุขแก่มหาชน ปรัชญาพื้นฐานของนักปกครองที่ดีหวังความสุขต่อส่วนรวมนั้นควรเว้นจากการมีอคติสี่ตลอดถึงให้ระงับความโกรธต่างๆด้วย ยิ่งเป็นข้าราชการควรคำนึงมาก ดังคำสอนนี้ อันว่าจอมราชาเหมือนพ่อคิงเขาแท้จิ่ง ให้ไลเสียถิ้มอะคะติทั้งสี่ พญาเอย โทสาทำโทษฮ้ายโกธากริ้วโกรธแท้เนอ จงให้อินดูฝูงไพร่น้อยชาวบ้านทั่วเมือง ชาติที่เป็นพญานี้อย่ามีใจฮักเบี่ยงพญาเอย อย่าได้คึดอยากได้ของข้าไพร่เมืองเจ้าเอย ละอะคะติสี่นี้ได้จึงควรสืบเสวยเมือง ทงสมบัติครองเมืองชอบธรรมควรแท้

               ๑๑ นักปรัชญาอีสานมีทรรศนะต่อชีวิตอย่างไรนั้น ถ้านำหลักทางจริยธรรมมากล่าวก็จะสามารถมองถึงพื้นฐานของชีวิตได้เป็นอย่างดี นั้นคือทุกชีวิตควรกระทำอย่างไรจึงจะมีความสุข ยิ่งกว่านั้นควรมองว่าชีวิตควรประพฤติอย่างไรจึงจะพบกับความสุข นั้นเป็นปัญหาเชิงญาณวิทยาจะต้องแสวงหาความรู้มาเป็นคำตอบ แต่ปรัชญาชาวบ้านนั้นมักจะมองถึงความสัมพันธ์สิ่งที่จะต้องเว้นให้หางมากกว่าชึ่งปรากฏในปรัชชาวอีสานเว้นจากสิ่งที่เป็นบาปกรรม คือให้รักษาศีลห้า ดังคำสอนนี้ คือว่าปาณานั้นบ่ให้ฆ่ามวลหมู่ชีวิต อทินนาบ่ให้ลักโลภของเขาแท้ กาเมบ่ให้หาเสพเล่นกามคุณผิดฮีต เจ้าของมีอย่าใกล้ให้หนีเว้นหลีกไกล อันว่ามุสานั้นคำจาอย่าตั่วะหล่าย คำสัจจะมีเที่ยงมั่นระวังไว้ใส่ใจ โตที่ห้าคือสุราปัญหาใหญ่ ฮอดเมรัยอย่าได้ใกล้มวลนี้สิบ่ดี เสียสติจริงแท้กรรมเวรบ่ได้ปล่อย ความถ้อยฮ้ายสิไหลเข้าสู่ตัว นั้นเป็นขั้นมูลฐานของชีวิตจริงๆ ซึ่งชนชาวอีสานยังดำรงยึดมั่นในคำสอนเหล่านี้อยู่อย่างดีคำสอนเหล่านี้มุ่งเน้นให้เห็นถึงความสุขขั้นพี้นฐานของชีวิตทุกขีวิตที่เกิดร่วมกันในโลกนี้ ทุกสังคมย่อมมีปัญหามากน้อยต่างกันไปเหตุปัจจัย ดังนั้นสังคมที่ปรากฏในภูมิปรัชญาชาวอีสานยังชี้ไปให้ลึกถึงแก่นของสังคมนั้นคือ อิทธิพลของหลักธรรมในพุทธศาสนาที่ค่อยสะสมขึ้นจนเปี่ยมล้นอยู่ในสายธารศรัทธาของชาวไทยอีสาน แล้วตกตะกอนเป็นแรงศรัทธาที่ซึมซับเอิบอาบจนกลายเป็นจิตนิสัย และบุคคลิกภาพของพุทธศาสนิกชนที่เคารพต่อพระรัตนตรัยอย่างลึกซึ่ง ดังสุภาษิตอีสานว่า ศีลกับธรรมพาเฮาดีได้ ควรตัดสินใจน้อมเข้าเพิ่ง รัตนะ พระไตรหน่วยแก้ว แนวพายั้งอยู่ซุ่มเย็น ไผบ่อถือศีลธรรมวางถิ่ม เป็นคนเสียชาติเปล่า ไผบ่อเซื่อธรรมพระพุทธเจ้า ตายถิ่มค่าบ่มี

              ๑๒ โดยเฉพาะบุคคลผู้ที่ได้ผ่านการบวชเรียนมาแล้วจนมีภูมิธรรมซึ่งวัดเป็นผู้ถ่ายทอดมาให้จนสามารถสร้างสรรงานด้านปรัชญาธรรมในพุทธศาสนามาเป็นปรัชญาท้องถิ่นได้ จะเห็นได้ว่าวัฒนธรรมพุทธศาสนาทรงอิทธิพลต่อสังคมชาวอีสานอย่างลุ่มลึกและสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน กวีชาวอีสานได้ผลิตผลงานต่อสังคมและได้นำเอาคติทางพุทธศาสนามาผสมผสานกันอย่างสนิทแนบแน่นจนกลายเป็นเอกลักษณ์ อิทธิพลเหล่านี้จึงค่อยๆซึมซับมาตามสายธารทางปรัชญาจนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาวอีสาน ผญาคำสอนภาคอีสานนั้นมักจะเน้นให้คนรู้ถึงทางเสื่อมอีกอย่างที่ควรเว้นให้ห่างไกลถ้าต้องการที่จะพบความสุข คืออบายมุขซึ่งในพุทธภาษิตก็สอนว่าเป็นทางของความเสื่อม ปรัชญาอีสานก็มองเห็นเช่นกันว่าจริงทุกประการ “อย่าได้มัวเมาเล่นการพนันเบี้ยโบก ลางเทื่อโชคบ่ให้ถงเป้งสิขาดกลาง” (82 ของเก่าบ่เล่ามันลืม ) ถ้าใครหลงเข้าไปเกี่ยวข้องแล้วย่อมมีแต่เสื่อมโดยถ่ายเดียว ดังคำกลอนสุภาษิตอีสานว่า

                     อันว่าการพนันนี้มันอัปปีจังไฮใหญ่ ทางหลวงเผิ่นกะห่ามทางเจ้าเพิ่นหากเตื่อน

                    คันแม่นหลวงจับได้พาเสียเงินเกินขีด บ่อแม่นเสียถ่อนนั้นมันเสียหน้าตื่มนำหลานเอย

                 คันว่าในธรรมเจ้าองค์พุทโธเผิ่นแยงโลก เฮาบ่มีดีสังดอกเจ้าการพนันเล่นถั่ว มีแต่ชั่วอ้อยต้อย           บ่ควรเล่นแม่มันดอกนา...มันชวนให้ใจกล้าขะโมยกินของท่าน คันแม่นลักได้แล้วผัดมาเล่นต่อไป มันบ่มีทางได้การพนันมีแต่ขาด บ่มีบาดสิได้เงินล้านเข้าใส่ถงดอกนา...อันนี้มันหากแม่ความฮ้ายทางธรรมพระเจ้ากล่าว ให้พวกเฮาหิ่นฮู้แล้วเซาเล่นต่อไป คันสิว่าเสียเงินแล้วเฮือนซ้ำเสียต่อ ลางเถื่อเสียเมียพร้อมนำย้อนฆ่ากัน ๑๓ หลักธรรมเหล่านั้นกวีมักจะสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวพุทธและจารีตประเพณีของอีสานด้วย โดยมีหลักธรรมดังนี้คือ กฎแห่งกรรม คำสอนอีสานส่วนใหญ่มักจะเน้นเรื่องกฎแห่งกรรม โดยเน้นให้เห็นถึงผู้มีความโลภ โกรธ หลง มักจะได้รับวิบากกรรมในบั้นปลายของชีวิต กฎแห่งสังสารวัฏ คือการเวียนว่ายตายเกิดจะดีหรือเลวก็อยู่ที่ผลของกรรมที่ตัวเองทำทั้งสิ้น นั่นคือมนุษย์ที่เกิดในชาตินี้ย่อมเสวยผลของกรรมที่ตนเองทำไว้ในชาติปางก่อนทุกคน กฎพระไตรลักษณ์ คือกวีมักจะเสนอให้เห็นถึงความไม่เที่ยงแท้ของสรรพสิ่งทั้งปวงในโลกนี้ย่อมตกอยู่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอนั้นคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จะสอนให้รู้ถึงความไม่เที่ยงเหล่านี้ไว้เสมอ อำนาจ

                           คือธรรมชาติฝ่ายต่ำของมนุษย์อีกอย่างหนึ่ง ที่สามารถให้คุณหรือให้โทษแก่มนุษย์ได้ ถ้านำอำนาจไปใช้ในทางที่ผิดศีลธรรมย่อมส่งผลต่อมนุษย์ ดังนั้นนักปรัชญาอีสานจึงต้องมีการสอดแทรกคติธรรมในการใช้อำนาจ ของตนเองให้อยู่ในกรอบประเพณีวัฒนธรรมซึ่งจะพบมากในคลองสิบสี่ซึ่งเป็นธรรมเนียมการปกครองดังเดิมที่ชาวอีสานพยาสอนลูกหลานให้เข้าใจถึงหลักการเมืองการปกครองควรยึดหลักธรรมเป็นวิสัยทัศน์ในการดำรงตำแหน่ง เชื่อในชาติหน้า คือวรรณกรรมมีจุดหมายเพื่อสร้างความเชื่อเกี่ยวกับโลกและจักรวาล วรรณคดีอีสานจะดำเนินเรื่องอยู่กับโลกในเชิงจิตวิสัย นั่นคือ โลก สวรรค์ นรก เมืองบาดาล และโลกของพระศรีอารย์ และมีการสอดแทรกอยู่ในผญาภาษิตอีสาน ดังนั้นแก่นเนื้องหาสาระของสุภาษิตจึงมักจะนำเอาหลักธรรมมาแทรกเอาไว้ด้วย เพื่อสั่งสอนคนให้ตั้งอยู่ในคุณงามความดี ลักษณะทางเนื้อหาของคำผญาภาษิตสามารถแบ่งออกเป็นประเภทย่อยๆได้ดังนี้คือ

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons