วันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2554

How to สวรรค์นรก เขาไปยังไงกัน:by Dhammasarokikku

heaven5_sอู๊พซ์มาหลายวันแล้ว พอดีมีคนถามหลังไมค์เข้ามาครับ ว่าจะเขียนเรื่องนี้อยู่พอดี เพราะอ่านหนังสือ เตรียมสอบไป เตรียมสอบมา ไปโจ๊ะเข้ากับ สิ่งที่น่าสนใจ จากพระที่เรียนอภิธรรมครับ คำถามมีดังนี้

ขอโทษที่รบกวนนะครับ

คือผมอยากทราบว่าถ้าคนคนนึง เนี่ยเคยฆ่าคนไปหลายคน แต่ก็เคยช่วยคนไว้มากกว่า อยากทราบว่าบาปจากชีวิตที่เคยฆ่ากับบุญจากการช่วยชีวิตมันจะหักล้างกันไหม ครับ หรือนับแยกกัน

ขอบคุณนะครับ

ความจริง เรื่องบุญบาปนี่ เคยเขียนไปแล้ว อยู่ในคิริมานนทสูตร แต่ไม่เป็นไร เขียนอีกสักรอบก็ได้ เพื่อความคล่องไม้คล่องมือ เรื่องบุญ เรื่องบาปนี้ หรือถ้าจะเขียนให้ชัด คือ เรื่อง กุศลกรรม กับ อกุศลกรรม เขาบันทึกแยกกันครับ ไม่สามารถหักล้างกันได้ เคยอุปมาไว้ เหมือนทรัพย์สิน เป็นบุญ หนี้สิน เป็นบาป ถ้าเคยเรียนวิชาบัญชีมา รู้จักงบดุล หรือ Balance Sheet จะเข้าใจได้ไม่ยาก ทรัพย์สิน จะบันทึกลงฝั่งซ้าย หนี้สิน กับ ส่วนของเจ้าของ จะอยู่ฝั่งขวา แม้มูลค่ามันจะเท่ากัน แต่มันไม่สามารถหักล้างกันได้

หรือให้ทรัพย์สินเป็นบ้าน มูลค่าสิบล้าน กับหนี้สิน เป็นสินเชื่อบุคคลสิบล้าน วันดีคืนดี ไม่อยากมีหนี้แล้ว ก็บอกเจ้าหน้าที่สินเชื่อ ข้าพเจ้ามีบ้านอยู่หลังหนึ่ง มูลค่าสิบล้าน จะเอามาหักลบกลบหนี้ ให้หนี้เป็นศูนย์ ได้หรือไม่ เจ้าหน้าที่สินเชื่อ ก็ย่อมเบะปาก แล้วยื่นนิ้วกลางให้ท่าน บอกไม่เอาบ้าน จะเอาตังค์ ฉันใด บุญ กับบาป ก็หักล้างกันไม่ได้ฉันนั้น

ในโลกของความจริง คนเรามักจะสร้างอกุศลกรรมไว้ มากกว่ากุศลกรรม ครับ เป็นเรื่องปกติ ดังนั้นถ้าเกิดมาแล้ว อยู่เฉย ๆ ตลอดชีวิต ไม่ทำทั้งบุญ ไม่ทำทั้งบาป ก็มีแนวโน้มจะไปอบายภูมิครับ เพราะอกุศลกรรมสะสมมามากกว่า กุศลกรรม แสดงว่า งบดุลของคนเราโดยปกติ จะเอียงไปข้างขวา หรือ เอียงไปข้างหนี้สิน

แม้บุญ กับบาป ไม่สามารถหักลบกลบหนี้กันได้ แต่มันสามารถทำให้เจือจางได้ครับ ถ้าได้อ่านเรื่องราวของ โฆสกเทพบุตรในซีรี่ย์ ใครว่าพระไตรปิฎกน่าเบื่อ ด้านขวาของบล็อกนี้ โฆสกต้องได้รับผลของอกุศลกรรมที่เคยทิ้งลูก ในอดีตชาติ มาชาติปัจจุบัน ก็ต้องถูกทิ้ง ถูกปองชีวิต ถึง ๗ ครา แต่ด้วยอำนาจแห่งบุญ ที่เคยเกิดเป็นสุนัข แล้วเห่าพระปัจเจกพุทธเจ้า ด้วยความรัก เธอจึงรอดตายทั้ง ๗ ครั้ง

