แหม...ตัวเองก็ไม่ได้ฌานสมาบัติกับเขา แต่ริจะเขียนเรื่องสมาธิกะเขาด้วย เป็นว่าที่เขียนนี่เขียนตามแนวปริยัติ คือว่าตามหนังสือ หรือจำเขามาเขียนนั่นเอง
เรื่องมันมีอยู่ว่า สมัยเข้าไปในป่าห้วยขาแข้งหน่ะ ตอนที่เขาคุยกันเรื่องสมาธิ เขาคุยกันเรื่องสมาธิหัวตอ ไอ้เราก็เพิ่งเคยได้ยิน แต่คำคำนี้เขาใช้กันมานมนานแล้วสำหรับนักปฏิบัติ กล่าวโดยย่นย่อ ก็คือการเข้าฌานสมาบัติ แล้วไปติดกับฌานสมาบัตินั่นเอง (ไอ้เราก็ไม่ได้ฌานกับเขาเลยไม่รู้ว่า มันรู้สึกยังไง ถึงรู้ก็คงอธิบายไม่ถูก รู้แต่ว่า เป็นสุขมาก) ทีนี้อีตอนเขาคุยเรื่องนี้กัน เป็นวันที่เพิ่งผ่านการสมาทานเนสัชชิฯ (สมาทานนั่ง ไม่ให้หลังแตะพื้น) มา ๑ คืน เลยได้แต่นอนฟังอยู่ห่าง ๆ แล้วไม่มีโอกาสได้ซักถาม โต้แย้ง หรือ แลกเปลี่ยนทัศนคติ
เขากล่าวว่า การฝึกมโนมยิทธิ ตามสายหลวงพ่อฤๅษีลิงดำนั้น ทำให้คนไปติดสุข ติดนิมิต ติดฌาน เสียมาก ไอ้เราก็เคยเข้าไปฝึกกรรมฐานที่วัดท่าซุง ก็ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ตามแนวทางการปฏิบัตินั้น มโนมยิทธิ เป็นเพียงเครื่องมือ หรืออุบายให้ใจสงบเท่านั้น หรือที่เขาเรียกกันว่า สมถะ นั่นละ ส่วนการวิปัสสนา ก็จะมีแทรกเข้าไปในการฝึกสมถะนั้น ถ้าคนศึกษาเพียงผิวเผิน ก็จะเข้าใจไปว่า หลวงพ่อสอนให้ไปเห็นนรก สวรรค์ นิพพาน สอนให้ไปติดนิมิต ครั้นจะลุกขึ้นมาแย้ง ก็ง่วงเสียเหลือเกิน จากนั้นเขาก็พรรณาถึงข้อเสียของสมาธิหัวตออีกยาวเหยียด เราก็นึกแย้งในใจว่า ถ้าตามคำสอนแล้ว การปฏิบัติกรรมฐาน หาใช่นั่งไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ใจสงบเท่านั้น นั่นเขาเรียกว่า นั่งขาดทุนด้วยซ้ำ แท้จริงแล้ว ต้องนั่งจนสงบที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วถอยออกมาอยู่ที่อุปจารสมาธิ(สมาธิขั้นกลาง ละนิวรณ์ ๕ ประการได้) แล้วคิดพิจารณาเกี่ยวกับขันธ์ ๕ ให้เกิดปัญญา ถ้ามัวแต่อยู่ในฌาน มันจะไม่คิดอะไร มันจะเอาแต่สุขสงบอย่างเดียว ไม่เกิดปัญญาแต่อย่างใด นี่ละที่เขาว่าขาดทุน นั่งแทบตาย แต่ไม่ได้ปัญญาอะไรขึ้นมาเลย ได้แต่ความสงบ ฉะนั้นแล้ว สมาธิหัวตอ ก็ใช่ว่าจะไม่ดี เพียงแต่ต้องได้รับคำแนะนำอีกนิดเท่านั้นเอง
ครั้นพอศึกษาไปนานเข้า ก็ได้ความรู้มาว่า อีตอนถอยออกมาจากฌานนี่ละยาก เพราะมันเป็นสภาวะที่สุขมาก ใครเจอเข้าครั้งแรก มันไม่อยากจะทำอะไรอีกเลย อยากนั่งอยู่อย่างนั้นทั้งวันทั้งคืน นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่พวกเขาไม่เห็นด้วยกับการฝึกนั่งสมาธิเอาฌานสมาบัติ เขามองว่า ฌานสมาบัติเป็นเหมือนกับดัก
เวลาผ่านล่วงเลยมานาน ไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องสมาธิหัวตออีกเลย ก็เก็บความสงสัยไว้เรื่อยมา จนมาเมื่อ ๒-๓ วันก่อน ได้มีโอกาสพูดคุยกับหลวงพี่เจริญ อะไรดลใจให้งัดเรื่องนี้ขึ้นมาคุยก็ไม่ทราบ คุยไปคุยมาจึงทราบว่า สมาธิหัวตอ หาใช่สมาธิอย่างที่ข้าพเจ้าเข้าใจไม่ สมาธิหัวตอ คือสภาวะที่เข้าถึงฌานสมาบัติ และสามารถทรงอารมณ์ฌานไว้ได้ พูดง่าย ๆ ก็เข้าฌานเป็นปกตินั่นละ ไม่ว่า ยืน เดิน นั่ง นอน มันเข้าฌานอัตโนมัติ หรือที่เรียกว่า เข้าฌานจนชินนั่นเอง พอเข้าฌานจนชินแล้ว ก็ไม่รู้ว่า ตัวเองทรงฌานอยู่ เวลาทรงฌานนี่ กำลังฌานมันกดกิเลสหมดเลย จะรู้สึกไม่อยากได้อะไรเลย ไม่โกรธเลย ไม่หลงเลย อะไรเข้ามา ก็รู้สึกเฉย ๆ ปล่อยมันผ่านไป จนหลงคิดไปว่า ตัวเองคงสำเร็จอรหัตตผลแล้ว เป็นพระอรหันต์แล้ว คนที่หลุดเข้าไปในสภาวะเช่นนั้นแล้ว จะถอนตัวยากมาก เพราะจะเกิดความถือตัวถือตน ว่าสำเร็จแล้ว กิจที่ต้องทำไม่มีอีกแล้ว บรรลุมรรคผลขั้นสูงสุดของพระพุทธศาสนาแล้ว นี่ละคือ "สมาธิหัวตอ" ที่เขาพูดกัน
ข้าพเจ้าก็เห็นตัวอย่างนักปฏิบัติที่เป็นเช่นนั้นอยู่ เตือนเท่าไหร่ก็ไม่ฟัง ว่าครูบาอาจารย์เขาสอนไม่ให้คิดว่า ตนเองบรรลุธรรมขั้นไหน ไปคิดว่าตนบรรลุแล้ว เข้านิโรธสมาบัติได้ ฟุ้งไปถึงไหนต่อไหน (ไอ้เราอย่าว่าแต่ปฐมฌานเลย อุปจารสมาธิยังเข้าไม่ได้เลย แล้วจะเอาอะไรไปเตือนเขาได้ ไม่มีอะไรน่าเชื่อถือ นอกจากความเป็นพหูตูด ใช้ตูดฟังมาเยอะ เอ้ย...พหูสูต ฟังคำสอนครูบาอาจารย์มาเยอะ เท่านั้นเอง)
คนที่หลงตัว อย่างนั้น ไม่ใช่คนเลวนะ สภาวะมันเหมือนหมดกิเลสแล้วมาก ๆ จนพระพุทธองค์ยังทรงบัญญัติพระวินัยไว้เลยว่า ภิกษุหลงเข้าใจว่า ตนบรรลุมรรคผล บอกอุตตริมนุสธรรมนั้นแก่ผู้อื่น ต้องอาบัติไม่ถึงปาราชิก แต่ถ้าบอกคนอื่นเพื่อหวังลาภสักการะ อย่างนี้ปาราชิกไปเลย
ถ้าคำว่า "สมาธิหัวตอ" นิยามเช่นนั้น ข้าพเจ้าก็เห็นด้วย หาใช่ว่าการแนะนำเพียงเล็กน้อย ให้ถอนออกมาจากฌานสมาบัติ มาอยู่ที่อุปจารสมาธิ จะช่วยอะไรได้ "สมาธิหัวตอ" เป็นอะไรที่เลวร้าย สมกับที่เขาพรรณามาจริง
เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ ฯ