วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

How to ทำอย่างไรให้ถึงนิพพาน พระธรรมขันธ์ที่ ๔ - จาคะby Dhammasarokikku

images10เอาละครับ ช่วงนี้กำลังไฟแรง อัพให้กระจาย เอ็นทรี่ที่แล้วพูดถึงว่า การทำบุญทำทานของเราทั้งหลาย มีทั้งเพื่อความเกิด และเพื่อความไม่เกิด ก็ในเมื่อตัวอย่างทั้งสองในเอ็นทรี่ก่อน ยังทำทานเพื่อความเกิดอยู่ ก็แล้วทำทานเพื่อความไม่เกิดหน้าตาเป็นอย่างไร

เรื่องนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงวิสัชนาถามหลวงพ่อพระราชพรหมยาน หรือหลวงพ่อฤๅษีลิงดำที่ข้าพเจ้าเคารพเมื่อหลายสิบปีก่อนครับ สมัยนั้นพระองค์ทรงศึกษาธรรมะอย่างเข้มข้น ครูบาอาจารย์ที่ว่าเป็นพระดี อยู่ในป่า ในเขา พระองค์ก็ทรงบากบั่นเข้าไปกราบ เข้าไปขอธรรมะ ทรงศึกษาธรรมะของครูบาอาจารย์หลายสาย ทั้งสายพระป่า และพระบ้าน

ข้อความต่อไปนี้ เป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าคาดเดาเอาเอง อาจจริงหรือไม่จริงก็ได้ ผู้อ่านควรใช้วิจารณญาณพิเคราะห์เอาเอง

จริตของพระองค์หนักไปทางพุทธิจริตครับ เมื่อศึกษาแนวทางการปฏิบัติของครูบาอาจารย์แต่ละสาย ย่อมมีข้อขัดแย้งกันในรายละเอียดการปฏิบัติ ใครก็ทราบครับว่า สายหลวงพ่อฤๅษีลิงดำซึ่งเป็นสายพระบ้านเน้นการให้ทานนำหน้า ส่วนสายพระป่าไม่เน้นการให้ทาน แต่เน้นการภาวนา ดูจิตดูใจของตนเอง

มองเผิน ๆ ก็เหมือนขัดแย้งกัน แต่ศึกษาให้ละเอียดแล้ว ก็คือเรื่องเดียวกัน ไม่มีสายไหนขัดกับสายไหนเลย สุดท้ายก็คือ ทาน, ศีล, ภาวนา

ข้าพเจ้าสังเกตคำถามที่พระองค์ทรงถาม พระองค์มิได้ทรงถามครูบาอาจารย์แค่รูปใดรูปหนึ่ง สายใดสายหนึ่ง แต่ถามหลายรูปหลายสาย แล้วนำคำตอบทั้งหลายไปทรงสังเคราะห์วินิจฉัยอีกที

คำถามธรรมะของพระองค์แต่ละคำถาม มักลึกซึ้ง และมักเป็นข้อที่ดูเผิน ๆ เหมือนขัดแย้งกันในแนวทางการปฏิบัติแต่ละสาย ยากแก่การตอบ คำถามนั้นมีอยู่ว่า "จาคะตัวเดียว ถึงนิพพานไหม?"

อ่านดี ๆ นะครับ "จาคะ" ไม่ใช่ "ทาน" ถ้าคิดดี ๆ นี่เป็นอัจฉริยภาพของผู้ถามด้วย

IMG_3231แล้วจาคะมันแปลว่ากระไรเล่า? เบื้องต้นมันแปลว่า สละออก บริจาค ซึ่งก็ไม่เห็นจักแตกต่างจากคำว่า "ทาน" หรือการให้ เท่าไหร่เลย

หลวงพ่อฤๅษีลิงดำวินิจฉัยคำถามนี้แล้ว ลงความเห็นไว้สั้น ๆ ว่า "ถ้าทำให้ถึงสังขารุเปกขาญาณ จาคะตัวเดียวก็ไปนิพพานได้"

เอาละซี นอกจาก "จาคะ" แล้ว ยังมีบาลียาวเหยียดมาให้เวียนเฮดอีก ๑ คำ คือ "สังขารุเปกขาญาณ" ยิ่งตาลายเข้าไปใหญ่

มาแยกศัพท์กันก่อนครับ สังขารุเปกขาญาณ มาจาก สังขาร(การปรุงแต่ง) + อุเบกขา(วางเฉย) ซึ่งก็คือการวางเฉยในการปรุงแต่ง ศัพท์พวกนี้ศึกษาไป ปฏิบัติไป เดี๋ยวก็เข้าใจไปเองครับ ตอนนี้เอาแค่ความหมายกว้าง ๆ ไปก่อน

ในคำสอนของหลวงพ่อฤๅษีฯ ท่านย้ำเป็นระยะ ๆ ครับว่า "ถ้าฉลาดพอ" ฉะนั้นการฟังคำสอนของท่าน แล้วใช้แต่สัญญา หรือความจำ บางทีไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร บางทีก็หลงผิดไปเลยก็มี ฉะนั้นต้องพินิจพิจารณาให้รอบคอบ

สำหรับตัวข้าพเจ้าเอง ก็ยึดมั่นในคำสั่งสอนแนวทางการปฏิบัติของท่านมาโดยตลอด สิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดในความเป็นข้าพเจ้า ก็คือ "ความตึ๋งหนืด" นั่นเอง ท่านสอนว่า การให้ทานสามารถบรรเทาความตระหนี่ได้ แต่พรรษาแรก ข้าพเจ้าก็ทำเรื่อยมา

การรบกับกิเลส ต้องเรียกว่า ตายเป็นตายครับ มาเหยาะ ๆ แหยะ ๆ ไม่ได้ กิเลสเอาไปกินหมด

ทำทาน ก็ต้องทำชนิดที่เรียกว่า ทำกันแบบเอาชีวิตเข้าแลก

สมัยแรก ๆ ก็ทุ่มทุนสร้างครับ ถือว่า บวชเข้ามาห่มผ้าเหลืองแล้ว สละหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ไฟแรงสุดขีด มีเงินเท่าไหร่ ทำบุญจนหมดตัว ซึ่งเห็นผลรวดเร็วจริง ๆ ครับ แต่ฆราวาสไม่ควรเลียนแบบ เป็นนักบวชนี่ดีอย่าง ไม่ต้องกลัวอดตาย ทำให้รบกับกิเลสได้เต็มมือ ฆราวาสนี่ต้องรบแบบยั้ง ๆ เพราะทำบุญจนเบียดเบียนตัวเอง พระพุทธเจ้าไม่ทรงสรรเสริญ การทำบุญแบบยั้ง ๆ บางทีก็มาพร้อมกับ "ความกลัวขันธ์ ๕ หรือร่างกายลำบาก"

สำหรับนักบวชนี่ ตัดทิ้งไปเลยครับ แค่ทำทานของนอกกาย จักไปลำบากขันธ์ ๕ กระไรมากมาย ช่วงแค่ไม่กี่เดือนแรกของการบวช ทำบุญไปเป็นแสนครับ เพราะคิดว่า คงบวชไม่นาน ต้องทำบุญให้เต็มที่ และทำบุญในผ้าเหลือง มีอานิสงส์มากกว่านอกผ้าเหลืองเป็นแสน เป็นล้านเท่า

ช่วงนั้นก็ยังแคร์เรื่องอานิสงส์ เรื่องเนื้อนาบุญอยู่ครับ เจอพระดีนี่ทุ่มไม่อั้น ประเภทอื่นก็ลดลงไปตามลำดับ แต่ทำทานชนิดหัวไม่วาง หางไม่เว้น ทำทุกวัน ทำทุกโอกาส ไม่เลือกว่า ทำบุญแบบนี้อานิสงส์มาก ทำเยอะ ๆ ทำบุญแบบนี้อานิสงส์น้อย เพราะฉะนั้นฉันไม่ทำ เช่น ทำทานกับสัตว์เดรัจฉาน อานิสงส์น้อยยิ่งกว่า ทำทานให้ขี้เมา แล้วถ้าเทียบกับถวายทานให้แด่พระอริยะแม้เพียงเบื้องต้น อานิสงส์แตกต่างกันชนิดเทียบไม่ได้ แต่ก็ทำครับ ทำทุกวันด้วย (นี่ไม่ใช่มาคุยโม้ว่า ข้าพเจ้าทำทานมากนะครับ <เพิ่งทำมาแป๊บเดียวน้อยเดียว> แต่เป็นการเล่าประสบการณ์การปฏิบัติ และผลของมันในชีวิตจริงให้อ่านกัน) เพราะคิดว่า เรื่องอานิสงส์นี่ไม่ควรมีอิทธิพลต่อการทำทานมากเกินไป หากคิดแต่จักเอาอานิสงส์ ก็ยังไม่พ้นจากการทำทาน "เพื่อตัวเอง"

IMG_8570อาจแย้งว่า คนเราก็ทำเพื่อตัวเองทั้งนั้น อย่างหยาบก็ทำเพื่อความมั่งมีในชาติต่อ ๆ ไป อย่างละเอียดก็เพื่อให้ตัวเองพ้นทุกข์นิพพานในชาติปัจจุบัน ทั้งนี้ความ "เพื่อตัวเอง" ต้องพอดี ๆ อย่าให้มันเกินไปจนกลายเป็น "เห็นแก่ตัว" อยู่วัดตัวเองอิ่มอ้วนเกษมสำราญ แต่หมาแมวรอบวัดผอมกะหร่อง เพราะทำทานกับสัตว์เดรัจฉานมีอานิสงส์น้อย อย่างนี้ก็เกินไป

และปฏิปทาหลวงพ่อท่านก็มีเมตตาต่อสัตว์รอบวัดมาก ข้าพเจ้าก็เลียนแบบครับ เบื้องแรกคิดเพียงว่า เป็นการฝึีกเมตตาพรหมวิหาร และให้เขาไปดี ไม่นึกเลยว่า จักมีผลดีต่อตนเองในเบื้องปลาย ดีอย่างไร? ข้าพเจ้าจักได้สาธยายต่อไปเบื้องหน้า

ไม่เพียงแต่จักทำบุญไม่เลือกหน้าให้มากแล้ว ซ้ำบางทีข้าพเจ้ายังยอมลำบากเพื่อบุญที่มีอานิสงส์น้อย ๆ เช่นทำทานให้สัตว์เสียอีก ดูเผิน ๆ เหมือนขัดกับสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอน แต่ศึกษาให้ดีพระองค์ทรงบอกว่า "อักขาตาโร ตถาคตา" ตถาคตเป็นเพียงผู้บอก เรื่องอานิสงส์นี้ พระองค์ก็ทรงเพียงแจกแจงไว้ว่า ทำบุญอย่างนี้ ได้อานิสงส์อย่างนั้น เท่านั้น แล้วให้เราเป็นผู้เลือกทำเอาเอง

อยากได้อานิสงส์มาก ๆ ก็ทำทานในเนื้อนาบุญที่ดี ที่ประเสริฐ แต่ข้าพเจ้าคิดว่า ถ้ายังทำบุญเพื่อให้อานิสงส์เกิดแก่ตนเองเพียงถ่ายเดียว ยังใช้ไม่ได้ สมมุติว่า ข้าพเจ้ามีเงินอยู่ห้าบาท ต้องเลือกเพียงอย่างเดียวระหว่างทำบุญกับภิกษุอิ่มอ้วนพี กับสุนัขผอมหิวโหยที่วัด ถ้าจักทำทานเพื่ออานิสงส์แก่ตนเองมาก ๆ ก็ต้องปล่อยให้หมาวัดอดตาย เจตนาการทำทานในเนื้อนาบุญที่มีอานิสงส์น้อย ๆ จึงมุ่งสงเคราะห์ผู้อื่นอย่างแท้จริง มิได้มีความหวังในอานิสงส์แอบแฝง

อาจกล่าวได้ว่า อานิสงส์น้อย แต่ได้เมตตาพรหมวิหารมาก

พอมาศึกษาธรรมะจากหลวงพ่อปราโมทย์ ก็เห็นว่า ธรรมะแนบแน่นเป็นเนื้อเดียวกันดี ครับ ท่านเล่าถึงอาการของสังขารุเปกขาญาณว่า เห็นโลกเท่ากันหมด คนดีกับคนเลวก็เท่ากัน เสมอกัน จักเสื้อเหลือง เสื้อแดง เสื้อสีใด ๆ ก็ตาม ก็เท่ากันหมด เสมอกันหมดในความเป็น "ไตรลักษณ์" โลกงี้ราบเป็นหน้ากลอง ทุกอย่างล้วนเสมอกัน

...ผ่าม...

ธรรมะจากสำนักปฏิบัติสองสาย สอดรับกันได้กลมกล่อมเหลือเกินครับ พอมองความสัมพันธ์ออกหรือไม่?

เอาความหมายของสังขารุเปกขาญาณจา่กคำสอนของหลวงพ่อปราโมทย์ ไปแทนลงในคำวินิจฉัยของหลวงพ่อฤๅษีฯ จักได้ว่า "ถ้าทำจนเห็นโลกเท่ากัน จาคะตัวเดียวก็ถึงนิพพานได้"

IMG_8897...ผ่าม...

เห็นอะไรไหมครับ?๋

อาจจักยังเห็นไม่ชัด ลองมาดูพระราชวินิจฉัยของในหลวงเพิ่มกันอีกสักนิดครับ พระองค์ทรงให้ความหมายของคำว่าจาคะไว้เป็น ๓ เลเวลครับ บารมีต้น ท่านทรงใช้ว่า "เสียสละ" คือยังประกอบด้วยความเสียดายมาก "อะ... ฉันตัดใจให้เธอนะ" กระไรเทือกนั้น กำลังใจสูงขึ้นมาอีกหน่อย คำว่า "เสีย" หายไป เหลือแต่คำว่า "สละ" (ไม่ใช่สละไซเดอร์นะ) ความเสียดายน้อยลงไปอีกหน่อย พอขั้นสุดก็ตัด "ส" ออก เหลือแค่ "ละ"

"ละ" นี่เป็นปฏิปทาเพื่อความเป็นพระอรหันต์นะครับ แค่ "ละ" ตัวเดียวก็นิพพานได้

เอาคำว่า "ละ" ไปแทนในคำวินิจฉัย จักได้ว่า "ถ้าละจนเห็นโลกเท่ากัน จาคะตัวเดียวก็ถึงนิพพานได้" โอ้โห... เห็นภาพไหมครับ?

ย้อนกลับมาดูเรื่องอานิสงส์ครับ สำหรับคนที่กำลังใจยังไม่เข้มแข็งก็ "เสียสละ" ทรัพย์เป็นทานใช่ไหม? มีความหวงแหนทรัพย์มาก แต่อะ... เพื่ออานิสงส์ ยอมแลกทรัพย์ตน (แม้จักได้มายากมาก) กับอานิสงส์ ยอมก็ยอม นี่เป็นบารมีต้นครับ

พอเสียสละ(ทรัพย์ภายนอก)ไปมากเข้า ก็เริ่มเห็นว่า การให้ทานนั้นไปทำให้ผู้อื่นมีความสุข การเห็นผู้อื่นมีความสุข ก็พลอยทำให้เรามีความสุขไปด้วย จนบางทียอมตัวลำบากเพื่อให้ผู้อื่นมีความสุข ยอม "สละ" ความสุขความสะดวกสบายส่วนตัวเพื่อให้ผู้อื่นมีความสุขก็ยอม ถึงตอนนี้อานิสงส์จักเป็นอย่างไร ก็ไม่ค่อยสำคัญแล้ว (มีบ้างเหมือนกันตามวาระ และโอกาส)

สละไปมากเข้า ทีนี้อานิสงส์เป็นอย่างไร เริ่มหมดความสำคัญแล้ว ไม่เลือกแล้ว แต่ก่อนความอยากทำบุญกับพระอรหันต์เทียบกับความอยากให้ทานสัตว์เดรัจฉานอาจแตกต่างกันมาก พอถึงขั้น "ละ" แล้ว ปัจจัยภายนอกล้วนเสมอกัน ทั้งในแง่ความเป็นไตรลักษณ์ และแง่อื่น ๆ เพราะ "ละ" นี่มันมุ่งปัจจัยภายใน ทำทานอย่างนี้ไปละ "ความโลภ" ได้สักเท่าไหร่ มากกว่าทำทานอย่างนี้จักได้อานิสงส์แค่ไหน

และ "ละ" ที่ "สุดติ่ง" คือ ละความหลงครับ หลงคิดว่า นี่เป็นของเรา ที่สุดละความเห็นผิดว่า นี่เป็นเรา นั่นเป็นเขา เพราะ "เรา" ก็ไม่มี "เขา" ก็ไม่มี มีแต่ก้อนธาตุ เห็นแบบนี้แล้ว "ชีวิต" เราก็ให้ได้ นี่ไง!!!สังขารุเปกขาญาณ!!!

จักให้หมาวัด หรือพระอรหันต์ ก็เท่ากัน เพราะ "ละ" กิเลส (ในใจเรา) ได้เท่ากัน

ย้อนกลับไปถึงการทำทานให้สัตว์เดรัจฉานที่ข้าพเจ้าว่า มันมีผลดีในเบื้องปลายอย่างคาดไม่ถึง ก็ตรงนี้เอง หากเราทำบุญแล้วมัวแต่นั่งคิดถึงเรื่องอานิสงส์ นั่นเป็นการฝึกกระไรครับ? ฝึกให้เห็นความแตกต่างถูกไหมครับ? เลือกทำบุญกับพระอรหันต์ แต่พวกเนื้อนาบุญอานิสงส์น้อย ๆ อย่างหมาน่อย เมินเสียเถอะ!!!

แล้วสิ่งที่ทำให้เราแยกแยะ "อานิสงส์" จากทานให้หมาวัด กับถวายพระอรหันต์ ก็คือ "ความคิด" ใช่หรือไม่? ความคิดปรุงแต่ง มีชื่อเป็นภาษาแขกว่า "สังขาร" โฮ่... เห็นกระไรไหม?

พูดเป็นภาษาแขก เบื้องต้นท่านให้เราฝึกให้มี "สังขาร" ที่เป็นกุศล ลด ละ เลิก "สังขาร" ที่เป็นอกุศล เบื้องปลายท่านให้เราเห็นว่า "สังขาร" ทั้งหลาย ก็เท่านั้นแหละ!!! วางซะทั้งกุศลและอกุศล

วางได้ก็เข้าถึงสังขารุเปกขาญาณ

พูดเป็นภาษาไทยอีกที เบื้องต้นท่านให้เราฝึกคิดดี พูดดี ทำดี เบื้องปลายท่านให้เราเห็นว่า คิดดี คิดชั่ว ก็เสมอกัน เพราะไอ้ตัวคิด มันไม่ใช่เรา

IMG_3085จากขั้นนี้ (สังขารุเปกขาญาณ) ก็เป็นนิพพิทาญาณครับ ปรีชาเห็นโลกน่าเบื่อหน่าย คลายกำหนัด และหลุดพ้นตามลำดับ

"จาคะ" ตัวเดียว ก็ถึงนิพพานหรือยังครับ?

เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ ฯ

ปล.๑ ขอยืนยันครับว่า ทั้งหมดที่เล่ามา ไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยการอ่าน การฟัง หรือการนึกคิดจินตนาการเอา ต้อง "ปฏิบัติ" เองเท่านั้น เป็นปราชญ์พูดจาให้คมแดกแค่ไหน ตัวเองละกิเลสไม่ได้ ก็เท่านั้นครับ พระพุทธเจ้าไม่ทรงสรรเสริญ

ปล.๒ ที่นำมาเล่าได้เป็นคุ้งเป็นแคว ก็เพราะเมื่อวานไปกราบหลวงพี่สมปองมาครับ ถามท่านเรื่องของอานิสงส์การไปทำทานให้ชาวเขา เขาทั้งหลายมีจิตบริสุทธิ์น่าจักเป็นเนื้อนาบุญที่ดีหรือไม่?คำตอบของท่านเล่นเอาหงายเก๋ง ไขข้อข้องใจที่ตะขิดตะขวงใจมานานหมดสิ้น ท่านว่า "เราเป็นนักบวช จักไปใส่ใจกระไรตรงนั้น"

นี่เอง!!!การทำทานของนักบวช กับฆราวาส ไม่เหมือนกัน เพราะฆราวาสนั้น เขามีทรัพย์จำกัด ต้องแบ่งสรรปันส่วนให้เหมาะสม ในเมื่อเขามีทรัพย์น้อย จึงต้องใส่ใจกับอานิสงส์มาก ส่วนนักบวชนั้นมีทรัพย์ไม่จำกัดครับ ตามกำลังศรัทธาของญาติโยม และนักบวชไม่มีทรัพย์ก็ไม่เดือดร้อน

ท่านแนะให้ใส่ใจ "ประโยชน์" มากกว่าครับ เพราะทรัพย์นั้นไม่ใช่ของเรา ญาติโยมเป็นคนหามาด้วยความเหนื่อยยาก

อีกประการหนึ่ง การละความตระหนี่ในเบื้องต้นนั้น ยากมากครับ อานิสงส์ก็เป็นตัวช่วย หรือสิ่งจูงใจอย่างหนึ่งที่มีผลมากสำหรับผู้เริ่มต้น แต่เริ่มแล้วอย่ามั่วย่ำอยู่ที่เดิมครับ

ปล.๓ เขียนไปเขียนมา ดูเหมือน "ทาน" จักเน้นไปที่การให้ เน้นไปที่ผู้รับ ส่วน "จาคะ" นี่ดูเหมือนเน้นไปที่ใจคนให้นะ ว่าไหม? by Dhammasarokikku

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons