ตอนที่แล้ว ไถลเถลือกไปเม้าท์เรื่องความเป็นพระโสดาบันได้อย่างไรก็ไม่ทราบ ความจริงก็เกี่ยวอยู่เหมือนกัน ตรงที่ ถ้าเราปฏิบัติธรรม เพื่อความเป็นพระโสดาบัน แล้วใกล้จะบรรลุธรรม พระยามาราธิราช หรือผู้มีฤทธิ์องค์อื่น ๆ ท่านจะไม่อยู่เฉย เหตุเพราะผู้ที่บรรลุโสดาบัน จะพ้นไปจากอำนาจของท่าน จึงเป็นธรรมดาที่ต้องมีการทดสอบกันหน่อย อาจจะเป็นในรูปของ การทำให้มีโชคลาภเหลือเชื่อ จนถึงความร่ำรวย เพื่อทดสอบกำลังใจว่า ท่านจะรักษาศีล ๕ ได้บริสุทธิ์จริงหรือเปล่า เคารพพระรัตนตรัยจริงหรือเปล่า ในพระไตรปิฎกก็มีกล่าวถึง สุปปพุทธกุฏฐิ ผู้เป็นชายยากจน และเป็นโรคเรื้อน ฟังธรรมแล้ว เกิดดวงตาเห็นธรรม พระอินทร์เสด็จมาทดสอบกำลังใจด้วยตัวเองว่า สุปปพุทธกุฏฐิ บรรลุโสดาปัตติผล จริงไหม โดยว่า จะเนรมิตแก้วแหวนเงินทองให้ สุปปพุทธกุฏฐิ ร่ำรวย และจะรักษาโรคเรื้อนให้ เพียงให้พูดตามท่านว่า พระพุทธเจ้า ไม่ใช่ พระพุทธเจ้า พระธรรม ไม่ใช่ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ใช่ พระสงฆ์ กลับโดนสุปปพุทธกุฏฐิ ด่าเสีย ๆ หาย ๆ เพ้ยไล่ไป ดังนี้แล้ว จึงว่า แนวคิดที่ข้าพเจ้าเขียนขึ้น มิได้ไม่มีมูล เมื่อท่านปฏิบัติไป จนใกล้จะถึงความเป็นพระโสดาบัน ก็จะถูกทดลองใจเยี่ยงนี้เช่นกัน และต่อจากนี้ พิธีกรไม่ได้รับเชิญ (เพราะอยู่ที่นี่ตลอด) คุณน้องของเรา จะเป็นผู้ดำเนินรายการ "รีดพระ" ต่อไป
คุณน้อง : หลวงพี่คะ หลวงพี่ แอบหนีไปอ่านบล็อกคนอื่นมาอีกแล้วใช่ไหมคะ ถึงอู้ไม่ยอมมาให้คุณน้องรีด
สมีรี่ : อ๋อ... ไปนั่งวิจัยฝุ่น เอ้ย... วิจัยการอธิบายการทำวิปัสสนาบนบล็อกมาจ้ะ ความจริงมันไม่ใช่เรื่องยากหรอก แต่มันอธิบายยากน่าดู เรียบเรียงแล้วออกมาแนวเครียด ๆ ก็เลยไปด้นสดมาว่า จะทำไงให้มันออกมาผ่อนคลายสักหน่อย
คุณน้อง : อ้า... ใช่ ยังมีเคล็ดการวิปัสสนาอีก ยังรีดไม่เรียบ
สมีรี่ : เรื่องการวิปัสสนานี่ ต้องบอกก่อน แนวการปฏิบัตินั้น มีหลายแนว อย่างแนวหลวงพ่อฤๅษี ท่านให้เริ่มด้วยการเจริญสมาธิ หรือเจริญสมถะ ด้วยการฟังธรรม ซึ่งปกติเวลาท่านเทศน์ จะลงท้ายด้วยวิปัสสนา แทบทั้่งสิ้น
วิปัสสนา คืออะไร? คือการเห็นโลกตามความเป็นจริง อะไรคือความจริง? ความจริงคือ ทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลนี้ หรือจักรวาลไหน ๆ ก็มีลักษณะสามัญ เหมือนกันอยู่ ๓ ประการ นั่นคือ ทุกขัง-ทนอยู่ในสภาพเดิมได้ยาก อนิจจัง-ไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงเสมอ อนัตตา-ไม่ใช่ตัวตน ควบคุมไม่ได้
คุณน้อง : ฟังดูก็เหมือนง่าย ๆ นี่คะ เคยได้ยินมาแต่เด็กแล้ว
สมีรี่ : มันก็ฟังดูง่าย ๆ แต่ก็เหมือนตอนที่แล้่วนั่นแล เวลาเจอสิ่งเร้ามากระทบ จิตเราจะไวกว่าความคิดเสียอีก เช่น ส่องกระจกแล้วเจอรอยตีนกา วินาทีแรก จิตจะรู้สึกก่อนเลยว่า ไม่พอใจ แล้วแทนที่จะคิดว่า มันเป็นอนิจจัง เกิดแล้วก็แก่ แก่แล้วก็ตาย กลับคิดว่า ตายแล้ว... อีกาบ้า ช่างไม่รู้ที่ต่ำที่สูง บังอาจมาเหยียบหน้าฝากรอยตีนพวกแก ไว้ได้ยังไง เดี๋ยวไปให้คลินิคความงามหมอ... ฉีดโบท็อกซ์ให้ดีกว่า น่าน... เห็นไหม ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา หล่นหายไปแล้ว
คุณน้อง : อ้าวเหรอคะ คุณน้องคิดว่า อย่างนั้นเป็นเรื่องปกติซะอีก เวลาคุณน้องส่องกระจก ถ้ามีริ้วรอยขึ้นนิดหนึ่ง คุณน้องก็รีบไปปรึกษาหมอผิวหนังเลยหล่ะค่ะ
สมีรี่ : นั่นละ ๆ คุณน้องทราบไหมว่า กว่าคุณน้องจะไปหาหมอ จิตเราทำงานไปหลายขั้นตอนแล้ว ตั้งแต่ตาเห็นริ้วรอย จิตไม่พอใจ คิดหาทางกำจัดริ้วรอย ไปหาหมอ และตลอดสายของกิจกรรมกำจัดรอยย่น คุณน้องไม่ได้รู้ตัวเลยสักนิดว่า กำลังพยายามฝืนกฏธรรมดา
คุณน้อง : อะไร คือ กฏธรรมดาคะ
สมีรี่ : ก็ไตรลักษณ์นั่นแล มีเกิดขึ้น แปรเปลี่ยนไป สุดท้ายก็ตาย สูญสลายไป หน้าเราแก่ลง ก็เป็นเรื่องธรรมดาตามวัย ถูกไหม
คุณน้อง : แล้วคุณน้องไม่มีสติยังไงคะ คุณน้องว่า คุณน้องก็รู้ตัวนี่คะว่า กำลังจะไปหาหมอ
สมีรี่ : ไม่หรอก คนทั้งโลกมักจะหลง อยู่ในโลกแห่งความคิด ไม่ค่อยมีใครตื่นมารู้ตัวหรอก กว่าจะรู้สึกตัว บางทีโน่นแนะ กำลังจะจ่ายเงิน เฮ้ย...นี่ฉันทำอะไรลงไป นี่มันเงินเดือนของเดือนนี้ทั้งเดือนนะ แล้ววันที่เหลือจะกินอะไร (ขนาดว่า รู้สึกตัวอย่างนั้น ทางธรรมยังไม่เรียกว่า "รู้สึกตัว" เลย)
คุณน้อง : -->ฉึก<--
สมีรี่ : อ้าว... คุณน้องเป็นอะไรไปหน่ะ ทำหน้าเศร้าสร้อย
คุณน้อง : ก็หลวงพี่เล่นแทงใจดำ เมื่อวานเพิ่งไปซื้อคอร์สเธอร์มาจมา คอร์สละหกหมื่น เห็นเขาให้ผ่อนสิบเดือนไม่มีดอกเบี้ย คิดว่าแค่เดือนละหกพันเอง ก็เลยหลงทำไป ตอนทำก็เจ็บแทบตาย แต่พอตอนมาจ่ายตังค์เจ็บยิ่งกว่า เพิ่งมารู้สึกตัวว่า จ่ายเกินตัว
สมีรี่ : น่าน... แล้วไหนตอนมาขอคาถาบอกใช้เงินประหยัดแล้วไง
คุณน้อง : ก็... ก็... ตอนมาขอคาถาหลวงพี่มันหลายวันแล้วนี่คะ นี่เพิ่งไปซื้อคอร์สมาเมื่อวานเอง มันคนละเวลากันค่ะ ก่อนหน้านั้นประหยัดสุด ๆ ค่ะ เอ๊ะ... วันนี้หลวงพี่ว่าจะพูดเรื่องวิปัสสนาใช่ไหมคะ คุณน้องอยากฟังจังเลย หลวงพี่รีบ ๆ เถอะค่ะ เดี๋ยวจะหมดโควต้าอีก
สมีรี่ : น่าน... เปลี่ยนเรื่องทันใด เอ้า... แนะวิธีปฏิบัติแบบหลวงพ่อฤๅษีไปแล้ว มาดูแบบหลวงพ่อปราโมทย์กันมั่ง ความจริงก็ดีทั้งนั้นแหละ แบบไหนตรงจริต ก็เอาแบบนั้น แบบหลวงพ่อปราโมทย์นี่ เหมาะกับคนที่ไม่ได้มีของเก่า พวกการทำสมาธิ มาแต่อดีตชาติ หมายถึง ไม่ได้บำเพ็ญมาทางด้านสมถะ พูดง่าย ๆ พวกที่ฝึกนั่งสมาธิ/เดินจงกรมแล้ว นั่ง/เดินไม่ค่อยได้หน่ะ หรือปฏิบัติสมถะไปเป็นปีแล้ว ไม่มีความก้าวหน้า ท่านก็ให้มาฝึกสติ อย่างที่คุณน้องหลงไปทำคอร์สหน้าเด้งมานี่ ก็เพราะคุณน้องไม่มีสติ เจอโปรโมชั่นอะไรนิดหน่อย ก็เคลิ้มตามเขาไป
คุณน้อง : แล้วจะแก้ยังไงคะ
สมีรี่ : ก็ให้ฝึกรู้ตัวนะ อย่างถ้าจะใช้การสวดพระคาถาเงินล้าน เป็นการเจริญสติ ก็ทำใจสบาย ๆ ท่องไปเรื่อย ๆ พอเผลอไปคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ ก็ให้รู้ตัวไว ๆ ไม่ใช่ห้ามไม่ให้เผลอนะ เผลอได้ แต่ให้รู้ตัวไว ๆ คุณน้องเข้าใจใช่ไหมจ๊ะ
คุณน้อง : อ้าว... ไม่ใช่ให้รู้สึกตัว มีสมาธิกับการสวดมนต์ตลอดการสวด หรือคะ
สมีรี่ : ถ้าคิดจะเจริญสติ ไม่ถูกนะอย่างนั้น การ "พยายาม" รู้สึกตัวตลอดการสวดมนต์ เป็นการ "ทำ" ที่เกินธรรมดา ไปเพ่งไว้ เมื่อไหร่เพ่ง เมื่อนั้น เป็นสมถะ ต้องรู้ว่า เราปฏิบัติอย่างไรแล้ว พระยามารท่านไม่อาจเพิกเฉยนะ คนมากมายไปปฏิบัติธรรม แต่ไม่รู้ว่า ตัวเองไปปฏิบัติอะไรอยู่ สมถะ หรือ วิปัสสนา ทั้งสองอย่าง สำคัญทั้งคู่ เราต้องทราบให้ชัดก่อนลงมือปฏิบัติว่า เรากำลังปฏิบัติอะไร หากคิดจะทำวิปัสสนา แต่ดันไปเดินสมถะ ทำมันทั้งชาติก็ไม่ไปไหน อย่างเก่งก็ได้สมาบัติ ๘ เหมือนมหาบุรุษ อย่างนั้นท่านพระยามารนั่งทอดหุ่ย เล่นเลี้ยบตุ่ยอยู่บนโน้นสบายแฮ
คุณน้อง : แล้วมันต่างกันอย่างไรหล่ะคะ
สมีรี่ : มาว่ากันเรื่องความหมายก่อน จำความหมายให้มั่น ๆ นะ สมถะ คือ อุบายให้ใจสงบ วิปัสสนา คือ อุบายเรืองปัญญา ฉะนั้นอะไร ๆ ที่ทำแล้วใจสงบนั่น เรียกสมถะทั้งนั้นแล ไม่ว่าจะเป็นการรู้ลมหายใจ การเดินจงกรม การนั่งสมาธิ การสวดมนต์ การนับลูกประคำ การภาวนาว่า "พุทโธ"การพิจารณาร่างกายเป็นของไม่สวยไม่งาม หรือที่เรียกว่า อสุภะการเพ่งลูกแก้ว เพ่งไฟ เพ่งน้ำ เพ่งดิน การท่องสูตรคูณ การท่องหนังสือ การเล่นหมากรุก การทำการบ้าน อะไรก็ตามที่ช่วยให้ใจนิ่ง ๆ นั่น เป็นสมถะทั้งสิ้น
คุณน้อง : อ้าว... อย่างนี้คุณน้องแต่งหน้าด้วยใจนิ่ง ๆ ก็เป็นสมถะัด้วยซีคะ
สมีรี่ : ช่ายแล้ว แต่ต้องถามตัวเองด้วยนะว่า สงบจริงหรือเปล่า? หรือไปฟุ้งคิดว่า ทำไมหน้าชั้นไม่สวยกว่านี้ อุ๊ย... สิวขึ้น อ๊ะ... หน้าหมอง อยากได้เครื่องสำอางยี่ห้อนั้น แฟนฉันตอนนี้อยู่ไหนนะ เดี๋ยววันนี้ จะไปไหนบ้าง อย่างนี้ ฟุ้งยิ่งกว่าเดิม ตอนที่มีสมาธิในการแต่งหน้า ไม่คิดเรื่องอื่น นั่นละ สมถะ
คุณน้อง : อ้าว... อย่างนี้ คุณน้องก็ทำสมถกรรมฐานทุกวันเลยซีคะ เย้... อย่างนี้ก็ได้ไปโม้กับคนอื่นได้ว่า คุณน้องปฏิบัติธรรมทุกวัน
สมีรี่ : ประมาณนั้นแล ก็ปฏิบัติธรรมนั่น มันมาจากคำว่า ปฏิบัติ + ธรรมะ หรือ ธรรมชาติ คนเราทุกวันนี้ก็ปฏิบัติธรรมกันอยู่แล้ว ไม่ว่าคุณนั่งสมาธินิ่งเป็นหินได้ ๑ ชั่วโมง หรือ คุณนั่งแต่งหน้าโดยไม่คิดเรื่องอื่น ๑ ชั่วโมง ก็มีค่าเท่ากัน เป็นสมถกรรมฐาน เหมือนกัน ถ้ารู้ตัวได้บ่อย ๆ ตลอดการแต่งหน้าเลย ก็ยิ่งดี มีโอกาสพลิกเป็นวิปัสสนา
คุณน้อง : อย่างนี้คุณน้องแต่งหน้าชั่วโมงหนึ่ง ก็เท่ากับพวกที่เขาไปเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม ยืน เดิน นั่ง นอน ชั่วโมงนึง ซีคะ
สมีรี่ : ถูกต้องแล้วหล่ะ การปฏิบัติ ไม่มีจำกัดท่าทาง หรือสถานที่ โดยเฉพาะนะ ถ้าพวกเขาที่ไปเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม ไม่เดินวิปัสสนาควบไปด้วย จิตไปแช่ นิ่ง ๆ อยู่ ทำแทบตาย ก็เหมือนนั่งแต่งหน้านิ่ง ๆ อยู่บ้าน การปลีกวิเวกไปปฏิบัติธรรม ก็เพื่อให้เรารู้แนวปฏิบัติ หรือบางที การอยู่ในเมือง กิเลสมันมากมายเกินกว่าที่จะทำสมาธิได้ ก็ให้หลบไปเพิ่มพลังสักพัก แล้วนำกลับมาทำต่อในชีวิตประจำวัน ถ้ากลับมาบ้านแล้วทิ้งหมด อย่างนั้นก็ไม่ใคร่มีประโยชน์ อีกอย่างเวลาหลบไปเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม บรรยากาศในสถานปฏิบัติธรรม มีส่วนช่วยเร้าการปฏิบัติเยอะ ใคร ๆ ก็ตั้งใจปฏิบัติกัน แต่ต้องรู้ว่า เราไปเพื่อไปเติมพลัง ของจริง อยู่ที่บ้าน อยู่ที่ทำงาน เราต้องเอาการปฏิบัติธรรมควบรวมเข้าไปในชีวิตประจำวันให้ได้ เมื่อไหร่ต๊อแต๊ ก็หลบไปได้ แต่ไม่ใช่กลายเป็นว่า ถ้าไม่ไปเข้าคอร์ส ไม่ปฏิบัติธรรม อย่างนี้ใช้ไม่ได้นะ
แล้วทำอย่างไร การอุตส่าห์ไปนั่งสมาธิหลังขดหลังแข็ง เดินจงกรมจนเท้าด้าน จะเริ่ดกว่า การแต่งหน้าทาปากอยู่บ้าน จุดสำคัญ คือ ต้องพลิกสมถะ เป็นวิปัสสนา
คุณน้อง : ยังไงคะ
สมีรี่ : ในกิริยาอาการภายนอกเหมือน ๆ กันนี่ เราไม่มีทางรู้เลยว่า เขากำลังเดินสมถะ หรือวิปัสสนา เพราะมันพลิกนิดเดียว การนั่งสมาธิ คนหนึ่งอาจจะเดินสมถะเพียว ๆ อีกคนอาจจะเดินสมถะ สลับวิปัสสนา การเดินจงกรม บางคนอาจเดินสมถะอย่างเดียว อีกคนอาจกำลังวิปัสสนาล้วน ฉะนั้น เห็นเขาปฏิบัติอะไรก็แล้วแต่ ไม่ควรไปตัดสินเขาจากภายนอก
คุณน้อง : รับทราบค่ะ ต่อแต่นี้ คุณน้องจะไม่ไปว่าใครแล้วค่ะ จะคอยดูแต่จิตใจตัวเอง ต่อเลยค่ะ
สมีรี่ : ก่อนจะเข้าถึงวิปัสสนา ต้องมาเจริญสติก่อน ครับ สติเจริญผิด ก็กลับเป็นสมถะอีกนะ
คุณน้อง : หูย... ดูวิปัสสนานี่จะทำยากมากเลยนะคะ
สมีรี่ : ไม่เลย วิปัสสนานี่ทำง่ายมาก แต่เข้าใจยาก ถ้าเข้าใจซะแล้วนะ ทำอะไรก็เป็นวิปัสสนาไปหมด ไม่เข้าใจนะ ทำอะไรก็เป็นสมถะไปหมด
คุณน้อง : แล้วคุณน้องจะเริ่มยังไงดีคะ
สมีรี่ : ก็เริ่มจากฝึกการรู้ตัว อย่างตอนนี้กำลังอ่านข้อความนี้ กำลังเผลอคิดตามไป รู้สึกตัวไหม?
คุณน้อง : อ๋อ...ค่ะ พอหลวงพี่ทัก ก็รู้สึกตัวขึ้นมาเลย
สมีรี่ : นั่นละ "สติ" ละ แต่ สติ เกิดขึ้นแป๊บเดียวนะ ไม่ถึงวินาทีเลย จังหวะที่รู้ตัวขึ้นมาแวบนั่นละ ที่สติเกิด จากนั้นก็ไปคิด ไปเพ่ง ต่อ คือถ้าคนไม่เคยปฏิบัติ จะกลับไปคิดนะ คนที่เคยปฏิบัติ จะกลับไปเพ่ง อุ้ย... เมื่อกี้เผลอไป คราวนี้จะไม่ให้เผลออีก ไอ้ความไม่ยอมเผลอนี่ละ ทำให้กลายเป็นสมถะไปอีก ไปเพ่งจิตไว้ ให้รู้ตัวตลอด อย่างนี้ใช้ไม่ได้นะ
คุณน้อง : แล้วยังไงถึงจะใช้ได้คะ
สมีรี่ : ให้ปล่อยตัวตามสบาย เผลอแล้วรู้ตัวไวไว อย่าทำตัวให้ผิดธรรมดา นะจ๊ะกายทำอะไรก็แล้วแต่ จะนั่ง จะยืน จะเดิน จะนอน จะหายใจ ให้เป็นเรื่องของกาย จิตเป็นคนดู ดูเหมือนดูคนอื่นกำลังนั่งยืนเดินนอนหายใจ นั่นแล กายเป็นอย่างไร ให้รู้ว่าเป็นอย่างนั้น จิตเป็นอย่างไร ให้รู้ว่าเป็นอย่างนั้น ไม่ไปแทรกแซง ทำใจสบาย ๆ นั่นละ หลักของการปฏิบัติเลย ไม่ว่า ครูบาอาจารย์องค์ไหน สอนเหมือนกันหมดนะ หลวงพ่อฤๅษีท่านไปเที่ยวสวรรค์ได้ครั้งแรก ก็ตอนไปนั่งพิงตุ่ม ในส้วม หลวงพ่อปราโมทย์บอกว่า ความสุข เป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ กระทั่งพระอานนท์ ก็บรรลุธรรมตอนที่คลายกำลังใจ จะเลิกทำความเพียรนั่นเอง จำไว้เลย ปฏิบัติธรรมให้ได้ผลดี ใจต้องสบาย
คุณน้อง : อ้าว... แล้วถ้าคุณน้องกำลังไม่สบายใจหล่ะคะ
สมีรี่ : ก็ให้รู้ว่า กำลังไม่สบายใจ รู้เฉย ๆ นะ ไม่ไปแทรกแซง อย่าไปอยากให้ความไม่สบายใจหายไป อย่าอยากปฏิบัติ อย่าคิดว่า จะ "ต้อง"ทำให้ดี ถ้ารู้ด้วยใจเป็นกลางแล้ว ความไม่สบายใจจะหายไปเอง คิดไว้ว่า ไม่ดีก็ได้ ดีก็ได้ เสมอกัน
คุณน้อง : แล้วถ้ารู้ว่า กำลังไม่สบายใจ ยังง้ายยังไง มันก็ไม่หายหล่ะคะ
สมีรี่ : ถ้ามันไม่หายนะ ให้รู้เลยว่า ขณะนั้น จิตไม่เป็นกลาง ถ้าสงสัยว่าทำไมไม่หาย ให้รู้ว่ากำลังสงสัย หรือถ้าทำยังไงก็ไม่หาย ให้รู้ลงไปอีกว่า กำลังอยากให้หาย ที่สุดแล้วก็ยังไม่หาย ก็ให้รู้ว่า จิตเป็น "อนัตตา" ควบคุมไม่ได้ มันจะไม่สบายใจ ก็เป็นของมันเอง บทมันจะหาย ก็หายของมันเอง
คุณน้อง : โอ้โห... ลึกล้ำจริง ๆ เลยค่ะ ตกลง "รู้" อย่างเดียวเลยใช่ไหมคะเนี่ยะ
สมีรี่ : ใช่แล้ว เกิดปัญหาอะไรในการปฏิบัติขึ้น "รู้" อย่างเดียวเลย
คุณน้อง : อ๊ะ... อย่างนั้น คุณน้องกลับไปเจริญสติดีกว่า จะได้ไม่ไปเผลอซื้อคอร์สหน้าเด้งอีก
สมีรี่ : เจริญสติ แล้วก็ภาวนาคาถาเงินล้านควบไปด้วยเลยนะ ให้ดีก็เพิ่มวิปัสสนาเข้าไป ให้เห็นว่า ทุกสภาวะที่ไป "รู้" นั้น ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้นาน ไม่เที่ยง แล้วก็ควบคุมไม่ได้ ไม่ใช่ตัวเรา ทั้งอารมณ์ที่ดี และไม่ดี นั่นแหละ อย่างนี้รับรอง ท่านพระยามารเต้นผาง คุณน้องได้รวยไม่รู้เรื่องรับตรุษจีนแน่
คุณน้อง : สาธุ สมพรปากยกกำลังห้าเลยค่ะ เดี๋ยวคุณน้องขอตัวไปท่องพระคาถาก่อนนะคะ กราบนมัสการลาเจ้าค่ะ
สมีรี่ : เอ้า... ได้ของดีแล้วไปเลยเรอะ เจริญพร ๆ ขอให้ทุกท่านที่ติดตามอ่านมาตั้งแต่ตอนแรก ท่องพระคาถาแล้ว ซินเจี่ย หยู่อี่ ซินนี้ ฮวดไช้ กันทุกคนเลยนะ คร๊าบ ฯ
อวสาน
cadit by Dhammasarokikku