วันศุกร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2555

สติปัฏฐาน ๔

-1_1_~1มักจะมีคำถามอยู่เสมอว่า เราจะปฏิบัติธรรมในแนวไหน หรือสำนักใด จึงจะเป็นการถูกต้องและได้ผล คำถามเช่นนี้เป็นคำถามที่ถูกต้องและไม่ควรถูกตำหนิว่าชอบเลือกนั่นเลือกนี่ ที่ถามก็เพื่อระวังไว้ไม่ให้เดินทางผิด ทางปฏิบัติที่ถูกต้อง คือ ปฏิบัติตามสติปัฏฐาน ๔

สติปัฏฐาน ๔ แปลให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ฐานที่ตั้งของสติ หรือ เหตุปัจจัยสำหรับปลูกสติให้เกิดขึ้นในฐานทั้ง ๔ คือ

๑. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การพิจารณากาย จำแนกโดยละเอียดมี ๑๔ อย่างคือ

  • อัสสาสะปัสสาสะ คือ ลมหายใจเข้าออก
  • อิริยาบถ ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน
  • อิริยาบถย่อย การก้าวไปข้างหน้า ถอยไปทางหลัง คู้ขาเหยียดขาออก งอแขนเข้า เหยียดแขนออก การถ่ายหนักถ่ายเบา การกิน การดื่ม การเคี้ยว ฯลฯ คือ การเคลื่อนไหวร่างกายต่าง ๆ
  • ความเป็นปฏิกูลของร่างกาย (อาการ ๓๒)
  • การกำหนดร่างกายเป็นธาตุ ๔
  • ป่าช้า ๙

๒. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การเจริญสติ เอาเวทนาเป็นที่ตั้ง เวทนาแปลว่า การเสวยอารมณ์ มี ๓ อย่างคือ

  • สุขเวทนา
  • ทุกขเวทนา
  • อุเบกขาเวทนา

เมื่อเวทนาเกิดขึ้น ก็ให้มีสติสัมปชัญญะกำหนดไปตามความเป็นจริงว่า เวทนานี้เมื่อเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เวทนาก็สักแต่ว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตนเราเขา ไม่ยินดียินร้าย ตัณหาก็จะไม่เกิดขึ้น และปล่อยวางเสียได้ เวทนานี้เมื่อเจริญให้มาก ๆ เป็นไปอย่างสมบูรณ์แล้ว อาจทำให้ทุกขเวทนาลดน้อยลง หรือไม่มีอาการเลยก็เป็นได้ อย่างที่เรียกกันว่า สามารถแยก รูปนาม ออกจากกันได้ (เวทนาอย่างละเอียดมี ๙ อย่าง)

๓. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ได้แก่ การปลูกสติโดยเอา จิตเป็นอารมณ์ หรือเป็นฐานที่ตั้งจิตนี้มี ๑๖ คือ

  • จิตมีราคะ จิตปราศจากราคะ
  • จิตมีโทสะ จิตปราศจากโทสะ
  • จิตมีโมหะ จิตปราศจากโมหะ
  • จิตหดหู่ จิตฟุ้งซ่าน
  • จิตยิ่งใหญ่ (มหัคคตจิต) จิตไม่ยิ่งใหญ่ (อมหัคคตจิต)
  • จิตยิ่ง (สอุตตรจิต) จิตไม่ยิ่ง (อนุตตรจิต)
  • จิตตั้งมั่น จิตไม่ตั้งมั่น
  • จิตหลุดพ้น จิตไม่หลุดพ้น

การทำวิปัสสนา ให้มีสติพิจารณากำหนดให้เห็นว่า จิตนี้เมื่อเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ละความพอใจและความไม่พอใจออกเสียได้

๔. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ มีสติพิจารณาธรรมทั้งหลายทั้งปวง คือ

vipassanacm_com_74610DSCF0๔.๑ นิวรณ์ คือ รู้ชัดในขณะนั้นว่า นิวรณ์ ๕ แต่ละอย่างมีอยู่ในใจ หรือไม่ ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นได้อย่างไร ที่เกิดขึ้นแล้วจะละเสียได้อย่างไร ที่ละได้แล้วไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปอย่างไร ให้รู้ชัดตามความเป็นจริงที่เป็นอยู่ในขณะนั้น

๔.๒ ขันธ์ ๕ คือ กำหนดรู้ว่าขันธ์ ๕ แต่ละอย่างคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ดับไปได้อย่างไร

๔.๓ อายตนะ คือ รู้ชัดในอายตนะภายในภายนอกแต่ละอย่าง รู้ชัดในสังโยชน์ที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยอายตนะนั้น ๆ รู้ชัดว่าสังโยชน์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นได้อย่างไร ที่เกิดขึ้นแล้วละเสียได้อย่างไร

๔.๔ โพชฌงค์ คือ รู้ชัดในขณะนั้นว่า โพชฌงค์ ๗ แต่ละอย่างมีอยู่ในใจตนหรือไม่ ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นได้อย่างไร ที่เกิดขึ้นแล้ว เจริญเต็มบริบูรณ์ได้อย่างไร

สรุป ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน นี้คือ จิต ที่คิดเป็น กุศล อกุศล และ อัพยากฤต เท่านั้น ผู้ปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ ต้องทำความเข้าใจอารมณ์ ๔ ประการให้ถูกต้องคือ

๑. กาย ทั่วร่างกายนี้ไม่มีอะไรสวยงามแม้แต่ส่วนเดียว ควรละความพอใจและความไม่พอใจออกเสียได้

๒. เวทนา สุข ทุกข์ และไม่สุขไม่ทุกข์นั้นแท้จริงแล้วมีแต่ทุกข์ แม้เป็นสุขก็เพียงปิดบังความทุกข์ไว้

๓. จิต คือ ความนึกคิด เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงแปรผัน ไม่เที่ยง ไม่คงทน

๔. ธรรม คือ อารมณ์ที่เกิดกับจิต อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น เมื่อเหตุปัจจัยดับไป อารมณ์นั้นก็ดับไปด้วย ไม่มีสิ่งเป็นอัตตาใด ๆ เลย

อานิสงส์ของการปฏิบัติธรรม

จากหนังสือกฏแห่งกรรมเล่มที่ ๗ ภาคธรรมบรรยาย-ธรรมปฏิบัติ เรื่อง คติกรรมฐาน หน้า ๓๐๓ - ๓๐๔

๑. มีวินัยในตัวเอง 3 ประการคือ

·๑ รู้จักระวังตัว

·๒ รู้จักควบคุมตัวได้

·๓ รู้จักเชื่อฟังผู้ใหญ่ ถ้าเป็นเด็กจะไม่เถียงผู้ใหญ่

๒. มีกิจนิสัย ๔ ประการ

·๑ ขยันไม่จับจด รักงาน สู้งาน

·๒ ประหยัด รู้จักใช้ชีวิตและทรัพย์สินอย่างถูกต้องและคุ้มค่า

·๓ พัฒนา รู้จักพัฒนาตัวเอง และอาชีพให้ดีขึ้น

·๔ สามัคคี รักครอบครัว รักหมู่คณะ และรักประเทศชาติ

๓. มีลักษณะนิสัย ๔ ประการ

·๑ มีสัมมาคารวะ

·๒ อุตสาหะพยายาม

·๓ ปฏิบัติตามระเบียบวินัย

·๔ รู้จักเด็ก รู้จักผู้ใหญ่ วางตัวได้เหมาะสม

๔. มีความรู้คู่กับคุณธรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ๔ ประการได้

·๑ รู้จักคิด

·๒ รู้จักปรับตัว

·๓ รู้จักแก้ปัญหา

·๔ มีทักษะในการทำงานและค่านิยมที่ดีงามในอนาคต เจ้านายทิ้งลูกน้องไม่ได้ ลูกน้องทิ้งเจ้านายไม่ได้ เข้าหลักที่ว่า ผู้ใหญ่ดึง ผู้น้อยดัน คนเสมอกันจะได้อุปถัมภ์ค้ำจุนต่อไป

๕. อานิสงส์ในการเดินจงกรม

·๑. อดทนต่อการเดินทางไกล

·๒. อดทนต่อความเพียร

·๓. มีอาพาธน้อย

·๔. ย่อยอาหารได้ดี

·๕. สมาธิที่ได้ขณะเดินตั้งอยู่ได้นาน (ในปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย เล่ม ๓๒)

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons