ในเอ็นทรี่ก่อน ได้มีผู้สอบถามเข้ามาว่า พระนิพพาน คือ อะไร ซึ่งข้าพเจ้าได้ปฏิเสธ การให้นิยามของพระนิพพาน โดยที่ตนไม่รู้จริง ยังไม่ถึง ได้แต่จำคำเขามาพูดว่า นิพพานเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ สิ่งที่น่าสนใจกว่า คือ ทำอย่างไรให้ถึงนิพพาน มีวิธีเข้านิพพานเป็นกระบุงทีเดียว
ข้าพเจ้าวนเวียน จะเขียนเรื่องนี้อยู่นานแล้ว เต้นฟุตเวิร์คจนเมื่อยแล้วเมื่อยอีก หาช่องเข้าคลุกวงใน ยากเต็มที วันนี้แล ต้องบุกเข้าอัปเปอร์คัทลำตัว เอาให้น็อคให้ได้
ดังที่ท่านทั้งหลาย คงทราบกันดีอยู่แล้วว่า พระธรรมของพระพุทธเจ้านั้น มีถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ซึ่งในพระสูตร พระสูตรหนึ่ง จะมีพระภิกษุสงฆ์ หรือ ฆราวาส อย่างน้อย ๑ ท่านบรรลุธรรมเสมอ ดังนี้แล้ว จึงอาจอนุมานได้ว่า พระธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น หมายถึง วิธีเข้าถึงพระนิพพาน ๘๔,๐๐๐ หมวดวิธี หรือ ๘๔,๐๐๐ แบบใหญ่ ๆ และยังมีแยกย่อยออกไปอีก ตามวิสัยของแต่ละคน
ที่เข้าใจไปเช่นนั้น ก็เพราะเมื่อครั้งออกตะลุยบู๊ตึ๊ง ท่องยุทธภพ ไปตามสำนักต่าง ๆ ได้เรียนรู้วิทยายุทธหลายอย่าง หลากสไตล์ มีกรรมฐานเป็นสิบ ๆ แบบ แต่ละสำนักก็ว่า ของตนดี ของตนถูกต้อง ตรงตามพระไตรปิฎก ของสำนักอื่นสอนผิด บางทีทะเลาะกันเองก็มี แล้วจะทราบได้อย่างไรว่า ใครถูก ใครผิด
ครั้นศึกษาไปเรื่อย ๆ ก็พบว่า ตอบข้อ ง. ถูกทุกข้อ ทุกแบบ ทุกสไตล์ ล้วนเป็นหนึ่งใน ๘๔,๐๐๐ วิธีนั้น
วันนี้มาลองแซมเปิ้ลกันสักวิธีหนึ่งเป็นไร
ตามความในคิริมานนทสูตร แสดงไว้อย่างนี้ครับ (สีแดง คือ พระสูตร ดั้งเดิม สีน้ำเงิน คือ ความเห็นส่วนตัว)
ทำตัวเราให้เหมือนแผ่นดิน หรือปล่อยวาง จึงได้ชื่อว่าถึงพระนิพพานดิบ
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ อันว่าพระนิพพานนั้น พึงให้ดูอย่างแผ่นดินพระธรณี มีลักษณะอาการฉันใด ก็ให้ตัวเรามีลักษณะอาการฉันนั้น ถ้าทำได้เช่นนั้น ก็ได้ชื่อว่าถึงพระนิพพานดิบ ถ้าทำไม่ได้ แต่พูดว่าอยากได้ จะพูดมากมายเท่าไร ๆ ก็ตาม ก็ไม่อาจที่จะได้จะถึงเลย ถ้าปรารถนาจักถึงพระนิพพานแล้ว ต้องทำจิตใจของตน ให้เหมือนแผ่นดินเสียก่อน ไม่ใช่เป็นของทำได้ด้วยง่าย ต้องพากเพียร ลำบากยากยิ่งนักจึงจักได้ จะเข้าใจว่า ปรารถนาเอาด้วยปากก็คงจักได้ อย่างนี้เป็นคนหลงไป ใช้ไม่ได้ ต้องทำตัวทำใจ ให้เป็นเหมือนแผ่นดินให้จงได้ ลักษณะของแผ่นดินนั้น คนแลสัตว์ทั้งหลาย จะทำร้ายทำดี กล่าวร้ายกล่าวดีประการใด มหาปฐพีนั้นก็มิได้รู้โกรธ รู้เคือง (เป็นการเริ่มอารัมภบท นิยามของพระนิพพาน ลักษณะอารมณ์ใจ ของผู้ถึงพระนิพพาน และการปฏิบัติ เพื่อให้เข้าถึงพระนิพพาน)
การปล่อยวางจิต คือ ให้ละโลภ โกรธ หลง
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ คำที่ว่าให้ปล่อยวางจิตใจนั้น คือว่าให้ละความโลภ ความโกรธ ความหลง ปลงเสีย ซึ่งการร้ายและ การดีที่บุคคลนำมากล่าว มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ อย่ายินดียินร้าย แม้ปัจจัยเครื่องบริโภค เป็นต้นว่า อาหารการกิน ผ้าผ่อนท่อนสไบ ที่อยู่ที่นอน แลเภสัชสำหรับแก้โรค ก็ให้ละความโลภความหลง ในปัจจัยเหล่านั้นเสีย ให้มีความมักน้อยในปัจจัย แต่มิใช่ว่าจะห้ามเสียว่า ไม่ให้กิน ไม่ให้นุ่งห่ม ไม่ให้อาศัยในสถานที่ ไม่ให้กินหยูกยา เช่นนั้นก็หามิได้ คือให้ละความโลเล ในปัจจัยเท่านั้น คือ เมื่อได้อย่างดี อย่างประณีต ก็ให้บริโภคอย่างดี อย่างประณีต ได้อย่างเลวอย่างหยาบ ก็ให้บริโภคอย่างเลว อย่างหยาบ ตามมีตามได้ ไม่ให้ใจขุ่นมัวด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง อย่างนี้แล ชื่อว่าปล่อยวางใจเสียได้ (อันนี้ใครก็ ทราบว่าให้ละโลภ โกรธ หลง แต่ใครจะทราบว่าละอย่างไร พระพุทธองค์ทรงบัญญัติ ศีล ๕ ศีล ๑๐ ศีลปาติโมกข์ ขึ้นก็เพื่อ ให้มีความมักน้อยในปัจจัย ๔ เป็นสำคัญ เมื่อโลภ โกรธ หลง ทำอะไรเราไม่ได้แล้ว ใจของเราก็จะ เหมือนกับปฐพี คนที่ไม่ทราบ เป้าหมายสำคัญอันนี้ ก็จะถือศีลด้วยความงมงาย บ้างก็เคร่งเกินไป บ้างก็หละหลวมเกินไป หาปัญญามิได้)
การวางใจ ปลงใจนั้นคือ วางสุข วางทุกข์ วางบาปบุญคุณโทษ วางโลภ โกรธ หลง วางลาภ ยศ นินทา สรรเสริญทั้งหมดทั้งสิ้น เหมือนดังไม่มีหัวใจ จึงชื่อว่าทำให้ใจให้เหมือนแผ่นดิน ถ้ายังทำไม่ได้ อย่าหวังว่า จักได้โลกุตรนิพพานเลย (แนวการปฏิบัติทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น ทาน ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีลปาติโมกข์ สมาธิ สมาบัติ ๘ ปัญญา โลกธรรม ๘ บารมี ๓๐ ทัศ กรรมฐาน ๔๐ มหาสติปัฏฐาน ๔ การดูเพ่งอายตนะ ๖ อริยสัจ ๔ สามัญญลักษณะ ๓ การพิจารณาขันธ์ ๕ วิปัสสนาญาณ ๙ สังโยชน์ ๑๐ ฯลฯ ล้วนแล้วแต่มีปลายทางเพื่อการนี้โดยเฉพาะ)
เป็นอย่างไรบ้างครับ จำง่ายไหมครับ สรุปย่อ ๆ สั้น ๆ ก็คือ ทำใจให้หนักแน่นเหมือนแผ่นดิน ใครจะว่าดี ว่าร้าย เฉยเสียให้หมด ทั้งนี้ ไม่ใช่ทำความเลว เขาด่าแล้ว ไม่หวั่นไหวนะ อย่างนั้นไม่เรียกว่า ทำใจให้หนักแน่นเหมือนแผ่นดิน เขาเรียกว่า "หน้าด้าน"
การทำใจให้หนักแน่นเหมือนแผ่นดิน ก็คือการไม่ยินดี ยินร้าย แม้เมื่อเราทำความดี แล้วถูกด่า เราก็ไม่ได้หวั่นไหว เพราะเรารู้ว่า เราดี เราทำความดี เขาว่าเราเลว เราก็ไม่ได้เลวไปอย่างปากเขาว่า อย่างนี้่เรียกว่า "หัวใจตายด้าน" ใช่ว่า ต้องไปแก้ตัวพัลวันว่า ไม่...ไม่นะ คุณจะมาเข้าใจฉันอย่างนั้นไม่ได้ อย่างนั้น ก็เรียกว่า ยังติดตัวติดตน ติดภาพพจน์ว่า ทุกคนต้องเข้าใจว่า ฉันเป็นคนดี ไปดูความในพระสูตร ต่ออีกหน่อยครับ
ผู้ปฏิบัติอริยมรรคให้เต็มที่ จึงจะวางใจให้เหมือนแผ่นดินได้
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ ผู้มิได้กระทำอริยมรรคปฏิปทาให้เต็มที่ ยังเป็นปุถุชน คนหนาแน่นไปด้วยกิเลส หาปัญญามิได้ แลจักวางใจทำตัวให้เป็นเหมือนแผ่นดินนั้น ไม่อาจทำได้เลย ผู้ที่วางใจ ทำตัวให้เป็นเหมือนแผ่นดินได้นั้น มีแต่บุคคลผู้เป็นนักปราชญ์ และเป็นสัตบุรุษ จำพวกเดียวเท่านั้น เพราะท่านไม่ถือตนถือตัว ท่านวางใจให้เป็นเหมือนแผ่นดินได้ ท่านจึงได้ถึงพระนิพพาน ส่วนคนโง่เขลานั้น ถือตนถือตัว ถือว่าร่างกาย เป็นอัตตาตัวตน จึงปล่อยวางมิได้
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ อันว่าบุคคลที่ถือตัวถือตนอยู่นั้น ย่อมเป็นคนมักโลภ มักโกรธ มักหลง บุคคลจำพวกใด ที่ตกอยู่ในอำนาจแห่งความโลภ ความโกรธ ความหลงนั้น จะเป็นนักบวชก็ตาม เป็นคฤหัสถ์ก็ตาม ก็หาความสุขมิได้ เบื้องหน้าแต่ตายไป ก็หาความสุขในมนุษย์ แลสวรรค์มิได้เลย
เห็นได้ชัดเลยว่า ท่านแนะให้เดินตาม อริยมรรค มีองค์ ๘ ซึ่งก็คือทำความดี แล้วใครจะว่าอย่างไร เราก็ไม่สน ชม เราก็เฉย ด่า เราก็เฉย ทำใจเป็นประหนึ่งแผ่นดิน ซึ่งแม้ถูกระเบิดนิวเคลียร์ลง แผ่นดินก็ไม่ได้หวั่นไหว หากเรามีตัวตนมาก ถูกคำชม คำสรรเสริญ คำนินทา คำด่าว่าร้าย เราก็จะหวั่นไหวไปตามลมปาก หากละซึ่งตัวตน หรือแม้แค่ทำตัวตนให้เบาบาง คำชม คำด่า ก็จะเป็นเพียงประโยคบอกเล่า เข้าหูซ้าย แล้วทะลุออกหูขวา ไม่มีความหมายใด ๆ กับเรา
แต่การทำให้ใจหนักแน่นเหมือนแผ่นดินได้ นั่นเป็นปลายทางครับ การจะไปถึงจุดนั้นได้ จำต้องมีอาวุธสำคัญคือ สติสัมปชัญญะ ซึ่งคนทั่วไป มักคิดว่า ตนก็เป็นคนมีสติสัมปชัญญะ แต่ความจริงแล้ว คุณไม่มีทางรู้จักว่า หน้าตาของสติสัมปชัญญะ เป็นอย่างไร จนกว่า คุณจะได้มีสติสัมปชัญญะ ขึ้นมาจริง ๆ แล้วย้อนมองกลับไปดูตัวเราในอดีต รำพึงว่า โธ่...กรูนึกว่า กรูมีสติสัมปชัญญะ มาตลอด
หมายเหตุ : สติ = ความระลึกได้, สัมปชัญญะ = ความรู้ตัว
หากไม่มีสติสัมปชัญญะ บางทีเมื่อเราได้รับคำชม ก็หน้าบานไปก่อนที่จะระลึกรู้ได้ว่า นี่เป็นคำชม และเรากำลังดีใจไปกับคำชม หรือเมื่อเราได้รับคำด่า ก็ฟิวส์ขาด ด่ากราด กระแทกกระทั้น คืนไป ก่อนที่จะระลึกรู้ได้ว่า นี่เป็นคำด่า และเรากำลังอารมณ์เสีย เพราะคำด่า
เช่นนั้นแล้ว จะทำใจให้เหมือนแผ่นดินได้อย่างไรครับ ในเมื่อโดนเขากวนอารมณ์ ใช้หมับแย็บ เข้าหน่อย ก็สวนฮุ๊คซ้าย ฮุ๊คขวา ตรงเข้าอัปเปอร์คัท น็อคคู่ต่อสู้เสียแล้ว ไม่ทันรู้เลยว่า ตนอารมณ์เสีย และอาการอารมณ์เสียนั้น ก็เกิดจากอารมณ์ที่หวั่นไหว ไม่หนักแน่นเหมือนแผ่นดิน
ฉะนั้นเราจึงต้องมาเจริญสติสัมปชัญญะครับ ถ้าท่านสนใจการเจริญสติสัมปชัญญะ ท่านก็มาได้ครึ่งทางของพระนิพพานแล้วครับ เพราะทั้งหมดที่เขาทำ ๆ กัน เผยแผ่กัน ให้เข้าวัด ให้ทำทาน ให้มีศีล ให้นั่งสมาธิ ทุกอย่างล้วนหวังมาที่จุดสุดท้ายนี้ คือ การเจริญสติ เพราะเมื่อมีสติแล้ว ปัญญาก็จะเกิดได้ง่าย และพระนิพพานก็อยู่แค่เอื้อม
คนบางคน มีมุมมองแคบ ต้องการให้พระศาสนา ดำรงอยู่ได้ด้วย "แก่น" เท่านั้น ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว ต้นไม้พระศาสนา ก็อยู่ไม่ได้หากปราศจาก ราก, ใบ, กิ่ง, เปลือก และ กระพี้ จะให้พระศาสนาตั้งอยู่โดยมีแก่นโดด ๆ มันก็เหี่ยวแห้งไปในเวลาอันรวดเร็วเท่านั้นเอง
ท่านเหล่านั้น ปฏิเสธวัตถุธาตุทั้งหมด ศาสนาพุทธไม่มีรูปเคารพ ไม่มีวัตถุมงคล ไม่มีการทำบุญสร้างพระพุทธรูป โบสถ์ วิหาร ให้มันยิ่งใหญ่ อลังการ พระสงฆ์ต้องเป็นผู้มักน้อย จะไปสร้างสิ่งปลูกสร้างทั้งหลายทำไม ให้มันสิ้นเปลืองเงินของญาติโยม สร้่างแล้วก็ปรักหักพัง ไม่มีคนดูแล
ท่านทั้งหลายคงลืมไปว่า แต่ละคนมีกำลังใจไม่เท่ากัน เพื่อนของข้าพเจ้าบางคน เอารูปที่ตัวเองกำลังเมาแอ๋ มาลงเป็นรูปแสดงตัวตนของเขาในไฮไฟว์ บางคนไม่เคยเข้าวัด บางคนอาราธนาศีลไม่เป็น อย่าว่าแต่จะมารู้ว่า พระไตรปิฎกมีอะไรบ้างเลย แต่เพื่อนขี้เมาเหล่านั้น เขาห้อยพระเครื่องแฮะ เวลาเขาจะทำความชั่ว เขาถอดพระเครื่องออกแฮะ เขาให้เหตุผลว่า ไม่เอา ไม่ดี พระมองเขาอยู่ เอ้อ...อย่างน้อย ก็ยังรู้ผิดชอบชั่วดี หลวงปู่ดู่ วัดสะแก จ.อยุธยา บอกว่า คนเรา ติดวัตถุ "มงคล" ก็ยังดีกว่าติดวัตถุ "อัปมงคล" ละวะ
ยิ่งไปกว่านั้น พระพุทธรูป โบสถ์ วิหาร ทั้งหลาย ที่ใหญ่โตโอฬาริก ก็มิได้ไปคาดคั้น บังคับ ขู่เข็ญ ให้ญาติโยมมาทำบุญกัน จนได้รับความเดือดร้อน หรือไม่ได้รับความเดือดร้อนก็ตาม หากแต่ญาติโยมทั้งหลาย เป็นผู้ต้องการทำบุญ เพื่อประโยชน์ของตัวญาติโยมทั้งหลายเอง พระก็สร้างกันไป ตามเจตนาของญาติโยม แม้สร้างแล้วปรักหักพัง ไม่มีคนดูแล แต่สิ่งปลูกสร้างนั้น ก็สำเร็จ ตามเจตนารมณ์ของญาติโยม ไปเรียบร้อยแล้ว หากว่าญาติโยมต้องการได้บุญ บุญก็เิกิดไปเรียบร้อยแล้ว หรือญาติโยมต้องการอานิสงส์อื่น ๆ อานิสงส์นั้นก็สำเร็จแล้ว ที่ญาติโยมหลั่งไหลกันไปมอบหมาย ให้พระรูปนั้นรูปนี้ทำ ก็เพราะเขามั่นใจในพระรูปนั้นว่า จะไม่เอาเงินของเขา ไปสร้างบ้านไว้อยู่เอง ไปมีเมียเก็บอยู่เมืองนอก จะเอาเงินไปปล่อยกู้ จะเอาเงินไปซื้อที่ดิน หรือเอาไปเก็งกำไรอย่างอื่น ผู้ที่ไปตำหนิว่า ขาดคนดูแล ทิ้งให้เป็นซากปรักหังพัง แสดงว่า ท่านไม่ได้เคารพ กฎของไตรลักษณ์ ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา มันเกิดมา มันตั้งอยู่ แล้วมันก็สูญสลายไป และคนตำหนิ ก็ยึดติดกับวัตถุธาตุเกินไปว่า สร้างแล้ว น่าจะคงอยู่ไปแสนนาน ถ้ามีคนดูแล ซึ่งความจริง มันก็เสื่อม สลาย ไปตามกฎไตรลักษณ์
หากท่านทั้งหลาย มองด้วยธรรม จะเข้าใจว่า วัตถุธาตุทั้งหลาย เป็นเพียง "สื่อ" ของใจ เท่านั้นครับ ไม่ได้มีความสลักสำคัญอะไรมากไปกว่านั้น ท่านต้องการสร้างพระ ก็คือท่านต้องการบูชาพระ ด้วยการสร้างรูปจำลอง ให้ตัวท่านเอง และคนทั้งหลายบูชา สร้างวิหาร ก็ตั้งใจสร้างถาวรวัตถุ เพื่อจรรโลงพระศาสนา คนที่ไม่ได้มองด้วยธรรม สำคัญว่า นั่นเป็นวัตถุ ต้องใช้เงินสร้าง ต้องเรี่ยไร เดือดร้อนชาวบ้าน ต้องเสียค่าดูแล สู้เอาไปช่วยเหลือคนยากคนจนไม่ได้ ความจริงแล้ว พระเลือกไม่ได้ครับ ญาติโยมต้องการให้สร้างอะไร ก็ต้องทำอย่างนั้น เขาบริจาคมาเพื่อสร้างวัด แต่เราเอาเงินสร้างวัด ไปช่วยคนจน อย่างนี้พระก็ไปอเวจีเท่านั้นเองครับ และพระก็มองวัตถุธาตุ เป็นเพียง "สื่อ" ครับ เงินก็ไม่ใช่เงิน พระพุทธรูป ก็ไม่ใช่พระพุทธรูป ทั้งหลายทั้งสิ้น คือ "สื่อ" ที่คนทั้งหลาย ตั้งใจบูชาพระศาสดา บูชาพระธรรม บูชาพระอริยสงฆ์
ท่านทั้งหลาย เคยคิดถึงผู้คนที่เมาแอ๋ทุกวัน บ้างไหมครับว่า จะจับเขาเหล่านั้น มานั่งสมาธิ ฝึกเจริญสติได้อย่างไร ก็ต้องเริ่มจากอะไรง่าย ๆ ให้เอาพระไปคล้องคอไว้ ให้นึกถึงพระกันไปก่อน หลอกให้สวดทุกวัน ด้วยการบอกว่า พระนี่จะศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองเธอได้ เธอก็ต้องปลุกพระทุกวันนะ ไม่งั้นพระหลับ เวลาฉุกเฉิน พระไม่ช่วยนะเออ ไปดูคาถาปลุกพระ พุทโธ๋...บทเจริญพุทธคุณธรรมด๊า..ธรรมดา
เอาละ นอกเรื่องไปไกล ย้อนมาดูเรื่องเจริญสติสัมปชัญญะกันต่อ
การเจริญสติที่ง่าย และไม่เสียเวลา คือ การรู้ลมหายใจ ครับ อย่างขณะนี้ ที่ท่านอ่านข้อความนี้อยู่ ความรู้สึกของท่าน จะไปจับที่ลมหายใจทันที นั่นละ การระลึกรู้ลมหายใจ แต่อย่างที่เป็นอยู่นี้ เขาเรียกว่า "จับ" ลมหายใจ ซึ่ง "จับ" ลมหายใจ มันแรงเกินไป ไม่เป็นธรรมชาติ ถ้าตั้งใจทำไปนาน ๆ แล้ว จะรู้สึกอึดอัด
การปฏิบัติที่ถูกต้อง คือ รู้ ก็เหมือนไม่รู้ ไม่รู้ก็เหมือนรู้ ทำไปเรื่อย ๆ ไม่ต้องซีเรียส นึกได้ ก็ระลึกรู้ขึ้นมา นึกไม่ได้ ก็ช่างมัน สังเกตุนะครับว่า ถ้าปฏิบัติถูกต้อง จังหวะการหายใจจะไม่เปลี่ยน จะหายใจสบาย ๆ เหมือนปกติ แต่ถ้าไปจับ ไปเพ่ง จังหวะการหายใจจะเปลี่ยน ทำให้ทำไปนาน ๆ แล้วอึดอัด พูดอีกอย่างว่า ทำแบบ ทีเล่น ทีจริง ก็ได้ครับ สิ่งสำคัญ คือ พยายามระลึกรู้ให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ไม่ไปพยายามฝืนรู้ตลอดเวลานะครับ พยายาม แต่ไม่ฝืน ไม่เครียด ไม่คาดหวัง รู้ เท่าที่ รู้ ช่วงแรก ถ้าคิดจะทำแล้ว มันหลงลืมไปทั้งวัน มารู้ตัวอีกทีตอนเย็น ก็อาจจะกำหนดเลยว่า จะทำวันละ ๕ นาที พออยู่ตัวแล้ว จึงปล่อย ทำเท่าที่ระลึกได้ และสิ่งสำคัญ ต้องทำชนิด กัดไม่ปล่อย ไม่ท้อ ไม่ถอย ไม่เลิกทำไปกลางคัน บางคนอาจทำเป็นปี บางคนอาจหลายปี แต่เราก็ทำไปเรื่อย ๆ ครับ อย่าไปคาดหวังว่า ภายในกี่วัน กี่เดือน กี่ปี มันต้องเห็นผล ยิ่งคาดหวัง ยิ่งไม่เห็นผลครับ
หลวงพ่อปราโมทย์ บอกว่า สติสัมปชัญญะ จะเกิดขึ้นเอง ตามเหตุ และปัจจัย ไม่ได้เกิดจากความอยาก ไม่ได้เกิดจากการคาดหวัง ฉะนั้นหน้าที่ของเรา คือ ตั้งหน้าตั้งตาทำไป มันจะเกิด หรือไม่เกิด ไม่ใช่หน้าที่ของเราครับ
ถ้าระลึกรู้ลมหายใจทั้งวัน ทำไปเรื่อย ๆ แล้ว ส่วนใหญ่ไม่เกิน ๖ เดือน จะเห็นผลครับ อาจจะเป็นในรูป ผลการทำงานดีขึ้น หงุดหงิดน้อยลง ผิดหวังน้อยลง อารมณ์แปรปรวนยากขึ้น ทั้งนี้ การเจริญสติ มิใช่มีผลแต่เพียงทางธรรมเท่านั้นนะครับ ทางโลกก็มีผลเช่นกัน
หรือถ้าไม่ชอบการระลึกรู้ลมหายใจ ลองเป็นการรู้อิริยาบถก็ได้ครับ ยืน เดิน นั่ง นอน รับรองวันทั้งวัน ไม่พ้น ๔ อิริยาบถนี้ เช่นเวลานี้ นั่งอ่านเอ็นทรี่นี้ ใน exteen อยู่ ก็รู้อยู่ว่า อยู่ในอิริยาบถนั่น อาจภาวนาย้ำลงไปด้วยก็ได้ว่า "นั่งหนอ นั่งหนอ" แต่พอปฏิบัติไประยะหนึ่ง ให้ทิ้งคำภาวนาเสีย เหลือแต่ "รู้" เฉย ๆ การปฏิบัติเช่นนี้เรียกอย่างเป็นทางการว่า กายานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน<---ฟังชื่อแล้วหนาวเลยไม๊
ความจริงนี่แค่ เอ็นทรี่เดียว ก็ปาไปหลายพระธรรมขันธ์แล้วครับนี่ อย่างต่ำ ๆ ก็ ๓ วิธีแล้ว
เอาละครับ...ขอให้ชาว exteen ทั้งหลาย จงมาทำใจให้เป็นเหมือนแผ่นดิน ใครเม้นท์ด่่าเรามา เราก็เฉย เม้นท์ชม ก็เฉย ไม่ได้ขึ้นฮ็อตโพสต์ ก็เฉย มีคนดู ก็เฉย ไม่มีคนดู ก็เฉย ถูกใจ ก็เฉย ไม่ถูกใจ ก็เฉย รัฐบาลชนะก็เฉย พันธมิตรชนะ ก็เฉย ไม่นานนิพพานแน่ครับ ฯ
เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ ฯ by Dhammasarokikku