ตัวละครในเรื่องมหาเวสสันดรชาดก มีทั้งหมด ๒๓ ตัวละคร ใครทำอะไรไว้บ้าง ลองอ่านดู
๑. พระเวสสันดร
พระเวสสันดร เป็นตัวละครที่มีบทบาทสำคัญอยู่ในวรรณคดีเรื่องร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก มีชื่อเรียกต่างๆกัน เช่น หน่อพระชินศรีโมลีโลก สมเด็จพระบรมนราพิสุทธิ์พุทธางกูร พระบรมราชพุทธพงศ์ หน่อพระชินศรี สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ บรมนราธิบดินทร์ปิ่นสกลอาณาจักรจอมพิภพสีพี สมเด็จพระบาทบรมบพิตรพิชิตโมลี หน่อพระพิชิตมาร สมเด็จพระวิสุทธิพงศ์ภูวนาถ สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์บุรุษรัตนพิเศษเพสสันดร สมเด็จพระปุริโสดมบรมโพธิสัตว์ สมเด็จพระมหาวิสุทธิสมมุติเทพพงศ์สมเด็จพระบรมหน่อนรารัตน์ภิเษก สมเด็จพระบรมปิ่นเกล้าเจ้าธรณีธรรมมิกธิเบศ พระราชฤาษีสีวีวรนเรศเวสสันดร บพิตรพุทธพงศ์ทิชากร สมเด็จบรมบาทบพิตรพิชิตพิชัยเฉลิมชาวเชตุดรราชธานี องค์สมเด็จพระชินวงศ์วรราช พระบรมราชฤาษี พระมหาบุรุษราชชาติอาชาไนยเชื้อชินวงศ์ สมเด็จพระราชสมภาร สมเด็จพระมิ่งโมลีโลกุตมาภิเษกเอกอัครมกุฎวิสุทธิสรรเพชญพงศ์ สมเด็จพระบรมหน่อสรรเพชญ สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ศรีวิสุทธิเทพวงศ์ พระบรมหน่อสรรเพชญโพธิพงศ์ สมเด็จบรมขัตติยาธิบดินทร์อสัมภินวงศ์เวสสันดรมหาราช เป็นต้น
พระเวสสันดรเป็นพระโอรสของพระเจ้ากรุงสญชัยและพระนางผุสดีแห่งเมืองสีพีมีอุปนิสัยและพฤติกรรมที่สำคัญคือ การบริจาคทานพระราชกุมารเวสสันดรทรงบริจาคทานตั้งแต่ เกิด ครั้นพระชนมายุ ได้ ๔-๕ ชันษาทรงปลดปิ่นทองคำและเครื่องประดับเงินทองแก้วเพชรให้แก่นางสนมกำนัลทั่วทุกคนถึง ๙ ครั้งเพื่อมุ่งหวังพระโพธิญาณในภายภาคหน้า ครั้นเจริญชันษาได้ ๘ ปีก็ทรงตั้งจิตอธิษฐานว่าจะบริจาคเลือดเนื้อและดวงหทัยเพื่อมุ่งพระโพธิญาณในกาลข้างหน้าอย่างแน่วแน่
เมื่อมีพระชนมายุ ๑๖ พรรษาก็แตกฉานในศิลปวิทยา ๑๘ แขนงได้เสวยราชสมบัติและอภิเษกกับพระมัทรีตระกูลมาตุลราชวงศ์มีพระราชโอรสและพระราชธิดาคือพระชาลีกุมารและพระกัณหากุมารีพระองค์ยินดีในการให้ทาน ได้ตั้งโรงทานถึง ๖ แห่งในพระนครและเสด็จออกทอดพระเนตรการให้ทานอยู่เป็นเนืองนิจ
ครั้งหนึ่งทูตของกลิงคราษฎร์มาทูลขอช้างปัจจัยนาเคนทร์ช้างเผือกคู่บารมี ซึ่งเป็นช้างมงคลถ้าไปอยู่ที่ใด ที่นั่นฝนจะตกต้องตามฤดูกาล พระองค์ก็ทรงบริจาคให้ ชาวเมืองสีพีพากันโกรธเคืองต่างมาชุมนุมกันที่หน้าพระลานร้องทุกข์ต่อพระเจ้ากรุงสญชัยว่า พระเวสสันดรยกพระยาคชสารคู่บ้านคู่เมืองให้คนอื่นผิดราชประเพณี เกรงว่าต่อไปภายหน้าอาจยกเมืองให้คนอื่นก็ได้ขอให้เนรเทศพระเวสสันดรออกไปเสียจากเมือง พระเจ้ากรุงสญชัยมิรู้จะทำประการใดจึงต้องยอมทำตามคำเรียกร้องของประชาชน
ก่อนที่พระเวสสันดรพระนางมัทรี พระชาลี และพระกัณหาจะเดินทาง ก็ได้บริจาคสัตตสดกมหาทาน คือการให้ทานช้าง ม้า โคนม รถม้า นารี ทาส ทาสี รวม ๗ สิ่ง สิ่งละ ๗๐๐ แล้วทรงรถเทียมม้าเสด็จออกนอกเมือง ระหว่างทางมีพราหมณ์มาดักรอขอราชรถ พระเวสสันดรก็บริจาคให้แล้วทุกพระองค์ก็เสด็จโดยพระบาทเดินทางมุ่งเข้าป่าจนกระทั่งถึงสระบัวใหญ่เชิงเขาวงกตซึ่งเทวดาเนรมิตไว้แล้วผนวชเป็นฤาษีบำเพ็ญภาวนาอยู่ที่นั่น
เมื่อพระเวสสันดรบำเพ็ญพรตอยู่ที่เขาวงกตชูชกได้เดินทางไปขอสองกุมารไปเป็นทาสี พระเวสสันดรก็ทรงบริจาคให้ พระอินทร์แปลงเป็นพราหมณ์ไปทูลขอพระมัทรีก็ทรงบริจาคให้ซึ่งนอกจากจะทรงบริจาคทานที่แสดงถึงการเสียสละอันเป็นพฤติกรรมสำคัญในเรื่องแล้ว พระองค์ยังมีความเมตตา มีความมานะอดทนต่อความยากลำบากต่างๆในที่สุดพระเจ้ากรุงสญชัย พระนางผุสดีพระชาลีและพระกัณหาก็เสด็จยกกองทัพมารับพระเวสสันดรและพระมัทรีกลับไปครอบครองบ้านเมืองดังเดิม
การที่พระเวสสันดรบำเพ็ญบารมีโดยการบริจาคทานอยู่เป็นนิจแสดงถึงความเป็นผู้มีจิตใจดีงาม มีความเมตตากรุณาและการอดทนอดกลั้นอารมณ์โกรธได้ซึ่งส่งผลดีต่อตนเองคือทำให้ไม่ว้าวุ่นใจแต่ถึงอย่างไรพระองค์ก็ยังคงมีความปรารถนาเหมือนกับบุคคลทั่วไปเช่นกัน
ตัวอย่างของความเป็นผู้มีจิตใจงดงามเปี่ยมด้วยเมตตาได้แก่ การเสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม มุ่งมั่นบริจาคทาน ทั้งทรัพย์สิ่งของมีค่าแม้กระทั่งบุตร ภรรยา และชีวิตหากมีผู้ใดต้องการด้วยปรารถนาพระโพธิญาณในภายภาคหน้า ดังจะเห็นได้จากพฤติกรรมของพระองค์ตั้งแต่ประสูติจนถึงคราวถูกเนรเทศก็มิได้ทรงหยุดหย่อนในการบริจาคทาน เช่น
“หน่อพระชินศรีโมลีโลก พระทัยนั้นปรารถนาจะข้ามโอฆสงสาร มิได้ย่อหย่อนที่จะบริจาคมหาทาน เมื่อชนมานได้สี่ห้าพระวรรษา โอมุญจิตวา จึ่งเปลื้องเครื่องปิลันธนาออกจากพระองค์ทรงประสาทให้แก่พระนมกำนัลในถ้วนหน้าสิ้นวาระเก้าครั้ง ด้วยพระหฤทัยท้าวเธอหวังพระโพธิญาณในอนาคตกาล นั้นแล
ทานํ ปวตเตสิ ท้าวเธอก็เปรมปรีดิ์ที่จะบริจาคทานมิได้ขาด จึ่งให้อำมาตย์ทำ ฉทานศาลา ทานํ ปวตเตตวา ให้จัดแจงทั้งเงินทองเสื้อผ้า ราชวัตถาศุภาภรณ์พรรณแพรม้วนมุ้งม่าน สรรพภัณฑ์เครื่องดีอันมีค่า ตามแต่จะปรารถนาแล้วยกให้ แก่ยาจกเข็ญใจทุกถ้วนหน้า ท้าวเธอทรงพระราชศรัทธามิรู้สิ้น ดุจพื้นพระธรณินทร์อันหนาหนัก เป็นที่บำรุงรักแก่ไพร่ฟ้า
กํเม พาหิรกํ ธนํ อย่าว่าแต่เศวตคชาพาหิรกทานอันยอดยากที่จะยกให้ ถ้ามียาจกผู้ใดๆจะปรารถนาซึ่งพาหาหฤทัยนัยน์เนตรทั้งคู่ เราก็อาจจะเชือดชูออกบริจาคให้เป็นทาน จะแลกพระโพธิญาณในเบื้องหน้า อย่าว่าแต่จะต้องบัพพาชนียกรรมทำโทษ ถึงไพร่ฟ้าเขาจะพิโรธรอนรานประหารชีวิต เราก็มิได้คิดย่อท้อที่จะบำเพ็ญทาน
ตัวอย่างของการไม่ยึดติดกับอำนาจวาสนา และทรัพย์สมบัติ ยอมรับผิดในสิ่งที่กระทำ แม้พระองค์จะถูกเนรเทศก็มิได้เหนี่ยวรั้งพระนางมัทรีเอาไว้ ทรงอนุญาตให้อภิเษกกับชายอื่นที่มาสู่ขอได้ตามใจ
ตัวอย่างของความมีสติปัญญาฉลาดหลักแหลม สามารถคลี่คลายปัญหาได้โดยแยบคาย สังเกตได้จากพฤติกรรมดังนี้
ทำนายฝันให้แก่พระนางมัทรีเพื่อมิให้มีความวิตกบังเกิดขึ้นกับพระนาง ซึ่งจะเป็นการขัดขวางการบริจาคปิยบุตรทานบารมี
แม้นอาตมะจะทำนายทางบุพนิมิตแต่ตามจริง ไหนนางจะทอดทิ้งพระลูกเล่าด้วยอาลัย ก็จะเป็นพาหิรกภัยแก่โพธิญาณ จำจะทำนายด้วยโวหารให้เหตุหาย
ตั้งค่าไถ่ตัวพระกัณหาชาลีไว้สูง เพื่อมีเพียงพระราชอัยกาอัยกีเท่านั้นที่จะสามารถไถ่ตัวทั้งสองพระองค์ได้
เมื่อพระนางกลับมาแล้วไม่เห็นสองกุมาร พระองค์ก็นำอุบายหึงหวงมาใช้เพื่อหักความเศร้าโศกลง
“อถ มหาสตโต สมเด็จพระราชสมภาร เมื่อได้สดับสารพระมัทรี เธอแสนวิโยคโศกศัลย์สุดกำลัง ถึงแม้นจะมิตรัสแก่นางมั่งจะมิเป็นการ จำจะเอาโวหารการหึงเข้ามาหักโศกให้เสื่อมลง
ตัวอย่างของการตั้งตนอยู่ในอุเบกขา มีความอดทนอดกลั้น แม้ชูชกจะโบยตีสองกุมารต่อหน้าพระที่นั่ง พระองค์ก็สามารถระงับอารมณ์ขึ้งโกรธนั้นได้ เช่น
“ดูกร มหาเวสสันดร อย่าอาวรณ์โว้เว้ทำเนาเขา ข้ากับเจ้าเขาจะตีกันไม่ต้องการ ให้ลูกเป็นทานแล้วยังมาสอดแคล้วเมื่อภายหลัง ท้าวเธอก็ตั้งพระสมาธิระงับดับพระวิโยค กลั้นพระโศกสงบแล้ว พระพักตร์ก็ผ่องแผ้วแจ่มใส” ดังนี้
พระเวสสันดรทรงตั้งตนอยู่ในทศพิธราชธรรมตลอดพระชนมชีพ และบำเพ็ญปัญจมหาบริจาคครบ ๕ ประการตามความปรารถนาทุกประการ
-----------------------------------
๒. พระนางมัทรี
พระนางมัทรี เป็นตัวละครประกอบอยู่ในวรรณคดีเรื่องร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดกมีชื่อเรียกต่างๆกัน เช่น พระสุณิสาศรีสะใภ้ นางแก้วกัลยาณี พระยอดเยาวอนงค์องค์อัคเรศราชนารี องค์สมเด็จพระชนนีศรีสุนทรราชสุณิสา พระยุพยงเยาวดี เป็นต้น
พระนางมัทรี เป็นพระราชธิดาแห่งกษัตริย์มัทราช อภิเษกสมรสกับพระเวสสันดร มีพระโอรสชื่อพระชาลีและมีพระธิดาชื่อพระกัณหาพระนางตามเสด็จพระเวสสันดรไปยังเขาวงกต แม้จะถูกพระเจ้ากรุงสญชัยทัดทาน แต่ด้วยความจงรักภักดีต่อพระสวามีพระนางก็ไม่ทรงยินยอม
เมื่อพระนางมัทรีตามเสด็จไปเขาวงกต พระนางได้ปฏิบัติต่อพระสวามีและสองกุมาร คือลุกขึ้นแต่เช้า กวาดพื้นบริเวณอาศรม ตั้งน้ำดื่ม จัดน้ำสรงพระพักตร์จัดสถานที่ให้เป็นระเบียบและเข้าป่าหาผลไม้ทุกวัน พระนางได้ปรนนิบัติรับใช้และทำตามหน้าที่อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง
พระนางมัทรีเป็นแบบฉบับของนางในวรรณคดีที่เพียบพร้อมไปด้วยคุณสมบัติต่างๆทั้งการเป็นแม่ที่ประเสริฐของลูก และการเป็นภรรยาที่ดีของสามี คือมีความอ่อนน้อม นอบน้อม และอดทนเป็นภรรยาแม่แบบผู้มีลักษณะเป็นกัลยาณมิตรของสามีสนับสนุนเป้าหมายชีวิตอันประเสริฐที่พระสวามีได้ตั้งไว้ เป็นแบบอย่างของภรรยาตามทัศนะของคนตะวันออก เช่น ปฏิบัติดูแลเรื่องข้าวปลาอาหาร และมีคุณธรรมสำคัญคือ ซื่อตรง จงรัก และหนักแน่นต่อสามี
พระนางมีความนับถือเชื่อฟัง และจงรักภักดี เมื่อพระเวสสันดรกล่าวเชิงบริภาษพระนาง พระนางก็ทูลชี้แจง
แม้พระเวสสันดรแกล้งบริภาษเชิงหึง พระนางมัทรีก็โต้ตอบด้วยถ้อยคำนิ่มนวล กล่าวชี้แจงความบริสุทธิ์และทูลขอประทานโทษต่อสามี แสดงถึงความมีวัฒนธรรมและจริยวัตรอันงดงามของนางกษัตริย์ มิได้ใช้ถ้อยคำรุนแรงผิดกุลสตรีและผิดธรรมเนียมแบบอย่างของภรรยาที่ดี แม้เมื่อพระเวสสันดรประทานสองกุมารแก่ชูชกเป็นบุตรทานพระนางมัทรีก็พลอยอนุโมทนาด้วยแสดงถึงความดีงามของพระนาง ที่ทรงมีน้ำพระทัยศรัทธาในการบริจาคทานเช่นเดียวกับพระเวสสันดร
เมื่อพระอินทร์แปลงเป็นพราหมณ์มาทูลขอพระมัทรีต่อพระเวสสันดร และพระเวสสันดรพระราชทานให้ พระนางก็อยู่ในพระอาการปกติเพราะทรงเชื่อพระทัยว่าพระเวสสันดรทรงเป็นปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ทรงยอมตามพระราชอัธยาศัยและที่สุดพระอินทร์ก็ทรงคืนพระนางต่อพระเวสสันดรดังเดิม
เมื่อกองทัพของพระเจ้ากรุงสญชัยไปถึงสระมุจลินท์ พระเวสสันดรคาดว่าเป็นกองทัพของศัตรูจะตามมาทำร้าย แต่พระมัทรีทรงสังเกตทราบว่าเป็นกองทัพของพระเจ้ากรุงสญชัยและทูลให้พระเวสสันดรทราบ
พระนางมัทรีรักและเลี้ยงดูลูกด้วยความทะนุถนอมดูแลเอาใจใส่และให้ความอบอุ่นแก่ลูกเมื่อพระนางมัทรีพลัดพรากจากสองกุมารก็เที่ยวค้นหาพระลูกรักแต่ไม่พานพบได้แสดงถึงความรักของแม่ที่มีต่อลูก
พระนางมัทรีกลับชาติมาเกิดคือพระนางยโสธราพิมพา พระมารดาพระราหุล
------------------------------------------
๓. พระชาลี
พระชาลีเป็นตัวละครประกอบอยู่ในวรรณคดีเรื่องร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดกมีชื่อเรียกต่างๆ เช่น พ่อสายใจ พ่อหน่อน้อยภาคิไนยนาถ เป็นต้น
พระชาลีเป็นพระราชโอรสของพระเวสสันดรกับพระนางมัทรีเป็นพระเชษฐาของพระกัณหา พระนัดดาของพระเจ้ากรุงสญชัยและพระนางผุสดีเมื่อเวลาประสูติพระประยูรญาติได้ทรงนำตาข่ายทองมารองรับ จึงได้รับพระราชทานนามว่า ชาลี แปลว่าผู้มีตาข่าย
เมื่อพระเวสสันดรทรงถูกเนรเทศออกจากเมือง พระกัณหาและพระชาลีได้โดยเสด็จด้วยขณะที่ชูชกไปทูลขอพระกุมารทั้งสอง ชูชกได้ขู่พระกุมารตั้งแต่แรกเห็น พระกุมารทั้งสองจึงเกรงกลัวชูชกมาก ครั้นทรงทราบว่าพระบิดาประทานพระองค์ให้แก่ชูชกจึงหนีไปซ่อนองค์ในสระบัวเมื่อพระบิดาตรัสเรียกพระชาลีก็ขึ้นจากสระโดยคิดว่าจักให้พระบิดาเรียกถึงสองครั้งมิบังควร
พระเวสสันดรทรงกำหนดค่าของพระชาลีเท่ากับพันตำลึงทองและทรงหลั่งน้ำยกพระกุมารให้แก่ชูชก
ชูชกนำพระกุมารทั้งสองออกจากเขาวงกต รอนแรมมาได้ประมาณ ๖๐ โยชน์ ครั้นตกกลางคืนก็เอาเถาวัลย์ผูกพระกุมารไว้ส่วนชูชกขึ้นไปนอนบนคาคบไม้ตลอดทางเทวดาก็ช่วยบำรุงรักษามิให้มีอันตรายมาแผ้วพานและดลใจให้ชูชกเดินทางไปทางกรุงสีพี ได้เข้าเฝ้าพระเจ้ากรุง สญชัยเมื่อชูชกกราบทูลว่าพระเวสสันดรทรงประทานพระโอรสและพระธิดาให้หมู่อำมาตย์ก็พากันติเตียนพระเวสสันดรว่าน้ำพระทัยดีเกินไปเมื่อประทับในเมืองก็พระราชทานช้างแก้ว ครั้นประทับ ณ เขาวงกตก็ประทานโอรสธิดาอีก
พระชาลีแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพระบิดา ทรงแก้ข้อกล่าวหาของเหล่าอำมาตย์ที่ดูหมิ่นพระเวสสันดรในการบริจาคทานพระราชกุมารทั้งสอง
พระชาลีทรงมีความอ่อนน้อมถ่อมตนและมีคารมคมคาย เมื่อพระเจ้ากรุงสญชัยตรัสเรียกให้มาประทับร่วมพระอาสน์ พระชาลีกราบทูลว่าเป็นข้าของชูชกมิบังอาจไปใกล้ชิดได้ด้วยเกรงว่าพระองค์จะมัวหมอง
พระเจ้ากรุงสญชัยเมื่อได้ยินคำตัดพ้อของพระชาลีจึงทรงไถ่ถอนให้พ้นจากการเป็นทาสและยังพระราชทานปราสาท ๗ ชั้น ให้แก่ชูชกอีกด้วยและรับสั่งให้จัดพิธีสมโภชรับขวัญพระกุมารทั้งสอง
เมื่อพระเจ้ากรุงสญชัยตรัสถามถึงพระเวสสันดรและพระมัทรีพระชาลีก็กราบทูลถึงความทุกข์ที่ทั้งสองพระองค์ทรงได้รับและตัดพ้อพระอัยกาว่าพระโอรสพระองค์ยังไม่ทรงรักจะมารักพระนัดดาได้อย่างไร พระเจ้ากรุงสญชัยจึงตรัสขอโทษพระชาลีและทรงยอมรับว่าเป็นความผิดของพระองค์เองที่ทรงเชื่อผู้อื่นขับไล่พระเวสสันดรไปและรับสั่งให้พระชาลีไปทูลเชิญเสด็จกลับพระนคร พระชาลีกราบทูลว่าพระองค์ยังเป็นพระกุมารคำกล่าวจะไม่มีน้ำหนัก พระเวสสันดรอาจจะไม่ทรงเชื่อและไม่เสด็จกลับพระนคร พระเจ้ากรุงสญชัยจึงเสด็จไปรับพระเวสสันดรยังเขาวงกตโดยมีพระชาลีทรงช้างปัจจัยนาคที่พรามหณ์เมืองกลิงคราษฎร์นำมาถวายคืน
พระชาลีทรงมีสถานะเป็นพระโอรสของพระเวสสันดร ทรงมีความกตัญญูเป็นเลิศ ทรงยอมเป็นบุตรทานให้พระบิดาทรงบริจาคแก่ชูชกเพื่อให้พระบิดาได้สำเร็จพระโพธิญาณค้นพบทางหลุดพ้นจากสังสารวัฏ และเมื่ออำมาตย์กล่าวดูแคลนพระบิดา ก็ทรงแก้ต่างแทนพระบิดาให้อำมาตย์เหล่านั้นได้เห็นกระจ่างถึงความจริงในตัวพระบิดาแสดงให้เห็นถึงความกตัญญูรู้คุณบุพการีของพระชาลีที่ไม่ยอมให้ใครมาดูหมิ่นบิดามารดาของตนในทางที่ไม่เป็นจริงเป็นผู้ที่สามารถประพฤติตนได้เหมาะสมในสถานการณ์ต่างๆ รู้จักเด็กรู้จักผู้ใหญ่ และรู้จักกาล รู้ว่าเวลาไหนควรปฏิบัติตนอย่างไร เป็นต้น
พระชาลีกลับชาติมาเป็นพระราหุล เป็นสามเณรรูปแรกของพุทธศาสนาเมื่อบวชเป็นภิกษุแล้วบำเพ็ญเพียรจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางผู้ใคร่ในการศึกษาท่านนิพพานก่อนพระพุทธองค์ ก่อนพระสารีบุตร ก่อนพระโมคคัลลานะ ดับขันธปรินิพพานที่บัณทุกัมพลศิลาอาสน์ ณดาวดึงส์เทวโลก
-------------------------------------------
๔. พระกัณหา
พระกัณหา หรือ กัณหาชินา เป็นตัวละครประกอบอยู่ในวรรณคดีเรื่องร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดกเป็นพระธิดาของพระเวสสันดรและพระนางมัทรี เป็นพระนัดดาของพระเจ้ากรุงสญชัยและพระนางผุสดี และเป็นพระกนิษฐาของพระชาลี
พระกัณหาเป็นผู้หนึ่งที่ทำให้พระเวสสันดรได้บำเพ็ญบุตรทานบารมีซึ่งเป็นทานอันยิ่งใหญ่ที่มนุษย์ทั้งหลายไม่สามารถทำได้ นอกจากมหาบุรุษผู้ทรงหวังพระโพธิญาณเท่านั้นดังที่พระเวสสันดรทรงตรัสว่า
“พระลูกเอ๋ย เจ้าไม่รู้หรือพระบิตุรงค์บรรจงรักพระโพธิญาณ หวังจะยังสัตว์ให้ข้ามห้วงมหรรณพภพสงสารให้ถึงฟากเป็นเยี่ยงอย่างยอดยากที่จะข้ามได้”
พระกัณหาเป็นผู้ที่มีความกตัญญูเชื่อฟังคำสั่งสอนและมีความเฉลียวฉลาด ได้ติดตามพระเวสสันดรและพระมัทรีไปยังเขาวงกต เมื่อถูกยกให้แก่ชูชกก็หาทางหลบหนี เช่น
“สองเจ้าก็วิ่งวนถึงมงคลสระศรี สองกุมารกุมารีทรงผ้าคากรองเข้าให้มั่นคง แล้วเสียรอยถอยหลังลงสู่สระศรี เอาวารีมาบังองค์ เอาใบบุษบงมาบังพระเกศ หวังจะซ่อนพระบิตุเรศกับพราหมณ์ด้วยความกลัว อยู่ในสระบัว นั้นแล”
และเมื่อพระเวสสันดรตรัสเรียกโดยกล่าวว่า
“…ไยเจ้าไม่องอาจยอมย่อท้อทิ้งพระบิดา ให้พราหมณ์มันจ้วงจาบหยาบช้าเจ้าเห็นชอบอยู่แล้วหรือหนาพ่อสายใจ…”
ทั้งสองกุมารก็ขึ้นจากสระมาแต่โดยดี
พระกัณหาเป็นผู้ว่าง่ายถึงคนคนนั้นจะดีหรือไม่ดีต่อตนก็ตามก็ยังเชื่อฟังคำสั่งโดยไม่ขัดขืน และยังมีน้ำใจคอยช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เสมอ เป็นผู้ที่เข้าใจในเจตนาของพระเวสสันดรที่เสียสละเพื่อประโยชน์ของชนหมู่มากแม้การเสียสละนั้นจะทำให้ตนเองลำบากก็พร้อมที่จะเข้าใจเหตุผลความจำเป็นที่ตนต้องเสียสละพระนางกัณหากลับชาติมาเป็นพระอุบลวรรณาเถรี ชำนาญในการแสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้รับตำแหน่งในทางเอตทัคคะเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลาย ในฝ่ายผู้มีฤทธิ์และเป็นอัครสาวิกาฝ่ายซ้าย
--------------------------------
๕. ท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์)
ท้าวสักกเทวราช เป็นตัวละครประกอบอยู่ในวรรณคดีเรื่องร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก
เป็นพระราชสวามีของพระนางผุสดีขณะสถิตอยู่ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีนามเรียกต่างๆเช่น โกสีย์ อมรินทร์ ศักรินทร์ วัชรินทร์ เทวราช จอมสิเนรุราช ตรีเนตร เทวราชสุราธิบดี พัชรินทรเทวราช มัฆวาน สมเด็จบรมสุราฤทธิ์ เทวราชสุราธิบดี เพชรปาณี ทิพยจักษุเทเวศร์ ท้าวพันตา สหัสจักษุเทเวศร์ สหัสนัยน์ สหัสเนตร สหัสภานุมาศ สุชัมบดี เป็นต้น
ท้าวสักกเทวราชหรือพระอินทร์เป็นตัวละครที่เป็นตัวเชื่อมเหตุการณ์ต่างๆภายในเรื่องมหาเวสสันดรชาดกให้เนื้อหามีความต่อเนื่องกัน คอยช่วยแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี และยังเป็นผู้ดลบันดาลให้ตัวละครต่างๆได้มาพบกันด้วย
บทบาทของท้าวสักกเทวราชมีอยู่ในเรื่องเวสสันดรชาดกเกือบทุกกัณฑ์ ตั้งแต่
กัณฑ์ทศพร พระนางผุสดีจะจุติจากสวรรค์ได้ขอประทานพร ๑๐ ประการ
กัณฑ์หิมพานต์ทรงรำพึงถึงพระพรที่ประสาทให้แก่พระนางผุสดีว่า พระพรทั้งเก้าก็ได้สำเร็จยังแต่พระลูกแก้วที่พระนางปรารถนา พระองค์ก็เห็นควรจะประสิทธิ์ให้
กัณฑ์วนประเวศน์ ทรงสั่งให้พระเวสสุกรรมเทพบุตรมานิมิตบรรณศาลา ๒หลัง ที่จงกรม ๒ หลังกับที่พักกลางวันและกลางคืนพร้อมด้วยเครื่องบรรพชิตบริขารทุกประการ
กัณฑ์มัทรี ทรงสั่งให้เทวดาจำแลงเป็นสัตว์ร้าย ๓ ชนิดนอนขวางทางพระนางมัทรีไม่ให้เสด็จตามไปทันสองกุมาร
กัณฑ์สักกบรรพ นิรมิตองค์เป็นพราหมณ์เข้าไปทูลขอพระมัทรีเพื่อว่าเมื่อประทานให้แล้ว
จะถวายคืนให้พระนางได้อยู่ปฏิบัติรับใช้ต่อไป
กัณฑ์ฉกษัตริย์ หกกษัตริย์ทรงกันแสงจนสลบไปทรงบันดาลให้ฝนโบกขรพรรษตกลงมา หกกษัตริย์ต่างก็ฟื้นคืนสมปฤดี
พระอินทร์เป็นเทพที่มีจิตใจดีมีความเมตตากรุณา เปี่ยมไปด้วยคุณธรรมชอบช่วยเหลือคนดีมีคุณธรรมที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก และทรงเป็นผู้มองการณ์ไกล ทรงเล็งเห็นว่าพระเวสสันดรมีจิตปรารถนาพระโพธิญาณในอนาคตกาลจึงทรงคอยช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้พระเวสสันดรทรงสมปรารถนาอยู่เสมอ
ตัวอย่างของความมีจิตใจดีมีเมตตากรุณาเช่นในกัณฑ์ทศพรและกัณฑ์หิมพานต์ ทรงเมตตาประทานพร ๑๐ ประการให้ตามที่พระนางผุสดีขอและยังพรนั้นให้สำเร็จตามที่พระนางปรารถนา ส่วนในกัณฑ์ฉกษัตริย์ก็ทรงบันดาลฝนโบกขรพรรษให้ตกลงมาประพรมให้กษัตริย์ทั้งหกฟื้นคืนสมปฤดี
ความเป็นเทพที่คอยปกป้องคุ้มครองคอยช่วยเหลือบุคคลที่ทำแต่ความดีที่เดือดร้อนในโลกมนุษย์ เช่นในกัณฑ์วนประเวศน์ได้ช่วยเหลือพระเวสสันดร พระนางมัทรี พระกัณหาและพระชาลีในระหว่างเดินทางไปยังเขาวงกตและเมื่อเสด็จถึงเขาวงกตก็พบพระอาศรมที่ได้ให้พระวิศนุกรรมมาเนรมิตไว้ให้
ความเป็นเทพที่มีความคิดละเอียดรอบคอบเช่นสั่งให้เทวดาจำแลงเป็นสัตว์ร้าย ๓ ชนิด คือราชสีห์ เสือเหลือง และเสือโคร่งนอนขวางทางพระนางมัทรีเพื่อไม่ให้พระนางตามไปขัดขวางการบริจาคปุตตทานของพระเวสสันดรได้ในกัณฑ์มัทรี และในกัณฑ์สักกบรรพพระองค์ก็ทรงเกรงว่าจะมีผู้อื่นมาขอพระนางมัทรีจึงแปลงองค์เป็นพราหมณ์มาทูลขอพระนางเสียก่อน เมื่อพระเวสสันดรประทานให้ พระอินทร์ทรงอนุโมทนาแล้วก็ถวายคืนพร้อมทั้งแสดงองค์ให้ปรากฏและพระราชทานพร๘ ประการแก่พระเวสสันดรด้วย รวมความว่าพระอินทร์คอยช่วยเหลือพระเวสสันดรตลอดเรื่องเช่น ไม่ให้พระเวสสันดรวิบัติ ไม่ให้พระเวสสันดรขัดข้อง ไม่ให้พระเวสสันดรต้องกังวล ให้พระเวสสันดรบรรลุผลดังปรารถนา
ท้าวสักกเทวราชกลับชาติมาเกิดเป็นพระอนุรุทรเถระเป็นผู้ไม่รู้จักคำว่า ไม่มี และไม่ได้บวชด้วยศรัทธาแต่บวชเพราะเกรงใจเมื่อสำเร็จเป็นพระอรหัต์แล้วได้รับยกย่องว่าเป็นเอตคัคคะทางผู้มีทิพยจักษุญาณเป็นปฐมเหตุประเพณีทอดผ้าบังสุกุล หรือทอดผ้าป่า นิพพาน ณ ภายใต้ร่มกอไผ่ในหมู่บ้านเวฬุวะ แคว้นวัชชี
------------------------------
๖. พระนางผุสดี
พระนางผุสดี เป็นตัวละครอยู่ในวรรณคดีเรื่องร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก เดิมเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าพันธุมราชชื่อสุธัมมา ต่อมาได้บังเกิดเป็นอัครมเหสีของสมเด็จพระอมรินทราธิราชชื่อผุสดี เมื่อจุติจากสวรรค์ได้ถือกำเนิดเป็นพระราชธิดาของพระเจ้ามัททราช ครั้นเจริญวัยก็ได้อภิเษกเป็นอัครมเหสีของพระเจ้ากรุงสญชัยและเป็นพระมารดาของพระเวสสันดร
พระนางผุสดีธิดากษัตริย์มัททราช มเหสีของพระเจ้ากรุงสญชัยแห่งกรุงสีพีราษฎร์และพระมารดาของพระเวสสันดรนั้น เมื่อเสวยพระชาติเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าพันธุมราชแห่งพันธุมดีนครทรงได้รับพระราชทานแก่นจันทน์แดงจากพระราชบิดาจึงได้นำไปบดใส่ผอบทองและถวายแด่พระวิปัสสิสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมทั้งอธิษฐานว่าขอให้ได้เป็นพุทธมารดาในอนาคต ด้วยกุศลผลบุญนี้ทำให้พระนางได้ไปบังเกิดบนสวรรค์ เป็นพระมเหสีของพระอินทร์ ครั้นเมื่อถึงกำหนดจะจุติจากสวรรค์ก็ได้รับพระราชทานพร ๑๐ ประการจากพระอินทร์ด้วย
พระนางผุสดีมีอุปนิสัยรักสวยรักงามเช่นในพรที่ขอจากพระอินทร์ส่วนมากก็จะยึดติดกับรูปกายภายนอก เช่น ขอให้ดวงเนตรทั้งสองมีสีดำประดุจดวงตาลูกเนื้อทราย ขอให้มีพระขนงเขียวดุจสร้อยคอนกยูง ขออย่าให้มีพระครรภ์ปรากฏนูนดังสตรีสามัญ ขออย่าให้พระถันทั้งคู่ดำในเวลาทรงครรภ์และเมื่อประสูติแล้วขออย่าให้หย่อนยาน ขอให้เส้นพระเกศเป็นมันดุจสีปีกแมลงค่อมทอง และขอให้พระฉวีละเอียดดุจดังทองคำธรรมชาติ ส่วนในข้อที่แสดงว่าพระนางเป็นผู้มีความเมตตากรุณาก็คือ ได้ขอพระราชทานพรให้ทรงมีอำนาจปลดปล่อยนักโทษประหารชีวิตให้พ้นโทษและในข้อที่แสดงความยึดมั่นในตำแหน่งฐานะก็คือขอให้ได้ประทับในปราสาทพระเจ้าสีวีราช
พระนางผุสดีในฐานะพระราชมารดาทรงเป็นแม่ที่รักลูก ห่วงใยลูก เมื่อลูกมีปัญหาก็รีบหาทางช่วยแก้ไข แต่ในฐานะของผู้ปกครองประเทศก็จะออกเดินทางไปเยี่ยมเยือนประชาชนดูแลทุกข์สุขของประชาชน และประทานเงินทองให้แก่ราษฎรส่วนในฐานะของพระอัครมเหสีก็สามารถเป็นที่ปรึกษาของพระเจ้ากรุงสญชัยได้เป็นอย่างดี
พระนางผุสดีกลับชาติมาเกิดเป็นพระนางสิริมหามายา
------------------------------------
๗. พระเจ้ากรุงสญชัย
พระเจ้ากรุงสญชัย เป็นตัวละครอยู่ในวรรณคดีเรื่องร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดกมีชื่อเรียกต่างๆกันเช่น สมเด็จพระบรมกษัตริย์ พระปิ่นเกล้ามกุฎพิภพสีพี สมเด็จพระอัยกาธิบดีศรีสมมุติเทพวงศ์ เป็นต้น
พระเจ้ากรุงสญชัย เป็นพระราชาแห่งกรุงสีพีราษฎร์พระราชบิดาของพระเวสสันดร เมื่อพระโอรสมีพระชนมายุสมควรจะสืบราชสมบัติแล้วก็ทรงสละราชสมบัติให้ทรงปกครองต่อไปพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่เห็นแก่ประโยชน์ของบ้านเมืองมากกว่าประโยชน์ส่วนพระองค์เอง ทรงเนรเทศพระเวสสันดรออกจากเมืองพร้อมด้วยพระนางมัทรี พระชาลี และพระกัณหาเมื่อชาวเมืองมาร้องทุกข์ว่าพระโอรสทรงกระทำผิดแม้พระมเหสีจะทูลขอร้องประการใดก็มิได้คืนคำทั้งที่ทรงอาลัยรักในพระโอรสแต่ก็ทรงหักพระทัยได้เพื่อประโยชน์สุขของบ้านเมืองและยังได้ทรงไถ่ตัวพระชาลีและพระกัณหาคืนจากชูชกด้วย
พระเจ้ากรุงสญชัยแม้จะเป็นพระมหากษัตริย์ แต่เมื่อทรงทราบว่าพระองค์เป็นผู้ผิดก็หาได้ทรงมีทิฐิไม่ ทรงขอโทษพระชาลีซึ่งเป็นพระนัดดา
ตอนรับพระเวสสันดรกลับเข้าเมืองก็ได้ตรัสขอโทษพระเวสสันดร
พระเจ้ากรุงสญชัยกลับชาติมาเป็นพระเจ้าสุทโทธนะ
----------------------------------------
๘. ชูชก
ชูชก เป็นตัวละครประกอบอยู่ในวรรณคดีเรื่องร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดกเป็นผู้เกิดในตระกูลพราหมณ์โภวาทิกชาติซึ่งเป็นพราหมณ์พวกที่ถือตนว่ามีกำเนิดสูงกว่าผู้อื่นมักใช้คำว่า “โภ”แปลว่า “ผู้เจริญ” เป็นคำร้องเรียก
แม้ชูชกจะเกิดในตระกูลพราหมณ์ที่ถือตนว่ามีกำเนิดสูงกว่าผู้อื่นแต่ชูชกก็ยากจนเข็ญใจยิ่ง ต้องเที่ยวขอทานเขาเลี้ยงชีพ ชูชกมีบ้านอยู่ในหมู่บ้านทุนนวิฐติดกับเมืองกลิงคราษฎร์ มีรูปร่างหน้าตาน่าเกลียดประกอบด้วยบุรุษโทษ ๑๘ประการ
ลักษณะนิสัยของชูชก
๑. มีความตระหนี่เหนียวแน่น ขอทานได้มากเท่าไรก็เก็บไว้ไม่ยอมนำไปใช้จ่ายจนได้ถึง ๑๐๐ กษาปณ์
๒. มีความโลภ เที่ยวขอทานจนมีเงินมากมายก็ยังไม่ยอมหยุดเพื่อนำเงินมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนยังคงขอเรื่อยไป
๓. รักและหลงเมีย ยอมให้นางทุกอย่าง เช่น “ทีนี้งานการเจ้าอย่าได้ทำ ทั้งหุงต้มตักตำตามใจเจ้าเถิดนะแม่ ขอแต่ว่ามานั่งให้พี่นี้แลๆพอให้ชื่นใจ พี่ก็จะรับร่ำกระทำไปไม่ละเลย”
แม้รู้ว่าการเดินทางไปเฝ้าพระเวสสันดรนั้นแสนยากลำบากเพียงใด
๔. เป็นคนฉลาด มีเล่ห์เหลี่ยมมาก ฉลาดทั้งในด้านการพูดและกลอุบาย
- ฉลาดในการพูด เช่น ก่อนที่จะทูลขอสองกุมารได้ยกแม่น้ำทั้งห้าขึ้นมาเปรียบกับน้ำพระทัยของพระเวสสันดร เป็นการหว่านล้อมเสียก่อนแล้วจึงทูลขอว่า “เสมือนหนึ่งน้ำพระทัยทูลกระหม่อมแก้ว อันยาจกมาถึงแล้วไม่เลือกหน้า ตามแต่จะปรารถนาทุกยวดยานกาญจนอลงกตรถรัตน อัศวสรรพสารพัดพิพิธโภไคย จนกระทั่งถึงภายในปัญจมหาบริจาค อันเป็นยอดยากยิ่งไม่ท้อถอย ด้วยพระองค์หมายมั่นพระสร้อยสรรเพชฌดาญาณ พระคุณเจ้าเอ่ย ข้าพระราชสมภารนี้เป็นคนจนทุพพลภาพสุดเข็ญ จะหาเช้าได้กินเย็นก็ทั้งยาก ครั้งนี้อุตส่าห์บ่ายบากบุกป่าฝ่าดงพนัสแสนกันดาร หวังจะรับพระราชทานพระชาลีกัณหาไปเป็นทาสทาสี ขอพระองค์ทรงยกยอดปิยบุตรทานบารมีแก่ข้าธชีนี้เถิด”
- ฉลาดในกลอุบาย คือเมื่อพบเจตบุตรถูกเจตบุตรขู่จะฆ่าก็แกล้งบอกว่าตนเป็นทูตจากพระเจ้ากรุงสญชัยถือพระราชสารไปยังพระเวสสันดร โดยอ้างกล่องใส่อาหารว่าเป็นกล่องใส่พระราชสาร เจตบุตรจึงเข้าช่วยเหลือ
“เข้าประคับประคองแต่ค่อยค่อยพยุพยุงถุงย่าม ได้ยินเสียงกรุกรักก็ทักถามว่าอะไรนั่นเจ้าข้า ตาแกก็กลับกลักพริกกลักงาว่าใส่สาส์นตราพระราชสีห์ เจตบุตรก็ยินดียกขึ้นทูนหัว เฒ่าก็ร้องสำทับว่ารับแต่ค่อยค่อยของมันหนักกลักนี้มิใช่ชั่วอย่าเหวี่ยงวางลงให้ราบ เจตบุตรก็ปูผ้าลงกราบกราบนึกว่าจริง”
๕. มีความละเอียดรอบคอบ เมื่อจะจากนางอมิตตดาไป ได้หาฟืน ตักน้ำ และซ่อมบ้านให้เรียบร้อย ทั้งยังสั่งสอนนางให้ระวังตัวเกรงจะถูกคนพาลมารังแก
๖. มีความยึดมั่นในพิธีทางไสยศาสตร์ เช่น
“เฒ่าก็ยังอมิตตดาดรุเณศ ให้นั่งนิ่งในทักษิณประเทศสืบสายสำเนียน แล้วกระทำประทักษิณวนเวียนวงได้สามรอบ ตามฉบับระบอบไสยศาสตร์เพท ว่าทั้งผู้อยู่ก็จะไม่มีภัยทั้งผู้ไปก็จะไม่มีเหตุ หากจะให้เจริญสุขสวัสดิ์วิเศษทั้งสองข้าง”
ชูชกเป็นตัวอย่างของคนที่ติดอยู่ในกาม ต้องมาตกระกำลำบากในยามชราเข้าลักษณะว่า “วัวแก่กินหญ้าอ่อน” ในตำราหิโตปเทศกล่าวว่า “ความรู้เป็นพิษเพราะเหตุไม่ใช้ ปราสาทเป็นพิษเพราะคนเข็ญใจ อาหารเป็นพิษเพราะไฟธาตุไม่ย่อย เมียสาวเป็นพิษเพราะผัวแก่” ชูชกแสดงให้เห็นว่าเป็นจริงทุกประการ เช่น ปราสาทเป็นพิษเพราะคนเข็ญใจเพราะชูชกอยู่บนประสาทได้ไม่ถึงเจ็ดวันก็ตาย อาหารเป็นพิษเพราะไฟธาตุไม่ย่อยชูชกกินอาหารจนเกินขนาดทำให้อาหารไม่ย่อยจึงตาย เมียสาวเป็นพิษเพราะผัวแก่ชูชกได้ความลำบากก็เพราะนางอมิตดาใช้
ชูชกกลับชาติมาเป็นพระเทวทัตสุดท้ายถูกแผ่นดินสูบ
--------------------------------
๙. นางอมิตตดา
นางอมิตตดา เป็นตัวละครประกอบอยู่ในวรรณคดีเรื่องร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดกมีชื่อเรียกต่างกัน เช่น อมิตดา อมิตตา และอมิตตตาปนา
ในกัณฑ์ชูชกได้กล่าวถึงนางอมิตตดาว่าเป็นบุตรสาวของพราหมณ์ซึ่งชูชกได้นำเงินไปฝากไว้เป็นเงิน ๑๐๐ กษาปณ์ แต่บิดาของนางได้นำเงินไปใช้จ่ายจนหมด เมื่อชูชกมาทวงจึงต้องจำใจยกนางอมิตตดาให้เป็นภรรยาของชูชก
นางอมิตตดาเป็นคนสวยและขยันในกิจการงานบ้านงานเรือนปรนนิบัติชูชกเยี่ยงภรรยาที่ดีจนเป็นเหตุให้พราหมณ์ในละแวกนั้นโกรธเคืองภรรยาของตน เพราะเห็นว่าภรรยาของตนไม่ดีเท่าอมิตตา บรรดาภรรยาพราหมณ์ทั้งหลายจึงพากันโกรธรุมด่าทอนางอมิตตดา เมื่อกลับมาถึงเรือนแม้ชูชกจะขอทำงานแทนนาง นางก็ไม่ยินยอมที่จะใช้สามี ได้ขอให้ชูชกไปขอสองกุมารมาเป็นทาสช่วงใช้
นางอมิตตดามีความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ เป็นแบบอย่างของลูกที่เชื่อฟังและอยู่ในโอวาทเมื่อต้องไปเป็นภรรยาของเฒ่าชูชกเพราะพ่อแม่ของตนไม่มีเงินใช้หนี้นางก็มิได้ขัดขืนแต่อย่างใด
“ส่วนว่านางอมิตตดานั้นเป็นลูกเหล่าตระกูลไม่เสียชาติ ไม่คิดว่าตัวเป็นสาวได้ผัวแก่แล้วก็เป็นเมียทาสคิดว่าทุกข์ของพ่อแม่กรรมแล้วก็ตามกรรม…”
นางเป็นภรรยาที่ดีปฏิบัติต่อสามีอย่างไม่ขาดตกบกพร่องและเป็นผู้ที่รักษาประเพณีไม่ยอมให้สามีต้องทำหน้าที่แทนตนตามคตินิยมของคนในยุคนั้น
“…เป็นต้นว่าหาหุงต้มตักตำทุกค่ำเช้าไม่ขวยเขินละอายเพื่อน เวลาเช้าเจ้าก็ทำเวลาค่ำเจ้าก็มิให้เตือนทั้งการเรือนเจ้าก็มิให้ว่าทั้งฟืนเจ้าก็หักทั้งผักเจ้าก็หาเฝ้าปฏิบัติเฒ่าชราทุกเวลากาล นั้นแล”
ชูชกทั้งรักและหลงนางอมิตตดาเมื่อต้องจากนางเดินทางไปขอสองกุมารจึงซ่อมแซมบ้านให้และสั่งสอนนางอมิตตดาให้อยู่กับบ้านอย่าไปไหน อย่าเที่ยวคบเพื่อนจะเสียตัวผู้ชายชั่วจะหยอกเอิน ถ้ามีคนมาพูดเกี้ยวก็อย่าได้ต่อคำ ถ้าผู้ชายเข้ามาใกล้ก็อย่าได้ทักทายเพราะจะรู้ว่าชูชกไม่อยู่
ในขณะเดียวกันนางอมิตดาก็เป็นตัวอย่างของคนที่ไม่มีความเป็นตัวของตัวเองปล่อยชีวิตของตนให้เป็นไปตามกระแสของสังคมจนเกินควร จึงแสดงนิสัยพาล พูดจาไม่สุภาพใจร้ายและข่มขู่สามี
“…ว่ากระไรหาอ้ายเฒ่าจัญไรนี้จะไม่ไปหรือ ทำหน้าเป็นหน้างั่งหง่อยเหงาโง่…”
นางอมิตตดาได้กลับชาติมาเกิดเป็นนางจิญจมาณวิกาถูกแผ่นดินสูบหน้าวัดเชตวันมหาวิหารอยู่บริเวณใกล้ๆกับเทวทัตนั้นเอง
----------------------------------
๑๐. พระอัจจุตฤาษี
พระอัจจุตฤาษี เป็นตัวละครอยู่ในวรรณคดีเรื่องร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดกบางทีเรียกพระมุนี พระนักสิทธิ์ พระสิทธาจารย์ โยคี และพระฤาษี
พระอัจจุตฤาษี เป็นผู้บอกทางเข้าเขาวงกตให้ชูชกไปพบพระเวสสันดร โดยหลงกลเฒ่าชูชกที่หลอกลวงว่าเป็นกัลยาณมิตรของพระเวสสันดร จึงนอกจากจะให้ที่พักพิงและต้อนรับชูชกเป็นอย่างดีแล้วยังให้กินผลไม้และบอกทางไปยังอาศรมของพระเวสสันดรด้วย
พระอัจจุตฤาษีเป็นผู้บำเพ็ญเพียรบารมีอย่างเคร่งครัด มีความเมตตากรุณามากเช่น ให้ชูชกได้พักผ่อนตามอัธยาศัย ให้กินผลไม้ที่ตนเก็บไว้เป็นอาหาร และยังให้อาหารสำหรับการเดินทางไปหาพระเวสสันดรจะเห็นได้ว่าพระอัจจุตฤาษีเป็นแบบอย่างของนักธรรมผู้ฉลาดแต่ขาดเฉลียวเพราะเป็นผู้มีเมตตามากจึงถูกลวงได้ง่าย
พระอัจจุตฤาษีกลับชาติมาเป็นพระสารีบุตรเป็นอัครสาวกฝ่ายขวา ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะว่าผู้เลิศด้วยปัญญาเทศน์โปรดโยมแม่แล้วนิพพาน
----------------------------------
๑๑. พรานเจตบุตร
พรานเจตบุตร เป็นตัวละครอยู่ในวรรณคดีเรื่องร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดกบางทีเรียกว่าพรานป่า เป็นพรานผู้ชำนาญป่าชาวเจตราษฎร์ ที่มีร่างกายกำยำล่ำสัน สูงใหญ่หนวดเคราดก วาจาหยาบ ใจกล้าดุดันและเหี้ยมโหดได้รับมอบหมายจากกษัตริย์เจตราษฎร์ให้ไปคอยรักษาต้นทางเพื่อมิให้ผู้ใดไปรบกวนพระเวสสันดร เช่น ชาวสีพีใช้ให้คนมาทำร้ายหรือยาจกติดตามไปขอพระกุมาร ยกเว้นแต่ทูตของกรุงสีพี หรือผู้รับคำสั่งจากพระเจ้าเจตราษฎร์เท่านั้น
เมื่อชูชกเดินทางไปขอสองกุมารจากพระเวสสันดรจนถึงถิ่นที่พรานเจตบุตรดูแลก็ลวงเจตบุตรว่า ชาวสีพีหายโกรธเคืองพระเวสสันดรแล้ว พระเจ้ากรุงสญชัยและพระนางผุสดีมีพระประสงค์จะพบพระโอรสจึงให้ชูชกเป็นทูตไปเชิญพระเวสสันดรกลับบ้านเมือง พรานเจตบุตรก็ดีใจต้อนรับเลี้ยงดูชูชกเป็นอย่างดี ให้พักอาศัย จัดเสบียงอาหารให้และแนะนำทางที่จะไปยังอาศรมของพระอัจจุตฤาษีต้นทางที่จะเข้าสู่อาศรมของพระเวสสันดรเพื่อให้แวะถามถึงหนทางที่จะไปยังเขาวงกตต่อไป
พรานเจตบุตรเป็นแบบอย่างของคนดีแต่ไม่ฉลาดจึงตกเป็นเหยื่อของคนหลอกลวงที่มากไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมอย่างชูชก
พรานเจตบุตรกลับชาติมาคือพระฉันนะเถระ
----------------------------------
๑๒. พระเจ้ามัททราช
พระเจ้ามัททราช เป็นตัวละครประกอบอยู่ในวรรณคดีเรื่องร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดกเป็นกษัตริย์ผู้ครองแคว้นมัททราช ในเรื่องกล่าวถึงพระเจ้ามัททราชสองพระองค์ พระองค์หนึ่งเป็นพระราชบิดาของพระนางผุสดีผู้เป็นมเหสีของพระเจ้าสญชัยและมีพระโอรสพระนามว่าเวสสันดร ส่วนอีกพระองค์หนึ่งคือพระราชบิดาของพระมัทรี มเหสีของพระเวสสันดร
พระเจ้ามัททราชที่เป็นพระราชบิดาของพระมัทรีนั้นอาจจะเป็นพระเชษฐาหรือพระอนุชาของพระนางผุสดีก็ได้ เพราะในตอนที่กล่าวถึงพระเวสสันดรเมื่ออภิเษกกับพระมัทรีนั้นได้กล่าวไว้ว่า“พระมัทรีเป็นราชธิดาในมาตุลราชวงศ์” คำว่า “มาตุล”อาจหมายถึง “ลุง” หรือ “น้า” (ญาติฝ่ายแม่) ก็ได้
ตอนท้ายของเรื่องมหาเวสสันดรชาดกกล่าวว่า พระเจ้ามัททราช พระราชบิดาของพระมัทรีกลับชาติเป็นพระมหานามศากยราช ซึ่งพระมหานามศากยราชเดิมเป็นราชบุตรพระเจ้าอมิโตทนราชผู้เป็นพระเจ้าอาของพระสิทธัตถะกุมาร
---------------------------------
๑๓. พระเวสสุกรรม
พระเวสสุกรรม เป็นตัวละครประกอบอยู่ในวรรณคดีเรื่องร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า พระวิสสุกรรม หรือพระวิศณุกรรม
บทบาทและพฤติกรรม ในกัณฑ์วนประเวศน์พระวิสสุกรรมเป็นผู้ที่ได้รับคำสั่งจากพระอินทร์ให้มานิรมิตบรรณศาลาไว้ ๒ หลังหลังหนึ่งให้กับพระเวสสันดร อีกหลังหนึ่งให้กับพระนางมัทรี พระกัณหาและพระชาลีพร้อมด้วยเครื่องบรรพชิตบริขารทุกประการแล้วบันดาลให้สัตว์ร้ายและนกอันมีเสียงที่ไม่ไพเราะหนีไปอยู่ที่อื่นและกำชับให้เจ้าป่าดูแลทั้งสี่กษัตริย์เป็นอย่างดี
การวิเคราะห์ พระวิสสุกรรมคือเทพบุตรผู้มีคุณธรรม ปฏิบัติดี เป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของพระอินทร์ เป็นแบบอย่างลูกน้องที่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้านายอย่างดีไม่ขาดตกบกพร่องซึ่งจะเห็นได้จากการที่พระอินทร์สั่งให้พระวิสสุกรรมลงมาเนรมิตอาศรมและคอยดูแลทั้งสี่กษัตริย์พระวิสสุกรรม กลับชาติมาเกิดเป็นพระมหาโมคคัลลานะ อัครสาวกเบื้องซ้ายได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางมีฤทธิ์มาก
---------------------------------------
๑๔.ช้างปัจจัยนาค
ช้างปัจจัยนาค เป็นตัวละครประกอบอยู่ในวรรณคดีเรื่องร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดกปรากฏในกัณฑ์หิมพานต์ กัณฑ์มหาราช และนครกัณฑ์เป็นช้างคู่พระบารมีของพระเวสสันดร มีชื่อเรียกต่างๆกัน เช่น ช้างปัจจัยนาเคนทร์ ช้างต้นมงคลเศวตไอยรา เศวตคชาคเชนทรปัจจัย และพระคชินทเรศเศวตคชาพิเชียรพิชัยปัจจัยนาค
ในกัณฑ์หิมพานต์กล่าวถึงเมื่อพระนางผุสดีประชวรพระครรภ์และประสูติพระราชกุมารกลางพระนคร ณตรอกพ่อค้า โดยได้รับการถวายพระนามว่า “เวสสันดร” ได้มีนางช้างตระกูลฉัททันต์ชื่อ “กเรณุ” พาลูกช้างสีขาวบริสุทธิ์มาไว้ในโรงช้างต้น ลูกช้างนี้มีชื่อว่า “ปัจจัยนาค”เป็นช้างแก้วอุดมด้วยมงคลลักษณะอันเลิศยิ่งนัก ไม่ว่าจะไปยังพื้นที่แห่งใดก็จะบันดาลความอุดมสมบูรณ์มายังพื้นที่นั้นๆขณะนั้นเมืองกลิงคราษฎร์เกิดวิบัติข้าวยากหมากแพง ฝนแล้ง ประชาชนยากแค้นแสนสาหัส แม้ว่าเจ้าเมืองกลิงคราษฎร์จะพยายามบำเพ็ญพิธีกรรมต่างๆเพื่อให้ฝนตกก็ไม่สำเร็จ จึงได้ให้พราหมณ์ ๘ คนมาขอพระราชทานช้างปัจจัยนาค พระเวสสันดรก็พระราชทานให้เป็นเหตุให้พระเวสสันดรถูกปัพพาชนียกรรมออกจากเมือง และในกัณฑ์มหาราชกล่าวถึงเมื่อชูชกขอสองพระกุมารจากพระเวสสันดรและพาเดินทางผ่านเข้ามาหน้าพระที่นั่งพระเจ้ากรุงสญชัยพระองค์จึงได้ไถ่พระชาลีและพระกัณหาแล้วรับสั่งให้เตรียมทัพเพื่อไปรับพระเวสสันดรกลับคืนพระนคร ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่พราหมณ์เมืองกลิงคราษฎร์ทั้ง ๘ คนได้นำช้างปัจจัยนาเคนทร์มาถวายคืนพระเจ้ากรุงสญชัยจึงให้เป็นช้างทรงของพระชาลีไปยังเขาวงกต และในนครกัณฑ์พระเวสสันดรก็ได้ทรงช้างปัจจัยนาเคนทร์กลับคืนสู่พระนคร
ช้างปัจจัยนาคถือเป็นช้างที่มีอิทธิพลต่อความเชื่อของชาวเมืองกลิงคราษฎร์เช่นเดียวกับชาวเมืองสีพี คือเมื่อเมืองกลิงคราษฎร์เกิดวิบัติข้าวยากหมากแพง ฝนแล้ง ชาวเมืองยากแค้นไปทั่ว เจ้าเมืองกลิงคราษฎร์ก็ได้ให้พราหมณ์๘ คน มาขอพระราชทานช้างปัจจัยนาค โดยที่เชื่อว่าไม่ว่าจะขับขี่ไปยังพื้นที่แห่งใดก็จะบันดาลให้ฝนตกลงมาทำให้พื้นที่นั้นอุดมสมบูรณ์ ข้าวปลาบริบูรณ์ทันที (คล้ายกับความเชื่อเกี่ยวกับพิธีแห่นางแมวของไทยที่เชื่อว่าทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล)อีกประการหนึ่งช้างปัจจัยนาคเป็นช้างที่มีความซื่อสัตย์ต่อเจ้าของจะเห็นได้จากตอนที่กลับมาพบพระเวสสันดรได้แสดงอาการดีใจ
ช้างปัจจัยนาคกลับชาติมาเป็นพระมหากัสสปเถระเป็นประธานในการปฐมสังคายนาหลังพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้วได้รับยกย่องเป็นเอตคัคคะว่าเป็นผู้เลิศในทางธุดงค์เป็นต้นแบบของพระป่า มีอายุยืนถึง ๑๒๐ ปี นิพพานแล้วท่านยังอธิฐานจิตให้สรีระของท่านยังคงสภาพเดิมไม่สูญสลาย จนกว่าจะถึงศาสนาพระศรีอริยเมตไตย
--------------------------------
๑๕. แม่ช้างเผือก กเรณู (นางช้างอากาศจาริณี)
แม่ช้างเผือกกเรณู (นางช้างอากาศจาริณี) เป็นตัวละครอยู่ในวรรณคดีเรื่องร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดกเป็นช้างตระกูลฉัททันต์ที่พาลูกช้างสีขาวบริสุทธิ์มาไว้ในโรงช้างต้นแล้วก็กลับไปอยู่ป่าตามเดิม ลูกช้างตัวนั้นประชาชนขนานนามว่า “ปัจจัยนาค”
แม่ช้างกเรณูเป็นตัวละครประกอบที่สำคัญตัวหนึ่งที่ทำให้เกิดเรื่องต่างๆตามมามากมายตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง โดยได้ให้กำเนิดลูกช้างชื่อปัจจัยนาค และนำมามอบให้เป็นช้างคู่บารมีของพระเวสสันดร แม่ช้างกเรณูนี้กลับชาติเป็นกีสาโคตมีได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง
-------------------------------------
๑๖.เทวราชสุรารักษ์ (เทวดาผู้ชายที่ดูแลกัณหาชาลีระหว่างเดินทาง)
เทวราชสุรารักษ์ เป็นตัวละครประกอบอยู่ในวรรณคดีเรื่องร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดกที่คอยดูแลพระกัณหาและพระชาลีระหว่างการเดินทางไปกับชูชก
เทวราชสุรารักษ์ เป็นเทวดาที่คอยรักษาป่า รู้สึกสงสารและห่วงใยพระกัณหาและพระชาลี ที่ต้องเผชิญกับความลำบากต่างๆนานาจึงเนรมิตกายคล้ายคลึงกับพระเวสสันดร สวมชุดฤาษีมุ่นพระโมลีมาคอยดูแลสองกุมารระหว่างการเดินทางตลอดระยะเวลา ๑๕ คืนพร้อมด้วยนางเทพอัปสรที่เนรมิตกายคล้ายคลึงกับพระมัทรี โดยเทพบุตรและเทพธิดาทั้งสองได้ถวายการดูแลสองกุมารดังนี้
เอาเถาวัลย์ที่ผูกข้อมือของสองกุมารออก
นางอัปสรให้ดื่มนมจากอกของนาง
อาบน้ำชำระร่างกาย แต่งตัวให้ใหม่
ให้บริโภคอาหารที่มีรสทิพย์
ขับกล่อมให้บรรทม
เนรมิตทิพยรัตน์ไสยาอาสน์ให้สองกุมารทรงบรรทม
อยู่ดูแลสองกุมารจนถึงเช้าก่อนที่จะหายตัวไปตลอดระยะเวลาการเดินทาง ๑๕ คืน
เมื่อชูชกพาสองกุมารมาถึงประตูป่าคือถึงทางแยกที่จะเลือกไประหว่างเมืองสีพีและเมืองกลิงคราษฎร์เทพบุตรและเทพธิดาก็ดลใจให้ชูชกหลงไปทางเมืองเชตุดรนครสีพี และทำให้สองกุมารได้พบกับพระเจ้ากรุงสญชัย
เทวราชสุรารักษ์ เป็นแบบอย่างของความมีเมตตาที่ทำให้ทุกคนอยู่ร่วมสังคมเดียวกันได้อย่างสงบสุข ทรงให้ความช่วยเหลือและให้ความอบอุ่นแก่สองกุมารแทนพระบิดา ช่วยดูแลอภิบาลพระกัณหาและพระชาลีในขณะที่เดินทางมากับชูชก
เทวดาผู้ชายที่ดูแลพระกัณหาและพระชาลีกลับชาติมาเกิดคือพระมหากัจจายนะเถระ มีรูปร่างหล่อมากเป็นที่ศรัทธาของคนทั่วไปต่อมาแปลงร่างให้รูปร่างอ้วนไม่น่าดูได้รับยกย่องเป็นเอตคัคคะในทางอธิบายความย่อให้พิศดาร
--------------------------------
๑๗.นางอัปสร(เทวดาผู้หญิงที่ดูแลกัณหาชาลีระหว่างเดินทาง)
นางอัปสร เป็นตัวละครประกอบอยู่ในวรรณคดีเรื่องร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดกเป็นเทพธิดาที่คอยดูแลพระกัณหาและพระชาลีระหว่างการเดินทางไปกับชูชก
นางอัปสร รู้สึกสงสารและห่วงใยพระกัณหาและพระชาลีที่ต้องเผชิญกับความลำบากต่างๆนานา จึงเนรมิตกายคล้ายคลึงกับพระมัทรีมีสิริโฉมงดงาม มีน้ำใจอันประเสริฐมาคอยดูแลสองกุมารระหว่างการเดินทางตลอดระยะเวลา๑๕ คืน พร้อมด้วยเทพบุตรที่เนรมิตกายคล้ายคลึงกับพระเวสสันดร
เมื่อชูชกพาสองกุมารมาถึงประตูป่าคือถึงทางแยกที่จะเลือกไประหว่างเมืองสีพีและเมืองกลิงคราษฎร์เทพบุตรและเทพธิดาก็ดลใจให้ชูชกหลงไปทางเมืองเชตุดรนครสีพี และทำให้สองกุมารได้พบกับพระเจ้ากรุงสญชัย
นางเทพธิดาเป็นแบบอย่างของความมีเมตตาที่ทำให้ทุกคนอยู่ร่วมสังคมเดียวกันได้อย่างสงบสุข ทรงให้ความช่วยเหลือและให้ความอบอุ่นแก่สองกุมารแทนพระมารดา ช่วยดูแลอภิบาลพระกัณหาและพระชาลีในขณะที่เดินทางมากับชูชก
เทวดาผู้หญิงที่ดูแลพระกัณหาและพระชาลีกลับชาติมาเกิดคือนางวิสาขา เป็นผู้ที่มีความสวยได้เบญจกัลยาณี มีลูกหลานเหลนทั้งหมด ๘๔๒๐ คน มีอายุยืนถึง ๑๒๐ ปีได้รับยกย่องเป็นเอตคัคคะในฝ่ายผู้เป็นทายิกาผู้มีศรัทธามาก
---------------------------------
๑๘. สหชาติโยธี
สหชาติโยธี เป็นตัวละครอยู่ในวรรณคดีเรื่องมหาเวสสันดรชาดกเป็นบรรดาทหารรักษาพระองค์ของพระเวสสันดรที่เกิดในวันเดียวกับที่พระเวสสันดรประสูติมีจำนวนทั้งสิ้นหกหมื่นคน เดิมเป็นเทพยดาบนสวรรค์ได้รับเทวบัญชาจากพระอินทร์ให้ลงมาปฏิสนธิในครรภ์ของภรรยาอำมาตย์แห่งนครสีพี
ในกัณฑ์หิมพานต์พระเจ้ากรุงสญชัยได้รับเด็กทารกที่เกิดพร้อมกับพระเวสสันดรมาเลี้ยงไว้ให้กินนมจากนางนมในวัง และได้กลายเป็นเหล่าทหารของพระเวสสันดรในที่สุด
ในกัณฑ์ทานกัณฑ์พระเวสสันดรรับสั่งให้สหชาติโยธีไปเบิกเงินตราเสื้อผ้าเครื่องประดับต่างๆเพื่อนำมาบริจาคที่โรงทาน เมื่อพระเวสสันดรนั่งรถทรงออกทางท้ายวังก็มีเหล่าสหชาติโยธีพร้อมด้วยเสนาอำมาตย์ทั้งหลายมาคอยส่งเสด็จ ทั้งยังมีพวกยาจกมาเฝ้ารออย่างเนืองแน่น พระเวสสันดรจึงโปรยแก้วแหวนเงินทองให้และสั่งให้เหล่าสหชาตโยธีกลับเข้าพระนคร
ในกัณฑ์มหาราช เมื่อพระเจ้ากรุงสญชัยให้เตรียมทัพไปรับพระเวสสันดรที่เขาวงกตนั้นมีรับสั่งให้เหล่าเสนาอำมาตย์ราชปุโรหิต เหล่าราษฎรทั้งหลาย รวมทั้งเหล่าสหชาติโยธีทั้งหกหมื่น ร่วมไปกับกองทัพด้วย ให้เหล่าสหชาติโยธีถืออาวุธประจำตัวเพื่อให้ผู้คนที่พบเห็นเกรงกลัวไม่กล้าเข้าใกล้
ในการยกทัพนั้นเหล่าสหชาติโยธีได้แบ่งออกเป็นสี่เหล่าได้แก่ เหล่าพลเดินเท้า เหล่าพลม้า เหล่าพลช้าง และเหล่าพลรถ
ในนครกัณฑ์เหล่าเสนาอำมาตย์และสหชาตโยธีมีความปลาบปลื้มใจที่พระเวสสันดรจะได้กลับคืนสู่พระนคร พากันแต่งตัว ถืออาวุธประจำตัวเตรียมยกทัพกลับ
สหชาติหกหมื่น อาจมีความหมายเป็นนัยว่า บุคคลหรือสิ่งสำคัญจำนวนมากมายที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น ซึ่งมิได้มีความหมายตรงพอดีหกหมื่น เพราะในสมัยโบราณตัวเลขจำนวนมากนั้นแทนความหมายว่ามากมายมหาศาล เช่น พญามารสี่หมื่นแปดแปดมารายล้อมพระพุทธเจ้า ณต้นศรีมหาโพธิ์ ก็หมายถึงพญามารมากมายนั่นเอง
สหชาติหกหมื่นหรือบุคคลผู้ร่วมการเกิด หรือร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้านั้นมีมากมายมหาศาล อาจเป็นเหล่าเสนาอำมาตย์ที่อยู่ในวังหรือประชาชนผู้เลื่อมใสศรัทธาพระพุทธเจ้าในสมัยนั้นซึ่งมีจำนวนมากมาย แต่สหชาติที่สำคัญและถูกบันทึกไว้ในพระพุทธประวัตินั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกับการเกิดของพระพุทธ และเป็นต้นเหตุให้เกิดเหตุการณ์สำคัญ ๗ สหชาติ
สหชาติโยธีได้กลับชาติมาเป็นพุทธเวไนย
-----------------------------------
๑๙. พระยาพยัคฆราช (เทวดาที่แปลงเป็นเสือโคร่ง)
เสือโคร่ง เป็นตัวละครอยู่ในวรรณคดีเรื่องร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก เป็นตัวละครประกอบสำคัญตัวหนึ่งซึ่งมีบทบาทร่วมกับเสือเหลือง และราชสีห์ในกัณฑ์มัทรี
บทบาท พระอินทร์ให้เทวดาแปลงกายเป็นเสือโคร่ง เสือเหลืองและราชสีห์ มาขวางทางพระมัทรีไว้ เพราะเกรงว่าหากพระนางมัทรีกลับมาแต่กลางวันจะเที่ยวติดตามสองกุมารและอาจติดตามไปทันจะเป็นการขัดขวางการบริจาคปุตตทานของพระเวสสันดรได้
ในเรื่องนั้นพระนางมัทรีได้ทูลฝากพระโอรสและพระธิดาทั้งสองพระองค์กับพระเวสสันดรเพราะหวาดกลัวภัยซึ่งพระนางเกิดนิมิตร้ายในคืนก่อน ที่ชูชกจะนำตัวสองกุมารไปเป็นทาสของนางอมิตตดา พอรุ่งเช้าพระนางก็ได้เข้าป่าไปเก็บผลไม้อย่างเช่นทุกวัน แต่เกิดอาเพศทำให้พระนางเก็บผลไม้ได้แต่เพียงเล็กน้อยเมื่อจะกลับพระอาศรมก็ได้พบกับสัตว์ทั้งสามนอนขวางอยู่จึงไม่สามารถเดินผ่านไปได้ สัตว์ทั้งสามนั้น พระอินทร์จงใจส่งเทวดา ๓ องค์จำแลงกายลงมาเป็นเสือโคร่ง เสือเหลือง และราชสีห์มาขวางทางเอาไว้เพื่อมิให้พระนางเที่ยวติดตามสองกุมารได้ทันดังเนื้อความว่า
ตัวละครประกอบที่สำคัญทั้งสามนี้ถือว่าเป็นตัวละครที่สำคัญตัวหนึ่งในมหาเวสสันดรชาดกกัณฑ์มัทรีเลยทีเดียวเพราะได้ช่วยให้พระเวสสันดรบริจาคปุตตทานได้สำเร็จสมความมุ่งหมาย เทวดาที่เนรมิตเป็นเสือโคร่ง กลับชาติมาเป็นพระสิมพลีหรือพระสิวลี เป็นสาวกรูปหนึ่งที่ได้ช่วยกิจการพระศาสนาเป็นอย่างมากได้รับยกย่องเป็นเอตคัคคะผู้มีลาภมาก
-----------------------------------
๒๐. พระยาพยัคฆราช (เทวดาที่แปลงเป็นเสือเหลือง)
เสือเหลือง เป็นตัวละครอยู่ในวรรณคดีเรื่องร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก เป็นตัวละครประกอบสำคัญตัวหนึ่งซึ่งมีบทบาทร่วมกับราชสีห์ และเสือโคร่งในกัณฑ์มัทรี
เทวดาที่แปลงเป็นพระยาพยัคฆราช(เสือเหลือง) กลับชาติมาเกิดเป็นพระจุลนาคเถระ พระจุลนาคนี้ไม่มีชื่อปรากฏโดยตรงในพระคัมภีร์แต่มีปรากฏในพระสุตันตปิฎกเถรกถา เรียกชื่อว่าพระจุฬกเถระ(ซึ่งอาจเป็นองค์เดียวกันก็ได้)เป็นสาวกที่มีคติธรรม มองทุกสิ่งทุกอย่างในแง่ดีงามถือเอาความดีงามมาเป็นหลักในการปฏิบัติตนจนได้ฌาณสมาบัติบรรลุพระอรหัตตผล
-------------------------------------
๒๑. พระยาไกรสรราชสีห์ (เทวดาที่แปลงเป็นราชสีห์)
ราชสีห์ เป็นตัวละครอยู่ในวรรณคดีเรื่องร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก มีชื่อเรียกต่างๆ คือพญาไกรสรราช พญาพาฬมฤคราชซึ่งหมายถึงสัตว์ร้าย ช้างร้าย สิงโต งู เสือเป็นตัวละครประกอบสำคัญตัวหนึ่งซึ่งมีบทบาทร่วมกับเสือโคร่งและเสือเหลืองในกัณฑ์มัทรี
เทวดาที่แปลงร่างเป็นราชสีห์ส่งเสียงร้องดังลั่นสนั่นป่าระหว่างทางที่พระนางมัทรีเดินทางเพื่อให้พระนางหวาดกลัวและเดินทางล่าช้าเพราะเกรงว่าหากพระนางมัทรีกลับทันเวลาจะเที่ยวติดตามสองกุมารได้ทันจะเป็นการขัดขวางการบริจาคปุตตทานของพระเวสสันดรได้ดังคำประพนธ์ว่า
“ตโย เทวปุตตา ส่วนเทพยเจ้าทั้งสามก็อำลาลีลาศผาดแผลง จำแลงเป็นพญาไกรสรราชผาดแผดเสียงสนั่น ดั่งสายอสนีลั่นตลอดป่า…”
เทวดาที่แปลงร่างเป็นราชสีห์กลับชาติมาเป็นพระอุบาลีได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาในตำแหน่งเอตคัคคะเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางผู้ทรงพระวินัยครั้งเมื่อทำปฐมสังคายนาเป็นผู้วิสัชนาพระวินัย
-------------------------------------
๒๒. นายนักการ(อำมาตย์ที่กราบทูลข่าวเนรเทศ)
นายนักการ เป็นตัวละครอยู่ในวรรณคดีเรื่องร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดกมีตำแหน่งเป็นอำมาตย์รับใช้อยู่ในราชสำนักแห่งนครสีพี ปรากฏบทบาทในกัณฑ์หิมพานต์ตอนที่พระเจ้ากรุงสญชัยต้องจำพระทัยขับไล่พระเวสสันดรตามเสียงเรียกร้องของชาวนครสีพี ด้วยพระเวสสันดรได้ประทานช้างปัจจัยนาคแก่พราหมณ์เมืองกลิงคราษฎร์ พระเจ้ากรุงสญชัยจึงทรงให้นายนักการนำความไปกราบทูลพระเวสสันดร เมื่อพระเวสสันดรทรงทราบก็มิได้เสียพระทัยกลับรับสั่งว่าหากใครขอพระพาหาหรือพระเนตรก็จะให้เพื่อแลกกับพระโพธิญาณในเบื้องหน้า ครั้งนั้นเทวดาดลใจให้นายนักการถวายคำแนะนำสถานที่คือเขาวงกตให้แก่พระเวสสันดร พระองค์จึงทรงให้นายนักการไปทูลพระราชบิดาขอเลื่อนเวลาเพื่อทรงบำเพ็ญสัตตสดกมหาทานก่อน
นายนักการเป็นอำมาตย์ผู้มีความจงรักภักดีต่อพระเวสสันดร ในขณะที่พระเจ้ากรุงสญชัยกล่าวเนรเทศพระเวสสันดรนั้นนายนักการก็รีบรับรับสั่งแล้วนำความไปกราบทูลพระเวสสันดรให้ทรงทราบ และยังได้ถวายคำแนะนำสถานที่ที่กษัตริย์ทั้งสี่พระองค์คือพระเวสสันดร พระมัทรี พระชาลี และพระกัณหา ทรงผนวชเป็นนักบวชด้วย สถานที่เขาวงกตนี้เองที่พระเวสสันดรทรงบริจาคพระชาลีและพระกัณหาให้แก่ชูชก และพระราชทานพระมัทรีให้แก่พระอินทร์ซึ่งจำแลงเป็นพราหมณ์มาทูลขอ
นายนักการที่นำข่าวการเนรเทศมาทูลพระเวสสันดรกลับชาติมาเกิดเป็นพระอานนท์ได้รับยกย่องในตำแหน่งเอตคัคคะเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งปวงถึง ๕ ประการเป็นพหูสูตร เป็นผู้มีสติ เป็นผู้มีคติ เป็นผู้มีความเพียร และเป็นพุทธอุปัฏฐากเมื่อครั้งทำปฐมสังคายนาเป็นผู้วิสัชนาพระสูตร มีอายุยืนถึง ๑๒๐ ปีปรินิพพานกลางอากาศ
------------------------------------------
๒๓. เสนาจุตตอำมาตย์
เสนาจุตตอำมาตย์ เป็นตัวละครอยู่ในวรรณคดีเรื่องร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก เป็นอำมาตย์ผู้จัดสัตตสดกมหาทานให้แก่พระเวสสันดร ปรากฏในกัณฑ์ทานกัณฑ์
เสนาจุตตอำมาตย์ เป็นคนใจบุญ คอยช่วยเหลือในการบริจาคทานของพระเวสสันดรซึ่งต่อมาได้เกิดเป็นอนาถบิณฑิกเศรษฐี ได้รับยกย่องในตำแหน่งทางเอตทัคคะเป็นผู้เลิศกว่าอุบาสกทั้งในฝ่ายผู้เป็นทายก