heaven6_s

มีคนเคยปรารภกับข้าพเจ้า ถึงความไม่สมเหตุสมผลของศาสนาพุทธ ในเรื่องของมัฏฐกุณฑลีเทพบุตร ไฉนหนอท่านทำบาปหยาบช้าแทบตลอดชีวิต ตอนใกล้ตาย นึกถึงพระพุทธเจ้าเพียงเล็กน้อย จึงได้ขึ้นสวรรค์ ดูไม่ยุติธรรมเอาเสียเลย และอีกกรณีหนึ่งคือ พระนางมัลลิกาเทวีทำความดีชั่วชีวิต ถวายทานอันยิ่งใหญ่ที่เรียกว่า อสทิสทาน ซึ่งพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งมีผู้ถวายได้เพียงคนเดียว และคนนั้นต้องเป็นสตรีเพศ ตอนใกล้ตายจิตใจเศร้าหมอง เพราะไปนึกถึงกรรมที่เคยสะดุดเท้าพระสวามี ตายแล้ว เอาเท้าไปจุ่มในนรกถึงตาตุ่ม ๗ วัน แล้วก็ขึ้นสวรรค์ไปเสวยทิพยวิมาน(รูปแบบคล้าย "ไฟชำระ" ในคริสตศาสนาเลย)

และยังมีคำสอนจากครูบาอาจารย์ถึงการทำสังฆทาน แล้วสามารถป้องกันการตกนรกได้ในระดับหนึ่ง ฟังแล้วดูเหมือน เป็นการเอานรกมาขู่ เพื่อหาทรัพย์เสียมากกว่า บุญแค่ไม่กี่บาท ทำสังฆทาน จักไปชดเชยบาปกรรมที่ทำมาได้อย่างไร อย่างนี้ก็คล้ายว่า คนเราสามารถโกงบาปได้ ด้วยการทำบุญ ไม่ตรงกับคำสอนของพระศาสดาว่า ทำอย่างไร ได้อย่างนั้น

ถังสังฆทานนั้น ก็เป็นสังฆทานเวียน ใช้แล้วใช้อีก มันจะไปเกิดบุญตรงไหน

ได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้างครับว่า จะสร้างไปทำไมหนักหนา พวกถาวรวัตถุนั่น อาคารบ้านช่อง โบสถ์วิหาร สร้างให้มันเสียเงินเสียทอง ไหนจะพระพุทธรูปอีกเล่า ไม่รู้หรือว่า ศาสนาพุทธไม่มีรูปเคารพ ถึงมีก็ควรเป็นไปด้วยความมัธยัสถ์ ไว้ให้ระลึกถึงพระพุทธองค์เท่านั้น ไม่ใช่ไปประดับเพชรพลอย เสียฟุ่มเฟือย

วัดวาอารามศาลาเจดีย์ทั้งหลายก็เช่นกัน ไปสร้างกันไว้ทำไม สร้างแล้วก็ไม่มีพระอยู่ ปล่อยร้าง เสียสตุ้งสตางค์โดยใช่เหตุ

images110

นั่นเป็นความเห็นของผู้ที่ย่างเหยียบเข้าไปในวัด อย่างผิวเผิน ไม่รู้พระธรรมวินัย ไม่ได้ศึกษาธรรมะโดยรอบครอบทั่ว แล้วก็ไปตัดสินจากภาพที่เห็น จากปัญญาของตนเอง จากอคติที่ไม่เคยศึกษาหลักธรรมให้ถ่องแท้ หรือบางทีก็ศึกษาธรรมจากครูบาอาจารย์ที่ตนชอบใจเพียงไม่กี่ท่านแต่ไม่ได้ไปถาม วัตถุประสงค์แท้จริงในการสร้าง กับตัวผู้สร้างเองแล้วก็จินตนาการเอาเองไปต่าง ๆ นานา ตามบรรทัดฐานที่ครูบาอาจารย์นั้น ๆ วางไว้

ฟังมาว่า ครูบาอาจารย์ท่านเปรียบการทำสังฆทาน กับเรือ ทำมาก เรือก็ลำใหญ่มาก บาปกรรมเล็กน้อย เหมือนก้อนหิน โยนหินลงเรือ ถ้าจำนวนไม่มาก ก็ยากจะทำให้เรือจมได้ ฉันใดก็ฉันนั้น

วันก่อนได้อ่าน "มิลินทปัญหา"ก็มาสะดุดกับคำถามของพระเจ้ามิลินทมหาราช ซึ่งคล้ายกับความสงสัยของคนผู้นั้น และข้าพเจ้าในอดีต เลยเอามาแบ่งปันกัน คำถามเป็นดังนี้ครับ

พระเจ้ามิลินท์ "ข้าแต่พระนาคเสน คำว่า ผู้ใดทำบาปกรรมตั้ง ๑๐๐ ปี แต่ว่าเวลาตายได้สติ นึกถึงพระพุทธเจ้าเพียงครั้งเดียว ก็ได้ไปเกิดในสวรรค์ ดังนี้ ข้อนี้โยมไม่เชื่อ อีกคำหนึ่งว่า ทำปาณาติบาตเพียงครั้งเดียว ก็ไปเกิดในนรกได้ ข้อนี้โยมก็ไม่เชื่อ”

พระนาคเสนตอบว่า "ขอถวายพระพร ก้อนหินเล็ก ๆ ทิ้งลงไปในน้ำ จะลอยขึ้นบนน้ำได้ไหม"

"ไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า"

"ก้อนหินตั้ง ๑๐๐ เล่มเกวียน เขาขนลงบรรทุกเรือ เรือก็ลอยอยู่บนน้ำได้ไหม"

"ได้พระผู้เป็นเจ้า"

"ขอถวายพระพร บุญกุศลเปรียบเหมือนเรือ เพราะธรรมดาเรือของพวกพ่อค้า มีภาระหนักหาประมาณมิได้ บรรทุกของหนักเกินไปก็จมลงในน้ำฉันใด คนทำบาปทีละน้อย ๆ จนบาปมากขึ้นก็จมลงไปในนรกได้ฉันนั้น เพราะฉะนั้นผู้ที่วิดน้ำเรือให้เรือเบา ก็จะข้ามฟากไปถึงท่า คือพระนิพพานได้ฉันนั้น ขอถวายพระพร"

"ถูกดีแท้ พระผู้เป็นเจ้า"

pharmalai_07_1

น่าจะเป็นคำตอบได้ดี สำหรับผู้ที่มีความสงสัย

เรื่องถังสังฆทานเวียนนั้น หากว่ากันตามพระวินัย คือการทำ"ผาติกรรม" ซึ่งอนุญาตให้ฆราวาส สามารถนำของสงฆ์ไปใช้ได้ โดยผาติกรรมด้วยจำนวนเงินที่สมควรแก่ของสิ่งนั้น คำว่าผาติกรรม แปลว่า ทำให้เจริญขึ้น ใช้ในวินัยว่า การจำหน่ายครุภัณฑ์ เพื่อประโยชน์ของสงฆ์อย่างใดอย่างหนึ่ง

ฉะนั้น สังฆทานเวียน ก็ทำถูกต้องตามพระวินัย คือ นำไปให้ญาติโยมใช้ถวายสังฆทานใหม่ โดยญาติโยมไม่ต้องไปซื้อชุดสังฆทานใหม่มาถวาย ซึ่งมีเต็มวัด(โดยมากจะเหลือใช้ครับ) อยู่แล้ว อีกประการหนึ่ง เงินที่ใช้ผาติกรรม ก็ไม่ได้กำหนดว่า เท่านั้นเท่านี้ ทำบุญตามกำลังศรัทธา ครับ ตรงนี้ทำให้ญาติโยมที่ยากจน ก็มีโอกาส สามารถถวายสังฆทาน อันมีอานิสงส์มากได้ ปัจจัยที่ได้ สงฆ์ก็สามารถนำไปใช้ในกิจการของสงฆ์ได้หลากหลายกว่า ชุดสังฆทาน(ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ไม่ควรถวายชุดสังฆทานนะ เพียงแต่อยากชี้ให้คนที่มีอคติ เห็นว่า มันเกิดประโยชน์อย่างไร การทำบุญท่านอยากทำแบบไหน ก็ทำไปเถอะ ไม่มีข้อห้าม ขอให้ตั้งใจให้ดีเท่านั้น)

อย่างไรก็ตาม ก็สมควรพิจารณาพฤติกรรมของพระด้วยครับ ถ้าเกิดว่า เราเทียวไปวัดนี้บ่อย ๆ ก็ควรสังเกตุสักหน่อย แต่ถ้าแวะเข้าไปเพียงหนเดียว ก็อย่าไปใส่ใจอะไรมากเลยครับ ถวายไปแล้ว บุญสำเร็จแล้ว ไปเล็งดู อาจจะเสียกำลังใจไปเปล่า ๆ

การทำบุญนั้น บุญเกิดที่ใจเป็นหลักก็จริง แต่หากว่า เรารู้ทั้งรู้ว่า การผาติกรรมนั้น เป็นไปโดยไม่บริสุทธิ์ เงินที่เราทำบุญไป ไม่ได้เอาไปเป็นของส่วนกลาง หรือ เป็นของสงฆ์ หรือ เอาไปทำให้เกิดประโยชน์ยิ่งขึ้น ก็อาจทำให้เรามีจิตเศร้าหมองในภายหลัง ฉะนั้นต้องอาศัยการสังเกตุสังกาบ้างละครับ

อย่างวัดที่น่าจะเรียกได้ว่า เป็นต้นแบบ ของสังฆทานเวียนเลยก็ว่าได้ หรือ อาจไม่ได้ทำเป็นวัดแรกหรอก แต่ถูกโจมตีเยอะ เพราะคนที่ไม่ได้มองด้วยธรรม แต่มองด้วยโมหาคติ (อคติเพราะความหลง) มันเยอะ ก็เป็นวัดของครูบาอาจารย์ของข้าพเจ้าเองนี่แล

pharmalai_04_1

ก็ใช่ว่า ข้าพเจ้านับถือท่านว่า เป็นครูบาอาจารย์แล้ว ข้าพเจ้าต้องเห็นด้วยกับท่านไปเสียทั้งหมด หรือมองท่านด้วยฉันทาคติ (อคติเพราะความรัก) ตลอดเวลา บางทีข้าพเจ้าก็ต้องคิดพิจารณาให้ถ้วนถี่แหละครับ ฟังทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายที่กล่าวหา และฝ่ายถูกกล่าวหา ดูว่าเหตุผลฝั่งใด สมเหตุสมผลมากกว่ากัน

สมัยหนึ่ง หลวงพ่อก็ถูกพระนักเทศน์ชื่อดัง กล่าวหาครับว่า จะสร้างวัดไปทำไมให้ใหญ่โตมโหฬาร เกินความจำเป็น น่าจะเอาเงินไปช่วยเหลือคนยากจน ตกทุกข์ได้ยากเสียดีกว่า สิ่งที่พระรูปนั้นพูด เขาไม่เคยมาวัด ตอนที่วัดมีงานครับ ขนาดศาลาขนาดใหญ่จุคนได้เป็นหมื่น ยังล้นเลยครับ และพอคนมาก ก็ต้องมีการสร้างที่พักไว้รองรับ ที่พักนั้นก็อยู่ในเขตวัด เป็นสมบัติของสงฆ์ หลวงพ่อก็ให้เขามาทำบุญสร้างห้องของตัวเองครับ มาวัดเมื่อไหร่ ก็จะมีห้องพัก หรือหากไม่มีคนใช้ ไม่ได้มา ก็เปิดให้คนอื่นใช้ เป็นสาธารณะ และใช้ได้ชั่วลูกชั่วหลาน การสร้างที่พักชั่วคราวเช่นนี้ ก็จัดเข้าเป็นวิหารทานกับเขาด้วยครับ เงินที่เรียกเก็บก็น้อยกว่าค่าก่อสร้างจริงมากครับ เพราะพอถึงตอนสร้างจริง หลวงพ่อก็มีวิธีประยุกต์ให้ราคาต่ำลงไปกว่าค่าก่อสร้างทั่วไปอีก เป็นการใช้เงินที่ญาติโยมถวายมาเป็นสังฆทาน อย่างหาค่าสัมประสิทธิ์ความคุ้มค่า ไม่ได้เลยครับ บุญบาทหนึ่ง มันก๊อปปี้ตัวเองไม่รู้กี่รอบ

รอบแรก ผาติกรรม ชุดสังฆทาน เข้ามาเป็นเงินสงฆ์ รอบสอง ชุดสังฆทานถวายสงฆ์ เป็นสังฆทาน รอบสาม เงินที่ได้นั้นเอาไปสร้างถาวรวัตถุในบวรพระพุทธศาสนา เป็นวิหารทาน และรอบสี่ ถาวรวัตถุนั้น ก็มีการลดต้นทุนค่าก่อสร้างจนถึงที่สุด

แม้ปัจจุบัน จะไม่ใคร่ได้มีการก่อสร้างถาวรวัตถุแล้ว แต่ก็มีค่าบูรณะครับ ตึกรามบ้านช่องขนาดใหญ่มากมาย จะไม่มีค่าซ่อมแซมเลยหรือ ก็ได้เงินปัจจัยจากการผาติกรรมชุดสังฆทานนี่ละครับ ไปบูรณะซ่อมแซม มองแบบกลาง ๆ นะครับ ท่านว่าสมเหตุสมผลหรือไม่

เรื่องการสร้างพระพุทธรูปก็เช่นกัน จะประดับเพชร ประดับพลอย ปิดทองให้วิลิศมาหราแค่ไหน ก็เป็นเรื่องของญาติโยมครับ เป็นเจตนาของญาติโยม พระไม่เกี่ยว พระไม่ได้ไปเจ้ากี้เจ้าการให้เขาเอาเพชรมาประดับ พระมีหน้าที่ชี้แจงว่า การประดับเพชร ประดับพลอย ปิดทอง พระพุทธรูป มีอานิสงส์อย่างไร ส่วนญาติโยมจะตัดสินใจทำอย่างไร ก็เป็นเรื่องของเขา ส่วนเขาจะมาให้พระทำให้ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

พวกวัตถุธาตุทั้งหลายนี่ เคยเขียนไปแล้วในเอ็นทรี่ How to ทำอย่างไรให้ถึงนิพพาน พระธรรมขันธ์ที่ ๑ ว่า คนที่เขามองด้วยธรรม เขาไม่ได้มองที่ตัววัตถุครับ วัตถุธาตุ เป็นเพียงสื่อของใจ เท่านั้น พระพุทธเจ้าเองก็เคยตรัสว่า พุทธะบูชา มหาเตชะวันโต-การบูชาพระพุทธเจ้า ทำให้มีเดชมาก ก็นี่ท่านทั้งหลายเขาบูชาพระพุทธเจ้า ด้วยการสร้างรูปแทนพระพุทธเจ้า ประดับเพชร บูชาพระพุทธเจ้า เขาไม่ได้มองว่า ปูนเป็นพระพุทธเจ้า ไม่ได้มองว่า เพชรเป็นของมีค่่าอะไร ประดับไปก็เพราะทางโลกให้การยอมรับว่า เพชรมันสวย ทุกคนเห็นก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พระพุทธรูปประดับเพชรนั้นสวย แต่เพชรที่สวยเลอค่าล้ำอนาคตนั้น ผู้สร้างทราบดีว่า ตายแล้วก็เอาไปไม่ได้สักเม็ดเดียว ผู้สร้างจึงนำเพชร ที่ทางโลกนับมันเป็นสิ่งมีค่าอย่างยิ่งยวด มาบูชาคุณพระพุทธเจ้า สำหรับผู้สร้างแล้ว เพชรไม่ได้มีค่ามากมายไปกว่าวัตถุธาตุอื่น ๆ ที่ผู้สร้างตายแล้ว ก็ต้องทิ้งทุกอย่างไว้กับโลก เอาไปด้วยไม่ได้ ดังนี้แล้วจะกล่าวได้หรือไม่ว่า ผู้ที่มาตำหนิการบูชาคุณพระพุทธเจ้า ของผู้อื่น เป็นผู้ที่มองโลกแคบเกินไป ยึดติดกับวัตถุธาตุมากเกินไป และดูเหมือนจะค้านพระพุทธพจน์ที่ว่า "พุทธะบูชา มหาเตชะวันโต" เพราะเขาเห็นว่า เอาเงินไปทำอย่างอื่น มีคุณมากกว่า

pharmalai_01_1

ย้อนมาดูกรณีของ พระนางมัลลิกาเทวี กับ มัฏฐกุณฑลีเทพบุตร สองหน่อนี้เป็น exceptional case study หรือ กรณีศึกษาพิเศษ ของเรื่องบุญบาปเลยทีเดียว เนื้อความก็คือ พระนางมัลลิกาเทวี เป็นมเหสีของพระเจ้าปเสนทิโกศล ชั่วชีวิตทำความดีไม่เคยเว้น ยิ่งกว่า นางวิสาขามหาอุบาสิกาเสียอีก ทว่า เมื่อพระนางเสด็จสวรรคต พระเจ้าปเสนทิโกศลไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่า เวลานี้ พระนางไปจุติที่ไหนแล้ว พระพุทธเจ้านิ่งเสีย เพราะหากพระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทราบว่า มเหสีที่ทำความดีเลิศเลอเพอร์เฟ็คขนาดนั้น ขณะนี้กำลังเอาเท้าแช่อยู่ในนรก แค่ตาตุ่ม พระเจ้าปเสนฯ คงไม่เป็นอันทำบุญแล้ว พระองค์รอจนถึงวันที่ ๘ จึงเฉลยให้พระเจ้าปเสนทิโกศลทราบว่า พระนางไปจุติในสวรรค์แล้ว

ที่พระนางต้องไปเสวยทุกขเวทนา เอาเท้าจุ่มในนรกเสีย ๗ วัน ก็เนื่องจากเคยไปสะดุดเท้า พระสวามีเข้า "ครั้งเดียวในชีวิต" ตอนตาย จิตเกิดความเศร้าหมอง ระลึกถึงบาปที่เคยไปสะดุดเท้าพระสวามีไว้ เลยลงนรกไป (ทั้ง ๆ ที่พระเจ้าปเสนฯ ไม่ได้โกรธ ไม่ได้เอาผิดเลยแม้แต่น้อยนะ แต่จิตของพระนาง ประหวัดคิดมากไปเอง)

กรณีของมัฏฐกุณฑลีเทพบุตร ก็เช่นกัน ชั่วชีวิตทำความชั่วไว้มากมาก พอใกล้ตาย คิดถึงพระพุทธเจ้าหน่อยเดียว ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระเจ้ามิลินทมหาราช ทราบความแล้ว เป็นงง เลยถามพระนาคเสน ถึงความไม่สมเหตุสมผล ของอำนาจบุญและบาป

ทีนี้มันมาโจ๊ะเข้ากับการอ่านหนังสือ เตรียมสอบนักธรรมโทของข้าพเจ้า อีตรง "อภิฐาน" ฐานะอันยิ่ง ๖ ประการ ตอนเรียนในห้องเรียน ผู้สอนก็ไม่ได้ให้ความกระจ่างสักเท่าไหร่ครับว่า ทำไมถึงเป็นฐานะอันยิ่ง อภิฐาน ๖ ได้แก่ อนันตริยกรรม ๕ ผนวกเข้ากับโบนัสพิเศษอีก ๑ ข้อ คือ บวชเป็นภิกษุอยู่ในบวรพระพุทธศาสนา แล้วดันไปนับถือศาสดาอื่น ส่วนอนันตริยกรรม ๕ นั้น จะขอทบทวนอีกสักรอบ ดังนี้

๑. ฆ่าพ่อ

๒. ฆ่าแม่

๓. ฆ่าพระอรหันต์

๔. ทำร้ายพระพุทธเจ้าถึงห้อพระโลหิตขึ้นไป

๕. ทำสังฆเภท (ยุสงฆ์ให้แตกกัน)

ก็สงสัยมานานแล้วครับ เพราะในกรณีศึกษา พระเจ้าอชาตศัตรู ฆ่าพระเจ้าพิมพิสาร พ่อของตัวเอง ด้วยการยุยงของพระเทวทัต ภายหลังสำนึกผิด ทำแต่ความดีตลอดชีวิต ยังไม่สามารถพ้นนรกได้ ไปจอดอยู่ที่นรกขุม "โลหกุมภี"

พอมาฟังคำอธิบายเรื่อง "อภิฐาน" ฐานะอันยิ่ง ๖ ประการแล้ว ตามแนวพระอภิธรรมแล้ว เก็ทเลยครับ ที่ว่า ฐานะอันยิ่ง คือ เป็นฐานะที่หนักมาก อกุศลกรรมที่ทำ มันหนักมาก ทำให้ต้องได้รับผลกรรมอันนี้ก่อน กล่าวคือ ไม่ว่า พระเจ้าอชาตศัตรูจะทำความดีสักเท่าไหร่ ความดีทั้งหลายนั้น จะไปเข้าคิวต่อท้่าย อนันตริยกรรม ครับ เมื่ออนันตริยกรรมให้ผลสำเร็จแล้ว กุศลกรรมทั้งหลายจึงจะให้ผล ดังนั้น ไม่ว่าจะทำความดีมากแค่ไหน ถ้าทำอนันตริยกรรมแล้วไซร้ ไม่มีทางพ้นนรกครับ แต่ก็อย่างที่กล่าวไว้เบื้องต้นว่า บุญ สามารถละลายบาปได้ ท่านอุปมา บาปเหมือน น้ำแดงเฮลซ์บลูบอยเข้มข้น การทำบุญ ก็เหมือนการเติมน้ำเปล่าลงไป น้ำแดง ยี่ห้อเด็กชายนรกสีน้ำเงิน ก็จะเจือจางไปเรื่อย ๆ แต่จะให้น้ำแดงหายไปเลยนั้น เป็นไปไม่ได้ กรณีพระเจ้าอชาตศัตรู ถ้าไม่ได้ความดีที่ทำชั่วชีวิต โทษที่แท้จริงนั้น ต้องลงอเวจีมหานรก นรกขุมสุดท้าย ลึกที่สุด ครับ นี่ตกแค่ขุม โลหกุมภี ถือว่า เบามาก

pharmalai_12_1

และความหมายอีกนัยหนึ่งของอภิฐาน ฐานะอันยิ่ง ๖ ประการ คือ ลงคนมีใจคอโหดร้าย ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ของตัวเองได้ เรื่องจะไม่ฆ่าคนอื่น เพราะความไม่พอใจ เป็นไม่มี ดังนี้จึงได้ชื่อว่า เป็นฐานะอันยิ่ง ครับ

ทีนี้มาวิเคราะห์กลับกัน อนันตริยกรรม คือ กรรมอันหนักยิ่ง แล้วฝั่งบุญเล่า มีอนันตริยบุญ บ้างหรือเปล่า คำตอบก็คือ น่าจะเป็นสังฆทาน หรือวิหารทานนี่ละครับ เป็นอามิสทาน ที่มีกำลังบุญเอนกอนันต์ สามารถเจือจางบาปได้มาก มีอานิสงส์มาก อาจเป็นเรือลำใหญ่ กันเราจมลงนรกได้ ในระดับหนึ่ง และที่สำคัญที่สุด อาจให้ผลก่อน ครับ แต่นั่นก็ยังไม่ชัวร์ครับ เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่สามารถทำอนันตริยบุญตัวจริง ให้เกิดได้

พอดีเพิ่งได้เรียนมาอุ่น ๆ เลยวันนี้ อนันตริยบุญ ตัวจริงเขามีชื่อเฉพาะครับว่า "มหัคคตกุศล" หรือ กุศลอย่างมหันต์ นั่นเอง มี ๙ อย่าง ซึ่งก็คือ การทำสมาธิขั้นสงบลึก หรือ อัปปนาสมาธิ หรือ ฌาน ๑ - ๘ หรือ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ นั่นเอง กล่าวคือ ถ้าสามารถเข้าฌานใดฌานหนึ่งได้ ใน ๘ ฌานนี้ ในตอนตาย มหัคคตกุศลตัวนี้ จะให้ผลก่อนครับ คือไปเกิดเป็นพรหม ชั้นไหน ก็ตามกำลังสมาธิ ที่ได้ละครับ

ถ้าได้ติดตาม นิทานรักชาติ ทั้ง ๑๕ ตอน จะเห็นได้ว่า พรหมมังราย จุติลงมารบ ทำปาณาติบาต ตั้งมากมาย สุดท้าย เข้าฌานตาย กลับไปเป็นพรหม เหมือนเดิม ก็อาศัย มหัคคตกุศล นี่ละครับ

อาจจะมีคนสงสัยว่า ก็แล้วพระเทวทัตเล่า ท่านได้อภิญญา ๕ ฌานสมาบัติเหล่านี้ เป็นของหมู ๆ สำหรับท่าน ทำไมท่านโซ้ยอนันตริยกรรมไปแค่ ๒ รายการเท่านั้น คือ ทำสังฆเภท กับทำร้ายพระพุทธเจ้า เวลาตาย เข้าฌานตาย หนีผลของอนันตริยกรรมไปก็สิ้นเรื่อง เข้าใจคิดดีครับ แต่เสียใจด้วยครับ เพราะตั้งแต่พระเทวทัตทำร้ายพระพุทธเจ้าแล้ว กลับกุฏิไป ฌานเสื่อม อภิญญาหาย ครับ ดังนี้แล้ว แสดงว่า ผลของอนันตริยกรรม รุนแรงกว่า มหัคคตกุศล ครับ ฉะนั้น อย่าเผลอไปทำเข้าเชียว

วกกลับมาที่คำถามตอนต้นครับว่า การฆ่าคน กับการช่วยคน มันหักล้างกันได้หรือไม่ อ่านมาถึงตรงนี้ น่าจะได้คำตอบแน่นอนแล้วว่า หักล้างกันไม่ได้ และอย่างในกรณีทหารรบเพื่อชาติ ฆ่าศัตรู เพื่อให้คนแนวหลัง อยู่กันอย่างสุขสงบ หรือ กษัตริย์ที่กู้ชาติ ฆ่าศัตรูมากมาย เพื่อรวมน้ำใจให้เป็นหนึ่ง ก็จะเป็นอย่างที่อธิบายมาครับว่า เจตนาที่จะช่วยคนทั้งชาติ มันมีกำลังมากกว่า การเข่นฆ่าศัตรูเพียงไม่กี่คนครับ ดังนั้นกรรมที่มีเจตนาช่วยคนทั้งชาติ จึงอาจให้ผลก่อน แต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่ต้องรับผลกรรม อันเกิดจากปาณาติบาตนะครับ เพียงแต่กุศลกรรมให้ผลก่อน เท่านั้นเองครับ

pharmalai_13_1

สรุปแล้ว จะไปสวรรค์ หรือนรกนั้น ขึ้นกับจิตสุดท้ายเป็นสำคัญครับ ดังที่ข้าพเจ้าได้เคยอ้างพระพุทธพจน์อยู่เสมอ ๆ คือ จิตเต สังกิลิฏเฐ ทุคติ ปาฏิกังขา กับ จิตเต อสังกิลิฏเฐ สุคติ ปาฏิกังขาซึ่งแปลเป็นใจความได้ว่า ตอนตาย หากจิตเศร้าหมอง ทุคติ เป็นอันหวังได้ และ ถ้าจิตไม่เศร้าหมอง สุคติ เป็นอันหวังได้ แปลไทยเป็นไทยอีกที ก็คือ ถ้าตอนตายจิตเกิดเศร้าหมอง นึกถึงอกุศลกรรม ที่ได้ทำมา ก็ไปรับผลของอกุศลก่อน แต่ถ้าจิตจับสิ่งที่เป็นกุศล ก็ไปรับผลของความดีก่อน ดังนั้นเพื่อความไม่ประมาท ถ้าเราไม่สามารถทำฌานสมาบัติให้เกิดได้ เราก็ควรทำพวกอนันตริยบุญ พวกสังฆทาน วิหารทาน ไว้เยอะ ๆ ครับ กันตกนรกได้ในระดับหนึ่งทีเดียว

เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ ฯ edit by Dhammasarokikku

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons