วันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2554

How to ทำอย่างไรให้ถึงนิพพาน พระธรรมขันธ์ที่ ๒By Dhammasarokikku

264464_198001233583759_100001216522700_626048_6460349_nว่าจะเขียนพระธรรมขันธ์ที่ ๒ อยู่หลายเพลาแล้ว ยังหาตัวอย่างเจ๋ง ๆ ไม่ได้ ว่าจะเขียนเรื่อง "สักกายทิฏฐิ" ครับ เป็นเรื่องราวที่อธิบายยากพอควร จำต้องยกตัวอย่างให้เห็นชัด เพราะตัวนี้ตัวเดียว ตัดให้ละเอียด ตัดขาดได้ สำเร็จเป็นพระอรหันต์เลยครับ เป็นเรื่องไม่ธรรมดาเลยครับ ควรศึกษาไว้มาก ๆ ครับ
สักกายทิฏฐิ นี้ มีหลายระดับเชียวแล แปลตามบาลีว่าความเห็นที่ว่านี่คือเรา นี่คือของเรา เรามีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ มีในเราซึ่งตามคำสอนของหลวงพ่อ บอกว่า อันนั้นมันของพระอรหันต์ คือถ้าเป็นพระอรหันต์ท่านใช้อารมณ์ระดับนั้นครับ ถ้าเป็นปุถุชน เรา ๆ ท่าน ๆ นี่ ท่านว่า ให้ทรงกำลังใจ เอาพระโสดาบันให้ได้ก่อนครับ แล้วค่อยไต่ขึ้นไปเป็นพระอรหันต์ การปฏิบัติต้องรู้จักประมาณกำลังของเราครับ กำลังเท่ามด ไปยกช้าง ก็ถูกช้างบี้ติดดินเท่านั้นเอง ไม่เกิดประโยชน์

สักกายทิฏฐิ หรือ ตัวตน หรือ อัตตา (อันเดียวกันหมด แค่เรียกต่างกัน)ของพระโสดาบัน แค่เห็นว่า เราตายแน่ ๆ และไม่ประมาทในชีวิต เท่านั้นเองครับ ง่ายไหมครับ
แต่วันนี้เราจะไม่หยุดอยู่แค่พระโสดาบันครับ เพราะพระโสดาบันเคยเขียนไปแล้วในเอ็นทรี่ มาเป็นพระโสดาบันกันดีกว่าวันนี้เราจะลุยกันไปให้ถึงพระนิพพานเลยครับ ให้สมกับหัวข้อเอ็นทรี่

มาเข้าเรื่องกันดีกว่า เรื่องราวของ "ตัวตน" ในศาสนาพุทธ เป็นเรื่องลึกซึ้ง ยากจะหยั่งถึง แต่ก็ไม่ยากเสียจนเข้าใจไม่ได้เลย(เข้าใจได้ก็เรื่องหนึ่ง ทำให้ถึงก็อีกเรื่องหนึ่งนะ แยกกันให้ออก) ก่อนจะเข้าสู่เรื่องราวอันเข้มข้นของ "ตัวตน" ข้าพเจ้าขอออกตัวก่อนว่า ความเข้าใจในเรื่อง "ตัวตน" ของข้าพเจ้า อาจไม่ถูกต้องร้อยเปอร์เซนต์ ผู้เสพควรอ่านคำเตือนในฉลาก และไม่ควรดื่มกาแฟธรรมะที่ชงเข้มข้นระดับ ๒ ช้อนโต๊ะ เกินวันละ ๑ เอ็นทรี่ อ๊ะ...ไม่ใช่...การอ่านธรรมะมีความเสี่ยง ผู้สนใจอ่านควรศึกษาให้ถ่องแท้ ลองปฏิบัติให้เห็นจริง ด้วยตัวเอง แล้วค่อยเชื่อ

มีบางคน เข้าใจว่า การที่พระปฏิบัติเคร่ง ฉันมื้อเดียว อยู่ป่าเป็นวัตร นั่งสมาธิเป็นวัน ๆ ฉันในบาตร เทกับข้าวทั้งคาวหวานรวมกัน ลงในบาตร รักษาศีลอย่างเคร่งจัด ไม่จับเงิน หรือ ทรมานร่างกายด้วยวิธีแปลก ๆ เช่น นั่งตากแดด ฝังตัวเองลงในดิน เป็นพระที่ได้มรรค ได้ผล เป็นอริยบุคคล น่าศรัทธา น่าเลื่อมใส

หรือนักบวชนอกศาสนา ที่ทรมานตนแบบต่าง ๆ เช่น นอนบนเตียงตะปู เป็นต้น หรือมีวัตรที่มากไปด้วยเงื่อนไข เช่น กินข้าวในมือ ยืนกิน ไม่ใส่เสื้อผ้า ไม่รับข้าวจากหญิงมีครรภ์ ไม่รับข้าวจากหญิงมีระดู เป็นต้น เป็นบุคคลน่าเลื่อมใส คงได้บรรลุธรรมประการใด ประการหนึ่ง ทำบุญกับท่าน คงได้บุญมาก
หรือกระทั่งศาสนาพุทธเอง ที่แตกนิกายออกไป มีวัตรปฏิบัติที่เข้มข้น ถึงขนาดมีการทดลองตาย เข้าไปปฏิบัติในถ้ำเป็นปี ๆ อดข้าว อดน้ำ คนทั่วไปก็รู้สึกว่า ท่านช่างมีวัตรที่น่าเลื่อมใส ทุ่มเทให้กับการปฏิบัติ น่าเกรงขามอย่างยิ่ง พวกพระไทย โกนหัว ห่มเหลือง และมักจะเป็นข่าวกับสีกา ออกวัตถุมงคล หลอกลวงประชาชน และพฤติกรรมไม่เหมาะสมอีกล้านแปด ไม่มีทางสู้ได้เลย
มาดูกันครับว่า คำสอนของพระในประเทศไทยที่เขาว่า สู้พระต่างประเทศไม่ได้ มีวัตรปฏิบัติที่ไม่น่าเลื่อมใส (ทว่าข้าพเจ้ากลับเห็นว่า น่าจะเป็นประเทศที่มีพระอรหันต์มากที่สุดในโลกแล้วกระมัง) เป็นอย่างไร ก่อนอื่นต้องขออ้างพระธรรมบทสักหน่อยครับ ความจริงถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัตินะครับว่า จักต้องอ้างถึงพระไตรปิฎกเสียก่อน ให้เป็นวัตร จักมีคนอ่าน หรือไม่มีคนอ่าน ก็ไม่สำคัญ เพราะการไม่อ้างอิงถึงพระไตรปิฎกดั้งเดิม ก็เป็นเหตุหนึ่งของความเสื่อมแห่งบวรพระพุทธศาสนา แสดงไว้ใน อาณิสูตรทว่า่ผู้ที่มาอ่านบทความในบล็อก ย่อมมิได้คาดหวังจะอ่านวิทยานิพนธ์ ทั้งการอ่านหนังสือบนหน้าจอคอมฯ ก็ใช้สายตาอยู่ไม่น้อย ผู้อ่านจักข้ามไปก่อน แล้วเมื่อสมัยที่มีความสงสัยในเนื้อหาตอนใด หรือไม่แน่ใจว่าผู้เขียน เข้าใจถูกต้องหรือไม่ ค่อยย้อนกลับมาอ่านพระไตรปิฎกต้นฉบับ ก็ย่อมได้ ข้าพเจ้าจักทำส่วนที่คัดมาจากพระไตรปิฎก เป็นสีเขียว ส่วนที่ครูบาอาจารย์เทศนาสั่งสอนเป็นสีน้ำเงินและความเห็นของข้าพเจ้าเองเป็นสีดำ(แต่คิดดูอีกที ผู้ที่หวังพระนิพพาน แต่กระทั่งเอ็นทรี่ที่อ่านยากสักหน่อย ตัวหนังสือไม่สวย ไม่มีรูปประกอบ หรือยาวสักนิด ยังไม่มีความเพียรจะอ่าน อย่างนี้อ่านไปก็ไลฟ์บอยครับ แค่อ่านยังไม่อ่านเลย จะไปเพียรปฏิบัติได้อย่างไร เสียเวลาเปล่า เลิกอ่านไปเสียตอนนี้เลยดีกว่าครับ เอ็นทรี่แนะนำการปฏิบัติ ไม่ใช่เอ็นทรี่เอาไว้อ่านเล่น เบาสมอง หรือเอาไว้ประดับสมองเพียงเพื่อเอาไว้ถกเถียงกันในวงสนทนาธรรมะ ให้รู้ว่า"กูเก๋า" หรือ "กูรู้มาก" อย่างนั้น นิมนต์ไปอ่านเอ็นทรี่อื่นเลยครับ)

img40อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท มรรควรรคที่ ๒๐หน้าต่างที่ ๕ / ๑๐.
๕. เรื่องพระโปฐิลเถระ [๒๐๘] ข้อความเบื้องต้น
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระเถระนามว่าโปฐิละ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "โยคา เว" เป็นต้น.

รู้มากแต่เอาตัวไม่รอด

ดังได้สดับมา พระโปฐิละนั้นเป็นผู้ทรงพระไตรปิฎกในศาสนาของพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ บอกธรรมแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป. พระศาสดาทรงดำริว่า "ภิกษุนี้ ย่อมไม่มีแม้ความคิดว่า 'เราจักทำการสลัดออกจากทุกข์แก่ตน'เราจักยังเธอให้สังเวช."

จำเดิมแต่นั้นมา พระองค์ย่อมตรัสกะพระเถระนั้น ในเวลาที่พระเถระมาสู่ที่บำรุงของพระองค์ว่า "มาเถิด คุณใบลานเปล่า,นั่งเถิด คุณใบลานเปล่า, ไปเถิด คุณใบลานเปล่า แม้ในเวลาที่พระเถระลุกไป ก็ตรัสว่า "คุณใบลานเปล่าไปแล้ว."

พระโปฐิละนั้นคิดว่า "เราย่อมทรงไว้ซึ่งพระไตรปิฎกพร้อมทั้งอรรถกถา บอกธรรมแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป ถึง ๑๘ คณะใหญ่ ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น พระศาสดายังตรัสเรียกเราเนืองๆ ว่า "คุณใบลานเปล่า"พระศาสดาตรัสเรียกเราอย่างนี้ เพราะความไม่มีคุณวิเศษ มีฌานเป็นต้นแน่แท้."

ท่านมีความสังเวชเกิดขึ้นแล้ว จึงคิดว่า "บัดนี้ เราจักเข้าไปสู่ป่าแล้วทำสมณธรรม" จัดแจงบาตรและจีวรเองทีเดียว ได้ออกไปพร้อมด้วยภิกษุผู้เรียนธรรม แล้วออกไปภายหลังภิกษุทั้งหมดในเวลาใกล้รุ่ง.พวกภิกษุนั่งสาธยายอยู่ในบริเวณ ไม่ได้กำหนดท่านว่า "อาจารย์."พระเถระไปสิ้น ๑๒๐ โยชน์แล้ว, เข้าไปหาภิกษุ ๓๐ รูป ผู้อยู่ในอาวาสราวป่าแห่งหนึ่ง ไหว้พระสังฆเถระแล้ว กล่าวว่า"ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของกระผม."

พระสังฆเถระ. "ผู้มีอายุ ท่านเป็นพระธรรมกถึก สิ่งอะไรชื่อว่าอันพวกเราพึงทราบได้ ก็เพราะอาศัยท่าน, เหตุไฉน ท่านจึงพูดอย่างนี้?"<---พระธรรมกถึก คือ พระผู้แสดงธรรม หรือพระนักเทศน์นั่นเอง

พระโปฐิละ. ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงอย่าทำอย่างนี้ ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของกระผม.

วิธีขจัดมานะของพระโปฐิละ

ก็พระเถระเหล่านั้นทั้งหมด ล้วนเป็นพระขีณาสพทั้งนั้น. ลำดับนั้น พระมหาเถระส่งพระโปฐิละนั้นไปสู่สำนักพระอนุเถระ ด้วยคิดว่า"ภิกษุนี้มีมานะ เพราะอาศัยการเรียนแท้."แม้พระอนุเถระนั้นก็กล่าวกะพระโปฐิละนั้น อย่างนั้นเหมือนกัน.ถึงพระเถระทั้งหมด เมื่อส่งท่านไปโดยทำนองนี้ ก็ส่งไปสู่สำนักของสามเณรผู้มีอายุ ๗ ขวบผู้ใหม่กว่าสามเณรทั้งหมด ซึ่งนั่งทำกรรมคือการเย็บผ้าอยู่ในที่พักกลางวัน.พระเถระทั้งหลายนำมานะของท่านออกได้ด้วยอุบายอย่างนี้.

พระโปฐิละหมดมานะ

พระโปฐิละนั้นมีมานะอันพระเถระทั้งหลายนำออกแล้ว จึงประคองอัญชลีในสำนักของสามเณรแล้วกล่าวว่า "ท่านสัตบุรุษ ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของผม."

สามเณร. ตายจริง ท่านอาจารย์ ท่านพูดอะไรนั่น ท่านเป็นคนแก่ เป็นพหูสูต เหตุอะไร ๆ พึงเป็นกิจอันผมควรรู้ในสำนักของท่าน

พระโปฐิละ. ท่านสัตบุรุษ ท่านอย่าทำอย่างนี้ ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของผมให้ได้.

สามเณร. ท่านขอรับ หากท่านจักเป็นผู้อดทนต่อโอวาทได้ไซร้ ผมจักเป็นที่พึ่งของท่าน.

พระโปฐิละ. ผมเป็นได้ ท่านสัตบุรุษ, เมื่อท่านกล่าวว่า "จงเข้าไปสู่ไฟ" ผมจักเข้าไปแม้สู่ไฟได้ทีเดียว.

พระโปฐิละปฏิบัติตามคำสั่งสอนของสามเณร

ลำดับนั้น สามเณรจึงแสดงสระ สระหนึ่งในที่ไม่ไกล แล้วกล่าวกะท่านว่า"ท่านขอรับ ท่านนุ่งห่มตามเดิมนั่นแหละ จงลงไปสู่สระนี้."

จริงอยู่ สามเณรนั้น แม้รู้ความที่จีวรสองชั้นซึ่งมีราคามาก อันพระเถระนั้นนุ่งห่มแล้ว เมื่อจะทดลองว่า"พระเถระจักเป็นผู้อดทนต่อโอวาทได้หรือไม่" จึงกล่าวอย่างนั้น.

แม้พระเถระก็ลงไปด้วยคำๆ เดียวเท่านั้น.

ลำดับนั้น ในเวลาที่ชายจีวรเปียก สามเณรจึงกล่าวกะท่านว่า "มาเถิด ท่านขอรับ" แล้วกล่าวกะท่านผู้มายืนอยู่ด้วยคำๆ เดียวเท่านั้นว่า"ท่านผู้เจริญ ในจอมปลวกแห่งหนึ่ง มีช่องอยู่ ๖ ช่อง, ในช่องเหล่านั้น เหี้ยเข้าไปภายในโดยช่อง ๆ หนึ่ง บุคคลประสงค์จะจับมัน จึงอุดช่องทั้ง ๕ นอกนี้ ทำลายช่องที่ ๖ แล้ว จึงจับเอาโดยช่องที่มันเข้าไปนั่นเอง,บรรดาทวารทั้งหก แม้ท่านจงปิดทวารทั้ง ๕ อย่างนั้นแล้ว จงเริ่มตั้งกรรม*นี้ไว้ในมโนทวาร."

ด้วยนัยมีประมาณเท่านี้ ความแจ่มแจ้งได้มีแก่ภิกษุผู้เป็นพหูสูต ดุจการลุกโพลงขึ้นแห่งดวงประทีปฉะนั้น.

img51พระโปฐิละนั้นกล่าวว่า "ท่านสัตบุรุษ คำมีประมาณเท่านี้แหละพอละ" แล้วจึงหยั่งลงในกรชกาย** ปรารภสมณธรรม.

____________________________
* คำว่า กรรม ในที่นี้ ได้แก่ บริกรรม หรือกัมมัฏฐาน.
** แปลว่า ในกายบังเกิดด้วยธุลี มีในสรีระ.

ทางเจริญและทางเสื่อมแห่งปัญญา

พระศาสดาประทับนั่งในที่สุดประมาณ ๑๒๐ โยชน์เทียว ทอดพระเนตรดูภิกษุนั้นแล้วดำริว่า "ภิกษุนั้นเป็นผู้มีปัญญา (กว้างขวาง)ดุจแผ่นดินด้วยประการใดแล, การที่เธอตั้งตนไว้ด้วยประการนั้นนั่นแล ย่อมสมควร." แล้วทรงเปล่งพระรัศมีไป ประหนึ่งตรัสอยู่กับภิกษุนั้น

ตรัสพระคาถานี้ว่า :-

๕. โยคา เว ชายตี ภูริ อโยคา ภูริสงฺขโย
เอตํ เทฺวธา ปถํ ญตฺวา ภวาย วิภวาย จ
ตถตฺตานํ นิเวเสยฺย ยถา ภูริ ปวฑฺฒติ.
ปัญญาย่อมเกิดเพราะการประกอบแล,

ความสิ้นไปแห่งปัญญาเพราะการไม่ประกอบ,

บัณฑิตรู้ทาง ๒ แพร่งแห่งความเจริญ และความเสื่อมนั่นแล้ว

พึงตั้งตนไว้โดยประการที่ปัญญาจะเจริญขึ้นได้.

แก้อรรถ
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โยคา ความว่า เพราะการกระทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคายในอารมณ์ ๓๘.
คำว่า "ภูริ" นั่น เป็นชื่อแห่งปัญญาอันกว้างขวาง เสมอด้วยแผ่นดิน. ความพินาศ ชื่อว่า ความสิ้นไป.
สองบทว่า เอตํ เทวฺธา ปถํ คือ ซึ่งการประกอบและการไม่ประกอบนั่น.
บาทพระคาถาว่า ภวาย วิภวาย จ คือ แห่งความเจริญและความไม่เจริญ.
บทว่า ตถตฺตานํ ความว่า บัณฑิตพึงตั้งตนไว้ โดยประการที่ปัญญา กล่าวคือภูรินี้จะเจริญขึ้นได้.
ในกาลจบพระคาถา พระโปฐิลเถระตั้งอยู่ในพระอรหัตแล้ว ดังนี้.
เรื่องพระโปฐิลเถระ จบ.
------------------------
มาจากเว็บนี้ครับ http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=30&p=5

ใครอ่านพระไตรปิฎกออริจินอลแล้วมึนบ้าง ลองมาอ่านสำนวนของหลวงพ่อชา สุภทฺโท ดูบ้าง อาจจะอ่านง่ายขึ้น

img61ในสมัยก่อน ครั้งพุทธกาล มีสาวกองค์หนึ่งชื่อว่าตุจโฉโปฏฐิละตุจโฉโปฏฐิละนี้มีปัญญามาก แตกฉานในคัมภีร์ แตกฉานในพระไตรปิฎก มีวัดสาขาตั้ง ๑๘ แห่ง เป็นครูเป็นอาจารย์จนประชาชนศิษยานุศิษย์ทั้งหลายนับหน้าถือตาโดยทั่วถึง ถ้าใครได้ยินชื่อว่าตุจโฉโปฏฐิละก็กลัวเกรง ไม่กล้าพูดไม่กล้าเถียง เมื่อท่านอธิบายธรรมะ กลัวอำนาจที่ท่านได้เรียนมากจนแตกฉานในพระไตรปิฎก ฉะนั้นท่านตุจโฉโปฐิละจึงเป็นพระเถระผู้ยิ่งใหญ่ ในครั้งพุทธกาลเพราะการเรียน วันหนึ่งท่านไปกราบทูลถามพระพุทธเจ้า ขณะท่านกำลังกราบลงสาธุการ พระพุทธองค์ตรัสว่า "มาแล้วหรือ พระใบลานเปล่า?"

...ซึ้งในใจ แล้วก็เลยพูดกันไป พอท่านจบประโยคพอสมควรแล้วจะลาพระพุทธองค์กลับวัด... "กลับอาวาสแล้วหรือ พระใบลานเปล่า?" จะกลับก็ "กลับแล้วหรือพระใบลานเปล่า?"ไม่ได้หน้าได้หลัง ท่านเทศน์อยู่เท่านั้นตุจโฉโปฏฐิละเป็นอาจารย์ใหญ่ก็คิดในใจว่า"เอ...ทำไมพระพุทธองค์จึงรับสั่งอย่างนั้น? เป็นอะไรหนอ..."คิดไปคิดมาคิดตามการศึกษาย้อนไปพิจารณาไป จนเห็นว่า"เออ...มันจริงที่พระองค์ว่า พระใบลานเปล่า" คือพระเรียนเฉยๆ ไม่ได้ปฏิบัติ เมื่อมาดูจิตใจของตนก็เหมือนกัน กับฆราวาส อยากได้อะไรก็อยากได้เหมือนเขา ฆราวาสยินดีอย่างไรก็ยินดีอย่างเขา ความเป็นสมณะไม่มี ไม่มีธรรมะอันซึ้งบังเกิดขึ้นในใจ ที่จะมาข่มจิตของตน ให้สงบระงับด้วยการอบรมทั้งหลายได้ จึงเกิดความสนใจอยากจะออกปฏิบัติ แต่ว่าการจะออกปฏิบัตินั้น ไม่มีทางที่จะไป ไปหาอาจารย์นั่นอาจารย์นี่ ล้วนแต่เป็นลูกศิษย์ของท่านทั้งหมด เขาก็เลยไม่รับ ธรรมดาคนเราเห็นครูบาอาจารย์ ก็เคารพเกรงกลัวไม่กล้าพูด ก็เลยไม่กล้ารับให้ท่านมาปฏิบัติด้วย ไปสำนักผู้ใดก็ตามไม่กล้ารับ ท่านมีความรู้มาก มีปัญญามาก ใคร ๆ ก็ไม่กล้าตักเตือน ไม่กล้าสอน ถึงแม้ว่าท่านนั่งอยู่ที่นั้น จะเทศนาว่ากล่าว ก็ยังเกรงกลัวอำนาจของท่าน

ท่านจึงไปหาสามเณรน้อยซึ่งเป็นอริยบุคคล ท่านตุจโฉโปฏฐิละก็ไปขอปฏิบัติกับสามเณรน้อย เณรบอกว่า"พระคุณเจ้าจะมาปฏิบัติกับผม ถ้าทำจริงก็มาได้ แต่ถ้าทำไม่จริงมาไม่ได้"ตุจโฉโปฏฐิละจึงมอบกายถวายชีวิต สามเณรให้ห่มผ้า เมื่อห่มผ้าเรียบร้อยแล้ว เผอิญมีหนองอยู่ใกล้ ๆ ที่เป็นเลน เณรก็บอกว่า "เอ้าให้วิ่งเข้าไปในหนองนี่ วิ่งลงไป ถ้ายังไม่บอกให้หยุดอย่าหยุดนะ ถ้ายังไม่บอกให้ขึ้น อย่าขึ้นนะ...เอ้า วิ่ง" ตุจโฉโปฏฐิละห่มผ้าดี ๆ แล้วก็วิ่งลงไปในหนอง ต่ำลง ๆ ๆ เณรน้อยไม่ได้บอกให้หยุดท่านก็ลงไปจนตัวเปียกหมด เปื้อนตมเลอะขี้เลนหมด สามเณรจึงบอกว่า "เอาล่ะ หยุดได้" ท่านจึงหยุด สามเณรว่า "เอาละขึ้นมา"ท่านจึงขึ้นมา แสดงให้เห็นว่าท่านละทิฏฐิของท่านแล้ว จึงยอมรับ ถ้าไม่ยอมรับจะไม่ยอมลงขึ้ตมหรอก คนผู้ใหญ่ขนาดนั้น แต่ว่าท่านยอมไป สามเณรเห็นแล้วรู้อุปนิสัยแล้ว ว่าตุจโฉโปฏฐิละเอาจริง

เมื่อท่านขึ้นมาแล้วสามเณรจึงสอนให้ โดยใช้วิธีกำหนดอารมณ์จับอารมณ์ให้รู้จักจิตของตน ให้รู้จักอารมณ์ของตน เณรก็ยกอุบายอันหนึ่งขึ้นมาว่า ให้ใช้วิธีที่บุรุษทั้งหลายจะจับเหี้ย เหี้ยตัวหนึ่งเข้าไปในโพรงจอมปลวกซึ่งมีรูอยู่หกรู ถ้าเหี้ยเข้าไปในที่นั้นจะทำอย่างไร เราจึงจะจับมันได้ จะต้องปิดไว้สักห้ารู เอาอะไรมาปิดมันไว้ให้เหลือแค่รูเดียวสำหรับให้เหี้ยออก นอกนั้นปิดไว้หมด แล้วให้นั่งจ้องมองอยู่ที่รูนั้น ครั้นเหี้ยวิ่งออกก็จับ อันนี้ฉันใด การกำหนดจิตก็ฉันนั้น ตาก็ปิดไว้ หูก็ปิดไว้ จมูกก็ปิดไว้ ลิ้นก็ปิดไว้ กายก็ปิด เหลือแต่จิตอันเดียว ตา หู จมูก ลิ้น กาย ปิดมันไว้ คือสำรวมสังวร ให้กำหนดจิตอย่างเดียว

การภาวนาก็เหมือนกัน กับบุรุษจับเหี้ย อย่างเราจะกำหนดลมหายใจให้มีสติ สติ คือ ความระมัดระวังรู้อยู่ว่า เดี๋ยวนี้เราทำอะไรอยู่ สัมปชัญญะ คือ รู้ตัวว่าเรากำลังทำอันนั้นอยู่ ผู้รู้ รู้ว่ามันเป็นอย่างนั้นอยู่ ให้กำหนดลมหายใจเข้าด้วยการมี สติ ความระลึกได้ สัมปชัญญะ ความรู้ตัว การที่ว่าระลึกได้คือความรู้สึกที่เกิดขึ้นในจิต ไม่ใช่การที่เราไปศึกษาที่ไหนมา ให้รู้จักแต่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นมา จิตมันอยู่เฉย ๆ มันก็มีความรู้สึกขึ้นมา อันนี้แหละเป็นความรู้สึก สตินี้ควบคู่กันกับความรู้สึก มีสติอยู่ คือความระลึกได้ว่า เราพูดอยู่ หรือเราทำอยู่ หรือเราไปเดินอยู่ หรือเรานั่งอยู่ จะไปจะมาก็รู้ นั่นเรียกว่าสติ ระลึกได้ สัมปชัญญะคือความรู้ตัวว่า บัดนี้เรากำลังเดินอยู่ เรานั่งอยู่ เรานอนอยู่ เรารับอารมณ์อะไรอยู่เดี๋ยวนี้ สองอย่างนี้ ทั้งสติความระลึกได้ และสัมปชัญญะความรู้ตัว ในการที่เราระลึกได้อยู่เสมอนั้น เราก็จะสามารถรู้ใจของเราว่า ในเวลานี้มันคิดอย่างไร เมื่อถูกอารมณ์ชนิดนั้นมามันคิดอย่างไร อันนี้เราจะรู้จัก

มาจากเว็บนี้ครับ http://gotoknow.org/blog/2etc/183294

เป็นอย่างไรบ้างครับ อ่านแล้วพอเข้าใจไหมครับ ของหลวงพ่อชานี่ดีมาก ๆ นะครับ ความจริงยังมีการแนะนำถึงการปฏิบัติต่อจากนี้ด้วย ว่าง ๆ แวะไปอ่านเวอร์ชั่นเต็มกันได้ ถ้าเผื่อยังไม่เข้าใจ จะลองอธิบายซ้ำให้ดูอีกสักรอบหนึ่ง ลองนึกภาพตามไปนะครับ ลองจินตนาการไปถึงสำนักเรียนปริยัติธรรมสมัยก่อน เอาเป็นว่า เป็นวิทยาลัยละกันครับ ที่มีแต่พระสงฆ์ไปเรียน ก็คือวิทยาลัยสงฆ์ พระอาจารย์โปฐิละนี้ เป็นเจ้าสำนักอยู่ถึง ๑๘ สำนัก ถ้าเทียบกับสมัยนี้ ท่านก็ครองอยู่ ๑๘ คณะ ใคร ๆ ก็เคารพนับถือท่าน ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิ คงจะเทียบได้กับ อธิบดี หรือผู้อำนวยการวิทยาลัย ท่านทรงพระไตรปิฎก และมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย สั่งสอนจนท่านทั้งหลาย บรรลุมรรคผลไปก็มาก แต่ที่ไหนได้ครับ ตัวท่านเอง กลับไม่บรรลุมรรคผลใดใด ยังเป็นพระปุถุชน หรือ สมมุติสงฆ์นั่นเอง อุปมาก็เหมือนอาจารย์ที่สอนให้ลูกศิษย์ทำวิทยานิพนธ์ แต่ตนเองไม่ได้ทำวิทยานิพนธ์ของตัวเอง หรือเป็นผู้ดีแต่สอนคนอื่นสร้างผลงาน ตัวเองไม่มีผลงานนั่นละครับ

img34พระพุทธเจ้าในขณะนั้น ถ้าเทียบกันก็คงเทียบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา เวลาประชุมสงฆ์กัน แล้วพระอาจารย์โปฐิละนี่เข้าร่วมด้วย พระองค์ก็ทรงเรียกท่านโปฐิละนี้ว่า "คุณเถรใบลานเปล่า"ก็เหมือนตบหน้ากันฉาดเบ้อเร่อละครับ ลองนึกภาพดูว่า อธิบดี หรือผู้อำนวยการสถาบันการศึกษา ก็เป็นผู้มีศักดิ์ศรีใหญ่แล้ว เจอท่านรัฐมนตรีเรียกว่า "คุณอาจารย์ไม่มีน้ำยา" หรือ"คุณอาจารย์ไม่มีผลงาน" ต่อหน้าธารกำนัล ต่อหน้าลูกศิษย์ลูกหา แต่ที่พระองค์ทำ ก็ไม่ได้มีเจตนาให้ครูใหญ่ได้อาย เพียงต้องการให้สำนึก แล้วเร่งการปฏิบัติของตน

พระอาจารย์โปฐิละ ก็ใช่ย่อย เป็นคนธรรมดา เรา ๆ ท่าน ๆ อย่างนี้ เจอแบบนี้เข้าไป พรุ่งนี้เช้า คงรีบไปลาออกจากตำแหน่ง อธิบดี หรือ ผู้อำนวยการกันทีเดียว ทว่าพระอาจารย์ท่านก็มีดีครับ พอถูกเตือนสติเข้า ก็ระลึกได้ หันกลับมาตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรม อุปมาก็เหมือนเริ่มเขียนวิทยานิพนธ์ของตัวเองนั่นละครับ

อีตอนเริ่มเขียนวิทยานิพนธ์นี่แหละ ที่สำคัญ พระอาจารย์ก็ไปหาพระเถระอาวุโสก่อน ซึ่งบางองค์ก็เคยเป็นลูกศิษย์ของท่านเอง ให้ช่วยสอนวิธีเขียนวิทยานิพนธ์ ก็เหมือน อธิบดี ไปขอให้คนจบปริญญาเอก สอนวิธีเขียนวิทยานิพนธ์นั่นละครับ เหล่าพระปริญญาเอกทั้งหลาย เห็นว่า ท่านอธิบดี ถึงจะมีความรู้มาก แต่ก็มีมานะ เพราะถือว่า ตนรู้ทฤษฎีมาก จึงให้ไปหาพระอนุเถระ ซึ่งพรรษาอ่อนกว่า (พระมหาเถระ คือ ๒๐ พรรษาขึ้นไป พระเถระ ๑๐ พรรษาขึ้นไป พระที่บรรลุอรหันต์ แม้จะเป็นเด็กอายุแค่ ๗ ขวบ พระพุทธเจ้าก็ทรงเรียกว่า พระมหาเถระ หรือ พระผู้ใหญ่แล้วทั้งนั้น) ก็เหมือนคนจบปริญญาเอก โบ้ยให้อธิบดี ไปถามวิธีัเขียนวิทยานิพนธ์จากนักศีกษาปริญญาโท นั่นละครับ อู๊ย...เป็นเราคงอายแทบแทรกแผ่นดินหนี แต่รู้ไหมครับ ไอ้ตัวอายนี่แหละ คือ สักกายทิฏฐิเพราะที่มันอาย มันอายเพราะเราสร้างตัวตนของเราขึ้นมาว่า เราเป็นผู้่มีศักดิ์ศรีใหญ่ เป็นเจ้าสำนักถึง ๑๘ สำนัก ซึ่งความจริงแล้ว ไม่ว่า ภาพพจน์ที่ตัวเราสร้างขึ้นมา หรือคนอื่นรับรู้ว่า เราเป็นอย่างนี้ มันเป็นสิ่ง "สมมุติ" ทั้งสิ้นละครับ ทีนี้ท่านก็แก้ "ทิฏฐิมานะ"ของอาจารย์ใหญ่ของเรา โดยนักศึกษาปริญญาโท ก็โบ้ยให้ไปหา นักศึกษาปริญญาตรี ไล่ไปถึง ม.ปลาย ม.ต้น และสุดท้าย ให้ไปกราบขอเป็นลูกศิษย์เด็กประถม ซึ่งก็คือ สามเณรอายุ ๗ ขวบ แต่ท่านบรรลุอรหันต์แล้วนะ เท่านั้นยังไม่พอนะ พระมหาเถระอายุเท่าเด็กประถมยังสั่งให้อธิบดีเดินลงน้ำไป ให้เปื้อนโคลนเล่นอีกต่างหาก

โอ้โห...ถึงตอนนั้น คงไม่เหลือคราบอธิบดี แล้วละครับ พอทำลายทิฏฐิมานะลงได้ คราวนี้ก็เหมือนแก้วน้ำเปล่า ๆ แล้วครับ จะรินน้ำอะไรลงไป ก็รับได้หมด พระเถระสามเณรจึงสอนให้ดูอายตนะทั้งหก มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจให้เปรียบเหมือนการดูเหี้ย พวกเหี้ยนี่มันจะอาศัยในรูครับ ท่านเปรียบว่า คนเราก็เหมือนมีรูอยู่ ๖ รู ถ้าเราจับจ้องดูทั้ง ๖ รู ว่าเหี้ยมันจะออกมาตอนไหน มันดูยาก ท่านเลยแนะให้ปิดรูทั้ง ๕ เสีย เหลือแค่รูเดียว คือ ใจ แล้วก็เพียรดูอยู่อย่างนั้น ไม่นานก็บรรลุอรหัตตผล

อ่านดูแล้วรู้สึกไกลตัวไหมครับ โห...เรื่องราวตั้งสองพันห้าร้อยกว่าปีมาแล้ว เอามาเล่าเป็นนิทานปรำปรา ไม่เห็นน่าสนใจ สมัยนี้ไม่มีแล้ว คิดอย่างนั้นก็ผิดไปครับ ธรรมะของพระพุทธองค์ เป็น "อกาลิโก" ครับ ไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา

สมัยปัจจุบันนี้ และไม่ต้องเป็นพระภิกษุสงฆ์ด้วย เป็นฆราวาส เรา ๆ ท่าน ๆ นี่ละครับ สักกายทิฏฐิตัวนี้ ก็ติดตัวกับเรามาตั้งแต่เกิดแล้วครับ และก็แนบแน่น แนบเนื้อเข้าไปทุกที ๆ เรื่องนี้ก็หาตัวอย่างอยู่นานว่า จะยกตัวอย่างเป็นอะไรดี ที่สุดก็ได้ตัวอย่างมาครับ น่าจะช่วยให้เข้าใจง่ายมั่ก ๆ

ตัวอย่างคือ ภาพยนตร์เรื่อง the devil wears prada*ครับ คนที่มีสักกายทิฏฐิเหนียวแน่นมาก ก็คือ เจ๊บรรณาธิการนิตยสารนั่นละครับ เธอทำงานอย่างหนักหน่วงแทบทั้งชีวิตเพื่ออะไรครับ เพื่อความมีชื่อเสียง เพื่อการยอมรับ เพื่อให้คงสถานภาพของ "ผู้นำ" ในวงการแฟชั่น นั่นแล ตัวสักกายทิฏฐิ ความเห็นว่า นี่เป็นเรา นี่เป็นของเรา

*ภาพยนตร์เรื่อง the devil wears prada

ฝรั่งเขา คงเรียกว่า ego กระมัง แต่ทางพุทธนี่มันละเอียดกว่านั้นอีกนะครับ และมันยากตรงมัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลางนี่ละครับ อีโก้นั้น แปลออกเชิง มีความมั่นใจสูง ไม่ฟังความเห็นใคร แต่ทางพุทธนี่ท่านให้มั่นใจครับ แต่ไม่ถือตัว ฟังดูเผิน ๆ เหมือนขัดแย้งกัน แต่จริง ๆ มันจะมีเส้นแบ่งบาง ๆ คั่นระหว่างความมั่นใจ กับความไม่ถือตัว และเส้นแบ่งนั้นชื่อ มัชฌิมาปฏิปทาหน้าที่เราคือ ต้องประคองตัวให้อยู่บนเส้นแบ่งบาง ๆ นี่ละครับ มั่นใจมากเกินไป ก็ถือว่าตนเก่ง ตนเลิศ อย่างที่เคยมีผู้มาประกาศเขียนเม้นท์ไว้ละครับว่า เขาเป็นคนถือศีล ๕ ครบบริบูรณ์ และทำบุญให้บ้านเด็กกำพร้าทุกเดือน นั่นเป็นตัวอย่างของคนที่มั่นใจมากเกินไป จนกลายเป็นมานะถือตัวไป หรือไม่มั่นใจ ก็กลายเป็นเคอะ ๆ เขิน ๆ เอียง ๆ อาย ๆ ไม่กล้าคิด ไม่กล้าทำอะไรไป ก็ไม่ได้อยู่บนทางสายกลางอีกครับ

ข้อสังเกตุว่า เราเดินอยู่บนทางสายกลางหรือไม่ ก็ดูง่าย ๆ ครับว่า เรายังพูดพล่ามอวดความดีของตัวเองอยู่หรือเปล่า หากยังยกตนข่มท่านอยู่ นั่นก็แสดงว่า ความมั่นใจมันล้นจนเกินออกมาทางปากครับ มานะทิฏฐิมันเยอะจัดแล้วไม่มีที่ออก มันก็พร่างพรูล้นออกมาทางปาก หรือการเขียน การพิมพ์ ก็จัดเป็น การพล่ามทั้งสิ้น หรือแม้กระทั่งการตำหนิผู้อื่น ก็เช่นกัน การที่เราจะตำหนิผู้อื่นได้ แน่นอนเลยว่า ต้องมีความรู้สึกว่า ชั้นดีกว่าเธอ ทำไมเธอไม่ทำอย่างชั้น ทำไมเธอไม่เป็นอย่างชั้น เป็นต้น ยกเว้นการตำหนิ เพื่อตักเตือน เพื่อไม่ให้เกิดโทษ

อย่างในภาพยนตร์เรื่องนี้ จะเห็นออกมาเป็นรูปธรรมชัด ๆ เลยว่า คนเราวิ่งแสวงหาตัวตน แสวงหาการยอมรับไป แล้วก็คิดว่า นั่นเป็นความสุข เป็นที่สุดของโลก ได้่ไปปารีส ได้ใช้ของมียี่ห้อ ไฮโซ ซึ่งเขามองไม่เห็น ความทุกข์ ที่ต้องมาทำงานหนักเกือบทั้งชีวิต เพื่อประคับประคองภาพพจน์ให้คงเดิม พยายามอย่างหนัก เพียงเพื่อวินาทีที่เดินลงจากรถ แล้วมีนักข่าวล้อมหน้าล้อมหลัง เข้าไปในปาร์ตี้ ที่มีแต่คนในวงการ ให้การชื่นชม นั่นนะหรือ ที่เขาว่ากันว่า คือความสุข หลวงพ่อชาบอกว่า ที่เขาว่ากันว่า มีความสุขนั้น แท้จริงมันคือทุกข์ที่ละเอียดขึ้น เท่านั้นเอง หรือแม้กระทั่ง ตอนที่หย่ากับสามี ก็ต้องมาเป็นทุกข์เป็นร้อน ที่จะต้องถูกเม้าท์อย่างหนัก จากเพื่อนฝูงวงการนิตยสารเหมือนกัน

ย้อนกลับไปดูพระธรรมขันธ์ที่ ๑ครับ จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องเดียวกัน ที่ท่านสอนให้เฉยต่อคำนินทา หรือ สรรเสริญ ความสุข หรือ ความทุกข์ ทั้งหลายแหล่นี้ อิงกับสักกายทิฏฐิอิงกับตัวตน อิงกับภาพพจน์ ทั้งนั้นเลยครับ ท่านสอนให้ทำใจประดุจคนตายแล้วครับ คนตายจะไปใส่ใจคำสรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์ ไหมครับ นั่นละ ทำใจให้ได้อย่างนั้น อย่างนั้นก็เรียกว่าทำใจให้เป็นเหมือนแผ่นดิน

และตอนที่นางเอก พยายามอย่างสุดความสามารถ เพื่อสนองความต้องการเจ้านาย ที่ต้องการจับเครื่องบินในวันที่พายุเฮอริเคนเข้า นั่นก็ใกล้เคียงกับการปฏิบัติธรรม ตามแนวคิริมานนทสูตรมากเลยครับ นางเอกพยายามทำความดี แต่ผลตอบรับคือ คำด่า ด่าชนิดไม่ให้ผุดไม่ให้เกิดเลย แล้วนางเอกก็ผิดหวังอย่างแรง เดินน้ำตาซึมออกไป ซึ่งก็ได้รับข้อคิดจากเพื่อนร่วมงานว่า เธอยังไม่ได้ทุ่มเทให้กับงานเพียงพอเลย จะมาโวยวายทำไม

ตรงนี้ถ้าเปลี่ยนความคิดนิดเดียว จะกลายเป็นการปฏิบัติธรรมที่เพอร์เฟ็คมาก นั่นก็คือ ให้เห็นความเป็นจริงว่า ร่างกาย หรือขันธ์ ๕ นี้ไม่ใช่เรา เขาไม่ได้ด่าเรา เขาด่าร่างกาย หรือขันธ์ ๕ ของเราต่างหาก ก็ร่างกายนี้มันทำได้แค่นี้ แม้ร่า่งกายมันจะติดต่อจนครบทุกสายการบินแล้ว มันก็ได้แค่นี้ ร่างกายของเรา มีความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นเงา เป็นสิ่งที่บีบคั้นให้ร่างกาย ทำตามกิเลส (ซึ่งก็คือความอยากจะได้รับคำชม หรือการยอมรับ จากเจ้านาย) และเขาก็เช่นกัน ถูกกิเลสบังคับอยู่เช่นกัน เพราะกิเลสของเขา เขาถึงมาด่าเรา(ซึ่งก็คือความอยากจะจับเครื่องบินในคืนนั้นให้ได้) หากจะโกรธให้ถูกตัว ก็ต้องโกรธไปที่กิเลสของเขา อ้าว...แล้วทีเราบ้างเล่า เราก็มีกิเลสเหมือนกัน ดังนั้น ถ้าโกรธที่เขามีกิเลส ก็เหมือนกับเราโกรธที่ตัวเองมีกิเลสนั่นละครับ พอเรามีกิเลส ทำอย่างเขาบ้าง ทำไมเราให้อภัยตัวเองได้ครับ ทำไมกับคนอื่นเราถึงไม่ให้อภัย คิดได้ดังนี้แล้ว เราจะไปใส่ใจทำไม เราเองนั้นคือ "จิต" ครับ เวลาตายแล้ว พวกคำด่า ทั้งหลาย ก็ไม่มีผลอะไรครับ ตัวตน ภาพพจน์ใด ๆ ตายแล้วก็เอาไปไม่ได้สักอย่างเดียว คิดได้อย่างนี้ เป็นวิปัสสนาเลยครับ ทำไปเรื่อย ๆ ก็จะพบกับความสุขที่แท้จริง

img33แต่ในภาพยนตร์พอนางเอกได้ข้อคิด(ว่ายังไม่ได้ทุ่มเทกับงานให้เพียงพอ)ก็จัดการไปเปลี่ยนตัวเอง และทุ่มเทให้กับงานยิ่งกว่าเดิม ซึ่งความจริงแล้ว กลายเป็นว่า ปัญญาที่จะเห็นโลกอย่างเป็นจริง ด้อยไปกว่าเดิม เป็นการก้าวข้ามจากตัวตนหนึ่ง ไปเป็นอีกตัวตนหนึ่ง ซึ่งก็ยังหนีไม่พ้น"ตัวตน" เสียที เห็นไหมครับว่า มโนปุพพังคมา ธัมมา มโนเสฏฐา มโนมยาธรรมใด ๆ ล้วนมีใจเป็นใหญ่ มีใจประเสริฐสุด และสำเร็จที่ใจ เหตุการณ์เดียวกัน แต่คนมองกันไปคนละทาง ใจคิดกันไปคนละอย่าง ก็ส่งผลให้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ทางหนึ่งเรียกว่า การปฏิบัติธรรม อีกทางกลายเป็นไปหลงในโลกมากขึ้น ทุกข์มากขึ้น

หรือ คนที่เคยถูกข้าพเจ้าว่ากล่าวกระทบตัวตนอย่างรุนแรง ถ้าเขาอ่านพระธรรมขันธ์ที่ ๑ และ ๒ จนเข้าใจ และปฏิบัติให้ได้ คำกล่าวของข้าพเจ้า จะไม่มีค่าอะไรกับเขาเลยครับ เป็นเพียงลมผ่านมาแล้่วก็ผ่านไป ทั้งความสนใจในแนวทางการปฏิบัติของพระต่างประเทศที่เคร่งนัก เคร่งหนา ก็ไม่ได้สลักสำคัญ หรือดีเด่ไปกว่า พระที่นั่งปฏิบัติอยู่ในห้องแอร์เย็นฉ่ำ เพราะเนื้อแท้ของการปฏิบัติ คือ การเข้าถึงจุดที่ถอดถอนตัวตน หรือทำลายตัวตนทิ้งไป ซึ่งการปฏิบัติอย่างเข้มข้นนั้น บางส่วนก็มีผลให้รูป กับนาม แยกออกจากกัน เพื่อเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติ ซึ่งก็เป็นไปเพื่อให้รู้ว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา

กล่าวคือ การปฏิบัติอันยากเย็นเข้มข้น พอปฏิบัติไปถึงจุดหนึ่ง จักสามารถถอดจิตได้ พอถอดจิตได้ ก็ออกมานั่งดูตัวเรา ว่าไอ้ตัวที่มันกำลังหายใจอยู่นั่น มันใช่เราหรือไม่ แม้มันหยุดหายใจตายไปเสียตอนนี้ เรา หรือ "จิต"ก็ไม่ได้ตายไปกับร่างกายด้วย ประโยชน์ของมันอยู่ตรงนี้ครับ ไม่ใช่พยายามทรมานร่ายกายให้ถึงที่สุด แล้วจักเผาผลาญกิเลสหมดสิ้น พระพุทธเจ้าก็ทำมาตั้ง ๖ ปี ทำชนิดที่คนอื่นทำคงตายไปนานแล้ว แต่ก็ไม่ได้บรรลุมรรคผลอะไร

การปฏิบัติอันเคร่งครัดนั้น ดีไม่ดีก็ยังมีส่วนช่วยให้เราเกิด อัตตา เกิดตัวตน เกิดสักกายทิฏฐิอีกครับว่า โอ้เรานี้หนอ...ช่างเป็นผู้ประเสริฐ ปฏิบัติธรรมอันบุคคลอื่นปฏิบัติได้ยากยิ่ง โอ้โห...ถ้าความคิดตัวนี้โผล่ขึ้นมา พังเลยครับ หลวงพ่อสอนว่าเมื่อไหร่ที่คิดว่าตัวเองดี เมื่อนั้นก็เลวที่สุด ครับ เพราะเมื่อคิดว่าตัวเองดีปุ๊บ ความประมาทมันจะตามมาปั๊บเลยครับ เมื่อประมาทก็เตรียมตัวไปอบายภูมิได้เลยครับ ไม่มีที่อื่น พระพุทธเจ้าตรัสไว้เลยครับว่า ปมาโท มัจจุโน ปทัง แปลว่า ความประมาท เป็นหนทางแห่งความตาย

แต่ก็ไม่ใช่ว่า จะปฏิเสธไม่นิยมการปฏิบัติอันเคร่งครัดเข้มข้นนะครับ บนเส้นทางการปฏิบัตินี้ ครูบาอาจารย์บอกว่า ต้องยึดครับ ไม่ใช่เอาแต่จะวางมาแต่ต้น ถ้าคุณไม่ยึด คุณจะวางอะไรครับ จะมีอะไรให้วาง คำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ฟังแล้วต้องคิดให้ลึกซึ้งนะครับ บางท่านท่านแนะว่าให้วาง การปฏิบัติไม่มีอะไร ให้วางเพียงอย่างเดียว ส่วนใหญ่ครูบาอาจารย์ท่านก็เอาประสบการณ์การปฏิบัติของตัวเองเป็นบรรทัดฐานละครับ พอปฏิบัติจนถึงที่สุดแล้ว ก็ไม่เห็นมีอะไร มีแต่ "วาง" เพียงตัวเดียว แต่ทีนี้ก่อนที่ท่านจะวางได้อย่างนั้น ท่านก็ต้องยึดมาก่อนแหละครับ และการยึดนั้น ก็จะมีการสั่งสอนอบรมกันในสำนัก เช่น ยึดพระพุทธเจ้า ยึดพระธรรมวินัย ยึดพระอริยสงฆ์ หรือครูบาอาจารย์ที่เป็นพระอริยะ เป็นต้น

ส่วนที่เรามักได้ยินได้ฟังได้อ่านกัน เป็น "ผล" ของการปฏิบัติแล้วครับ ถ้าจะศึกษาให้ดี ต้องไปศึกษาปฏิปทาของท่านทั้งหลายครับ ไปดูว่าท่านมีวิธีปฏิบัติอย่างไร แล้วเอามาปรับให้เข้ากับตัวเรา ไม่ใช่ไปเอาปลายทาง ที่ท่านเอามาเทศน์ มาทำความเข้าใจ แล้วก็ยึดว่า ฉันเข้าใจแล้ว ฉันดีแล้ว บางคนยึดไปถึงขนาดที่ว่า ฉันบรรลุแล้ว อันนั้นยึดผิดไปครับ ไปยึดเอาผลของการปฏิบัติของคนอื่น ที่ให้ยึด คือ ยึดแนวทางการปฏิบัติครับ ไม่ใช่ไปยึดเอา "ผล" ที่ถ้าไม่ปฏิบัติ ก็ไม่มีวันเข้าใจ ไม่มีวันรู้ซึ้ง

อย่างตัวอย่างท่านตุจโฉโปฏฐิละเถระนี้ ก็เห็นได้ชัดครับว่า พระพุทธเจ้าได้ปล่อยให้ท่านยึดติดยึดมั่น สร้างตัวตนขึ้นมา ถ้าพระพุทธเจ้าสอนให้วางตั้งแต่ต้น ทำไมท่านไม่ไปสอนให้ท่านโปฏฐิละเถระ วางเสียตั้งแต่แรกล่ะครับ ปล่อยให้ท่านสร้างตัวตนอันเหนียวแน่นขึ้นมาทำไม ทำไมพระพุทธเจ้าถึงมาสอนเอาตอนท้ายสุด ก็นี่ไงครับ เราต้องยึดเสียก่อน แต่ให้รู้ว่า ปลายทาง เราจะต้องวาง อย่างที่ครูบาอาจารย์สอนไว้ละครับว่า ถ้าไม่ยึด แล้วคุณจะวางอะไร

วิธีทำลายสักกายทิฏฐิที่เข้าใจง่ายอีกประการหนึ่ง ท่านแนะให้ทำลายคำว่า "กว่า" หรือ "เสมอกัน" เสียครับ ตามปกติแล้ว คนเรามักจะรู้สึกเปรียบเทียบอยู่ตลอดเวลาครับ เดินเข้าออฟฟิส อุ๊ย...นี่เธอไปทำผมมา สวย "กว่า" ชั้น อุ๊ย...ยัยเลขา ดำ"กว่า"ชั้น เจ้านายไปชอบมันได้อย่างไร อุ๊ย...แผนกการเงิน โง่ "กว่า" ชั้น ทำไมเจ้านายไม่ไล่เธอออกไปเสียที ต้องนี่สิ...คนในแผนกฉัน เริ่ด "เสมอกัน" กับชั้น ท่านว่า การเปรียบเทียบนั้น เป็นการสร้าง สักกายทิฏฐิ ครับ เอ...แล้วจะทำลายอย่างไรดี ท่านแนะว่า ให้คิดเสียว่า เดี๋ยวก็สูญสลายหมดครับ เขาสวยกว่า ขาวกว่า อึ๋มกว่า เอ็กซ์กว่า เอ๊าะกว่า สุดท้ายก็ตายหมดครับ จะไปเปรียบเทียบกันทำไม หากทำลายการเปรียบเทียบนี้ได้ อรหัตตผล ครับ ที่คู่ควรกับท่าน แม้ยังทำไม่ถึง แต่ทำเรื่อย ๆ ชีวิตก็มีความสุขเพิ่มขึ้นครับ

ขอฝากถึงผู้ที่มี "ผู้มีพระคุณ" เป็นพระ ด้วยครับว่า เพียงการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ต่อมนุษยชาติ เป็นคนดีของสังคม ไม่เพียงพอครับ เพราะสิ่งเหล่านั้น เป็นเพียงครรลอง เป็นเพีียงสะพาน เป็นเพียงทางเดิน เป็นเพียงคลอง ไปสู่พระนิพพานซึ่งเป็นปลายทางเท่านั้น หากผู้มีพระคุณของท่าน เป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ท่านย่อมไม่พอใจ แค่เห็นเราทำงานเพื่อประโยชน์สุขของชาวโลกเท่านั้น ท่านย่อมพอใจ ที่จะเห็นเราทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ โดยชอบ หรือ ถอดถอนตัวตนหมดสิ้น หรือ ทำใจให้เป็นประหนึ่งแผ่นดิน หรือ ถึงพระนิพพาน หรือ เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก หรือ เป็นที่พึ่งอันยอดเยี่ยม ให้แก่คนทั้งหลายในโลก มากกว่า เพียงการทำความดีเล็กน้อย แล้วก็คิดว่า เราเป็นคนดี ของสังคมและคิดว่านั่นเป็นการตอบแทน "ผู้มีพระคุณ" ที่ดีที่สุดแล้ว ครับ

เพราะพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ย่อมไม่เห็นอะไรดีเท่า พระนิพพาน ครับ หากจะแทนคุณท่าน ให้ดีที่สุด เลิศที่สุด ควรค่าที่สุด เหมาะสมที่สุด ต้องทำตัวเองให้ถึงพระนิพพานครับ เมื่อนั้นก็ไม่ต้องมาพร่ำเพ้อว่า ดิฉันเป็นหนี้บุญคุณท่านมากมายจนมิรู้จะชดใช้อย่างไรหมด เพราะท่านสามารถชดใช้หมดได้ ด้วยการทำตัวเองให้ถึงพระนิพพานครับ

ยกเว้นอย่างเดียวว่า พระรูปนั้นไม่ใช่พระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ก็อาจมีความเห็นเป็นอย่างอื่น

อุ๊ย...รู้สึกกาแฟธรรมะของข้าพเจ้าจะขมไปอีกแล้ว บางคนเขาก็ไม่กินกาแฟขม ๆ แฮะ ชอบกินแต่โกโก้ร้อน เพราะมันหวานหู แต่ระวังโกโก้ลวกปาก หรือเป็นโรคความดันทุเรียนสูง เพราะโบราณเขาว่า หวานเป็นลม ขมเป็นยา

ก่อนลาจากพระธรรมขันธ์ ที่ ๒ อันดุเดือดเลือดพล่าน ลองมาดูผ้าขี้ริ้วอีกผืนหนึ่งครับ ผ้าขี้ริ้วผืนนี้ ไม่ได้เป็นเสียงธรรมเช่นในพระธรรมขันธ์ที่ ๑ แต่แขวนอยู่บนต้นไม้ และเป็นอาจารย์ของพระรูปหนึ่งในสมัยพุทธกาลครับ

img14บาลีว่า ดังได้สดับมา บุรุษผู้เข็ญใจคนหนึ่ง ทำการรับจ้างของบรรดาประชาชนเหล่าอื่นเลี้ยงชีพ ภิกษุรูปหนึ่งเห็นเขานุ่งผ้าท่อนเก่า ๆ มันขาดแล้วขาดอีก แบกคันไถชื่อเป็นภาษาบาลีว่า “นังคละ”เดินมา เช้าแบกออก บ่ายแบกเข้า แบกกันอยู่อย่างนั้นแหละ ก็เป็นลูกจ้างเขานี่

พระจึงกล่าวว่า “นี่พ่อคุณ เธอจะบวชเสียไม่ได้หรือ ถ้าบวชเธอคิดว่าดีกว่านี้ หรือว่าไม่บวช รับจ้างเขาอยู่อย่างนี้เป็นของดี”
มนุษย์ผู้เข็ญใจคนนั้นฟังพระว่าก็ชื่นใจ จึงได้กล่าวว่า“พระคุณเจ้าขอรับ แล้วคนจนอย่างผมนี่ใครเขาจะให้ผมบวช ผมบวชได้หรือขอรับ”
พระองค์นั้นก็บอกว่า “ถ้าหากเธอจะบวช ฉันก็จะบวชให้”
มนุษย์ผู้เข็ญใจจึงกล่าวว่า “ดีแล้วขอรับ ถ้าอย่างนั้นก็จะบวช ขอพระคุณท่านโปรดให้กระผมบวชเถิดขอรับ”
ท่านกล่าวว่า ลำดับนั้นพระเถระนำเข้าไปสู่พระเชตวันมหาวิหาร ให้อาบน้ำแล้วด้วยมือของตน พักไว้ที่โรง แล้วให้บวช
เป็นอันว่าสมัยนั้นเป็นพระให้บวชด้วย ติสรณคมนูปสัมปทาคือสมาทานไตรสรณคมน์ทั้งสามประการใช้ได้ ให้เขาเก็บไถพร้อมกับผ้าท่อนเก่าที่เขานุ่ง ให้เก็บไว้ที่กิ่งไม้ใกล้เขตแดนแห่งโรงนั้น
ในเวลาอุปสมบท เธอได้นามว่า “นังคลกูฏเถระ” แหม..ชื่อเพราะนะ เอาคันไถเข้าไปใส่ไว้ด้วย เป็นพระไถ อาตมาให้นามว่า“พระอรหันต์ผ้าขี้ริ้ว”
พระนังคลกูฏเถระนั้น อาศัยลาภสักการะที่เกิดขึ้นเพื่อพระพุทธเจ้าทั้งหลาย อาศัยเลี้ยงชีพอยู่ หมายความว่า ในที่นั้นลาภสักการะมันจะเข้ามาได้ก็อาศัยความดีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
อย่างกับสถานที่ ที่พระอยู่เหมือนกัน จะสร้างสักกี่หลังพร้อม ๆ กัน ขึ้นคราวละ 10 หลัง 10 หลังเศษเป็นเงินนับเป็นล้าน ๆ เราก็ทำกันได้ นี่ไม่ใช่ความดีของเรา เป็นความดีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พวกเรานำมาประพฤติปฏิบัติ อย่านึกว่าเป็นความดีของเราเลย ถ้านึกว่าเป็นความดีของเรา ท่านก็จะไปอยู่กับพระเทวทัต
ที่เรามีที่กินที่อาศัย มีผ้าใช้มียารักษาโรค มีอาหารกิน มีเวลาประพฤติปฏิบัติ ได้สดับฟังความดีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ก็เพราะว่าเป็นบุญบารมีของพระพุทธเจ้า
ที่เรากำลังนั่งกินนั่งนอนอยู่ในเวลานี้ ถ้าใครทำตนเป็นคนน่าบัดสี อกตัญญูไม่รู้คุณองค์สมเด็จพระมหามุนีนั้น เลวเต็มที
ท่านกล่าวว่า เมื่อเขาได้อาหารอยู่มาก มีลาภสักการะเกิดขึ้นแล้ว เพราะอาศัยความดีของพระพุทธเจ้า ต่อมาเมื่อไม่สามารถที่จะบรรเทาได้ ไอ้ความกระสันมันเกิดขึ้น ความกระสันความคึกมันเกิดขึ้น เพราะอาหารดี ลาภดีพอ ไม่สามารถจะทนความกระสันได้ ไม่สามารถจะบรรเทาได้ จึงตกลงใจว่า
บัดนี้ เราจะไม่ห่มผ้ากาสาวพัสตร์ต่อไปแน่ เพราะอะไร ก็เพราะว่าผ้ากาสาวพัสตร์ที่ได้มาจากศรัทธาของบุคคลอื่น เราจะไปละ จะสึกดีกว่า อย่าไปติดดีกว่า ได้มามันไม่แน่นัก อยู่ดีกินดี เขาก็คิดว่าจิตกำเริบทะนงตนว่าเป็นผู้วิเศษ หลงระเริงตนว่าเป็นผู้วิเศษ องค์นี้ตอนต้นนะ อย่าไปด่าท่านนะ ท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว แต่พวกเราก็จำไว้เชียวนะ ไอ้อยู่ดีกินดีอย่านึกว่าเป็นผู้วิเศษ “อัตตนา โจทยัตตานัง” จงเตือนตนด้วยตนเอง

อ่านเรื่องของท่านต่อไป

ท่านบอกว่าคิดอย่างนี้แล้วก็ไปโคนไม้ ไปดูผ้าผืนที่มันขาดรุ่งริ่ง ๆ เก่าแสนเก่า ดูผ้าสบงที่นุ่ง แหม...มันเท่กว่าตั้งเยอะ จึงได้ให้โอวาทแก่ตนเองว่า

“เจ้าผู้ไม่มีหิริ (ผู้ไม่มีหิริคือ ความไม่ละอาย)เจ้าหมดความละอายเสียแล้วหรือ เจ้าอยากจะนุ่งผ้าขี้ริ้วผืนนี้หรือ สึกไปทำการรับจ้างเลี้ยงชีพอย่างนี้หรือ เจ้าลืมความชั่วที่ตัวสะสมมาแล้ว ทำไมเจ้าจึงทำอย่างนี้”
เมื่อท่านให้โอวาทแก่ตนเองอยู่อย่างนี้นั่นแหละ จึงถึงความเป็นธรรมดา ในบาลีบอกจิตขึ้นถึงธรรมชาติเบา ไม่ใช่ธรรมดานะ ธรรมชาติเบาก็หมายถึง ความกระสัน แล้วท่านก็กลับ
โดยกาลล่วงไป 2-3 วัน ก็กระสันเข้ามาอีก “กระสัน” หมายถึง“อยากจะสึก” มันมีแรงนี่ กินดีอยู่ดี จึงสอนตนเองเหมือนอย่างนั้น
ตอนเย็นก็ย่องไปที่โคนไม้ ดูผ้าขาดผืนนั้นสอนตนเองว่า“ไอ้เจ้าเองที่จะมานุ่งผ้าขาดเป็นขี้ข้าเขาต่อไปอย่างนั้นหรือ”
สอนพอใจของท่านสบาย ท่านก็ตัดใจได้อีก ก็เลิกไม่สึกแล้ว กลับมาใหม่ ในเวลากระสันขึ้นมาเมื่อไรท่านก็ไปที่นั่น ให้โอวาทแก่ตนเองทำนองนั้นเสมอ
แต่ความจริงก่อนที่ท่านจะให้โอวาทแก่ตนเอง ท่านจะดูภาพพิจารณา ดูผ้าเก่าผืนนั้นที่เราทรงชีพอยู่ อาศัยผ้าผืนนี้นุ่งอยู่ทั้งปีทั้งเดือนทั้งวัน จะผลัดอาบน้ำก็ไม่มี เวลานี้มาบวชในพระพุทธศาสนา มีศักดิ์ศรีดี ใครเขาไปก็ลา มาเขาก็ไหว้เคารพนบนอบ เมื่อสมัยที่ตนเป็นฆราวาส มีแต่คนเขาโขกเขาสับเพราะความจน นี่อาศัยความจนของตนเอง คนเขาดูถูกดูแคลน วันนี้ เป็นคนใหญ่คนโต เป็นพระแล้ว ไม่ว่าใครเขามาก็ไหว้กัน เคารพนับถือ เอ็งจะทะนงตนไปทำไม ถ้าจะสึกไปก็กลายเป็นขี้ข้าของชาวบ้านเขาต่อไป
เจ้าอย่าสึกเลยไอ้หนู ว่าแล้วท่านก็กลับมา
ท่านกล่าวว่า ครั้งนั้นบรรดาภิกษุท้งหลาย เห็นท่านไปอยู่ที่นั้นเนือง ๆ จึงถามว่า
“ท่านนังคลกูฏเถระ เหตุใดท่านจึงไปที่นั่นบ่อย ๆ “
ท่านตอบว่า “ผมไปยังสำนักอาจารย์ขอรับ” ท่านกล่าวดังนี้แล้ว ต่อมาอีก2-3 วัน ท่านก็บรรลุอรหัตตผล
เห็นไหม...นี่เขาฟังอะไร แค่ไปดูผ้าเท่านั้น ก็ได้บรรลุอรหัตผล
บรรดาภิกษุทั้งหลาย เมื่อจะทำการล้อเล่นกับท่าน จึงกล่าวว่า“ท่านนังคละ ท่านเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ทางที่เที่ยวไปของท่านเป็นปะหนึ่งหารอยไม่ได้ ชะรอยท่านจะยังไม่ได้ไปยังสำนักอาจารย์ของท่านกระมัง”

img01นี่พระล้อนะ ว่าทางที่เดินไปบ่อย ๆ เวลานี้ไม่มีรอยเดิน น่ากลัวจะลืมอาจารย์เสียแล้ว
ฝ่ายพระเถระจึงกล่าวว่า “ไม่ขอรับ เมื่อกิเลสเครื่องเกี่ยวข้องยังมีอยู่ ผมได้ไปแล้ว แต่บัดนี้เครื่องเกี่ยวข้องไม่มีผมตัดเสียแล้วเพราะฉะนั้น ผมจึงไม่ต้องไปหาอาจารย์”
เอาละซิ อีตอนนี้ถ้าเป็นเวลานี้เป็นยังไง ก็โจทพระองค์นี้ว่าอวดอุตตริมนุสธรรมว่าเป็นพระอรหันต์<---อวดอุตตริมนุสธรรมนี้เป็นอาบัติหนัก ถ้าไม่มีจริง ต้องอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นพระเลย ถ้ามีจริง ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บรรดาพระภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น ฟังคำนั้นแล้วก็เข้าใจว่า ภิกษุรูปนี้พูดไม่จริง พยากรณ์ตนเป็นพระอรหันต์ ดังนี้แล้ว จึงกราบทูลเรื่องความนั้นต่อองค์พระประทีปแก้ว โดนฟ้อง
องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย นังคละบุตรเราเตือนตนด้วยตนเองนั่นแหละ แล้วจึงถึงที่สุดแห่งกิจของบรรพชิต”

ดังนั้นแล้ว เมื่อจะทรงแสดงพระธรรม ได้ทรงภาษิตนี้ว่า

“เธอจงเตือนตนด้วยตนเอง พิจารณาดูตนของตนด้วยตน ตนนั่นแหละเป็นคติของตน

เพราะฉะนั้น เธอจงสงวนตน ให้เหมือนอย่างพ่อค้าม้า สงวนม้าตัวประเสริฐเช่นนั้น”

แหม...อ่านแล้วรู้สึกว่าหนักใจ ที่องค์สมเด็จพระจอมไตรตรัสอย่างนี้ แต่ว่าอ่านเรื่องของพระอรหันต์คันไถ ซึ่งมีอาจรย์เป็นผ้าขี้ริ้ว ท่านทั้งหลายมีความรู้สึกเป็นอย่างไร นี่คำเตือนของท่านองค์นั้นเป็นยังไง ท่านไปเจอะผ้าขี้ริ้วนี่ พวกพระก็นึกดู ว่าเราก่อนที่จะเข้ามาบวชหรือบรรพชาในพระพุทธศาสนา ศักดิ์ศรีอย่างนี้เคยมีแก่เราบ้างหรือเปล่า คนเสมอกันก็ดี คนแก่คนเฒ่าก็ดี เจอะหน้าเราเขาก็ยกมือไหว้ เมื่อสมัยเป็นฆราวาสเป็นอย่างนี้บ้างไหม
เวลานี้เรามีอย่างนี้เป็นปกติ สมัยเป็นฆราวาสเป็นอย่างนี้บ้างหรือเปล่า หาไม่ได้ซินะ ที่เขาไหว้น่ะ เขาไหว้ด้วยอะไร เขาไหว้เราเพราะเราทรงผ้ากาสาวพัสตร์ อันนี้เป็นธงชัยของพระอรหันต์ แต่ว่าเราบวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา ถ้าเป็นฆราวาสไม่มีใครเขาไหว้ ก็จงเตือนใจไว้เสมอ

“อัตตนา โจทยัตตานัง”
ว่านี่เราเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา พระสงฆ์มีอะไรบ้างที่จะต้องปฏิบัติ

soros1มาถึงตรงนี้ สงสัยชาว ปฏิบัติธรรม ทั้งหลาย ต้องรีบเข้าครัว ไปหาผ้าขี้ริ้วเก่า ๆ มานั่งดู นั่งพิจารณาเสียแล้ว เพราะ ๒ พระธรรมขันธ์มาแล้ว มีผ้าขี้ริ้วเป็นพระอาจารย์เสียทั้งคู่ เผื่อจะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ผ้าขี้ริ้วกับเขาบ้าง ทั้งนี้ทั้งนั้น อย่าลืมนะครับ ไม่ว่าผ้าขี้ริ้วที่นำมาพิจารณา จะเยิน จะเก่า สักแค่ไหน สิ่งสำคัญในการประหัตประหารตัวตน ก็คือ สติสัมปชัญญะ ซึ่งได้เขียนวิธีปฏิบัติไว้แล้วใน How to ทำอย่างไรให้ถึงนิพพาน พระธรรมขันธ์ที่ ๑ (ในเอ็นทรี่นี้ ก็อยู่ตรงคำสอนของหลวงพ่อชา สุภัทโท) หากไร้ซึ่ง สติสัมปชัญญะ เสียแล้ว จะรู้ได้อย่างไรว่า ตัวตน หรือ อัตตา หรือ สักกายทิฏฐิ แหยมหน้า โผล่มาตอนไหน จะละมันได้อย่างไร การอ่าน ก็เพียงทราบ เพียงเข้าใจละครับว่า ตัวตน หรือ อัตตา หรือ สักกายทิฏฐิ หน้าตาเป็นอย่างไร แต่พอถึงตอนปฏิบัติ ต้องมีสติสัมปชัญญะที่ไวพอ จึงจะทราบว่า ตัวตน โผล่ขึ้นมาตอนไหน

ขอให้ทุกท่านที่มีความเพียร อ่านลงมาจนถึงบรรทัดนี้ โชคดีในการปฏิบัติ บรรลุอรหัตตผล เป็นพระอริยบุคคลกันในชาติปัจจุบันนี้ด้วยเทอญ ฯ

เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ ฯ

ปล.แม้การศึกษาความตาย ขั้นตอนการตาย อย่างละเอียด ทั้ง ๔ บาร์โด ก็ไม่ใคร่มีประโยชน์เท่าไหร่ครับ คิริมานนทสูตรแสดงไว้ชัดเจนครับว่า หากจะถึงนิพพาน ก็ควรทำให้ถึง ตั้งแต่มีชีวิตอยู่ หากต้องการความสุข ในสวรรค์หรือความสุขใด ๆ ก็ควรขวนขวายทำเสียให้ได้ ตั้งแต่มีชีวิตอยู่

อย่าไปหวังลม ๆ แล้ง ๆ ว่า จะมีการบรรลุธรรม ฟอกจิตให้บริสุทธิ์ในขณะที่เราตายไปแล้วครับ มันประมาทเกินไป(แม้ว่าอาจจะมีจริง ๆ ก็เถอะ)

บุคคลผู้มีปัญญาย่อมเปรียบเทียบได้ครับว่า การประหัตประหาร ถอดถอนตัวตน กับการทรมานร่างกายตน นั่งสมาธิเป็นปี ๆ อย่างไหนยากกว่ากัน ฉลาดกว่ากัน เพราะแม้เราทราบว่า ตัวตนเป็นสิ่งที่ต้องทำลาย ต้องละ จะด่าตัวเอง จะกล่าวโทษตัวเอง จะเห็นว่าตัวเองเลวสักเท่าไหร่ ก็จะมีตัวตนที่ละเอียดกว่าเดิม เกิดขึ้นเสมอครับ อย่างที่ข้าพเจ้าเคยประสบมา เดินจงกรมอยู่ แล้วคิดเรื่องไม่ดี ก็คิดว่า จักออกไปประจานตัว ต่อหน้าคนอื่น ในวันรุ่งขึ้น ตอนแรกก็อาย พออายปุ๊บ ก็รู้ว่า นี่คือ สักกายทิฏฐิ ก็ทำลายความอาย ทิ้งเสีย ตัวตนอีกตัวตนหนึ่ง จะโผล่ขึ้นมาแล้วคิดว่า เห็นไหม...ฉันทำลายความอายได้เสียแล้ว แล้วก็รู้ตัวขึ้นมาอีกครับว่า ตัวตนอีกตัวตนหนึ่ง ที่คิดว่า ตนทำลายความอายลงได้แล้ว โผล่ขึ้นมาอีก เป็นเช่นนี้เรื่อยไปครับ สรุปก็คุยกับตัวเองทั้งคืน นี่ละครับ จะถอดถอนตัวตน ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ไปทรมานร่างกาย ยังง่ายกว่าเยอะ

บางส่วนของ คิริมานนทสูตร

การรู้จักนรก สวรรค์ แลพระนิพพาน ควรรู้ในเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ เมื่ออยากรู้จักนรก สวรรค์ แลพระนิพพาน ก็ควรให้รู้เสียในเวลาก่อน ที่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่ออยากพ้นทุกข์ในนรก ก็รีบออกให้พ้นเสีย แต่เมื่อยังไม่ตาย อย่าเข้าใจว่าเมื่อมีชีวิตอยู่ สุขอย่างหนึ่ง เมื่อตายไปแล้ว มีสุขอีกอย่างหนึ่ง เช่นนี้เป็นความที่เข้าใจผิดโดยแท้ เพราะจิตมีดวงเดียว เมื่อมีชีวิตอยู่ก็จิตดวงนี้ เมื่อตายไปแล้วก็จิตดวงนี้ เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ได้รับทุกข์ฉันใด แม้เมื่อตายไปแล้ว ก็ได้รับทุกข์ฉันนั้น เมื่อยังมีชีวิตอยู่มีความสุขฉันใด แม้เมื่อตายไปแล้ว ก็ได้รับความสุขฉันนั้น (เรื่องราวของคนที่ตายแล้วฟื้น จะพูดเหมือนๆ กันว่า ไม่รู้ตัวว่าตัวเอง ตายไปแล้ว ความรู้สึกมันก็เหมือนกับ ตอนมีชีวิตอยู่ ฉะนั้นจะไปจินตนาการว่า ความสุขในสวรรค์นั้น เป็นแดนเกษม แตกต่างจากชีวิตมนุษย์ โดยสิ้นเชิงนั้น เป็นความเข้าใจผิด สุขมันสุขเพราะ ไม่มีร่างกายเท่านั้น ไม่มีร้อน ไม่มีหนาว ไม่มีเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่มีแก่ชรา ไม่มีหิว และความเป็นทิพย์ แต่ตัวความสุขแท้ๆนั้น แทบไม่ต่างกัน ลองสังเกตุดู เวลาที่เราได้ทำบุญอะไร ที่ถูกใจมากๆ เช่นบางคนชอบเด็ก ได้ไปเลี้ยงอาหารเด็กกำพร้า แล้วเกิดปีติ ลองดูใจของเรา ที่เป็นสุขในเวลานั้น ตายไปแล้ว ความสุขก็เป็นทำนองนั้น เหมือนกัน ฉะนั้นแล้วใครที่จมอยู่ในกองบาป ละเมิดศีลอยู่เป็นนิจ เมื่อตื่นนอนตอนเช้า ยังไม่ได้ทำการงานอะไรเลย ลองสังเกตุใจตัวเองดู ตื่นมาก็เศร้าหมองหดหู่เอง โดยไม่ต้องมีอะไรกระทบ นี่ก็อาจอนุมานได้ว่า คนคนนั้นจมอยู่ในนรก ตั้งแต่ยังมีชีวิต ครั้นเมื่อไปทำบุญ ทำทานรักษาศีลเหลาะๆ แหละๆ แค่ไม่กี่วัน นั่งสมาธิไม่กี่ชั่วโมง ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง ก็เหมาว่าการปฏิบัติไม่มีผล ยังทุกข์อยู่เหมือนเดิม ก็แสดงว่าเขา ยังไม่สามารถหลุดขึ้นมา จากนรกได้ หรือมีแนวโน้มจะตกนรกสูงนั่นเอง)

บุคคลที่ปรารถนาพ้นทุกข์ ได้สุขหรือพระนิพพาน ควรให้ได้เมื่อยังมีชีวิตอยู่

อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บุคคลทั้งหลายปรารถนาอยากพ้นทุกข์ หรือปรารถนาอยากได้สุขประเภทใด ก็ควรให้ได้ถึงเสียแต่ในชาตินี้ ถ้าถือเอาภายหน้าเป็นประมาณแล้ว ชื่อว่าเป็นคนหลงทั้งสิ้น แม้ความสุขอย่างสูง คือพระนิพพาน ผู้ปรารถนา ก็พึงรีบขวนขวายให้ได้ให้ถึงเสีย แต่เมื่อเป็นคนมีชีวิตอยู่นี้ อานันทะ ดูก่อนอานนท์ อันว่าความสุขในพระนิพพานนั้นมี ๒ ประเภท คือ ดิบ ๑ สุก ๑ ได้ความว่า เมื่อยังเป็นคนมีชีวิตอยู่ ได้เสวยสุขในพระนิพพานนั้น ได้ชื่อว่าพระนิพพานดิบ เมื่อตายไปแล้ว ได้เสวยสุขในพระนิพพานนั้น ได้ชื่อว่าพระนิพพานสุก พระนิพพานมี ๒ ประการเท่านี้ นิพพานโลกีย์ นิพพานพรหม เป็นนิพพานหลง ไม่นับเข้าไปในที่นี้ พระนิพพานดิบนั้น เป็นของสำคัญ ควรให้รู้ ให้เห็น ให้ได้ ให้ถึง เสียก่อนตาย ถ้าไม่ได้พระนิพพานดิบนี้แล้ว ตายไปจักได้พระนิพพานสุกนั้น ไม่มีเลย ยิ่งไม่รู้ไม่เข้าใจก็ยิ่งไม่มีทางได้ แต่รู้แล้ว เห็นแล้ว พยายามจะให้ได้ ให้ถึงก็แสนยาก แสนลำบากยิ่งนักหนา ผู้ใดเห็นว่าพระนิพพาน มีอย่างเดียว ตายแล้วจึงจะได้ ผู้นั้นชื่อว่าคนหลง

ปล.๒ ของแถม ทางสายกลาง ของหลวงพ่อชา สุภัทโท

จบจริงแล้วจ้า ฯ

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons