วันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ทำบุญอย่างไรให้ได้แฟนหน้าตาดีby akkarakitt

imagesCAW5ODTBข้าพเจ้าเขียนเรื่องเกี่ยวกับ "ทาน" มาเป็นหลายเรื่องแล้ว เนื้อหาก็วนเวียนซ้ำ ๆ ซาก ๆ ทว่า ก็ยังมีผู้ที่ไม่เข้าใจเรื่องของ "ทาน" อันเป็นบุญกิริยาวัตถุขั้นเบสิค พื้นฐานที่สุด ยิ่งเขียนเรื่องศีล ก็ยิ่งแล้วใหญ่ อย่าเพิ่งไปถึงภาวนาเลยครับ มาปูพื้นฐานกันให้แน่นหนาเสียก่อน จะได้ต่อยอดขึ้นไปแล้ว ไม่ไปคว่ำกลางทาง หรือขึ้นสูงถึงยอดหอไอเฟิ่ลแล้ว พังครืน เพราะน็อตที่ฐานไม่แน่นแค่ตัวเดียว

วันนี้ลองมาทำความเข้าใจกับเรื่องกฏแห่งกรรมสักเล็กน้อย ความจริงเรื่องนี้พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นเรื่องอจินไตย หนึ่งในสี่เรื่อง หมายถึง เรื่องไม่ควรคิด ๔ ประการ นั่นคือ วิสัยของผู้ได้ฌาน ๑, วิสัยของพระพุทธเจ้า ๑, เรื่องของโลก ๑, และกฏแห่งวิบากกรรม ๑ (พอดีไปอ่านพบเอ็นทรี่ของคุณโก๋ ขออนุญาต นำมาปะไว้เสียเลย เรื่องอจินไตย)

ในศาสนาอื่น กฏแห่งกรรม คือ พระเจ้า ครับ มันซับซ้อนยุ่งยากยิ่งกว่า วงจรโทรศัพท์มือถือรุ่นล่าสุด เพราะวัน ๆ หนึ่ง คนเราทำกรรม ทั้งกรรมดี กรรมชั่ว เป็นร้อยอย่าง พันอย่าง แต่ละอย่าง ระยะเวลาให้ผลไม่เท่ากัน ความหนักหน่วงของผลกรรมแต่ละอย่าง ก็ต่างกัน ทำดีวันนี้ กว่าจะได้รับผลของกรรมดี อาจต้องรอตอนแก่ หรือรอไปถึงชาติหน้า ทำชั่วก็เช่นกัน ทำดีกับปุถุชน เช่น ทำทานให้ขอทาน กับทำดีกับพระอริยเจ้า เช่น ถวายภัตตาหารให้พระโสดาบัน ความหนักหน่วงของผลแห่งกรรมดีก็ไม่เท่ากัน และกรรมที่เราทำ ก็มิใช่มีแต่เฉพาะชาตินี้ ทำมาแล้วตั้งแสน ตั้งโกฏิ ล้านชาติ เพราะฉะนั้นต่อให้คิดจนหัวหงอก ตีนกาขึ้น ก็ไม่ได้ข้อสรุป และคิดให้ตาย ก็ไม่ใคร่เกิดประโยชน์อะไร เอาเวลาไปตัดกิเลสดีกว่า และด้วยความยุ่งยากซับซ้อนนี่เอง ทำให้ศาสนาอื่น นิยามกฏแห่งกรรมว่า "พระเจ้า"

อะไรคือนิยามของคำว่า "พระเจ้า" สำหรับข้าพเจ้าแล้ว คือ สิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถอธิบายได้ ไม่สามารถเข้าใจได้ สิ่งที่ซับซ้อนเหนือความสามารถของมนุษย์ หรือเป็นสิ่งที่หลักธรรมของศาสนา ไม่มีคำตอบ หรือมีคำตอบก็ไม่มีประโยชน์อะไร เช่น ใครสร้างโลก (รู้ไปแล้วได้อะไร) ใครสร้างมนุษย์คนแรก (รู้แล้วก็ไม่เห็นมีประโยชน์อะไร จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้) สิ่งเหล่านี้ ถ้ารู้แล้วมีความสุข ก็น่ารู้ แต่ถ้ารู้แล้ว เป็นทุกข์ว่า มันจะจริงเร้อ รีบไปค้นคว้าหาหลักฐาน ไปวิเคราะห์โครงสร้างของมนุษย์ว่า วิวัฒนาการมาจากลิงหรือเปล่า ข้าพเจ้าว่า มันไปเพิ่มทุกข์โดยใช่เหตุ

ฉะนั้น อะไรที่ไม่สามารถอธิบายได้ ก็โบ้ยให้พระเจ้าให้หมด เช่น ทำไมถึงเกิดมาพิการ อ๋อ...ก็พระเจ้าให้คุณพิการ แล้วถามต่อว่า ทำไมพระเจ้าถึงให้คุณพิการ คำตอบคือ แผนการของพระเจ้า มนุษย์ไม่มีวันเข้าใจ ทำนองเดียวกัน ศาสนาพุทธก็บอกว่า มันเป็นกฏแห่งกรรม ชาติที่แล้ว อาจไปทำนั่น ทำนี่ไว้ ชาตินี้จึงเกิดมาพิการ แต่ถามว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไร ก็ต้องพึ่งคนที่มีญาณวิเศษ และก็จะเป็นปัญหาต่อไปว่า ญาณวิเศษนั้น เชื่อถือได้แค่ไหน ฉะนั้น อนุรักษ์คำตอบนี้ไว้ให้เป็นเรื่อง อจินไตย ไปเถิด เพราะถึงได้คำตอบไป ก็ใช่ว่าคุณจะหายพิการ ประโยชน์ของกฏแห่งกรรมนั้น มีไว้ให้เราเจริญชีวิตให้ถูกทำนองคลองธรรมเท่านั้น เช่น กฏแห่งกรรม บอกว่า เราเกิดเป็นคนขาด้วน เพราะชาติก่อน เคยไปตัดขาคนอื่นไว้ ฉะนั้นชาตินี้ และชาติต่อไป เรา และคนทั้งหลาย ก็ไม่ควรไปตัดขาใครเลย แค่นั้นเอง ใช่ต้องไปนั่งพิสูจน์ว่า ชาตินั้น ฉันเกิดมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ ชื่อนายโหด โคตรฆ่าสัตว์ ได้ไปตัดขาของเด็กชายชื่อด้วน ควรไม่มีขา เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๗ เนื่องจากไปลักพาตัวเด็กมา แล้วผู้ปกครองไม่ยอมจ่ายค่าไถ่ เช่นนั้นพิสูจน์ไป ก็ไม่ได้ประโยชน์กระไร

การทำบุญนั้น ผล หรืออานิสงส์ที่ได้จะแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนที่หนึ่ง คือ "บุญ" อะไรคือบุญ บุญคือความสุข บุญคือการละกิเลส มี ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นต้น ได้เคยเขียนไปแล้วหลายรอบ ขอโค้ดมาอีกสักที เดี๋ยวจะลืม

ท่านจึงบัญญัติ คำว่า "บุญ หรือ ทาน" ขึ้น เพื่อเป็นกลไกอันชาญฉลาด น้อมนำให้เกิดการปฏิบัติ
แต่นานไป คนเริ่มลืมไปแล้วว่า บุญ หรือ ทาน คืออะไร
บุญ คือ ความสุขครับ และตัววัดว่า ได้บุญมาก หรือบุญน้อย คือ การละกิเลสครับ
ละกิเลสได้มาก เป็นบุญมาก
ละกิเลสได้น้อย เป็นบุญน้อย
ละกิเลสไม่ได้เลย ไม่เป็นบุญเลย
พอกกิเลสได้มาก เป็นบาปมาก
พอกกิเลสได้น้อย เป็นบาปน้อย
พอกกิเลสไม่ได้เลย ไม่เป็นบาปเลย

อีกส่วนหนึ่งคือ กุศลกรรม อันนี้เป็นหัวข้อที่จะเขียนในวันนี้

ก่อนจะเข้าสู่เรื่องกฏแห่งกรรม มาทำความเข้าใจกับคำว่า "เรา" เสียก่อน คนทั่วไปมักคิดว่า ร่างกายของเรานี้แหละ คือ "เรา" แต่พระพุทธเจ้าบอกว่า "เรา" ไม่ใช่ร่างกาย แต่คือ "จิต" ที่มาอาศัยร่างกายอยู่ชั่วคราว ดังนั้น ถ้าจะทำความเข้าใจกับเรื่อง กฏแห่งกรรม ก็ขอให้วางความรู้สึกว่า กายนี้ คือ "เรา" ไว้ชั่วคราว คิดเสียว่า "เรา" คือ "จิต" หรือภาษาหรู ๆ เขาเรียกว่า อทิสสมานกาย

ถ้าตัดเรื่องร่างกายของเราออกแล้ว หรือแต่ จิต เพียว ๆ เรื่องกฏแห่งกรรม บุญ บาป เป็นเรื่องไม่ยากครับ ....อ้อ....ขอบอกว่า เรื่องทั้งหลายที่จะเขียนต่อไปนี้ เป็นจินตนาการของข้าพเจ้าคนเดียวนะครับ อ่านแล้วลองเอาไปพิจารณาว่า เข้าท่าหรือไม่ ข้าพเจ้าไม่ได้บังคับให้ท่านทั้งหลาย มาเชื่อตามข้าพเจ้านะครับ

ทำไมเขาถึงว่า ทำทานมาก ๆ ชาติหน้าเกิดมาร่ำรวย อันนั้นเป็นข้อสรุปโดยหยาบ ๆ เรียกว่า เป็นความน่าจะเป็น โดยส่วนใหญ่ ของคนที่ทำทานมาก ๆ แล้ว ชาติต่อไปเกิดมารวย ความจริงแล้วจะจับให้มั่น คั้นให้ตาย ต้องลงดีเทล หรือ ลงรายละเอียดครับว่า ตอนที่เขาทำทาน เขาทำด้วยความรู้สึกเช่นไร กฏแห่งกรรม จะตอบเขาอย่างตรงไปตรงมา ถ้าตัดร่างกายออกแล้ว ก็เหลือแค่ "ใจ" หรือ "ความรู้สึก" ครับ วัตถุทาน เป็นเพียงแค่ "สื่อ" เท่านั้นเอง 1_display

ยกตัวอย่างเช่น ชายคนหนึ่ง เห็นขอทานหน้าตามอมแมม น่าสงสาร จึงควักเงินออกมา ๑๐ บาท ใส่ขันที่ขอทานถือมา ด้วยความรู้สึก "อยากสงเคราะห์" กฏแห่งกรรมจะตอบเขาด้วยคำตอบที่ว่า เมื่อใดที่เขาอยู่ในสถานะเดือดร้อน ก็จะมีคนรู้สึก "อยากสงเคราะห์" เขาเช่นกัน ผลแห่งกรรมนั้น ไม่อาจประเมินแน่นอนได้ว่า ผลจะได้รับเมื่อไหร่ แต่ที่ยืนยันได้ คือ ต้องได้รับผลนั้นแน่นอน และเมื่อไม่สามารถระบุชี้ชัดลงไปว่า ผลแห่งกรรมดี กรรมชั่ว จะส่งผลเมื่อไหร่ ศาสนาอื่นจึงใช้คำว่า "พระเจ้า" มาตอบ แทนว่า นั่นเป็นแผนการณ์ของพระเจ้า

ลองดูอีกตัวอย่างหนึ่ง มีคนเขียนเข้ามาว่า เคยเอาข้าวที่ร้านค้า จัดเป็นชุด ๆ สำหรับใส่บาตร ไปลองกินเอง แล้วกินไม่ลง รสชาติห่วยแตก แล้วถามว่า เอาของเช่นนั้น ใส่บาตรพระ บาปหรือไม่ ข้าพเจ้าได้เขียนเม้นท์ตอบไปแล้ว ขออนุญาต นำมาลงที่นี่อีกครั้ง

ทีนี้มาว่ากันถึงว่า ใส่บาตรด้วยของไม่ประณีต จะเป็นอย่างไร
ความจริงเรื่องนี้ (อะ ยาวอีกแล้วเรา) ต้องขออ้างพระพุทธพจน์ก่อนว่า

มโนปุพพังคมา ธัมมา มโนเสฏฐา มโนมยา
ธรรมใดล้วนมีใจเป็นใหญ่ มีใจประเสริฐสุด และสำเร็จที่ใจ

ดังนั้นแล้ว วัตถุทาน เป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้นเองครับ ความจริง พระท่านจะฉัน หรือไม่ฉัน ฉันได้ หรือ ฉันไม่ได้ เป็นอีกเรื่องหนึ่งครับ มีผลน้อยกว่ามาก ผลที่มากจริง ๆ คือ ใจของคนให้ทานครับ
ระหว่างคนที่ตั้งใจทำอาหารจนสุดฝีมือ ตั้งใจอย่างดี ประณีตสุด ๆ แต่อาหารออกมา เปรี้ยวปรี๊ด เค็มปั๊ด กินแทบไม่ลง เอาใส่บาตร พระฉันแล้วอยากเอาหัวกระแทกฝาผนังตาย กับเศรษฐีเงินล้าน เอาเค้กราคาก้อนละแสน ที่ตัวเองกินเหลือ มาใส่บาตร เค้กชิ้นนั้น อร่อยมาก ๆ พระฉันแล้วเหมือนได้ขึ้นสวรรค์ทั้งเป็น ท่านว่า ใครได้บุญมากกว่ากันครับ
คำตอบคือ คนที่ตั้งใจทำอาหารครับ ส่วนเค้กของเศรษฐี เป็นเพียงของเดนที่เขากินเหลือ จะทิ้งก็เสียดาย เอาถวายพระดีกว่า
สองตัวอย่างนี้ ใครละกิเลสได้มากกว่ากันครับ
ยิ่งตอบง่ายเข้าไปใหญ่
ฉะนั้นเห็นแล้วใช่ไหมว่า อาหารจะประณีต หรือ หยาบ จะอร่อย หรือไม่อร่อย เป็นเรื่องรองครับ ประเด็นสำคัญ อยู่ที่ใจ
มันคนละเรื่องกัน แต่ส่วนใหญ่มันจะไปด้วยกัน แค่นั้นเอง
อย่างอาหารที่ใส่บาตร ถ้าไม่รู้ ไม่เป็นไรครับ เราตั้งใจใส่บาตรอย่างดี ก็ได้บุญไปเรียบร้อย อ๊ะ...ลองกินเองแล้ว ยังกินแทบไม่ได้ แต่ก็ยังใส่บาตรเช่นเดิมอยู่ เพราะเอาสะดวกเข้าว่า อย่างนี้มันมีเจตนาเจือลงไปด้วยครับ ว่าช่างเถอะ ใส่ ๆ ไป พระกินหรือไม่กินก็ช่าง ถือว่า วันนี้ฉันได้ทำบุญแล้ว อย่างนี้มันทำบุญตามประเพณีครับ เปลืองตังค์โดยใช่เหตุ และผลก็น้อยเหลือเกิน

ที่ว่าส่วนใหญ่มันไปด้วยกัน ก็หมายถึง เวลาคนเราตั้งใจทำอาหารอย่างดีที่สุด โอกาสที่อาหารจะออกมา รสชาติแหลกไม่ลง มันไม่ค่อยมีครับ ส่วนใหญ่ ถ้าตั้งใจทำ อาหารก็จะออกมาอร่อย คนเลยเข้าใจไปว่า อานิสงส์มาก เกิดจากอาหารอร่อย พระฉันแล้วแซ่บอีหลี ถ้าบ่แซ่บก็เป็นอันได้บุญน้อย แต่ความจริงแล้ว อานิสงส์มาก อานิสงส์น้อย อยู่ที่ความตั้งใจต่างหาก ตรงนี้ ถ้าย้อนมาดูว่า ทำไมเป็นเช่นนั้น ก็ตัดร่างกายออกจากการพิจารณาครับ ร่างกายของเรา คนทำอาหาร ตัดทิ้ง ร่างกายของพระ ผู้ฉันอาหาร ตัดทิ้ง เหลือแต่ "ใจ" เพียว ๆ ๒ ดวง อานิสงส์นั้นก็เกิดจาก "ความตั้งใจ" ในการทำอาหาร "ความตั้งใจ" ต้องการสงเคราะห์พระผู้ไม่สามารถเลือกฉันอะไรตามใจตนได้ "ความตั้งใจ" นั่นเขาเรียกอีกอย่างได้ว่า "เจตนา" เจตนาหัง ภิกขะเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เจตนานั่นแล คือ ตัวกรรม พอเข้าใจไหมครับ ส่วนอาหารจะอร่อย ไม่อร่อย มันไปเกิดกับร่างกาย ซึ่งเราตัดทิ้งไปจากการพิจารณาเรียบร้อยแล้ว

เช่นนี้แล้ว จะเห็นได้ชัดว่า อาหารเป็นเพียง "สื่อ" ของใจเท่านั้นเอง ฉะนั้นอาหารจะอร่อย หรือไม่อร่อย มันก็ทำหน้าที่ของมัน คือ สื่อความตั้งใจ ไปถึงผู้รับทาน เรียบร้อยแล้ว

และนี่ก็เป็นคำตอบด้วยว่า ถ้าไม่ได้ทำอาหารเอง ระหว่างอาหารราคาแพง กับอาหารราคาถูก อย่างไหนจะได้บุญมากกว่ากัน เพราะการซื้อของ ก็มีเจตนาใส่ลงไปด้วยครับ สมมุติว่า คุณเป็นนายกฯ มีรายได้วันละล้าน คุณเลี้ยงโต๊ะจีนให้พระ โต๊ะละแสน เพื่อความนับหน้าถือตาในสังคม กับยายเพิ้งแก่ ๆ บ้านก่อด้วย ไม้ และสังกะสี มีรายได้วันละ ๒๐ บาท ตั้งใจซื้อหมูปิ้ง ๓ ไม้ ราคา ๑๘ บาทใส่บาตรถวายพระ กำลังใจของใครสูงกว่ากันครับ ระหว่างนายกฯเหลือเงินอีก ๙ แสน กับยายเพิ้งเหลือเงินแค่ ๒ บาท กำลังใจของนายกฯ ก็สูงพอควรเลยทีเดียว ที่สามารถตัดใจจ่ายเงินทีหนึ่งตั้งแสน ถวายพระ แต่เขาก็ยังเหลือเงินอีก เก้าแสน กับยายเพิ้ง เหลือเงินไว้ให้ตัวเองกินข้าวแค่ ๒ บาท ประมาณว่า กูอดก็ได้ ขอให้พระอิ่13091ม อย่างนี้เรียกว่า กำลังใจในการให้ทาน "เต็ม" ซึ่งกำลังใจ เขาเรียกได้อีกอย่างว่า "บารมี" เช่นนี้ ก็เรียกได้ว่า ทานบารมี เต็ม

แล้วถ้ากำลังใจเต็ม ทำแล้วจะได้อะไร ก็ง่าย ๆ ซื่อ ๆ ทำอย่างไร ก็ได้อย่างนั้น เมื่อผลของกรรม ถึงวาระของมัน ก็อาจจะให้ผลในลักษณะที่ว่า เกิดมาแล้ว มีแต่คนเอ็นดูรักใคร่ อยากมอบทรัพย์สมบัติให้ หรือ อีกนัยหนึ่ง ให้สิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตเขา แก่เรา เคยทำทานด้วยกำลังใจเท่านี้ ก็จะได้รับทานที่มีกำลังใจประมาณกันตอบแทน ยกตัวอย่าง ยายเพิ้งคนเดิม เกิดมาชาติหน้า หรือชาติต่อ ๆ ไป อาจจะมีวิบากกรรมบางอย่าง ทำให้ไปเกิดในครอบครัวยากจน แต่พอแม่คนใหม่ของยายเพิ้งตั้งท้อง อำนาจแห่งกุศลกรรมที่ยายเพิ้งทำไว้ อาจทำให้พ่อแม่ใหม่ของยายเพิ้ง ร่ำรวยขึ้นทันตาเห็น เพื่อจะได้สงเคราะห์ยายเพิ้งต่อไปในอนาคต สมกับที่ยายเพิ้งได้เคยทำบุญทำกุศลไว้ ใช่เป็นอย่างที่มักเข้าใจกันว่า ลูกคนนี้นำโชคมาให้ เป็นตัวเงินตัวทอง (เฮ้ย...คนนะไม่ใช่เหี้ย) กฏแห่งกรรม ก็เป็นฉะนี้แล

มาถึงเทศกาลสารทจีน ที่เพิ่งผ่านไป เขาไหว้อะไรกัน ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบแล ทราบแต่คนจีนเขานับถือบรรพบุรุษ ซึ่งถ้าใช้หลักการเดียวกันพิจารณา ตัดร่างกายของเรา ร่างกายของบรรพบุรุษ ทิ้งไป ก็จะทราบได้เลยครับว่า ความจริงแล้ว เขาให้เรา "นึกถึง" หรือ "ระลึกถึง" บรรพบุรุษ จิตนั่นแล เป็นตัวนึกถึง ระลึกถึง ไม่ใช่ร่างกายเรานึก ถูกไหม ระหว่างที่เราทำขนมเข่ง ขนมเทียน หรือหมู เห็ด เป็ด ไก่ อะไรก็ตาม ใจก็ระลึกถึงบรรพบุรุษ ว่า "เฮ้ย ท่านชอบเป็ดพะโล้ ยี่ห้อซีพี นี่หว่า...." หรือ อื่น ๆ ระลึกถึงความดีของบรรพบุรุษ นั่นแล คือสิ่งที่บรรพบุรุษรับรู้ หรือเสวยได้ ไอ้พวกเป็ดไก่ ของเซ่นไหว้ต่าง ๆ บรรพบุรุษที่ตายไปแล้ว ท่านเสพไม่ได้แล้ว แต่ท่านเสพ ความตั้งใจของเรานั่นแล ท่านเสพ ความสุขที่เกิดจากความรู้สึกว่า "เฮ้ย...มันยังจำอั๊วะได้หว่ะ"

นั่นเป็นกุศโลบาย ให้คนรู้จักกตัญญูกตเวที ในศาสนาพุทธกล่าวไว้เลยว่า ความกตัญญูกตเวที เป็นสัญลักษณ์ของคนดี

แล้วเคยสงสัยไหมครับว่า ทำไมบูชาพระต้องจุดธูปจุดเทียน การที่เราจุดเทียนบูชาพระ จุดธูปบูชาพระ ก็คือ บูชาพระด้วยแสงสว่าง บูชาพระด้วยกลิ่น(ที่คิดว่า)หอม ไม่ใช่บูชาพระด้วยวัตถุธาตุ คือ เทียน หรือธูปหอม แต่อย่างใด และแสงสว่าง ก็เป็นสัญลักษณ์แห่งปัญญา นัตถิ ปัญญาสมา อาภา แสงสว่างเสมอด้วยปัญญา ไม่มี ปัญญา โลกัสมิง ปัชโชโต ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก จิตที่เจตนาบูชาพระ ด้วยแสงสว่าง ก็เปรียบด้วยการบูชาพระธรรม ซึ่งบรรจุไว้ด้วยปัญญา หรือบูชาพระปัญญาธิคุณ อันเป็นประหนึ่งแสงสว่างในโลก ชาติถัด ๆ ไป จึงเกิดมามากไปด้วยปัญญา

อีกสักตัวอย่างหนึ่ง คาดว่า ทุกคนคงรู้จักชูชก ยอดขอทาน เฮียแกขอดะ ขอทุกอย่างที่ขวางหน้า ขอจนได้เมียสาวอายุคราวลูก ขอได้แม้กระทั่งลูกของคนอื่น คือ กัณหา และชาลี ลูกของพระเวสสันดร  แต่วันนี้ไม่ได้ตั้งใจจะพูดเรื่อง ความสามารถในการขอทาน ของตาชูชก แต่อยากพูดเรื่องบุพพกรรมของตาชูชก และเมียสาว บุพพกรรมของเมียชูชก ทำให้ต้องได้ผัวแก่ ทราบว่า สมัยหนึ่ง เธอบูชาพระด้วยดอกไม้เหี่ยว ๆ ส่วนตาชูชก บูชาด้วยดอกไม้สด ๆ ใหม่ ๆ ชาตินี้มาเจ๊อะกัน เลยปิ๊งกันด้วยอานิสงส์การบูชาพระด้วยดอกไม้ ต่างชนิดกัน

วิเคราะห์ลงไปครับว่า ทำไมการบูชาด้วยดอกไม้ต่างชนิดกัน ถึงให้ผลเช่นนี้

ดอกไม้คือสัญลักษณ์ของอะไรครับ ดอกไม้คือสัญลักษณ์ของความสวยงาม ถูกไหมครับ ฉะนั้น เจตนาของผู้ที่บูชาพระด้วยดอกไม้ คือ ต้องการบูชาด้วยสิ่งสวยงาม อะ...พิจารณาตามเกณฑ์เดิม ตัดร่างกายของเราออกไป ตัดดอกไม้ออกไป เหลือแต่เจตนา หรือใจ ของผู้ให้ทาน พอเห็นภาพหรือยังครับว่า จิตเรา ตั้งใจบูชาพระ ด้วยของสวยงาม จึงได้สิ่งสวยงามตอบแทน นั่นคือ ชูชกได้เมียเด็ก เมียสวย ส่วนเมียชูชก บูชาด้วยดอกไม้เหี่ยว เลยได้ผัวแก่ ตอบแทน

ฉะนั้นถ้าอยากได้ผัวหล่อ เมียสวย อย่าลืมตั้งเจตนาให้ถูก แล้วบูชาพระด้วยสิ่งสวยงาม หรือชีวิตบัดซบได้ผัวถังเบียร์ เมียบ๊ะจ่าง มาเรียบร้อยแล้ว ก็พึงทราบได้เลยว่า เราไม่เคยบูชาพระด้วยสิ่งสวยงามเลย เริ่มต้นวันนี้ไม่สายครับ

เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ ฯ

ปล.แต่ต้องพึงระลึกไว้ด้วยนะครับว่า การอธิษฐานขอให้ชาติหน้ามีผัวหล่อ เมียสวย พูดอีกนัยหนึ่ง ก็คือการตั้งความปรารถนาขอให้เกิดอีกนั่นแล เกิดแล้วมีแต่ทุกข์ครับ ทางที่ดีบูชาพระด้วยอะไรก็แล้วแต่ ขออย่างเดียวเลยครับ ขอไม่ต้องเกิดอีก ดีที่สุด

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons